วันเวลาปัจจุบัน 09 ก.ย. 2024, 13:10  



เขตเวลา GMT + 7 ชั่วโมง




กลับไปยังกระทู้  [ 48 โพสต์ ]  ไปที่หน้า ย้อนกลับ  1, 2, 3, 4  ต่อไป  Bookmark and Share
เจ้าของ ข้อความ
โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 24 ธ.ค. 2010, 10:52 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
ผู้จัดการ
ผู้จัดการ
ลงทะเบียนเมื่อ: 27 มี.ค. 2006, 17:34
โพสต์: 7781

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว www


รูปภาพ

ตอนที่ 19 แสงธรรม ส่องทาง

นับแต่ปี 2493 เป็นต้นมา หลวงตาเมตตาอบรมธรรมปฏิบัติ เฉพาะอย่างยิ่งจิตตภาวนา แก่พระเณรและฆราวาสเสมอมา บรรดาลูกศิษย์ลูกหาผู้ตั้งใจประพฤติปฏิบัติอย่างจริงจัง ก็มีจำนวนไม่น้อยที่ได้รับแสงธรรมของพระพุทธองค์เป็นลำดับ ไม่จำกัดว่าเป็นพระหรือฆราวาส ไม่จำกัดว่าเป็นหญิงหรือชาย พยานในธรรมก็ย่อมประจักษ์ขึ้นในใจของผู้ปฏิบัติเป็นลำดับไปเช่นกัน ดังคำกล่าวของท่านที่ว่า

"...ภาคปฏิบัติก็คืองานอันหนึ่งของเรา ทำไมงานเรามีด้วยการประพฤติปฏิบัติ ผลทำไมจะไม่มีได้เล่า เหตุกับผลเป็นของคู่เคียงกันมาแต่ไหนแต่ไร ทำไมเราทำมันจะไม่มีผล เมื่อเหตุเป็นไปสมควรแก่ผลจะพึงเกิดขึ้นได้อยู่แล้ว..."

ฉะนั้น เมื่อท่านเหล่านี้ต่างเพียรสร้างเหตุให้สมบูรณ์ขึ้นทุกขณะ ผลอันควรย่อมเกิดขึ้นได้และนำมาซึ่งความสงบร่มเย็นในจิตใจของท่าน กระทั่งไม่เห็นวัตถุสิ่งของเงินทองลาภยศบริษัทบริวารหรือยศถาบรรดาศักดิ์ใดๆ เป็นของประเสริฐเลิศเลอยิ่งกว่า "ธรรม" สิ่งเหล่านั้นเป็นเพียงเครื่องอาศัยเครื่องอำนวยความสะดวกแก่ร่างกายให้พอเป็นพอไปเท่านั้น แต่เรื่องของ "จิตใจ" นั้น ท่านถือเป็นสมบัติอันล้ำค่าอย่างหาประมาณมิได้เลย

ธรรมเทศนาที่หลวงตาแสดงแก่พระเณรผู้เข้ามาศึกษาอบรม...รุ่นแล้วรุ่นเล่า มิได้แตกต่างกัน คือท่านจะย้ำอยู่เสมอว่า "...การทำความเพียรเพื่อความพ้นทุกข์ จะยากลำบากเพียงไร ก็ให้ถือว่าเป็นงานอันตนจะพึงทำ หลีกเลี่ยงไปไม่ได้ ถ้าต้องการพ้นจากทุกข์ซึ่งกีดขวางกดถ่วงจิตใจอยู่ตลอดเวลานี้ ให้จิตใจเป็นอิสระ อย่าพึงท้อถอยทางความเพียร อย่าไปคำนึงว่าวาสนามากวาสนาน้อย ในขณะที่จะทำความดีมีการเดินจงกรมนั่งสมาธิเพื่อมรรคผลนิพพาน เป็นต้น

ถ้าจะคิดว่าอำนาจวาสนาน้อยในขณะที่จิตเลื่อนลอยเผลอตัวออกไป พอระลึกได้ก็ให้ทราบว่านี่เป็นการสั่งสมในการตัดทอนนิสัยวาสนาของตนให้ด้อยลงไปโดยลำดับ ถ้ามากกว่านี้ นิสัยวาสนาก็จะขาดสูญไปเพราะความชั่วเป็นสิ่งทำลายหรือเผาผลาญให้วอดวายไป

การทำความดีอยู่ตลอดเวลาก็คือ การสร้างอำนาจวาสนาขึ้นภายในจิต เพื่อจะปราบปรามสิ่งที่เป็นข้าศึกมีอยู่ภายในใจให้หมดสิ้นไปนั่นแล ใครจะไปสร้างวาสนาที่ไหน ถ้าไม่สร้างที่ใจ วาสนาจะมากน้อยเพียงไร ก็เกิดขึ้นที่ใจเป็นผู้สร้างได้

เราอย่าเข้าใจว่ามรรคผลนิพพานจะเหินห่าง จะอยู่ห่างกันจากปฏิปทาคือข้อปฏิบัติ เช่นเดียวกับบันไดมีความเกี่ยวเนื่องกันกับบ้านเรือน ตึกรามบ้านช่องจะสูงเพียงไร บันไดเลื่อนติดแนบไปทุกๆ ชั้นของบ้านของเรือน คำว่า ธรรมะ จะสูงขั้นไหนซึ่งเป็นฝ่ายผล ...ธรรมฝ่ายเหตุคือข้อปฏิบัตินี้จะพึงติดแนบกันไปทุกขั้นทุกภูมิ เพราะผู้ที่จะก้าวเข้าถึงธรรมขั้นนั้นๆ ก็ต้องเป็นไปตามธรรมขั้นเหตุ คือทางดำเนิน..."

หลวงตาเทศน์ให้กำลังใจแก่ศิษย์พระเณรและฆราวาสในคราวที่เกิดความทุกข์ ความลำบากท้อแท้ใจในการปฏิบัติธรรมว่า

"...ยากลำบากไม่ใช่อะไรพาให้ยากนะ ถ้าว่าจะสร้างความดีนี้มันหากมีเครื่องขัดเครื่องข้องขึ้นภายในใจ นั้นแหละคือกิเลสมันกีดมันขวางเรา ไม่ใช่ธรรมกีดขวางไม่ให้ทำ

ขึ้นชื่อว่าความดีแล้วมันไม่อยากให้ทำ นั่นคือกิเลสมันขวางไว้ๆ...ถ้าเราได้ทำตามใจของเราแล้ว ฝืนมันทำแล้ว ต่อไปก็ไม่ได้ฝืน กำลังมันอ่อนลงๆ ทีนี้ไม่ได้ทำอยู่ไม่ได้ แน่ะ อำนาจของความดีมีอย่างนั้น...

นี่เกิดมาชาตินี้ไม่ดีแล้ว เกิดแก้มืออีกไม่ได้นะ กรรมของเรามียังไงก็ต้องไป นี่พอเหมาะเป็นจังหวะที่เราเกิดมาเป็นมนุษย์แล้ว และพร้อมกับได้พบพุทธศาสนา พุทธศาสนาคือศาสนาเอก ผู้สิ้นกิเลสเป็นเจ้าของศาสนา พระพุทธเจ้าของเราเป็นผู้สิ้นกิเลส ไม่มีศาสนาใดที่เป็นผู้สิ้นกิเลสครองศาสนาสั่งสอนสัตวโล มีศาสนาพุทธ พุทธๆ นี่เท่านั้น ไม่ว่าพระพุทธเจ้าพระองค์ใด ขึ้นชื่อว่าพุทธศาสนาแล้ว ต้องเป็นศาสนาของท่านผู้สิ้นกิเลส...

ไม่ใช่ศาสนาจะมีตลอดไปนะ มีเป็นวรรคเป็นตอน เช่น เวลานี้ก็พุทธศาสนาของเรายังมี พอหมดจากนี้แล้ว กว่าจะไปถึงศาสนาพระอริยเมตไตรยนี้ นั่นแหละท่านเรียกว่า สุญญกัป...ไม่มีคำว่าบาปว่าบุญในหัวใจสัตวโลก ทั้งๆ ที่บาปบุญคุณโทษนรกสวรรค์มีอยู่ดั้งเดิมก็ตาม แต่ใจสัตวโลกยังไม่ยอมรับ สิ่งที่ยอมรับคือความอยากความทะเยอทะยาน ความเกรี้ยวกราด อะไรทุกอย่างขึ้นชื่อว่าความชั่วแล้วมันไปรวมนั้นหมด ให้ดูดให้ดื่ม ให้พออกพอใจ มองเห็นหน้ากันมีแต่กัดแต่ฉีกกันทั้งนั้น...

ถ้าเกิดเช่นนั้นแล้วเรียกว่ากรรม ผู้ที่มีกรรมหนาที่สุดจึงต้องไปเกิดในย่านนั้น...ก็ไม่มีที่จะได้สร้างบุญสร้างกุศล เพราะไม่มีใครแนะนำสั่งสอนรู้ได้ สิ่งที่สัตว์ทั้งหลายทำอยู่ทุกวัน ทำอยู่ด้วยความดูดดื่มก็มีแต่ความชั่วช้าลามก มีแต่ฟืนแต่ไฟอันเป็นผลเผาไหม้ ไม่มีส่วนดีเลย นี่เราไม่ได้เกิดในช่วงสุญญกัป เราเกิดในช่วงพุทธกัปคือกัปพระพุทธเจ้าอยู่เวลานี้ จึงให้พากันขวนขวาย...

เวลานี้เราได้เกิดมาพบพุทธศาสนาเรียกว่าเป็นบุญลาภของเรา กิจโฉ มนุสส ปฏิลาโภ การเกิดเป็นมนุษย์นี้เป็นบุญลาภอันประเสริฐ แน่ะออกจากนั้นก็ กิจฉัง สัทธัมมัสสวนัง ยังได้ยินได้ฟังธรรมของพระพุทธเจ้าอีก ก็เป็นบุญลาภอีกอันหนึ่งเพียงเท่านี้ก็พอแล้วเรา ท่านว่า กิจโฉ พุทธานมุปปาโท เพราะการเกิดขึ้นแห่งพระพุทธเจ้านั้น เป็นบุญลาภอันประเสริฐสุดของสัตวโลก นี่คำสอนของท่านที่เป็นองค์แทนศาสดามีอยู่ ให้ได้ยึดคำสอนของท่านนี้แลคือองค์แทนศาสดา จะไม่ผิดพลาด ให้พากันอุตส่าห์พยายาม..."

รูปภาพ


(มีต่อ 30)

.....................................................
ทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว เป็นกฎตายตัว


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 24 ธ.ค. 2010, 10:53 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
ผู้จัดการ
ผู้จัดการ
ลงทะเบียนเมื่อ: 27 มี.ค. 2006, 17:34
โพสต์: 7781

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว www


รูปภาพ

ตอนที่ 20 อยู่อย่างพอดี

พระช่วยโลกไม่ได้...ใครเล่าจะช่วยได้

ความเมตตาสงสารของหลวงตาที่มีต่อโลก ไม่ปรากฏเพียงแค่การเทศนาหรือการอบรมสั่งสอน ซึ่งเป็นหลักสำคัญที่สุดอย่างเดียวเท่านั้น ความเมตตาของท่านยังแผ่ขยายไปในแง่วัตถุสิ่งของเครื่องอุปโภคบริโภค โดยเฉลี่ยเผื่อแผ่สงเคราะห์ช่วยเหลือแบบเงียบๆ อย่างทั่วถึง ทั้งคนทุกข์คนจน คนประสบภัยตามภาคต่างๆ โรงพยาบาล โรงเรียน วัดวาอาราม หน่วยงานราชการ สถานสงเคราะห์ต่างๆ ไปตลอด ทั่วถึงแม้กระทั่งสัตว์พิการ ดังคำกล่าวของท่านตอนหนึ่งว่า

"...เรามีแต่ให้ แต่ให้ตลอด อำนาจความเมตตานะไม่ใช่อะไร เมตตานี้ครอบตลอด เป็นธรรมชาตินะ จิตกับเมตตาเหมือนกับว่าเป็นอันเดียวกัน มันอ่อนนิ่มไปหมด ไม่ได้ถือว่าสูงว่าต่ำอะไร มันไปด้วยกัน พร้อมเลยนะความเมตตาสงสารนี่น่ะ ไม่ว่าจะเล่นกับสัตว์ประเภทใด ความเมตตาอยู่นั้นนะ ไม่ใช่เล่นแบบโลกๆ เขาเล่น

...มันเป็นเหมือนอากาศนี่นะ ครอบไปหมดเลย อำนาจความเมตตามันเหนือทุกสิ่งทุกอย่าง คือ เหนือเรื่องความคิดจะโกรธจะเคียดจะแค้นให้ใครมันไม่มี อันนั้นมันครอบไว้เสียหมดเลย

ใครจะตำหนิก็ตาม ใครจะชมอะไรก็ตาม เมตตามันเหนือไปเสียทุกอย่างเกินกว่าที่จะคิดเรื่องเหล่านี้ ว่างั้นเถอะนะ เรื่องเหล่านี้เป็นเรื่องขี้หมาไปซะ พูดตรงๆ อย่างนี้...

ถ้าจะเทียบอย่างว่า พ่อแม่กับลูกนะ ลูกมันตัวเล็กๆ มันออดมันอ้อน มันจะกัดจะข่วนอะไรก็แล้วแต่ พ่อแม่มีแต่โอ๋ โอ๋ ใช่ไหมล่ะ เพราะความรักความเมตตานี่แหละ ในขั้นของปุถุชนก็เป็นอย่างนี้ เมตตาของปุถุชนมันเหนือที่จะไปถือสีถือสากับเด็ก ใช่ไหมล่ะ อันนี้ก็แบบเดียวกัน..."

หลวงตาให้การช่วยเหลือเป็นทาน เป็นการสงเคราะห์ตลอดมาตั้งแต่ตั้งวัดป่าบ้านตาด ถ้าคิดมูลค่าเป็นตัวเงินน่าจะเป็นหลักหมื่นล้านขึ้นไป ความเมตตาในส่วนนี้ ของท่านเคยกล่าวไว้ ดังนี้

"...ไปดูที่ไหนๆ เราดูจริงๆ ช่วยจริงๆ ...ถ้าเรายังไม่ตายแล้วเราจะช่วยตลอดไป ไม่ว่าโรงพยาบาลไหนๆ ช่วยทั้งนั้น โรงร่ำโรงเรียนก็ปลูกให้เป็นหลังๆ ขาดอุปกรณ์อะไรๆ บ้างให้ ให้ ให้ ไม่ว่าแต่โรงพยาบาล สถานสงเคราะห์ต่างๆ เราก็ให้..."

ด้วยเหตุนี้เอง วัตถุสิ่งของจตุปัจจัยไทยทานมากน้อย หากพอเพียงกับพระเณรและความจำเป็นในวัดแล้ว ท่านจะหมุนออกช่วยโลกอยู่เรื่อยมา ไม่มีส่วนที่สั่งสมไว้เพื่อตัวของท่านแม้แต่น้อย ดังคำกล่าวของท่านกับพระเณรในวัดป่าบ้านตาด ตอนหนึ่งว่า

"...ไม่ว่าการสงเคราะห์สงหาสิ่งใดที่มีอยู่ในวัดนี้ไม่ต้องมาขอ บอกว่าเป็นของทุกคน ผมไม่เคยที่จะสั่งสมอะไรแม้สักนิดหนึ่งภายในจิตใจเลย พูดตรงๆ อย่างนี้ เพื่อหมู่เพื่อคณะทั้งนั้น เรารับด้วยเหตุนี้เอง รับหมู่เพื่อน ถ้าพูดถึงเรื่องรัก เรื่องสงวน ก็เหมือนอวัยวะของผมเอง..."

กุฏิ ศาลา...พออาศัย

หากจะกล่าวว่า วัดของท่านเป็นเสมือนหนึ่งทำนบน้ำอันกว้างใหญ่ พร้อมเสมอที่จะให้บุคคลได้อาบดื่มใช้สอยและเพื่อกิจการประโยชน์อื่นใดได้ทุกขณะ ก็คงไม่ผิดไปเมื่อมีจตุปัจจัยเข้ามามากน้อยเพียงใด ท่านไม่เคยหวงแหนเก็บงำไว้เพื่อตัวของท่านหรือเพื่อวัดของท่านเลย มีแต่มุ่งทำประโยชน์ช่วยโลกเรื่อยมา

เหตุนี้เอง ภายในวัดป่าบ้านตาดจึงไม่มีสิ่งก่อสร้างสวยสดงดงามหรูหราแต่อย่างใด ดังนี้

"...เงินวัดนี้เงินเพื่อโลก เราไม่ได้เก็บสำหรับวัดนี้ ใครจะมาสร้างอะไรให้ เราไม่เอา นี่ดูซิ ศาลาของหลวงตาบัวนี้...ศาลาหลังนี้ก็ 4 หนแล้วนะ เขามาขอสร้าง...ขอรื้อสร้างใหม่ กุฏิเรา 8 หน มาขอปลูกใหม่ให้ ขอรื้อใหม่ปลูกใหม่ ถ้าไม่ให้รื้อก็ปลูกใหม่ เราไม่เอาทั้งนั้น หนที่ 8 ก็ขนาบกันใหญ่ซิถึงได้หยุดมา...

เราไม่ให้สร้าง สร้างไปหาประโยชน์อะไร สร้างหัวใจซิ ที่ประเสริฐเลิศโลกอยู่ตรงนี้ ไม่ได้อยู่กับอิฐกับปูนกับหินกับทรายไปสร้างมันหายุ่งหาอะไร ถ้าไม่ใช่หมาขี้เรื้อนหาเกาในที่ไม่คัน ฟาดกิเลสตัวมันดิ้นมันดีดให้เกาเอาตรงนั้นซิ ไปที่ไหนก็เลยเป็นทำเล เขาเรียกรีสอร์ตรีแสดไปหมดแล้วเดี๋ยวนี้ วัดต่างๆ กลายเป็นรีสอร์ตรีแสดไปละ เป็นอย่างนั้นนะ...

ศาสนธรรมเป็นสิ่งที่มีคุณค่ามากยิ่งกว่าวัตถุ เครื่องก่อสร้างให้ความกังวลวุ่นวาย เราคำนึงถึงเรื่องนั้นต่างหากนะ กุฏิ หลังที่สร้างขึ้นนี้เขาส่งเงินมา ก็บอกตรงๆ เลย เขาเห็นเราอยู่กระต๊อบสูงแค่เข่า พื้นก็สับไม้ไผ่เป็นฟากปู สร้างด้วยฟาง มุงด้วยหญ้า

เราอยู่นั้นพังไป 3 หลัง หลังที่ 4 ถึงได้ปลูกหลังนี้ขึ้นมา (กุฏิหลังปัจจุบัน) เพราะปลวกกินต้นเสาล้มลงปลูกใหม่ ช่างพอทราบว่าเป็นกุฏิของเราก็มาต่อว่าเราที่ศาลา คนก็ยังอยู่มากๆ นี้เขามาต่อว่าเรา ยังร้องไห้อีกด้วย บอกว่า

"ครูบาอาจารย์ชื่อเสียงโด่งดังทั่วประเทศไทย มาดูกุฏิแล้วหลังเท่ากำปั้นจะอยู่ได้ยังไง ?"

"เอ้า ตั้งแต่อยู่ในท้องของแม่นี้เป็นยังไง ? ท้องของแม่กับกุฏิหลังนี้อะไรใหญ่กว่ากัน กุฏิหลังนี้ ยืนได้เดินได้ นั่งได้นอนได้อย่างสะดวกสบาย ไปมาได้ ในท้องแม่ ไปไหนได้ไหม ? คับแคบยิ่งกว่านี้ยังอยู่ได้ตั้ง 9 เดือน 10 เดือน อันนี้ขนาดนี้แล้ว ทำไมจะอยู่ไม่ได้ ถ้าต้องการกว้างๆ ก็ไปอยู่ทุ่งอยุธยานั่นซิ..."

เขาไม่ยอมซิ กลับไปเขาส่งเงินตูมมา ทีนี้เราไม่ได้มีข้อสั่งเสียหรือมีข้อแม้อะไรเอาไว้ จะส่งกลับคืนก็เหมือนประชดกันนี่ เลยได้ฝืนปลูกนะ...

จากนั้นเราก็สั่งเลยเทียว ใครจะส่งสิ่งส่งของเงินทองมาให้เกี่ยวกับการก่อสร้างในวัดป่าบ้านตาดนี้แล้ว ต้องให้เราทราบเสียก่อน ถ้าส่งมาสุ่มสี่สุ่มห้าก่อนหน้าอย่างนั้นไม่ได้ ถ้ายังไม่ได้ตกลงกันแล้ว ส่งมาเท่าไรก็ไม่สำเร็จ ต้องบอกอย่างนั้นเลย เราก็ถือปฏิบัติอย่างนั้นมา ใครจะมาสร้าง หากไม่ได้ขออนุญาตให้เป็นที่ตกลงใจกันเสียก่อน เราไม่ให้ทำ...

ที่อยู่ พออยู่ อยู่ไป แต่ทางจงกรมให้เป็นเหวไปเป็นไร (เดินจงกรมมากกระทั่งทางเดินเป็นร่องลึก) นั่นละ ธรรมเจริญ พระพุทธเจ้าพระสาวกท่านดำเนินอย่างนั้น ท่านไม่ได้เอาวัตถุออกหน้าออกตาอะไร นี่อยู่ที่ไหนมีแต่เรื่องก่อสร้างถือเป็นใหญ่เป็นโต เป็นหลักศาสนาใหญ่โตเชียว เห่อแข่งขันโน่น จะว่าอะไร...

ศาลา นี่ เขาก็อยากจะมาทำใหม่ให้เราก็ไม่เอา ตีเพดานให้ เราก็ไม่ให้ตี นั่นนี้มันเหมาะแล้ว พอดีแล้ว โก้หรูไปอะไรเรื่องโลกๆ ให้โก้หรูอยู่ภายในหัวใจซิ ใสสว่างกระจ่างแจ้งอยู่ภายในใจ นั่น ของอัศจรรย์อยู่ตรงนั้นต่างหาก ไม่ได้อยู่กับหินกับทราย กับอิฐกับปูนกับเหล็กหลาอะไรนี่ อยู่กับธรรมต่างหาก ธรรมกลมกลืนกับใจแล้วใจกับธรรมต่างหากประเสริฐหรูหรา ทำพออยู่ได้พอ..."

ขรัวตา...วาสนาน้อย

ท่านกล่าวกับพระเณรเมื่อกลางปี พ.ศ. 2522 ว่า

"...มีเจ้าศรัทธาท่านหนึ่ง จะถวายเงินเพื่อสร้างโบสถ์ทั้งหลัง เรายังไม่อาจรับได้ เคยมีบ้างไหมในประเทศไทย และองค์ไหนที่มีผู้ถวายเงินสร้างโบสถ์ทั้งหลังแล้วไม่รับ นอกจากขรัวตาวาสนาน้อยนี้เท่านั้น จึงไม่อาจรับได้

ที่ไม่อาจรับได้นั้นก็มีเหตุผลเหมือนกัน...ความจริงหลักธรรมที่เราเล็งอยู่ยึดถืออยู่ กราบไหว้บูชาเป็นขวัญใจและเทิดทูนสุดจิตสุดใจอยู่ตลอดเวลานั้น เป็นสิ่งที่ใหญ่โตมากยิ่งกว่าสิ่งใดในโลกธาตุ สิ่งเหล่านั้นเราไม่ได้เทิดทูนเหมือนธรรม เพราะเป็นเพียงปัจจัยเครื่องอาศัยไปเป็นวันๆ เท่านั้น ส่วนธรรมเป็นเรื่องใหญ่โตมากที่ต้องรักสงวน

เรื่องการสร้างโบสถ์สำหรับวัดนี้ยังไม่มีความจำเป็น สิ่งใดที่จำเป็นก็ทำสิ่งนั้นเช่น จิตตภาวนาเป็นงานจำเป็นอย่างยิ่ง การทำอุโบสถสังฆกรรมทำที่ไหนก็ได้ ตามร่มไม้ชายเขาที่ไหนก็ได้ ไม่ขัดข้องอะไร ตามหลักพระวินัยจริงๆ แล้ว ไม่มีอะไรขัดข้อง การสร้างโบสถ์สร้างวิหารควรให้เป็นที่เป็นฐานที่เหมาะที่ควร ไม่ใช่จะสร้างดะไปหมด

...การสร้างโบสถ์หลังหนึ่งเป็นยังไง นับตั้งแต่เริ่มแรกตกลงกับช่างในการสร้างโบสถ์เป็นยังไง ถนนหนทางเข้าไปในวัด จนถึงบริเวณที่จะสร้างโบสถ์จะต้องเปิดโล่งตั้งแต่บัดนั้นจนกระทั่งถึงวันสร้างโบสถ์สำเร็จ ต้องบุกเบิกไปหมดยิ่งกว่าโรงงาน คนงานก็ต้องมีทั้งหญิงทั้งชายจำนวนมากมายที่จะเข้ามานอนกองกันอยู่นี้ ทั้งช่างทั้งคนงานไม่ทราบมาจากแห่งหนตำบลใด

บางรายหรือส่วนมากก็ไม่เคยรู้เลยว่าศาสนาเป็นอย่างไร พระเณรในวัดท่านปฏิบัติอย่างไร แล้วเขาจะมีความเป็นระเบียบเรียบร้อยพอเป็นความสงบงามตาแก่พระเณรในวัดได้ยังไง มันต้องเหมือนกับเอายักษ์เอาเปรตเอาผีเข้ามาทำลายวัดนั่นเอง

ในขณะที่เปิดโอกาสตกลงกันเรียบร้อยแล้วนั้นน่ะ ไม่ว่าผู้คนหญิงชาย รถราต่างๆ ต้องเข้าต้องออกกันตลอดเวลา ประตูวัดปิดไม่ได้เลย และสถานที่ที่จะสร้างโบสถ์ขึ้นมาให้เป็นของสง่างามแก่วัดแก่พระสงฆ์ในวัด แต่พระเณรกลับตายกันหมดจากจิตตภาวนา จากมรรคผลนิพพาน ที่ควรจะได้จะถึงจากสมณธรรม...คือจิตตภาวนาแล้ว จะเอาอะไรมาเป็นความสง่างามอร่ามตา

"ลองพิจารณาดูซิ นี่เราคิดอย่างนั้น และพูดอย่างนี้นะ จะเป็นความคิดผิดพูดผิดหรือถูกประการใดบ้าง ?..."

เครื่องใช้ไม้สอยตามเหตุผล

คำกล่าวของท่านเกี่ยวกับเครื่องใช้ไม้สอยอันเหมาะสมแก่บรรพชิต

"เขาจะถวาย รถยนต์ เอามาทำไมรถเต็มแผ่นดิน...เรามีเหตุมีผลทุกอย่างที่ห้ามอะไร เพราะหามาอะไรหารถ ไม่ใช่ฆราวาสนี่

...อันนี้เป็นเรื่องของโลกเขาใช้กัน พระเป็นเพียงอาศัยความสะดวกไปกับเขาเท่านั้น จะมาเป็นเนื้อเป็นหนังเป็นตัวของตัว เป็นเจ้าของรถของราขึ้นมามันก็เหมือนโลกเขาน่ะซิ...

ไฟฟ้า เขาจะเอาเข้ามาเราก็ห้ามมานานแล้ว นี่ถ้าเอาไฟเข้ามา ลองดูซิ สิ่งที่แอบแฝงเข้ามา ที่จะตามเข้ามาให้วัดเสีย มาฟุ้งเฟ้อเห่อเหิมกันเต็มวัดวาเลอะๆ เทอะๆ ไปหมด ไม่ทราบว่าวิทยุ โทรทัศน์ ตู้เย็น จะแอบตามกันมา...

โทรศัพท์ ก็จะมาติดขึ้นอีก...มาขอ 2 ครั้งแล้วนะ ผู้ว่าราชการจังหวัดมาติดต่อเราจะขอตั้งโทรศัพท์ที่วัดเพื่อการติดต่อสะดวก...นี้เราก็ไม่เอา เพราะผลประโยชน์ที่จะได้มีเพียงนิดเดียว ผลเสียที่ตามมานี้มากต่อมาก พรรณนาไม่จบไม่สิ้นเลย

สมควรแล้วเหรอจะเอาช้างแลกแมว มันจะกริ๊งกร๊างๆ ทั้งวันทั้งคืนไม่มีเวลาเลย ทางไหนก็โทรมา ผู้รับสายหนีไปไหนไม่ได้แหละ...

วันหนึ่งๆ จะเข้ามาเท่าไร แม้แต่มาจังหันมาวัดมาวาก็โทรเข้ามา...อย่าว่าแต่ข้างนอกจะโทรเข้ามาเลย ข้างในนี้ก็เป็นบ้าไปเลยแหละ โทรแหลก นั่นฟังซิ

เราก็ให้เหตุผลกับผู้ว่าฯ ไป ก็อุดรฯ กับวัดนี้ไม่เห็นไกลกัน มีเหตุผลอะไรมีความจำเป็นอะไร รถวิ่งไปหาครู่เดียวก็ได้...ความมีโทรศัพท์เป็นความเสียหายมากมาย แล้วพระเณรจะคึกคะนองขึ้นอีก เราว่ายังงี้เลย จึงไม่ยอมให้ตั้ง

"ทุกสิ่งทุกอย่าง เราคิดด้วยเหตุผลทั้งนั้น ไม่ว่าจะอนุญาต ไม่ว่าจะห้าม...เอ้า ! ให้ค้านมา ว่างั้นเลย ถ้าเหนือนี้เรายอมรับ ไม่ว่าใครก็ตาม ถ้าไม่เหนือแล้ว เราไม่ทำนะ...

ไม่ใช่เรามีทิฐิมานะไม่ให้ทำนะ เราต้องการเหตุผลนี่ รักษาศาสนาก็ต้องรักษาด้วยเหตุด้วยผล อะไรที่จะเข้ามาเกี่ยวข้องกับวัดกับวาศาสนาพระเณร ก็ต้องมีเหตุผลซิ ทำแบบสุ่มเดาได้เหรอ..."

รูปภาพ


(มีต่อ 31)

.....................................................
ทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว เป็นกฎตายตัว


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 24 ธ.ค. 2010, 10:53 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
ผู้จัดการ
ผู้จัดการ
ลงทะเบียนเมื่อ: 27 มี.ค. 2006, 17:34
โพสต์: 7781

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว www


รูปภาพ

ตอนที่ 21 วัดมุ่งปฏิบัติในถิ่นทุรกันดาร
ด้วยธรรมะและจตุปัจจัยไทยทาน


หลวงตาท่านให้ความใส่ใจต่อวัดในถิ่นทุรกันดาร ที่มุ่งปฏิบัติจิตตภาวนาอันเป็นงานโดยตรงตามคำสอนของพระพุทธเจ้า ท่านจึงคอยให้ความช่วยเหลือด้านจตุปัจจัยไทยทานตามความเหมาะสมและความจำเป็นแก่สมณเพศ เพื่อไม่ให้เป็นข้อกังวลในการบำเพ็ญเพียร และจะได้ใช้เวลาเร่งสร้างสติปัญญาให้กล้าแกร่งจนสามารถก้าวข้ามทุกข์ภายในใจได้ วัดที่ท่านให้ความช่วยเหลือจึงมักมีสภาพเป็นป่าเป็นเขา บรรยากาศเอื้อต่อความสงบสงัด เช่น วัดที่อยู่ในแถบภูวัว แถบภูเขาในอำเภอหนองวัวซอ ภูหลวง ภูลังกา น้ำหนาว แนวเทือกเขาภูพานเป็นต้น

เมื่อมีโอกาสท่านจะนำเครื่องอุปโภคบริโภคที่จำเป็นไปสงเคราะห์ช่วยเหลือ และพร้อมๆ กันนี้ ท่านจะแอบสังเกตอยู่เงียบๆ เพื่อดูข้อวัตรปฏิบัติ ความเป็นระเบียบเรียบร้อยของพระเณรไปด้วย

ที่ท่านเน้นย้ำคือ ดูว่าสำนักนั้นมีทางจงกรมหรือไม่ มีร่องรอยการเดินจงกรมของพระเณรหรือไม่ เพราะท่านถือว่าทางจงกรมนี้คือที่ทำงานของพระ ทางฆราวาสเขายังมีโต๊ะทำงาน ทางพระเณรก็ต้องมีทางจงกรมเป็นสถานที่ทำงานเช่นกัน ตัวอย่างหนึ่งที่แสดงถึงคำพูดเด็ดขาดของท่านต่อวัดที่ท่านให้การสงเคราะห์และเยี่ยมเยียน ดังนี้

"....ไปวัดนั้นวัดนี้ ผู้ที่มีหิริโอตตัปปะ ผู้มีศีลมีธรรมประพฤติตัวเป็นคนดี เป็นพระดี เพื่อมรรคเพื่อผลแล้ว เราติดตามแนะนำสั่งสอนดุด่าว่ากล่าว ถ้าแบบเข้าห้องไอซียู แล้วไม่เล่นด้วย ไม่ไปเหยียบจนกระทั่งวัด...ไม่ไป ไปอะไร เกิดประโยชน์อะไร ไม่ไปเสริม มันหดเข้า ด้วนเข้าๆ นี่นะ"

ความจริงจังในการสงเคราะห์พระเณร ผู้มุ่งปฏิบัติธรรมนี้ จะเห็นได้ชัดเจนจากคำสั่งของท่านคราวหนึ่ง ต่อพระอาจารย์ผู้เป็นหัวหน้าแถบภูวัว ใจความว่า

"...เรื่องข้าวสารอาหารสดแห้งของขบฉันที่จัดส่งให้อยู่เป็นประจำทุกเดือนนี้ ถ้าไม่เพียงพอให้บอกทันที จะจัดเพิ่มเติมให้...สถานที่นี้เป็นที่สงบสงัด หากมีพระเณรผู้ตั้งอกตั้งใจปฏิบัติมาอยู่ด้วยมากน้อยเพียงใด ผมจะเป็นผู้รับเลี้ยงเองทั้งหมด แต่ถ้าเป็นพระเณรประเภทหมูขึ้นเขียง คือไม่สนใจต่อการภาวนา ขี้เกียจขี้คร้าน มีแต่กินแล้วนอนนั้น ให้ไล่หนีทันทีเลยนะ..."

นอกจากท่านจะสงเคราะห์วัดปฏิบัติในถิ่นทุรกันดารต่างๆ ดังกล่าวแล้ว ด้วยระลึกถึงบุญถึงคุณท่านเจ้าคุณธรรมเจดีย์ (จูม พันธุโล) พระอุปัชฌาย์ ท่านจึงได้ให้ความช่วยเหลือด้านจตุปัจจัยไทยทานแก่ วัดโพธิสมภรณ์ อำเภอเมือง จังหวัดอุดรธานี ซึ่งเป็นวัดของพระอุปัชฌาย์ของท่านเอง เป็นประจำทุกเดือนตลอดมาหลายสิบปี กระทั่งทุกวันนี้ไม่เคยขาดตกบกพร่องเลย

อีกวัดหนึ่งคือ วัดป่าสุทธาวาส ในตัวจังหวัดสกลนคร ซึ่งเป็นสถานที่ประชุมเพลิงและเป็นที่ประดิษฐานรูปหล่อของท่านอาจารย์มั่น ภูริทัตโต ผู้มีพระคุณสูงสุดแก่ท่าน ท่านจึงหาโอกาสเข้ากราบไหว้รูปสมมติของท่านอาจารย์มั่นอยู่เสมอมาไม่ห่างเหินลืมเลือนแต่อย่างใดเลย

ทุกครั้งที่ไป ท่านจะนำจตุปัจจัยไทยทานต่างๆ ไปสงเคราะห์ช่วยเหลือวัดด้วยทุกคราง คุณธรรมดังกล่าวของท่านนี้ ทำให้ลูกศิษย์ พระเณร ฆราวาส รู้สึกซาบซึ้งใจ เพราะเห็นท่านเปี่ยมล้นด้วยแบบฉบับอันงดงามในกตัญญูกตเวทิตาคุณต่อผู้มีพระคุณ

เตือนพระเณร...ระวังมหาภัย 5 อย่าง

ในคราวท่านไปแจกของและเยี่ยมเยียนสำนักที่ตั้งใจปฏิบัติ ท่านจะย้ำเตือนพระเณรลูกหลานอยู่เสมอๆ ด้วยความเมตตาสงสารถึงมหาภัย 5 อย่าง ดังนี้

"พระเราเป็นเพศที่หนึ่งที่จะสามารถครองมรรคครองผลได้ เพราะมีโอกาสอันดีงาม ทุกสิ่งทุกอย่างอำนวยหมด ให้พากันตั้งใจ เราเป็นห่วงเป็นใยพระลูกพระหลานของเรา กลัวจะเลินเล่อเผลอสติเป็นบ้ากับโลกกับสงสารเขา ทุกวันนี้เรื่องของกลมายาของกิเลสนั้นมีมากนะ วันนี้จะพูดให้บรรดาพระลูกพระหลานทั้งหลายของเราได้ทราบเสียว่าจุดใหญ่มหาภัยคืออะไร

เริ่มตั้งแต่ หนังสือพิมพ์ เป็นข่าวเป็นคราว พระเราไม่จำเป็นต้องหาข่าวหาคราว หลักข่าวหลีกคราวทั้งนั้นถึงถูก อย่างพระพุทธเจ้าไล่เข้าป่า...เพื่อหลีกข่าวหลีกคราวทั้งหลาย อันเป็นเรื่องยุ่งเหยิงวุ่นวายของกิเลส มันบีบบี้สีไฟนั้นเอง...จากนั้นก็ วิทยุ ให้ตัดออก อันนี้ก็เป็นเรื่องข่าวเรื่องคราว เรื่องยุยงก่อกวน จิตใจให้ฟุ้งเฟ้อเห่อเหิมไปตามมัน เทวทัต โทรทัศน์ วิดีโอ นี่เป็นตัวสำคัญมาก อันนี้อันหนึ่ง แล้ว โทรศัพท์มือถือ นี้สุดยอดได้เลย จับโทรศัพท์ขึ้นใส่หูปั๊บ นี้คุยกับอีสาวได้สบายเลย นัดกันไปห้องไหนหับไหน ที่ไหนๆ ม่านรูดม่านรีดไม่สำคัญ นัดกันได้ถึงที่สุดเลย

นี่แหละ 5 กษัตริย์นี้เองเป็นตัวทำลายศาสนาอยู่เวลานี้ วัดวาอาวาสเราเลยจะรกจะร้างไปหมดเพราะสิ่งเหล่านี้เข้าไปทำลายตามวัดตามวา จะไม่มีเหลือพระเณรอยู่ในวัดแล้ว ทำไมจึงเป็นเช่นนั้น ก็เมื่อเห็นความอุจาดบาดตาของพระเณรไม่มียางอายแล้ว ประชาชนญาติโยมเขาก็หมดศรัทธา ไม่มีความเคารพเลื่อมใส เขาก็ไม่ใส่บาตรให้กินล่ะซิ เมื่อเขาไม่ใส่บาตรให้กินแล้ว...พระเณรจะทนอยู่ได้ยังไง วัดก็กลายเป็นวัดร้างไปได้ นี่ละตัวมหาภัย จึงได้เผดียงให้พระลูกพระหลานทั้งหลายทราบ อย่าได้คุ้นอย่าได้ชินกับมัน อย่าเห็นว่าเป็นสิริมงคล นี้คือตัวภัยสำหรับพุทธศาสนา

สำหรับพระเณรของเรา ให้พากันระมัดระวังให้มาก ใครกล้าหาญชาญชัยก็คือเป็นเทวทัตต่อสู้พระพุทธเจ้านั้นแล นี่เป็นจุดสำคัญมาก ขอให้พากันระมัดระวัง...อย่าไปสนิทสนมกับมัน ถ้าไม่อยากจม นี่เป็นข้าศึก แม้แต่ไม่มีสิ่งเหล่านี้ จิตใจของเรายังเสาะยังแสวงหายุ่งเหยิงวุ่นวายตลอดเวลา จนหาเวลาว่างหาความสงบไม่ได้ ก็เพราะจิตหาอารมณ์หาข่าว...ให้เอาข่าวแห่งพระพุทธเจ้า พระธรรม พระสงฆ์...ข่าวภาวนาลงไปสู่จุดนี้ ระงับดับข่าวนั้นให้หมดไป ให้เหลือแต่ข่าว พุทโธ ธัมโม สังโฆ ข่าวอรรถข่าวธรรมอยู่ภายในใจ ใจของเราจะได้มีความสงบเยือกเย็น ข่าวธรรมกับข่าวโลก คือข่าวกิเลสกับข่าวธรรมนี้ต่างกันมากนะ..."

รักษาป่า ต้นไม้ ต้นน้ำลำธาร

ท่านเมตตาช่วยเหลือราษฎรและฟื้นฟูสภาพป่าเสื่อมโทรมบริเวณพื้นที่ป่าลุ่มน้ำป่าสัก เขตบ้านดงคล้อ บ้านน้ำเที่ยง บ้านสามแยก ตำบลวังกวาง อำเภอน้ำหนาว จังหวัดเพชรบูรณ์ เนื่องจากพื้นที่ดังกล่าว เป็นภูเขาสูงชัน เป็นต้นน้ำลำธารของแม่น้ำสำคัญหลายสาย ได้แก่ น้ำเลย น้ำฟอง ฯลฯ ซึ่งสภาพพื้นที่บริเวณดังกล่าวในขณะนั้น ถูกบุกรุกแผ้วถางป่าทำไร่เลื่อนลอย จนสภาพป่าถูกทำลายลงอย่างสิ้นเชิง ในเรื่องนี้ท่านให้เหตุผลว่า

"...ที่ดินเวลานี้ (มิถุนายน 2537) ก็ 10 กว่าล้านแล้วที่ซื้อ เนื้อที่ดูเหมือนได้ 7 พันกว่าไรแล้ว หลายแห่ง ทางด้านเพชรบูรณ์ก็มี ที่เราซื้อไว้นี้ ไว้เพื่อชาติบ้านเมืองนะ เราไม่ได้ซื้อโดยลำพังเราเองนะ มันเป็นต้นน้ำลำธาร เช่น ต้นน้ำจังหวัดเลยนี่ ที่ผ่านมา ทางอำเภอวังสะพุงนี้แหละ น้ำหมดได้ 2 แล้งนี้แล้ว ต้นน้ำมันอยู่ตรงนั้น เราเลยซื้อครอบไว้หมดเลย เวลานี้ก็มีโครงการพระราชดำริประสานงานเข้ามาในเรา เราบอกเอาเลยให้เลย เพราะเราซื้อนี้ ซื้อไว้เพื่อชาติ

หลวงตามหาบัวไม่มีอำนาจวาสนาอะไรมากนัก วาสนาของพระ อำนาจของพระไปเรื่องของพระ ไม่ใช่เป็นเรื่องแบบโลก ทีนี้เมื่อทหารมาขอประสานงานเกี่ยวข้องด้วยทหารเป็นผู้มีอำนาจ เป็นผู้รักษาได้ เราก็ยกให้ทหารเป็นผู้รักษาแทนเราไปเลย รู้สึกสะดวกดีทุกอย่าง...อยากจะปลูกป่าก็เอาช่วยกันปลูก รักษาตรงไหนๆ ที่มันจะมีความแน่นหนามั่นคงต่อชาติแล้ว เอาเลย เราก็มอบให้ทางทหารเลยเวลานี้ เราเบาใจมากแล้ว เป็นแต่เพียงว่าซื้อให้ๆ ให้ทางทหารเป็นผู้ดูแล..."

คุณค่าของต้นไม้ป่าเขาต่อการบำเพ็ญ

จิตตภาวนา เป็นสิ่งที่ท่านพูดอยู่เสมอๆ ว่าพระพุทธเจ้าทรงสอนพระให้อยู่ป่า การอยู่ให้อยู่ด้วยการพิจารณา อยู่แบบอรรถแบบธรรม ไม่ใช่ไปอยู่ป่าแบบสัตว์ เพราะสถานที่เช่นนี้เป็นที่ชั้นเอกในการบำเพ็ญเพียร ไม่มีคนไปยุ่งกวน วัดที่ท่านให้การช่วยเหลือส่วนใหญ่ จึงพยายามรักษาสภาพที่เป็นธรรมชาติป่าเขาแหล่งต้นน้ำลำธารไว้ให้มากที่สุด พระเณรกุลบุตรสุดท้ายภายหลังจะได้มีสถานที่สงบสงัดในการบำเพ็ญเพียร ในเรื่องนี้ท่านเคยกล่าวว่า

"...วัดดงศรีชมภู เป็นวัดประเภทที่หนึ่ง ภูวัวประเภทเอก ไล่เลี่ยกัน วัดดอยธรรมเจดีย์ ภูเสิงเคิง-สังโฆ เป็นประเภทที่หนึ่ง ผาแดงเหล่านี้ ที่หนึ่งทั้งนั้น อยู่ภาวนาได้ทั่วไป หลบหลีกไปหาที่ภาวนาได้สะดวกสบาย สงวนไว้ แล้วก็ยังที่ที่ซื้อไว้ที่น้ำหนาว นั่นก็เป็นประเภทที่หนึ่งๆ เพราะดงกว้าง ซื้อครอบไว้หมดเลย พระอยู่ 3 ย่านด้วยกัน สงวนป่าเอาไว้สำหรับลูกหลาน ต้นน้ำลำธารจะไม่มีเหลือถ้าไม่สงวนป่าเอาไว้ อันนี้มันอยู่รอบของต้นน้ำลำธารด้วย ซื้อครอบไว้หมด

น้ำฝนตกมาจากเขามันชุ่มเย็น ไหลลงมา แม้แต่แม่น้ำเลยนี้ก็มาจากนั้นนะ แม่น้ำเลยวังสะพุงนี่ มาจากที่เราซื้อครอบไว้โน้นหมด มีอยู่ 2-3 สายแม่น้ำที่ไหลมา จากที่เราซื้อครอบเอาไว้ ตอนนี้พักทางโน้นก่อน ทำประโยชน์อย่างอื่น หมุนไปทางอื่น เรื่องหมุนนี่ไม่ถอยแหละ หมุนไม่หยุด

หมุนเรื่อยๆ ช่วยทางโน้นช่วยทางนี้ จะทำยังไงความทุกข์ความจนไม่โดนใครเข้าก็ดูดี ถ้าโดนเข้าเท่านั้นก็พอแล้ว หงายไปเลย ใครจะอยากโดน โดนทุกข์ ไม่มีกินอยู่ได้หรือมนุษย์เรา จะปลูกของอะไรพืชผลต่างๆ ปลูกไม่ได้ น้ำไม่มี แผ่นดินไม่ชื้น แห้งผาก อย่างนี้ปลูกอะไรก็ไม่ขึ้น ถ้าแผ่นดินมันขึ้น แล้วปลูกมันก็ขึ้น..."

สัตว์ป่าปลอดภัย

ความสงบสงัดของป่ามีผลดีต่อพระด้านการฝึกจิต สำหรับสัตว์ป่าเองก็มีความคุ้นเคย วางใจและอบอุ่นใจได้ง่ายกับพระ ซึ่งต่างกันอยู่มากกับฆราวาส เรื่องนี้ท่านกล่าวว่า

"...กลางคืนดึกๆ สงัด ฟังเสียงนกยูง ร้อง กลางวี่กลางวันไม่เคยเห็นตัวมันนะ เราเห็นสักครั้งสองครั้งเท่านั้นมั้ง นกยูงนะ ไม่เจอมันบ่อยนักเหมือนสัตว์อื่นๆ พวกหมูพวกอีเก้งนี้เจอบ่อย บางทีมันก็จุ้นจ้านๆ มาทางจงกรม มันไม่กลัวคน มันมาอาศัยคน มาอยู่รอบๆ คน เดินจงกรมอยู่มันก็มาหากิน พวกหมูพวกอีเก้งนี้คุ้นง่ายนะ คุ้นง่ายมากเทียว มันมาเหมือนสัตว์บ้านมาหาเรา หาขุดอะไรกิน ซู้ดๆ ซี้ดๆ มา เราก็เดินจงกรมเฉย...เขาก็ไปของเขาทั้งๆ ที่เขาก็เห็นเราอยู่ เขาไม่สนใจนะ

นั่นเห็นไหม พระกับโยมผิดกัน ต่างสีกัน ผ้าเหลืองเป็นผ้าที่ครองโลกมานาน พระพุทธเจ้าทุกๆ พระองค์ครองผ้าเหลืองทั้งนั้น ผ้ากาสาวพัสตร์ สัตว์เหล่านั้นเคยเกิดเป็นมนุษย์ เคยบวชเป็นพระเป็นเณรมาในศาสนานั้นๆ มาตั้งมากมาย เพราะฉะนั้นเวลาเห็นพระมันถึงตายใจเลยๆ..."

เรื่องเกี่ยวกับสัตว์ป่าอีกเรื่องหนึ่ง ท่านเล่าว่า

"...เรื่องลิงนี้เรายังไม่ลืมนะ เขาจะออกหากินเวลากลางคืน คือกลางวันคนทำลายเขา เขาไม่ออก กลางวันเงียบเลย กลางคืนเขาออกหากิน เราเดินจงกรมอยู่กลางคืนเงียบๆ เดือนหงายๆ เราไม่ได้จุดไฟนี่ เดือนหงายๆ ในดงนะ ดงหนาป่าทึบฟังเสียงเขามานี่ โถ ! เสียงลั่นมาเลยเพราะเป็นฝูงใหญ่ ใหญ่มากนะลิง เขามีหัวหน้าพามา มันมีต้นไม้ต้นหนึ่งที่บนทางจงกรมเรานี่ ผลไม้มันสุกเต็มเลย เขามากินนี้ทุกคืน แต่ทุกคืนเราไม่ให้เขาเห็น

คืนนั้นเราลองแสดงตัวให้เขาเห็น ว่าเขาจะตาดีไหมในเวลากลางคืนนะ โอ๊ย ! ลิงนี่ตาดีนะ กลางคืนนะ ออกคืนวันที่เราจะแสดงตัวให้เขารู้เรื่องของเขานั่น เรานิ่งๆ อยู่ข้างต้นไม่นี่วะ นิ่ง ! เขามาเต็มไปหมด แต่เวลาเราจะกระดุกกระดิกพลิกอะไรนี้ ต้องกะว่าเขากินอิ่มก่อนนะ ไม่งั้นเดี๋ยวเขาเผ่น ไม่ได้กินอิ่มล่ะ เราต้องกะระยะพอดีเขากิน พอมีตัวไปบ้างก็มี...

ทีนี้เราก็กระดุกกระดิกนี่ พอหัวหน้าร้องจิ๊กทีเดียวเท่านั้นนะ นอกนั้นเงียบหมดเลยนะ เงียบเหมือนไม่มีลิงสักตัวเดียวแหละ ลิงทั้งฝูงใหญ่ๆ นะ นั่นน่ะ เพราะมีหัวหน้า มีหัวหน้าเตือนเอา เราเลยนิ่งอีกละ จนกระทั่งนานแล้วก็มีเสียงหัวหน้าด็อกๆ แด็กๆ แต่พอได้ยิน เสียงตัวหนึ่งดังขึ้น ตัวหนึ่งก็ดัง ทีนี้ออกนะ ออกต่างตัวต่างไปเลยนะ แสดงว่าเขาก็อิ่มแล้ว เพราะเราทำนั้น ทำเวลากะว่าเขาอิ่มแล้วเขาไป เขามีหัวหน้าเหมือนกัน ลิง ฝูงลิงมีเยอะนะ กลางวันนี้ไม่เห็นแหละ เขาไม่ออก คือพวกมนุษย์นี้มันยักษ์นี่นะ ยักษ์หูสั้น มันกินดะไปเลยมนุษย์นี่ ลิงก็ไม่เลือก นี่กลางวันเขาจะไม่ออกหากินนะ ตอนกลางคืนเงียบๆ ดึกๆ เขาถึงจะออกนะ กลางวันนี้ไม่เห็นแหละ เขาไม่ออก ต้องสองทุ่มไปแล้วถึงจะออก นี่มาคิดถึงเรื่องความปลอดภัยของสัตว์นี้ละ ลำบากมากกว่ามนุษย์เรามากนะ มนุษย์เราไปที่ไหนเป็นอิสระสบายๆ สัตว์นี้ไปไหนหลบๆ ซ่อนๆ ไม่งั้นตายจริงๆ อย่างนกนี้ดูซินี่ ถ้าไม่มีคนรักษาไม่ได้นะนี่ ฉิบหายหมดเลย การทำลายกันไม่ใช่ของดี แม้แต่สัตว์เขาก็ไม่ต้องการ เขาไม่ประสงค์ ความตายนี้ไม่ต้องมีใครเรียนที่ไหนล่ะ มันหากรู้ในหลักธรรมชาติของตัวเอง กลัวตายด้วยกันทั้งนั้น สัตว์ทุกประเภท..."

รูปภาพ


(มีต่อ 32)

.....................................................
ทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว เป็นกฎตายตัว


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 24 ธ.ค. 2010, 10:54 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
ผู้จัดการ
ผู้จัดการ
ลงทะเบียนเมื่อ: 27 มี.ค. 2006, 17:34
โพสต์: 7781

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว www


รูปภาพ

ตอนที่ 22 โรงเรียน

ด้านวัตถุและเครื่องอุปโภคบริโภค

หลวงตาเมตตาสงเคราะห์สนับสนุนทางการศึกษา ทั้งในแง่ตึกอาคารเรียน วัสดุอุปกรณ์ต่างๆ เพื่อใช้ในงานธุรการบ้าง ด้านสื่อการเรียนการสอนและอื่นๆ แก่โรงเรียนต่างๆ หลายแห่ง

ตัวอย่างประเภทที่ท่านช่วยเหลือ เช่น ช่วยสร้างอาคารธรรมสถาน ตึกเรียน อาคารเรียน โต๊ะเก้าอี้ อุปกรณ์ทางการเรียน การสอน ค่าอาหารกลางวันเด็กนักเรียนยากจน เป็นต้น

สำหรับตัวอย่างโรงเรียนที่ท่านเมตตาสงเคราะห์ โดยมากอยู่ในจังหวัดอุดรธานี และจังหวัดใกล้เคียงที่พอจะอยู่ในข่ายความรับผิดชอบในสายตาของท่าน เพื่อดูเหตุผล ดูความจำเป็นมากน้อยในการสงเคราะห์ เช่น โรงเรียนสตรีราชินูทิศ โรงเรียนบ้านตาด โรงเรียนอุดรธรรมานุสรณ์ โรงเรียนหนองแสงวิทยา โรงเรียนบ้านดงเมือง โรงเรียนบ้านหนองตุ โรงเรียนค่ายประจักษ์ศิลปาคม ฯลฯ

ด้านธรรมะที่ใช้ในการเรียน

ด้วยตระหนักถึงคุณค่าและความสำคัญทางการศึกษาแก่เด็กและเยาวชนของชาติ จะได้มีความรู้ติดเนื้อติดตัวอันจะเป็นประโยชน์แก่ตน แก่ครอบครัว และชาติบ้านเมือง ท่านจึงเน้นเสมอให้เด็กรู้จักรับผิดชอบชีวิตตนเองตามวัยอันควรเป็น อย่างมีหลักเกณฑ์เหตุผลเช่น คราวหนึ่ง ท่านสอนคณะนักเรียน ดังนี้

ขยันเรียน...รอบคอบ...คบเพื่อนดี

"...จงพยายามตั้งใจศึกษาเล่าเรียนทุกคน อย่าขี้เกียจ อย่าเถลไถล อย่าเห็นการเล่นดีกว่าการเรียน จงเห็นการเรียนดีกว่าการเล่น จะภาคภูมิใจในตัวเอง เวลาสอบก็อาจหาญ ไม่สะทกสะท้าน และสอบได้คะแนนสูง เพราะความขยันเรียนย่อมได้คะแนนดีเสมอ

ผิดกับคนขี้เกียจเรียนอยู่มาก อย่าเอามาเป็นตัวอย่างจะเสียใจภายหลัง รีบเตรียมตัวในเวลาเรียนและก่อนสอบ อย่าให้บกพร่องในหลักวิชาที่เรียน...

...เวลาสอบตก เราจะตำหนิครูก็ไม่ได้ เพราะเราขี้เกียจ บกพร่อง ข้อสำคัญการชอบเที่ยวนั่นละทำให้เราสอบตก เมื่อสอบตกแล้วทำให้เกิดความขี้เกียจขี้คร้านเข้าอีก และชอบคบค้าสมาคมกับเพื่อนฝูงที่เลวทราม เราก็ยิ่งมีใจต่ำทรามไปเรื่อยๆ มองเห็นครู เห็นอาจารย์เกิดความกระดากอาย กลัวครูจะซักถามนั่นนี่ ไม่อยากเข้าหน้าเสียแล้ว เพราะจิตใจมันเสียมันเลวลง เพื่อไม่ให้เป็นดังที่กล่าวนี้ จงรีบดัดแปลงตนแต่ปัจจุบันคือ ขณะนี้บัดนี้ตลอดไป...

ตรงไหนที่ยากลำบาก ให้พยายามเรียนและท่องเสมอจนจำได้ ข้อใดที่ครูบอกหรือครูสั่งให้ท่องจำให้ได้ จงท่องให้ได้ติดปากติดคอจริงๆ ที่ไหนไม่เข้าใจให้ศึกษาไต่ถามครูเพื่อความเข้าใจ

อย่าเก็บเอาไว้ด้วยความอายครูและเพื่อนฝูง ซึ่งเป็นสิ่งที่จะปิดทางเพื่อความเข้าใจของตนในเวลาจำเป็น เช่น เวลาสอบ เราระลึกไม่ได้ ทั้งๆ ที่สิ่เราสงสัยควรจะถามครูอยู่แล้ว แต่ไม่ถาม

เวลาข้อสอบออกมาก็มาถูกจุดที่เราไม่รู้ที่เราสงสัยนั้น ก็เลยขาดผลประโยชน์ที่ไม่ควรจะขาดไปเสีย และถูกตัดคะแนนลงไปเป็นที่น่าเสียดายอย่างยิ่ง กลายเป็นคนเดินช้าล้าหลังไม่ทันเขา

...ดังนั้น จึงต้องพยายามศึกษาให้เข้าอกเข้าใจทุกแง่ทุกมุม ไม่สะเพร่ามักง่าย ควรพยายามฝึกหัดตนให้เป็นคนละเอียด รอบคอบไปด้วยเป็นการดี เวลาสอบจะไม่พรวดพราดและมักได้คะแนนต่ำและสอบตกเสมอ..."

หนังสือที่ควรอ่าน

นอกจากตำราเรียนที่นักเรียนต้องรับผิดชอบในการศึกษาหาอ่านแล้ว ควรรู้จักค้นคว้าหาความรู้และประสบการณ์เพิ่มเติมจากหนังสือประเภทอื่นด้วย ในเรื่องนี้หลวงตาเมตตาให้คำแนะนำแก่ลูกหลานไว้เพื่อเป็นหลักเกณฑ์ในการเลือกสรรหนังสือที่ควรอ่านดังนี้

"...เราเห็นคุณค่าของการอ่านหนังสือทางด้านธรรมะเป็นสำคัญ อ่านทางโลก มันมีฉากหน้าฉากหลัง สุดท้ายก็ฉากหลังนั่นแหละทำลาย ฉากหน้าเป็นเครื่องล่อหูล่อตาล่อใจไปหน่อยๆ ฉากหลังนี่สำคัญ แทงเข้าไปเลยเสียมากต่อมาก แต่เมื่อไม่มีใครคิดทางเรื่องเสียแล้วก็ มันจะเสียขนาดไหนก็ไม่สนใจ มีแต่บืนหน้าเรื่อยๆ ความฉิบหายก็ไปเรื่อยๆ เหมือนไฟลามทุ่ง

ส่วนที่เป็นสารประโยชน์ก็มี ไม่ได้ปฏิเสธ แต่ผู้ที่อ่าน ส่วนมากมักอ่านด้วยความเพลิดเพลินละซิ ไม่ได้อ่านเพื่อหาสารประโยชน์อะไรนักนะ ยิ่งเป็นเด็กหนุ่ม เด็กสาวด้วยแล้ว คึกคะนองนี้ โอ๊ย เป็นบ้าไปเลยเทียว บ้าสดๆ ร้อนๆ

ยิ่งเห็นโป๊ๆ เป๊ๆ ด้วยแล้ว ยิ่งไปใหญ่เลยนะ ลืมนุ่งผ้าซิ่นนุ่งผ้านั่นแหละ วิ่งเป็นบ้าเหมือนหมา

นี่ละ อำนาจของกามตัณหา มันใช่เล่นเมื่อไร มันเคยทำลายโลกมามากต่อมากแล้ว อันไหนก็ไม่รุนแรงเหมือนอันนี้ อันนี้รุนแรงมาก ไม่ว่าสัตว์ว่าคน ถ้าลงอันนี้ได้บีบหัวใจแล้ว อยู่ไม่ได้ ต้องดิ้นเทียว...ท่านจึงให้มี น้ำ คือ ธรรมะ อ่านธรรมะ ฟังธรรมะ อบรมธรรมะ เพื่อดับไฟในใจ เพราะสิ่งที่ทำให้เพลิดเพลินนั้นเป็นสิ่งที่มีพิษภัยและความโศกเศร้าแฝงอยู่ในนั้น จึงนำธรรมะเข้าไปชะล้างในจุดนั้น เปิดออกเพื่อเห็นโทษของมัน..."

ด้านศีลธรรมและความประพฤติ

เมื่อมีกลุ่มนักเรียน นิสิต นักศึกษาและคณาจารย์จากสถาบันการศึกษาต่างๆ มาทำบุญใส่บาตร ท่านมักแสดงความห่วงใยถึงศีลธรรมและความประพฤติของเด็กและเยาวชน ดังนี้

ข้อควรปฏิบัติต่อพ่อแม่

"...ให้สมบัติเงินทอง ข้าว น้ำ อาหารคาวหวาน เสื้อผ้า ที่อยู่อาศัย...ให้การพยาบาลรักษาในเวลาเจ็บไข้ได้ทุกข์...ประคับประคองท่านในเวลาแก่ชรา ยืนเดินนั่งนอนหรือไปมาไม่สะดวก...รักษาน้ำใจไม่ให้ได้รับความกระทบกระเทือนบอบช้ำจากการแสดงออของบุตรธิดาแต่ละอย่างๆ...

บำรุงท่านด้วยวัตถุ หรือด้วยมรรยาทอัธยาศัย ไม่ฝ่าฝืนดื้อดึง...ช่วยเตือนด้วยอุบายต่างๆ ในทางที่ชอบ...ปลอบโยนให้รื่นเริงใจในเวลาที่ท่านเกิดความหงุดหงิดไม่สบายใจในบางเวลา..."

ข้อควรระวังกับพ่อแม่

"...เวลาพ่อแม่ว่าอะไรก็อย่าถกอย่าเถียง อย่าโต้อย่าอวดรู้อวดฉลาด ว่าตนนี้ได้เรียนรู้ความรู้วิชาในชั้นนั้นชั้นนี้ พ่อแม่ไม่ได้เรียนอะไร จะเรียนอะไร พ่อแม่เลี้ยงลูกมาจนเกือบตาย จะให้เรียนอะไรอีก เข้าใจหรือเปล่าล่ะ ทั้งให้ไปเรียนอีก ทั้งเลี้ยงลูกอีก มันตายละพ่อแม่คน นี่ เราโตขึ้นมาเราไปเรียนหนังสือ แล้วเอาความรู้นี้ไปอวดพ่อแม่ คนนั้นเป็นคนโง่คนพาลสันดานหยาบ ไม่ดีคนอกตัญญู คนนั้นไปทำอะไรไม่เจริญนะ ดีไม่ดี ลุกเกิดขึ้นมาก็มาเป็นภัยต่อพ่อแม่มาเป็นข้าศึกต่อพ่อแม่ เพราะพ่อแม่คือใครก็คือเรา เราไม่รู้จักบุญจักคุณของพ่อแม่ฉันใด ลูกก็จะไม่รู้จักบุญจักคุณของเราฉันนั้น...

"อะไรก็ตามเถอะ อย่าได้ลืมคุณของพ่อของแม่ อันนี้เป็นหลักเกณฑ์ที่ใหญ่โตมาก ใครประมาทพ่อแม่แล้วคนนั้นไม่เจริญเลย ไปไหนก็ไปเถอะ มันหากเป็นอยู่ในนั้นแหละ เพราะพ่อแม่นี้เป็นเรื่องที่หนักมาก ถ้าว่าบุญก็บุญมาก กุศลมาก ปฏิบัติถูกต่อพ่อแม่แล้ว ท่านว่าได้บุญมาก ทักขิเณยยบุคคลของบุตร คือ พ่อกับแม่ เทียบกับพระอรหันต์องค์หนึ่ง ไม่ใช่เล่นๆ นะ ถ้าทำผิดก็เป็นพิษอย่างร้ายแรง..."

อ่อนน้อมต่อครูอาจารย์-ผู้อาวุโส

หลวงตาเมตตาสอนลูกหลานที่อยู่ในวัยศึกษาเล่าเรียนเสมอๆ ดังนี้

"...เวลาไปพบครูอาจารย์สถานที่ใด ให้ยกมือไหว้และทำความเคารพอย่างอ่อนน้อมถ่อมตนจริงๆ อย่าทำตัวแข็งกระด้างและเฉยเมยไป เหมือนความรู้วิชาของเราเกิดขึ้นมาจากดินจากหญ้า ไม่เกิดขึ้นมาจากความอุตส่าห์พยายามน้ำพักน้ำแรง ความเมตตาสงสารของครู ให้เราคิดถึงครูอาจารย์ ว่าเป็นผู้มีคุณค่าอยู่บนหัวใจของเราหรืออยู่บนกระหม่อมจอมขวัญของเราเสมอ อย่าได้ลืม อย่าได้ลบหลู่ดูหมิ่น เราจะเป็นผู้เจริญในอนาคต ไม่อับเฉาเศร้าหมอง เวลาเราเป็นผู้ใหญ่หรือเป็นครูอาจารย์คน ย่อมมีคนเคารพสนองตอบความดีของเรา...

...เราเป็นนักเรียน ศึกษาเล่าเรียนให้เข้าอกเข้าใจ ให้เคารพครูเคารพอาจารย์กลับไปบ้านไปเรือน เคารพพ่อเคารพแม่ เคารพวัยวุฒิ คุณวุฒิ เคารพคนเฒ่คนแก่ เคารพท่านผู้มีบุญมีคุณ

เพราะนี้ปราชญ์ทั้งหลายเทิดทูนกันมากมานาน จงพากันรักษามรดกนี้ไว้ อย่าทำให้เสื่อมทรามและสูญหายไป..."

ความรัก

"สมมติว่าเรามีความรักความชอบในผู้ใดก็ตาม ความรักนั้นยอมรับว่ารัก เพราะอยู่ภายในใจใครห้ามไม่ได้ แต่สิ่งที่เราจะบังคับไม่ให้เป็นไปตามความรักเสียทุกอย่างนั้น เป็นเรื่องของใจจะต้องบังคับสติปัญญา จะต้องบังคับตนไม่ให้แสดงออกในสิ่งที่ไม่น่าดูและในสิ่งที่เสียหาย

จนกว่าเวล่ำเวลาได้อำนวยถูกต้องทุกประการแล้วนั้น โลกยอมรับกัน เพราะฉะนั้น โลกนี้จึงมีผัวมีเมียมีลูกมีเต้าเหล่ากออยู่เต็มบ้านเต็มเมือง ก็ไม่มีใครตำหนิกัน เพราะเป็นไปด้วยความถูกต้องดีงาม เป็นไปด้วยขนมประเพณีที่มนุษย์ยอมรับกัน..."

"วัยเรียน" ไม่ใช่ "วัยลิง"

"...อย่าเทียวเตร็ดเที่ยวเตร่ เวลานี้ไม่ใช่เวลาเที่ยวเตร็ดเตร่เร่ร่อน ถึงเวลาจะควรเป็นหากค่อยนเป็นไปเอง เรื่องอารมณ์คึกคะนองก็เหมือนกัน ชอบสนุกเฮฮา ชอบเกาะชอบเกี้ยว ชอบเลี้ยวโน่นเลี้ยวนี่ ไม่ดีเช่น นักเรียนหญิง นักเรียนชาย ก็อย่าไปสนิทกันในทางกามารมณ์อันเป็นทางเสียหาย ทางเผาบ้านเรือนก่อนปลูกยังไม่เสร็จ มันฉิบหาย ในระยะนี้ในวัยนี้เป็นวัยเรียน ไม่ใช่วัยเล่นเลยขอบเขต อย่ากลัวโลกตาฝ้าตาฟางนี้จะสูญหายไปไหน มันไม่สูญหายไปไหนแหละ เพราะมันมีอยู่กับเรากับท่านทุกเวลานาที นอกจากได้ตีกระบาลมันไว้ ไม่ให้คนเป็นลิง ไปเท่านั้น ไม่งั้นลิงจะมาแย่งเอามนุษย์ไปกินหมด...

...มนุษย์เราสืบพันธุ์มาตั้งแต่ต้นจนอวสานปัจจุบันนี้ และยังจะมีต่อไปไม่มีที่สิ้นสุด เรื่องหญิงกับชายแล้วไม่สูญพันธุ์ เรื่องนี้ไม่ต้องศึกษาเล่าเรียนให้เพิ่มโรคบ้ากามเข้าไปอีก ไม่ต้องมีโรงร่ำโรงเรียนสอนกัน โรคกามก็พร้อมจะเจริญอยู่แล้ว ดังสัตว์เดรัจฉานเขาก็ไม่สูญพันธุ์ เพราะเรื่องกามกิเลสนี้เป็นสิ่งที่มีอยู่ในหัวใจสัตว์ทั้งตัวผู้ตัวเมีย ทั้งหญิงทั้งชาย มีอยู่ด้วยกันทั้งนั้น ไม่มีคำว่าบกพร่องเพราะไม่ได้เรียน ไม่ได้ส่งเสริมมัน..."

อย่าเป็น "หญิงใจง่าย ชายไร้ศักดิ์ศรี"

"...เวลานี้ไม่ใช่เวลาที่เราจะไปสนใจกับสิ่งเหล่านี้ อันจะเป็นการทำลายการศึกษาเล่าเรียนและทำลายอนาคตของเราให้กุดด้วนเข้ามา เรามีหน้าที่ที่จะศึกษาเล่าเรียนและรักนวลสงวนตัวทั้งหญิงทั้งชายผู้ชายก็รักเกียรติของตัวว่าเป็นชายผู้หญิงก็สงวนศักดิ์ศรีอันดีงามของตนว่าเป็นกุลสตรี ตามประเพณีของมนุษย์ผู้มีสมบัติผู้ดีของเมืองไทยเราถือกันมาอย่างนั้น เพราะเป็นหลักประเพณีอันดีงามมาแต่ดึกดำบรรพ์ ไม่เคยล้ำสมัย และมีปมด้อยร่อยหรอแก่ประเพณีของชาติใดในโลก...

ยิ่งเราเป็นนักเรียนด้วยแล้ว เรียนความรู้ก็ให้รู้ ความประพฤติก็ให้ดี การสงวนตัวรักษาตัวก็ให้ต่างคนต่างรักษาให้ดีมีศักดิ์ศรีทั้งหญิงทั้งชาย ผู้ชายก็อย่าเป็นคนเห็นแก่ตัวจัด มีช่องว่างตรงไหนเข้าทำลาย ซึ่งเป็นการทำลายศักดิ์ศรีของตัวนั่นแล

การทำเช่นนั้นเป็นความเลวทรามของตัวเอง เป็นผู้ชายแบบลิงไว้ใจไม่ได้ สุภาพชนรังเกียจติเตียน ทั้งเสียเกียรติแห่งความเป็นผู้ชาย ผู้หญิงที่ชอบปล่อยตัวเป็นคนใจง่ายขายคล่อง เป็นคนขายก่อนซื้อ สุกก่อนห่าม นั่นคือหญิงเลวทราม บทถึงเวลาเอาจริงเอาจังไม่มีใครซื้อ ใช้ไม่ได้ และไม่มีใครนับหน้าถือตาอยากนำมาเป็นศรีสะใภ้กลัวเกรงจะเป็นสกุลขายทอดตลาด..."

ติดยาเหมือนปลาติดเบ็ด...เลือดสาด

"...ยาเสพติด...เวลานี้มีระบาดอยู่ทุกแห่งทุกหน แม้แต่ในโรงเรียน มหาวิทยาลัยใหญ่ๆ ก็มีเยอะ...ลูกหลานให้รู้จักวิธีรักษาตัว อย่าให้หลวมตัวเข้าไป

ทีแรกก็คิดว่าเป็นเรื่องสนุก เมื่อติดเข้าไปแล้วก็เหมือนักบปลาติดเบ็ดนั่นแหละ มันมีเหยื่ออยู่นิดเดียวที่ปลายเบ็ดนั้นน่ะ พอกินเข้าไปเท่านั้น ถูกเบ็ดเกาะปาก

ทีนี้ดิ้นไม่หลุดแกาะไม่ออกแหละ เบ็ดเกาะติดเลย แล้วก็ตาย ยาเสพติดก็เหมือนกัน เมื่อเสพเข้าไปแล้วก็ติด ติดแล้วไม่ได้เสพ ไม่ได้ดื่ม ไม่ได้กิน อยู่ไม่ได้ ทุรนทุราย เงินทอง ข้าวของไม่มี ตัวก็ได้ติดยาเข้าไปแล้วทำอย่างไร หาทางบริสุทธิ์ไม่ได้ก็หาทางทุจริตเที่ยวฉกเที่ยวลัก เที่ยวปล้นเที่ยวจี้ กดขี่ข่มเหงใครได้ เป็นเอาทั้งนั้น คำว่ายางอาย ไม่มีในหัวใจ...

ถ้าติดเข้าไปแล้ว จนกระทั่งวันตายก็ไม่มีทางหาย ไม่เหมือนโรคภัยไข้เจ็บที่เกิดขึ้นภายในร่างกาย รักษาด้วยหยูกยายังมีเวลาหาย แต่ยาเสพติดนี้ถ้าลงได้ติดเข้าในรายใดแล้ว รายนั้นต้องเขียนใบตายให้เลย เขียนใบว่าหมดคุณค่า ตายทั้งเป็นไว้ให้เลยทีเดียว ทั้งที่ยังไม่ตาย..."

เวลาใส่บาตร...ไม่เหยียบบนรองเท้า

"...พระพุทธเจ้าเสด็จออกทรงผนวช ไม่เห็นมีใครไปราดยางให้พระพุทธเจ้า มีไหมในตำราว่า พระพุทธเจ้าไปที่ไหนราดยางไปพร้อมๆ ไม่เห็นมี ต่อไปนี้ เราจะต้องได้ถือไม้ติดตัวไปด้วย ไปบิณฑบาตต้องถือไม้ติดตัวไปด้วย เราบอกให้ถอดรองเท้า พอถอดปั๊บ-ปุ๊บขึ้นเหยียบแล้ว ขึ้นเหยียบอยู่บนรองเท้านะ พวกเพื่อนๆ ละบอกให้ถอดรองเท้า ถอดปั๊บขึ้นเหยียบปุ๊บอยู่ข้างบน ไม่ยอมลงนะ ตีขาน่ะซี

ตรงนั้นน่ะ มันพิลึกกึกกือ กลัวเท้าสกปรกมากกว่าหัวใจสกปรก หัวใจสกปรกมอมแมม เท้าสะอาด ใช้ไม่ได้..."

ไหว้พระก่อนนอน

"...นี่สอนให้บรรดาลูกหลานมีหลักใจ โดยอาศัยหลักธรรมเข้าเป็นเครื่องสนับสนุนเป็นเครื่องป้องกันตัว เป็นเครื่องรักษาตัว เป็นธรรมอบอุ่นใจ เวลาก่อนนอนอย่างน้อยให้ไหว้พระ

อิติปิ โสฯ สวากขาโตฯ หรืออรหังฯ สวากขาโตฯ สุปฏิปันโนฯ แล้วเวลาจะนอนให้ระลึกถึงคำบริกรรมภาวนา เพื่อให้เป็นพลังของจิต เช่น พุทโธ พุทโธ...เป็นต้น

เรานั่งภาวนา อย่างน้อยได้สัก 5 นาที ให้นั่งนึกอยู่กับ พุทโธ พุทโธ...ทีนี้เวลานอนลงไปก็ให้นึก พุทโธ พุทโธ...จนกระทั่งหลับ นี่ จิตใจเราก็แช่มชื่นเบิกบาน หลับฝันไปก็ไม่ฝันร้ายฝันน่ากลัวต่างๆ จิตใจก็มีพลัง..."

"คุณธรรม" นำ "ความรู้"

ศีลธรรมและความประพฤติของผู้กำลังศึกษาเล่าเรียน เป็นสิ่งที่เราจะเพิกเฉย ไม่ใส่ใจไม่ได้โดยเด็ดขาด แต่ต้องพยายามขวนขวายเข้าประดับตนให้มาก ท่านให้เหตุผลว่า เราจะมีแต่วิชาความรู้เพียงอย่างเดียวไม่ได้ ต้องมี ธรรม เข้าแทรกเสมอ ด้วยการพินิจพิจารณาใคร่ครวญว่าผิดหรือถูกประการใด ในการคิด การพูด และการกระทำของตนเอง เปรียบเสมือน รถมีเบรกห้ามล้อคือ มี ธรรม นั่นเอง โทษของการศึกษาเพียงอย่างเดียว โดยไม่หมั่นฝึกฝนอบรมใจให้เจริญขึ้น มีดังนี้

"...เรียนมาเท่าไรก็เป็นเครื่องมือของความชั่วช้าลามกไปเสียทั้งสิ้น เวลานี้เป็นอย่างนั้นนะ ถ้าไม่มีธรรมแล้ว ยังไงโลกนี้จะพินาศฉิบหายจริงๆ ขอให้ลูกหลานทั้งหลายจำเอาไว้ คำนี้ อย่าได้ลืม ฝังให้ลึกด้วย...เพียงความรู้ทางโลกที่เรียนมา...ความรู้อันนี้มันเป็นเครื่องส่งเสริมกิเลสตัณหาให้เอาไปใช้ได้อย่างคล่องตัวๆ ผู้ที่ล่มจมก็คือเราๆ ผู้เรียนมานั้นแหละ...มันพาให้โลภให้โกรธให้หลง พาให้ส่งเสริมราคะตัณหามากขึ้นๆ ซึ่งสิ่งเหล่านี้เป็นฟืนเป็นไฟทั้งสิ้น..."

ท่านเล่าว่า บางคนมาคุยโวโอ้อวด ลืมตัวว่าตัวเก่งทางนั้นเด่นทางนี้ มีหลายครั้งที่ท่านเมตตาตักเตือนให้เป็นคติเครื่องเตือนใจว่า

"...เขามาพูดเรื่องว่า จบด้านนั้น...เด่นทางนี้...เด่นทางไหนๆ...ในวิชาความรู้เด่นทางความชั่วช้าลามก เด่นทางความลืมเนื้อลืมตัว...เด่นทางมี 10 เมีย 20 ผัว ใช้ความรู้ความสามารถเด่นทางนักเลงโต...เด่นทางนักเลงสุรา...ทางโกโรโกโส เด่นทางทำลายชาติ...เรียนมาเท่าไรก็มาโก้ มาอวดหน้าร้านอยู่เฉยๆ ตัวล่มจมๆ ประพฤติเหลวแหลกแหวกแนว ความรู้สูงเท่าไรยิ่งหยิ่งยิ่งจองหองพองตัว แล้วทำลายชาติ ทำลายตัวเองไปในตัว...ใครอย่าอวดว่าใครเรียนเก่ง มีความรู้ชั้นนั้นชั้นนี้...เรียนมาให้เป็นเครื่องประดับโลก ประดับสงสาร ประดับบ้านประดับเมือง ให้เป็นสรณะแก่นสารแก่ชาติไทยของเราสมความรู้ที่เรียนมามากน้อย มันถึงถูก..."

ถึงแม้ว่าจบ "การศึกษา" ก็อย่าเลิกรา "การศีลการธรรม"

แม้จะประสบความสำเร็จทางการศึกษาขั้นสูงเพียงใดก็ตาม เช่น จบปริญญาเอกหรือดอกเตอร์ ธรรม ก็ต้องมีความจำเป็นสำหรับผู้นั้นยิ่งขึ้นไปอีก ท่านเคยอธิบายเหตุผลย้ำอย่างเด็ดว่า

"...ด็อกเตอร์มีแต่ความรู้วิชาเอามาอวดโลกกันเฉยๆ แต่เจ้าของทำความล่มจมแก่โลก ด็อกเตอร์นี้ใช้ไม่ได้ นั่น เห็นไหมละ ฟังซิ เราพูดนี้เสียหายไปตรงไหน มันมีอย่างนั้นได้นี่ พูดตามความมีความเป็น แล้วแก้ไขความเป็นอย่างนี้ด้วยการสั่งสอนอย่างนี้...เขาไม่เป็นด็อกเตอร์ เขาครองตัวดี เขาประพฤติตัวดี นั่นเป็นคนดีนะ ไม่ได้สำเร็จ ความดีด้วยด็อกเตอร์แต่ไม่มีธรรมภายในใจนะ

ด็อกเตอร์มีธรรมในใจ ถึงแม้ว่าจะไม่ได้เป็นด็อกเตอร์ก็ดี ถ้าเป็นด็อกเตอร์ก็ยิ่งดีนั่นแหละ ยิ่งเป็นผู้สง่างามในปวงชนนะ เรียนมาความรู้สูง มาเป็นตัวอย่างเป็นแบบพิมพ์ที่ดีของโลก ด็อกเตอร์ประเภทนี้เป็นด็อกเตอร์ที่ร่มเย็น ให้ความชุ่มเย็นแก่โลก สมชื่อสมนามว่าเป็นด็อกเตอร์ มีความรู้ชั้นสูง ความประพฤติ ปฏิบัติดีงาม ทุกสิ่งทุกอย่างสูงไปตามๆ กันกับความรู้ที่เรียนมานี้เรียกว่า ด็อกเตอร์ ประดับชาติ ถ้าอยู่ในชาติไทยของเราก็ประดับ ชาติไทยของเราประดับสังคม ประดับทุกแง่ทุกมุม..."

ท่านจึงเปรียบด็อกเตอร์เป็นสองประเภทคือ ด็อกเตอร์เพื่อทำลายชาติบ้านเมืองหนึ่ง และด็อกเตอร์ที่ให้ความเจริญรุ่งเรืองแก่ตนและชาติหนึ่ง ท่านกล่าวถึงประเภททำลายชาติก่อน ดังนี้

"...ไม่มีคำว่าอ่อนข้อในเรื่องทำความชั่วช้าลามก ในเรื่องความลืมเนื้อลืมตัว ไม่มีใครเกินด็อกเตอร์เหล่านี้ เพราะเรียนวิชาความลืมตัวมาตลอดๆ เพราะกิเลสคือความทำคนให้ลืมตัวนี่นะ ถ้ามีธรรมแทรกเข้าไป จะเป็นเหมือนมีสติ มีเครื่องยับยั้ง มีเบรกห้ามล้อ จะรู้เนื้อรู้ตัว ผิดถูกชั่วดีประการใดแล้ว เอาความรู้นี้พาดำเนินไปเพื่อความสงบร่มเย็นแก่ชาติบ้านเมืองเนี่ย

ด็อกเตอร์ที่มีธรรมเป็นผู้ให้ความร่มเย็นแก่โลกได้มากที่สุด ไม่มีใครเกินผู้ที่มีความรู้มากละ และมีธรรมในใจ ผู้นี้แหละเป็นผู้ให้ความร่มเย็นแก่โลกมากที่สุด ตั้งรากฐานบ้านเมืองได้ก็คือผู้นี้ นำชาติบ้านเมืองให้ขึ้นจากความล่มจมได้ทุกประเภทก็คือผู้นี้..."

คำสอนของท่านดังกล่าวข้าวต้นนี้ ทำให้ประจักษ์ว่า การศึกษาหาความรู้ไม่ว่าจะอยู่ในระดับใดตั้งแต่ขั้นพื้นฐานเบื้องต้นกลาง ตลอดจนถึงระดับสูงสุดก็ตาม ความจำเป็นแห่งการฝึกฝนอบรมจิตใจให้พรั่งพร้อมด้วยคุณธรรมก็ยิ่งมีความจำเป็นมากขึ้นตามกัน

ผู้ที่ตระหนักและเห็นคุณประโยชน์อันยิ่งใหญ่ในเรื่องดังกล่าวชัดแจ้ง จึงย่อมมีความเคารพบูชาและเทิดทูนในท่านผู้รู้ผู้สอน และผู้สนใจใคร่ต่อการปฏิบัติธรรม เฉพาะอย่างยิ่งผู้ที่สามารถปฏิบัติได้อย่างที่ได้สอนผู้อื่น และเห็นผลแห่งการปฏิบัติจนสามารถเป็นสักขีพยานยืนยันถึงสาระคุณแห่งธรรมได้อย่างถึงใจ

ด้วยเหตุนี้เอง ท่านผู้มีธรรม แม้ท่านจะมีความรู้วิชาทางโลกสูงล้นฟ้าเพียงใดก็ตาม ท่านย่อมไม่ประมาทธรรม และไม่ประมาทผู้ประพฤติธรรม แต่กลับให้ความเคารพและถือท่านเป็นสรณะที่พึ่งที่ควรเข้าปรึกษาปรารภเพื่อความเจริญในธรรมยิ่งขึ้น และย่อมไม่ลืมตัวเผลอไผลยกเอาวิชาความรู้แบบโลกของตนเข้าข่มท่านผู้รู้ในธรรมปฏิบัติ ผู้ขจัดอาสวะกิเลสให้สิ้นจากใจได้ เพราะวิชาความรู้แบบโลกนั้น จะสูงต่ำล้ำลึกเพียงใดก็เป็นเพียงความรู้ของนักโทษในเรือนจำ ท่านเคยอธิบายเกี่ยวกับเรื่องนี้ ดังนี้

ความรู้เหนือโลก-ความรู้แบบโลก

"...ดูใจเจ้าของ แน่นอนไหมเวลานี้ตั้งแต่มหาเศรษฐี กระฎุมพี สูงสุดมา คนที่กิเลสครอบงำนี้ เป็นความรู้ความเห็นความเป็นอยู่ด้วยอำนาจของกิเลสครอบงำหัวใจทั้งนั้น...เป็นความรู้ที่เกิดขึ้นในวงของกิเลส เป็นความรู้ของผู้อยู่ใต้อำนาจของกิเลส จะรู้ขนาดไหน กิเลสต้องครอบงำอยู่นั่นแล...เป็นความรู้ของนักโทษเรือนจำคือวัฏจักร...

วัฏจักรนี้ เหมือนเรือนจำครอบความรู้อันนี้ไว้ กิเลสเป็นผู้บงการทุกอย่างๆ...มันวิเศษที่ไหน ความรู้ของพระพุทธเจ้า ไม่ได้เป็นความรู้แบบนี้นี่น่ะ เหนืออันนี้หมดแล้ว...ดูหัวใจเจ้าของนั่น เวลามาเกิด มันก็ไม่รู้สถานที่เกิด เกิดมาจากไหน เกิดมากี่กัปกี่กัลป์ เกิดตายมานี้กี่กัปกี่กัลป์

พระพุทธเจ้าท่านเห็นหมดนี่ แทงทะลุข้างหลังหมด พวกเราแทงไปไหน จะว่ายังไงเกิดมาจากชาติใดภพใด ตกนรกหมกไหม้หรือไปสวรรค์ชั้นพรหมที่ไหนมา มันก็ไม่รู้สถานที่มาของตัวเอง โง่หรือไม่โง่ ปัจจุบันนี้จะไปไหนมันก็ไม่ได้แน่หัวใจนะ ถ้าใจไม่มีหลักเกณฑ์ด้วยธรรมเสียอย่างเดียวเท่านั้น ไม่แน่ทั้งนั้น ใครก็ใครเถอะ อย่ามาคุย อย่ามาอวดธรรมของพระพุทธเจ้าเลย อย่ามาแข่งธรรมของพระพุทธเจ้า ถ้าไม่อยากจม...

...ใจพระพุทธเจ้า ใจพระอรหันต์ท่านกับใจของพวกเราที่เป็นคลังกิเลสนี้ต่างกันอย่างไรบ้าง ต่างกันอย่างพูดไม่ได้เลย จึงเรียกว่า โลกุตรธรรม แปลว่า ธรรมเหนือโลก มองดูโลกเห็นหมดทุกอย่าง แต่โลกดูธรรม โลกมองไม่เห็น เห็นแต่กิเลส..."

ท่านยกตัวอย่างเทียบว่า นักโทษในเรือนจำ จะมีความรู้ขนาดไหนก็ไม่สามารถนำความรู้นั้นไปเป็นกฎเกณฑ์ปกครองบ้านเมืองให้สงบร่มเย็นได้ มีแต่พวกที่มีความรู้นอกเรือนจำต่างหาก ที่เป็นผู้ตั้งกฎหมายปกครองบ้านเมืองให้ร่มเย็น อันนี้ก็เปรียบได้เช่นกัน โลกุตรธรรม คือ ธรรมเหนือโลก คือความรู้เหนือโลกนี้ต่างหาก ที่จะทำโลกให้ร่มเย็น ไม่ใช่ความรู้ที่ถูกกิเลสครอบหัวไว้

พุทธศาสตร์ : วิทยาศาสตร์

ท่านเคยกล่าวว่า พุทธศาสนาเป็นศาสตร์ที่ลึกลับมากที่สุด แต่ไม่มีใครสนใจศึกษาปฏิบัติ จึงไม่มีใครรู้เห็นถึงความอัศจรรย์และความเลิศเลอของศาสตร์แขนงนี้ ผู้ที่เรียนจบวิชานี้จะเรียกว่าเรียนจบไตรภพ หรือจบความรู้ทั่วสามแดนโลกธาตุก็ไม่ผิด ดังท่านได้ขยายความเกี่ยวกับเรื่องนี้ไว้ว่า

"...วิทยาศาสตร์เป็นอันหนึ่ง พุทธศาสตร์เป็นอันหนึ่ง วิทยาศาสตร์นี้ไปทางด้านวัตถุไม่ใช่เหรอ ส่วนพุทธศาสตร์นี้ไปได้ทั้งวัตถุ ไปได้ทั้งนามธรรม คือจิตใจล้วนๆ...พุทธศาสตร์เป็นศาสนาที่สังหารได้จริงๆ ในเรื่องทุกข์ทั้งมวลที่เกิดกับสัตว์ทั้งหลาย สังหารออกจากจิตใจได้จริงๆ ไม่มีอะไรเหลือเช่น พระพุทธเจ้า พระปัจเจกพุทธเจ้า พระอรหันต์ เป็นผู้หายขาดโดยสิ้นเชิงเมื่อแก้อันนี้ตก เมื่อแก้อันนี้ไม่ตก สามแดนโลกธาตุนี้จะเป็นป่าช้าของสัตว์ทั้งนั้นเลย เกิดตายๆ กองกัน ทุกข์ถมกันอยู่อย่างนี้ตลอดไปเลยเนี่ย วิชาธรรมจึงเลิศเลอ ไม่มีใครตามได้แก้ได้ คาดได้ เรื่องภพเรื่องชาติ ธรรมเท่านั้นที่จะแก้ได้ นอกนั้นไม่ได้

อันนี้เป็นความลึกลับมากของภพของชาติ ความเปิดเผยคือการเกิดตายอย่างนี้ด้วยกัน เห็นชัดเจน แต่สาเหตุของมันที่จะพาให้มาเป็นอย่างนี้ เป็นยังไงนี้ ไม่มีใครรู้ได้ ไม่มีใครเรียนรู้ได้เลยละ นอกจากทางด้านจิตตภาวนาพุทธศาสนา...

โลกนี้เป็นโลกที่ลึกลับมาก สัตวโลกมองไม่เห็นเลย แม้ที่สุด เป็นหมอก็มองไม่เห็น หมอที่เรียนแพทย์เรียนอะไรนี้ เป็นวิชาทางส่วนร่างกายกับโรคต่างหาก ไม่ได้เรียนวิชาทางด้านจิตใจ เรียนแพทยศาสตร์เพื่อเป็นวิชาแก้โรคแก้ภัยไปหมด ไม่ใช่แก้กิเลส มันต่างกันอย่างนั้นนะ ทีนี้ วิทยาศาสตร์ทางพุทธศาสตร์ นี้ เพื่อแก้กิเลสโดยตรงๆ ไปเลยเชียว...จนเข้าถึงจิตศาสตร์ หมดร่างกายนี้เข้าสู่จิต เรียนทะลุถึงจิตเลย แต่ วิทยาศาสตร์ทางแพทย์ นี้เขาเรียนจบเพียงแค่นี้ เขาไม่ได้เข้าไปถึงขั้นนั้นนะ

วิทยาศาสตร์อันนี้ใครพูดไม่ได้ด้วยพุทธศาสตร์นี่เข้าถึงขั้นจิตศาสตร์นี้แล้ว ไม่มีใครรู้ได้ด้วย ถ้าไม่ได้ทำทางภาคปฏิบัติ รู้ไม่ได้เลย บอกว่าไม่ได้เลย ตีบตันขนาดนั้น ถ้าเป็นทางด้านจิตตภาวนา เรียกว่าทำทางด้านจิตศาสตร์ล้วนๆ แล้ว รู้ตามไปจนถึงถอนรากถอนโคนมันออกได้หมด ไม่เหลือ ไม่มีเหลือเลยนะ อย่างพระพุทธเจ้า พระอรหันต์ ท่านถอน ท่านเรียนจบแล้ว เอาอันนั้นมาสอนโลกที่ควรจะพูดขั้นนั้น ท่านก็ลงถึงขั้นนั้นเลย ผู้ที่ยังไม่ควรได้ขั้นไหน ก็ให้อยู่ตามขั้นภูมิของตนๆ ไป...ที่ควรจะไปได้ก็ถอนไปเลย นี่ท่านเรียนจบอันนั้นละ พุทธศาสนา เราจึงไม่มีอะไรเลิศเลอเกิน เรียนจบไตรภพว่างั้นเถอะ...จึงเป็นวิชาที่ลึกลับมากที่สุด ไม่มีใครเรียนละ

ใครจะเรียนที่ไหนก็ตามเรื่องโลก โลกเรียนมาจบชั้นไหนภูมิใด มันก็เป็นวิชาของกิเลส วิชาของวัฏจักร มันไม่ใช้วิชาของวิวัฏจักร ถอดถอนภพชาติออกได้เหมือนวิชาธรรม อันนี้สำคัญมากนะ..."

คอมพิวเตอร์กรรม

"...คอมพิวเตอร์ของธรรมมีมาดั้งเดิมแล้ว กรรมของสัตว์ที่ทำลงไปเป็นคอมพิวเตอร์แล้ว พระพุทธเจ้าทุกๆ พระองค์สอนแบบเดียวกันหมด...คอมพิวเตอร์ของกรรม...พากันจำเอานะ...

คอมพิวเตอร์ของบาปของกรรมมันละเอียดยิ่งกว่าคอมพิวเตอร์ที่เขาใช้กันอยู่นี้นะ...เป็นหลักธรรมชาติๆ คอมพิวเตอร์ธรรมชาติจดจาริกกันไปในตัวๆ เสร็จ คอมพิวเตอร์หลักธรรมชาติที่มีอยู่ประจำสัตว์เกี่ยวข้องกับดีกับชั่วอันนี้มีประจำอยู่ภายในนั้นแล้ว

ธรรมชาติเป็นคอมพิวเตอร์อยู่ในตัวแล้วในการสร้างดีสร้างชั่วบาปบุญคุณโทษ ประโยชน์มิใช่ประโยชน์ต่างๆ บรรจุคอมพิวเตอร์อยู่ในตัวของมัน จดเข้าอยู่ในหัวใจๆ เรียบ! แล้วยมบาลจะหาที่ไหน คอมพิวเตอร์บอกโดยหลักธรรมชาติแล้ว ตายก็ตูมเลยๆ นี่ นี้หลักธรรมชาติ ไม่ขึ้นกับใคร ใครจะลบล้างไม่ลบล้าง ไม่มีปัญหา ไม่มีความหมายทั้งนั้นละ

ใครอย่าเก่งนะ ! ว่ามีอำนาจวาสนาบุญญาภิสมภารป่าๆ เถื่อนๆ เอ้า เวลาตายไป ขาดลงไปปั๊บ ถึงทันทีเลย ไม่มีนะกิโล กี่กิโลจากนี่ถึงนรกหลุมนั้นๆ กี่กิโล...ผึงเดียวเท่านั้นถึงเลย เพราะการสร้างในหัวใจเจ้าของมีกิโลที่ไหนเล่า พอตายแล้วก็ตูมเลย ถ้าลงนรกลงต่ำก็ตูม ถ้าไปสวรรค์ทางดีก็ดีดผึงเลย...กิเลสตัณหานี่มันพาให้สร้างความชั่ว หิริโอตตัปปะไม่มีในหัวใจนะ ไม่รู้ตัวนะว่าไปสร้างความชั่วเพราะอันนี้เป็นเหตุให้ ธรรม จับเข้าไป มันรู้ทันที เห็นหมด...มันจะออกมาแง่ไหนแง่ใด มันรู้หมด...ปิดไม่อยู่ๆ เพียงแต่จิตแย็บออกมา บอกชัดเจนแล้ว บาปออกมาพร้อมกันแล้ว ผู้ทำหลับตาทำอยู่นั้นไม่รู้ว่าบาปว่าบุญเป็นยังไง หลักธรรมชาติคือคอมพิวเตอร์บอกไว้แล้ว

ทำดีก็เหมือนกัน ไม่จำเป็นจะต้องทำที่แจ้งที่ลับที่ไหนๆ คอมพิวเตอร์มันไม่มีคำว่าที่แจ้งที่ลับ...คอมพิวเตอร์จะบอก ในนั้นเสร็จๆ เลย ทำมากี่ครั้งกี่หนไม่ต้องไปหานับคอมพิวเตอร์จะบอกในตัวเสร็จหมดเลย...

อัศจรรย์ธรรมพระพุทธเจ้า แหม ไม่เคยจืดจางเลย ยิ่งไปเห็นคนทำความชั่วช้าลามก ยิ่งสลดใจนะ ถ้าจะเรียกภาษาโลก เรียกว่า หดหู่ ไม่อยากดู เพราะว่าเขาจะไปทำกรรมของเขาอีกขนาดไหน มันเห็นชัดๆ อยู่ คอมพิวเตอร์มันบอกอยู่นั้น

คอมพิวเตอร์ในตัวของเขาเองที่ทำ มันบอกอยู่ตลอดเวลาๆ ไม่ได้สนใจกับใครละ คอมพิวเตอร์หลักธรรมชาตินี้เป็นอย่างนั้นตลอดเวลา ใครเชื่อไม่เชื่อก็ตาม..."


(มีต่อ 33)

.....................................................
ทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว เป็นกฎตายตัว


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 24 ธ.ค. 2010, 10:55 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
ผู้จัดการ
ผู้จัดการ
ลงทะเบียนเมื่อ: 27 มี.ค. 2006, 17:34
โพสต์: 7781

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว www


รูปภาพ

ตอนที่ 23 หน่วยราชการ

หลวงตาให้ความอนุเคราะห์ช่วยเหลือหน่วยราชการหลายหน่วยในด้านต่างๆ กัน เพราะท่านเห็นว่าเป็นหน่วยงานที่มีหน้าที่โดยตรงในการให้ความสะดวก ให้บริการช่วยเหลือแนะนำในการประกอบอาชีพ สารทุกข์สุกดิบบำบัดทุกข์บำรุงสุข รวมทั้งสวัสดิการต่างๆ แก่ประชาชนเป็นพื้นฐานอยู่แล้ว

เมื่อหน่วยราชการต่างๆ มาขอความช่วยเหลือ หากเป็นสิ่งที่มีความจำเป็นเร่งด่วนและสมเหตุสมผล ท่านก็เมตตาอนุเคราะห์ให้ ไม่ว่าจะเป็นอาหารการกิน เครื่องอุปโภคบริโภค รถยนต์กลไก เครื่องไม้เครื่องมือ อุปกรณ์ในการทำงาน สิ่งก่อสร้างต่างๆ ภายในหน่วยราชการ ฯลฯ

หน่วยราชการที่ท่านเคยให้ความช่วยเหลือ โดยมากอยู่ในจังหวัดอุดรธานี ได้แก่ กองกำกับการตำรวจตะเวนชายแดน 24 ค่ายเสนีย์รณยุทธ ตำรวจทางหลวง สถานีตำรวจภูธรอำเภอเมือง สำนักงานเร่งรัดพัฒนาชนบท ตำรวจสันติบาล สถานีรถไฟ เรือนจำกลาง เป็นต้น

ในที่อื่นๆ ได้แก่ ทัณฑสถานหญิง กรมราชทัณฑ์ สถานีตำรวจภูธรกิ่งอำเภอภูพาน ฯลฯ

ด้านธรรมะสำหรับชีวิตและการงาน

ท่านเมตตาให้ธรรมะเป็นข้อคิดเตือนใจแก่คณะผู้ใหญ่ผู้น้อยของหน่วยงานต่างๆ ที่มากราบเยี่ยมท่านเสมอๆ ให้รู้จักนำศีลนำธรรมมาเป็นหลักยึดเหนี่ยวในจิตใจไม่ให้เผลอเพลินลืมเนื้อลืมตัว

อย่าบ้า...ลาภยศสรรเสริญ

คราวหนึ่ง ท่านแสดงธรรมอย่างเป็นกันเองแบบลูกหลานโปรดคณะนายทหารชั้นผู้ใหญ่ ร่วมกับนักธุรกิจจำนวนเกือบ 50 คน ดังนี้

"...นี่มาจากทางไหนกันบ้างนี่"
"มาจาก...มาดูงานทางภาคอีสาน ก็เลยมากราบครับ"
"เหรอ มาดูงานเหรอ...เคยมาวัดป่าบ้านตาดแล้วยังละ ? เหล่านี้เคยมาแล้วยัง ?"
"ครั้งแรก ไม่เคยมาเลยครับ"
"ไม่เคยมา แต่โรงลิเกละครระบำรำโป๊พวกบ้าๆ นั่นไปทั้งนั้นใช่ไหม ?...หือ ?"

ถ้าเป็นอย่างนั้นแล้วเลวที่สุดนะ มองไม่ทัน ถ้าเป็นหมา จับหางดึงไว้ หางขาดยังบืน (คืบคลาน) ไปได้นะ ถ้าเป็นอย่างนั้นแล้ว

ถ้าเป็นเรื่องศีลเรื่องธรรม นี่ก็เอาไสเข้าไปเท่าไรก็ไม่ยอมไปนะ เวลานี้โลกกำลังสกปรกมาก สกปรกจริงๆ สายตาของธรรม จนดูไม่ได้นะเวลานี้ แต่กิเลสมัน แหม มันเพลิน มันไม่รู้จักเป็นจักตายนะ...เรื่องมั่วสุมกับกิเลส ความโกรธราคะตัณหา นี้ตัวสำคัญสกปรกรกรุงรังก่อฟืนก่อไฟเผาไหม้โลกคือตัวเหล่านี้เอง แต่โลกชอบกันมากที่สุดที่จะแยกออกนี้ไปเพื่อศีลเพื่อธรรม มันไม่อยากแยกนะ มันดีดมันดิ้นอยู่เนี่ย

พระพุทธเจ้ากี่พระองค์มาตรัสรู้ ลากไปเท่าไรมันไม่ยอมไป มันสู้ส้วมสู้ถานไม่ได้ มันเป็นอย่างนั้นนะ สวรรค์นิพพานไม่ได้เลิศเลอยิ่งกว่าส้วมกว่าถาน เวลานี้กิเลสมันดึงลงไปขนาดนั้นนะ ให้เพลินในส้วมในถานไป มันไม่ค่อยเห็นเรื่องมรรคเรื่องผลเรื่องคุณงามความดีที่เลิศเลอยิ่งกว่านี้ขนาดไหน มันไม่ยอมให้เห็นนะกิเลส เราไม่ได้ตำหนิใครนะ กิเลสมันอยู่ในหัวใจคน เราก็ตำหนิเข้าไป มันก็ต้องโดนคนจนได้นั่นแหละ จะว่าไง

พระพุทธเจ้า เวลาตรัสรู้แล้ว ทั้งๆ ที่ทรงปรารถนาเป็นพระพุทธเจ้า...นานขนาดไหน...เพราะเกิดยากแสนยากที่สุด เนี่ย ท่านมาสั่งสอนสัตวโลก เมื่อเวลาได้บรรลุธรรมถึงขั้นพระอรหัตภูมิเต็ม เต็มตัวแล้ว เป็นศาสดาเต็มองค์แล้ว แล้วมองสัตวโลก ทั้งๆ ที่ปรารถนาเพื่อสั่งสอนสัตวโลก ตรัสรู้เพื่อสั่งสอนสัตวโลก

พอตรัสรู้เสร็จเรียบร้อยแล้ว มองดูสัตวโลกแล้ว มืดแปดทิศแปดด้าน ทรงท้อพระทัย จะสั่งสอนไปได้ยังไงเมื่อมันเป็นอย่างนี้แล้ว...

เห็นไหมขนาดนั้นแหละ ท่านดูพวกเรา เรายังมัวเมาเกาหมัดกันอยู่ตลอดเวลา ไม่ลืมหูลืมตา รื่นเริงบันเทิงกับมูตรกับคูถตลอดเวลา มันน่าสลดสังเวชไหม

เวลานี้ยังโอ่อ่าฟู่ฟ่าอยู่นะ เป็นบ้ากับยศกับลาภกับสรรเสริญเยินยอ ให้เขานับหน้าถือตา อวดมั่งอวดมีอวดดีอวดเด่น อ๊วด...ไปอย่างไม่มี ลมๆ แล้งๆ หาเหตุหาผลหาหลักหาเกณฑ์ไม่ได้ คือกิเลสหลอกคนให้เป็นบ้ากับอันนี้ มันไม่มองดูธรรมนะ ธรรมเป็นของจริง เลิศเลอขนาดนี้กี่เท่าพันทวี สิ่งเหล่านี้ก็เป็นอย่างที่เราดูฝูงหนอนมันอยู่ในส้วมนั่นล่ะ เพียงเราดูลงไปเท่านั้น มันเป็นยังไง วิสัยหนอนกับเรา

ทีนี้ วิสัยแห่งธรรม กับวิสัยของกิเลสที่สกปรกสุดยอด วิสัยแห่งธรรมที่สะอาดสุดยอด ดูกัน เป็นยังไง ก็เห็นกันอย่างนั้นชัดเจน...นั่นล่ะ

นี่โลกมันถึงไม่อยากมองดูนั้น มันมัวดูแต่ส้วมแต่ถานตลอดเวลา ไม่ว่าเขาว่าเรานะ อย่าไปตำหนิใครนะ หมายถึงหัวใจแต่ละดวงๆ มีแต่ฟืนแต่ไฟเผาไหม้อยู่ตลอดเวลา ถ้ากิริยาท่าทางออกมาแสดงประดับร้านว่า สวยว่างามว่าโอ่อ่าฟู่ฟ่ามีบ้านมีเรือนมีสมบัติเงินทองข้าวของมากน้อย มีบริษัทบริวารมาก นี้เอามาโอ่อ่าฟู่ฟ่าประดับร้าน แต่ภายในหัวใจเป็นไฟด้วยกันหมด ฟังซิน่ะ

เอาธรรมจับเข้าไปมันก็เห็นนะสิ...ดูหัวใจดวงใดมันมีแต่ฟืนแต่ไฟ ด้วยความโลภ ความโกรธ ราคะตัณหา ความตระหนี่ถี่เหนียว ความเห็นแก่ตัว ความรีดความไถ ความเอารัดเอาเปรียบ มันเป็นฟืนเป็นไฟเผาไหม้ตลอดเวลา..."

ความเสียสละ

"...การเสียสละนี้เป็นบุญเป็นกุศลเป็นคุณแก่ตนเอง ให้ไปโน้น ย้อนกลับมาหาเจ้าของ เหมือนเราเปิดประตู อากาศเข้ากับอากาศออกประสานกันทันทีๆ การให้ไปกับการได้มาประสานกันทันที นี่แหละการเสียสละ เปิดออก เปิดประตูเสียสละเปิดออกกว้างก็ออกได้กว้าง เข้าก็เข้าได้มาก เวลาเราเปิด เปิดแคบ ออกก็ออกได้น้อย เข้าก็เข้าได้น้อย

สมมติว่าอากาศก็ดี น้ำก็ดี ถ้าเปิดประตูน้ำเป็นส่วนน้อยก็เข้าน้อยออกน้อยเปิดมาก เข้ามากออกมาก ปิดเลยไม่ให้มันออก ทีนี้มันเลยไม่เข้า...

...คนเป็นนักเสียสละ คนมีแก่ใจ ไปไหนเย็น มีเพื่อนมีฝูงก็มาก มีคนเคารพนับถือ ถ้าเป็นเด็กก็เป็นเด็กน่ารัก เป็นผู้ใหญ่ก็น่าเคารพบูชา น่าคบค้าสมาคม ความใจกว้างขวาง ไปที่ไหนเป็นอย่างนี้ ถ้าคับแคบปิดตัน ไปที่ไหนตีบตันอั้นตู้ไปหมด เวลาจะตายก็ไม่มีใครไปกุสลามาติกาในงานศพให้เห็นแต่หมาเดิน ด็อกๆ แด็กๆ ในงานศพ มันมาหากินเศษอาหาร ไม่ได้กินข้าว หมาจวนจะตายเพราะความตระหนี่ของคน มันตระหนี่ถี่เหนียว ตายแล้วไม่มีใครไปเผาศพ หมาจะมากินเศษอาหารก็ไม่ได้กิน ทุกข์ทั้งหมาทุกข์ทั้งคน

คนใจคอกว้างขวางไปไหน เพื่อนฝูงก็มาก เวลาตายนี่ คนเต็มไปหมดในงานศพ บอกอย่างชัดเจนว่าคนนี้มีอัธยาศัยกว้างขวาง ใครก็มาด้วยความเต็มอกเต็มใจ ด้วยความเคารพนับถือ ด้วยความรักความสนิทสนมกัน ความเสียดาย ไม่เหมือนคนตระหนี่ถี่เหนียวตายนะ คนไม่มีในงานศพ หมาเลยหิว อย่าทำนะแบบหมาหิว เข้าใจไหม ?...

อย่า...กินบ้าน กินเมือง

ท่านมีความเมตตาสงสารและห่วงใยชาติบ้านเมืองเป็นพื้นในจิตใจตลอดมา ดังนั้น เมื่อมีโอกาสสั่งสอนตักเตือนกลุ่มข้าราชการงานเมือง ท่านก็มักจะแสดงธรรมอย่างเต็มเม็ดเต็มหน่วยเช่นเดียวกับคราวนี้

"...นี่ละ วัดหนึ่งๆ ครอบครัวหนึ่งๆ ขึ้นอยู่กับหัวหน้าครอบครัว ผู้ใหญ่บ้าน กำนัน นายอำเภอ ผู้ว่าฯ ขึ้นไปเป็นลำดับลำดา ให้มีศีลธรรมเป็นเครื่องกำกับตัวเองอยู่เสมอ อย่าปล่อยเนื้อปล่อยตัว เวลานี้เราปล่อยให้กิเลสเข้าไปตีตลาดตามโรงงานต่างๆ นี้มีแต่กิเลสตีตลาดทั้งนั้น แหลกเหลวไปหมด ศีลธรรมเข้าใกล้ไม่ได้เลย

เพราะฉะนั้น บ้านเมืองถึงเหลวแหลก เหลวแหลกดังที่เห็นอยู่นี้แหละ ไม่ใช่เหลวแหลกแบบไม่มีคน คนตายฉิบหาย มันเหลวแหลกด้วยความประพฤติ เหลวกแหลกด้วยความเป็นอยู่ด้วยกันอย่างนี้แหละ หาความไว้วางใจกันไม่ได้ เพราะไม่มีศีลธรรมเป็นที่ไว้วางใจ

ไปที่ไหนก็เหมือนกับลิง คอยกิน...กิน คอยคด...คด คอยโกง...โกง คอยจะได้โอกาสอันไหนนี้ รีดไถทุกแบบทุกฉบับ สุดท้ายข้าราชการเลยเป็นผีตัวหนึ่ง เป็นยักษ์ตัวหนึ่งแก่ชาติบ้านเมือง เขาก็เอือมระอาซิ

เงินทุกบาททุกสตางค์ได้มาจากประชาชนราษฎรทั้งนั้น เป็นภาษีอากรเข้ามา เพื่ออุดหนุนประเทศชาติบ้านเมืองให้มีความแน่นหนามั่นคง กลับเป็นเปรตเป็นผี ให้เปรตให้ผีไปกินเสียหมด มันก็ใช้ไม่ได้

วงราชการแต่ละวงเลยกลายเป็นวงสังหารประชาชน วงสังหารประเทศชาติบ้านเมือง อย่างนี้ดูไม่ได้ใช้ไม่ได้เลย

เพราะฉะนั้น ขอให้พี่น้องทั้งหลายที่เป็นชาวพุทธปฏิบัติตามศีลธรรมนี้ ขอให้ปฏิบัติอย่างเคร่งครัดเข้าไปโดยลำดับ เพื่อความสงบเย็นและมั่นคงของบ้านเมืองเรา...

...การกล่าวทั้งนี้ไม่ได้หมายถึงว่าวงราชการจะเลอะๆ เทอะๆ ไปหมดทุกรายนะ เราพูดถึงรายที่ไม่ดีต่างหาก ซึ่งมีจำนวนมากต่อมาก อันนี้มีมากจริงๆ อยู่ที่ไหนๆ ไม่คณนาได้ เต็มไปหมดในวงราชการแผนกต่างๆ ยังเย่อหยิ่งจองหองเสียด้วยนะ วงราชการไม่ระลึกเลยว่าตัวเองกินเงินเดือนของประชาชนราษฎร เย่อหยิ่งจองหองจนน่าเกลียด เป็นเจ้าอำนาจ กดขี่บังคับประชาชนหลายแบบหลายฉบับนะ

คนนี้แบบนี้ คนนั้นแบบนั้นๆ ถ้าไม่ได้ใต้โต๊ะเหนือโต๊ะเสียก่อนเป็นขัดเป็นแย้ง เป็นหาอุบายเท่านั้นเท่านี้อยู่จนได้ นี้ซิที่มันน่าเกลียดเอาเหลือเกินนะ เอือมระอาเอามาก ประชาชนราษฎรไปแต่ละครั้งๆ เสียเวล่ำเวลามาบ้านมาเรือน ค่ารถค่าราอาหารการกิน หน้าที่การงานต้องเสียไปสักเท่าไรไม่ได้คำนึง คอยแต่จะเอาใต้โต๊ะเหนือโต๊ะ ถ้าไม่ได้จะต้องหาอุบายนั้นหาอุบายนี้

เวลานี้วงราชการเป็นอย่างนี้นะ เสียเอามากมาย นี่คือความจริง เราไม่ได้หาเรื่องใส่คน เราสอนคนเพื่อความสงบร่มเย็นทั่วหน้ากัน

มันเป็นอย่างนี้เวลานี้ เขาเบื่อจริงๆ เบื่อวงราชการเวลานี้ ไม่ใช่ธรรมดานะ แต่ประชาชนถึงเขามีปาก เขาก็ไม่พูดง่ายๆ ถ้าพูดก็เป็นภัยต่อปากเจ้าของอีกแหละ เพราะพวกนี้พวกเจ้าอำนาจ อำนาจอันนี้มันอำนาจป่าๆ เถื่อนๆๆ เสียด้วยนะ ไม่ใช่อำนาจธรรมดา ไม่อย่างนั้นมันทำชั่วไม่ได้ ถ้าไม่ใช้อำนาจแบบนี้...

...ชีวิตมันเกี่ยวโยงกันไปหมดไม่ว่าภาคไหนๆๆ ชีวิตอยู่กับจุดศูนย์กลางคือชาติ ต่างคนต่างระลึกถึงชาติเสมอ อย่าระลึกถึงตนยิ่งกว่าชาติ ถ้าลงชาติได้ล่มจมไปแล้ว ใครจะไปนั่งบนเก้าอี้เหนือเทวดาอยู่ได้คนเดียวไม่เคยมี ต้องเป็นกองทุกข์เหมือนกันหมด ให้เราเห็นใจประชาชนราษฎร

นี่ความห่างเหินจากศีลจากธรรมเป็นอย่างนี้ ให้พี่น้องทั้งหลายจำเอาไว้ ศีลธรรมคือเครื่องยึดเหนี่ยวของใจและความประพฤติหน้าที่การงานทั้งปวง ให้เป็นไปเพื่อความดีงาม ถ้าปราศจากศีลธรรมเสียอะไรๆ ก็เหลวไปตามๆ กัน ฉะนั้น ศีลธรรมจึงเป็นธรรมจำเป็นมาก..."

อย่าเห็นแก่ตัว จงเห็นแก่ชาติ

ครั้งหนึ่งท่านแสดงธรรมแก่หน่วยงานราชการกลุ่มใหญ่ ดังนี้

"...การปกครองกัน ให้คำนึงถึงหลักและกฎเกณฑ์ ระเบียบข้อบังคับ นำมาปกครองกัน อย่าเอาอารมณ์มาปกครองกัน อย่าเอาอำนาจวาสนาศักดานุภาพว่าเราเป็นผู้ใหญ่มีอำนาจมาก อยากทำอะไรก็ทำได้ มาปกครองกันโดยหาหลักเกณฑ์หาระเบียบกฎข้อบังคับไม่ได้นั้นเป็นความผิด...ต่างคนต่างก็ให้อภัยซึ่งกันและกัน ต่างคนต่างปกครองในฐานะพ่อแม่กับลูกจะมีความร่มเย็นเป็นสุข

...สมบัติของกลาง เราอย่านำออกไปใช้ในกิจส่วนตัว และนำออกจำหน่ายขายกิน นั่นเป็นการขายชาติ เป็นการฆ่าชาติ เป็นการทำลายชาติ เพราะความเห็นแก่ตัว ความเห็นแก่ตัวนั้นไปไม่รอด ถ้าชาติไปไม่ตลอด เราต้องจมไปด้วยชาติ เราจะเห็นแก่ตัวว่า เอาตัวรอดเป็นยอดดี การคิดเอาตัวรอดแบบนั้นแลเป็นยอดที่เลวที่สุด...เพราะคนคนหนึ่งอยู่คนเดียวไม่ได้ ต้องอยู่ด้วยกันหลายคน เช่นประเทศไทยเรานี้ ทั้งประเทศมีความเกี่ยวโยงกันอยู่เหมือนกับตาแหตาข่าย ตาหนึ่งขาดก็เกี่ยวเนื่องไปถึงตาแหตาข่ายทั้งหลาย ปลาก็ลอดออกไปที่นั่นได้...

ถ้าชาติได้ล่มจมไปเสีย เราจะเอาตัวรอดด้วยวิธีใด นอกจากเราต้องจมไปกับชาติเท่านั้น ชาติจมเราต้องจม ชาติอยู่ได้ เราก็อยู่ได้ เมื่อเป็นเช่นนั้น เราต้องรักษาเพื่อความอยู่รอดของคนทั้งชาติ ไม่ใช่รักษาเพื่อความอยู่รอดเฉพาะเรา นั้นเป็นความคิดผิดของบุคคลผู้เห็นแก่ตัวมาก คิดเพื่อความร่ำรวย แต่หารู้ไม่ว่าความคิดนั้นคือเพชฌฆาตสังหารตนและชาติให้ล่มจม

ท่านจึงสอนว่า สามัคคี...เป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกัน เป็นความเกี่ยวโยงกันไปหมด คนในชาติรักคนในชาติ ไม่มีใครที่จะรักยิ่งกว่าคนไทยรักคนไทยย ไม่มีใครที่จะรับผิดชอบยิ่งกว่าคนในชาติจะรับผิดชอบคนในชาติของตน และไม่มีใครจะรับผิดชอบยิ่งกว่าเราจะรับผิดชอบในขอบเขตของเรา..."

"ขอโทษ" คำที่ใช้ดับไฟ

"...สัตวโลกนี่มีผิดมีพลาดด้วยกันทั้งนั้น แต่เมื่อให้อภัยกันแล้ว อยู่ด้วยกันได้ ถ้าต่างคนต่างเบ่งแล้วนั่นล่ะ ถ้าเป็นหมาก็กัดกันได้เร็วนะ...แม้จิตใจจะลุกเป็นไฟมาก็ตาม เมื่อน้ำดับไฟคือการขอโทษซึ่งกันและกันแล้ว ก็ให้อภัยกันได้อย่างง่ายดาย

มนุษย์เรานี่ หลักใหญ่ของมนุษย์เราที่มีธรรมอยู่ด้วยกัน เห็นใจเขา เห็นใจเรา ให้อภัยกันได้ ธรรมเป็นอย่างนั้นนะ ไม่ถือสีถือสากันง่ายๆ ผิดยอมรับว่าผิด แล้วแก้ไขดัดแปลง ให้ขอโทษกัน

คำขอโทษเป็นของสำคัญมากนะ ไม่ใช่เรื่องเล็กน้อย จะเป็นไฟเผาคนอยู่ในคนนั้นก็ตาม พอคนนี้ไปขอโทษยกมือไหว้เท่านั้นแหละ น้ำดับไฟนี้พรึบลงทันทีเลย สงบ ของเล่นเมื่อไหร่ นี่แหละธรรม

ความโกรธเป็นไฟ ความขอโทษกัน นั่นแหละเป็นคุณ เป็นน้ำดับไฟ ดูเอาสิ หัวใจใครก็เหมือนกัน อย่างเช่นโจรผู้ร้ายนี้ มันก็ใจโหดมาโหด เวลาเจ้าของบ้านยกมือไหว้นี้ มันเอาปืนจ่อกำลังจะยิง ปืนมันยังลดลงทันที เห็นไหม ใจมันโหดขนาดนั้น มันยังรับน้ำอยู่นะ ไฟยังรับน้ำอยู่ นี่แหละ น้ำดับไฟคือธรรม อย่างอื่นดับไม่ได้นะ..."

ผัวเดียวเมียเดียว

ท่านเตือนลูกหลานเสมอๆ ให้รู้จักควบคุมไฟราคะตัณหา ให้มีขอบเขตอยู่ภายในเตาด้วยศีลด้วยธรรม ดังนี้

"...เราต้องอบรมทางด้านจิตใจให้มาก มันสำคัญไม่มีใครมองนะ มองแต่อย่างนั้น อย่างที่โลกทั้งหลายแหละ มองกัน...มันไม่ได้มองดูจุดที่ถูกต้องดีงามอะไร มองแต่จุดจะผูกพันเจ้าของให้จมนะซิ ทำไมมนุษย์อยากไปสวรรค์ทั้งเป็นเนี่ย เวลาตายแล้วมันไม่อยากไป...มันก็ไม่คิดนะ มันอยากไปแต่สวรรค์ทั้งเป็น เวลาตกนรกทั้งเป็นมันไม่ยอมตก

มีเมียคนหนึ่งแล้วมันไม่พอ อยากได้อีก 2 คน เพื่อไปสวรรค์ มีผัวคนหนึ่งแล้วอยากได้อีก 2 คน 3 คน เพื่อไปสวรรค์ ผัวคนนี้พาไปสวรรค์ไม่ได้ เบื่อแล้ว ผัวคนนี้ เมียคนนี้เบื่อแล้ว เอาเมียคนใหม่พาไปสวรรค์ เอาผัวคนใหม่พาไปสวรรค์ มันเอาสวรรค์ทั้งเป็น ไฟนรกเผาหัวมันทั้งเป็น มันไม่ได้คิดแน่ะ เอาอย่างนั้นสิ เรามีเมียคนหนึ่งแล้วนี่ แล้วครอบครัวเป็นยังไง มีผัวเข้ามาอีกคนหนึ่ง แฝงผู้ชายเข้ามาอีกคนหนึ่ง เป็นยังไง นั่นละ ไฟกองใหญ่อยู่ตรงนั้นนะ มันไม่ดู

ธรรมท่านดูหมด ท่านจึงมีเข้มงวดกวดขันให้อยู่ในขอบเขต มันพอเหมาะพอดี แล้วกับเมียคนนี้ กับผัวคนนี้ พอเหมาะพอดีแล้ว อย่าให้เลยนี้ไปนะ นั่น กาเมสุมิจฉาจารราคะตัณหาอย่าให้กำเริบเสิบสาน บังคับมันไว้ให้อยู่ในเตา อย่าปล่อยตามมัน ปล่อยตามมันแล้วเผาเราทันที เสริมมันเท่าไหร่มันยิ่งไปใหญ่เลยนี่ อย่าเสริมมันเลย บังคับมันไว้ว่างั้นเถอะ เขามีผัวมีเมีย เขาก็จะตายเหมือนเราล่ะ เขาทนไม่ได้ เขามีผัวมีเมีย เขาก็จะตาย เขามี 20 เมีย 30 เมียเขาก็ตายเหมือนกันนะ เราไม่เห็นมีใครไปสวรรค์ มีแต่นรกทั้งเป็นเผาหัวมัน เราอย่าไปหาไฟนรกเผาเรานะ

พากันเชื่อธรรมแล้วสงบ ถึงจะอดจะอิ่มบ้างเป็นธรรมดาโลก อันนี้เป็นโลกอนิจจัง มีความทุกข์ความจน ความมั่งความมีเป็นกาลเป็นเวลาเป็นครั้งเป็นคราวเหมือนกันทั่วโลก ยังไงก็ขอให้ธรรมีในใจ เป็นตายด้วยกันเชื่อถือกันได้ ฝากเป็นฝากตายต่อกันได้ จงรักภักดีซื่อสัตย์สุจริตต่อกันนี้อบอุ่นที่สุด ถึงจะจนก็จนด้วยกัน เป็นด้วยกันตายด้วยกันไม่เป็นไร อันนี้ไม่มีไฟมาเผา ไฟข้างนอกไม่มาเผา อยู่ได้ ดีไม่ดีเศรษฐีสู้ไม่ได้ เศรษฐี 10 เมียสู้ไม่ได้ ไม่ต้องบอกเพียง 2 เมียเท่านั้นก็สู้ไม่ได้แล้ว อย่าว่าแต่ 10 เมียสู้ผัวเดียวเมียเดียวไม่ได้ ธรรมพระพุทธเจ้าเลิศขนาดไหน สอนไว้ให้อยู่ในขอบเขตแห่งความพอดี นี้คือความพอดีแล้ว อย่าหามาเผากัน...."

คนบ้า น้ำบ้า

เทศนาในเช้าวันหนึ่งกับการแสดงธรรมแก่ข้าราชการหน่วยใหญ่ ดังนี้

"...เวลามีการมีงาน มันน่าอายขนาดไหน ถ้าธรรมดาเราแล้ว เอาแก้วเหล้าไปโชว์ให้เขาถ่ายลงหนังสือพิมพ์ ถือแก้วเหล้าโชว์ ผู้ใหญ่ขนาดไหนถือแก้วเหล้ามาโชว์ มันน้ำบ้ารู้ไหม เด็กเขายังรู้ เขายังไม่เอาแก้วเหล้ามาโชว์ ผู้ใหญ่ขนาดนั้นเอาแก้วเหล้ามาโชว์หาอะไร ถ้าไม่ขายความเลวทรามของตัวที่สุดเลย นี่หรือจะปกครองบ้านเมือง คือแก้วเหล้านี้เหรอ อยากถามว่างั้นนะ เขาตำหนิกันทั้งโลกทั้งสงสารว่าเป็นของไม่ดี ทำไมจึงเอามาโชว์...

...สุราคืออะไร สุราก็คือเครื่องดองของเมา และทำผู้ดื่มให้ลดคุณภาพแห่งความสมบูรณ์มาเป็นคนพร่อง คนไม่เต็มตาเต็งตาชั่ง คนขาดบาทขาดสลึง ดื่มมากเท่าไร ยิ่งขาดบาทลงเรื่อยๆ จนกลายเป็นคนบอคนบ้าได้อย่างสดๆ ร้อน เราเกิดมาพ่อแม่ไม่เคยเอาน้ำเมา...มาให้เราดื่มเรากิน มาเลี้ยงดูเรา มีแต่ของดิบของดี ข้าวต้มขนมอาหารหวานคาว มีแต่ของดีๆ

เราเติบโตขึ้นมาด้วยน้ำนมของแม่ ด้วยข้าวต้มขนม เป็นของดิบของดีมีราคามากมาย พ่อแม่นำมาเลี้ยงดูจนเป็นผู้เป็นคนขึ้นมา เมื่อเป็นผู้เป็นคนขึ้นมาจากของดิบของดีมีค่ามากแล้ว กลับเอาน้ำสุรายาเมาเข้ามาเบื่อตัวเองให้มึนเมา นี่เป็นสิ่งที่เพิ่มคุณค่ามนุษย์ให้มีศักดิ์ดีเด่นที่ตรงไหน ยังมองไม่เห็น เราลองคิดดูซิ

สมมติว่าเรานั่งอยู่ด้วยกันนี่ มีกี่คนด้วยกันนี่ ล้วนแต่คนเมาสุรา...นอนร่ายบ้าเกลื่อนอยู่ตามถนนหนทาง ไปที่ไหนมีแต่คนเมาสุรา ขี้แตกเยี่ยวราดอยู่ตามถนนหนทาง ไม่มียางอายตามมรรยาทของมนุษย์เลย ดูได้ไหมพิจารณาซิ

ถ้าหากว่าสุรามันดีจริงดังที่ชอบเสกสรรกัน คนมีคุณสมบัติผู้ดีจะชมไหมว่าพวกขี้เมานอนเกลื่อนกลาดขี้ราดเต็มตัวเต็มถนนหนทางอยู่ เขาดีนะ ขี้ไม่ต้องหาที่ทะลักออกเต็มผ้าก็ยังได้ คนธรรมดาทำไม่ได้ นี่เขาดีนะอย่างนี้มีไหม ไปที่ไหนมีแต่คนเมาสุราเต็มถนนหนทาง แล้วดูได้ไหม มีแต่คนบ้าเต็มถนน...

นี่ละ พระพุทธเจ้าจึงห้าม ห้ามไว้อย่างนี้ เพราะไม่อยากให้คนเป็นบ้ากันทั้งบ้านทั้งเมืองทั้งแผ่นดิน...ความละอายต่อบาปต่อกรรม ต่อบุคคล ต่อที่สูงที่ต่ำไม่มี ไปที่ไหนพูดอะไรได้หมดไม่มียางอาย เพราะหมดยางอาย พูดวันยังค่ำไม่มีจบก็คือคนเมาสุรา พูดไม่มีจบ วกวนไปมาอยู่นั่นแล จนผู้ฟังเบื่อจะตาย

เดี๋ยวก็ลาละครับ เดี๋ยวคุยอีกไม่จบสิ้น เดี๋ยวลาละครับ ได้เวลาแล้ว ลาละครับ เดี๋ยวคุยอีก อย่างนั้นวันยังค่ำ ลาละครับวันยังค่ำ แต่ไม่ไปก็คือคนเมาสุรา พูดไม่มีสถานี ไม่มีจุดไม่มีหมายไม่มีสาระ ไม่สนใจว่าดีว่าชั่ว ถูกหรือผิด พล่ามได้ตลอด ไม่สนใจกับเวล่ำเวลาเป็นยังไง นี่ก็คือความเมาสุราหาสติสตังไม่ได้ คนโง่ที่สุดก็คือคนเมาสุรา แต่คนที่อวดฉลาดที่สุดก็คือ คนเมาสุรานั่นเอง คนเมาก็คือคนบ้านั่นแหละ น้ำนี้เขาเรียกน้ำบ้า..."

ตำรวจดี...คนรัก

ท่านเมตตาแสดงธรรมโปรดคณะนายตำรวจ ดังนี้

"...เราเป็นตำรวจนี้ ก็คือเป็นผู้ที่รักษาหน้าที่การงานอันสำคัญในส่วนรวม อำนาจอะไรก็มอบให้ตำรวจเป็นผู้ปกครองบ้านเมืองเพื่อความสงบสุขร่มเย็น ถ้าตำรวจไม่มี โจรมารผู้ร้ายเต็มไปหมด ที่ไหนๆ ก็เป็นโจรได้เป็นผู้ร้ายได้ ถ้าไม่มีสิ่งกลัวเสียอย่างเดียว คนเราจะทำชั่วได้อย่างง่ายดาย แต่เมื่อสิ่งที่บังคับบัญชา สิ่งที่น่ากลัวอยู่บ้าง ก็ต้องได้ระมัดระวังคนเรา

เพราะฉะนั้น เมื่อมีตำรวจที่ดีรักษากฎหมายบ้านเมือง เพื่อชาติบ้านเมืองเพื่อสังคมให้อยู่เย็นเป็นสุข มีมากน้อยในสถานที่ใด สถานที่นั้นบ้านเมืองนั้นย่อมได้รับความสงบร่มเย็น ตำรวจก็เป็นผู้พึ่งเป็นพึ่งตายของชาวบ้าน ในขณะเดียวกัน เราอย่าให้ตำรวจเป็นผีเป็นยักษ์ของชาวบ้าน รีดไถเขาก็แล้วกัน เราต้องแยกออกเป็นประเภทๆ เพราะเรื่องความจริงมีอยู่อย่างนั้น...

การประพฤติปฏิบัติตัวเรานั่นแหละ เป็นตัวอย่างอันดีแก่ชาวบ้านชาวเมืองทั้งหลายก่อนหน้าเขา อย่าเอาใครมาเป็นตัวอย่าง ถ้าเอาหลักกฎหมายบ้านเมืองเข้ามาบวกในความเป็นตำรวจของเราแล้ว ดำเนินหน้าที่การงานเพื่อชาติบ้านเมือง เพื่อความซื่อสัตย์สุจริต ความจงรักภักดีต่อชาติบ้านเมือง ต่อประชาชน ไปที่ไหนประชาชนเขาจะรัก ถ้าผิดเราก็จับจริงๆ ปรับโทษสินไหมจริงๆ เพราะคนนี้ผิด เมื่อเราจับอย่างมีเหตุมีผลปรับไหมใส่โทษด้วยความมีเหตุมีผลนี้ ชาวบ้านเขาก็เห็นใจ เขาก็รักเขาก็ชอบ เขาก็รู้ว่าเราทำถูก ถ้าเราทำตรงกันข้าม ไม่มีหลักมีเกณฑ์ อาศัยแต่อำนาจของความเป็นตำรวจ เอาอำนาจของกฎหมายบ้านเมืองแล้วทำสุ่มสี่สุ่มห้าแอบหน้าแอบหลังอย่างนั้น เขาก็รู้ เพราะเหตุไร เพราะบ้านเมืองนั้นคือใคร ก็คือคน คนมีหัวใจ ตำรวจรู้ คนเขาก็รู้ จึงต้องปฏิบัติหน้าที่ให้ตรงแนวของตำรวจเราผู้มีหน้าที่รักษาชาติบ้านเมือง

ตำรวจไปที่ไหน บ้านเมืองเราจะมีความร่มเย็น คนรัก ไปไหนดีมีเสน่ห์ในตัว เด็กก็รัก ไม่ว่าแต่ผู้ใหญ่รัก เด็กรัก ก็เย็นใจ ก็สบาย เหมือนเรามีคุณค่า ผู้ใหญ่รักก็เหมือนเรามีคุณค่า ประชาชนรักยิ่งเป็นผู้มีคุณค่ามาก

เพราะฉะนั้น...จงตั้งหน้าตั้งตาทำตัวของตัวให้เป็นตัวอย่างของตัวเอง ให้มีความร่มเย็น ให้มีความพึงใจในตัวของเราเองก่อนที่จะไปปฏิบัติหน้าที่การงานให้เป็นที่พึงใจของประชาชนทั้งหลาย ให้พึงทำตัวเป็นหลักใจนั้นละ ทีนี้ไปที่ไหนประชาชนพลเมืองไม่ว่านักบวชหรือฆราวาส หญิงชาย รักหมด...


(มีต่อ 34)

.....................................................
ทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว เป็นกฎตายตัว


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 24 ธ.ค. 2010, 10:58 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
ผู้จัดการ
ผู้จัดการ
ลงทะเบียนเมื่อ: 27 มี.ค. 2006, 17:34
โพสต์: 7781

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว www


รูปภาพ
หลวงตามหาบัว ญาณสัมปันโน กับ ในหลวง
และสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ฯ พระบรมราชินีนาถ



ตอนที่ 24 โรงพยาบาล

ด้านวัตถุและเครื่องอุปโภคบริโภค

การสงเคราะห์ด้านโรงพยาบาลนี้ หลวงตาท่านเอาใจใส่มาโดยตลอด และนับวันจะมากขึ้นเรื่อยๆ ท่านเคยกล่าวว่า "...สภาพของคนไข้ที่ต่างรอคอยความหวังจากหมอเป็นสภาพที่น่าสงสารมา คนไข้ก็คือคนจนตรอกจนมุม เมื่อวิ่งมาหาหมอ หากหมอไม่มีเครื่องมือที่ดีที่ทันสมัยก็ก้าวไม่ออกรักษาให้ไม่ได้ และสภาพคนชนบทเป็นคนยากจนเสียส่วนมาก

การบำบัดรักษา ถ้าพอเป็นไปได้ก็ควรให้รักษาใกล้บ้าน จะได้ไม่ต้องสิ้นเปลืองเงินทองมากในการเดินทางตลอดสถานที่พักอาศัยการกินอยู่หลับนอน..."

ด้วยเหตุผลนี้เอง ทำให้จนถึงปัจจุบัน ท่านสงเคราะห์สถานพยาบาลต่างๆ รวมทั้งสิ้นกว่า 100 แห่ง ส่วนใหญ่เป็นการบริจาคเครื่องมือทางการแพทย์ เช่น เครื่องเอกซเรย์ เครื่องอัลตราซาวด์ เครื่องตรวจคลื่นหัวใจ เตียง เครื่องช่วยชีวิตเด็ก เครื่องช่วยหายใจเด็กทารก เครื่องดูดของเหลว เครื่องช่วยคลอด กล้องจุลทรรศน์ เตียงทำฟันพร้อมอุปกรณ์ ฯลฯ

นอกจากนี้แล้ว ท่านยังบริจาคในด้านอื่นๆ อีกมากมายเช่น รถพยาบาลพร้อมอุปกรณ์ สร้างตึกผู้ป่วย สร้างตึกรวมเมตตามหาคุณ สร้างตึกสงฆ์อาพาธ ห้องผ่าตัด ฯลฯ ตั้งเป็นกองทุนตึกอุบัติเหตุ กองทุนศูนย์พิทักษ์ดวงตา กองทุนสงเคราะห์คนพิการและผู้ยากจนไร้ที่พึ่ง ฯลฯ ค่าน้ำ ค่าไฟ ค่าอาหารคนไข้และเจ้าหน้าที่ ค่าจ้างพี่เลี้ยงเด็ก ฯลฯ กระทั่งซื้อที่ดินให้ รวมประเภทของรายการต่างๆๆ เท่าที่พอรวบรวมได้ เกินกว่า 500 รายการ (รายการที่ซ้ำกัน แม้จะมีจำนวนมากกว่า 1 ชิ้นขึ้นไป ก็นับเป็น 1 รายการ)

เยี่ยมโรงพยาบาล

ในระยะหลายปีมานี้ ท่านมักจะออกเยี่ยมโรงพยาบาลต่างๆ อยู่เป็นประจำ พร้อมนำข้าวสาร อาหารสด อาหารแห้ง ผ้าขาว ฯลฯ บรรทุกเต็มรถเท่าที่รถจะสามารถรับน้ำหนักได้ไหว เพื่อนำไปแจกโรงพยาบาล

พร้อมกันนี้ ท่านจะถือโอกาสตรวจดูด้วยว่ายังขาดตกบกพร่องในเครื่องไม้เครื่องมืออันใดบ้าง การนำของไปแจกในที่ต่างๆ นั้น ท่านมีเหตุผลหลักเกณฑ์ ดังนี้

"...ไปไหนๆ แต่ละโรงๆ นี้เป็นล้านๆ แสนๆ นี้รู้สึกจะเริ่มมีน้อยแล้วเดี๋ยวนี้ มีแต่ล้านๆ ขึ้นไป ไปนี่ไม่ใช่ไปให้เครื่องมือแพทย์เท่านั้นนะ ยังไปดูหมออีก ดูพยาบาลอีก กิริยามารยาทของหมอเป็นยังไง เวลาเกี่ยวข้องกับคนไข้ ดูอากัปกิริยาของเขาเป็นยังไงๆ ดูไปหมด ไม่ใช่แต่ว่าใครจำเป็นอะไรๆ แล้วเอามาให้ๆ อย่างนั้นไม่ได้ เราไม่ทำอย่างนั้น ให้ทั้งสิ้นของด้วย

ดูทั้งน้ำใจ ดูทั้งกิริยามารยาทความประพฤติดีงามของหมอและพยาบาลด้วยเป็นยังไง จะพอพยุงเครื่องมือของเรานี้ไปได้ไหม เพื่อประโยชน์แก่คนไข้ได้จริงหรือไม่หรือเสียเงินเปล่าๆ ไม่เกิดประโยชน์อะไรต้องดูอีก แล้วเครื่องมือเหล่านี้จะเป็นยังไง หมอเหล่านี้เป็นหมอพ่อค้า พยาบาลพ่อค้าหรือเป็นหมอเป็นพยาบาลเพื่อรักษาคนไข้ เพื่อเอาหัวใจคน เอาชีวิตจิตใจคนจริงจังหรือเป็นยังไงบ้าง ดูไปหมด ไปทุกแห่งทุกหน ไปดูอย่างนั้นนะที่เราไปโน้นไปนี้วันนี้เปิดเสียให้ชัดเจน เราไม่เคยพูดแหละคำอย่างนี้ ทั้งๆ ที่ไปปฏิบัติหน้าที่อย่างนี้แหละอยู่ ไปเรื่อยๆ...แล้วก็ดูสภาพของโรงพยาบาล ดูสภาพของเครื่องมือ ถ้าตรงไหนมีความจำเป็นมาก ทุ่มให้เลยเทียว เอ้าขาดอะไรๆ บอกมาๆ บอกเท่าไรให้เท่านั้นๆ ให้เลยเป็นล้านๆ นั่งครู่เดียวเอาไปสองล้านสามล้านก็มี นั่นอย่างนั้นละ ถ้าถึงใจ เอาจริงเรา ถ้าไม่ถึงใจ สตางค์หนึ่งก็ไม่ให้..."

ไม่ทอดทิ้งถิ่นกันดาร

โรงพยาบาลบางแห่งอยู่ในถิ่นทุรกันดาร เป็นที่ลำบากหลายสิ่งหลายประการ ท่านก็ไม่ลืมที่จะไปเยี่ยมเยียนและอนุเคราะห์ ดังตัวอย่างนี้

"...วันนี้ก็จะไปโรงพยาบาลภูหลวง ไปดูอีกทุกห้อง ห้องไหนมีความจำเป็นอะไร ก็จะช่วยเหลือกันไป เพราะเป็นโรงพยาบาลอยู่ที่คับแคบตีบตันอั้นตู้ลำบากลำบน ไปก็เอาข้าวเอาของไปเต็มรถๆ เทปัวะๆ ไป

คือถ้าตรงไหนที่อยู่ท่ามกลางของอู่ข้าวอู่น้ำ เราก็ไม่ค่อยสนใจนักนะ ถึงจะเป็นโรงพยาบาลเล็กก็ตาม แต่อยู่ท่ามกลางของอู่ข้าวอู่น้ำ ไม่ค่อยอดอยากขาดแคลนอะไรมากนัก เราก็ไม่ช่วย อย่างอื่นพวกข้าวพวกอาหารการกินไม่ค่อยช่วยมาก ช่วยแต่เครื่องมือแพทย์ไป

ถ้าที่ไหนขาดแคลนอย่างนั้น เราช่วยทุกด้านเลย เครื่องมือแพทย์ก็ช่วย อาหารการกินก็ช่วย เช่น อย่างภูหลวงนี้ไม่มีข้าวภูเรือ ก็ยิ่งอยู่ในภูเขาด้วยซ้ำ ไม่มีข้าวนายูง ไม่มีข้าว ทางคำตากล้า ก็ไม่มี น้ำท่วม คำตากล้าไม่ได้ทำนากัน น้ำท่วม เหล่านี้เราไปทั้งนั้นแหละ นี่ก็ยังส่องดาวนี้อีก นี่เริ่มแล้ว ทางส่องดาวนี้เริ่มแล้ว อยู่ในหุบเขา ไปหาที่หุบเขาๆ ที่จำเป็นๆ..."

แม้โรงพยาบาลที่อยู่ไกลออกไปมากๆ ท่านก็ไม่เคยลืมหรือทอดทิ้ง เมื่อโอกาสอำนวยให้เมื่อใดท่านจะรีบไปเยี่ยมทันที ดังนี้

"...วันนี้เราก็จะไปละ เอาของไปโรงพยาบาลคำชะอีกและดอนตาล ไกลนะ วันนี้ สงสาร มันอยู่ด้วยกัน 2 โรง จึงเอาไปไม่ได้เต็มเม็ดเต็มหน่วย แต่ว่าเต็มรถนะ หากไม่เต็มเม็ดเต็มหน่วยเพราะแบ่ง 2 โรงอยู่ใกล้กัน ถ้าไปโรงเดียวก็เต็มรถ เทปัวะเลย ได้มาก เอาไป 2 โรงก็ต้องแบ่งครึ่ง แต่รถนั้นเต็มรถ วันนี้จะเป็น 2 โรง มันไกล 3 ชั่วโมงกว่า กว่าจะถึง...ไปส่งแล้วกลับ ขนาดนั้นค่ำพอดีๆ..."

ด้านธรรมะ

หากมีโอกาสฟังเทศน์ของท่านอยู่ประจำ จะสังเกตเห็นได้ชัดเจนว่า ท่านมีความห่วงใยสงสารคนเจ็บป่วยมาก ท่านสอนเสมอว่า

"...มนุษย์เราจะยากดีมีจนบุญหนักศักดิ์ใหญ่หรืออาภัพวาสนาอย่างไร ก็ล้วนแต่เป็นเพื่อนร่วมทุกข์ เกิด แก่ เจ็บ ตาย ด้วยกัน เกิดมาด้วยบุญด้วยกรรม และกรรมย่อมจำแนกแจกแจงสัตว์ให้มีความประณีตเลวทรามต่างกัน แล้วเกิดไปตามวิบากแห่งกรรมของตนๆ

ดังนั้น ท่านจึงไม่ให้ประมาทกัน แต่ควรช่วยเหลือเกื้อกูลกัน มีน้ำจิตน้ำใจต่อกัน เพราะหากมนุษย์ไม่ช่วยสงเคราะห์มนุษย์ด้วยกันแล้วใครจะช่วย เรื่องความเจ็บป่วยนั้น ถ้าใครโดนเข้า ใครก็ทุกข์ทั้งนั้นเจ็บไปแค่หนึ่ง แต่ครอบครัวพี่น้องพ่อแม่ก็ป่วยทางใจ ป่วยด้วยความห่วงใยอีกเท่าไร จึงควรเห็นใจกัน..."

แพทย์-พยาบาล ต้องมีเมตตาธรรม

เมื่อมีโอกาสอันควร ท่านจะแนะเตือนด้วยความเมตตา แก่บรรดาแพทย์พยาบาล และเจ้าหน้าที่ของโรงพยาบาลเสมอๆ ดังตัวอย่างหนึ่งท่านแสดงธรรมแก่คณะผู้บริหาร ข้าราชการ และเจ้าหน้าที่กระทรวงสาธารณสุข มีท่านรัฐมนตรีเป็นประธาน ดังนี้

"...วันนี้ได้พูดถึงเรื่องโรงพยาบาล โรงพยาบาล กับ หมอ เป็นของสำคัญอยู่มาก หมอนั้นสำคัญอยู่ที่นอกจากเรียนหลักวิชาแห่งหมอมาแล้ว นั้นเป็นทางเดินกลางๆ แต่อัธยาศัยใจคอและจิตวิทยาของหมอที่จะปฏิบัติต่อคนไข้นั้นเป็นสิ่งลึกลับ แต่จำต้องนำมาใช้สำหรับหมอ เวลาคนไข้ได้ป่วยเจ็บหัวตัวร้อน วิ่งเข้ามาหาหมอ กิริยามารยาทที่นิ่มนวลอ่อนหวานที่เป็นพื้นมาจากความเมตตาของหมอนั้น ต้องออกแสดงก่อนอื่น ก่อนยาที่จะเข้าถึงตัวคนไข้

ความเอาอกเอาใจให้ความอบอุ่นแก่คนไข้นั้น เป็นยาขนานแรก ซึ่งจะต้องเข้าถึงคนไข้ก่อนอื่น จากนั้นก็ปฏิบัติไปตามหน้าที่ ด้วยความเมตตาของหมอ เพราะคำว่าหมอนี้โลกทั้งหลายเขายอมรับ ยอมรับให้ศักดิศรีดีงาม ยอมรับนับถือให้ความเคารพทุกสิ่งทุกอย่าง ไว้วางใจกับหมอ

เพราะหมอนั้นถือกันว่าเป็นแบบพิมพ์ เป็นศักดิ์ศรีดีงามของชาติไทยหรือของโลก โลกเขาจึงยอมรับ เมื่อเราก้าวเข้ามาสู่ความเป็นหมอ เริ่มตั้งแต่เรียนเป็นนักศึกษาแพทย์ ก็เริ่มมีเกียรติแล้ว...โลกยอมรับนับถือเรื่อยมาจนกระทั่งถึงเป็นหมอออกมา โลกยิ่งยอมรับมากขึ้น นับถือมากขึ้น

เพราะฉะนั้น การต้อนรับโลกที่นับถือนั้น เราจึงต้อนรับด้วยความเมตตาเป็นพื้นฐานของหมอ หมอต้องมีความเมตตาเป็นพื้นฐาน สมบัติเงินทองข้าวของสิ่งเหล่านั้น เป็นสิ่งเป็นผลพลอยได้เท่านั้น เมตตาที่มีต่อคนไข้ทั้งหลายที่เขามาพึ่งพาอาศัย เขามาขอความอบอุ่นจากเรานั้น เป็นเรื่องที่ หมอ จะต้องปฏิบัติ และพยาบาลจะต้องปฏิบัติให้ถึงชาวบ้านทุกๆ รายไป นี่เป็นหลักสำคัญ

โรงพยาบาลจึงเป็นโรงชุบชีวิตของสัตวโลกทั้งสองอย่าง คือ โรงพยาบาลหมอเกี่ยวกับโรคทางร่างกายหนึ่ง โรงพยาบาลหรือสถาบันอันใหญ่หลวงเกี่ยวกับพระพุทธศาสนาหนึ่ง ทั้งสองอย่างนี้มีความจำเป็นอย่างน้อยเสมอกัน มากกว่านั้นทางด้านจิตใจคือธรรมเป็นของสำคัญมาก..."

คนไข้กับหมอ ดั่ง "พ่อแม่ลูก"

โรงพยาบาลที่ท่านเมตตานำพวกอาหารไปสงเคราะห์ในแต่ละวันๆ นั้น โดยมากแพทย์ พยาบาล และเจ้าหน้าที่ที่นั้นๆ จะเคารพท่านถือท่านเป็นเสมือนพ่อแม่ เวลาท่านนำของไปแจกแต่ละครั้งๆ หลังจากที่ได้ซักถามว่ามีสิ่งใดขาดหรือไม่แล้ว ในระยะหลังนี้บางครั้งท่านจะถือโอกาสสอนเตือนแก่หมอ พยาบาล และเจ้าหน้าที่ เพราะท่านก็ถือเหมือนลูกเหมือนหลานของท่านเช่นกัน ดังตัวอย่างที่ท่านนำมาเล่าแบบขำขันให้ฟัง ดังนี้

"...คนไข้เข้ามาเขาฝากเป็นฝากตาย ฝากทุกสิ่งทุกอย่าง ครอบครัวเหย้าเรือน เขาฝากมาหาหมอหายาหาพยาบาลหมดจะว่าไง เขามาหาแล้วหน้าบึ้งใส่เขามีอย่างเหรอ แบบนี้ก็มีแต่แบบหน้าหมาไม่ใช่หน้าคน เราว่างั้น ก็บอกชัดๆ อย่างนี้แล้ว เขาก็อดหัวเราะไม่ได้ เขาหัวเราะ.. เราอย่าเห็นว่า เราเป็นถึงหมอ คนไข้เป็นทุคตะเข็ญใจหรือเป็นหมาตัวหนึ่งเข้ามานี้ ด้อมๆ เข้ามาในโรงพยาบาล ไม่เป็นเช่นนั้นนะ

คนไข้มาแต่ละคนคน พระเจ้าแผ่นดินแห่มานะ พระเจ้าแผ่นดินไม่แห่มายังไง ก็เงินเต็มกระเป๋า ตราพระเจ้าแผ่นดินตีตรามาเห็นไหมล่ะ คนไข้เขามีคุณค่าต่อหมอขนาดไหน เราต้องคิดบ้างซิ... คนไข้คนหนึ่งกับหมอเป็น อัญญมัญญัง อาศัยซึ่งกันและกัน ถ้าไม่มีคนไข้ หมอก็หมดความหมาย โรงพยาบาลล้มหมด ที่ตั้งกันอยู่อาศัยกันอยู่ทุกวันนี้ พอเป็นไปได้ทั้งฝ่ายหมอฝ่ายคนไข้ก็เพราะต่างคนต่าง อัญญมัญญัง ซึ่งกันและกัน อย่าเห็นว่าทางไหนสูงกว่ากัน ถ้าอัญญมัญญังแล้ว อยู่ด้วยกันได้มนุษย์เรา

...เพราะเรื่องคนไข้กับหมอแยกกันไม่ออก เหมือนพ่อแม่กับลูก เราจะว่าเป็นเทวดากับหมาได้ยังไง เราก็บอกถึงว่า

เงินในกระเป๋าเขามาแต่ละคน พระเจ้าแผ่นดินแห่มานะว่างั้น...คนหนึ่งกระเป๋าเป้งๆ มา เขาให้ด้วยน้ำใจมีเยอะนะ เขาให้ค่าหยูกค่ายาเป็นธรรมดา เขาให้ด้วยน้ำใจของหมอ น้ำใจของพยาบาลที่มีคุณแก่คนไข้ของเขา แล้วเขาตั้งใจให้ด้วยน้ำใจมากกว่านั้นอีกนะ มีเยอะนะ..."

รูปภาพ
หลวงตามหาบัว ญาณสัมปันโน กับ ในหลวง
และสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ฯ พระบรมราชินีนาถ



(มีต่อ 35)

.....................................................
ทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว เป็นกฎตายตัว


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 24 ธ.ค. 2010, 11:01 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
ผู้จัดการ
ผู้จัดการ
ลงทะเบียนเมื่อ: 27 มี.ค. 2006, 17:34
โพสต์: 7781

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว www


รูปภาพ
หลวงตามหาบัว ญาณสัมปันโน กับ
สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี
ซึ่งพระองค์ทรงเป็น “บุตรบุญธรรม” ขององค์หลวงตามหาบัว



ตอนที่ 25 สงเคราะห์ผู้ด้อยโอกาส

ความเมตตาสงเคราะห์โลกของหลวงตา มิใช่ว่าจะสิ้นสุดเพียงที่กล่าวมาข้างต้นเท่านั้น ท่านยังให้ความเมตตาเผื่อแผ่ไปถึงผู้ด้อยโอกาสในที่ต่างๆ อาทิ สถานสงคราะห์เด็กพิการทางสมองและปัญญาปากเกร็ด สถานสงเคราะห์บุคคลปัญญาอ่อนภาคตะวันออกเฉียงเหนือ สถานสงเคราะห์เด็กหญิงภาคตะวันออกเฉียงเหนือกระทั่งผู้ประสบภัยธรรมชาติร้ายแรงตามภูมิภาคต่างๆ ท่านก็ยังให้ความช่วยเหลือตามความจำเป็นและเหตุผล ทั้งนี้เพื่อบรรเทาความเดือดร้อน ตลอดจนเป็นที่พึ่งทางใจแก่ผู้ที่กำลังตกทุกข์ได้ยาก

ดังนั้น การสงเคราะห์จึงมีหลายแบบต่างๆ กันไป เช่น ค่าจ้างพี่เลี้ยงผู้อภิบาลเด็กพิการทางสมองและปัญญา ค่าก่อสร้างอาคารสถานที่และเครื่องอุปโภคบริโภคต่างๆ เป็นต้น ความเมตตาอย่างหาประมาณมิได้ ในส่วนนี้ของท่าน จึงแผ่ครอบคลุมกว้างขวางทั่วประเทศ ตามเหตุผลอรรถธรรมที่ควรเป็น ซึ่งท่านเคยกล่าวไว้บ้าง ดังนี้

"...ไม่ว่าแต่โรงพยาบาล สถานสงเคราะห์ต่างๆ เราก็ให้ เช่น อย่างสถานสงเคราะห์บ้านข้าวสารนี้เราก็ช่วย...ที่อื่นเราก็ช่วย ไม่ช่วยแต่ที่แห่งเดียว แล้วคนทุกข์คนจนมีความจำเป็นยังไงบ้างที่ควรจะช่วยเป็นรายบุคคลๆ นั้น เราช่วยมาตลอด อันนี้กว้างขวางมากไปหลายจังหวัด ภาคไหนก็ไปหมด บางทีส่งแต่เงินไปให้ก็มี บางทีเจ้าของไปดูเอง ปลูกบ้านให้ก็มี ซื้อที่ให้ก็มี ทั้งซื้อที่ทั้งปลูกบ้านให้ก็มี นี่เรียกว่า ช่วยรายบุคคลที่จำเป็น ช่วยทั่วไป แต่นี้เราไม่ค่อยพูด ไม่ค่อยประกาศระบุชื่ออะไรแหละ ให้แล้วเงียบไปเลยๆ เพื่อรักษาเกียรติเขา สิ่งที่ควรจะพูด เราก็พูดได้ เช่น รายที่ออกทางหนังสือพิมพ์แล้ว เป็นการเปิดเผยแล้ว เวลาเราช่วย เราก็พูดบ้าง ถ้าเป็นเรื่องไม่มีหนังสือพิมพ์ เป็นเรื่องมาพูดขอความช่วยเหลือกันโดยเฉพาะๆ นี้ เราก็ให้เป็นเรื่องเฉพาะๆ รายไปเลย ให้แล้วเหมือนไม่ให้ ให้แล้วผ่านไปๆ เรื่อยๆ อันนี้ช่วยตลอด..."

ทุกข์...เพราะภัย

ครั้งหนึ่ง พี่น้องชาวลาวประสบภัยเดือดร้อน มีผู้อพยพจำนวนมากมายต่างหนีร้อนมาพึ่งเย็นชั่วครู่ชั่วยามที่จังหวัดหนองคาย คราวนั้นหน่วยราชการต่างอลหม่าน ด้วยไม่รู้จะเริ่มต้นอย่างไรกับผู้อพยพเหล่านี้ เพราะเป็นเรื่องฉุกละหุกเฉพาะกิจเร่งด่วน ทั้งจะต้องดูแลเรื่องอาหารการกินการอยู่ ที่พักหลับนอนขับถ่าย เกี่ยวกับสาธารณูปการต่างๆ พอได้พักได้อาศัยกันไปก่อนชั่วครู่ชั่วยาม จึงเป็นเรื่องที่หนักอกหนักใจแก่หน่วยที่รับผิดชอบอยู่ไม่น้อยทีเดียว เมื่อหลวงตาท่านทราบถึงเรื่องนี้ เพื่อช่วยกันเข้าอุ้มภาระใช้จ่ายของหน่วยราชการ และที่สำคัญด้วยความเมตตาสงสารต่อพี่น้องชาวลาว ซึ่งไม่มีสิ่งใดแตกต่างกันเลยเรื่องเลือดเนื้อเชื้อไข เพราะอดีตเป็นพี่เป็นน้องกันตลอดเรื่อยมา สิ่งสกัดกั้นมีเพียงแม่น้ำโขงเท่านั้นเอง อีกทั้งหลวงตาท่านว่าต่างก็เป็นเพื่อนร่วมทุกข์เกิดตายด้วยกันทั้งนั้น เมื่อประสบกับความทุกข์อย่างสาหัสทั้งทางกายและตื่นตระหนกเสียขวัญทางใจเช่นนี้ด้วยแล้ว ท่านจึงรีบแสดงความเมตตาเข้าช่วยเหลือทันที ดังนี้

"...เช่นอย่างพวกเวียงจันทน์ พวกประเทศลาวข้ามมา...ก็มาเต็มอยู่นี้ โหหลายหมื่นเต็มอยู่ที่หนองคาย ดูเหมือนเราไปแจกของถึง 3 ครั้งด้วยกัน...แจกถึง 2-3 วันถึงหมดๆ แต่ละครั้งนี่นะ ครั้งแรกก็ไม่เท่าไหร่ ครั้งที่ 2 กับที่ 3 นี่หนักมาก แจกเอาอย่างเต็มเหนี่ยว คือแจกด้วยความยุติธรรม ที่ให้เสมอกันหมด ไปสำรวจเอาตัวเลขมาเลย ไม่เอาครอบครัว เอาตัวเลขมีเท่าไหร่แจก... เพราะฉะนั้น มันถึงนาน คนเขาแจกช่วยกันเยอะนะ อย่างคนที่มารับมันก็มาก 2 วัน 3 วันรถสิบล้อนี่ โอ้โห จอดกันเป็นแถวเลย ข้าวเต็มเอี๊ยดๆ...และเครื่องกระป๋องก็เหมือนกันอีก รถสิบล้อๆ ถ้าหากว่ามันขาดตรงไหนๆ ให้เขาวิ่งไปตลาด โห ตลาดเขาถามเลย

"จะเอาไปไหนนักหนาล่ะ ?"

พอว่า "อาจารย์มหาบัว" แล้ว โฮ้ย คือเขาเสียดายที่ไม่ได้เตรียมเอาไว้ขายนี่ เวลาไปมันไม่พอละซิ เข้าไปร้านนั้นแล้วไปร้านนี้ กว้านเอาร้านนั้นร้านนี้ ให้เขาลงบัญชีเรียบร้อยไว้ ลงบัญชีไว้หมด พอเสร็จเรียบร้อยแล้ว เขาจ่ายตามนั้นเลยทันที นอกนั้นไม่ได้คำนึงละ เรื่องเงินเรื่องทองนี่น่า นี่เท่าไรเอามา ว่างั้นเลย บอกเอามา พอเสร็จแล้ว เราค่อยสั่งจ่ายทีเดียวปั๊บเลย หนองคายนี้ก็ 3 ครั้งนะ..."

ช่วยเงียบ...อยู่ใต้ดิน

ความเมตตาของท่านในผู้ประสบทุกข์ภัยต่างๆ ยังมีอีกหลายประการแจกแจงไม่หมดสิ้น จะขอยกมาแสดงบ้าง ดังนี้

"...ไฟไหม้ที่ไหนๆ เราจะเข้าถึงก่อนๆ ทั้งนั้น รถนี้ โถ...รถสิบล้อๆ นี่เป็นอัธยาศัยมาดั้งเดิม ไฟไหม้ที่ไหนๆ อำเภอนั้น อำเภอนี้ เราจะยกขบวนไปเลย...ทางไหนบ้างมีอยู่เรื่อยๆ นะ ไฟไหม้ที่ไหนๆ ทางอำเภอบ้านดุงบ้าง ที่ไหนบ้างนะ ก็ให้เขาแจกแบบเดียวกัน เครื่องกระป๋องก็เต็มรถ เต็มรถเลย บ้านดุงนี้ดูว่าเหลือไปทางไหนบ้างนะ ไปทางโรงเรียน อะไรบ้าง...

เพราะเราเอาไปแจกมากจริงๆ ไม่ใช่เล่นๆ นะ จนของที่ไปแจกนั้นพวกเครื่องกระป๋องเหลือเลย เขาเลยขอไปทางไหนๆ บ้าง เราก็ให้ไป เพราะเราตั้งใจเอามาแจกอยู่แล้วนี่ ของเหลือเท่าไรๆ ก็แยกออกไปตามโรงร่ำโรงเรียน ส่วนนี้เราก็ได้สมบูรณ์ตามจำนวนที่เรากำหนดเอาไว้ได้เสมอกัน เหลือจากนั้นไปอีก เพราะเราเอาไปเผื่อมากมายนี่ เขาก็แยกไปโรงเรียนอะไรต่ออะไรบ้าง ก็อย่างนั้นนะ นี้ก็ไม่ให้ใครลงข่าวนะ ไม่ให้ลงทำแบบใต้ดินๆ ตลอดมา"


(มีต่อ 36)

.....................................................
ทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว เป็นกฎตายตัว


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 24 ธ.ค. 2010, 11:02 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
ผู้จัดการ
ผู้จัดการ
ลงทะเบียนเมื่อ: 27 มี.ค. 2006, 17:34
โพสต์: 7781

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว www


รูปภาพ

ตอนที่ 26 สงเคราะห์สัตว์

ความเมตตาสงสารต่อสรรพสัตว์ทั้งหลายนี้ หลวงตาเคยให้เหตุผลว่า "...ชาติชั้นวรรณะไม่มี ลงในคำเดียวว่า สัพเพ สัตตา อันว่าสัตว์ทั้งหลายที่เป็นเพื่อนทุกข์เกิดแก่เจ็บตายด้วยกันหมดทั้งสิ้น ครอบหมดเลย เสมอภาคเลย เห็นอกเห็นใจกันทั่วถึงหมดเลย นี่ละธรรมพระพุทธเจ้า ฟังเอาซิ...

คือสัตว์ทุกตัวเกิดมาได้ด้วยอำนาจของกรรมทั้งนั้น ไม่ได้เกิดขึ้นมาด้วยอำนาจของชาติชั้นวรรณะยศถาบรรดาศักดิ์อะไร เกิดขึ้นมาด้วยอำนาจของกรรม กรรมเป็นพื้นฐานให้เกิด นอกนั้นก็แตกเป็นแขนงออกไป สุจริตบ้าง ทุจริตบ้าง แล้วแต่จะเกิด นั่นเป็นเรื่องนอกต่างหาก หลักของกรรมเป็นหลักใหญ่

เพราะฉะนั้น ท่านจึงไม่ให้ดูถูกเหยียดหยามกัน แม้แต่ สัตว์เดรัจฉาน ท่านก็ไม่ให้ดูถูกเขา เวลานี้เขาเสวยกรรม อยู่ในวาระของกรรมของเขาอย่างนั้นๆ เป็นชั้นๆ ไปเลย ท่านจึงไม่ให้ประมาท มันเป็นวาระๆ อย่างคนลงมาจากน้ำจากหลุมจากบ่อขึ้นภูเขา ทีแรกก็อยู่ใต้ก้นบ่อ พอขึ้นมาแล้ว เขาขึ้นภูเขาสูงกว่าเราอีก กรรมไม่แน่นอน แล้วแต่ใครสร้างของใครเอาไว้...

...เขาก็รักสุข เกลียดทุกข์ มีหิวมีอิ่ม มีเจ็บป่วย มีราคะตัณหา มีจิตวิญญาณเช่นเดียวกับมนุษย์เรา ตัวจิตนี้เองเป็นตัวพาท่องเที่ยวให้เราไปเวียนว่ายตายเกิด...เพราะนี้ขึ้นอยู่กับวาระของกรรมที่ให้เสวยผลดีชั่ว อย่างไรตามวาระที่เราสร้างกรรมมา จึงไม่ควรประมาทเขา ไม่ควรเบียดเบียน ไม่ควรรังแกและไม่ควรฆ่าเขา การเบียดเบียนเขาก็คือ เบียดเบียนตัวเรานั่นเอง..."

สัตว์พิการ ไม่ถูกทอดทิ้ง

เหตุนี้เอง เมื่อท่านทราบถึงปัญหาความทุกข์ยากลำบากของบ้านสัตว์พิการ (ซอยพระมหาการุณย์ ปากเกร็ด) ซึ่งเป็นบ้านที่รับเลี้ยงสัตว์หลายประเภททั้งปกติและพิการจำนวนมากหลายร้อยชีวิต ด้วยความสงสารสัตว์เหล่านี้ ท่านจึงอนุเคราะห์ ช่วยซื้อที่ดิน สร้างอาคาร ช่วยเหลือค่าอาหาร ค่าน้ำ ค่าไฟ ค่ารักษาพยาบาล ค่ายา และค่าใช้จ่ายต่างๆ ฯลฯ การเข้าไปช่วยเหลือบ้านสัตว์พิการแห่งนี้ ท่านเล่าถึงความเป็นมาโดยย่อ ดังนี้

"...ที่ปากเกร็ด หมาตั้งสามสี่ร้อยตัว เขาออกทางหนังสือพิมพ์ เราเห็นในหนังสือพิมพ์ก็ตามไปดู ไปดู โอ้โห มีแต่หมาพิการยั้วเยี้ยๆ ไปดูสภาพของมัน แล้วเป็นยังไง ถามสภาพความเป็นอยู่ของเจ้าของที่เลี้ยงหมา ถามทุกสิ่งทุกอย่างจนกระทั่งถึงค่าน้ำค่าไฟ ค่าบริการต่างๆ รอบด้าน เกี่ยวกับหมานี้ เดือนหนึ่งหมดเท่าไร

เขาว่า ถ้าธรรมดาแล้วก็เดือนละแสน แต่นี้มันไม่มีเงินแสนซิที่จะเลี้ยงหมา บางวันเครียดเสียจนกระทั่งนอนไม่หลัง เป็นยังไงถึงเครียด โอ๊ย หมาก็ร้องพอหมา คนก็ทุกข์พอคน หมาร้องหิวโหย ไม่มีอะไรจะให้กิน เจ้าของก็หมดไม่มีอะไรจะกิน อาชีพเพียงเป็นครูเท่านั้น เมื่อเห็นหมาก็สงสาร เอามาเลี้ยงๆ พอคนอื่นเห็นเราเลี้ยงหมาตัวหนึ่ง เขาก็เอามาทิ้งไว้ที่หน้าบ้านๆ แล้วก็เลี้ยงเรื่อยๆ มาจนกระทั่งป่านนี้แหละ บางวันเครียดเสียจนนอนไม่หลับ หมาก็ร้อง พอหมา คนก็ทุกข์พอคน ว่างั้น เราก็เลยถามถึงเรื่องราวต่างๆๆ เขาบอกว่าหมดเดือนละแสน เราเลยให้เดือนละหนึ่งแสนเลย ตั้งแต่บัดนั้นมาหลายปีแล้วนะ ให้เดือนละหนึ่งแสนๆ ถ้าหากว่าขัดข้องอะไร จำเป็นอะไร ให้บอกอีกนะ รถเราก็จะให้ เขาบอกเขาไม่เอารถ เราให้มอเตอร์ไซค์คันหนึ่ง

เขาบอกว่าอาศัยรถเพื่อนฝูงได้อยู่ไม่เป็นไร...นอกจากนี้ก็ซื้อที่ให้หนึ่งไร่เลย แต่ก่อนเขามีอยู่หนึ่งไร่ เราซื้อให้อีกหนึ่งไร่แล้วสร้างตึกให้อีกหนึ่งหลัง สบายทุกวันนี้ หมาปากเกร็ดสบาย...

"สุนัขปลอดภัย...ไม่จรจัด"

บ้านเลี้ยงสุนัขอีกแห่งหนึ่งบนถนนพุทธมณฑลสาย 3 ซึ่งมีสุนัขกว่าร้อยตัวที่ต้องเป็นภาระดูแลอยู่ที่นี่ ท่านก็ได้ให้การช่วยเหลือ ดังท่านเล่าความเป็นมาว่า

"...ไปกรุงเทพฯ อีกคราวนี้ เขาก็เขียนจดหมายมาหาเรา เพราะจดหมายเราเบื่อพอแล้วนะ มันจดหมายอะไร จดหมายยุ่งนี่นะ เอามาอ่าน ใจอ่อนทันที เขาพูดถึงเลี้ยงหมา ไม่มีเงิน ติดหนี้ติดสินเขาพะรุงพะรัง เพราะการเลี้ยงหมานั่นเอง สงสารหมา ไม่รู้จะทำยังไง ก็ไปกู้ยืมเพื่อนฝูงมาซื้ออาหารให้หมากิน เจ้าของก็จนตรอกจนมุม เวลานี้ติดหนี้ท่วมหัว หมาบางวันก็อิ่ม บางวันก็หิวจะตาย ร้องครวญครางจะตาย แต่เจ้าของก็จะตาย ไม่ทราบจะทำยังไง ถ้าท่านจะเมตตาได้ก็จะเป็นพระเดชพระคุณอย่างยิ่ง เขาเขียนจดหมายมา พอเห็นเท่านั้น เราให้พระตามไปเลยนะวันหลัง เขาบอกบ้านเลขที่ไว้เรียบร้อยที่กรุงเทพฯ ตามไปดูก็ยั้วเยี้ยๆ ตามที่บอก ถามเขาให้ชัดเจนนะ ทุกสิ่งทุกอย่างถามให้ชัดเจน พอถามเสร็จแล้วก็มา เจ้าของเขาก็ตามมา มาถึงเราก็ถามกับเจ้าของเขาให้เต็มเม็ดเต็มหน่วยเลย เขาบอกว่าติดหนี้อยู่สำหรับเลี้ยงหมา เลี้ยงหมานี้เดือนหนึ่งหมดประมาณเท่าไร หมดประมาณหมื่นห้าว่างั้น เดือนหนึ่งให้พอเหมาะพอดีประมาณหมื่นห้า...หนี้ทั้งหมดนั้นหามาเลี้ยงหมานะ เราเห็นใจ

...เอา เราจะใช้ให้ เดี๋ยวนี้ส่งไปแล้ว พอมาถึงปั๊บก็ส่งปุ๊บเลย...เดือนละหมื่นห้านั้น เราให้เป็นเดือนละสามหมื่นประจำทุกเดือนไปเลย ให้เป็นเดือนละสามหมื่น เรียกว่าทบครึ่ง เผื่อเอาไว้ครึ่งหนึ่งแล้ว (ใช้หนี้) ก็ให้พร้อมไปเลย...

เราก็จะจ่ายให้ตามนั้นหมดเลย... หมาที่สวนแสงธรรมกำลังทุกข์ เราจึงช่วยทุกข์ พออ่านจดหมายว่าหมา ใจอ่อนเลยนะ เลยคำว่าวุ่นจดหมาย วุ่นนี่มายังไงกัน เลยหมดเลยคำว่าวุ่น อ่อนทันทีเลย ให้ตามไปดูในวันหลัง ได้ความมาอย่างนั้นละ ก็เป็นอันว่าเปลื้อง แล้วหนี้... เราก็จะให้คนนี้ ให้เขาอยู่เลี้ยงหมา ที่ไร่หนึ่งนั้นให้เลี้ยงหมาหมดเลย บุญของเขา บุญของหมา...

ไม่ลืม...สัตว์ในวัด

ความเมตตาส่วนนี้ท่านถือเป็นความจำเป็นอย่างยิ่งชนิดที่ท่านไม่ยอมให้บกพร่องเลย นั่นคือ ความเมตตาต่อสัตว์ที่อยู่ในวัดป่าบ้านตาด ซึ่งมีอยู่หลายประเภท เช่น ไก่ป่า กระรอก กระจ้อน กระแต ฯลฯ

ท่านคอยสังเกตเอาใจใส่ดูแลเรื่องอาหาร น้ำ ตลอดมา โดยเน้นเดือนพระเณรที่มักเผลอลืมให้อาหารสัตว์อยู่เสมอว่า เขาอยู่กับเรา เขาก็อาศัยเรา เราจะใจจืดใจดำไม่สนใจการกินอยู่ของเขานั้น ไม่ควรอย่างยิ่ง เราก็หิว เขาก็หิว เรามีปากมีท้อง เขาก็มีปากมีท้องเช่นกัน อย่าเป็นพระแบบใจดำๆ สิ่งใดพอจะเอื้อเฟื้อเกื้อกูลกันก็ช่วยเหลือกันไป จึงจะสมกับเป็นลูกศิษย์ตถาคตผู้มีเมตตาธรรม

เหตุนี้เอง ภายในวัดจึงมีที่สำหรับให้น้ำให้อาหารแก่กระรอกกระแต มีการทำเป็นร้านเล็กๆ สูงระดับอกกระจายอยู่ทั่ววัด กะจำนวนได้มากกว่าร้อยจุด ร้านกระรอกทุกร้าน ท่านเน้นย้ำว่า ควรมีข้าวเหนียว กล้วยสุกหรือผลไม้สุกในปริมาณพอดีกับที่เขาต้องการ ไม่มากไปจนบูดเน่าเหม็น หรือน้อยไปจนขาดเขิน ควรเหลือไว้บ้างพอดีๆ

การให้อาหาร ก็โดยพระเณรหรือฆราวาสจะมาเอากล้วยหรือผลไม้อื่นๆ จากโรงเก็บซึ่งเป็นจุดกลาง จากนั้นก็นำไปวางไว้ตามจุดให้อาหารที่ตนรับผิดชอบบริเวณใกล้กุฏิ พวกไก่ป่าจะมีกระสอบข้าวสารหักวางไว้ที่จุดกลางเสมอๆ เพื่อไว้ให้พระเณรฆราวาสตักใส่ถัง แล้วเอาไปหว่านในจุดให้อาหารทั่ววัดตามเขตรับผิดชอบของตน และคอยหมั่นสังเกตน้ำกินของสัตว์ด้วย ไม่ปล่อยให้พร่องไป

สิ่งเหล่านี้เป็นข้อปฏิบัติที่พระเณรผู้มาศึกษาอยู่กับหลวงตาท่าน ทุกระยะนับแต่ตั้งวัดเป็นต้นมา ต่างองค์ต่างรับผิดชอบใส่ใจดูแลสัตว์ในวัดเสมอมาทุกรุ่นๆ ไป เมตตาธรรมอันยิ่งใหญ่ไม่มีประมาณของท่าน ดังที่ได้บรรยายมาแต่ต้นนี้ ย่อมไม่สามารถจะพรรณนาให้หมดให้สิ้นได้อย่างแน่แท้ สิ่งที่พอจะสื่อได้อย่างชัดเจนที่สุดก็คือ คำกล่าวของท่านเองที่ว่า

"...ธรรมเป็นธรรมชาติที่นิ่มนวลอ่อนโยน เมื่อเข้าสัมผัสสัมพันธ์กับใจผู้ปฏิบัติ ผู้มีความเชื่อความเลื่อมใสแล้ว จิตใจนั้นก็กลายเป็นสิ่งที่นิ่มนวลอ่อนโยนไปด้วยเมตตาจิต ไม่เคยมีก็มี ความไม่เคยเสียสละก็เสียสละได้เพื่อผู้อื่น เพราะความเมตตาสามารถมองเห็นเขาเห็นเราว่ามีสาระสำคัญเช่นเดียวกันได้ เพราะความเมตตาเมื่อธรรมมีอยู่ในจิตดวงใดมากน้อย จิตดวงนั้นต้องแสดงออกทางกิริยาให้เห็น ปิดไว้ไม่อยู่ ยิ่งจิตที่บริสุทธิ์ด้วยแล้ว ไม่มีสิ่งใดที่จะนิ่มนวล ละเอียดอ่อนยิ่งกว่าจิตดวงนั้น ให้ความเสมอภาค ให้ความเมตตาแก่สัตว์ทั่วๆ ไป ไม่พูดเพียงมนุษย์เท่านั้น...

แม้สัตว์เดรัจฉานชนิดใดก็ตาม ไม่กล้าดูถูกเหยียดหยาม ไม่กล้าทำลาย ให้ความเสมอภาคตามความจริง และเมตตาโดยสม่ำเสมอ ไม่มีคำว่าจะเป็นลุ่มๆ ดอนๆ ว่าคราวนั้นมีเมตตา คราวนี้ไม่มี เพราะจิตนั้นเป็นจิตเมตตา ดวงเมตตาทั้งดวงก็คือจิตดวงที่บริสุทธิ์อยู่แล้ว..."

รูปภาพ


(มีต่อ 37)

.....................................................
ทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว เป็นกฎตายตัว


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 24 ธ.ค. 2010, 11:03 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
ผู้จัดการ
ผู้จัดการ
ลงทะเบียนเมื่อ: 27 มี.ค. 2006, 17:34
โพสต์: 7781

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว www


รูปภาพ

ตอนที่ 27 หลวงตาไม่ห่วงตนเองยิ่งกว่าชาติ

ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมานั้น หลวงตาท่านเมตตาให้ความช่วยเหลือด้วยประการต่างๆ มากมายหลายด้านหลายทางด้วยการสงเคราะห์แบบเงียบ แบบไม่ยอมให้ปรากฏเป็นข่าวทางหนังสือพิมพ์ วิทยุ โทรทัศน์เป็นพื้นฐานเช่นนี้ตลอดมา ชนิดไม่สามารถจะบรรยายได้หมดสิ้น

เพราะในอดีตระยะที่ท่านยังแข็งแรงไปไหนมาไหนคนเดียวได้ หลวงตาท่านก็ให้ความเมตตาช่วยเหลือในลักษณะนี้มาโดยตลอดเช่นกัน และไม่เคยสนใจจะประกาศให้โลกรู้ เพราะท่านมุ่งสงเคราะห์จริงๆ ตามเหตุผลอันควร ดังท่านเคยกล่าวว่า

"...เรานี่ก็ไม่เคยคิดนี่นะว่าจะได้มาช่วยโลกอย่างนี้ นี่มันก็เป็นมาเอง เราก็ทำตามนิสัยของเราอยู่อย่างนั้น อยู่ใต้ดิน ใครจะมาออกข่าวออกคราวอะไร หนังสือผอกสือพิมพ์อะไร เราไม่ให้มาทำนะ เราปัดออกทันทีนะ เพราะฉะนั้น เราทำอะไรจึงไม่มีข่าวมีคราวอะไรทั้งนั้น เราปัดทันทีเลย ไม่ให้มายุ่งว่างั้นเลย เราทำตามอัธยาศัยของเรา...อย่างสมมติพวกหนังสือพิมพ์จะเอามาออก ก็เราเอามาทำนี้มันของลูกศิษย์ลูกหามาทำต่างหาก เรามาทำแทนเขานี่นา เครื่องจตุปัจจัยไทยทานเป็นของเขาทั้งนั้นนี่

ถ้าหากว่าจะออกหนังสือพิมพ์ ก็ต้องเอาออกมาหมดซิ เราถึงจะให้ออก ถ้าออกไม่หมดอย่าเอามาออกนะ มาอวดแต่เราคนเดียว ใช้ไม่ได้นะ เราว่างั้นนะ เขาก็ไม่กล้านะซี เพราะพูดอย่างเด็ดเสียด้วยนะ บอกห้ามไม่ให้มายุ่ง ว่างั้น เลย...ไม่ให้ลง ทำแบบใต้ดินๆ ตลอดมา สร้างโรงร่ำโรงเรียน โรงพยาบาล สถานสงเคราะห์ที่ไหนก็ตาม เราไม่ให้มายุ่ง เราทำของเราเอง มันก็อยู่ใต้ดินๆ ไม่มีใครทราบละ ภายนอกไม่ค่อยทราบ นอกจากคนใกล้วัดนี้เขาทราบกัน..."

กระทั่งปี พ.ศ. 2540 ชาติไทยของเราประสบกับปัญหาวิกฤติทางเศรษฐกิจและความสับสนทางสังคม เฉพาะอย่างยิ่ง ทางด้านจิตใจ เผลอลืมที่พึ่งที่ระลึกอันประเสริฐ ลืมเรื่องศีลเรื่องธรรม เรื่องบุญเรื่องบาป เรื่องทานศีลภาวนาไปเสีย มัวมุ่งสนใจแต่เพียงวัตถุสิ่งของ เงินทอง ยศถาบรรดาศักดิ์ บริษัท บริวาร

แม้ในยามปกติ ท่านยังมีเมตตาช่วยเหลือสงเคราะห์ชาวไทยอย่างใส่ใจและจริงจังเป็นพื้นฐานตลอดมา ดังได้กล่าวข้างต้นแล้วนั้น บัดนี้ปัญหาขยายวงกว้างขึ้นจนกลายเป็นความทุกข์โดยรวมของคนทั้งชาติ และด้วยความเมตตา สงสารอย่างบริสุทธิ์ใจต่อพี่น้องชาวไทย ท่านจึงปรารภขึ้นด้วยความห่วงใยว่า "...จำเป็นต้องอาศัยความสามัคคีของพี่น้องไทยทุกคน ให้ต่างเสียสละช่วยกันอย่างจริงจัง..."

เมื่อคำปรารภดังกล่าวกระจายออกสู่สังคมกว้างขวางขึ้น ผู้เคารพศรัทธาท่านและผู้มีความรักชาติเป็นพื้นฐานเดิมในใจอยู่แล้ว ต่างออกมาแสดงน้ำใจสละเงินทองช่วยกัน เมื่อคณะบุคคลต่างๆ ทั้งในและต่างประเทศรับรู้มากขึ้นๆ น้ำใจแห่งความรักชาติจึงเริ่มทยอยหลั่งไหลมาช่วยมากขึ้นๆ ตามกัน

ฝืนสังขารเพื่อชาติ

จนถึงปัจจุบันนี้ หน่วยงานและจังหวัดต่างๆ หลายจังหวัด ประกอบด้วยภาครัฐและเอกชน บรรพชิตและฆราวาส ได้แสดงความรักชาติด้วยการขออาราธนานิมนต์ท่านไปแสดงธรรมเพื่อร่วมบริจาคช่วยชาติกับท่าน ด้วยความเมตตาสงสารของท่านต่อพี่น้องชาวไทยเป็นล้นพ้น แม้จะชราภาพหรือเหน็ดเหนื่อยเพียงใด ท่านก็อุตส่าห์ฝืนสังขารไปแสดงธรรมเทศนาได้ท่ามกลางความห่วงใยของลูกศิษย์พระเณรฆราวาสเกี่ยวกับสุขภาพของท่าน แต่ไม่มีใครสามารถทัดทานความเมตตาของท่านได้ ในเรื่องนี้ ท่านเคยกล่าวความในใจให้ลูกศิษย์ฟังว่า

"...อย่างที่ได้มานำชาติบ้านเมืองนี้ เราก็ไม่เคยคาดเคยคิด มันก็เป็นของมันมาอย่างนี้ จะทำไง โอ๊ มันสะดุ้งจิตมากนะ เป็นห่วงเป็นใยชาติไทยของเรา ทั้งร่างกายของเราก็ทรุดมากๆ จนเหมือนกับว่า ถ้าเราตายไปนี่ เหมือนกับว่าเราจะมองหลังๆ ด้วยความเป็นห่วงนะ โอ๊ ทำไม ? สุขภาพของเราก็จะเป็นไปไม่ได้แล้ว เป็นไปไม่ได้แล้ว แล้วบ้านเมืองก็ยิ่งเป็นไปอย่างนี้ ทำยังไงน้า ?

อยู่ๆ หมอ...ก็มาช่วยนี่นา เชิดขึ้นอย่างถ้าเป็นเครื่องบินก็มัน 80 เปอร์เซ็นต์แล้ว หัวมันดิ่งลงสนามถึง 80 เปอร์เซ็นต์แล้ว แล้วอยู่ๆ ก็เชิดหัวขึ้นทันที ตั้งลำได้ก็ชัดเลย ไม่ต้องยกครูแล้ว เอาเลย จึงได้นำมาตลอดทุกวันนี้...เราทำเพื่อช่วยโลกจริงๆ..."

ท่านกล่าวเช่นนี้ด้วยเหตุว่า เนื่องด้วยในระยะนั้นท่านกำลังป่วยอย่างหนักด้วยโรคท้องอยู่ ถึงขนาดที่ว่าเตรียมการสร้างเมรุเป็นรอยมือของท่านไว้เรียบร้อยแล้วดังปรากฏอยู่ที่หน้าวัดป่าบ้านตาดนั่นเอง

อาการของโรคคล้ายกับท้องเสีย คือ มีการถ่ายท้องถึงวันละ 7-9 ครั้งต่อวัน และเป็นเช่นนี้ตลอดมาทุกวันๆ เป็นเวลาถึง 8 เดือนเต็มแล้ว ก็ยังไม่ปรากฏว่าอาการจะดีขึ้นแต่อย่างใด มีแต่หมดกำลังลงๆ และทรุดลงทุกวันๆ จนท่านตกลงปลงใจว่าธาตุขันธ์ร่างกายนี้คงมีชีวิตอยู่ได้ไม่ถึงวันเข้าพรรษาปี 2541 นี้อย่างแน่นอน

เมื่ออาการของท่านทรุดหนักลงเช่นนั้น จึงมีผู้กราบขอความเมตตาจากท่านเพื่ออนุญาตให้ตรวจรักษาโดยคณะแพทย์ของโรงพยาบาลศรีนครินทร์ จังหวัดขอนแก่น คณะแพทย์ได้ตรวจพบก้อนผิดปกติบริเวณลำไส้ใหญ่ส่วนปลาย อย่างไรก็ตาม ท่านไม่อนุญาตให้คณะแพทย์ทำการตรวจวินิจฉัยรักษาต่อแต่ประการใด

บุญของชาติไทยปรากฏแสงแวววาวขึ้นอีกครั้งหนึ่ง เมื่อท่านเริ่มฉันยาสมุนไพรและใช้ธรรมโอสถ แล้วปรากฏชัดทันทีว่าอาการต่างๆ เริ่มดีขึ้น และจากนั้นก็ค่อยฟื้นตัวขึ้น ค่อยฟื้นขึ้นๆ มีกำลังวังชามากขึ้นๆ เพราะเมื่อฉันอาหารแล้วไม่สูญเสียตกหล่นออกไปหมดเหมือนเมื่อครั้งที่ป่วยด้วยโรคท้องอยู่ทุกขณะคืนวัน

เมื่อสุขภาพของท่านดีขึ้นๆ ดังกล่าว ประกอบดับระยะนั้นท่านทราบเกี่ยวกับเรื่องความทุกข์ร้อนของชาติมาก่อนแล้ว ท่านจึงประกาศถึงความมุ่งมั่นที่จะช่วยชาติอย่างจริงจังขึ้นแก่บรรดาลูกศิษย์ลูกหาและประกาศอย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 12 เมษายน 2541 โดย สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี ทรงเป็นประธาน ทั้งนี้ก็เพื่อให้พี่น้องชาวไทยรับทราบกันโดยทั่วถึง จะได้ต่างแสดงน้ำจิตน้ำใจช่วยกันมากบ้างน้อยบ้างตามกำลัง ทั้งนี้เพราะเรื่องของชาติเป็นเรื่องใหญ่ มีความจำเป็นต้องได้ช่วยกันทุกคนครั้งแล้วครั้งเล่า สิ่งนี้ไม่ใช่วิสัยของคนคนเดียว หากเป็นวิสัยที่ท่านทำได้ด้วยตนเองเพียงคนเดียว ท่านจะไม่ยอมรบกวนผู้หนึ่งผู้ใดเลย ด้วยความเมตตาและเสียสละอันยิ่งใหญ่ในใจของท่านนี้ ทำให้ท่านถึงกับได้เคยกล่าวว่า

"...เราช่วยโลกอย่างนี้ เราช่วยด้วยความเมตตาจริงๆ ไม่ได้ช่วยเล่นๆ...นี่ถ้าหากว่าเรามีนะ เราจะไม่กวนชาวบ้านชาวเมืองเลย แต่ของเราคนเดียวพอแล้ว ตูมเดียวทั่วประเทศไทย ชั่วโมงเดียวหมด เรียบวุธหมดเลย แต่นี้เราไม่มีนั่นซี จึงได้เรียกร้องให้ช่วยเหลือซึ่งกันและกัน ช่วยกันเพื่อยก ถ้าเรามีแล้ว โอ๊ย ไม่ยาก เราจะไม่ถามใครให้ลำบากเสียเวล่ำเวลา ยกตูมเดียวเลยท่วมปุ๊บเลยเทียว ความจนลงทะเลหลวงมองตามหลังไม่ทันเลย มันจมไปเลยแต่นี้เพราะไม่มีนั่นเอง จึงได้ขอร้องจากพี่น้องทั้งหลายให้ช่วยกัน อันนี้ไม่ใช่กำลังของคนคนเดียวจะยกได้ มันกำลังของทุกคนที่จะยกชาติของตนขึ้นถึงถูก ถึงต้องได้พยายามอย่างนี้ เมื่อมันหนักมากก็พักไปเป็นระยะๆ เพราะเวลานี้แก่มากแล้ว เดินไปก็โซซัดโซเซแล้ว กำลังวังชาไม่มี แต่จิตใจนั้นแข็งแกร่งตลอดเวลา ไม่งั้นไปไม่ได้นะ นี้เราไปด้วยอำนาจกำลังใจ กำลังความเมตตาต่างหาก ที่เราตะเกียกตะกายอยู่ทุกวันนี้ ใจเป็นสำคัญมากนะ..."

รวมหัวใจชาวไทยเป็นหนึ่งเดียวเพื่อชาติ

"...ขอให้พี่น้องทั้งหลายผู้รักชาติจงรวมน้ำใจเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน เพื่อเทิดทูนชาติไทยของเราด้วยการบริจาคอุดหนุนชาติไทยของเราให้กระเตื้องขึ้นโดยลำดับ เราจะมีความร่มเย็นเป็นสุขทั่วหน้ากัน แล้วงานที่หลวงตาเป็นผู้นำนี้ ไม่มีก๊กมีเหล่า ไม่มีคู่แข่ง ไม่มีกรรมมีเวรต่อผู้ใด ไม่ได้นำด้วยมีโลภเข้ามาแฝงเลย เป็นธรรม จึงไม่มีคู่กรรมคู่เวร ไม่มีคู่แข่ง ไม่มีข้าศึกศัตรู ไม่มีก๊กนั้นก๊กนี้ มีแต่ความสามัคคีเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกันล้วนๆ ที่พร้อมเพรียงกันบริจาคเพื่อชาติไทยของเรา...

...น้ำใจเป็นของสำคัญ อันนี้แหละที่จะหนุนเมืองไทยของเราให้สง่างามขึ้นไปโดยลำดับ ก็คือความรักชาติความสามัคคีซึ่งกันและกัน และด้วยความต่างคนต่างเสียสละช่วยกัน ใครอยู่บ้านนอกในเมืองที่ไหน ก็คือคนไทยร้อยเปอร์เซ็นต์เช่นเดียวกัน มีสิทธิที่จะหนุนเมืองไทยเราได้ทุกๆ คน เราจงพากันหนุนเมืองไทยของเราขึ้นให้ได้สมบัติที่จะมาหนุนเมืองไทยนั้น ตั้งไว้ตามโครงการก็มีทองคำ ดอลลาร์ เงินสด...

โดยปกติแล้วเราไม่เคยเกี่ยวข้องกับเงินกับทองแต่ไหนแต่ไรมา แต่มาคราวนี้ได้เป็นเจ้ากี้เจ้าการ เจ้าอำนาจเกี่ยวกับการเงินการทองการเก็บการรักษาเสียแล้ว เพราะเรารักษาความแคล้วคลาดปลอดภัยในสมบัติเหล่านี้ ไม่ให้รั่วไหลแตกซึมไปสถานที่ใด นอกจากจะให้เข้าสู่จุดมุ่งหมายคือความปลอดภัยเท่านั้น จึงต้องได้เข้มงวดกวดขัน"

คำกล่าวข้างต้นของหลวงตา แสดงถึงความสามัคคีกันเสียสละเพื่อส่วนรวมของพี่น้องชาวไทย ต่างร่วมฟังธรรมและพร้อมเพรียงกันในกิจกรรมอันเป็นมงคล จึงเหมือนกับเป็นการประกาศก้องถึงพื้นฐานเดิมของชาวไทยเรา ที่มีน้ำจิตน้ำใจเฉลี่ยเผื่อแผ่ มีความเสียสละเป็นพื้นฐานอยู่ภายในจิตใจมาแต่ดั้งแต่เดิมรุ่นพ่อแม่ปู่ย่าตายายนานมาแล้ว เมื่อถึงคราวยากของชาติบ้านเมือง มีความจำเป็นต้องรวมหัวใจเข้าด้วยกัน และแม้ว่าทุกภาคภาษาทุกท้องถิ่น ซึ่งไม่รู้จักกันมาก่อนเลยก็ตาม แต่เมื่อมีความจำเป็นเกิดขึ้น ก็สามารถรวมธรรมสามัคคีกันได้อย่างรวดเร็วแบบไม่มีทิฐิมานะ ไม่ถือสีถือสา ไม่แบ่งกลุ่มก๊กเหล่าอย่างไม่เคยปรากฏมาก่อนเลย

รูปภาพ

คุณค่าของน้ำใจ

หลวงตาท่านเคยพูดถึงสาเหตุที่คนไทยเรามีความกลมเกลียวเข้ากันได้ง่าย ก็เพราะด้วยคนไทยมีหลักธรรมเป็นพื้นฐานฝังลึกอยู่ในใจนั่นเอง เมื่อมีน้ำใจต่อกันแล้ว จะเข้ากันได้อย่างสนิทใจ ท่านเคยกล่าวถึงเรื่องนี้ไว้ว่า

"...โลกเราอยู่ด้วยกันได้ด้วยอำนาจแห่งการเสียสละ คือการให้ทานต่อกัน ความช่วยเหลือกัน มีแต่การเสียสละทั้งนั้น โลกถ้าไม่มีการช่วยเหลือ ไม่มีการให้ทาน เฉลี่ยเผื่อแผ่กันแล้ว ไม่มีความหมาย โลกมีความหมายมากน้อย อยู่ที่การเฉลี่ยเผื่อแผ่มีน้ำใจต่อกัน ความมีน้ำใจต่อกันนี้สำคัญมาก ผู้มีน้ำใจต่อกัน เฉลี่ยเผื่อแผ่กัน ความเสียสละก็ย่อมมีได้

ถ้าไม่มีน้ำใจ ไม่มีแก่ใจแล้ว อะไรๆ ก็หลุดมือออกไปไม่ได้ ทีนี้อยู่กันเป็นร้อยเป็นพันก็ไม่มีความหมาย คนหนึ่งจะตายดิ้นอยู่นี่ ก็ไม่มีใครดูแลกัน นี่แหละความไม่มีแก่ใจ เพราะฉะนั้น จึงว่ามีมากเท่าไหร่ก็ตาม ถ้าไม่มีความเสียสละ ไม่มีแก่ใจแล้ว ไม่มีความหมายทั้งนั้นแหละมนุษย์เราอยู่ร่วมกันจะอยู่ใกล้อยู่ไกลไม่สำคัญ สำคัญที่น้ำใจที่มีต่อกัน อันนี้สำคัญมาก

ชาติชั้นวรรณะมันตั้งไปตามลักษณะเฉยๆ มันก็คนนั่นแหละ แต่โดยหลักธรรมแท้คือคน เกิดมาจากท้องพ่อท้องแม่ด้วยกัน ไม่ได้เกิดมาจากท้องเทวดาที่ไหน มาเกิดเป็นคนแล้วก็ว่าชาตินั้น ชั้นนั้น วรรณะนี้ไปว่ากันเฉยๆ ดีไม่ดีเอา สิ่งเหล่านี้มากระทบกระเทือนกัน ไม่ใช่ของดี ความไม่ถือกัน มีน้ำใจ อันนี้สำคัญมาก ใกล้ไกลไปไหนไม่อดอยาก ไม่ตายคนเรา มีความเสียสละต่อกัน มีน้ำใจต่อกัน คนเราย่อมสนิทกันได้อย่างง่ายดาย ไม่จำเป็นจะต้องเกิดมาในพ่อแม่เดียวกัน แม้แต่พ่อแม่เดียวกันยังทะเลาะกันได้ เอาถือเป็นความสนิทติดจมจริงๆ ไม่ได้

มันสำคัญอยู่ที่น้ำใจ ถ้ามีน้ำใจแล้ว คนเราย่อมเข้ากันได้สนิท ต่างคนต่างเสียสละกันอย่างนี้แหละดี มนุษย์เราจะได้มีคุณค่า มีความชุ่มเย็นเป็นสุข...มนุษย์นี้เท่านั้นที่มีน้ำใจต่อกันได้มากยิ่งกว่าสัตว์อื่นๆ เพราะมนุษย์นี้รู้ดีรู้ชั่ว รู้บุญรู้บาป..."

น้ำใจคนจนเพื่อชาติ

ชาวสวนกลุ่มหนึ่งเป็นคนจนไม่มีเงินมีทองบริจาค แต่มีใจอยากร่วมช่วยชาติด้วย จึงอุตส่าห์รวบรวมกันขายมะเขือเทศ ตั้งใจว่าได้เท่าไหร่ก็จะร่วมกันบริจาคช่วยชาติกับท่านด้วย น้ำใจแห่งการช่วยชาติครั้งนี้จึงทำให้ท่านรู้สึกถึงใจและซาบซึ้งในน้ำใจของชาวสวนอย่างมาก ดังนี้

"...ไปวันนี้ไปจากน้ำใจ เขาจะบริจาครวมกันขายมะเขือเทศทอดตลาดไปเลยได้กี่บาทกี่สตางค์ก็ตาม จะเอาเงินจำนวนนี้เข้ามาช่วยชาติ นี่ฟังแล้วถึงใจนะเรา เพราะเราช่วยชาติด้วยความถึงใจจริงๆ ไม่ได้ช่วยแบบจืดๆ จางๆ นะ เราช่วยจริงจังอย่างที่สุด ที่ดีดที่ดิ้นอยู่นี้มีแต่เพื่อช่วยชาติอย่างเดียวเท่านั้น ถ้าใครไม่เห็นความสำคัญของชาติ ก็เรียกว่าคนนั้นไร้สาระ ไม่มีชาติเกิดกับเขา ไม่มีชาติเป็นหลัก ไร้ค่าไม่มีราคาเลย

คนประเภทนั้น ถ้าอยู่ใกล้ริมแม่น้ำโขงให้เขี่ยลงแม่น้ำโขงนะ เข้าใจไหม ถ้าอยู่ใกล้ทะเลให้เขี่ยลงทะเล อย่าให้ตกค้างอยู่ในเมืองไทย คนไม่มีหลักมีเกณฑ์ คนไม่รักชาติ ต้องเขี่ยลงทะเล ให้พวกที่เขารักชาติอยู่ในเมืองไทย...ที่รักชาติอุตส่าห์ขวนขวายรวบรวมกัน...บริจาคเพื่อช่วยชาติ เราฟังแล้วถึงใจนะ มันสำคัญอยู่ที่น้ำใจ ความรักชาติ หนุนชาติ รักษาชาติเป็นสิ่งที่เป็นมงคลมากทีเดียว ก็เหมือนลูกรักพ่อรักแม่

พ่อแม่จะเป็นคนมีคนจน ลูกรักด้วยกันทั้งนั้น คนจนก็รักพ่อรักแม่ คนมั่งมีก็รักพ่อรักแม่ หลักใหญ่อยู่ที่รักพ่อแม่ของตน นี่คือชาติของตน นั่นเราเอาตรงนี้นะ คนมีคนจนไม่สำคัญ ความรักชาติสำคัญมากทีเดียว...

วันนี้จะไปเทศน์อนุโมทนาน้ำใจที่รักชาติ อุตส่าห์พยายามรวบรวมกัน มีมากมีน้อย ชาวสวนด้วยกัน รวมมาเป็นน้ำใจช่วยชาติของเรานี้ เด่นมากนะ พี่น้องทั้งหลายให้ฟังให้ถึงใจนะ เขาเป็นคนทุกข์คนจน เป็นชาวสวนวิ่งเต้นขวนขวายหามามากน้อย เขายังอุตส่าห์มาหนุนชาติของตัวนั่น มันควรจะเป็นคติตัวอย่างทั่วประเทศไทยของเรา เมืองไทยของเราถ้าต่างคนต่างรักชาติเห็นชาติเป็นสำคัญแล้ว ต่างคนต่างรัก ต่างคนต่างสงวน ต่างคนต่างบำรุงรักษากัน ชาติไทยของเราก็มีความแน่นหนามั่นคง นี่ละสำคัญที่จุดนี้นะ..."

ผู้ใหญ่ต้องเป็นผู้นำแห่งงานเสียสละเพื่อชาติ

ความร่วมไม้ร่วมมือของผู้น้อย และมีผู้ใหญ่เป็นผู้นำร่วมแรงร่วมใจ แสดงถึงความสามัคคีของหน่วยงานหรือจังหวัดนั้น ในเรื่องนี้ท่านแสดงธรรมไว้ ดังนี้

"...ดังพี่น้องทั้งหลายได้นำเครื่องบริจาค...ประเภทต่างๆ มาวันนี้ ล้วนแล้วตั้งแต่เป็นสิ่งที่มีคุณค่าออกจากน้ำใจแห่งความรักชาติของพี่น้องทั้งหลายได้มาช่วยเหลือกัน ปรากฏสง่างามอยู่ที่ศาลาและที่อื่นๆ ในบริเวณนี้เต็มไปหมด...

ท่านผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นประธาน เป็นร่มโพธิ์ร่มไทรของพี่น้องทั้งหลาย เพราะผู้ใหญ่สำคัญมากที่สุด ในครอบครัว เหย้าเรือนก็มีพ่อบ้านแม่เรือนเป็นที่อยู่ของเด็กลูกๆ หลานๆ ในสกุลนั้นๆ ถ้าผู้ใหญ่ไม่มีผู้ปกครองไม่มี หาหลักเกณฑ์ไม่ได้

นี่บ้านเมืองของเราก็ต้องมีผู้ใหญ่ เช่น จังหวัด....ก็มีท่านผู้ว่าราชการจังหวัดมาเป็นผู้นำ มาเป็นร่มโพธิ์ร่มไทร เป็นหลักอันใหญ่โต เป็นความอบอุ่นของพี่น้องทั้งหลาย วันนี้จึงมีความสง่าราศีมากในงานของเรา เพราะมีท่านผู้ใหญ่มาประดับเกียรติแก่จังหวัดและชาติไทยของเราให้สง่างาม

ถ้ามีตั้งแต่เด็กเล็กเด็กน้อยตาสีตาสาขวนขวายทำกัน โดยผู้ใหญ่บกพร่อง ผู้ใหญ่ไม่สนใจอย่างนี้ เรียกว่าเสียความงาม เสียความสง่าราศี ไม่มีคุณค่าประการใด ดีไม่ดีเขายังตำหนิผู้ใหญ่อีกด้วย... หาความร่มเย็นให้ประชาชนพลเมืองไม่

ได้อย่างนี้เขาก็อาจยกโทษได้ต่อเมื่อมีผู้ใหญ่มาเป็นผู้นำแล้วทำไมใครจะไม่อบอุ่น ต้องมีความอุ่นทั่วหน้ากัน ตั้งแต่ท่านผู้ว่าราชการจังหวัดและรองลงมาตามลำดับลำดา ข้าราชการทุกหน่วย ตำรวจ ทหาร ประชาชน ข้าราชการทุกหน่วยพร้อมเพรียงกันมา ให้ความสนับสนุนและความร่มเย็นแก่พี่น้องชาวไทยและชาติไทยของเราแล้ว ต้องเป็นงานที่มีสง่าราศีมาก..."

พระภิกษุสามเณรควรช่วยชาติ

ท่านเทศน์ในคราวที่พระภิกษุสามเณรต่างสามัคคีกันออกมาจากป่าเขา เพื่อเสียสละบริจาคเงินและทองคำช่วยชาติ ดังนี้

"...นี่แหละที่จะออกมาในครั้งหนึ่งๆ หละ ออกมาจากป่าจากเขา ท่านเป็นครูเป็นอาจารย์เขาอยู่ตามที่ต่างๆ แล้วก็มารวมกัน รวมนี่ก็แสดงน้ำใจของผู้มีธรรม ผู้มีธรรมย่อมมีจิตใจกว้างขวาง ย่อมมีจิตเมตตา มีจิตใจสะอาด แสดงออกมาด้วยความเป็นมงคลแก่โลกแก่สงสาร ดังพระพุทธเจ้าท่านเสด็จไปไหน เป็นมงคลแก่โลก พระสาวกไปไหน เป็นมงคลแก่โลก เป็นเนื้อนาบุญอันชุ่มเย็นของโลก นั่นนะ ท่านไปอย่างนั้นนะ

ทีนี้ ถ้าหากผู้สืบต่อสายธรรมของพระพุทธเจ้าแล้ว จะมีลักษณะเช่นเดียวกัน ไม่มากก็น้อยต้องแสดงออกซึ่งน้ำใจอันดีงาม นี่แหละ เรียกว่า ออกมาจากใจที่ขาวสะอาด ออกมาจากใจที่มีเมตตาเฉลี่ยเผื่อแผ่ต่อกัน นี่ชาติไทยของเราเวลานี้กำลังจนตรอกจนมุมทั้งประเทศ

นี่แล้วพระสงฆ์เหล่านี้ที่อยู่ในเมืองไทยนี้เป็นลูกของใครบ้าง เอาซิ ไล่เข้าไป พระสงฆ์ที่มาเป็นพระสงฆ์ไทยอยู่เวลานี้เป็นลูกของใคร ลูกมีพ่อมีแม่น่ะ พ่อแม่ของพระสงฆ์นี้อยู่ตามป่าตามเขา อยู่ตามที่ต่างๆ ทั่วประเทศไทย อยู่ที่ไหนมีหมดพ่อแม่ของพระสงฆ์ในสมัยปัจจุบันนี้

เวลานี้กำลังตกทุกข์ได้ยากลำบากทั่วประเทศไทย เรียกว่า พ่อแม่ของสงฆ์ไทย เรานี้กำลังได้รับความตกทุกข์ลำบาก แล้วทำไมลูกสงฆ์คือลูกมีพ่อมีแม่ ลูกพระสงฆ์ไทยซึ่งมีพ่อมีแม่แล้ว ทำไมจึงจะใจดำน้ำขุ่นช่วยพ่อช่วยแม่ไม่ได้ พ่อแม่กำลังตกทุกข์ได้ยากลำบากเข็ญใจ

นี่พระสงฆ์ออกมาช่วยนี้ เรียกว่า ทำกิจสงฆ์โดยสมบูรณ์ นี่หละงานของสงฆ์เป็นงานอย่างนี้ สงฆ์ต้องช่วยชาติซิ ช่วยโลก ช่วยสงสารสัตว์ทั้งหลาย พระพุทธเจ้าท่านว่า มหาการุณิโก นาโถ หิตายะ สัพพะปาณินัง พระพุทธเจ้าทรงพระเมตตามหากรุณาธิคุณอันยิ่งใหญ่ ฟังซิ แล้วทำประโยชน์ให้แก่สัตว์นี้ไม่มีประมาณ นั่นแหละ แปลออกมาทำประโยชน์ให้สัตวโลกไม่มีประมาณเลย ไม่มีใครเกินพระพุทธเจ้า

เราเป็นลูกศิษย์ของพระตถาคตก็ต้องแสดงลวดลายออกมาบ้าง ไม่มากก็น้อย ตามกำลังความสามารถของคน มันถึงจะถูก ไม่ใช่พระสงฆ์แบบใจดำน้ำขุ่น..."

รูปภาพ


(มีต่อ 38)

.....................................................
ทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว เป็นกฎตายตัว


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 24 ธ.ค. 2010, 11:45 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
ผู้จัดการ
ผู้จัดการ
ลงทะเบียนเมื่อ: 27 มี.ค. 2006, 17:34
โพสต์: 7781

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว www


รูปภาพ

ตอนที่ 28 หลักทรัพย์ หลักใจ ไม่อิ่ม ไม่เลิกรา

หลวงตาท่านกล่าวว่า "...การช่วยชาติด้วยการเสียสละเงินทองส่วนตนเข้าเป็นสมบัติกลางนี้ จริงๆ แล้วเป็นการแก้ไขที่ปลายเหตุ แต่ก็มีความจำเป็นต้องช่วยกัน เพราะคลังหลวงแห่งชาติยังขาดตกบกพร่องอยู่ จึงต้องขอให้ชาวไทยเราทุกคนต่างช่วยกันเสียสละ มากน้อยไม่สำคัญ สำคัญที่ต่างช่วยกันอุดหนุดครั้งแล้วครั้งเล่า เหมือนเรารับประทานอาหาร ไม่อิ่มไม่เลิกรา

การเสียสละก็เช่นกัน เมื่อมีมากน้อยเท่าไร ก็แบ่งมาช่วยหนุนเพื่อชาติเราครั้งแล้วครั้งเล่าเช่นกัน จนกว่าคลังหลวงจะอิ่ม ใครมีเงินก็ช่วย มีทองคำก็ช่วย เพื่อเอามาเป็นหลักประกันแก่ชาติ..."

รักชาติไทย ส่งเสริมสินค้าไทย

ท่านเน้นเสมอให้มีความรักชาติ ควรเห็นคุณค่าของสมบัติข้าวของเครื่องใช้ของชาติไทยเราเอง ไม่ควรหลงใหลสินค้าจากเมืองนอกอย่างไร้เหตุผล ดังคำเทศนาของท่านว่า

"...การอยู่ ให้ประหยัด การกิน ควรกินอะไร...กินอย่างประหยัด ใช้สอยก็ใช้สอยอย่างประหยัด อย่าฟุ่มเฟือย... เราอย่าไปฟุ้งเฟ้อเห่อเหิมของเมืองนอกเมืองนาเมื่อไม่มีความจำเป็น...จงขอให้พากันรักกันสงวน มีอะไรของใช้ของสอยเครื่องอยู่เครื่องกินภายในประเทศไทยของเรา ใครสร้างขึ้นมาผลิตขึ้นมา ให้สนับสนุนกัน ซื้อของกันและกันมาอยู่มากินมาใช้มาสอย นี่เป็นเนื้อหนังของชาติไทยเรา เลี้ยงชาติไทยของเรา จะเป็นความเข้มแข็งขึ้นมาในชาติไทยของเรา โดยไม่ต้องไปอาศัยคนอื่น นี่หลักใหญ่

สิ่งภายนอก หากมีความจำเป็น เราจะซื้อจะหาตามธรรมดาโลกอยู่ร่วมกัน ก็ต้องมีการผลัดเปลี่ยน มีการแลกเปลี่ยนเป็นธรรมดา ของเขามี ของเราไม่มี ก็จำเป็นต้องซื้อต้องหาจากเขา เขาก็เหมือนกันกับเรา นี่เป็นความจำเป็น ใครก็ทราบด้วยกันทุกคน เมื่อจำเป็นอย่างนี้ เขากับเราก็ปฏิบัติอย่างเดียวกัน

แต่ถ้าไม่จำเป็น เกิดขึ้นจากความฟุ้งเฟ้อเห่อเหิม อะไรก็ดีตั้งแต่ของนอกๆ ของเราหาคุณค่าหาราคาไม่ได้ คุณค่าราคาไปอยู่กับเมืองนอกเมืองนาเสียหมด อย่างนี้เรียกว่า เราไม่มีหลักมีเกณฑ์ ไม่มีเนื้อมีหนัง ไม่มีสง่าราศีภายในตัวของเราเลย ประเทศไทยทั้งชาติก็ไม่มีคุณค่า เพราะคุณค่าไปอยู่กับเมืองนอกเสียทั้งหมด..."

ทรงมรดกธรรม

ท่านเน้นจุดสำคัญว่า การแก้ไขที่จะให้ตรงจุดตรงต้นเหตุก็คือ การทรงเอามรดกธรรม มรดกของพระพุทธศาสนา เอาศีลธรรมความประพฤติดีงาม ด้วยเหตุด้วยผลด้วยหลักด้วยเกณฑ์ เข้ามาอุดหนุนจิตใจ จนมีหลักประกันภายในจิตใจ นั่นคือ มีหลักใจ

โดยการหันกลับมาปรับปรุงตัวของเราแต่ละคนคน ให้มีความประหยัด ไม่ลืมเนื้อลืมตัว ไม่ฟุ้งเฟ้อเห่อเหิม การอยู่การกินการใช้การสอยการไปการมา ให้มีความประหยัด ให้มีเหตุผลตามอรรถตามธรรม รักษาศีลธรรม ความประพฤติของตน อย่าทำตัวหรูๆ หราๆ ฟุ่มเฟือย

ท่านให้ดูพระผู้มีหลักเกณฑ์ภายในใจเป็นแบบอย่าง เพราะพระเป็นแนวหน้า เป็นแม่แบบแห่งความประหยัด เป็นตัวอย่างแห่งความเรียบง่ายมีเหตุผล มีการระมัดระวังควบคุมจิตใจไม่ให้คะนองด้วยราคะตัณหา โลภโมโทสันจนเลยเขตเลยแดน แต่ให้มีธรรมเข้าคอยสกัดลัดกั้น เป็นเบรกห้ามล้อไว้

การไปเทศนาช่วยชาติในที่ต่างๆ ทั่วประเทศ ท่านจึงเน้นย้ำเรื่องหลักใจอยู่เสมอ อันจะทำให้การอยู่การกิน การใช้การสอย การไปการมาของเรามีหลักเกณฑ์เหตุผลมากขึ้น หลักทรัพย์ส่วนตนก็จะแน่นหนามั่นคงมากขึ้นตามลำดับ แล้วก็หันหน้าเข้าช่วยกันอุดหนุนชาติเป็นลำดับลำดาเช่นกัน เหมือนเรารับประทาน หลักทรัพย์ของชาติก็จะแน่นหนามั่นคงมากขึ้นตามกัน เพราะเหตุแห่งการหันมาแก้ไขที่ต้นเหตุของแต่ละคนนั่นเอง การสร้างจิตใจให้เจริญจนมีหลักมีเกณฑ์แน่นหนา จึงเป็นการแก้ไขต้นเหตุแห่งปัญหาของชาติอย่างแท้จริงเสียสละเพื่อชาตินี้...

เป็นคติแบบอย่างอันดีงามแก่เด็กกุลบุตรสุดท้ายภายหลัง

ท่านกล่าวถึงประโยชน์ของการสามัคคีช่วยชาติครั้งนี้ มีผลดีแก่เด็กลูกหลาน ดังนี้

"...ความเสียสละเพื่อชาติของตน...เป็นเครื่องประดับชาติของไทยเรา ก็คือสมบัติของเราเองที่นำออกไปประดับแล้วสวยงามไปหมด แล้วนี้ยังจะเป็นเครื่องฝังใจของกุลบุตรสุดท้ายชาวไทยของเราไปตลอดอวสานนะว่า พ่อแม่ปู่ย่าตายายของเด็กไทยเราพาลูกหลานของตนดำเนินอย่างไรบ้าง นี่เป็นคติอันสำคัญ เป็นรากฐานอันสำคัญที่เราทั้งหลายซึ่งเป็นผู้ใหญ่ของเด็กไทยเราที่กำลังติดตามพ่อแม่มา ตามแบบพิมพ์มา...

...แบบพิมพ์เป็นยังไง คือผู้ใหญ่ของเรานี่ เวลานี้กำลังคับขัน ผู้ใหญ่ของชาติไทยเราทุกๆ คน ตั้งหน้าตั้งตาช่วยเหลือกันเต็มกำลังความสามารถ เอาสมบัติของตนแต่ละคนคนออกไปเป็นเครื่องประดับให้เป็นสมบัติของโลกสง่างามหมด นี่ผู้ใหญ่ก็เป็นที่ภาคภูมิใจ เป็นคติตัวอย่างอันดีงามแก่กุลบุตรสุดท้ายภายหลังได้ดีมาก

และอันนี้ยังจะฝังใจของเด็กไทยเราไปตลอดนะ ให้เป็นผู้เข้มแข็ง มั่นคงต่อทุกสิ่งทุกอย่าง อันใดที่จะเป็นภัย ฟัดกันเลย...เรียกว่า ไม่ท้อถอย ไม่อ่อนแอ ไม่ล้มเหลว เพราะหัวหน้าพ่อแม่ปู่ย่าตายายของเด็กไทยเราเป็นผู้นำด้วยความกล้าหาญชาญชัยทุกสิ่งทุกอย่าง...

เด็กไทยเราจะเป็นคนที่มีความแน่นหนามั่นคง มีหลักใจ มีหลักทุกอย่างในประเทศไทยของเราแน่นหนามั่นคงเพราะพวกเราทั้งหลายเป็นผู้นำสำคัญมาก ไม่ใช่ว่าเราทำนี้ จะเป็นประโยชน์เฉพาะปัจจุบัน ยังจะเป็นประโยชน์ต่อกุลบุตรสุดท้ายภายหลังต่อไปอีก เรียกว่า ชาติไทยเราเป็นชาติที่แกร่งด้วยความแน่นหนามั่นคง ด้วยความเสียสละ ด้วยความรักชาติทุกคน

ถ้าชาติไทยของเราต่างคนต่างมีน้ำใจอย่างที่ว่า ให้เป็นอรรถเป็นธรรมแล้ว ชาติไทยของเราจะแน่นหนามั่นคง มีแต่คนดี ดีหมดทั้งชาติไทยเรา นั่น ถ้าว่าดีแล้ว ดีทั่วประเทศเลย ถ้าเลว ก็เลวกันหมดเลย...เพราะฉะนั้น จึงตั้งหน้าตั้งตาให้เป็นหลักเกณฑ์อันดี ให้เป็นคนดีมีศรีสง่าแก่กุลบุตรสุดท้ายภายหลัง ซึ่งเป็นลูกไทยของเราสืบทอดต่อไปจากมรดกของพ่อแม่ปู่ย่าตายายที่มอบให้นี้ด้วยความเสียสละ เพื่อชาติของตน เวลานี้กำลังหัวเลี้ยวหัวต่อละ เอาให้เต็มเหนี่ยวเลยนะ อย่าถอยหลังเป็นอันขาด คราวนี้เป็นชาติที่พลีชีพเพื่อชนะความจนให้ได้..."

รูปภาพ

"วัตถุ" เป็นพื้นฐาน "ธรรม" ออกกระจาย

หลวงตาท่านชราภาพมากแล้ว แต่ท่านยังมีแก่ใจเสียสละได้ ด้วยเห็นแก่พี่น้องร่วมชาติ ท่านจึงยอมฝืนสังขารแบกธาตุขันธ์ร่างกาย ไปสงเคราะห์ตามสถานที่ต่างๆ ด้วยการแสดงธรรม

ความอุตสาหะ วิริยะ พากเพียรเพื่อชาติถึงเพียงนี้ของท่าน ก็ด้วยหวังให้พี่น้องไทยเราทุกคนมีหลักธรรมประจำใจ มีความประพฤติดี มีศีลธรรมเป็นหลักยึด มีความประหยัดมัธยัสถ์อดออม และรู้จักเมตตาเฉลี่ยเผื่อแผ่มีน้ำใจ รู้จักเสียสละเพื่อผู้อื่น เพื่อสังคม เพื่อประเทศชาติ ดังคำกล่าวของท่านที่ว่า

"...การช่วยชาติคราวนี้ เราเห็นประโยชน์ทางด้านจิตมากกว่าด้านวัตถุนะ เพราะธรรมะจะกระจายออก เรียกว่าทั่วประเทศไทย...เพราะมันมีทีวี มีวิทยุ พวกเทปและอะไรอื่นๆ และเทศน์ เราก็เทศน์ไม่หยุด ตั้งแต่เทศน์มานี้ เทศน์ไม่หยุด เทศน์ทุกแห่งทุกหน เทศน์กระจายออกไป มีทุกประเภทของการเทศน์ เทศน์สูงเทศน์ต่ำก็มี สุดยอดมี มีหมดตามสถานที่ต่างๆ

ถ้ามีพระมามาก ธรรมะจะสูง หมายถึงพระปฏิบัติ ถ้าพระทั่วๆ ไป เราไม่สนใจอะไร...เราเทศน์เน้นหนักทางจิตใจกับธรรม สาระของที่ตั้งที่เกาะของใจคือธรรม เน้นหนักตรงนี้มาก เพราะฉะนั้น จึงว่าการก้าวเดินด้วยวัตถุนี้เป็นเพียงพื้นฐานการก้าวเดินเฉยๆ หลักใหญ่เราอยู่กับธรรม เพราะธรรมเกี่ยวข้องกับจิตใจ จิตใจเป็นเรื่องใหญ่โตมาก ทั้งวัตถุเหล่านี้ก็จะต้องเกี่ยวข้องกับจิตใจ วัตถุช่วยชาติเหล่านี้นะ ความเป็นอยู่ของประชาชนก็จะค่อยกระเตื้องขึ้นมา ไม่ลืมเนื้อลืมตัวจนเกินไป จะรู้ตัวเรื่องประหยัดบ้าง..."

การช่วยชาติครั้งนี้จึงเป็นมหามงคลยิ่ง มีความหมายที่ละเอียดลออลึกซึ้ง มีคุณประโยชน์อย่างใหญ่หลวงแก่พี่น้องชาวไทย และสิ่งนี้ย่อมเป็นคติตัวอย่างอันดีงามแก่กุลบุตรสุดท้ายภายหลังต่อไปอีกนานแสนนาน


(มีต่อ 39)

.....................................................
ทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว เป็นกฎตายตัว


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 24 ธ.ค. 2010, 11:46 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
ผู้จัดการ
ผู้จัดการ
ลงทะเบียนเมื่อ: 27 มี.ค. 2006, 17:34
โพสต์: 7781

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว www


รูปภาพ

ตอนที่ 29 กิจวัตรหลวงตา

ตี 3 ตื่นจากจำวัดแล้วจึงบริหารกาย ถัดจากนั้นจึงนั่งสมาธิภาวนาเรื่อยไป จนกระทั่งได้เวลารุ่งอรุณ

รุ่งอรุณ พระอุปัฏฐากหลวงตาจะเข้าไปทำหน้าที่ต่างๆ ภายในกุฏิและบริเวณโดยรอบ ช่วงเวลานี้หลวงตาท่านเองจะลงไปเดินจงกรมอยู่ในป่า (เว้นแต่มีธุระอื่นที่ควรจัดทำในเวลานี้ ท่านก็ไม่ได้เดินจงกรม) จนใกล้เวลาจะบิณฑบาต ท่านจึงออกจากทางจงกรม มากราบพระประธานและรูปภาพพ่อแม่ครูบาอาจารย์พระกรรมฐานที่ศาลา และออกบิณฑบาตในหมู่บ้านซึ่งห่างจากวัด 1 กิโลเมตร

สมัยที่สุขภาพของท่านเป็นปกติได้ บิณฑบาตร่วมสายกับพระเณรอยู่โดยสม่ำเสมอ เพิ่งจะย่นระยะทางลงเหลือเพียงแค่ชาวบ้าน 3-4 หลังคาเรือนก็ต่อเมื่อธาตุขันธ์ร่างกายท่านเริ่มทรุด ฉันอาหารไม่ค่อยได้ การพักผ่อนหลับนอนไม่เป็นปกติ ราวปี พ.ศ. 2526 นี่เอง แต่ไม่ว่าสมัยใด การออกบิณฑบาตท่านมักไปตามลำพัง โดยปล่อยให้พระเณรล่วงหน้าไปก่อน ด้วยเพราะท่านถือเป็นการเดินจงกรมไปด้วย กำหนดพิจารณาไปด้วย พิจารณาเรื่องอรรถเรื่องธรรมลึกตื้นหยาบละเอียดของธรรมบทต่างๆ แง่ต่างๆ (ต้นปี พ.ศ. 2541 นับแต่วันที่ท่านนำเครื่องอุปโภคบริโภคไปแจกโรงพยาบาลย่านจังหวัดสกลนคร และประสบอุบัติเหตุเมื่อวันที่ 17 มีนาคม 2541 ทำให้กระดูกต้นแขนขวาแตก ท่านจึงงดออกบิณฑบาตนับแต่นั้นมา)

ฉันจังหัน เมื่อฉันเสร็จหากไม่ตรงกับวันหยุด ถ้ามีคณะศรัทธาญาติโยมมาทำบุญ แม้มีจำนวนไม่มากท่านก็เมตตาแสดงธรรมให้ฟัง แต่ถ้ามีจำเพาะผู้มาทำบุญอยู่เสมอไม่ค่อยขาด ท่านอาจพูดให้ฟังเล็กน้อยแล้วบอกให้กลับ

สำหรับวันหยุดราชการและวันพระซึ่งคนมามาก ท่านจะเทศน์อบรมเป็นประจำ แต่ในระยะปัจจุบันนี้ (ปี 2542) ท่านเมตตาเทศน์อบรมทุกเช้า จากนั้นจึงเข้าที่พักออกสงเคราะห์โรงพยาบาล

หลังจังหันแล้ว ท่านมักนำข้าวสาร อาหารสด อาหารแห้ง ปลากระป๋อง น้ำปลา น้ำมันพืช ขนม ไข่ ผ้าขาว และอื่นๆ ไปแจกจ่ายหมุนเวียนตามโรงพยาบาลต่างๆ อยู่เป็นประจำ พร้อมกับถามไถ่ถึงความขาดเขินในวัสดุอุปกรณ์ทางการแพทย์หรือหยูกยาต่างๆ หากมีความจำเป็นท่านจะเมตตาช่วยเหลือทันที

ในบางวันท่านก็เมตตาออกเยี่ยมเยียนพระเณรในสำนักหรือวัดในถิ่นทุรกันดารที่ตั้งใจประพฤติปฏิบัติธรรม เพื่อเป็นกำลังใจ พร้อมนำเครื่องอุปโภคบริโภคต่างๆ สงเคราะห์ช่วยเหลืออีกด้วยตรวจตราพระเณร

แต่เดิมนั้น ช่วงเวลาที่หลวงตาท่านไม่ได้รับแขกนี้ ท่านใช้ไปในการพักผ่อนบ้าง อ่านหนังสือบ้าง ตอบจดหมายบ้างตามอัธยาศัย แต่ส่วนมากท่านจะเดินตรวจตราไปตามที่อยู่ของพระเณร ซึ่งกระจายอยู่ทั่วบริเวณวัดที่มีเนื้อที่ 163 ไร่ อยู่เป็นประจำไม่ค่อยขาด

จากการตรวจตรา ทำให้ท่านหยิบยกสิ่งบกพร่องมาสอน ย้ำเตือนเสมอถึงชีวิตความเป็นอยู่ การบำเพ็ญภาวนาของพระเณรเพื่อให้มีความขยันหมั่นเพียร และยังถือโอกาสนี้กำชับกำชาพระเณรให้ใส่ใจต่อการเลี้ยงดูเรื่องอาหาร น้ำ และระวังรักษาภัยอันตรายให้กับสัตว์ต่างๆ ที่มาอาศัยอยู่ภายในวัด ซึ่งมีจำนวนไม่น้อยอีกด้วย

การออกตรวจตรานี้ ความถี่ห่างขึ้นอยู่กับสุขภาพของท่าน หากปกติดี จะมีถึง 3 วาระ คือ เช้า บ่าย และค่ำ มีบางแห่งที่ท่านเคยจำพรรษาอยู่ ถ้าพบพระเณรองค์ใดขี้เกียจทำความเพียร เอาแต่หลับแต่นอนหรือมั่วสุมคุยกันในเรื่องไม่เกี่ยวกับอรรถธรรม ไม่สมกับท่านรับไว้ศึกษาอบรมด้วยความเมตตาแล้ว แม้เวลาดึกดื่น ตี 2 หรือเช้ามืด ตี 4 ท่านก็จะลองออกไปตรวจดู หากพบว่า เป็นเช่นนั้นติดต่อกันถึง 3 ครั้ง โดยไม่ยอมแก้ไขปรับปรุงตัวเอง รายเช่นนั้นจะถูกขับออกจากวัดในเวลาไม่ช้าเลย

ด้วยเหตุที่ท่านเมตตาออกสอดส่องนี้เอง จึงทำให้พระเณรไม่นิ่งนอนใจอยู่ด้วยความประมาท พากันขวนขวายทำความพากเพียรอยู่โดยสม่ำเสมอ ซึ่งนอกจากจะก่อให้เกิดความสงบร่มเย็นแก่ตัวเองแล้ว ยังส่งผลไปถึงหมู่คณะที่อยู่ร่วมกันให้มีความสงบสุขร่มเย็นไปด้วย แม้ระยะหลังนี้ ในปี พ.ศ. 2542 ซึ่งท่านมีอายุถึง 86 ปีแล้วก็ต าม แต่การตรวจตราพระเณรก็ยังเป็นสิ่งที่ท่านให้ความเมตตาเอาใจใส่อยู่เสมอมิได้ขาด

รูปภาพ
ป้ายเตือนหน้าวัด ..เพื่อเตือนสติคนที่เข้ามาวัดป่าบ้านตาด


สุขภาพเริ่มทรุดลง

นับแต่ปี 2526 เป็นต้นมา สุขภาพของท่านเริ่มทรุดเห็นประจักษ์ การออกตรวจเหลือเพียงวาระเดียว ส่วนมากมักเป็นช่วงบ่ายที่ว่างจากแขก แม้ปี พ.ศ. 2530 ไปแล้ว ธาตุขันธ์ร่างกายท่านจะดีขึ้นก็ตาม แต่ความที่มีผู้คนประชาชนพระเณรหลั่งไหลมากราบนมัสการขอฟังธรรมจากท่านมากขึ้นผิดหูผิดตา ความบอบช้ำย่อมเกิดขึ้นอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ท่านจึงต้องการเวลาเยียวยาให้กับธาตุขันธ์ร่างกายมากขึ้น แม้กระนั้นก็ตาม ความที่เคยกระทำมาเป็นประจำ ก็ทำให้มีเวลาใดเวลาหนึ่งที่ท่านจะต้องออกเดินตรวจอย่างน้อยวันละครั้งอยู่เสมอ

บ่ายโมง ท่านจะเริ่มรับแขก จะมีพักบ้างเพียงเล็กน้อยในช่วงเวลาปัดกวาดลานวัดและสรงน้ำ และเมื่อใกล้ค่ำจึงงดรับ หากวันไหนที่ท่านออกไปแจกของตามโรงพยาบาล วันนั้นท่านมักจะกลับมาในช่วงบ่ายโมงถึงบ่าย 3 โมง จะช้าหรือเร็วขึ้นอยู่กับระยะทางที่ไป

6 โมงเย็น ท่านมักอยู่ภาวนาภายในกุฏิ หรือเดินจงกรมในป่า บางครั้งท่านก็ออกตรวจตามที่พักของพระเณร 2 ทุ่ม ท่านจะลงจากกุฏิเพื่อมาตรวจของเครื่องอุปโภคบริโภคต่างๆ ที่จัดเตรียมไว้ในโกดังโรงทานสำหรับการสงเคราะห์ช่วยเหลือแก่โรงพยาบาล ท่านดูว่ามีสิ่งใดขาดตกบกพร่องไปหรือไม่ หรือมีโรงพยาบาลหรือหน่วยงานทางราชการใดมาขอรับสิ่งของในวันนั้นบ้าง บ่อยครั้งที่ท่านจะสอบถามธุระต่างๆ กับพระเวรศาลา และในโอกาสพิเศษท่านจะนั่งฉันน้ำปานะ

ในช่วงนี้เองที่ท่านจะเมตตาเล่าเรื่องเกร็ดเล็กเกร็ดน้อยเพื่อเป็นกำลังใจในการปฏิบัติธรรมแก่พระเณร จากนั้นเมื่อมีควรแก่กาลแล้ว ท่านจึงขึ้นกุฏิ เดินจงกรมหรือนั่งภาวนาต่อไปจนเวลาประมาณ 5 ทุ่มจึงเข้าจำวัด

รูปภาพ
พระประธานและรูปถ่ายของพ่อแม่ครูบาอาจารย์พระกรรมฐาน
ภายในศาลาการเปรียญวัดป่าบ้านตาด อ.เมือง จ.อุดรธานี



(มีต่อ 40)

.....................................................
ทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว เป็นกฎตายตัว


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 24 ธ.ค. 2010, 11:47 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
ผู้จัดการ
ผู้จัดการ
ลงทะเบียนเมื่อ: 27 มี.ค. 2006, 17:34
โพสต์: 7781

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว www


รูปภาพ
ภาพจากงานมุทิตาสักการะอายุวัฒนะมงคลครบรอบ 95 ปี
ของ องค์หลวงตามหาบัว ญาณสัมปันโน
ณ วัดป่าบ้านตาด จ.อุดรธานี ในวันที่ 12-13 สิงหาคม 2551



ตอนที่ 30 อยู่...เพื่อลูก เพื่อหลาน

คงจะเป็นเพราะหลวงตาเห็นว่าท่านชราภาพมากขึ้น ด้วยความห่วงใยลูกหลานเกรงจะไม่มีหลักใจเป็นที่พึ่งที่เกาะ ทำให้ในระยะหลังมานี้ท่านมักจะเทศน์เตือนอยู่เสมอๆ มิให้เผลอเพลินอยู่ในความประมาท แต่ให้พากันรีบเร่งขวนขวายสร้างคุณงามความดีประดับตนให้มาก ท่านย้ำแล้วย้ำเล่าในเรื่องบาปบุญคุณโทษว่าเป็นของมีจริง นรกสวรรค์พรหมโลกนิพพานมีจริง จงอย่าได้ท้าทาย

คำกล่าวในบทนี้ แสดงถึงความเมตตาของท่านที่อุตส่าห์ยอมเหน็ดเหนื่อยทุ่มเทให้การสงเคราะห์ช่วยเหลือด้านประการต่างๆ แก่โลกตลอดมา ทั้งนี้ก็ด้วยหวังจะให้กุลบุตรสุดท้ายภายหลังได้เห็นแบบฉบับที่ถูกต้อง และพากันยึดถือเป็นคติตัวอย่างอันดีงามแก่ตน ดังนี้

ของฝากประดับโลก

"...เวลามีชีวิตอยู่นี้ เราจะทำความดีให้โลกทั้งหลายได้เป็นคติตัวอย่างอันดีงาม และทำด้วยความเมตตาสงสารต่อโลก เพราะหลังจากนี้แล้ว คือว่าเราตายแล้ว เราจะไม่กลับมาเกิดในโลกนี้อีกต่อไปเป็นตลอดอนันตกาล จะเกิดซ้ำๆ ซากๆ ตายแล้วตายเล่า ตายเกลื่อนตายกล่นวุ่นวายอยู่ตั้งแต่ชาตินี้ย้อนหลังเท่านั้น ตั้งแต่บัดนี้ต่อไปเป็นชาติสุดท้ายของเรา เราจะไม่มาเกิดมาตายอย่างนี้อีกต่อไป เราถึงที่สุดวิมุตติหลุดพ้นแล้วในหัวใจของเรา

ใครจะว่าเราบ้าก็ให้ว่าไป เราไม่ได้พูดออกด้วยความเป็นบ้า เราพูดออกด้วยความเป็นธรรม ขอให้พี่น้องทั้งหลายฟังเป็นธรรม อย่าไปหาว่าหลวงตาบัวนี้โอ้อวดอย่างนั้นอย่างนี้ นั้นละ กิเลสมันเข้าไปย่ำยีตีแหลกไปตีตลาดแล้วนะนั่นน่ะ แล้วแทนที่จะได้ผลประโยชน์จากคติธรรมที่ท่านสอนนี้ กลับไปเป็นข้าศึกต่อตัวเองเผาลนตัวเอง

...ว่าหลวงตาบัวโอ้อวดอย่างนั้นอย่างนี้ โอ้อวดอะไร ของปลอมมียังแสดงออกได้เต็มบ้านเต็มเมืองเต็มโลกเต็มสงสาร จนหาที่อยู่ไม่ได้ เพราะของปลอมทั้งนั้น ของจริงมีแสดงออกมาไม่ได้มีอย่างเหรอ ถ้าอย่างนั้นศาสนาก็หมดแล้วในประเทศไทยเรา พุทธศาสนาไม่มีแล้ว

ผู้รู้ของจริง เห็นของจริง นำของจริงออกมาพูดไม่ได้ ว่าเป็นการโอ้การอวด เห็นไหม กิเลสเอารัดเอาเปรียบ กิเลสเหยียบย่ำทำลายหมด ไม่ให้พูดของจริง ให้พูดแต่ของปลอม เรื่องของกิเลสเต็มบ้านเต็มเมือง พูดได้ทั้งนั้น ถ้าพูดของจริงพูดไม่ได้ นี่เห็นไหมศาสนาจะหมดแล้วนะ ถ้าของจริงพูดออกมาไม่ได้..."

พระอรหันต์ท่านรู้แล้ว จึงประกาศธรรมสอนโลก

"...นี้เรารู้จริงเห็นจริงอย่างนี้ เราพูดตามเรื่องความรู้จริงเห็นจริงอย่างนี้ เหมือนพระพุทธเจ้าท่านตรัสรู้ธรรมแล้ว ท่านรู้จริงเห็นจริง ท่านประกาศธรรมสอนโลกเรื่อยมา ไม่ว่าพระพุทธเจ้าพระองค์ใด ทรงทำแบบเดียวกัน และพระสาวกเหมือนกัน เมื่อรู้ ธรรมแล้วก็ประกาศธรรมสอนโลก คือเอาความจริงออกสอนโลก นี่ก็ความจริงอันเดียวกัน เรานำมาพูดนี้จะผิดไปที่ตรงไหน

แล้วพูดให้ฟังนี้ ก็พูดให้พุทธบริษัท บรรดาที่เป็นลูกศิษย์ลูกหาเสียด้วย ไม่ได้พูดในที่ไหนๆ ที่อื่นๆ ฟัง ซึ่งเขาไม่ได้สนใจในอรรถในธรรม เราพูดให้เลือดเนื้ออันเดียวกันฟัง ด้วยเจตนาหวังดีและความเมตตาอย่างยิ่งล้นพ้นอยู่ในหัวใจของเราแล้วจะผิดไปที่ตรงไหน นอกจากจะเป็นสิริมงคลแก่ผู้ฟังได้ยึดถือไป เพราะฉะนั้น เราถึงทำ ทำให้สนุกมือว่างั้นเลย การทำคุณงามความดี ทำเสียจนกระทั่งทำไม่ได้แล้วเราจะหยุด เราหยุด เราหยุดจริงๆ ด้วย ไม่วกไม่เวียนอีกการเกิดการตาย

ดังบทภาษิตที่พระพุทธเจ้าทรงแสดงแก่เบญจวัคคีย์ทั้งห้า ญาณัญจ ปน เม ทัสสนัง อุทปาทิ ญาณอันล้ำเลิศประเสริฐสุด ความรู้ความเห็นอันล้ำเลิศประเสริฐสุดได้เกิดขึ้นแล้วแก่เราตถาคต นั่นข้อหนึ่ง ส่วนข้อที่สอง อกุปปา เม วิมุตติ ความหลุดพ้นของเราไม่กำเริบอีกแล้ว คือความหลุดพ้นจากทุกข์ไม่มีการกำเริบแล้ว อยมันติมาชาติ นี่เป็นข้อที่สาม ชาตินี้เป็นชาติสุดท้ายของเราตถาคต นัตถิทานิ ปุนัพภโว ตั้งแต่บัดนี้ต่อไป ความเกิดอีกตายอีกทุกข์อีกของเราไม่มีอีกแล้ว..."

เตือน...ลูกหลานเชื่อพระพุทธเจ้าเถิด

"...ตั้งแต่ปีหลวงปู่มั่นมรณภาพมาจนกระทั่งป่านนี้ เราได้ครองธรรมะประเภทนี้มา แต่ไม่เคยแสดงอะไรออกมา มีความจริงยังไงก็ว่าไปตามหลักความจริง แต่นี้มันจะตายทิ้งเปล่าๆ ตายทิ้งเปล่าๆ เกิดประโยชน์อะไร

เราเกิดมาก็เพื่อทำประโยชน์ให้ตนเองและโลก แล้วเวลาจะตายก็จะทำประโยชน์ให้โลกบ้างอย่างนี้ มันเป็นความเสียหายแล้วเหรอ ถ้าเป็นความเสียหายก็ผู้ที่ต้องการความเสียหายก็สร้างเอาๆ เท่านั้นเอง นั่นละ จึงขอให้พี่น้องทั้งหลายจำเอาไว้ เราทำประโยชน์เราทำเป็นที่แน่ใจ เพราะฉะนั้นขอให้ยึดหลักนี้ไว้เป็นหลักใจ หลักความประพฤติหน้าที่การงาน

อย่าลืมศีลลืมทาน อย่าลืมการกุศลตายแล้วจะไปเป็นเปรตเป็นผีนรกอเวจี เพราะความเชื่อกิเลสตัณหา ใช้ไม่ได้นะ ต้องเชื่ออรรถเชื่อธรรม เป็นเป็นลูกศิษย์ตถาคต เชื่อพระพุทธเจ้า พระธรรม พระสงฆ์ ให้เสาะแสวงหาการทำบุญให้ทาน

นรก สวรรค์ พรหมโลก มีสดๆ ร้อนๆ พระพุทธเจ้าตรัสไว้แล้วทุกๆ พระองค์ เป็นแบบเดียวกันหมดไม่มีเคลื่อนคลาดไปไหนเลย บาปมีตามเดิม บุญมีตามเดิม นรกมีตามเดิม สวรรค์มีตามเดิม ใครทำบุญทำบาปก็ไปตามสถานที่ที่ตนทำไว้ทั้งดีทั้งชั่วนั้นแล เพราะฉะนั้น จึงให้เลือกเฟ้นเสียตั้งแต่บัดนี้ เวลาตายแล้วจึงนิมนต์พระมากุสลา ธัมมา กุสลา ธัมมา ยายนี้ตายแล้วไปไหนมา อย่ามานิมนต์หลวงตาบัวนะ เราเอาค้อนปาอย่าว่าไม่บอกนะ..."

พิธีตาย...ลาโลก

"...เพราะเหตุไรจึงว่างั้น หลวงตาบัวตายนี้บอกชัดๆ เลยว่าไม่ให้นิมนต์พระมากุสลา ธัมมา เราสร้างมาพอแล้วทุกสิ่งทุกอย่างเต็มหัวใจของเรา เราไม่สงสัยแล้วในธรรมของพระพุทธเจ้า ไม่ว่าจะพระไตรปิฎก ไม่ว่าจะธรรมความจริงทั่วไตรโลกธาตุ เราบรรจุเข้าในหัวใจนี้หมดแล้ว เราไม่ได้สงสัยแล้ว เพราะฉะนั้น จึงไม่จำเป็นจะต้องนิมนต์พระมา กุสลา ธัมมา กุสลา ธัมมา หลวงตาบัวตายแล้วไปไหนมา ไปสันพร้า (สันมีด) นี่เราจะว่าอย่างนั้น เราไม่ว่าไปไหนละ

ถ้าสร้างให้เต็มเม็ดเต็มหน่วยแล้ว สงสัยไปไหน แล้วสงสัยอยู่สอนคนไปหาอะไร ถ้าเรายังสงสัยอรรถธรรมอยู่แล้วสอนคนเต็มเม็ดเต็มหน่วยได้ยังไง นี่เราสอนคนเต็มเม็ดเต็มหน่วยเต็มหัวใจเรานะ สอนด้วยความแน่ใจไม่ได้สงสัยเลย และตายแล้วจะไปสงสัยตัวเรายังไง นี่อันหนึ่ง

อันที่สองนี้ ให้เป็นตามอัธยาศัยของเราเอง เวลาเราจะตายจริงๆ เราเข้าห้องปั๊บนี้เป็นตามอัธยาศัยของเรานะ เราอยู่คนเดียวถึงวาระที่จะตายแล้ว เราเข้าห้องปั๊บ จะทำวิธีไหนก็ตาม จะนอนก็ตาม จะนั่งก็ตาม ทำพิธีตายลาโลกสงสาร ลาการไม่กลับมาอีก ดีดผึงเดียวเท่านั้นไปเลย..."

เมรุเผา...

"...ศพนี้ ขออย่างเดียวอย่าเอาไปประกาศเป็นปลาเน่าขายให้แมลงวันแมลงวน มันกวนยุ่งนะ ศพหลวงตาบัวตายนี้จะเป็นปลาเน่าประกาศขายลั่นโลกอยู่นะ...มันจะประกาศลั่นไปหมดนั่นละ มันไม่ได้เสาะแสวงหาบุญหากุศล มันหาแต่เงิน หาแต่ไอ้หลังลาย แล้วหลวงตาบัวก็เลยกลายเป็นสินค้าไอ้หลังลายไปเลย แหลกไปหมด

อันนี้เราขอจากพี่น้องทั้งหลายชาวพุทธของเราไว้ตั้งแต่บัดนี้ อย่าให้มี อย่าให้เป็น ให้ทำกันด้วยความสงบเสงี่ยม ตายแล้ว 2-3 คนขึ้นไปเผาเท่านั้นพอแล้ว อย่ายุ่มย่ามๆ อย่าเอายศถาบรรดาศักดิ์มาเหยียบย่ำทำลายธรรมของพระพุทธเจ้า ให้เป็นธรรมล้วนๆ ทำอะไรให้เป็นธรรมล้วนๆ นั้นเป็นที่พอใจของเรา เพราะพระพุทธเจ้าทรงชมเชยอย่างนั้น..."

ช่วยโลก...แม้วาระสุดท้าย

"...เรื่องศพหลวงตาบัวนี้เรียกว่าเด็ดขาดเลยนะ คอยแต่เวลาจะเผาหลวงตาบัวเท่านั้นแหละ เรื่องจะก้าวเดินตามนี้ทั้งหมด แยกเป็นอย่างอื่นไปไม่ได้ ที่ว่าเงินที่ท่านผู้มาบริจาคทั่วประเทศไทยของเราที่มานี้ เราจะนำเงินหมดทุกบาททุกสตางค์ ยกให้คลังหลวงของเราหมดเป็นวาระสุดท้ายของเราที่ช่วยโลกอย่างเต็มหัวใจ

อันนี้เป็นคำพูดของเราที่เด็ดขาดแล้ว ไม่มีเคลื่อนไหว ไม่มีเปลี่ยนแปลงอะไรเลยละ เรียกว่าคำพูดที่เด็ดขาด ตายแล้วต้องเป็นอย่างนั้นจริงๆ เป็นอย่างอื่นไปไม่ได้ว่างั้นเถอะ

เด็ดตลอด จนกระทั่งตายแล้วศพยังเด็ดอีก เด็ดวางลวดลายไว้วาระสุดท้ายแล้ว เพราะตายไปตอนนี้ เราจะไม่มาเกิดอีกแล้ว เราบอกตรงๆ เลย จะเป็นวาระสุดท้ายของเราที่ตายกองกันในวัฏจักรนี้กี่กัปกี่กัลป์มา เราเคยตายมาแล้วกี่กัปกี่กัลป์ แล้วกี่ภพกี่ชาติ คราวนี้เลิกกัน เพราะฉะนั้นจึงอุ้มชาติไทยของเราเต็มสติกำลังความสามารถ

จากนั้น สุดวิสัยแล้วของธาตุขันธ์ที่นำมาใช้เพื่อประโยชน์แก่โลกนี้ เป็นอันว่าดีดปั๊บทันที ดีดแล้วก็เท่านั้นไปเลย คำว่า นิพพานธาตุ หรือ ธรรมธาตุ เราไม่ถามใครแล้ว..."

"ดอกบัว" ผู้เหนือโคลนตม

ท่านอาจารย์มั่น ภูริทัตโต ปรมาจารย์ฝ่ายกรรมฐานแห่งยุคปัจจุบัน และเป็นพ่อแม่ครูบาอาจารย์ของหลวงตามหาบัว ญาณสัมปันโน ท่านอาจารย์มั่นได้เคยพรรณนาคุณชาติของคำว่า "บัว" ไว้ว่า

"ธรรมชาติของดีทั้งหลาย ย่อมเกิดมาแต่ของไม่ดี มีอุปมาดั่งดอกปทุมชาติอันสวยๆ งามๆ ก็เกิดขึ้นมาจากโคลนตม อันเป็นของสกปรกปฏิกูลน่าเกลียด แต่ว่าดอกบัวนั้นเมื่อขึ้นพ้นโคลนตมแล้ว ย่อมเป็นสิ่งที่สะอาด เป็นที่ทัดทรงของพระราชา อำมาตย์อุปราช และเสนาบดี เป็นต้น และดอกบัวนั้นมิได้กลับคืนไปยังโคลนตมนั้นเลย"

รูปภาพ

รูปภาพ
ภาพจากงานมุทิตาสักการะอายุวัฒนะมงคลครบรอบ 95 ปี
ของ องค์หลวงตามหาบัว ญาณสัมปันโน
ณ วัดป่าบ้านตาด จ.อุดรธานี ในวันที่ 12-13 สิงหาคม 2551



(มีต่อ 41)

.....................................................
ทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว เป็นกฎตายตัว


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 24 ธ.ค. 2010, 11:49 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
ผู้จัดการ
ผู้จัดการ
ลงทะเบียนเมื่อ: 27 มี.ค. 2006, 17:34
โพสต์: 7781

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว www


รูปภาพ
พระประธานและรูปถ่ายของพ่อแม่ครูบาอาจารย์พระกรรมฐาน
ภายในศาลาการเปรียญวัดป่าบ้านตาด อ.เมือง จ.อุดรธานี



ตอนที่ 31 สภาพวัด

ณ ตำบลบ้านตาด อำเภอเมือง จังหวัดอุดรธานี บนพื้นที่กำแพงล้อมรอบจำนวน 163 ไร่ 22 ตารางวา ห่างจากตัวเมืองอุดรธานีไปทางทิศใต้ประมาณ 16 กิโลเมตร สภาพพื้นที่เป็นที่ราบ รอบๆ เป็นที่อุดมสมบูรณ์มีน้ำดี ทำนาได้ผลดีกว่าที่อื่น สภาพภายในเป็นสถานที่ปฏิบัติธรรมอันสงบเรียบง่าย

ด้วยเหตุที่มีกำแพงล้อมรอบบริเวณอย่างมิดชิด จึงรักษาต้นไม้และสัตว์ป่าให้รอดพ้นจากการทำลายหรือการลักลอบเข้ามาฆ่าสัตว์ในบริเวณได้ บรรยากาศในเขตอภัยทานแห่งนี้ จึงร่มครึ้มไปด้วยต้นไม้สูงใหญ่นานาพันธุ์ และเป็นที่พึ่งพิงอันอบอุ่นและปลอดภัยแก่สัตว์น้อยใหญ่หลายชนิด อาทิเช่น ไก่ป่า กระรอก กระแต แย้ และนก เป็นต้น ที่นั้นคือ “วัดป่าบ้านตาด”

เมื่อก้าวย่างเข้าสู่บริเวณวัดจะสัมผัสกับความร่มรื่นชุ่มตาเย็นใจกับธรรมชาติของป่า ได้ยินเสียงของแมลงมีปีกหมู่ใหญ่ร้องเสียงก้องกังวานสนั่นไพรในบางฤดูกาล ปะปนด้วยเสียงขันของไก่ป่าซึ่งออกเที่ยวหากินอย่างแข็งขันชนิดไม่มีวันหยุดงานเหมือนมนุษย์เรา

ครั้นเดินต่ออีกประมาณ 50 เมตร จะพบ ศาลาการเปรียญอเนกประสงค์ ซึ่งเป็นศาลาไม้เนื้อแข็งรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้าหลังใหญ่และมีเพียงหลังเดียวในวัดนี้ เดิมทีเป็นศาลาชั้นเดียวยกพื้นเตี้ย แต่ภายหลังพื้นศาลาถูกยกให้สูงขึ้นเพื่อให้ใช้ประโยชน์ได้มากขึ้น

ด้านบนของศาลานั้นเป็นที่ประดิษฐานของพระพุทธรูปองค์ใหญ่ที่เป็นพระประธานของวัด ชั้นต่างระดับที่ใช้สำหรับตั้งพระพุทธรูป บนชั้นมีรูปถ่ายของครูบาอาจารย์ซึ่งเป็นศิษย์พระอาจารย์มั่น ดังนี้

หลวงปู่ขาว อนาลโย วัดถ้ำกลองเพล, หลวงปู่แหวน สุจิณโณ วัดดอยแม่ปั๊ง, หลวงปู่ฝั้น อาจาโร วัดป่าอุดมสมพร และท่านพ่อลี ธัมมธโร วัดอโศการาม

ด้านหลังพระพุทธรูป บนฝาผนังมีรูปถ่ายของหลวงปู่เสาร์ กันตสีโล โดยรูปถ่ายของท่านอาจารย์มั่น ภูริทัตโต อยู่ข้างขวา สำหรับข้างซ้ายของพระพุทธรูปมีพระรูปของสมเด็จพระสังฆราชเจ้า กรมหลวงวชิรญาณวงศ์ (หม่อมราชวงศ์ชื่น นภวงศ์ สุจิตฺโต) และรูปถ่ายของท่านเจ้าคุณธรรมเจดีย์ (จูม พันธุโล)

ส่วนตู้ด้านขวาของพระพุทธรูปนั้น เป็นที่ประดิษฐานอัฐิธาตุของท่านอาจารย์มั่น ภูริทัตโต รวมทั้งอัฐิธาตุของครูบาอาจารย์องค์อื่นๆ

หลวงตาท่านใช้สถานที่ชั้นบนของศาลาแห่งนี้ แสดงธรรมแก่พระภิกษุสามเณรในวัด ตลอดจนเป็นที่ประชุมทำสังฆกรรมร่วมกัน เช่น สวดพระปาฏิโมกข์ อธิษฐานเข้าพรรษา สวดปวารณา และกรานกฐิน เป็นต้น

ด้านล่างของศาลานั้นใช้เป็นที่สำหรับฉันภัตตาหารเช้า นอกจากนั้นหลวงตายังใช้เป็นที่แสดงธรรมเทศนาและปฏิสันถารกับศรัทธาฆราวาสญาติโยมที่มาจากทุกสารทิศ อย่างไม่ขาดสายไม่เว้นแต่ละวัน

รูปภาพ

รูปภาพ
วัดป่าบ้านตาด อ.เมือง จ.อุดรธานี (ในปัจจุบัน)


กุฏิที่พักของพระเณร

ที่พักของพระภิกษุสามเณรแต่ละรูป เป็นร้าน (แคร่) เรียบง่ายคล้ายกระต๊อบเล็กๆ พอแก่การบังแดดฝนหรือลม และเพื่อป้องกันการรบกวนจากสัตว์เลื่อยคลานหรือกันความชื้นจากพื้นดินและอื่นๆ จึงยกร้าน (แคร่) ให้สูงขึ้นจากพื้นประมาณ 1-1.50 เมตร

ร้าน (แคร่) มีขนาดเพียงพอสำหรับนอนคนเดียว มีหลังคาสังกะสี ผนังทั้ง 4 ด้านใช้ผ้าแป้งดิบหรือจีวรเก่าๆ ขึงแทนฝาเพื่อกันลม กันฝน และใช้มุ้งกลดกันยุง ภายในใช้เก็บบริขารที่จำเป็นของพระภิกษุสามเณร เช่น บาตร กลด ไตรจีวร เสื่อ ผ้าห่ม ตะเกียง เทียนไข หนังสือธรรมะ และของใช้จำเป็นอื่นๆ

ด้านหัวนอนจะมีพระพุทธรูปหรือรูปถ่ายของครูบาอาจารย์ติดไว้ เพื่อกราบไหว้บูชาเป็นอนุสติและเป็นกำลังใจในการบำเพ็ญภาวนา รอบๆ ร้าน (แคร่) มีบริเวณพอเหมาะ ไม่กว้างจนเกินไป

ทุกๆ ร้าน (แคร่) มีทางเดินจงกรมอย่างน้อย 1 สายอยู่ใกล้บริเวณ และมักทำไว้ใต้ร่มไม้ใหญ่ ทางจงกรมมีขนาดกว้างประมาณ 1 เมตร ยาวประมาณ 25-30 ก้าวเดินปกติ ในยามค่ำคืนขณะเดินจงกรมจะใช้โคมเทียนจุดสว่างพอมองเห็นทาง ร้านเหล่านี้กระจายอยู่ทั่วบริเวณภายในวัด แต่ละร้านจะอยู่อย่างโดดเดี่ยวเพื่อให้มองไม่เห็นกัน

ทางที่จะเข้าไปถึงร้านเป็นทางแคบคดเคี้ยวเลี้ยวลด ซึ่งทำให้มองเห็นร้านได้ยาก พระเณรที่เข้าพักในร้านจึงเหมือนเข้าไปอยู่อีกโลกหนึ่ง ท่ามกลางป่าลึกเพียงองค์เดียว อันเป็นโลกแห่งความสงบร่มเย็น ไกลจากเสียงรบกวนใดๆ ทั้งปวง จึงสัปปายะ สะดวกในการบำเพ็ญสมณธรรม

สำหรับกุฏิที่มีฝาผนังทำด้วยไม้ถาวรมีประมาณ 10 กว่าหลัง โดยมากเป็นกุฏิของพระเถระ พระภิกษุสูงอายุ หรือกุฏิรวมของฆราวาสที่มาพักภาวนาชั่วคราวช่วงสั้นๆ ซึ่งมีแนวเขตจัดแยกออกจากกันระหว่างพระภิกษุสามเณร ฆราวาสชายและหญิง อย่างเป็นระเบียบ

รูปภาพ
ทางเดินจงกรมของหลวงตามหาบัว ญาณสัมปันโน

รูปภาพ
กุฏิหลังใหม่ของหลวงตามหาบัว ญาณสัมปันโน ณ วัดป่าบ้านตาด
สร้างเสร็จถวายแด่องค์หลวงตาเมื่อวันที่ 28 เมษายน 2551



(มีต่อ 42)

.....................................................
ทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว เป็นกฎตายตัว


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 24 ธ.ค. 2010, 11:51 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
ผู้จัดการ
ผู้จัดการ
ลงทะเบียนเมื่อ: 27 มี.ค. 2006, 17:34
โพสต์: 7781

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว www


รูปภาพ

ตอนที่ 32 กิจวัตรประจำวันของพระเณร (ตอนจบ)

กิจวัตรหลักประจำวันของพระเณรก็คือ การนั่งสมาธิภาวนา เดินจงกรม เพื่อฝึกฝนสติปัญญาและชำระกิเลสตัวร้อนรุ่มกระวนกระวายอยู่ภายในจิตใจให้เหือดแห้งไป ดังนั้น โดยปกติพระภิกษุสามเณรในวัดจึงไม่รับกิจนิมนต์ไปฉันในที่ใดๆ นอกวัด เพื่อให้มีเวลาอย่างเต็มเม็ดเต็มหน่วยด้วยการบำเพ็ญเพียรภาวนาแต่เพียงอย่างเดียว

ปัจจุบัน (ปี พ.ศ. 2541) วัดป่าบ้านตาด มีพระเณรอยู่จำพรรษา 47 รูป ในจำนวนนี้ มีพระภิกษุชาวต่างประเทศ 3 รูป นอกพรรษามักมีพระภิกษุสามเณรอาคันตุกะเข้ามาพักชั่วคราว เพื่อศึกษาเทศนาธรรมและข้อวัตรปฏิบัติ

ในยามเช้า พระภิกษุผู้มีหน้าที่จะจัดอาสนะถวายหลวงตาด้วยความละเอียดประณีตและเคารพ ช่วงเช้ามืดก่อนบิณฑบาตจะเป็นการเตรียมสถานที่สำหรับฉันจังหัน โดยทั้งพระและเณรต่างช่วยกันทำความสะอาด จัดอาสนะ กระโถน ขัดถูพื้นศาลาด้วยกาบมะพร้าว ปัดกวาดศาลาและบริเวณรอบๆ อย่างสามัคคีพร้อมเพรียง

งานการทุกสิ่งทุกอย่าง ท่านจะพยายามทำอย่างขันแข็ง มีสติ และเป็นระเบียบเรียบร้อยตามที่ครูบาอาจารย์ท่านสอนเน้นอยู่เสมอตลอดมา

พอได้อรุณ วันใดที่ท้องฟ้าดูเป็นปกติ ไม่มีวี่แววว่าฝนจะตก ท่านจะครองจีวรซ้อนสังฆาฏิ แล้วออกบิณฑบาตโดยพร้อมเพรียงกัน เดินมุ่งหน้าไปทางหมู่บ้านตาด ระยะทางไปกลับประมาณ 3-4 กิโลเมตร ขากลับแวะรับบาตรจากญาติโยมที่มาจากในเมืองและต่างจังหวัดในบริเวณหน้าวัดอีกครั้งหนึ่ง

เมื่อเสร็จจากบิณฑบาต พระเณรและฆราวาสต่างช่วยกันจัดอาหารหวานคาวเป็นหมวดหมู่ใส่ถาดไว้ เพื่อให้ญาติโยมทั้งที่มาพักปฏิบัติธรรมและที่มาทำบุญตอนเช้าได้รับประทานหลังพระฉันเสร็จแล้ว

เมื่อพระเณรจัดอาหารเสร็จเรียบร้อยแล้ว จากนี้หลวงตาจะอนุโมทนาให้พรเสร็จแล้วพระเณรท่านจะพิจารณาอาหารในบาตรก่อนด้วย ปฏิสังขา โยนิโสฯ เสร็จแล้วฉันในบาตรด้วยอาการสำรวม เงียบกริบเหมือนไม่มีใครรับประทานอาหารอยู่ในบริเวณนั้น

เสร็จการฉันเช้าแล้ว ผู้มาทำบุญเช้าพร้อมใจกันฟังเทศน์จากหลวงตา หลังฟังเทศน์เสร็จญาติโยมพากันกลับ

สำหรับพระเณร ต่างองค์ต่างกลับร้าน (แคร่) ที่พักปฏิบัติธรรม มีการเดินจงกรม นั่งสมาธิภาวนาตลอดวัน อาจมีการพักผ่อนบ้าง แล้วแต่ความอุตสาหะพยายามของแต่ละองค์

ช่วงเวลาบ่าย เป็นเวลาที่พระมาร่วมกันฉันน้ำร้อนหรือน้ำปานะที่โรงไฟหรือโรงต้มน้ำร้อนแค่ช่วงเวลาสั้นๆ สัก 15-30 นาที อันเป็นการพักเหนื่อยจากการภาวนา เสร็จจากนี้ก็แยกย้ายเข้าที่ภาวนาต่อ จนถึงในช่วงประมาณบ่าย 3 โมง พระเณรพร้อมเพรียงกันออกมาทำข้อวัตรปัดกวาดร้านและบริเวณทางเดิน ตลอดถึงรอบศาลา จากนั้นขัดถูทำความสะอาดพื้นศาลา เติมน้ำล้างเท้าบริเวณรอบศาลาและในห้องน้ำห้องส้วมให้เต็ม

ดำเนินตามปฏิปทาของหลวงตา

หลวงตาท่านดูแลรักษาศิษย์พระเณรของท่านมาก ท่านพยายามรักษาสภาพวัดให้เหมาะสมสะดวกต่อการบำเพ็ญเพียร ท่านไม่ให้พระเณรต้องมีกิจนิมนต์หรือการงานอย่างอื่นๆ อันเป็นการขัดต่องานจิตตภาวนา ซึ่งเป็นงานหลัก ท่านทะนุถนอมศิษย์พระเณรไม่ให้มีมลทิน ไม่ให้ข้องแวะกับคนภายนอกโดยไม่จำเป็น วิทยุไม่ให้ฟัง หนังสือพิมพ์ไม่ให้อ่าน ไม่นำไฟฟ้าเข้ามาในวัด เครื่องใช้ไฟฟ้าจึงมีไม่ได้

หลวงตาท่านสอนเสมอว่า อย่าให้มีวัตถุหรูๆ หราๆ แต่จิตใจแห้งผาก ให้หรูหราด้วยคุณธรรมความดี วัตถุสิ่งของพอมีพออาศัยก็พอเพียงแล้วคนเรา ร่างกายมันไม่ต้องการอะไรมากหรอก แต่หัวใจนี่ซิมันไม่รู้จักพอ จึงทุกข์ร้อนกันทั่วแผ่นดิน เศรษฐีผู้มีมากๆ นั่นแหละ ตัวหันตทุกข์

ถ้ามีธรรมในหัวใจบ้างแล้ว แม้จะจนอยู่บ้างก็พอเป็นพอไป คนเรามันทุกข์เพราะหัวใจไม่รู้จักพอต่างหาก

ด้วยเหตุนี้ หลวงตาท่านจึงสอนพระเณรเสมอ เรื่องความเรียบง่าย มักน้อยสันโดษ การใช้สอยจตุปัจจัยไทยทานที่ศรัทธาญาติโยมถวายมานั้น ให้ใช้ด้วยความประหยัดตามเหตุผลความจำเป็นเท่านั้น

ที่นี่ไม่มี "ป้ายชื่อ"

หลายท่านที่ตั้งใจจะมากราบหลวงตาที่ "วัดป่าบ้านตาด" อาจจะแปลกใจหากไม่พบป้ายชื่อวัด แต่นั่นก็อาจจะทำให้หลายคนได้นึกคิดจากปริศนาธรรมนี้ว่า

...กิเลสก็ไม่เห็นมีป้ายชื่อ แต่มันสามารถสร้างความทุกข์ภายในใจแก่เราได้ บางครั้งจนถึงกับน้ำตาร่วง

ในทางตรงกันข้าม สติปัญญาที่ใช้ในการถอดถอนกิเลสก็ไม่ได้มีป้ายชื่อ หากผู้ใดมีความพากเพียรเจริญสติปัญญาให้สูงขึ้นๆ แล้ว ย่อมสามารถก้าวพ้นจากทุกข์ได้เป็นลำดับๆ ไปเช่นเดียวกัน...

ทำให้หลายท่านพอจะรู้ว่าหลวงตาท่านสอนอะไร ตั้งแต่เริ่มก้าวเข้ามาในวัดนี้...

รูปภาพ

รูปภาพ


>>>>> จบบริบูรณ์ >>>>>


...................................................................

♥ คัดลอกมาจาก...ธรรมะกับชีวิต ผู้จัดการออนไลน์
http://www.manager.co.th/Dhamma/
♥ ขอกราบขอบพระคุณที่มาของรูปภาพทุกแหล่ง

.....................................................
ทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว เป็นกฎตายตัว


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 24 ธ.ค. 2010, 11:52 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
ผู้จัดการ
ผู้จัดการ
ลงทะเบียนเมื่อ: 27 มี.ค. 2006, 17:34
โพสต์: 7781

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว www


รูปภาพ

ประวัติและปฏิปทา (โดยย่อ)
หลวงตามหาบัว ญาณสัมปันโน

วัดป่าบ้านตาด
ต.บ้านตาด อ.เมือง จ.อุดรธานี



๏ ชาติกำเนิดและชีวิตปฐมวัย

ท่านอาจารย์พระมหาบัว ญาณสัมปันโน หรือ “หลวงตามหาบัว” ถือกำเนิดในตระกูล “โลหิตดี” เมื่อวันที่ 12 เดือนสิงหาคม พุทธศักราช 2457 ณ หมู่บ้านตาด ตำบลบ้านตาด อำเภอเมือง จังหวัดอุดรธานี บิดาชื่อนายทองดี มารดาชื่อ นางแพง มีพี่น้องร่วมบิดามารดาเดียวกันทั้งหมด 12 คน ครอบครัวมีอาชีพทำนา ในวัยเด็กท่านได้รับการศึกษาชั้นประถมปีที่ 3 ซึ่งเป็นการศึกษาภาคบังคับชั้นสูงสุดในสมัยนั้น

ในตอนเป็นฆราวาส ท่านเป็นผู้มีอุปนิสัยพูดจริง ทำจริง รักคำสัตย์ หนักแน่นในเหตุผล อุปนิสัยอันนี้เองที่ช่วยให้การปฏิบัติธรรมของท่านเป็นผลสำเร็จในเวลาต่อมา การดำรงชีวิตในเบื้องต้นท่านได้เป็นหัวเรี่ยวหัวแรงของครอบครัว เป็นที่ไว้เนื้อเชื่อใจในกิจการงานทั้งปวง จนบิดามารดาหวังฝากผีฝากไข้กับท่าน ตามประเพณีของไทยเรานั้นเมื่อลูกชายมีอายุครบบวชก็มักจะให้บวชเรียนเสียก่อน ก่อนที่จะมีครอบครัวครองเรือนต่อไป


๏ ชีวิตสมณะ การแสวงหาธรรม และปฏิปทา

เมื่อนายบัว โลหิตดี มีอายุได้ 21 ปี บิดามารดาได้ขอร้องให้เขาได้บวชเรียนเพื่อเป็นการทดแทนบุญคุณตามประเพณี ในที่สุดท่านก็ตัดสินใจบวช เมื่อวันที่ 12 พฤษภาคม พ.ศ. 2477 ณ วัดโยธานิมิตร อำเภอเมือง จังหวัดอุดรธานี โดยมีพระธรรมเจดีย์ (จูม พนฺธุโล) เมื่อครั้งดำรงสมณศักดิ์ที่พระราชเวที เป็นพระอุปัชฌาย์ ได้รับนามฉายาว่า “ญาณสัมปันโน” ท่านตั้งใจไว้ว่าจะบวชพอเป็นประเพณีเท่านั้น ไม่ได้ตั้งใจว่าจะบวชนานเท่านี้

ครั้นบวชแล้ว พระภิกษุบัว ญาณสัมปันโน ก็ได้ศึกษาพระพุทธประวัติและประวัติพระอรหันตสาวก จนเกิดความเลื่อมในศรัทธาในพระพุทธศาสนาอย่างจริงจัง ท่านจึงตั้งใจว่าจะศึกษาเล่าเรียนพระปริยัติธรรมเสียก่อน เพราะถ้าไม่ศึกษาแล้วจะไม่เข้าใจวิธีปฏิบัติได้อย่างถูกต้อง โดยตั้งความหวังไว้ว่าจะเรียนพระปริยัติธรรมทั้งแผนกนักธรรมและแผนกบาลี สำหรับแผนกบาลีนั้น พระภิกษุบัวท่านตั้งใจว่าจะสอบให้ได้เพียงแค่เปรียญธรรม 3 ประโยคก็พอ ทั้งนี้เพื่อเป็นกุญแจเปิดตู้พระไตรปิฎก และเป็นอุบายเข้าถึงการปฏิบัติธรรมได้อย่างถูกต้อง แต่จะไม่ให้เกินเลยเปรียญธรรม 3 ประโยคไป เพราะจะทำให้เหลิงและลืมตัว

ในระหว่างที่ศึกษาเล่าเรียนพระธรรมวินัยอยู่นั้น พระภิกษุบัว ญาณสัมปันโน ก็ได้ฝึกปฏิบัติสมาธิภาวนาไปด้วย การศึกษาเล่าเรียนพระปริยัติธรรมก็สอบไล่ได้บ้าง ตกบ้าง แต่ในที่สุดความปรารถนาของพระภิกษุบัวก็สำเร็จเป็นจริง เมื่อท่านสามารถสอบไล่ได้นักธรรมชั้นเอก พร้อมกับเปรียญธรรม 3 ประโยคในปีเดียวกันนั้น รวมเวลาที่ศึกษาเล่าเรียนพระปริยัติธรรมเป็นเวลาทั้งหมด 7 ปี

ครั้นสอบไล่ได้เปรียญธรรม 3 ประโยค พระมหาบัวก็มุ่งออกปฏิบัติด้านเดียว จิตใจของท่านจึงมุ่งสู่หลวงปู่มั่น ภูริทตฺโต ตั้งแต่สมัยที่ท่านเป็นเด็กจนกระทั่งท่านอุปสมบทแล้ว ชื่อเสียงของหลวงปู่มั่นก็ยิ่งฟุ้งขจรไปไกล ในตอนที่พระมหาบัวจำพรรษาอยู่ที่วัดเจดีย์หลวง ตำบลพระสิงห์ อำเภอเมือง จังหวัดเชียงใหม่ ได้พบปะพูดคุยกับครูบาอาจารย์ที่เคยอยู่กับหลวงปู่มั่น มาเล่าให้ฟังถึงปฏิปทาและข้อวัตรปฏิบัติของหลวงปู่มั่นว่า หลวงปู่มั่นไม่ใช่พระธรรมดา หากแต่เป็นพระอริยะผู้ประพฤติดี ปฏิบัติชอบ เมื่อได้ฟังดังนั้น จิตใจของพระมหาบัวก็ยิ่งฝังลึกลงในการที่จะปฏิบัติตนให้พ้นทุกข์ และอยากจะฝากตัวเป็นศิษย์ของหลวงปู่มั่น ด้วยมั่นใจว่ามรรคผลนิพพานยังมีอยู่

ในพรรษาต่อมา (คือพรรษาที่ 8) พระมหาบัวได้ไปจำพรรษาอยู่ที่อำเภอจักราช จังหวัดนครราชสีมา เพื่อฝึกปฏิบัติสมาธิภาวนาจนจิตเข้าถึงความสงบ ท่านเร่งทำความเพียรอย่างหนักทั้งนั่งสมาธิทั้งเดินจงกรม ในเวลาต่อมาพระผู้ใหญ่จะให้พระมหาบัวเดินทางเข้าไปศึกษาต่อในกรุงเทพฯ ท่านเห็นว่าจะผิดกับปณิธานและเสียคำสัตย์ที่เคยตั้งใจว่าจะเรียนให้ได้เพียงแค่เปรียญธรรม 3 ประโยค ท่านจึงหนีกกลับมาอยู่บ้านเดิมคือบ้านตาด ณ ที่นี่แทนที่ท่านจะได้เจริญสมาธิภาวนาให้สูงยิ่งๆ ขึ้นไป กลับปรากฏว่าจิตใจไม่ค่อยสงบเพราะมัวแต่ทำกลดไม่เสร็จสิ้น

พระมหาบัวคิดว่า ถ้าอยู่บ้านเกิดต่อไปคงไม่ดีแน่ มีแต่จะขาดทุน จึงเดินทางหนีจากบ้านตาด มุ่งหน้าไปหาหลวงปู่มั่น ภูริทตฺโต ซึ่งตอนนั้นจำพรรษาอยู่ที่วัดป่าโนนนิเวศน์ ตำบลหมากแข้ง อำเภอเมือง จังหวัดอุดรธานี แต่ก็ไม่ได้พบหลวงปู่มั่น เพราะท่านได้รับนิมนต์ไปจังหวัดสกลนครเสียก่อน เมื่อตามไปไม่ทัน พระมหาบัวจึงไปพักอาศัยอยู่ที่วัดทุ่งสว่าง ตำบลในเมือง อำเภอเมือง จังหวัดหนองคาย เป็นเวลา ๓ เดือนกว่า พอถึงเดือนพฤษภาคม พ.ศ. 2485 ก็ออกเดินทางจากจังหวัดหนองคายไปจังหวัดสกลนคร ได้พบหลวงปู่มั่นที่บ้านโคก ตำบลตองโขบ อำเภอเมือง จังหวัดสกลนคร พอไปถึงก็พบหลวงปู่มั่นกำลังเดินจงกรมอยู่ในเวลาโพล้เพล้

เมื่อได้พบหลวงปู่มั่น ภูริทัตโต แล้วก็สมใจนึกทุกอย่าง เพราะได้ฟังธรรมจากหลวงปู่มั่นเป็นครั้งแรก ก็เกิดศรัทธาปสาทะขึ้นมาทันที และดูเหมือนว่าหลวงปู่มั่นจะทราบเรื่องราวทุกอย่างของพระมหาบัวหมดแล้ว หลวงปู่มั่นได้กล่าวหลักธรรมยืนยันว่า มรรคผลนิพพานเป็นสิ่งที่เป็นไปได้เสมอและให้ผลแก่ผู้ปฏิบัติในปัจจุบันทันที จนพระมหาบัวหมดความสงสัย นับตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา ท่านได้มอบตัวเป็นศิษย์และอยู่ศึกษาอบรมสมาธิภาวนาในสำนักของหลวงปู่มั่นเรื่อยมา ด้วยความจริงใจและเด็ดเดี่ยว พระมหาบัวได้ฝึกปฏิบัติกรรมฐานในป่าอันสงัด ห่างไกลจากบ้านเรือนของผู้คน โดยตั้งปณิธานไว้ว่า จะเป็นก็เป็น จะตายก็ตาย จิตมุ่งอยู่แต่สมาธิภาวนาเท่านั้น

ขณะที่ศึกษาอบรมอยู่กับหลวงปู่มั่นนั้น พระมหาบัวก็ได้เรียนรู้ข้อวัตรปฏิบัติอันเป็นเครื่องขูดเกลากิเลส ตลอดถึงจิตตภาวนาที่หลวงปู่มั่นได้พาดำเนินไปด้วยความถูกต้องดีงามตามหลักพระธรรมวินัย ซึ่งท่านได้สืบทอดข้อวัตรปฏิบัติเรื่อยมาและได้ใช้เป็นแนวทางในการอบรมสั่งสอนพระภิกษุสามเณร และอุบาสกอุบาสิกาในเวลาต่อมา

ด้วยเหตุที่ท่านเคารพเทิดทูนหลวงปู่มั่นอย่างสุดหัวใจ โดยเรียกหลวงปู่มั่นว่า “พ่อแม่ครูบาอาจารย์” เพราะหลวงปู่มั่นเปรียบเสมือนพ่อกับแม่ และเป็นครูเป็นอาจารย์ในองค์เดียวกันหมด ด้วยคารวธรรมอันสูงส่งนี้เอง จึงเป็นพลังใจให้พระอาจารย์มหาบัวได้เขียนหนังสือ “ประวัติหลวงปู่มั่น” เพื่อเผยแพร่ข้อวัตรปฏิบัติ ตลอดจนชื่อเสียงเกียรติคุณให้อนุชนรุ่นหลังได้ทราบเป็นคติ เป็นการบูชาคุณท่าน และยังได้เขียนหนังสือเกี่ยวกับภาคปฏิบัติธรรมกรรมฐานอีกหลายเล่ม รวมทั้งการบันทึกเทปธรรมะเป็นการเผยแผ่อีกด้วย

ท่านอาจารย์พระมหาบัว ญาณสัมปันโน ได้อยู่จำพรรษาที่วัดบ้านโคก ตำบลตองโขบ อำเภอเมือง จังหวัดสกลนคร กับหลวงปู่มั่นเป็นเวลา 2 พรรษา แล้วติดตามหลวงปู่มั่นไปจำพรรษาที่วัดป่าภูริทัตตถิราวาส (วัดป่าบ้านหนองผือ) บ้านหนองผือ ตำบลนาใน อำเภอพรรณานิคม จังหวัดสกลนคร อีก 6 พรรษา รวมเวลาที่อยู่กับหลวงปู่มั่นทั้งหมด 8 พรรษา จวบจนกระทั่งหลวงปู่มั่นได้ถึงแก่มรณภาพในปี พ.ศ. 2492

ครั้นเสด็จงานพระราชทานเพลิงศพหลวงปู่มั่น ภูริทัตโต แล้ว ท่านอาจารย์พระมหาบัวก็ได้หลีกเร้นเข้าป่าเขา เพื่อแสวงหาสถานที่อันสงัดวิเวกมุ่งบำเพ็ญภาวนาแต่เพียงรูปเดียว แต่หมู่คณะพระสงฆ์สามเณรก็ขอติดตามไปด้วยเพื่อหวังให้ท่านอาจารย์ได้ช่วยอบรมสั่งสอน ท่านอาจารย์ก็พยายามหลีกหนีจากหมู่คณะ เพื่อเร่งบำเพ็ญเพียรของตนเองให้บรรลุจุดหมายปลายทางที่ตั้งไว้ ท่านอาจารย์ก็หวนมาพิจารณาสงสารหมู่คณะที่หวังพึ่งพิงครูบาอาจารย์ เช่นเดียวกันกับท่านที่เคยหวังพึ่งพิงครูบาอาจารย์มาแล้ว ท่านอาจารย์จึงได้นำข้อวัตรปฏิบัติและธรรมอันวิเศษที่ได้รู้เห็นประจักษ์แก่ใจมาอบรมสั่งสอนหมู่คณะ

ในครั้งแรกนับจำเดิมแต่หลวงปู่มั่นมรณภาพ ท่านอาจารย์พระมหาบัวได้จำพรรษาอยู่ที่วัดป่าภูริทัตตถิราวาส (วัดป่าบ้านหนองผือ) ซึ่งท่านเคยจำพรรษาอยู่กับหลวงปู่มั่น เนื่องจากเมื่อหลวงปู่มั่นล่วงลับดับขันธ์ไปแล้ว พระสงฆ์สามเณรที่เคยมีอยู่จำนวนมากก็แตกกระจัดกระจายหนีไปอยู่ที่อื่น เหลือแต่พระหลวงตาเฝ้าวัดอยู่เพียงรูปเดียว ท่านอาจารย์พระมหาบัวรู้สึกสังเวชสลดใจในความเปลี่ยนแปลง จึงได้ย้อนกลับไปจำพรรษาอยู่ที่วัดนี้หนึ่งพรรษา

ในปีถัดมา (พ.ศ. 2493) ท่านอาจารย์พระมหาบัวได้ออกธุดงค์หาสถานที่อันสงัดวิเวก และได้พักจำพรรษาอยู่ที่วัดบ้านห้วยทราย ตำบลคำชะอี อำเภอคำชะอี จังหวัดมุกดาหาร (ในปัจจุบัน) อีก 4 พรรษา ในระหว่างที่จำพรรษาอยู่ที่นี่ ท่านอาจารย์ได้เข้มงวดกวดขันเอาจริงเอาจังกับการอบรมสั่งสอนพระภิกษุสามเณร ทั้งในเรื่องข้อวัตรปฏิบัติธุดงควัตรและเจริญสมาธิภาวนา จนทำให้พระสงฆ์สามเณรมีหลักยึดเหนี่ยวของจิตใจมากยิ่งขึ้น

ต่อมาในปี พ.ศ. 2498 ท่านอาจารย์พระมหาบัวก็ได้จาริกแสวงหาสถานที่ปฏิบัติธรรมผ่านไปทางจังหวัดจันทบุรี และได้สร้างวัดจำพรรษาอยู่ที่นั่น 1 พรรษา ระยะต่อมาได้ทราบข่าวว่าโยมมารดาของท่านป่วย ท่านอาจารย์จึงได้เดินทางกลับมาตุภูมิที่บ้านตาดเพื่อดูแลโยมมารดา ชาวบ้านได้นิมนต์ให้ท่านไปพำนักในป่าบริเวณทางทิศใต้ของหมู่บ้าน พร้อมทั้งนิมนต์ท่านให้อยู่เป็นหลักเป็นแหล่งเสียที เพื่อจะได้เป็นที่พึ่งทางใจของชาวบ้าน โดยได้บริจาคที่ดินประมาณ 263 ไร่เพื่อสร้างวัด ท่านอาจารย์ได้พิจารณาเห็นว่าโยมมารดาของท่านแก่ชรามากแล้ว สมควรที่จะอยู่ช่วยดูแลเป็นการตอบแทนบุญคุณของโยมมารดาด้วย ท่านอาจารย์จึงตกลงใจรับนิมนต์และเริ่มสร้างวัดนี้ เมื่อเดือนพฤศจิกายน พ.ศ. 2498 ตั้งชื่อวัด “วัดป่าบ้านตาด” จนตราบเท่าทุกวันนี้

รูปภาพ
บรรยากาศวัดป่าบ้านตาด อ.เมือง จ.อุดรธานี (ในปัจจุบัน)


(มีต่อ)

.....................................................
ทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว เป็นกฎตายตัว


แสดงโพสต์จาก:  เรียงตาม  
กลับไปยังกระทู้  [ 48 โพสต์ ]  ไปที่หน้า ย้อนกลับ  1, 2, 3, 4  ต่อไป

เขตเวลา GMT + 7 ชั่วโมง


 ผู้ใช้งานขณะนี้

่กำลังดูบอร์ดนี้: ไม่มีสมาชิก และ บุคคลทั่วไป 1 ท่าน


ท่าน ไม่สามารถ โพสต์กระทู้ในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ ตอบกระทู้ในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ แก้ไขโพสต์ของท่านในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ ลบโพสต์ของท่านในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ แนบไฟล์ในบอร์ดนี้ได้

ค้นหาสำหรับ:
ไปที่:  
Google
ทั่วไป เว็บธรรมจักร