วันเวลาปัจจุบัน 29 มี.ค. 2024, 03:42  



เขตเวลา GMT + 7 ชั่วโมง




กลับไปยังกระทู้  [ 21 โพสต์ ]  ไปที่หน้า ย้อนกลับ  1, 2  Bookmark and Share
เจ้าของ ข้อความ
โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 27 ก.ย. 2009, 07:02 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
ผู้จัดการ
ผู้จัดการ
ลงทะเบียนเมื่อ: 27 มี.ค. 2006, 17:34
โพสต์: 7781

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว www


รูปภาพ
พระอาจารย์วัน อุตฺตโม


๏ ความหวังต่อการอบรม

เมื่อข้าพเจ้าได้อยู่ศึกษาอบรมจากท่านอาจารย์ใหญ่แล้ว ได้ตั้งใจศึกษาทุกวิถีทางและตั้งใจประกอบความเพียรไปพร้อมๆ กัน เคลือบแคลงสงสัยและไม่เข้าใจอะไรก็ไต่ถามศึกษาท่านเสมอ แต่ก็ด้วยเดชะบุญของข้าพเจ้าเหมือนกัน นับตั้งแต่ได้ฟังธรรมบรรยายของท่านในครั้งนั้นเป็นต้นไป เกิดมีความเชื่อความเลื่อมใสและได้รับความเข้าใจในธรรมเทศนาของท่าน ปรากฏแก่จิตใจว่า ธรรมที่ท่านแสดงไปนั้น เป็นธรรมะที่ถูกต้องอย่างแท้จริง ซึ่งหาผู้แสดงเช่นนั้นได้ยากในสมัยนั้น ทั้งได้เกิดความซาบซึ้งขึ้นในใจอย่างน่าอัศจรรย์แก่ตน เพราะเท่าที่เคยได้ฟังครูบาอาจารย์แสดงให้ฟังมาก็มากองค์แล้ว จิตของข้าพเจ้าไม่ปรากฏความซาบซึ้งเช่นนี้สักทีเลย

แต่ละวันนั้น เมื่อเสร็จจากฟังท่านแสดงธรรมแล้ว ก็คอยทำข้อวัตรอยู่จนกว่าท่านจะเข้าห้อง บางคืนก็ ๕ ทุ่มกว่า บางคืนก็ บ่าย ๓ ทุ่ม เมื่อท่านเข้าห้องแล้วจึงกลับไปที่พักของตน เดินจงกรม ไหว้พระสวดมนต์ นั่งสมาธิ เสร็จแล้วพักนอนพอสมควรแล้ว ลุกขึ้นล้างหน้าไหว้พระสวดมนต์ เกินจงกรมและนั่งสมาธิต่อไปจนสว่าง

แต่ข้าพเจ้ามีนิสัยชั่วอยู่อย่างหนึ่งคือ “นอนมาก” ฉะนั้น ข้าพเจ้าจึงต้องดัดสันดานมัน บางคืนก็นอนที่ใต้ถุนกุฎี บางคืนก็นอนที่ระเบียงกุฎี บางคืนก็นอนในห้อง แต่เปิดประตูหน้าต่างไว้ เพื่อให้การนอนตื่นง่าย บางคืนก็พักนอนราวชั่วโมงกว่า และอย่างมากไม่เกิน ๔ ชั่วโมง กลางวันไม่ค่อยได้พักนอนเท่าไร ถ้าเหน็ดเหนื่อยมาก็พักแต่น้อยตามเวลาจะอำนวยให้ แต่ไม่ค่อยเกิน ๑ ชั่วโมง หรือ ๕ นาทีก็มี เพราะว่าเวลาทำข้อวัตรเกี่ยวกับครูบาอาจารย์มีเวลาจำกัดอยู่แล้ว

เมื่อกลางคืนพอสว่างได้อรุณแล้ว ก็ต้องรีบเอาบาตรและบริขารของตนลงไปโรงฉัน จัดแจงโรงฉันให้เรียบร้อย พวกข้าพเจ้าที่เป็นพระนวกะต่างก็แย่งเวลาจัดโรงฉันกันเสมอ เพราะถือว่าใครไม่ได้ทำก็เสียข้อวัตรของผู้นั้น ต่างก็ตื่นดึกลุกเช้ากันทุกๆ องค์ ผู้ใดไม่เอาใจใส่ข้อวัตรต่างๆ ย่อมเป็นที่รังเกียจของหมู่คณะ การทำข้อวัตรของพวกข้าพเจ้า ถือเป็นงานที่ผาสุกใจ หาได้ถือเป็นความหนักใจไม่ ถ้าเผอิญขาด ไม่ได้ทำข้อวัตรที่เคยทำเป็นกิจวัตรแล้ว วันนั้นแหละทำให้ความเต็มใจความเอิบอิ่มไม่เพียงพอ เป็นใจว่างๆ กระไรอยู่ เพราะเหตุนั้น พวกข้าพเจ้าจึงไม่สามารถละเลยในกิจวัตรของตน การได้ทำกิจวัตรให้สมบูรณ์เป็นการสนุกใจมาก เวลาเดินจงกรมและนั่งสมาธิก็ปลอดโปร่งใจ ไม่มีข้อตำหนิตนเอง แม้ท่านที่เป็นพระเถระ ๑๐ พรรษา ๒๐ พรรษา ท่านก็ไม่ได้ถือพรรษา ย่อมทำกิจวัตรทั้งหลายแหล่เหมือนกันกับพระหนุ่มทั้งหลาย เพราะท่านก็ถือว่า ท่านก็เป็นลูกศิษย์ของครูบาอาจารย์องค์หนึ่งเหมือนกัน ท่านเป็นสานุศิษย์ผู้ใหญ่ก็ย่อมทำตัวให้เป็นตัวอย่างแก่สานุศิษย์ผู้น้อยอีก

เมื่อจะมองดูโดยผิวเผินแล้ว เวลาทำกิจวัตรคล้ายกับว่า พระทั้งหลายเหล่านั้นมีอายุพรรษาไม่เกินกันเท่าไร แต่ความจริงแล้ว พวกข้าพเจ้าเคารพนับถือกันในสมัยนั้น มีความเคารพนับถือกันตามลำดับพรรษา หาได้ล่วงเกินก้าวก่ายอายุพรรษากันไม่ แม้จะบวชเป็นคู่นาคกัน ก็ถือผู้เป็นนาคแก่ นาคอ่อนเป็นเกณฑ์ ถ้ามีธุระไปหากันที่พักของท่านผู้ใด ผู้ที่อ่อนก็ทำการกราบกันอย่างนี้ทั้งสิ้น พูดกันก็ยังแสดงคำพูดให้เป็นกิริยาของผู้อ่อนผู้แก่เสมอไป ไม่เคยพูดตีเสมอกันและข้ามเกินกัน ถ้าพลาดการล่วงเกินมีขึ้น เมื่อไปประกอบภาวนาก็ย่อมปรากฏธรรมะตักเตือนขึ้นมาให้สำนึกความผิดของตน แล้วก็รีบไปขอขมาโทษกันทันที ไม่ปล่อยให้เลยตามเลยไป แม้โทษเล็กน้อยก็ตาม ย่อมขัดต่อการบำเพ็ญเพียรอย่างสำคัญเหมือนกัน เมื่อรู้ได้ว่าตนมีความผิด ก็รีบชำระตนให้บริสุทธิ์เสียโดยรีบด่วน ความบริสุทธิ์มีการบำเพ็ญเพียรก็ผ่องใสก้าวหน้า ความไม่บริสุทธิ์ย่อมเป็นการถ่วงความเจริญใจ ประกอบภาวนาก็เห็นแต่ความมืด และความฟุ้งซ่านสงสัยเท่านั้น จิตก็จะนับวันแต่จะถอยกลับเสมอเพราะเหตุอย่างนี้แหละ พวกข้าพเจ้าจึงรักความบริสุทธิ์ของตนเป็นอย่างยิ่ง

ครั้นเมื่อจัดโรงฉันเสร็จเรียบร้อยแล้ว ข้าพเจ้าและหมู่คณะก็รีบไปเพื่อทำกิจวัตรต่อท่านอาจารย์ใหญ่ในที่พักของท่าน รอคอยท่านจะออกจากห้อง อยู่ตามบริเวณใกล้เคียงนั้น ต่างก็พากันทำความเพียร รอเวลาท่านออก ทุกๆ องค์หาได้จับกลุ่มคุยกันไม่ พอได้ยินเสียงท่านสัญญาด้วยการกระแอม หรือ ไอ และเสียงกระเทือนจากการไหวตัวของท่านแล้ว ต่างก็พากันทำกิจวัตรตามหน้าที่ของตน ท่านผู้มีอายุพรรษามากก็กวาดกราดบริเวณรอบกุฎี ตลอดทั้งฐานด้วย บางองค์ก็กวาดบนพื้นกุฎีก็มี กวาดตามใต้ถุนกุฎีก็มี เอากระโถนและหม้อมูตรไปชำระก็มี เอาบริขารท่านลงไปโรงฉันก็มี ทั้งนี้ก็เนื่องด้วยความชำนาญของตนและความไว้วางใจจากหมู่คณะและครูบาอาจารย์ ส่วนบริขารที่สำคัญ เช่น บาตร ต้องเป็นผู้อุปัฏฐากโดยเฉพาะกำกับเสมอ ปล่อยให้ผู้อื่นไม่ได้เป็นอันขาด จะเปลี่ยนมือผู้กำกับต้องกราบเรียนท่านให้ทราบเสียก่อนจึงควร เป็นย่าม เป็นกระติกน้ำร้อน ก็ต้องเป็นผู้ที่สำคัญ จึงควรกำกับเอาไปเอามา

อีกประการหนึ่ง กิจวัตรทั้งสิ้นทุกอย่าง องค์ใดจะกำกับทำอะไร ต้องทำประจำทุกๆ ครั้ง มิใช่คิดได้คิดทำไป อย่างนั้นใช้ไม่ได้ ต้องทำประจำจริงๆ และทำให้ทันต่อเวลาอีกด้วย เมื่อเอาบริขารท่านลงไปโรงฉันเสร็จแล้วก็รอเวลาไปบิณฑบาต โอกาสมีก็ไปเดินจงกรมเสียก่อนหรือนั่งกำหนดจิตไปพลาง พอได้เวลาไปบิณฑบาต ท่านก็จะเดินไปที่โรงฉันหรือที่แห่งใดแห่งหนึ่งแล้วแต่ความสะดวกของท่าน ผู้ที่คอยรับเก็บรองเท้าท่านก็มี ผู้ที่คอยผลัดเปลี่ยนผ้าและห่มผ้าติดลูกดุมถวายท่านก็มี แต่กิจเหล่านี้ต้องเป็นกิจของผู้ใกล้ชิดจะต้องทำเสมอ

ผู้ปฏิบัติใกล้ชิดนี้ต้องเป็นผู้เปรียวว่องไวจริงๆ จึงได้ ถ้ามิฉะนั้นก็ไม่สามารถจะทำอะไรให้ทันท่วงทีได้เสมอไป เช่น การครองผ้า คลุมผ้า เมื่อครองผ้าถวายท่านเสร็จแล้ว ครองผ้าของตนต้องให้เสร็จก่อนท่านอีก แล้วเอาบาตรของตนและของท่านเดินล่วงหน้าท่านไปก่อน รอคอยท่านอยู่อุปจารบ้าน เมื่อท่านไปถึง เอาบาตรถวายท่านแล้วก็เข้าแถวเดินไปตามลำดับพรรษาที่แก่และอ่อนตามวินัยนิยม สำหรับโยมที่จะใส่บาตรนั้น ท่านแนะนำให้ยืนใส่บาตรทั้งชายและหญิง เพราะเป็นการสะดวกทั้งสองฝ่าย

เสร็จจากการบิณฑบาตแล้ว บางทีก็มีอุบาสกคอยรับบาตรท่าน ถ้าไม่มีก็เป็นหน้าที่พระเณรเป็นธรรมดา ส่วนพระหนุ่มทั้งหลายต้องรีบเดินออกล่วงหน้า กลับก่อนท่าน เพื่อจะได้รีบไปจัดทำอะไรต่ออะไรมากอย่างเหมือนกัน หาได้เพียงแต่จะนั่งคอยฉันอยู่เท่านั้นก็หาไม่ ทำอย่างนั้นท่านตำหนิว่าพระไม่มีวัตร หรือเป็นวัตตเภท เป็นพระที่ขาดไป ไม่สมบูรณ์ในความเป็นพระของตน เมื่อท่านมาถึงองค์ที่มีหน้าที่คอยรับเอาผ้าท่านไปผึ่งแดดก็ทำหน้าที่ของตนต่อไป ส่วนผู้ปฏิบัติใกล้ชิดก็จัดบาตรของท่านและจัดอาหารแยกไว้ถวายท่านเป็นเฉพาะ และมีท่านที่สำคัญไปร่วมจัดกันหลายองค์เหมือนกัน เพราะเรื่องการจัดอาหารถวายท่านนั้นเป็นเรื่องที่สำคัญมาก ถ้าความฉลาดของผู้จัดไม่มี บางครั้งท่านไม่รับเสียเลยก็มี หรือรับเอา แต่ฉันแต่น้อยก็มี เพราะเหตุนั้นผู้จัดอาหารถวายท่านต้องฉลาดพอ คือ ต้องรู้จักอาหารที่สบายต่อสุขภาพของท่าน เป็นที่สบายต่อธรรมของท่าน และเรื่องที่สมควรอย่างไร ไม่สมควรอย่างไร ต้องรู้จัก ทั้งรู้จักจัดสรรตกแต่งให้เหมาะสมสะดวกต่อการฉันของท่านด้วย ตลอดถึงรู้จักการใช้ถ้อยคำที่จะเรียนอ้อนวอนและเรียนตอบท่านในเวลานั้น

สำหรับผู้จัดอาหารนั้น ต้องมีคุณสมบัติประจำตัว คือ

๑. เว้นจากอคติทั้ง ๔
๒. เป็นผู้ฉลาดมีปัญญา
๓. เป็นผู้ไม่โลภในอาหาร
๔. มักน้อยสันโดษ
๕. ไม่ฉันเลียนแบบท่าน
๖. ไม่เย่อหยิ่งลืมตน
๗. มีมารยาทอันสุภาพ ไม่หยาบโลน

ทั้ง ๗ ข้อนี้ต้องให้สมบูรณ์จริงๆ จึงจะรักษาหน้าที่ได้ ในด้านการฉัน ผู้ปฏิบัติใกล้ชิดนั้นต้องรีบฉันให้อิ่มก่อนท่านเสมอ สังเกตว่าท่านลงมือฉันอาหารคาวเสร็จ ลงมือฉันหวานต่อไป ต้องให้อิ่มทันตอนนี้พอดีถ้าเลยไปกว่านี้แล้วจะไม่ทันต่อการทำกิจวัตรอย่างอื่นอีก กิจระหว่างนี้ก็มี ชงนม ถวายน้ำล้างมือ ล้างฟันสำรอง ล้างมีด ช้อน และเช็ดบาตร เช็ดภาชนะและเครื่องใช้อื่นๆ อีก เสร็จแล้วเตรียมทำความสะอาดโรงฉันทั้งข้างล่างข้างบน ข้างล่างตามใต้ถุนและบริเวณต้องใช้คราดกวาดทุกเช้าไป ข้างบนก็กวาด ล้างที่เปรอะเปื้อน ถูที่เปียกน้ำ และเก็บงำเครื่องใช้สอยต่างๆ ให้เป็นระเบียบ ไม่ให้เป็นอันตราย ลำดับจากนั้นไปก็นำเอาบริขารของตนและของครูบาอาจารย์ไปกุฎีต่อไป

กิจวัตรอีกต่อไปนั้น คือ รีบนำเอาบริขารของตนไปเก็บไว้ที่กุฎีแล้ว ก็รีบนำบริขารของครูบาอาจารย์ไปที่พักของท่านโดยด่วน องค์หนึ่งนำน้ำไปไว้ฐานของท่าน สำหรับน้ำนั้นต้องผสมให้เป็นน้ำอุ่น แล้วรอรับเอาภาชนะน้ำต่อเมื่อท่านถ่ายเว็จเสร็จแล้ว นำไปเก็บไว้ตามเดิมและดูแลทำความสะอาดในฐานด้วย

อีกพวกหนึ่งนำเอาผ้าต่างๆ และอาสนะออกไปผึ่งแดดในที่จัดทำไว้ คือที่ร้านสำหรับตากของและสายระเดียง ราวตากผ้า ผึ่งแดดพอสมควรแล้วก็รีบเก็บเข้าที่ตามประเภทสิ่งของนั้นๆ สิ่งใดที่ควรเก็บก่อนและหลังก็ต้องเก็บตามประเภทของสิ่งของนั้น

ส่วนผู้ปฏิบัติใกล้ชิดนั้น ต้องขึ้นไปประจำกิจวัตรอยู่บนกุฎี จัดทำอะไรต่ออะไรเพื่อให้ทันต่อความต้องการของท่านเสมอ ทั้งการเก็บการไว้วางสิ่งของทั้งหมดต้องให้เป็นระเบียบเรียบร้อยเสมอ และต้องให้สิ่งของทั้งสิ้นนั้นสะอาดทุกสิ่งไป

ผู้อุปัฏฐากใกล้ชิดนั้นต้องเป็นผู้รับผิดชอบแทนหมู่คณะทั้งหลาย สิ่งใดที่หมู่คณะทำการปฏิบัติต่อท่านผิดพลาดไป จะต้องเป็นผู้รับผิดชอบแทนเสมอ จึงจะอยู่กับท่านต่อไปได้

เมื่อท่านกลับจากไปฐานมานั่งบนอาสนะแล้ว เมื่อท่านต้องการฉันน้ำร้อน ก็รินน้ำร้อนถวายท่าน เสร็จแล้วก็ถวายหมากที่ตำไว้นั้นแก่ท่าน ระหว่างนี้ไม่เป็นเวลารับแขกของท่าน แขกทั้งหลายไม่ค่อยได้ไปหาท่านในเวลานี้เป็นอันขาด (เว้นไว้แต่กรณีพิเศษ) เพราะเป็นเวลาพักผ่อนสุขภาพของท่าน

อันดับต่อไป ท่านก็พักผ่อน ฝ่ายผู้อุปัฏฐากก็เข้าไปจับเส้นถวายท่านจนเกือบเที่ยงหรือเที่ยงจึงได้ลงจากท่านไป ท่านก็ได้พักผ่อนต่อไป บางวันจนถึงบ่าย ๑ โมง บางวันก็ไม่ถึงนั้น แล้วท่านก็จะลุกขึ้นมาล้างหน้า ผู้อุปัฏฐากต้องคอยสังเกตเวลาท่านจะลุกขึ้นมาเสมอ เมื่อสังเกตได้ว่าท่านกำลังจะลุกแล้วก็รีบขึ้นไปให้ทันเอาน้ำล้างหน้าถวายท่าน เสร็จจากนั้นแล้ว ท่านก็เตรียมไหว้พระย่อและนั่งสมาธิต่อไป บางวันท่านก็จะเข้าไปสู่ที่พักกลางวันในป่า เดินจงกรมและนั่งสมาธิในสถานที่นั้น บ่าย ๓ โมงท่านจึงจะออกจากการประกอบกิจของท่าน ฝ่ายสามเณรหรือตาผ้าขาวต้องจัดต้มน้ำร้อน ต้มยาร้อน ไว้ถวายท่านในเวลาท่านออกจากการประกอบกิจของท่านทุกวัน สามเณรหรือตาผ้าขาวต้องสังเกตผู้อุปัฏฐาก เมื่อมองเห็นผู้อุปัฏฐากเข้าไปหาท่านแล้ว ก็รีบเอาน้ำร้อนเข้าไปถวายท่าน ถ้ามีอาคันตุกะมาถึงแล้วก็ขึ้นไปหาท่านได้ในเวลานี้

บ่าย ๔ โมง เป็นเวลากวาดวัด พระเณรทั้งหลายก็ลงกวาดวัด แม้ท่านก็ต้องลงมือกวาดเหมือนกัน บางวันท่านจะลงไปดูรอบๆ วัด เพื่อดูแลตามสถานที่ต่างๆ เห็นความขาดตกบกพร่องอย่างไรท่านจะต้องตักเตือนเสมอ พระเณรที่อยู่ในวัดของท่านประมาทเลินเล่อต่อข้อวัตรไม่ได้เป็นเด็ดขาด เมื่อท่านรู้ความไม่ดีทั้งภายนอกและภายในแล้ว ท่านจะต้องขับให้ออกหนีไปทีเดียว

เมื่อกวาดวัดแล้ว มีการตักน้ำโดยความพร้อมเพรียงกัน แม้ผู้อุปัฏฐากก็ต้องทำเหมือนกัน การตักน้ำเบาบางแล้วก็รีบทยอยจัดน้ำให้ท่านสรงต่อไป ตามปกติท่านสรงน้ำร้อน พวกข้าจะต้องผสมเป็นน้ำอุ่นถวายท่านสรง ข้อปฏิบัติที่จะทำก็คือ นำผ้าอาบน้ำเข้าเปลี่ยนผ้านุ่งของท่าน นำเอาผ้านุ่งมาจีบไว้แล้วถูตัวถวายท่าน แต่ตามปกติท่านไม่ใช้สบู่ถูตัว บางครั้งก็ถูสบู่ยา มีคาบอลิกเป็นต้น เสร็จแล้วนำผ้าผลัดเข้าไปผลัดถวายท่าน บิดผ้าอาบให้แห้ง เช็ดตัวถวายท่าน แล้วเอาผ้านุ่งผลัดอีก ถวายประคตเอว อังสะ เป็นเสร็จการสรงน้ำ


(มีต่อ ๘)

.....................................................
ทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว เป็นกฎตายตัว


แก้ไขล่าสุดโดย สาวิกาน้อย เมื่อ 03 ก.พ. 2010, 17:54, แก้ไขแล้ว 1 ครั้ง

โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 27 ก.ย. 2009, 07:04 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
ผู้จัดการ
ผู้จัดการ
ลงทะเบียนเมื่อ: 27 มี.ค. 2006, 17:34
โพสต์: 7781

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว www


ต่อจากนั้นไป ท่านจะต้องเดินจงกรมต่อไป คณะศิษย์ทั้งหลายพากันจัดทำกิจวัตรบางประการ เช่น กวาดกุฎีท่าน และจัดน้ำเย็น เอาน้ำร้อนใส่กระติกน้ำร้อนไว้สำหรับฉันก็มี สำหรับล้างหน้าก็มี ปูอาสนะไว้ เตรียมกระโถน ตะเกียงไว้ เสร็จแล้วไปสรงน้ำกันและเดินจงกรมต่อไป

เมื่อท่านหยุดเดินจงกรม ขึ้นไปกุฎี ผู้อุปัฏฐากจะต้องรีบไปรับเอารองเท้าจากท่านไปเช็ดเก็บไว้ แล้วเข้าไปทำวัตร กิจตามหน้าที่ของตน หมู่คณะทั้งหลายก็ค่อยทยอยกันไปเพื่อฟังการอบรมธรรมะจากท่าน ถ้าอาคันตุกะหรือแขกชาวบ้านต่างถิ่นมี ท่านก็จะให้โอกาสเข้าไปหาแต่ยังไม่มืด เพราะตั้งแต่ค่ำไปแล้วเป็นเวลาที่ท่านอบรมพระเณรโดยเฉพาะ ซึ่งตามปกติแล้ว ท่านไม่ให้มีการคลุกคลีกัน จะเป็นพระเณรต่อพระเณรก็ตาม พระเณรต่อชาวบ้านก็ตาม แม้แต่มีกิจธุระไปหากัน ก็จะต้องพูดกันให้เสียงเบาและไม่ให้อยู่ด้วยกันนานอีกด้วย ถ้าจะฉันสมอ มะขามป้อมกันเป็นครั้งคราว หรือเลี้ยงเครื่องดื่มกันครั้งคราว ต้องไปรวมกันฉันที่ศาลาเป็นกิจจะลักษณะ แต่ทั้งนี้ก็เป็นแต่เพียงครั้งคราวเท่านั้น หาได้ฉันอย่างนั้นทุกวันไม่ และจะไม่มีผู้ใดนำเครื่องฉันอย่างนั้นไปฉันกันตามสถานที่ต่างๆ เป็นเด็ดขาด มีแต่รวมกันฉันเป็นคราวและที่กุฎีของท่านเท่านั้น ส่วนที่กุฎีของท่านนั้นจัดเป็นพิเศษสำหรับถวายท่านเพื่อรักษาสุขภาพของท่าน มีถวายองค์อื่นเพียงประปราย

การอบรมธรรมะนั้น ฤดูแล้งอบรมเกือบทุกคืน เนื่องจากอาคันตุกะไปมาไม่ค่อยขาด ถ้าในพรรษากาลมีเป็นบางวัน ๓ วันต่อครั้ง หรือ ๗ วันต่อครั้ง แล้วแต่ท่านจะกำหนดให้ หรือแล้วแต่คณะศิษย์จะขอความอนุมัติจากท่านได้ เลิกการอบรมแล้วมีการถวายการนวดเส้นให้ท่านจนกว่าท่านจะเข้าห้อง จึงจะได้ไปกุฎีของตน แต่การนวดเส้นนั้นท่านไม่ค่อยให้ทำหลายคน เพียงหนึ่งหรือสองคนเท่านั้น และจะนวดเส้นได้ตามศรัทธาของแต่ละบุคคลนั้นไม่ค่อยได้ จะทำการนวดได้ก็เพียงบางองค์เท่านั้น จำกัดผู้ทำได้เหมือนกัน โดยเฉพาะผู้อุปัฏฐากใกล้ชิดเป็นสำคัญ บางคราวก็มีผู้ช่วยเปลี่ยนได้ บางคราวก็ไม่มี เรื่องนี้จึงเป็นภาระที่หนักอยู่กับผู้อุปัฏฐาก แต่ถึงกระนั้น บางครั้งก็ยังถูกท่านห้ามไม่ให้ทำก็มี

ถึงอย่างไรก็ตาม ผู้อุปัฏฐากจะต้องเป็นผู้มีใจหนักแน่นต่อการอุปัฏฐาก ต้องพยายามหาช่องทางทำให้ได้เสมอ เมื่อถูกท่านห้ามเข้าแล้วจะหยุดไปเสียเลยก็ใช้ไม่ได้ เพราะท่านต้องการฝึกหัดให้ผู้อยู่ด้วยนั้นให้เป็นคนดี มีสติ มีปัญญา และมีความสามารถอาจหาญ ข้อสำคัญก็คือ ท่านไม่ให้ประมาท ท่านเคยให้คติไว้ว่า “ศิษย์สมภาร หลานเจ้าวัด” ย่อมมักทะนงตน ดื้อด้าน ความจริงก็เป็นอย่างนั้นส่วนมาก ผู้ที่เป็นศิษย์พระเถระผู้ใหญ่นั้น ถ้าอยู่นานๆ ไปชักจะลืมตน ถือว่าตนได้อยู่กับครูบาอาจารย์ผู้ใหญ่แล้วก็เย่อหยิ่งทะนงตน จะไม่เกรงกลัวต่อใครๆ ทั้งนั้น ถึงท่านผู้อื่น จะเป็นผู้ใหญ่ขนาดปูนอุปัชฌาย์อาจารย์ก็ตาม ย่อมมองเห็นท่านผู้อื่นนั้นต่ำต้อยลงไปทั้งสิ้น ความดีก็ไม่ดีเท่าตน ความฉลาดก็ไม่เท่าตน อะไรๆ ไม่เท่าตนทั้งนั้น ไม่กลัวเกรงต่อใคร ไม่อยากเคารพนับถือใคร นอกจากผู้ที่ตนอาศัยอยู่ด้วยเท่านั้น ถือตีเสมอและตีตัวสูงกว่าท่านผู้อื่นเสมอไป ผู้ใดตักเตือนไม่ได้ทั้งนั้น และชอบใช้อำนาจขู่เข็ญท่านผู้อื่นด้วยอำนาจกาฝากของตน ในที่สุดก็หมดความเคารพนับถือเชื่อฟังต่อครูบาอาจารย์ที่ตนอาศัยอยู่นั้นอีก แทนที่จะเป็นบัณฑิตกลับเป็นอันธพาลไป

เท่าที่ข้าพเจ้าได้สังเกตดู เห็นท่านที่เคยอยู่กับครูบาอาจารย์มาก่อนได้เห็นเป็นอย่างนั้นมีหลายองค์ ในที่สุดก็ถูกท่านอัปเปหิเสียทุกราย

สมัยข้าพเจ้าเข้าไปพึ่งบารมีของท่านั้นได้อาศัยรับการแนะนำจากท่านอาจารย์มหาบัวบ้าง และทำความสำนึกในตนเองบ้าง แล้วมาปรับปรุงตนเองทุกกรณีไม่ให้เป็นอย่างศิษย์สมภาร หลานเจ้าวัด ได้พยายามตนให้เป็นผู้อ่อนน้อมถ่อมตน ต่อท่านผู้มีอายุพรรษากว่าตนเสมอ ถ้าท่านมีอายุพรรษาแก่กว่าแม้แต่วินาทีเดียว ข้าพเจ้าจะต้องกราบท่านเสมอ และยอมรับคำตักเตือนจากท่านทุกองค์ ไม่แข็งกระด้าง ทั้งพยายามให้ความสะดวกและให้ความอุปการะแก่ผู้ที่เข้าไปหาครูบาอาจารย์ทั้งสิ้น ถ้าท่านที่ยังไม่รู้ระเบียบการเข้าไปหาครูบาอาจารย์ก็ได้แนะนำให้ ส่วนผู้ที่ได้อยู่อาศัยหวังศึกษาอบรมจากท่านต่อไปก็ได้อนุเคราะห์สงเคราะห์จนสุดความสามารถของตน ถ้าหมู่คณะมีความพลั้งพลาด ยังได้เข้ารับเอาความผิดของหมู่คณะอีกด้วย เว้นไว้แต่หาจังหวะมิได้ หรือเป็นความผิดที่เหลือความสามารถของตน

เรื่องรับเอาความผิดของหมู่คณะนั้น มีท่านอาจารย์มหาบัวเป็นเยี่ยมกว่าข้าพเจ้า ไม่ใช่ยกย่องตนเอง ในสมัยที่ข้าพเจ้าได้มีจังหวะทำอุปัฏฐากท่านอาจารย์ใหญ่ เป็นผู้ใกล้ชิดแล้ว บรรดาพระเณรทั้งหลายที่อยู่ร่วมสำนักท่าน ไม่ค่อยมีเรื่องกระทบกระเทือนเหมือนแต่ก่อนๆ มา ถ้ามีเรื่องอะไรไม่ดีไม่งามในหมู่คณะ ก็ได้ชำระสะสางกันเสีย มาด่วนให้ไปถึงท่าน เพราะเรื่องนิดๆ หน่อยๆ ก็ตาม ถ้าไปถึงครูบาอาจารย์แล้ว ย่อมเป็นเรื่องใหญ่และเป็นเรื่องยืดยาวเป็นธรรมดา เหตุนั้นข้าพเจ้าจึงได้พยายามสกัดเรื่องไว้เสมอ ไม่ดีไม่งามประการใดก็ระงับเสียแต่ต้นมือให้หมดเรื่องไป ไม่เหลือบ่ากว่าแรงก็ไม่ให้ถึงครูบาอาจารย์ เพราะธรรมดาคนเราทุกคนย่อมมีความผิดพลาดด้วยกันทุกคน ทั้งที่มีความหวังดีและพยายามทำดีให้ถูกอยู่แต่ก็ยังมีความผิดพลาด ถ้าท่านองค์ใดว่ากล่าวตักเตือนไม่ฟัง จำเป็นต้องปล่อยให้ตัวเองฟ้องตัวเอง ข้าพเจ้าก็คอยถือเอาบทเรียนจากท่านผู้นั้น

การศึกษาจากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นจากผู้ทำผิดหรือทำถูกนั้นเป็นบทเรียนที่สำคัญ เพราะเราได้เรียนจากผู้ทำเป็นตัวอย่างแล้ว และได้รับความชี้แจงจากครูบาอาจารย์แล้ว ย่อมได้รับความแจ่มแจ้งสิ้นสงสัยในเรื่องนั้นๆ อย่างสิ้นเชิง ข้าพเจ้าไม่เคยดูหมิ่นผู้ทำผิดแต่ได้ถือไว้เป็นบทเรียนไว้เฉพาะตนเสมอ ถ้าผู้นั้นไม่ทำผิดให้เห็นเป็นตัวอย่างแล้ว เราก็จะไม่รู้ว่าเป็นความผิดก็เป็นได้ อาจจะโดนตัวเองเกิดทำผิดขึ้นในกาลต่อไปก็ได้ ฉะนั้น ความชั่วที่มีผู้ทำให้เห็นเป็นตัวอย่างแล้วก็เหมือนกัน ย่อมเป็นบทเรียนมี่สำคัญอีกเช่นเดียวกัน

บางรายที่ได้มาศึกษาจากครูบาอาจารย์ เล่าถึงความเป็นไปในตนถวายท่าน เพื่อให้ท่านชี้แจงว่าถูกหรือผิด เมื่อท่านชมเชยว่าถูกแล้วและได้แนะนำต่อไป เราก็ได้ถือเอาเป็นบทเรียนอีกประการหนึ่ง การศึกษาจากเหตุการณ์ย่อมได้รับความแจ่มแจ้งดีมิใช่น้อยเหมือนกัน เพราะเป็นสิ่งที่ประกอบด้วยหลักฐานพยานพร้อมเสียทุกอย่าง เหตุนั้นข้าพเจ้าจึงได้ถือเอาเป็นบทเรียนที่สำคัญเฉพาะตนเสมอ

บางองค์ที่อยู่กับครูบาอาจารย์ชักจะเป็นผู้ชอบเอาหน้าเอาตาเป็นของตนผู้เดียว แส่หาเหตุเอาเรื่องผิดของท่านผู้อื่นไปกราบเรียนครูบาอาจารย์เสมอ ทำให้หมู่คณะต้องเดือดร้อนไปตามๆ กัน บางครั้งซ้ำยังหาเอาเรื่องของผู้ที่ตนไม่ชอบนั้นไปปั้นแต่งขึ้นเป็นความผิดพลาดต่อครูอาจารย์ แล้วกราบเรียนท่าน ติเตียนดุด่าท่านผู้นั้นก็มี คอยแต่จะประจบสอพลอกับครูบาอาจารย์เพื่อเอาหน้าเอาตาเท่านั้น คนประเภทนี้ย่อมมีกรรมตามสนองต่อภายหลังทุกรายไป ในที่สุดก็อยู่กับครูบาอาจารย์ต่อไปไม่ได้ ต้องถูกท่านตำหนิหรือขับหนี ทั้งหมู่คณะทั้งหลายก็รังเกียจ

ข้าพเจ้าจึงได้ระวังตัวในเรื่องเช่นนี้เป็นอย่างมาก แล้วก็เป็นด้วยเดชะบุญของข้าพเจ้าเหมือนกัน เท่าที่อยู่ใกล้ชิดกับครูบาอาจารย์มาตั้งแต่ต้นจนอวสานแห่งชีวิตของท่านเป็นระยะ ๕ ปี ไม่เคยได้รับการตำหนิและกำราบขนาดหนัก (แม้) แต่ครั้งเดียว ในคราวที่ผิดพลาดบางครั้งท่านก็ตักเตือนธรรมดา หรือจะเป็นด้วยท่านรู้เรื่องความตั้งใจของข้าพเจ้าก็ไม่ทราบ เพราะข้าพเจ้ามีความตั้งใจอยู่อย่างหนึ่งว่า จะตั้งใจปฏิบัติตามโอวาทของท่านทุกประการ เว้นไว้แต่ที่รู้เท่าไม่ทันเท่านั้น และถ้าถูกท่านขับหนีอย่างผู้อื่นนั้น จะไม่ยอมหนีไปให้ผู้อื่นตราหน้าเป็นเด็ดขาด แต่จะออกหนีไปจากสำนักท่านแล้วจะไปในสถานที่ไกลๆ ที่ผู้คนไปมาไม่ถึงในป่าหรือในเขาก็ตาม อย่างไรเราเป็นคนชั่วขนาดครูบาอาจารย์ทอดทิ้งแล้ว ไม่ต้องไปบิณฑบาตฉันเป็นเด็ดขาด จะตั้งใจประกอบแต่ความเพียรอย่างเดียวเท่านั้น ถ้าความดีไม่เกิดขึ้นแก่ตนก็ยอมตายแต่ผู้เดียว ถ้าคุณธรรมที่พึงปรารถนาเกิดขึ้นแก่ตนเมื่อใดจึงจะกลับเข้ามากราบเท้าท่านและขอพึ่งบารมีท่านต่อไป แต่ความตั้งใจของข้าพเจ้านี้อย่างนี้ก็สลายตัวไปเสียแล้ว เพราะการอยู่ด้วยครูบาอาจารย์ก็เป็นไปด้วยความเรียบร้อยทุกประการ

ทีนี้จะได้ถอยกลับไปเล่าเรื่องเป็นมาต่อจากลำดับอีก เมื่อก่อนเข้าพรรษาปีพ.ศ. ๒๔๘๘ นั้น ครูบาอร่าม สุสิกฺขิโต ผู้ติดตามท่านมาจากบ้านห้วยแคนนั้น ก็ได้ถูกท่านอาจารย์ใหญ่ส่งไปจำพรรษาด้วยท่านอาจารย์เนียม ที่บ้านผักคำภู ได้ครูบาเนตร์ กนฺตสีโล เป็นผู้อุปัฏฐากท่านต่อไป ส่วนข้าพเจ้าเป็นเพียงแต่เป็นแอบแฝงทำการอุปัฏฐากเท่านั้น เพราะข้าพเจ้ายังเป็นผู้ใหม่ ไม่ค่อยสันทัดต่อการอุปัฏฐากท่าน ทั้งยังกลัวท่านมาก แม้แต่การเข้าไปหาท่าน ถ้าท่านนั่งอยู่แต่ท่านองค์เดียว ไม่มีผู้ใดนั่งอยู่ด้วยท่านแล้ว ไม่กล้าเข้าไปหาท่านเสียเลย ทั้งกลัวท่าน ทั้งอยากปฏิบัติท่าน จึงเป็นปัญหาเฉพาะตัวข้าพเจ้าเองจะต้องแก้

แต่ก็นั้นแหละ ต่อมาวันหนึ่ง ท่านจะทำอาสนะ จึงให้ข้าพเจ้าไปซักเศษผ้าที่จะยัดอาสนะ ครั้นไปซักแล้วก็เอาไปตากไว้ที่ร้านตากนั้น แล้วก็ไปพัก โดยคิดว่าจึงค่อยมาดูต่อภายหลังอีก ราวชั่วโมงกว่าได้มองจากกุฎีมาเห็นท่านกำลังพลิกเศษผ้านั้นอยู่จึงได้รีบลงไปหาท่านด้วยความประหม่าตกใจเป็นอย่างยิ่ง เมื่อเข้าไปช่วยท่านพลิกเศษผ้าที่ตากนั้น ท่านได้พูดว่า ถ้าไม่พอใจและไม่เอาใจใส่จะรับไปทำทำไม่ ทำแล้วปล่อยทิ้ง ไม่ดูแล จะใช้ได้หรือแบบนี้ ไม่ต้องรับไปทำเสียดีกว่า ความกลัวของข้าพเจ้ายิ่งเพิ่มทวีขึ้นโดยลำดับถึงหัวใจเต้นทีเดียว คิดว่าอย่างไรเราจะต้องถูกท่านเนรเทศออกหนีเป็นแน่ เรื่องนี้ก็มีเพียงเท่านี้

ต่อมาเป็นระหว่างเข้าพรรษาแล้ว วันนั้นข้าพเจ้านอนกำหนดจิตอยู่ระเบียงกุฎีของตน ครูบาเนตร์ได้เข้าไปหาท่านก่อน เวลานั้นท่านเย็บผ้าเช็ดมือสำหรับใช้เช็ดมือเวลาฉันจังหัน ตามปกติ ผ้าเช็ดมือของท่านนั้น ท่านใช้ฟ้าขาดๆ และเอาเศษฟ้ามาเย็บติดต่อกันเป็นผืนแล้วนำไปใช้ วันนั้นท่านได้เอาผ้าเศษนั้นแหละมาเย็บติดต่อกัน แต่การเย็บนั้น ครูบาผู้ช่วยเย็บต้องการเย็บล้มตะเข็บ แต่ท่านไม่ต้องการอย่างนั้น เย็บติดกันไปเฉยๆ ไม่ต้องทำเป็นตะเข็บ ครูบาเนตร์ก็จะเอาอย่างตน เรียนท่านเสมอ ท่านก็ไม่อนุมัติ เพราะครูบาเนตร์ไม่รู้กลเม็ดภายในกับท่านนั้นเอง จึงได้ถูกท่านกำหราบเสียอย่างขนาดหนัก ข้าพเจ้าได้ยินเสียงท่านกำหราบครูบาเนตร์นั้นแล้ว จิตใจก็ได้หดตัวของมันเข้าไปข้างในโดยลำดับ ปรากฏว่าเย็นสบายเป็นกำลัง ซึ่งแทนที่จะเกิดความประหม่าเหมือนแต่ก่อน แต่กลับได้รับกำลังใจที่น่าอัศจรรย์ ซ้ำยังวิตกขึ้นในขณะนั้นด้วยอยากให้ว่าลงไปอย่างแรงๆ อีกด้วย เมื่อไม่ได้ยินเสียงท่านแล้ว จิตก็ค่อยถอนตัวมาเป็นปกติ

แล้วมาคิดถึงอำนาจพระเดชพระคุณของครูบาอาจารย์ต่อไป ธรรมดาผู้ที่เป็นครูบาอาจารย์ที่มีวาสนาจะได้ทำประโยชน์แก่ผู้อื่นได้อย่างกว้างขวางนั้น จะต้องพร้อมไปด้วยอำนาจวาสนาที่ท่านได้เคยบำเพ็ญมาแล้วแต่กาลก่อน จึงสัมฤทธิผลมามีอำนาจในทางทรงพระเดชพระคุณอย่างล้นเกล้า ถ้าวาสนาไม่มีในตนแล้ว จะใช้การเบ่งอำนาจเบ่งพระเดชและพระคุณย่อมเป็นไปไม่ได้ มีแต่จะเป็นไปในทางหายนะเท่านั้น เพราะการใช้อำนาจใช้พระเดชก็จะไม่มีผู้ใดเกรงกลัว ซ้ำร้าย ยังจะทำให้ผู้อื่นคิดอิสสาพยาบาทและก่อภัยก่อเวรแก่ตนต่อไปอีก ในทางที่ดีควรที่ทรงไว้ซึ่งพระคุณนั้นแหละดี ส่วนท่านผู้ที่พร้อมด้วยบุญวาสนานั้นย่อมเป็นไปแก่ตัวของท่านเอง จะมีผู้อื่นแต่งตั้งให้หรือไม่มี ไม่เป็นปัญหา การเสกสรรค์ไม่เท่ากับปุพเพกตปุญญตา เหมือนกับท่านอาจารย์มั่นนั้นเอง โดยที่ท่านไม่มีท่านผู้ใดแต่งตั้งให้ท่านเป็นผู้บริหารปกครองหมู่คณะและคณะพุทธบริษัทเลย แต่หากเป็นด้วยบุญวาสนาของท่านเอง ทั้งที่ท่านพยายามปลีกตัวออกจากหมู่คณะตั้งแต่ไหนๆ มาโดยลำดับ แต่ก็หนีไม่พ้นจากการได้ทำประโยชน์แก่หมู่คณะ

ท่านเคยเล่าให้ฟังว่า สมัยเมื่ออยู่องค์เดียว ภูเขาแห่งหนึ่งทางจังหวัดเชียงใหม่นั้น วันหนึ่งได้นั่งสมาธิไปได้เกิดนิมิตทางหูแว่วๆ มาให้ได้ยินว่า “ต้มน้ำร้อนให้ท่านสรงแล้วหรือยัง” แล้วท่านก็มองไปทางได้ยินเสียงนั้น ปรากฏว่าได้เห็นพวกพระเณรหลายองค์กำลังพากันทำกิจวัตรอะไรต่ออะไรกันยู่ แต่ก็เป็นกิจวัตรที่เกี่ยวกับการอุปัฏฐากท่านนั้นเอง แล้วท่านก็ถอยจิตมาพิจารณาถึงเหตุที่ปรากฏนั้นว่า นี้เป็นเรื่องอะไร ท่านจึงได้ความแจ่มแจ้งขึ้นมาว่า การที่เราจะไม่เกี่ยวข้องกับหมู่คณะนั้น เป็นไปไม่ได้เสียแล้ว จะต้องมีผู้สนใจต่อข้อปฏิบัติทยอยกันเข้ามาพึ่งพาอาศัยเพื่ออบรมธรรมปฏิบัติจากเราเป็นแน่นอน

เมื่อท่านได้ปรากฏเหตุการณ์แล้วอย่างนั้น ท่านจึงได้รีบเร่งพิจารณาพระธรรมวินัยให้เป็นที่เข้าใจว่า ส่วนใดเป็นพระธรรมวินัยที่แท้จริง ส่วนใดเป็นธรรมะปฏิรูป ตลอดถึงพิจารณาให้เข้าใจในปฏิปทาทุกอย่างว่า ปฏิปทาอย่างนี้เป็นอริยมรรคปฏิปทา อย่างนี้เป็นอริยวาส เป็นอริยวงศ์ เป็นอริยประเพณี เป็นอริยนิสัย และอย่างนี้เป็นอริยธรรม เพื่อจะได้นำหมู่คณะตามทางที่ถูกต้องต่อไป เพราะเหตุนั้นท่านจึงได้พร้อมไปด้วยพระเดชพระคุณในการบริหารปกครองหมู่คณะให้เป็นคุณประโยชน์อย่างกว้างขวาง ผู้ใดสนใจต่อการศึกษาข้อปฏิบัติจากท่านนั้น เมื่อเข้าไปหาท่าน จึงได้มีความเกรงกลัวท่านมาก และมีความเคารพนับถือเลื่อมใสในท่านเป็นอย่างยิ่ง เมื่อได้รับธรรมเทศนาจากท่านแล้ว ก็ได้เกิดศรัทธา และมีความดื่มด่ำซาบซึ้งเป็นกำลัง แม้จะถูกท่านว่าแรงๆ ซึ่งเป็นถ้อยคำที่กำราบก็ตาม ผู้ได้ยินจะต้องยอมสละทิฏฐิมานะของตนลงได้อย่างราบคาบ ทั้งนี้ข้าพเจ้าได้กล่าวมาตามความเป็นจริงที่ปรากฏแก่ตนและคนอื่น เท่าที่หมู่คณะทั้งหลายเข้าไปหาท่านในสมัยนั้นย่อมเป็นอย่างนั้นจริงๆ

ก็แลในคราวครั้งนั้น เมื่อข้าพเจ้าได้พิจารณาถึงพระเดชพระคุณของท่านแล้วก็ได้เตรียมตัวไปหาท่านแล้วทำกิจวัตรต่อไป จิตได้มีความอิ่มเอิบในธรรมอยู่เสมอ ศรัทธาในธรรมะปฏิบัติดูว่าเพิ่มกำลังขึ้นไปโดยลำดับ ถึงแม้ข้าพเจ้าจะได้เป็นไข้อยู่ตลอดพรรษาก็ตาม ความหวั่นไหวต่อมรณภัยก็ไม่มี ตามธรรมดาแล้ว อากาศในสถานที่นั้นเป็นอากาศที่หนักต่อธาตุขันธ์ของผู้ไม่เคยชินต่อป่าดงภูเขาเหมือนกัน ทั้งข้าพเจ้าก็มีเชื้อไข้ป่ามาแต่เดิมอยู่แล้ว แต่ด้วยเดชะบุญคุณของครูบาอาจารย์และคุณของพระพุทธศาสนามาช่วยให้ ถึงยาจะฉันไม่ค่อยมีก็ตาม ย่อมผ่านพ้นความทุกข์ทรมานนั้นไปได้ โดยมิได้ก่อความเดือดร้อนแก่ตนและครูบาอาจารย์ ถ้าครูบาอาจารย์ท่านได้ยาจากผู้ถวายมา ท่านก็เอาให้ฉัน แต่สมัยนั้นเป็นระหว่างสงครามญี่ปุ่นเลิกใหม่ๆ กำลังเป็นระหว่างที่อดอยากขาดแคลนทุกๆ อย่าง เหตุนั้นจึงทำให้อดยาแก้ไข้มากจริงๆ

ถึงอย่างไรก็ตาม ข้าพเจ้าคิดยอมเสียสละชีวิตบูชาพระธรรมวินัยด้วยข้อปฏิบัตินั้น ไข้ที่เป็นก็ไม่ถึงกับร้ายแรงทำกิจวัตรและความเพียรมิได้ขาด ถ้าไข้ร้อนในก็ให้ผ้าขาวเอาใบหญ้านางหรือใบหมี่มาขยี้ใส่น้ำฉัน ร้อนข้างนอกก็ใช้ทาก็ระงับความร้อนไป ไข้ก็สร่าง

ทั้งที่เป็นไข้แต่ก็ทำความเพียรได้กำลังดี พึ่งจะได้รู้เห็นตัวเวทนา ในพรรษานั้นเอง ตัวเวทนานั้นเท่าที่ได้เห็นและกำหนดรู้ด้วยใจนั้น ปรากฏว่าเป็นตัวแต่จะคล้ายกับอะไรก็บอกไม่ถูก เมื่อเรากำหนดรู้เห็นได้อย่างนั้นแล้ว ทุกขเวทนาทั้งหลายจะต้องถอนตัวออกจากที่ของมันโดยลำดับ ถ้ากำลังจิตของเรากล้า ทุกขเวทนาจะออกหนีอย่างรวดเร็ว ถ้ากำลังจิตยังอ่อนก็ค่อยออกหนีไป เมื่อจิตได้เอาชนะต่อทุกขเวทนาได้เพียงครั้งเดียวเท่านั้น จิตนั้นจะต้องกล้าหาญในการต่อสู้ทุกขเวทนาเสียจริงๆ พอทุกขเวทนาเริ่มปรากฏขึ้นในที่ไหน จิตจะต้องรีบวิ่งเข้ากำจัดทีเดียว โดยมิได้รั้งรอเสียเลย จิตขณะนั้นได้สนุกเพลินอยู่กับการต่อสู้ทุกขเวทนา หาได้เกี่ยวข้องกับอารมณ์ภายนอกไม่

เรื่องที่ว่ามานี้ ไม่ได้หมายถึงการถอนอุปาทานขันธ์แต่ประการใด ขั้นถอนอุปาทานขันธ์นั้นยังไกลมาก ขั้นที่จิตสามารถกำจัดทุกขเวทนาได้อย่างองอาจกล้าหาญนี้เพียงแต่อยู่ในขั้นสมถะเท่านั้น ประการอื่นอีกก็ได้อุบายธรรมปฏิบัติที่เกี่ยวไปด้วยข้อปฏิบัติของตน ถ้าเราดำเนินไปถูกทางหรือผิดทางก็จะเกิดอุบายธรรมนั้นปรากฏให้รู้ขึ้นมาบอกเสมอ แต่ห่างๆ จึงค่อยได้อุบายขึ้นมา

อุบายธรรมนั้นไม่ได้เกิดขึ้นแต่เวลานั่งสมาธิหรือเดินจงกรมเท่านั้น ย่อมเกิดขึ้นได้ทุกกรณี แม้แต่เวลาเราตื่นนอนก็ยังเกิดได้ แต่จะต้องเกิดในขณะเดียวกันกับขณะตื่นนอน แต่เรื่องนี้ก็รู้กันได้หรือฟังกันออกเฉพาะผู้ปฏิบัติเป็นแล้วเท่านั้น ผู้ที่ยังไม่เป็นด้วยตนเองอาจจะมองไปหลายทางเหมือนกัน

สำหรับอุบายทางธรรมนั้น สามารถเพิ่มกำลังความเพียรได้ดี และทำความเห็นของตนให้กระจ่างแจ้งไปตามลำดับ ทั้งจะรู้จักสรณาคมน์ของตนได้ดี พอเข้าใจคุณค่า พระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ได้ด้วย และเป็นเหตุให้สนใจในธรรมปฏิบัติต่อไป ชอบนำเอาธรรมะที่ได้ยินได้ฟังมา ไปค้นคิดและลงมือปฏิบัติไปด้วย เพราะมีความอยากรู้อยากเห็นต่อความจริง แต่ก็เป็นความฉลาดที่หนักไปทางศรัทธา จึงไม่ค่อยจะรอบคอบเท่าไรนัก ความเพียรถึงจะกล้า ก็ด้วยกำลังแห่งศรัทธา

ผู้ปฏิบัติทั้งหลายที่ตกเข้ามาถึงขั้นนี้ มักจะหยิ่งในความรู้เห็นเป็นไปของตนโดยส่วนมาก และมักจะเสื่อมเสียเพราะความเย่อหยิ่งของตน ฉะนั้น จะต้องรู้จักการประคองตนไว้ในความสงบ แล้วใช้ความแยบคายให้มากจึงจะไม่เสื่อมเสีย ข้อสำคัญก็คือ ไม่ควรจะตีราคาตนเองก็เป็นพอ พิจารณาตรวจค้นดูตนเองอยู่เสมอและไม่ควรเอาตนเองออกเทียบกับผู้อื่น เพราะจะเป็นเหตุให้สำคัญว่าตนดีกว่าท่าน ธรรมดาคนเรามักจะเข้าข้างตนเองเสมอ ไม่ว่ากรณีใดๆ ทั้งสิ้น เมื่อเราสำรวจตนเองอยู่บ่อยๆ ก็จะรู้ความพอดีต่อความปฏิบัติของตนต่อไป


(มีต่อ ๙)

.....................................................
ทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว เป็นกฎตายตัว


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 27 ก.ย. 2009, 07:05 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
ผู้จัดการ
ผู้จัดการ
ลงทะเบียนเมื่อ: 27 มี.ค. 2006, 17:34
โพสต์: 7781

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว www


ครั้นออกพรรษาแล้ว ครูบาเนตร์ได้ออกไปหาบำเพ็ญเพียรของท่าน เวลานั้นก็ไม่มีผู้ใดจะพอรับภาระในการอุปัฏฐากแทนครูบาเนตร์ ข้าพเจ้าจึงได้จำใจรับภาระเป็นผู้อุปัฏฐากท่านอาจารย์แทนครูบาเนตร์ต่อไป ระยะแรกที่ข้าพเจ้ารับภาระนั้น สิ่งใดที่ข้าพเจ้าไม่เข้าใจ ท่านก็ได้แนะนำโดยอนุโลมตามผู้ใหม่เป็นธรรมดา เมื่อข้าพเจ้าเข้าใจสันทัดต่อภาระนั้นแล้ว ท่านก็ได้เริ่มฝึกข้าพเจ้ามิให้เป็นผู้ประมาท และให้มีสติปัญญาต่อหน้าที่ของตน

สำหรับกิจวัตรที่ปฏิบัติท่านนั้น ท่านจะต้องพลิกแพลงเปลี่ยนแปลงอยู่เสมอ เราจะถือว่า ตนเคยทำมาแล้วอย่างนั้น ก็ทำไปเรื่อยๆ โดยไม่สังเกตไม่ได้ เมื่อสังเกตว่า ท่านเปลี่ยนแปลงไปอย่างไร ก็ต้องจัดทำตามที่ท่านเปลี่ยนแปลงนั้นเสมอ ต้องสังเกตดูให้ทั่วถึงทุกอย่างทั้งสิ้น เวลานั้นเราทำไว้อย่างไร เวลาที่เราจะทำอีก ต้องตรวจดูว่า เวลานี้ถูกท่านเปลี่ยนแปลงใหม่หรือไม่ แต่เราต้องยึดส่วนที่เป็นปกติไว้เสมอ คือส่วนปกติที่ถูกต้องนั้น ต้องมีอีกประเด็นหนึ่งเหมือนกัน ส่วนนั้นเป็นระเบียบของส่วนกลางที่ใช้เป็นหลักยืนตัวแห่งโลกชั่วนิรันดร์ เช่นผ้าที่จะปูลาด ต้องรู้จักว่า ทางนี้เป็นทางเอาขึ้น ทางนี้เป็นด้านทางเอาลง อาสนะก็ดี เสื่อสาดก็ดี และหมอนเป็นต้น ต้องให้รู้จักในระเบียบการปูลาดไว้วางทุกอย่าง และสิ่งของต่างๆ ก็ต้องให้เป็นระเบียบในการเก็บ การรักษา หรือการใช้สอย

การวางสิ่งของต่างๆ ที่ใช้สอย ก็ต้องให้รู้จักที่วางอีก ว่าวางอย่างไรจึงจะเป็นการเหมาะสม ทั้งยังรู้จักปฏิบัติให้ถูกต้องกาละเทศะอีกด้วย เท่าที่ท่านได้เปลี่ยนแปลงในสิ่งของที่ใช้สอยนั้น ก็เพื่อให้เราเป็นผู้ฉลาดนั้นเอง ทั้งทดลองดูความตั้งใจของเราอีก หรือจะเรียกว่าเลือกเอาคนก็ว่าได้ เพราะถ้าปฏิบัติตามท่านไม่ทันในเรื่องเหล่านั้น ท่านก็ไม่ให้อยู่ด้วย ถึงจะได้อยู่ด้วยท่านก็ตาม แต่ท่านไม่ยอมให้ทำในสิ่งที่สลักสำคัญ เมื่อถูกท่านห้ามในการอุปัฏฐากในสิ่งที่เราเคยทำมาแล้ว เราก็ต้องเดือดร้อนเป็นธรรมดา

อีกประการหนึ่ง ผู้ทำหน้าที่อุปัฏฐากท่านนั้น ต้องรักษาตัวมิให้มีการกระทบกระเทือนท่านด้วยกาย วาจา และใจของตน ทางกายต้องอ่อนโยน สุภาพเรียบร้อย ไม่แข็งกระด้าง มีสัมมาคารวะทุกกรณี ทำอะไรต้องเปรียว เร็ว คล่องแคล่ว ไม่อืดอาด เซ่อซ่าเฉื่อยชา และช่วยรับภาระธุระของท่านได้ตามที่ท่านต้องการ ไม่ทอดธุระในเมื่อท่านทำอะไรทุกอย่าง ท่านทำอะไรต้องทำตามท่านได้ และทำจนเป็นที่ไว้วางใจท่านได้ เช่น ตัด เย็บ ย้อม ซัก ตาก ซึ่ง ผ้าบริขารของท่านเป็นต้น และเป็นผู้ประพฤติการของตนให้เบา ไม่เป็นคนกายหนัก ทำอะไรต้องให้เรียบร้อยดี ไม่ทำให้เสียของ พลัดตกหกล้มแตกร้าวเสียหาย เว้นไว้แต่จำเป็นจริงๆ เพราะของใช้ไม้สอยต่างๆ ท่านให้มัธยัสถ์ที่สุด

เราจะเดินไปมาที่กุฎีหรือศาลาก็ตาม ต้องให้เท้าให้เบาที่สุด ไม่ให้มีการกระเทือนเป็นเด็ดขาด แม้แต่ท่านนั่งสมาธิอยู่ เราขึ้นไปบนกุฎีก็มิให้ท่านรู้สึกได้ จะปิดเปิดประตูหน้าต่างก็ไม่ให้มีเสียงดังเกิดขึ้น และยังจะต้องรักษาความสะอาดตัวเองให้เพียงพอ กลิ่นตัว กลิ่นปาก กลิ่นผ้านุ่งห่ม ซึ่งเป็นกลิ่นที่ไม่ดี อย่าให้มีไปกระทบท่านเป็นอันขาด ถ้ามีกลิ่นที่ไม่ดีติดตัวเรานิดหน่อย ท่านจะรู้ได้ทันที เพราะจมูกท่านรู้กลิ่นได้เร็วที่สุด จึงสมกับคุณธรรมที่ว่า “สุจิ เป็นผู้สะอาด” ท่านผู้ทรงคุณธรรมที่เรียกว่านักปราชญ์นั้น จะต้องถึงพร้อมด้วยความสะอาดทั้งทางจิตและทางกาย ไม่มีตนอันสกปรกเหมือนคนพาลทั้งหลาย

ทางวาจา ต้องระวังคำพูดคำจาของตนให้มาก พูดให้รู้จักคำต่ำคำสูง คำหยาบและคำสุภาพ ตลอดถึงคำสบประมาทอย่างอื่นๆ ด้วย เมื่อท่านพูดไปอย่างไร เราจะพลอยพูดกับท่านไปทุกอย่างก็ไม่ได้ เพราะบางครั้งท่านอาจะทดลองดูกิเลสของเราก็เป็นได้ เพื่อเป็นพยานประกอบกับความรู้ภายในของท่าน เรื่องคำพูดแต่ละคำ ท่านย่อมรู้ดีทุกประการขณะที่อยู่ใกล้ท่านไม่ควรพูดคำหยาบคาย เสียงพูดที่กล้าแข็ง คำกระชกกระชาก พูดตลกเฮฮาหรือพูดเหลวไหลไร้สาระ และไม่ควรตักเตือนบอกสอนผู้อื่นต่อหน้าท่าน ไม่พูดเชิงเป็นเถระรับแขกในที่ต่อหน้าท่าน คำประเจิดประเจ้อไม่ควรพูดทั้งสิ้น เราจะพูดอะไรแต่ละครั้งต้องพิจารณาให้ถี่ถ้วนเสียก่อนจึงจะพูด บางครั้งท่านอาจจะนำเราพูดไปในเชิงต่างๆ ก็มี หรือท่านจะพูดให้เป็นเรื่องที่เราจะคัดค้านท่านก็มี ถ้าเราไม่คิดให้รอบคอบแล้วพูดตามท่านไป หรือคัดค้านท่านแบบกระต่ายยืนขาเดียว มักจะถูกท่านเอากลับหลังเหมือนกัน

เรื่องเช่นนี้เราจะถือว่าท่านแส่หาเรื่องแก่สานุศิษย์ก็หาไม่ แต่ย่อมเป็นกลวิธีฝึกสอนสานุศิษย์ให้มีสติปัญญาที่รอบรู้ต่อเหตุการณ์นั้นเอง ตามหลักธรรมก็มีอยู่แล้วว่า “มนฺตา ภาณี” ที่แปลว่า ผู้ฉลาดพูด เพราะท่านเคยสอนอยู่เสมอว่า “เหลือแต่พูด บ่อจักผ่อนเบาหนัก เดินม่อไปตามทางสถืกดงเสือฮ้าย” ดังนี้ ตามคติที่ท่านพร่ำสอนนั้นมีความหมายว่า ต้องพูดให้มีความฉลาดในชั้นเชิงแห่งการพูด ให้รู้จักคำพูดที่หนักและเบา ควรพูดหรือไม่ควรพูด เมื่อจะพูดก็ให้รู้จักการใช้ถ้อยคำที่จะพูด ตลอดถึงลีลาแห่งการพูด การปฏิบัติดำเนินปฏิปทาก็ให้ดำเนินตามอริยมรรคปฏิปทาจึงจะไม่เสื่อมเสีย ถ้าปฏิบัติไม่ดำเนินตามอริยมรรคปฏิปทามีแต่ความเสื่อมเสียเป็นเบื้องหน้า เพราะกิเลสภัยเหมือนกับเสือร้ายที่อาศัยอยู่ในป่าชัฏซึ่งคอยสังหารชีวิตสัตว์ผู้หลงทางเข้าไปหาตนแล้วจับกินเป็นอาหารอยู่เนืองนิตย์

เรื่องการพูดนี้ ท่านอาจารย์เทสก์ เทสรงฺสี เคยเล่าเตือนข้าพเจ้าว่า สมัยเหนึ่งที่ท่านพักอยู่ด้วยท่านอาจารย์ใหญ่ที่ราวป่าแห่งหนึ่งที่จังหวัดเชียงใหม่ ที่บนค่าคบแห่งต้นไม้ต้นหนึ่งซึ่งอยู่ข้างหน้ากุฎีของท่านอาจารย์ใหญ่นั้น มีปลวกขึ้นไปทำรังอยู่ที่ค่าคบไม้ต้นนั้น ซึ่งพระเณรได้รู้เห็นกันอยู่แล้ว แต่เมื่อตอนเช้าเวลาท่านออกจากห้องแล้วเดินลงไปที่ต้นไม้ต้นนั้นแล้วแหงนหน้าขึ้นมองดูอย่างพินิจพิเคราะห์ แล้วหันหน้ามาทางพระเณรที่กำลังทำกิจวัตรอยู่นั้น ท่านพูดขึ้นว่า ดูซิๆ ผึ้งอะไรชั่งมาทำรังอยู่ที่ต้นไม้นี้ วันต่อไปอีกท่านก็เดินไปมองแล้วก็พูดอย่างนั้นอีก บางวันยังพูดว่า รังผึ้งนั้นได้ใหญ่ยาวไปกว่าเดิมก็มี แต่ว่าสานุศิษย์ทั้งหลายเพียงแต่ไปมองดูแล้ว ก็ไม่มีองค์ใดพูดแต่อย่างไร เมื่อท่านพูดอยู่ก็ไม่มีผู้ใดตอบคัดค้านแล้วท่านก็หยุดพูดต่อไป เรื่องเช่นนี้ก็เป็นเรื่องที่ท่านทดลองหาผู้มีนิสัยจองหองฉลาดเก่งนั้นเอง

ทางจิตใจนั้นยิ่งเป็นเรื่องที่สำคัญมาก ฉะนั้นการอยู่ด้วยท่าน เราต้องระวังสำรวมใจของตนให้มาก เราจะปล่อยใจให้ฟุ้งซ่านเหลวไหลไปตามอารมณ์ต่างๆ นั้นไม่ได้ ข้อสำคัญที่สุดก็คือ ทิฏฐิ มานะ ซึ่งมักจะไปกระทบกับวาระจิตของท่านอย่างขนาดหนักทีเดียว

พวกเจ้าทิฏฐิมานะนี้พอแต่ย่างเข้าสู่เขตสำนักของท่านเท่านั้น ท่านรู้ได้ทีเดียว ท่านเคยปรารภให้ฟังเหมือนกัน เมื่อสังเกตตามเหตุการณ์ดูแล้ว ก็เป็นจริงอย่างท่านปรารภให้ฟังทุกประการ ทั้งจะทำให้ผู้ถือทิฏฐิมานะนั้นเปล่าจากประโยชน์ของตนอีกด้วย เมื่อเราหวังต่อการศึกษาอบรมธรรมปฏิบัติจากครูบาอาจารย์แล้วจะมัวแต่ถือเอาทิฏฐิมานะของตนอยู่ แล้วย่อมจะยอมรับเอาธรรมจากโอวาทของท่านไปปฏิบัติตามไม่ได้เป็นอันขาด เราผู้หวังต่อการศึกษาอยู่จะต้องยอมสละทิฏฐิมานะของตนเสีย ตลอดทั้งความรู้ที่ได้จากการท่องบ่นจดจำมาที่เป็นฝ่ายปริยัติธรรม จะเรียนได้มากน้อยเท่าไรก็พึงเก็บไว้เสียก่อน ไม่ควรนำออกมาแสดงหรือนำเอามาวิพากษ์วิจารณ์กับธรรมโอวาทของท่านเป็นอันขาด ซึ่งอาจจะเข้าทำนองที่ว่า “รู้ก่อนเกิด” เมื่อเราถือว่าตนรู้แล้ว เข้าใจแล้ว ก็จะหมดหนทางการทำความรู้ในสัจจธรรมให้เกิดขึ้นในตนต่อไป

เมื่อใดความรู้ที่เป็นอมตธรรมยังไม่ปรากฏขึ้นแก่ตน เมื่อนั้นเราจะถือว่าตนรู้ ตนเข้าใจ ยังไม่ได้ เพราะความรู้ที่เกิดจากการทรงจำนั้นยังไม่เป็นสาระ เพียงแต่เป็นสัญญาเท่านั้น

ธรรมดาสัญญาทั้งหลายย่อมตกอยู่ในไตรลักษณ์ทั้งสิ้น หาได้ล่วงเลยไปจาก อนิจจัง ทุกขัง อนัตตาไม่ ฉะนั้นจึงไม่ควรถือเอาสัญญาที่ทรงจำมาเป็นความรู้ของตน ถ้าอย่างนั้น ความรู้ที่ได้ทรงจำมาก็จะไม่เป็นสาระประโยชน์แก่ตนเท่านั้นเอง ถ้าเราคิดอย่างนั้นก็ถูก แต่อย่าลืมธรรมที่ว่า ให้ถึงพร้อมด้วยการรักษา เหมือนกับทรัพย์ที่เราหามาได้ จะต้องมีการเก็บรักษาเสียก่อนจึงค่อยใช้จ่ายตามทีหลัง ถ้าไม่มีการเก็บรักษาไว้ก่อน จะถือว่าตนมีทรัพย์อย่างไรได้ เมื่อคนมั่งมีถือว่าตนมั่งมีอยู่ มัวแต่เอาทรัพย์ของตนออกอวดอ้าง ไม่แสวงหารายได้ต่อไป ก็จะเป็นคนที่มั่งมีต่อไปไม่ได้ ฉันใดก็ดี เราผู้ได้ทรงจำพระธรรมวินัยมาได้น้อยมากตามความสามารถของตนนั้นก็เหมือนกัน ความทรงจำของเรานั้น เมื่อรู้จักเก็บรักษาไว้ด้วยดี ก็จะเป็นพื้นความรู้ความฉลาดของเราอย่างสำคัญ พอเราได้รับการประกอบความเพียรลงไปแล้ว เมื่อความรู้ความเห็นได้ปรากฏแล้วประจักษ์ขึ้นแก่ตนเมื่อใด เมื่อนั้นความรู้ที่เราได้ทรงจำมาก่อนนั้นก็จะวิ่งเข้ามาเป็นพยานอย่างน่าพิศวงทีเดียว โดยที่เราไม่ต้องได้คิดค้นหา แต่หากจะวิ่งเข้ามารับรองเอง ความรู้นั้นจึงจะเป็นของตนต่อไป

อีกประการหนึ่ง เมื่อเราอยู่ร่วมสำนักท่าน เราจะต้องระวังจิตของตนอยู่ตลอดกาล เพราะท่านไม่ต้องการผู้มีใจโลเลจับจดให้อยู่ร่วมสำนักท่าน ซึ่งจะทำให้ถ่วงความเจริญของหมู่คณะ และจะก่อความยุ่งยากแก่หมู่คณะ ทั้งจะทำให้หนักต่อการบริหารหมู่คณะของท่าน เท่าที่เคยถูกท่านขับให้ออกหนีไปบ่อยๆ ก็เนื่องด้วยความไม่ตั้งใจจริงต่อข้อปฏิบัตินั้นเอง ส่วนผู้ที่อยู่ด้วยความหวังต่อการศึกษาด้วยดีที่เรียกว่า “สุสิกฺขิโต” ไม่เคยจะถูกท่านประณามให้ออกหนีแม้แต่องค์เดียว

อนึ่งการรักษาจิตนั้น เมื่อเวลาเราเข้าไปหาท่าน เราก็สำรวมจิตให้เพ่งพินิจอยู่ที่กรรมฐานของตนเสมอ จะทำกิจวัตรอยู่ก็ตาม จะพูดจาปราศรัยกับท่านอยู่ก็ตาม หรือจะฟังโอวาทท่านอยู่ก็ตาม และเวลานวดฟั้นคั้นบาทาท่านอยู่ก็ตาม เราจะต้องถึงพร้อมด้วยการสำรวมจิตอยู่ทุกกรณี ถ้าเราไม่ตั้งใจสำรวมอยู่อย่างนั้น บางครั้งจิตชั่วของเราจะไปกระทบเรื่องภายในของท่าน เพราะท่านเคยปรารภให้ฟังเสมอว่า ถ้าพระเณรที่ชั่วมาร่วมอยู่ด้วย เทวดารังเกียจ มาถึงแล้วก็รีบหนีไป หรือถ้าพวกเทพเหล่าใดที่รู้ก่อนแล้วก็จะไม่มาหาท่านเป็นเด็ดขาด

เพราะเหตุนั้น การรักษาจิตของเราก็เพื่อให้เป็นสิริมงคลและให้เป็นสาระประโยชน์ทั้งตนและคนอื่นด้วย ทั้งเรายังจะต้องรักษาจิตของตนอย่าให้คิดขัดใจในท่านหรือคิดประมาทท่าน การคิดอย่างนี้ย่อมเป็นความผิดร้ายแรงเหมือนกัน เป็นความคิดที่สร้างหม้อนรกให้ตนเอง คนประเภทนี้จะไม่เจริญจนตลอดอายุของตน ซึ่งมีตัวอย่างอันดาษดื่นอยู่แล้ว บางรายถึงกับตายลงไปในระยะไม่กี่เดือนก็มี แต่ก็เป็นเรื่องที่ไม่ควรจะยกเอาชื่อของผู้นั้นมาประจานหน้ากัน ให้เป็นเรื่องที่รู้แล้วรู้รอดกันไป เมื่อเวลาเราฟังโอวาทของท่าน เราจะต้องกำหนดจิตให้อยู่ในความสงบ ทำจิตให้คอยฟังอยู่ภายในความสงบนั้น ไม่ส่งจิตออกไปฟังอย่างธรรมดา จึงจะได้ความรู้และได้อุบายจากการฟัง ถ้าเราไม่ทำจิตให้สงบอย่างนั้น การฟังค่อยจะได้ผลอันพึงปรารถนาแก่ตน เพราะการฟังนั้นย่อมมีอยู่ ๓ ประการ คือ

ประการที่ ๑ ฟังเป็นปริยัติ

ประการที่ ๒ ฟังเป็นปฏิบัติ

ประการที่ ๓ ฟังเป็นปฏิเวธ

การฟังเป็นปริยัตินั้น เป็นการฟังตามธรรมดา ซึ่งมีจิตออกจดจ่อต่อการฟังอยู่ที่โสตประสาท ผลที่ได้รับคือ การทรงจำในข้ออรรถข้อธรรม และรู้เรื่องในโวหารปฏิภาณของผู้แสดง มีการติการชมไปในตัว และจะมีโทมนัสขัดเคืองบางขณะ มีโสมนัสยินดีบางขณะ ถึงกับร้องไห้ก็มี หัวเราะก็มี เศร้าโศกเสียใจ ปริเทวนาการก็มี เลื่อมใสยินดีกับผู้แสดงก็มี คิดอยากทำบุญทำกุศลก็มี นี่คือการฟังเป็นปริยัติ

การฟังเป็นปฏิบัตินั้น ผู้ฟังจะต้องคิดยึดเอาความสงบใจไว้เป็นพื้นใจในการฟัง ดักใจฟังอยู่ในรัศมีของความสงบนั้นอย่างแน่วแน่ไม่โลเล เสียงจากผู้แสดงจะแว่วเข้าไปหาเจ้าสงบนั้นเองโดยไม่ต้องส่งใจออกฟัง ผลที่ได้รับ คือ สติของผู้ฟังจะแนบเนียนเข้าโดยลำดับ ปัญญาจะว่องไวต่อการค้นคิดและมีกำลังกล้าต่อการพิจารณา จิตจะมีความสว่างกระจ่างแจ้งขึ้นกว่าเดิม บางขณะจะเกิดอุบายธรรมขึ้นเป็นข้อสะกิดใจอย่างไม่ลืม บางขณะจะปรากฏนิมิตบอกเหตุการณ์ขึ้นมา และจะเกิดความเลื่อมใสในธรรมวินัยมีความอุตสาหะในการปรารภความเพียร จะเกิดความสลดใจในบางขณะ มีความเอิบอิ่มซาบซึ้งเป็นขึ้นในใจของตน ลักษณะต่างๆ ในทำนองนี้จะมีมากตามจริตนิสัยของแต่ละคน นี่คือการฟังเป็นปฏิบัติ

การฟังเป็นปฏิเวธนั้น ในขั้นแรกๆ ก็มีลักษณะเหมือนกันกับการฟังเป็นปฏิบัตินั้นเอง แต่ชวนจิตของท่านได้มีกำลังกล้าสามารถ จึงส่งไปทำหน้าที่ในการละกิเลสได้ทีเดียว แต่จิตของท่านได้กำลังกล้าด้วยอำนาจแห่งฟัง จึงสามารถบรรลุมรรคผล เหมือนกันกับกล้วยที่กำลังแก่จะสุกอยู่แล้วในไม่นาน แต่พอสุกถูกคนได้นำเอาไปบ่ม จึงทำให้กล้วยนั้นได้สุกเร็วเข้ากว่าเดิม หรือเหมือนกันกับดอกบัวที่พ้นน้ำแล้ว พอถูกแสงอาทิตย์ก็บาน ผู้ที่ท่านได้บรรลุมรรคผลในขณะฟังก็เหมือนกัน ธรรมเทศนาที่ได้ฟังนั้น ย่อมเป็นกำลังช่วยให้กำลังเดิมของท่านมีกำลังกล้าจนสามารถฟาดฟันทำลายอวิชชาให้สิ้นไป เรียกว่าการฟังกับการรู้เป็นไปพร้อมๆ กัน อย่างพระพุทธเจ้าแสดงอนัตตลักขณสูตรแก่ท่านพระปัญจวัคคีย์เป็นต้น ความรู้แจ้งของท่านปัญจวัคคีย์ก็ได้รู้ไปพร้อมๆ กับพระองค์ได้แสดงไปโดยลำดับ เมื่อพระองค์แสดงถึงขั้นความเบื่อหน่าย จิตของท่านปัญจวัคคีย์ก็ได้เกิดความเบื่อหน่ายถึงการคลายความกำหนัดยินดี แล้วก็หลุดพ้นจากกิเลสไปทีเดียวโดยมิได้รั้งรอต่อการตรัสรู้แต่ประการใด การฟังประเภทนี้คือ การฟังเป็นปฏิเวธ

ตั้งแต่ที่ข้าพเจ้าได้รับหน้าที่เป็นผู้อุปัฏฐากท่านอาจารย์ใหญ่แล้ว ไม่ค่อยมีโอกาสออกไปประกอบความเพียรในสถานที่อื่นเท่าไร เพราะหาตัวเรายาก ได้มีโอกาสกราบลาท่านออกไปเพียง ๒ ครั้ง คือ

ครั้งที่ ๑ ระหว่างเดือน ๕ ท่านคำไพ สุสิกฺขิโต ที่เคยเป็นผู้อุปัฏฐากมาก่อนข้าพเจ้านั้น เมื่อไปจำพรรษาในสถานที่อื่นแล้วกลับมา ได้พูดตกลงกันในการผลัดเปลี่ยนกันเป็นที่เรียบร้อยแล้ว ข้าพเจ้าจึงเข้าไปกราบเรียนปรึกษาต่อท่านอาจารย์ใหญ่ในเรื่องการผลัดเปลี่ยนกันออกไปบำเพ็ญ ท่านก็เห็นชอบด้วย ข้าพเจ้าได้รอฟังเหตุการณ์อยู่ ๕ วัน แล้วจึงกราบเรียนท่านอีก คราวนี้ได้กำหนดวันจะออกไปให้แน่นอน คือว่ากำหนดว่าอีก ๓ วันข้างหน้าจะได้กราบลาท่านออกไป ท่านก็ไม่ขัดข้อง ก่อนที่ข้าพเจ้าจะออกไปนั้น จะต้องมอบภาระทุกอย่างให้ผู้จะทำการแทนให้เป็นที่เรียบร้อยทุกประการ คือจะต้องให้ความแนะนำกันในบางสิ่งบางประการ และมอบหมายสิ่งของต่างๆ ที่จะต้องเก็บ ที่จะต้องใช้เกี่ยวกับครูบาอาจารย์และหมู่คณะให้เรียบร้อยก่อนจะไป

ครั้นถึงวันกำหนดแล้ว ข้าพเจ้าก็เข้าไปทำขมาโทษท่านแล้วกราบลาท่านออกไป การออกไปครั้งนี้ได้ไปแต่ผู้เดียวเพราะต้องการจะฝึกตนให้มีความกล้าหาญด้วยการพึ่งตนเอง วันแรกที่ไปพักที่ราวป่าใกล้กับบ้านบัว ในระหว่างที่ยังพักอยู่ในสถานที่นั้น วันหนึ่งตอนหัวค่ำได้เดินจงกรมพอสมควรแล้ว ขึ้นไปที่พักเพื่อจะนั่งสมาธิต่อไป ปรากฏว่าลมได้ลั่นในท้องคล้ายกับจะถ่ายท้อง จึงรีบไหว้พระสวดมนต์ให้เสร็จไป ระยะจากนั้นก็เกิดถ่ายท้องทั้งแรง มีอาการอาเจียนด้วย ถ่ายเพียงสามครั้งเกิดหมดกำลังกายเสียแล้ว เหงื่อออกเปียกหมดทั้งตัว ข้าพเจ้าคิดว่า เป็นคราวที่จะต้องพึ่งตัวเองจริงๆ เพื่อนไม่มี ญาติโยมไม่มี แต่จิตก็หาได้หวั่นไหวต่อความตายไม่ จึงคิดว่าบางทียังไม่ถึงเขตตายมาถึงก็ได้ แล้วก็หยิบเอายาขี้ผึ้งตราพระมาฉันดู แต่ก็ไม่ได้ผล จึงได้หยิบเอาเกลือที่เหลือจากฉันกับมะขามป้อมที่เอามาจากท่านอาจารย์มหาบัวมาทดลองฉันดู อาการถ่ายและอาเจียนได้หายไปอย่างลิดทิ้ง ยังแต่ความอ่อนเพลียเท่านั้น รุ่งเช้าพอไปบิณฑบาตได้ แต่ก็ไม่ได้บอกให้ผู้ใดรู้เลย

วันหนึ่งอีก เป็นเวลากลางวัน ข้าพเจ้าเข้าไปเดินจงกรมอยู่ในราวป่าที่รกทึบหน่อย ไกลจากที่พักราว ๓ เส้น เผอิญผู้หญิงสาวคนหนึ่งซึ่งเคยเห็นมาใส่บาตรทุกวัน มาจากไหนไม่ทราบ ได้ร้องลำเข้าไปสู่ที่พักข้าพเจ้า ตามที่ข้าพเจ้ามองดู เห็นเธอไปนั่งอยู่ที่ฉันจังหันนั้นเป็นเวลาเกือบชั่วโมง ทำท่าร้องลำอย่างเบาๆ อยู่ที่นั้น ข้าพเจ้าได้หลบตัวอยู่ที่จงกรมนั้น ไม่ให้เธอได้มองเห็น เพราะเท่าที่ได้สังเกตถึงพฤติการณ์ของเธอแล้ว ย่อมเป็นไปในทางเกิดอันตรายแก่พรหมจรรย์แน่นอน ในที่สุดเธอก็ออกเดินหลีกไปอย่างเงียบๆ


(มีต่อ ๑๐)

.....................................................
ทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว เป็นกฎตายตัว


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 27 ก.ย. 2009, 07:35 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
ผู้จัดการ
ผู้จัดการ
ลงทะเบียนเมื่อ: 27 มี.ค. 2006, 17:34
โพสต์: 7781

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว www


ข้าพเจ้าคิดชมตัวเองว่า ได้เอาพรหมจรรย์ผ่านพ้นจากอันตรายไปได้เป็นอย่างดี นึกถึงบุญคุณของครูบาอาจารย์ที่ท่านให้การอบรมมา และนึกถึงความเชื่อถือในข้อปฏิบัติของตน แล้วก็รีบพยายามสำรวมรักษาตนต่อไป สำนึกถึงธรรมภาษิตที่ได้ท่องจำมาอยู่เสมอว่า อิตฺถี มลํ พฺรหฺมจริยสฺส (แปลว่า) หญิงเป็นมลทินแห่งพรหมจรรย์แท้ ดังนี้ หญิงมีกำลังฉุดคร่าบุรุษให้อยู่ในอำนาจยิ่งกว่ากำลังทั้งหลายในโลก

หญิงผูกมัดและประหารบุรุษด้วยอาวุธ ๕ ประการ คือ รูป ๑ เสียง ๑ กลิ่น ๑ รส ๑ การสัมผัสถูกต้อง ๑ กามตัณหาของหญิงนั้นมีความต้องการปรารถนาอย่างลามก ถึงกับไม่เลือกว่าจะเป็นชายประเภทใด ไม่เลือกว่าสมควรหรือไม่สมควร ได้ช่อง ได้โอกาสเมื่อใดเป็นต้องเอาเมื่อนั้น มีความกระหายในกามคุณอยู่เนืองนิตย์เหมือนกับเปรตที่กระหายอาหาร หาความอิ่มในกามคุณมิได้ ผู้หญิงเหมือนกับหนทางซึ่งไม่เลือกผู้จะเดิน เหมือนกับไฟ ย่อมไม่เลือกสิ่งที่เป็นเชื้อ เหมือนกับน้ำ ย่อมไม่เลือกสิ่งที่เจือปน เหมือนแผ่นดินย่อมไม่เลือกสัตว์ผู้อาศัยอยู่และเป็นที่รองรับสิ่งต่างๆ หญิงส่วนมากก็ไม่เลือกบุรุษทั้งหลายฉันนั้น หญิงมีใจลามก มีใจไม่หนักแน่น มีใจไม่ซื่อสัตย์ มีใจหยาบคาย มีใจโหดร้าย มีใจกลับกลอก และมากไปด้วยมายาสาไถย เล่ห์เหลี่ยม สมดังข้อความใน อัณฑภูตชาดก โดยใจความว่า

สพฺพา นที วงฺกคตี สพฺเพ กฏฺมยา วนา

สพฺพิตฺถิโย กเร ปาปํ ลพฺภมาเน นิวาตเก ฯ


แม่น้ำทุกสายไหลคด ป่าทั้งหลายมีแต่ต้นไม้ เมื่อได้ที่ลับ หญิงทั้งหลายคงทำชั่ว

ยํ พฺราหฺมโณ อวาเทสิ วีณํ สมฺมุขเวฐิโต

อณฺฑภูตา ภตา ภริยา ตาสุ โก ชาตุ วิสฺสเสติ ฯ


พราหมณ์ถูกนาง (มาณวิภา) เอาผ้าผูกหน้าเสียหมด ให้บรรเลงพิณเพราะเหตุใด ไม่ทราบเหตุนั้นเลย หญิงที่เลี้ยงมาตั้งแต่ยังเป็นพืช เอามาเป็นภรรยายังทำชั่วได้ ใครเล่าจะวางใจในภรรยานั้นๆ ได้แน่นอน

สภาพของหญิง หาความจริงได้ยากเหลือแสน เป็นเหมือนโจร มีมารยามาก รู้ได้ยากเหมือนการไปของปลาในน้ำฉะนั้น

คำเท็จของพวกเธอ เหมือนคำจริง คำจริงเหมือนคำเท็จ เหมือนโคทั้งหลาย เด็ดกินแต่ยอดๆ ของหญ้ามากมาย เราอยู่คนเดียวสงบอกสงบใจประเสริฐกว่า

แท้จริงหญิงเหล่านี้เป็นโจรบาปหยาบชั่วร้ายกาจ กลับกลอกเหมือนก้อนกรวด กลหลอกลวงบรรดามีอยู่ในหมู่มนุษย์ ไม่มีกลใดที่พวกเธอจะไม่รู้

ภัยของผู้ประพฤติพรหมจรรย์อย่างร้ายที่สุดก็คือมาตุคาม แม้พระฤๅษีในอดีตกาลก็เคยสั่งบุตรของตนเมื่อก่อนจะตายว่า ลูกเอ๋ยจงให้ระวังภัยร้ายอย่างหนึ่งที่เกิดจากสัตว์ร้ายจำพวกหนึ่งซึ่งมีรูปคล้ายกับพวกเรา แต่มันมีเขาที่อก เมื่อลูกได้พบจงอย่าเข้าใกล้เป็นอันขาด จงรีบหลีกเสียให้ไกลเท่าที่จะไกลได้ เพราะมันร้ายยิ่งกว่าเสือ หมี ผีร้าย ดังนี้ พระพุทธเจ้าเมื่อก่อนจะปรินิพพาน พระองค์ได้สั่งไว้กับพระอานนท์เถระว่า เรื่องการปฏิบัติต่อสตรีภาพนั้น อย่าเห็นเสียเลยดีกว่า เมื่อเห็นอย่าพูดด้วยดีกว่า เมื่อจำเป็นจะต้องพูด จงมีสติกำกับใจให้ดีเสียก่อนจึงพูด ดังนี้

ฉะนั้น เมื่อข้าพเจ้าพิจารณาถึงเหตุการณ์ดังกล่าวแล้ว จึงเห็นว่า ไม่สมควรที่จะอยู่ต่อไปนาน พักอยู่ในสถานที่นั้น ๙ คืน แล้วก็ออกเดินทางไปพักที่บ้านค้อ ตั้งใจว่าจะขอพักที่ดอนหอผีบ้านเขา แต่ชาวบ้านส่วนมากไม่ยินยอมให้พัก จึงไปพักไม่ได้ และสอบถามดูสถานที่อื่นๆ อีก ก็ไม่สะดวก จึงพักที่วัดบ้านของเขา ซึ่งเป็นวัดร้าง ไม่มีพระเณร พักอยู่หนึ่งคืนแล้วก็ออกเดินทางไปพักด้วยท่านอาจารย์มหาบัว ญาณสมฺปนฺโน ที่ดงใกล้กับบ้านงิ้ว เพราะเป็นหน้าฝนบ้างแล้ว จึงต้องทำกุฎีชั่วคราวเป็นที่พัก

การออกไปบำเพ็ญเพ็ญเพียรของข้าพเจ้าครั้งนี้ประมาณเดือนกว่า แล้วก็เดินทางกลับเข้าไปอยู่ด้วยท่านอาจารย์ใหญ่ตามเดิม ทันกับงานวิสาขบูขาแล้วก็อยู่ต่อไป ท่านอาจารย์ใหญ่ก็ได้ถามถึงการภาวนาของข้าพเจ้าเพียงเล็กน้อย ข้าพเจ้ารู้ได้เป็นไปอย่างไรก็กราบเรียนถวายให้ท่านทราบทุกประการ เพราะครูบาอาจารย์ย่อมต้องการของฝาก (กำลังของจิต) จากสานุศิษย์เป็นธรรมดา แต่ข้าพเจ้าก็ได้ของไปฝากท่านเพียงเล็กน้อย ถึงกระนั้นท่านยังให้กำลังใจแก่ข้าพเจ้าอีก โดยท่านปรารภว่า

การเจริญอานาปานสติก็เป็นทางที่ดีเหมือนกัน เพราะการเจริญพระกรรมฐานแต่ละอย่างนั้น เมื่อจิตจะรวมลงเป็นสมาธินั้น ย่อมน้อมเข้าไปสู่คลองอานาปานสติเสียก่อน จึงรวมลงไปเป็นสมาธิ พระอาจารย์เจ้าทั้งหลายได้กล่าวไว้ว่า “กรรมฐาน ๔๐ ห้อง เป็นน้องอานาปานะ” ดังนี้ แล้วท่านก็แสดงถึงอานาปาฌานที่ท่านเคยเป็นมาแล้วให้ฟังโดยละเอียด

เรื่องการใช้กรรมฐานอะไรเป็นบริกรรมนั้น ข้าพเจ้าหาได้กราบเรียนถวายให้ท่านทราบไม่ แต่ท่านรู้เรื่องภายในใจของข้าพเจ้าทั้งหมดจริง ข้าพเจ้าก็ได้กราบเรียนถวายตามความเป็นจริงของตนต่อท่าน เว้นแต่คำบริกรรมเท่านั้น เพราะฉะนั้น เมื่อท่านปรารภถึงนาปานสติกรรมฐานดังนั้น ก็ตรงตามที่ข้าพเจ้าได้ใช้เป็นบทบริกรรมจริงๆ ขณะนั้น จิตของข้าพเจ้าผู้ยังอ่อนก็ได้แต่ความปลื้มปีติและเลื่อมใสอัศจรรย์ในพระคุณของท่านอย่างบอกไม่ถูก ข้าพเจ้าหาความผิดมิได้ จึงไม่มีความประหม่าตกใจ ข้าพเจ้าหาแผลมิได้ จึงมิได้เจ็บเมื่อท่านแทงถูก

เมื่อเป็นดังกล่าวมานั้น จะไม่ให้ข้าพเจ้าเชื่อว่าท่านรู้วาระจิตของผู้อื่นย่างไรได้ แม้ครั้งอื่นๆ อีกก็มีมาก ตามที่ข้าพเจ้าอยู่ด้วยท่านมา เช่นครั้งหนึ่ง เมื่อพวกข้าพเจ้าอยู่เฝ้าปรนนิบัติท่านเพียง ๒ - ๓ องค์ ท่านปรารภว่า เรารู้เรื่องของพวกท่านทั้งหลายทุกองค์เหมือนกัน แต่เราไม่อยากพูดเท่านั้น ครั้งหนึ่งอีก ท่านปรารภว่า สมัยก่อน วิธีสอนผู้อื่นนั้น เคยได้ทักความผิดของผู้อื่นตามวาระจิตชั่วที่เกิดขึ้นของผู้นั้น แต่เป็นผลเสียมากกว่าผลได้ เหตุนั้น เราจึงเลิกใช้วิธีนั้นเสีย ทุกวันนี้จะใช้อยู่ก็เป็นบางกรณีเท่านั้น ดังนี้เป็นต้น

เท่าที่ข้าพเจ้าเล่ามาตามเรื่องเช่นนี้ บางคนอาจจะเพ่งเล็งในแง่ว่า ข้าพเจ้าโอ้อวดตัวเองโดยยกเอาครูบาอาจารย์ผู้บริสุทธิ์มาเป็นโล่บังหน้าก็มี แต่ไม่เป็นไร จะวิพากษ์วิจารณ์อย่างไรก็ได้ สุดแล้วแต่ใครจะลงความเห็นในตนอย่างไรก็ได้ทั้งสิ้น ซึ่งตามธรรมดาที่พวกข้าพเจ้าเมื่อสมัยอาศัยศึกษาอบรมตนอยู่ภายใต้ร่มโพธิ์ของท่านอาจารย์ใหญ่นั้น ต่างคนก็ต่างสำรวมระวังจิตและข่มจิตของตนไม่ให้แส่ส่ายโลเลไปตามอารมณ์ของโลก เพราะมาละอายและเกรงกลัวต่อความชั่วที่เกิดขึ้นกับจิต จะทำกำลังของจิตให้เสื่อมถอยลงไป จะเป็นการเนิ่นช้าและเหินห่างจากคุณธรรมอันพึงปรารถนานั้นประการหนึ่ง และมีความละอายและเกรงกลัวต่อคุณธรรมที่ครูบาอาจารย์ได้รู้เห็นแล้วนั้นอีกประการหนึ่ง

เพราะเหตุนั้น จึงได้ทำให้ได้กำหนดจิตอยู่กับกรรมฐานที่ตนเจริญแล้ว ทั้ง ยืน เดิน นั่ง นอน ตลอดทั้งกลางวันและกลางคืน เว้นไว้แต่เวลานอนหลับเท่านั้น หาได้สรวลเสเฮฮาสนุกสนานเพลิดเพลินไปตามความชอบใจของกิเลสไม่ พูดกันศึกษากันแต่เรื่องภาวนาต่อกันและกัน และทางด้านธรรมวินัยข้อวัตรปฏิบัติที่จะพึงกระทำให้สมบูรณ์ถูกต้องเท่านั้น แต่ถึงกระทำให้เป็นไปโดยความพร้อมเพรียงทั้งหมู่คณะอย่างนั้น ก็ยังเกิดมีผู้ได้ดีและเสื่อมเสียในกาลภายหลังก็มี เมื่อพิจารณาถึงสภาพของผู้ที่ได้ศึกษาอบรมธรรมปฏิบัติจากครูบาอาจารย์แล้วมี ๓ ประเภท คือ มีความดีสืบต่อยิ่งๆ ขึ้นไปประเภทหนึ่ง พอทรงความดีของตนไว้ได้ประเภทหนึ่ง เป็นผู้เสื่อมถอยจากความดีที่ตนได้ปฏิบัติมาก่อนแล้วประเภทหนึ่ง เพราะจิตนี้เมื่ออบรมได้ไม่เพียงพอต่อความมั่นคงแล้ว ย่อมมีการกลับกลอกในภายหลังเป็นธรรมดา ถ้าอวดดีมีความประมาทเมื่อใด ย่อมเสื่อมเสียเมื่อนั้น

ครั้นเมื่อข้าพเจ้าได้กลับเข้าไปอยู่ด้วยท่านอาจารย์ใหญ่แล้ว ครูบาอร่าม รกฺขิตฺตจิตฺโต หรือคำไพ สุสิกฺขิโต ผู้รับหน้าที่แทนข้าพเจ้านั้น ก็ได้มอบหน้าที่คืนให้ข้าพเจ้าอีก แล้วก็กราบลาท่านอาจารย์ใหญ่ออกไป ข้าพเจ้าจึงต้องทำหน้าที่นั้นสืบต่อไป

เมื่อกาลเวลาผ่านไปอีกปี หรือสองปีก็จำไม่ได้ ท่านทองคำ ญาโณภาโส ที่เคยอยู่ปรนนิบัติท่านอาจารย์ใหญ่มาก่อนข้าพเจ้า สมัยเมื่อท่านยังพักอยู่ทางบ้านนามน - บ้านโคก ก็ได้กลับมาจำพรรษาร่วมท่านที่บ้านหนองผืออีก ได้เป็นผู้ปรนนิบัติท่านอาจารย์ใหญ่ร่วมกันมาโดยลำดับ แต่เมื่อฤดูแล้ง ท่านทองคำได้กราบลาครูบาอาจารย์ออกไปบำเพ็ญอยู่เสมอ

รูปภาพ
หลวงปู่บุญเพ็ง (เพ็ง) เขมาภิรโต


ครั้นต่อมาถึงฤดูแล้งแล้วเป็นโอกาสที่เหมาะสม ข้าพเจ้าจึงเข้าไปกราบเรียนปรึกษาต่อท่านอาจารย์ใหญ่ถึงการออกไปบำเพ็ญเพียร เรื่องทุกอย่างก็เหมือนกับการออกไปครั้งที่หนึ่งนั่นเอง เมื่อท่านอนุญาตแล้ว ข้าพเจ้าก็ได้กราบลาท่านออกไป มี ท่านเพ็ง เขมาภิรโต (ยังเป็นสามเณร) ติดตามไปด้วย ไปพักที่เสนาสนะป่าใกล้บ้านห้วยบุ่น ตั้งใจว่าเมื่อพักผ่อนเอากำลังสุขภาพพอสมควรแล้วก็จะเร่งความเพียรย่างใจหวัง ด้วยคิดว่า เมื่อไม่ได้อยู่อุปัฏฐากครูบาอาจารย์ ภาระทุกอย่างก็มีน้อยไปแล้ว มีแต่กิจวัตรประจำวันส่วนตัวเท่านั้น โอกาสทำความเพียรของเรามีเพียงพอทุกประการ

แต่ครั้นออกไปพักได้ถึงคืนที่ ๗ เท่านั้น ในคืนวันนั้น เวลานอนหลับไป ปรากฏว่า ข้าพเจ้าได้เข้าไปปรนนิบัติท่านอาจารย์ใหญ่เช่นเคยทำมา แต่ปรากฏว่า ท่านได้พักนอนอยู่บนเตียงแห่งหนึ่ง ซึ่งมองดูแล้วท่านไม่ค่อยสบาย แต่ไม่ทราบว่าท่านเป็นอาพาธด้วยโรคอะไร ขณะนั้นเผอิญข้าพเจ้าก็ตื่นนอนขึ้นมา เพราะตามธรรมดาตั้งแต่ข้าพเจ้าได้เข้าอยู่ใกล้ชิดกับท่านมาแล้วนั้น เมื่อข้าพเจ้านอนหลับไปทุกครั้งจะต้องฝันเกี่ยวกับท่านเสมอ ถ้าท่านจะไม่สบาย ข้าพเจ้าก็ต้องฝันเกี่ยวถึงความไม่สบายของท่านทุกครั้ง สมัยนั้น คำฝันของข้าพเจ้านับว่าพอเชื่อได้และข้าพเจ้าก็ได้เชื่อความฝันประเภทที่ควรเชื่อเหมือนกัน

ฉะนั้น คืนวันนั้น เมื่อข้าพเจ้าตื่นนอนแล้ว จึงได้วิตกถึงท่านอาจารย์ใหญ่ กลัวว่าท่านจะเกิดอาพาธขึ้นมา รุ่งเช้ามาก็ยังคิดวิตกอยู่ แต่ไม่ได้พูดให้ผู้ใดฟัง พอฉันจังหันจวนจะเสร็จ พ่อออกพุด โยมอุปัฏฐากใกล้ชิดของครูบาอาจารย์ก็โผล่หน้ามาหา ข้าพเจ้าก็รีบถามด้วยความกระหายในใจดังกล่าว

พ่อพุดแจ้งว่า ท่านทองคำเข้ามาบิณฑบาตถึงที่บ้าน แล้วใช้ให้กระผมมาตามครูบากลับไป ท่านอาจารย์ใหญ่ป่วยเมื่อคืนนี้ ป่วยเป็นโรคอะไรก็ไม่ทราบ อาการหนักเบาอย่างไรก็ไม่ทราบ เพราะแกก็รีบด่วนเต็มที ฉันเสร็จเตรียมตัวแล้ว ข้าพเจ้าก็รีบเดินทางไปหาท่าน เมื่อไปสังเกตดูอาการป่วยของท่านก็คงอยู่ในอาการหนักเหมือนกัน จึงตัดสินใจจะต้องอยู่ปรนนิบัติท่านต่อไป ได้จัดให้คนไปนำเอาสิ่งของจากที่พักมาให้ ไม่มีโอกาสจะได้ออกไปแสวงหาทำความเพียรที่อื่นอีก ตั้งแต่วันนั้นต่อมา

เมื่อจะกล่าวถึงโรคประจำตัวของท่านอาจารย์ใหญ่นั้น คือ ท่านเป็นโรคริดสีดวงลำไส้และเป็นโรคลม โรคของท่านมีการกำเริบอยู่บ่อยๆ แต่นานๆ จึงจะมีอาการหนักทีหนึ่ง มาครั้งนี้ท่านก็ได้มีอาการถ่ายท้องแล้วก็มีกำลังทรุดลงไป ฉันจังหันไม่ค่อยได้ เมื่อถึงคราวท่านเกิดอาพาธนั้น ตามปกติแล้วท่านห้ามไม่ให้ยุ่งกับยากับหมอ มีแต่เร่งการกำหนดพิจารณาธรรมของท่านอย่างเดียวเท่านั้น ผู้เข้าไปเยี่ยมป่วยทั้งหลาย จะต้องเข้าไปด้วยความสงบจริงๆ จะเรียนถามท่านก็ต้องรู้จักประมาณแห่งการพูดและการเข้าหา เมื่อต้องการรู้ละเอียด ต้องถามกับผู้ปรนนิบัติอยู่ใกล้ชิดจึงเป็นการถูกต้อง ขณะที่อยู่ใกล้ท่านจะพูดคุยกันให้มากไม่ได้เป็นเด็ดขาด ต้องกำหนดจิตของตนให้สงบอยู่เสมอจึงจะอยู่ในที่พยาบาลไปได้นาน พวกข้าพเจ้าผู้ปรนนิบัติท่านอยู่ประจำจึงได้รักษาความสงัดวิเวกภายนอก ช่วยท่านทุกวิถีทาง ผู้ไม่ควรให้เข้าไปใกล้ท่าน ก็ห้ามกันไว้เสีย ถ้าผู้ใดเข้าไปหาท่านพอสมควรแล้ว หรือสังเกตดูเห็นว่าจะเป็นการก่อกวนให้ท่านรำคาญ ก็รีบหาวิธีให้ผู้นั้นรีบออกไปเสีย

ตามปกติแล้ว เมื่อผู้ใดจะเข้าไปหาท่านจะต้องให้ผ่านพวกข้าพเจ้าเสียก่อนจึงจะเข้าไปหาท่านได้ เพราะการเข้าไปหาท่านนั้น จะต้องเลือกกาลให้สมควรก่อนจึงจะเข้าไปได้ พวกข้าพเจ้าผู้ปรนนิบัติอยู่ใกล้ชิด ต้องฉลาดในเรื่องนี้เป็นพิเศษ ที่เรียกว่า “ขวนขวายป้องกัน” สมัยเมื่อท่านเกิดอาพาธ พวกข้าพเจ้าผู้เป็นสานุศิษย์ทั้งหลาย จะต้องพร้อมเพรียงกันเอาใจใส่ต่อการพยาบาลรักษาท่านให้เต็มความสามารถ ไม่เห็นแก่ความยากลำบากเหนื่อยแต่ประการใด แม้ท่านจะไม่ห่วงในอัตภาพอย่างไรก็ดี พวกข้าพเจ้าก็มิได้นิ่งนอนใจ ต้องคิดหายามารักษาอาพาธของท่านและคิดหากลวิธีให้ท่านได้ฉันยาบำบัดอาพาธนั้นให้จงได้ ยอมให้ท่านกำราบทุกวิถีทาง คือต้องมีทั้งกลัวและกล้า แต่ต้องระวังไม่ให้เป็นไปในลักษณะเชิงบังคับท่าน ต้องให้เป็นไปในลักษณะอ้อนวอนอย่างน่าสงสาร เมื่อเป็นการถูกต้องท่านก็อนุมัติตาม พวกข้าพเจ้าก็ถวายยารักษาท่านได้

สำหรับอาพาธของท่านในคราวครั้งนั้น หาได้หายด้วยยาไม่ เป็นแต่พอทุเลาลงแล้วทรงตัวอยู่เท่านั้น ต่อมาท่านได้ย้ายไปพักที่บ้านนาใน เพื่อเปลี่ยนสถานที่และอากาศ แต่อยู่ไม่นานก็ย้ายกลับมาสถานที่เดิม ครั้นภายหลังอาพาธท่านก็ได้สงบระงับไปด้วยอำนาจการเพ่งพินิจในธรรมของท่าน

โดยท่านได้เล่าให้ฟังว่า

เมื่อคืนนี้อาพาธได้ระงับลงแล้ว และปรากฏธรรมนิมิตขึ้นมาว่า “ฌายี ตปติ อาทิจฺโจ” สมัยก่อนก็เหมือนกัน เมื่อเราเพ่งอยู่ในธรรมไม่ท้อถอย เมื่ออาพาธระงับลงไปแล้ว ก็ปรากฏข้อธรรมอย่างใดอย่างหนึ่งผุดขึ้นมาให้รู้เช่นเดียวกัน เพราะฉะนั้น เมื่อเกิดอาพาธขึ้นมา พวกเราจึงไม่ค่อยกังวลกับยาเท่าไรนัก ถ้าเราหวังแต่จะพึ่งยาพึ่งหมออย่างเดียวก็ไม่ถูก เป็นการผิดต่อสรณะ สำหรับผู้ปฏิบัติธรรมทั้งหลาย ต้องเป็นผู้หนักแน่นอยู่ในธรรม ไม่หวั่นไหวไปตามโลกธรรม จึงจะสมกับคำปฏิญาณตนแล้วว่า “ธมฺมํ สรณํ คจฺฉามิ” ข้าพเจ้าถึงพระธรรมว่าเป็นสรณะ

เราเคยเห็นอำนาจแห่งความเพียรมาแล้วตั้งแต่สมัยไปป่วยอยู่คนเดียวที่ถ้ำสาริกา จังหวัดนครนายก ครั้งนั้นได้เกิดธาตุพิการถึงกับไฟธาตุไม่ย่อยอาหาร ฉันอะไรเข้าไป ธาตุไฟก็ไม่ย่อย เมื่อถ่ายออกมาก็ยังสดๆ อยู่เช่นเดิม เบื้องต้นก็คิดหวั่นไหวไปต่างๆ นานา แต่ในที่สุดก็ตกลงใจยอมเสียสละชีวิตได้ จึงเข้าที่นั่งสมาธิแล้วอธิษฐานใจ ยอมสละชีวิตตายต่อความเพียร ได้เสวยทุกขเวทนากล้าแสนสาหัส ถึงกับไม่รู้สึกตัวเสียเลย ผลสุดท้าย เมื่อรู้สึกตัวขึ้นมาแล้ว ต้องได้มาสืบสวนตัวเองอีกทีหนึ่งว่า ทำไมเราจึงเป็นอย่างนี้ ครั้นคิดทบทวนไปมาจึงได้รู้ว่า เมื่อก่อนเราไม่สบายจึงได้มาเข้าที่นั่งสมาธิ แต่บัดนี้อาพาธนั้นได้หายไปอย่างปลิดทิ้งเสียแล้ว มองดูสรีระกายเปียกชุ่มไปด้วยเหงื่อตลอดทั้งตัว แม้ผ้านุ่งห่มก็เปียกไปหมด กำลังของจิตก็สามารถอาจหาญขึ้นกว่าเดิมหลายเท่า

เราเคยเห็นอำนาจแห่งคุณธรรมส่วนนี้ตั้งแต่ครั้งนั้น เพราะเหตุนั้นในกาลต่อมา เมื่อเกิดอาพาธอย่างใดขึ้นมา เราจึงไม่หวังจะพึ่งยาแต่อย่างเดียวเท่านั้น โดยส่วนมากเราใช้การเพ่งพินิจ อาพาธก็สงบระงับไปเอง ในโพชฌงค์สูตร พระพุทธองค์ได้แสดงไว้ในลักษณะนี้เหมือนกัน ได้ยินว่า สมัยหนึ่งพระพุทธองค์ทรงอาพาธ พระจุนทเถรเจ้าเข้าไปเฝ้าแล้วแสดงสัมโมทนียคาถา พระองค์รู้ความประสงค์แล้วเจริญสัมโพชฌงค์ทั้ง ๗ ประการให้ยิ่งๆ ขึ้น พระอาพาธนั้นก็ระงับไปดังนี้เป็นอาทิ ฉะนั้น ธรรมทั้งหลายที่เราได้ยินได้ฟังมาแล้ว ถึงจะมีความเชื่อมั่นก็ตาม หาได้เป็นความเชื่อที่สมบูรณ์ไม่ ต้องปฏิบัติให้มีความรู้เห็นเป็นไปด้วยตนเองเสียก่อน จึงจะเป็นความเชื่อที่สมบูรณ์ได้

ก็แลสมัยนั้น เมื่ออาพาธของท่านได้ระงับไปแล้วดังนั้น พวกข้าพเจ้าก็พยายามบำรุงสุขภาพของท่านให้แข็งแรงต่อไป ครั้นเมื่อออกพรรษาปวารณาแล้ว บรรดาสานุศิษย์ทั้งหลายก็ออกไปแสวงหาที่ทำความเพียรเช่นฤดูแล้งที่ผ่านมาทุกๆ ปี ส่วนท่านทองคำผู้รับภาระเป็นตัวยืนในหน้าที่เป็นผู้อุปัฏฐากแทนข้าพเจ้าในสมัยนั้น ก็ได้เวนหน้าที่นั้นแก่ข้าพเจ้าแล้วออกไปเหมือนกับหมู่คณะทั้งหลาย ข้าพเจ้าได้รับทำหน้าที่ครั้งนี้เป็นครั้งที่สุดท้ายทีเดียว

เรื่องนี้มิได้หมายความว่าจะต้องทำแต่ผู้เดียวก็หาไม่ หมู่คณะทั้งหลายผู้ยังหวังต่อการศึกษาอยู่ก็จะไปๆ มาๆ ออกๆ เข้าๆ เป็นธรรมดา สำหรับผู้มีความมุ่งหวังต่อการศึกษาจากครูบาอาจารย์นั้น จะต้องมีความจงรักภักดี เอื้อเฟื้ออาลัยในท่านเสมอชีวิตของตนหรือยิ่งกว่านั้น

ยามเมื่อตนไปถูกร้อน ก็ย่อมห่วงว่าท่านจะร้อน ยามเมื่อตนไปถูกหนาว ก็ย่อมห่วงว่าท่านจะหนาว ยามเมื่อตนได้กินของมีรสอร่อยก็ย่อมคิดอยากจะถวายให้ท่านได้ฉันบ้าง ถึงยามเมื่อตนได้รับความผาสุกสบายก็ยิ่งคิดถึงท่านมาก แม้จะจากท่านไปก็เพื่อดำเนินตามปฏิปทาของพระโยคาวจรเจ้าทั้งหลายที่เคยดำเนินมาก่อนแล้วเท่านั้น หาได้หลีกออกไปเพื่อเรื่องอื่นไม่


(มีต่อ ๑๑)

.....................................................
ทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว เป็นกฎตายตัว


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 27 ก.ย. 2009, 07:49 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
ผู้จัดการ
ผู้จัดการ
ลงทะเบียนเมื่อ: 27 มี.ค. 2006, 17:34
โพสต์: 7781

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว www


รูปภาพ
ในหลวงกับพระอาจารย์วัน อุตฺตโม


ส่วนสานุศิษย์ที่ไม่ดี ไม่มีความมุ่งหวังต่อการศึกษาในธรรมยิ่งนั้น เมื่อถึงคราวกราบลาครูบาอาจารย์ออกหนีไปทางอื่น ย่อมเพื่อให้ตนได้พ้นจากอำนาจความบังคับบัญชาของท่าน เพราะมาสำคัญในตนว่า การอยู่ไกลในสำนักของครูบาอาจารย์นั้น เป็นการหนักใจ เดี๋ยวก็ถูกท่านว่ากล่าวตักเตือนบ่อยๆ อย่างนั้นอย่างนี้ อย่างนั้นผิด อย่างนี้ถูก จู้จี้จุกจิกรำคาญใจอยู่ตลอดกาล จะทำอะไรก็ไม่ได้ทำตามอำเภอใจของตน ทำอะไรก็มีแต่ความผิดทั้งหมด ขี้ใส่บกก็ผิด ขี้ใส่น้ำก็ผิด ถือครูบาอาจารย์ว่าเป็นศัตรูแก่ตน

ฉะนั้น เมื่อมีโอกาสได้ออกจากครูบาอาจารย์ไปแล้ว จึงไม่มีหวังจะกลับคืนเข้าไปอีก มีทางหนีไปให้ไกลได้เท่าไรก็จะไปเสียให้ไกลจนที่สุด เมื่อวางแผนออกไปสำเร็จแล้ว ก็มีความโล่งใจเหลือที่สุด เหมือนกับนกกระทาออกจากกรงได้ หรือเหมือนกับนักโทษที่ได้ออกจากเรือนจำฉะนั้น นี่คือ สานุศิษย์ที่ไม่ดี ซึ่งเป็นภัยร้ายต่อศาสนาของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า จัดว่าเป็นศิษย์นอกครู บูชานอกเรื่อง หรือจะเรียกว่าศิษย์กาฝากก็ได้ ศิษย์ประเภทนี้เมื่ออกไปจากครูบาอาจารย์แล้ว จะแอบอ้างเอาชื่อของครูบาอาจารย์ไปขายกิน โดยอ้างว่าข้าพเจ้าก็เป็นศิษย์ของครูบาอาจารย์องค์นั้นองค์นี้ ข้อวัตรปฏิบัติและปฏิปทาทุกอย่างก็ศึกษามาจากท่าน ท่านเคยพาทำมาแล้วอย่างนี้อย่างนั้น ท่านเคยพร่ำสอนเสมอในธรรมอย่างนั้นๆ ข้าพเจ้าเป็นผู้เคยอยู่ใกล้ชิดท่านกว่าคนอื่น ท่านรักข้าพเจ้ามาก ท่านโปรดปรานข้าพเจ้ามาก ท่านไว้เนื้อเชื่อใจข้าพเจ้ากว่าผู้อื่น ท่านยกย่องข้าพเจ้าเป็นพิเศษดังนี้เป็นอาทิ หรือไม่อย่างนั้นก็ต้องเคยเข้าไปศึกษาอบรมกับท่านองค์นั้นองค์นี้บ่อยๆ ทั้งนี้ทั้งนั้นก็เพื่อให้คนอื่นนับถือตน เพื่อให้เขาเชื่อตน เพื่อเกียรติยศชื่อเสียง เพื่อลาภสักการะ มิใช่มุ่งธรรมมุ่งวินัย

เท่าที่ข้าพเจ้ากล่าวมานั้น เนื่องด้วยท่านอาจารย์ใหญ่เคยปรารภเป็นบางครั้งว่า “เมื่อเราตายไปแล้ว พวกท่านทั้งหลายจะแย่งกันกินบ้าง...จะแย่งกินกระดูกเราบ้าง” ดังนี้ เรื่องนี้ข้าพเจ้าได้คิดตีความเป็น ๒ นัย คือ เมื่อท่านมรณภาพล่วงไปแล้ว บรรดาสานุศิษย์ทั้งหลายจะมีความคิดความเห็นแก่งแย่งกัน ไม่ปรองดองสามัคคีกัน ไม่เคารพนำเกรงนับถือกัน ไม่เหมือนสมัยท่านยังมีชีวิตอยู่ เพราะต่างองค์ก็ต่างเคยได้อยู่ศึกษาอบรมจากครูบาอาจารย์มาด้วยกันทุกองค์ ครั้นเกิดดำเนินปฏิปทาผิดพลาดขึ้นก็ตักเตือนกันไม่ได้ ซ้ำร้ายก็จะเกิดแข็งตัวแข่งอิทธิพลให้เด่นแก่ตนผู้เดียว นี่ประการหนึ่ง และเมื่อท่านมรณภาพล่วงไปแล้ว บรรดาสานุศิษย์ทั้งหลายบางองค์ก็จะเอาอัฐิ รูป เหรียญ ของท่านไปกล่าวอวดอ้างโดยเล่ห์เหลี่ยมของตน เพื่อได้มาซึ่งความนับถือและลาภสักการะ หรือจะอ้างเอาเกียรติยศชื่อเสียงของท่านไปขายกิน นี่ประการหนึ่ง

และอีกประการหนึ่ง ท่านเคยปรารภในบางครั้งว่า เมื่อท่านมรณภาพล่วงไปแล้วนั้น ตามนิมิตที่ปรากฏแก่ท่าน ท่านเคยเล่าถึงนิมิตนั้นแล้วประมวลลงว่า บรรดาสานุศิษย์ทั้งหลายนั้น จะมีองค์หนึ่งเท่านั้นที่มีอำนาจวาสนาเด่นกว่าหมู่คณะทั้งหลาย สามารถดำเนินปฏิปทาตามแนวทางที่ท่านพาดำเนินมา ทั้งจะเป็นที่พึ่งของหมู่คณะในกาลต่อไป แต่จะเป็นเพียงชั้นรองจากท่านเท่านั้น ดังนี้ เรื่องนี้พวกข้าพเจ้าเคยเรียนถามท่านถึงท่านองค์นั้นคือใคร แต่ท่านบอกว่า ไม่ทราบ ฉะนั้นพวกข้าพเจ้าก็เป็นแต่ทรงจำคำปรารภของท่านไว้เท่านั้น จะสำคัญว่าคงเป็นท่านองค์นั้นองค์นี้ก็ยังคิดไม่ออก หรือจะสำคัญว่าอาจจะตัวเราก็ได้เช่นนี้ ก็ยังไม่ปรากฏว่ามีผู้คิดเช่นนั้น เพราะพวกข้าพเจ้าที่เข้าไปศึกษาอบรมในสำนักของครูบาอาจารย์นั้น มุ่งศึกษาอบรมธรรมวินัย เพื่อความบริสุทธิ์กาย วาจา และใจเป็นส่วนสำคัญ

แต่ธรรมดาหน้าที่ ตำแหน่ง ยศศักดิ์ เกียรติ ลาภสักการะบริวารและอำนาจอิทธิพล บุคคลในโลกนี้โดยส่วนมากที่ยังไม่เคารพหนักแน่นในธรรมวินัย ย่อมกระหายทะเยอทะยานอยากอยู่เสมอ ครั้นมีช่องทางหรือมีโอกาสจะได้มาแก่ตน ย่อมแย่งชิงกันออกหน้าให้ตนได้เป็นคนอันดับหนึ่งให้ได้ เพราะได้มีหน้ามีตาเป็นผู้เด่นและเป็นบุคคลสำคัญกว่าผู้อื่นทั้งหลาย นั่นคือ สาสนทายาทปฏิรูป มิใช่ผู้มุ่งธรรมมุ่งวินัยโดยแท้จริง เมื่อถึงคราวจะได้เป็นผู้คอยรับเอาอันดับสุดท้าย แต่การยอมเสียสละต่อความบริสุทธิ์แห่งพระธรรมวินัยแล้ว ย่อมพยายามเดินออกหน้าให้ได้เป็นอันดับหนึ่งจงได้ นั่นคือ สาสนทายาทโดยแท้

ครั้นเมื่อ พ.ศ. ๒๔๙๒ อาการทรุดโทรมแห่งสังขารร่างกายของท่านอาจารย์ก็เริ่มแสดงปฏิกิริยาแปลกต่างไปโดยลำดับ บรรดาพวกสานุศิษย์ทั้งหลายที่ได้รับข่าวความเป็นอาพาธของท่านพระอาจารย์แล้ว ต่างก็มุ่งหน้าเข้าไปนมัสการเพื่อเยี่ยมเยียนอาการป่วยของท่านโดยเฉพาะแล้ว พระเดชพระคุณท่านเจ้าคุณพระธรรมเจดีย์ (จูม พนฺธุลเถระ) ท่านเป็นห่วงในท่านพระอาจารย์มาก เมื่อท่านได้รับข่าวอาการป่วยของท่านอาจารย์เช่นนั้น ท่านต้องรีบจัดหายาและเครื่องสักการะต่างๆ แล้วนำพวกญาติโยมเดินทางเข้าไปนมัสการกราบเท้าและถวายยากับเครื่องสักการะต่อท่านอาจารย์ให้ได้ เพราะพระเดชพระคุณท่านเคยเป็นสานุศิษย์ของท่านอาจารย์มาตั้งแต่ยังเป็นสามเณรจูมอยู่โน้น และเป็นสานุศิษย์ที่ดีมาแต่เบื้องต้น

ท่านพระอาจารย์เคยเล่าให้พวกข้าพเจ้าฟังว่า ตั้งแต่สมัยพระเดชพระคุณท่านยังเป็นสามเณรอยู่ด้วยท่านนั้น เป็นสามเณรที่โตกว่าเพื่อน มีนิสัยเคารพอ่อนน้อมยำเกรง เชื่อถ้อยฟังคำ บอกง่ายใช้เร็ว และสนใจต่อการศึกษา ครั้นต่อมาภายหลัง พระเดชพระคุณท่านก็ได้รับการศึกษาทางฝ่ายปริยัติธุระจนถึงได้เป็นเปรียญกับเพื่อน และได้รับภาระทางฝ่ายบริหารคณะสงฆ์มาโดยลำดับ ถึงกับได้มีหน้าที่เป็นเจ้าคณะมณฑลอุดรธานีและเป็นเจ้าคณะภาคผู้ช่วยเป็นที่สุด ทางสมณศักดิ์ก็ได้เลื่อนชั้นขึ้นจนถึงเป็นชั้นธรรม ถึงแม้พระเดชพระคุณท่านจะได้ดำรงตำแหน่งและดำรงสมณศักดิ์ที่สูงกว่าท่านพระอาจารย์สักปานใดก็ตาม ท่านหาได้ลืมบุญคุณของท่านอาจารย์ไม่ มีความเคารพนำเกรงอ่อนน้อมถ่อมตน เชื่อฟังถ้อยคำ สนใจต่อการรับโอวาทอยู่เช่นเดิม

ท่านไม่เคยแสดงอาการทะนงตน เย่อหยิ่ง ลำพองตน ไม่เคยอวดว่าตนฉลาดกว่า ดีกว่า ไม่เคยลบหลู่ดูหมิ่น ข้ามเกินต่อท่านพระอาจารย์แต่ประการใด เมื่อเข้าไปหาท่านพระอาจารย์ก็ทำตัวเป็นสานุศิษย์อยู่เสมอ ไม่แสดงท่าทีความเป็นผู้ใหญ่ผู้สูงผู้ฉลาดเหินให้ปรากฏ เมื่อท่านได้รับข่าวว่าท่านพระอาจารย์พักอยู่ในสถานที่ใด ท่านต้องถือโอกาสไปนมัสการกราบเท้าและรับโอวาทอยู่เสมอ ทั้งเป็นตัวนำของหมู่คณะตลอดถึงญาติโยมให้ได้รับโอวาทและให้ได้บำเพ็ญกุศลต่อท่านพระอาจารย์ เช่นบวชนาคเป็นต้น เมื่อท่านพระอาจารย์ต้องการจะใช้อย่างไร หรือจะให้ไปในสถานที่ใด ท่านต้องไป ไม่ว่ายากหรือง่าย ใกล้หรือไกล เมื่องานที่สำคัญเกิดขึ้นภายในวัดของท่าน ถ้าเห็นว่าจะไม่เป็นการลำบากต่อท่านพระอาจารย์แล้ว ท่านต้องติดตามไปอาราธนานิมนต์ให้ท่านพระอาจารย์ได้ไปร่วมในงานเสมอ

เมื่อก่อนเข้าพรรษา ท่านพระเดชพระคุณพร้อมด้วยญาติโยม ได้เดินทางเข้าไปนมัสการกราบเท้าท่านพระอาจารย์ พักอยู่พอสมควรแล้วก็เดินทางกลับ แต่ก่อนจะกลับ ท่านยังได้เป็นห่วงในท่านพระอาจารย์มาก ท่านมีคำสั่งให้พวกข้าพเจ้า ตลอดถึงญาติโยมทุกคนให้ตั้งใจปรนนิบัติพยาบาลรักษาท่านพระอาจารย์ด้วยความไม่ประมาท เมื่ออาการป่วยของท่านพระอาจารย์หนักหรือเบาประการใด ให้แจ้งข่าวไปให้ท่านทราบเสมอ ถ้าอาการหนักก็ให้เจ้งข่าวไปหาท่านโดยรีบด่วนเท่าที่จะด่วนได้

สำหรับอาการป่วยของท่านอาจารย์นั้น แม้พวกข้าพเจ้าจะถวายยกรักษาท่านโดยประการใด ก็คงมีอาการทรงกับทรุดเท่านั้น ยาที่พอจะให้อาการป่วยของท่านทุเลาไปได้บ้างนั้น พวกข้าพเจ้าก็ได้สั่งเอาจากนางทิพย์ เหล่าไพบูลย์ จังหวัดอุดรธานีบ้าง จากนายวัน คมนามูล จังหวัดนครราชสีมา บ้าง และพากันขวนขวายหามาจากทางอื่นบ้าง แต่มีอาการแปลกอยู่บ้าง เมื่อพวกข้าพเจ้าถวายการรักษาท่านให้จริงจังอย่างรักษาคนป่วยทั้งหลาย อาพาธของท่านจะมีอาการทรุดหนักลงไปทุกที ถ้าถวายการรักษาไปตามธรรมดา อาการของท่านก็พอทรงตัวไป ฉะนั้น จึงเป็นเหตุให้พวกข้าพเจ้าผู้อุปัฏฐากอยู่ใกล้ชิดจนปัญญาเหมือนกัน ได้แต่ปรับทุกข์ต่อกันเท่านั้น


จบอัตโนประวัติที่ท่านเขียนไว้ด้วยลายมือท่านเพียงเท่านี้



.............................................................

คัดลอกมาจาก ::
http://www.dharma-gateway.com/

.....................................................
ทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว เป็นกฎตายตัว


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 27 ก.ย. 2009, 07:50 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
ผู้จัดการ
ผู้จัดการ
ลงทะเบียนเมื่อ: 27 มี.ค. 2006, 17:34
โพสต์: 7781

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว www


๏ ภาพพระธาตุพระอาจารย์วัน อุตฺตโม

รูปภาพ

:b44: :b44:

รูปภาพ

ขอเชิญอ่านเรื่อง “บาตรบุบ” ของพระอาจารย์จวน กุลเชฏโฐ
ซึ่งเกี่ยวข้องกับเอกสารราชการลับของประเทศ
และชมภาพ “ซากเครื่องบินที่ประสบอุบัติเหตุเครื่องตก


รวมทั้ง ขอเชิญอ่านเรื่องราวที่องค์ “หลวงปู่หลุย จนฺทสาโร”
ได้เมตตาเล่าให้ฟังถึงบุพกรรมในกาลก่อน
ที่ทำให้พระอริยเจ้าพระป่ากัมมัฏฐานทั้ง ๕ รูปถึงแก่มรณภาพลงพร้อมกัน
และเทศนาธรรมขององค์ “หลวงตามหาบัว ญาณสมฺปนฺโน”
ที่ได้เมตตาเล่าให้ฟังถึงฝันร้ายซึ่งแม่นยำมากของท่านอุปคุต
(พระอาจารย์สุพัฒน์ สุขกาโม)
ในคืนก่อนเกิดอุบัติเหตุเครื่องบินตก

เหตุการณ์ในวาระสุดท้ายแห่งชีวิตของ “คุณหญิงไขศรี ณ ศีลวันต์”
ภริยา ดร.เชาวน์ ณ ศีลวันต์ องคมนตรี ซึ่งเป็นพระอาจารย์วิชาคณิตศาสตร์
ในสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ฯ
ช่วงไปปฏิบัติธรรมที่วัดป่าบ้านตาด กับองค์หลวงตามหาบัว
ก่อนเสียชีวิตลงเพราะประสบอุบัติเหตุเครื่องบินตกในครั้งนี้ด้วย


>>>ได้จากกระทู้ข้างล่างนี้ค่ะ :b8:
http://www.dhammajak.net/forums/viewtopic.php?f=7&t=25698

.....................................................
ทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว เป็นกฎตายตัว


แสดงโพสต์จาก:  เรียงตาม  
กลับไปยังกระทู้  [ 21 โพสต์ ]  ไปที่หน้า ย้อนกลับ  1, 2

เขตเวลา GMT + 7 ชั่วโมง


 ผู้ใช้งานขณะนี้

กำลังดูบอร์ดนี้: ไม่มีสมาชิก และ บุคคลทั่วไป 9 ท่าน


ท่าน ไม่สามารถ โพสต์กระทู้ในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ ตอบกระทู้ในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ แก้ไขโพสต์ของท่านในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ ลบโพสต์ของท่านในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ แนบไฟล์ในบอร์ดนี้ได้

ค้นหาสำหรับ:
ไปที่:  
Google
ทั่วไป เว็บธรรมจักร


cron