วันเวลาปัจจุบัน 20 ก.ย. 2024, 08:27  



เขตเวลา GMT + 7 ชั่วโมง




กลับไปยังกระทู้  [ 5 โพสต์ ]    Bookmark and Share
เจ้าของ ข้อความ
โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 03 ธ.ค. 2009, 22:53 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
ผู้จัดการ
ผู้จัดการ
ลงทะเบียนเมื่อ: 27 มี.ค. 2006, 17:34
โพสต์: 7781

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว www


รูปภาพ
:b8: ขอขอบพระคุณที่มาของรูปภาพ : คุณสมหมาย เอี่ยมตระกูล

ประวัติและปฏิปทา
พระครูญาณวิศิษฏ์ (ท่านพ่อเฟื่อง โชติโก)

พระอริยเจ้าผู้มีธรรมอันรุ่งโรจน์สถิตอยู่ในใจ

วัดธรรมสถิต
ต.สำนักทอง อ.เมือง จ.ระยอง


๏ ชาติภูมิและชีวิตในเยาว์วัย

“พระครูญาณวิศิษฏ์” หรือ “หลวงพ่อเฟื่อง โชติโก” หรือ “ท่านพ่อเฟื่อง โชติโก” เกิดเมื่อวันอังคารที่ ๔ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๔๕๘ ตรงกับเดือน ๖ แรม ๖ ค่ำ ปีเถาะ ณ บ้านน้ำอู่ ตำบลเกวียนหัก อำเภอขลุง จังหวัดจันทบุรี โยมบิดา-มารดาชื่อ นายเทียน และนางเหลื่อม เชื้อสาย ครอบครัวมีอาชีพทำนา (ตามนิทานที่ผู้ใหญ่เล่ากันต่อๆ มาว่า บรรพบุรุษในตระกูลนี้เคยคลอดลูกเป็นงู ดังนั้น ลูกหลานในตระกูล “เชื้อสาย” จะไม่รังแกหรือทำร้ายงูเป็นอันขาด) ท่านมีพี่น้องร่วมบิดามารดาเดียวกันทั้งหมด ๕ คน มีชื่อตามลำดับดังนี้

(๑) นายกลิ่น เชื้อสาย
(๒) นายนิด เชื้อสาย
(๓) นางทองหล่อ สาสะเน
(๔) พระครูญาณวิศิษฏ์ (ท่านพ่อเฟื่อง โชติโก)
(๕) ด.ญ. ชม เชื้อสาย

ปัจจุบันทุกท่านได้ถึงแก่กรรมและมรณภาพไปทั้งหมดแล้ว ชีวิตความเป็นอยู่ของท่านในวัยเด็กมีความยากลำบากมาก เมื่ออายุได้ ๖ ขวบ เกิดความอดอยากขึ้นในตำบลที่ท่านอยู่ ท่านเล่าให้ฟังว่า “มีนกเป็ดน้ำนับร้อยๆ ตัว ลงมากินข้าวที่พึ่งหว่านในนาใหม่ๆ จนหมด โยมพ่อต้องไปหายอดหวายมาเลี้ยงครอบครัว เพื่อประทังชีวิตไปวันๆ ส่วนตัวท่านก็ออกหากบหาเขียดมาเพื่อใช้เป็นอาหาร (ต่อมาภายหลัง เมื่อท่านเกิดเป็นโรคผิวหนัง ท่านก็ชอบเล่าว่าเป็นผลกรรมที่เนื่องมาจากการถลกหนังกบและหนังเขียดในวัยเด็กนั้นเอง)

ครั้นต่อมาอีก ๓ ปี เมื่อท่านอายุได้ ๙ ขวบ โยมพ่อเทียน เชื้อสาย ก็ถึงแก่กรรม ด.ช. เฟื่อง เชื้อสาย (หรือที่เรียกกันในสมัยนั้นว่า ด.ช. แดง) ได้ไปช่วยโยมน้าเลี้ยงวัวเลี้ยงควาย จนกระทั่งวัวได้ออกลูกมาตัวหนึ่ง โยมน้าจึงยกให้เป็นรางวัล ต่อมาเมื่อลูกวัวโตขึ้น มีคนมาขอซื้อในราคา ๙ บาท ซึ่งสำหรับเด็กบ้านนอกในสมัยนั้นนับว่าเป็นเงินจำนวนมาก (ท่านภูมิใจและดีใจในเงินจำนวนนี้มาก) แต่พอได้เงินมา ด.ช. เฟื่อง ก็เกิดอาการป่วยหนักเป็นไข้ ถ่ายท้อง และผมร่วง ต้องนอนรักษาตัวอยู่เป็นเดือน เงินที่ได้มาจากการขายวัวนั้นต้องใช้เป็นค่ายาและค่าหมอในการรักษาทั้งหมด พอหายป่วยได้ไม่นานโยมแม่เหลื่อม เชื้อสาย ก็ถึงแก่กรรมอีก

ด.ช. เฟื่อง ขณะนั้นอายุได้ ๑๑ ขวบ ทางญาติจึงพาไปฝากให้อยู่กับเจ้าอาวาส หลวงพ่อเจริญ ที่เข้มงวดในการอบรมลูกศิษย์วัดเป็นอย่างมาก หลวงพ่อจะเป็นผู้สอนหนังสือและสอนให้ฝึกเล่นดนตรีไทย (ท่านฝึกหัดเล่นระนาดเอกเป็นดนตรีชิ้นแรก) เวลาเรียนหนังสือถ้าอ่านตัวไหนผิดก็จะถูกตีที่ศีรษะหนึ่งที เวลาเรียนดนตรีไทย หลวงพ่อจะเคาะที่ศีรษะผู้เรียนไปตลอดจนกว่าจะเรียนจบในวันนั้น

ในขณะนั้น ด.ช. เฟื่อง เป็นเด็กวัดที่มีอายุมากที่สุด มีหน้าที่หุงข้าวถวายพระทั้งเช้าและเพล จึงไม่มีเวลาที่จะท่องจำหนังสือ พอเรียนได้ถึงบท ก. เกย. หลวงพ่อให้ท่องผันเสียง ด.ช. เฟื่อง ท่องไม่ได้ จึงโดนตี ๖ ที ด.ช. เฟื่อง ตัดสินใจหนีกลับไปที่บ้านคุณปู่ พอถึงบ้านคุณปู่บอกว่าจะส่งให้กลับไปอยู่ที่วัดอีก ด.ช. เฟื่อง จึงบอกว่า “ถ้าอย่างนั้นไม่ต้องไปส่งก็ได้ ฉันจะกลับเอง” ด.ช. เฟื่อง จึงออกจากบ้าน เดินผ่านวัดแล้วเลยเข้าไปในอำเภอขลุง เพื่อหาเพื่อนของโยมพ่อ-แม่ที่นับถือกันเหมือนญาติ ซึ่งได้พาท่านไปฝากไว้ที่วัดอีกแห่งหนึ่ง ซึ่งวัดนี้ปรากฏว่าเจ้าอาวาสเป็นผู้ที่ซื้อวัวจาก ด.ช. เฟื่อง (ท่านจำชื่อวัดไม่ได้)

หลังจากนั้นไม่นาน โยมพี่สาวไปหาแล้วชวนนั่งเรือเข้าอำเภอเมือง เพื่อไปหาญาติฝ่ายแม่ พอไปถึงโยมพี่สาวได้พา ด.ช. เฟื่อง ไปฝากให้อยู่กับเจ้าอาวาสวัดโบสถ์ ตำบลบางกระจะ อำเภอเมือง จังหวัดจันทบุรี เพื่อให้เข้าเรียนหนังสือ ป. ๑ อายุ ๑๒ ขวบ เป็นเด็กโตที่สุดในห้องเรียน เมื่ออยู่ ป. ๒ อายุ ๑๓ ขวบ ทางโรงเรียนได้พานักเรียนที่เป็นลูกเสือไปเที่ยวกรุงเทพฯ โดยพักที่โรงเรียนวชิราวุธ ทางโรงเรียนได้พาเที่ยวที่สนามหลวง วัดพระแก้ว และพาเดินไปสะพานพุทธ ด.ช. เฟื่อง ได้มีโอกาสชมพระบารมีของในหลวงรัชกาลที่ ๗

ท่านเจ้าอาวาสวัดโบสถ์ ตำบลบางกระจะ ท่านเก่งในทางเป็นหมอจับเส้น เวลาท่านเจ้าอาวาสออกตรวจคนไข้ตามบ้านเรือนต่างๆ นั้น ด.ช. เฟื่อง จะต้องติดตามไปด้วย แล้วทำหน้าที่เป็นผู้วิ่งหายา ต่อมาท่านเจ้าอาวาสเกิดความรักและสงสาร จึงบอกว่าจะสอนวิชาจับเส้นให้ ด.ช. เฟื่อง เห็นถึงความเหน็ดเหนื่อยในการเป็นหมอ ในการหายา ซึ่งไม่มีเวลาเป็นของตัวเอง จึงปฏิเสธไม่เรียนวิชาจับเส้นนี้

ท่านเคยเล่าให้ฟังว่า “สมัยที่ท่านอยู่วัดใหม่ๆ ท่านยังไม่รู้เรื่องบาปบุญคุณโทษเท่าไรนัก บางครั้งเมื่อต้องการเงินก็แอบต้มเหล้าขาย บางครั้งก็ช่วยเหลือพี่ชายนำเรือบรรทุกของเถื่อนเข้าไปขายในเมืองจันท์ แต่พอท่านอายุได้ ๑๖ ปี ธรรมะที่พระเทศน์ประจำนั้นก็เริ่มจะซึมซาบเข้าไปในหัวใจ ท่านพิจารณาเห็นว่า ตนต้องพึ่งตนเอง พ่อแม่ก็ไม่มี ทรัพย์สมบัติก็ไม่มี วิชาความรู้ก็ไม่มี ท่านจึงเกิดศรัทธาที่จะบวชแสวงบุญ”

รูปภาพ
พระสุทธิธรรมรังสีคัมภีรเมธาจารย์ (ท่านพ่อลี ธมมฺธโร)


๏ การอุปสมบท

ใน พ.ศ. ๒๔๗๘ พออายุครบได้ ๒๐ ปีบริบูรณ์ ท่านได้เข้าพิธีอุปสมบทเป็นพระภิกษุ ณ พัทธสีมาวัดโบสถ์ จังหวัดจันทบุรี นั้นเอง ได้รับนามฉายาว่า “โชติโก” แปลว่า “ผู้มีธรรมอันเจริญรุ่งเรือง”

พอเริ่มเรียนพระธรรมวินัย ท่านพ่อเฟื่องจึงรู้ขึ้นมาว่า เพื่อนพระในวัดไม่ได้ปฏิบัติถูกต้องตามคำสั่งสอนของพระพุทธองค์ และถ้ามีพระองค์ใดพยายามปฏิบัติตัวอย่างเคร่งครัดก็จะถูกโจมตี ท่านรู้สึกผิดหวัง แต่ความตั้งใจเดิมยังมีอยู่ ท่านจึงตัดสินใจอยู่ต่ออีก ๑ พรรษา พอเข้าพรรษาที่ ๒ มีโยมคนหนึ่งมาเล่าให้ฟังว่า มีพระธุดงค์มาพักอยู่ในป่าช้าบ้านคลองกุ้ง มีคณะศรัทธาญาติโยมไปฟังธรรมะจากท่านเป็นจำนวนมาก พระธุดงค์องค์นั้นคือท่านพ่อลี ธมมฺธโร โยมคนนั้นจึงพาท่านไปฟังธรรมะจากท่านพ่อลี พอฟังธรรมะและเห็นปฏิปทาของท่านพ่อลีก็เกิดศรัทธา ต่อจากนั้นท่านจึงได้ไปฟังธรรมจากท่านพ่อลีทุกวันเป็นประจำ


๏ การเดินธุดงค์และญัตติเป็นธรรมยุติ

ท่านพ่อลี ธมมฺธโร เล่าถึงความเป็นอยู่ของพระป่า ท่านพ่อเฟื่องจึงนึกอยากจะออกไปอยู่ป่ากับท่านพ่อลี ดังนั้น จึงได้ตัดสินใจทดลองฝึกตนเองก่อนว่าจะมีความอดทนได้หรือไม่ ทุกวันพอกลับจากบิณฑบาต แทนที่จะฉันร่วมกับหมู่เพื่อนพระ ท่านก็แยกเข้าโบสถ์ ฉันองค์เดียว ไม่ยุ่งเกี่ยวกับใคร ท่านก็เห็นว่าพออยู่ได้ ด้วยเหตุนี้เมื่อออกพรรษา ท่านพ่อเฟื่องจึงขอติดตามท่านพ่อลีเดินธุดงค์ โดยเดินทางออกจากป่าช้าบ้านคลองกุ้งไปทางเขาวงกต ตำบลนายายอาม อำเภอเมือง จังหวัดจันทบุรี ซึ่งเป็นเขตต่อแดนกับจังหวัดระยอง แล้วเดินธุดงค์ต่อเข้าเขตปากน้ำประแสร์ จังหวัดระยอง โดยมีเพื่อนพระอีกองค์หนึ่งร่วมเดินทางด้วย

ขณะนั้นเป็นช่วงระยะเวลาที่ท่านตัดสินใจว่าจะสึกหรือจะญัตติ ท่านดำริว่า “ถ้าสึกออกไปคงไม่มีโอกาสเงยหน้าขึ้น คงจะต้องมีแต่ความทุกข์ยากลำบากต่อไป แต่ถ้าญัตติอยู่กับท่านพ่อลี ก็คงจะได้มีโอกาสเห็นแสงสว่างในชีวิตบ้าง” ท่านจึงตกลงใจกลับไปเมืองจันทบุรีเพื่อลาพระอุปัชฌาย์ ฝ่ายพระอุปัชฌาย์พยายามถ่วงไว้ว่า “รอไว้ก่อน” ส่วนพระครูครุนาถสมาจาร (เศียร) [ต่อมาเป็น พระอมรโมลี] เจ้าอาวาสวัดจันทนาราม ซึ่งเป็นวัดธรรมยุติแห่งเดียวในจังหวัดจันทบุรี ในสมัยนั้น ท่านก็ไม่กล้าให้ญัตติเนื่องจากจังหวัดจันทบุรีไม่เคยมีพระมหานิกายญัตติเป็นธรรมยุติมาก่อน ท่านเจ้าอาวาสเกรงว่าจะมีวิพากษ์วิจารณ์กันในคณะมหานิกาย

แต่ในที่สุดอุปสรรคเหล่านั้นท่านก็ผ่านพ้นมาได้ เมื่อท่านกลับไปบอกกับพระอุปัชฌาย์ว่า “ถ้าท่านอนุญาต ผมจะสึกแล้วบวชใหม่” พระอุปัชฌาย์จึงยินยอม ฉะนั้น ท่านจึงได้ญัตติเป็นธรรมยุติเมื่อเดือนพฤษภาคม ปี พ.ศ. ๒๔๘๐ ที่วัดจันทนาราม ตำบลจันทนิมิต อำเภอเมือง จังหวัดจันทบุรี โดยมี พระครูครุนาถสมาจาร (เศียร) [ต่อมาเป็น พระอมรโมลี] เป็นพระอุปัชฌาย์ และพระครูพิพัฒน์วิหารการ (เชย) เป็นพระกรรมวาจาจารย์ พอญัตติเรียบร้อยแล้ว ท่านก็ไปอยู่กับท่านพ่อลีที่ป่าช้าบ้านคลองกุ้ง (วัดป่าคลองกุ้ง)

ท่านพ่อเฟื่องเล่าให้ฟังถึงการปฏิบัติภาวนาเมื่อไปอยู่กับท่านพ่อลีว่า ผู้ใดที่จะอยู่กับท่านพ่อลีต้องหนักแน่นที่สุด มีความตั้งใจ กลางวันปฏิบัติท่านพ่อลี คอยต้มน้ำชงน้ำชาเมื่อเวลาท่านพ่อลีมีแขก กลางคืนจะมีการอบรมตั้งแต่ ๖ โมงเย็น ถึง ๔ ทุ่มบ้าง ๕ ทุ่มบ้าง ๖ ทุ่มบ้าง มีการไหว้พระสวดมนต์นั่งภาวนา ฟังเทศน์ฟังธรรมจากพระไตรปิฎก บุพพสิกขาวรรณนาและวินัยมุข เป็นต้น พออบรมเสร็จแล้ว ห้ามกลับไปนอนที่กุฏิ ต่างคนต่างเดินจงกรมและนั่งภาวนาต่อ

นอกจากเวลาเทศน์ ท่านพ่อลีเป็นพระที่พูดน้อย ถ้ามีใครปฏิบัติหรืออยู่รับใช้ท่าน ท่านพ่อลีจะใช้สายตาแทนคำพูด ท่านพ่อลีถือว่า “ถ้าถึงกับต้องพูดกัน แสดงว่าไม่รู้จักกัน” เป็นอุบายฝึกให้ลูกศิษย์เป็นคนช่างสังเกต (อุบายนี้ท่านพ่อเฟื่องนำมาใช้กับลูกศิษย์ต่อมาด้วย)

บางครั้งท่านพ่อลีจะพูดสั้นๆ ห้วนๆ ผู้ฟังต้องนำไปคิดพิจารณาจึงจะเกิดความเข้าใจ ท่านพ่อเฟื่องเคยเล่าให้ฟังว่าครั้งหนึ่ง มีโยมคนหนึ่งมาพูดกับท่านพ่อลีว่า “ดิฉันจะสร้างกุฏิถวายให้ท่านพ่ออยู่” ท่านพ่อลีก็ตอบว่า “โยมเห็นอาตมาเป็นตัวปลวกตัวมอดหรือ” โยมคนนั้นเลยร้องไห้เพราะไม่เข้าใจในความหมายของท่านพ่อลี ถ้าจะสร้างกุฏิก็ให้อุทิศแก่สงฆ์จากทิศทั้ง ๔ เสีย อย่าอุทิศเฉพาะคนนั้นคนนี้

รูปภาพ
พระสุทธิธรรมรังสีคัมภีรเมธาจารย์ (ท่านพ่อลี ธมมฺธโร)

(มีต่อ)

.....................................................
ทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว เป็นกฎตายตัว


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 25 ม.ค. 2010, 17:09 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
ผู้จัดการ
ผู้จัดการ
ลงทะเบียนเมื่อ: 27 มี.ค. 2006, 17:34
โพสต์: 7781

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว www


รูปภาพ
พระอาจารย์มั่น ภูริทตฺโต

รูปภาพ
พระอาจารย์เจี๊ยะ จุนฺโท


๏ ลำดับในการจำพรรษา

พ.ศ. ๒๔๗๘
อุปสมบทเมื่ออายุ ๒๐ ปีบริบูรณ์ ณ วัดโบสถ์ ตำบลบางกระจะ อำเภอเมือง จังหวัดจันทบุรี

พ.ศ. ๒๔๘๐
ท่านพ่อเฟื่องพบ ท่านพ่อลี ธมมฺธโร แล้วได้ติดตามธุดงค์จากป่าช้าคลองกุ้ง อำเภอเมือง จังหวัดจันทบุรี ไปทางเขาวงกต ต่อเข้าเขตปากน้ำประแสร์ จังหวัดระยอง

พ.ศ. ๒๔๘๐
ญัตติเป็นธรรมยุติ และออกธุดงค์ตามแนวป่าเขตจังหวัดจันทบุรี ตราด และปราจีนบุรี

พ.ศ. ๒๔๘๑
ท่านพ่อเฟื่องกับ พระอาจารย์เจี๊ยะ จุนฺโท กราบลาท่านพ่อลีขึ้นไปเชียงใหม่ เพื่อมาพำนักจำพรรษาร่วมกับ พระอาจารย์มั่น ภูริทตฺโต ที่อำเภอพร้าว ๑ พรรษา แล้วออกธุดงค์ โดยช่วงที่ได้อยู่กับหลวงปู่มั่นนั้น ท่านพ่อเฟื่องได้เรียนรู้พระธรรมวินัยมากมาย อีกทั้งยังได้เห็นปฏิปทาและอุบายการสอนของหลวงปู่มั่น ซึ่งมีความหลากหลายขึ้นอยู่กับลูกศิษย์แต่ละคน อาทิเช่น หากมีพระรูปใดป่วยแล้วขอยา หลวงปู่มั่นจะตำหนิว่า “นี่เอาอะไรเป็นสรณะที่พึ่ง เอาพระพุทธเจ้าเป็นที่พึ่ง หรือเอายาเป็นที่พึ่ง ถือศาสนาพุทธหรือถือศาสนายากันแน่” แต่หากพระรูปไหนป่วยแล้วไม่ยอมฉันยา ท่านก็ติเตือนอีกว่า “ยามี ทำไมไม่ยอมฉัน ทำไมทำตัวเป็นคนเลี้ยงยาก”

พรรษาที่ ๕
อยู่ที่จังหวัดเชียงใหม่ ติดตาม พระอาจารย์พรหม จิรปุญฺโญ ธุดงค์ไปถ้ำเชียงดาวกับ พระอาจารย์สิม พุทฺธาจาโร อยู่กับ พระอาจารย์อ่อนสา สุขกาโร และไปองค์เดียวที่หมู่บ้านชาวเขาเผ่ามูเซอร์ดำ ท่านพ่อเฟื่อง ท่านเป็นพระที่สมถะ มักน้อย สันโดษ ไม่ยึดติดในสมณศักดิ์และลาภยศ รักการเดินธุดงค์เป็นชีวิตจิตใจ

รูปภาพ
พระอาจารย์พรหม จิรปุญฺโญ

รูปภาพ
พระอาจารย์สิม พุทฺธาจาโร

รูปภาพ
พระอาจารย์อ่อนสา สุขกาโร


อบรมกรรมฐานที่วัดป่าคลองกุ้ง

พรรษาที่ ๘
หลวงพ่อลี ได้มีจดหมายเรียกตัวกลับวัดป่าคลองกุ้ง ตำบลตลาด อำเภอเมือง จังหวัดจันทบุรี

พ.ศ. ๒๔๙๓
ท่านพ่อลี ได้เดินธุดงค์ไปพำนักจำพรรษา ณ ประเทศอินเดีย ให้ท่านพ่อเฟื่องรักษาการแทนเจ้าอาวาสวัดป่าคลองกุ้ง และอบรมพระเณร สอนกรรมฐานที่วัดป่าคลองกุ้ง หลวงพ่อลีกลับมาสอนภาวนาตามแนวอานาปานสติ แทน “พุทโธ” ท่านพ่อเฟื่องก็ปฏิบัติและสอนภาวนาตามแนวอานาปานสติตลอดมา

ลำดับงานปกครองและสมณศักดิ์

๕ ธันวาคม ๒๕๐๐
ท่านพ่อลี ได้รับพระราชทานเลื่อนสมณศักดิ์เป็นพระราชาคณะชั้นสามัญที่ พระสุทธิธรรมรังสีคัมภีรเมธาจารย์ ท่านพ่อเฟื่อง ได้รับการแต่งตั้งเป็นเป็นพระครูปลัดฐานานุกรมของท่านพ่อลี

๒๖ เมษายน ๒๕๐๔
ท่านพ่อลี ได้มรณภาพลง สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ สมเด็จพระสังฆราช (จวน อุฏฺฐายี) สมเด็จพระสังฆราชพระองค์ที่ ๑๖ แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ เมื่อครั้งดำรงสมณศักดิ์ที่ สมเด็จพระมหาวีรวงศ์ วัดมกุฏกษัตริยาราม รักษาการแทนเจ้าอาวาสวัดอโศการาม ตำบลท้ายบ้าน อำเภอเมือง จังหวัดสมุทรปราการ

พ.ศ. ๒๕๐๙
ท่านพ่อเฟื่อง ได้รับการแต่งตั้งเป็นพระครูสัญญาบัตรชั้นตรีที่ พระครูญาณวิศิษฏ์ ในฐานานุกรมของ สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ สมเด็จพระสังฆราช (จวน อุฏฺฐายี) และพำนักจำพรรษาที่วัดมกุฏกษัตริยาราม สอนกรรมฐานให้สมเด็จพระสังฆราชฯ และพระเณรในวัด

รูปภาพ
สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ สมเด็จพระสังฆราช (จวน อุฏฺฐายี)

รูปภาพ
สมเด็จพระพุทธชินวงศ์ (ประจวบ กนฺตาจาโร)


การสร้างวัดธรรมสถิต (พ.ศ. ๒๕๑๙-๒๕๒๙)

พ.ศ. ๒๕๑๒
แม่ชีคุณนายสมบูรณ์ เรืองฤทธิ์ และ ร.อ. ทับ รอดอนันต์ ติดต่อกับสมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ สมเด็จพระสังฆราช (จวน อุฏฺฐายี) สมเด็จพระสังฆราชพระองค์ที่ ๑๖ แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ ขอถวายที่ดินเพื่อก่อตั้งวัดในตำบลสำนักทอง อำเภอเมือง จังหวัดระยอง สมเด็จพระสังฆราชฯ ตั้งชื่อวัดว่า “วัดธรรมสถิต”

พ.ศ. ๒๕๑๓
ท่านพ่อเฟื่องมาพำนักจำพรรษาที่วัดธรรมสถิตเป็นปีแรก

พ.ศ. ๒๕๑๔
ได้รับการแต่งตั้งเป็นเจ้าอาวาสวัดธรรมสถิต

พ.ศ. ๒๕๑๘
สมเด็จพระพุทธชินวงศ์ (ประจวบ กนฺตาจาโร) เมื่อครั้งดำรงสมณศักดิ์ที่ พระเทพโมลี เจ้าอาวาสวัดมกุฏกษัตริยาราม ในขณะนั้น ได้นิมนต์ท่านพ่อเฟื่องให้มาพำนักจำพรรษา ณ วัดมกุฏกษัตริยาราม เพื่ออบรมกรรมฐานให้กับพระนวกะ ซึ่งท่านพ่อเฟื่องก็รับทำหน้าที่นี้ตลอดชีวิตของท่าน โดยพำนักจำพรรษา ณ วัดธรรมสถิต แล้วสัตตาหกรณียะ เดินทางไป-มาระหว่างวัดธรรมสถิตกับวัดมกุฏกษัตริยาราม

พ.ศ. ๒๕๑๙
ได้เลื่อนสมณศักดิ์เป็นพระครูสัญญาบัตรชั้นเอกที่ พระครูญาณวิศิษฏ์

สิ่งก่อสร้างภายในวัดธรรมสถิต

- “พระเจดีย์ศรีธรรมสถิต” วัดธรรมสถิต
• พิธีวางศิลาฤกษ์ เดือนพฤษภาคม ๒๕๒๒
• คืนวันมาฆบูชา ยอดเจดีย์เสร็จปี พ.ศ. ๒๕๒๕
• พิธีบรรจุพระบรมสารีริกธาตุ
• สร้างเจดีย์เสร็จมีเงินปัจจัยเหลือเท่าเดิม

ในการสร้าง “พระเจดีย์ศรีธรรมสถิต” นั้น ท่านพ่อเฟื่องได้นำพาพระเณร และฆราวาสที่สมัครใจเสียสละไม่นอน ช่วยกันสร้าง “พระเจดีย์ศรีธรรมสถิต” ด้วยมือทั้งวันทั้งคืน จนกระทั่งแล้วเสร็จ ซึ่งคณะศิษยานุศิษย์ผู้ที่สมัครใจร่วมลงแรงสร้างมีทั้งชาวบ้าน ข้าราชการ และเศรษฐี เวียนกันเข้ามาตามโอกาส

- พระพุทธรูปปางนาคปรก หน้าตักกว้าง ๖ เมตร
พญานาคกว้าง ๘ เมตร ใต้ฐานพระพุทธรูปทำเป็น “อุโบสถ”

• ๔ พฤษภาคม ๒๕๒๕ พิธีวางศิลาฤกษ์ และเริ่มก่อสร้าง
• ๑-๙ สิงหาคม ๒๕๒๘ ประกอบพิธีพุทธาภิเษก ๙ วัน ๙ คืน
• วันลอยกระทง ประกอบพิธีบรรจุพระบรมสารีริกธาตุ
• ๔ พฤษภาคม ๒๕๒๙ พิธีเบิกพระเนตร

การเดินทางไปต่างประเทศ

๒-๑๐ มิถุนายน ๒๕๒๒ ไปประเทศฮ่องกง ครั้งที่ ๑

๓-๑๒ มิถุนายน ๒๕๒๔ ไปประเทศฮ่องกง ครั้งที่ ๒

๒-๑๗ พฤศจิกายน ๒๕๒๔ พาคณะศิษยานุศิษย์ไปประเทศอินเดีย

๒๗ มีนาคม-๓ เมษายน ๒๕๒๖ พาคณะศิษยานุศิษย์ไปประเทศศรีลังกา พร้อมกับหลวงปู่วัย จตฺตาลโย

๙-๒๖ พฤษภาคม ๒๕๒๖ ไปประเทศฮ่องกง ครั้งที่ ๓ และเดินทางต่อไปประเทศจีน

๕ มิถุนายน-๙ กรกฎาคม ๒๕๒๖ ไปประเทศสหรัฐอเมริกา ญี่ปุ่น อังกฤษ และอินเดีย

๗-๑๕ พฤษภาคม ๒๕๒๗ พาคณะศิษยานุศิษย์ไปประเทศอินเดีย

๑๙ มีนาคม-๙ เมษายน ๒๕๒๙ ไปประเทศฮ่องกง ครั้งที่ ๔ และเดินทางต่อไปประเทศจีน

๘ พฤษภาคม ๒๕๒๙ ไปประเทศฮ่องกง ครั้งที่ ๕

รูปภาพ
หลวงตามหาบัว ญาณสมฺปนฺโน


๏ ครั้งพำนักจำพรรษาอยู่กับหลวงปู่มั่น

ตามประวัติของท่านพ่อเฟื่องสมัยที่พำนักจำพรรษาอยู่กับหลวงปู่มั่น ท่านเคยเล่าให้ฟังไว้ว่า

เย็นวันหนึ่ง ท่านขึ้นกุฏิหลวงปู่มั่น ภูริทตฺโต ปรากฏว่าพระองค์อื่นไม่ได้ขึ้นไป หลวงปู่มั่นก็เทศน์เรื่องพระบรมสารีริกธาตุอย่างละเอียดว่า “พระธาตุที่มีลักษณะนั้นๆ มาจากส่วนนั้นๆ ของพระวรกาย” ท่านเองก็ไม่ได้จดจำไว้เพราะตอนนั้นท่านไม่ค่อยสนใจในเรื่องนี้

ก่อนที่ท่านจะไปหาหลวงปู่มั่น มีโยมคนหนึ่งนำพระบรมสารีริกธาตุมาถวายท่าน ท่านก็เก็บไว้ในที่พัก แสดงความเคารพเป็นธรรมดาไม่ได้ใส่ใจเป็นพิเศษ ตลอดเวลาที่ท่านฟังเทศน์ของหลวงปู่มั่น ท่านก็ได้แต่นึกว่า “ทำไมหลวงปู่มั่นทราบว่าเรามีพระธาตุ”

ต่อมาเมื่อท่านมีหน้าที่เกี่ยวข้องกับพระบรมธาตุ เช่น การสร้าง “พระธุตังคเจดีย์” ที่วัดอโศการาม ตำบลท้ายบ้าน อำเภอเมือง จังหวัดสมุทรปราการ และ “พระเจดีย์ศรีธรรมสถิต” ที่วัดธรรมสถิต ท่านก็นึกเสียดายที่ไม่ได้จดจำคำสอนของหลวงปู่มั่นไว้ จำได้แต่ว่า “พระธาตุส่วนที่มีลักษณะใสนั้นมาจากส่วนสมอง”

จากหนังสือหยดน้ำบนใบบัว หลวงตามหาบัว ญาณสมฺปนฺโน แห่งวัดป่าบ้านตาด ตำบลบ้านตาด อำเภอเมือง จังหวัดอุดรธานี เคยเทศน์ตอนหนึ่งถึงท่านพ่อลีและท่านพ่อเฟื่อง ว่า “ในคราวที่ท่านพ่อลีแสดงให้ท่านพ่อเฟื่องดูว่า ท่านทำให้เด็กลอยได้ เด็กชื่อมนูญ ท่านเรียกมาสั่งให้นั่งขัดตหมาด และบอก เอ้าลอย... เด็กก็ลอยขึ้นต่อหน้าต่อตาท่านพ่อเฟื่องจริงๆ ท่านพ่อเฟื่องจึงนำมาเล่าถวายหลวงตาฟัง”

:b44: พลังของจิตท่านอาจารย์ลี
http://www.dhammajak.net/forums/viewtopic.php?f=7&t=22455

:b44: ท่านอาจารย์ฝั้นกับอาจารย์ลี พลังจิตแรง
http://www.dhammajak.net/forums/viewtopic.php?f=7&t=41774

รูปภาพ
“พระธุตังคเจดีย์” วัดอโศการาม ต.ท้ายบ้าน อ.เมือง จ.สมุทรปราการ

(มีต่อ)

.....................................................
ทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว เป็นกฎตายตัว


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 14 พ.ค. 2012, 09:24 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
ผู้จัดการ
ผู้จัดการ
ลงทะเบียนเมื่อ: 27 มี.ค. 2006, 17:34
โพสต์: 7781

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว www


๏ คำสอนอันลึกซึ้งและวัตรปฏิปทา

ท่านพ่อเฟื่อง ท่านเป็นผู้ที่พูดน้อย เว้นแต่มีเหตุที่ควรพูดยาวท่านก็จะขยายความ ทั้งนี้เพราะท่านถือตามคติท่านพ่อลีว่า “ถ้าจะสอนธรรมะให้เขาฟัง แต่เขาไม่ตั้งใจฟังหรือไม่พร้อมที่จะรับ ธรรมะที่พูดไปนั้นถึงจะดีวิเศษวิโสแค่ไหน ก็ยังนับว่าเป็นคำเพ้อเจ้ออยู่เพราะไม่ได้ประโยชน์อะไร”

แม้ท่านจะประหยัดคำพูดแต่ถ้อยคำของท่านก็มีความลุ่มลึก ตรงถึงใจของญาติโยม ลูกศิษย์ของท่านพ่อเฟื่องผู้หนึ่งเล่าถึงประสบการณ์ครั้งแรกที่ได้พบท่าน ท่านถามว่า “เคยทำบุญที่ไหนบ้าง” เขาตอบว่า เคยไปช่วยสร้างพระพุทธรูปที่วัดนั้น ช่วยสร้างเมรุที่วัดนี้ ช่วยทำที่นั่นที่โน่นอีกหลายแห่ง

พูดจบ ท่านก็ถามต่อว่า “ทำไมไม่ทำที่ใจล่ะ”

ลูกศิษย์อีกคนหนึ่งทำอย่างที่ท่านแนะนำ คือทำสมาธิภาวนา แต่ทำมาหลายปีก็รู้สึกว่าอยู่กับที่ จึงบ่นให้ท่านว่า ฝึกภาวนามาหลายปีแล้ว แต่ไม่เห็นได้อะไรขึ้นมาเลย

ท่านตอบทันทีว่า “เขาภาวนาเพื่อให้ละ ไม่ใช่ภาวนาเพื่อให้เอา”

อีกคนหนึ่งนั่งภาวนาหลังจากทำงานที่วัด รู้สึกเพลียมากแต่ก็ฝืนใจภาวนาเพราะเกรงใจท่าน นั่งไปได้ไม่นานรู้สึกว่าใจเหลืออยู่นิดเดียว กลัวใจจะขาด ท่านเดินผ่านมาพอดีจึงพูดขึ้นว่า “ตายเลย ไม่ต้องกลัว คนเราก็ตายอยู่แล้วทุกลมหายใจ เข้า-ออก” ลูกศิษย์ได้ฟังก็เกิดกำลังใจที่จะนั่งต่อสู้ความเพลีย อีกคราวหนึ่งท่านได้กล่าวเตือนสติลูกศิษย์ว่า “การภาวนาก็คือการฝึกตาย เพื่อเราจะได้ตายเป็น”

ท่านยังกล่าวอีกว่า “ไม่ต้องกลัวหรอกการตาย ให้กลัวการเกิดดีกว่า”

กับพระภิกษุก็เช่นกัน ท่านพ่อเฟื่อง ท่านจะพูดตรงและมีความหมายลึกซึ้ง มีพระรูปหนึ่งอยู่กับท่านมาหลายปี วันหนึ่งเข้าไปหาท่านเพื่อขอพรวันเกิด ท่านให้พรสั้นๆ ว่า “ให้ตายเร็วๆ” พระรูปนั้นฟังแล้วก็ใจหาย ต่อเมื่อพิจารณาถ้อยคำดังกล่าวอยู่หลายวัน จึงเข้าใจว่าท่านไม่ได้แช่ง แต่ให้พรจริงๆ เป็นพรที่ประเสริฐด้วย นั่นคือ การตายจากกิเลส หรือมีปัญญาแจ่มแจ้งจน “ตัวกู” ดับ

“ถึงความเห็นของเราจะถูก แต่ถ้าเรายึดเข้าไว้มันก็ผิด” เป็นคำสอนของท่านอีกข้อหนึ่ง ที่มีความหมายลึกซึ้ง และเตือนใจให้เราตระหนักถึงโทษของความยึดมั่นถือมั่นในความคิดที่ดี หรือยึดติดในความดีของตน เพราะความจริงแล้วไม่มีอะไรที่เราสามารถยึดติดถือมั่นได้แม้แต่อย่างเดียว ใช่แต่เท่านั้นการยึดมั่นในความดียังทำให้เกิดทุกข์และอาจนำไปสู่การกระทำที่ผิดก็ได้

อย่างไรก็ตามในเรื่องพระวินัย ท่านเห็นเป็นสิ่งที่ควรใส่ใจอยู่เสมอ “อย่าเห็นว่าข้อวินัยเล็กๆ น้อยๆ เป็นเรื่องไม่สำคัญ ท่านพระอาจารย์มั่น ภูริทตฺโต เคยบอกว่า ไม้ทั้งท่อนไม่เคยเข้าตาใครหรอก แต่ขี้ผงเล็กๆ นั่นแหละ เข้าตาง่าย ทำให้ตาบอดได้”

ท่านมีความเห็นเกี่ยวกับพระวินัยที่น่าสนใจ คราวหนึ่งพระต่างชาติที่มาบวชกับท่านได้กลับไปเยี่ยมบ้าน โยมแม่เลี้ยงเป็นชาวคริสต์ เมื่อเห็นพระลูกชายก็อยากกอด เพราะไม่ได้พบกันมานานหลายปี แต่พระลูกชายไม่ยอมให้กอด เธอจึงโกรธมาก กล่าวหาว่าพระพุทธศาสนาสอนให้รังเกียจผู้หญิง เมื่อเรื่องนี้ถึงหูท่าน ท่านพ่อเฟื่องก็อธิบายว่า “ที่พระพุทธเจ้าไม่ให้พระจับต้องผู้หญิงนั้น ไม่ใช่ว่าเพราะผู้หญิงไม่ดี แต่เป็นเพราะพระไม่ดีต่างหาก เพราะพระยังมีกิเลส จึงจับต้องกันไม่ได้”

คำอธิบายตรงไปตรงมาแบบนี้น้อยคนจะได้ฟังจากปากของพระทั่วไป เหตุผลสำคัญคงเป็นเพราะไม่เข้าใจจุดมุ่งหมายของพระวินัยว่าเป็นเครื่องฝึกฝนตนและขัดเกลาจิตใจสำหรับบุคคลที่ยังมีกิเลส ส่วนท่านที่พ้นกิเลสแล้วยังรักษาพระวินัยก็เพื่อเป็นแบบอย่างแก่บุคคลทั้งหลายที่ยังต้องฝึกฝนตน


:b44: สาระธรรมคำสอนสุดยอด !!...ท่านพ่อเฟื่อง โชติโก
http://www.dhammajak.net/forums/viewtopic.php?f=7&t=39095

:b44: รวมคำสอน “ท่านพ่อเฟื่อง โชติโก”
http://www.dhammajak.net/forums/viewtopic.php?f=72&t=47090

รูปภาพ
พระครูญาณวิศิษฏ์ (ท่านพ่อเฟื่อง โชติโก) อดีตเจ้าอาวาสวัดธรรมสถิต

รูปภาพ
พระอาจารย์สุชิน ปริปุณโณ เจ้าอาวาสวัดธรรมสถิตรูปปัจจุบัน


๏ การมรณภาพ

เมื่อวันที่ ๘ พฤษภาคม ๒๕๒๙ ท่านพ่อเฟื่อง ได้เดินทางไปประเทศฮ่องกง ครั้งที่ ๕ ตามที่ลูกศิษย์นิมนต์ไป จนกระทั่งวันที่ ๑๔ พฤษภาคม ๒๕๒๙ ท่านได้มรณภาพลงอย่างสงบด้วยอาการโรคหัวใจวาย (Coronary Thrombosis) ณ ห้องพักสำนักกรรมฐานรังสี ประเทศฮ่องกง สิริชนมายุรวมได้ ๗๑ ปี ๑๐ วัน พรรษา ๔๙

ในระหว่างวันที่ ๑๓-๑๔ พฤษภาคมของทุกปี ทางคณะกรรมการวัดธรรมสถิต ร่วมกับคณะศิษยานุศิษย์และสาธุชนโดยทั่วไป ได้ร่วมกันจัดงานทำบุญวันคล้ายวันมรณภาพของพระครูญาณวิศิษฏ์ (ท่านพ่อเฟื่อง โชติโก) ขึ้น เพื่อเป็นการเชิดชูความเป็นพระสงฆ์ที่มีจริยวัตรอันงดงาม ที่ท่านได้เพียรอบรมกรรมฐานให้กับบรรดาศิษยานุศิษย์มากมาย ไม่เว้นแม้กระทั่งงานก่อสร้างที่ท่านได้สร้างไว้ให้กับวัดธรรมสถิต

(มีต่อ)

.....................................................
ทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว เป็นกฎตายตัว


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 24 ส.ค. 2017, 07:17 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
ผู้จัดการ
ผู้จัดการ
ลงทะเบียนเมื่อ: 27 มี.ค. 2006, 17:34
โพสต์: 7781

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว www


๏ หลวงตามหาบัวกล่าวถึงท่านพ่อเฟื่อง
http://www.dhammajak.net/forums/viewtopic.php?f=7&t=49329

พระองค์ไหนนี่ แบกคัมภีร์มาตีหัวเรา

พระธรรมเทศนาบางส่วนของหลวงตามหาบัว ญาณสัมปันโน
เมื่อวันที่ ๒๙ ธันวาคม พุทธศักราช ๒๕๓๒
เทศน์อบรมฆราวาส ณ สวนแสงธรรม เขตบางแค กรุงเทพฯ


พระองค์ไหนนี่ แบกคัมภีร์มาตีหัวเรา เวลาท่าน (พระอาจารย์มั่น) เอา ท่านเอาอย่างจริงจัง เหมือนอย่างพระ ก็พระอาจารย์เฟื่องนี่แหละ อาจารย์เฟื่องไปอยู่กับท่านทีแรก อาจารย์เฟื่อง ระยอง (ท่านพ่อเฟื่อง โชติโก) เป็นเพื่อนกันกับเรา (หลวงตามหาบัว) รู้สึกจะอ่อนกว่าเรา ๓ พรรษานะ อาจารย์เฟื่องนี่ พวกเดียวกันกับเรานี่นะ ไปบิณฑบาตกับท่าน (พระอาจารย์มั่น) เขาเอาน้ำตาลงบมาส่งให้ น้ำตาลงบ หลักพระวินัยมีนี่ กาลิกระคนกัน ไม่ระคนกันก็บอก เช่น น้ำตาล ถ้านำมาผสมกับข้าว อายุได้แค่ข้าวเท่านั้น จากเช้ายันเที่ยง น้ำตาลนี่จะหมดอายุถ้าเปื้อนข้าวนะ ถ้าไม่เปื้อนข้าว น้ำตาลนี่จะเก็บไว้ได้ตามกาล คือ ๗ วัน คือฉันได้ในเวลาวิกาล ตลอดอายุ ๗ วันของมัน ถ้าผสมกับข้าวแล้วจะได้เพียงถึงเที่ยงเท่านั้น เรายกตัวอย่างเฉพาะอันเดียวนะ “กาลิก” นี่มีถึง ๔ กาลิก ยาวกาลิก ยามกาลิก สัตตาหกาลิก และยาวชีวิก

ยาวกาลิก คือ ประเภทอาหารที่รับประเคนแล้ว พอถึงเที่ยงวันหมดอายุ แล้วเอามาฉันอีกไม่ได้นะ ฉะนั้น อาหารมาจริงๆ พระจึงไม่รับประเคนถ้าเลยหลังฉันแล้ว มีข้อพระวินัยอยู่

ส่วนยามกาลิก ได้ชั่ว ๒๔ ชั่วโมงเป็นอย่างมาก คือ พวกน้ำอัฏฐบาน

ส่วนสัตตาหกาลิก พวกน้ำอ้อย น้ำตาล เนยใส เนยข้น น้ำมัน น้ำผึ้ง อันนี้เมื่อไม่ระคนกับอาหารประเภทที่อายุสั้น ก็ฉันได้ตามกาลของมัน คือ ๗ วัน จึงหมดอายุ เมื่อหมดอายุแล้วต้องเสียสละไปเลยนะ มายุ่งอีกไม่ได้

ส่วนยาวชีวิก นั้นเป็นพวกยา ฉันได้ตลอดกาลของมัน คือจนกระทั่งหมด ยาวชีวิกคือตลอดชีวิตของยานั้น


“...ทีนี้อาจารย์เฟื่องไปอยู่กับท่าน (พระอาจารย์มั่น) ใหม่ๆ พอบิณฑบาต ท่านได้น้ำตาลมาก้อนหนึ่ง ห่อมาอย่างดี ท่านก็ยกขึ้นมาแล้วว่า “นี่น้ำตาลนี่ดี ไม่เปื้อนอะไร ใครจะเก็บไว้ฉันในเวลาวิกาลก็ได้”

ท่านว่าอย่างนี้ ท่านไม่ได้บอก ๗ วัน เพราะพระรู้เรื่องแล้วเรื่องสัตตาหกาลิกนี่ สำหรับอันนี้เป็นสัตตาหกาลิก แต่เอาออกมาจากบาตรน่ะซี ที่ทำให้อาจารย์เฟื่องสงสัย ‘นี่ก็บิณฑบาตมากับข้าวแล้ว ทำไมท่านอาจารย์องค์นี้ว่าเป็นผู้ปรากฏชื่อลือนามทางด้านธรรมวินัยเคร่งครัดที่สุดแล้ว ทำไมจึงต้องเอาน้ำตาลที่เขาใส่บาตรมานี่ เก็บไว้ฉันในเวลาวิกาล มันสมควรที่ไหน’

คิด คิดแล้วไม่ลงท่านนะ พอเช้าวันหลังนี่ ท่านว่า ‘พระองค์ไหนมาอยู่กับเรานี่ แบกคัมภีร์มาตีหัวเราเมื่อคืนนี้ นั่นเห็นไหม แบกคัมภีร์มาตีหัวเรา เรานี่เป็นภิกษุเฒ่าไม่รู้คัมภีร์วินัยอะไรเลย พระองค์นั้นอยู่แถวนี้แหละ จะยกคัมภีร์มาตีหัวเรา คืนนี้จะพิจารณาให้ชัดเจน’


ความจริงท่านชัดเจนแล้ว ท่านตีแต่ฉากไปฉากมาเสียก่อน เข้าใจหรือเปล่า วันนี้ยังไม่ชัดเจนเท่าไร เอาไว้วันพรุ่งนี้จะพิจารณาให้ชัดเจน อาจารย์เฟื่องหมอบ ต้องไปขอขมาท่าน ท่านก็เลยอธิบายพระวินัยให้ฟัง

‘พระวินัยข้อนี้น่ะเห็นไหม กาลิกระคนกัน เช่น สัตตหากาลิก น้ำอ้อย น้ำตาล มาผสมกับข้าว นี่ฉันได้เพียงถึงอายุเที่ยงวันเท่านั้น หมดอายุ ฉันต่ออีกไม่ได้ แต่ถ้าน้ำตาลนี่ ไม่เปื้อนเปรอะอะไรเลย ห่อมาเรียบร้อย ก็ฉันได้ตามกาลของมัน แม้จะมาในบาตรก็ตาม นี่เราทำอย่างนั้นนั่น’

เวลาท่านสอนท่านสอนอย่างนั้น หาที่ค้านไม่ได้ พระวินัยมีอย่างนี้ แต่คนไม่เห็นกาลิกที่แยกน่ะซี เห็นแต่กาลิกระคนกันแล้วใช่ไหม พระวินัยมีทั้งกาลิกระคนกัน และกาลิกแยกกัน แม้จะมาในขณะเดียวกัน เช่น เขาถวายอะไรมาพร้อมกับอาหาร ถ้าเป็นคนละประเภท เรายกตัวอย่างหมาก มันก็เป็นหมากไปเสีย ผสมกับข้าวไม่ได้ ก็จัดเป็นคนละประเภทๆ ไป...”


รูปภาพ
“พระเจดีย์ศรีธรรมสถิต” วัดธรรมสถิต จ.ระยอง

รูปภาพ
ภายใน “พระเจดีย์ศรีธรรมสถิต” วัดธรรมสถิต จ.ระยอง
นอกจากเป็นที่บรรจุพระบรมสารีริกธาตุ และพระธาตุต่างๆ แล้ว
ยังมีรอยพระพุทธบาทจำลองพร้อมนาคปรกด้วย


รูปภาพ
ป้ายรูปท่านพ่อเฟื่อง โชติโก ที่ติดไว้ด้านหลัง “พระเจดีย์ศรีธรรมสถิต”

รูปภาพ
ป้ายรูปท่านพ่อเฟื่อง โชติโก ภายใน “พระเจดีย์ศรีธรรมสถิต”

รูปภาพ
รูปเหมือนท่านพ่อเฟื่อง โชติโก ภายใน “พระเจดีย์ศรีธรรมสถิต”

รูปภาพ
อุโบสถวัดธรรมสถิต ข้างบนเป็นพระพุทธรูปปางนาคปรก องค์ใหญ่

.............................................................

:b8: :b8: :b8: ♥ รวบรวมและเรียบเรียงมาจาก ::
(๑) หนังสือยาใจ อนุสรณ์พระครูญาณวิศิษฏ์ (ท่านพ่อเฟื่อง โชติโก)
วัดธรรมสถิต ตำบลสำนักทอง อำเภอเมือง จังหวัดระยอง

(๒) เรื่องเล่าเช้าวันพระ : ภาวนาเพื่อละ
หลวงพ่อเฟื่อง โชติโก เขียนโดย พระไพศาล วิสาโล

(๓) พระธรรมเทศนาหลวงตามหาบัว ญาณสัมปันโน
เมื่อวันที่ ๒๙ ธันวาคม พุทธศักราช ๒๕๓๒


:b47: รวมคำสอน “ท่านพ่อเฟื่อง โชติโก”
http://www.dhammajak.net/forums/viewtopic.php?f=72&t=47090

:b47: ประมวลภาพ “ท่านพ่อเฟื่อง โชติโก”
http://www.dhammajak.net/forums/viewtopic.php?f=38&t=21515

:b47: ประมวลภาพ “พระอาจารย์สุชิน ปริปุณโณ”
http://www.dhammajak.net/forums/viewtopic.php?f=38&t=22980

.....................................................
ทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว เป็นกฎตายตัว


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 14 ก.ค. 2019, 09:56 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
อาสาสมัคร
อาสาสมัคร
ลงทะเบียนเมื่อ: 02 มิ.ย. 2007, 13:49
โพสต์: 1013


 ข้อมูลส่วนตัว


:b8: :b8: :b8:

.....................................................
ทำความดีทุกๆ วัน


แสดงโพสต์จาก:  เรียงตาม  
กลับไปยังกระทู้  [ 5 โพสต์ ] 

เขตเวลา GMT + 7 ชั่วโมง


 ผู้ใช้งานขณะนี้

กำลังดูบอร์ดนี้: ไม่มีสมาชิก และ บุคคลทั่วไป 2 ท่าน


ท่าน ไม่สามารถ โพสต์กระทู้ในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ ตอบกระทู้ในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ แก้ไขโพสต์ของท่านในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ ลบโพสต์ของท่านในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ แนบไฟล์ในบอร์ดนี้ได้

ค้นหาสำหรับ:
ไปที่:  
Google
ทั่วไป เว็บธรรมจักร