วันเวลาปัจจุบัน 28 มี.ค. 2024, 22:53  



เขตเวลา GMT + 7 ชั่วโมง




กลับไปยังกระทู้  [ 26 โพสต์ ]  ไปที่หน้า ย้อนกลับ  1, 2  Bookmark and Share
เจ้าของ ข้อความ
โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 27 ก.ค. 2009, 20:09 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
ผู้จัดการ
ผู้จัดการ
ลงทะเบียนเมื่อ: 27 มี.ค. 2006, 17:34
โพสต์: 7781

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว www


รูปภาพ

๏ พ.ศ. 2506 พรรษาที่ 28
จำพรรษาที่วัดป่าสันติกาวาส


พรรษาที่ 28

ในพรรษา หลวงปู่ก็ได้พาพระภิกษุสามเณรปฏิบัติธุดงควัตรเหมือนที่เคยปฏิบัติมา อบรมญาติโยมที่มารักษาอุโบสถศีลในวันพระ 8 ค่ำ 14-15 ค่ำ เป็นประจำ รู้สึกว่ามีผู้มารักษาอุโบสถศีลและฝึกหัดนั่งสมาธิภาวนาเป็นจำนวนมากเป็นพิเศษ บางวันพระก็มีถึง 200 คน 300 คนก็มี บางวันพระหลวงปู่ก็อบรมเอง บางวันพระก็ให้หลวงพ่อสุจินต์ ผู้เป็นลูกศิษย์ที่ท่านไว้วางใจ ได้เป็นผู้อบรมแนะนำญาติโยมนั่งสมาธิภาวนาแทนหลวงปู่ แต่หลวงปู่ก็นั่งฟังอยู่ด้วย เมื่อจบจากการอบรมพานั่งสมาธิภาวนาแล้ว ก็เป็นหน้าที่ของหลวงปู่แสดงธรรมและตอบปัญหาธรรมแก่ญาติโยมไปเรื่อยๆ จนถึงเวลาตี 1 ตี 2 เป็นประจำ ท่านจึงลงจากศาลากลับกุฏิของท่าน บางวันพระก็อยู่จนตี 4 พาญาติโยมทำวัตรเช้าจนสว่างแล้วจึงเลิกกัน

รักษาไข้ด้วยธรรมโอสถ

ในวันนั้นเมื่อสว่างแล้ว ถึงเวลาปฏิบัติอาจาริยวัตร ผู้เขียนและครูบาสมไปคอยที่ประตูกุฏิกลางน้ำที่ท่านพักอยู่จนสาย ถึงเวลาบิณฑบาตท่านก็ยังไม่เปิดกุฏิ ครูบาสมจึงให้ผู้เขียนคอยปฏิบัติท่านอยู่คนเดียว ครูบาก็ไปบิณฑบาต จนพระเณรที่ไปบิณฑบาตทุกสายได้กลับมาถึงวัดหมด ท่านก็ยังไม่เปิดกุฏิ ชำเลืองหูฟังข้างในกุฏิท่าน ก็เงียบไม่มีเสียงอะไร จนถึงเวลาฉันท่านก็เงียบ หลวงพ่อสุจินต์จึงลงจากศาลามาที่กุฏิหลวงปู่ แล้วหลวงพ่อสุจินต์พูดว่า “ไม่ใช่ท่านเป็นอะไรไปแล้วหรือ” จึงหาวิธีจะพังหน้าต่างเข้าไปดู

พอหลวงปู่ท่านได้ยินว่ากำลังจะพากันพังหน้าต่างกุฏิท่าน ท่านจึงตะโกนออกมาว่า “ถ้าตายมันก็จะเหม็นดอก” แล้วท่านก็เงียบไป พวกลูกศิษย์จึงพากันกลับไปฉันที่ศาลา ในวันนั้นคอยปฏิบัติท่านอยู่ตลอด ท่านก็ไม่เปิดกุฏิ จนเวลา 2 ทุ่ม ท่านจึงเปิดกุฏิ ลูกศิษย์เข้าไปปฏิบัติถวายน้ำร้อนน้ำฉัน ท่านจึงบอกว่า ท่านเข้าที่ภาวนา เพราะท่านไม่สบายเป็นไข้ ในวันนั้นท่านเลยไม่ฉันอาหารเลย พอไข้หาย วันหลังมาท่านค่อยฉัน นี้เป็นนิสัยของท่านเวลาไม่สบาย ท่านจะเข้าที่ภาวนา ไม่ให้ใครไปรบกวน

ได้รับแต่งตั้งให้เป็นพระธรรมทูตสายที่ 5

ย่างเข้าปี พ.ศ. 2507 หลวงปู่ได้รับแต่งตั้งให้เป็นพระธรรมทูตสายที่ 5 ออกอบรมประชาชนในเขตอำเภอหนองหาน หลวงปู่ได้ให้หลวงพ่อสุจินต์ จิตฺตปชฺโชโต ผู้เป็นลูกศิษย์ ซึ่งท่านก็มีหน้าที่เป็นพระธรรมทูตเหมือนกัน เป็นผู้ออกอบรมประชาชนตามจุดต่างๆ ส่วนหลวงปู่เป็นผู้คอยออกไปเยี่ยมสนับสนุนทำให้ประชาชนได้เข้าใจในการปฏิบัติ และขอถึงพระไตรสรณคมน์เป็นจำนวนมาก

เมื่อถึงเดือนมิถุนายน พ.ศ. 2507 หลวงปู่ท่านอนุญาตให้ผู้เขียนบวชเป็นสามเณรได้ ก่อนบวชท่านได้เป็นผู้ฝึกคำขานนาคให้ ท่านพิถีพิถันมาก ถ้าออกเสียงไม่ถูก ท่านไม่เอา ต้องให้ว่าอยู่นั้นแหละ ท่านฝึกให้อยู่ 15 วัน เห็นว่าใช้ได้แล้วจึงอนุญาตให้ไปบวชได้


๏ พ.ศ. 2507-2508 พรรษาที่ 29-30
จำพรรษาที่วัดป่าสันติกาวาส


ในพรรษาปี พ.ศ. 2508 นี้ หลวงพ่อสุจินต์ จิตฺตปชฺโชโต ผู้เป็นศิษย์ที่สำคัญที่หลวงปู่ได้อาศัยช่วยรับภาระในการอบรมคณะศรัทธาญาติโยม และเป็นผู้ปฏิบัติที่เด็ดเดี่ยว ได้ถึงแก่มรณภาพ จึงเปรียบเสมือนว่าแขนเบื้องขวาของหลวงปู่ได้ขาดไป หลวงปู่ต้องรับภาระในการอบรมสั่งสอนพระภิกษุ สามเณร และคณะศรัทธาญาติโยมแต่ผู้เดียว หลวงปู่ให้ตั้งศพหลวงพ่อสุจินต์ จิตฺตปชฺโชโต บำเพ็ญกุศลนับแต่วันที่ท่านมรณภาพ คือ วันขึ้น 3 ค่ำ เดือน 11 พอถึงวันขึ้น 8 ค่ำ เดือน 11 ก็ทำการประชุมเพลิงศพ

ในการจัดงานศพหลวงพ่อสุจินต์นี้ หลวงปู่ได้ให้ญาติโยมไปนิมนต์ครูบาอาจารย์มาร่วมงานด้วย มี หลวงปู่บัว สิริปุณฺโณ วัดป่าหนองแซง, พระอาจารย์สิงห์ทอง ธมฺมวโร วัดป่าแก้วชุมพล, พระอาจารย์จันทา ถาวโร, พระอาจารย์เต็ม ขนฺติโก ซึ่งขณะนั้นท่านจำพรรษาอยู่วัดธาตุฝุ่น บ้านคำเจริญ หลวงปู่บัว สิริปุณฺโณ ท่านบอกว่า “เสียดาย หลวงพ่อสุจินต์นี้ล่วงไปก่อน เพิ่งได้อนาคามี แต่นี้ก็ไม่ได้มาเกิดอีกหรอกนะ” ครูบาอาจารย์ทุกองค์ที่นิมนต์มา ท่านก็อยู่ช่วยจนเสร็จงาน แล้วทุกองค์จึงได้กลับวัด

รูปภาพ
พระอาจารย์จันทร์โสม กิตติกาโร

รูปภาพ
พระอาจารย์วัน อุตฺตโม


๏ พ.ศ. 2509 พรรษาที่ 31
จำพรรษาที่วัดป่าสันติกาวาส


พรรษาที่ 31

ต้นปี พ.ศ. 2510 นี้ หลวงปู่ขาว อนาลโย วัดถ้ำกลองเพล (ตำบลโนนทัน อำเภอเมือง จังหวัดหนองบัวลำภู ในปัจจุบัน) ท่านได้อาพาธ หลวงปู่ได้ไปเยี่ยมและอยู่เฝ้าปรนนิบัติ โดยหลวงปู่ให้ครูบาสมและผู้เขียนซึ่งเป็นสามเณรติดตามไปด้วย นายดอนเอารถเก๋งมารับจากวัดป่าสันติกาวาส ไปส่งที่วัดถ้ำกลองเพล เมื่อถึงวัดถ้ำกลองเพลก็เป็นเวลาใกล้ค่ำ เพราะตอนนั้นถนนยังเป็นลูกรังหมด รถวิ่งเร็วไม่ได้

หลวงปู่พักที่กุฎิผาผึ้ง มี พระอาจารย์คำสุก และ พระอาจารย์จันทร์โสม กิตติกาโร (วัดป่าจันทรังสี หรือวัดป่านาสีดา ตำบลกลางใหญ่ อำเภอบ้านผือ จังหวัดอุดรธานี มรณภาพเมื่อวันที่ 7 มีนาคม พ.ศ. 2549 ณ โรงพยาบาลศิริราช กรุงเทพมหานคร) พักอยู่ด้วยกัน เพราะขณะนั้นพอครูบาอาจารย์ทั้งหลายได้ทราบว่าหลวงปู่ขาวอาพาธ ต่างก็พากันทยอยเข้าไปค้างที่วัดถ้ำกลองเพล ในขณะที่หลวงปู่ขาวท่านอาพาธหนักอยู่นั้น ครูบาอาจารย์พระเณรรวมกันก็เป็น 50-60 องค์ ในระยะนั้นก็ถือว่ามาก

ครูบาอาจารย์ผู้ใหญ่ที่เข้าไปเยี่ยมและค้างคืนในขณะนั้น ก็มีหลวงปู่อ่อน ญาณสิริ, หลวงปู่ฝั้น อาจาโร, หลวงปู่บัว สิริปุณฺโณ, พระอาจารย์วัน อุตฺตโม, พระอาจารย์จวน กุลเชฏฺโฐ, พระอาจารย์สิงห์ทอง ธมฺมวโร และก็มีอีกหลายๆ องค์ ครูบาอาจารย์เปลี่ยนวาระกันเฝ้าไข้ท่าน หลวงปู่ขาวนั้นท่านพักอยู่ที่กุฏิหนูพลอย จิตขยัน หลวงปู่ขึ้นเฝ้าเวลากลางคืน ถ้าวันไหนท่านขึ้นเฝ้า ท่านจะนั่งอยู่ทางขวามือของหลวงปู่ขาว และท่านจะนั่งตัวตรง ภาวนาเฝ้าอยู่ ไม่พูดคุยกับองค์อื่น ต่างองค์ต่างสำรวมกายและจิต หลวงปู่จะนั่งตัวตรงอยู่จนสว่าง จึงกลับที่พักล้างหน้า แล้วก็ลงรวมที่ถ้ำและออกบิณฑบาต หลวงปู่เป็นหัวหน้าบิณฑบาตสายบ้านห้วยเดื่อ ในตอนนั้นสัตว์ป่าและป่าไม้ยังมีเยอะ ช้างป้าก็ยังมี เวลาเดินไปบิณฑบาตก็ยังต้องระวังช้างป่า

ให้โอวาทพระเณร

เมื่อถึงวันพระ 8 ค่ำ ทั้งพระสงฆ์ สามเณร แม่ชี และคณะศรัทธาญาติโยม รวมประชุมกันที่ถ้ำกลองเพล ทำวัตรสวดมนต์เย็น ในวันนั้น หลวงปู่เป็นหัวหน้าในที่ประชุม เมื่อทำวัตรสวดมนต์จบแล้ว ครูบาอาจารย์ที่รองจากหลวงปู่มีอยู่หลายองค์ จึงพากันนิมนต์ให้หลวงปู่เป็นผู้ให้โอวาทพระเณร หลวงปู่จึงให้โอวาทเตือนในที่ประชุมว่า

“ในขณะนี้ครูบาอาจารย์ท่านอาพาธ พวกเราได้มารวมกันเป็นจำนวนมาก ขอให้ต่างองค์ต่างรักษาจิตของตัวเอง มีสติสำรวมระมัดระวังจิตใจของตัวเอง อย่าปล่อยให้มันไปทับครูบาอาจารย์ ถ้าไม่มีสติสำรวมจิตใจ ปล่อยให้ฟุ้งซ่านโลเล ครูบาอาจารย์ท่านบอกว่า มันทับ มันทับ จิตของท่านละเอียดหมดจด เมื่อเราปล่อยจิตของเราโลเล จึงไปกระทบของท่าน ท่านจึงบอกว่ามันทับมันทับ ขอให้ต่างองค์ต่างตั้งใจสำรวมจิตใจของตนๆ จึงได้ชื่อว่าสนับสนุนครูบาอาจารย์ เพื่อจะให้ท่านหายจากอาพาธ ถ้าปล่อยจิตใจโลเลไปทับถมท่าน เท่ากับเหยียบย้ำซ้ำเติมให้อาพาธของท่านทรุดหนักลง จึงขอให้ทุกๆ ท่านจงสำรวมจิตใจของตนไว้ด้วยความไม่ประมาทเถิด”

เมื่อหลวงปู่ให้โอวาทจบแล้ว ก็มีการฟังพระธรรมเทศนาจากครูบาอาจารย์องค์อื่นๆ ต่อไป การอาพาธของหลวงปู่ขาวในครั้งนั้น ใครๆ ก็เข้าใจว่าท่านจะละขันธ์อย่างแน่นอน จนถึงกับครูบาอาจารย์ต้องวางแผนเตรียมการกันเป็นการใหญ่ เตรียมทำปะรำที่พักที่รับแขกไว้ เวลาไปเอาไม้ไผ่จากอ่างอาราม ซึ่งอยู่ห่างจากถ้ำกลองเพลหลายกิโล หลวงปู่ก็ไปช่วยแบกไม้ไผ่ด้วย และไปเจอหินที่อ่างอารามเป็นหินที่ใช้ลับมีดได้ดี หลวงปู่ยังให้เอาผ้าอาบน้ำสะพายเอาก้อนหินมาด้วย อยู่ต่อมา คุณหมออวย เกตุสิงห์ ได้เอาเลือดตัวเองเข้าถวายให้ท่านหลวงปู่ขาว แล้วการอาพาธของท่านก็ค่อยหายไป อาการดีขึ้นเรื่อยๆ

หลวงปู่พากลับจากถ้ำกลองเพล

หลวงปู่พาพักดูแลปรนนิบัติท่านหลวงปู่ขาว อนาลโย อยู่ถึงสิบห้าวัน เมื่อเห็นว่าอาการท่านดีขึ้นแล้ว จึงพาครูบาสมและผู้เขียนเดินทางกลับจากถ้ำกลองเพล อาศัยรถแขวงทางหนองวัวซอ ที่เข้าไปส่งน้ำที่วัดถ้ำกลองเพลตอนบ่ายๆ มาลงที่หนองวัวซอ แล้วนั่งรถโดยสารต่อจากหนองวัวซอมาลงที่อุดรธานี จากนั้นต่อรถโดยสารอุดรธานี-สกลนคร ลงที่ทางแยกไชยวาน หลวงปู่พาเดินสะพายบาตรแบกกลด ให้พ่อใหญ่มาหาบก้อนหินลับมีด ถึงวัดป่าสันติกาวาสเป็นเวลาเที่ยงคืนพอดี

รูปภาพ
พระอาจารย์ทูล ขิปฺปปญฺโญ


๏ พ.ศ. 2510 พรรษาที่ 32
จำพรรษาที่วัดป่าสันติกาวาส


ปีนี้ พระอาจารย์ทูล ขิปฺปปญฺโญ (ท่านมรณภาพแล้ว เมื่อวันอังคารที่ 11 พฤศจิกายน พ.ศ. 2551 เวลาประมาณ 06.00 น. ณ วัดป่าบ้านค้อ ตำบลเขือน้ำ อำเภอบ้านผือ จังหวัดอุดรธานี สิริอายุรวมได้ 73 ปี พรรษา 48 - สาวิกาน้อย) ได้มาจำพรรษาศึกษาอบรมธรรมอยู่กับหลวงปู่ ขณะนั้นท่านได้ 7 พรรษา

ดังที่มีปรากฏอยู่ในหนังสืออัตโนประวัติของท่านดังนี้

“ในพรรษาที่ 7 นี้ จำพรรษาอยู่ที่วัดสันติกาวาส ตำบลไชยวาน อำเภอไชยวาน จังหวัดอุดรธานี มีหลวงปู่บุญจันทร์ กมโล เป็นเจ้าอาวาส ในพรรษานี้การภาวนาปฏิบัติก็มีความราบรื่นไปด้วยดี นิสัยของหลวงปู่บุญจันทร์ ท่านมีนิสัยที่พูดน้อย การพูดในธรรมก็มีน้อย แต่ก็เต็มไปด้วยเนื้อหาสาระ คำพูดที่ท่านพูดออกมา เมื่อนำไปพินิจพิจารณาดูแล้ว มีความหมายอย่างลุ่มลึก และเต็มไปด้วยเหตุด้วยผล ถ้ามีปัญญาดีพิจารณาให้รอบคอบแล้ว มีความหมายอย่างพิสดารมากทีเดียว เว้นเสียแต่ผู้มีหูหนาปัญญาทึบเท่านั้น จึงจะฟังธรรมของท่านไม่รู้เรื่อง”



๏ พ.ศ. 2511 พรรษาที่ 33
จำพรรษาที่วัดป่าสันติกาวาส


เมื่อออกพรรษาแล้วเข้าฤดูแล้ง เดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ. 2512 หลวงปู่ได้ไปช่วยเตรียมงานถวายเพลิงศพ ท่านพระอาจารย์พร สุมโน วัดประชานิยม บ้านหนองหลวง อำเภอสว่างแดนดิน จังหวัดสกลนคร ในงานถวายเพลิงศพท่านพระอาจารย์พร สุมโน เมื่อวันที่ 8 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2512 ได้มีบรรดาครูบาอาจารย์สายกัมมัฏฐานได้มาร่วมในงานเป็นจำนวนมาก และคณะศรัทธาญาติโยมจากทั่วสารทิศได้มาตั้งโรงทานบริการ ให้ความสะดวกสบายแก่ผู้มาร่วมในงาน บรรยากาศในงานเต็มไปด้วยความสงบ ไม่อีกทึกครึกโครม ไม่มีมหรสพ มีแต่การแสดงธรรมทั้งกลางวันและกลางคืน หลวงปู่อยู่ช่วยจนงานสำเร็จเสร็จสิ้นเรียบร้อย จึงได้กลับวัด


๏ พ.ศ. 2512-2513 พรรษาที่ 34-35
จำพรรษาที่วัดป่าสันติกาวาส


พรรษาที่ 34-35

เมื่อออกพรรษาแล้ว หลวงปู่ปรารภถึงศาลาการเปรียญของวัดป่าสันติกาวาส ที่หลวงปู่นำพาญาติโยมสร้างเป็นหลังที่ 2 ได้ชำรุดทรุดโทรม ญาติโยมจึงลงมติว่า ควรจะรื้อแล้วสร้างหลังใหม่ หลังจากญาติโยมเกี่ยวข้าวเสร็จในการทำนาแล้ว เดือนมกราคม พ.ศ. 2514 หลวงปู่ได้นำพาญาติโยมไปติดต่อขอไม้จากเจ้าหน้าที่ป้าไม้ อำเภอบ้านดุง และได้นำไม้จากดงปอ บ้านหนองไฮ อำเภอบ้านดุง มาทำเสาศาลาการเปรียญหลังที่ 3

ในขณะที่หลวงปู่ท่านพาญาติโยมไปพักค้างคืนอยู่ที่ดงปอ เพื่อคัดหาเอาไม้มาทำเสาศาลาการเปรียญนั้น ท่านได้สั่งผู้เขียนและพระสงฆ์ที่อยู่เฝ้าวัด ให้ตัดเย็บผ้าไตรจีวรไว้ ให้ได้ 10 ไตร เพื่อจะไปถวายบังสุกุลในงานถวายเพลิงศพหลวงปู่พรหม จิรปุญฺโญ วัดประสิทธิธรรม บ้านดงเย็น อำเภอบ้านดุง จังหวัดอุดรธานี ซึ่งท่านได้มรณภาพตั้งแต่วันที่ 13 พฤษภาคม พ.ศ. 2512 และจะทำพิธีถวายเพลิงศพท่านในวันที่ 6 มีนาคม พ.ศ. 2514

เมื่อหลวงปู่สั่งแล้ว ผู้เขียนพร้อมด้วยพระที่อยู่เฝ้าวัด ได้ช่วยกันตัดเย็ยย้อมผ้า ได้ครบตามที่หลวงปู่สั่งไว้ ในขณะนั้นผู้เขียนเพิ่งบวชเป็นพระภิกษุได้ 2 เดือนเท่านั้น เมื่อหลวงปู่พักอยู่ดงปอ บ้านหนองไฮ อำเภอบ้านดุง พวกญาติโยมพากันตัดไม้ได้ครบจำนวน 60 ต้น ยาวต้นละ 10 เมตร เป็นไม้มะค่าแต้ทั้งหมด จึงให้รถลากซุงจากดงปอ อำเภอบ้านดุง มาที่วัดป่าสันติกาวาส แล้วว่าจ้างพวกที่เป็นช่าง ถากเสาให้ ค่าถากต้นละ 100 บาท บางพวกก็ไม่คิดค่าจ้าง ช่วยกันถากเอาบุญจนได้ต้นเสาครบ 60 ต้น

รูปภาพ
หลวงปู่พรหม จิรปุญฺโญ


หลวงปู่พาไปร่วมงานถวายเพลิงศพหลวงปู่พรหม จิรปุญฺโญ

เมื่อถึงวันเริ่มงานถวายเพลิงศพ หลวงปู่พรหม จิรปุญฺโญ คือวันที่ 4 มีนาคม พ.ศ. 2514 หลวงปู่ได้พาญาติโยมและพระติดตาม คือ ผู้เขียน ไปร่วมงานในคราวนั้น ถนนหนทางไปมาลำบากไม่สะดวก ว่าจ้างรถให้ไปส่ง ออกจากบ้านไชยวาน ไปทางอำเภอสว่างแดนดิน บ้านหนามแท่ง บ้านคำขัน ข้ามน้ำสงคราม เข้าถึงบ้านดงเย็น ถนนเต็มไปด้วยทราย บางทีรถติดทราย พวกชาวบ้านต้องมาช่วยกันเข็นรถ

ในพิธีงานถวายเพลิงศพหลวงปู่พรหม จิรปุญฺโญ นั้น ไม่มีมหรสพอะไร เป็นแบบงานของพระกัมมัฏฐาน ตอนกลางวันก็มีครูบาอาจารย์ผู้ทรงคุณวุฒิเป็นองค์แสดงธรรม ตอนกลางคืนพระภิกษุ สามเณรที่มาร่วมในงานเป็นจำนวนมาก ทั้งอุบาสก อุบาสิกา พร้อมกันทำวัตรเย็นและสวดมนต์ เพื่อเป็นการบูชาพระคุณของหลวงปู่พรหม แล้วจากนั้นก็ฟังพระธรรมเทศนาไปตลอดคืน หลวงปู่ได้พาทอดผ้าไตร 10 ไตรที่ได้เตรียมไว้นำไปจากวัด ถวายในงานหลวงปู่พรหมด้วย

ท่านได้พาค้างคืนอยู่จนเสร็จงาน คือวันที่ 6 มีนาคม พ.ศ. 2514 เวลา 4 ทุ่ม เป็นเวลาถวายเพลิงจริง เช้าวันที่ 7 มีนาคม เก็บอัฐิ มีพิธีสวดมนต์ฉลองอัฐิธาตุ หลวงปู่ได้อยู่ในจำนวนพระสงฆ์สวดมนต์ฉลองอัฐิด้วย เมื่อสวดมนต์เสร็จ มีการถวายอาหารบิณฑบาตแก่พระภิกษุสามเณรที่มาร่วมในงาน แล้วก็เป็นเสร็จพิธี ครูบาอาจารย์ต่างร่ำลากันกลับที่อยู่ของแต่ละท่านละองค์ หลวงปู่ก็พาเดินทางกลับวัดป่าสันติกาวาส

ได้รับพระราชทานสมณศักดิ์

หลวงปู่ได้รับพระราชทานสมณศักดิ์ให้เป็นพระครูสัญญาบัตรชั้นตรี เจ้าอาวาสวัดราษฎร์ มีนามว่า “พระครูศาสนูปกรณ์” เมื่อวันที่ 5 ธันวาคม พ.ศ. 2513 ถึงแม้ว่าหลวงปู่ได้รับสมณศักดิ์แล้ว หลวงปู่ท่านก็ไม่หลงในยศฐาบรรดาศักดิ์ ท่านยังปฏิบัติองค์ตามแบบพระกัมมัฏฐานตามที่ได้เคยปฏิบัติมา

.....................................................
ทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว เป็นกฎตายตัว


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 29 ก.ค. 2009, 10:05 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
ผู้จัดการ
ผู้จัดการ
ลงทะเบียนเมื่อ: 27 มี.ค. 2006, 17:34
โพสต์: 7781

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว www


รูปภาพ
อาณาบริเวณวัดป่าสันติกาวาส จ.อุดรธานี ในปัจจุบัน


๏ พ.ศ. 2514 พรรษาที่ 36
จำพรรษาที่วัดป่าสันติกาวาส


พรรษาที่ 36

ในพรรษาปี พ.ศ. 2514 นี้ หลวงปู่เริ่มมีอาการอาพาธด้วยโรคปวดข้อสะโพกข้างขวา แต่อาการไม่รุนแรง ในพรรษานี้ หลวงปู่ได้ตั้งใจแสดงธรรม ให้พระเณรและญาติโยมฟังเป็นประจำทุกวัน วันละ 2 ครั้ง คือ ตอนเย็น หลังจากทำข้อวัตรกิจวัตรเสร็จแล้ว เวลาประมาณ 5 โมงเย็น ท่านจะลงศาลานำทำวัตรเย็น แล้วก็ขึ้นแสดงธรรม ตอนเช้าหลังจากกลับบิณฑบาต จัดเตรียมอาหารลงในบาตรเสร็จแล้ว ท่านก็ขึ้นแสดงธรรม จบแล้วจึงพาฉันอาหารบิณฑบาต ธรรมะที่ท่านแสดงนั้น ท่านแสดงในเรื่องมงคล 38 ประการ หรือที่เรียก มงคลทีปนี คือการไม่คบค้าสมาคมกับคนพาลเป็นเบื้องต้น การไม่มีความเศร้าโศกเสียใจเป็นปริโยสาน ถือว่าเป็นอุดมมงคลอันสูงสุด

หลวงปู่ท่านได้แสดงอยู่จนตลอดไตรมาส 3 เดือนจึงจบ และการปฏิบัติทางด้านจิตตภาวนา ท่านก็ได้เข้มงวดกวดขัน ตักเตือนพระเณรไม่ให้ประมาท เมื่อออกพรรษาแล้วท่านก็ยังแสดงธรรมต่อไปอีกระยะหนึ่งท่านจึงหยุด การแสดงธรรมในพรรษานี้ เหมือนกับว่าท่านจงใจที่จะแสดงเป็นครั้งสุดท้าย แล้วท่านจะได้จากลูกศิษย์ลูกหาไปฉะนั้น อาการอาพาธด้วยโรคปวดข้อสะโพกข้างขวาของท่านก็ได้แสดงอาการหนักขึ้นเรื่อยๆ หลวงปู่ท่านมีความอดทนมาก ท่านทำเหมือนไม่มีอะไร คือไม่ได้สนใจต่อโรคที่แสดงตัวกำเริบขึ้นทุกวันทุกวัน

การก่อสร้างศาลานิยมสุวรรณสิทธิ์สามัคคีอุปถัมภ์

เมื่อถึงเดือนมกราคม พ.ศ. 2515 หลวงปู่ให้รื้อศาลาหลังที่ 2 ของวัดป่าสันติกาวาส ที่หลวงปู่พาสร้างตั้งแต่ปี พ.ศ. 2495 ซึ่งชำรุดเพราะเป็นศาลาไม้ เมื่อรื้อเสร็จแล้วก็ให้ช่างอ้วย นายแก้ว เป็นช่างก่อสร้างหลังใหม่ ตกลงค่าแรงช่างยกโครงมุงหลังคาใส่ขางวางตงเสร็จราคา 8,000 บาท ช่างวางผังขุดหลุมเสาศาลา พวกชาวบ้านก็ช่วยกัน ทั้งแก่เฒ่าหนุ่มสาว บริจาคกำลังแรง ขุดหลุมเสาศาลาทั้งห้าสิบเอ็ดหลุม เสร็จแล้วก็อัดก้นหลุม กันทรุดด้วยหินแม่รัง และเทคอนกรีตทับอีกครั้งหนึ่ง

รูปภาพ
ศาลานิยมสุวรรณสิทธิ์สามัคคีอุปถัมภ์ พ.ศ. 2521


อาพาธครั้งที่ 3 เริ่มเดินไม่ได้

ปลายเดือนมกราคม พ.ศ. 2515 ในขณะที่ขุดหลุมเสาศาลา หลวงปู่ท่านเดินดูงาน ท่านใช้เท้าขวาของท่านกวาดดินที่ขรุขระอยู่ปากหลุม ทำให้ท่านปวดที่สะโพก เดินไม่ได้ ต้องใช้รถสำหรับเข็นปี๊บน้ำใส่ตุ่ม เอาเสื่อปูแล้วให้หลวงปู่นั่ง แล้วเข็นท่านกลับกุฎิกลางน้ำ นับแต่วันนั้นต้องเอารถเข็นหลวงปู่จากกุฎิ ลงมาฉันเช้าที่เพิงซึ่งใช้แทนศาลาชั่วคราว ฉันเสร็จก็ให้ท่านนั่งรถเข็นกลับกุฎิกลางน้ำ ท่านจะดูงานอะไรก็ให้เอารถเข็นน้ำนั้นแหละเข็นไป

เป็นประธานในการทำวุฏฐานวิธียกเสาศาลา

หลวงปู่กำหนดให้ญาติโยมชาวบ้านมาช่วยกันยกเสาศาลา ในวันเพ็ญเดือน 3 ซึ่งตรงกับวันที่ 30 มกราคม พ.ศ. 2515 แต่วันขึ้น 14 ค่ำ เดือน 3 ตรงกับวันที่ 29 มกราคม พ.ศ. 2515 หลวงปู่พาทำวุฏฐานวิธียกเสาแรกก่อน ซึ่งมีคนไม่มากนักประมาณ 10 กว่าคน พอถึงวันเพ็ญเดือน 3 ที่นัดหมาย มีชาวบ้านหญิงชายมาช่วยกันดึงเสาศาลายาว 10 เมตรขึ้นตั้ง มีประมาณ 300 คน เสา 51 ต้น ตั้งวันเดียวไม่เสร็จ วันที่สองครึ่งวันก็ตั้งเสาศาลาเสร็จ ต่อจากนั้นก็เป็นหน้าที่ของช่างดำเนินต่อไป จนถึงเดือนพฤษภาคมจึงได้มุงหลังคาด้วยสังกะสี

ไม่ยอมไปหาหมอ

อาการป่วยหลวงปู่ทรุดลงเรื่อยๆ จากปวดที่สะโพกเดินไม่ได้ มีไข้แทรก คณะศิษย์กราบนิมนต์ไปให้หมอที่โรงพยาบาลตรวจ ท่านก็ไม่ยอมไป คณะศิษย์ไม่ได้นิ่งนอนใจ หายาพื้นบ้านมาถวายการรักษา ท่านก็เมตตาฉันให้นิดๆ หน่อยๆ เพราะตัวท่านเองก็เก่งในด้านสมุนไพรอยู่แล้ว อาการทรุดลงเรื่อยๆ หลวงปู่เดินไม่ได้ 3 เดือนผ่านไป พอเข้าเดือนที่ 4 จากที่เอารถเข็นท่านจากกุฎิลงไปฉันเช้าที่ศาลาชั่วคราวได้ ท่านก็ลงไม่ได้ฉันเช้าอยู่บนกุฎิ

พอปลายเดือนพฤษภาคม มีไข้สูงและปวดขาขวาตลอด ตอนกลางคืนอากาศเย็นยิ่งปวดมาก จะสังเกตเห็นจากที่ท่านพลิกขาบ่อยๆ แต่ท่านก็ไม่ได้บ่นว่าอะไร หลวงปู่ท่านเป็นผู้มีสติและขันติเพียบพร้อม ในระหว่างนี้ ท่านพระอาจารย์คำ สุมงฺคโล ที่เคยจำพรรษาร่วมกับหลวงปู่ที่อุบลฯ ขณะนั้น ท่านมาจำพรรษาที่บ้านคำเลาะ ไชยวาน ท่านได้มาเยี่ยม และสอนคาถาระงับการปวดแก่ผู้เขียน เพื่อใช้เป่าถวายหลวงปู่ ซึ่งเมื่อลองทำดูแล้ว ก็ดูเหมือนจะใช้ได้ สังเกตท่านนานๆ พลิกขาทีหนึ่ง แต่ดูอาการท่านแล้ว เหมือนกับท่านไม่ห่วงใยในสังขารที่กำลังแปรปรวนอยู่ ต่อมาอาการอาพาธกำเริบมากขึ้น จากที่ท่านนั่งได้ ก็กลายเป็นท่านต้องนอนโทรม และฉันข้าวต้มได้วันละช้อนสองช้อนเท่านั้น

ย่างเข้าเดือนที่ 5 เดือนมิถุนายน พ.ศ. 2515 เมื่อท่านพระอาจารย์สิงห์ทอง ธมฺมวโร วัดป่าแก้วชุมพล ได้ทราบข่าวว่าหลวงปู่ป่วยหนัก จนฉันข้าวแค่วันละช้อนสองช้อน ท่านจึงเดินทางจากวัดป่าแก้วชุมพลมาเยี่ยมหลวงปู่ เมื่อวันที่ 10 มิถุนายน พ.ศ. 2515 พอท่านพระอาจารย์สิงห์ทองขึ้นไปถึงหลวงปู่ที่กุฏิ ท่านก็พูดเป็นเชิงเย้าเล่นกับหลวงปู่ตามนิสัยของท่านว่า “เอ้า ! ป่วยมานอนตายอยู่ที่นี้ทำไม”

หลวงปู่ตอบ “ไม่นอนตายยังไง คนเดินไม่ได้” ท่านพระอาจารย์สิงห์ทองพูดต่อ “ทำไมไม่ไปหาหมอ” หลวงปู่เงียบ แล้วท่านพระอาจารย์สิงห์ทองก็ถามอาการป่วยของหลวงปู่ว่าเป็นอย่างไรต่ออย่างไรบ้าง หลวงปู่เล่าให้ฟัง แล้วท่านพระอาจารย์สิงห์ทองจึงกราบขอนิมนต์หลวงปู่ไปหาหมอที่โรงพยาบาลเพื่อให้หมอตรวจรักษา

หลวงปู่ตอบท่านพระอาจารย์สิงห์ทองว่า “ถ้าจะให้ไปหาหมอ ให้ไปกราบเรียนพ่อแม่ครูบาอาจารย์บ้านตาดเสียก่อน ว่าท่านจะเห็นสมควรอย่างไร จึงค่อยปฏิบัติตาม”

เมื่อท่านพระอาจารย์สิงห์ทองได้โอกาสอย่างนั้น จึงให้โยมขับรถสองแถวเล็กพาไปวัดป่าบ้านตาดในวันนั้น กราบเรียนท่านพระอาจารย์มหาบัว ญาณสมฺปนฺโน เล่าเรื่องป่วยของหลวงปู่ให้ท่านฟัง ท่านพระอาจารย์มหาบัวจึงสั่งท่านพระอาจารย์สิงห์ทองว่า “ให้ไปบอกท่านบุญจันทร์ว่าเดี๋ยวนี้หมอเขามี ไปให้หมอเขาตรวจดูก่อน ถ้าเขารักษาได้ก็ให้หมอเขารักษา ถ้าเขารักษาไม่ได้ค่อยกลับมาคอยวันตายที่วัด”

แล้วท่านพระอาจารย์มหาบัวก็พาท่านพระอาจารย์สิงห์ทองเข้ามาในเมืองอุดรฯ ไปที่สนามบินจองตั๋วเครื่องบิน 3 ที่นั่ง ให้หลวงปู่เดินทางไปหาหมอที่โรงพยาบาลศิริราช สั่งให้ท่านพระอาจารย์สิงห์ทองเป็นผู้ติดตามไปที่โรงพยาบาลศิริราชด้วย และโยมผู้ชายอุปัฏฐากอีกหนึ่งคน ได้ที่นั่งเครื่องบินและวันเดินทางแน่นอนแล้ว ท่านพระอาจารย์มหาบัวจึงสั่งท่านพระอาจารย์สิงห์ทองว่า จะให้รถไปรับวันที่ 12 มิถุนายน พ.ศ. 2515 มาค้างคืนที่วัดป่าบ้านตาด เช้าวันที่ 13 ฉันเช้าเสร็จไปขึ้นเครื่องบินที่สนามบินอุดรธานี เครื่องออกเวลา 11.00 น.

หลวงปู่มีความเคารพในท่านพระอาจารย์มหาบัวเป็นอย่างยิ่ง

เมื่อท่านพระอาจารย์สิงห์ทองรับคำสั่งจากท่านพระอาจารย์มหาบัวแล้ว ก็กลับมากราบเรียนให้หลวงปู่ทราบในเย็นวันนั้น แล้วท่านก็กลับไปวัดป่าแก้วชุมพล เมื่อหลวงปู่ได้ทราบคำสั่งของครูบาอาจารย์ก็ยอมปฏิบัติตาม

เหตุที่ผู้เขียนจะได้ติดตามไปปฏิบัติหลวงปู่ที่โรงพยาบาลศิริราช

คุณบวร จันทรขันตี เป็นโยมอุปัฏฐากที่ถูกกำหนดตัวให้เป็นผู้ติดตามหลวงปู่ไปโรงพยาบาลศิริราชด้วย คุณบวรไม่ค่อยสันทัดในการอุปัฏฐากหลวงปู่จึงพูดกับผู้เขียนว่า “ในวันเดินทาง ให้ครูบาไปส่งหลวงปู่ที่สนามบินด้วย ถ้าเครื่องบินว่างทีที่นั่ง ผมจะเป็นผู้ออกค่าตั๋วเครื่องบินให้” ในขณะนั้นผู้เขียนพึ่งบวชเป็นพระได้หนึ่งพรรษา

เดินทางไปตรวจรักษาที่โรงพยาบาลศิริราช

วันที่ 12 มิถุนายน พ.ศ. 2515 หลังจากฉันเช้าเสร็จ ได้เตรียมบริขารของหลวงปู่และของผู้เขียนไว้เรียบร้อย ญาติโยมเมื่อทราบว่าหลวงปู่จะจากไปรักษาการอาพาธที่กรุงเทพฯ ก็มาชุมนุมกันที่วัดเป็นจำนวนมาก ต่างมีความเป็นห่วงอาลัยในตัวหลวงปู่ ที่ท่านได้เป็นร่มโพธิ์ร่มไทร ที่พึ่งพาอาศัย มาเป็นเวลานาน จะจากไปในที่อื่น บางคนก็โศกเศร้าเหงาหงอย กลัวว่าหลวงปู่จะไม่หายจากอาพาธ

บ่ายของวันที่ 12 มิถุนายน พ.ศ. 2515 รถแลนต์ของคุณแม่กุ๋ยกิม ร้านขายยาชวลิต เมืองอุดรธานี ซึ่งเป็นโยมอุปัฏฐากของวัดป่าบ้านตาด ซึ่งมีนายบุญเป็นผู้ขับ ได้วิ่งเข้ามาจอดที่ศาลาวัดป่าสันติกาวาส โดยมี ท่านพระอาจารย์สิงห์ทอง และพระอาจารย์เชอรี่ (พระฝรั่ง) นั่งมาด้วย ท่านพระอาจารย์สิงห์ทองลงไปหาหลวงปู่ที่กุฏิกลางน้ำ ผู้เขียนและคุณบวรนำบริขารที่เตรียมไว้ขึ้นรถ นำรถเข็นไปรับหลวงปู่จากกุฏิ มาขึ้นรถที่ศาลา ญาติโยมพากันกราบส่งหลวงปู่ขึ้นรถ พวกโยมทั้งหญิงชายหนุ่มแก่เฒ่าชรา พากันกล่าวอวยพรขอให้หลวงปู่หายจากโรคภัยไข้เจ็บ ได้กลับมาเป็นที่พึ่งของลูกศิษย์ลูกหาอีกต่อไป ผู้เขียนนั่งใกล้ๆ คอยประคองหลวงปู่ไปในรถ รถถึงวัดป่าบ้านตาดเป็นเวลาเย็น

เมื่อหลวงปู่ลงจากรถแลนต์แล้ว ได้นำรถเข็นน้ำของวัดป่าบ้านตาดมารับให้หลวงปู่ขึ้นนั่ง ในขณะนั้น ท่านพระอาจารย์มหาบัวท่านอยู่บนศาลา หลวงปู่บอกว่าจะไปกราบท่านเสียก่อน เมื่อท่านทราบ ท่านจึงบอกว่า “ไม่ต้องมากราบหรอก รู้จักกันอยู่แล้ว ให้ไปที่พักเลย” ท่านจัดให้พักที่กุฎิใกล้ๆ ประตูทางเข้าวัด เข็นรถเข็นหลวงปู่ไปที่กุฎิ พยุงหลวงปู่ขึ้นพักที่กุฎิ ผู้เขียนก็พักอยู่กับหลวงปู่ โยมที่ติดตามไปท่านให้พักที่ศาลา

เป็นครั้งแรกและเป็นคืนเดียวเท่านั้นที่ผู้เขียนได้ค้างคืนที่วัดป่าบ้านตาด ตอนกลางคืนมีแต่เสียงจิ้งหรีดและแมลงอีร้องตามประสาของมัน ผู้เขียนมีความกลัวในท่านอาจารย์ใหญ่เป็นอย่างมาก ไม่รู้เป็นอะไร กลัวท่านแต่ไหนแต่ไรมา ไม่เคยชินชาเลย แต่ก็มีความเคารพในองค์ท่านอย่างซาบซึ้ง

รูปภาพ
หลวงปู่ซามา อาจุตฺโต

รูปภาพ
หลวงปู่ชอบ ฐานสโม


ออกจากวัดป่าบ้านตาดไปขึ้นเครื่องบินสนามบินอุดรธานี

วันที่ 13 มิถุนายน พ.ศ. 2515 ท่านพระอาจารย์มหาบัว ญาณสมฺปนฺโน ให้จัดอาหารมาถวายหลวงปู่ที่กุฏิ โดยไม่ต้องลงไปตอนเช้าที่ศาลา คุณหญิงส่งศรี เกตุสิงห์ ได้นำสำรับอาหารมาถวาย หลวงปู่ฉันเสร็จ รถแลนต์ของคุณแม่กุ๋ยกิมเข้ามารับที่วัดป่าบ้านตาด ไปส่งที่สนามบินอุดร คุณบวรติดต่อดู ที่นั่งมีว่างอยู่ จึงซื้อตั๋วให้ผู้เขียนติดตามหลวงปู่ไปกรุงเทพฯ ด้วย เมื่อเช็คตั๋วเครื่องบินเรียบร้อยแล้วรออยู่ไม่นาน เครื่องบินแอฟโร่ 22 ที่นั่งบินมาจากจังหวัดเลย มาลงสนามบินอุดรฯ พอเครื่องบินจอด เห็น หลวงปู่ซามา อาจุตฺโต วัดป่าบ้านไร่ม่วง (วัดป่าอัมพวัน) เมืองเลย เดินลงจากเครื่องบินมาถามท่าน ท่านบอกว่าจะไปกรุงเทพฯ ด้วยกัน แล้วท่านจะไปเยี่ยม หลวงปู่ชอบ ฐานสโม ที่โรงพยาบาลศิริราช

เมื่อได้เวลาเครื่องบินออก ผู้เขียนกับท่านพระอาจารย์สิงห์ทองช่วยกันพยุงหลวงปู่ขึ้นเครื่องบิน มีคุณบวร จันทรขันตี ติดตามไปด้วย ให้หลวงปู่นั่งเรียบร้อยแล้ว ผู้เขียนนั่งติดกับหลวงปู่ ขณะนั้นหลวงปู่ได้ถูกทุกขเวทนาเบียดเบียนเป็นกำลัง ท่านมีอาการสั่นไปทั้งตัว เพราะความเจ็บปวดที่ต้นขา และความเหนื่อยเป็นกำลัง หลวงปู่ท่านมีสติและขันติกล้า ท่านไม่พูดว่าอะไร นั่งเงียบ ผู้เขียนมองดูอาการของท่านแล้ว มีความสงสารท่านเป็นกำลัง พอดีนึกได้ว่าในย่ามมียากูลอนซานอยู่ 1 หลอด จึงถามหลวงปู่ว่า หลวงปู่จะฉันหรือไม่ ท่านบอกว่า เอามาลองดู จึงได้เอาถวายให้ท่านฉัน ไม่นานอาการท่านก็ดีขึ้น

พอดีถึงเวลาเครื่องบินออกจากสนามบินอุดรฯ ทะยานขึ้นสู่อากาศเมื่อเวลา 11.00 น. ไปลงพักรับผู้โดยสารที่ขอนแก่นอีก 30 นาที ขึ้นจากขอนแก่นถึงท่าอากาศยานกรุงเทพฯ เวลา 13.30 น. ตอนลงจากเครื่องบินที่ดอนเมือง ผู้เขียนและท่านพระอาจารย์สิงห์ทองพยุงหลวงปู่ลงจากเครื่องอย่างทุลักทุเล เพราะหลวงปู่นั่งทรมานอยู่ในเครื่องบินเป็นเวลา 2 ชั่วโมงครึ่ง พยุงหลวงปู่เดินเข้าที่พักผู้โดยสารขาเข้า คุณหมอเจริญ วัฒนะสุชาติ มาคอยรับที่ดอนเมือง เพราะท่านพระอาจารย์มหาบัว ท่านเมตตาเป็นธุระทุกอย่าง ทั้งเรื่องรถรับและเรื่องหมอที่โรงพยาบาลศิริราช

หลวงปู่และผู้ติดตาม คือ ท่านพระอาจารย์สิงห์ทอง, ผู้เขียน และคุณบวร ขึ้นรถคุณหมอเจริญ วัฒนสุชาติ เรียบร้อยแล้ว คุณหมอขับรถพาไปแวะที่บ้านที่ถนนสุโขทัยก่อน เพราะคุณหมอยังไม่ได้ทานอาหารเที่ยง เมื่อคุณหมอทานอาหารเสร็จแล้ว จึงได้พาไปที่โรงพยาบาลศิริราช

ถึงโรงพยาบาลศิริราช

เมื่อรถถึงโรงพยาบาลศิริราช จอดที่ประตูเข้าตึกผู้ป่วย ได้มี ศ.นพ.อุดม โปษะกฤษณะ และ ศ.นพ.โรจน์ สุวรรณสุทธิ มาคอยรับ ท่านพระอาจารย์สิงห์ทองได้ยื่นจดหมายให้อาจารย์หมอทั้งสอง ซึ่งเป็นจดหมายของท่านพระอาจารย์มหาบัว ฝากให้พระอาจารย์บุญจันทร์ที่อาพาธอยู่ในความดูแลของอาจารย์หมอทั้งสองด้วย อาจารย์หมอโรจน์ให้รถเข็นผู้ป่วยรับหลวงปู่แล้วนำไปที่ตึก 72 ปี ชั้น 6

รูปภาพ
พระอาจารย์ขันตี ญาณวโร


พบกับหลวงปู่ชอบ ฐานสโม

หลวงปู่ชอบ ฐานสโม ท่านได้พักรักษาโรคอัมพาตอยู่ที่ตึก 72 ปี ชั้น 6 นี้ก่อนแล้ว อาจารย์หมอโรจน์ได้จัดให้หลวงปู่พักห้องติดกับหลวงปู่ชอบ เมื่อหลวงปู่ชอบได้ทราบว่า พระอาจารย์บุญจันทร์อาพาธมาพักห้องติดกับท่าน ท่านได้เมตตาให้ พระอาจารย์ขันตี ญาณวโร ซึ่งเป็นลูกศิษย์อุปัฏฐากดูแลท่าน เอารถเข็นท่านเข้ามาเยี่ยมหลวงปู่ในห้อง เป็นภาพที่ทำให้ผู้เขียนประทับใจไม่มีวันลืม หลวงปู่ได้รู้จักกับหลวงปู่ชอบตั้งแต่วันนั้นเป็นต้นมาจนตลอด ท่านมีความเคารพในหลวงปู่ชอบเป็นอันมาก

ยอมโง่จึงไม่โง่

เมื่ออาจารย์หมอโรจน์มาส่งหลวงปู่เข้าห้องพักแล้ว อาจารย์หมอกลับออกไปให้พยาบาลเข้ามาแนะนำวิธีใช้อุปกรณ์ในห้องผู้ป่วย พยาบาลแนะนำไปว่า ตรงนี้เปิดไฟ ตรงนี้เปิดแอร์ ตรงนี้กดกริ่ง พอเข้าไปในห้องน้ำ ผู้เขียนซึ่งเป็นคนบ้านนอกในชนบท ไม่เคยเห็นห้องน้ำมีอ่างล้างหน้า และโถส้วมแบบนั่ง พอเข้าไปเห็นทำให้งงๆ เหมือนกัน คุณพยาบาลก็แนะนำว่า ที่นี้สำหรับล้างหน้า ที่เปิดน้ำ

พอมาถึงตรงหัวส้วม คุณพยาบาลก็บอกว่า ที่นี้สำหรับชักโครก พอผู้เขียนได้ยินอย่างนั้นก็นึกว่าเป็นที่สำหรับซักผ้าหรืออย่างไร เพราะไม่เคยได้ยินคำว่า “ชักโครก” นึกไปนึกมาจึงถามพยาบาลว่าเป็นที่สำหรับซักผ้าหรือ พยาบาลบอกว่าไม่ใช่ เป็นที่สำหรับถ่าย ผู้เขียนจึงนึกในใจว่า “ถ้าเราไม่ยอมโง่ เราคงเอาผ้าลงซักในโถส้วมแน่ๆ เมื่อเรายอมโง่ก่อน เราจึงเป็นผู้ไม่โง่” ผู้เขียนอยู่เฝ้าไข้หลวงปู่กับคุณบวร ส่วนท่านอาจารย์สิงห์ทอง เมื่อท่านดูว่าทุกอย่างเรียบร้อยแล้ว ท่านจึงแยกไปพักที่วัดบวรนิเวศ

เป็นคนไข้ของอาจารย์หมอนที

เมื่อหมอตรวจอาการของหลวงปู่ จึงทราบว่าหลวงปู่ป่วยเป็นโรควัณโรคในกระดูก (วัณโรคกินกระดูก ทำให้กระดูกข้อสะโพกผุ) หมอบอกว่าโรคนี้เป็นโรคที่รักษาให้หายได้ แต่ถ้ามาหาหมอช้ากว่านี้อีกสองเดือน กระดูกจะขาด ต้องตัดขาข้างขวาทิ้ง เมื่อทราบว่าโรคหลวงปู่เป็นโรคที่รักษาให้หายได้ ลูกศิษย์ที่คอยฟังข่าวต่างก็พากันดีใจ หมอรักษาหลวงปู่ด้วยการให้ยาฉัน และใช้ลูกตุ้มเหล็กถ่วงขา อาการไม่ดีขึ้น

วันที่ 19 มิถุนายน หมอย้ายหลวงปู่จากตึก 72 ปี ชั้น 6 ไปตึกมหิดลวรานุสรณ์ ชั้น 1 ห้อง 3

วันที่ 23 มิถุนายน หลวงปู่มีอาการสะอึกแทรกซ้อน ทำให้หลวงปู่ได้รับทุกขเวทนาเป็นอันมาก แต่ท่านก็ต่อสู้กับทุกขเวทนาได้อย่างอาจหาญ

วันที่ 24 มิถุนายน หลวงปู่สะอึกมากจนหายใจไม่ได้ หยุดหายใจไปครู่หนึ่ง ผู้เขียนซึ่งเฝ้าอยู่ ต้องวิ่งไปเรียกหมอมาช่วย หลวงปู่สะอึกอยู่ทั้งวันทั้งคืน หมอให้น้ำเกลือ ให้เลือด

วันที่ 26 มิถุนายน หลวงปู่อาการดีขึ้น มีอาจารย์หมอโรจน์ สุวรรณสุทธิ และอาจารย์หมอชวดี รัตพงษ์ ได้ช่วยดูแลหลวงปู่อย่างใกล้ชิด

หมอเตรียมผ่าตัด

เมื่อรักษาหลวงปู่ด้วยการให้ฉันยาไม่ได้ผล อาจารย์หมอนทีจึงเรียนให้อาจารย์หมอโรจน์ทราบว่า จะต้องผ่าตัดเอากระดูกที่เสียออก เอากระดูกเข้าไปชนกัน แต่เมื่อหายแล้วท่านจะนั่งราบไม่ได้ จะต้องนั่งเก้าอี้ห้อยขา อาจารย์หมอโรจน์ขอร้องอาจารย์หมอนทีว่า “ท่านอาจารย์ท่านเป็นพระกัมมัฏฐาน ท่านจะต้องนั่งไหว้พระสวดมนต์ และนั่งขัดสมาธิภาวนา ขอให้ทำวิธีที่หายแล้วนั่งขัดสมาธิได้” อาจารย์หมอนทีบอกว่า “ยังไม่เคยทำ จะลองทำดูเป็นรายแรก ถ้าไม่ได้ผล จะต้องผ่าตัดใหม่ แล้วเอากระดูกเข้าชนกันตามวิธีเดิม”

วันที่ 3 กรกฎาคม หมอเตรียมผ่าตัดแต่ผ่าไม่ได้เพราะหลวงปู่มีอาการไข้อยู่

วันที่ 10 กรกฎาคม หมอได้ผ่าตัดที่ต้นขาของหลวงปู่เรียบร้อย หลังจากผ่าตัดแล้ว ระยะเจ็ดวัน หลวงปู่ไม่กระดุกกระดิกเลย ข้าวก็ไม่ฉัน นอนนิ่ง พอวันที่เจ็ด ท่านบอกว่า รู้สึกแสบที่ก้น พอดีอาจารย์หมอโรจน์เข้ามาดู จึงรู้ว่าเป็นแผลที่ก้น เพราะท่านไม่ได้กระดุกกระดิก ไม่เปลี่ยนท่านอน จึงเป็นแผลกดทับ ต้องรักษาทั้งแผลผ่าตัดทั้งแผลกดทับทั้งสะอึกก็กำเริบขึ้นอีก ทีละเจ็ดวัน ทีละสิบห้าวันจึงหยุด ทั้งหมอตรวจพบมีเชื้อมาลาเรียด้วย ทุกขเวทนาได้โหมกำลังเข้าเหยียบย่ำรูปขันธ์ของหลวงปู่อย่างหนักหน่วง แต่ท่านก็สู้ด้วยกำลังสติสมาธิปัญญาที่ท่านได้ฝึกฝนอบรมมาเป็นอย่างดี

วันที่ 20 กรกฎาคม พ.ศ. 2515 หมอเข้าเฝือกรอบตัวหลวงปู่ ข้างบนถึงหน้าอก ข้างล่างถึงเข่าทั้งสอง ซึ่งทำให้ท่านอึดอัดหายใจไม่สะดวก วันที่ 20 นี้ หมอได้ย้ายหลวงปู่จากห้อง 3 ชั้น 1 ขึ้นไปชั้น 2 ห้อง 16

.....................................................
ทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว เป็นกฎตายตัว


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 29 ก.ค. 2009, 17:58 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
ผู้จัดการ
ผู้จัดการ
ลงทะเบียนเมื่อ: 27 มี.ค. 2006, 17:34
โพสต์: 7781

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว www


รูปภาพ
(จากซ้าย) พระอาจารย์คำผอง กุสลธโร-หลวงปู่ชอบ ฐานสโม-พระอาจารย์ขันตี ญาณวโร
ถ่ายภาพ ณ วัดป่าผาแด่น บ้านผาแด่น ต.สันป่ายาง อ.แม่แตง จ.เชียงใหม่



๏ พ.ศ. 2515 พรรษาที่ 37
จำพรรษาที่ตึกมหิดลวรานุสรณ์
ชั้น 2 ห้อง 16 โรงพยาบาลศิริราช กรุงเทพฯ


พรรษาที่ 37

เมื่อหลวงปู่ย้ายมาอยู่ชั้น 2 ห้อง 16 อาการของหลวงปู่ดีขึ้น ไม่มีไข้ แต่ยังมีสะอึก ขาก็ยังถ่วงด้วยลูกตุ้มทั้งสองข้าง หนักข้างละ 10 กิโลกรัม หลวงปู่ต้องนอนถ่ายนอนฉัน อยู่บนเตียง เพราะลุกนั่งยังไม่ได้ เมื่อถึงวันเข้าพรรษา หลวงปู่เป็นพระอาพาธ ผู้เขียนเป็นพระอุปัฏฐาก ได้อธิษฐานจำพรรษา กำหนดเอาในบริเวณห้องผู้ป่วยนั้นเองเป็นเขตจำพรรษา อาจารย์หมอโรจน์ สุวรรณสุทธิ ได้ปวารณาให้ผู้เขียนผู้เป็นพระเฝ้าไข้หลวงปู่ไปรับบิณฑบาตที่บ้านของท่านที่วังหลัง นับแต่วันแรกที่หลวงปู่เข้าโรงพยาบาลจนถึงวันกลับจากโรงพยาบาล นับว่าท่านเป็นผู้มีศรัทธาแก่กล้า พร้อมทั้งครอบครัวของท่าน

ในพรรษานี้ หลวงปู่ชอบ ฐานสโม พร้อมทั้งพระลูกศิษย์ที่อุปัฏฐากดูแลท่าน ก็ได้จำพรรษาที่โรงพยาบาลศิริราชเหมือนกัน แต่หลวงปู่ชอบอยู่ที่ตึก 72 ปี ตอนเช้าพระอุปัฏฐากท่านก็ไปรับบิณฑบาตที่บ้านอาจารย์หมอโรจน์เหมือนกัน หลวงปู่ชอบท่านมีพระอุปัฏฐากอยู่ 3 องค์ คือ ท่านพระอาจารย์บัวคำ มหาวีโร (มรณภาพแล้ว), ท่านพระอาจารย์ขันตี ญาณวโร และสามเณรนงคาร ส่วนหลวงปู่บุญจันทร์ มีผู้เขียนองค์เดียวเป็นพระอุปัฏฐาก และมีโยม 1 คน คือ พ่อมูล ทัพพิลา ซึ่งเป็นน้องชายของหลวงปู่

เนื่องจากหลวงปู่ไม่ให้หมอผู้หญิง พยาบาลผู้หญิง ฉีดยาและจับชีพจร ในขณะนั้นคุณหมอโรจน์รุ่ง สุวรรณสุทธิ ซึ่งเป็นลูกชายของอาจารย์หมอโรจน์ ยังเป็นนักศึกษาแพทย์ อาจารย์หมอโรจน์จึงให้มาช่วยวัดปรอท จับชีพจรให้หลวงปู่อยู่เรื่อยๆ

การเฝ้าอุปัฏฐากหลวงปู่

ตีห้าใกล้สว่าง ถวายการเช็ดหน้าเช็ดตัวให้หลวงปู่ หกโมงเช้าให้โยมเฝ้าหลวงปู่ ผู้เขียนไปรับบิณฑบาตที่บ้านอาจารย์หมอโรจน์ แล้วกลับมา บางวันผู้ป่วยตามห้องต่างๆ อยากจะใส่บาตร มีญาติคอยนิมนต์ให้เข้าไปรับบิณฑบาตในห้องผู้ป่วยด้วย ก็เข้าไปรับให้ผู้ป่วยได้ทำบุญใส่บาตร พอกลับมาถึงห้อง ได้เวลาฉัน จัดอาหารที่หลวงปู่ฉันได้ เช่น ข้าวต้มหรือโจ๊กถวาย หลวงปู่ฉันเองไม่ได้ หมุนเตียงขึ้นนิดหน่อยแล้วก็ตักอาหารป้อนท่าน เมื่ออิ่มพอท่านก็บอกให้หยุด นำน้ำถวายให้ดูด เสร็จแล้วนำไม้ถูฟันชำระฟันให้ท่าน ถวายน้ำบ้วนปาก แล้วก็นำยาที่พยาบาลเอามาให้ ถวายให้ท่านฉัน บางวันท่านก็ไม่อยากฉัน เพราะยารักษาหลายโรครวมกันแล้วเยอะ ต้องคอยคะยั้นคะยอให้ท่านฉัน

เสร็จแล้วให้โยมนั่งเฝ้าท่าน ตัวเองจัดอาหารฉัน ฉันเสร็จมานั่งเฝ้าหลวงปู่ ให้โยมทานข้าว เก็บสัมภาระ กลางคืนกลางวันต้องสับเปลี่ยนกันเฝ้าอยู่อย่างนั้น ถึงวันปาฏิโมกข์ ให้โยมเฝ้าหลวงปู่ ผู้เขียนก็ไปลงปาฏิโมกข์ที่วัดบุรณะศิริ ซึ่งอยู่ติดกับกระทรวงยุติธรรม สนามหลวง กลับมาถึงห้องพัก ก็ให้หลวงปู่ท่านบอกบริสุทธิ์ในท่านอนอยู่บนเตียงนั้นเอง ถึงวันโกนก็ถวายการโกนผมท่านในท่านอนอยู่บนเตียง

ไม่ยอมให้ผ่าตัดครั้งที่ 2

หลังจากหมอผ่าตัดหลวงปู่แล้ว ถวายการรักษาด้วยการให้ยาฉันและฉีดยาเพื่อจะให้กระดูกงอกขึ้นมาแทนกระดูกที่เสีย เมื่อหายแล้วหลวงปู่จะนั่งพับขาได้

การรักษาผ่านไปได้หนึ่งเดือน หมอนำหลวงปู่ไปเอกซเรย์ ผลปรากฏว่ากระดูกข้อโคนขาไม่งอกตามที่ต้องการ อาจารย์หมอนทีจึงให้อาจารย์หมอชวดี รัตพงษ์ กราบเรียนหลวงปู่ว่า จะต้องผ่าใหม่ แล้วเอากระดูกเข้าชนกัน เมื่อหายแล้ว หลวงปู่จะเดินได้ แต่นั่งพับขาไม่ได้ พออาจารย์หมอชวดีกราบเรียน หลวงปู่จึงบอกว่า “เอาละ คุณหมอ แต่แค่นี้ก็เต็มทีแล้ว ถ้าจะผ่าอีกครั้งที่สอง อาตมาไม่เอาด้วยแหละ มันจะเป็นอย่างไรก็ให้มันเป็นไปตามเรื่องของสังขารเสีย”

อาจารย์หมอนทีบอกว่า “ถ้าอย่างนั้น ลองเพิ่มยาฉีดดูสัก 7 วัน ถ้ากระดูกไม่งอกจะต้องผ่าตัดแน่ๆ ถ้าไม่ทำใหม่ท่านก็จะเดินไม่ได้” หมอให้เพิ่มยาฉีดครบเจ็ดวันแล้วนำหลวงปู่ไปเอกซเรย์ ผลปรากฏว่ากระดูกได้งอกตามความต้องการ หมอดีใจมาก จึงกราบเรียนว่า “ท่านอาจารย์ไม่ได้ผ่าตัดอีกหรอก เพราะกระดูกงอกแล้ว”

ศ.นพ.อุดม โปษะกฤษณะ เรียนถามหลวงปู่

อาจารย์หมออุดมได้เข้ามาเยี่ยมหลวงปู่ในห้อง และเรียนถามหลวงปู่ว่า “ท่านอาจารย์ไม่สบาย มีทุกขเวทนามากอย่างนี้ ท่านอาจารย์อยู่อย่างไร” หลวงปู่ตอบว่า “เวทนาก็ต่างหาก จิตก็ต่างหาก จิตไม่มีในเวทนา เวทนาไม่มีในจิต” เมื่ออาจารย์หมออุดมได้ฟังอย่างนั้นจึงปวารณาตัวรับใช้หลวงปู่ ถ้าหลวงปู่มีขาดอะไรก็ให้บอกได้ แล้วจึงลาหลวงปู่กลับไป

แม่ชีเข้ามาเยี่ยม

ได้มีพวกแม่ชีที่อยู่วัดในกรุงเทพฯ เข้ามาเยี่ยมอาการอาพาธหลวงปู่ และเรียนถามหลวงปู่ว่า “ท่านอาจารย์ไม่สบายอย่างนี้ ท่านดูอะไร” หลวงปู่ตอบว่า “ทุกข์มันแสดงอยู่อย่างนี้จะไปดูอะไร ก็ดูทุกข์นั้นแหละ”

อาการดีขึ้นเรื่อยๆ

นับแต่หมอได้ตรวจพบว่า กระดูกสะโพกหลวงปู่งอกตามความต้องการของหมอ หลวงปู่ดีขึ้นเรื่อยๆ อาการสะอึกก็หาย ไข้ก็ไม่มี ฉันอาหารก็ได้ แต่ยังป้อนอยู่ เพราะมือหลวงปู่ไม่มีแรง หมอได้ให้หลวงปู่ฝึกออกแรง โดยเอากระสอบทรายเล็กๆ ให้ฝึกยก โดยเอากระสอบทรายวางที่ข้อเท้าแล้วให้ยกขาขึ้นลง และให้เอามือจับถุงทรายแล้วยกขึ้นลง ในที่สุดก็มีกำลังขึ้น หลวงปู่ลุกขึ้นนั่งได้ และจับช้อนตักอาหารเองได้

เวลาผ่านไปจนถึงวันที่ 29 กันยายน พ.ศ. 2515 หลวงปู่เริ่มใช้ไม้เท้าค้ำรักแร้หัดเดิน มีกำลังแข็งแรงขึ้นทุกวัน

มีอาการแทรกซ้อนทางตาซ้าย

ในขณะที่โรคที่มีในกระดูกดีขึ้น แต่หลวงปู่มีอาการทางตา หลวงปู่บอกให้หมอทราบว่า มีอาการปวดศีรษะข้างซ้าย และตาข้างซ้ายมองไปมีสีแดงสีเขียว มีหลายสีเหมือนกับรุ้ง หมอบอกว่า คงจะเป็นเพราะฉันยารักษาวัณโรคกระดูก โรคตากำเริบขึ้นเรื่อยๆ แต่หมอก็ไม่ได้ให้จักษุแพทย์ตรวจหลวงปู่

รูปภาพ
พระอาจารย์คำผอง กุสลธโร

รูปภาพ
พระอาจารย์มหาบัว ญาณสมฺปนฺโน


ปวารณาออกพรรษาในห้องผู้ป่วย

ถึงวันปวารณาออกพรรษา หลวงปู่กับผู้เขียนได้ทำพิธีปวารณาออกพรรษาตามพระวินัยบัญญัติ ในห้องผู้ป่วยที่ได้อธิษฐานจำพรรษานั้นเอง

เมื่อออกพรรษาแล้ว หลวงปู่ชอบ ฐานสโม และลูกศิษย์ก็เดินทางกลับจังหวัดเลย ขณะที่ พระอาจารย์คำผอง กุสลธโร ซึ่งเป็นลูกศิษย์ผู้ใหญ่ของหลวงปู่ชอบ และได้สัตตาหะมาเยี่ยมอาการอาพาธระหว่างพรรษาบ่อยๆ ได้เดินทางจากวัดป่าผาแด่น อำเภอแม่แตง จังหวัดเชียงใหม่ ลงมาเยี่ยมหลวงปู่ชอบ แต่มาไม่ทัน ท่านกลับไปก่อนแล้ว กลายเป็นว่าพระอาจารย์คำผองเกิดอาพาธปอดบวม ต้องนอนโรงพยาบาลแทนหลวงปู่ชอบ

หมออนุญาตให้เดินทางกลับ

หมอให้หลวงปู่พักฟื้นอยู่จนถึงเดือนธันวาคม พ.ศ. 2515 เมื่อเห็นว่าหลวงปู่แข็งแรงขึ้น แผลผ่าตัดก็หาย หมอจึงอนุญาตให้หลวงปู่กลับได้ในวันที่ 23 ธันวาคม พ.ศ. 2515

ท่านพระอาจารย์มหาบัวมาเยี่ยม

เมื่อ ท่านพระอาจารย์มหาบัว ญาณสมฺปนฺโน ทราบว่าหลวงปู่ดีขึ้น และหมออนุญาตให้กลับได้ ท่านจึงไปเยี่ยมหลวงปู่ในห้องผู้ป่วย และท่านได้ปรารภว่า “เราเป็นผู้ส่งท่านบุญจันทร์มารักษา และได้มอบให้หมอเป็นผู้ดูแลรักษา เราคอยฟังช่าวจากหมอเป็นระยะๆ อยู่ เราจึงไม่มารบกวน เมื่อทราบว่าอาการป่วยดีขึ้น และหมออนุญาตให้กลับได้แล้ว เราจึงมาเยี่ยมดู เราเป็นผู้ส่งท่านมา เราจะเป็นผู้รับผิดชอบในเรื่องค่าใช้จ่ายในการรักษาทั้งหมด ทั้งค่าห้อง ค่ายา ให้ทางโรงพยาบาลคิดรวบรวมดูซิเป็นราคาเท่าไร อาจารย์จะเป็นผู้จ่ายให้” ในขณะนั้นอาจารย์หมอชวดีก็อยู่ที่นั้นด้วย จึงได้ติดต่อเคาน์เตอร์พยาบาล

ในระยะที่รอฟังผลค่าใช้จ่ายอยู่นั้น ได้มีพวกญาติโยมที่มาถวายอาหารตอนเช้ายังไม่กลับอยู่หลายคน ได้พากันกราบเรียนท่านพระอาจารย์มหาบัวว่า “จะร่วมทำบุญช่วยค่าใช้จ่ายในการรักษาท่านอาจารย์บุญจันทร์ด้วย” ท่านพระอาจารย์มหาบัวจึงปรารภธรรมะ ให้เป็นเครื่องรื่นเริงแก่พวกโยมว่า

“พระพุทธเจ้าทรงตรัสไว้ว่า ผู้ใดอยากปฏิบัติเราตถาคต ก็จงปฏิบัติภิกษุไข้เถิด ผู้ใดปฏิบัติพยาบาลภิกษุไข้ ผู้นั้นเท่ากับว่าได้ปฏิบัติอุปัฏฐากเราตถาคต ดังนี้”

ธรรมะได้ชะโลมจิตใจของผู้ฟังอยู่ขณะนั้น ทำให้เกิดปีติ พวกญาติโยมถึงกับน้ำตาไหล รวมทั้งผู้เขียนด้วย ไม่รู้จะบรรยายอย่างไร ในขณะนั้นมันหากเป็นธรรมชาติของมัน ในจิตนี้มันนิ่มนวล มันอ่อนโยน มันอิ่ม มันซาบซึ้งในเมตตาธรรมของครูบาอาจารย์ที่ท่านมีต่อหลวงปู่ และมีความอิ่มเอิบในการที่ได้ปฏิบัติอุปัฏฐากหลวงปู่

คุณหมอชวดีกลับมากราบเรียนให้ท่านพระอาจารย์มหาบัวทราบว่า “สำหรับค่าหมอที่รักษาท่านอาจารย์บุญจันทร์ อาจารย์หมอนทีขอยกถวายทั้งหมด ไม่คิดค่ารักษา สำหรับค่าห้องค่าอาหารของโรงพยาบาล ที่ท่านอาจารย์บุญจันทร์เข้ารับการรักษาเป็นเวลา 6 เดือน ทางโรงพยาบาลไม่คิด ขอยกถวายทั้งหมด” ท่านพระอาจารย์มหาบัวจึงกล่าวขออนุโมทนาในส่วนกุศลในครั้งนี้ด้วย เมื่อท่านทราบว่าทุกอย่างเรียบร้อยไปด้วยดีแล้วท่านจึงกลับไปพักที่วัดบวรนิเวศวิหาร บางลำพู

ไปบรรยายธรรมที่ห้องประชุมแพทย์ ตึก 72 ปี

อาจารย์หมอโรจน์ สุวรรณสุทธิ ได้กราบนิมนต์ให้หลวงปู่บรรยายธรรม ที่ห้องประชุมแพทย์ ตึก 72 ปี โรงพยาบาลศิริราช ก่อนที่จะถึงวันเดินทางกลับ หลวงปู่ได้บรรยายธรรมในเรื่องการพิจารณากาย มีความโดยย่อว่า

“คณะแพทย์ได้ศึกษาเรื่องกายภายนอกจนชำนาญอยู่แล้ว เช่น การผ่าตัด การรักษาคนป่วยคนไข้ เห็นอยู่ทุกวัน ดูอยู่ทุกวัน แต่ยังขาดการน้อมเข้ามาดูกายของตน ทีนี้ให้น้อมเข้ามาดูกายของตน ในร่างกายนี้ประกอบด้วยอาการ 32 มีธาตุดิน ธาตุน้ำ ประชุมกันอยู่ กายคนอื่นก็เหมือนกัน กายของเราก็เหมือนกัน ส่วนที่เป็น ธาตุดิน ก็นับแต่ผม, ขน, เล็บ, ฟัน, หนัง, เนื้อ, เอ็น, กระดูก, ตับ, ไต, ปอด, ไส้น้อย, ไส้ใหญ่, อาหารใหม่, อาหารเก่า นี้เป็นธาตุดิน ธาตุน้ำ ได้แก่ น้ำดี, น้ำเสลด, น้ำเหลือง, น้ำเลือด จนถึงน้ำมูก, น้ำมูตร นี้เป็นธาตุน้ำ พิจารณาให้เห็นเป็นของเน่าเปื่อย ไม่สวยไม่งาม เห็นภายนอกให้น้อมเข้ามาพิจารณาในกายของเรา เมื่อเห็นในกายของเราตามเป็นจริงแล้ว ใจก็จะไม่หลงยึดหลงติด จึงจะไม่วุ่นวายเดือดร้อนเพราะหลงกาย” นี้เป็นธรรมที่หลวงปู่ได้บรรยายในห้องประชุมแพทย์ ตึก 72 ปี โรงพยาบาลศิริราช

เดินทางกลับจากโรงพยาบาลศิริราช

วันที่ 23 ธันวาคม พ.ศ. 2515 หลังจากฉันเช้าเสร็จ ได้เก็บสัมภาระสิ่งของ ร่ำลาพยาบาลที่ให้การดูแลหลวงปู่ หลวงปู่ได้มอบปัจจัยที่ญาติโยมได้ถวายไว้เวลามาเยี่ยมป่วย ให้สำหรับซื้อเครื่องมือแพทย์ เป็นจำนวนเงิน 25,000 บาท หลวงปู่นั่งรถเข็นของโรงพยาบาล มีอาจารย์หมอโรจน์ สุวรรณสุทธิ และภรรยาอาจารย์หมอนที และญาติโยมที่มีความเลื่อมใสในหลวงปู่ ได้ตามส่งหลวงปู่ถึงประตูเข้าตึกผู้ป่วย

คุณธเนศ (กิมก่าย) เอียสกุล รับภาระในการส่งหลวงปู่กลับวัด ได้ให้คนขับรถนำรถมาคอยรับที่ประตูเข้าตึกผู้ป่วย ด้านริมแม่น้ำเจ้าพระยา หลวงปู่ขึ้นนั่งรถ มีผู้เขียนกับพ่อมูล ทัพพิลา นั่งข้างหลัง ญาติโยมที่ตามส่งหลวงปู่กราบลา รถออกจากโรงพยาบาลศิริราชเวลา 09.30 น. ถึงวัดป่าสันติกาวาส เวลา 17.00 น. หลวงปู่จากวัดไปเป็นเวลา 6 เดือน พวกญาติโยมทราบว่าหลวงปู่จะกลับวัด ได้มาชุมนุมคอยรับหลวงปู่ที่วัดเป็นจำนวนมาก

พึ่งบุญญาบารมีของพ่อแม่ครูบาอาจารย์

การที่หลวงปู่อาพาธในครั้งนี้ นับว่าเป็นการอาพาธครั้งใหญ่หลวง เกือบจะเป็นครั้งสุดท้ายก็ว่าได้ แต่ด้วยบารมีแห่งเมตตาธรรมของพ่อแม่ครูบาอาจารย์ คือ ท่านพระอาจารย์มหาบัว ท่านได้ช่วยเหลือทั้งภายนอกและภายใน ภายนอก ท่านได้ช่วยเรื่องการติดต่อฝากฝังกับหมอให้ดูแลเอาใจใส่เป็นพิเศษ ทั้งการเดินทางไปและกลับ และค่ารักษาพยาบาล รวมทั้งญาติโยมที่ให้ความอุปการะในปัจจัยสี่ ก็ล้วนเป็นลูกศิษย์ลูกหาของท่านทั้งนั้น ภายใน คือเรื่องธรรมที่หลวงปู่มีความเคารพในองค์ท่านเป็นอย่างยิ่ง จึงได้ยอมไปรักษาตามคำสั่งของท่าน เพราะหลวงปู่ได้เล่าให้ฟัง หลังจากกลับจากโรงพยาบาลมาถึงวัดแล้วว่า “การป่วยครั้งนี้ เราได้เตรียมปล่อยวางทั้งหมดแล้ว ถ้าไม่ใช่พ่อแม่ครูจารย์บ้านตาดสั่งแล้ว เราไม่ไปเลย” หลวงปู่ได้เป็นร่มโพธิ์ร่มไทรให้คณะศิษยานุศิษย์ได้พึ่งพาอาศัยต่อมาอีกเป็นเวลาถึง 23 ปี จึงได้ละขันธ์ไป

ในคราวที่ผู้เขียนเฝ้าไข้หลวงปู่อยู่ที่โรงพยาบาลศิริราชนั้น เดือนที่ 1 ผ่านไป พอเดือนที่ 2 ผู้เขียนเกิดความคิดวุ่นวายเร่าร้อนในใจว่า “เราเคยอยู่ป่าอยู่ในที่สงบ พอไปอยู่ในที่วุ่นวาย เกิดไม่สบายตา มองเห็นคนเดินวุ่นวายไปมาในโรงพยาบาลก็เร่าร้อนในใจ หูได้ยินเสียงทั้งคืนทั้งวันก็เร่าร้อน จะทำอย่างไร ถ้าเราจะหนีกลับวัดก็ไม่มีใครเปลี่ยน ถ้าอยู่อุปัฏฐากครูบาอาจารย์ไปก็เร่าร้อน” อยู่มาวันหนึ่งขณะที่เคลิ้มหลับไป จึงนิมิตฝันว่า ขึ้นไปกราบท่านพระอาจารย์มหาบัวที่ศาลาวัดป่าบ้านตาด พอกราบเสร็จท่านก็ชี้นิ้วมือมาที่หน้าผู้เขียน พร้อมกับพูดว่า “สติกับจิตให้มันห่างกันทำไม”

พอได้ยินอย่างนั้น ปรากฏว่าในใจของเราเบาเย็นสบายไปหมด พอรู้สึกตัวขึ้น ความเร่าร้อนกระวนกระวายในใจได้หายไปหมด จึงได้ความว่า “เราเผลอสติ เมื่อตาเห็นก็ส่งจิตไปสำคัญมั่นหมาย หูได้ยินก็ส่งไป จึงวุ่นวายเร่าร้อน เมื่อมีสติเป็นคู่ของจิตอยู่ ความเราร้อนจึงหายไป เพราะจิตไม่ส่งไปตามสิ่งที่กระทบนั้น”

อีกครั้งหนึ่งผู้เขียนมีความกลัวในท่านพระอาจารย์มหาบัวมาก กลัวท่านจนเป็นทุกข์ กลัวว่าบางทีท่านมาเยี่ยมหลวงปู่ เราจะทำอย่างไรจึงจะถูก จึงจะไม่ผิด แล้วก็กลัวอยู่นั้นแหละ จนเป็นความทุกข์เร่าร้อนในใจ พออยู่มาวันหนึ่งขณะเคลิ้มหลับไป ก็นิมิตฝันว่า เข้าไปกราบท่านอีก ท่านเอามือชี้หน้าพร้อมกับพูดว่า “เข้าใจว่าครูบาอาจารย์เป็นเสือหรือ กลัวอะไรไม่มีเหตุผล” พอได้ยินอย่างนั้นจึงโล่งในใจ และรู้สึกตัวขึ้น จึงเข้าใจว่าเราไม่มีเหตุมีผล จากนั้นมาจึงหายเป็นทุกข์เร่าร้อน ผู้เขียนซาบซึ้งในบารมีธรรมและเมตตาธรรมของพ่อแม่ครูบาอาจารย์เป็นล้นพ้นหาประมาณมิได้

ท่านพระอาจารย์มหาบัวมาเยี่ยมที่วัด

หลังจากหลวงปู่กลับมาพักฟื้นอยู่ที่วัดไม่นาน ท่านพระอาจารย์มหาบัวได้มาเยี่ยมที่วัดอีก ในขณะนั้นหลวงปู่ยังนั่งเก้าอี้อยู่ เพราะนั่งราบธรรมดายังไม่สะดวก เมื่อหลวงปู่เห็นท่านพระอาจารย์ใหญ่เข้ามาในกุฏิ จึงพยายามจะลงจากเก้าอี้ ท่านจึงบอกว่า “ไม่ต้องลงหรอก ให้นั่งตามสบายคนป่วย” หลวงปู่กราบเรียนท่านพระอาจารย์มหาบัวว่า “ในขณะที่ป่วยอยู่โรงพยาบาลศิริราช พวกหมอผู้หญิงและพยาบาลผู้หญิงจะมาเจาะเลือดมาฉีดยา เกล้ากระผมไม่ยอมให้เจาะเลือดฉีดยา ขอให้หาหมอหรือพยาบาลผู้ชายมาทำให้ บางทีเขาก็แสดงกิริยาอาการไม่พอใจ” ท่านพระอาจารย์มหาบัวจึงพูดว่า “ที่ไหนมันถูกมันตรง ให้ยิงเข้าไปที่นั้นเลย ถ้ามันไม่ทะลุ เอาสิ่วเอาขวานช่วยเจาะช่วยฟันเข้าไป จนมันทะลุไปเลย ไม่ต้องหวั่นไหว” ท่านเยี่ยมหลวงปู่อยู่ครู่หนึ่งแล้วท่านพูดว่า “จะกลับแล้วนะ ไม่ทรมานคนป่วยหรอก” แล้วท่านก็กลับไป

ศ.นพ.โรจน์ สุวรรณสุทธิ ตามมาเยี่ยมหลวงปู่ที่วัด

ต้นเดือนมีนาคม พ.ศ. 2516 อาจารย์หมอโรจน์มาเยี่ยมหลวงปู่ที่วัด ขณะนั้นตาข้างซ้ายของหลวงปู่ไม่สามารถมองเห็นอะไรแล้ว อาจารย์หมอจึงนิมนต์หลวงปู่ไปตรวจที่โรงพยาบาลอุดรธานี ปรากฏว่าตาหลวงปู่เป็นต้อหิน อาจารย์หมอจึงนิมนต์ให้หลวงปู่ลงกรุงเทพฯ ไปรักษาตาที่โรงพยาบาลศิริราช

วันที่ 17 มีนาคม พ.ศ. 2516 หลวงปู่เดินทางโดยรถไฟลงกรุงเทพฯ ผู้เขียนติดตามไปด้วย หลวงปู่เข้าพักที่ตึกพลอย จาตุรจินดา โรงพยาบาลศิริราช อาจารย์หมอบรรจงศักดิ์เป็นผู้รักษาตาของหลวงปู่ พักรักษาอยู่ 22 วัน จึงได้เดินทางกลับวัด การรักษาตาซ้ายไม่สามารถทำอะไรได้ เป็นอันว่าตาซ้ายหลวงปู่เสียมองไม่เห็น รักษาไว้ได้เฉพาะตาข้างขวา ยังมองเห็นข้างเดียว

หลวงปู่แสดงเรื่องบุพกรรมให้ฟังว่า “นี้แหละกรรมที่เคยได้นิมิตว่าไปดูเขาชนไก่ เมื่อไก่ตัวที่เขาสับตาแตกแล้วมองมาหาเรา เหมือนเราเป็นเจ้าของมัน กรรมที่มีความยินดีไปดูกับเขานั้นแหละตามให้ผล ทำให้ตาของเราเสียมองไม่เห็น เป็นกรรมในอดีตชาติตามให้ผล ส่วนกรรมที่ถูกผ่าตัดที่ขาขวานั้น เป็นกรรมในปัจจุบัน คือ ตอนเป็นเด็กเลี้ยงวัวมีวัวตัวเมียตัวหนึ่ง เวลาต้อนวัวกลับเข้าคอก เวลามาถึงบ้านมันไม่เข้าคอก มันวิ่งเลยไปเข้าสวนหม่อนชาวบ้านเขา เขาก็ว่าให้ อยู่มาวันหนึ่งในขณะที่ไปเลี้ยงวัว ได้ถือเสียมไปด้วย เวลาต้อนวัวกลับเข้าคอก วัวตัวนั้นก็วิ่งเลยไปเข้าสวนหม่อนเขาอีก ด้วยความโกรธจึงซัดเสียมใส่ขาวัวถูกเส้นเลือดมันขาด ได้รับทุกขเวทนาอยู่นาน นี้แหละ กรรมอันนั้นตามให้ผลจึงได้รับทุกข์ทรมานเช่นเดียวกัน”

อกตํ ทุกฺขตํ เสยฺโย ความชั่วไม่ทำเสียเลยดีกว่า

หลวงปู่สอนว่า การทำสิ่งที่เป็นบาปเรียกว่า กรรมชั่ว การโกรธกัน ชังกัน เบียดเบียนกัน เป็นสิ่งไม่ดีเลย ให้รักกันดีกว่าชังกัน ทำความดีดีกว่าทำความชั่ว เมื่อเราทำกรรมดีหรือกรรมชั่ว เราจะเป็นผู้ได้รับผลของกรรมนั้น ไม่ต้องสงสัย

พระอาจารย์คำ สุมงฺคโล มรณภาพ

เมื่อเดือนเมษายน พ.ศ. 2516 ท่านพระอาจารย์คำ สุมงฺคโล ซึ่งเคยเป็นสหธรรมิก จำพรรษาร่วมกันกับหลวงปู่ ในคราวที่อยู่จังหวัดอุบลราชธานี ได้ถึงแก่มรณภาพในขณะที่ท่านมีอายุเพียง 59 ปี หลวงปู่ไม่สามารถที่จะไปร่วมในงานถวายเพลิงศพได้ เพราะหลวงปู่ก็ยังไม่แข็งแรง ท่านจึงให้ผู้เขียนเป็นตัวแทนไปร่วมในงานถวายเพลิงศพท่านพระอาจารย์คำ สุมงฺคโล ที่บ้านเศรษฐี อำเภอม่วงสามสิบ จังหวัดอุบลราชธานี


๏ พ.ศ. 2516 พรรษาที่ 38
จำพรรษาที่วัดป่าสันติกาวาส


พรรษาที่ 38

ในพรรษานี้หลวงปู่เดินไปบิณฑบาตที่สำนักชีได้แล้ว และนั่งขัดสมาธิ นั่งไหว้พระสวดมนต์ได้แล้ว แต่การอบรมญาติโยม การนำพานั่งสมาธิภาวนานั้น รู้สึกว่าจะผ่อนลง เพราะท่านก็มีกำลังอ่อนลงมาก ถ้านั่งนานเดินนานจะมีปฏิกิริยาที่ขาที่ผ่าตัด เพราะฉะนั้นการเดินจงกรมของท่านก็จะไม่ได้นาน จะรู้สึกเสียวที่โคนขาที่ผ่าตัด

รูปภาพ
สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก
สมเด็จพระสังฆราชพระองค์ที่ ๑๙ แห่งกรุงรัตนโกสินทร์



ศ.นพ.โรจน์ สุวรรณสุทธิ
นิมนต์ลงกรุงเทพฯ เพื่อตรวจตาและขา


เดือนพฤษภาคม พ.ศ. 2517 หลวงปู่ลงกรุงเทพฯ ตามคำนิมนต์ของอาจารย์หมอโรจน์ เพื่อให้หมอตรวจอาการของตาและขาที่ผ่าตัดอีกครั้งหนึ่ง ผู้เขียนได้ติดตามหลวงปู่ไปด้วย เดินทางโดยรถไฟถึงกรุงเทพฯ แล้วพักที่วัดบวรนิเวศวิหาร บางลำพู หลวงปู่เข้ากราบนมัสการ สมเด็จพระญาณสังวร (สมณศักดิ์ในขณะนั้นของ สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก) ที่พระตำหนักคอยท่าปราโมช

ครั้นพอหลวงปู่จะก้มกราบสมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จฯ ท่านก็ถามว่า “ท่านอาจารย์ได้กี่พรรษา” หลวงปู่กราบเรียนว่า “ได้ 38 พรรษา” สมเด็จฯ ท่านมีพรรษาแก่กว่าหลวงปู่ ท่านจึงยอมให้หลวงปู่กราบ เสร็จแล้วสมเด็จฯ ถามว่า “ท่านอาจารย์อยู่วัดไหน” หลวงปู่กราบเรียนว่า “อยู่วัดป่าสันติกาวาส อำเภอหนองหาน จังหวัดอุดรธานี” (ในขณะนั้นไชยวานยังไม่ตั้งเป็นอำเภอ) สมเด็จฯ ท่านก็ไม่ค่อยพูด หลวงปู่ก็ไม่ค่อยพูด ท่านนั่งอยู่ด้วยกันครู่หนึ่ง แล้วหลวงปู่จึงกราบลาสมเด็จฯ กลับที่พัก

หลวงปู่เดินทางไปจันทบุรีครั้งที่ 2

เมื่ออาจารย์หมอโรจน์ สุวรรณสุทธิ นิมนต์หลวงปู่ไปตรวจสุขภาพที่โรงพยาบาลศิริราช รู้ว่าอาการทุกส่วนดีขึ้น ไม่มีโรคแทรกซ้อน จึงกราบนิมนต์หลวงปู่ไปพักที่เขาสระบาป บริษัทสวนบ้านอ่าง อำเภอมะขาม จังหวัดจันทบุรี หลวงปู่รับไปตามที่อาจารย์หมอโรจน์นิมนต์ หลังจากฉันภัตตาหารเช้าเสร็จที่วัดบวรฯ อาจารย์หมอโรจน์ได้นำรถมารับหลวงปู่และผู้เขียน เดินทางไปจังหวัดจันทบุรี ถึงอำเภอบางละมุง อาจารย์หมอโรจน์ได้พาแวะพักที่บ้านทรายหาด อำเภอบางละมุง ถวายน้ำฉันพอหายเหนื่อย แล้วเดินทางต่อผ่านสัตหีบ จังหวัดระยอง ผ่านจังหวัดจันทบุรี เลยไปอำเภอมะขาม เข้าบริษัทสวนบ้านอ่าง

อาจารย์หมอได้ให้คนงานที่สวน ทำที่สำหรับให้หลวงปู่พักบนเขาสระบาป ใกล้กับธารน้ำที่ไหลออกจากเขา มีน้ำใสเย็นดี ที่สำหรับให้หลวงปู่พักนั้น ยกเป็นร้านปูไม้กระดานชนกับก้อนหิน ข้างบนใช้ผ้ายางมุงเป็นหลังคาชนกับก้อนหิน แขวนกลดมุ้งใต้หลังคาผ้ายาง ที่สำหรับผู้เขียนและอาจารย์หมอ ใช้เตียงตั้ง แล้วแขวนกลดมุ้งเลย ไม่มีหลังคา ที่เขาสระบาปนี้เป็นป่าดงดิบ เต็มไปด้วยสัตว์ป่า มีทั้งทากและเห็บ ต้องคอยระวังไม่ให้ทากและเห็บกัด ถ้ามันกัดแล้วจะเป็นไข้ เมื่อเดินทางถึงสวนบ้านอ่างแล้ว หลวงปู่จะเดินขึ้นเขาไม่ได้ เพราะขาของท่านยังไม่แข็งแรง อาจารย์หมอจึงให้คนงานเอาเก้าอี้หวายผูกไม้ขนาบสองข้างให้หลวงปู่นั่ง แล้วหามขึ้นไปที่พักบนเขา ทางขึ้นเขาก็เป็นทางพอคนเดินได้

โปรดหนุ่มตาบอดผู้ชายสองพี่น้อง

ในขณะที่หลวงปู่พักอยู่บนเขานั้น ตอนกลางคืนจะมีพวกโยมที่สนใจในธรรมะ ซึ่งบ้านอยู่ตามสวนใกล้ๆ นั้น ขึ้นไปฟังธรรมะจากหลวงปู่ และมีผู้ชายสองพี่น้อง ซึ่งตาบอดทั้งสองคน ให้ญาติจูงขึ้นไปฟังธรรมจากหลวงปู่ด้วย หลวงปู่นำพาเข้าที่นั่งสมาธิ เอาขาขวาทับขาซ้าย แล้วประนมมืออธิษฐานจิตต่อพระรัตนตรัยว่า “บัดนี้ข้าพเจ้าจะตั้งใจปฏิบัติ เพื่อเป็นการปฏิบัติบูชาต่อองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า กับทั้งพระธรรม และพระอริยสงฆ์สาวก ขอให้น้ำใจของข้าพเจ้าจงสงบระงับตั้งมั่นเป็นสมาธิ มีปัญญาเฉลียวฉลาด สามารถรู้แจ้งแทงตลอดในสัจธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทุกประการเทอญ”

พุทโธ ธัมโม สังโฆ 3 หนแล้ว วางมือลง เอามือขวาวางทับมือซ้าย ตั้งกายให้ตรง เอาสติความระลึกรู้ ระลึกพุท-หายใจเข้า ระลึกโธ-หายใจออก ไม่ให้พลั้งเผลอ ให้สติกับคำบริกรรมกลมกลืนกันอยู่ ไม่ต้องสนใจอย่างอื่น ให้ปลูกศรัทธาความเชื่อมั่นลงในใจว่า พระพุทธเจ้าอยู่ที่ใจ พระธรรมอยู่ที่ใจ พระอริยสงฆ์อยู่ที่ใจ ให้สังเกตดูว่า ใจของเราเชื่อมั่นลงจริงๆ แล้วก็บริกรรมพุท-หายใจเข้า โธ-หายใจออก เรื่อยไป จนกว่าจิตของเรารวมอยู่กับคำบริกรรมจริงๆ เรียกว่าจิตสงบจากสัญญาอารมณ์ภายนอก จะเกิดความเบากายเบาจิต มีความตั้งมั่นแน่วแน่ เด่นอยู่ในคำบริกรรมอันเดียว เรียกว่าจิตเป็นสมาธิ

เมื่อจิตถอนจากสมาธิแล้ว เราจะหยุดให้ทบทวนดูเสียก่อน ว่าเราตั้งสติอย่างไร เรากำหนดอย่างไร แล้วยกมือขึ้นประนมนึกพุทโธ ธัมโม สังโฆ 3 หนเสียก่อนจึงออกจากที่นั่งภาวนา เมื่อออกจากที่นั่งภาวนาแล้วก็ให้ทำสติระลึกรู้ในอิริยาบถทั้งสี่ ยืน เดิน นั่ง นอน ไม่ให้ปล่อยจิตใจไปตามยถากรรม ให้เป็นผู้ฝึกจิตตั้งจิตอยู่เสมอ เมื่อเราเข้าที่ภาวนาทีหลังจิตจึงสงบได้ง่าย เมื่อจิตออกจากการพักในความสงบแล้ว ก็ให้พิจารณากาย และพิจารณาในจิต ให้เห็นเป็นสัจธรรม ไม่เที่ยง เป็นทุกข์ ไม่ใช่ตัวตน

เมื่อหลวงปู่หยุดนำนั่งสมาธิแล้ว ท่านจึงสอนหนุ่มตาบอดสองพี่น้อง ให้ตั้งอยู่ในความไม่ประมาท ให้เร่งประกอบคุณงามความดี ด้วยความเป็นผู้มีศีลและเจริญเมตตาภาวนา ผลของกรรมที่ทำให้เสียจักษุ ถือว่าเป็นกรรมเก่าที่ไม่ดีที่เราทำมาแล้ว ให้ยอมรับว่าเป็นผลกรรมที่เกิดจากเราทำมาแล้ว ต่อแต่นี้ไปให้ตั้งใจทำแต่กรรมดี ทำตนให้มีศีลห้าประจำ ตั้งอยู่ในพระไตรสรณคมน์ ถึงพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ เป็นสรณะที่พึ่งที่เคารพและนับถือ หมั่นทำสมาธิภาวนาทำใจให้สงบขาดจากสัญญาอารมณ์ภายนอก เพ่งพิจารณาธาตุ 4 ขันธ์ 5 ให้เห็นเป็นของไม่เที่ยง แตกดับทำลาย ให้มันมืดแต่ตานอก ตาในให้มันสว่างจ้าอยู่อย่างนั้น เมื่อเป็นผู้ไม่ประมาท ก็จะเป็นผู้พ้นจากกรรม เมื่อหลวงปู่หยุดการอบรมแล้ว พวกญาติโยมก็ลากลับ

พูดกับปลวกรู้ภาษากัน

ในขณะที่หลวงปู่พักอยู่เขาสระบาปเป็นวันที่ 3 ตอนกลางวันฝนได้ตกลงมาอย่างหนัก ผู้เขียนต้องไปหลบฝนอยู่ที่ที่พักของหลวงปู่ เพราะมีผ้ายางมุง เมื่อฝนหยุดจึงกลับที่พักของตัวเอง พอถึงเวลาค่ำมืดแล้ว พวกโยมก็มาฟังธรรมหลวงปู่ตามเคยเหมือนทุกวัน ผู้เขียนก็นั่งอยู่เป็นเพื่อนหลวงปู่ คอยปฏิบัติท่านอยู่ข้างๆ ในขณะที่หลวงปู่อบรมธรรมะให้กับคณะศรัทธาญาติโยมอยู่นั้น ได้มีกองทัพปลวกยกขบวนมา คงจะหนีน้ำเพราะฝนตกตอนกลางวัน ขึ้นมาตามเสาร้านที่พักหลวงปู่ เข้าไปจนถึงเสื่อที่หลวงปู่นั่งอยู่ หลวงปู่จึงพูดกับปลวกว่า “อ้าว พากันขึ้นมาทำไป ที่นี่เป็นที่อยู่ของพระ ไป พากันกลับลงไปที่อื่น”

หลวงปู่พูดจบลง ปลวกที่เป็นหัวหน้าขบวนก็หันกลับพาขบวนพวกปลวกทั้งหลายกลับลงไปจากร้านที่พักหลวงปู่หมด ทำให้ผู้เขียนซึ่งนั่งดูอยู่ข้างๆ หลวงปู่ประทับใจเป็นอย่างยิ่ง จำเหตุการณ์ในครั้งนั้นไม่ลืม และนึกอยู่ในใจว่า “หลวงปู่ช่างพูดกับปลวกรู้เรื่องรู้ภาษากัน”

หลวงปู่พักอยู่เขาสระบาป 4 วัน ศ.นพ.โรจน์ ก็รับหลวงปู่เดินทางกลับเข้ากรุงเทพฯ พักที่กรุงเทพฯ หนึ่งวัน แล้วก็เดินทางกลับวัดป่าสันติกาวาส จังหวัดอุดรธานี

.....................................................
ทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว เป็นกฎตายตัว


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 30 ก.ค. 2009, 09:38 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
ผู้จัดการ
ผู้จัดการ
ลงทะเบียนเมื่อ: 27 มี.ค. 2006, 17:34
โพสต์: 7781

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว www


รูปภาพ
บรรยากาศความสงบร่มรื่นภายในวัดป่าสันติกาวาส จ.อุดรธานี ในปัจจุบัน


๏ พ.ศ. 2517-2518 พรรษาที่ 39-40
จำพรรษาที่วัดป่าสันติกาวาส


พรรษาที่ 39-40

ในพรรษาปี พ.ศ. 2518 นี้ หลวงปู่ได้สัตตาหกิจไปร่วมงานถวายเพลิงศพหลวงปู่บัว สิริปุณฺโณ วัดป่าหนองแซง (วัดราษฎรสงเคราะห์) ซึ่งท่านได้มรณภาพก่อนเข้าพรรษา แล้วทำการถวายเพลิงศพหลังจากเข้าพรรษาแล้วไม่กี่วัน หลวงปู่อยู่ร่วมงานจนเก็บอัฐิธาตุท่านเสร็จแล้วจึงได้กลับวัด

อาพาธครั้งที่ 5 ด้วยอุบัติเหตุเส้นโลหิตแตก

ในพรรษาปี พ.ศ. 2518 เดือนสิงหาคม มีต้นไม้ต้นหนึ่งไม่โตนัก ตายยืนต้นอยู่หลังกุฏิที่หลวงปู่พำนักอยู่ หลังจากฉันเช้าที่ศาลาเสร็จแล้วหลวงปู่กลับไปกุฏิ มีผ้าขาวคนหนึ่งอยู่ปรนนิบัติท่าน หลวงปู่นำมีดโต้ที่ท่านฝนไว้อย่างคมกริบ ให้ผ้าขาวตัดต้นไม้ที่ตายแห้งอยู่กลังกุฏิท่านออก ในขณะที่ตัดไม้ยังไม่เสร็จฝนได้ตกลงมา ผ้าขาวทิ้งมีดตากฝน ตัวเองวิ่งเข้าใต้ถุนกุฏิหลวงปู่ หลวงปู่เห็นมีดทิ้งตากฝนอยู่ ท่านจึงเดินไปเก็บเอามีดเข้ามาใต้ถุนกุฏิท่าน แล้วเอามีดเสียบไว้ที่กองไม้ใต้ถุนกุฏิ

ท่านนึกว่ามีดเสียบไว้แน่นดีแล้ว จึงวางมือแล้วจะเดินออกจากที่นั้น ทันใดนั้นมีดได้หลุดออกจากกองไม้ เหวี่ยงลงมาถูกหลังเท้าติดกับข้อเท้าขวา เป็นเหตุให้เส้นเลือดใหญ่เป็นแผล ท่านสั่งไม่ให้ผ้าขาวไปบอกใคร เพราะในขณะนั้นท่านอยู่ที่กุฏิ 2 คนกับผ้าขาวเท่านั้น ท่านให้ผ้าขาวเอาใบเพิน (หรือหญ้าบ้านร้างก็เรียก) มาเคี้ยวแล้วเอาปิดแผล เพื่อขัดเลือดให้เลือดหยุด

ในวันนั้นพอตะวันบ่าย ผู้เขียนอยู่กุฏิตัวเองรู้สึกอยากจะไปหาหลวงปู่ที่กุฏิท่าน จึงลงจากกุฏิแล้วเดินไปหาหลวงปู่ที่กุฏิท่าน เห็นท่านนั่งเหยียดเท้าอยู่กับผ้าขาว ผู้เขียนกราบท่านแล้วถามว่าเป็นอะไร ท่านบอกว่า “ถูกมีด กรรมมันยังไม่สิ้นสุด” ผู้เขียนจะไปตามอนามัยมาเย็บแผล ท่านห้ามไม่ให้ไป ผู้เขียนก็ปฏิบัติตาม อยู่มาได้ 22 วัน เส้นเลือดที่เป็นแผลได้แตกเลือดพุ่ง ผู้เขียนได้ใช้ผ้าขาวพันที่แผลและขาของท่านไว้ แล้วไปติดต่อหารถนำท่านส่งโรงพยาบาลอุดรธานี

เส้นเลือดหลวงปู่แตกตั้งแต่เวลา 11.00 น. จนเวลาบ่ายสามโมงเย็นจึงได้รถจากแขวงการทางสว่างแดนดินมารับหลวงปู่ ส่งถึงโรงพยาบาลอุดรธานีเกือบมืด นำเข้าห้องฉุกเฉิน หมอแก้ผ้าที่พันแผลไว้ออก เลือดพุ่งออกมา หมอใช้คีมจับเส้นเลือดไว้ แล้วนำหลวงปู่เข้าห้องผ่าตัดฉุกเฉิน จนถึงเวลา 20.00 น. หมอนำหลวงปู่ออกจากห้องผ่าตัดไปพักที่ตึกสงฆ์อาพาธ หมอบอกว่าเหลืออีก 10 เปอร์เซ็นต์ หลวงปู่จะสิ้นใจ เพราะเลือดออกมา จนถึงเวลา 02.00 น. หลวงปู่จึงลืมตาขึ้นมองดูลูกศิษย์ที่คอยอุปัฏฐากอยู่ใกล้ๆ ทุกคนจึงหายใจโล่งไปตามๆ กัน

เราเตรียมตัวไปแล้ว

วันหลังเมื่อหลวงปู่อาการดีขึ้นแล้ว ท่านจึงเล่าให้ฟังว่า “ในขณะที่เลือดออกมากๆ นั้น เรามองดูอะไรก็อยู่ไกลริบหรี่ไม่ได้การแล้ว จึงกำหนดเข้าที่ เตรียมตัวไปแล้วแต่มันยังไม่ไปจึงฟื้นคืนมา”

รูปภาพ
พระอาจารย์เสน ปญฺญาธโร


ศ.นพ.โรจน์ สุวรรณสุทธิ มาเยี่ยม

เมื่อ ศ.นพ.โรจน์ สุวรรณสุทธิ ได้ทราบข่าวว่าหลวงปู่อาพาธ ด้วยเส้นโลหิตแตก จึงเดินทางจากกรุงเทพฯ มาเยี่ยมหลวงปู่ที่ตึกสงฆ์อาพาธ โรงพยาบาลอุดรธานี และได้ทำแผลล้างถวายหลวงปู่ด้วยตนเองด้วย เสร็จแล้วได้กราบเรียนหลวงปู่ว่า “หากท่านอาจารย์พักอยู่โรงพยาบาลไม่เป็นที่สบาย ก็กลับไปรักษาอยู่ที่วัดได้ เพราะอาการอย่างอื่นไม่มีอะไร มีแต่การล้างแผลวันละครั้งเท่านั้น”

เมื่อ ศ.นพ.โรจน์ สุวรรณสุทธิ เยี่ยมหลวงปู่เป็นเวลานานพอสมควรแล้ว จึงกราบลาหลวงปู่กลับกรุงเทพฯ หลวงปู่พักรักษาอยู่โรงพยาบาลอุดรธานีประมาณ 1 อาทิตย์ ท่านพระอาจารย์เสน ปญฺญาธโร จึงนิมนต์หลวงปู่ไปพักรักษาอยู่ที่วัดป่าหนองแซง (วัดราษฎรสงเคราะห์) หลวงปู่พักอยู่วัดป่าหนองแซงได้ 3 วัน คุณลัดดาวัลย์ เอียสกุล ไปพบหลวงปู่ที่วัดป่าหนองแซง จึงกราบอาธาธนาให้หลวงปู่ไปพักรักษาที่โรงพยาบาลหนองคาย เพื่อให้ลูกศิษย์ลูกหาทางหนองคายได้ถวายอุปัฏฐากบ้าง

หลวงปู่รับนิมนต์ไปพักรักษาที่โรงพยาบาลหนองคายอยู่ระยะหนึ่ง จึงได้ออกจากโรงพยาบาลไปพักอยู่ที่วัดอรุณรังษี แผลที่เป็นก็ยังไม่หาย คุณลัดดาวัลย์และคณะลูกศิษย์ชาวหนองคายได้ถวายอุปัฏฐากเป็นอย่างดียิ่ง และได้ขอร้องให้ทางโรงพยาบาลหนองคาย ส่งพยาบาลผู้ชายไปทำแผลให้ที่วัดอรุณรังษี จนแผลหายดีเรียบร้อย หลวงปู่จึงได้กลับวัดป่าสันติกาวาส รวมเวลาที่พักรักษาอยู่ที่หนองคายเป็นเวลาถึง 3 เดือน เป็นอันว่าพรรษาที่ 40 ของหลวงปู่ ท่านไม่ได้จำอยู่วัดป่าสันติกาวาสตลอด ด้วยเหตุแห่งอาพาธจึงย้ายไปที่ต่างๆ ดังได้กล่าวมาแล้ว


๏ พ.ศ. 2519 พรรษาที่ 41
จำพรรษาที่วัดป่าสันติกาวาส


พรรษาที่ 41

ในปี พ.ศ. 2519 นี้ ทั้งนอกพรรษาและในพรรษา หลวงปู่ได้เอาใจใส่ในการอบรมพระเณร และอุบาสกอุบาสิกา โดยเฉพาะวันประชุมพระเณร ในวัน 7 ค่ำ 14 ค่ำ เป็นวันที่ท่านอบรมพระเณรเป็นพิเศษ ส่วนวัน 8 ค่ำ 15 ค่ำ เป็นวันที่อุบาสกอุบาสิกา มาถือศีลอุโบสถและนอนอยู่ที่วัด ท่านก็จะอบรมญาติโยมหญิงชายที่มาจำศีลอุโบสถเป็นพิเศษ หลังจากท่านนำพาทำวัตรเย็นแล้ว ก็อบรมธรรมะและนำพานั่งสมาธิภาวนาไปจนถึงเวลา 24 นาฬิกา ท่านจึงเลิกกลับกุฏิที่พักของท่าน

รูปภาพ
หลวงปู่ฝั้น อาจาโร


ไปร่วมงานทำบุญสวดมนต์ถวายหลวงปู่ฝั้น อาจาโร

เมื่อออกพรรษาแล้ว เดือนพฤศจิกายน พ.ศ. 2519 หลวงปู่ฝั้น อาจาโร อาพาธ เข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ เมื่ออาการดีขึ้นท่านได้เดินทางกลับวัดป่าอุดมสมพร คณะศิษยานุศิษย์ได้ทำบุญสวดมนต์ถวายเพื่อเป็นการต่ออายุให้ท่าน และได้นิมนต์หลวงปู่ไปร่วมในงานด้วย หลวงปู่รับนิมนต์และเดินทางไปค้างที่วัดป่าอุดมสมพร เพื่อสวดมนต์ถวายหลวงปู่ฝั้น ตอนเช้ารับฉันบิณฑบาตเสร็จแล้วจึงเดินทางกลับวัดป่าสันติกาวาส

อุบัติเหตุขวานถูกหัวแม่เท้าข้างซ้าย

ในปี พ.ศ. 2519 นี้ หลวงปู่ได้รับอุบัติเหตุขวานถูกที่หัวแม่เท้าซ้ายเกือบขาด ในวันนั้นเป็นเวลาบ่าย หลวงปู่สั่งให้พระเอาขวานมาถากเศษไม้ที่ทิ้งอยู่ เอาไว้ทำด้ามจอบด้ามเสียม พระจับขวานถากไม้ทำไม่เป็น ในขณะนั้นหลวงปู่ท่านยืนดูอยู่ เมื่อเห็นพระทำไม่เป็น ท่านจึงจับเอาขวานจากมือพระแล้วถากไม้ให้ดู ในขณะนั้นผู้เขียนกำลังทำข้อวัตรเอารถเข็นเข็นน้ำใส่ตุ่มตามกุฏิต่างๆ ผ่านไป เห็นหลวงปู่จับขวานถากไม้อยู่ เห็นไม้มันกระดกๆ ไปมา ในใจจึงนึกขึ้นว่า “โอ้ หลวงปู่ถากไม้ เดี๋ยวขวานจะถูกเท้าอีกแหละ” แล้วก็เข็นรถน้ำผ่านไป

พอให้หลังไปไม่ไกลได้ยินเสียง วิ่งตามหลัง ในใจคิดว่าขวานคงถูกหลวงปู่แล้ว พอเณรวิ่งตามมาถึงจึงรีบถามเณรว่า “อะไร” เณรตอบว่า “ขวานถูกหัวแม่เท้าหลวงปู่แล้ว” ผู้เขียนวางรถเข็นน้ำแล้วรีบไปดูเห็นหัวแม่เท้าท่านเกือบขาดออกจากกันเลือดไหลอยู่ จึงเอาผ้ามาพันผูกไว้ให้แน่น ให้คนไปตามเอารถในหมู่บ้านมานำหลวงปู่ไปโรงพยาบาลอุดรธานี ให้หมอเย็บแผล เรียบร้อยแล้วหมอให้กลับวัดได้

คุณหมอสัมพันธ์เป็นผู้เย็บแผลให้ แล้วหมอพูดว่า “แหม ท่านอาจารย์ปีกลายนี้ก็ถูกมีด ปีนี้ก็ถูกขวานอีก” หลวงปู่จึงพูดว่า “กรรมมันให้ผลยังไม่หมด ทีนี้หมดแล้วละ 3 ครั้งแล้ว” หลวงปู่พูดต่อไปว่า “กรรมตั้งแต่เป็นเด็กเลี้ยงวัวโน้นแหละ ซัดเสียมใส่ข้อเท้าวัว เส้นเลือดมันขาด กรรมกลัวจะไม่ได้ให้ผลก็เลยรีบให้ผลในชาตินี้ เรื่องของกรรมเป็นสิ่งที่น่ากลัว อย่าไปยินดีในการทำบาปทำกรรมชั่วเลย เมื่อทำแล้วก็ได้รับผลอย่างนั้นแหละ” หลวงปู่เตือนลูกศิษย์ลูกหาไม่ให้กล้าต่อการทำกรรมชั่ว เพราะทำแล้วย่อมได้รับผลเป็นทุกข์


๏ พ.ศ. 2520 พรรษาที่ 42
จำพรรษาที่วัดป่าสันติกาวาส


พรรษาที่ 42

หลวงปู่ฝั้น อาจาโร ท่านมรณภาพเมื่อวันที่ 4 มกราคม พ.ศ. 2520 คณะศิษยานุศิษย์ได้ตั้งศพท่านบำเพ็ญกุศลจนถึงปี พ.ศ. 2521 และได้จัดงานพระราชทานเพลิงศพท่าน เมื่อวันที่ 21 มกราคม พ.ศ. 2521 ก่อนจะถึงวันพระราชทานเพลิงศพ 3 วัน หลวงปู่ท่านได้ระลึกถึงคุณานุคุณของครูบาอาจารย์ที่เคยได้ร่วมพบปะสนทนาธรรมซึ่งกันและกัน และท่านก็มีความเคารพในหลวงปู่ฝั้นด้วย จึงได้เดินทางไปกราบคารวะศพหลวงปู่ฝั้น อาจาโร ที่วัดป่าอุดมสมพร ก่อนวันงานท่านบอกว่า “วันงานคนเยอะ เราตาไม่ดี ขาไม่ดี ต้องไปก่อนวันงาน”

ทำบุญฉลองและถวายศาลานิยม สุวรรณสิทธิ์

เดือนมีนาคม พ.ศ. 2521 การก่อสร้าง ศาลานิยม สุวรรณสิทธิ์ ซึ่งได้ก่อสร้างมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2515 ได้สำเร็จเรียบร้อย สิ้นค่าก่อสร้างทั้งหมด 620,000 บาท (หกแสนสองหมื่นบาท) หลวงปู่จึงให้ทำพิธีทำบุญฉลองความสำเร็จที่ได้ร่วมแรงร่วมใจกันก่อสร้างมาจนเสร็จเรียบร้อย โดยให้นิมนต์ครูบาอาจารย์มาเจริญพระพุทธมนต์ และแสดงพระธรรมเทศนา 2 กัณฑ์ ในตอนกลางคืน กัณฑ์ที่ 1 แสดงโดยท่านพระอาจารย์สิงห์ทอง ธมฺมวโร กัณฑ์ที่ 2 แสดงโดยท่านพระอาจารย์สีลา อินฺทวํโส ตอนเช้าก็ถวายอาหารบิณฑบาต ญาติโยมกล่าวคำถวายเสนาสนะก็เป็นเสร็จพิธี และคณะสงฆ์พร้อมเจ้าหน้าที่ฝ่ายบ้านเมือง ได้ทำการย้ายเขตวิสุงคามสีมาจากวิหารกลางน้ำมาปักเขตใหม่ที่ศาลาการเปรียญด้วย


๏ พ.ศ. 2521-2522 พรรษาที่ 43-44
จำพรรษาที่วัดป่าสันติกาวาส


พรรษาที่ 43-44

วันที่ 27 เมษายน พ.ศ. 2523 พระอาจารย์สิงห์ทอง ธมฺมวโร และพระอาจารย์สุพัฒน์ สุขกาโม ได้มรณภาพด้วยอุบัติเหตุเครื่องบินตก พร้อมกับ พระอาจารย์บุญมา ฐิตเปโม, พระอาจารย์วัน อุตฺตโม และพระอาจารย์จวน กุลเชฏฺโฐ หลังจากตั้งศพของท่านบำเพ็ญกุศลที่วัดพระศรีมหาธาตุ วรมหาวิหาร เขตบางเขน กรุงเทพฯ ครบ 7 วันแล้ว คณะศิษยานุศิษย์ได้นำศพของท่านพระอาจารย์สิงห์ทอง มาตั้งบำเพ็ญกุศลที่วัดป่าแก้วชุมพล ตำบลบ้านชุม อำเภอสว่างแดนดิน จังหวัดสกลนคร ส่วนศพของท่านพระอาจารย์สุพัฒน์ นำไปตั้งบำเพ็ญกุศลที่วัดป่าประสิทธิ์สามัคคี บ้านต้าย ตำบลบ้านต้าย อำเภอสว่างแดนดิน จังหวัดสกลนคร

หลวงปู่ได้ไปค้างคืนประจำอยู่วัดป่าแก้วชุมพล เพื่อเป็นกำลังใจให้แก่พระภิกษุ สามเณร และคณะศรัทธาญาติโยม ที่มาร่วมกันจัดงานพระราชทานเพลิงศพท่านพระอาจารย์สิงห์ทอง เมื่อถึงวันพระราชทานเพลิงศพท่านพระอาจารย์สุพัฒน์ หลวงปู่ได้ไปร่วมเป็นกำลังใจให้แก่พระภิกษุ สามเณร และคณะศรัทธาญาติโยม ที่วัดป่าประสิทธิสามัคคี บ้านต้าย ด้วย จนเสร็จการพระราชทานเพลิงศพและเก็บอัฐิท่านพระอาจารย์สุพัฒน์เสร็จแล้ว หลวงปู่จึงกลับไปพักอยู่ที่วัดป่าแก้วชุมพลอีก จนถึงวันพระราชทานเพลิงศพท่านพระอาจารย์สิงห์ทอง


ไม่มีความสงสัยในธรรม

ในวันพระราชทานเพลิงศพท่านพระอาจารย์สิงห์ทองนั้น หลวงปู่ได้พักอยู่กุฏิที่มุงด้วยไม้ที่วัดป่าแก้วชุมพล และมี ท่านพระอาจารย์สุวัจน์ สุวโจ และครูบาอาจารย์องค์อื่นอีกหลายรูปนั่งอยู่ด้วยกัน ผู้เขียนก็นั่งอยู่ในที่นั้นด้วย พระอาจารย์สุวัจน์ท่านเคยจำพรรษาอยู่ร่วมกันกับหลวงปู่ในคราวที่อยู่จังหวัดร้อยเอ็ด พอมาพบกัน ท่านก็ไต่ถามสนทนาธรรมกัน สุดท้ายพระอาจารย์สุวัจน์จึงเรียนถามหลวงปู่ว่า “เป็นอย่างไร เดี๋ยวนี้ครูบาอาจารย์ยังมีความสงสัยในธรรมอยู่หรือไม่” หลวงปู่ตอบอย่างอาจหาญว่า “ไม่มีความสงสัยในธรรม”

หลวงปู่อยู่ร่วมพระราชทานเพลิงศพท่านพระอาจารย์สิงห์ทอง จนเก็บอัฐิท่านเรียบร้อยแล้วจึงได้กลับวัด ท่านอาจารย์สิงห์ทอง ธมฺมวโร และท่านอาจารย์สุพัฒน์ สุขกาโม ทั้ง 2 องค์นี้ เป็นที่สนิทสนมกันมากกับหลวงปู่ในคราวที่มีชีวิตอยู่ ไปมาหาสู่กันไม่ได้ขาด


๏ พ.ศ. 2523 พรรษาที่ 45
จำพรรษาที่วัดป่าสันติกาวาส


วันที่ 25 เมษายน พ.ศ. 2524 เป็นวันพระราชทานเพลิงศพท่านพระอาจารย์วัน อุตฺตโม หลวงปู่ได้เดินทางไปร่วมงานที่วัดถ้ำอภัยดำรงธรรม ภูผาเหล็ก เสร็จพิธีแล้วหลวงปู่จึงได้เดินทางกลับวัดป่าสันติกาวาส

รูปภาพ
พระอาจารย์บุญมา ฐิตเปโม

รูปภาพ
พระอาจารย์วัน อุตฺตโม

รูปภาพ
พระอาจารย์จวน กุลเชฏโฐ

รูปภาพ
พระอาจารย์สิงห์ทอง ธมฺมวโร

รูปภาพ
พระอาจารย์สุพัฒน์ สุขกาโม

ขอเชิญชมภาพ...“บาตรพระอาจารย์จวน กุลเชฏโฐ
ซึ่งเกี่ยวข้องกับเอกสารราชการลับ

และภาพ “ซากเครื่องบินที่ประสบอุบัติเหตุเครื่องตก
ณ ท้องนาทุ่งรังสิต ต.คลองสี่ อ.คลองหลวง จ.ปทุมธานี
กระทั่งเป็นเหตุทำให้พ่อแม่ครูบาอาจารย์
พระป่ากัมมัฏฐานสายท่านพระอาจารย์มั่น ภูริทตฺโต
ได้มรณภาพลงพร้อมกันทีเดียวถึง ๕ รูปด้วยกัน


ได้จากกระทู้ข้างล่างนี้ค่ะ >>> :b8:
http://www.dhammajak.net/forums/viewtopic.php?f=7&t=25698

.....................................................
ทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว เป็นกฎตายตัว


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 30 ก.ค. 2009, 10:11 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
ผู้จัดการ
ผู้จัดการ
ลงทะเบียนเมื่อ: 27 มี.ค. 2006, 17:34
โพสต์: 7781

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว www


๏ พ.ศ. 2524 พรรษาที่ 46
จำพรรษาที่วัดป่าสันติกาวาส


เมื่อออกพรรษาแล้ว เข้าฤดูแล้งเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ. 2525 ได้มีพิธีถวายเพลิงศพหลวงปู่อ่อน ญาณสิริ ที่วัดป่านิโครธาราม บ้านหนองบัวบาน อำเภอหนองวัวซอ จังหวัดอุดรธานี ซึ่งหลวงปู่อ่อนท่านได้มรณภาพตั้งแต่เดือนพฤษภาคม พ.ศ. 2524 คณะศิษยานุศิษย์ได้ตั้งศพของท่านไว้บำเพ็ญกุศลจนถึงวันถวายเพลิงศพ

หลวงปู่ท่านมีความเคารพในหลวงปู่อ่อนมาตั้งแต่ครั้งที่เคยอยู่ร่วมกับหลวงปู่อ่อนที่จังหวัดร้อยเอ็ด เมื่อมาอยู่ในเขตจังหวัดอุดรฯ ด้วยกัน ท่านก็ไปมาหาสู่กันมาโดยตลอด เมื่อถึงวาระสุดท้ายที่หลวงปู่อ่อน ญาณสิริ จากไป หลวงปู่ถึงแม้ในขณะนั้นสุขภาพของท่านก็ไม่ค่อยแข็งแรง การเดินเหินไปมาก็ไม่ค่อยสะดวก นับแต่ที่ท่านได้ผ่าตัดที่โคนขาขวามาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2515 แล้ว ถึงอย่างนั้นท่านก็ได้พยายามไปร่วมงานวันถวายเพลิงศพของหลวงปู่อ่อนด้วย เพื่อเป็นการแสดงกตเวทิตาคารวะต่อครูบาอาจารย์เป็นครั้งสุดท้าย


๏ พ.ศ. 2525 พรรษาที่ 47
จำพรรษาที่วัดป่าสันติกาวาส
อาพาธครั้งที่ 6 ด้วยโรคทางปอด


พ.ศ. 2526 ระหว่างปลายเดือนพฤษภาคม หลวงปู่มีอาการไข้ต่ำๆ และฉันอาหารไม่ค่อยได้ เวลาไอบางครั้งจะมีเลือดปนเสมหะออกมาด้วย คณะศิษย์ทางจังหวัดหนองคายจึงอาราธนาให้ท่านไปรับการรักษาที่โรงพยาบาลจังหวัดหนองคาย หลวงปู่รับอาราธนา

คุณลัดดาวัลย์ เอียสกุล จึงให้รถมารับหลวงปู่ที่วัดป่าสันติกาวาสไปรักษาที่โรงพยาบาลหนองคาย หลวงปู่พักอยู่ที่ห้องพิเศษตึกสงฆ์อาพาธ โดยมีคุณหมอเลื่อน เป็นผู้ดูแลรักษา คณะศิษย์ชาวจังหวัดหนองคายเป็นผู้อุปถัมภ์ เมื่อหลวงปู่เข้าพักที่โรงพยาบาล อาการไข้ได้กำเริบขึ้นสูง หมอได้ให้ยารักษาทางปอดอาการค่อยดีขึ้น หลวงปู่พักรักษาอยู่เป็นเวลา 1 เดือน จึงหายปกติ หมอจึงอนุญาตให้กลับวัดได้


๏ พ.ศ. 2526 พรรษาที่ 48
จำพรรษาที่วัดป่าสันติกาวาส


ครั้นออกพรรษาปี พ.ศ. 2526 แล้ว เข้าฤดูแล้ง วันที่ 11 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2527 จะเป็นวันพระราชทานเพลิงศพหลวงปู่ขาว อนาลโย ที่วัดถ้ำกลองเพล อำเภอหนองบัวลำภู จังหวัดอุดรธานีในขณะนั้น (ปัจจุบันเป็นอำเภอเมือง จังหวัดหนองบัวลำภู) หลวงปู่ขาว อนาลโย ท่านได้มรณภาพตั้งแต่วันที่ 16 พฤษภาคม พ.ศ. 2526 คณะศิษยานุศิษย์ได้ตั้งศพของท่านบำเพ็ญกุศลมาตลอด จนถึงวันที่ 11 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2527 จึงได้จัดงานพระราชทานเพลิงศพของท่าน และพระราชทานเพลิงจริงในเวลา 20.00 น. ก่อนจะถึงวันพระราชทานเพลิงศพ 1 วัน

หลวงปู่ท่านได้ไปกราบคารวะศพหลวงปู่ขาว อนาลโย เป็นครั้งสุดท้าย เพราะถ้าจะไปร่วมในวันพระราชทานเพลิงศพ จะมีพระเณร ประชาชนเป็นจำนวนมาก และหลวงปู่ก็ขาไม่ดี ตาไม่ดี ท่านกลัวว่าจะลำบากมาก ท่านจึงไปก่อนวันงาน 1 วัน หลวงปู่ท่านมีความเคารพในหลวงปู่ขาวมาก และท่านได้ไปมาหาสู่หลวงปู่ขาวตั้งแต่ครั้งที่ท่านอยู่วัดป่าแก้วชุมพล อำเภอสว่างแดนดิน จังหวัดสกลนคร


๏ พ.ศ. 2527 พรรษาที่ 49
จำพรรษาที่วัดป่าสันติกาวาส


เมื่อออกพรรษาแล้ว ศ.นพ.โรจน์ สุวรรณสุทธิ ได้นิมนต์ให้หลวงปู่ลงไปตรวจร่างกายที่โรงพยาบาลศิริราช พักที่ห้องพิเศษ ชั้น 4 ตึก 84 ปี หลวงปู่ได้ให้โอวาทธรรมแก่คณะศิษยานุศิษย์ที่ไปเยี่ยม ในขณะที่ท่านพักอยู่โรงพยาบาลศิริราช ดังนี้

กายเป็นดงหนาป่าทึบ

“ร่างกายนี้เป็นดงหนาป่าทึบ ยากที่บุคคลจะถากถางบุกป่าฝ่าดงนี้ให้ทะลุไปได้ ในดงหนาป่าทึบนี้เต็มไปด้วยอสรพิษ คอยกัดตอดให้ได้รับทุกขเวทนาอยู่ตลอดเวลา ได้แก่ความเจ็บไข้ได้ป่วย เจ็บท้อง ปวดหัว เจ็บตา ปวดฟัน เต็มไปด้วยความทุกข์ทรมานอยู่ในกายอันนี้ เมื่อเราหลงอยู่ในดงหนาป่าทึบอันนี้ จึงถูกอสรพิษทำร้ายอยู่ตลอดเวลา หลงในร่างกายนี้ ชายหลงหญิง หญิงหลงชาย หลงกันอยู่อย่างนี้ เราหลงเขา เขาหลงเรา นี้จึงพ้นทุกข์ไปไม่ได้ ถ้าใครมาถากถางดงหนาป่าทึบคือร่างกายนี้ให้เตียนโล่ง คือพิจารณาให้เห็นสภาพความเป็นจริงในกายนี้ เป็นของแตกดับทำลาย ไม่จีรังยั่งยืน เป็นเพียงธาตุ 4 ดิน น้ำ ลม ไฟ ประชุมกันอยู่เท่านั้น ในที่สุดก็จะสลายลงสู่ธาตุเดิมของเขาเท่านั้น เมื่อเห็นอย่างนี้จึงจะได้ชื่อว่า ข้ามดงหนาป่าทึบไปได้ จึงจะพ้นทุกข์พ้นภัยไปได้” นี้เป็นโอวาทธรรมที่หลวงปู่แสดงเตือนศิษยานุศิษย์ที่ไปกราบเยี่ยมท่านที่โรงพยาบาลศิริราช


๏ พ.ศ. 2528 พรรษาที่ 50
จำพรรษาที่วัดป่าสันติกาวาส


พรรษาที่ 50

ในระยะเข้าพรรษาปี พ.ศ. 2528 นี้ ตอนใกล้จะออกพรรษา หลวงปู่ได้เดินทางไปทำวัตรคารวะหลวงปู่ชอบ ฐานสโม ที่วัดป่าโคกมน บ้านโคกมน อำเภอวังสะพุง จังหวัดเลย พอไปถึงวัดป่าโคกมนเป็นเวลาเที่ยง ถามพระเณรในวัดทราบว่าหลวงปู่ชอบไม่อยู่ ท่านขึ้นไปพักอยู่ที่วัดป่าบ้านม่วงไข่ บนภูเขาทางไปอำเภอภูเรือ หลวงปู่จึงให้ลูกศิษย์ขับรถขึ้นเขาตามไปหาหลวงปู่ชอบ ถนนเข้าไปบ้านม่วงไข่ลำบาก เป็นถนนลงหินขรุขระ ไปถึงวัดป่าม่วงไข่เป็นเวลาบ่าย 3 โมง จึงได้พบหลวงปู่ชอบ

หลวงปู่ชอบได้ถามสุขทุกข์กับหลวงปู่ แล้วหลวงปู่จึงพาลูกศิษย์ที่ติดตามไป ขอขมาคารวะหลวงปู่ชอบ เสร็จแล้วจึงได้กราบลาหลวงปู่ชอบ เดินทางไปวัดถ้ำผาปู่ เพื่อกราบคารวะศพหลวงปู่คำดี ปภาโส ถึงถ้ำผาปู่เป็นเวลาเกือบมืดแล้ว หลวงปู่ได้พาคณะศิษย์กราบคารวะศพหลวงปู่คำดี เสร็จแล้วได้อยู่ร่วมฟังสวดอภิธรรม จบแล้วจึงได้เดินทางกลับถึงวัดป่าสันติกาวาสเป็นเวลา 23.00 น.

ร่วมงานพระราชทานเพลิงศพหลวงปู่คำดี ปภาโส

เมื่อออกพรรษาแล้ว เดือนพฤศจิกายน พ.ศ. 2528 หลวงปู่เดินทางไปร่วมงานพระราชทานเพลิงศพหลวงปู่คำดี ปภาโส ที่วัดถ้ำผาปู่ จังหวัดเลย ในวันที่ 24 พฤศจิกายน พ.ศ. 2528 เพื่อเป็นการแสดงกตเวทิตาสักการะต่อครูบาอาจารย์เป็นครั้งสุดท้าย หลวงปู่มีความเคารพในหลวงปู่คำดีมาก ในฐานะที่หลวงปู่คำดีเป็นครูบาอาจารย์ ซึ่งหลวงปู่ได้เคยอยู่ปฏิบัติธรรมร่วมกับหลวงปู่คำดีในคราวที่ท่านอยู่ที่ถ้ำกวาง อำเภอภูเวียง จังหวัดขอนแก่น

เดินทางลงกรุงเทพฯ ให้หมอตรวจตาข้างขวา

เมื่อเสร็จจากไปร่วมงานพระราชทานเพลิงศพหลวงปู่คำดี ปภาโส แล้ว คณะศิษยานุศิษย์ทางกรุงเทพฯ ได้กราบอาราธนานิมนต์ให้หลวงปู่ไปตรวจตาที่กรุงเทพฯ เพราะหลวงปู่มีอาการตาข้างขวามัว หลวงปู่รับนิมนต์แล้วเดินทางลงกรุงเทพฯ โดยทางรถไฟ ได้เข้ารับการตรวจตาที่ไทยจักษุคลินิก โดยมีนายแพทย์สวัสดิ์ โพธิกำจร เป็นผู้ตรวจอาการ พบว่าตาข้างขวาของหลวงปู่เป็นต้อกระจก แต่ยังไม่แก่ดี หมอจึงให้ยาหยอดรักษาไปก่อน

รูปภาพ
หลวงปู่แหวน สุจิณฺโณ

รูปภาพ
พระอาจารย์เปลี่ยน ปญฺญาปทีโป

รูปภาพ
พระอาจารย์เจริญ ญาณวุฑฺโฒ

รูปภาพ
พระสุพรหมยานเถร (หลวงปู่วัดพระพุทธบาทตากผ้า)


เดินทางไปเชียงใหม่เป็นครั้งแรก

หลวงปู่เดินทางไปจังหวัดเชียงใหม่เป็นครั้งแรก เพื่อกราบคารวะศพของ หลวงปู่แหวน สุจิณฺโณ วัดดอยแม่ปั๋ง อำเภอพร้าว จังหวัดเชียงใหม่ เมื่อวันที่ 4 ธันวาคม พ.ศ. 2528 หลวงปู่ได้เดินทางโดยเครื่องบินจากท่าอากาศยานกรุงเทพฯ ไปลงที่ท่าอากาศยานเชียงใหม่ แล้วนั่งรถตู้ต่อไปที่ดอยแม่ปั๋ง มีลูกศิษย์ติดตามไปด้วยเป็นพระ 2 รูป คือ ผู้เขียนองค์หนึ่ง และพระอึ่งองค์หนึ่ง ฆราวาสอีก 5 ท่าน คือ คุณหมออุรพล บุญประกอบ, คุณหมอวันเพ็ญ บุญประกอบ, คุณญาณี-คุณนิดา ชิตานนท์ และคุณหมออมรา มลิลา เดินทางถึงวัดดอยแม่ปั๋งเป็นเวลาเย็น หลวงปู่พาลูกศิษย์ที่เดินทางไปด้วย ทำพิธีคารวะศพหลวงปู่แหวน สุจิณฺโณ และทอดผ้าบังสุกุลถวายบูชาเป็นธัมมสักการะในองค์หลวงปู่แหวน สุจิณฺโณ หลวงปู่พักค้างคืนที่วัดดอยแม่ปั๋ง 1 คืน

เช้าวันที่ 5 ธันวาคม พ.ศ. 2528 ฉันภัตตาหารเช้าที่วัดดอยแม่ปั๋ง เสร็จแล้วได้เดินทางไปแวะเยี่ยม พระอาจารย์เปลี่ยน ปญฺญาปทีโป ที่วัดอรัญวิเวก บ้านปง อำเภอแม่แตง แต่ไม่พบ พระอาจารย์เปลี่ยนเดินทางเข้ากรุงเทพฯ หลวงปู่เดินทางต่อไปวัดถ้ำปากเปียง อำเภอเชียงดาว เพื่อเยี่ยม พระอาจารย์เจริญ ญาณวุฑฺโฒ ซึ่งเป็นศิษย์ของหลวงปู่เอง พระอาจารย์เจริญได้จัดกุฏิไม้สักซึ่งอยู่ติดหน้าผาถวายให้หลวงปู่พำนัก อากาศเย็นมาก

วันที่ 6 ธันวาคม พ.ศ. 2528 หลวงปู่ขึ้นถ้ำผาปล่องเพื่อกราบนมัสการ หลวงปู่สิม พุทฺธาจาโร แต่ไม่พบ หลวงปู่สิมเดินทางเข้ากรุงเทพฯ ลงจากถ้ำผาปล่อง หลวงปู่เข้าชมถ้ำเชียงดาวแล้วกลับไปพักที่วัดถ้ำปากเปียง

วันที่ 7 ธันวาคม พ.ศ. 2528 ฉันเช้าเสร็จที่วัดถ้ำปากเปียง แล้วเตรียมบริขารขึ้นรถตู้เดินทางเข้าเมืองเชียงใหม่ หลวงปู่และคณะศิษยานุศิษย์ผู้ติดตามแวะนมัสการพระเจดีย์หลวง วัดเจดีย์หลวง วรวิหาร แล้วเดินทางต่อไปนมัสการพระธาตุหริภุญชัย วัดพระธาตุหริภุญชัย วรมหาวิหาร อำเภอเมือง จังหวัดลำพูน จากนั้นไปนมัสการพระพุทธบาทตากผ้า ที่วัดพระพุทธบาทตากผ้า อำเภอป่าซาง จังหวัดลำพูน และได้กราบนมัสการสรีระศพ พระสุพรหมยานเถร (หลวงปู่วัดพระพุทธบาทตากผ้า) ด้วย แล้วเดินทางกลับเมืองเชียงใหม่ แวะโปรดคุณพ่อวิจิตรและแม่สายบัวที่บ้านพัก เพื่อรอเวลาเครื่องบินเวลา 20.00 น. เดินทางไปขึ้นเครื่องบินที่สนามบินเชียงใหม่เดินทางกลับกรุงเทพฯ หลวงปู่พักที่กรุงเทพฯ ไม่นาน ก็เดินทางกลับวัดป่าสันติกาวาส

เดินทางไปเชียงใหม่ครั้งที่ 2

เดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ. 2529 คุณนิดา ชิตานนท์ ได้กราบอาราธนาให้หลวงปู่เดินทางลงกรุงเทพฯ เพื่อตรวจตาข้างขวาของหลวงปู่อีกครั้งหนึ่ง ว่าต้อกระจกที่เป็นอยู่แก่หรือยัง สมควรที่จะผ่าตัดเปลี่ยนเลนส์ใหม่ได้หรือยัง หลวงปู่รับอาราธนาเดินทางลงกรุงเทพฯ โดยรถไฟปรับอากาศชั้นหนึ่ง โดยมีข้าพเจ้าผู้เขียนและท่านสนิทเป็นผู้ติดตามไปด้วย เมื่อถึงกรุงเทพฯ ได้พักที่รถราง ซึ่งคุณนิดาได้จัดถวายให้เป็นที่พักของหลวงปู่และพระติดตามต่างหาก ซึ่งอยู่ในบริเวณบ้านส่วนตัว คุณนิดาได้รับหลวงปู่ไปที่ไทยจักษุคลินิก ให้คุณหมอสวัสดิ์ตรวจตาหลวงปู่อีกครั้งหนึ่ง ผลปรากฏว่าต้อยังไม่แก่เต็มที่ หมอจึงให้รอไปก่อน คุณนิดาจึงได้นิมนต์ให้หลวงปู่ไปพักวิเวกที่บ้านแม่เมืองหลวง อำเภอปาย จังหวัดแม่ฮ่องสอน

วันที่ 14 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2529 หลวงปู่ออกจากที่พักบ้านคุณนิดาไปสนามบินดอนเมืองเพื่อขึ้นเครื่องบินไปเชียงใหม่ เวลา 07.00 น. เครื่องบินจะออกจากสนามบินดอนเมืองกรุงเทพฯ เมื่อถึงสนามบินดอนเมือง หลวงปู่และผู้ติดตาม คือข้าพเจ้าผู้เขียนและท่านสนิทกับโยมติดตามอีก 2 คน คือคุณนิดาและคุณลำพูน ได้ขึ้นนั่งบนเครื่องบินโดยสารจัมโบ้ขนาดใหญ่ พร้อมผู้โดยสารอีกเต็มลำ หลวงปู่นั่งที่นั่งติดกับผู้เขียน หลวงปู่ท่านเป็นผู้ไม่ประมาทตลอดเวลา เมื่อนั่งเก้าอี้รัดเข็มขัดเรียบร้อยแล้ว ท่านจะหลับตาเข้าที่สงบอยู่เมื่อถึงเวลาตามกำหนดที่เครื่องจะออก ได้ยินเสียงประกาศว่า

“ขออภัยผู้โดยสาร มีความติดขัดทางเทคนิคบางประการ ขอให้รอเวลาอีก 15 นาที”

เมื่อรอถึง 15 นาทีแล้วก็ได้ยินเสียงประกาศอีกว่า “ยังแก้ไขไม่ได้ ขอให้รออีก 15 นาที” จนสุดท้ายรอไปถึง 45 นาที เครื่องบินจึงพาขึ้นจากสนามบินดอนเมือง ในวันนั้นแม่บัวผายได้ให้คุณนิดานิมนต์หลวงปู่และพระติดตาม ให้ไปฉันภัตตาหารเช้าที่บ้านที่เชียงใหม่ด้วย โดยได้เตรียมภัตตาหารเช้าไว้คอย

อนิจจาความไม่แน่นอน

เมื่อเครื่องบินบินไปจะถึงเชียงใหม่แล้ว ได้ยินเสียงประกาศว่า “เครื่องบินไม่สามารถจะลงเชียงใหม่ได้ เพราะเครื่องติดขัดเทคนิคบางประการ จะต้องกลับไปลงที่สนามบินกรุงเทพฯ” ในขณะนั้นพวกฝรั่งที่กำลังเล่นไพ่กันอย่างสนุกสนานอยู่ พากันตาเหลือกตาลานเพราะความกลัวตาย หยุดเล่นกันเงียบเลย สำหรับหลวงปู่ท่านนั่งเข้าที่สงบตั้งแต่เครื่องบินขึ้นจากดอนเมือง จนเครื่องกลับไปลงที่ดอนเมืองอีก ท่านจึงลืมตาขึ้น

เมื่อเครื่องลงถึงสนามบินดอนเมืองแล้วได้ยินเสียงประกาศว่า “เที่ยวบินจะไปเชียงใหม่เปลี่ยนเป็นเวลาบ่าย 1 โมง” ตกลงในวันนั้นหลวงปู่และพระติดตามต้องกลับมาฉันภัตตาหารเช้าที่ดอนเมือง โดยคุณนิดาเป็นผู้จัดถวายเวลา 4 โมงเช้า เมื่อฉันเสร็จแล้วก็รอเครื่องเที่ยวบ่าย 1 โมง อยู่ที่สนามบินดอนเมือง

ส่วนพวกแม่บัวผายที่รออยู่ทางเชียงใหม่ เห็นเครื่องบินไม่ลงตามเวลาก็เกิดความกระวนกระวายใจ คิดว่าเครื่องบินตกหรือเป็นอะไรกัน รอจนถึง 5 โมงเช้า จึงได้ยินประกาศที่สนามบินเชียงใหม่ว่า เครื่องบินติดขัดไม่สามารถลงได้ จึงกลับไปลงที่กรุงเทพฯ จะมาใหม่เวลาบ่าย 2 โมง เป็นอันว่าอาหารที่จัดรอไว้ถวายหลวงปู่และพระติดตาม ญาติโยมทางเชียงใหม่ต้องรับประทานกันเอง

คอยจนถึงเวลา

หลวงปู่และผู้ติดตามคอยเวลาเครื่องไปเชียงใหม่เที่ยวที่ 2 อยู่ที่สนามบินดอนเมือง จนได้เวลาใกล้บ่าย 1 โมง เจ้าหน้าที่เรียกขึ้นเครื่อง หลวงปู่และผู้ติดตามขึ้นนั่งบนเครื่องบิน พร้อมกับผู้โดยสารอื่นในเที่ยวบินเดียวกัน ได้เวลาเครื่องทะยานขึ้นสู่ฟ้า นำพาไปถึงสนามบินเชียงใหม่ เวลาบ่าย 2 โมง ลงจากเครื่องบินเรียบร้อย

พ่อวิจิตรนำรถมารับหลวงปู่และผู้ติดตามจากสนามบินเชียงใหม่ แวะไปพักที่บ้านพ่อวิจิตรแม่บัวผายก่อน ถวายน้ำดื่มน้ำเย็นหลวงปู่และพระติดตาม พักผ่อนพอหายเหนื่อยแล้วพ่อวิจิตรได้จัดรถรับหลวงปู่และผู้ติดตาม รวมทั้งพ่อวิจิตรและแม่บัวผายด้วย ออกจากเชียงใหม่ไปแวะพักที่บ้านป่าแป๋ครู่หนึ่ง จากนั้นรถได้นำขึ้นเขาคดเคี้ยวเลี้ยวไปตามไหล่เขา ถึงวัดป่าบ้านแม่เมืองหลวง อำเภอปาย จังหวัดแม่ฮ่องสอน เป็นเวลาเย็น วันที่ 14 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2529 อากาศหนาวเยือกเย็นมาก ที่วัดป่าแม่เมืองหลวงมีพระอยู่ 2 รูป มีท่านทองน้อยเป็นหัวหน้า และสามเณรอีก 1 องค์ พระเณรในวัดให้การต้อนรับและเคารพหลวงปู่เป็นอย่างดี เมื่อรถส่งหลวงปู่และผู้ติดตามถึงวัดป่าแม่เมืองหลวงแล้วเขาก็กลับไป

ที่วัดป่าบ้านแม่เมืองหลวง

ในขณะที่หลวงปู่พักวิเวกอยู่นั้น มีหลวงปู่ ผู้เขียน ท่านสนิทและพระประจำอยู่ที่วัด 2 รูป สามเณร 1 รูป รวมเป็นพระ 5 รูป สามเณร 1 รูป สำหรับโยมที่ติดตามไปปฏิบัติธรรมและทำอาหารบิณฑบาตถวายหลวงปู่นั้น มีคุณนิดา, แม่บัวผาย, คุณพูลและคุณปิ๊ก ทั้ง 4 คน ได้พักอยู่ที่พักสำหรับโยมในวัด ที่วัดป่าแม่เมืองหลวงมีต้นไม้เขียว น้ำสะดวก มีความเงียบสงบวิเวกวังเวง อยู่ท่ามกลางป่าเขาลำเนาไพร

พระภิกษุสามเณรอาศัยบิณฑบาตที่บ้านแม่เมืองหลวงและบ้านใต้ซึ่งเป็นชาวกะเหรี่ยง บ้านใต้อยู่ห่างวัดประมาณ 1 กิโลครึ่ง บ้านแม่เมืองหลวงอยู่ห่างวัดประมาณ 1 กิโลเมตร หลวงปู่รับบิณฑบาตที่หน้าโรงครัวในวัด เพราะท่านเดินไม่ค่อยสะดวก

เป็นผู้มีความเอื้อเฟื้อในพระธรรมวินัยและข้อวัตรปฏิบัติ

หลวงปู่เป็นผู้ไม่ประมาทไม่หละหลวมในพระธรรมวินัยและข้อวัตรปฏิบัติแม้เล็กๆ น้อยๆ เช่น การทำกัปปิยะโวหารพีชคาม ของที่จะปลูกให้เกิดได้ด้วยลำด้วยใบ หรือที่มีรากติดอยู่ก่อน เรียกว่า “วินัยกรรม” หรือเมื่อเวลามีโยมผู้หญิงเข้ามากราบเรียนถามเรื่องขัดข้องเกี่ยวกับการปฏิบัติด้านจิตตภาวนา หรือจะเรื่องอะไรก็ตาม ถ้าไม่มีผู้ชายมาด้วย ท่านจะให้เรียกพระเณรหรือลูกศิษย์ผู้ชายมานั่งอยู่เป็นเพื่อน

ถ้ามีแต่ผู้หญิงถึงแม้จะหลายคนก็ตาม ถ้าไม่มีผู้ชายอยู่ด้วยถือว่าผิดพระวินัย การบิณฑบาตเป็นกิจประจำของพระ ถ้าหลวงปู่ท่านยังเดินได้ท่านจะบิณฑบาตก่อน หลวงปู่ท่านสอนว่า “ของใหญ่ๆ ท่อนซุง ท่อนยาง มันไม่เข้าตาของคนหรอก ของเล็กๆ น้อยๆ หยากเยื่อนั้นแหละมันเข้าตาคน” การที่ท่านปฏิบัติก็เพื่อจะให้เป็นตัวอย่างแก่ลูกศิษย์ลูกหาต่อไป

กิจประจำวันในขณะที่หลวงปู่พักอยู่วัดป่าแม่เมืองหลวงคือ เช้ารับบิณฑบาต ฉันเช้าเสร็จแล้วสนทนาให้ธรรมะแก่ญาติโยม หลังจากนั้นก็เข้าที่ในความสงบในที่พัก ตอนบ่ายบางวันท่านก็เดินเที่ยวตามป่า ดูต้นไม้อันไหนเป็นยารักษาโรคได้ ท่านก็ให้เก็บเอา บ่าย 4 โมงเย็น ศิษย์พระเณรนำน้ำอุ่นไปถวายสรงน้ำหลวงปู่ ตอนหัวค่ำอบรมพระเณรและโยมที่ติดตามไปปฏิบัติธรรม

วันมาฆบูชา พ.ศ. 2529

วันที่ 23 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2529 เป็นวันมาฆบูชา ในขณะที่หลวงปู่พักวิเวกอยู่วัดป่าแม่เมืองหลวง ในตอนเช้าหลวงปู่พร้อมด้วยพระเณรรับบิณฑบาต โปรดชาวกะเหรี่ยงที่มารวมกันใส่บาตรในบริเวณวัด ตอนค่ำหลวงปู่นำทำพิธีกล่าวคำถวายบูชาดอกไม้ธูปเทียนเนื่องในวันมาฆบูชาและนำเวียนเทียน เสร็จแล้วนำทำวัตรสวดมนต์เย็น จบแล้วอบรมศีลธรรมแก่ญาติโยมที่มาร่วมทำพิธีมาฆบูชา ซึ่งมีทั้งเด็กและผู้ใหญ่จากบ้านแม่เมืองหลวงและบ้านใต้ และที่อยู่ไกลคือบ้านขุนห้วยเดื่อ ซึ่งอยู่ห่างจากวัดแม่เมืองหลวงขึ้นเขาลงเขาไป 6 กิโลเมตร

กะเหรี่ยงตัดผี

หลังจากวันมาฆบูชาไม่กี่วัน ได้มีโยมกะเหรี่ยงบ้านขุนห้วยเดื่อมานิมนต์หลวงปู่ไปตัดผีให้ หลวงปู่ไม่สามารถจะเดินถึงบ้านขุนห้วยเดื่อได้เพราะขาท่านไม่ดี หลวงปู่จึงให้ผู้เขียนและพระอีก 2 รูป ไปทำพิธีตัดผีให้โยมกะเหรี่ยงบ้านขุนห้วยเดื่อ เดินจากวัดป่าแม่เมืองหลวง ขึ้นเขาลงห้วย และไปตามลำธารและนาของพวกกะเหรี่ยง ซึ่งทำนาตามที่ราบในหุบเขา เดินไปตามทางพวกกะเหรี่ยงเดินไปมาหากินระหว่างหมู่บ้าน

บางแห่งก็มีกองอิฐพังกระจัดกระจาย ดูแล้วเป็นสถูปเจดีย์สมัยโบราณ เดินไปประมาณชั่วโมงครึ่งถึงลำธารมีน้ำใสเย็นดี ข้ามลำธารไปมองเห็นหมู่บ้านชาวกะเหรี่ยงอยู่เชิงเขา ปลูกบ้านอยู่ที่สูงบ้างต่ำบ้างลดหลั่นกันไป บ้านหลังเล็กๆ พอเดินไปถึงหมู่บ้าน ทีแรกเห็นมีโรงยาวประมาณ 8 เมตร มุงด้วยใบตองตึงมีเสาธงชาติปักอยู่ ถามโยมกะเหรี่ยงที่พาเดินทางไป ได้ความว่าเป็นโรงเรียนบ้านขุนห้วยเดื่อ แต่ไม่มีนักเรียน เขาบอกว่าวันนี้นักเรียนไม่มาเรียน คือวันไหนนักเรียนมาครูก็สอน วันไหนนักเรียนไม่มาครูก็ไม่สอน เพราะยังบังคับไม่ได้

เมื่อเดินไปถึงบ้านโยมที่ต้องการตัดผี เขาก็นิมนต์ให้ขึ้นบนบ้าน บ้านพวกกะเหรี่ยงหลักเล็ก เสาไม้ก่อ หลังคามุงด้วยใบตองตึง แอ้มด้วยฝาฟากไม้ไผ่ บางหลังก็แอ้มด้วยฝาใบตองตึง ปูด้วยฟากไม้ไผ่ เมื่อนั่งเรียบร้อยแล้ว เจ้าของบ้านก็นำน้ำร้อนต้มรากไม้ และกระบอกเกลือหมากเม็ดพร้อมถ้วยสำหรับกินน้ำร้อนเข้ามาถวาย รับประเคนด้วยความเอื้อเฟื้อแล้ววางไว้

แล้วผู้เขียนก็ถามไถ่กับเจ้าของบ้านว่า “ทำไมจึงอยากตัดผี” เขาบอกว่า “ถือผีอยู่กับผีลำบากยุ่งยากหลายอย่าง คีไฟ (ที่ก่อไฟ) ก็เอาไว้กลางเรือน ทำให้ดำสกปรกไปหมด ทำอะไรก็คอยแต่จะผิดผี อย่างลูกสาวแต่งงานกับสามีออกเรือนไปแล้ว พอพ่อแม่เหลืออยู่บ้านคนเดียว จะกลับเข้ามาอยู่ด้วยก็ไม่ได้ ผิดผี ผีของชาวกะเหรี่ยงมีมาก มีอยู่ที่บันไดขึ้นบ้าน อยู่ที่ตุ่มน้ำกิน อยู่ที่เล้าหมูเล้าไก่ อยู่ที่หม้อต้มแกง อยู่ที่ประตูเรือน อยู่ที่คีไฟกลางเรือน ลำบากกับการเลี้ยงบวงสรวงผี และปฏิบัติตามกฎของผี ฉะนั้นเขาจึงอยากตัดผีทิ้งไป”

เมื่อได้ฟังอย่างนั้นผู้เขียนจึงกล่าวนำให้เจ้าของบ้านไหว้พระ แล้วประกาศตนถึงพระรัตนตรัยและสมาทานศีลห้า เสร็จแล้วสวดมนต์ทำน้ำพระพุทธมนต์พรมให้ทั้งบ้านทั้งคน แล้วก็ถอนก้อนเส้าที่อยู่คีไฟกลางเรือนสำหรับหุงข้าวต้มแกงออก เพื่อให้ทำเรือนไฟต่างหาก เสร็จแล้วก็สอนเขาให้สวดมนต์ไหว้พระและเจริญเมตตาภาวนา ระลึกถึงพุทโธ ธัมโม สังโฆ เป็นอารมณ์ประจำใจ ให้เคารพพระพุทธเจ้า พระธรรม และพระสงฆ์ ตามแบบที่หลวงปู่เคยสอนมา เสร็จบ้านหนึ่งก็ไปอีกบ้านหนึ่ง ในวันนั้นมี 5 หลังคาเรือนที่ให้ทำพิธีตัดผีให้

ซาบซึ้งในน้ำใจของยายแก่

มีบ้านหลังหนึ่ง เจ้าของบ้านเป็นยายแก่ตัวดำขะมุกขะมอม อาศัยใต้ยุ้งข้าวเล็กๆ ต่อเพิงหลังคาใบตองตึงรอบยุ้งข้าว ยายอาศัยอยู่คนเดียว ยายมีลูกสาวคนหนึ่ง แต่งงานแล้วมีลูกออกเรือนอยู่กับสามี ต่อมาสามีหย่าทิ้งให้อยู่กับลูกชายเล็กๆ คนหนึ่ง ลูกสาวนั้นจะกลับมาอยู่กับยายก็ไม่ได้ ถ้ากลับมาก็ผิดผี ยายจึงต้องการตัดผีเพื่อจะให้ลูกสาวกลับมาอยู่ด้วย

เมื่อผู้เขียนพร้อมพระอีก 2 รูป และพ่อโป๊กวา ซึ่งเป็นโยมผู้ชายชาวกะเหรี่ยงที่ติดตามไปด้วย ไปถึงบ้านยายแก่ มันเป็นใต้ถุนยุ้งข้าว หมอบเข้าไปนั่งพื้นยุ้งข้าวพอพ้นศีรษะ ในเรือนดำไปด้วยเขม่าเพราะคีไฟ (ที่ก่อไฟหุงต้ม) อยู่กลางเรือน จีวรมอมแมมไปด้วยเขม่าไฟ ทำพิธีตัดผีด้วยการนำยายไหว้พระ สมาทานศีลห้า แล้วสวดมนต์พรมน้ำมนต์ให้ สอนให้ปฏิบัติตามคำสอนของพระพุทธเจ้า คือ เว้นจากการทำบาป ตั้งอยู่ในการทำความดี มีพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ เป็นสรณะที่พึ่ง

เสร็จแล้วยายได้นำน้ำอ้อยก้อนหนึ่งขนาดเท่าสองนิ้วมือเข้ามาถวาย เพราะปัจจัยไทยทานอย่างอื่นของยายไม่มี ยายมีอยู่เพียงน้ำอ้อยก้อนเดียวเท่านั้น ในขณะนั้นทำให้ผู้เขียนเกิดความซาบซึ้งในน้ำใจเสียสละของยายหาสิ่งจะเปรียบมิได้ และได้รับให้ยายด้วยความตื้นตันใจเป็นอย่างยิ่ง เมื่อได้สงเคราะห์ชาวกะเหรี่ยงบ้านขุนห้วยเดื่อทั้ง 5 หลังคาเรือนให้ตั้งอยู่ในพระรัตนตรัยแล้ว จึงเดินทางกลับวัดป่าแม่เมืองหลวง ถึงวัดเป็นเวลาเย็นมาก จึงได้กราบเรียนให้หลวงปู่ทราบด้วยความเอิบอิ่มใจ

กลับจากวัดป่าแม่เมืองหลวง

หลวงปู่พาพักวิเวกอยู่ที่วัดป่าแม่เมืองหลวง จนถึงวันที่ 5 มีนาคม พ.ศ. 2529 จึงเดินทางกลับ เช้าวันที่ 5 หลังจากฉันบิณฑบาตเช้าแล้วรถเข้าไปรับ อำลาญาติโยมชาวกะเหรี่ยงบ้านแม่เมืองหลวงแล้ว หลวงปู่และผู้ติดตามลาพระเณรในวัด กล่าวมอบเสนาสนะแล้วขึ้นรถกลับ พอมาถึงหลังเขาลูกศิษย์ขอถ่ายรูปหลวงปู่เป็นอนุสรณ์ ออกมาถึงบ้านป่าแป๋ แม่บัวผายนิมนต์ให้หลวงปู่แวะฉันน้ำที่ร้านบ้านป่าแป๋ด้วย ต่อจากนั้นจึงเดินทางเข้าเชียงใหม่

ขึ้นดอยสุเทพ

เมื่อมาถึงเชียงใหม่ โยมพ่อวิจิตร ได้พาหลวงปู่ขึ้นไปไหว้พระธาตุดอยสุเทพ รถนำหลวงปู่และคณะศิษยานุศิษย์ผู้ติดตามวิ่งตามถนนคดเคี้ยวขึ้นสู่ยอดดอยสุเทพ ถึงลานจอดรถ หลวงปู่และคณะศิษยานุศิษย์ผู้ติดตามลงจากรถ แล้วท่านพยายามเดินขึ้นไปสู่พระธาตุดอยสุเทพด้วยตัวท่านเอง คณะศิษยานุศิษย์เป็นห่วงหลวงปู่เพราะขาของท่านไม่ดี หลวงปู่นำพาคณะศิษยานุศิษย์ผู้ติดตามกราบนมัสการพระธาตุและพระประธานในพระวิหาร เสร็จแล้วเดินทางกลับเข้าเชียงใหม่ แวะพักที่บ้านโยมพ่อวิจิตร เวลา 20.00 น. โยมพ่อวิจิตรและแม่บัวผาย ไปส่งหลวงปู่และคณะศิษยานุศิษย์ผู้ติดตามที่สนามบินเชียงใหม่ เมื่อได้เวลาเครื่องบินพาทะยานขึ้นสู่อากาศ เดินทางถึงกรุงเทพฯ เวลา 22.00 น. หลวงปู่พักที่กรุงเทพฯ ไม่กี่วันก็เดินทางกลับวัดป่าสันติกาวาส จังหวัดอุดรธานี

.....................................................
ทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว เป็นกฎตายตัว


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 30 ก.ค. 2009, 10:28 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
ผู้จัดการ
ผู้จัดการ
ลงทะเบียนเมื่อ: 27 มี.ค. 2006, 17:34
โพสต์: 7781

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว www


รูปภาพ
หลวงปู่หลุย จนฺทสาโร


๏ พ.ศ. 2529 พรรษาที่ 51
จำพรรษาที่วัดป่าสันติกาวาส


พรรษาที่ 51

หลังจากออกพรรษาแล้ว หลวงปู่ได้เดินทางลงกรุงเทพฯ เพื่อตรวจนัยน์ตาข้างขวาที่เป็นต้อกระจก หลวงปู่ได้ไปกราบนมัสการเยี่ยม หลวงปู่หลุย จนฺทสาโร ที่โรงพยาบาลภูมิพลด้วย ในขณะที่หลวงปู่และผู้เขียนเข้าไปในห้องที่หลวงปู่หลุยท่านพักอยู่ พระที่อุปัฏฐากหลวงปู่หลุยไม่รู้จักหลวงปู่ พากันออกไปอยู่ระเบียงนอกห้อง เหลือแต่ท่านอาจารย์สม วัดถ้ำใหญ่พรหมวิหาร ท่านรู้จักหลวงปู่และนั่งอยู่ในห้องกับหลวงปู่หลุย หลวงปู่และผู้เขียน กราบนมัสการท่านหลวงปู่หลุยด้วยความเคารพแล้ว

หลวงปู่หลุยจึงถามหลวงปู่ว่า “ได้กี่พรรษาแล้ว” หลวงปู่กราบเรียนหลวงปู่หลุยว่า “51 พรรษา เกล้ากระผม” หลวงปู่หลุยจึงพูดว่า “แม้ ! พระมหาเถระ” แล้วท่านจึงเรียนพระอุปัฏฐากที่อยู่ระเบียงข้างนอก ให้เข้ามากราบหลวงปู่ว่า “อ้าว มากราบพระมหาเถระ นี้พระมหาเถระ” พระอุปัฏฐากจึงได้เข้ามากราบหลวงปู่ เมื่อหลวงปู่เยี่ยมสนทนากับท่านหลวงปู่หลุยพอสมควรแล้ว จึงได้กราบลาหลวงปู่หลุยกลับที่พักในกรุงเทพฯ หลวงปู่พักที่กรุงเทพฯ ไม่กี่วันก็เดินทางกลับวัดป่าสันติกาวาส จังหวัดอุดรธานี

รูปภาพ
พระอาจารย์บุญยัง ผลญาโณ


ไปร่วมงานถวายเพลิงศพพระอาจารย์บุญยัง ผลญาโณ

พระอาจารย์บุญยัง ผลญาโณ ท่านเคยไปมาหาสู่กับหลวงปู่อยู่บ่อยๆ และหลวงปู่นินซึ่งเป็นหลวงพ่อของท่านอาจารย์บุญยัง ก็เคยมาอยู่จำพรรษากับหลวงปู่ในคราวที่สร้างวัดป่าสันติกาวาสใหม่ๆ และเมื่อท่านพระอาจารย์บุญยังมาสร้างวัดป่าภูวังงาม บ้านคำเลาะ ซึ่งอยู่ห่างจากบ้านไชยวานเพียง 15 กิโลเมตร ท่านก็ยังไปมาหาสู่หลวงปู่มิได้ขาด ต่อมาพระอาจารย์บุญยังท่านกลับไปโปรดญาติพี่น้องทางจังหวัดศรีสะเกษ และได้สร้าง “วัดป่าบ้านบาก” ขึ้นที่บ้านบาก ตำบลหนองอึ่ง อำเภอราษีไศล จังหวัดศรีสะเกษ

ครั้นต่อมาท่านพระอาจารย์บุญยังได้มรณภาพลง เมื่อวันที่ 24 สิงหาคม พ.ศ. 2529 คณะศิษยานุศิษย์ได้ตั้งศพของท่านบำเพ็ญกุศล จนถึงวันที่ 7 มีนาคม พ.ศ. 2530 จึงได้ทำพิธีถวายเพลิงศพของท่าน ในงานครั้งนี้หลวงปู่ได้เดินทางไปร่วมจนเสร็จงานจึงได้กลับวัด ในการเดินทางไปร่วมงานถวายเพลิงศพพระอาจารย์บุญยังในครั้งนี้ ได้ผ่านไปทางบ้านเกิดของหลวงปู่ คือ บ้านคำพระ อำเภอพนมไพร จังหวัดร้อยเอ็ด ท่านจึงแวะเยี่ยมลูกหลานที่บ้านเกิดด้วย เป็นเวลาถึง 40 ปีที่ท่านไม่เคยกลับไปเลย นับแต่มาอยู่วัดป่าสันติกาวาส

รูปภาพ
หลวงปู่บุญจันทร์ กมโล และพระครูวิมลญาณวิจิตร (หลวงปู่บุญ ชินวํโส)
บันทึกภาพร่วมกันในพิธีฌาปนกิจศพท่านพระอาจารย์บุญยัง ผลญาโณ
ณ วัดป่าบ้านบาก ต.หนองอึ่ง อ.ราษีไศล จ.ศรีสะเกษ



๏ พ.ศ. 2530-2531 พรรษาที่ 52-53
จำพรรษาที่วัดป่าสันติกาวาส


ในปี พ.ศ. 2531 พรรษาที่ 53 นี้ หลวงปู่มีอายุครบ 6 รอบ คือ 72 ปีเต็ม ในวันที่ 15 กันยายน คณะศิษยานุศิษย์จึงขออนุญาตท่านบำเพ็ญกุศลเป็นพิเศษ ซึ่งหลวงปู่ท่านก็อนุญาต คณะศิษยานุศิษย์จึงได้กราบอาราธนานิมนต์พ่อแม่ครูบาอาจารย์จากวัดต่างๆ มาเจริญพระพุทธมนต์ในตอนเย็น แล้วแสดงพระธรรมเทศนาอบรมจิตตภาวนาแก่คณะศิษยานุศิษย์ของหลวงปู่ ซึ่งมารวมกันจากที่ต่างๆ ทั้งใกล้และไกล ตอนเช้า คณะศรัทธาญาติโยมจากที่ต่างๆ มารวมกันตักบาตรพ่อแม่ครูบาอาจารย์ในบริเวณวัด ถวายอาหารบิณฑบาตแด่พ่อแม่ครูบาอาจารย์ และพระภิกษุสามเณร เสร็จแล้วพระสงฆ์อนุโมทนา ก็เป็นเสร็จพิธีในการทำบุญครบรอบ 72 ปีของหลวงปู่

อาพาธครั้งที่ 7 ผ่าตัดเปลี่ยนเลนส์นัยน์ตาข้างขวา

เมื่อออกพรรษาแล้ว เดือนธันวาคม พ.ศ. 2531 หลวงปู่ลงกรุงเทพฯ เพื่อให้หมอตรวจตาข้างขวาที่เป็นต้อกระจกอยู่ เมื่อหมอตรวจพบว่าต้อได้แก่เต็มที่แล้ว จึงได้ผ่าตัดเปลี่ยนเลนส์นัยน์ตาข้างขวาของหลวงปู่ เมื่อวันที่ 20 ธันวาคม พ.ศ. 2531 ที่ไทยจักษุคลินิก โดย น.พ.สวัสดิ์ โพธิกำจร เป็นผู้ผ่าตัดและดูแลรักษาจนหายเป็นปกติ มีคุณนิดา ชิตานนท์ และหมู่เพื่อนที่กรุงเทพฯ เป็นผู้ถวายค่ารักษา และอุปัฏฐากหลวงปู่ด้วยความเคารพมาโดยตลอด หลวงปู่พักรักษาตาที่กรุงเทพฯ จนถึงเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ. 2532 จึงได้เดินทางกลับวัดป่าสันติกาวาส

วันที่ 21 พฤษภาคม พ.ศ. 2532 หลวงปู่ได้เมตตาเป็นองค์ประธานวางศิลาฤกษ์สร้างอุโบสถวัดป่าโนนม่วง บ้านโนนม่วงโคกใหญ่ อำเภอศรีธาตุ จังหวัดอุดรธานี


๏ พ.ศ. 2532 พรรษาที่ 54
จำพรรษาที่วัดป่าสันติกาวาส
อาพาธครั้งที่ 8 พ.ศ. 2532


เมื่อเข้าพรรษาแล้วไม่นาน ปลายเดือนกรกฎาคมถึงสิงหาคม หลวงปู่มีอาการปวดชายโครงข้างขวามาก ฉันอาหารได้น้อยได้เพียง 5 คำ ฉันแล้วอาเจียน เสียแน่นท้อง อ่อนเพลีย เบื่ออาหารมาก พร้อมกับมีตุ่มน้ำใสขึ้นทั้งตัว ทั้งศีรษะ หน้า เพดานปาก มือและขา ต่อมามีไข้ คณะแพทย์และศิษยานุศิษย์จึงได้กราบนิมนต์อ้อนวอนให้หลวงปู่ ไปรับการตรวจรักษาที่โรงพยาบาลศรีนครินทร์ จังหวัดขอนแก่น

หลวงปู่รับนิมนต์และสัตตาหกิจ ไปรักษาตามคำอ้อนวอนของลูกศิษย์ เป็นผู้ป่วยนอกของโรงพยาบาลศรีนครินทร์ เมื่อตรวจรักษาเสร็จแล้วจึงกลับไปพักที่วัดป่ามหาวิทยาลัย (ซึ่งเป็นวัดสาขาของ หลวงปู่ศรี มหาวีโร) อาการอาพาธในครั้งนี้ได้ทำการตรวจอัลตราซาวด์และเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ของตับ พบลักษณะก้อนที่ตับข้างขวาขนาด 2.5 เซนติเมตร แต่ไม่ได้ทำอะไรมาก อาการอาพาธของหลวงปู่ในครั้งนี้ค่อนข้างหนัก

หลวงปู่พักอยู่วัดป่ามหาวิทยาลัย 1 คืน แล้วก็เดินทางกลับวัดป่าสันติกาวาส คณะแพทย์ได้ถวายยารักษา คณะศิษย์ได้จัดดอกไม้ธูปเทียนกราบอาธาธนาให้หลวงปู่อยู่เป็นร่มโพธิ์ร่มไทรของลูกศิษย์ลูกหาไปก่อน อย่าเพิ่งรีบละสังขาร ต่อมาหลวงปู่มีอาการดีขึ้น ลูกศิษย์ลูกหาต่างพากันมีใจแช่มชื่นเบิกบาน

ไปร่วมพิธีพระราชทานเพลิงศพ
พระครูวิมลญาณวิจิตร (หลวงปู่บุญ ชินวํโส)


เดือนมีนาคม พ.ศ. 2533 ได้มีพิธีพระราชทานเพลิงศพ พระครูวิมลญาณวิจิตร (หลวงปู่บุญ ชินวํโส) ที่วัดป่าศรีสว่างแดนดิน ตำบลสว่างแดนดิน อำเภอสว่างแดนดิน จังหวัดสกลนคร หลวงปู่ได้พยายามไปร่วมในงานนี้ด้วย ถึงแม้สุขภาพของท่านไม่ค่อยแข็งแรง เพราะท่านถือว่าหลวงปู่บุญ ชินวํโส ก็เป็นครูบาอาจารย์ที่ปฏิบัติดีปฏิบัติชอบองค์หนึ่ง และท่านได้ไปมาหาสู่กันมิได้ขาด

:b44: ประวัติและปฏิปทา “หลวงปู่บุญ ชินวํโส”
http://www.dhammajak.net/forums/viewtopic.php?f=13&t=42561


๏ พ.ศ. 2533 พรรษาที่ 55
จำพรรษาที่วัดป่าสันติกาวาส


ในพรรษานี้สุขภาพของหลวงปู่ได้อ่อนแรงลงไปมาก แต่ท่านก็เมตตาต้อนรับลูกศิษย์ลูกหาที่มาจากที่ต่างๆ และขอความเมตตาในเรื่องต่างๆ แล้วแต่ใครจะมีปัญหาอะไรมา ในที่สุดท่านก็จะเตือนให้ประพฤติธรรม เป็นผู้มีกาย วาจา ใจ อยู่ในขอบเขตแห่งศีลธรรม แล้วธรรมก็จะรักษาผู้ประพฤติธรรมไม่ให้ตกไปในที่ชั่ว มีอบายภูมิเป็นต้น ในวันพระ 8 ค่ำ 14-15 ค่ำ ท่านก็ยังเมตตาลงนำไหว้พระสวดมนต์ และอบรมจิตภาวนาอยู่มิได้ขาด

เป็นประธานในงานผูกพัทธสีมาอุโบสถวัดป่าโนนม่วง

วันที่ 10 มีนาคม พ.ศ. 2534 ได้มีพิธีผูกพัทธสีมาตัดลูกนิมิตอุโบสถวัดป่าโนนม่วง บ้านโนนม่วงโคกใหญ่ อำเภอศรีธาตุ จังหวัดอุดรธานี ถึงแม้หลวงปู่ท่านจะไม่แข็งแรง เพราะสังขารร่วงโรยและอาพาธเบียดเบียน ท่านก็ยังเมตตาไปเป็นประธานในครั้งนี้ จนสำเร็จลุล่วงไป และท่านยังได้เมตตาอนุญาตให้ทำเหรียญรูปของท่านรุ่น 2 ให้แจกในงานนี้ด้วย จำนวน 10,000 เหรียญ นับว่าเป็นความเมตตาต่อศิษยานุศิษย์ของท่านเป็นอย่างยิ่ง


๏ พ.ศ. 2534 พรรษาที่ 56
จำพรรษาที่วัดป่าสันติกาวาส


พรรษาที่ 56

ในพรรษานี้หลวงปู่ยังคงเมตตาต้อนรับลูกศิษย์ลูกหาซึ่งมาจากที่ต่างๆ ซึ่งใกล้และไกล นับวันเพิ่มมากขึ้น บางวันทั้งตอนเช้า กลางวัน และตอนเย็น หลวงปู่ท่านให้ทั้งวัตถุธรรม ให้ทั้งธรรมะ บางคนมาหาท่านแล้วบอกว่าไม่สบายมีอาการอย่างโน้นอย่างนี้ ถ้ายาที่ท่านมี ท่านก็ให้ไป ถ้าไม่มีท่านก็บอกให้เอาต้นไม้ชนิดนั้นชนิดนี้มาต้มกิน ฝนกิน เพราะหลวงปู่ท่านชำนาญทางสมุนไพร บางคนก็บอกว่ากินไม่ได้นอนไม่หลับ อยากได้น้ำมนต์ อยากได้ด้ายผูกข้อมือ ท่านก็ทำให้

บางวันท่านนั่งทำน้ำมนต์ทำฝ้ายผูกข้อมือ ตั้งแต่ฉันเช้าเสร็จจนถึงบ่ายโมง ผู้เขียนเคยกราบเรียนท่านว่า “หลวงปู่ บางวันฝ้ายผูกข้อมือมันมาก หลวงปู่จับทำทีละเส้นมันไม่เสร็จเร็ว หลวงปู่จับรวมกันเป่าแล้วก็เอาให้ไปเลย จะได้เสร็จเร็วๆ” หลวงปู่ท่านตอบว่า “ถ้าทำไม่ดีแล้วจะทำไปทำไม ถ้าทำก็ต้องทำให้ดี” แล้วหลวงปู่ก็ทำต่อไปอย่างเยือกเย็น คนที่อยากได้ก็นั่งคอยรับอย่างเยือกเย็น ใครรีบร้อนไม่มีหวังได้จากหลวงปู่ บางทีเมื่อท่านให้สิ่งที่เป็นวัตถุแล้วท่านก็สอนธรรมะต่อ “ดีชั่วก็ตัวเรา จงทำเอาอยู่ที่ใจ”

พระพี่ชายได้จากไป

หลังจากออกพรรษาแล้ว วันที่ 7 พฤศจิกายน พ.ศ. 2534 หลวงปู่คำสิงห์ สุจิตฺโต ผู้เป็นพี่ชายของหลวงปู่ ได้อาพาธกะทันหันมีไข้สูง ได้นำท่านส่งโรงพยาบาลอำเภอไชยวาน หมอตรวจพบว่ามีน้ำในปอดมาก จึงได้นำท่านส่งต่อโรงพยาบาลศูนย์อุดรธานี หมอตรวจพบว่าท่านเป็นมะเร็งในปอด หมอทำการรักษาแต่อาการมีแต่ทรงกับทรุดลงเรื่อยๆ จนถึงวันที่ 16 พฤศจิกายน 2534 หลวงปู่ท่านพูดแย้มๆ ว่า

“หลวงพ่อสิงห์ เห็นท่าจะไม่ไหวเสียแล้ว”

ท่านจึงไปขออนุญาตหมอนำหลวงปู่คำสิงห์กลับวัดตอนเย็นวันที่ 16 พอเช้าวันที่ 17 พฤศจิกายน 2534 เวลา 07.00 น. หลวงปู่คำสิงห์ สุจิตฺโต ได้ละสังขารจากโลกไปอย่างไม่มีอาลัยในวัฏฏสงสาร เมื่ออายุของท่านได้ 84 ปี หลวงปู่เป็นประธานพาศิษยานุศิษย์บำเพ็ญกุศลกุศลศพหลวงปู่คำสิงห์ สุจิตฺโต ผู้เป็นพี่ชายอยู่ 15 วัน จึงได้ประชุมเพลิงศพเมื่อวันที่ 30 พฤศจิกายน พ.ศ. 2534 เวลา 17.00 น.

เป็นประธานวางศิลามงคลสร้างวิหารกลางน้ำ
(พิพิธภัณฑ์บริขารหลวงปู่)


เมื่อวันที่ 1 มกราคม พ.ศ. 2535 หลวงปู่เป็นประธานวางศิลามงคลสร้างวิหารกลางน้ำ (พิพิธภัณฑ์บริขารหลวงปู่) ท่ามกลางศิษยานุศิษย์ที่มาร่วมในพิธีเป็นจำนวนมาก วิหารหลังนี้สร้างอยู่กลางบ่อน้ำสี่เหลี่ยม เดิมทีสถานที่นี้เป็นหนองน้ำธรรมชาติกลางป่าดง น้ำไม่เคยแห้งตลอดฤดูแล้ง ชาวบ้านเรียกหนองน้ำนี้ว่า “หนองทุ่ม” (เพราะมีต้นกระทุ่มอยู่ริมหนองน้ำ) เมื่อหลวงปู่มาสร้างวัดได้ 1 ปีผ่านไป ปีที่ 2 ท่านจึงให้ญาติโยมสร้างกุฏิในหนองน้ำเรียกว่า “กุฏิกลางน้ำเล็ก” ทำด้วยไม้

เมื่อทำเสร็จแล้วหลวงปู่ได้มาพำนักอยู่ จนถึงปี พ.ศ. 2503 เมื่อได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมา หลวงปู่จึงให้ปักเขตคร่อมบริเวณหนองน้ำนี้ และได้พาพวกญาติโยมสร้างวิหารไม้หลังใหญ่ สิ้นค่าก่อสร้าง 9,000 บาท ใช้เป็นที่ทำสังฆกรรมบวชพระเณร และลงอุโบสถสวดปาฏิโมกข์ด้วย และหลวงปู่ได้ย้ายจากกุฏิกลางน้ำเล็กขึ้นมาพำนักอยู่ที่วิหารกลางน้ำไม้หลังใหญ่ จนถึง พ.ศ. 2516 ท่านจึงย้ายลงไปพำนักที่อื่น เพราะวิหารไม้หลังใหญ่ชำรุด

ปี พ.ศ. 2521 จึงได้ย้ายเขตวิสุงคามสีมาไปปักเขตที่ศาลาการเปรียญ เมื่อปลายปี พ.ศ. 2534 โครงการอีสานเขียวนำโดยคณะนายทหาร ได้มาขุดลอกหนองทุ่มให้เป็นสระสี่เหลี่ยม หลวงปู่ให้รื้อวิหารไม้ออก และวางศิลามงคลสร้างวิหารคอนกรีตขึ้นแทน

หนองทุ่มกับหลวงปู่

หลวงปู่พูดแย้มๆ ให้ศิษย์ฟังว่า “ในชาติหนึ่งเคยเป็นฟาน (อีเก้ง) มาอาศัยกินน้ำที่หนองทุ่มนี้และตายที่นี่ ที่เคยเกิดเคยตายมันก็วนเวียนอยู่นั้นแหละ ในชาตินี้ก็คงจะตายที่นี้อีก”

อาพาธครั้งที่ 9 พ.ศ. 2535

เดือนมกราคมหลังจากเสร็จพิธีวางศิลามงคลสร้างวิหารกลางน้ำแล้ว หลวงปู่มีอาการไอ และมีเลือดปนออกมากับน้ำลายที่บ้วนลงกระโถน สีแดงเหมือนน้ำหมาก ลูกศิษย์พยายามถามอาการก็ถูกท่านว่าเอา “วุ่นวายอะไรกับสังขาร ทำอย่างไรก็ไม่พ้นตายหรอก” หลวงปู่มีอาการอ่อนเพลียลงเรื่อยๆ วันเสาร์ที่ 11 มกราคม พ.ศ. 2535 หลวงปู่ไปเป็นประธานในพิธีฉลองศาลาการเปรียญวัดป่าภูวังงาม บ้านคำเลาะ คุณสุดใจ สุขุมารจันทร์ เห็นสุขภาพหลวงปู่อิดโรย จึงได้กราบขอนิมนต์หลวงปู่ให้ไปตรวจสุขภาพที่โรงพยาบาลรามคำแหง กรุงเทพฯ

คุณสุดใจมีสามีเป็นนายแพทย์อยู่ที่นั้น คือคุณหมอยศวี สุขุมารจันทร์ จะได้ถวายการดูแลรักษาหลวงปู่ หลวงปู่ได้แต่ขออนุโมทนา ในที่สุดก็ไม่รับนิมนต์ จนเวลาล่วงเลยมาถึงเดือนพฤษภาคม อาการของหลวงปู่ได้กำเริบมาก มีอาการสะอึก บางทีจนแทบหายใจไม่ได้ และมีอาการคันและเบื่ออาหารมาก คณะศิษย์จึงอ้อนวอนขอให้หลวงปู่ไปตรวจคอมพิวเตอร์ที่คลินิกหมออุดม อำเภอสว่างแดนดิน หลวงปู่ยอมไป คุณหมออุดมได้ถวายการตรวจ พบว่าในปอดมีจุดใหญ่ คุณหมอแนะนำว่าควรจะนำหลวงปู่ไปรักษาที่โรงพยาบาลศรีนครินทร์ จังหวัดขอนแก่น คณะศิษย์ขอกราบนิมนต์หลวงปู่ไปรักษาที่โรงพยาบาลศรีนครินทร์ หลวงปู่ไม่ยอมรับ ท่านได้แต่บอกว่า “วุ่นวายอะไร” แล้วท่านก็นิ่งเฉย

ต่อมาไม่กี่วันอาการได้กำเริบหนักขึ้น หลวงปู่สะอึกแล้วหายใจไม่ออก พอดีวันนั้นมีลูกศิษย์หลายคนมาเยี่ยมดูอาการหลวงปู่ จึงได้ช่วยกันอ้อนวอนหลวงปู่ให้เมตตาลูกศิษย์ลูกหา อย่าเพิ่งด่วนปล่อยทิ้งเลย ในที่สุดท่านเมตตายอมรับนิมนต์ไปรักษาที่โรงพยาบาลศรีนครินทร์ จังหวัดขอนแก่น จึงได้โทรศัพท์ถึงคุณหมอสุนทร ศรีโพธิ์ ที่ขอนแก่น ซึ่งเป็นศิษย์ของหลวงปู่ท่านหนึ่งที่หลวงปู่เมตตามาก ให้ติดต่อกับคณะศิษย์ที่เป็นหมอในโรงพยาบาลศรีนครินทร์ แล้วจึงได้นำหลวงปู่ไปรับการรักษาที่โรงพยาบาลศรีนครินทร์ พักห้องพิเศษ

การรักษาพยาบาลหลวงปู่นั้นมีปัญหาอยู่ว่า ท่านไม่ยอมให้หมอและพยาบาลผู้หญิงตรวจรักษาและฉีดยา ด้วยเหตุนี้ ผศ.นพ.วิสุทธิ์ สุขีไพศาลเจริญ จึงรับเป็นภาระในการดูแลรักษาหลวงปู่ และถวายตัวเป็นศิษย์หลวงปู่ด้วย การอาพาธของหลวงปู่ในครั้งนี้ได้รับการวินิจฉัยว่าเป็นวัณโรคที่ปอด ในระยะที่หลวงปู่พักรักษาที่โรงพยาบาลศรีนครินทร์นั้น ได้มีลูกศิษย์ลูกหาทั้งเก่าและใหม่ เมื่อทราบว่าหลวงปู่อาพาธต่างคนต่างก็มีความเป็นห่วงได้มาเยี่ยมเยียนมิได้ขาด เมื่ออาการของหลวงปู่ดีขึ้น ท่านก็เมตตาไต่ถามและให้ธรรมะแก่ลูกศิษย์ที่มาเยี่ยมด้วย

ความอกตัญญูลบหลู่ครูบาอาจารย์ย่อมนำมาซึ่งความหายนะ

หลวงปู่ได้เตือนลูกศิษย์ให้รู้คุณของผู้มีคุณ ผู้ใดรู้คุณของผู้มีคุณย่อมนำมาซึ่งความเจริญและเป็นคนดี ตามพุทธภาษิตว่า นิมิตฺตํ สาธุรูปานํ กตญฺญู กตเวทิตา ความกตัญญูกตเวทีเป็นเครื่องหมายของคนดี หลวงปู่เล่านิทานเรียนคาถาเสกมะม่วงว่า

กาลครั้งหนึ่ง มานพหนุ่มเดินทางไปศึกษาวิทยาการ ณ สำนักอาจารย์เล็กๆ ที่ไม่มีชื่อเสียงแห่งหนึ่ง สิ่งที่ได้ศึกษานั้นคือวิชาเสกมะม่วง เมื่อสำเร็จสมปรารถนาแล้วจึงเดินทางกลับบ้านเดิม ลงมือปลูกมะม่วง และทุกๆ วันเขาจะสวดภาวนาคาถาที่ได้ร่ำเรียนมา เสกเป่าใส่น้ำที่ใช้รดมะม่วงนั้น จนกระทั่งมีผลผลิตดกหนาเต็มต้นตลอดทั้งปี แม้ในยามที่แล้ง อีกทั้งมีรสชาติหอมหวานจนใครๆ ได้ชิมแล้วก็ล้วนติดใจ กิตติศัพท์ความวิเศษของมะม่วงนี้รู้ไปถึงพระราชาผู้ครองนคร พระองค์มีความปรารถนาที่จะลิ้มรส เมื่อได้ลองเสวยลูกแรก พระองค์รู้สึกติดพระทัยเป็นอย่างมาก มีรับสั่งให้มหาดเล็กนำมาถวายทุกวัน และมีพระประสงค์จะพบกับมานพหนุ่มผู้เป็นเจ้าของมะม่วงต้นนั้น จึงรับสั่งให้นำตัวมาเข้าเฝ้า

เมื่อมหาดเล็กไปแจ้งแก่ชายหนุ่มชายผู้เป็นเจ้าของมะม่วงวิเศษนั้น รู้สึกอับอายที่ไม่มีเสื้อผ้าดีๆสวมใส่ จึงไม่ยอมเข้าเฝ้า มหาดเล็กกลับไปทูลความจริงต่อพระราชา พระราชาจึงได้พระราชทานเสื้อผ้าดีๆ และทรัพย์สินมากมาย เมื่อชายหนุ่มนั้นเข้าเฝ้าตามพระประสงค์ พระราชาตรัสถามว่าท่านได้ศึกษาเล่าเรียนวิชาจากสำนักใด มะม่วงนั้นจึงมีรสชาติที่วิเศษนัก ชายหนุ่มไม่กล้าตอบตามความจริง เพราะรู้สึกอับอายที่สำนักอาจารย์ตนนั้นไม่มีชื่อเสียง จึงอ้างเอาสำนักทิศาปาโมกข์ที่มีชื่อเสียงแห่งเมืองตักศิลาแทน

ด้วยผลแห่งการลบหลู่ดูถูกผู้มีคุณ ทำให้วิชาที่ศึกษานั้นเสื่อมไปทันที มะม่วงที่เคยให้ผลดกบริบูรณ์และรสชาติหอมหวาน ก็กลับเป็นเสมือนมะม่วงธรรมดาที่ไม่มีความพิเศษอันใด พระราชาจึงไม่โปรดปรานอีกต่อไป ฐานะที่เคยเป็นเศรษฐี ก็กลายเป็นบุรุษผู้ยากไร้ดังเดิม เขาจึงเดินทางไปพบอาจารย์ตนเพื่อขอเรียนคาถาเสกมะม่วงอีกครั้ง แต่อาจารย์ก็ได้กล่าวแสดงความเสียใจว่า เมื่อคาถาเสื่อมก็ไม่อาจสอนให้เป็นครั้งที่ 2 ได้ แม้ว่าเขาจะอ้อนวอนอย่างไรก็ตาม ในที่สุดก็ต้องเดินทางกลับด้วยความเสียใจและผิดหวัง

“ผู้ใดไม่ยกย่องครูอาจารย์ย่อมไม่เจริญ” หลวงปู่แสดงให้ลูกศิษย์ฟังอย่างนี้ที่โรงพยาบาลศรีนครินทร์ หลวงปู่พักรักษาอยู่เป็นเวลา 1 เดือน จึงได้กลับวัดป่าสันติกาวาส เมื่ออาการของท่านดีขึ้น คุณหมอวิสุทธิ์และคณะแพทย์ที่เป็นลูกศิษย์หลวงปู่ได้ถวายการรักษาต่อที่วัด จนหลวงปู่หายเป็นปกติ


๏ พ.ศ. 2535 พรรษาที่ 57
จำพรรษาที่วัดป่าสันติกาวาส


ปี พ.ศ. 2536 เดือนเมษายน หลวงปู่เป็นประธานวางศิลามงคลสร้างอุโบสถวัดป่าหนองผือ บ้านหนองผือ ตำบลบ้านยา อำเภอหนองหาน จังหวัดอุดรธานี


๏ พ.ศ. 2536 พรรษาที่ 58
จำพรรษาที่วัดป่าสันติกาวาส


ในพรรษานี้สุขภาพของหลวงปู่กระเสาะกระแสะ ท่านจะมีอาการปัสสาวะบ่อยๆ ในเวลากลางคืน คณะศิษยานุศิษย์เข้าใจว่าเป็นโรคของคนแก่ จึงไม่ได้สนใจอะไร แต่หลวงปู่ก็เมตตาอบรมสั่งสอนลูกศิษย์ที่เข้ากราบนมัสการอยู่มิได้ขาดแต่ละวันละวัน

เมื่อออกพรรษาแล้ว เดือนตุลาคม หลวงปู่เป็นประธานวางศิลามงคลสร้างอุโบสถวิหารวัดป่าหนองแซง (วัดราษฎรสงเคราะห์) อำเภอหนองวัวซอ จังหวัดอุดรธานี

รูปภาพ
ภายในศาลาการเปรียญวัดป่าสันติกาวาส จ.อุดรธานี

.....................................................
ทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว เป็นกฎตายตัว


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 30 ก.ค. 2009, 21:05 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
ผู้จัดการ
ผู้จัดการ
ลงทะเบียนเมื่อ: 27 มี.ค. 2006, 17:34
โพสต์: 7781

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว www


รูปภาพ
หลวงปู่บุญจันทร์ กมโล ท่ามกลางคณะศิษยานุศิษย์ทั้งใกล้และไกล
ซ้ายมือขององค์หลวงปู่ คือ พระอาจารย์สมหมาย อตฺตมโน



๏ พ.ศ. 2537 พรรษาที่ 59
จำพรรษาที่วัดป่าสันติกาวาส
อาพาธครั้งที่ 10 สุดท้ายแห่งสังขาร


พรรษาที่ 59

ในพรรษานี้พอเริ่มเข้าพรรษา หลวงปู่มีอาการไม่ค่อยสบายด้วยอาการเหนื่อย เบื่ออาหาร ฉันอาหารได้น้อย มีเลือดออกตามลำคอเป็นครั้งคราว ปัสสาวะบ่อยๆ ผอมลงเรื่อยๆ แต่ท่านไม่สนใจในสังขารที่เปลี่ยนแปลง เมื่อถึงเดือนกันยายนซึ่งเป็นวาระที่อายุหลวงปู่จะครบรอบ 78 ปี ในวันที่ 15 กันยายน พ.ศ. 2537 ประกอบกับการก่อสร้าง วิหารกลางน้ำ (พิพิธภัณฑ์บริขารหลวงปู่) ได้สำเร็จเรียบร้อยลง โดยใช้เวลาก่อสร้างอยู่ 2 ปี กับ 7 เดือน

ดังนั้นเพื่อเป็นการน้อมถวายบูชาพระคุณหลวงปู่ คณะศิษยานุศิษย์จึงได้กำหนดการทำบุญฉลองอายุครบ 78 ปีของหลวงปู่ และฉลองวิหารกลางน้ำด้วย ในวันที่ 15 กันยายน พ.ศ. 2537 โดยได้กราบนิมนต์พระเถรานุเถระมาเจริญพระพุทธมนต์ในวิหารกลางน้ำ คณะศิษยานุศิษย์ทั้งใกล้และไกลได้มารวมกันทำบุญเพื่อเป็นการถวายบูชาพระคุณหลวงปู่ในครั้งนี้เป็นจำนวนมาก และได้ทำพิธีถวายวิหารกลางน้ำแก่สงฆ์ด้วย

หลังจากทำบุญถวายหลวงปู่แล้ว อาการอาพาธของหลวงปู่เริ่มชัดเจนขึ้น อาการเหนื่อยมีมากขึ้น ฉันอาหารไม่ค่อยได้ อาการอิดโรยปรากฏชัดขึ้น คณะศิษยานุศิษย์ได้ถวายการตรวจแต่ไม่พบสิ่งผิดปกติ ยกเว้นจะมีกรดยูริกสูงขึ้นเล็กน้อย ซึ่งเป็นโรคประจำตัวของท่านอยู่แล้ว

(เรื่องโรคเกาต์นี้เริ่มปรากฏให้เห็นเมื่อปี พ.ศ. 2530 โดยมีอาการบวม เจ็บปวดตามหลังเท้า เห็นได้เมื่อเวลาที่โรคกำเริบ แพทย์ได้ถวายยาลดกรดยูริกอยู่เป็นประจำ อาการจะกำเริบบ่อยในช่วงที่หน่อไม้กำลังออกใหม่ๆ หรือศรัทธาญาติโยมมีจิตศรัทธาตุ๋นอาหารสัตว์ปีกมาถวาย แต่อาการอาพาธเหล่านี้ก็เป็นเพียงเล็กน้อยสำหรับองค์ท่าน เมื่อท่านหยุดฉันของแสลงและฉันยาอาการก็หายไป)

คณะศิษย์ก็พยายามหายาบำรุงและอาหารเสริมมาถวาย อาการท่านก็ค่อยดีขึ้น ฉันอาหารได้มากขึ้น น้ำหนักเพิ่มขึ้น ท่านมีอาการดีขึ้นอยู่ประมาณ 1 เดือนครึ่ง หลังจากนั้นก็เริ่มทรุดลงอีก ด้วยอาการเหนื่อยเพลีย เบื่ออาหาร น้ำหนักลด ตอนกลางวันหลังจากฉันเช้าเสร็จที่ศาลาแล้ว หลวงปู่จะลงไปพักที่วิหารกลางน้ำ และต้อนรับลูกศิษย์ที่มากราบเยี่ยมท่านที่นั้น พอเย็นท่านก็กลับไปที่กุฏิ

พอออกพรรษาเสร็จจากการทอดกฐิน เมื่อวันที่ 30 ตุลาคม พ.ศ. 2537 หลวงปู่มีอาการอ่อนเพลียลงมาก คณะศิษยานุศิษย์ลงความเห็นว่า “หรือจะเป็นเพราะหลวงปู่แพ้กลิ่นสีที่ทาวิหารกลางน้ำที่พึ่งเสร็จใหม่หรือไม่” จึงได้ขอนิมนต์ให้หลวงปู่ลองงดลงไปพักที่วิหารกลางน้ำ แต่อาการของท่านก็ยังอ่อนเพลียอยู่อย่างเดิม หลวงปู่ต้องการอยากอยู่สงบๆ โดยลำพังขององค์ท่าน ไม่อยากพูดคุยและเกี่ยวข้องกับคนอื่น แต่แล้วหลวงปู่ผู้เปี่ยมด้วยเมตตา อดที่จะสงเคราะห์คณะศิษยานุศิษย์ผู้เดินทางมาไกลเพื่อกราบนมัสการท่านไม่ได้ ท่านจึงอนุญาตให้เข้ากราบท่านได้ ถึงแม้บางครั้งอาการไข้กำลังเบียดเบียนท่านอยู่ก็ตาม

รูปภาพ
หลวงปู่เทสก์ เทสรํสี


ไปกราบนมัสการเยี่ยมหลวงปู่เทสก์ เทสรํสี ที่วัดถ้ำขาม

ก่อนที่หลวงปู่เทสก์จะละสังขารไม่นาน หลวงปู่ได้ไปกราบนมัสการเยี่ยม หลวงปู่เทสก์ เทสรํสี ที่วัดถ้ำขาม อำเภอพรรณานิคม จังหวัดสกลนคร เป็นเวลาเย็น เมื่อถึงที่รถจอด หลวงปู่ไม่ค่อยสบายจึงไม่มีกำลังพอที่จะเดินขึ้นไปที่ถ้ำขามได้ พระเณรและลูกศิษย์ที่ติดตามไปกับหลวงปู่ จึงช่วยกันหามรถเข็นที่หลวงปู่นั่งขึ้นไปถึงหลังถ้ำขาม แล้วหลวงปู่จึงเดินไปที่กุฏิที่หลวงปู่เทสก์ท่านพำนักอยู่ พระที่อุปัฏฐากหลวงปู่เทสก์จึงไปกราบเรียนท่านว่า “ท่านอาจารย์บุญจันทร์ มา” หลวงปู่เทสก์ท่านอนุญาตให้เข้าไปได้

เมื่อหลวงปู่เข้าไปถึงแล้วก็กราบหลวงปู่เทสก์ด้วยความเคารพอ่อนน้อม แล้วหลวงปู่เทสก์จึงถามว่า “ทำอย่างไรจึงขึ้นมาได้” หลวงปู่ยกมือขึ้นประนมแล้วกราบเรียนว่า “ขอโอกาสเกล้ากระผม พระเณรช่วยกันหามขึ้นมา” หลวงปู่เทสก์ถามอีกว่า “อายุเท่าไรแล้ว” หลวงปู่กราบเรียนว่า “78 ปี เกล้ากระผม”

หลวงปู่เทสก์พูดว่า “โอ้ ใกล้จะตายเหมือนกันนะ ผมนี้ก็เต็มทีแล้ว ตาก็มองไม่เห็น ร่างกายนี้ไม่มีอะไรแล้ว มีแต่กระดูกเท่านั้นแหละ ดูกระดูกเท่านั้นแหละนะ” หลวงปู่เยี่ยมหลวงปู่เทสก์ไม่นาน จึงได้กราบลาหลวงปู่เทสก์กลับ เมื่อมาถึงวัดแล้วท่านก็มาเล่าให้ลูกศิษย์ลูกหาฟัง

ไปกราบคารวะศพหลวงปู่เทสก์ที่ถ้ำขาม

เมื่อหลวงปู่ทราบว่าหลวงปู่เทสก์ เทสรํสี ได้ละสังขารไปเมื่อวันที่ 17 ธันวาคม พ.ศ. 2537 เวลา 21.30 น. หลวงปู่จึงได้เดินทางไปกราบคารวะศพหลวงปู่เทสก์ เทสรํสี ที่วัดถ้ำขามเป็นครั้งสุดท้าย

ไปกราบคารวะศพหลวงปู่ชอบ ฐานสโม

และเมื่อท่านได้ทราบข่าวว่าหลวงปู่ชอบ ฐานสโม ได้ละสังขารเมื่อวันที่ 8 มกราคม พ.ศ. 2538 ถึงวันที่ 10 มกราคม หลังจากฉันจังหันเช้าที่วัดแล้ว ท่านจึงพาคณะศิษย์ทั้งพระและโยมไปกราบคารวะศพของหลวงปู่ชอบ ฐานสโม ที่วัดป่าสัมมานุสรณ์ บ้านโคกมน อำเภอวังสะพุง จังหวัดเลย ถึงวัดป่าสัมมานุสรณ์เวลาบ่ายสามโมงเย็น เจ้าหน้าที่งดให้ประชาชน พระเณรสรงน้ำศพหลวงปู่เพราะใกล้เวลาน้ำหลวงพระราชทานจะมาถึง

เมื่อเจ้าหน้าที่เห็นหลวงปู่เพิ่งไปถึง จึงอนุญาตพิเศษให้เฉพาะหลวงปู่กับพระที่ติดตามไปขึ้นบนศาลา ส่วนญาติโยมให้รอไว้ก่อน เมื่อขึ้นไปถึงบนศาลา หลวงปู่พาพระลูกศิษย์ที่ติดตามไป กราบคารวะศพหลวงปู่ชอบ ท่านพากราบทางศีรษะ แล้วท่านก็พากันหันไปกราบทางเท้าอีก พร้อมกับพูดว่า “กราบสุดหัวสุดเท้า”

เสร็จแล้วจึงนั่งที่อาสนะสำหรับพระเถระ เมื่อน้ำหลวงมาถึง องคมนตรีเป็นผู้นำน้ำหลวงอาบศพ เสร็จแล้วนำศพหลวงปู่ชอบเข้าหีบ ประกอบศพตั้งแท่นเสร็จเรียบร้อย ทำพิธีขอขมาศพหลวงปู่ชอบ เสร็จแล้วหลวงปู่จึงได้พาเดินทางกลับวัดป่าสันติกาวาส

โปรดญาติเป็นครั้งสุดท้าย

ปีเก่าผ่านไปย่างเข้าปีใหม่ วันที่ 1 มกราคม พ.ศ. 2538 หลวงปู่ยังเดินรับบิณฑบาตในบริเวณวัด โปรดลูกศิษย์ที่มาร่วมกันทำบุญตักบาตรเป็นจำนวนมากในวันขึ้นปีใหม่ วันคืนผ่านไป ในช่วงเดือนกุมภาพันธ์ สุขภาพของหลวงปู่มีอาการดีขึ้น ฉันอาหารได้บ้างดูมีแรงขึ้น คณะศิษยานุศิษย์ที่กรุงเทพฯ ได้กราบอาราธนาให้หลวงปู่ลงไปโปรดที่กรุงเทพฯ พร้อมกับครบกำหนดการตรวจตาข้างขวาของหลวงปู่ด้วย ควรมิควรอย่างไรแล้วแต่หลวงปู่จะเมตตา เมื่อใกล้กำหนดจะเดินทางลงกรุงเทพฯ คณะศิษยานุศิษย์ผู้ปฏิบัติหลวงปู่ที่วัดจึงกราบเรียนถามท่านว่า “หลวงปู่จะรับนิมนต์ลงกรุงเทพฯ หรือไม่” หลวงปู่นิ่งอยู่ครู่หนึ่งแล้วจึงบอกว่า “เอ้า ไปโปรดญาติครั้งสุดท้าย”

วันที่ 2 มีนาคม พ.ศ. 2538 หลวงปู่เดินทางลงกรุงเทพฯ โดยเครื่องบิน เที่ยวบินเวลา 19.45 น. ออกจากอุดรฯ ถึงดอนเมือง กรุงเทพฯ เวลา 20.45 น. ลูกชายคุณนิดา ชิตานนท์ นำรถมารับหลวงปู่พร้อมกับพระติดตามอีก 2 รูป ไปพักที่รถรางที่คุณนิดาจัดถวายสำหรับเป็นที่พักของหลวงปู่

วันที่ 3 มีนาคม เช้ารับบิณฑบาตฉันเช้าที่บ้านคุณนิดา บ่าย 1 โมง ตรวจตาที่ไทยจักษุคลินิก บ่าย 3 โมงเยี่ยมท่านผู้หญิงจรวย ท่านผู้หญิงถวายสังฆทานด้วย ตอนเย็นให้โอวาทธรรมแก่ลูกศิษย์ที่มากราบฟังธรรม

วันที่ 4 มีนาคม หลวงปู่รับบิณฑบาตฉันเช้าในพิธีสมรสคุณอภิพร ยูนิพันธ์ บุตรสาวของอาจารย์เสรี-อาจารย์ประจวบ ยูนิพันธ์ ที่บ้านคอนโด สุขุมวิท 33 ตอนบ่ายคุณปั๊กนิมนต์หลวงปู่รับถวายสังฆทานที่บ้าน

วันที่ 5 มีนาคม ตอนเช้าหลวงปู่รับบิณฑบาต ฉันเช้าที่บ้านคุณนิดา ทำบุญอุทิศกุศลให้คุณแม่ ตอนบ่ายหลวงปู่ไปรับไทยทานโปรดคุณไพบูลย์-คุณนงค์ลักษณ์ ที่บ้าน แล้วต่อไปวัดสายตาตัดแว่น

เสนาพระยามัจจุราชเข้าย่ำยีสังขารนครของหลวงปู่

คืนวันที่ 5 มีนาคม พ.ศ. 2538 หลวงปู่เกิดท้องร่วง 4 ครั้ง และมีไข้ หลวงปู่อยู่ในความสงบนิ่งตลอดเวลา

เช้าวันที่ 6 มีนาคม คุณทวีสิทธิ์ ทีระฆะวงศ์ นำรถมารับหลวงปู่ไปรับฉันบิณฑบาตที่บ้าน หลวงปู่ไม่สามารถจะไปได้ ท่านจึงให้ผู้เขียนไปแทน ในวันที่ 6 นี้ หลวงปู่ไม่ออกจากที่พัก หมอถวายเกลือแร่ บ่ายอาการดีขึ้นและดีขึ้นเรื่อยๆ หลวงปู่พักที่รถรางจนถึงวันที่ 9 อาการไข้และท้องเสียเป็นปกติ แต่มีอาการปวดฟัน

ไปพักผ่อนที่หัวหิน

วันที่ 11 มีนาคม เวลาบ่ายสามโมงเย็น หลวงปู่เดินทางจากกรุงเทพฯ โดยรถตู้ของคุณอรวรรณ จัยวัฒน์ ถึงหัวหินเวลา 6 โมงเย็น หลวงปู่พร้อมด้วยพระติดตามอีก 2 รูป พักที่สุญญาคาร (บ้านว่าง) ริมทะเล ของคุณโยมประภา จัยวัฒน์ ขณะที่หลวงปู่พักอยู่ที่หัวหิน ฟันอักเสบบวมมาก ได้พบหมอฟันที่คลินิกอำเภอหัวหิน 2 ครั้ง อาการค่อยดีขึ้น

ลิงรักลูก

วันหนึ่งคุณไพบูลย์ขับรถส่วนตัวจากกรุงเทพฯ ไปกราบเยี่ยมหลวงปู่ที่หัวหิน พอมีโอกาสจึงรับหลวงปู่พร้อมพระติดตาม ไปชมวัดเขาตะเกียบ ซึ่งเป็นภูเขาอยู่ติดทะเล และให้ทานกล้วยแก่ลิงด้วย ลิงวิ่งมาแย่งกล้วยกันชุลมุนตามประสาของลิง มีแม่ลิงตัวหนึ่งวิ่งมา ปากของมันคาบลูกเอาไว้ แต่ลูกของมันเป็นลูกที่ตายจนแห้งแล้ว พอมันแย่งกล้วยได้แล้ว มันก็เอามือของมันจับลูกที่ปากลงวางไว้ แล้วมันก็กล้วย พอกินกล้วยหมดมันก็จับเอาลูกที่ตายแล้วของมันใส่ปากคาบไว้ แล้วก็เดินต่อไป

หลวงปู่จึงชี้ให้ดูว่า “ดูซิ ลิงมันรักลูกของมัน แม้จะเป็นสัตว์ดิรัจฉาน ถึงลูกของมันตายแล้วก็ตาม ไปไหนมันก็คาบไปด้วยเพราะมันไม่รู้ว่าลูกของมันตาย ด้วยความรักความอาลัย”

ขณะที่หลวงปู่พักอยู่ที่หัวหิน ลูกศิษย์ที่ไปกราบเยี่ยมต่างคนก็กราบเรียนหลวงปู่ว่า “ที่นี้อากาศดีเย็นสบายดี” หลวงปู่พูดแย้มๆ ว่า “อากาศมันดี แต่เราไม่ดี”

หลวงปู่พักที่หัวหินจนถึงวันที่ 26 มีนาคม จึงเดินทางกลับเข้ากรุงเทพฯ พักที่กรุงเทพฯ 1 คืน วันที่ 27 มีนาคม เดินทางจากกรุงเทพฯ โดยเครื่องบินเที่ยวบ่าย 5 โมงเย็นกลับอุดรธานี ถึงวัดป่าสันติกาวาส เวลา 20.00 น.

สังขารแสดงถึงความชัดเจนแห่งการทรงอยู่ไม่ได้

วันที่ 3 เมษายน พ.ศ. 2538 หลวงปู่เริ่มมีอาการบวมที่ขาทั้ง 2 ข้างจนเห็นได้ชัด คณะแพทย์จึงได้ขออนุญาตนำเลือดและปัสสาวะไปตรวจ แต่ก็ยังไม่รู้ชัดเจนว่าหลวงปู่เป็นโรคอะไร อาการเหนื่อยและอ่อนเพลียเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ

วันที่ 13 เมษายน ซึ่งเป็นวันสงกรานต์และหยุดราชการ ลูกศิษย์จากที่ต่างๆ ได้มารวมกันทำบุญที่วัด และที่มาค้างคืนปฏิบัติธรรมอยู่ที่วัดก็มี

วันที่ 14 เมษายน พ.ศ. 2538 เป็นวันสุดท้ายที่หลวงปู่ลงแสดงธรรมโปรดแก่คณะศิษยานุศิษย์ ที่ศาลาการเปรียญ วันนั้นเป็นวันพระ ขึ้น 15 ค่ำ เวลา 20.00 น. คณะศิษยานุศิษย์ที่มาปฏิบัติธรรมได้ลงรวมกันที่ศาลาการเปรียญ หลวงปู่ผู้มีเมตตาได้พยายามฝืนสังขารของท่านที่กำลังถูกคุมคามอยู่ด้วยอาพาธเจ็บป่วย ลงสู่ที่ประชุมของคณะศิษยานุศิษย์ แล้วได้นำไหว้พระสวดมนต์ เสร็จแล้วได้ให้โอวาทธรรมเตือนคณะศิษยานุศิษย์ “ให้ตั้งอยู่บนความไม่ประมาท เพราะความเกิดความตายเป็นของคู่กัน”

แล้วหลวงปู่จึงนำนั่งสมาธิภาวนาถึงเวลาพอสมควรแล้วจึงได้เลิกประชุม นับแต่วันนั้นมาหลวงปู่ไม่ได้ลงที่ศาลาการเปรียญอีกเลย หลวงปู่ได้พักประจำที่วิหารกลางน้ำตลอดมา ตอนเช้าหลวงปู่ให้ตั้งบาตรต่อหน้าท่านในวิหารกลางน้ำ คณะศิษยานุศิษย์ไปใส่บาตรและถวายภัตตาหารเฉพาะหลวงปู่ในวิหารกลางน้ำ และมีพระคอยอุปัฏฐากหลวงปู่อยู่ 1 รูป เวลาฉัน ท่านก็ยังฉันในบาตรอยู่ ไม่ทิ้งลายของพระกัมมัฏฐาน

คณะศิษย์ต่างมีความเป็นห่วง

ข่าวการอาพาธของหลวงปู่ได้แพร่กระจายไป คณะศิษยานุศิษย์ต่างมาเยี่ยมเยียนหลวงปู่มิได้ขาดแต่ละวัน แต่ละคนมาก็มีหยูกยาติดไม้ติดมือมา ทั้งสมุนไพรและยาแผนปัจจุบัน ท่านเมตตารับไว้และฉันให้บ้างพอให้ดีใจ เมื่อมีผู้กราบเรียนถามท่านว่า “หลวงปู่ป่วยคราวนี้จะหายไหม” หลวงปู่ก็บอกว่า “หาย” ปกติหลวงปู่เป็นผู้มีนิสัยไม่ชอบให้คนแตกตื่นและตกใจ

ทอดอาลัยในสังขาร

ผู้เขียนเห็นการอาพาธของหลวงปู่ในครั้งนี้ เกิดความไม่แน่ใจในการที่จะรั้งสังขารของหลวงปู่ไว้ได้ จึงกราบเรียนท่านว่า “ถ้าหากมีลูกศิษย์หรือคณะแพทย์ขอกราบอาราธนาหลวงปู่ไปพักรักษาในโรงพยาบาล หลวงปู่จะว่าอย่างไร เกล้ากระผม”

ท่านตอบว่า “เราทุกข์มาหลายครั้งหลายหนแล้วเว้ย ทีนี้เราไม่เอาอีกแล้ว” เมื่อผู้เขียนได้ฟังท่านพูดอย่างนั้น จึงมีความแน่ใจว่า ในคราวนี้หลวงปู่จะทิ้งขันธ์อย่างแน่นอน จากนั้นจึงได้เตรียมจิตใจและเตรียมพร้อมทุกอย่างไว้ การถวายหยูกยาและการตรวจอะไรก็ให้เป็นไปตามอัธยาศัยของท่าน ถ้าท่านว่าหยุดแล้วก็ไม่รบกวนท่าน

คณะแพทย์กราบนิมนต์ให้ไปตรวจที่โรงพยาบาลศรีนครินทร์

เพื่อความแน่ใจว่าหลวงปู่อาพาธด้วยโรคอะไรแน่ คณะแพทย์จากโรงพยาบาลศรีนครินทร์ จึงกราบนิมนต์ให้หลวงปู่ไปตรวจที่โรงพยาบาล หลวงปู่ย้อนถามว่า “จะให้นอนที่โรงพยาบาลไหม ถ้าให้นอนโรงพยาบาลจะไม่ไป ถ้าตรวจรู้ว่าเป็นอะไรแล้วให้กลับวัดก็จะไปให้” คณะแพทย์ยอมรับว่าไม่ให้นอนโรงพยาบาล หลวงปู่จึงตกลงไป

เมื่อวันที่ 22 เมษายน 2538 รถรับหลวงปู่ออกจากวัดแต่เช้ามืด คณะแพทย์นิมนต์ให้ไปตรวจเจาะเลือดก่อน แล้วจึงถวายบิณฑบาตที่โรงพยาบาล เสร็จแล้วจัดให้หลวงปู่พักคอยที่ห้องพิเศษจนถึงตอนบ่ายหมอได้นำผลวิจัยมากราบเรียนให้ทราบว่า ท่านอาพาธด้วยโรคไตรั่ว โรคนี้รักษาให้หายขาดไม่ได้ แต่รักษาชลอไว้ได้ คณะแพทย์จึงกราบขอนิมนต์ให้พักรักษาที่โรงพยาบาล แต่หลวงปู่ไม่ยอมรับ ทุกคนผิดหวังที่จะรั้งสังขารหลวงปู่ให้อยู่ต่อไปนานๆ ถึงเวลา 4 โมงเย็น จึงได้รับหลวงปู่กลับวัด หลวงปู่พักจำวัดที่วิหารกลางน้ำ อาการหลวงปู่ทรุดลงอ่อนเพลียจนไม่อยากฉันอาหารเลย อาการบวมเพิ่มมากขึ้น

วันที่ 2 พฤษภาคม หมอได้ถวายการรักษาหลวงปู่ด้วยการถวายยารักษาไต หลังจากฉันยาได้ 3-4 วัน หลวงปู่มีอาการดีขึ้น ฉันอาหารได้มากขึ้น พูดมีเสียงชัดเจน

วันที่ 7 พฤษภาคม คณะนักศึกษาแพทย์จากชมรมพุทธศาสตร์โรงพยาบาลศิริราช ได้มากราบเยี่ยมหลวงปู่ หลวงปู่ได้เมตตาให้ธรรมะเป็นกัณฑ์สุดท้าย (กัณฑ์ปัจฉิมเทศนา) เป็นเวลานานพอสมควร ท่านเตือนให้ตั้งอยู่ในความไม่ประมาท ต้นตอของธรรมอยู่ที่ใจ

สั่งให้พระทำกลดใหญ่

ในระยะที่หลวงปู่มีอาการดีขึ้น ตอนเช้าหลังจากฉันเช้าเสร็จ ท่านสั่งให้เอารถเข็นท่านลงมาพักตามร่มไม้ ในปีนั้นไม้ไผ่หนาม (ชาวบ้านเรียกว่า ไม้ไผ่ป่า) ได้ออกดอกเป็นขุยตาย ไม้ไผ่ที่หลวงปู่ให้นำมาปลูกเป็นรั้ววัดในคราวที่ท่านมาสร้างวัดใหม่ๆ (พ.ศ. 2493) ก็ตายทั้งหมด ท่านจึงสั่งให้พระเณรญาติโยมมาช่วยกันตัดทำความสะอาดออกให้หมด และท่านได้กำชับว่า “ให้ทำให้เสร็จก่อนเข้าพรรษาด้วย” และท่านได้สั่งให้พระที่มีฝีมือในการทำกลด นำเอาริ้วกลด ยาว 3 เมตร ที่ท่านเหลาไว้ตั้งแต่ 5 ปีที่แล้ว มาประกอบให้เป็นกลดที่เสร็จสมบูรณ์

เมื่อลูกศิษย์ทั้งหลายมาเยี่ยมท่าน เห็นพระเณรช่วยกันทำกลดใหญ่ ต่างก็พากันไม่ชอบ เมื่อเห็นแล้วใครๆ ก็รู้ว่ากลดใหญ่นี้ไม่ได้ทำเพื่อประโยชน์อย่างอื่น นอกจากทำไว้สำหรับเมรุเผาศพครูบาอาจารย์สายกรรมฐานเท่านั้น ลูกศิษย์ญาติโยมก็พากันนิมนต์ให้พระหยุดทำกลดใหญ่ พระก็บอกญาติโยมว่า “หลวงปู่ท่านสั่งให้ทำ” ลูกศิษย์ญาติโยมก็ไปกราบเรียนหลวงปู่ขอให้พระหยุดทำกลดใหญ่ เพราะยังไม่อยากให้หลวงปู่เป็นอะไรไป

หลวงปู่รักษากำลังใจของลูกศิษย์ลูกหา ท่านก็ให้พระหยุดทำไว้ก่อน เมื่อมีผู้ถามท่านว่า “หลวงปู่ อาพาธคราวนี้จะหายไหม” ท่านก็ตอบว่า “หาย” ในขณะที่ญาติโยมมาช่วยกันตัดถางไม้ไผ่ที่ตายทำความสะอาดนั้น ถึงแม้ท่านเดินเองไม่ได้แล้ว ท่านก็ยังให้เอาเตียงไปตั้งในบริเวณใกล้ๆ แล้วท่านก็นั่งพักนอนพักให้กำลังใจอยู่ด้วย

.....................................................
ทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว เป็นกฎตายตัว


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 31 ก.ค. 2009, 17:32 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
ผู้จัดการ
ผู้จัดการ
ลงทะเบียนเมื่อ: 27 มี.ค. 2006, 17:34
โพสต์: 7781

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว www


รูปภาพ
ภาพวาดหลวงปู่มหาบัว ญาณสมฺปนฺโน มาเยี่ยมอาการอาพาธหลวงปู่บุญจันทร์ กมโล
ณ วัดป่าสันติกาวาส จ.อุดรธานี เมื่อวันที่ 27 พฤษภาคม พ.ศ. 2538
เป็นภาพจำลองเหตุการณ์ สถานที่ และการจัดวางข้าวของตามเป็นจริงทุกประการ



หลวงปู่มหาบัว ญาณสมฺปนฺโน มาเยี่ยม

วันที่ 27 พฤษภาคม พ.ศ. 2538 หลวงปู่ฉันภัตตาหารเช้าได้นิดหน่อย เสร็จแล้วท่านให้นำท่านลงจากวิหารกลางน้ำ ไปพักใต้ร่มไม้ทางด้านทิศใต้ของวัด เวลาประมาณบ่าย 1 โมง หลวงปู่นอนพักอยู่บนเตียงแคร่ไม้ไผ่ ผู้เขียนกำลังนั่งถวายพัดให้หลวงปู่อยู่ ได้มองเห็นหลวงปู่มหาบัวเดินมาจากทางศาลา จึงกราบเรียนให้หลวงปู่ทราบ หลวงปู่ลุกขึ้นนั่งอยู่บนเตียง ผู้เขียนให้พระเณรช่วยยกเตียงไม้ไผ่มาตั้งจัดที่นั่งถวายหลวงปู่มหาบัว

เมื่อท่านมาถึงก็รับจีวรจากท่านไปผึ่งที่สายระเดียงตากฟ้า ท่านนั่งบนเตียงที่จัดถวายหลวงปู่พร้อมด้วยพระอุปัฏฐากกราบด้วยความเคารพอ่อนน้อม เสร็จแล้วหลวงปู่มหาบัวจึงบอกหลวงปู่ว่า “เอ้านอนตามสบาย คนป่วย” แต่หลวงปู่ไม่ยอมนอน

หลวงปู่มหาบัวหยิบกล่องตลับหมากออกจากย่ามเล็กๆ ของท่าน แล้วฉันหมากไปพลางพูดคุยกับหลวงปู่อย่างเป็นกันเอง “ได้ทราบว่าไม่สบาย เลยตั้งใจมาเยี่ยม ไม่ใช่มาทรมานคนป่วยนะ เป็นอย่างไรบ้าง” หลวงปู่ยกมือขึ้นประนมแล้วกราบเรียนว่า “ขอโอกาสพ่อแม่ครูบาอาจารย์ หมอบอกว่าเป็นโรคไตรั่ว โรคนี้เป็นโรคที่รักษาไม่หาย แต่หมอนิมนต์ให้เกล้ากระผมไปรักษาที่โรงพยาบาล แต่เกล้ากระผมไม่ไป”

หลวงปู่มหาบัวจึงพูดขึ้นว่า “ถ้ามันครึ่งต่อครึ่งก็ไม่ไปละ โรงพยาบาลก็ที่คนตายนั่นแหละ เตียงไหนคนไม่ตายใส่ไม่มีแหละ ถ้าเราไปหาหมอ หมอเขาก็ทำตามหน้าที่ของเขา เราก็เหมือนกับท่อนไม้ท่อนซุงนั่นแหละ ไม่รู้ว่าเขาจะพลิกไปพลิกมาอย่างไรทำไปอย่างไรบ้างตามเรื่องของเขา หมอเขาไม่มีธรรมอะไรหละ มันอยู่ได้ก็อยู่ อยู่ไม่ได้ก็ปล่อยเท่านั้นหละ”

เมื่อหลวงปู่มหาบัวท่านฉันหมากจืดคำหนึ่งแล้ว ท่านจึงพูดกับหลวงปู่อีกว่า “เอาละนะ จะกลับล่ะ ไม่มีอะไรจะเตือนกันหรอกนะ กัมมัฏฐานใหญ่เหมือนกัน” หลวงปู่พร้อมด้วยพระอุปัฏฐากกราบหลวงปู่มหาบัวด้วยความเคารพแล้ว หลวงปู่มหาบัวจึงหันไปพูดกับญาติโยมที่เข้ามากราบท่านในขณะนั้นว่า “ตั้งใจมาเยี่ยมอาจารย์บุญจันทร์ แต่ก่อนในคราวออกปฏิบัติ ท่านก็ออกปฏิบัติ เราก็ออกปฏิบัติ ได้เจอกัน ทุกข์ยากลำบากด้วยกัน เอาละกลับล่ะ เยี่ยมคนป่วยไม่รบกวนนานหรอก”

ผู้เขียนนำจีวรเข้ามาถวาย แล้วจะรับย่ามท่านไปส่งที่รถซึ่งจอดอยู่ข้างศาลา ท่านไม่ให้รับ ท่านบอกว่า “จะทำให้ดู” แล้วท่านก็เอาย่ามเล็กๆ ของท่านใส่บ่าสะพาย เอาจีวรที่จีบเรียบร้อยแล้ว ใส่ไว้ที่รักแร้ เอาแขนหนีบไว้ แล้วท่านก็ลุกเดิน พร้อมกับพูดว่า “นี้ทำอย่างนี้ ไปไหนตามกันเป็นพรวน เห็นไหมมันเน่าเฟะอยู่นั้น นี้ทำอย่างนี้ ดูเอา” แล้วท่านก็เดินไปหารถ ผู้เขียนก็เดินตามหลังท่านไปส่งที่รถ ซึ่งจอดอยู่ข้างศาลาห่างจากที่หลวงปู่พักอยู่ประมาณ 5 เส้น

เมื่อเดินไปถึงรถแล้ว ท่านคลี่จีวรออกห่มคลุม ผู้เขียนนั่งลงกลัดลูกดุมรังดุมถวายท่าน พอดีมีลูกศิษย์ของหลวงปู่ที่เป็นหมอเข้ามากราบเรียนหลวงปู่มหาบัวว่า “ลูกอยากจะนิมนต์ให้หลวงปู่บุญจันทร์ลงไปรักษาที่โรงพยาบาลศิริราช ท่านอาจารย์จะมีความเห็นว่าอย่างไร” ท่านตอบว่า “ให้ไปถามท่านเองนะ ถ้าท่านไปก็ไป ท่านไม่ไปก็แล้วแต่ท่าน” เสร็จแล้วหลวงปู่มหาบัวท่านก็ขึ้นรถกลับ

อาการทรุดลงเรื่อยๆ

ฉันอาหารได้น้อยลงทุกวัน อาการบวมเพิ่มมากขึ้น แต่ท่านยังให้นำท่านลงจากวิหารกลางน้ำไปพักตามร่มไม้ จนถึงเวลาเย็นจึงให้นำกลับเข้าพักในวิหารกลางน้ำ

อย่าอยากเด่นอยากดัง

วันหนึ่งขณะที่หลวงปู่พักอยู่ร่มไม้ ได้มีลูกศิษย์ลูกหาจากทางไกลมากราบเยี่ยมท่าน แล้วกลับไป หลวงปู่จึงเตือนพระลูกศิษย์ที่คอยอุปัฏฐากว่า “อย่าอยากเด่นอยากดังนะ มันยุ่งยากลำบาก อยู่สงบๆ มันสบาย”

อิริยาบถยืน เดิน ได้สิ้นสุดลง

เย็นวันที่ 7 มิถุนายน พ.ศ. 2538 หลังจากพยุงหลวงปู่ยืนขึ้นนั่งรถเข็นจากเพิงมุงหญ้าใต้ร่มไม้ กลับขึ้นวิหารกลางน้ำ หลวงปู่เริ่มมีอาการไข้

วันที่ 8 มิถุนายน พ.ศ. 2538 ตอนเช้า หลวงปู่ฉันพวกน้ำซุปนิดหน่อย แล้วท่านจะอยู่ในอิริยาบถนอนตลอด มีไข้สูงตลอดวัน ท่านไม่ให้ใครรบกวนจับต้องตัวท่าน คืนวันที่ 8 หมอตรวจพบว่าอาการไข้เกิดจากการติดเชื้อในทางเดินปัสสาวะ และแขนซ้ายอักเสบเป็นผื่นแดง หมอจึงได้ขออนุญาตถวายยาปฏิชีวนะเข้าเส้น ในคืนวันพฤหัสบดีที่ 8 มิถุนายน พ.ศ. 2538 เวลาประมาณ 04.00 น. อาการของหลวงปู่ดีขึ้นในวันรุ่งขึ้น

แต่คณะญาติโยมเห็นว่าอาการบวมของหลวงปู่บวมมาก จึงอยากจะให้อาการบวมของหลวงปู่ลดลง แต่การจะทำให้บวมลดลง ต้องนอนโรงพยาบาลจึงจะมีเครื่องมือพร้อม จึงได้อ้อนวอนขอความเมตตาจากหลวงปู่ครั้งสุดท้าย เพื่อให้คณะศิษย์ได้ถวายการรักษา แต่หลวงปู่ไม่ยอมไป หมอให้สัญญากับหลวงปู่ว่า “ขอเพียง 3 วัน ถ้าไม่มีผลอย่างไรจะให้หลวงปู่กลับวัดได้” ในที่สุดหลวงปู่ผู้เปี่ยมด้วยเมตตาแก่ศิษย์จึงอนุญาตให้ 3 วัน

คณะแพทย์จากโรงพยาบาลอำเภอไชยวาน ได้จัดรถพยาบาลถวายหลวงปู่ นำรถจอดที่ประตูทางเข้าวิหารกลางน้ำ นำเตียงรถพยาบาลเข้าไปในวิหารกลางน้ำ คณะศิษย์ผู้ชายช่วยกันยกหลวงปู่นอนบนเตียงพยาบาล แล้วหามมาขึ้นรถที่จอดอยู่หน้าประตูทางเข้า เวลาประมาณ 11.00 น. รถนำหลวงปู่ออกจากวัดมุ่งหน้าไปโรงพยาบาลอุดรธานี ผู้เขียนนั่งอยู่ข้างๆ หลวงปู่ในรถพยาบาล ทำให้เกิดความสังเวชสลดใจอย่างยิ่ง เหมือนกับว่าการนำท่านเคลื่อนไหวทำให้ท่านสัมผัสกับทุกขเวทนาแสนสาหัส แต่องค์ท่านไม่ได้แสดงปฏิกิริยาอะไร

เมื่อถึงโรงพยาบาลอุดรธานี หมอได้นำหลวงปู่เข้าพักที่ห้องพิเศษพระเถระ ตึกสงฆ์อาพาธ หมอได้ถวายน้ำเกลือเข้าเส้นและยาเพื่อจะทำให้ลดบวม แต่อาการไม่ดีขึ้นและเกิดการแทรกซ้อนทางหัวใจ จึงได้เชิญแพทย์ทางหัวใจเข้ามาตรวจอีก ในขณะที่แพทย์ทำการตรวจอยู่หลวงปู่จึงพูดว่า “ท่อนซุง ท่อนซุง” หลวงปู่พักรักษาอยู่ 1 คืน

รูปภาพ
พระอาจารย์อินทร์ถวาย สนฺตุสฺสโก

รูปภาพ
หลวงปู่คำพอง ติสฺโส


เช้าวันเสาร์ที่ 10 มิถุนายน พ.ศ. 2538 อาการไม่ดีขึ้น ท่านจึงเร่งให้เอาท่านกลับวัด ท่านบอกว่า “ไม่มีประโยชน์ดอก เอากลับวัด เอากลับวัด” หลังจากฉันเช้าเสร็จในวันนั้น คณะศิษยานุศิษย์ได้ประชุมปรึกษากันว่าจะทำอย่างไร พอดี ท่านพระอาจารย์อินทร์ถวาย สนฺตุสฺสโก วัดป่านาคำน้อย ตำบลบ้านก้อง อำเภอนายูง จังหวัดอุดรธานี ได้เข้าไปเยี่ยมหลวงปู่ คณะศิษยานุศิษย์จึงได้ขอให้ท่านเป็นผู้กราบเรียนหลวงปู่ ขอให้อยู่ครบ 3 วันก่อน เมื่อท่านอาจารย์อินทร์ถวายเข้าไปกราบเรียน หลวงปู่ท่านยืนยันเร่งให้เอาท่านกลับ

ในที่สุดคณะศิษยานุศิษย์ได้ปฏิบัติตาม ติดต่อรถพยาบาลนำหลวงปู่กลับวัด ขณะรอรถอยู่นั้น ท่านได้ถามเป็นระยะๆ ว่า “รถมาถึงหรือยัง ทำไมหายากแท้ ซื้อเอาก็ได้ตั้ว” หลวงปู่บอกให้ซื้อรถเพราะท่านอยากจะกลับถึงวัดให้เร็วที่สุด รถพยาบาลจอดที่หน้าตึกสงฆ์อาพาธ คณะศิษยานุศิษย์ได้ช่วยกันหามหลวงปู่ออกจากห้องพักพิเศษพระเถระ ชั้น 2 ตึกสงฆ์อาพาธลงไปขึ้นรถพยาบาลที่จอดอยู่หน้าตึก รถได้นำหลวงปู่กลับจากโรงพยาบาลอุดรธานีถึงวัดป่าสันติกาวาสเวลาประมาณบ่าย 3 โมงเย็น นำหลวงปู่เข้าพักรักษาต่อในวิหารกลางน้ำ

วันอาทิตย์ที่ 11 มิถุนายน คณะศิษยานุศิษย์ได้ทำบุญต่ออายุถวายหลวงปู่ โดยนิมนต์ครูบาอาจารย์และพระสงฆ์จำนวน 100 รูป มาเจริญพระพุทธมนต์ถวายหลวงปู่เวลา 15.00 น. เสร็จแล้ว หลวงปู่คำพอง ติสฺโส เป็นองค์ประธานนำเครื่องสักการะเข้าไปถวายหลวงปู่ในห้องพักในวิหารกลางน้ำ พร้อมกับขอนิมนต์ให้หลวงปู่อยู่เป็นร่มโพธิ์ร่มไทรของคณะศิษยานุศิษย์อีกต่อไป ในวันที่ 11 มิถุนายนนี้เป็นวันขึ้น 14 ค่ำ เป็นวันโกน แต่ไม่ได้ถวายโกนผมให้หลวงปู่ เพราะเห็นว่าอาการของท่านอ่อนเพลียมาก

วันที่ 12 มิถุนายน อาการของหลวงปู่เหมือนจะดีขึ้นเล็กน้อย ในวันนี้เป็นวันปาฏิโมกข์ หลังจากพระสงฆ์ลงปาฏิโมกข์แล้ว พระสงฆ์ 4 รูปจึงเข้าไปในห้องที่หลวงปู่อาพาธอยู่ หลวงปู่ไม่สามารถจะลุกขึ้นนั่งได้ ท่านจึงนอนบอกบริสุทธิ์แก่สงฆ์อยู่บนเตียงพยาบาล

วันที่ 13 มิถุนายน เป็นวันแรม 1 ค่ำ เดือน 7 เห็นว่าหลวงปู่มีอาการไม่เพลียมาก จึงขออนุญาตปลงผมถวายท่าน เป็นการปลงผมของหลวงปู่ครั้งสุดท้าย หลวงปู่หยุดน้ำที่เป็นประเภทอาหารตั้งแต่วันนี้ไป คงเหลือแต่น้ำธรรมดาพอให้ชุ่มคอ

วันที่ 14 มิถุนายน ทุกขเวทนาแสดงอาการเต็มที่ คณะศิษยานุศิษย์พยุงให้หลวงปู่ลุกขึ้นนั่งอึดใจหนึ่ง แล้วต้องนำท่านนอนลง

วันที่ 15 มิถุนายน หลวงปู่ปิดวาจา ไม่พูดกับใครๆ ไตของหลวงปู่หยุดทำงาน ปัสสาวะไม่ออก น้ำท่วมปอด สะอึกตลอดเวลา เสลดอุดลำคอ ใช้เครื่องช่วยดูดเสลด หลวงปู่เริ่มหลับเวลา 07.45 น.

วันที่ 16 มิถุนายน หลวงปู่ไม่มีการตอบสนองในการรักษาใดๆ มีแต่ลมหายใจแผ่วๆ พอสังเกตได้ คณะแพทย์จึงมีความเห็นว่า ไม่สามารถแก้ไขอาการอาพาธครั้งนี้ได้ “สัพเพ สังขารา อนิจจาติ” สังขารทั้งหลายไม่เที่ยง แปรปรวนไป ไม่มีใครจะมีอำนาจฉุดยึดสังขารไว้ได้ตามความปรารถนาของตน ดังนั้นคณะแพทย์จึงหยุดถวายการรักษา ตั้งแต่เวลา 14.10 น. เหลือเพียงถวายน้ำและเช็ดตัวหลวงปู่เป็นครั้งคราวเท่านั้น คณะศิษยานุศิษย์ได้แต่เพียงเฝ้าดูอาการของหลวงปู่ ปล่อยให้สังขารเป็นไปตามความเป็นอนัตตาในตัวเอง

อาลัยอาวรณ์ในหลวงปู่ผู้มีพระคุณ

ข่าวการจะละสังขารของหลวงปู่ได้แพร่กระจายไปในหมู่ศิษยานุศิษย์ ผู้ที่เคยได้พึ่งพิงอิงอาศัยความร่มเย็นจากบารมีของหลวงปู่ทั้งใกล้ทั้งไกล ได้หลั่งไหลมาสู่วัดป่าสันติกาวาส บางคนบางหมู่มีรถก็นั่งรถมา บางคนบางหมู่ไม่มีรถก็เดินมา ทั้งเด็กหนุ่มสาวและคนแก่เฒ่า ทั้งเดินบ้างและวิ่งบ้าง สาวเท้าเข้าไวๆ จิตใจจดจ่ออยู่ที่หลวงปู่ กลัวท่านจะจากไปก่อน จะไม่ได้เห็นใจ ครั้นเมื่อมาถึงวัดป่าสันติกาวาสแล้วก็ทยอยกันขึ้นสู่ “วิหารกลางน้ำ” ซึ่งเป็นที่ที่หลวงปู่กำลังทำหน้าที่จะละสังขารเข้าสู่นิพพาน

เมื่อเข้าไปถึง หมู่ศิษยานุศิษย์ต่างคนต่างมีใจจดจ่อ ตามองจดจ้องไปที่ร่างสังขารของหลวงปู่ ซึ่งนอนแน่นิ่งอยู่ในห้องกระจก เพียงมีลมหายใจเข้าออกเหมือนคนนอนหลับ ส่วนมือก็ประนมขึ้นเหนือเกล้า ก้มกราบหลวงปู่ผู้เป็นที่รักสุดหัวใจ ทั้งสะอึกสะอื้น น้ำตานองหน้าด้วยความอาลัยอาวรณ์สุดหัวใจ ก้มกราบแล้วก้มกราบอีก หมู่แล้วหมู่เล่า ทยอยกันขึ้นลงในวิหารกลางน้ำ ตั้งแต่เวลากลางวันจนถึงย่างเข้าสองยาม ความสงบได้ปกคลุมทั่วบริเวณวัด คงเหลือแต่คณะศิษยานุศิษย์ พระสงฆ์สามเณร และฆราวาส ผู้มีหน้าที่ดูแลหลวงปู่ เปลี่ยนวาระกันนั่งทำความสงบ คอยสังเกตดูว่าหลวงปู่จะละสังขารเมื่อไร

กราบเรียนอาการให้หลวงปู่มหาบัวทราบ

เวลา 05.00 น. ของวันที่ 17 มิถุนายน พ.ศ. 2538 ผู้เขียนได้เดินทางไปวัดป่าบ้านตาด อำเภอเมือง จังหวัดอุดรธานี ถึงวัดป่าบ้านตาดสว่างใกล้เวลาหลวงปู่มหาบัวท่านจะลงศาลา ผู้เขียนจึงพบพระผู้อุปัฏฐากท่าน บอกความประสงค์ให้ทราบ พระอุปัฏฐากให้เข้าไปพบหลวงปู่ที่กุฏิ เมื่อเข้าไปถึงบก็ขึ้นไปบนกุฏิท่านด้วยความเคารพ มีสติกำหนดรู้อยู่ที่ใจ นั่งลงกราบท่าน 3 หนแล้ว

หลวงปู่มหาบัวท่านจึงถามว่า “มีธุระอะไร” ผู้เขียนยกมือประนมแล้วกราบเรียนท่านว่า “ขอโอกาสพ่อแม่ครูบาอาจารย์ ขณะนี้หลวงปู่บุญจันทร์หยุดการรับรู้ภายนอกแล้ว เหลือแต่เพียงลมหายใจเข้าออกเท่านั้น และหมอได้หยุดถวายการรักษาใดๆ ทั้งหมดแล้ว แต่ถ้าจะถวายการหยอดน้ำเป็นครั้งคราวจะสมควรหรือไม่”

หลวงปู่มหาบัวท่านตอบว่า “ถ้าเราหยอดแล้วท่านไม่แสดงอาการอย่างไรก็หยอดได้ แต่ถ้าท่านแสดงอาการไม่ยอมรับก็ให้หยุด” ท่านถามว่า “มีอะไรอีกไหม” กราบเรียนท่านว่า “ไม่มี” ท่านพูดว่า “เอาละ กลับได้” กราบท่าน 3 ครั้งแล้ว จึงเดินทางกลับวัดป่าสันติกาวาส

หลังจากฉันเช้าเสร็จ ผู้เขียนและพระเณรคณะศิษย์ของหลวงปู่ ได้เฝ้าดูหลวงปู่อยู่ในวิหารกลางน้ำ อาการของหลวงปู่ในวันที่ 17 มิถุนายน พ.ศ. 2538 ยังคงมีเพียงลมหายใจเข้าออก เหมือนคนนอนหลับ และมีอาการสะบัดศีรษะเป็นครั้งคราว คณะศิษย์ญาติโยม พระเณร ยังทยอยกันไปมากราบหลวงปู่บนวิหารกลางน้ำมิได้ขาด

หลวงปู่มหาบัวเข้าเยี่ยมดูอาการ

องค์หลวงปู่มหาบัวได้เดินทางมาถึงวัดป่าสันติกาวาส เวลาประมาณ 11.00 น. ของวันที่ 17 มิถุนายน พ.ศ. 2538 ท่านได้เข้าไปห้องที่หลวงปู่อาพาธอยู่บนเตียงพยาบาล องค์หลวงปู่มหาบัวเข้าไปใกล้ๆ ข้างเตียง ยืนกำหนดเพ่งดูหลวงปู่อยู่ครู่หนึ่ง แล้วถอยออกมานั่งเก้าอี้หวายที่จัดถวายท่านอยู่ข้างๆ เตียงหลวงปู่ พระที่คอยดูแลอยู่ในห้องอาพาธหลวงปู่ 4-5 องค์ พร้อมกันกราบองค์หลวงปู่มหาบัว แล้วท่านจึงถามอาการของหลวงปู่ว่า “ศีรษะสะบัดอยู่อย่างนี้เรื่อยๆ หรือ” ผู้เขียนกราบเรียนท่านว่า “เป็นอยู่เรื่อยๆ” ท่านนั่งอยู่ในห้องครู่หนึ่ง แล้วจึงออกมานั่งห้องโถงที่หลวงปู่เคยนั่งรับแขก

คณะศิษยานุศิษย์ญาติโยมที่รออยู่ ต่างพากันก้มกราบนมัสการองค์หลวงปู่มหาบัว ญาณสมฺปนฺโน ด้วยความปลาบปลื้มปิติยินดีเป็นอย่างยิ่ง องค์หลวงปู่มหาบัวได้ให้โอวาทเตือนคณะศิษยานุศิษย์ญาติโยม ที่นั่งห้องล้อมท่านอยู่ในขณะนั้นว่า “อาจารย์บุญจันทร์แสดงสัจธรรมความจริงให้พวกเราดู พากันดูเอา น้อมเข้ามาหาตัวเรา ในที่สุดเราก็จะเป็นเหมือนกับท่าน”

เมื่อให้โอวาทจบแล้วท่านจึงถามว่า “มีที่พักไหม จะคอยดูอาการท่านบุญจันทร์สักหน่อย ถ้าไม่มีที่พักก็จะกลับ” ผู้เขียนจึงกราบเรียนท่านว่า “มี เกล้ากระผม” แล้วจึงให้พระเณรจัดที่กุฏิเก่าของหลวงปู่ถวายให้ท่านพัก พระเณรพากันเข้าไปถวายนวด ท่านพูดคุยเรื่องธรรมะให้เป็นคติแก่พระเณรที่ถวายนวดอย่างเป็นกันเอง

จนถึงเวลาบ่าย 2 โมง ท่านจึงถามถึงอาการหลวงปู่ ผู้เขียนกราบเรียนถวายท่านว่า “ยังเหมือนเดิม” แล้วองค์หลวงปู่มหาบัวท่านจึงเดินทางกลับวัดป่าบ้านตาด

ในวันที่ 17 มิถุนายนนี้ ตลอดทั้งวันจนถึงกลางคืน คณะศิษยานุศิษย์ของหลวงปู่ได้ทยอยกันมาสู่วิหารกลางน้ำ อันเป็นที่ที่หลวงปู่จะละสังขารวิบาก แต่ละคนมีความกระวนกระวายใจไม่เป็นอันอยู่อันกิน กลับไปกลับมาระหว่างบ้านกับวัด มีความอาลัยในหลวงปู่ ที่เป็นร่มโพธิ์ร่มไทรที่กำลังจะโค่นจากไปในไม่ช้า ทุกดวงใจคิดว่าหลวงปู่ต้องจากไปในคืนนี้อย่างแน่นอน บางคนถึงกับเอาเสื่อสาดมาปูตามร่มไม้รอบๆ วิหารหลวงปู่ ทั้งนั่งนอนเพื่อคอยดูจะได้รู้ทันในเวลาหลวงปู่สิ้นลมปราณ ตอนหัวค่ำความมืดได้ปกคลุมทั่วบริเวณวัด

จนเวลาล่วงเลยไปถึง 4-5 ทุ่ม พระจันทร์ข้างแรมในวันแรม 5 ค่ำ เดือน 7 จึงได้สาดแสงสว่าง ลอดแนวไม้ลงสู่พื้นบริเวณวัด มองเห็นคณะศิษย์ของหลวงปู่ที่นั่งอยู่ใต้ร่มไม้เพื่อหลบน้ำค้าง บ้างก็นั่งอยู่กลางแจ้ง บ้างก็นั่งสมาธิภาวนา บ้างก็นั่งซุบซิบกันว่า เราจะทำอย่างไร เมื่อหลวงปู่ละสังขารจากไป บ้างก็คุยกันว่าเราจะไปอยู่ที่ไหนเมื่อหลวงปู่จากไปแล้ว บ้างก็วิตกกังวลว่าต่อไปนี้เราจะพึ่งใคร ก้อนเมฆไหลผ่านบดบังพระจันทร์ ทำให้แสงสว่างสลัวลง เหมือนกับจะบอกว่าหลวงปู่จะจากไป แต่แล้วก้อนเมฆก็ผ่านไป แสงจันทร์สว่างขึ้น

เวลาผ่านไปถึงตีสาม เสียงไก่แจ้ที่อาศัยอยู่ตามต้นไม้ในบริเวณวัด ส่งเสียงขันเจื้อยแจ้วทั่วไปในบริเวณวัดเป็นสัญญาณบอกว่า “บัดนี้ใกล้สว่างแล้ว ประทีบแก้วจวนจะดับแล้วเต็มที จงตั้งอยู่ในความไม่ประมาท” ใกล้สว่างพระปฏิบัติในห้องอาพาธหลวงปู่ช่วยกันสรงองค์หลวงปู่ด้วยการเช็ดตัวด้วยผ้าหมาด เสร็จแล้วช่วยกันพยุงองค์หลวงปู่จากท่านอนหงายเป็นนอนตะแคงข้างขวาสีหไสยาสน์ หลวงปู่ยังหายใจเข้าออกเหมือนคนนอนหลับ

รูปภาพ
หนองน้ำอันเป็นที่ตั้งของ “วิหารกลางน้ำ” วัดป่าสันติกาวาส
สถานที่ที่หลวงปู่บุญจันทร์ กมโล ละสังขาร



วันแห่งดวงประทีบแก้วลาลับดับแล้วจากวัฏฏสงสาร

วันที่ 18 มิถุนายน พ.ศ. 2538 ตรงกับวันอาทิตย์ แรม 6 ค่ำ เดือน 7 หลังจากฉันเช้าเสร็จแล้ว ดูอาการของหลวงปู่เหมือนคนนอนหลับ ผู้เขียนจึงลงจากวิหารกลางน้ำมาพบกับลูกศิษย์ที่มาจากบ้านโนนม่วงโคกใหญ่ อยู่ที่โรงต้มน้ำร้อนหน้าศาลาการเปรียญ เวลาประมาณ 10.30 น. เห็นรถตู้วิ่งเข้ามาจอดข้างศาลา มองไปดูในใจคิดว่าเหมือนกับรถองค์หลวงปู่มหาบัว พอรถจอดแล้วท่านเปิดประตูรถออกมาเป็นองค์หลวงปู่มหาบัวจริงๆ

ผู้เขียนจึงรีบลุกไปรับท่าน ท่านบอกว่า “ไป รีบพาไปหาท่านบุญจันทร์” ผู้เขียนเดินนำท่านไปที่วิหารกลางน้ำ พอถึง องค์หลวงปู่มหาบัวท่านรีบเข้าไปในห้องอาพาธของหลวงปู่ ท่านยืนใกล้ๆ ทางศีรษะหลวงปู่ แล้วท่านเอามือท่านเปิดผ้าที่ปิดหน้าผากหลวงปู่ออกดู พร้อมกับพูดว่า “วันนี้บวมมากกว่าวานนี้” ในขณะนั้นหลวงปู่ได้หายใจเบาลง เหมือนกับจะขยิบตาเล็กน้อย แล้วหลวงปู่ก็หยุดหายใจละธาตุขันธ์ไปในที่สุดเมื่อเวลา 10.52 น.

องค์หลวงปู่มหาบัวถอยไปนั่งเก้าอี้ แล้วมองดูหลวงปู่พร้อมกับพูดว่า “เอ้า หยุดหายใจแล้ว” ระยะเวลาที่องค์หลวงปู่มหาบัวเข้าเยี่ยมอาการใช้เวลาเพียง 1.30 นาที ในขณะที่หลวงปู่ปล่อยวางขันธ์ห้านั้นเหมือนกับโลกธาตุนี้สงบนิ่งไม่มีอะไรเลย


หลังจากหลวงปู่ได้ละธาตุขันธ์แล้ว องค์หลวงปู่มหาบัวท่านจึงมอบหน้าที่ให้คณะสงฆ์และคณะศิษยานุศิษย์ของหลวงปู่ จัดการเรื่องสรีระศพของหลวงปู่ แล้วท่านจึงออกจากห้องที่หลวงปู่ละสังขารมานั่งที่ห้องโถง จากนั้นเสียงระฆังในวัดได้ดังขึ้น เป็นสัญญาณให้รู้ว่าหลวงปู่ได้จากไป ดวงประทีบแก้วที่เคยให้แสงสว่างได้ดับลงแล้ว เหลือแต่ความมืดมนอนธกาลและความเศร้าสลดในหมู่ศิษยานุศิษย์ เมื่อได้ยินเสียงระฆังต่างคนก็รู้ว่าหลวงปู่ได้จากไป ต่างก็มารวมกันในมณฑล “วิหารกลางน้ำ” อันเป็นสถานที่ที่หลวงปู่ละสังขาร สำหรับลูกศิษย์ผู้ชายและพระเณรก็เข้าในห้องที่หลวงปู่ละสังขาร ส่วนลูกศิษย์พวกผู้หญิงก็อยู่ข้างนอกห้อง มองผ่านกระจกเข้าไปดูองค์หลวงปู่ ซึ่งเหลือแต่รูปธาตุนอนนิ่งสงบอยู่ เป็นเวลาที่คณะศิษยานุศิษย์อดกลั้นน้ำตาไว้ไม่ได้ บางคนก็ร้องไห้สะอึกสะอื้น บางคนก็น้ำตาไหลได้แต่ปลงธรรมสังเวช

“อนิจฺจา วต สงฺขารา สังขารทั้งหลายไม่เที่ยงหนอ อุปฺปาทวยธมฺมิโน มีความเกิดขึ้น และความเสื่อมไปเป็นธรรมดา อุปฺปชฺชิตฺวา นิรุชฺฌนฺติ เกิดแล้วย่อมดับไป เตสํ วูปสโม สุโข ความเข้าไปสงบระงับแห่งสังขารเหล่านั้นได้ย่อมนำมาซึ่งความสุข” บัดนี้หลวงปู่ได้จากไปอย่างไม่มีวันกลับมาสู่โลกนี้อีกแล้ว แต่หลวงปู่เคยสอนว่า “บุคคลใดประพฤติธรรม ปฏิบัติธรรม ระลึกถึงพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ และระลึกถึงหลวงปู่ หลวงปู่ก็จะอยู่กับบุคคลผู้นั้นแหละ ผู้ใดขาดการปฏิบัติขาดการระลึกถึง หลวงปู่ก็ไม่อยู่กับบุคคลผู้นั้น”

คณะศิษยานุศิษย์ได้นำสรีระศพของหลวงปู่เข้าไปถวายการสรงน้ำในห้องน้ำสำหรับหลวงปู่ แล้วนำออกมาเปลี่ยนผ้าครองผ้าใหม่ถวาย แล้วนำองค์หลวงปู่นอนบนเตียงพยาบาล หมอปิดผ้าม่านฉีดยาสรีระศพ คณะศิษยานุศิษย์ยังรวมกันอยู่เต็มในวิหารกลางน้ำ องค์หลวงปู่มหาบัวท่านจึงบอกว่า “เราจะไปพักคอย เมื่อจัดการกันเสร็จเรียบร้อยแล้วจึงไปบอกให้ทราบ”

ผู้เขียนจึงจัดให้พระเณรนำท่านไปพักที่กุฏิของหลวงปู่ พระเณรถวายนวดท่านตามที่เคยปฏิบัติ หลวงปู่มหาบัวปรารภกับพระเณรที่คอยถวายนวดท่านว่า “ท่านบุญจันทร์คอยเรา พอเรามาถึงเข้าไปเยี่ยมก็ไปเลย”

หลวงปู่ท่านเคยกล่าวกับลูกศิษย์ไว้ว่า “หลายชาติที่ผ่านมา เคยเป็นเก้งเป็นกวาง หมูป่าและควายป่ามาอาศัยน้ำที่หนองน้ำนี้ ตายอยู่ที่นี่หลายภพหลายชาติแล้ว ในชาตินี้ก็จะตายอยู่ที่นี่อีกแหละ”

.....................................................
ทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว เป็นกฎตายตัว


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 21 มิ.ย. 2012, 12:46 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
ผู้จัดการ
ผู้จัดการ
ลงทะเบียนเมื่อ: 27 มี.ค. 2006, 17:34
โพสต์: 7781

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว www


รูปภาพ
องค์หลวงปู่มหาบัว ญาณสมฺปนฺโน วัดป่าบ้านตาด
เมตตาเป็นประธานสรงน้ำศพหลวงปู่บุญจันทร์ กมโล



องค์หลวงปู่มหาบัวเป็นประธานสรงน้ำศพ

เมื่อจัดการฉีดยาสรีระศพหลวงปู่เสร็จแล้ว จึงนำองค์หลวงปู่ออกจากห้องละสังขาร มาจัดไว้ที่ห้องโถง เพื่อให้ศิษยานุศิษย์ได้กราบไหว้และเตรียมสรงน้ำศพหลวงปู่ ทุกอย่างเรียบร้อยแล้วจึงไปกราบเรียนให้หลวงปู่มหาบัวทราบ เวลา 14.00 น. องค์หลวงปู่มหาบัวลงสู่วิหารกลางน้ำ ชักผ้ามหาบังสุกุลที่ศพหลวงปู่ เสร็จแล้วท่านนั่งที่อาสนะ ผู้เขียนเข้ากราบเรียนเรื่องจัดการสรีระศพหลวงปู่ และขอถวายให้องค์ท่านเป็นประธานในการนี้ด้วย ผู้เขียนกราบเรียนท่านว่า “ขอโอกาสพ่อแม่ครูบาอาจารย์ จะให้เอาไว้กี่วัน”

ท่านตอบว่า “เรื่องนี้ผมไม่พูดหรอกนะ ถ้าผมพูดไปคนจะตกนรกมาก เรื่องกิเลสมันท่วมท้นอยู่แล้ว ถ้าเป็นผมละไม่ยากหรอก พระพุทธเจ้าผู้เป็นองค์ศาสดาก็เพียง 7-8 วันเท่านั้นแหละ นี้ให้พิจารณาเองเองนะ ตามสมควร” แล้วท่านเมตตาถามว่า “หีบศพมีแล้วหรือยัง” เรียนถวายท่านว่า “มีแล้ว เกล้ากระผม”

สำหรับเรื่องหีบศพนั้น อาจารย์ประจวบ ยูนิพันธ์ พร้อมครอบครัว ได้สร้างหีบในเป็นหีบทอง หีบนอกประดับมุก นำมาถวายไว้ตอนหลวงปู่ยังมีชีวิตอยู่

จากนั้นจึงกราบนิมนต์ให้องค์หลวงปู่มหาบัวเป็นประธานนำสรงน้ำศพหลวงปู่ ต่อด้วยพระภิกษุสามเณร เสร็จแล้วจึงเป็นคณะศรัทธาญาติโยม ในขณะที่คณะศรัทธาญาติโยมกำลังชุลมุนกันจะสรงน้ำศพหลวงปู่อยู่นั้น องค์หลวงปู่มหาบัวท่านขอกลับก่อน ท่านว่า “ให้หลวงตาไปก่อน” ว่าแล้วท่านก็ออกจากวิหารกลางน้ำไปขึ้นรถที่จอดอยู่ข้างศาลาการเปรียญ เดินทางกลับวัดป่าบ้านตาด

คณะศิษยานุศิษย์หมุนเวียนกันเข้าสู่วิหารกลางน้ำ สรงน้ำสรีระศพหลวงปู่จนถึงเวลา 16.00 น. จึงเคลื่อนสรีระศพของหลวงปู่ออกจากวิหารกลางน้ำ ขึ้นสู่ศาลาการเปรียญ

ให้โอวาทแก่บรรดาศิษยานุศิษย์ ได้ถวายน้ำสรงศพหลวงปู่ไปจนถึงวันจันทร์ที่ 19 มิถุนายน พ.ศ. 2538 เวลา 17.00 น. จึงได้นำสรีระของหลวงปู่เข้าบรรจุในหีบ ตั้งบำเพ็ญกุศลบนศาลาการเปรียญ เวลา 19.00 น. พระภิกษุสามเณรและญาติโยมประชุมทำวัตรเย็น ต่อด้วยการสวดมนต์ถวายหลวงปู่ เวลา 20.00 น. พระสงฆ์ 4 รูปสวดพระอภิธรรม โดยมีคณะศิษยานุศิษย์เป็นเจ้าภาพสวดพระอภิธรรม

หลังจากองค์หลวงปู่มหาบัวได้มอบหน้าที่ให้คณะศิษยานุศิษย์หลวงปู่ พิจารณาตัดสินใจในการจัดการสรีระศพของหลวงปู่ คณะศิษยานุศิษย์ได้ประชุมลงมติว่า ถ้าจะเอาไว้ 7 วัน การเตรียมสถานที่จะพระราชทานเพลิงศพจะไม่ทัน จึงเลื่อนไปเป็น 15 วัน คือวันที่ 2 กรกฎาคม แต่ปรากฏว่าไปตรงกับวันเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร คณะศิษยานุศิษย์ที่เป็นเจ้าหน้าที่ข้าราชการไม่สะดวกในการที่จะปฏิบัติงานถวายหลวงปู่ จึงขอเลื่อนไปเป็น 21 วัน คือวันที่ 8 กรกฎาคม พ.ศ. 2538 เป็นวันพระราชทานเพลิงศพ

ตั้งสรีระศพบำเพ็ญกุศลบนศาลาการเปรียญ

นับตั้งแต่คืนวันที่ 19 มิถุนายน พ.ศ. 2538 เป็นต้นไป คณะสงฆ์และคณะศิษยานุศิษย์ได้พร้อมใจกันประกอบพิธีบำเพ็ญกุศลเพื่อบูชาพระคุณของหลวงปู่ โดยได้ประชุมทำวัตรสวดมนต์ ฟังสวดพระอภิธรรม และฟังพระธรรมเทศนาในเวลากลางคืนทุกคืน สำหรับเวลาเช้าคณะศรัทธาญาติโยมได้มารวมกันทำบุญตักบาตรพระภิกษุสามเณรในบริเวณวัด และได้ช่วยกันเตรียมจัดทำเมรุสำหรับเป็นที่พระราชทานเพลิงศพของหลวงปู่ จนกระทั่งถึงวันที่ 7 กรกฎาคม พ.ศ. 2538 คณะศิษยานุศิษย์ต่างมีความสามัคคีพร้อมเพรียงกันทุ่มเทกำลังกาย กำลังใจ กำลังทรัพย์ เพื่อบูชาพระคุณของหลวงปู่ ซึ่งเป็นที่เคารพรักบูชาด้วยความอาลัยเป็นอย่างยิ่ง

แต่ละวันได้มีครูบาอาจารย์พระภิกษุสามเณร และคณะศรัทธาญาติโยม ได้มากราบคารวะศพของหลวงปู่มิได้ขาด องค์หลวงปู่มหาบัวท่านก็ได้เมตตาเยี่ยมดูความเรียบร้อยในการเตรียมงานถึง 2 ครั้งก่อนจะถึงวันพระราชทานเพลิงศพ และผู้เขียนได้เดินทางไปที่วัดป่าบ้านตาดเพื่อกราบอาราธนานิมนต์ ขอให้องค์หลวงปู่มหาบัวเป็นองค์แสดงธรรมในวันพระราชทานเพลิงศพของหลวงปู่ด้วย ท่านรับด้วยความเมตตา และพูดออกตัวว่า “เดี๋ยวนี้ไม่ได้เทศน์ที่ไหนแล้ว ความจำก็ลืมหน้าลืมหลัง ธาตุขันธ์ก็อย่างนั้นแหละ ดูก่อนว่าจะเป็นอย่างไร”

รูปภาพ
หลวงปู่จันทา ถาวโร

รูปภาพ
พระอาจารย์อุ่นหล้า ฐิตธมฺโม

รูปภาพ
พระอาจารย์สมหมาย อตฺตมโน
ผู้เขียนประวัติของหลวงปู่บุญจันทร์ กมโล



กำหนดการพระราชทานเพลิงศพพระครูศาสนูปกรณ์
(หลวงปู่บุญจันทร์ กมโล) วันเสาร์ที่ 8 กรกฎาคม พ.ศ. 2538


เวลา 7.00 น. พระภิกษุสามเณรที่มาร่วมในงาน รับบิณฑบาตในบริเวณวัด ได้มีคณะศรัทธาญาติโยมทั้งใกล้ทั้งไกลหลั่งไหลมาทำบุญตักบาตรจนเต็มในบริเวณวัด ทั้งตั้งโรงครัวโรงทานอาหารต่างๆ หลังจากทำบุญตักบาตรเสร็จแล้ว ได้ถวายอาหารบิณฑบาตแด่พระภิกษุสามเณร

เวลา 9.00 น. หลวงปู่จันทา ถาวโร นำทำพิธีกราบคารวะศพหลวงปู่ เสร็จแล้วเคลื่อนศพจากศาลาการเปรียญไปสู่เมรุ ตั้งบนจิตตกาธาน

เวลา 13.00 น. แสดงพระธรรมเทศนา 1 กัณฑ์ โดย พระธรรมวิสุทธิมงคล (หลวงปู่มหาบัว ญาณสมฺปนฺโน) ครั้งดำรงสมณศักดิ์ที่ พระราชญาณวิสุทธิโสภณ จบแล้วพระสงฆ์ทั้งหมดที่มาร่วมในงานประมาณ 1000 รูป สวดมาติกาบังสุกุล จบแล้วถวายปัจจัยไทยทาน พระสงฆ์อนุโมทนา

เวลา 16.00 น. นายวิเชียร พัสถาน นายอำเภอไชยวาน พร้อมด้วยเจ้าหน้าที่อำเภอไชยวาน นำไฟพระราชทานจากที่ว่าการอำเภอไชยวานมาถึงวัด นำขึ้นไปประดิษฐานบนเมรุ จากนั้นเป็นพิธีทอดผ้าป่ามหาบังสุกุล พระสงฆ์ 10 รูป ชักผ้ามหาบังสุกุล องค์ที่ 10 ได้แก่ หลวงปู่มหาบัว ญาณสมฺปนฺโน เป็นองค์ชักผ้ามหาบังสุกุลสุดท้าย เสร็จแล้วรองผู้ว่าราชการจังหวัดอุดรธานี เป็นประธานวางดอกไม้จันทน์และจุดไฟพระราชทาน เสร็จแล้วต่อด้วยคณะข้าราชการและพ่อค้าประชาชนเป็นจำนวนมากขึ้นวางดอกไม้จันทน์ โดยขึ้นบันไดทางทิศตะวันตก ลงบันไดทางทิศเหนือ องค์หลวงปู่มหาบัวเป็นประธานฝ่ายสงฆ์ วางดอกไม้จันทน์ต่อด้วยคณะพระเถระและพระภิกษุสามเณรเป็นจำนวนมาก ขึ้นบันไดทางทิศใต้ ลงบันไดทางทิศตะวันออก

เมื่อหลวงปู่มหาบัวเป็นประธานวางดอกไม้จันทน์แล้ว ท่านได้เมตตานั่งคอยในปะรำพิธีจนถึงเวลา 18.00 น. หลังจากประชาชนขึ้นวางดอกไม้จันทน์บนเมรุเบาบางแล้ว จึงได้กราบอาราธนาองค์ท่านเป็นองค์ประธานจุดเพลิงจริง แล้วต่อด้วยคณะศิษยานุศิษย์ที่ยังรอคอยถวายเพลิงจริงแด่สรีระศพของหลวงปู่ พระเพลิงได้ลุกขึ้นเป็นเปลวแดง ส่องแสงสว่างในเวลาพลบค่ำ กำลังทำหน้าที่เผาผลาญสรีระของหลวงปู่ให้ย่อยยับไปตามสภาพอนัตตา

ส่วนองค์หลวงปู่มหาบัวหลังจากท่านจุดเพลิงจริงที่จิตกาธานแล้ว ท่านเดินลงจากเมรุกลับไปที่กุฏิของหลวงปู่ ท่านพระอาจารย์อุ่นหล้า ฐิตธมฺโม และผู้เขียน ได้ตามท่านไปขอนิมนต์ให้ท่านสรงน้ำก่อน แต่ท่านไม่สรง ท่านบอกว่าจะกลับเลย คนขับได้เตรียมรถรออยู่หน้ากุฏิหลวงปู่แล้ว ท่านพระอาจารย์อุ่นหล้าและผู้เขียน พร้อมพระเณร ได้นมัสการส่งท่านที่รถ ก่อนท่านจะขึ้นรถ ท่านได้เมตตามอบงานทุกอย่างว่า “เอาละ ทีนี้ให้พากันทำเอานะ” แล้วท่านก็ขึ้นรถพร้อมกับพระติดตามเดินทางกลับวัดป่าบ้านตาด

หลังจากองค์หลวงปู่มหาบัวเดินทางกลับแล้ว ความมืดได้ปกคลุมเข้ามา เหลือแต่แสงไฟเป็นเปลวแดงอยู่ที่เชิงตะกอนศพหลวงปู่ และแสงไฟฟ้าจากนีออนที่ติดอยู่ในบริเวณวัดและรอบเมรุ แสงจันทร์ในวันขึ้น 12 ค่ำ เดือน 8 สาดแสงจากท้องฟ้าสู่พื้นดิน พอให้คนที่เดินไปมาได้มองเห็นทาง ทำให้เจ้าหน้าที่ไฟฟ้าที่นำรถเครื่องไฟฟ้าสำรองมาคอยช่วย ความเรียบร้อยของไฟฟ้าในงานผ่านมาได้สองวันแล้ว เมื่อเห็นว่างานใกล้จะสิ้นสุด และไม่มีความขัดข้องทางไฟฟ้าเกิดขึ้น ช่างผู้เป็นหัวหน้าจึงสั่งให้นำรถเครื่องไฟฟ้ากลับไป พอรถเครื่องไฟฟ้าวิ่งพ้นเขตวัดออกไป เกิดเหตุอัศจรรย์ไฟฟ้าดับหมดทั่วบริเวณวัด เหลือแต่แสงจันทร์สาดแสงผ่านยอดไม้ลงมา และแสงไฟจากเชิงตะกอนบนเมรุเผาศพหลวงปู่ กับแสงตะเกียงน้ำมันที่จุดบูชาอยู่รอบเมรุ แสงไฟเทียนจุดตามโรงทาน และบนศาลาการเปรียญที่กำลังประชุมทำวัตรสวดมนต์ ส่องแสงวอมๆ แวมๆ

มองดูบรรยากาศในขณะนั้น ช่างเป็นธรรมชาติเสียจริงๆ เหมือนกับว่าหลวงปู่ท่านจงใจอยากจะให้ลูกศิษย์ลูกหาทั้งหลายได้รู้ว่า บรรยากาศธรรมชาติในอดีตที่ผ่านมา นับจากนี้ย้อนหลังกลับไป 20 ปี หลวงปู่และพระเณรลูกศิษย์ลูกหาใช้น้ำมันก๊าดและเทียนไขตรารถไฟและผีเสื้อ จุดเดินจงกรมทำความเพียรและกิจอื่น ดูเป็นธรรมชาติที่เยือกเย็น เหมือนที่เป็นอยู่ในขณะนี้ ช่างหัวหน้าไฟฟ้าวิทยุจึงรีบเรียกรถเครื่องไฟฟ้าให้กลับมา พอกลับมาถึงวัด ไฟฟ้าก็ติดเป็นปกติอย่างเดิม

เวลา 20.00 น. ประชุมทำวัตรสวดมนต์ที่ศาลาการเปรียญ เสร็จแล้วมีแสดงพระธรรมเทศนาอบรมจิตภาวนาโดย หลวงปู่เพ็ง พุทฺธธมฺโม จนถึงเวลาอันสมควร

เก็บอัฐิธาตุ

วันที่ 9 กรกฎาคม พ.ศ. 2538 ตรงกับวันอาทิตย์ ขึ้น 13 ค่ำ เดือน 8 ปีกุน

เวลา 02.00 น. สรีระของหลวงปู่ได้ถูกพระเพลิงที่อาศัยถ่านและท่อนไม้จันทน์หอม ซึ่งนำมาจากประเทศลาวและไม้ตระไคร่ต้นไม้แปลกที่นำมาจากอำเภอหล่มสัก จังหวัดเพชรบูรณ์ เป็นเชื้อเพลิง ได้เผาไหม้จนเหลือแต่อัฐิธาตุ คณะศิษยานุศิษย์ทั้งบรรพชิตและฆราวาสที่มีหน้าที่ดูแลการเผาสรีระหลวงปู่ โดยมีท่านพระอาจารย์อุ่นหล้า ฐิตธมฺโม เป็นประธาน ได้มีมติเห็นพร้อมกันว่า ควรจะนำน้ำมาดับไฟ แล้วเก็บอัฐิธาตุของหลวงปู่ในเวลา 02.00 น. นั้น เพราะถ้าปล่อยให้สว่างก่อนจึงเก็บจะเกิดความวุ่นวาย เนื่องจากบรรดาศิษยานุศิษย์ต่างมีความจดจ่อในการที่จะได้อัฐิธาตุของหลวงปู่ไปไว้สักการบูชา

บางคนถึงกับมานั่งเฝ้านอนเฝ้าก็มี แต่ในระยะเวลา 02.00 น. นั้น ได้ถูกความง่วงครอบงำ พากันหลับสบายอยู่บนศาลาก็มี อยู่ตามร่มไม้ข้างๆ เมรุก็มี เป็นโอกาสดีที่จะไม่เกิดความวุ่นวาย จึงได้พร้อมกันนำน้ำมาดับไฟ แล้วเก็บอัฐิธาตุในเวลา 02.00 น. ส่วนที่เป็นอัฐิธาตุได้เก็บรวมเป็นส่วนหนึ่ง ส่วนฝุ่นอังคารเถ้าถ่านได้เก็บรวมเป็นส่วนหนึ่ง เมื่อคณะกรรมการได้เก็บอัฐิธาตุและอังคารเถ้าถ่านเสร็จแล้ว พอใกล้สว่างต่างคนต่างทยอยกันมาที่เมรุ คนที่นอนเฝ้าก็ตื่นขึ้นไปดูที่เมรุก็เหลือแต่เตาอิฐ ชุลมุนกันเก็บฝุ่นเถ้าที่เหลือติดเตาอยู่ บ้างก็เอาผ้าเช็ดหน้าเช็ดตามก้อนอิฐในเตา เพราะกลัวว่าจะไม่ได้เถ้าถ่านอังคารธาตุของหลวงปู่ไปไว้บูชา

เวลา 06.00 น. ทำพิธีสามหาบ พระสงฆ์ 4 รูปบังสุกุลอัฐิธาตุ

เวลา 07.00 น. คณะศิษยานุศิษย์ทำบุญตักบาตรรอบวิหารกลางน้ำหลวงปู่ พระสงฆ์รับบิณฑบาต จากนั้นพระสงฆ์เจริญพระพุทธมนต์ฉลองอัฐิธาตุหลวงปู่ จบแล้วถวายภัตตาหารแด่พระภิกษุสามเณร พระสงฆ์อนุโมทนา เป็นเสร็จพิธีในการพระราชทานเพลิงศพหลวงปู่

แจกอัฐิธาตุ

หลังจากเสร็จภัตตกิจ พระภิกษุสามเณรฉันภัตตาหารเสร็จ และคณะศรัทธาญาติโยมที่มาร่วมในงานทั้งใกล้และไกลรับประทานอาหารเสร็จแล้ว ท่านพระอาจารย์อุ่นหล้า ฐิตธมฺโม เป็นประธานในการแจกอัฐิธาตุ-อังคารธาตุของหลวงปู่ให้แก่ศิษยานุศิษย์ที่มาร่วมในงาน ได้นำไปไว้สักการบูชาโดยทั่วถึงกัน อัฐิธาตุอีกส่วนหนึ่งก็ได้เก็บไว้เพื่อบรรจุในเจดีย์อนุสรณ์สถานของหลวงปู่ “พระธาตุไตรรัตนกมโลเจติยานุสรณ์” ต่อไป

เมื่อการแจกอัฐิธาตุ-อังคารธาตุของหลวงปู่เสร็จสิ้นลง คณะศิษยานุศิษย์ทั้งบรรพชิตและฆราวาส ที่ได้มาร่วมกันช่วยงานพระราชทานเพลิงศพของหลวงปู่ ต่างก็ได้ร่ำลากันด้วยความเอิบอิ่มในบุญกุศลที่ได้ร่วมกันกระทำ เพื่อเป็นการเทิดทูนบูชาพระคุณของหลวงปู่ในคราวครั้งนี้โดยทั่วกัน และก่อนจะเดินทางกลับสู่สถานที่อยู่ของตน ต่างก็พากันไปกราบแสดงความอาลัยและกราบลาหลวงปู่ที่เมรุ แล้วจึงเดินทางกลับสถานที่อยู่ของตน

รูปภาพ
พระธาตุเจดีย์หลวงปู่บุญจันทร์ กมโล “พระธาตุไตรรัตนกมโลเจติยานุสรณ์”
ซึ่งออกแบบคล้ายๆ พระธาตุพนม เพราะหลวงปู่ได้เอาพระธาตุพนมเป็นที่ตั้งจิตอธิษฐาน
เพื่อความมั่นใจในการประพฤติพรหมจรรย์ ตั้งแต่ครั้งยังเป็นสามเณร



อนุสรณ์สถานของหลวงปู่

การพระราชทานเพลิงศพของหลวงปู่เสร็จสิ้นผ่านไป คณะศิษยานุศิษย์มีความเห็นว่า ควรจะสร้างอนุสรณ์สถานของหลวงปู่ไว้ เพื่อเป็นมรดกของอนุชนรุ่นหลังต่อไป คุณวิชิต คงประกายวุฒิ จึงรับภาระในการออกแบบเจดีย์ คณะศิษยานุศิษย์ขอให้เป็นแบบคล้ายๆ พระธาตุพนม เพราะหลวงปู่ท่านผูกพันกับพระธาตุพนม ท่านได้เดินธุดงค์ไปนมัสการถึง 2 ครั้ง เมื่อคุณวิชิตออกแบบเสร็จเรียบร้อยแล้ว วันที่ 8 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2539 ผู้เขียนได้เดินทางไปวัดป่าบ้านตาด เพื่อกราบเรียนพ่อแม่ครูบาอาจารย์หลวงปู่มหาบัวว่า ท่านจะเห็นสมควรให้สร้างเจดีย์อนุสรณ์สถานของหลวงปู่บุญจันทร์หรือไม่ ซึ่งท่านไม่ขัดข้องให้ทำไปเลย จึงกำหนดการวางศิลามงคลสร้างพระธาตุเจดีย์หลวงปู่บุญจันทร์ กมโล “พระธาตุไตรรัตนกมโลเจติยานุสรณ์” ในวันที่ 24 พฤศจิกาย พ.ศ. 2538

ครั้นถึงวันที่ 19 พฤศจิกายน พ.ศ. 2539 ผู้เขียนได้เดินทางไปวัดป่าบ้านตาด กราบเรียนขอนิมนต์องค์หลวงปู่มหาบัวมาเป็นประธานวางศิลามงคล ท่านบอกว่า “เราจะตายเพราะคนแล้ว เดี๋ยวนี้ธาตุขันธ์ไม่อำนวย ขอให้พากันทำเอาเลยนะ” ดังนั้น เมื่อถึงกำหนดการ จึงได้กราบนิมนต์หลวงปู่ลี ฐิตธมฺโม วัดเหวลึก (วัดฐิติธรรมาราม) จังหวัดสกลนคร เป็นองค์วางศิลามงคลสร้างพระธาตุเจดีย์หลวงปู่บุญจันทร์ กมโล และทำพิธีเททองหล่อยอดเจดีย์และยอดฉัตรทองคำด้วย คณะศิษยานุศิษย์ได้มาร่วมในพิธีเป็นจำนวนมาก และยังได้หล่อรูปเหมือนในท่ายืนขนาดใหญ่กว่าองค์จริงหลวงปู่ เพื่อประดิษฐานภายในพระธาตุเจดีย์หลวงปู่ด้วย

หลังจากวางศิลามงคลแล้ว วันที่ 26 มกราคม พ.ศ. 2540 ช่างได้ลงมือก่อสร้างพระธาตุเจดีย์ของหลวงปู่ “พระธาตุไตรรัตนกมโลเจติยานุสรณ์” ตามโครงการจะให้แล้วเสร็จภายในปี พ.ศ. 2542 เมื่อก่อสร้างเสร็จเรียบร้อยแล้ว ก็จะได้ทำพิธีบรรจุพระบรมสารีริกธาตุไว้บนส่วนยอด และจะบรรจุอัฐิธาตุของหลวงปู่ไว้ระหว่างกลางองค์เจดีย์ เพื่อเป็นอนุสรณ์สถานให้พุทธศาสนิกชนได้สักการบูชาต่อไปชั่วกาลนาน

ดอกโกมุทปทุมชาติ ผุดขึ้นจากโคลนตม เจริญขึ้นเหนือน้ำ แย้มกลีบบานส่งกลิ่นหอมทั่วสารทิศ ไม่มีประมาณ ถึงกาลเวลาดอกปทุมชาติร่วงโรยไป คงเหลือไว้แต่กลิ่นหอมฟุ้งขจรในโลกา หลวงปู่ได้อุบัติขึ้นในตระกูลชาวนา ได้ปฏิบัติองค์ตรงตามทางอริยมรรคด้วยความไม่ประมาท ถึงซึ่งความเบิกบานในธรรม ให้ความเมตตาแก่ศิษย์ทั่วทุกทิศ บัดนี้ได้ละสังขารจากไป คงเหลือไว้แต่เกียรติคุณความดี เป็นเครื่องหมายในโลกา

:b42: พระครูศาสนูปกรณ์ (หลวงปู่บุญจันทร์ กมโล)
มรณภาพเมื่อวันอาทิตย์ที่ 18 มิถุนายน พ.ศ. 2538
ตรงกับวันแรม 6 ค่ำ เดือน 7 ปีกุน เวลา 10.52 น.
ณ วิหารกลางน้ำ วัดป่าสันติกาวาส จ.อุดรธานี
สิริอายุรวมได้ 78 ปี 9 เดือน 3 วัน พรรษา 59

บรรพชาเป็นสามเณร 2 พรรษา
อุปสมบทเป็นพระภิกษุ 59 พรรษา

รูปภาพ
อัฐิหลวงปู่บุญจันทร์แปรสภาพเป็นพระธาตุ

รูปภาพ

รูปภาพ
พระธาตุหลวงปู่บุญจันทร์ กมโล

.............................................................

:b44: คัดลอกเนื้อหามาจาก :: หนังสือกมโล ผู้งามดั่งดอกบัว
ประวัติและพระธรรมเทศนา พระครูศาสนูปกรณ์ (หลวงปู่บุญจันทร์ กมโล)
ธรรมานุสรณ์ วัดป่าสันติกาวาส ต.ไชยวาน อ.ไชยวาน จ.อุดรธานี
พระครูเมตตากิตติคุณ (พระอาจารย์สมหมาย อตฺตมโน) ผู้เขียนประวัติ
พิมพ์เมื่อวันที่ ๑๘ มิถุนายน ๒๕๔๐ ครั้งที่ ๑
จากเว็บไซต์ http://kamalo.50megs.com/
:b8: ขอขอบพระคุณที่มาของรูปภาพ :: คุณ chatpong


• รวมคำสอน “หลวงปู่บุญจันทร์ กมโล”
http://www.dhammajak.net/forums/viewtopic.php?f=72&t=44294

• ประมวลภาพ “หลวงปู่บุญจันทร์ กมโล” วัดป่าสันติกาวาส
http://www.dhammajak.net/forums/viewtopic.php?f=38&t=42448

• ธรรมเทศนาหลวงตาเกี่ยวกับ : “หลวงปู่บุญจันทร์ กมโล”
http://www.dhammajak.net/forums/viewtopic.php?f=7&t=58563

.....................................................
ทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว เป็นกฎตายตัว


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 03 มี.ค. 2015, 14:10 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
อาสาสมัคร
อาสาสมัคร
ลงทะเบียนเมื่อ: 08 ธ.ค. 2008, 09:34
โพสต์: 1322


 ข้อมูลส่วนตัว


สาวิกาน้อย เขียน:
ไม่มีความสงสัยในธรรม

ในวันพระราชทานเพลิงศพท่านพระอาจารย์สิงห์ทองนั้น หลวงปู่ได้พักอยู่กุฏิที่มุงด้วยไม้ที่วัดป่าแก้วชุมพล และมี ท่านพระอาจารย์สุวัจน์ สุวโจ และครูบาอาจารย์องค์อื่นอีกหลายรูปนั่งอยู่ด้วยกัน ผู้เขียนก็นั่งอยู่ในที่นั้นด้วย พระอาจารย์สุวัจน์ท่านเคยจำพรรษาอยู่ร่วมกันกับหลวงปู่ในคราวที่อยู่จังหวัดร้อยเอ็ด พอมาพบกัน ท่านก็ไต่ถามสนทนาธรรมกัน สุดท้ายพระอาจารย์สุวัจน์จึงเรียนถามหลวงปู่ว่า “เป็นอย่างไร เดี๋ยวนี้ครูบาอาจารย์ยังมีความสงสัยในธรรมอยู่หรือไม่”

หลวงปู่ตอบอย่างอาจหาญว่า “ไม่มีความสงสัยในธรรม”

:b8: :b8: :b8: Kiss


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 25 ม.ค. 2018, 17:54 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
Moderators-1
Moderators-1
ลงทะเบียนเมื่อ: 14 ก.ย. 2010, 20:29
โพสต์: 5111

แนวปฏิบัติ: พิจารณากาย
สิ่งที่ชื่นชอบ: มณีรัตน์,พระผู้เป็นดั่งผ้าขี้ร้วห่อทอง
อายุ: 39

 ข้อมูลส่วนตัว


:b20: :b8:

.....................................................
"เกิดดับ..เกิดแล้วไม่ดับไม่มี"


แสดงโพสต์จาก:  เรียงตาม  
กลับไปยังกระทู้  [ 26 โพสต์ ]  ไปที่หน้า ย้อนกลับ  1, 2

เขตเวลา GMT + 7 ชั่วโมง


 ผู้ใช้งานขณะนี้

กำลังดูบอร์ดนี้: ไม่มีสมาชิก และ บุคคลทั่วไป 9 ท่าน


ท่าน ไม่สามารถ โพสต์กระทู้ในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ ตอบกระทู้ในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ แก้ไขโพสต์ของท่านในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ ลบโพสต์ของท่านในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ แนบไฟล์ในบอร์ดนี้ได้

ค้นหาสำหรับ:
ไปที่:  
Google
ทั่วไป เว็บธรรมจักร