วันเวลาปัจจุบัน 28 มี.ค. 2024, 17:11  



เขตเวลา GMT + 7 ชั่วโมง




กลับไปยังกระทู้  [ 7 โพสต์ ]    Bookmark and Share
เจ้าของ ข้อความ
โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 05 มี.ค. 2011, 22:51 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
สมาชิกระดับสูงสุด
สมาชิกระดับสูงสุด
ลงทะเบียนเมื่อ: 13 มิ.ย. 2009, 09:55
โพสต์: 4062

แนวปฏิบัติ: มรณานุสสติ
อายุ: 0
ที่อยู่: ตรงปลายจมูก

 ข้อมูลส่วนตัว


รูปภาพ

ประวัติและปฏิปทา
คุณแม่ชีแก้ว เสียงล้ำ

อริยสาวิกาในยุคปัจจุบัน
ศิษย์ท่านพระอาจารย์มั่น ภูริทตฺโต


สำนักชีบ้านห้วยทราย
บ้านห้วยทราย ต.คำชะอี อ.คำชะอี จ.มุกดาหาร



“แม่ชีแก้วที่อยู่บ้านห้วยทรายนี้
เป็นลูกศิษย์ดั้งเดิมของท่านอาจารย์มั่น
ตั้งแต่เป็นสาวโน่นนะ
แกภาวนาเป็นตั้งแต่ยังสาวโน่น

ความรู้ของคุณแม่แก้ว แปลกพิศดารมาก
ความสำคัญที่สุด เรียกได้ว่าไม่พลาดเลย
ไม่มีพลาด แม่นยำ ไม่เคลื่อนเลย”

ท่านพระอาจารย์มหาบัว ญาณสมฺปนฺโน
วัดป่าบ้านตาด ต.บ้านตาด อ.เมือง จ.อุดรธานี


ชาติภูมิของท่านเป็นคนบ้านห้วยทรายโดยกำเนิด เกิดเมื่อวันที่ ๕ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๔๔๔ ณ บ้านห้วยทราย ตำบลคำชะอี อำเภอคำชะอี จังหวัดมุกดาหาร เป็นบุตรของขุนธรรมรังสี (ซ้น เสียงล้ำ) กับนางด่อน เสียงล้ำ นามเดิมของท่านคือ นางตาไป่ เสียงล้ำ แต่งงานกับนายบุญมา เสียงล้ำ เมื่ออายุได้ ๑๗ ปี อยู่ด้วยกันมา ๑๙ ปี โดยไม่มีบุตรด้วยกัน

ประมาณปี พ.ศ. ๒๔๖๐ ท่านพระอาจารย์เสาร์ กนฺตสีโล กับท่านพระอาจารย์มั่น ภูริทตฺโต พร้อมคณะอันมีพระอาจารย์ขาว อนาลโย พระอาจารย์ชอบ ฐานสโม พระอาจารย์ฝั้น อาจาโร พระอาจารย์เทสก์ เทสรํงสี พร้อมพระภิกษุสามเณรประมาณ ๖๐-๗๐ รูป ได้เดินธุดงค์มาพำนักที่บริเวณวัดหนองน่อง ตั้งอยู่ทางทิศใต้ของสำนักชีแห่งนี้ ห่างประมาณ ๑ กิโลเมตร ท่านพระอาจารย์มั่นได้อบรมสั่งสอนญาติโยมในละแวกหมู่บ้านใกล้เคียง โดยแนะนำสั่งสอนให้นั่งภาวนาพุทโธและพิจารณาร่างกายของตนเอง ว่าไม่มีความเที่ยงแท้แน่นอน มีเกิด แก่ เจ็บ ตาย ตามสังขารด้วยกันทุกคน ท่านเป็นคนหนึ่งที่ได้ไปรับฟังคำสั่งสอนในครั้งนั้น (อายุได้ ๑๖ ปี) เผอิญในคืนนั้น เวลาประมาณ ๒๑.๐๐ น. ท่านได้บำเพ็ญภาวนาตามคำสอนของท่านพระอาจารย์มั่น จิตของท่านได้สงบเงียบไปเลยเป็นนิมิตเกิดขึ้นท่านเห็นตัวของท่านเองนอนตายได้นิมนต์ท่านพระอาจารย์มั่น และพระสงฆ์มาสวดมาติกาตามนิมิตของท่าน จนกระทั่งเวลาประมาณ ๐๔.๐๐ น. ท่านตื่นจากนิมิต ใจพะวงว่าใครหนอจะนึ่งข้าวใส่บาตร ขณะนั้นใจของท่านอิ่มเอิบเป็นที่สุด

ในคราวต่อมาท่านพร้อมด้วยชาวบ้านได้เข้าไปฟังเทศนาจากท่านพระอาจารย์มั่นอีก พอได้โอกาสท่านได้เล่าสิ่งที่เกิดขึ้นในคืนนั้นให้ท่านพระอาจารย์มั่นฟัง ท่านได้บอกว่าเป็นการปฏิบัติที่ถูกต้องแล้วในระดับเบื้องต้น ต่อมาท่านก็ได้ปฏิบัติมาเรื่อยๆ จนกระทั่งคณะของท่านพระอาจารย์มั่นได้ลาญาติโยมเพื่อจะไปธุดงค์ในถิ่นอื่นๆ ก่อนจากไปได้ปรารภกับคุณย่าว่า “หากเจ้าเป็นผู้ชาย เราจะให้บวชเณรและติดตามไปด้วย นี่เจ้าเป็นหญิง ไปด้วยก็ลำบาก และได้สั่งว่าให้หยุดภาวนาตั้งแต่นี้ต่อไป ให้ใช้กรรมไปตามประสาโลกๆ” ครูบาอาจารย์รุ่นหลังๆ ได้สันนิษฐานว่า ที่ท่านพระอาจารย์มั่นให้หยุดภาวนานั้นเพราะเป็นจิตที่โลดโผน ถ้ามีผู้แนะนำที่ดี ก็จะไปได้ดี ถ้าไม่มีผู้แนะนำ อาจจะทำให้เสียคนไปก็ได้

ประมาณปี พ.ศ. ๒๔๖๑ ท่านได้แต่งงานอยู่กินกันมาจนถึงปี พ.ศ. ๒๔๘๐ ท่านได้ขออนุญาตกับสามีว่าต้องการจะบวช ฝ่ายสามีพยายามทัดทานอ้อนวอนหลายครั้งหลายคราก็ไม่เป็นผลสำเร็จ และในที่สุดความตั้งใจอันแน่วแน่ของท่านก็บรรลุผล ท่านได้เข้าบวชเป็นชีตามปรารถนา โดยมีพระอาจารย์คำพัน กนฺตสีโล เป็นอุปัชฌาย์ที่วัดหนองน่อง ต่อจากนั้นได้ติดตามพระอาจารย์คำพันไปอยู่ที่วัดภูเกล้า (ห่างจากสำนักชีแห่งนี้ไปทางทิศใต้ประมาณ ๓๐ กิโลเมตร) ท่านอยู่ที่วัดภูเกล้ากับเพื่อนชีด้วยกัน ๔ คน กับพระอีก ๖ รูป

ท่านได้บำเพ็ญภาวานาอยู่ที่นั่นจนเกิดความรู้แปลกๆ ต่างๆ หลายอย่างที่ไม่เคยรู้ไม่เคยเห็นมาก่อน ท่านอยู่ที่นั่นได้ ๘ ปี เผอิญในเวลาต่อมาพระอาจารย์คำพันได้ลาสิกขา ท่านกับคณะแม่ชีได้พากันกลับมาที่บ้านห้วยทรายและได้พูดกับญาติพี่น้องลูกหลานตั้งสำนักชีแห่งนี้ขึ้นใน ปี พ.ศ. ๒๔๘๘ และเป็นสำนักชีแห่งแรกที่ไม่มีพระภิกษุอาศัยอยู่ด้วยแต่แม่ชีก็ยังปฏิบัติธรรมอย่างเดียว ท่านได้ไปกราบท่านพระอาจารย์มั่น ที่อำเภอพรรณานิคม จังหวัดสกลนคร เป็นครั้งคราวแล้วกลับมาจำพรรษาที่วัดนี้ตลอดเวลา ครั้ง พ.ศ. ๒๔๙๒ ท่านพระอาจารย์มั่น ภูริทตฺโต ได้มรณภาพที่วัดป่าสุทธาวาส จังหวัดสกลนคร ท่านพร้อมกับชาวบ้านได้พากันไปร่วมงานฌาปนกิจศพด้วย

พ.ศ. ๒๔๙๔ พระอาจารย์มหาบัว ญาณสมฺปนฺโน วัดป่าบ้านตาด จังหวัดอุดรธานี ได้จาริกเดินธุดงค์มาถึงบ้านห้วยทราย และได้พาคณะพระภิกษุและสามเณรมาจำพรรษาที่วัดป่าบ้านห้วยทราย แต่ตัวของพระอาจารย์มหาบัว กับสามเณรอีก ๑ รูป ได้ขึ้นไปจำพรรษาที่ถ้ำนกแอ่น ซึ่งอยู่ห่างจากบ้านห้วยทรายไปทางทิศตะวันตกประมาณ ๒ กิโลเมตร ในช่วงที่จำพรรษานั้น ท่านคุณย่าขึ้นไปฟังเทศน์จากพระอาจารย์มหาบัวเป็นครั้งคราว พระอาจารย์มหาบัวได้ถ่ายทอดความรู้เกี่ยวกับการปฏิบัติธรรม บำเพ็ญเพียรภาวนาทั้งหมดให้ท่านคุณย่าตลอดการจำพรรษาที่วัดป่าบ้านห้วยทราย ตลอด ๔ พรรษา

ต่อมาพระอาจารย์มหาบัวได้ปรารถถึงโยมมารดาที่บ้านตาด จังหวัดอุดรธานี ว่าท่านคุณย่าเป็นผู้ที่เหมาะสมที่จะอบรมถ่ายทอดความรู้อบรมธรรมะให้โยมมารดาของท่านได้เพราะเป็นหญิงด้วยกัน ต่อมาท่านคุณย่าพร้อมคณะอีก ๒ ท่านได้เดินไปจังหวัดอุดรธานีตามที่พระอาจารย์มหาบัวต้องการ ประมาณปี พ.ศ. ๒๔๙๘ แล้วท่านก็ได้บวชโยมมารดาของพระอาจารย์มหาบัว สมความตั้งใจของท่าน จากนั้นพระอาจารย์มหาบัวได้พาคณะสงฆ์และแม่ชีไปจำพรรษาที่วัดสถานีทดลอง จังหวัดจันทบุรี เวลาได้ ๑ พรรษาโยมมารดาของท่านอยากกลับภูมิลำเนาเดิม ซึ่งท่านก็ได้อนุญาตและได้พาคณะกลับมาสร้าง วัดป่าบ้านตาด อันเป็นภูมิลำเนาเดิมในปี พ.ศ. ๒๔๙๙ ท่านคุณย่าได้จำพรรษาอยู่ที่วัดป่าบ้านตาดกับโยมมารดาของพระอาจารย์มหาบัว จนถึงปี พ.ศ. ๒๕๑๐ เมื่อเป็นเวลาอันสมควร ท่านคุณย่าได้กราบลาพระอาจารย์มหาบัว กลับภูมิลำเนาเดิมที่บ้านห้วยทรายและได้บำเพ็ญเพียรภาวนา อบรมสั่งสอนชาวบ้านตลอดมาและมีสานุศิษย์อย่างกว้างขวางทั้งใกล้และไกลด้วยความเลื่อมใสศรัทธา

ครั้นเมื่อ พ.ศ. ๒๕๒๐ ท่านคุณย่าได้ป่วยด้วยโรคประจำตัว และมีคุณหมอเจริญและคุณหมอบุญเลี่ยม วัฒนสุชาติ จากกรุงเทพฯ ได้นำคุณย่าไปรักษาที่โรงพยาบาลพร้อมมิตร กรุงเทพฯ ระยะหนึ่ง อาการของคุณย่าหายเป็นปกติจึงได้กลับบ้านห้วยทราย

ต่อมากอาการป่วยของท่านคุณย่าก็มีเป็นครั้งคราวได้มี คุณหมอเพ็ญศรี มกรานนท์ ซึ่งเป็นอาจารย์สอนนักศึกษาแพทย์ โรงพยาบาลรามาธิบดี กรุงเทพฯ ได้ขึ้นมากราบพระอาจารย์มหาบัว ญาณสมฺปนฺโน และกราบคุณย่าเป็นครั้งคราว เห็นว่าท่านคุณย่าสมควรได้รับการดูแลและรักษาอย่างใกล้ชิด พร้อมนี้คุณหมอเพ็ญศรี ท่านก็ต้องการปฏิบัติธรรมด้วยจึงได้ลาออกจากราชการมาดูแลและเฝ้ารักษาท่านคุณย่าจนถึงวาระสุดท้าย นับเป็นเวลา ๑๔ ปี

จนกระทั่งวันที่ ๑๘ มิถุนายน ๒๕๓๔ เวลา ๐๙.๒๕ น. ท่านก็ได้จากไปด้วยอาการอย่างสงบ สิริอายุรวมได้ ๙๐ ปี และรวมเวลาที่บวชชีเป็นเวลา ๕๔ พรรษา

ตลอดเวลา ๕๔ พรรษาที่ท่านได้อยู่ในการบวชเป็นชีนั้น ท่านคุณย่าของเราได้บำเพ็ญเพียรภาวนา ปฏิบัติธรรม โดยสม่ำเสมอตลอดมา มิได้เคยประพฤติผิดในครองชีเพศเลย ด้วยอานิสงส์แห่งการบำเพ็ญเพียรภาวนา ปฏิบัติธรรมอันแน่วแน่ของท่านคุณย่านี้ ทำให้ท่านคุณย่าของเราได้รับความเลื่อมใสศรัทธาจากสาธุชนโดยทั่วไปเป็นจำนวนมากได้มาให้ความเคารพกราบไหว้มิได้ขาดสาย บัดนี้ท่านคุณย่าได้จากเราไปแล้ว คงเหลือแต่คุณงามความดี และแนวปฏิบัติที่ท่านเพียรพยายามทำไว้ให้เป็นอนุสรณ์แก่พุทธศาสนิกชนสืบไป


(จากธรรมานุสรณ์ : วันฌาปนกิจคุณแม่ชีแก้ว เสียงล้ำ)

.....................................................
~ นิพพานัง ปัจจโยโหตุ ~


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 05 มี.ค. 2011, 22:52 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
สมาชิกระดับสูงสุด
สมาชิกระดับสูงสุด
ลงทะเบียนเมื่อ: 13 มิ.ย. 2009, 09:55
โพสต์: 4062

แนวปฏิบัติ: มรณานุสสติ
อายุ: 0
ที่อยู่: ตรงปลายจมูก

 ข้อมูลส่วนตัว


พบหลวงปู่มั่น ภูริทัตโต

ประมาณปี พ.ศ.2460 หลวงปู่เสาร์ กันตสีโล และหลวงปู่มั่น ภูริทัตโต
พร้อมคณะพระกรรมฐาน อันได้แก่ หลวงปู่เทสก์ เทสรังสี หลวงปู่ชอบ ฐานสโมหลวงปู่ขาว อนาลโย และหลวงปู่ฝั้น
อาจาโร พร้อมด้วยภิกษุสามเณรจำนวนกว่า60 รูป ได้เดินทางมาถึงบ้านห้วยทราย คุณแม่ชีแก้วได้กราบนมัสการหลวง
ปู่มั่นเป็นครั้งแรกที่บ้านห้วยทรายนี้ ในขณะนั้นคุณแม่ชีแก้วมีอายุ 16 ปี ท่านเป็นคนขยันขันแข็งอยากจะปลูกหม่อน
เลี้ยงไหมจึงได้จับจองที่และถากถางป่าเตรียมจะปลูกหม่อน หลวงปู่มั่นได้เห็นพื้นที่บริเวณป่าที่คุณแม่ชีแก้วจับจอง
และได้ถากถางเพิ่งแล้วเสร็จ เห็นว่าเหมาะที่จะสร้างเป็นที่พำนักสงฆ์ จึงได้ขอที่ตรงนั้นจากคุณแม่ชีแก้ว ท่านก็ตกลง
ยกถวายหลวงปู่มั่น หลวงปู่มั่นได้ให้พรเป็นคำกลอนมีใจความว่า "ชาตินี้คุณแม่จะไม่มีวันอดอยาก" วัดแห่งนี้ชาวบ้าน
เรียกว่า "วัดหนองน่อง" (น่อง) เป็นเถาวัลย์ชนิดหนึ่งซึ่งเป็นยาเบื่อ นำมาต้มเคี่ยวให้ข้น แล้วนำไปติดปลายลูกดอก
เมื่อยิงถูกสัตว์จะสลบทั้นที) อยู่ห่างจากสำนักชีไปทางทิศใต้ประมาณ 1 กิโลเมตร

ต้นตระกูลของคุณแม่ชีแก้วเป็นชนชาวภูไทที่มีนิสัยรักสงบ รักความยุติธรรม ภาคภูมิใจในความเป็นไทย รักญาติพี่น้อง
และที่สำคัญยิ่งคือมีความกตัญญู ดังนั้นชาวบ้านในละแวกนั้นจึงนับถือผีบรรพบุรุษเป็นที่พึ่ง เมื่อหลวงปู่มั่นได้มาอยู่ที่วัดหนองน่องท่านได้เทศน์อบรมญาติโยมในบ้านห้วยทรายและชาวบ้านในละแวกใกล้เคียง
ที่มากราบนมัสการหลวงปุ่และทำบุญที่วัดนี้เสมอ ๆ จนชาวบ้านเกิดความเลื่อมใสศรัทธาเลิกนับถือผีมานับถือพระ และ
สอนลูกหลานให้ไหว้พระสวดมนต์แผ่เมตตาก่อนนอน

ครอบครัวของคุณแม่ชีแก้วเป็นผู้อุปัฎฐากดูแลวัดหนองน่อง ท่านจึงได้ติดตามคุณพ่อคุณแม่ไปทำบุญที่วัดเสมอ ๆ หลวงปู่มั่นไห้คุณแม่ชีแก้วรับไตรสรณคมน์ในปีแรกที่หลวงปู่มั่นได้มาอยู่ที่วัดหนองน่องนั่นเอง การรับไตรสรณคมน์
คือการน้อมใจระลึกถึงคุณพระรัตนตรัย (พระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์) และยึดถือเป็นหลักแห่งความประพฤติปฏิบัติ
หรือเป็นเครื่องนำทางในการดำเนินชีวิต การภาวนานั้นหลวงปู่มั่นสอนให้กำหนด พุทโธ ธัมโม สังโฆ พร้อมลมหายใจ
หลวงปู่มั่นได้ถามคุณแม่ชีแก้วว่า คำไหนลงลึกที่สุด คุณแม่ตอบว่า พุธโธ ลงถึงท้อง หลวงปู่ว่า ถ้าเช่นนั้นให้ภาวนา
แต่คำว่า "พุธโธ" คำเดียวก็พอ และบอกว่าให้ภาวนาในคืนวันนั้นเลย คุณแม่ก็รับปาก

เมื่อคุณแม่ชีแก้วรับประทานอาหารเย็นเสร็จแล้วก็เข็นฝ้าย (กรอด้าย) ใจจริงอยากจะทำให้ได้ฝ้ายหลาย ๆ หลอด ก็นึก
ได้ว่าได้รับปากกับหลวงปู่ว่าจะภาวนาจึงหยุดเข็นฝ้าย (กรอด้าย) รีบเข้านั่งภาวนาในที่นอนซึ่งเป็นเวลาประมาณ
21.00 น. คุณแม่ชีแก้วนั่งภาวนากำนหนดบริกรรม "พุธโธ" ไม่นานนัก จิตของท่านก็สงบและปรากฎนิมิตขึ้น เห็นตน
เองแก่ลง ๆ และตายในที่สุด แล้วก็มีหนอนชอนไชอยู่ตามอวัยวะ 32 กินร่างของท่านจนหมด เกิดความสลดสังเวชมาก
รู้สึกเหมือนตัวท่านออกจากร่างแล้วมองไปที่ศพ ในขณะนั้นหลวงปู่มั่นก็เดินมา คุณแม่ชีแก้วจึงก้มกราบและนิมนต์หลวง
ปู่มั่นขอความเมตตาให้มาติกาบังสุกุลให้ จากนั้นหลวงปู่มั่นได้ใช้ไม้เท้าชี้ลงไปที่ร่างของคุณแม่ชีแก้ว ก็เกิดไฟลุกไหม้
จนเป็นเถ้า คุณแม่ก็คิดว่า เราตายแล้วจะได้ไปเกิดที่ไหน พ่อแม่ก็ตายหมดแล้ว เช้านี้ใครจะนึ่งข้าวใส่บาตรครูบาอาจารย์
แทนเรา เมื่อคิดอย่างนั้นจิตก็ถอนออกมา ขณะนั้นเป็นเวลาประมาณ 04.00 น ลืมตาขึ้นมาก็เห็นว่าตนเองกำลังนั่งอยู่
จับเนื้อตัวแขนขาตนเองก็รู้ว่าตนยังไม่ตาย คุณแม่ชีแก้วเข้าใจว่าตนเองนอนหลับฝันไปและที่ตื่นนั้นก็อาจเป็นเพราะ
แม่เลี้ยงมาตะโกนปลุกให้ลุกขึ้นมานึ่งข้าวจึงตื่นก็เป็นได้ รุ่งเช้าเมื่อหลวงปู่มั่นมาบิณฑบาต คุณแม่ชีแก้วก็มาใส่บาตร
แล้วหลวงปู่มั่นได้บอกให้คุณแม่ชีแก้วตามไปที่วัดด้วย แต่คุณแม่ไม่ไปเพราะอายท่านที่ไม่ได้ภาวนาตามที่รับปากไว้
มัวแต่นอนหลับฝันเพลินไป หลวงปู่มั่นฉันข้าวเสร็จแล้วเก็บข้าวก้นบาตรไว้ให้คุณแม่ แต่เรียกหาไม่พบ จึงให้คนไปตามมา เมื่อคุณแม่ชีแก้วมาถึงก็ก้มกราบแล้วก้มหน้าเพราะอายที่ไม่ได้ภาวนา หลวงปู่ก็ให้กินข้าวก้นบาตรต่อหน้าท่าน คุณแม่
ชีแก้วก็ยิ่งอายเพราะเข้าใจว่าถูกทำโทษ หลวงปู่มั่นท่านสอบถามเรื่องภาวนา คุณแม่ก็กราบเรียนว่ามัวแต่นั่งหลับจนฝันไป เมื่อเล่าจบหลวงปู่มั่นก็เรียกพระในวัดให้มาที่ศาลาแล้วให้คุณแม่ชีแก้วเล่าอีกรอบ คุณแม่ชีแก้วก็เข้าใจว่าหลวงปุ่มั่น
ประจานท่านต่อหน้าพระมาก ๆ เพื่อให้เข็ดหลาบซึ่งเป็นความเข้าใจผิดของคุณแม่ เพราะแท้ที่จริงเป็นการส่งเสริมการ
ภาวนาของคุณแม่ ต่อแต่นั้นมาคุณแม่ชีแก้วก็ปฏิบัติภาวนามาเรื่อย ๆ

ต่อมาหลวงปู่มั่นมีความประสงค์จะพาคณะพระสงฆ์เดินทางไปธุดงค์ถิ่นอื่น ต่อ ๆ ไป ก่อนจากไปหลวงปู่มั่นได้ปรารภ
กับคุณแม่ชีแก้วว่า หากคุณแม่เป็นผุ้ชายก็จะให้บวชเณรและติดตามไปด้วย แต่นี่คุณแม่เป็นผู้หญิงจะลำบาก และสั่งว่า
ให้หยุดภาวนาตั้งแต่นี้ต่อไปให้ใช้กรรมไปตามประสาโลก เมื่อได้พบครูบาอาจารย์แล้วจึงค่อยภาวนา

(หลวงตาพระมหาบัวได้สันนิษฐานว่าที่หลวงปู่มั่นให้คุณแม่ชีแก้วหยุดภาวนานั้นอาจเป็นเพราะคุณแม่ชีแก้วมีจิตที่โลด
โผน ถ้ามีผู้แนะนำที่ดีก็จะไปได้ดี แต่ถ้าไม่มีผู้แนะนำอาจทำให้เสียคนได้)
พบหลวงตาพระมหาบัว ญาณสัมปันโน

ในปี พ.ศ. 2493 หลวงตาพระมหาบัว ญาณสัมปันโน ได้เดินทางธุดงค์นำพระสงฆ์สามเณร ได้แก่ หลวงปู่สิงห์ทอง
หลวงปู่เพียร หลวงปู่บุญเพ็ง หลวงปู่ลีสามาเณรภูบาลฯ ไปจำพรรษาที่บ้านห้วยทราย ก่อนที่หลวงตาพระมหาบัว จะ
ไปอยู่ที่วัดบ้านห้วยทรายนี้ ขณะที่คุณแม่ชีแก้วนั่งภาวนาได้เกิดนิมิตเห็นว่ามีเดือนตกลงมาที่วัดป่าบ้านห้วยทราย จาก
นั้นดวงดาวที่ล้อมรอบก็ตกลงมาด้วย คุณแม่ชีแก้วก็พยากรณ์ว่า จะมีครูบาอาจารย์องค์สำคัญและพระสงฆ์ไม่ต่ำกว่า
10 รูปมาที่บ้านห้วยทราย ต่อมาไม่นานหลวงตาพระมหาบัวก็ได้เดินทางมาที่บ้านห้วยทรายจริง ๆ ดังนิมิตของท่าน
ทำให้ท่านเกิดความปิติยินดีมาก เพราะจะได้พบพระอาจารย์ผู้ปฏิบัติดีปฏิบัติชอบมาเป็นครูบาอาจารย์สั่งสอนท่านดัง
ที่หลวงปู่มั่นได้บอกไว้ ในเวลานั้นนับได้ว่าเป็นมงคลการอีกสมัยหนึ่งของชาวบ้านห้วยทราย

การจำพรรษาที่บ้านห้วยทรายนี้ ท่านหลวงตาพระมหาบัวและสามเณรภูบาลได้ไปจำพรรษาอยู่ในถ้ำบนภูเขา ห่างจาก
บ้านห้วยทรายไปทางทิศตะวันตกประมาณ 1 กิโลเมตร ส่วนพระภิกษุท่านอื่น ๆ ก็จำพรรษาอยู่ที่วัดป่าวิเวกวัฒนาราม
บ้านห้วยทรายนั่นเอง

เมื่อคุณแม่ชีแก้วได้รับคำเตือนจากหลวงปู่มั่นเกี่ยวกับการภาวนาแล้ว ท่านก็ภาวนาด้วยความระมัดระวัง แต่ก็มีลักษณะ
เป็นนิมิตออกรู้ ออกเห็นภายนอก ลักษณะส่งจิตออกนอกจนกระทั่งคุณแม่ได้พบหลวงตาพระมหาบัว ซึ่งก็เป็นไปดังคำ
พยากรณ์ของหลวงปู่มั่น และคุณแม่ก็มั่นใจว่าได้พบครูบาอาจารย์องค์สำคัญแล้ว ท่านจึงได้เร่งทำความเพียรขึ้นมาอีกครั้ง

หลวงตาพระมหาบัว ญาณสัมปันโน ได้เล่าถึงคุณแม่ชีแก้ว ในหนังสือหยดน้ำบนใบบัว ไว้ว่า "พอวันพระหนึ่ง ๆ พวก
เขาจะไป ไปพร้อมกันไปละ ไปทั้งวัดเขาเลยแหละ พวกแม่ชีแม่ขาวหลั่งไหลกันไป ขึ้นบนภูเขาหาเรา ตอนบ่าย 4
โมงเย็นเขาก็ไป ตอนจวน 6 โมงเย็น เขาก็กลับลงมา พอไปถึงแกก็เล่าให้ฟัง ขึ้นต้นก็น่าฟังเลยนะ พอแกขึ้นต้นก็น่าฟังทันที"

"นี่ก็ไม่ได้ภาวนา เพิ่งเริ่มมาภาวนานี่แหละ** ญาท่านมั่นไม่ให้ภาวนา" แกว่าอย่างนั้น "ท่านห้ามไม่ให้ภาวนา"

** การภาวนาของคุณแม่ มีลักษณะออกรู้ออกเห็น เช่นก่อนหลวงปู่มั่นละสังขาร ท่านก็มาปรากฎในนิมิตภาวนาของ
คุณแม่ ให้คุณแม่ไปคารวะท่านก่อนท่านละสังขาร แต่คุณแม่ก็ไม่มีโอกาสได้ไป และในคืนที่ท่านละสังขาร คุณแม่ก็
ทราบในนิมิตภาวนาอย่างชัดเจน คุณแม่มีความชำนาญในการภาวนาลักษณะนี้ แต่การภาวนาที่จำเป็นต้องอาศัยครูบาอาจารย์ที่รู้แจ้งเห็นจริงเพื่อรับทราบอุบายการภาวนาในการชำระจิตใจเพื่อกำ
จัดกิเลสคุณแม่ยังไม่มี**

เราก็สะดุดใจกึ๊ก มันต้องมีอันหนึ่งแน่นอน ลงหลวงปู่มั่นห้ามไม่ให้ภาวนานี้ต้องมีอันหนึ่งแน่นอน จากนั้นแกก็เล่าภาวนา
ให้ฟังนี้ โถ ไม่ใช่เล่น ๆ พิสดารเกินคาดเกินหมาย เราก็จับได้เลยทันที "อ๋ออันนี้เองที่ท่านห้ามไม่ให้ภาวนา" พอไปอยู่
กับเรา...ไปหาเราก็ภาวนา พูดตั้งแต่เรื่องความรู้ ความเห็น ไปโปรดเปรตโปรดผีอะไรต่ออะไร นรกสวรรค์ แกไปหมด
รู้หมด แกรู้ ทีนี้เวลาภาวนา มันก็เพลินแต่ชมสิ่งเหล่านี้ครั้นไปหาเรานานเข้า ๆ เราก็ค่อยห้ามเข้า หักเข้ามาเป็นลำ
ดับลำดา ห้ามไม่ให้ออก ต่อไปห้ามไม่ให้ออกเด็ดขาด นี่แหละ เอากันตอนนี้ ทีแรกให้ออกได้ "ให้ออกก็ได้ไม่ออกก็ได้
ได้ไหมเอาไปภาวนาดู?"

ครั้นต่อมา "ไม่ให้ออก" ต่อมาตัดเลยเด็ดขาด "ห้ามไม่ให้ออกเป็นอันขาด" นั่นเอาขนาดนั้นนะทีนี้ ให้แกรู้ภายใน อันนั้น
เป็นรู้ภายนอก ไม่ใช่รุ้ภายใน ไม่ใช่รู้เรื่องแก้กิเลสจะให้แกเข้ามารู้ภายในเพื่อจะแก้กิเลส แกไม่ยอมเข้า เถียงกัน แกก็
ว่าแกรู้ แกก็เถียงกันกับเรานี่แหละ ตอนมันสำคัญนะ พอมาเถียงกับอาจารย์ อาจารย์ก็ไล่ลงภูเขา ร้องไห้ลงภูเขาเลย

"ไป..จะไปที่ไหน..ไป สถานที่นี่ไม่มีบัณฑิตนักปราชญ์ มีแต่คนพาลนะ ใครเป็นบัณฑิตนักปราชญ์ให้ไป ลงไป.." ไล่ลง
เดี๋ยวนั้น ร้องไห้ลงไปเลย เราก็เฉย น้ำตานี้ ไม่เห็นมีประโยชน์อะไร เราเอาตรงนั้น ไล่ไป "อย่าขึ้นมานะ แต่นี้ต่อไป
ห้าม" ตัดเด็ดขาดกันเลย ไปได้ 4-5 วัน โผล่ขึ้นมาอีก "...ขึ้นมาทำอะไร!!!..."
"เดี๋ยว ๆ ให้พูดเสียก่อน เดี๋ยว ๆ ให้พูดเสียก่อน" แกว่า"มันอะไรกัน นักปราชญ์ใหญ่" เราว่าอย่างนั้นนะ ว่านักปราชญ์
ใหญ่ แกว่า "เดี๋ยว ๆ ให้พูดเสียก่อน ๆ" แกจึงเล่าให้ฟังคือไปมันหมดหวัง แกก็หวังจะพึ่ง ก็พูดเปิดอกเสียเลย แกหวังว่า
"จะพึ่งอาจารย์องค์นี้ ชีวิตจิตใจมอบไว้หมดแล้วไม่มีอะไร แล้วก็ถูกท่านไล่ลงจากภูเขา เราจะพึ่งที่ไหน? แล้วเหตุท
ี่ท่านไล่ ท่านก็มีเหตุผลของท่านว่า เราไม่ฟังคำท่าน ท่านไล่นี่ ถ้าหากว่า เราจะถือว่า ท่านเป็นครูเป็นอาจารย์ แล้ว
ทำไมจึงไม่ฟังคำของท่าน เพราะเราอวดดี แล้วมันก็เป็นอย่างนี้ ไม่เห็นได้เรื่องได้ราวอะไร ทีนี้เลยเอาคำของท่านมา
สอนมาปฏิบัติมันจะเป็นยังไง? เอาว่าซิ มันจะจมก็จมไปซิ"

คราวนี้แกเอาคำของเราไปสอนบังคับไม่ให้ออกอย่างว่านั่นแหละ แต่ก่อนมีแต่ออก ๆ ห้ามขนาดถึงว่าไล่ลงภูเขา แกไม่
ยอมเข้า มีแต่ออกรู้อย่างเดียวพอไปหมดท่าหมดทางหมดที่พึ่งที่เกาะแล้ว ก็มาเห็นโทษตัวเอง

"ถ้าว่าเราถือท่านเป็นครูเป็นอาจารย์ทำไมไม่ฟังคำท่าน ฟังคำท่านซิ ทำลงไปแล้วเป็นยังไงให้รู้ซิ"
เลยทำตามนั้น พอทำตามนั้นมันก็เปิดโล่งภายในซิ ทีนี้จ้าขึ้นเลยเชียว นี่ก็สรุปความเอาเลย นี่แหละที่กลับขึ้นมา กลับ
ขึ้นมาเพราะเหตุนี้ ทีนี้ได้รู้อย่างนั้น ๆ ละทีนี้ รู้ตามที่เราสอนนะ
"เออ เอาละ ทีนี้ขยำลงไปนะตรงนี้ ทีนี้อย่าออก อย่ายุ่ง ยุ่งมานานแล้วไม่เห็นเกิดประโยชน์อะไร เหมือนเราดูดินฟ้าอากาศ
ดูสิ่งเหล่านั้นน่ะ ดูเปรตดูผี ดูเทวบุตรเทวดา มันก็เหมือนตาเนื้อเราดู สิ่งเหล่านี้ไม่เห็นเกิดประโยชน์อะไร ถอนกิเลสตัว
เดียวก็ไม่ได้ นี่ตรงนี้ ตรงถอนกิเลส" เราก็ว่าอย่างนี้ "เอ้า ดูตรงนี้นะ" แกก็ขยำใหญ่เลย เอาใหญ่เลย ลงใจไม่นานนะก็
ผ่านไป แกบอกแกผ่านมานานนะ...พ.ศ.2494 เราไปจำพรรษาที่ห้วยทราย ในราวสัก 2495 ละมัง แกก็ผ่าน..." (บรรลุธรรม)

นอกจากนี้ หลวงตายังได้เล่าถึงคุณแม่ชีแก้วว่ามีความรู้พิสดาร รู้เห็นแม่นยำมาก เช่น เมื่อหลวงตาออกจากวัด
คุณแม่ชีแก้วก็จะทราบว่าหลวงตาไปแล้ว เพราะจะรู้สึกเย็น ๆ ทั้ง ๆ ที่หลวงตาไม่ได้บอกใครล่วงหน้า หรือเมื่อหลวงตากลับมาที่วัดคุณแม่ชีแก้วก็จะทราบล่วงหน้าเช่นกันด้วยรู้สึกถึงกระแสความอบอุ่น คุณแม่ชีแก้วก็จะจัด
เตรียมหุงข้าว เตรียมหมาก ให้แม่ชีนำมาถวาย ไม่มีพลาดสักครั้ง จึงทำให้หลวงตาแปลกใจมาก และอีกเหตุการณ์หนึ่ง
ก็คือเมื่อหลวงปู่มั่นมรณภาพ คุณแม่ชีแก้วก็ทราบก่อนที่จะมีการประกาศข่าวมรณภาพของหลวงปู่มั่นทางวิทยุ เพราะ
เมื่อคุณแม่ชีแก้วเข้าที่ภาวนา หลวงปู่มั่นก็มาเร่งให้คุณแม่ชีแก้วไปวัดป่าบ้านหนองผือเพราะท่านอาพาธหนักและจวน
จะมรณภาพแล้ว จนถึงวันที่หลวงปู่มั่นมรณภาพ คุณแม่ชีแก้วก็ทราบในนิมิตภาวนาของท่าน
ตลอดเวลา 4 ปี ที่หลวงตาพระมหาบัว ญาณสัมปันโน จำพรรษา อยู่ที่บ้านห้วยทรายนั้น ชาวบ้านห้วยทรายให้ความเคารพรักและเทิดทูนหลวงตาเป็นที่สุดอย่างหาที่เปรียบมิได้ และเมื่อหลวงตาไปสร้าง
วัดป่าบ้านตาด อยู่ที่บ้านตาด อ.เมือง จ.อุดรธานีชาวบ้านห้วยทรายก็เดินทางไปกราบนมัสการหลวงตาอยู่เสมอไม่เคยขาด

.....................................................
~ นิพพานัง ปัจจโยโหตุ ~


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 05 มี.ค. 2011, 22:53 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
สมาชิกระดับสูงสุด
สมาชิกระดับสูงสุด
ลงทะเบียนเมื่อ: 13 มิ.ย. 2009, 09:55
โพสต์: 4062

แนวปฏิบัติ: มรณานุสสติ
อายุ: 0
ที่อยู่: ตรงปลายจมูก

 ข้อมูลส่วนตัว


บรรลุธรรม

ในวันศุกร์ แรม 5 ค่ำ เดือน 11 ตรงกับวันที่ 1 พ.ย. 2495 ขณะนั้นคุณแม่ชีแก้วมีอายุ 51 ปี เป็นเวลาที่คุณแม่ท่านเดิน
จงกรมตลอดคืน จนรู้สึกเหนื่อยจึงได้นั่งพักที่แคร่ใต้ต้นพะยอมแล้วเอนตัวลงนอนคิดว่าจะพักสักครู่แล้วจึงจะไปนึ่ง
ข้าว ก็รู้สึกว่ามีเสียงครืนเหมือนฟ้าผ่าแคร่ที่นอนอยุ่หักลง และมีเสียงผุดขึ้นมาเป็นคำกลอน พอจับใจความได้ว่า
"สิ้นชาติแล้ว" คุณแม่น้ำตาไหลพรากด้วยความตื้นตันใจในเรื่องนี้หลวงตาได้เคยกล่าวว่า

"ผู้เฒ่าแม่แก้วอัฐิเป็นพระธาตุแล้ว ผู้เฒ่านี้ถ้าพูดตามหลักความจริงก็ผ่าน(สิ้นกิเลส) มาหลายปีแล้วนี่นะ ถ้าจำไม่
ผิดเราว่า ตั้งแต่ พ.ศ.2495 โน่น นานเท่าไร"

ติดตามหลวงตาพระมหาบัว ญาณสัมปันโน
ในปี พ.ศ.2498 หลงตาพระมหาบัว ได้ปรารภถึงโยมมารดาของท่านหลวงตามีความประสงค์จะให้โยมมารดาของท่าน
บวช ก็ขอให้คุณแม่ชีแก้วเดินทางไปอุดรธานีพร้อมกับคณะสงฆ์ 4-5 รูป เช่น หลวงปู่สิงห์ทอง หลวงปู่เพียร หลวงปู่
บุญเพ็ง หลวงปู่ลี เพราะเห็นว่า คุณแม่ชีแก้วเป็นผู้ที่เหมาะสมจะอบรมถ่ายทอดความรู้ธรรมะให้แก่มารดาของท่านได้ดี
อีกทั้งเพราะเป็นหญิงด้วยกัน คุณแม่พร้อมคณะแม่ชี ได้แก่ แม่ชีน้อมและมีชีบุญ จึงได้เดินทางไปจังหวัดอุดรธานีตาม
ความประสงค์ของท่านหลวงตาพระมหาบัว คุณแม่ได้แนะนำภาคปฏิบัติภาวนา จนโยมมารดาของหลวงตามีความเลื่อม
ใสศรัทธาและได้ออกบวชตาม
หลวงตาพระมหาบัวได้ให้โยมมารดาของท่านบวชเป็นชีแล้ว ก็ได้พาคณะสงฆ์และแม่ชีไปจำพรรษาที่วัดสถานีทดลอง
เกษตร จ.จันทบุรี เป็นเวลา 1 พรรษา ซึ่งที่ดินที่สร้างวัดนี้เป็นของพี่สาวของหลวงปู่เจี๊ยะ จุนโท ถวายให้
ต่อมา โยมมารดาของท่านหลวงตาพระมหาบัวอยากกลับภูมิลำเนาเดิม เพราะความเป็นอยู่ที่จันทบุรีนั้นลำบากมากด้วยท่านไม่คุ้นเคยกับอาหารการกินและท่านก็ชรามากแล้วเห็นสมควรกลับ
ภูมิลำเนาเดิม เพื่อให้ลูกหลานได้มีโอกาสดูแลพยาบาลในช่วงปัจฉิมวัยของท่าน หลวงตาพระมหาบัวจึงได้พาคณะ
กลับมาสร้างวัดป่าบ้านตาดต.บ้านตาด อ.เมือง จ.อุดรธานี ในปี พ.ศ.2499 คุณแม่ชีแก้วได้จำพรรษาอยู่ที่วัดป่าบ้านตาดกับโยมมารดาของท่านหลวงตาพระมหาบัวจนถึงปี พ.ศ. 2510 คุณแม่ชีแก้วจึงได้กราบลาท่านหลวงตาพระมหาบัวกลับภูมิลำเนา บ้านห้วยทราย อ.คำชะอี จ.มุกดาหารและได้บำเพ็ญเ
พียรภาวนาอบรมสั่งสอนชาวบ้านตลอดมา มีสานุศิษย์ทั้งใกล้และไกล มากราบคุณแม่ชีแก้วด้วยความเลื่อมใสศรัทธา
เป็นจำนวนมาก

.....................................................
~ นิพพานัง ปัจจโยโหตุ ~


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 05 มี.ค. 2011, 22:54 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
สมาชิกระดับสูงสุด
สมาชิกระดับสูงสุด
ลงทะเบียนเมื่อ: 13 มิ.ย. 2009, 09:55
โพสต์: 4062

แนวปฏิบัติ: มรณานุสสติ
อายุ: 0
ที่อยู่: ตรงปลายจมูก

 ข้อมูลส่วนตัว


การปฏิบัติและเผยแพร่ธรรม

หลวงตาพระมหาบัว ญาณสัมปันโน ได้กล่าวถึงคุณแม่ชีแก้ว"ผู้เฒ่าแม่แก้วไม่มีสุข ไม่มีทุกข์ การปฎิบัติธรรมอย่างนี้นับเป็นตัวอย่างของชาวพุทธที่ชาวพุทธทั้งหลายจะได้สำนึกในความกล้าหาญ เด็ดเดี่ยว มั่นคง
และเป็นเอก นับว่าผู้เฒ่าผู้นี้ประสบสิ่งที่ไม่รู้จักเสื่อมคลาย เป็นผู้ปฏิบัติธรรมตามคำสอนของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้
ถึงที่สุดแล้ว

คุณแม่ชีแก้ว เป็นผู้ปฏิบัติธรรมรักษาศีลอุโบสถอย่างเคร่งครัด มีความเป็นอยู่เรียบง่าย สงบ บริสุทธิ์ กิจวัตรของท่าน
นั้นเป็นไปเพื่อธรรมโดยแท้ เริ่มจากตื่นนอนในช่วงเวลาประมาณ 03.00 นาฬิกา หลังจากนั้นจะทำวัตรเช้าและภาวนา
จนถึงเวลาประมาณ 05.00 นาฬิกา ก็จะเข้าครัวนึ่งข้าว ทำกับข้าวจัดให้แม่ชีที่มีอายุน้อยที่สุดนำไปถวายพระที่วัดห้วย
ทรายซึ่งมีอยู่ราว 3-4 รูป วัดห้วยทรายอยู่ห่างจากสำนักชีของคุณแม่ประมาณ 3 กิโลเมตร ซึ่งมีหมู่บ้านห้วยทรายคั่นอย
ู่ระหว่างกลาง แล้วรับอาหารที่เหลือจากพระนำมารับประทานและแบ่งให้ชาวบ้านไปรับประทานด้วย จากนั้นก็เริ่มเดินจงกรม เมื่อเหนื่อยจึงเปลี่ยนเป็นนั่งภาวนาแล้วท่องบทสวดมนต์ (ได้แก่ บททำวัตรเช้า-เย็น บทสวดเจ็ดตำนาน) ตอนบ่ายก
็เริ่มเดินจงกรมอีกรอบจนถึงเวลาประมาณ 15.00 นาฬิกา จึงหยุดเพื่อปัดกวาดบริเวณวัดแล้วตักน้ำ หาบ้ำจากบ่อใส่
ตุ่มเพื่อเตรียมไว้ใช้ จากนั้นได้เดินป่าหาเห็ด หาหน่อไม้ ตลอดจนพืชผักต่าง ๆ สำหรับประกอบอาหาร ตอนเย็นขึ้น
ศาลาไหว้พระสวดมนต์ ยกเว้นวันพระให้ลงทำวัตรที่ศาลาทุกคนร่วมกับหญิงชาวบ้านที่มารักษาศีลอุโบสถ จุดเทียน
เดินจงกรมจนถึงเวลาประมาณ 20.00 หรือ 21.00 นาฬิกา แล้วนั่งภาวนาถึงเวลาประมาณ 22.00 น. จึงนอนพักผ่อน คุณแม่ชีแก้วและคณะแม่ชีบ้านห้วยทรายปฏิบัติเช่นนี้เป็นกิจวัตร

นอกจากนี้ สำนักชีบ้านห้วยทรายยังมีระเบียบข้อปฏิบัติที่เคร่งครัดเพื่อให้แม่ชีทุกคนเป็นผู้ที่เคร่งครัดในศีลอันบริสุทธิ์งดงามควร
แก่การกราบไหว้บูชาด้วยความเลื่อมใสศรัทธา

คุณแม่ชีแก้ว มีอุปนิสัยเป็นคนพูดน้อย แต่คำพูดของท่านจะให้ข้อคิดหรือคติธรรมเสมอ ท่านมีความอ่อนน้อมถ่อมตน
เป็นปกติ เมื่อมีญาติโยมมากราบท่านและพูดว่า [/i]"มากราบไหว้ด้วยความนอบน้อมต่ออุบาสิกา แม่ชีแม่ขาว ผู้สุปฏิปัน
โน ปฏิบัติดี
ผู้ปฏิบัติชอบ ผู้ปฏิบัติตรง" คุณแม่ก็จะชิงพูดตัดบทว่า การมาของโยมเป็นบุญเป็นกุศลพอควรอยู่แล้ว คุณแม่ก็ขอให้
เป็นบุญเป็นกุศลด้วยเถิด แต่อย่าได้เอาการเป็นอยู่ของแม่ชีเฒ่า ๆ อยู่บ้านนอกคอกนา ไปเทียบเท่ากับพระสังฆคุรผู้
ประเสริฐนั้นเลย"

การสอนศิษย์ของคุณแม่ชีแก้วท่านจะเน้นเรื่องศีล ความมีระเบียบวินัย ความสามัคคี ความสำรวมระวัง เมตตาจิตและ
ความเคารพซึ่งกันและกัน ตลอดจนให้มักน้อย สันโดษ ไม่ให้สะสม ถ้ามีใครทำผิดท่านก็เตือน บางครั้งก็ทำเป็นกิริยา
เหมือนโกรธ พอผู้ผิดยอมลงให้ทีนี้ท่านก็เมตตาชี้โทษถูกผิด หรือเพื่อให้สำนึกตัวได้ แต่ท่านจะพยายามไม่ให้เสียน้ำ
ใจทั้งสองฝ่าย

คุณแม่ชีแก้วจะย้ำสอนเสมอว่า "พวกเราเป็นแม่ขาวนางชีมีครูบาอาจารย์แม้อยู่ใกล้ท่านก็เหมือนอยู่ไกล เพราะโอกาส
ใกล้ชิดมีน้อย เราไปวัดตอนเช้าก็ได้เห็นท่าน ไปวันพระก็ได้เห็นท่าน ได้ฟังธรรมจากท่าน เป็นอย่างนี้อย่าได้น้อยใจ เพราะต่างคนต่างก็รักษามิให้เป็นข้าศึกต่อกันได้ เราก็รักษาตัวเอง ครูบาอาจารย์ ท่านก็รักษาจิตใจของท่าน ท่านรัก
เราด้วยธรรม เมตตาเราด้วยธรรมนะ"[i]อาการป่วย
ในปี พ.ศ.2520 ขณะนั้นคุณแม่ชีแก้วมีอายุ 76 ปี ท่านได้ล้มป่วยด้วยวัณโรค เบาหวาน และมะเร็งที่ปอด มีอาการรุนแรง
มากถึงขั้นไอเป็นเลือด และอาเจียนเป็นเลือดครั้งละครึ่งกระโถน ได้เข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาลพร้อมมิตร กรุงเทพฯ
มีคุณหมอเจริญและคุณหมอบุญเลี่ยม วัฒนสุชาติ เป็นผู้นำไปรักษา เป็นเวลาประมาณ 10 กว่าวัน ในระหว่างนั้นมีพระ
อาจารย์หลายท่านมาเยี่ยม เช่นพระอาจารย์สิงห์ทอง พระอาจารย์สุวัจน์ พระอาจารย์ทุย เป็นต้น เมื่อคุณแม่มีอาการท
ุเลาลงก็ได้กลับไปรักษาต่อที่บ้านห้วยทราย โดยมีคุณหมอเพ็ญศรี มกรานนท์เป็นผู้ดูแล
คุณหมอเพ็ญศรี มกรานนท์ เป็นอาจารย์สอนนักศึกษาแพทย์รพ.รามาธิบดี กรุงเทพฯ และเป็นลูกศิษย์คนหนึ่งของหลวงตาพระมหาบัวได้ทราบเรื่องราวของคุณแม่ชีแก้ว ทางด้านปฏิปทา และจิตตภาวนา
ของคุณแม่จากหลวงตาพระมหาบัว เคยได้กราบเคารพ และมีความเลื่อมใสศรัทธาท่านมากเมื่อคุณหมอเพ็ญศรีได้
ทราบข่าวอาการป่วยของคุณแม่ชีแก้ว คุณหมอรู้สึกเป็นห่วงท่านมาก จึงได้ตัดสินใจมาอยู่ดูแลรักษาคุณแม่ เพราะ
ทราบว่าที่ อ.คำชะอีนั้น ไม่มี
โรงพยาบาล มีเพียงสถานีอนามัยเล็ก ๆ และคุณหมอก็เป็นนักปฏิบัติธรรมอยู่แล้วจึงเป็นโอกาสดีที่จะได้อยู่ใกล้ชิด
คุณแม่และรับธรรมจากท่านได้เต็มที่ ในขณะนั้นคุณหมอเพ็ญศรี ได้ลาออกจากราชการอยู่ก่อนแล้ว จึงมีความสะดวกที่จะดูแลคุณแม่ได้อย่างเต็มกำลังความสามารถในทุก ๆ ด้าน และด้วยความเคารพเลื่อมใส
ศรัทธาและเสียสละ คุณหมอเพ็ญศรีได้อยู่เฝ้าปรนนิบัติ ดูแลรักษาคุณแม่ชีแก้วจวบจนวาระสุดท้ายของคุณแม่เป็น
เวลาถึง 14 ปี

.....................................................
~ นิพพานัง ปัจจโยโหตุ ~


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 05 มี.ค. 2011, 22:56 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
สมาชิกระดับสูงสุด
สมาชิกระดับสูงสุด
ลงทะเบียนเมื่อ: 13 มิ.ย. 2009, 09:55
โพสต์: 4062

แนวปฏิบัติ: มรณานุสสติ
อายุ: 0
ที่อยู่: ตรงปลายจมูก

 ข้อมูลส่วนตัว


มรณกรรม
ในปี 2534 ขณะนั้นคุณแม่ชีแก้วมีอายุได้ 90 ปี ด้วยธาตุขันธ์ในวัยชรา และอาการป่วยที่รุมเร้า ท่านป่วยหนักในช่วง 3 ปีสุดท้าย และในที่สุด คุณแม่ชีแก้วก็จากไปด้วยอาการสงบ ในวันที่ 18 มิถุนายน 2534เวลา 09.25 น. ที่สำนักชีบ้านห้วยทราย อ.คำชะอี จ.มุกดาหาร สิริรวมอายุได้90 ปี 54 ปี ในเพศแม่ชี นับเป็นความสูญเสียบุคคลสำคัญของผู้ปฏิบัติธรรมในฝ่าย สาวิกา อย่างน่าเสียดายยิ่ง
ตลอดเวลา 54 ปี ในเพศแม่ชีที่คุณแม่ชีแก้วบวชชีนั้น ท่านได้บำเพ็ญเพียรภาวนา ปฏิบัติธรรมโดยสม่ำเสมอ มิเคยประพฤติผิดในคลองชีเพศเลยด้วยอานิสงค์แห่งการบำเพ็ญเพียรภาวนา การปฏิบัติอันแน่วแน่ของคุณแม่นี้ ทำให้คุณแม่ได้รับความเคารพ เลื่อมใสศรัทธา สาธุชน ทั่วไปเป็นจำนวนมากได้มาเคารพกราบไหว้ไม่ขาดสาย เมื่อคุณแม่ชีแก้วจากเราไปแล้วก็ยังคงเหลือแต่คุณงามความดีของท่าน และแนวปฏิบัติที่ท่านเพียรพยายามรักษาไว้ คงอยู่เป็นอนุสรน์แก่พุทธศาสนิกชนสืบไป

.....................................................
~ นิพพานัง ปัจจโยโหตุ ~


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 05 มี.ค. 2011, 22:56 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
สมาชิกระดับสูงสุด
สมาชิกระดับสูงสุด
ลงทะเบียนเมื่อ: 13 มิ.ย. 2009, 09:55
โพสต์: 4062

แนวปฏิบัติ: มรณานุสสติ
อายุ: 0
ที่อยู่: ตรงปลายจมูก

 ข้อมูลส่วนตัว


ประมวลคำสอนของ ......คุณแม่ชีแก้ว เสียงล้ำ
คำพูดคำสอนของคุณแม่โดยมากแล้วท่านจะพูดเป็นภาษาภูไท ซึ่งมีลักษณะเฉพาะของภาษาอีกทั้งท่านมักพูดเป็นคำคล้องจอง สุภาษิต คำผญา จึงยากแก่การฟังและแปลความ แต่ด้วยความพยายามของคณะศิษยานุศิษย์ ผู้เคยอยู่รับใช้ใกล้ชิด ก็พอประมวลคำสอนของคุณแม่ได้ดังนี้

-โลกอันนี้เป็นเอกนาโถ หาทุกข์ก็ได้ หาสุขก็ได้ หาประโยชน์และมิใช่ประโยชน์ หานรก หาสวรรค์ หามรรค หาผล หานิพพาน หาอะไรก็ได้หมด โลกนี้โลกหาได้

-เกิดเป็นคนต้องมีความอดควาทน มีความอุตสาหะพากเพียร ให้เล่าเรียน
ตายเกิด ตายเกิดอยู่นี้แหละ

-ผู้ได้เกิดได้ตายทุกคน แสนทุกข์แสนยาก แสนลำบากหัวใจจิตใจนี้

-ความเกิดความตายมันมีอยู่ทุกหมู่สัตว์ ไม่ว่าสัตว์บุคคลตัวตนเราเขา
เจ้าข้อยเจ้าข้าทั้งหลายก็มีตายกับเกิด เด็กน้อยผู้ใหญ่ตายไปเสมอกัน

-ให้เชื่ออยู่ในความตาย จะตายเช้าตายเย็นเรามิรู้จัก ความตายได้เวลาของเขาก็มาเอาไปน้อยใหญ่เสมอหน้า

-ให้พากันตั้งใจภาวนา ทำสมาธิอย่าเกียจคร้าน เอาขันธ์ห้าเป็นขันบูชา เอาหัวใจเป็นเทียนไต้ส่องทาง ให้พบเห็นทางพ้นทุกข์ เกิดเป็นคนให้ตั้งอยุ่ในศีล อย่าได้หมิ่นต่อธรรม

- ทุกข์ยากแท้ ทุกข์ตั้งแต่เกิด ทุกข์จนสุดท้ายตายแล้วก็ยังทุกข์อยู่

-อย่าได้กินแล้วนอนคือหมูคือหมาเด้อลูกแม่เด้อ ลูกเอ๋ยให้ฟังความแม่ ให้แน่ความหน่าย ให้อายความเกิด ให้เปิดความสุข อย่าเมานั่งจุกนั่งเจ่า อย่าเฝ้าแต่กองขี้เถ้าของตน

-อย่าให้เสียทีบวชเป็นชีแล้วนี่ ให้เป็นชีแท้ ๆ อย่าเอาแห้(หินกรวด) มาปนอย่าได้เป็นแม่ขาวแม่ขิว (เหม็นเขียว) แม่หลิ่วตาเข้าบ้าน อย่าได้เป็น แม่ขี้คร้านขี้ความ ขี้ขอ แม่มิพอความอยาก แม่มิยากความตาย แม่มิอายความเว้า แม่มิเล่าความธรรม ลูกแม่ทุกคนอย่าได้เป็นอย่างนี้

-ลูกเอ๋ยหากพอใจมาเป็นลูกแม่ แม่เว้าเห้อฟัง (ให้เชื่อฟัง) แม่จ่มเห้อ (บ่นให้) ว่าแม่สอน แม่คอนเห้อ (ให้) ลูกแม่หาบ แม่ก้มขาบ (กราบ) เห้อลูกแม่ตามเด้อลูกเด้อ

-เกิดแล้วตายเล่าเกิดเก่าตายตาม เชื้อนามหน่อพระ (พุทธ) เจ้า อย่าเน่าเล่นเหม็นโห (หึ่ง) ตายให้แท้ ตายให้จริง ตายทิ้งวางขันธ์ ตายเห้อ (ให้) ทันธรรม ตายนำ (ตาม) พระ (พุทธ) เจ้า ตายแล้วเข้าพระนิพพาน

-รีบตั้งใจภาวนาได๊ (นะ) ครั้นมิตั้งใจภาวนา บาด (เวลา) แม่ตายจะบ่อให้ (ร้องไห้) หว้าม ๆ (เสียใจ) อยู่ จะได้แต่ขายเพิ่นอายโต๋ (ตัวเอง)

-อย่าอ้างกาลอ้างเวลา อย่าไปอ้างว่ายามมื้อเช้าน้ำหลาย สายมาอ้างว่าแดดฮ้อน(ร้อน) ดึกออนซอน (ยามดึกสงัด) อ้างว่านอนบ่พอตา ซ้ำแจ้ง (สว่าง) มาคิดหาแต่ทางไป

-อย่าไปฟังแต่ความของกิเลสตัวขี้เกียจขี้คร้าน อย่าไปเว้า (พูด) ต้านความธรรมนักปราชญ์ คนขี้ขลาดเป็นแต่อ้างธรรมคำของโต๋ (ตน) โหมิโง โต๋มิติง คลำคิงแต่หม่องนอน (เหมือนคนตาย)

-ให้ภาวนาดูกองทุกข์ เกิดมาแล้วมันมีแต่ทุกข์ อยากก็ทุกข์ไม่อยากก็ทุกข์ อิ่มก็ทุกข์ไม่อิ่มก็ทุกข์ นั่ง นอน กิน ถ่ายก็ทุกข์อยู่ทุกเมื่อ ทุกข์ไจ้ ๆ บ่ไล่มื้อถิ่มวัน (ทุกข์ตลอดไม่ว่างเว้น)

-ทุกค่ำเช้าให้ตั้งต่อแต่ภาวนา วันคืนคิดถึงบุญสมสร้าง

-อย่าได้ไปอวดชาวบ้านกล่าวสามหาว ตัวขี้ฮ้าย (ขี้เหร่) เห้อ (ให้) หลบอยู่คือกบเห็นคนมาจะโตนหลุบลงน้ำ (กระโดดลงน้ำ) ตัวเป็นคนโง่อย่าอวดโต่ (ตน) ฉลาด

-อย่าเป็นคนหลัก หลอกอวดตัวดี ถ้าผู้ได๋อวดว่าตัวเป็นคนดี เป็นคนหลัก เป็นคนฉลาด คนนั้นเป็นคนใบ้ใจเบาผิดวินัย แต่คนดีนั้นใบ้ใจนั้นตั้งอยู่ในธรรม

-ให้ตั้งเจอรักษา กาย วาจา ใจ ให้รักษามารยาทให้เรียบร้อย อย่าเป็นคนพูดมากเอายากใส่แต่ตัว อย่าเป็นคนลืมโต๋ ให้ลืนเพิ่น เว้าเห้อระวังโต๋โหเห้อระวังคอ ถ้ามิรักษาคำเว้าผิดกะมิฮู้จักโต๋ ว่าแต่โต๋เว้าแม่นเว้าถึก (ให้สำรวมระวัง กาย วาจา ใจ)

-เวลาเขาด่าเฮาอย่าด่าตอบ เวลาเชาซังเฮาอย่าซังตอบ เวลาเขาฮ้ายเฮาอย่าฮ้ายตอบ เวลาเขานินทาเฮา เฮาอย่าเว้าพื้นคืนขี้ฝอย

-คนจริงนิ่งเป็นใบ้ คนพูดได้นั่นไม่จริง

-นกฮ้องในฮั้นว่าดี ชะนีฮ้องในฮั้นว่าโม้น หลวมพุ้มหลวมพี้ หาบ่อนเอามิได้

-เฮียนให้สุด ขุดให้เถิง เบิ่งให้ฮู้ ดูให้เป็น เห็นได้แนวในดวงแก้วทั้งสาม

-มิเฮ็ดมิเป็น มิเห้นมิฮู้

-โตบุญนั่นตัวดำก้นก่าน โตบาปนั่นหัวโล้นห่มเหลือง (สอนแม่ชีไม่ให้ใกล้พระสงฆ์)

-ศีลอยู่ที่ละ พระอยู่ที่ใจ

-ฮักกันแล้วกูมึงอย่าได้ว่า แม่นสิซัง (เกลียด) ท่อฟ้าความฮ้ายอย่าได้จา (พูด)

-คนเฮานี้คือกันทั้งโลก เกิดแล้วบ่อกลับปิ้นต่าว ตายเสี่ยงคู่ซู่คน

-เก้าทานสิบทาน บ่อท่อทานสังฆะเจ้า

-ค่อยคิดค่อยแก้ ค่อยแกค่อยดึง ค่อยขุดค่อยขน ค่อยค้นค่อยค้ำ ค่อยทำค่อยสร้าง ค่อยถางค่อยหว่าน ค่อยงั้นค่อยแง้น แม้นหากสิได้ก้อนคำ

-ใจอยากหยุ่ง ควายหลายโตจึงจ่อง โตหนึ่งข่องง่าคอง โตสอง ข่องง่าขามโตสามข่องง่าหมี้ โตสี่ข่องง่าหว่า โตห้าข่องง่าบก โตหกข่องง่าแต้ ไผสิช่วยแก้ควายข่องจั่งสิไป

-สุกอยู่ต้นบ่ปานฝานหัวบ่ม เพิ่นบ่มให้กะบ่ปานบ่มเอง

-เฒ่าหูหวาย เฒ่าดายดอก เฒ่าหยอกหลาน เฒ่าหาญป่า เฒ่าจ่าแห เฒ่าแวะโห้แวะสวน เฒ่าแดดฒ่าลม เฒ่าสมสินสร้าง เฒ่าอ้างตำรา เฒ่าศีลภาวนาเข้าวัด

-รักษาศีลเอาไว้ใจเที่ยงภาวนา สลึงเดียวกะบ่ได้หา สูเจ้าอย่าขี้คร้าน สมถะวิปัสสนาพร้อม เป็นการไกลกิเลส ละให้หลุดลงให้เสี่ยง ผลเที่ยงแม่นนิพพานประวัติที่ปรากฏในที่ต่าง ๆ

.....................................................
~ นิพพานัง ปัจจโยโหตุ ~


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 05 มี.ค. 2011, 22:58 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
สมาชิกระดับสูงสุด
สมาชิกระดับสูงสุด
ลงทะเบียนเมื่อ: 13 มิ.ย. 2009, 09:55
โพสต์: 4062

แนวปฏิบัติ: มรณานุสสติ
อายุ: 0
ที่อยู่: ตรงปลายจมูก

 ข้อมูลส่วนตัว


รูปภาพ
สมเด็จพระสังฆราชเจ้า กรมหลวงวชิรญาณสังวร (เจริญ สุวฑฺฒโน)
สมเด็จพระสังฆราชพระองค์ที่ ๑๙ แห่งกรุงรัตนโกสินทร์
“สมเด็จพระสังฆราชเจ้า” พระองค์ที่ ๔ แห่งกรุงรัตนโกสินทร์


รูปภาพ
หลวงตามหาบัว ญาณสัมปันโน แห่งวัดป่าบ้านตาด

รูปภาพ
คุณแม่ชีแก้ว เสียงล้ำ แห่งสำนักชีบ้านห้วยทราย


สมเด็จพระสังฆราชทรงสนทนาธรรมกับคุณแม่

เมื่อประมาณ พ.ศ. ๒๕๐๙-๒๕๑๐ สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช ขณะนั้นทรงดำรงสมณศักดิ์ที่ “พระสาสนโสภณ” ได้ไปที่วัดป่าบ้านตาด อ.เมือง จ.อุดรธานี และพำนักอยู่หลายวัน ในตอนนั้นคุณแม่ชีแก้วและคณะแม่ชียังอยู่ที่วัดป่าบ้านตาด ท่านได้สนทนาธรรมกับคุณแม่ โดยมีองค์หลวงตาและคณะแม่ชี ร่วมรับฟังด้วย ใจความการสนทนาธรรม มีดังต่อไปนี้

พระสาสนโสภณ : ............... (เทปตอนนี้ความไม่ชัดเจน)

คุณแม่ : เร่งความเพียรจนตัวเองไม่รู้สึก...... ไม่รู้เลย ไม่รู้เรา ไม่รู้จิต เวลามันจะเป็นขึ้นมา รู้ขึ้นมาๆ อะไรก็รู้หมด รู้ขึ้นมาๆ รู้ขึ้นมารวมลงที่ใจหมด รู้เข้ามาๆ แล้วตกวูบลงไปที่รู้ แล้วก็มีแต่รู้ตัวเดียวเท่านั้น รู้มากรู้น้อยมันก็รู้หมดเลย มีมากมีน้อยมันก็รู้หมดเลย...... มันเป็นอย่างนั้น ไม่รู้ว่ามันจะเป็นอะไร...... (หัวเราะ)......

พระสาสนโสภณ : ขึ้นอยู่กับทำสิ่งนั้น......

คุณแม่ : ก็ช่วงนั้นพระอาจารย์ไปเที่ยวธุดงค์ ท่านยังไม่กลับ การภาวนาไม่เป็นเหมือนอย่างเก่า รู้สึกอัศจรรย์ใจ มันเป็นอย่างไรใจนี่น่ะ ภาวนาไม่เป็นอย่างเก่านี้ แต่ก่อนแล้วพอภาวนาลงไปรู้สึกว่ามันมีอะไรขึ้นมา เมื่อท่านอาจารย์กลับมา ท่านถามว่าเป็นอย่างไรสมาธิภาวนา ถ้าภาวนาไม่มีอะไรอาตมาจะหนีท่านว่าอย่างนั้น.... ก็เลยเล่าเรื่องให้ท่านฟัง เหมือนกับเล่าให้พระเดชพระคุณฟังนี่แหละ ท่านก็ตอบปัญหาให้หมด อันนั้นเป็นอย่างนั้น อันนี้เป็นอย่างนี้...... ท่านจึงบอกว่า เอ้า ! ให้พิจารณาดูว่าใจเรามันเป็นอย่างไร มันออกไปอย่างไรก็ต้องรู้...... ก็เลยมานั่งภาวนา มานั่งภาวนา ภาวนาไปไม่รู้สึกอะไร มีแต่ผู้รู้ผุดขึ้นมาในใจ แล้วมีเสียงพูดแจ๋วๆ บอกท่านหมดเลย ท่านบอกว่า ท่านเองก็พูดขึ้นมาเหมือนกัน...... “พระอนุรุธขึ้นเต็มดวง สว่างไสว ใจคอพระอนุรุธแจ้งเต็มดวง สว่างไสว เหมือนพระจันทร์สว่างไสวเต็มดวง......” หมดเท่านั้นแหละ ไม่รู้จักถูกจักผิด ขออภัยอย่าโกรธเลย พระเดชพระคุณ ข้าน้อยก็ไม่รู้อะไร แล้วแต่พระเดชพระคุณ...... ขออภัย พระเดชพระคุณ ขอนิมนต์

พระสาสนโสภณ : ยังต้องการจะฟัง

คุณแม่ : รู้หมดทุกสิ่งทุกประการ ธาตุ ๔ ขันธ์ ๕ ดิน น้ำ ลม ไฟ ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ความโกรธ ความโลภ ความหลงทั้งหลาย มันก็เป็นอยู่ตามสภาพของมัน แล้วก็ลองพิจารณาให้มันเป็นอย่างเก่ามันก็ไม่เป็น เกิดมาแล้วก็ดับ ถ้าเกิดก็เกิดเป็นชาติใหม่ เป็นอย่างนี้ล่ะ ไม่ใช่ชาติเก่า ตายแล้วเกิดชาติใหม่ ไม่ใช่เป็นชาติเก่า จักถูกหรือผิดก็ไม่รู้ ขอเล่าถวายเพียงเท่านี้ ขออภัยถ้ามันผิดไป ผิดถูกก็ขออภัย

พระสาสนโสภณ : คิดอย่างไรกับชาติเก่าชาติใหม่

คุณแม่ : โอ๊ย ! ชาติเก่าชาติใหม่นี้ เมื่อเทียบกับตัวเรา เหมือนพวกเรานอนหลับ นอนหลับไปสนิทไม่รู้สึกตัว เวลาตื่นขึ้นมาแล้วก็รู้สึกตัว ยังเป็นตัวคนผู้เก่า เป็นคนผู้เก่า เขาก็ว่า อ้าว ! สิ่งของชนิดนี้ก็ลืมไปแล้ว ของชนิดนี้ก็เสื่อมไปแล้ว เขาเมาเหล้าเขาก็หลงหมด หลงตัวนี้อะไรก็วางทิ้งไว้...... คนเราเอาอะไรไป คือจะเป็นอย่างนั้นก็ไม่รู้ มันถูกก็ไม่รู้ คือจะเป็นอย่างนั้น

พระสาสนโสภณ : เป็นคนเดียวกันแต่ว่าเปลี่ยนสังขาร ใช่ไหม

คุณแม่ : สังขารก็สังขารอันเก่า กายก็กายอันเก่า ยังเปลี่ยนแต่ผู้รู้เท่านั้น...... ยังอยู่แต่ผู้รู้เท่านั้น เป็นอย่างนี้ ขออภัยด้วยเถิด แล้วพวกเรามีสิ่งของอะไร...... อะไรก็มีหมดทุกสิ่งทุกประการ สิ่งนั้นก็ได้เก็บ สิ่งนี้ก็ได้รักษาไว้ พยายามรักษาไว้ แล้วของสิ่งนั้นมันก็ดับไปหมด ไม่มีอะไรมาปกปักรักษา มันก็อยู่เรื่อยๆ เปื่อยๆ คนเราไม่มีอะไร คนจนๆ นี่เอง

พระสาสนโสภณ : หมายถึงว่าที่รู้สึกว่าเดี๋ยวนี้เป็นอย่างนั้นสำหรับแม่แก้ว ใช่ไหม

คุณแม่ : ใช่ เจ้าค่ะ

พระสาสนโสภณ : ท่านอาจารย์ไม่ต้องจัดอะไรมากหรอก


นิมิตท้าวธรรมกถึกมาขอเป็นลูก

คุณแม่เล่าว่า เมื่อคืนนี้ได้นิมิตว่าตัวเองได้เหาะขึ้นไปคลอดลูกบนอากาศ แต่ไม่เหมือนกับที่ชาวโลกเขาคลอดลูก ไม่มีเลือดไม่มียาง ไม่สกปรก เป็นลูกผู้ชาย ผิวพรรณเหลืองดั่งทองคำ มีรัศมีออกโดยรอบ ขณะอยู่ในท้องแม่ก็ใสเหมือนกับมองเข้าไปในแก้ว คลอดออกมาแล้วก็ลุกกราบได้ทันที พร้อมกับบอกชื่อว่า “ท้าวธรรมกถึก”

คุณแม่ถามว่า “ทำไมจึงอยากเกิด” ได้รับคำตอบว่า “จะลงมาบำเพ็ญบารมี จึงมาขอเกิดกับคุณแม่ก่อน ไม่ประสงค์จะเกิดในครรภ์ของมนุษย์ ขอเป็นลูกของคุณแม่” ขณะพูดคุยกันอยู่นั้น พระผู้ใหญ่ท่านหนึ่งก็มารับทารกทองคำนั้นไปเลี้ยงไว้ ต่อไปภายหน้าเด็กคนนี้คงต้องได้บวชและอยูู่่รับใช้ใกล้ชิดท่าน

คุณแม่พยากรณ์ไว้ โดยบอกถึงชื่อพ่อ-แม่ ของเด็กทารกคนนั้น และติดตามถามข่าวว่าพ่อ-แม่ ของเด็กได้ลูกชายจริงไหม และยังบอกอีกว่า เด็กจะอยู่ได้เพียง ๓ วัน แล้วจะมีผู้มาแทน เหตุการณ์ตามนิมิตก็เป็นจริงทุกอย่าง คือเมื่อเด็กทารกคลอดแล้ว ก็ร้องอุแว้เกือบตลอดทั้ง ๓ วัน จนเย็นวันที่ ๓ ก็สลบไป พ่อ-แม่ และญาติของทารกก็ว่าวันนี้เย็นค่ำมืดแล้ว พรุ่งนี้ค่อยเอาไปฝัง จากนั้นได้เอาผ้าหุ้มห่อเด็กเอาไว้ พอรุ่งอรุณวันใหม่ ซึ่งเป็นความหวังครั้งสุดท้ายของผุ้เป็นพ่อ-แม่ ผู้เป็นแม่ก็บีบน้ำนมจากเต้านมใส่ช้อนแล้วใช้สำลีชุบน้ำนมค่อยๆ แตะที่ริมฝีปากของทารก และน้ำนมได้ซึมไหลเข้าสู่ปากลงสู่ลำคอ จนที่สุด ทารกก็ขยับปากขยับคอได้ จึงรู้ว่ายังไม่ตาย

เมื่อครบกำหนดวันออกไฟแล้ว พ่อ-แม่ ของเด็กรีบพาเด็กไปกราบคุณแม่ทันที คุณแม่พูดว่า “ไม่ต้องเอามาให้แม่หรอก เขามาหาก่อนที่จะไปอยู่กับพวกเธอแล้ว เลี้ยงเขาให้ดี เขามาอาศัยร่างที่ได้จากโยม จึงนับว่าเป็นลูกของโยม ต่อไปภายหน้าเขาจะได้บวชค้ำชูพระพุทธศาสนานิมิตเทพบุตรมาขอเป็นลูก

นิมิตที่เป็นจริงของคุณแม่อีกเรื่องหนึ่งก็คือ เรื่องที่เทพบุตรตนหนึ่งจะจุติมาเกิดเพื่อสร้างบุญบารมีในบวรพระพุทธศาสนาสืบธรรมไว้ โดยคุณแม่เล่าว่า “ก่อนที่จะมาเกิด เทพบุตรตนนั้นได้ลงมายังโลกมนุษย์ เพื่อมาเสาะหาที่เกิด คือเสาะหาผู้จะได้เป็นพ่อเป็นแม่ ชาติตระกูลและลำดับการเป็นลูก แต่เป็นเพราะบุญเก่าส่งผลให้ จึงได้มาพบปะกันตอนที่อยู่ภูเก้า”

จนที่สุดผู้เป็นแม่ตั้งท้องได้ ๖ เดือน พระอินทราธิราชผู้เป็นหัวหน้าเทวดาอยู่บนสวรรค์พร้อมเทวดาหมู่มาก พากันนำเทพบุตรตนนั้นมาถวาย วันที่หมู่เทวดาเอามาส่งนั้น มีแสงสว่างไสวทั่วไปหมดในแถบถิ่นนั้น แต่รู้ได้เฉพาะคุณแม่กับคุณแม่แดง (แม่ชีมะแง้ ผิวขำ) แต่คุณแม่แดงท่านไม่ได้พูดให้ฟัง ในตอนหลังจึงได้พูดกับพระอาจารย์ผู้ใหญ่ ท่านจึงว่า “สามเณรรูปนี้ได้เห็นตั้งแต่ลงมาเสาะหาที่เกิด จึงได้ชวนให้มาเกิดกับ........”

วันนั้นเทพบุตรลงมาแล้วก็บอกว่า “จะมาขอเป็นลูกของคุณแม่ชี” คุณแม่ก็บอกว่า แม่บวชแล้วไม่อาจที่จะให้ใครมาเกิดด้วยได้ หากจะเกิดก็ให้ไปเกิดเข้าครรภ์ของนาง..............ภรรยาของนาย.............ให้เฝ้าครรภ์เอาไว้ เกิดกับสามีภรรยาคู่นี้แหละ ต่อไปภายหน้าก็จะได้บวชในพระพุทธศาสนาตามประสงค์ ผู้เป็นพ่อเป็นแม่ก็เป็นชาวไร่ชาวนา ก็พอที่จะส่งเสียให้เรียนหนังสือพออ่านออกเขียนได้ ถ้าหากถือเอาพ่อ-แม่คู่นี้เป็นที่เกิด เกิดมาในตอนนี้ก็จะดีมาก เพราะเป็นลูกที่เกิดกลางๆ เกิดมาแล้วพ่อแม่จะไม่ห่วงหาอาลัยนัก เพราะคนแถบถิ่นนี้เขารักและห่วงอาลัยลูกคนแรกและคนสุดท้ายเท่านั้น หากจะเกิดกับสามีภรรยาคู่นี้ก็จะได้เป็นลูกคนกลางกอปรกับต้นตระกูลของเขา ก็ฝักใฝ่สนใจใส่ใจในพระพุทธศาสนา จัดเป็นตระกูลสัมมาทิฐิ

เทพบุตรตนนั้นก็ว่า “จะรับรองได้อย่างไรว่า เมื่อเติบโตพอที่จะบรรพชาอุปสมบทแล้วจะได้บรรพชาอุปสมบทตามประสงค์” คุณแม่ก็ว่า “แล้วแต่บุพกรรมของท่านเอง” เมื่อได้สนทนาตกลงตัดสินใจกันแล้ว พระอินทราธิราช ผู้เป็นหัวหน้าเทวดาทั้งหลายก็กลับสวรรค์ไป เหลือแต่เทพบุตรผู้จะถือกำเนิดในครรภ์มนุษย์ต่อไป

หลายวันต่อมาคุณแม่จึงเรียกสามีภรรยามาพูดคุยให้ฟังตามเรื่องราวที่ปรากฎในนิมิตและออกปากขอทารก สามีภรรยาคู่นั่นก็ตกลงถวายให้เป็นลูกของคุณแม่ตั้งแต่บัดนั้น เมื่อครบกำหนดคลอดได้คลอดออกมาเป็นเด็กผู้ชาย รูปร่างหน้าตาอวัยวะครบถ้วนสมบูรณ์ พ่อของเด็กได้มากราบเรียนคุณแม่ทราบ คุณแม่บอกว่าให้ตั้งชื่อว่า...........ปัจจุบันได้อุปสมบทในบวรพระพุทธศาสนา สมความประสงค์และเป็นลูกศิษย์องค์สำคัญมากรูปหนึ่งขององค์หลวงตาพระมหาบัว ญาณสัมปันโน (โลกนี้โลกหาได้ หน้า ๙๑-๙๒)


คุณแม่ชีแก้ว เสียงล้ำ ทำนายหลวงปู่เขียน ฐิตสีโล

ในสมัยที่หลวงปู่เขียนออกฝึกหัดปฏิบติอยู่กับท่านพระอาจารย์มั่นนั้น ท่านเล่าว่า มีแม่ชีอยู่คนหนึ่งชื่อ แม่ชีแก้ว เสียงล้ำ ซึ่งแม่ชีผู้นี้ท่านพระอาจารย์มั่นกล่าวว่า เป็นผู้ที่มีธรรมะ เป็นผู้ประพฤติดีปฏิบัติชอบ ได้ทำนายท่านไว้ว่า

“ท่านมหาบวชมาแล้วชาตินี้เป็นชาติที่ ๓ และจะอยู่ในเพศบรรพชิตนี้ตลอดไปจะไม่สึก ชาติที่บวชครั้งแรกนั้นท่านมหาบวชเป็นสามเณรอายุได้ ๑๗ ปี ก็สึก ชาติต่อมาก็บวชเป็นสามเณรอีกอายุได้ ๑๙ ปี ย่างเข้า ๒๐ ปี แต่ยังไม่ได้บวชเป็นพระก็สึกอีก ชาตินี้เป็นชาติที่ ๓ และได้บวชเป็นพระอีก ทั้งจะอยู่ต่อไปได้ตลอดจะไม่ลาสิกขาออกไปเป็นฆราวาส จะอยู่ในเพศพรหมจรรย์ตลอดไป”

หลวงปู่ก็พูดว่า “ถ้าหากอาตมาอยากจะสึกจะทำอย่างไร คืออยากสึกมากๆ อดไม่อยู่แล้วก็สึกไป”

คุณแม่ก็กล่าวว่า “ไม่เป็นเช่นนั้น ถึงแม้ว่าท่านมหาจะอยากสึกอย่างไรก็ตาม แต่สำหรับชาตินี้แล้ว ท่านมหาจะต้องอยู่ในเพศพรหมจรรย์นี้ตลอดไป ไม่สึกแน่นอน”

หลวงปู่กล่าวว่า “ก็ได้แต่รับฟังไว้ คอยสังเกตดูตัวเองอยู่ตลอดมา” (ฐิตสีลานุสรณ์ หน้า ๒๗)


คัดลอกมาจาก...
http://www.dhammajak.net/board/viewtopic.php?t=13091

.....................................................
~ นิพพานัง ปัจจโยโหตุ ~


แสดงโพสต์จาก:  เรียงตาม  
กลับไปยังกระทู้  [ 7 โพสต์ ] 

เขตเวลา GMT + 7 ชั่วโมง


 ผู้ใช้งานขณะนี้

กำลังดูบอร์ดนี้: ไม่มีสมาชิก และ บุคคลทั่วไป 5 ท่าน


ท่าน ไม่สามารถ โพสต์กระทู้ในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ ตอบกระทู้ในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ แก้ไขโพสต์ของท่านในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ ลบโพสต์ของท่านในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ แนบไฟล์ในบอร์ดนี้ได้

ค้นหาสำหรับ:
ไปที่:  
Google
ทั่วไป เว็บธรรมจักร