วันเวลาปัจจุบัน 29 มี.ค. 2024, 05:34  



เขตเวลา GMT + 7 ชั่วโมง




กลับไปยังกระทู้  [ 1 โพสต์ ]    Bookmark and Share
เจ้าของ ข้อความ
โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 26 มิ.ย. 2022, 05:17 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
อาสาสมัคร
อาสาสมัคร
ลงทะเบียนเมื่อ: 06 มี.ค. 2009, 10:48
โพสต์: 5091


 ข้อมูลส่วนตัว


#กรรมแก้ไม่ได้..!!

"... กรรมแก้ไม่ได้​ เพราะเป็นหลัก
ธรรมชาติ
... จึงสอนให้​ ปรับปรุงตัวเอง​ ให้...
เข้าสู่กรรม

#กรรมดี...ให้บำเพ็ญ #กรรมชั่ว...ให้ละ ..."
-------------
#หลวงตามหาบัว_ญาณสัมปันโน
วัดป่าบ้านตาด อ.เมือง จ.อุดรธานี]




เราไม่เห็นสิ่งใดวิเศษวิโส ยิ่งกว่าการฆ่ากิเลสนะ

หลวงตามหาบัว




#ต่อสู้กับกิเลส : #พระอาจารย์อัครเดช (ตั๋น) #ถิรจิตฺโต

ถ้าจิตของเรานั้นไม่มีสติ ไม่มีปัญญา ที่จะรักษาจิตใจของเราแล้วจิตของเรานั้นก็จะยึดมั่นถือมั่นในอารมณ์ทั้งหลายว่าเป็นจิตใจของเราอยู่เสมอๆ

ไม่ว่าจะมีความโลภ เกิดขึ้น ก็เป็นใจของเรา ไม่ว่าจะมีความโกรธ เกิดขึ้น ก็เป็นใจของเรา ไม่ว่าจะมีความพอใจ ความไม่พอใจในรูป ในเสียง ในกลิ่น ในรส ในสัมผัส ก็คิดว่าเป็นใจของเรา ไม่ว่าจะมีความกำหนัดยินดีในรูป ก็คิดว่าเป็นใจของเรา

ใจของเราก็เป็นทุกข์ เมื่อกิเลสเกิดขึ้นภายในจิตใจของเรา เพราะใจของเรานั้นไม่ทราบตามความเป็นจริง ไปยึดมั่นถือมั่นในอารมณ์ทั้งหลายว่าเป็นจิตใจของเรา ความทุกข์ต่างๆ จึงเกิดขึ้นอยู่เสมอๆ

เพราะฉะนั้นพระพุทธองค์หรือครูบาอาจารย์จึงสอนให้พวกเราทุกคนพยายามมีสติ เฝ้าดูจิตใจของเรานี้ให้มากที่สุดเท่าที่จะมากได้

ไม่ใช่ว่าไปดูบุคคลอื่น ว่าเขาทำอะไร หรือเขาพูดอะไร แล้วเอาสิ่งที่ไม่ดีมาเผาอารมณ์จิตใจของเรา ทำให้จิตใจของเรานั้นมีความทุกข์ใจ มีความไม่สบายใจ

นักประพฤติปฏิบัตินั้นพึงมีสติ เฝ้าเห็นกิเลสภายในใจของเราอยู่เสมอ ว่าสิ่งใดเป็นสิ่งที่ไม่ดี สิ่งใดเป็นกิเลสซึ่งเกิดขึ้นภายในใจของเรานั้น ให้หาอุบายปัญญาทำลายความโลภ ให้บรรเทาเบาบางลงไป หาอุบายปัญญาทำลายความโกรธ ความไม่พอใจ หรือความยินดีในรูป ให้บรรเทาเบาบางลงไป จึงจะเป็นสิ่งที่ถูกต้อง

ถ้าเรามีสติเฝ้าดูจิตใจของเรานั้นอยู่เสมอๆ เราก็จะเห็นอารมณ์ เห็นกิเลส เมื่อเราเห็นอารมณ์ เห็นกิเลสภายในใจของเรา เราก็หาอุบายปัญญา มาพิจารณาละวางอารมณ์ที่ไม่ดีออกไป

แต่ถ้ากำลังของสติไม่ตั้งมั่นพอ จิตของเรานั้นหลงไปกับอารมณ์ทั้งหลาย ก็ให้กำหนดสมาธิภาวนา ตัดอารมณ์ที่ไม่ดีออกไปอยู่เสมอๆ กำหนดสติ กำหนดสมาธิให้ต่อเนื่อง

เมื่อจิตของเรามีกำลัง มีสติตั้งมั่นอยู่ในปัจจุบันธรรมแล้ว คือเห็นจิตอยู่เสมอ ก็เห็นอารมณ์ซึ่งเกิดขึ้น เมื่อเห็นอารมณ์เกิดขึ้น ก็มีปัญญาในการที่จะพิจารณาทำลายทุกๆ ขณะจิต

ถ้าเราทำเช่นนี้ไปเรื่อยๆ จิตใจของเรานั้นก็จะค่อยๆ ว่างจากอารมณ์ทั้งหลาย ถึงแม้มีอารมณ์ทั้งหลายเกิดขึ้น ก็รู้จักปล่อยวางความยึดมั่นถือมั่นออกไปได้ มีสติ มีปัญญา รู้เท่าทันสภาวธรรมทั้งหลายทั้งปวง ว่าอารมณ์ทั้งหลายเหล่านั้น มีความเกิดขึ้นและมีความดับไปเป็นธรรมดาอยู่เช่นนั้น หาใช่บุคคล ตัวตน เรา เขา ไม่

เพราะฉะนั้นเราทุกคนจะต้องพยายามที่จะรู้จักต่อสู้กับกิเลสภายในจิตใจของเราในทุกๆ วันให้พยายามที่จะมีสติดูจิตใจของเรา และปรารภความเพียรไปทุกๆ วันไม่ท้อถอย สำรวมจิตใจของเรานั้นอยู่เสมอๆ

ถ้าเราทุกคนทำความเพียรไปเช่นนี้ ไม่ว่าเราจะอยู่ที่ไหนก็ตาม เราทำความเพียรไปตลอดเวลา ในอนาคตข้างหน้าเราอาจจะแยกย้ายไปปฏิบัติคนละสถานที่ก็ตาม แต่เราก็มุ่งหวังในการประพฤติการปฏิบัติธรรมอยู่เสมอๆ ไม่ทิ้งความเพียร เราก็สามารถที่จะประสบกับความสำเร็จในการประพฤติการปฏิบัติธรรมได้

พระอาจารย์ตั๋น







พระอาจารย์สุชาติ อภิชาโต
---------------------------------------
การเจริญสมาธิและวิปัสสนาอย่างต่อเนื่องจะทำให้เห็นว่าที่แท้จริงแล้วร่างกายนั้นเป็นการรวมตัวของธาตุ ๔ ดิน น้ำ ลมไฟ เท่านั้นเอง ไม่มีตัวตนอยู่ในรูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ และเห็นว่ากรรมนั้นมีจริง คือทำดีย่อมได้รับความสุข ทำชั่วย่อมได้รับความทุกข์ เมื่อเป็นเช่นนั้นก็จะไม่ลูบคลำศีล แต่จะรักษาศีลอย่างเคร่งครัด นี่คือการเห็นธรรม เมื่อเห็นธรรมย่อมเห็นพระพุทธเจ้า เพราะพระพุทธองค์ทรงแสดงไว้ว่า ผู้ใดเห็นธรรม ผู้นั้นเห็นเราตถาคต ผู้ที่เห็นพระตถาคตได้ต้องเป็นพระสุปฏิปันโน คือผู้ปฏิบัติดี ปฏิบัติชอบ คือพระโสดาบัน พระอริยสงฆ์นั่นเอง นี่คือเรื่องของโสดาปัตติมรรค โสดาปัตติผล อริยมรรค อริยผลขั้นที่หนึ่ง ที่ผู้ประพฤติปฏิบัติตามพระธรรมคำสอนของพระพุทธเจ้าจะบรรลุถึงได้

พระโสดาบันจะมีภพชาติเหลือเพียง ๗ ภพชาติเท่านั้นเอง จะเกิดอยู่แต่ในสุคติภพ คือจะไม่ไปเกิดในอบายภูมิอีกต่อไป ไม่ต้องเกิดเป็นสัตว์เดรัจฉาน เป็นเปรต เป็นอสุรกาย เป็นสัตว์นรก เพราะมีธรรมะคอยป้องกันไม่ให้ตกลงไปสู่ที่ต่ำ พระโสดาบันนี้จะรักษาศีล ๕ ยิ่งกว่าชีวิต จะไม่ละเมิดศีล ๕ อย่างเด็ดขาดไม่ว่าในกรณีใดทั้งสิ้น พระโสดาบันเป็นบุคคลที่ยังครองเรือนอยู่ เพราะยังไม่ได้ละสังโยชน์เครื่องพันธนาการอีก ๒ ตัว คือกามราคะและปฏิฆะ กามราคะหมายถึงความยินดีในกาม ปฏิฆะหมายถึงความหงุดหงิดใจ แสดงว่าพระโสดาบันยังยินดีกับการครองเรือน มีสามี มีภรรยา จนกว่าจะละกามราคะและปฏิฆะได้ คือต้องเจริญสกิทาคามิมรรคและอนาคามิมรรคจนบรรลุอนาคามิผล

การเจริญสกิทาคามิมรรคและอนาคามิมรรค คือการพิจารณาร่างกายให้เห็นว่าเป็นของไม่สวยไม่งาม เรียกว่าการเจริญอสุภกรรมฐาน พิจารณาอาการ ๓๒ ของร่างกายทั้งส่วนข้างนอกของผิวหนังและส่วนที่อยู่ใต้ผิวหนังอวัยวะต่างๆ เช่นเนื้อ หนัง เอ็น กระดูก หัวใจ ปอด ตับ ไต ไส้พุง เป็นต้น ทั้งขณะที่เป็นอยู่และขณะที่ตายไป เป็นซากศพในลักษณะต่างๆ ถ้าได้พิจารณาอยู่เรื่อยๆ ต่อไปกามราคะความยินดีในกามก็จะค่อยๆ คลายลงไปเรื่อยๆ จะค่อยๆ เบาบางลงไป ปฏิฆะความหงุดหงิดใจ ก็จะค่อยๆ เบาบางตามไปด้วย

เมื่อได้ทำให้กามราคะและปฏิฆะเบาบางลงไป ก็จะบรรลุสกิทาคามีผล พระสกิทาคามีจะมีความรู้สึกเบื่อๆ อยากๆ กับเรื่องของร่างกาย ถ้าเป็นน้ำก็ไม่ใช่น้ำเย็น ไม่ใช่น้ำร้อน แต่เป็นน้ำอุ่นๆ ภพชาติของพระสกิทาคามีจะเหลือเพียงภพชาติเดียวเท่านั้นเอง ถ้าปฏิบัติต่อไป คือเจริญมรรคขั้นที่ ๓ คืออนาคามิมรรค พิจารณาเรื่องอสุภความไม่สวยงามของร่างกายให้มากยิ่งขึ้นไป พิจารณาอย่างต่อเนื่องไม่หยุดหย่อน จนเห็นอสุภความไม่สวยงามของร่างกายได้ตลอดเวลา ก็จะบรรลุอนาคามิผล เพราะตัดกามราคะความยินดีในกามและปฏิฆะความหงุดหงิดใจได้หมด

พระอนาคามีเมื่อตายไปจะไม่กลับมาเกิดในกามโลกนี้อีก จะไปเกิดบนสวรรค์ชั้นพรหมโลก ชั้นใดชั้นหนึ่ง มี ๕ ชั้นด้วยกัน แล้วก็จะบรรลุเป็นพระอรหันต์ในสวรรค์ชั้นพรหมโลกต่อไป อนาคามีแปลว่าผู้ที่ไม่กลับมาเกิดในกามภพอีก คือไม่มาเกิดเป็นเทวดา เป็นมนุษย์ เป็นสัตว์เดรัจฉานเป็นต้น ถ้าปฏิบัติต่อไปได้ คือเจริญมรรคขั้นที่ ๔ คืออรหัตตมรรค จะต้องพยายามตัดสังโยชน์อีก ๕ ตัว คือรูปราคะความยินดีในรูปฌาน อรูปราคะความยินดีในอรูปฌาน มานะความถือตน อุทธัจจะ ความฟุ้งซ่าน อวิชชาความไม่รู้จริง

พระอนาคามีมีจิตที่ละเอียดมาก สงบมาก และสุขมาก จนทำให้ท่านติดอยู่กับความสงบของจิตใจ ไม่เจริญปัญญาเพื่อตัดกิเลสละเอียดที่ยังซ่อนเร้นอยู่ในจิตใจ ต่อมาเมื่อเห็นว่ายังมีความทุกข์ที่เกิดจากมานะ จากอวิชชา จึงได้ออกจากการติดความสงบของรูปฌานและอรูปฌาน มาสู่การเจริญปัญญา แต่ทำเลยเถิดไปเกินความพอดี เลยกลายเป็นอุทธัจจะความฟุ้งซ่านไป ทางที่ถูกควรจะยึดทางสายกลางระหว่างการเจริญสมาธิและปัญญา สลับกันไป ปัญญาไว้ใช้ทำลายกิเลส สมาธิไว้สำหรับพักผ่อนเติมพลัง เมื่อทำได้ดังนี้ก็จะตัดอุทธัจจะความฟุ้งซ่านไปได้

มานะคือความถือตัว ถือว่าสูงกว่าเขาบ้าง ต่ำกว่าเขาบ้าง เสมอเขาบ้าง อวิชชาคือยังไม่เห็นไตรลักษณ์ อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา อริยสัจสี่ ที่ยังซ่อนเร้นอยู่ในจิต จึงต้องพิจารณาเวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ และจิต ให้เห็นว่าเป็นไตรลักษณ์ เป็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา แล้วปล่อยวางความยึดมั่นถือมั่นในสิ่งเหล่านี้เสีย เมื่อปล่อยวางได้ก็จะบรรลุเป็นพระอรหันต์ เมื่อบรรลุเป็นพระอรหันต์ก็เข้าสู่พระนิพพานไป

นี่คือเรื่องของมรรค ๔ ผล ๔ นิพพาน ๑ นิพพานนั้นมีอยู่ ๒ ลักษณะด้วยกัน คือสอุปาทิเสสนิพพาน นิพพานในขณะที่ยังมีชีวิตอยู่ และอนุปาทิเสสนิพพาน นิพพานที่ไม่มีชีวิตอยู่แล้ว ดังที่พระพุทธองค์ขณะนั่งบำเพ็ญจิตใต้ต้นโพธิ์ในวันเพ็ญเดือน ๖ ได้ทรงตรัสรู้ธรรมขึ้นมาในขณะนั้น พระพุทธองค์ทรงบรรลุถึงพระนิพพานแล้ว แต่เป็นสอุปาทิเสสนิพพาน นิพพานที่ยังมีเบญจขันธ์อยู่ ยังมีชีวิตอยู่ หลังจากที่พระพุทธองค์ได้ทรงใช้เวลาถึง ๔๕ พรรษา สั่งสอนสัตว์โลกจนกระทั่งครบอายุ ๘๐พรรษา จึงได้เสด็จดับขันธ์ปรินิพพาน เป็นอนุปาทิเสสนิพพาน นิพพานที่ไม่มีเบญจขันธ์ ไม่มีชีวิตเหลืออยู่แล้ว

จิตนิพพานคือจิตที่มีความสะอาดหมดจด เป็นจิตที่ปราศจากความโลภ ความโกรธ ความหลง เป็นจิตที่เปี่ยมด้วยบรมสุข ที่เรียกว่า นิพพานัง ปรมัง สุขัง นี่คือผลที่ผู้ประพฤติปฏิบัติตามพระธรรมคำสอน ด้วยการบำเพ็ญทาน ศีล ภาวนา จะพึงได้รับ คือ มรรค ๔ ผล ๔ นิพพาน ๑ เป็นผลที่น่าพึงปรารถนาอย่างยิ่ง เพราะเป็นความสุขความเจริญอันสูงสุด

พระอาจารย์สุชาติ อภิชาโต







"ดูใจของตัวเอง สติมีดูมันคิดไปเรื่องอะไร เรื่องที่คิดเหล่านั้นเราเคยคิดเคยปรุงมาเสียพอแล้ว และเคยนำความทุกข์มาบีบบังคับให้เราได้รับความทุกข์ทรมานมามากต่อมากแล้ว ทำไมจะไม่เข็ดหลาบ

การปฏิบัติธรรมเพื่อความพ้นทุกข์ทำไมจะถือว่าเป็นของลำบากลำบนไป นี่ก็ถูกกลมายาของกิเลสมันหลอกให้จมอยู่อีกแล้วนั่น จะไม่มีทางพ้นไปได้ ถ้าไม่ตั้งใจอุตส่าห์พยายามตะเกียกตะกายจะไม่มีวันพ้นไปได้นะ

เราอย่าเข้าใจว่าจิตนี้มีวันมีคืนมีปีมีเดือนมีสิ้นมีสุดโดยไม่ต้องชำระสะสางกัน เพราะเมื่อไม่มีธรรมเป็นเครื่องชำระมันก็มีกิเลสฝังจมอยู่นั้นแล้ว มันจะพาให้โลกนี้สิ้นสุดไปที่ไหนได้

เรื่องของกิเลสก็เคยพูดแล้วว่าเหมือนมดแดงไต่ขอบด้ง วกไปเวียนมาอยู่อย่างนี้ ของเก่าของใหม่ เกิดแล้วเกิดเล่าไม่รู้กี่หมื่นกี่แสนกี่ล้านๆ ภพก็จำไม่ได้ เมื่อจำไม่ได้แล้วคนเราก็นอนใจ มิหนำซ้ำว่าตายแล้วสูญไปอีก นั่นเป็นอย่างไร มันหาเรื่องลมๆ แล้งๆ มาหลอกเราก็เชื่อ เพราะเราไม่รู้เราไม่ทันมันว่าตายแล้วสูญ"

หลวงตาพระมหาบัว ญาณสัมปันโน
เมื่อวันที่ ๑๘ ตุลาคม พุทธศักราช ๒๕๓๐







".. อย่าฝากหัวใจไว้กับคำพูดของผู้อื่น ให้ฝากหัวใจไว้กับพระธรรม.."

หลวงปู่ชา สุภัทโท


แสดงโพสต์จาก:  เรียงตาม  
กลับไปยังกระทู้  [ 1 โพสต์ ] 

เขตเวลา GMT + 7 ชั่วโมง


 ผู้ใช้งานขณะนี้

กำลังดูบอร์ดนี้: Google [Bot] และ บุคคลทั่วไป 45 ท่าน


ท่าน ไม่สามารถ โพสต์กระทู้ในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ ตอบกระทู้ในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ แก้ไขโพสต์ของท่านในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ ลบโพสต์ของท่านในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ แนบไฟล์ในบอร์ดนี้ได้

ค้นหาสำหรับ:
ไปที่:  
Google
ทั่วไป เว็บธรรมจักร