วันเวลาปัจจุบัน 16 เม.ย. 2024, 17:10  



เขตเวลา GMT + 7 ชั่วโมง




กลับไปยังกระทู้  [ 21 โพสต์ ]  ไปที่หน้า ย้อนกลับ  1, 2  Bookmark and Share
เจ้าของ ข้อความ
โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 27 พ.ค. 2011, 16:21 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
ผู้จัดการ
ผู้จัดการ
ลงทะเบียนเมื่อ: 27 มี.ค. 2006, 17:34
โพสต์: 7781

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว www


รูปภาพ

• เป็นแบบอย่าง •

หลวงปู่อ่อน ญาณสิริ ท่านได้อยู่จำพรรษาที่ป่าช้า อ.บ้านไผ่ ได้หนึ่งพรรษา พอออกพรรษาแล้ว ก็พอดีท่านพระอาจารย์สิงห์ ขันตยาคโม ท่านได้บอกสั่งพระมาว่า

“ให้ท่านอ่อนไปช่วยเผยแผ่ธรรมกับท่านมหาปิ่น ปัญญาพโล ที่ อ.พลับ จ.ขอนแก่น”

เมื่อหลวงปู่อ่อนได้รับทราบแล้ว ท่านได้ออกเดินธุดงค์ โดยให้พระสงฆ์ที่เป็นหมู่คณะอยู่สอนธรรมแก่ชาวบ้านไปก่อน ส่วนตัวท่านต้องออกธุดงค์ไปช่วยท่านพระอาจารย์มหาปิ่นตามคำสั่งของท่านพระอาจารย์สิงห์ทันที

พ.ศ. ๒๔๗๑ ไปจำพรรษาที่วัดป่าตำบลสาวัตถี อ.พลับ จ.ขอนแก่น

พ.ศ. ๒๔๗๒ ไปจำพรรษาที่วัดป่าตำบลสาวัตถี เช่นเดียวกัน

ในปี พ.ศ. ๒๔๗๓ หลวงปู่อ่อน ญาณสิริ ได้เดินธุดงค์มาพบกับท่านพระอาจารย์มหาปิ่น ปัญญาพโล ที่ อ.พลับ จ.ขอนแก่น โดยท่านได้มาพำนักอยู่ที่วัดป่าบ้านพระ

ณ แห่งนี้ หลวงปู่อ่อน ญาณสิริ ได้ทำการอบรมสั่งสอนชาวบ้านให้เข้าถึงพระรัตนตรัย ท่านได้แสดงธรรมปฏิบัติ ตลอดจนการชี้เหตุผลสิ่งที่ควรและไม่ควรแก่ชาวบ้าน ประกอบกับปฏิปทาอันงดงาม เป็นแบบอย่างให้แก่ชาวบ้าน จนมีชาวบ้านมีความศรัทธาเลื่อมไสเป็นอันมาก

หลวงปู่อ่อน ญาณสิริ ท่านเป็นศิษย์สายพระกรรมฐาน หรือที่เราเรียกว่า “พระป่า” ก็จริงอยู่ จะมีใครเถียงก็หาไม่ แต่บรรดาพระป่าทั้งหลาย ท่านมีปฏิปทาที่เปรียบเหมือนประดับยศ หรือเหรียญเชิดชูเกียรติของนักปฏิบัติและผู้สนใจหันมาประพฤติปฏิบัติกรรมฐาน

ปฏิปทาแสดงถึงความงดงามสง่าสมกับจิตใจของนักไขว่คว้าธรรม เพราะปฏิปทาเป็นผลมาจากจริตนิสัยของผู้หนักแน่นในทางปฏิบัติธรรม

ดังนั้น หลวงปู่อ่อนจึงเป็นแบบอย่างให้กับชาวบ้าน อ.พลับ แห่งนี้เป็นอย่างดี ชาวบ้านโดยทั่วไปในละแวกใกล้เคียง ต่างได้พากันหลั่งไหลมาฟังธรรมกันมากตลอดทุกวัน


• โจรไพรใจโหด •

เมื่อนิมิตหมายอันดีงามสว่างไสวขึ้น ประชาชนต่างก็มากันมากหน้าหลายตาด้วยกัน คนดีมีมากคนชั่วก็ย่อมปะปนอยู่ด้วยเช่นกัน ณ บริเวณป่าบ้านพระแห่งนี้มีโจรไพรใจโหดอยู่คนหนึ่ง โจรคนนี้ได้หลบหนีเจ้าหน้าที่บ้านเมืองมาอาศัยหลบซ่อนตัวอยู่ เขาคอยสังเกตดูคนมากหน้าหลายตาที่หลั่งไหลเข้านมัสการหลวงปู่อ่อน ญาณสิริ และเป็นพระที่ชาวบ้านเคารพนับถือมาก เมื่อมีผู้คนมากันมากๆ เช่นนี้จอมโจรใจเหี้ยมก็คิดว่า อย่างไรเสียหลวงปู่อ่อนคงจะมีเงินทองมาก เพราะพวกชาวบ้านต้องมาทำบุญกับท่าน

จอมโจรใจโหดคิดได้ดังนี้ ก็ได้เตรียมอาวุธคิดจะทำร้ายท่าน จอมโจรไปดักซุ่มคอยจะทำร้ายหลวงปู่อ่อนที่กุฏิ ในคืนหนึ่ง จอมโจรคอยสังเกตเห็นว่าท่านหลวงปู่อ่อน ญาณสิริ จะต้องลงมาจากกุฏิ แล้วท่านก็มานั่งหลับตาอยู่เพียงลำพัง หรือมิเช่นนั้น หลวงปู่อ่อนจะต้องลงมาเดินไปมา ก้มหน้าลงดินเหมือนกับว่า กำลังมองหาสิ่งของตกหายอย่างนั้นแหละ

โจรใจโหดคนนี้หารู้ไม่ว่า นั่นพระธุดงคกรรมฐาน กำลังเร่งความเพียรภาวนา และเดินจงกรมเพื่อกำหนดสติสู่ทางบรรลุธรรม มันไม่ได้สนใจอะไรทั้งสิ้น มันรู้เพียงอย่างเดียวว่า “ต้องการสมบัติจากพระ ต้องการเงินทองจากพระ”

มันจึงย่องขึ้นไปบนกุฏิเพราะความอดรนทนไม่ไหว เมื่อย่องขึ้นไปสายตาก็พบกับห้องว่างเปล่า มีเพียงกลดกางอยู่อย่างเดียว โจรก็เข้าใจว่า หลวงปู่อ่อนคงจะซ่อนทรัพย์สมบัติไว้ในกลด จึงค่อยๆ ย่องเข้าไปใกล้กลด


• หัวกะโหลกผี •

จอมโจรกระหยิ่มใจมาก คิดในใจว่า คราวนี้คงจะต้องรวยแน่ๆ สมบัติคงจะมากมาย

พระสงฆ์องค์เจ้าจะไปใช้อะไรมาก เงินทอง อาหารเหลือเฟือ ชาวบ้านนำมาถวายทุกวัน เงินทองไม่จำเป็นต้องใช้อะไร เราจะเอาไปให้หมด คิดได้ดังนั้นแล้ว จอมโจรก็จับชายมุ้งกลดค่อยๆ เลิกกลดขึ้น

ทันใดนั้น ความตระหนกตกใจเข้ามาแทนที่ ส่วนความกระหยิ่มย่ามใจพลันหายไปสิ้น จอมโจรตกใจสุดขีด ตัวชาไปหมด เพราะสิ่งที่กลิ้งออกมาจากกลดนั้น เป็นหัวกะโหลกผี ! จอมโจรเห็นอย่างชัดเจนว่า...กะโหลกผีแน่นอน อย่างอื่นไม่เห็นมีอะไรอีกเลย ทำไมจึงต้องเป็นเช่นนั้น

จอมโจรใจชั่ว...ถอยออกมาทั้งโกรธ ทั้งตกใจ ระคนกัน ตกใจก็เพราะหัวกะโหลกที่กลิ้งออกมา ที่โกรธนั้นก็เพราะผิดหวังอย่างแรง เมื่อสมบัติที่คิดว่ามีมากมาย กลับว่างเปล่าเสียได้


• เอ๊ะ...อะไรกันนี่ •

จอมโจรจึงลงมาดักรออยู่หน้ากุฏิของท่านอีกครั้ง ในใจของมันก็ยังเข้าใจว่าหลวงปู่อ่อนไม่อยู่ในกลด ไม่อยู่บนกุฏิ ก็ต้องเข้าหมู่บ้านไปแสดงธรรมแน่ๆ

ความมานะพยายามที่จะทำร้ายพระสงฆ์องค์เจ้าของคนจิตใจบอดมิดเช่นมันยังดำเนินไปเรื่อยๆ แทนที่จะเกรงกลัว เพราะกะโหลกมาเตือนในการกระทำของมัน ก็หาได้สำนึกไม่

มันนั่งรอตั้งแต่หัวค่ำ จนดึกดื่นใกล้จะสว่างเสียให้ได้

ทันทีนั้น...มันก็เห็นหลวงปู่อ่อน ญาณสิริ ห่มผ้าเป็นปริมณฑลกำลังเดินลงมาจากกุฏิ

“เอ๊ะ...อะไรกันนี่...ก็เรานั่งเฝ้าท่านอยู่ตั้งแต่หัวค่ำจนใกล้รุ่งแล้วและที่บนกุฏิท่านก็ไม่อยู่ จู่ๆ ท่านกลับเดินลงมายังลานข้างล่าง น่าแปลกใจเหลือเกิน แต่ความอยากได้ความโลภยังมีอยู่”


• ยกอาวุธทีไร ร่างหายทุกที •

ฝ่ายทางหลวงปู่อ่อน ญาณสิริ ท่านก็รู้การมาของโจรใจชั่วคนนี้ เพราะท่านมิได้ไปไหน ก็ท่านนั่งภาวนาอยู่ในกลดนั่นเอง ก็เพื่อเปลี่ยนอิริยาบถ เดินจงกรมไปตามปกติของท่าน ท่านมิได้สนใจกับโจรเลยแม้แต่น้อย ท่านเดินจงกรมไปจนสุดทาง แล้วก็เดินกลับมาอยู่อย่างนั้น

จอมโจรไม่เข้าใจการกระทำของหลวงปู่ท่าน เพราะเห็นท่านเดินไปเดินมาอยู่เช่นนั้น มันจึงค่อยๆ ย่องเข้าไปใกล้ๆ ท่าน พอท่านหันหลังเดินกลับไปทางเก่า มันก็ยกอาวุธขึ้นที่จะทำร้าย เป็นที่น่าอัศจรรย์ แสดงปาฏิหาริย์ ร่างของหลวงปู่อ่อนค่อยเลือนลางหายไป

จอมโจรก็พยายามที่จะทำร้ายท่านหลายครั้งหลายหน ครั้นพอเห็นร่างของท่าน จอมโจรชั่วก็เงื้ออาวุธจะทำร้าย ร่างก็เลือนหายไปๆ เป็นอยู่อย่างนี้

จนที่สุดจอมโจรร้ายเหน็ดเหนื่อย เพราะเวียนตามที่จะฆ่าท่านหลวงปู่อ่อน ญาณสิริ หลายเที่ยว จึงทรุดกายลงนั่งอย่างอ่อนกำลังเต็มทน

หลวงปู่อ่อน ญาณสิริ ได้ใช้อำนาจอภิญญาอันเร้นลับภายในของท่านเพื่อทรมานโจรร้ายคนนี้


• อาตมารวยธรรมะ •

ท่านบังคับจิตใจของจอมโจรร้ายให้อ่อนลงจนพอควรแล้ว หลวงปู่อ่อนจึงได้เรียกชื่อยู่องโจรร้ายอย่างถูกต้องและให้เข้าไปหาท่าน

ประโยคแรกที่ท่านเรียก จอมโจรต้องตกใจตัวสั่นหันไปทางเสียงบนกุฏิ มันค่อยๆ คลานไปหาอย่างคนที่จิตใจเลื่อนลอย พอไปถึงหลวงปู่อ่อนท่านพูดขึ้นว่า “อาตมานั้น เป็นคนรวยจริง แต่รวยธรรมะ ส่วนทรัพย์สมบัตินั้น อาตมาไม่มีหรอก สมบัติของอาตมาก็มีผ้าที่ครองอยู่ คือ ผ้า ๓ ผืน กับนี่ บาตรลูกเดียวเท่านั้น”

หลวงปู่อ่อน ญาณสิริ พูดจบก็หยิบบาตรส่งให้จอมโจรดู

จอมโจรใจหายวาบ เพราะครั้งแรกตนเองเห็นอย่างชัดแจ้งว่าเป็นกะโหลกผี


• ดีกว่าสมบัติอื่นใด •

จอมโจรผู้มีชนักติดตัวคนนั้น มองดูบาตรที่อยู่ในมือ ของหลวงปู่อ่อน ญาณสิริ ด้วยหัวใจเลื่อนลอย พยายามทบทวนการกระทำของตนอยู่พักหนึ่ง ก็บังเกิดความละอายใจที่ตนคิดร้ายก่อกรรมทำชั่วไว้ในครั้งนี้

จอมโจรสำนึกผิดกลับจิตใจด้วยการ ก้มลงกราบแทบเท้าสารภาพความผิดแก่หลวงปู่อ่อน และได้ให้สัจจะกับหลวงปู่อ่อนว่า “ท่านพระอาจารย์ครับ กระผมเป็นคนบาปที่คิดไม่ดีกับพระอาจารย์ บัดนี้ตาสว่าง ใจสว่างได้แล้ว กระผมจะขอให้สัจจะ ณ บัดนี้ว่า กระผมจะขอเลิกจากการเป็นโจรคนพาล จะขอกลับตนเป็นคนดีหากินอย่างสุจริต ไม่ขอก่อกรรมอีกต่อไปและขอท่านพระอาจารย์โปรดอโหสิกรรม ยกโทษให้แก่กระผมด้วยเถิด”

หลวงปู่อ่อน ญาณสิริ ยิ้มรับด้วยความเมตตายิ่ง ท่านได้พูดกับโจรกลับใจพร้อมกับกล่าวตักเตือนดุจบิดาตักเตือนบุตร ด้วยความอ่อนโยนว่า “เธอได้สำนึกผิด เพราะความหลงผิดของเธอได้แล้วนั้น นับได้ว่า เธอยังเป็นบุคคลที่มีบุญมีวาสนาอยู่บ้าง เราจะขออวยพรให้เธอจงสำเร็จผลดังตั้งใจไว้นะเธอจงจำไว้นะ ผู้มีธรรมะของพระพุทธเจ้าอยู่กับจิตใจ อยู่กับตัว ดีกว่ามีทรัพย์สมบัติอื่นๆ ในโลก...”


(มีต่อ ๑๕)

.....................................................
ทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว เป็นกฎตายตัว


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 27 พ.ค. 2011, 16:21 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
ผู้จัดการ
ผู้จัดการ
ลงทะเบียนเมื่อ: 27 มี.ค. 2006, 17:34
โพสต์: 7781

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว www


รูปภาพ
กองทัพธรรมคณะศิษยานุศิษย์ของหลวงปู่มั่น ภูริทัตโต
จากภาพ..แถวหลังสุดองค์ที่ ๒ จากขวามือ คือ หลวงปู่อ่อน ญาณสิริ



• ศูนย์พระป่า •

พ.ศ. ๒๔๗๔ ไปจำพรรษาที่วัดป่าเหล่างา คือวัดป่าวิเวกธรรม อยู่ติดกับโรงพยาบาลโรคปอด อ.เมือง จ.ขอนแก่น ถึง พ.ศ. ๒๔๗๕ สมเด็จพระมหาวีรวงศ์ (ติสโส อ้วน ป.ธ. ๕) เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งเป็น พระเทพเมธี เจ้าคณะมณฑลนครราชสีมา มีบัญชาเมื่อวันที่ ๖ พฤษภาคม ๒๔๗๕ ให้พระกรรมฐานที่มีอยู่ใน จ.ขอนแก่น ไปที่ จ.นครราชสีมา เพื่ออบรมเทศนาสั่งสอนประชาชนร่วมกับข้าราชการ

ดังนั้น เมื่อปี พ.ศ. ๒๔๗๕ พระคณะกรรมการ มีพระอาจารย์สิงห์ ขันตยาคโม พระอาจารย์มหาปิ่น ปัญญาพโล (เปรียญ ๕ ประโยค) เป็นต้น พร้อมทั้งพระสหจรไปร่วมหลายรูป มีพระอาจารย์อ่อน ญาณสิริ พระอาจารย์ฝั้น อาจาโร เดินทางไปร่วมด้วย

ใน พ.ศ. ๒๔๗๕ นี้เอง นายพันตำรวจตรีหลวงชาญนิยมเขต กองเมือง ๒ ได้ถวายที่ดินกรรมสิทธิ์ให้พระคณะกรรมฐานสร้างวัด มีเนื้อที่ ๘๐ ไร่ จึงได้ลงมือสร้างวัดขึ้นในที่ดินแปลงนี้ ทั้งได้จำพรรษาอยู่วัดนี้ด้วย ตั้งชื่อวัดว่า “วัดป่าสาลวัน” จนถึงทุกวันนี้

ได้อบรมศีลธรรมให้แก่ประชุมชนเกิดความเลื่อมใสและตั้งตนอยู่ในพระไตรสรณคมน์ จึงได้เอาวัดป่าสาลวันเป็นจุดศูนย์กลางเป็นที่อบรมกรรมฐานและเป็นสถานที่ประชุมประจำ เช่นเมื่อจะเข้าพรรษา ได้แยกย้ายพระไปวิเวกจำพรรษาในวัดต่างๆ ที่ได้ตั้งขึ้น ส่วนพระอาจารย์สิงห์ ขันตยาคโม ประจำอยู่ศูนย์กลางคือ วัดป่าสาลวัน

ให้พระอาจารย์มหาปิ่น ปัญญาพโล ไปสร้างวัดป่าศรัทธาราม ข้างกรมทหาร ต.หัวทะเล อ.เมือง จ.นครราชสีมา

ให้พระอาจารย์ภุมมี ฐิตธัมโม ไปสร้างวัดป่าคีรีวัลย์ อ.ท่าช้าง (สมัยนั้นยังเป็นกิ่งอำเภออยู่) และให้ไปสร้างวัดป่า อ.จักราช

ให้ พระอาจารย์ลี ธัมมธโร ไปสร้างวัดป่า อ.กระโทก

ต่อมาพระอาจารย์ลี ธัมมธโร ไปจำพรรษาที่ป่าอิสิปปัตนมฤคทายวัน เมืองพาราณสี ซึ่งเป็นสถานที่พระพุทธเจ้าแสดงธรรมจักรโปรดพระปัญจวัคคีย์ ประเทศอินเดีย ๑ พรรษา

ต่อมาสมเด็จพระมหาวีรวงศ์ (ติสโส อ้วน ป.ธ. ๕) จึงมีบัญชาให้พระอาจารย์ลี ธัมมธโร กลับมาประเทศไทย เพื่อให้ท่านฝึกหัดภาวนาในบั้นปลายชีวิตท่านเจ้าพระคุณสมเด็จฯ

ต่อมาอีกพระอาจารย์ลี ธัมมธโร ไปสร้างวัดขึ้นที่วัดบางปิ้ง ต.ท้ายบ้าน จ.สมุทรปราการ และได้เป็นพระราชาคณะที่ พระสุทธิธรรมรังสีคัมภีรเมธาจารย์ และได้มรณภาพที่วัดนี้

ให้พระอาจารย์ตา ไปสร้างวัดป่าบ้านดอนคู่ อ.ปักธงชัย

ให้ พระอาจารย์คำดี ปภาโส คือ พระครูญาณทัสสีฯ วัดถ้ำผาปู่ จ.เลย ซึ่งเป็นสัทธิวิหาริกของ พระครูพิศาลอรัญญเขต (จันทร์ เขมิโย ป.ธ. ๓, นธ. เอก) วัดศรีจันทร์ จ.ขอนแก่น ไปสร้างวัดป่าสะแกราช อ.ปักธงชัย

ให้พระอาจารย์อ่อน ญาณสิริ พระอาจารย์ฝั้น อาจาโร พระอาจารย์กงมา จิรปุญโญ ไปสร้างวัดป่าบ้านใหม่สำโรง อ.สีคิ้ว ตั้งชื่อ วัดป่าสว่างอารมณ์

และให้พระอาจารย์ฝั้น อาจาโร ไปสร้างวัดป่าบ้านมะรุม อ.โนนสูง

เมื่อพระอาจารย์อ่อน ญาณสิริ ได้ทำกิจพระพุทธศาสนาช่วยครูบาอาจารย์ได้ผลเป็นที่พอใจของสมเด็จพระมหาวีรวงศ์ (ติสโส อ้วน ป.ธ. ๕) สมัยเมื่อดำรงตำแหน่งเป็น พระธรรมปาโมกข์ และ พระโพธิวงศาจารย์ (สังข์ทอง พันธุ์เพ็ง) เจ้าคณะภาค ๔ สมัยนั้น

ในระยะนี้บางปี พระอาจารย์สิงห์ ขันตยาคโม และพระอาจารย์มหาปิ่น ปัญญาพโล ไปจำพรรษาที่วัดบรมนิวาส ช่วยอบรมภาวนาให้แก่คณะสัปบุรุษแทนเจ้าพระคุณสมเด็จฯ ท่าน และได้สร้างกุฏิไม้แบบถาวร ๒ ชั้น ๑ หลัง

สำหรับพระอาจารย์อ่อนได้ทำกิจพระศาสนาอยู่ที่วัดป่าสาลวัน จ.นครราชสีมา เป็นเวลา ๑๒ ปี เท่ากันกับพระอาจารย์ฝั้น อาจาโร ณ วัดป่าสาลวัน แห่งนี้ หลวงปู่อ่อนได้ปฏิบัติบำเพ็ญสมณธรรมแก่กล้ายิ่งขึ้น จนเป็นกำลังอย่างดียิ่งแก่คณะกองทัพธรรมเป็นอันมาก

รูปภาพ
พระอาจารย์ลี ธัมมธโร

รูปภาพ
พระอาจารย์คำดี ปภาโส

รูปภาพ
พระอาจารย์กงมา จิรปุญโญ

รูปภาพ
พระอาจารย์เทสก์ เทสรังสี


• ช่วยกันเผยแผ่ธรรม •

สมัยนั้นพระเถรานุเถระฝ่ายวิปัสสนากรรมฐานมีหลายรูปที่ไปทำประโยชน์เผยแผ่พระพุทธศาสนา จ.นครราชสีมา นอกจากที่ระบุชื่อมาแล้วก็มี เช่น พระอาจารย์อุ่น อ.ท่าอุเทน จ.นครพนม พระอาจารย์กู่ พระอาจารย์กว่า พระอาจารย์ดี อ.พรรณานิคม จ.สกลนคร พระอาจารย์ดี จ.อุบลราชธานี พระอาจารย์เทสก์ เทสรังสี อ.ผือ จ.อุดรธานี แต่ต่อมาพระอาจารย์เทสก์ เทสรังสี ไปวิเวกทางภาคใต้ และได้ไปจำพรรษาจังหวัดภูเก็ต จนได้เป็นเจ้าคณะจังหวัดภูเก็ต (ธ) มาหลายปี และได้เป็นพระราชาคณะที่ พระนิโรธรังสีคัมภีรปัญญาจารย์ ต่อมาอีกท่านมาภาคอีสานถิ่นเดิมของท่าน จำพรรษาอยู่หลายแห่ง ปัจจุบันนี้เห็นว่าท่านมีอายุมากแล้ว จึงอยู่จำพรรษาประจำที่วัดหินหมากเป้ง อ.ศรีเชียงใหม่ จ.หนองคาย จนกระทั่งมรณภาพ

ส่วนพระอาจารย์อ่อน ญาณสิริ ได้ทราบกิตติศัพท์ว่า พระอาจารย์มั่น ภูริทัตโต ไปจำพรรษาที่ จ.เชียงใหม่ พระอาจารย์อ่อน ญาณสิริ พระอาจารย์ฝั้น อาจาโร เดินทางไปนมัสการพระอาจารย์มั่น ภูริทัตโต ถึงหมู่บ้านแม้วและมูเซอแล้วกลับมาวัดป่าสาลวัน จ.นครราชสีมา

พ.ศ. ๒๔๙๖ พระอาจารย์อ่อน ญาณสิริ ได้ขอลาพระอาจารย์สิงห์ ขันตยาคโม มาจำพรรษาที่วัดป่าไผ่ บ้านดอนเงิน (ได้สร้างขึ้นชั่วคราว) เพื่อโปรดญาติโยมของท่านซึ่งเป็นปีที่สุดท้ายแห่งการไปจำพรรษาในหมู่บ้านดอนเงิน ครั้นออกพรรษาแล้วท่านเดินทางกลับไปวัดป่าสาลวัน จ.นครราชสีมา

พ.ศ. ๒๔๘๓ ท่านเจ้าคุณพระธรรมเจดีย์ (จูม พันธุโล) เจ้าอาวาสวัดโพธิสมภรณ์ อ.เมือง จ.อุดรธานี เดินทางไปเองกับคุณนายทิพย์ กฤษณะกลัศ ภรรยาของ พ.ต.ท.พระยงพลพ่าย ได้ขออาราธนาพระอาจารย์มั่น ภูริทัตโต มาจาก จ.เชียงใหม่ ให้จำพรรษาที่วัดโนนนิเวศน์ วัดป่าบ้านหนองน้ำเค็ม จ.อุดรธานี รวมเป็นเวลา ๓ ปี

พ.ศ. ๒๔๘๕ พระอาจารย์มั่น ภูริทัตโต ออกจาก จ.อุดรธานี ไปจำพรรษาอยู่บ้านโคกและบ้านนามน ต.ตองโขบ อ.เมือง จ.สกลนคร รวมเป็น ๓ ปี พ.ศ. ๒๔๘๘ พระอาจารย์มั่น ภูริทัตโต ไปจำพรรษาวัดป่าบ้านหนองผือ ต.นาใน อ.พรรณานิคม จ.สกลนคร

พ.ศ. ๒๔๘๘ นั้นเอง พระอาจารย์อ่อน ญาณสิริ ออกจากวัดป่าสาลวัน จ.นครราชสีมา ไปนมัสการพระอาจารย์มั่น ภูริทัตโต ที่วัดป่าบ้านหนองผือ แล้วได้สร้างวัดขึ้นที่บ้านหนองโคก อ.พรรณานิคม ให้เป็นคู่กับวัดป่าบ้านหนองผือ ทางที่จะไปนมัสการพระอาจารย์มั่น ภูริทัตโต ทั้งให้ถูกตามอัธยาศัยของพระอาจารย์มั่น ภูริทัตโต ด้วยว่าให้พระผู้ใหญ่ฝ่ายวิปัสสนาธุระสร้างวัดขึ้นในรัศมีของวัดป่าบ้านหนองผือ เพื่อจะได้ฝึกหัดพระที่มาศึกษาภาวนาเป็นการแบ่งเบาภาระของท่าน และได้ไปนมัสการพระอาจารย์มั่นเป็นประจำ เพราะเป็นห่วงท่านพระอาจารย์ เพราะท่านมีอายุมากแล้ว

พ.ศ. ๒๔๙๒ พระอาจารย์มั่น ภูริทัตโต อาพาธหนัก จึงได้นำท่านไปที่วัดป่าสุทธาวาส จ.สกลนคร และได้มรณภาพที่วัดนี้ด้วย

พ.ศ. ๒๔๙๓ เมื่อจัดการถวายเพลิงศพพระอาจารย์มั่น ภูริทัตโต แล้ว พระอาจารย์อ่อน ญาณสิริ ได้เที่ยววิเวกไปถึงเขาย้อย จ.เพชรบุรี และได้จำพรรษาอยู่วัดนี้ด้วย ๑ ปี

จากนั้นก็ได้กลับคืนมาที่วัดป่าสาลวัน จ.นครราชสีมา ได้สร้างกุฏิขึ้นช่วยพระอาจารย์สิงห์ ขันตยาคโม ทั้งได้หล่อพระประธานขึ้นอีก ๒ องค์

ต่อมาพระอาจารย์สิงห์ ขันตยาคโม ได้เป็นพระราชาคณะชั้นสามัญที่ “พระญาณวิศิษฏ์สมิทธิวีราจารย์” ต่อมาหลายปีท่านกลับจาก จ.ปราจีนบุรี จึงได้มรณภาพที่วัดป่าสาลวัน จ.นครราชสีมา นี้เอง เมื่อพระญาณวิศิษฏ์สมิทธิวีราจารย์ (พระอาจารย์สิงห์ ขันตยาคโม) ได้มรณภาพแล้ว ทางการคณะสงฆ์จึงได้แต่งตั้งพระอาจารย์อ่อน ญาณสิริ เป็นเจ้าอาวาสแทน อยู่ประมาณ ๑ ปี แต่ท่านไม่ชอบ จึงได้ยื่นใบลาออกจากการเป็นเจ้าอาวาส ท่านเห็นว่าขัดข้องต่อการออกรุกขมูลวิเวกไปตามสถานที่ต่างๆ


• สายเสียการเน้อ •

หลวงปู่อ่อน ญาณสิริ ท่านเคยเล่าถึงการปฏิบัติทางจิตแก่ผู้เขียน เมื่อสมัยที่ท่านยังมีชีวิตอยู่พอเป็นกำลังใจได้ดังนี้ “พระอาจารย์มั่น และพระอาจารย์สิงห์ ท่านเป็นครูอาจารย์ที่สำคัญยิ่งสำหรับพวกเรา ท่านเป็นครูเป็นแบบอย่าง ชนิดหาที่ติมิได้เลย สมัยนั้น พวกเราก็ปฏิบัติกันอย่างเอาเป็นเอาตายเลยทีเดียว เรียกว่ามอบกายถวายชีวิตพวกเราจะเป็นจะตายนี่ ไม่เคยมีใครพูดถึงมัน ตายก็ดี อยู่ก็ดีขอให้มีธรรมเกิดขึ้นกับการภาวนาก็ใช้ได้สมัยนั้นพวกเราไม่เคยทำอะไรให้ครูบาอาจารย์หนักใจเพราะทุกคนก็เข้าใจจิตใจของตนดีกันหมด

พวกเราก็เช่นกันนะ เอาจิตใจเราไว้ ทำให้ดีขณะครูบาอาจารย์ท่านยังมีชีวิตอยู่ ถ้าเผลอไปก็จะสายเสียการเน้อ...”


• เผยแผ่ธรรม •

หลวงปู่อ่อน ญาณสิริ ท่านได้สนองคุณของครูบาอาจารย์ที่ท่านได้ทอดธุรกิจให้อย่างเข้มแข็ง

ท่านไม่เคยเบื่อหน่ายต่อการอบรมสั่งสอนคณะญาติโยม ท่านมีเมตตาให้แก่ทุกคนที่ได้มาแอบอิงไอเย็นในทางพระพุทธศาสนา ท่านเคยกล่าวอยู่เสมอๆ ว่า “ธรรมะขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้านี้ เป็นของเย็นเป็นของบริสุทธิ์ บุคคลผู้มีปัญญาจะไม่ปฏิเสธธรรมะของพระพุทธเจ้า เพราะธรรมะถ้าอยู่ในจิตใจของของใด ผู้นั้นย่อมมีความสุขความเจริญ”

ดังนั้น หลวงปู่อ่อน ญาณสิริ ท่านจะเดินธุดงค์ไปในท้องที่ต่างๆ หลายแห่งจนเป็นที่รู้จักกิตติศัพท์ของท่านมากยิ่งขึ้น โดยเฉพาะที่ อ.สีคิ้ว นั้น ท่านได้รับอาราธนาจากนายอำเภอสีคิ้วโดยเฉพาะก็เพื่อเผยแผ่ธรรมะที่นั้นบ้าง ดังนั้นคณะของท่านโดยมี

๑. หลวงปู่อ่อน ญาณสิริ
๒. หลวงปู่ฝั้น อาจาโร
๓. หลวงปู่กงมา จิรปุญโญ

จึงได้ออกเดินธุดงค์ไปพำนักอยู่ที่ วัดสว่างอารมณ์ บ้านใหม่สำโรง

เมื่อพระอาจารย์ฝ่ายธุดงคกรรมฐานเดินทางไปถึง ท่านก็ได้ช่วยกันเผยแผ่อบรมบรรดาชาวบ้านทุกตำบล โดยท่านแยกย้ายกันไปสั่งสอนประชาชนในท้องที่ต่างๆ จนปรากฏว่าประชาชนต่างก็มีความเลื่อมใสศรัทธาพระธุดงคกรรมฐานชุดดังกล่าวเป็นอย่างมาก ต่างก็มารับการฝึกอบรมจากครูบาอาจารย์อยู่เสมอๆ ทุกวัน


(มีต่อ ๑๖)

.....................................................
ทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว เป็นกฎตายตัว


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 27 พ.ค. 2011, 16:22 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
ผู้จัดการ
ผู้จัดการ
ลงทะเบียนเมื่อ: 27 มี.ค. 2006, 17:34
โพสต์: 7781

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว www


รูปภาพ
พระอาจารย์ภุมมี ฐิตธัมโม


• ความดีนั้นมีมาก •

หลวงปู่อ่อน ญาณสิริ ท่านเป็นพระผู้ปฏิบัติดี ปฏิบัติชอบ ดำเนินรอยตามเยี่ยงพระอริยเจ้าทั้งหลายมาเป็นแบบอย่างดีเยี่ยม ผู้เขียนเคยได้ยินคำสรรเสริญจากครูบาอาจารย์หลายๆ องค์ท่านมักกล่าวเสมอว่า

“หลวงปู่อ่อน ญาณสิริ นี่ท่านเป็นพระชั้นเยี่ยมองค์หนึ่งท่านเป็นพระนักต่อสู้จริงๆ การปฏิบัติของท่านเด็ดขาด ตายก็ยอมตายกันเลยทีเดียว จิตใจของท่านเข้มแข็งมาก ยิ่งกระแสจิตด้วยแล้วเข้มข้นเหลือเกิน ศิษย์ของท่านพระอาจารย์ใหญ่มั่น ภูริทัตโต จะมีกำลังจิตที่ไม่ค่อยจะซ้ำแบบกัน เพราะบางองค์ท่านมีจิตโลดโผน บางองค์ท่านมีจิตแบบเรียบๆ แต่ละแบบก็แตกต่างกันออกไป แต่ทั้งนี้ท่านเป็นเลือดอาชาไนยทั้งนั้น หาไม่ได้แล้วในยุคนี้”

ผู้เขียนได้สอบถามท่านผู้รู้บางท่าน ก็มีคำตอบอย่างเดียวกัน

“หลวงปู่อ่อน ญาณสิริ นี้ ท่านไม่ค่อยสนใจกับประวัติ เมื่อพบกันก็คุยกันในเรื่องสมาธิภาวนาเพียงอย่างเดียว การเดินธุดงค์นี้ ท่านก็ได้ออกเที่ยวมาหลายแห่ง เมื่อมารวมกันแล้ว ก็นับได้ว่าเป็นเวลาหลายสิบปีเหมือนกัน

แต่ท่านได้ผ่านประสบการณ์อย่างไรบ้างนั้น ไม่มีคนกล้าถามท่าน เพราะถ้าถามดีก็ดีไป ถ้าถามไม่ดีหรือท่านเห็นว่าไร้ประโยชน์ท่านก็จะดุเอาด้วย

ความดีของท่านนั้นมีมาก การภาวนาก็เป็นเยี่ยมเลยทีเดียว”


• นึกว่าสว่างอันหยัง •

สมัยก่อนเมืองไทยเรานี้ไปด้วยไม้นานาชนิดอีกทั้งยังเกลื่อนกลาดไปด้วยฝูงสัตว์ป่าหลายๆ จำพวกแต่หลวงปู่อ่อน ญาณสิริ สมัยเป็นสามเณรอ่อน ท่านก็มีความกล้าหาญเกินเด็ก

ท่านได้ยินข่าวบอกว่า “โน้น...เมืองลาว สว่างไสวเจริญรุ่งเรืองมาก น่าไปเที่ยว”

หลวงปู่อ่อนสมัยเป็นเณรก็คิดไปตามประสาว่า “เออ...เขาว่าฝั่งลาวสว่างไสวงดงามเหลือกำลัง เราน่าจะไปดูให้เป็นบุญตาสักครั้ง ว่ามันสว่างไสวอย่างไร ?”

เมื่อท่านคิดได้ดังนั้น ท่านสามเณรอ่อน ได้แบกกลดบาตรออกธุดงค์ไป บุกป่าฝ่าดง ข้ามน้ำข้ามท่าไป ดั้นด้นไปจนถึงเวียงจันทร์เลยทีเดียว

เพราะเขาพูดกันหนาหูว่า “มันสว่างไสวน่าดู”

ครั้นเมื่อไปถึงก็หายสงสัย ถึงกับอุทานว่า “ฮ่วย...โอยก็มันมีไฟฟ้าซิเล่า มันก็สว่างล่ะน้อ เปิดไฟฟ้าก็สว่างละซิ นึกว่ามันสว่างอันหยัง !”

เป็นอันว่า สามเณรอ่อนรู้ชัดแล้วว่า ที่มันสว่างๆ นั่น ก็เพราะแสงไฟฟ้านั้นหรอก มิใช่สว่างอะไรเลย เพราะคนโบราณสมัยก่อนเขาอยู่กลางป่ากลางดง ห่างความเจริญ ไม่มีไฟฟ้าจะใช้ มีแต่ตะเกียงและได้เท่านั้น ครั้นไปเห็นของใหม่ของแปลกก็เล่าลือกันไป

แต่การเดินธุดงค์ไปยังประเทศลาวของท่านนั้น มิใช่ไร้ผลแม้แต่น้อย

สามเณรอ่อน ยังได้ประสบการณ์ท่ามกลางป่าเขาลำเนาไพร อีกทั้งการปฏิบัติธรรม ท่านก็มีความชำนาญมากยิ่งขึ้น จิตใจก็แก่กล้าขึ้นโดยลำดับ

อย่างไรก็ตาม ในกาลต่อมาสามเณรอ่อนตัวน้อยๆ ได้มากลับกลายเป็นหลวงปู่อ่อน ญาณสิริ ที่พวกเราทุกคนต่างก็ได้ยึดถือแนวทางปฏิบัติภาวนาของท่านมาสู่จิตใจของเราทุกคน ซึ่งยากที่จะถ่ายถอนออกไปได้ เพราะแนวทางธรรมของท่านที่ได้สอนนั้น เป็นแนวทางให้เราพ้นทุกข์ พ้นโศก พ้นภัยได้จริงๆ


• เป็นต้นโพธิ์ต้นไทร •

เป็นความจริงที่ หลวงปู่มั่น ภูริทัตโต ท่านได้สร้างบรรดาลูกศิษย์จนได้ดี มีดวงตาเห็นธรรมอย่างมากมาย สิ่งเหล่านี้ก็เพราะว่า หลวงปู่มั่นท่านมีความรู้ความสามารถประสาทธรรมะให้แก่บรรดาลูกศิษย์ท่านอย่างแจ่มแจ้งชัดเจนนั่นเอง ครั้นเมื่อหลวงปู่มั่นท่านได้ล่วงลับดับธาตุ ๔ ขันธ์ ๕ ไปแล้ว บรรดาลูกศิษย์ทั้งหลายของท่านได้ดำเนินรอยตามในปฏิปทาข้อวัตรต่างๆ ที่ท่านสอนไว้นั้น จนมาเป็นต้นโพธิ์ต้นไทร พอให้พวกเราได้แนบแอบอิงเป็นจำนวนมากมายหลายร้อยองค์

หลวงปู่อ่อน ญาณสิริ เป็นลูกศิษย์ที่มีอันดับดังกล่าวมาแล้วองค์หนึ่งเช่นกัน ท่านมีความรู้ความฉลาดที่จะอบรมสั่งสอนบรรดาลูกศิษย์ที่เป็นพระภิกษุและฆราวาสให้ได้เข้าถึงคุณธรรม

หลวงปู่อ่อน ท่านได้ออกไปเผยแผ่ธรรมะในครั้งโน้นก็นับว่าเป็นความสามารถพิเศษในองค์ท่าน ด้วยที่ผู้เขียนกล่าวเช่นนี้ ก็เพราะว่า “การที่จะปลูกฝังคุณธรรมให้ฝังลึกลงสูจิตใจของมนุษย์ ที่มากหน้าไปด้วยกิเลส ตัณหา อุปาทานนั้น เป็นงานที่มีภาระมากที่สุด และยากที่สุด !

แต่ครูบาอาจารย์สมัยนั้นก็ดี หลวงปู่อ่อน ญาณสิริ สั่งสอนบุคคลในปัจจุบันนี้ก็ดี ท่านสามารถกระทำได้อย่างมีเหตุมีผล นั่นย่อมแสดงว่า

หลวงปู่อ่อนท่านต้องมีอำนาจจิต ที่เหนือกิเลสได้แล้วด้วยประการทั้งปวง

ท่านจึงพอที่จะเป็นทางนำให้พวกเราทั้งหลาย ได้รับความซาบซึ้งตรึงใจเชื่ออย่างสิ้นเชิงได้ และเต็มใจที่จะปฏิบัติตามท่านได้สั่งสอนไว้

เมื่อได้พิจารณาหาเหตุผลนี้แล้ว เชื่อว่าหลักฐาน มารยาท ความรู้ ตลอดจนถึงข้อวัตรปฏิบัติธรรมในองค์ของหลวงปู่อ่อน ญาณสิริ เป็นคุณธรรมของพระสุปฏิบัติโดยแท้แน่นอน-ผู้เขียน”

ธรรมะจงตั้งใจปฏิบัติให้ถูกต้อง ตามหลักสติปัฏฐาน ๔ โดยสมบูรณ์แล้ว ธรรมไม่ว่าหยาบหรือละเอียด จะปรากฏเห็นแจ้งขึ้นมาด้วยตนเอง ไม่ต้องร้องเรียก

รูปภาพ
พระอาจารย์มหาบัว ญาณสัมปันโน


• แห่งสุดท้าย •

พ.ศ. ๒๔๙๖ ท่านเจ้าคุณพระธรรมเจดีย์ (จูม พันธุโล) ผู้เป็นพระอุปัชฌาย์ เห็นว่าหลวงปู่อ่อน ได้ลาออกจากเป็นเจ้าอาวาสวัดป่าสาลวัน จ.นครราชสีมา แล้ว จึงมีบัญชาให้กลับมา จ.อุดรธานี เพื่อให้แสวงหาสถานที่สร้างวัดป่าที่เห็นว่าเหมาะสมให้เป็นสถานที่หลบภัยสงครามที่จะเกิดขึ้นอึก เพราะสมัยนั้นกลิ่นสงครามยังกรุ่นอยู่ ดังนั้น หลวงปู่อ่อนได้เดินทางกลับถิ่นฐานเดิมเป็นครั้งแรก และในครั้งนี้ท่านได้มีพระคณาจารย์ผู้ร่วมเดินทางมาด้วย

๑. หลวงปู่อ่อน ญาณสิริ
๒. พระอาจารย์ภุมมี ฐิตธัมโม
๓. พระอาจารย์มหาบัว ญาณสัมปันโน

เมื่อท่านมาถึง จ.อุดรธานี แล้ว ท่านต่างได้แยกทางกันไปเผยแผ่ปฏิบัติธรรม พำนักปักกลดอยู่ตามสถานที่ต่างๆ แต่ละองค์ก็ได้มีพระภิกษุสามเณรติดตามไปอยู่ด้วยหลายองค์ แต่ละพระอาจารย์ต่างก็มี บทบาทที่น่าเคารพกราบไหว้บูชาทั้งสิ้น

พระอาจารย์ภุมมี ฐิตธัมโม ท่านได้นำคณะที่มีด้วยกัน ๗ องค์ไปจำพรรษาอยู่ที่วัดป่าโนนนิเวศน์ และพระอาจารย์ภุมมี ต่อมาท่านได้สมณศักดิ์เป็น พระครูวินัยธร

พระอาจารย์มหาบัว ญาณสัมปันโน ท่านได้นำคณะธุดงค์ไปเผยแผ่ธรรมในที่ต่างๆ หลายแห่ง แห่งสุดท้ายท่านได้นำคณะของท่านมาอยู่จำพรรษาที่ป่าแห่งหนึ่ง จนมาเป็น วัดป่าบ้านตาด อ.เมือง จ.อุดรธานี


• บ้านหนองบัวบาน •

ส่วนหลวงปู่อ่อน ญาณสิริ จึงได้แสวงหาสถานที่สร้างวัดป่าไม่ให้ไกลนักจากวัดโพธิสมภรณ์ เพื่อความสะดวกให้แก่ท่านเจ้าคุณพระธรรมเจดีย์ (จูม พันธุโล)

ท่านจึงคัดเลือกเอาได้ที่ดงป่าช้า (พื้นบ้านเรียกป่าช้า) เป็นที่รมนียสถานอันรื่นรมย์สมควรวิเวก ประกอบทำความเพียรภาวนาที่บ้านหนองบัวบาน ต.หมากหญ้า อ.หนองวัวซอ จึงได้นำความมากราบเรียนท่านเจ้าคุณพระธรรมเจดีย์ (จูม พันธุโล) ท่านเห็นชอบด้วย

พ.ศ. ๒๔๙๖ นี้เอง หลวงปู่อ่อนจึงได้เริ่มลงมือสร้างวัดนี้ ได้ปลูกกุฏิ ศาลาการเปรียญ โบสถ์ขนาดใหญ่ ๒ ชั้น พระประธานปางเชียงแสนขนาดใหญ่ สร้างด้วยโลหะ (ทอง) ประดิษฐานตระหง่านอยู่ในโบสถ์

โบสถ์ก็ดี พระประธานก็ดี ใหญ่ที่สุดในภาคอีสานและทั้งสวยงามที่สุด

หลวงปู่อ่อน ญาณสิริ ท่านก็ได้เที่ยวธุดงค์ไปในที่ต่างๆ มากแห่งด้วยกัน สถานที่อันเป็นสัปปายะแห่งสุดท้าย คือ ที่บ้านหนองบัวบาน ต่อมาท่านได้บำรุงสถานที่แห่งนั้นจนเป็น วัดป่านิโครธาราม ที่สงบระงับดับจากกิเลสทั้งปวง นอกจากนี้แล้วท่านยังได้ออกเผยแผ่อบรมธรรมในท้องที่ต่างๆ อีกมาก แม้ว่าสังขารของท่านจะเข้าสู่วัยชรามากแล้ว ท่านไม่เคยลดละหรือเบื่อหน่ายที่จะเปิดการอบรมสอนธรรมแก่คณะศรัทธาผู้ใคร่ในธรรมปฏิบัติ

รูปภาพ
พระประธานปางเชียงแสนขนาดใหญ่ สร้างด้วยโลหะ (ทอง)
ประดิษฐานตั้งตระหง่านอยู่ภายใน อุโบสถ วัดป่านิโครธาราม
บ้านหนองบัวบาน ต.หมากหญ้า อ.หนองวัวซอ จ.อุดรธานี



(มีต่อ ๑๗)

.....................................................
ทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว เป็นกฎตายตัว


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 27 พ.ค. 2011, 16:22 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
ผู้จัดการ
ผู้จัดการ
ลงทะเบียนเมื่อ: 27 มี.ค. 2006, 17:34
โพสต์: 7781

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว www


รูปภาพ
ครูบาอาจารย์พระป่ากรรมฐานสานุศิษย์หลวงปู่มั่น ภูริทัตโต
จากภาพ...แถวหน้าขวามือสุด คือ หลวงปู่อ่อน ญาณสิริ
แถวหน้าองค์ที่ ๓ จากขวามือ คือ พระธรรมเจดีย์ (จูม พันธุโล)



• ต้องพิจารณา •

นอกจากนี้แล้ว ท่านมีเวลาท่านจะปลีกตัว พาพระภิกษุและสามเณรออกไปเที่ยวบำเพ็ญเพียรตามป่าดงอยู่เสมอๆ สถานที่ที่ท่านพาคณะดำเนินไปนั้น คือ ที่สำนักสงฆ์ถ้ำเอราวัณ บนเทือกเขาภูพาน หลวงปู่อ่อน ญาณสิริ ท่านสอนศิษย์ของท่านให้เข้าใจธรรมชาติป่าเขา ทำความรู้จักกับสภาพแวดล้อมของสังคม ท่านให้พึงระวังกิเลสมารที่เข้ามารบกวนจิตใจในทุกรูปแบบ โดยท่านสอนว่า

“ธรรมให้รู้ตามความจริงเหมือนดังว่า คนก็คือคน ธรรมก็คือธรรม เราต้องพิจารณา หลักของพระอาจารย์มั่น ท่านเคยสอนศิษย์ ท่านจะสอนให้เรามีปัญญาพิจารณา คนที่ไม่พิจารณา ก็เพราะขาดปัญญา กลายเป็นความประมาท ประมาทแล้วกิเลสก็เข้ามานอนเนื่องในจิตใจของเรา

กิเลส ก็คือ หนี้สินที่พะรุงพะรังทางใจนั่นเองถ้าเราปฏิบัติขัดเกลาออกไปด้วยสติปัญญาแล้ว หนี้สินเหล่านี้ (กิเลส) ก็จะหมดไป เราจึงเป็นสุขในทุกอิริยาบถ ให้เหลือแต่ความบริสุทธิ์ คือ พุท-โธ เป็นสิ่งที่ติดจิตใจ เป็นสมบัติทั้งดวง คือ ความสิ้นทุกข์สิ้นกาลและเป็นกาลที่มีคุณค่ามหาศาล อย่างนี้พระพุทธเจ้าและพระสาวกเจ้าของเราพระองค์ได้ประโยชน์มาแล้วทั้งสิ้น”


ธรรมที่หลวงปู่อ่อน ญาณสิริ ท่านได้แสดงโปรด เมื่อครั้งที่ผู้เขียนเดินทางไปนมัสการท่านที่วัดป่านิโครธาราม มีใจความตอนหนึ่งว่า “หลวงพ่ออาจารย์ใหญ่มั่น ท่านเทศน์เรื่องขันธ์ ๕ ท่านว่า มาหารูป รูปนี้ปลายมันหรอก ไม่ใช่เป็นต้น ต้นมัน ได้แก่ วิญญาณ ท่านเลยว่าแต่วิญญาณมาหาสังขาร เพราะวิญญาณมันมาปรุงมันก็เลยเป็นตัวสังขาร นั่นแหละตัวปรุงนี้มันจึงมาหาสัญญา จึงมาหาเวทนา มาหารูป ท่านพูดอย่างนี้ เราต้องพิจารณา ท่านพูดตามบุคคลที่เกิดมามันเป็นอย่างนั้นแน่”

หลวงปู่อ่อนท่านว่า นี่เป็นธรรมชั้นสูงที่หลวงพ่ออาจารย์ใหญ่มั่นท่านแสดง



• คำเตือน •

หลวงปู่อ่อน ญาณสิริ ท่านเป็นร่มโพธิ์ร่มไทรให้แก่บรรดาคณะศรัทธาญาติโยมโดยแท้ ยามที่หลวงปู่ท่านมีชีวิตอยู่ความเมตตากรุณาของหลวงปู่ท่านมีเต็มเปี่ยมพอให้เราได้ดื่มกินได้ทุกเมื่อเชื่อวัน ใครก็ตามที่เดินทางไปถึง วัดป่านิโครธาราม จ.อุดรธานี ก็จะพบกับความเย็นอกเย็นใจในทุกเมื่อ

ท่านเคยกล่าวอยู่เสมอว่า “ธรรมชาติของธรรมนั้น ปฏิบัติผู้บำเพ็ญเท่านั้นจึงจะรู้ได้ ครูบาอาจารย์หลายองค์ท่านไม่เคยลดละในการปฏิบัติธรรมเพราะการปฏิบัติธรรมที่เรากระทำอยู่เรื่อยๆ เป็นนิจ โดยไม่หยุดยั้งผลย่อมเกิดขึ้นได้ทุกครั้งไปและจะสืบเนื่องกันไม่ขาคระยะ ตราบเท่าที่เราไม่ทิ้งการปฏิบัติธรรมนั้น เราเป็นฆราวาส ต้องพยายามทำคุณงามความดี ทำทาน รักษาศีล บำเพ็ญภาวนาให้เจริญแล้ว ปัญญาก็ย่อมเกิดตามมาเอง”


• อวสาน •

พ.ศ. ๒๕๑๘ หลวงปู่อ่อน ญาณสิริ ได้เริ่มอาพาธด้วยโรคกระเพาะอาหารเป็นต้นมา จนได้รับการผ่าตัดไปครั้งหนึ่ง ในปีเดียวกันนั้น ก่อนเข้าพรรษาได้รับการผ่าตัดอีกเกี่ยวกับลำไส้อุดตัน รวมเป็น ๒ ครั้ง ต่อนั้นไปก็ได้ทำการรักษามาตลอดปี ก็พอทรงตัวอยู่ได้ สังขารร่างกายของท่านก็ทรุดโทรมมาก สุขภาพร่างกายก็ไม่แข็งแรงเท่าที่ควร ถึงอย่างนั้นท่านก็ยังพยายามอุตสาหะ พยายามทำกิจของพระพุทธศาสนาเป็นปกติธรรมดา อีกทั้งยังสงเคราะห์คณะศรัทธาญาติโยม ตลอดถึงพระภิกษุ สามเณร ที่เข้ามาศึกษาพระธรรมวินัย อบรมสมถกรรมฐานและวิปัสสนากรรมฐานตลอดมา จนถึงวาระสุดท้าย

รวมระยะหลวงปู่อ่อน ท่านไม่แข็งแรงเป็นเวลา ๕ ปี ผ่านมา การอยู่ฉันภัตตาหารของท่านก็เปลี่ยนแปลงไป โดยมากท่านจะฉันภัตตาหารเผือกมันเป็นส่วนมาก หลังจากทำการผ่าตัด การฉันภัตตาหารไม่เต็มส่วน ถ้าฉันภัตตาหารที่ไม่ถูกธาตุหรือผิดเวลา เหล่านี้มักมีอาการท้องร่วงตลอดมา แต่นั้นท่านก็ได้พยายามรักษามาทั้งภายในและภายนอก พอทรงตัวอยู่

ต่อมาเมื่อปี พ.ศ. ๒๕๒๔ เดือนพฤษภาคม วันที่ ๒๓ ท่านก็เริ่มอาพาธ วันที่ท่านอาพาธนั้นตอนเช้าท่านก็ยังไปบิณฑบาตมาฉันภัตตาหารตามปกติธรรมดาเหมือนทุกวัน

พอฉันภัตตาหารเสร็จ ท่านก็ได้เข้าพักผ่อนตามที่เคยปฏิบัติมาประจำ เวลาประมาณเที่ยงวัน ท่านก็เคยออกมาต้อนรับแขกที่มานมัสการประจำ

วันนั้นเห็นผิดสังเกต ท่านไม่ออกจากห้องพักตามปกติลูกศิษย์ที่คอยปฏิบัติอยู่ใกล้ชิดจึงไปดู และเรียก แต่ท่านไม่ขานตอบ จึงได้เปิดประตูเข้าไปดู เห็นอาการนอนเพียบอยู่ ถึงถามก็พูดไม่ได้ตั้งนั้นมา จึงได้เอาท่านออกมาข้างนอกทำการพยาบาลกันเต็มความสามารถ เห็นอาการไม่ดีขึ้นจึงไปตามเอาหมอที่โรงพยาบาลมาตรวจรักษา

นายแพทย์ตรวจอูอาการพบว่าเป็นโรคเส้นโลหิตในสมองอุดตัน หรือเส้นโลหิตในสมองตีบ แพทย์ก็แนะนำให้เอาไปพักฟื้นที่โรงพยาบาลอุดรธานี

วันต่อมา วันที่ ๒๔ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๕๒๔ จึงได้ติดต่อขอรถพยาบาลนำส่งโรงพยาบาลค่ายประจักษ์ศิลปาคม อุดรธานี แพทย์ก็ให้การรักษาจนสุดความสามารถอาการก็ไม่ดีขึ้น

วันที่ ๒๕ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๕๒๔ จึงได้นำขึ้นเครื่องบินจากอุดรธานี ส่งโรงพยาบาลศิริราช กรุงเทพฯ ให้แพทย์รักษาจนสุดความสามารถ อาการยังไม่ดีขึ้น

วันที่ ๒๖ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๕๒๔ ได้นำท่านไปตรวจสมองที่โรงพยาบาลรามาฯ แล้วก็นำกลับโรงพยาบาลศิริราชอีก แพทย์ให้การรักษาเป็นอย่างดี เช่น นายแพทย์ประวัติ หงษ์ประภาส และนายแพทย์ ประกิจ เหล่านี้ เป็นต้น แต่อาการยังไม่ดีขึ้น

วันที่ ๒๗ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๕๒๔ เวลากลางคืนวันพุธ ๐๔.๐๐ น. ท่านก็ได้มรณภาพไปด้วยอาการอันสงบต่อหน้านายแพทย์ และคณะลูกศิษย์ที่ติดตามรักษา

รุ่งเช้าวันที่ ๒๘ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๕๒๔ ได้ทำพิธีรดน้ำศพที่โรงพยาบาลศิริราช แล้วก็นำศพท่านกลับวัดป่านิโครธาราม บ้านหนองบัวบาน ต.หมากหญ้า อ.หนองวัวซอ จ.อุดรธานี โดยรถพยาบาลของโรงพยาบาลแพทย์ปัญญานำส่งถึงวัดและตั้งบำเพ็ญกุศล ๗-๕๐-๑๐๐ วัน ตลอดมา


• ส่งท้าย •

บรรดาผู้เป็นศิษยานุศิษย์ และผู้เคารพนับถือในพระคุณท่าน ใครๆ ทั้งหมดหาได้ระลึกไม่ว่า ท่านมาด่วนรีบมรณภาพจากพวกเราไปเสียโดยเร็ว จึงไม่ได้สอบถามประวัติของท่านโดยละเอียดว่าปีไหนจำพรรษาที่ไหน และได้ทำกิจพระพุทธศาสนาที่ไหนบ้างโดยละเอียด

และในการถวายเพลิงศพของท่าน เมื่อวันที่ ๒๖-๒๗-๒๘ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๒๕ ถือว่าการทำบุญทักษิณานุปทานอุทิศถวายท่านเป็นการใหญ่ บรรดาท่านผู้เป็นสหธรรมิกและศิษยานุศิษย์ตลอดถึงสาธุชนผู้เคารพในพระคุณท่านก็มากันอย่างพร้อมเพรียง

ท่านพระอาจารย์ของพวกเราได้สละชีพเพื่อพระพุทธศาสนา เริ่มแต่อายุ ๑๖ ปี หันหน้าเข้าวัดได้ศึกษาเล่าเรียนพระธรรมวินัยและเดินตรงต่อสมถกรรมฐานและวิปัสสนากรรมฐานโดยเฉพาะ จนถึงวันมรณภาพ รวมชนมายุได้ ๘๐ ปี เป็นสามเณร ๓ พรรษา เป็นพระภิกษุ ๕๘ พรรษา


• บั้นปลาย •

หลวงปู่อ่อน ญาณสิริ ท่านเป็นปูชนียบุคคล ที่เราท่านไม่ควรลืมเลือน เพราะในยามที่หลวงปู่ยังมีชีวิตอยู่ หลวงปู่ได้ดำเนินชีวิตในเพศสมณะผู้บำเพ็ญเพียรเพื่ออรหัตผล มุ่งพระนิพพานโดยแท้ หลวงปู่อ่อนท่านได้เป็นผู้เติมแต่งบ้านหนองบัวบาน ให้มีคุณค่าเป็นที่รู้จักของประชาชนชาวไทยทั่วประเทศ

และในถิ่นนี้ อดีตเคยเป็นสถานที่จำพรรษาของพระอริยเจ้าองค์หนึ่งนั่นคือ หลวงปู่อ่อน ญาณสิริ พระผู้ปฏิบัติดีปฏิบัติชอบแห่งยุค และเป็นกำลังอันสำคัญยิ่งของกองทัพธรรม

บัดนี้ หลวงปู่อ่อน ญาณสิริ ได้ละซึ่งสังขารอันไม่เที่ยงนี้ไปแล้ว นอกจากคุณงามความดีที่ท่านมอบไว้แก่ลูกหลานได้ระลึกถึง เจริญรอยตามแบบอย่าง ซึ่งเป็นแนวทางตรงมุ่งสู่พระนิพพานอย่างแท้จริง



.............................................................

♥ คัดลอกเนื้อหามาจาก :: อัตโนประวัติ และชีวประวัติ สกุลวงศ์
ของพระอาจารย์อ่อน ญาณสิริ
ของพระจันโทปมาจารย์
นิตยสารโลกทิพย์ ฉบับที่ ๑๓ ปีที่ ๓ เดือนพฤษภาคม (ฉบับหลัง) ๒๕๒๗
รวบรวมโดย นิรุตติ และนิโรธ เกษรสิริ
เว็บไซต์ http://www.dharma-gateway.com/ :b8: :b8: :b8:

.....................................................
ทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว เป็นกฎตายตัว


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 28 พ.ค. 2011, 07:59 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
ผู้จัดการ
ผู้จัดการ
ลงทะเบียนเมื่อ: 27 มี.ค. 2006, 17:34
โพสต์: 7781

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว www


รูปภาพ

ประวัติและปฏิปทา (โดยย่อ)
หลวงปู่อ่อน ญาณสิริ


วัดป่านิโครธาราม
ต.หมากหญ้า อ.หนองวัวซอ จ.อุดรธานี


๏ ชาติกำเนิดและชีวิตปฐมวัย

หลวงปู่อ่อน ญาณสิริ มีนามเดิมว่า อ่อน กาญวิบูลย์ เกิดเมื่อวันอังคาร ขึ้น ๗ ค่ำ เดือน ๗ ปีขาล พ.ศ. ๒๔๔๕ (ตามพ่อแม่ของท่านบอก) หรือเกิดวันอังคาร ขึ้น ๕ ค่ำ หรือ ๑๒ ค่ำ (ตามปฏิทิน ๑๐๐ ปี) ณ บ้านดอนเงิน ตำบลแซแล อำเภอกุมภวาปี จังหวัดอุดรธานี เป็นบุตรของนายเมืองกลาง (ภูมีใหญ่) และนางบุญมา กาญวิบูลย์ ซึ่งมีบุตรด้วยกันทั้งหมด ๒๐ คน เลี้ยงจนเจริญเติบโตเป็นผู้ใหญ่เพียง ๑๐ คน ตายเสียแต่เด็ก ๑๐ คน ท่านเป็นบุตรคนที่ ๘ ของผู้ที่ยังมีชีวิตรอดจนเติบโตเป็นผู้ใหญ่

ท่านเกิดและอาศัยอยู่ในท่ามกลางสภาพของธรรมชาติป่าดงอันอุดมสมบูรณ์ มีความอบอุ่นอยู่กับพ่อแม่ มีความเป็นอยู่พอมีความสุขตามสมควรจากอาชีพทำนา เลี้ยงโคฝูง ปลูกหม่อนเลี้ยงไหม และค้าขายเบ็ดเตล็ดต่างๆ อาชีพทำนาอาศัยฟ้าฝน ถ้าปีไหนฟ้าฝนดี ไม่เกิดโรค ก็จะได้ผลผลิตเกิน ๑,๐๐๐ ถังจากที่นาทั้งหมด ๘ ทุ่ง (แปลง) เป็นการผลิตเพื่อบริโภคกันทุกครัวเรือน มีวัวฝูงกว่า ๒๐๐ ตัว กลางวันต้อนออกคอกปล่อยไปหากินเอง ตอนเย็นกลับเข้าคอกเอง ถ้าวัวไม่เข้าคอกเกิน ๔-๕ วันจึงออกตามไล่ต้อนเข้าคอกสักทีหนึ่ง ถ้าวัวหายไปตามหาก็ลำบากป่าดงมันรก เสือและงูร้ายก็ชุกชุม

หลวงปู่ได้เล่าถึงประวัติตนเองเมื่อครั้งช่วยพ่อแม่ทำงานด้วยความทุกข์ใหญ่ว่า ครั้งหนึ่งเดือนเมษายน วัวไม่กลับเข้าคอกจึงออกติดตาม ไม่ได้เตรียมน้ำดื่มไปด้วย กว่าจะเห็นฝูงวัวก็บ่าย ๒ โมงเข้าไปแล้ว เดินเท้าเปล่าไม่มีรองเท้า ตอไม้ทิ่ม หิวน้ำก็หิว ก่อนเข้าหมู่บ้านหัวเข่าอ่อนล้าฮวบลง ลุกขึ้นหาไม้เท้า ใช้สองมือยืนไปจนถึงบ้านได้ ครั้นถึงบ้านด้วยความกระหายน้ำอย่างมากจึงรีบดื่มน้ำไป ๑๒ กระบวยใหญ่ จุกน้ำเกือบตาย นี่คือทุกข์ใหญ่

สมัยที่หลวงปู่อ่อนอายุ ๑๑ ปี พ่อแม่ของท่านได้นำไปฝากให้อยู่วัดใกล้บ้าน ซึ่งสมภารมีความรู้ทางด้านภาษาลาว ภาษาขอม และภาษาไทย เป็นอย่างดี โดยหวังให้ลูกชายได้รับการศึกษา มีอนาคตสามารถเลี้ยงพึ่งพาตนเองได้

พออายุได้ ๑๖ ปี พ่อของท่านได้อบรมว่า การบวชนี้เป็นบุญมาก ในที่สุดท่านก็ใคร่จะบวช จึงบอกเล่าและลาพ่อแม่ว่าต้องการบวช เมื่อได้บวชแล้วจะไม่สึก พ่อแม่จึงนำท่านไปฝากให้เป็นศิษย์วัดกับ ท่านพระครูพิทักษ์คณานุการ วัดจอมศรี บ้านเมืองเก่า อำเภอกุมภวาปี จังหวัดอุดรธานี ต่อมาท่านก็ได้บรรพชาให้เป็นสามเณรอ่อน ให้ศึกษาเล่าเรียนสวดมนต์ไหว้พระ การบวชเป็นสามเณรนี้ก็เพื่อจะได้ศึกษาเล่าเรียน ให้มีความรู้มากขึ้น สามเณรอ่อนได้ศึกษาพระธรรมวินัยพอเป็นนิสัย เข้าใจถึงชีวิตสมณเพศเท่านั้น

๏ ชีวิตสมณะ การแสวงหาธรรม และปฏิปทา

เด็กชายอ่อนได้บรรพชาเป็นสามเณรเมื่ออายุ ๑๗ ปี (พ.ศ. ๒๔๖๒) สามเณรอ่อนได้ศึกษาเล่าเรียนธรรมวินัย เมื่อเลิกจากเวลาเรียนแล้วก็ต้องเข้าไปรับใช้อุปัฏฐากครูบาอาจารย์ ปัดกวาด ทำความสะอาด ล้างกระโถน รุ่งเช้าก็ออกบิณฑบาต ท่านมีฝีมือด้านการช่าง ได้ร่วมกับพระอาจารย์นำดินมาสร้างพระพุทธรูป แกะสลักไม้ ทำบานประตูหน้าต่างที่สวยงามมาก ท่านมีมานะ อดทน ขยันหมั่นเพียร

ท่านจำพรรษาอยู่ที่วัดจอมศรีกับท่านพระครูพิทักษ์คณานุการ ผู้เป็นอุปัชฌาย์ ๓ ปี ท่านมีอายุ ๑๙ ปี จึงเข้าอำลาอาจารย์ไปเรียนหนังสือที่กรุงเทพฯ ท่านอุปัชฌาย์หาว่าอวดดี จึงขับออกจากวัดจอมศรีไปพักอยู่ที่วัดดอนเงิน ไปลาโยมพ่อโยมแม่ แต่ไม่ได้รับอนุญาต อ้างว่าคิดถึง

เมื่อสามเณรอ่อนอายุครบ ๒๐ ปี ในปี พ.ศ. ๒๔๖๔ ได้อุปสมบทเป็นพระภิกษุในคณะมหานิกาย ที่วัดบ้านปะโค ตำบลปะโค อำเภอกุมภวาปี จังหวัดอุดรธานี โดยมี พระครูจันทา (เจ้าอธิการจันทา) เป็นพระอุปัชฌาย์ แล้วไปจำพรรษาอยู่ที่วัดบ้านดอนเงิน ๑ พรรษา

ในปี พ.ศ. ๒๔๖๕ ได้ขอลาโยมพ่อโยมแม่ ออกธุดงค์กรรมฐานไปอยู่กับ พระอาจารย์สุวรรณ วัดป่าอรัญญิกาวาส อำเภอท่าบ่อ จังหวัดหนองคาย ตามความตั้งใจของท่านมาแต่เดิม คือ

(๑) ยึดมั่นต่อองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า โดยการบริกรรมว่าพุทโธ

(๒) ถือผ้าบังสกุลเป็นวัตร

(๓) บิณฑบาตเป็นวัตร

(๔) ไม่รับอาหารที่ตามมาส่งภายหลัง รับเฉพาะที่ได้มาในบาตร

(๕) ฉันมื้อเดียวเป็นวัตร

(๖) ฉันในบาตร คือมีภาชนะใบเดียวเป็นวัตร

(๗) อยู่ในป่าเป็นวัตร คือเที่ยวอยู่ตามร่มไม้บ้าง ในป่าธรรมดาบ้าง บนภูเขาบ้าง ในหุบเขาบ้าง ในถ้ำบ้าง ในเงื้อมผาบ้าง

(๘) ถือผ้าไตรจีวรเป็นวัตร คือมีผ้า ๓ ผืน ได้แก่ ผ้าสังฆาฏิ ผ้าจีวร ผ้าสบง (รวมผ้าอาบน้ำฝนด้วย)

ในปี พ.ศ. ๒๔๖๖ ได้ออกธุดงค์แสวงหาความสงบวิเวก ปฏิบัติธรรม ได้ไปฝึกหัดเรียนพระกรรมฐานอยู่กับ พระอาจารย์เสาร์ กนฺตสีโล และพระอาจารย์มั่น ภูริทตฺโต ได้ยอมมอบกายถวายชีวิตเป็นศิษย์อยู่ที่วัดป่าบ้านค้อ อำเภอผือ จังหวัดอุดรธานี และได้ขอให้สวดญัตติแปรจากมหานิกายมาเป็นธรรมยุต พระอาจารย์ยังไม่ยินยอม ให้ฝึกภาวนาไปอีก ๑ ปี แล้วได้ขอให้ญัตติเป็นธรรมยุตอีก ท่านจึงยินยอมแต่ต้องให้ท่องหนังสือนวโกวาทและพระปาติโมกข์ให้จบเสียก่อน

หลวงปู่อ่อนจึงตั้งใจท่องนวโกวาท ๔ วันจบ ท่องปาติโมกข์ ๗ วันจบ จึงได้รับทำการญัตติเป็นธรรมยุต เมื่อวันที่ ๒๔ มกราคม พ.ศ. ๒๔๖๗ ตรงกับวันขึ้น ๓ ค่ำ เดือน ๓ อายุได้ ๒๓ ปี โดยมี พระครูชิโนวาทธำรง (พระมหาจูม พนฺธุโล หรือพระธรรมเจดีย์) รักษาการตำแหน่งเจ้าคณะมณฑลอุดร เป็นพระอุปัชฌาย์ และ พระครูอดิสัยคุณาธาร (คำ อรโก) เจ้าคณะจังหวัดเลย วัดศรีสะอาด เป็นพระกรรมวาจาจารย์ แล้วกลับไปจำพรรษาที่วัดป่าอรัญญิกาวาส อำเภอท่าบ่อ จังหวัดหนองคาย

ในปี พ.ศ. ๒๔๖๘ หลวงปู่อ่อน ญาณสิริ ได้ไปจำพรรษาปฏิบัติธรรมอยู่กับ พระอาจารย์สิงห์ ขนฺตยาคโม ที่วัดป่าอำเภออากาศอำนวย จังหวัดสกลนคร ในปีนี้ หลวงพ่อคำมี ผู้เป็นพี่ชายของหลวงปู่อ่อนบวชสังกัดมหานิกาย มาขออยู่ปฏิบัติธรรม ฝึกหัดภาวนากับท่านด้วย แต่ได้เกิดไข้ป่าอย่างแรง มรณภาพเมื่อเดือน ๘ แรม ๘ ค่ำ

ในปี พ.ศ. ๒๔๖๙ ได้ธุดงค์ไปจำพรรษากับ พระอาจาย์สิงห์ ขนฺตยาคโม และพระอาจารย์มหาปิ่น ปญฺญาพโล ที่เสนาสนะป่า ตำบลหัวตะพาน อำเภออำนาจเจริญ จังหวัดอุบลราชธานีปี

พ.ศ. ๒๔๗๐ จำพรรษาที่ป่าช้าบ้านหัวงัว ตำบลไผ่ช้าง อำเภอยโสธร จังหวัดอุบลราชธานี

ปีถัดมา พ.ศ. ๒๔๗๑-๒๔๗๒ ไปจำพรรษาที่วัดป่าบ้านสาวะถี ตำลบสวะถี อำเภอพระลับ จังหวัดขอนแก่น (ในสมัยนั้น)

ถัดมาอีกปี พ.ศ. ๒๔๗๓ ธุดงค์ไปจำพรรษาที่วัดป่าบ้านพระคือ อำเภอพระลับ จังหวัดขอนแก่น

ในปี พ.ศ. ๒๔๗๔ หลวงปู่อ่อนได้ไปจำพรรษาที่วัดป่าวิเวกธรรม บ้านเหล่างา อำเภอเมือง จังหวัดขอนแก่น

และในปี พ.ศ. ๒๔๗๕ สมเด็จพระมหาวีรวงศ์ (อ้วน ติสฺโส) ขณะดำรงตำแหน่ง พระเทพเมธี เจ้าคณะมณฑลนครราชสีมา มีบัญชาเมื่อวันที่ ๖ พฤษภาคม ๒๔๗๕ ให้พระกรรมฐานที่มีอยู่ในจังหวัดขอนแก่นไปร่วมอบรมประชาชน ร่วมกับทางราชการที่จังหวัดนครราชสีมา มีพระกรรมฐานไปชุมนุมกันจำนวนมาก เช่น พระอาจารย์สิงห์ พระอาจารย์มหาปิ่น พระอาจารย์อ่อน พระอาจารย์ฝั้น อาจาโร เป็นต้น

ณ ปีนี้เอง พ.ต.ต.หลวงชาญนิยมเขต ได้ยกที่ดิน ๘๐ ไร่ถวายพระกรรมฐานที่มาชุมนุม เพื่อสร้างสำนักปฏิบัติธรรมอบรมศีลธรรม ตั้งชื่อให้สถานที่แห่งนี้ว่า วัดป่าสาลวัน ในครั้งนี้คณะพระกรรมฐานได้แยกย้ายกันออกอบรมศีลธรรมและสร้างวัดอื่นๆ อีกมากมาย

ส่วนพระอาจารย์อ่อน ญาณสิริ พระอาจารย์ฝั้น อาจาโร พระอาจารย์กงมา จิรปุญฺโญ ได้ไปสร้างวัดป่าบ้านใหม่สำโรง อำเภอสีคิ้ว ชื่อ วัดสว่างอารมณ์ พระอาจารย์อ่อน ณาณสิริ ได้อยู่ปฏิบัติศาสนกิจอยู่ที่วัดป่าสาลวัน เป็นเวลา ๑๒ ปีเท่ากับพระอาจาย์ฝั้น อาจาโร

เมื่อปี พ.ศ. ๒๔๘๘ พระอาจารย์อ่อน ญาณสิริ ได้ออกจากวัดป่าสาลวัน จังหวัดนครราชสีมา ไปนมัสการพระอาจารย์มั่น ภูริทตฺโต ที่วัดป่าบ้านหนองผือ ได้สร้าง วัดป่าบ้านหนองโดก อำเภอพรรณานิคม ให้เป็นคู่กับ วัดป่าบ้านหนองผือ ทางที่จะไปนมัสการพระอาจารย์มั่น เพื่อให้ถูกกับอัธยาศัยของพระอาจารย์มั่น ด้วยว่าให้พระผู้ใหญ่ฝ่ายวิปัสสนาธุระสร้างวัดขึ้นในรัศมีของวัดป่าบ้านหนองผือ จะได้ฝึกหัดพระที่มาศึกษาภาวนา เป็นการแบ่งเบาภาระของท่าน เมื่อพระอาจารย์อ่อนได้สร้างวัดนี้แล้ว ท่านได้อยู่จำพรรษาหลายปีและได้เดินทางไปนมัสการพระอาจารย์มั่น เป็นประจำเพราะท่านอายุมาก

ในปี พ.ศ. ๒๔๙๒ พระอาจารย์มั่น ภูริทตฺโต อาพาธหนัก ได้รับการนำตัวไปรักษาที่วัดป่าสุทธาวาส อำเภอเมือง จังหวัดสกลนคร และมรณภาพที่นี่

ในปี พ.ศ. ๒๔๙๓ เมื่อพิธีถวายเพลิงศพพระอาจารย์มั่นผ่านไปแล้ว พระอาจารย์อ่อนได้เที่ยวธุดงค์ไปถึงเขาย้อย จังหวัดเพชรบุรี อยู่จำพรรษา ๑ พรรษา แล้วกลับมาช่วยพระอาจารย์สิงห์ ขนฺตยาคโม สร้างกุฏิและหล่อพระประธานที่วัดป่าสาลวัน จังหวัดนครราชสีมา ต่อมาพระอาจารย์สิงห์ได้รับพระราชทานสมณศักดิ์ที่ พระญาณวิศิษฏ์สมิทธิวีราจารย์ มาอีกหลายปีท่านได้มรณภาพ ทางคณะสงฆ์จึงได้ขอแต่งตั้งให้พระอาจารย์อ่อน เป็นเจ้าอาวาสวัดป่าสาลวันแทนท่านเจ้าคุณ อยู่ประมาณ ๑ ปีจึงลาออก เพราะเห็นว่าขัดต่อการออกรุกขมูลวิเวก

ในปี พ.ศ. ๒๔๙๖ ท่านได้มาสร้างวัดป่าบ้านหนองบัวบาน ตำบลหมากหญ้า อำเภอหนวงวัวซอ จังหวัดอุดรธานี ตามคำบัญชาของท่านเจ้าคุณพระธรรมเจดีย์ (จูม พนฺธุโล) ผู้เป็นพระอุปัชฌาย์ สิ้นเงินหลายล้านบาท

ครั้นปี พ.ศ. ๒๕๑๘ หลวงปู่อ่อน ญาณสิริ เริ่มอาพาธด้วยโรคกระเพาะอาหาร ได้รับการรักษาโดยการผ่าตัดหลายครั้ง อาการพอทรงตัวอยู่ได้ ร่างกายทรุดโทรม แต่ท่านก็ยังปฏิบัติกิจด้วยความอุตสาหะ สงเคราะห์พุทธบริษัท ปฏิบัติธรรม ตลอดมิได้เว้น วันที่ ๒๓ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๕๒๔ อาการอาพาธทรุดหนัก จึงได้นำเข้ารักษาที่โรงพยายบาลค่ายประจักษ์ศิลปาคม อุดรธานี (๒๔ พฤษภาคม) โรงพยาบาลศิริราช กรุงเทพฯ (๒๕ พฤษภาคม) โรงพยาบาลรามาธิบดี (๒๖ พฤษภาคม) อาการไม่ดีขึ้น ครั้นวันที่ ๒๗ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๕๒๔ คืนวันพุธ เวลา ๐๔.๐๐ น. ท่านก็ได้มรณภาพด้วยอาการอันสงบ ท่ามกลางนายแพทย์และคณะศิษยานุศิษย์ที่ติดตาม สิริรวมอายุได้ ๘๐ ปี เป็นสามเณร ๓ พรรษา เป็นพระภิกษุ ๕๘ พรรษา

รูปภาพ
หลวงปู่อ่อน ญาณสิริ กราบนมัสการหลวงปู่ดูลย์ อตุโล

(มีต่อ)

.....................................................
ทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว เป็นกฎตายตัว


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 28 พ.ค. 2011, 09:18 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
ผู้จัดการ
ผู้จัดการ
ลงทะเบียนเมื่อ: 27 มี.ค. 2006, 17:34
โพสต์: 7781

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว www


รูปภาพ
หลวงปู่ดูลย์ อตุโล กับ หลวงปู่อ่อน ญาณสิริ


๏ ธรรมโอวาท

จิตเป็นสิ่งสำคัญ สัมมาทิฐิ คือ ความเห็นชอบ คือตัวปัญญามันเกิดขึ้น พอปัญญาเกิดขึ้นเท่านั้นแหละ สัมมาทิฐิตัวเดียวชัดเจนขึ้นมา นั่นเป็นอาการของมัน ปัญญาสัมมาทิฐิ เกิดขึ้นมา มันเป็น องค์มรรค ๘ สมบูรณ์เลย เบื้องต้นเรายังฟุ้งซ่านอยู่ก็ต้องมาแก้ เราจะเข้าใจสงบระงับด้วยอุบายนี้ ความฟุ้งขณะปฏิบัติเพราะเราไปยึดมั่น เรายังยึดเท่าไรมันก็ยิ่งฟุ้งซ่าน ดังนั้น ท่านเรียกว่า สมุทัย ยุ่งไปหมดทุกสิ่งทุกอย่าง พอปัญญาสัมมาทิฐิเกิดขึ้น สมุทัยก็หาย นิโรธก็เกิดขึ้น

การที่เรามาเห็นว่านี้เป็นสัมมาทิฐิ คือ ตัวมรรคทั้ง ๘ มารวมกันอยู่ ณ ที่เดียวกันนี้ เมื่อจิตรวมกันในสมาธิแน่วแน่เต็มที่แล้ว สัมมาทิฐิความเห็นชอบก็เกิดขึ้น ณ สัมมาทิฐินั่นเอง คือ เห็นทุกข์ เห็นสมุทัย ส่วนจะละได้มากน้อยขนาดไหนก็แล้วแต่กำลังของปัญญาสัมมาทิฐิของตน เมื่อละได้แล้ว นิโรธ ความดับเย็นสนิทขนาดไหนก็จะปรากฏขึ้นเฉพาะตนในที่นั้น

ธรรมะเป็นทางแก้ทุกข์ เมื่อจะแก้ก็ต้องสอบทุกข์ก่อน ให้เห็นทุกข์ก่อน เหมือนกับเราทำงานอะไร เราต้องเห็นงานก่อน จึงจะทำได้ ทุกข์อันหนึ่งที่เป็นงานของพวกเราควรทำ ถ้าไม่ทำเราก็ไม่พ้น

ฉะนั้น พระพุทธเจ้าทรงสอนพวกเราให้รู้ทุกข์ เราได้ชื่อว่าผู้นับถือพระพุทธศาสนาประจำใจ ต้องให้เข้าใจหลักธรรมจริงๆ จึงจะถูกต้อง การเปิดจิตใจให้กว้างสว่างไสวนั้น เป็นนิสัยของชาวพุทธโดยตรง เราเชื่อคำสอนของพระพุทธเจ้า ทาน ศีล ภาวนา หรือ การทำดีได้ดี การทำชั่วได้ชั่วจริง ก็ควรที่จะรีบขวนขวายหาทางสร้างความดีเสีย จะได้มีกำลังใจของจิตใจต่อไป คนเราในโลกนี้เกิดมาแล้วย่อมมีความดีและความชั่วปะปนกันไป ไฉนเราจึงจะพบกับความดีเพียงอย่างเดียว อะไรๆ ก็ไม่สู้การสร้างความดีนะ ความดีนั้นผู้ใดสร้าง ผู้นั้นย่อมมีความสุข เย็นอกเย็นใจ การให้อภัยนี้ก็เป็นสิ่งสำคัญ

ปัจจุบันโลกเราต้องการคนดี โลกต้องการให้อภัย เพราะนั่นเป็นทางแห่งความสันติสุขนะ ต้องให้อภัยทำให้ใจกว้างขวาง จึงจะได้ชื่อว่า เชื่อฟังคำสั่งสอนของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าแท้จริง

ธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้านี้ เป็นของเย็น เป็นของบริสุทธิ์ บุคคลผู้มีปัญญาจะไม่ปฏิเสธธรรมของพระพุทธเจ้า เพราะธรรมถ้าอยู่ในจิตใจของผู้ใด ผู้นั้นย่อมมีความสุขความเจริญ ธรรมชาติของธรรมนั้น ผู้ปฏิบัติผู้บำเพ็ญเท่านั้นจึงจะรู้ได้ ครูบาอาจารย์หลายองค์ท่านไม่เคยลดละในการปฏิบัติธรรม เพราะการปฏิบัติธรรมที่เรากระทำอยู่เรื่อยๆ เป็นนิจโดยไม่หยุดยั้ง ผลย่อมเกิดขึ้นได้ทุกครั้งไป และจะสืบเนื่องกันไม่ขาดระยะ ตราบเท่าที่เราไม่ทิ้งการปฏิบัติธรรมนั้น เราเป็นฆราวาสต้องพยายามทำคุณงามความดี ทำทาน รักษาศีล บำเพ็ญภาวนาให้เจริญ แล้วปัญญาก็ย่อมเกิดตามมาเอง

ท่านผู้รู้พูดเป็นปัญหาว่า กล้วย ๔ หวี สำรับอาหาร ๔ สำรับ สามเณรนั่งเฝ้า พระเจ้านั่งฉัน ปัญหานี้เป็นปัญหาธรรมะเปรียบเทียบกับการปฏิบัติของบุคคล ส่วนมากคนจะไม่นำไปคิดกัน

ข้อธรรมะที่ท่านให้ไว้แล้วให้นำไปตีความหมายให้ละเอียด กล้วย ๔ หวี ได้แก่ ธาตุ ๔ เณรน้อยนั่งเฝ้า ได้แก่คนโง่เขลาเบาปัญญา ไม่รู้เท่าทันตามหลักของพระธาตุ ๔ คือ ดิน น้ำ ไฟ ลม นั่งเฝ้าตัวเองอยู่ ไม่รู้ในตัวของตนนั้นมีอะไรบ้าง กินแล้วก็นอน เลี้ยงร่างกายให้อ้วนท้วนสมบูรณ์ ไม่ได้ทำอะไรที่ดีให้เกิดขึ้นแก่ตัวเองเลย อันนี้แหละชื่อว่าโง่เขลาเบาปัญญา ได้แต่นั่งเฝ้าตัวเองอยู่, สามเณรนั่งเฝ้าสำรับที่มีอยู่แล้วโดยไม่ฉัน ก็หมายถึงบุคคลที่ไม่รู้ธาตุ ๔ ตามความเป็นจริงว่า ธาตุดิน ธาตุน้ำ ธาตุไฟ ธาตุลม เป็นอย่างไร ไม่ยอมกำหนด รู้แบบชนิดที่ให้เกิดปัญญา, พระเจ้านั่งฉัน หมายความว่า พระอริยเจ้าทั้งหลายที่รู้หลักความจริงอันประเสริฐ เมื่อภาวนาได้ที่แล้วก็ยกธาตุ ๔ (เปรียบด้วยกล้วย ๔ หวี) มาพิจารณาตามหลักแห่งความเป็นจริง จนท่านเหล่านั้นสำเร็จคุณเบื้องสูง คือ พระอรหันต์ ก็เพราะพระอริยเจ้าท่านเป็นผู้ฉลาดในอรรถและพยัญชนะ จึงไม่นั่งเฝ้าอยู่เฉยๆ

ธาตุ ๔ ก็อยู่ที่ตัวของเรา ขันธ์ ๕ ก็อยู่ที่ตัวของเรา มันไม่ได้อยู่ที่ไหนเลย แต่คนที่ไม่รู้ว่าอะไรเป็นอะไร ก็เลยต้องนั่งเฝ้าเฉยๆ เหมือนลิงนั่งเฝ้าเม็ดทองคำ ไม่รู้ค่าของทองคำ คนที่โง่เขลาเบาปัญญาก็ได้แต่นั้งเฝ้ารูปธรรม นามธรรมที่มันอยู่ในตัวของเรานี่แหละ ท่านหยิบยกเอาธาตุ ๔ ขันธ์ ๕ มาสับโขลกให้ละเอียด จนท่านรู้แจ้งเห็นจริง ให้อัตภาพร่างกายของท่านเอง และอัตภาพร่างกายของคนอื่น

ท่านนั่งฉัน คือนั่งพิจารณาอัตภาพ คือธาตุ ๔ ขันธ์ ๕ เกิดมาแล้วมันเป็นอย่างไร เกิดมาแล้วก็เป็นทุกข์ คือความเปลี่ยนแปลงของร่างกาย พวกท่านทั้งหลายอย่าได้นั่งเฝ้าร่างกายอยู่เฉยๆ มันไม่เกิดปัญญา ปัญญามันเกิดจากการภาวนา คือ การอบรมจิต เพื่อจะทำลายกิเลสให้หลุดหายไปในที่สุด หลักสำคัญก็คงจะมีกายนี่แหละสำคัญมาก กายก็คือขันธ์ ๕ รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ ตามธรรมดาของรูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ นี้อยู่กับตัวเรา คือ จิต ตกลงว่าขันธ์ ๕ กับจิตนี่อยู่ร่วมกัน แยกกันไม่ออก


แต่ถ้าคนไม่รู้ไม่เข้าใจก็แยกแยะออกเป็นส่วนว่า ส่วนไหนเป็นรูป ส่วนไหนเป็นเวทนา และส่วนไหนเป็นสัญญา สังขาร วิญญาณ ยุ่งเหยิงกันไปหมด นอกจากปล่อยให้เรื่องราวที่เกิดขึ้นเกี่ยวพันกันกับใจ ให้มันผ่านไปตามธรรมชาติของมัน เราต้องพิจารณาให้รู้เห็นตามความเป็นจริงในขันธ์ทั้ง ๕ สู้กิเลสที่มันย่ำยีตัวเราอยู่นั้น ก็เท่ากับว่าพวกเราได้ทำอะไรให้เป็นประโยชน์แก่ตัวเอง ถึงแม้พวกเราจะบวชเข้ามาอยู่ใกล้พระพุทธองค์ ก็จะไม่มีความหมายนักบวชที่แท้จริงนั้น ต้องเป็นผู้ต่อสู้หรือปราบปรามกับกิเลส ถ้าเราไม่มีการต่อสู้กับมัน ปล่อยให้มันย่ำยีเราแต่ฝ่ายเดียวนั้น ตัวเราเองจะย่ำแย่ลงไปทุกที ผลสุดท้ายเราก็เป็นผู้แพ้ ยอมเป็นทาสรับใช้ของกิเลส ใช้การไม่ได้

สำหรับการสู้รบตบตีกับกิเลส จิตใจของเราจะรู้สึกว่า มีความทุกข์ยากลำบากเป็นกำลังอย่างมากทีเดียว แต่ก็ขอให้พวกเราทำต่อ และยอมรับความทุกข์ยากลำบากลำบนอันนั้น ยิ้มรับกับความลำบากเพราะความเพียรพยายามของเรา เมื่อเรามีความท้อถอยอิดหนาระอาใจต่อความเพียรของตนนั้น ให้พึงระลึกถึงพระพุทธองค์ผู้เป็นบรมครูของพวกเราว่า พุทโธ ธมฺโม สงฺโฆจาติ นานาโหนฺคมฺปิ วตฺถุโต คือ ให้ยึดพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ เป็นอารมณ์ โดยเฉพาะพระพุทธเจ้าของพวกเรา ก่อนที่พระองค์จะทำลายรังของกิเลสได้อย่างราบคาบ พระองค์ก็ใช้อาวุธหลายอย่างหลายชนิดเข้าประหัตประหาร จนกิเลสยอมจำนนต่อหลักฐาน ยอมให้พระองค์โขกสับได้อย่างสบาย

ขันติพระองค์ก็นำมาใช้ เช่น พระองค์บำเพ็ญทุกรกิริยา คือการกระทำที่บุคคลทั้งหลายในโลกทำได้ยากยิ่ง เพราะต้องใช้ความอดทนอย่างใหญ่หลวง จนเอาชนะกิเลสทั้งหลายทั้งปวงได้ พวกท่านทั้งหลายเมื่อเข้ามาอยู่ป่าแล้ว ก็ได้ชื่อว่าทำตามคำสอนของพระพุทธเจ้า พระพุทธเจ้าไม่นิยมอยู่บ้าน คลุกคลีด้วยหมู่ เพราะการคลุกคลีด้วยหมู่ จิตใจของเราก็จะไหลไปสู่อารมณ์ต่างๆ ได้ง่าย โอกาสที่จะทำให้จิตเป็นสมาธิ หรือทำให้จิตมีอารมณ์เป็นหนึ่งนั้นยากเหลือเกิน พระพุทธองค์เมื่อพระองค์ทรงบำเพ็ญทุกรกิริยา พวกท่านปัญจวัคคีย์ ๕ รูป ไปเฝ้าปฏิบัติพระองค์อย่างใกล้ชิดด้วยตั้งใจว่า เมื่อพระองค์บรรลุธรรมแล้วจักบอกแก่เราก่อน

เมื่อเรามาสันนิษฐานดูแล้วจะเห็นได้ว่าการคลุกคลีหรือการอยู่ร่วมกันหลายคนนั้น เป็นปฏิปักษ์ต่อการทำสมาธิ พระองค์ก็เลยต้องทำวิธีใดวิธีหนึ่งให้พวกปัญจวัคคีย์เกิดความเบื่อหน่าย แล้วจะได้หลีกหนีไปอยู่เสียที่อื่น พระองค์ต้องกลับมาเสวยพระกระยาหารอีก ทำให้ท่านเหล่านั้นไม่เชื่อมั่นในการกระทำความเพียร เลยต้องหลีกหนีไปอยู่ป่าอิสิปตนมฤคทายวัน เมื่อท่านปัญจวัคคีย์หนีจากท่านไปแล้ว พระองค์ก้ได้ทำความเพียรทางใจให้อุกฤษฏ์ยิ่งขึ้น จนสำเร็จเป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้าโดยกาลไม่นาน

อันนี้จะเห็นได้ว่า พระองค์ทำเป็นตัวอย่างไว้ให้เราดูแล้ว เราผู้เป็นศิษย์ของพระองค์ท่าน ก็ควรจะสำเหนียกและดำเนินตามการทำความเพียรเพื่อทำลายกิเลส มันจะต้องลำบากทุกสิ่งทุกอย่าง การกินก็ลำบาก อดมื้อฉันมื้อก็ต้องยอมอด อดมันทำไม อดเพื่อปราบกิเลส กิเลสมันก่อตัวมานานแสนนานหลายกัปป์หลายกัลป์มาแล้ว จากเราสาวหาตัว ต้นตอ โคตรเหง้าของมันไม่พบ นี่แหละท่านจึงสอนให้อยู่ป่าหาที่สงัด

แม้แต่ในครั้งพุทธกาล มีท่านพระเถระหลายท่านที่มุ่งหมายต่อแดนพ้นทุกข์ ได้ออกปฏิบัติตนทรมานตนอยู่ในป่าในเขา และก็ได้บรรลุมรรคเป็นพระอริยบุคคลเป็นจำนวนมากนับไม่ถ้วน ท่านทำกันจริงจัง หวังผล คือ การหลุดพ้นจริงๆ ท่านสละเป็นสละตายมาแล้วทั้งนั้น ความทุกข์ยากลำบาก ทุกข์มากทุกข์น้อย ย่อมมีแก่ทุกคนในขณะปฏิบัติ เราต้องทำความเพียร ก็ไปทุกข์อยู่กับความเพียร ทำนา ทำไร่ ก็ไปทุกข์อยู่กับทำนาทำไร่ อันนี้เป็นของธรรมดา แต่จะทุกข์มากทุกข์น้อยก็ขึ้นอยู่กับการกระทำที่ฉลาด รู้วิธีการบ้างพอสมควร อย่างการทำความเพียรต้องเป็นผู้รักษาสัจจะ คือ ให้มีสัจธรรม ตั้งใจ อย่างไรอย่าทำลายสัจจะ สัจจะเมื่อตั้งให้ถูกต้องตามอรรถตามธรรมแล้ว จะเกิดเป็นพลังของจิตอย่างดีเยี่ยม

พวกเราทั้งหลายตั้งหน้าตั้งตาเข้ามาสู่สมรภูมิรบด้วยกันเช่นนี้แล้ว ต้องตั้งหน้า ตั้งตาถอดถอนสิ่งที่เป็นข้าศึกต่อตนด้วยกัน อย่าถือว่าเป็นเรื่องง่ายๆ ถ้าถือว่าเป็นเรื่องง่ายแล้วกิเลสมันจะหัวเราะเยาะดูถูกพวกเรา ทุกข์เพราะการทำความเพียร มิใช่ทุกข์ที่ไม่มีผล เป็นทุกข์ที่ทำลงไปแล้วคุ้มค่า เราอย่าไปท้อถอยจงอดทนต่อสู้อุปสรรคต่างๆ การปราบปรามกิเลส ก็คือ การแก้ความไม่ดีที่สถิตย์อยู่ภายในตัวของรา จึงต้องทำด้วยความเพียรของบุรุษ ทำด้วยความตั้งจิตตั้งใจจริงๆ ทำด้วยความพากเพียรจริงๆ หนักก็สู้เบาก็สู้ เช่นเดียวกับเราตกน้ำ เราต้องพยายามแหวกว่ายช่วยตัวเอง กำลังวังชามีเท่าไรเอามารวมกันหมดเพื่อจะเอาตัวรอด จนกว่าชีวิตจะหาไม่ เมื่อไม่ไหวจริงๆ จึงจะยอมจมน้ำตาย

หากมีกำลังเพียงพออยู่ตราบใด จะไม่ยอมจมน้ำตายเป็นอันขาด อันนี้ก็เช่นเดียวกัน การจะทำความเพียรเพื่อหลุดพ้นนั้น จะทำเหลาะแหละไม่ได้ ต้องทำจริงๆ จังๆ จึงจะเห็นความจริงที่พระพุทธเจ้าตรัสเอาไว้ เรามาอยู่ร่วมกันมาก จงประพฤติตามธรรมตามวินัยอย่างเคร่งครัด อย่าเป็นคนมักง่าย วันหนึ่งคืนหนึ่งผ่านไป ผ่านไปอยู่เรื่อยๆ สังขารร่างกายนับเวลาที่จะผ่านไปๆ โดยลำดับ พวกเราอย่าปล่อยให้วันคืนล่วงไปเฉยๆ ต้องให้มันผ่านไปด้วยการปฏิบัติธรรม การปฏิบัติธรรมก็เพื่อจะกำจัดสิ่งปลอมแปลงนั้นออกให้เหลือแต่ของจริง คือ แก่นแท้ของธรรม เฉพาะอย่างยิ่งคือการหัดภาวนา ควรจะทำให้เกิดให้มีความแท้จริง งานอย่างอื่นเราก็เคยต่อสู้มาแล้ว ตั้งแต่ไหนแต่ไรก็ต่อสู้กับงานหนักงานเบามาแล้ว จนกระทั่งเวลาผ่านมาจนบัดนี้เราก็ทำได้มาเรื่อยๆ

แต่เวลานี้เราจะฝึกหัดภาวนา คือ การทำจิตใจโดยเฉพาะ และการทำภาวนานี้ก็เป็นงานที่จำเป็นจะต้องทำเช่นเดียวกับงานชิ้นอื่นๆ หรือควรที่จะทำให้หนักยิ่งไปกว่างานอื่นๆ เสียอีก เพราะเป็นงานหนักและละเอียดกว่างานทั้งหลาย การทำภาวนาแรกๆ จิตของเราย่อมกวัดแกว่งดิ้นรน ล้มลุกคลุกคลาน เป็นของธรรมดา เพราะจิตยังไม่เคยกับการภาวนามาก่อน จึงถือได้ว่าการภาวนาเป็นงานใหม่ของจิต ถึงจะยากลำบากแค่ไหนเราต้องฝึก เพื่อที่จะฉุดกระชากลากจิตที่กำลังถูกกิเลสย่ำยีอยู่นั้นให้พ้นภัยอันตราย ให้เป็นจิตที่ปราศจากกิเลสเรื่องเศร้าหมอง จึงเป็นสิ่งที่พวกเราทั้งหลายควรทำอย่างยิ่ง

เพราะฉะนั้นในโอกาสต่อไปนี้ จึงจำเป็นอย่างยิ่งที่พวกเราจะพากันมาบำเพ็ญเพียรทางด้านจิตใจ อันเป็นจุดหมายปลายทางให้เกิดความสุขความสมหวังขึ้นภายในใจของตัวเองด้วยจิตตภาวนา เหนื่อยบ้าง ลำบากบ้างก็ทนเอา การปล่อยให้จิตคิดไปในแง่ต่างๆ ตามอารมณ์ของจิตนั้น ไม่สามารถที่จะทำให้เกิดอะไรขึ้นมา นอกจากไปเที่ยวเก็บรวบรวมเอาความทุกข์ความร้อนจากอารมณ์ภายนอก มาเผาลนจิตใจของตนให้วุ่นวายเดือดร้อน ไม่ขาดระยะเท่านั้น ท่านกล่าวว่า สมาธิก็คือการทำใจให้สงบ สงบจากอะไร สงบจากอารมณ์ เครื่องก่อกวนทั้งหลาย เมื่อไม่มีอะไรมารบกวน ถ้าเป็นน้ำก็จะใสสะอาดดุจน้ำฝนที่ตกลงมาจากท้องฟ้า ยังไม่มีอารมณ์ภายนอกมารบกวน ก็จะเป็นจิตที่ใสสะอาดหมดจด

แต่ขณะนี้จิตของเราถูกกิเลส หรืออารมณ์ภายนอกเล่นงานแทบจะเอาตัวไม่รอดอยู่แล้ว แต่เราจะมาฝึกเพื่อให้จิตสงบจากอารมณ์ภายนอกเหล่านั้น การทำนั้นต้องค่อยทำค่อยไป จะกำหนดเอาวันนั้นเวลานั้นจะเกิดผลแน่นอนนั้นย่อมไม่ได้ เพราะการทำจิตให้ปราศจากอารมณ์ภายนอกนั้นต้องใช้เวลาพอสมควร ยิ่งถ้าเราไม่เคยฝึกมาก่อน จะเป็นการลำบากมากทีเดียว แต่ก็ไม่เหลือวิสัยที่เราจะทำ ในขั้นแรกของการอบรมจิตนั้น ท่านสอนให้ยึดเอาข้ออรรถ ข้อธรรมบทใดบทหนึ่งมาเป็นอารมณ์ บทใดก็ได้สำหรับเป็นเครื่องกำกับความคุมใจ ไม่เช่นนั้นจิตจะส่ายกวัดแกว่งไปสู่อารมณ์ต่างๆ ที่เราเคยชินกับอามรณ์นั้นๆ แล้วก่อความทุกข์ให้เป็นที่เดือดร้อนอยู่เสมอ

ท่านจึงสอนให้นำบทธรรมะข้อใดข้อหนึ่งมาเป็นอารมณ์ เช่น เราภาวนาบริกรรมว่า พุทโธๆ ธัมโมๆ หรือสังโฆๆ หรือจะกำหนดให้มีอานาปานสติ คือการกำหนดลมหายใจ-เข้าออกควบคู่ไปด้วยก็ได้ เช่น จะบริกรรมว่า พุท เข้า โธ ออก ดังนี้ คำว่าเข้า-ออกก็คือหมายกำหนดกองลมนั่นเอง หายใจเข้าก็กำหนดว่า พุธ หายใจออกก็กำหนดว่า โธ ดังนี้ และในขณะที่บริกรรมเราต้องมี “สติ” ควบคู่ไปด้วย เมื่อเรามี “สติ” ตามระลึกอยู่โดยการเป็นไปติดต่อโดยลำดับ จิตก็ไม่มีโอกาสจะแวะไปเกี่ยวข้องกับอารมณ์ภายนอก จิตก็จะค่อยหยั่งเข้าสู่ความสงบโดยลำดับ จิตใจขณะนั้นจะมีความสงบมาก ในขณะที่จิตสงบไม่ยุ่งเหยิงวุ่นวาย กาลเวลาและสถานที่จะไม่มีเลย ในขณะนั้นจิตจะสงบอย่างเดียว เพราะจิตที่สงบจะไม่สำคัญมั่นหมายติดอยู่กับสถานที่ กาลเวลาที่ไหนเลย มีแต่ความรู้ที่ทรงตัวอยู่เท่านั้น นี่เรียกว่าความสุขที่เกิดขึ้นจากการภาวนา จะเรียกว่าเป็นผลจากการภาวนาก็ได้ เราอยู่ในโลกนี้ เราต้องอยู่ให้ฉลาด ประกอบด้วยปัญญา ตัวเรารู้ว่าเราปฏิบัติผิด ไม่ถูกต้องตามหลักคำสอนของพระพุทธเจ้า ต้องพยายามแก้ไขที่ตัวเราให้ถูกต้อง คือเราต้องหาอุบายวิธีอยู่เสมอว่า ทำอย่างไรตัวเองจึงจะอยู่ให้เป็นสุขไม่วุ่นวายใจ อันนี้สำคัญมากทีเดียว

สิ่งทั้งปวงพระพุทธเจ้าสอนพวกเราว่า ถ้าใครละความโลภ ความโกรธ และความหลง หรือกำจัดความโลภ ความโกรธ และความหลงเสียได้ ผู้นั้นจะพบเห็นพระนิพพาน พระนิพพานอยู่เหนือความโลภ โกรธ หลง ท่านว่าอย่างนี้ ความโลภ โกรธ หลง เป็นรากเหง้าของโลก ชาติใด ภาษาใด ก็มีสิ่งทั้งสามนี้ ทุกคนหนีไม่พ้น มีปัญหาอยู่ ถ้าทุกคนมีกันแล้วอย่างนี้จะทำประการใดดี ไม่คิดจะละสิ่งเหล่านี้บ้างหรือ บางคนถ้าจะละมันออกไปก็ยังเสียดายมันอยู่ ถือว่ามันเป็นมิตรที่ดีต่อเราอยู่ ไม่ยอมให้มันตีตัวจากเราเลย อันนี้ก็ได้ชื่อว่า เราโง่กว่ากิเลส ปล่อยให้กิเลสเป็นนายเรา

๏ ปัจฉิมบท

หลวงปู่อ่อน ญาณสิริ ได้ดำเนินชีวิตทุ่มเทให้กับพระพุทธศาสนามาโดยตลอด ตั้งแต่วัยเด็กได้เข้าถือเพศบรรพชิตเมื่ออายุ ๑๖ ปี ออกศึกษาประพฤติปฏิบัติธรรมจนวาระสุดท้ายแห่งชีวิต ได้ฝึกฝนอบรมศาสนิกชนให้ประพฤติปฏิบัติชอบตามท่านมากมาย ได้สร้างสถานปฏิบัติธรรมเพื่ออนุชนนับไม่ถ้วน ได้แต่งเติมพระพุทธศาสนาให้คงสีสัน นำหลักธรรมปฏิบัติให้เข้าสู่จิตใจของชาวพุทธ นับได้ว่าท่านเป็นปูชนียบุคคลที่ชาวพุทธมิอาจลืมเลือน ท่านเป็นพระผู้ปฏิบัติ บำเพ็ญเพียรเพื่อพระนิพพาน เป็นเนื้อนาบุญของโลกโดยแท้

.............................................................

:b8: :b8: :b8: คัดลอกมาจาก...หนังสือแก้วมณีอีสาน
: รอยชีพรอยธรรมพระวิปัสนาจารย์อีสาน


:b44: รวมคำสอน “หลวงปู่อ่อน ญาณสิริ”
http://www.dhammajak.net/forums/viewtopic.php?f=72&t=50458

:b44: ประมวลภาพ “หลวงปู่อ่อน ญาณสิริ” วัดป่านิโครธาราม
http://www.dhammajak.net/forums/viewtopic.php?f=38&t=48739

:b44: หลวงปู่อ่อน ญาณสิริ ถาม...หลวงปู่ตื้อ อจลธมฺโม ตอบ
http://www.dhammajak.net/forums/viewtopic.php?f=7&t=48743

.....................................................
ทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว เป็นกฎตายตัว


แสดงโพสต์จาก:  เรียงตาม  
กลับไปยังกระทู้  [ 21 โพสต์ ]  ไปที่หน้า ย้อนกลับ  1, 2

เขตเวลา GMT + 7 ชั่วโมง


 ผู้ใช้งานขณะนี้

กำลังดูบอร์ดนี้: ไม่มีสมาชิก และ บุคคลทั่วไป 7 ท่าน


ท่าน ไม่สามารถ โพสต์กระทู้ในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ ตอบกระทู้ในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ แก้ไขโพสต์ของท่านในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ ลบโพสต์ของท่านในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ แนบไฟล์ในบอร์ดนี้ได้

ค้นหาสำหรับ:
ไปที่:  
Google
ทั่วไป เว็บธรรมจักร