วันเวลาปัจจุบัน 19 เม.ย. 2024, 06:43  



เขตเวลา GMT + 7 ชั่วโมง




กลับไปยังกระทู้  [ 6 โพสต์ ]    Bookmark and Share
เจ้าของ ข้อความ
โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 07 ก.พ. 2011, 07:38 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
ผู้จัดการ
ผู้จัดการ
ลงทะเบียนเมื่อ: 27 มี.ค. 2006, 17:34
โพสต์: 7781

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว www


รูปภาพ

ประวัติและปฏิปทา
หลวงปู่ผาง จิตฺตคุตฺโต


วัดอุดมคงคาคีรีเขต (วัดดูน)
ต.บ้านโคก อ.มัญจาคีรี จ.ขอนแก่น


๏ ชาติกำเนิดและชีวิตปฐมวัย

หลวงปู่ผาง จิตฺตคุตฺโต วัดอุดมคงคาคีรีเขต (วัดดูน) ตำบลบ้านโคก อำเภอมัญจาคีรี จังหวัดขอนแก่น นามเดิมของท่านชื่อ ผาง ครองยุติ เกิดเมื่อวันที่ ๕ สิงหาคม พุทธศักราช ๒๔๔๕ ตรงกับวันอังคาร ขึ้น ๒ ค่ำ เดือน ๙ ปีขาล ณ บ้านกุดเกษียร ตำบลกุดเกษียร อำเภอเขื่องใน จังหวัดอุบลราชธานี

โยมบิดาชื่อ นายทัน ครองยุติ โยมมารดาชื่อ นางบัพพา ครองยุติ มีพี่น้องร่วมท้องเดียวกัน ๓ คน คนแรกเป็นหญิงชื่อ นางบาง ครองยุติ ได้บวชเป็นแม่ชีอยู่ที่วัดอุดมคงคาคีรีเขต คนที่สองเป็นชายชื่อ นายเสน ครองยุติ ส่วนตัวหลวงปู่เป็นคนสุดท้อง โยมบิดาและมารดามีอาชีพทำนาเป็นหลัก ส่วนการศึกษาทางโลกนั้น หลวงปู่มีความรู้สามัญชั้นประถมปีที่ ๔ ท่านมีอุปนิสัยรักความเป็นธรรม ถือความสัตย์ พูดจริงทำจริง รักธรรมชาติ ชอบความสงบ เมตตาสัตว์ มีแนวความคิดสร้างสรรค์ และชอบทำประโยชน์ให้แก่ส่วนรวม

เมื่อหลวงปู่มีอายุครบ ๒๐ ปีบริบูรณ์ ได้เข้าพิธีอุปสมบทเป็นพระภิกษุในฝ่ายมหานิกาย ตามประเพณีลูกผู้ชายชาวไทยและทดแทนพระคุณบิดามารดา ที่วัดเขื่องกลาง บ้านเขื่องใน ตำบลเขื่องใน อำเภอเขื่องใน จังหวัดอุบลราชธานี โดยมีพระครูดวน เป็นพระอุปัชฌาย์ และพระอาจารย์ดี เป็นพระกรรมวาจาจารย์ ท่านได้ศึกษาพระธรรมวินัยมีความรู้พอสมควร เมื่อบวชได้ ๑ พรรษาจึงได้ลาสิกขาจากสมณเพศมาประกอบสัมมาอาชีพ

หลังจากได้ลาสิกขาแล้ว ครั้นอายุได้ ๒๓ ปีก็ได้สมรสตามประเพณีกับนางสาวจันดี สายเสมา คนบ้านแดงหม้อ ตำบลแดงหม้อ อำเภอเขื่องใน จังหวัดอุบลราชธานี ได้ครองเรือนมาด้วยกันอย่างราบรื่นเป็นเวลานานร่วม ๒๑ ปี โดยไม่มีบุตรสืบสกุล จึงได้ขอบุตรของญาติพี่น้องมาเลี้ยงเป็นบุตรบุญธรรมชื่อ นางบุญปราง ครองยุติ

เมื่อครั้งยังอยู่ในเพศฆราวาส หลวงปู่เป็นคนขยัน เอาจริงเอาจังกับการงานได้ประกอบสัมมาอาชีพโดยช่วยบิดามารดาทำไร่ทำนา บางครั้งก็เป็นพ่อค้าเรือใหญ่บรรทุกข้าวจากแม่น้ำมูลไปขายตามลำน้ำชีน้อย บางครั้งก็เป็นพ่อค้าวัว นำวัวไปขายที่เขมรต่ำหลวงปู่ได้ใช้ความพยายามอย่างเต็มที่ในการสร้างฐานะให้แก่ครอบครัว

หลวงปู่ผางได้ใช้ชีวิตในเพศฆราวาสเป็นเวลานาน สามารถรอบรู้เหตุการณ์ที่ผ่านมาพิจารณาดูความเปลี่ยนแปลงของชีวิตและหมูสัตว์ทั้งหลายบรรดามีในโลก เมื่อเกิดมาแล้วต่างก็สับสนวุ่นวายแก่งแย่งชิงดีชิงเด่นเป็นที่เดือดร้อยไม่สุดสิ้น หลวงปู่คงจะได้สั่ง สมบุญบารมีมามากทำให้ท่านมองเห็นความไม่แน่นอนและความไม่มีแก่นสารในชีวิต ทำให้จิตใจของท่านโน้มเอียงไปในทางแห่งความสงบ ท่านได้ทำทานเป็นการใหญ่ โดยได้ให้เกวียน วัว บ้าน ไร่ นา แก่ผู้อื่น สละทุกสิ่งทุกอยางจนหมดสิ้น

(มีต่อ)

.....................................................
ทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว เป็นกฎตายตัว


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 07 ก.พ. 2011, 07:48 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
ผู้จัดการ
ผู้จัดการ
ลงทะเบียนเมื่อ: 27 มี.ค. 2006, 17:34
โพสต์: 7781

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว www


รูปภาพ
ท่านพระอาจารย์เสาร์ กนฺตสีโล อาจารย์ของหลวงปู่ผาง จิตฺตคุตฺโต

รูปภาพ
ท่านพระอาจารย์มั่น ภูริทตฺโต อาจารย์ของหลวงปู่ผาง จิตฺตคุตฺโต


๏ ชีวิตสมณะ การแสวงหาธรรม และปฏิปทา

หลังจากที่หลวงปู่ในเพศฆราวาสได้บริจาคทาน วัว ควาย ไร่ นา และบ้านเรือน ให้แก่ผู้อื่นจนหมดทั้งสิ้นแล้ว ท่านก็หมดห่วงและได้หันหน้าเข้าหาพระธรรม ดังนั้น เมื่ออายุได้ราว ๔๓ ปี ท่านจึงได้ชวนกันกับภรรยาออกบวช ภรรยาได้บวชเป็นแม่ชี ส่วนหลวงปู่ได้เข้าพิธีอุปสมบทเป็นพระภิกษุในฝ่ายมหานิกาย ที่วัดบ้านกุดเกษียร ตำบลกุดเกษียร อำเภอเขื่อนใน จังหวัดอุบลราชธานี โดยมี ท่านพระครูศรี (วัดคูขาด) เป็นพระอุปัชฌาย์ ได้รับนามฉายาว่า “จิตฺตคุตฺโต” อันมีความหมายเป็นมงคลว่า ผู้คุ้มครองจิตดีแล้ว

ภายหลังอุปสมบทแล้ว หลวงปู่ผางได้เข้าศึกษาอบรมพระกรรมฐานอยู่ในสำนักวัดป่าวารินชำราบ อำเภอวารินชำราบ จังหวัดอุบลราชธานี กับ ท่านพระอาจารย์สิงห์ ขนฺตยาคโม (ท่านเจ้าคุณพระญาณวิศิษฎ์สมิทธิวีราจารย์) และ ท่านพระอาจารย์มหาปิ่น ปญฺญาพโล ครั้นต่อมาหลวงปู่จึงได้ญัตติเป็นพระภิกษุฝ่ายธรรมยุติกนิกาย ในวันที่ ๗ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๔๘๘ โดยมี พระมหาอ่อน เจ้าคณะอำเภอเขื่องใน (ในขณะนั้น) เป็นพระอุปัชฌาย์, พระมหาทราย เป็นพระกรรมวาจาจารย์ และ พระมหาจันทร์ เป็นพระอนุสาวนาจารย์

เมื่อหลวงปู่ผางได้ญัตติเป็นพระภิกษุฝ่ายธรรมยุติกนิกายแล้ว ท่านก็ยังเข้ารับการอบรมพระกรรมฐานอยู่ในสำนักท่านพระอาจารย์สิงห์ ขนฺตยาคโม ต่อไปอีกเป็นเวลาอันสมควร แล้วจึงได้ออกปฏิบัติพระธุดงค์กรรมฐานไปปลีกวิเวกโดยลำพัง ต่อมาจึงได้พบกับ ท่านพระอาจารย์มั่น ภูริทตฺโต เกิดความเลื่อมใสศรัทธายิ่งนักจึงได้กราบถวายตัวเป็นลูกศิษย์ และได้เข้าอบรมอยู่กับท่านพระอาจารย์มั่น ที่วัดป่าบ้านหนองผือ (วัดป่าภูริทัตตถิราวาส) ตำบลนาใน อำเภอพรรณานิคม จังหวัดสกลนคร อยู่เป็นเวลาอันสมควร

คืนหนึ่งหลวงปู่ได้นิมิตไปว่า ได้ขี่ม้าขาวไปทางจังหวัดขอนแก่น ได้เห็นสถานที่ต่างๆ เลยไปจนถึงอำเภอมัญจาคีรีแล้วม้าขาวก็หยุดให้ท่านลง รุ่งเช้าขึ้นหลวงปู่ท่านจึงได้กราบลา ท่านพระอาจารย์เสาร์ กนฺตสีโล และท่านพระอาจารย์มั่น ภูริทตฺโต ออกธุดงค์ไปตามนิมิตนั้นทันที หลวงปู่ผางได้ท่องเที่ยววิเวกไปแต่ผู้เดียวในป่าเขาจังหวัดเพชรบูรณ์ ซึ่งเป็นถิ่นทุรกันดารเป็นเวลาหลายปี

ต่อมาท่านได้มาจำพรรษาอยู่ที่วัดป่าบรรลังค์ศิลาทิพย์ ตำบลบ้านแท่น อำเภอชนบท จังหวัดขอนแก่น เป็นเวลาหลายปี จากนั้นหลวงปู่ได้ธุดงค์ต่อไปยังภูเขาผาแดง อำเภอมัญจาคีรี จังหวัดขอนแก่น ได้พักแรมที่บ้านแจ้งทัพม้าและบ้านโสกน้ำขุ่น ซึ่งอยู่ใกล้ๆ กับ “วัดดูน” ซึ่งเป็นบริเวณที่มีความอุดมสมบูรณ์ มีบ่อน้ำซึมที่ไหลออกมาตลอดปีมิได้ขาด วัดดูนแห่งนี้เป็นโบราณสถานเก่าแก่ ชาวบ้านแถบนั้นถือว่าเป็นสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ โดยมี พระมหาสีทน กาญฺจโน ซึ่งได้ออกธุดงค์มาพบเข้า จึงได้บูรณะขึ้นเป็นวัดตั้งแต่ปี พ.ศ. ๒๔๘๒ ต่อมาพระมหาสีทนได้เปลี่ยนชื่อของวัดจาก “วัดดูน” เป็น “วัดอุดมคงคีรีเขต”

ในปี พ.ศ. ๒๔๙๒ หลวงปู่ผางได้ธุดงค์มายังวัดอุดมคงคาคีรีเขต ตำบลบ้านโคก อำเภอมัญจาคีรี จังหวัดขอนแก่น ท่านอยู่จำพรรษาที่นี่จนตลอดชีวิตของท่าน เมื่อแรกที่หลวงปู่มาอยู่ที่วัดแห่งนี้ บริเวณนั้นยังเป็นป่าดงดิบ มีสัตว์ป่าดุร้ายมาก เช่น เสือ ช้าง หมี งู ฯลฯ มีภูตผีปีศาจดุร้าย หลวงปู่ได้แผ่เมตตาจิตต่อสู้กับสัตว์ร้ายและภูตผีปีศาจ จนชาวบ้านในละแวกนั้นหายหวาดกลัว และสัตว์ร้ายก็หลบหนีข้ามเขาภูผาแดงไปหมด หลวงปู่ยังนิมิตเห็นโครงกระดูกของท่านแต่ชาติปางก่อนฝังอยู่บริเวณนั้นด้วย

หลวงปู่เล่าไว้ว่า เมื่อแรกที่ท่านธุดงค์มาอยู่ที่วัดอุดมคงคาคีรีเขตนี้ ก็จำพรรษาอยู่กับพระมหาสีทนเพียงสององค์ ได้นำพาญาติโยมสร้างกุฏิขึ้นสองหลัง ศาลาพักฉันข้าวหนึ่งหลัง ทายกทายิกาประจำวัดที่ช่วยกันสร้างในตอนนั้น ได้แก่ นายผง บ้านโสกน้ำขุ่น นายหอม บ้านดอนแก่นเฒ่า และนายสม บ้านโสกใหญ่หลังจากนั้นต่อมาอีกสี่ห้าปี พระมหาสีทนก็ขอลาออกธุดงค์ไปทางภาคเหนือไม่กลับมาอีกเลย

หลวงปู่ผางเป็นผู้มีความสามารถในการพัฒนาทั้งทางด้านวัตถุและทางด้านจิตใจหลังจากที่องค์หลวงปู่มาอยู่ที่วัดอุดมคงคาคีรีเขตได้ไม่นานนัก ก็ได้สร้างฝายกั้นน้ำ ๒-๓ แห่ง สร้างกุฏีทั้งสิ้น ๕๒ หลัง สร้างอุโบสถ สร้างเจดีย์กู่แก้ว เจดีย์ถ้ำกงเกวียน และเจดีย์ใหญ่ สร้างศาลาใหญ่ สร้างสะพานคอนกรีตสามแห่งภายในวัด สร้างกำแพงรอบวัด จัดทำฌาปนสถาน จัดระบบสุขาภิบาล โดยสร้างถังประปาวางท่อน้ำ และจัดทำส้วมให้เพียงพอ สร้างโรงอาหาร ศาลาฉัน โรงซักผ้าย้อมผ้า โรงไฟฟ้า เป็นต้น ในระหว่างปี พ.ศ. ๒๕๐๕ ถึง พ.ศ. ๒๕๐๗ ได้นำชาวบ้านโดยร่วมมือกับหน่วย กรป. กลางสร้างและพัฒนาเส้นทางแยกจากทางหลวงสายอำเภอมัญจาคีรี-แก้งคร้อ ไปยังวัดอุดมคงคาคีรีเขต เป็นถนนลงหินลูกรังขนาดกว้าง ๕ เมตร ยาว ๑๒ เมตร

รูปภาพ
ท่านพระอาจารย์สิงห์ ขนฺตยาคโม

รูปภาพ
ท่านพระอาจารย์มหาปิ่น ปญฺญาพโล


ทางด้านการศึกษาหลวงปู่ได้นำราษฎรสร้างโรงเรียนระดับประถมศึกษาชื่อ โรงเรียนอุดมคงคาคีรีเขต มีสาธารณะประโยชน์อื่นๆ อีกมากมายที่หลวงปู่ได้เข้าไปช่วยเหลือเกื้อกูล และแม้แต่วัดของท่านก็ได้รับยกย่องจากกรมการศาสนา กระทรวงศึกษาธิการ ให้เป็นวัดพัฒนาตัวอย่าง ซึ่งเป็นผลสืบเนื่องมาแต่อดีตจนถึงปัจจุบันที่เริ่มต้นมาดีก็สำเร็จเรียบร้อยด้วยดีในบั้นปลาย

ในสมัยก่อนชาวบ้านแถวมัญจาคีรีนับถือภูตผีมาก แต่ละหมู่บ้านก็มีตูบตาปู่ (ศาลเจ้า) ไว้ประจำหมู่บ้านเพื่อกราบไหว้ เช่นสรวงบนบานบอกกล่าวขอความคุ้มครอง หลวงปู่ผางสั่งสอนชาวบ้านให้เลิกนับถือผีหันมานับถือพระรัตนตรัย แต่ชาวบ้านเกรงกลัวผีจะมาทำร้ายทำให้เกิดความลำบากไม่อาจเลิกนับถือผีได้ หลวงปู่มีอุบายอันชาญฉลาดเพื่อที่จะให้ชาวบ้านได้เห็นว่า พระรัตนตรัยย่อมมีอานุภาพมากกว่าผี ท่านจึงให้ชาวบ้านเผาตูบตาปู่ทิ้งเมื่อชาวบ้านำไม่กล้าเผา ท่านก็ให้กำลังใจชาวบ้านและบอกว่า ถ้าเจ้าปู่ เจ้าผี เจ้าของตูบตาปู่มีจริงให้เข้ามาดับไฟเอาเอง ชาวบ้านจึงได้กล้าเผา

บางครั้งเมื่อมีคนถามหลวงปู่ว่า เชื่อว่าผีมีจริงไหม หลวงปู่ก็จะตอบว่า เชื่อมาตั้งนานแล้ว เมื่อถามว่า หลวงปู่เคยเห็นผีไหม หลวงปู่ตอบว่า เคยเห็นอยู่บ่อยๆ และเมื่อถามว่า หลวงปู่คิดกลัวผีบ้านไหม หลวงปู่ตอบว่า กลัวอยู่เหมือนกัน เพราะผีพวกนี้มันพูดยากสอนยาก แล้วก็ถามว่า ผีมีรูปร่าง หน้าตาอย่างไร ผีพูดเป็นด้วยหรือ หลวงปู่ก็ตอบว่า ก็ที่กำลังนั่ง กำลังถามอยู่นี่แหละคือผีทั้งนั้นเลย

หลวงปู่ได้เข้ารับการตรวจสุขภาพทั่วไปที่โรงพยาบาลแพทย์ปัญญา เมื่อวันที่ ๕ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๕๒๔ อายุได้ ๗๙ ปี ผลตรวจปรากฏว่าสุขภาพทั่วไปดี ความดันโลหิตและชีพจรปกติ ตาเริ่มเป็นต้อกระจกอ่อนๆ ทั้งสองข้าง ผลเอ็กซเรย์ปอด คลื่นหัวใจเป็นปกติ ผลการตรวจเลือดพบว่าหน้าที่ของไต ตับ และระดับไขมันในเลือดปกติ เมื่อวันที่ ๒๒ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๒๔ หลวงปู่ได้ไปเข้ารับการตรวจอีกครั้งหนึ่งเนื่องจากมีอาการแน่นท้อง จากการเอ็กซเรย์ระบบทางทางเดินอาหาร พบว่าหลวงปู่เริ่มเป็นมะเร็งที่กระเพาะอาหาร คณะแพทย์โรงพยาบาลแพทย์ปัญญาได้ถวายคำแนะนำให้รักษาโดยการผ่าตัด แต่หลวงปู่ไม่ยินยอม

วันที่ ๑๕ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๒๕ หลวงปู่ได้เข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาลเดิมอีก ด้วยอาการอ่อนเพลียเนื่องจากมีอาการเลือดออกในทางเดินอาหาร อีกทั้งคณะแพทย์ยังพบว่ามีอาการของกล้ามเนื้อหัวใจตาย หลวงปู่ได้รับการรักษาที่โรงพยาบาลสลับกับไปพักที่บ้านคุณนายเข็มทอง โอสถาพันธุ์ จนกระทั่งวันที่ ๑๖ มีนาคม พ.ศ. ๒๕๒๕ ทางคณะศิษยานุศิษย์จึงได้นิมนต์หลวงปู่กลับวัดอุดมคงคาคีรีเขต หลังจากหลวงปู่กลับวัดได้ไม่กี่วัน ก็มีอาการอาเจียน ฉันอาหารและน้ำไม่ได้ ปัสสาวะน้อย และในที่สุดหลวงปู่ได้ละทิ้งขันธ์ไปเมื่อวันที่ ๒๔ มีนาคม พ.ศ. ๒๕๒๕ สิริอายุรวมได้ ๘๐ ปี พรรษา ๓๗

ก่อนมรณภาพไม่กี่วัน สังขารร่างกายของหลวงปู่ทรุดโทรมาก บรรดาศิษย์ต่างวิตกไปตามๆ กันและปลงใจว่า หลวงปู่ไม่รอดแน่ ยิ่งได้เห็นความเหน็ดเหนื่อยเมื่อล้าความทุกขเวทนาที่หลวงปู่ได้รับอย่างแสนสาหัส ศิษย์ทุกคนกลั้นน้ำตาไว้ไม่ได้ หลวงปู่ทราบดีในเรื่องนี้ จึงได้ตั้งปัญหาถามคณะศิษย์ที่คอยเฝ้าดูอาการอาพาธอยู่โดยรอบในขณะนั้น เพื่อเป็นการเตือนสติว่า “อยากเป็นไหมล่ะ อย่างนี้” ช่วงเป็นคำถามที่ประทับใจเสียจริงๆ

รูปภาพ
ด้านหน้าวัดอุดมคงคาคีรีเขต (วัดดูน) จ.ขอนแก่น


(มีต่อ ๒)

.....................................................
ทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว เป็นกฎตายตัว


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 07 ก.พ. 2011, 07:51 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
ผู้จัดการ
ผู้จัดการ
ลงทะเบียนเมื่อ: 27 มี.ค. 2006, 17:34
โพสต์: 7781

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว www


รูปภาพ

๏ ธรรมโอวาท

หลวงปู่ผาง จิตฺตคุตฺโต เป็นพระนักปฏิบัติที่มั่นคงอดทนเป็นเลิศรูปหนึ่ง ชอบทำมากกว่าพูด บทโอวาทเทศนาสั่งสอนต่างๆ จึงไม่ค่อยมี ท่านมีอุดมคติอยู่ว่า “มีชื่อบ่อยากให้ปรากฏมียศบ่อยากให้ลือชา”

ศีลข้อห้าเป็นข้อที่หลวงปู่ย้ำเน้นตลอดมา หลวงปู่มักจะให้โอวาทให้พรว่า “อย่าสิเอาพระรัตนตรัยไปกินเหล้า เด้อ” , “ให้สำบายๆ เด้อ” , “ให้อยู่ดีมีแฮง เด้อ”

เนื่องจากหลวงปู่ไม่เป็นพระนักพูดนักเทศน์ที่ดี แต่สอนคนอื่นแล้วตนเองไม่ปฏิบัติตามด้วยเหตุนี้จึงไม่สามารถจะนำบทเทศนาสั่งสอนมาลงให้เป็นเรื่องเป็นราวได้เหมือนอย่างที่เห็นโดยทั่วไป แต่ก็พอสรุปโอวาทที่หลวงปู่เคยพร่ำสอนบรรดาสานุศิษย์อยู่โดยมากได้ดังนั้น

- ให้พากันวางความตาย อย่าเสียดายความมี ตู้คัมภีร์ใหม่อยู่ในกายเฮานี่ (ให้พากันวางความตายอย่าเสียดายความมั่งมี ตู้พระไตรปิฎกอยู่ในกายของเรานี้)

- ให้พากันพายเฮือข่วมทะเลหลวงให้ม่นฝั่ง อย่าสิกลับต่าวปิ้นนำ พั่วหมากแบ่งดง (ให้พากันกายเรือข้าวทะเลหลวงให้รอดฝั่ง อย่าได้กลับมาวนเวียนอยู่กับวัฏฏสงสาร)

- ให้ภาวนาว่า ตายๆ ผีกะย่าน บ่กล้ามใกล้ดอก (ให้ภาวนาว่า ตายๆ ผีก็จะกลัว ไม่กล้าเข้ามาใกล้)

- หมอบๆ เข่าหัวเท่าง่ายาง ย่างโย่งๆ หัวแทบขี้ดิน (คนพาลถึงจะทำเป็นอ่อนน้อมถ่อมตนอย่างไร เขาก็รู้ว่าเป็นคนพาลอยู่นั่นเอง หรือได้แก่คนที่เคารพแต่กายส่วนใจไม่เคารพ ส่วนคนดีมีความเคารพ ถึงแม้จะคุยโวไม่เคารพ แต่ใจนั้นเคารพอยู่)

- มีดพร้าโต้ควงแบกท่วมหู คนมันบางท่อคูคันต้อน ซุยซำซะ ลากขี้ดินจำก้น (คนผู้มีอาวุธคือปัญญาหรือศีลธรรมอันยิ่งใหญ่ ถึงแม้ว่าจะแสดงตนว่าไม่ดีอย่างไร เขาก็รู้ว่าเป็นคนดีอยู่นั่นเอง)

- คนสามบ้านกินน้ำส่างเดียว เที่ยวทางเดียว บ่เหยียบฮอยกัน (คนสามหมู่บ้านดื่มน้ำจากบ่อเดียวกัน เดินบนเส้นทางเดียวกันแต่ไม่เหยียบรอยเท้ากันหมายถึง คนทุกวันนี้ดื่มน้ำจากแหล่งเดียวกันคือ น้ำประปา และการเดินทางทุกวันนี้ใช้รถยนต์ไม่มีรอยเท้าให้เห็น)

- อย่างได้มัวเมาหม่นนำดวงดอกไข่เน่า เมานำพั่วหมากหว้ามันสิช้าค่ำทาง (อย่าได้มัวเพลิดเพลินอยู่กับดอกไม้หอมในป่า หรือลูกไม้ในป่า จะทำให้ชักช้าไปไม่ถึงที่หมาย หมายถึงอย่าได้มัวเพลินอยู่ในกามารมณ์ จะทำให้เราชักช้าไม่พ้นวัฏฏสงสาร)

- ลิงกับลิงชิงขึ้นต้นไม้ บัดสิได้แม่นบักโกกนาโถ (เมื่อลิงทั้งหลายแย่งชิงกันขึ้นต้นไม้ ตัวที่แย่งได้เป็นตัวที่มีความคล่องแคล่วว่องไว กว่าเพื่อน)

- นักปราชญ์ฮู่หลง หงส์ทองถึกบ้วง ควายบักตู้ตื่นไถ (นักปราชญ์ยังมีโอกาสพลาด หงส์ทองยังมีโอกาสติดบ่วง และควายที่คุ้นกับไถก็ยังตื่นไถได้ หมายถึงบุคคลผู้รู้จักบาปบุญแล้วยังหลวงทำความชั่วได้ บุคคลผู้มีสติก็ยังขาดความระมัดระวัง และบุคคลที่เป็นผู้รู้แล้วยังเป็นพาลได้)

- อย่าพากันเที่ยวทางเวิ่งเหิงหลายมันสิค่ำ เมานำพั่วหมากหว้ามันสิช้าค่ำทาง (อย่าพากันเถลไถลออกจากทางตรงเดี๋ยวจะมีค่ำก่อน อย่ามัวเพลินกับผลไม้ป่าจะทำให้ชักช้ามือค่ำในระหว่างทางได้)

- พุทโธ พุทโธ หัวใจโตกะรักษาบ่ได้ (รู้จักแต่พุทโธ พุทโธ แต่ไม่รู้จักจิตใจของตัวเอง)

- ศีลมีมากมายหลายข้อ บ่ต้องรักษาเหมิดทุกข้อดอก รักษาแต่ใจเจ้าของอย่างเดียวให้ดีท่อนั้น กาย วาจา กะสิดีไปนำกัน (ศีลมีมากมายหลายข้อ ไม่ต้องรักษาหมดทุกข้อหรอก รักษาแต่ใจตัวเองอย่างเดียวให้ดีเท่านั้น กายวาจาก็จะดีไปด้วยกัน)

รูปภาพ

รูปภาพ
“พระเจดีย์ชัยมงคล” ณ วัดอุดมคงคาคีรีเขต จ.ขอนแก่น

รูปภาพ
สถานีวิทยุเสียงธรรม วัดอุดมคงคาคีรีเขต (วัดดูน) จ.ขอนแก่น


(มีต่อ ๓)

.....................................................
ทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว เป็นกฎตายตัว


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 07 ก.พ. 2011, 07:51 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
ผู้จัดการ
ผู้จัดการ
ลงทะเบียนเมื่อ: 27 มี.ค. 2006, 17:34
โพสต์: 7781

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว www


รูปภาพ
[จระเข้ตัวนี้ตาบอดและเป็นที่เอ็นดูของหลวงปู่ผาง ลูกศิษย์คนสนิทของหลวงปู่ผางเล่าว่า
หลวงปู่ผางเคยเบื่อญาติโยมมากวนท่านบ่อยๆ ท่านจึงนั่งบนหลังจระเข้ตาบอดตัวนี้
นั่งออกไปกลางลำคลอง เพื่อหนีญาติโยมที่มากวนท่าน และวันที่หลวงปู่ผางมรณภาพ
จระเข้ตาบอดตัวนี้ได้ว่ายน้ำวนไปมา และตายในที่สุด ทางวัดจึงนำมาสตาฟไว้]



๏ ปัจฉิมบท

หลวงปู่ผาง จิตฺตคุตฺโต เป็นพระสงฆ์ผู้มีจิตใจเมตตาอยู่เสมอ ท่านบำเพ็ญพรหมวิหารธรรม เมตตาบารมีของท่านนี้เป็นกระแสธรรมที่นุ่มนวลเยือกเย็น ภายในวัดอุดมคงคาคีรีเขต มีบึงเป็นที่อาศัยของจระเข้อยู่แห่งหนึ่ง ทราบว่ามีอยู่หลายตัว บางคราวน้ำป่าหลากมามาก ทำให้จระเข้หนีไปอยู่ในถิ่นอื่น หลวงปู่ต้องตามไปบอกให้กลับมาเฝ้าวัดที่บึงแห่งเดิม และจระเข้ก็กลับมาจริงๆ ด้วย

คราวหนึ่งได้มีการสร้างกุฏิในบึงดังกล่าว พวกช่างไม้ไม่กล้าลงไปปักเสาในน้ำเพราะกลัวจระเข้ หลวงปู่ต้องลงไปยืนแช่ในน้ำ คอยไล่ไม่ให้จระเข้เข้ามารบกวนพวกช่าง เมื่อถูกถามว่าไม่กลัวจระเข้หรือ หลวงปู่ตอบว่า เลี้ยงมันมาแต่เล็กแต่น้อยจะไปกลัวมันทำไม

จระเข้สตาฟภายในวัดเป็นจระเข้ตาบอดและเป็นที่เอ็นดูของหลวงปู่ผาง ลูกศิษย์คนสนิทของหลวงปู่ผางเล่าว่า หลวงปู่ผางเคยเบื่อญาติโยมมากวนท่านบ่อยๆ ท่านจึงนั่งบนหลังจระเข้ตาบอดตัวนี้ นั่งออกไปกลางลำคลอง เพื่อหนีญาติโยมที่มากวนท่าน และวันที่หลวงปู่ผางมรณภาพ จระเข้ตาบอดตัวนี้ได้ว่ายน้ำวนไปมา และตายในที่สุด ทางวัดจึงนำมาสตาฟไว้


นอกจากนี้ยังมีเรื่องเล่ากันว่า วันที่หลวงปู่มรณภาพ จระเข้ลอยไปทางด้านเหนือของบึงและร้องเสียงดังอยู่เป็นเวลานาน คล้ายจะบอกให้รู้ว่า หลวงปู่จะจากพวกเราไปแล้ว และเป็นการแสดงถึงความอาลัยอาวรณ์ของสัตว์

อีกเหตุการณ์หนึ่งที่แสดงให้เห็นถึงพลังเมตตาบารมีของหลวงปู่ คือ หลายครั้งที่เกิดเหตุไฟป่าใกล้กับบริเวณวัด บรรดาสัตว์ป่านานาชนิดกระเสือกระสนหนีไฟเข้าไปอาศัยในเขตวัด ส่วนพวกที่หนีไฟไม่ทันเพราะหมดกำลังและยังอ่อนก็ถูกไฟไหม้ตายเป็นกองอย่างน่าอเนจอนาถ หลวงปู่ย่อมเห็นเหตุการณ์โดยตลอด ด้วยพลังแห่งเมตตาธรรมที่มีอยู่ในใจเป็นเหตุให้หลวงปู่ต้องอดอาหารเป็นเวลาหลายวัน เข้านั่งสมาธิเพื่ออุทิศกุศลผลบุญให้แก่สัตว์ที่ถูกไฟไหม้ตาย


หลวงปู่ผางเป็นพระสงฆ์ผู้ปฏิบัติดี ปฏิบัติชอบ ตามพระธรรมวินัย ท่านเป็นผู้มีจิตใจเข้มแข็งแก่กล้ามาก ปฏิภาณไหวพริบเฉียบแหลม อีกทั้งวาจาของท่านที่พูดออกมาก็มีความศักดิ์สิทธิ์เป็นจริงดังคำพูดของท่านเสมอ

มีเรื่องเล่ามากมายที่เกี่ยวข้องกับไหวพริบปฏิภาณของหลวงปู่ เช่น มีครั้งหนึ่งมหาน้อยเป็นชาวอำเภอบ้านไผ่ จังหวัดขอนแก่น มีนิสัยชอบถามปัญหาธรรมกับพระสงฆ์อยู่เป็นประจำ วันหนึ่งได้ไปกราบนมัสการหลวงปู่ที่วัดอุดมคงคาคีรีเขต แล้วถามหลวงปู่ว่า “เขาว่าพระกัมมัฏฐานถือธุดงควัตรอย่างหลวงปู่ ไม่รับเงินรับทอง แล้วใช้จ่ายรูปิยะ วัตถุอนามาสด้วยมือตนเองใช่ไหม ?”

หลวงปู่มองดูหน้ามหาน้อยแล้วถามกลับว่า “ถามทำไม ?”

มหาน้อยตอบ “ก็อยากรู้สิหลวงปู่ถึงถาม”

หลวงปู่ตอบ “ก็ใช่น่ะสิ”

มหาน้อยพูดต่อว่า “นั่นก็แสดงว่า หลวงปู่ได้บรรลุธรรมเป็นอรหันต์หมดความอยากแล้วใช้ไหม”

หลวงปู่ตอบว่า “เอ้า จะพูดไปอะไรปานนั้น ต้องเป็นอรหันต์เท่านั้นเหรอจึงจะไม่จับเงิน จับทอง พระคนธรรมดาไม่จับไม่ได้หรือ”

มหาน้อยพล่ามต่อไปอีกว่า “ผมถามหลวงปู่เพื่อต้องการทราบว่า หลวงปู่ไม่รับเงินทองของอนามาสนั่นน่ะ เพราะหมดความอยากแล้วใช้ไหมผมถามอย่างนี้”

หลวงปู่ตอบว่า “ไม่รับเฉยๆ นี่แหละมันจะเพราะอะไร”

หลวงปู่สอนไม่ให้เชื่อมงคลตื่นข่าว ไม่ให้เชื่อถือฤกษ์ยาม แม้ว่าในปัจจุบันการถือฤกษ์ยามนับเป็นเรื่องสำคัญ จะเดินทางประกอบธุรกิจ ขึ้นบ้านใหม่ และอะไรหลายๆ อย่างต้องมีฤกษ์ ถ้าถูกวันอุบาทว์ โลกาวินาศ วันลอย วันจม แล้วต้องงด ควรเป็นวันธงชัย วันอธิบดี และวันฟู จึงจะเป็นมงคล

มีครั้งหนึ่งคุณนายท่านหนึ่งมากราบหลวงปู่ ปรารภถึงวันเปิดร้านเพื่อประกอบธุรกิจการค้า คุณนายถามหลวงปู่ถึงวันที่จะเป็นมงคลสำหรับการเปิดร้าน หลวงปู่ก็บอกว่าดีทุกวัน เป็นพรุ่งนี้ได้ยิ่งดี คุณนายแย้งว่า วันพรุ่งนี้เป็นวันโลกาวินาศ หลวงปู่บอกว่าไม่เคยได้ยินวันโลกาวินาศเคย ได้ยินแต่วันอาทิตย์วันจันทร์

คุณนายก็เลยเรียนหลวงปู่ว่า “เขามีมานานแล้วหลวงปู่ วันธงชัย วันอธิบดี วันฟู นี่ถึงเป็นมงคลเจ้าข้า” หลวงปู่ก็เลยถามว่า แล้ววันนี้ล่ะวันอะไร ก็ได้คำตอบจากคุณนายว่าเป็นวันฟูแต่ร้านไม่เรียบร้อยก็เลยเปิดไม่ทัน หลวงปู่จึงบอกให้คุณนายลองโยนก้อนหินลงไปในที่ล้างเท้า

แล้วหลวงปู่ก็ถามว่า แล้วก้อนหินมันฟูไหม ได้คำตอบว่า “จม”

หลวงปู่จึงสั่งสอนว่า “ที่ว่าวันฟู มันทำไมจึงไม่ฟู นี่แหละมันฟูไม่จริง” นี่แสดงให้เห็นถึงปฏิภาณไหวพริบในการสอนธรรมะของหลวงปู่ สอนให้เห็นของจริง ให้รู้ชัดว่าทุกสิ่งทุกอย่างประกอบด้วยเหตุและผล หินเป็นวัตถุที่จมน้ำมันก็ย่อมจะจมน้ำ ไม่ว่าจะเป็นวันลอยวันฟู ท่านชี้ให้เห็นว่าวันเดือนปี ก็เป็นกาลเวลาไม่มีผลต่อความเป็นอยู่ความเจริญรุ่งเรืองของเรา แต่การกระทำของเราต่างหากที่จะมีผลต่อตัวเราเอง

อนุสรณ์สถานที่สำคัญที่สุดของหลวงปู่ผางคือ วัดอุดมคงคาคีรีเขต ซึ่งได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมา เป็นวัดที่ถูกต้องตามกฎหมายทุกประการตั้งแต่ปี พ.ศ. ๒๕๒๓ นับเป็นเกียรติประวัติอันสูงส่งที่ควรภาคภูมิในและน่าอนุโมทนาเป็นอย่างยิ่ง หลวงปู่ได้ทำการบุกเบิกก่อสร้างวัดแห่งนี้ตั้งแต่ยังเป็นป่าดงดิบมีสัตว์ร้ายชุกชุม ภูตผีปีศาจคอยรบกวน และยังเป็นป่าสงวนแห่งชาติด้วย เนื่องจากหลวงปู่มีควาทรหดอดทน ความเป็นผู้มั่นคงในการปฏิบัติยากที่จะหาผู้เทียมได้ และด้วยคุณธรรม บารมีที่ท่านได้บำเพ็ญมา จึงสามารถยกระดับสำนักสงฆ์แห่งนี้ให้สูงส่งเรื่อยมาโดยลำดับ โดยที่ทางราชการได้เห็นความสำคัญมีศรัทธาเลื่อมใสได้ตกลงกันที่สำนักสงฆ์ออกจากป่าสงวนแห่งชาติอนุญาตให้เข้าทำประโยชน์เนื้อที่ถึง ๕๘๐ ไร่

ภายในวัดอุดมคงคาคีรีเขต หลวงปู่ผางได้สร้างเจดีย์ถ้ำกงเกวียนขึ้นมาในปี พ.ศ. ๒๕๑๒ เพื่อเป็นที่บำเพ็ญสมณกิจ โดยสร้างไว้บนไหล่เขาบริเวณเป็นลานหินขนาดใหญ่ ต่อมาในปี พ.ศ. ๒๕๑๓ หลวงปู่ได้สร้างเจดีย์กู่แก้ว ซึ่งอยู่ห่างจากศาลาใหญ่ราว ๙๐ เมตรเท่านั้น และหลวงปู่ใช้ที่แห่งนี้บำเพ็ญสมณกิจเพราะอยู่ใกล้ศาลาใหญ่ซึ่งเป็นศูนย์กลางของวัด สะดวกแก่หลวงปู่ในการขึ้นลงเพราะชราภาพมากแล้ว

ต่อมาในปี พ.ศ. ๒๕๑๘ หลวงปู่ผางได้ก่อสร้าง “พระเจดีย์ชัยมงคล” องค์พระเจดีย์ใหญ่ ฐานวัดโดยรอบ ๑๐๐ เมตร สูง ๒๘ เมตร ส่วนล่างและบนขององค์พระเจดีย์เป็นบัวค่ำบัวหงายประดับลวดลายไทย ลงรักปิดทองและติดกระจก พื้นด้านในองค์พระเจดีย์ปูด้วยหินแกรนิตสีดำจากประเทศอิตาลี ส่วนที่เป็นยอดขององค์พระเจดีย์นั้น ใช้โมเสดสีทองจากประเทศอิตาลีเป็นวัสดุก่อสร้าง ส่วนบนสุดเป็นยอดฉัตรทำด้วยโลหะปิดทอง ชั้นบนสุดขององค์พระเจดีย์เป็นที่สำหรับบรรจุพระบรมสารีริกธาตุ ข้างล่างสร้างเป็น พิพิธภัณฑ์อัฐบริขารหลวงปู่ผาง จิตฺตคุตฺโต ภายในองค์พระเจดีย์ได้ประดิษฐาน ‘พระพุทธชินราช’ เป็นองค์พระประธาน และรูปเหมือนเท่าขนาดองค์จริงของหลวงปู่เสาร์ กนฺตสีโล และหลวงปู่มั่น ภูริทตฺโต ซึ่งเป็นอาจารย์ของหลวงปู่ผางทั้งสองรูป

รูปภาพ
ในงานบำเพ็ญกุศลวันคล้ายวันมรณภาพหลวงปู่ผาง จิตฺตคุตฺโต
ณ พระเจดีย์ชัยมงคล วัดอุดมคงคาคีรีเขต เมื่อวันที่ ๒๔ มีนาคม ๒๕๕๐


รูปภาพ

รูปภาพ
“พระเจดีย์ชัยมงคล” ณ วัดอุดมคงคาคีรีเขต จ.ขอนแก่น

.............................................................

♥ คัดลอกเนื้อหามาจาก :: หนังสือแก้วมณีอีสาน
♥ ขอขอบพระคุณที่มาของรูปภาพ ::
เว็บไซต์ watpa.com, forum.khonkaenlink.info


• รวมคำสอน “หลวงปู่ผาง จิตฺตคุตฺโต”
http://www.dhammajak.net/forums/viewtopic.php?f=72&t=59737

• “หลวงปู่ผาง จิตฺตคุตฺโต” และ “วัดอุดมคงคาคีรีเขต”
http://www.dhammajak.net/forums/viewtopic.php?f=38&t=36659

.....................................................
ทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว เป็นกฎตายตัว


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 07 ก.พ. 2011, 07:52 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
ผู้จัดการ
ผู้จัดการ
ลงทะเบียนเมื่อ: 27 มี.ค. 2006, 17:34
โพสต์: 7781

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว www


รูปภาพ
หลวงตามหาบัว ญาณสัมปันโน


หลวงตามหาบัวพูดถึงหลวงปู่ผาง

เทศน์อบรมฆราวาส ณ วัดป่าบ้านตาด
เมื่อวันที่ ๒ ตุลาคม พุทธศักราช ๒๕๓๙


“...หลวงพ่อผางที่อำเภอชนบท เก่งทางพวกงูพวกจระเข้ วัดผู้เฒ่าแต่ก่อน โถ งูชุมมากนะ เหมือนกับผู้เฒ่าเลี้ยงไว้ ไม่ได้ผิดกันอะไรเลย งูเห่างูจงอางนะไม่ใช่ธรรมดา มันป้วนเปี้ยนๆ อยู่กับคน คนไปไหนก็อยู่อย่างนี้ๆ คนก็เดินไปข้างๆ เรียกว่าหลีกกันไปเหมือนหลีกหมา ว่างั้นเถอะนะ มันมีอยู่ทั่วไป

หลวงพ่อผางเป็นผู้ปกครองวัดนั้น มันเคารพหลวงพ่อผางมากนะ งูเหล่านี้กลัว เคารพแต่หลวงพ่อผาง จระเข้ตัวหนึ่งอยู่นั้นเลี้ยงไว้ กลัวแต่หลวงพ่อผางองค์เดียว จระเข้ตัวนั้น ท่านให้เขาไปปลูกกุฏิกลางสระ มันมางับเขาเรื่อย ต้องหลวงพ่อผางมาละ มันไปไหนไอ้นี่ วิ่งหนีเลย มันอยู่ใต้น้ำ อย่างนี้ละมันกลัว กลัวหลวงพ่อผางองค์เดียว จระเข้ตัวเดียว งับเขามันไม่กินแหละ งับเขาให้เจ็บ เพราะคนทำกุฏิอยู่กลางสระน้ำ คนก็ลงน้ำละซิ มันเลยมางับเอาตรงนั้น ต้องเรียกหาหลวงพ่อผางเรื่อย ครั้นหลวงพ่อผางอยู่นั้นทั้งวันไม่มา มันกลัว ถ้าเรียกหลวงพ่อผางเมื่อไรมันมางับเขาละ ร้องโก้กทีเดียว แข้กัด จระเข้เรียก แข้ แข้กัด...”

:b8: :b8: :b8: http://www.luangta.com

รูปภาพ
หลวงปู่ผาง จิตฺตคุตฺโต

.....................................................
ทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว เป็นกฎตายตัว


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 17 มี.ค. 2015, 07:57 
 
ออฟไลน์
Moderators-2
Moderators-2
ลงทะเบียนเมื่อ: 30 ก.ย. 2013, 07:16
โพสต์: 2374

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว


ขอน้อมกราบองค์หลวงปู่ผาง จิตฺตคุตฺโต เจ้าค่ะ ปฏิปทาของท่านน่าศรัทธามากเจ้าค่ะ :b44:
:b8: :b8: :b8:


แสดงโพสต์จาก:  เรียงตาม  
กลับไปยังกระทู้  [ 6 โพสต์ ] 

เขตเวลา GMT + 7 ชั่วโมง


 ผู้ใช้งานขณะนี้

กำลังดูบอร์ดนี้: ไม่มีสมาชิก และ บุคคลทั่วไป 12 ท่าน


ท่าน ไม่สามารถ โพสต์กระทู้ในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ ตอบกระทู้ในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ แก้ไขโพสต์ของท่านในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ ลบโพสต์ของท่านในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ แนบไฟล์ในบอร์ดนี้ได้

ค้นหาสำหรับ:
ไปที่:  
Google
ทั่วไป เว็บธรรมจักร