วันเวลาปัจจุบัน 23 เม.ย. 2024, 17:55  



เขตเวลา GMT + 7 ชั่วโมง




กลับไปยังกระทู้  [ 1 โพสต์ ]    Bookmark and Share
เจ้าของ ข้อความ
โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 08 ธ.ค. 2021, 08:55 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
อาสาสมัคร
อาสาสมัคร
ลงทะเบียนเมื่อ: 06 มี.ค. 2009, 10:48
โพสต์: 5091


 ข้อมูลส่วนตัว


#สติคือชีวิต

#สติ คือ #ชีวิต
หลวงพ่อชาเคยสอนว่า ...
ผู้ที่ไม่มีสติ...เป็นบ้า
ขาดสติ 5 นาทีเท่ากับเป็นบ้า 5 นาที
ท่านว่าอย่างนั้นขาดสติชั่วโมงก็บ้าชั่วโมง

ฉะนั้น ขอให้พวกเรามีสติ ชีวิตจะมีความมั่นคง
เราจะเป็นที่พึ่งของตัวเองได้ เชื่อตัวเองได้
เราจะไม่ต้องไปปลุกเสก ไม่ต้องสะเดาเคราะห์
ไม่ต้องขออะไรจากใคร...

พระอาจารย์ชยสาโรภิกขุ





"..จิตที่ได้อบรมอยู่เสมอ
ย่อมจะสูงขึ้นแก่ขึ้น
ทุกทีๆเป็นลำดับ

เหมือนผลไม้ที่แก่จัด
เมื่อสุกงอมแล้ว
ก็ย่อมจะหล่นจากขั้ว
ของมันในที่สุด

จิตของบุคคลที่ปฏิบัติ
ได้สูง เมื่อแก่จัดก็ย่อมจะ
หลุดจากขั้วเช่นเดียวกัน
แต่ไม่ใช่หลุดอย่าง
ผลมะม่วง หรือผลไม้
ทั้งหลายที่หล่นมา
ยังพื้นดิน มันจะหลุด
อย่างเครื่องบินที่หลุด
จากพื้นดินพุ่งตัวขึ้น
สู่อากาศ

จิตที่หลุดจากกิเลส
ก็ย่อมจะลอยขึ้น
สู่ที่สูงฉะนั้น.."

โอวาทธรรม
ท่านพ่อลี ธมฺมธโร






ถ้าคุณยังหยาบอยู่ ก็เอาแค่ศีล5 ถ้าคุณจะเอาดีเป็นพระอริยะ ต้องรักษากรรมบถ10 ก็แค่นั้น

หลวงพ่อจิตโต บ้านสบายใจ






ของเรา..มีที่ไหน
ไม่ใช่ของเรา..ก็มีที่นั่น

หลวงปู่ชา สุภัทโท






พระอาจารย์สุธรรม สุธัมโม
วันที่ ๑๘ กันยายน พ.ศ. ๒๕๖๔

ถาม :
การมองตามหลักความเป็นจริงในการพิจารณาสักกายทิฐิในกาย ควรเริ่มต้นพิจารณาแบบไหนเพื่อไม่ให้หลงทาง?

ตอบ :
สักกายทิฐิเกิดขึ้นจากการยึดมั่นในอัตตาตัวตนคือตัวเรา สัตว์โลกเกิดมายึดมั่นในอัตตาตัวตนและเกิดเป็นความหวงแหน ตั้งความปรารถนา ต้องการให้เป็นอย่างนั้น ไม่ต้องการให้เป็นอย่างนี้ แต่สภาพความเป็นจริงมันไม่เป็นไปดังที่เราคาดหมายเลย สภาพความเป็นจริงมันจริงอย่างไรมันก็จริงอย่างนั้น พอมันไม่เป็นไปดังที่เราคาดหมาย เราก็เป็นทุกข์ เพราะฉะนั้น การที่เราจะละสักกายทิฐิได้ก็ด้วยการพิจารณาให้เห็นตามสภาพความเป็นจริงของมัน ในเบื้องต้นการพิจารณาร่างกายเพื่อละสักกายทิฐินั้นจะต้องพิจารณาอสุภะกรรมฐาน คือพิจารณาเห็นเป็นความเป็นปฏิกูลโสโครก น่าสะอิดสะเอียน น่าขยะแขยงของร่างกาย นี่เป็นพื้นฐานของการเดินสู่การละสักกายทิฐิได้อย่างแท้จริง

พวกเรามายึดมั่นถือมั่นในอัตตา เราต้องการให้มีความสวยงาม ให้เป็นสิ่งที่น่ารักน่ายินดีพอใจ พอมันแสดงสภาพความเป็นจริงว่ามันไม่สวยงาม เราก็เกิดความโกรธ เกลียด เป็นทุกข์ต่าง ๆ เพราะเรามีความหลงว่ามันเป็นความสวยงาม พอมันแสดงความเป็นจริงซึ่งตรงกันข้ามกัน เราก็เป็นทุกข์

ฉะนั้น เราก็ต้องมาพิจารณาให้เห็นตามสภาพความเป็นจริงของมันว่ามันเป็นอสุภะ น่าสะอิดสะเอียน ทั้ง ๆ ที่เราพากับตบแต่งชำระ นับตั้งแต่เกิดมา เราก็มีการชำระตบแต่งมาตลอด พอเราเห็นว่าสิ่งใดที่สวยงามเราก็หาเครื่องย้อมเครื่องทามาประดับตบแต่งบนกองอสุภะนี้ แต่ถึงแม้นเราจะมาย้อมทาบนกองอสุภะนี้อย่างไร ก็ไม่สามารถปิดบังความเป็นอสุภะของมันได้ มันคอยเล็ดลอดด้วยความน่าสะอิดสะเอียนท่ามกลางการตบแต่งและการชำระ ไม่ว่าเป็นรูปร่างหรือเป็นกลิ่น ถ้าเราลองปล่อยร่างกายนี้ให้เป็นไปตามสภาพความเป็นจริง ไม่มีการชำระสะสางเลย ไม่มีการตบแต่งเลย ตั้งแต่เราเกิดมาจนถึงกระทั่งทุกวันนี้ เราจะมานั่งใกล้กันแบบนี้ได้ไหม จมูกมันจะหักเอา แม้นกระทั่งเราอยู่กับตัวเราเองเรายังอยู่ไม่ได้เลย อย่าว่ากองอสุภะกายอื่นเลย นี่คือสภาพความเป็นจริงของร่างกาย

เราพิจารณาเข้าไปเรื่อย ๆ ตั้งแต่มีลมหายใจเข้าออกอยู่มันก็แสดงออกถึงความเป็นอสุภะ มาจนถึงหมดลมหายใจหล่อเลี้ยงแล้วมันก็ยิ่งแสดงความเป็นอสุภะมากขึ้น ตาที่เราเสกสรรปั้นแต่งว่ามันมีความหวานเยิ้ม มีความผ่องใส น่ารักน่ายินดี พอมันหมดลมหายใจหล่อเลี้ยงแล้วสัก ๓ วัน ๗ วัน มันเริ่มขุ่นมัว เริ่มเหลือกถลนออกมานอกหนังตา ขนาดใหญ่เท่าไข่ หนังตายังไม่สามารถปิดบังดวงตาที่เคยหวานเยิ้มได้ เรามาพิจารณาดูซากศพที่มีตาเหลือกถลนออกมาขนาดใหญ่เท่าไข่ว่ามันมีลักษณะอย่างไร เราก็กำหนดดู ดูด้วยปัญญาของเรา ดูด้วยความรู้สึกของเรา ดูด้วยตาในของเรา

จากนั้นเรามาพิจารณาดูลิ้นที่มีความอ่อนนุ่ม มีริมฝีปากห่อหุ้มอยู่ พอหมดลมหายใจแล้ว มันขึ้นอืดพองล้นทะลักออกมาจากริมฝีปากที่ห่อหุ้มไว้ ดูลิ้นที่มันขึ้นอืดทะลักออกมานอกปากนั้นว่ามันมีสภาพอย่างไร จากนั้นผิวหนังที่ห่อหุ้มร่างกายซึ่งเราเคยมองว่ามีน้ำมีนวล มีความผ่องใส น่ารักน่ายินดี เมื่อไร้ลมหายใจ สีสันเริ่มแปรเปลี่ยนเป็นดำ ๆ เขียว ๆ แดง ๆ มันเริ่มขึ้นอืด ปริแตก พอปริแตกแล้ว สิ่งที่มันห่อหุ้มไว้ไม่ว่าจะเป็นตับ ไต ไส้ พุง ต่างก็ล้นทะลักออกมาเอิบอาบไปด้วยน้ำเลือดน้ำเหลืองเต็มอยู่ทั่วร่างกาย เป็นที่ยินดีพอใจของหนอนและแมลงวัน มีหนอนมีแมลงตอมอยู่ทั่วร่างกายเปรียบเสมือนตาข่ายห่อหุ้มร่างกายเอาไว้

เราพิจารณาเข้าไป ยิ่งน่ารังเกียจน่าขยะแขยงเท่าไรยิ่งพิจารณาเข้าไป จนกระทั่งจิตมันกลืนอยู่กับอสุภะ จิตยอมรับสภาพความเป็นจริงว่าร่างกายเป็นอสุภะ สุภะที่เราว่าสวยงามนั้นหายไปหมดเลย จิตมันยึดติดกับอสุภะ อยู่กับความขยะแขยง ความรังเกียจ เมื่อเป็นเช่นนี้จิตมันจนตรอกอยู่กับอสุภะ จิตไม่มีช่องออก มันย้อนเข้ามาที่จิตเอง ย้อนมาดูตัวที่ให้ความหมายว่าเป็นสุภะหรืออสุภะ จิตเข้าใจชัดเจนว่าร่างกายเขาเป็นเช่นนั้นเอง เขาไม่มีความหมายว่าเขาเป็นสุภะหรืออสุภะ เขาเป็นอย่างไรเขาก็เป็นอย่างนั้นอยู่ตลอดอนันตกาล จิตเป็นผู้มาอาศัยชั่วคราวอย่างเก่งก็ไม่เกินร้อยปี พอจิตเสกสรรปั้นแต่งว่ามันเป็นสุภะ เป็นที่น่ารักน่ายินดีพอใจ ก็ไปหลงรัก หลงยินดี หลงพอใจมัน พอจิตให้ความหมายว่ามันเป็นอสุภะ เป็นของน่ารังเกียจ น่าขยะแขยง จิตก็ไปขยะแขยงไปรังเกียจเขา ทั้ง ๆ ที่ร่างกายเขาไม่ได้รู้เรื่องรู้ราวว่าเขาเป็นสุภะหรืออสุภะ เขาเป็นอย่างไรเขาก็เป็นอย่างนั้น จิตเป็นเพียงผู้มาอาศัยเขาอยู่ชั่วระยะหนึ่ง ด้วยอำนาจของโมหะความลุ่มหลง จิตเสกสรรปั้นแต่งว่าร่างกายเป็นสุภะ จิตก็ไปหลงยึดในสุภะ พอจิตเสกสรรปั้นแต่งว่าเป็นอสุภะ จิตก็ไปหลงยึดในอสุภะ แต่จริง ๆ แล้วสภาพความเป็นจริงของร่างกายคือเขาเป็นเช่นนั้นเอง พอจิตมาเห็นด้วยปัญญาว่ากายเป็นเช่นนั้นเอง จิตก็วางสุภะ วางอสุภะ เหลือแต่ความจริงล้วน ๆ

ในขณะที่จิตมาอาศัยกายอยู่ชั่วระยะหนึ่ง เราจะมาเกี่ยวข้องกับความเป็นเช่นนั้นเองของกายได้อย่างไร ในขณะเดียวกัน เราจะเอาประโยชน์อะไรจากร่างกายอันนี้ก่อนที่เราจะคืนร่างกายสู่เจ้าของเดิมซึ่งก็คือ ดิน น้ำ ลม ไฟ เมื่อเรามาพิจารณาเห็นถึงความจริงแท้ของกายว่าเขาเป็นเช่นนั้นเอง จิตวางอัตตาลงได้ เหลือแต่ความจริงล้วน ๆ บุคคลประเภทนั้นจะไม่มีความท้อแท้ ขี้เกียจขี้คร้านในการสร้างคุณสร้างประโยชน์เลย เพราะเขาเห็นถึงคุณค่าจากการนำร่างกายนี้มาเป็นเครื่องมือในการสร้างคุณประโยชน์ขึ้นมา เพราะฉะนั้น เราจึงเห็นครูบาอาจารย์ผู้ทรงอรรถทรงธรรม ผู้ที่ปฏิบัติธรรมไปจนสามารถละอัตตาตัวตนได้ ท่านจะไม่คำนึงถึงความเหน็ดเหนือยเมื่อยหิว ไม่คำนึงถึงความยากลำบากที่เกิดขึ้นมาจากการสร้างคุณงามความดี คุณประโยชน์และกุศลแก่สังคม ท่านมีแต่ทุ่มเทก่อนที่ท่านจะคืนร่างกายไปสู่สภาพธรรมชาติ

การที่จะสักกายทิฐิได้ หลักสำคัญคือต้องมาพิจารณากายตัวนี้ให้หนักไปในอสุภะ ก็จะสามารถนำพาเราไปสู่อิสระจากการแบบหามอัตตาตัวตนได้

พระอาจารย์สุธรรม สุธัมโม


แสดงโพสต์จาก:  เรียงตาม  
กลับไปยังกระทู้  [ 1 โพสต์ ] 

เขตเวลา GMT + 7 ชั่วโมง


 ผู้ใช้งานขณะนี้

กำลังดูบอร์ดนี้: ไม่มีสมาชิก และ บุคคลทั่วไป 58 ท่าน


ท่าน ไม่สามารถ โพสต์กระทู้ในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ ตอบกระทู้ในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ แก้ไขโพสต์ของท่านในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ ลบโพสต์ของท่านในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ แนบไฟล์ในบอร์ดนี้ได้

ค้นหาสำหรับ:
ไปที่:  
Google
ทั่วไป เว็บธรรมจักร