วันเวลาปัจจุบัน 17 เม.ย. 2024, 01:04  



เขตเวลา GMT + 7 ชั่วโมง




กลับไปยังกระทู้  [ 1 โพสต์ ]    Bookmark and Share
เจ้าของ ข้อความ
โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 20 มิ.ย. 2022, 07:08 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
อาสาสมัคร
อาสาสมัคร
ลงทะเบียนเมื่อ: 06 มี.ค. 2009, 10:48
โพสต์: 5091


 ข้อมูลส่วนตัว


คนเรานี้...
เกิดแล้ว..ก็ต้องตายด้วยกันทุกคน
ตายแต่ร่างกาย แต่ใจไม่ได้ตายตามร่างกายนี้ไปด้วย
ใจเรานี้เอง..ที่จะไปเกิดในภพต่างๆ
ถ้าเราปฏิบัติดี ความดีจะทำให้เราไปเกิดในที่ดี

สมเด็จพระญาณวชิโรดม
หลวงพ่อวิริยังค์ สิรินธโร





"... นี่พากันมาทำบุญทำกุศล จิตเราเป็นบุญแล้วหรือยัง
ให้พากันดู จิตเป็นบุญเป็นยังไง จิตเป็นบุญก็คือจิตเราดี
มีความสุข ความสงบ เย็นอกเย็นใจ ไม่ทุกข์
ไม่ร้อนไม่วุ่นไม่วาย
พุทโธ ใจเบิกบาน สบายหายทุกข์ หายยาก
หายความลำบากรำคาญ ..."
#เป็นอย่างนี้แหละให้เข้าใจไว้_นี่แหละบุญ."

#หลวงปู่ฝั้น_อาจาโร







ครูบาอาจารย์ผู้ไกลจากกิเลสไม่เคยทิ้งเรา มีแต่พวกเราผู้ใกล้ชิดกิเลสต่างหากชอบทิ้งท่าน เราต้องไม่ลืมสิ่งที่ท่านสอน เราต้องพยายามน้อมธรรมของท่านมาสู่กาย วาจา ใจของเรา

พระอาจารย์ชยสาโร





#หลวงปู่สอนว่า
#หลวงปู่สิม #พุทธจาโร

เกิดมาภพใดชาติใดก็ทุกข์แย่เต็มประดา ทุกข์ตั้งแต่วันเกิดถึงวันแก่ ทุกข์จากวันแก่ถึงวันแตกดับวันตาย ทุกถ้วนหน้าไม่มีใครข้ามมันไปได้

จึงให้เรามาสนใจในการรวมจิตใจของเรา มาให้สงบระงับ ตั้งมั่น เที่ยงตรงอยู่ภายในดวงใจให้ได้ทุกลมหายใจเข้า ทุกลมหายใจออกจนกระทั่งจิตใจสงบตั้งมั่นเป็นสมาธิภาวนาให้ได้

อันความตายนั้น จงระลึกดูให้รู้แจ้งด้วยสติปัญญาของตนเอง ยกจิตใจตั้งมั่นอย่างได้หวั่นไหว เจ็บจะเจ็บไปถึงไหนก็แค่ตาย อยู่ดีสบายอยู่ไปถึงไหนก็แค่ตาย แก่ชราแล้วไม่ตายไม่ได้ เมื่อมาถึงบุคคลผู้ใดจะให้ผู้อื่นช่วยไม่ได้ ต้องภาวนาให้พ้นจากความตาย ความตายนั้นมีทางพ้นไปได้ อยู่ที่การละกิเลส ล้างกิเลสในใจให้หมดสิ้น

กิเลสกองไหนที่ทำให้จิตใจเศร้าหมองขุ่นมัว ให้รีบตัด รีบละออกไปเลิกไม่ได้ ละไม่ได้ก็ให้นึกถึงความตาย ใครจะดุร้าย ป้ายสี ก็ให้นึกว่าเขาจะต้องตาย เราคือกายกับจิตก็ต้องตายจากกันไป จะมาโกรธ มาโลภ มาหลง มายึดหน้าถือตา ยึดอะไรต่อมิอะไรไปทำไม จงปล่อยวางให้มันหมดสิ้นไป

โลกธรรม 8 ประการ มีความสบายกายสบายใจ ก็มีความไม่สบายกายไม่สบายใจ คือมีสุข มีทุกข์อยู่อย่างนี้ มีสรรเสริญ ก็ต้องมีติเตียนนินทาเป็นธรรมดาของโลกอย่างนี้ มีลาภเสื่อมลาภได้ เป็นธรรมดาอย่างนี้ มียศเสื่อมยศมันมีเป็นธรรมดาอย่างนี้ จิตผู้รู้ผู้ภาวนาไปอยู่ที่ไหน ทำไม่ไม่เร่งภาวนาให้มันหลุดพ้นไปเสียที

เกิดแล้วต้องตายไม่ตายวันนี้วันหน้าก็ตาย ไม่ตายเดือนนี้เดือนหน้าก็ตาย ไม่ตายปีนี้ปีต่อ ๆ ไปก็ตายได้ ให้รู้ไว้ ให้เข้าใจไว้ แล้วจิตใจอย่าได้มัวเมา หลงใหลไปกับกิเลสกาม วัตถุกาม มาหลงร้องไห้ หัวเราะอยู่นี้ไม่มีที่สิ้นสุด ก้อนทุกข์ กองทุกข์เต็มตัวทุกคน จงภาวนาดูให้รู้แจ้งด้วยสติปัญญา ไม่ใช่คนอื่นจะมาทำให้ ปฏิบัติให้ ไม่มีตัวเองนั่นแหละปฏิบัติตัวเอง

หมายเหตุ - กิเลสกาม คือกิเลสที่ทำให้เกิดความอยาก ได้แก่ ราคา โลภะ อิจฉา เป็นต้น

- วัตถุกาม ได้แก่ กามคุณทั้ง 5 คือ รูป เสียง กลิ่น รส สัมผัส อันน่าปรารถนา

อัตตาหิ อัตตโนนาโถ ตนเป็นที่พึ่งของตน ตนทำบาปตนก็ได้รับทุกข์เอง ตนทำบุญบุญก็ให้ความสุขแก่บุคคลผู้นั้น บุญ-บาป เป็นของเที่ยงแท้แน่นอน ใครทำบาป บาปย่อมให้ผล ใครทำบุญกุศล บุญกุศลย่อมตามให้ผล แต่ว่าบางอย่าง บางประการนั้น ไม่ทันกับใจกิเลสมนุษย์ ก็เลยเข้าใจว่าทำบุญก็ไม่เห็นผล แต่ว่าบาปนั้นไม่ทำก็เห็นผล

อบรมจิตใจด้วยการบริกรรมภาวนา ด้วยการนึกถึงความทุกข์ความเดือดร้อนในโลกนี้ นึกถึงความแก่ความชรา ความเจ็บไข้ได้ป่วย เมื่อมันมาถึงแล้ว มันมีความเจ็บปวด ทุกขเวทนา ต้องฝึกฝนอบรมจิตใจของเราในทางสมาธิภาวนา ทำใจให้สงบระงับด้วยการนึกน้อมเอาพุทธคุณคือ คุณพระพุทธเจ้ามาเป็นอารมณ์ แม้เราจะนึกพุทโธ พุทโธอยู่ก็ตาม ก็ให้ถือว่า ธัมโมก็อยู่ที่นั่น สังโฆก็อยู่ด้วยกัน

กิเลสมาร หมายถึงจิตใจที่เรายังเลิกละ ปลดปล่อย กิเลส ราคะ ตัณหาไม่ได้ ราคะ ตัณหานั่นแหละคือตัวมาร ที่คอยหลอกลวงอยู่ในใจนั้น ถ้าผู้ใดใจไม่มั่นคง ก็หลงใหลไปตามการหลอกลวงของมารกิเลส ไม่ยอมละ ไม่ยอมเลิก ไม่ยอมปล่อยวาง กิเลสก็ติดอยู่ในตัว ติดอยู่ในกาย ในวาจา ในจิตในใจ คือ ใจเราไปติดกิเลส ไม่ใช่กิเลสมาติดอยู่ในใจของเรา จิตใจของเราไม่ภาวนาละกิเลส แต่ภาวนาเอากิเลส กิเลสก็มาอยู่ในกาย ในวาจา ในจิตในใจของเราเต็มไปหมด

ไฟ คือราคะ ไฟ คือโทสะ ไฟ คือความหลง เมื่อมีไฟ 3 กองนี้อยู่ในใจ มันก็ร้อนเป็นไฟ นั่งที่ไหน นอนที่ไหนก็ร้อนระอุด้วยไฟ เพราะไฟนั้นเป็นของเร่าร้อน ผูกมัดรัดรึงจิตใจคนเราให้หลงให้ติดข้องอยู่ เวลาภาวนาท่านจึงให้ละออกไป ปล่อยออกไป ให้หลุดไป สิ้นไป เอาให้หลุด ให้พ้น ให้สงบระงับ แม้ยังไม่หลุดพ้นก็ให้ภาวนาทุกคน ให้ใจสงบระงับตั้งมั่นทุก ๆ คืนไป จนมีกำลังความสามารถอาจหาญ ก็จะตัดละได้ด้วยตนเอง

ธรรมดากิเลสเป็นมาร เป็นภัยอันตราย คำว่ามารก็คือว่าเป็นผู้ฆ่าผู้ทำลาย ใครไปหลงกลมารยาของมารแล้วก็เสียทุกครั้งไป ฉะนั้นเราทุกคนจงอย่าได้ปล่อยจิตใจให้คิดนึกไปภายนอก จงนึกเตือนใจของตนอยู่ทุกเวลาว่า พุทโธ พระพุทธเจ้าเป็นที่พึ่งของเรา ธัมโม สังโฆ พระธรรม พระสงฆ์เป็นที่พึ่งของเรา คือให้ใจมาสงบตั้งมั่นอยู่ภายใน ไม่ให้ไปตามอาการภายนอก

อย่าไปคิดว่าเวลาเราแก่ หรือเวลาเจ็บไข้ได้ป่วย หรือใกล้ ๆ จะแตก จะตาย แล้วจึงภาวนา ถ้าคิดอย่างนั้นก็เป็นอันว่าคิดผิดเพราะ เวลาอยู่ดีสบายนี้แหละเป็นเวลาที่เราจะต้องริเริ่มภาวนาให้ได้ให้ถึง กิเลสอะไรที่ยังไม่ออกจากจิตใจเรา ก็จะได้ละกิเลสนั้นเสีย

ให้พากันตั้งใจภาวนากันจริง ๆ เอาจิตใจดวงผู้รู้ภายในมาจี้จุดหลงของใจเรา ความหลงของใจไม่ใช่อื่นไกลที่ไหน หลงในรูป หมายถึง คน สัตว์ สิ่งของ บ้านเรือน เคหะสถานอันใดก็ตาม ถ้าจิตไปหลงก็จะไปข้องอยู่กับที่นั่นถ้าจิตไม่หลงก็วางเฉยได้ จิตใจก็เย็นสบายเป็นสุข ไม่ทุกข์ร้อนประการใด เราทุกคนควรปฏิบัติบูชาภาวนาอย่างนี้ให้ได้ทุก ๆ คืน ไม่มีใครจะช่วยเราได้เท่ากับตัวเราเอง

การภาวนาอย่าเข้าใจว่ามันเป็นของยาก ไม่ว่ากิจกรรมการงานอะไร อย่างหยาบ ๆ ก็ดี ถ้าเราไม่ทำไม่ประกอบก็ยิ่งเป็นอุปสรรค แต่ถ้าเราตั้งใจทำจริง ๆ แล้ว มันมีทางออก ภาวนาไปรวมจิตใจลงไป จนกระทั่งจิตใจเชื่อตามความเป็นจริง เชื่อต่อคุณพระพุทธเจ้าจริง ๆ เชื่อต่อพระธรรมจริง ๆ เชื่อต่อคุณพระอริยสงฆ์สาวกจริง ๆ แล้ว บุคคลผู้นั้นก็มีทางที่จะได้บรรลุมรรคผล เห็นแจ้งในธรรม ในปัจจุบันชาตินี้

อะไร ๆ ทุกอย่าง ถ้าคนเราลงทำลงแล้ว มันต้องได้ไม่มากก็น้อย ถ้าไม่ทำ เลิกล้มความเพียร ชอบสบายอยู่เฉย ๆ แต่เราอย่าเข้าใจว่าเราจะอยู่เฉยได้ ในเมื่อความเจ็บไข้ได้ป่วย ปัจจุบันกะทันหันขึ้นมา จะเฉยอยู่ไม่ได้เป็นอันขาด เมื่อความเจ็บมา อุบายธรรมไม่ทัน เราก็หลงยึดไปถือไปวุ่นวายไป ถ้าเรารู้เท่ารู้ทัน ปล่อยวางได้ทุกลมหายใจเข้าออก จิตใจก็เย็นสบายเป็นสุขไม่ทุกข์ร้อนประการใด

อุบายธรรมต่าง ๆ ที่กำหนดจดจำไปประพฤติปฏิบัติ ได้หรือไม่ได้ขึ้นอยู่กับบุญบารมีเก่าเราทำมามากหรือไม่ บุญบารมีใหม่ ใจปัจจุบันของเราตั้งมั่นหรือไม่ ใจปัจจุบันเป็นหลักสำคัญที่เราทุกคน ทุกดวงใจจะประมาทไม่ได้ พระพุทธเจ้า พระองค์เตือนว่า ผู้ไม่ประมาทย่อมเป็นไปเพื่อความเจริญ ผู้ประมาทมัวเมาเป็นไปเพื่อความเสื่อม

วันคืนเดือนปี หมดไป สิ้นไป แต่อย่าเข้าใจว่าวันคืนนั้นหมดไป วันคืนไม่หมด ชีวิตของแต่ละบุคคลหมดไปสิ้นไปมันหมดไปทุกลมหายใจเข้าออก ฉะนั้นให้ภาวนาดูว่าวันคืนล่วงไป เราทำอะไรอยู่ ทำบุญหรือทำบาป เราละกิเลสได้หรือยัง เราภาวนาใจสงบหรือยัง

เรามัวเพลิดเพลินอะไรอยู่ไปมัวเสียอกเสียใจอย่างไรอยู่ ทำไมไม่ภาวนา ทำไมไม่ละกิเลส ภาวนาให้มันหมดสิ้นไป เวลาความแก่มาถึงเข้า หรือเวลาความเจ็บไข้มาถึงเข้า จิตก็ว้าวุ่น ยิ่งความตายจะมาถึง เราละกิเลสไว้ก่อนหรือยัง ก็ตอบได้ด้วยตนเองว่ายังไม่หมด เมื่อยังไม่หมดเรามัวไปทำอะไรอยู่ ชีวิตของคนเราหมดไป เหมือนจุดเทียนขึ้นมาแล้ว ไฟมันก็ไหม้ไส้เทียนจนหมด เราทำอะไรอยู่ ไม่พินิจพิจารณา ต้องเตือนใจของตนเองว่าเราภาวนาแล้วหรือยังอย่าประมาทคือภาวนาทุกลมหายใจเข้าออก

เราทุกคนก็ต้องโอปนยิกธรรม น้อมเข้ามา รวมเข้ามา สอนตัวเองเข้ามาให้ได้อยู่ทุกวันเวลาแล้ว มรรคผล นิพพาน ก็ไม่ต้องไปหาที่อื่น มันอยู่ที่ความเพียร ความหมั่น ความขยัน ในการภาวนาไม่ให้ขาด นั่งก็ภาวนา นอนก็ภาวนา หลับแล้วก็แล้วไป ตื่นขึ้นก็ภาวนาต่อให้เป็นวงจรอยู่ตลอดเวลา จิตใจย่อมมีกำลัง มีความสามารถอาจหาญไม่ท้อแท้อ่อนแอในหัวใจ

หมายเหตุ- โอปนยิกธรรม หมายถึง พระธรรมที่ควรน้อมนำเข้ามาไว้ในใจ

หลวงปู่สิม







#อาการของอวิชชา (#พระมหากัจจายนะโปรดให้โอวาท) :#หลวงพ่อฤๅษี #วัดท่าซุง

.. ท่านมหากัจจายนะ โปรดให้โอวาทว่า จงกำจัดอุปาทานนั้นเสีย

อุปาทาน นั้นได้แก่
ฉันทะ คือความพอใจ หนึ่ง
ราคะ ได้แก่ ความกำหนัดยินดี หนึ่ง

ฉันทะ คือความพอใจในการเกิดเป็นมนุษย์ การเกิดเป็นเทวดา การเกิดเป็นพรหม

ราคะ คือความเห็นว่ามนุษย์โลกสวยน่าอยู่ เทวโลกสวยน่าอยู่สบาย พรหมโลกสวยน่าอยู่สบาย

จงอย่ามีในใจของเธอ ตัดอารมณ์อย่างนี้เสียให้ขาดไป
เรามีความพอใจอย่างเดียว คือพระนิพพาน

ท่านกล่าวว่า ถ้าฉันทะเกิดขึ้น ให้พิจารณาว่า อนิจจังมันไม่เที่ยงหนอ ทุกขังมันไม่เที่ยงหนอ อนัตตา เมื่อฉันทะความพอใจเกิดขึ้น ก็บอกว่า

อนิจจัง มันไม่เที่ยง อย่าไปเกาะมันเลย โลกมนุษย์ พรหมโลก เทวโลก มันไม่อยู่กันจริงจัง เป็นมนุษย์เดี๋ยวก็ตาย เป็นเทวดาหรือพรหมเดี๋ยวก็จุติ

ทุกขัง มนุษย์ทุกข์มาก เทวโลกกับพรหมโลกก็ยังไม่หมดทุกข์เพราะยังไม่เสร็จกิจ มีกิจที่จะต้องทำต่อไป

อนัตตา อาการทั้งหลายทั้งสามภพนี้มันสลายตัวเสมอ มันไม่มีการทรงตัว

นี่ฟังแล้วก็จำ จำแล้วก็คิด ปฏิบัติได้ก็ปฏิบัติ ปฏิบัติไม่ได้ก็เอาตามใจของท่าน ถนัดแบบไหนทำแบบนั้น นี่เอาเรื่องของท่านผู้เฒ่ามาเล่าให้ฟัง

ท่านบอกว่าถ้าราคะเกิดขึ้น ให้พิจารณาอย่างนี้ ให้พิจารณาเป็นปฏิกูลสัญญา คือเป็นอสุภเสียให้หมด

ก็รวมความว่า ถ้าราคะความรักสวยรักงามในภพใดๆ คนใดๆ เทวดาหรือพรหมใดๆ เกิดขึ้นก็ตาม ให้เห็นว่าท่านผู้นั้นก็คือผีเน่านั่นเอง

จงจำไว้ ว่าถ้าปรารถนานิพพาน จงพยายามตัดฉันทะและราคะ
ฉันทะกับราคะ ท่านเรียกกันว่า เป็นอุปาทาน

นี่มันเป็นอะไร ความจริงผมเคยบอกไว้เสมอๆ นะ เคยเจอในขันธวรรค ท่านเคยพูดถึง อารมณ์ของอวิชชา

อวิชชา นี่เราแปลกันว่าไม่รู้กันตะบัน ครูบาอาจารย์ท่านสอนอย่างนั้น

แต่ว่าสมเด็จพระพุฒาจารย์โตท่านบอกว่า คำว่าอวิชชานี่แปลว่ารู้ไม่ครบ คนและสัตว์ที่เกิดมาไม่รู้ไม่มี

ในขันธวรรคท่านบอกว่า การตัดอวิชชาก็คือการตัดฉันทะกับราคะนั่นเอง

คำว่า อวิชชา แยกศัพท์ออกมาได้เป็นจริยา คือเป็นอาการของอวิชชา คือ ฉันทะความพอใจ ราคะความกำหนัดยินดี

ถ้าอารมณ์ทั้งสองประการนี้ยังมีในจิต ก็เชื่อว่าบุคคลนั้นยังมีอวิชชาอยู่ในใจ ไปนิพพานยังไม่ได้

ฉันทะ พอใจอะไร พอใจความร่ำรวย พอใจความสดสวยงดงาม

พอใจในความโกรธ พอใจในความพยาบาท พอใจในชาติในภพ ชาติภพคือ ชาติมนุษย์ ชาติเทวดา ชาติพรหม

ราคะ มีความกำหนัดยินดี นี่ชื่นอกชื่นใจเหลือเกิน มีความร่ำรวย มีของสวย โกรธใครเขาได้ ติดชาติติดภพ เกิดเป็นคนได้ เกิดเป็นเทวดาได้ เกิดเป็นพรหมได้ ดีอกดีใจ ชื่นใจ รักมาก

นี่อาการอย่างนี้ เป็นอาการของอวิชชาความโง่ คืออุปาทาน ที่ดึงตัวให้ติดอยู่ เรียกว่าอุปาทาน ถ้าตัดเหตุทั้งสองประการนี้ได้แล้วก็ไม่ต้องไปตัดอะไร

ถ้ามุ่งใจตัดฉันทะกับราคะสองตัวพอแล้ว อารมณ์ของท่านก็ไปถึงนิพพาน เพราะทำลายอวิชชา อย่างอื่นมันก็ไม่เหลือ กิเลสทั้งหมดที่มันจะเกิดได้ก็เพราะอาศัย อวิชชา เป็นนาย ..

หลวงพ่อฤาษีลิงดำ
ที่มา : ปฏิปทาท่านผู้เฒ่า (บันทึกแนวทางการปฏิบัติพระกรรมฐาน โดยหลวงพ่อฤๅษี วัดท่าซุง)
ฟัง 19_ปฏิปทาท่านผู้เฒ่า_10A








#หลวงพ่อฤาษี #วัดท่าซุง
#การตั้งอารมณ์ก่อนตาย

ผู้ถาม : “หลวงพ่อคะ ถ้าจิตเราจับพระนิพพานเป็นอารมณ์ เป็นอารมณ์นี่นะคะ แล้วเวลาจะตายเราจะมีสติไหมคะ?”

หลวงพ่อ : “อ้าว…ถ้าเราจับเป็นอารมณ์ เวลานั้นมีสตินี่ เพราะเวลานั้นอารมณ์มันสูงจัด การจับพระนิพพานนี่ท่านเรียก อุปสมานุสสติกรรมฐาน ถ้าจับเป็นอารมณ์ ถ้าเวลาเริ่มป่วยเอาจิตจับไว้เลยนะ ทีนี้ในช่วงกลางระหว่างป่วย มันจะดิ้นตูมตามอย่างไรก็ตาม จิตมันจะไม่ปล่อย

มีพระอยู่องค์หนึ่งท่านอายุมากแล้ว ท่านใช้อารมณ์แบบนี้นะ แล้วต่อมาท่านเป็นโรคกระเพาะ ท่านดิ้นถึงกับทะลึ่งพรวดๆ ก็เข้าไปหาท่าน พอจับตัวท่านปั๊บท่านก็หยุด พอเผลอหน่อยเดียวเอาอีกแล้ว แล้วก็สักครู่หนึ่ง ท่านก็หยุดดิ้น ไม่ใช่ดิ้นนะ ถึงกับโดดเลยนะ แน่น ตอนนั้นพอโดดแล้วก็เงียบ เงียบ รู้สึกสบาย พอสบายสัก ๒๐ นาทีไม่มีอะไรเลย อาการปกติ ท่านก็ลืมตาถามว่า “เพลหรือยัง” แล้วฉันก็มองดูนาฬิกาบอกว่า “ยังเหลืออีก ๒ นาที” ก็หลับตาไปอีกทีก็ ๕ โมงพอดี

นี่ก็หมายความว่า จิตมันมีสภาพจำ เพราะฉะนั้นพระพุทธเจ้าจึงสอนให้จิตจับอยู่จุดใดจุดหนึ่ง จับจุดนั้นแต่อย่างเดียว มันจะไปเฉพาะที่นั่น

ทีนี้เวลาที่ท่านตายไปแล้วก็ตามท่าน ก็ตามดูว่าไปอยู่จุดไหน อันนี้เป็นพยานได้ พระ ๒ องค์ ฆราวาสอีกคนหนึ่ง

ฆราวาสก็มีสภาพแบบเดียวกัน ตอนต้นมาฝึกกรรมฐานบอกว่า “อย่าสนใจในรูป ให้สนใจนิพพานอย่างเดียว สวรรค์ก็ดี พรหมก็ดี ไม่มีความหมาย”

ถ้าเราตั้งใจรักพระนิพพานเป็นอารมณ์ ถ้าบังเอิญตายแล้วไม่ถึงนิพพานมันจะต่อทันที เพราะอารมณ์เดิม จิตมันไปใช่ไหม…จิตมันรัก ทีนี้แกก็มีสภาพแบบนั้น อีกประมาณสัก ๒๐ นาทีแกจึงสงบ พอสงบประเดี๋ยวยิ้ม ยิ้มสักครู่หนึ่งก็ตาย พอตายก็ตามไปดูที่นั่นละ ใช่ไหม…”

ผู้ถาม : “ป่วยแบบนั้นไม่รู้สึกตัวนะคะ จิตเขาอยู่ที่ไหนคะ.?”

หลวงพ่อ : “ก็อยู่ที่จิต”

ผู้ถาม : “ยังอยู่กับร่างกายใช่ไหมคะ…?”

หลวงพ่อ : “ถ้าหากว่ามันยังไม่ตายมันยังอยู่”

ผู้ถาม : “มันได้รับความรู้สึกไหมคะ…?”

หลวงพ่อ : “ไอ้นั่นเป็นเรื่องของประสาท ความรู้สึกประสาทมันใช้งานไม่ได้ แต่จิตมันใช้งานได้อยู่ ประสาทมันอยู่เหนืออำนาจจิต บังคับประสาทไม่ได้ ก็อย่างที่ดิ้นตูมๆ มันเรื่องของประสาทดิ้น จิตมันไม่ยอมดิ้นด้วย ทีนี้ประเภทที่ป่วยที่ไม่รู้สึกตัว อย่างภาษาหมอเขาเรียก โคม่า หรือคนโบราณเขาเรียก ตรีทูต อันนี้จิตมันยังทำงานอยู่”

ผู้ถาม : “เวลาพูดกับเขา เขาไม่ได้ยิน”

หลวงพ่อ : “ไม่ได้ยินเพราะประสาทไม่ทำงาน มันไม่รับเสียง คือประสาทมันใช้งานไม่ได้ แต่จิตมันยังทรงตัว”

ผู้ถาม : “แต่จิตก็ยังยึดอารมณ์อยู่”

หลวงพ่อ : “ยังอยู่ จิตนี่ไม่ปล่อย พอเริ่มต้นป่วยใหม่ๆ ถ้าจิตยึดอะไรอย่างมั่นคง มันจะยึดตลอด ฉันเคยเห็นมาหลายรายการแล้วนะ”

ผู้ถาม : “ที่หลวงพ่อบอก เอกัคคตารมณ์ หมายความว่าอย่างไรคะ…?”

หลวงพ่อ: “ที่ท่านเรียกว่า เอกัคคตารมณ์ คืออารมณ์อันเดียว คือทำอารมณ์ที่เป็นกุศลให้มันเป็นอย่างเดียวโดยเฉพาะ ที่เขาเรียกว่า เอกัคคตารมณ์ และจิตมันมีสภาพจำ เราจะสังเกตได้จุดหนึ่ง ถ้าว่าเราเคยเจริญสมาธิจิต แต่ว่าไม่เคยฝึกกรรมฐานโดยตรง ถ้าจิตมันมีอารมณ์โปร่งสบาย บางทีภาพเดิมมันขึ้นมา นี่ล่ะจิตมันมีสภาพจำ

ฉะนั้น ถ้าหากว่าเราให้มันจำในของกุศล มันก็จำตลอด บางขณะเราอาจจะพูดไม่ดีกับเพื่อนบ้าง ไม่พอใจเพื่อนบ้าง ท่านบอกว่าก็ช่างมัน คือถืออารมณ์เดิม เช้าน่ะตั้งอารมณ์ให้ดี เพราะช่วงนั้นจิตมันสะอาด ตื่นมาตอนเช้า

๑.ได้พักผ่อนดีแล้ว

๒.อารมณ์สบาย

ก็ให้ตั้งอารมณ์ไว้เฉพาะกิจ มันจะจำตลอดวัน ถ้าตูมตามขึ้นมามันก็ไปจุดนั้นเลย

ฉะนั้น พระพุทธเจ้าจึงสอนให้เราใช้ อนุสสติ ซึ่งมี ๑๐ แต่ ๑๐ นี้ความหมายก็ดีทั้งหมด แต่ที่ดีจริงๆ ก็คือ อุปสมานุสสติ คือ นึกถึงพระนิพพานเป็นอารมณ์ แต่เราอย่าลืมนะว่า คนที่จะนึกถึงพระนิพพานเป็นอารมณ์จริงๆ คนประเภทนี้จะต้องมีนิสัยเป็น พุทธจริต

พุทธจริตนี่เขาเป็นคนฉลาด ถ้าคนไม่ฉลาดก็ไม่เอา สอนเท่าไรก็ไม่เอา แม้แต่อยู่กับพระพุทธเจ้าก็ยังไม่เอาเลย นิพพานัง หรือ นิพพานะ สุขัง ก็ว่ามันไป

ตอนเช้ามืด ไม่ต้องภาวนาก็ได้ ตั้งจิตไปเลย นึกถึงพระพุทธเจ้า นึกถึงพระธรรม นึกถึงพระอริยสงฆ์ พรหมและเทวดาทั้งหมด ตลอดจนท่านผู้มีคุณ ขอจงเป็นพยานแก่ข้าพเจ้า ข้าพระพุทธเจ้าทำทุกสิ่งทุกอย่างที่ทำมาแล้วทั้งหมด หรือจะทำในกาลข้างหน้าก็ตาม ไม่ต้องการอย่างอื่น ต้องการอย่างเดียวคือพระนิพพาน จิตจับพระนิพพานเป็นอารมณ์ เพียงเท่านี้แหละ

ตอนที่ภาวนา เราจะภาวนาว่าอะไรก็ได้ ที่เราคล่องตัว ใช่ไหม…ง่ายไหมล่ะ…ไอ้ที่ว่าง่ายน่ะ ฉันไม่ได้สร้างขึ้นมาเองนะ ในพระสูตรจากพระไตรปิฎกมีเยอะ”

คัดลอกจากหนังสือ หลวงพ่อตอบปัญหาธรรม ฉบับพิเศษ เล่ม ๔ หน้า ๑๐๑-๑๐๔ พระเดชพระคุณหลวงพ่อพระราชพรหมยาน (หลวงพ่อฤๅษี วัดท่าซุง) อ่าน อาการของคนที่ใกล้จะตาย : หลวงพ่อฤๅษี ตอบปัญหาธรรม








#หลวงตามหาบัว
#การรักษาใจนี้เป็นเรื่องสำคัญ

ปล่อยตามความอยากอันไม่มีขอบเขต แม้จะเพียงวันละเล็กละน้อยก็ตาม ก็เช่นเดียวกับน้ำที่ได้รับความปล่อยตัวอยู่เสมอไม่มีใครปิดกั้นเอาไว้ ก็สามารถที่จะทำช่องที่ไหลออกนั้นให้ใหญ่โตขึ้นเป็นลำดับๆ แล้วทำลายคูคันทั้งหลายให้ฉิบหายป่นปี้หมดไปทั้งน้ำ จิตใจของเราก็มีลักษณะเช่นนั้นเหมือนกัน โปรดได้นำไปพินิจพิจารณา

ความอยากอันใดที่เกิดขึ้นโปรดพิจารณาด้วยดี อย่าปล่อยให้เป็นไปตามความอยาก แม้จะเพียงเล็กน้อย วันนี้ปล่อยให้ความอยากดำเนินตามความชอบใจของตนเพียงเท่านี้ วันหน้าความอยากนี้จะเพิ่มปริมาณขึ้นอีกเป็นจำนวนเท่าตัวหรือมากยิ่งกว่านั้น เราก็ปล่อยให้เป็นไปตามความอยาก ความเป็นไปของใจที่ไม่มีขอบเขตนั้น ต่อไปๆ ก็ทำเราให้เสียเรานั้น

เทียบกับทำนบ ซึ่งสามารถที่จะกั้นน้ำไว้ได้มากมายในเมื่อรักษาไว้ด้วยดี แต่นี่กลายเป็นความคิด ความอยากนั้นมาทำลายตนเสีย สมบัติที่มีคุณค่าอันใหญ่ซึ่งจะเกิดขึ้นจากใจนี้จึงไม่มี การรักษาใจจึงเป็นเรื่องสำคัญ ขอให้มีขอบเขต ให้มีรั้วกั้น อย่าปล่อยให้เป็นไปตามความอยากความทะเยอทะยาน นี่เป็นหลักสำคัญ

วันนี้เราพยายามรักษาตัวเราได้ขนาดนี้ วันหน้าก็พยายามรักษาอีก ความที่เคยรักษาตัวอยู่เสมอด้วยเหตุผลนี้แล จะเป็นธรรมที่เจริญรุ่งเรืองและมั่นคงภายในจิตใจ และสามารถรักษาตนได้ในอนาคตไม่มีทางเสียหาย

หลวงตามหาบัว


แสดงโพสต์จาก:  เรียงตาม  
กลับไปยังกระทู้  [ 1 โพสต์ ] 

เขตเวลา GMT + 7 ชั่วโมง


 ผู้ใช้งานขณะนี้

กำลังดูบอร์ดนี้: ไม่มีสมาชิก และ บุคคลทั่วไป 30 ท่าน


ท่าน ไม่สามารถ โพสต์กระทู้ในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ ตอบกระทู้ในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ แก้ไขโพสต์ของท่านในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ ลบโพสต์ของท่านในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ แนบไฟล์ในบอร์ดนี้ได้

ค้นหาสำหรับ:
ไปที่:  
Google
ทั่วไป เว็บธรรมจักร