วันเวลาปัจจุบัน 28 มี.ค. 2024, 19:21  



เขตเวลา GMT + 7 ชั่วโมง




กลับไปยังกระทู้  [ 1 โพสต์ ]    Bookmark and Share
เจ้าของ ข้อความ
โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 12 ต.ค. 2021, 05:32 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
อาสาสมัคร
อาสาสมัคร
ลงทะเบียนเมื่อ: 06 มี.ค. 2009, 10:48
โพสต์: 5091


 ข้อมูลส่วนตัว


เงินสงฆ์

ผู้ถาม : “แล้วเงินที่เขาถวายในขณะเป็นพระ เมื่อสึกมาเป็นฆราวาสแล้ว จะนำมาใช้ได้ไหมคะ ?”

หลวงพ่อ : “เรื่องเงินที่เขาถวายในฐานะเป็นพระ หรือศัพท์ที่เขาเรียกกันทั่วๆ ไปว่า เงินสาธุ ก่อนที่จะให้เขาสาธุก่อนนะ ถ้าสึกมาแล้วจะนำมาใช้ไม่ได้ ต้องมอบให้แก่สงฆ์ แล้วเงินพระนี่ถึงแม้ว่าถวายเจาะจงเป็นส่วนตัว ก็ใช้นอกรีตนอกรอยไม่ได้ ลงอเวจีเลย คำว่า ส่วนตัว ต้องอยู่ในขอบเขตของความเป็นพระ หมายถึง หิวข้าวไม่มีข้าวจะกินเอาไปซื้อได้ ไม่มีผ้าจะนุ่งไปซื้อได้ ป่วยไม่มียารักษาโรคไม่มีค่าหมอไปซื้อได้ กุฏิมันจะพังก็ซ่อมแซมได้ ถ้าไปซื้อนาให้เขาเช่า ซื้อข้าวขาย มันไม่ใช่เรื่องของพระแล้ว ถ้าซื้อนาต้องเป็นนาของวัด ซื้อข้าวเข้ามาเพื่อประโยชน์แก่วัด ประโยชน์ต่อสงฆ์

ตอนที่บวชกับหลวงพ่อปาน วันแรกท่านสอน ท่านบอกว่า “เงินที่เขาถวายเข้ามาใน ๑ ปี ถ้ามีเหลืออย่าให้เกิน ๑,๐๐๐ บาท ถ้าเกินต้องทำอะไรให้หมดไป เงินปีนี้อย่าให้เหลือถึงปีหน้า” ก็ถามท่านว่า “ถ้าเขาถวายวันสิ้นปีล่ะ” ท่านบอกว่า “ก็ตั้งใจไว้ก่อนว่า ปีหน้าจะทำอะไร” มันจะต้องมากกว่าเงินวันนั้น สร้างส้วมหลังเดียวก็มากกว่าแล้ว อันนี้ท่านตัดไว้เลย ดีจริงๆ แล้วทำให้อารมณ์เราสบาย ความรู้สึกว่ามีสตางค์น่ะไม่มี ทุกวันนะ ที่ญาติโยมให้มานะ ก่อนนี้ตั้งเยอะแยะ มันยังไม่พอกับหนี้ที่มีอยู่นะ หนี้เป็นล้าน สบายโก๋แต่พระวินัยนี่มีความสำคัญมาก ที่นักบวชจะต้องระมัดระวังก็มีอยู่ ๑๗ สิกขาบท ดีไม่ดีตั้งแต่วันแรก อาจจะต้องอาบัติที่มีความหนักมากทำให้สังฆกรรมเสียก็ได้ นั่นก็คือปราชิก ๔ ข้อ กับสังฆาทิเสส ๑๓ ข้อ ถ้าเผลอ โดยเฉพาะอย่างยิ่งปาราชิก อาจจะขาดจากความเป็นภิกษุตั้งแต่บวชวันแรกก็ได้ เพราะรู้เท่าไม่ถึงการณ์ อาบัตินี่ไม่เคยให้อภัยนะ รู้อยู่ก็เป็นอาบัติ ตั้งใจอยู่ก็เป็นอาบัติ เผลอไปหรือสงสัยก็เป็นอาบัติ รู้หรือไม่รู้ก็เป็นแล้วก็ส่วนใหญ่มักจะสอนว่าอาบัติบางสิกขาบท บางส่วนถ้าละเมิดแล้วแสดงตก ก็ขอบอกว่ายิ่งแสดงยิ่งตกนรก ถ้าละเมิดพระวินัยจัดว่าเป็นความผิด โดยเฉพาะปาราชิกข้อที่ ๒ ที่ขาดได้ง่าย ก็คือ ถือเอาทรัพย์สินของบุคคลอื่นที่เขาไม่ให้ ตั้งแต่ราคา ๑ บาท เป็นอาบัติปาราชิก ข้อนี้ต้องระวังให้มาก คำว่า วิสาสะ จงอย่ามีในอารมณ์ครูบาอาจารย์สมัยก่อนบางท่านบอกว่าไม่เป็นไร เราชอบพอกัน ถือเป็นวิสาสะได้ อันนี้อย่าถือ เวลาปฏิบัติเป็น อธิศีล ต้องปฏิบัติให้ถูก นั่นก็หมายความว่า ขึ้นชื่อว่าทรัพย์สินต่างๆ ถ้าหากเขาไม่อนุญาตให้เรา จงอย่าหยิบเป็นอันขาด เพราะเวลานี้ของเล็กของน้อย ราคามันก็ถึง ๑ บาท ถ้าหยิบ ขาดจากความเป็นพระทันที คือว่าอาบัตินี้ ไม่ต้องรอโจทก์ฉะนั้นการบวชสมัยก่อนมีคำขอบรรพชา (เดี๋ยวนี้เขาตัดทิ้งไปแล้ว) ว่า นิพพานัสสะ สัจฉิกิริยายะ เอตัง กาสาวัง คเหตวา ซึ่งแปลเป็นใจความว่า ข้าพเจ้าขอรับผ้ากาสาวพัสตร์มา เพื่อทำให้แจ้งซึ่งพระนิพพาน ที่นักบวชทุกคนจะลืมข้อนี้ไม่ได้เด็ดขาด”

จากหนังสือ หลวงพ่อตอบปัญหาธรรม
ฉบับพิเศษ เล่ม ๓ หน้า ๖๑-๖๙
(พระราชพรหมยาน วัดท่าซุง จ.อุทัยธานี)









ตั้งเเต่เด็กหลวงปู่ไม่เคยด่าใคร ว่าให้ใคร แม้จะไม่ชอบ ไม่พอใจ หลวงปู่ก็ไม่เคยว่าให้ใครเลย ไม่รู้ทำไม ไม่ชอบ แม้จะปริปากว่าก็ไม่เคย เป็นขันติบารมี แต่ชอบทำให้ทุกๆ คนมีความสุข ตอนเด็กๆ จึงมีเพื่อนมาก

สมัยก่อนหลวงปู่ตื้อท่านเทศน์สอน อยู่วัดอโศการาม มีคุณหญิงคนหนึ่งชอบมาเล่าว่าตัวเองภาวนาดี ได้เป็นถึงพระโสดาบัน มาเล่าทุกๆ วัน จนหลวงปู่ตื้ออยากลอง จึงลองด่าผู้หญิงคนนี้ดู

"เป็นโซดาหรือเป็นโสดา"

เพียงพูดแค่นี้ ผู้หญิงคนนั้น เดือดปุดๆ เหมือนโซดาเลย นักปฎิบัติถ้าอยากรู้ว่าดีแค่ไหนลองด่าดู ถ้ายังเดือดอยู่ ควบคุมความโกรธตัวเองไม่ได้เเล้วจะผ่านได้ยังไง...

โอวาทธรรมคำสอน
ท่านพ่อไพบูลย์ สุมงฺคโล
วัดเทพนิมิตสุดเขตแดนสยาม
อ.เชียงของ จ.เชียงราย







ศรัทธามีมากเกินไป ขาดปัญญากลายเป็น “งมงาย”
ปัญญามีมากเกินไป ขาดศรัทธากลายเป็น “ทิฏฐิมานะ”
สมาธิมีมากเกินไป ขาดปัญญากลายเป็น “โมหะ”
ปัญญามีมากเกินไป ขาดสมาธิกลายเป็น “ฟุ้งซ่าน”
วิริยะมีมากเกินไป ขาดสมาธิกลายเป็น “เหน็ดเหนื่อย”
สมาธิมีมากเกินไป ขาดวิริยะกลายเป็น “เกียจคร้าน”
สติ มีมากเท่าไหร่ยิ่งดี มีแต่คุณ ไม่มีโทษ

หลวงปู่เทสก์ เทสรังสี







"คนเราเมื่อมีเมตตาให้กับผู้อื่น
ผู้อื่นเขาก็จะให้ความเมตตาตอบสนองต่อเรา
ถ้าเราโกรธเขา เขาก็จะโกรธเราตอบเช่นกัน
ความเมตตานี่แหละ คืออาวุธที่จะปกป้องตัวเราเอง
ให้ไปได้ตลอดรอดฝั่ง เป็นอาวุธที่ใครๆ
จะนำเอาไปใช้ก็ได้ จัดว่าเป็นของดีนักแล"

หลวงพ่อคูณ ปริสุทฺโธ








"เรือที่นายช่างต่อดีแล้ว อย่างแข็งแรง
เมื่อถูกคลื่นกระทบแล้ว ไม่เสียหายฉันท์ใด
จิตของบุคคลใด เมื่อฝึกฝนให้ดีแล้ว
คลื่นของกิเลสกระทบเข้า ย่อมไม่หวั่นไหว
ก็ฉันท์นั้น จิตที่ฝึกดีแล้ว ย่อมนำสุขมาให้"

หลวงปู่เหรียญ วรลาโภ








" อย่าพากันไว้ใจในชีวิต
ของตน ชีวิตเป็นของ
ไม่เที่ยง ไม่แน่นอน

วันนี้เรามีชีวิตอยู่
อาศัยอยู่ วันหลังมาชีวิต
จะเป็นจั๋งใด๋ ดีหรือไม่
ชีวิตของเรานั้นวันหลัง
จะเป็นอย่างไร
ในพรรษานี้

พวกเราทั้งหลายเชื่อหรือ
ชีวิตเราจะตลอดพรรษา
เพราะความตายเป็นของ
ไม่มีกาลเวลา จิตมันจะ
ตายเวลาไหนก็ไม่รู้
เพราะชีวิตเป็นของ
ไม่เที่ยง สุดแท้แต่มันจะ
เป็นไปเมื่อเรามีชีวิตอยู่

อย่าพากันประมาท จง
พากันรีบบำเพ็ญความดี
ให้เกิดให้มีขึ้นในดวงจิต
ความคิดของเรา "

โอวาทธรรม
หลวงปู่จวน กุลเชฏโฐ









#ตั้งใจภาวนา_อย่าให้เสียชาติเกิด

(๑)
ตายเป็นตาย ! ตายเสีย ! เคยตายมากี่กัปป์ กี่กัลป์
เคยตายมากี่ร้อย กี่แสน กี่ล้านครั้ง
กับจะตายเพื่อบูชาธรรมเพื่อยกตัวเอง เป็นไรไป

(๒)
อย่ามัวแต่ลูบคลำอยู่นะ อย่ามัวแต่ลังเลสงสัยอยู่นะ ทำให้มันถูกต้องให้ได้ ฟ้าแลบแป๊บเดียวก็มืดแล้ว ทางอยู่ตรงไหนยังไม่รู้จักเลย ผ่านไปกี่พุทธันดร กี่กัปกี่กัลป์ เรายังมาจมอยู่อย่างนี้

(๓)
เพื่อนที่จะคบหาด้วยคุณงามความดี มี แต่ไม่ทำ มันหยอกมันเล่นส่งเสริมกิเลสขึ้นมา ราคะที่ถูกระงับไป ช่วยกันขุดขึ้นมา โทสะที่พอจะเงียบๆไปบ้าง ขุดกันขึ้นมา แล้วทำลายใครล่ะที่นี้ ทำลายตัวเองทำลายวงคณะ ทำลายซึ่งกันและกัน

เห็นอำนาจของกิเลสในหัวใจเราไหมนี่ เห็นไหม ทำเล่นๆเหรอ กับสาระของตัวเอง มีไหมล่ะสาระในใจเราถ้าทำแบบนี้ ทำเล่นๆจะได้ไหม เราคิดว่าธรรมดาๆ ไม่มีอะไร แต่กิเลสมันเล่นด้วยไหม กิเลสไม่เล่นด้วยเลย เผลอเมื่อไร เอาความทุกข์มาประเคนให้ถึงขนาดนี้

(๔)
ตั้งใจภาวนา อย่าให้เสียชาติเกิดนะ
เกิดเปล่าๆ ตายเปล่าๆ ไม่มีประโยชน์อะไรเลยนะ
เกิดมาทั้งที ได้พบพระพุทธศาสนาชั้นยอด
พบครูบาอาจารย์ชั้นยอด บุญสุดๆแล้ว
จะหาได้ในสามโลกธาตุนี้
วาสนาสุดๆแล้ว ในบรรดาสัตว์โลกเรา
อย่าตายทิ้งเปล่าๆเท่านั้น

พระอาจารย์วันชัย วิจิตฺโต
วัดสังโฆญาณวิสุทธิโสภณ หรือ
วัดภูสังโฆ อ.หนองวัวซอ จ.อุดรธานี.








"คนเกิดมาไม่เหมือนกัน เพราะมีความประพฤติที่ต่างกัน ผู้ที่เขาประพฤติดี รักษาศีล มีการให้ทาน มีการสดับรับฟังพระธรรม เขาจึงมีปัญญาดี มีการศึกษาเล่าเรียนดี

การจำแนกสัตว์ให้ดีให้ชั่วต่าง ๆ กัน มันเป็นเพราะกรรม ถ้ามันยังทำกรรมอยู่ ก็ต้องได้รับผลกรรมทั้งกรรมดีกรรมชั่ว มันต้องได้รับผลตอบแทน

เหตุนี้ เราจึงควรทำกุศล รักษาศีลให้บริสุทธิ์สมบูรณ์ แล้วทำสมาธิจะมีความสงบสงัด จิตรวมลงได้ง่าย เพราะมันเย็น มันราบรื่นดี ไม่มีลุ่มไม่มีดอน

จงพากันทำไปใน อิริยาบถทั้งสี่ นั่ง นอน ยืน เดิน อะไรก็ได้ แล้วแต่ความถนัด แล้วแต่จริต อันใดมันสะดวกสบายใจ หายใจดี ไม่ขัดข้องฝืดเคือง อันนั้นควรเอาเป็นอารมณ์ของใจ

พุทโธ พุทโธ หมายความว่า ให้ใจยึดเอาพุทโธเป็นอารมณ์ เพื่อป้องกันไม่ให้จิตออกไปสู่อารมณ์ภายนอก เพราะอารมณ์ภายนอกมันชอบไปจดจ่ออยู่กับ รูป เสียง กลิ่น รส สัมผัส ความถูกต้องทางกาย

หากทุกสิ่งทุกอย่างมันไปจดจ่ออยู่ที่นั่น จิตมันจะไม่รวมลง นี่แหละ เรียกว่า มาร คือ ไม่มีสติ อย่าให้จิตไปจดจ่ออย่างนั้น

ให้มาอยู่กับผู้รู้ ให้น้อมเอา พระพุทธเจ้า พระธรรม พระสงฆ์ เป็นอารมณ์ จะอยู่ในอิริยาบถใด ก็ให้มีความเพียร

ผู้ที่ภาวนาจิตสงบลงชั่วช้างพับหู งูแลบสิ้น ชั่วไก่ดินน้ำ นี่ อานิสงส์อักโข ให้ตั้งใจทำไป การที่จิตรวมลงไปบางครั้ง มี 3 ขั้นสมาธิ คือ ขณิกสมาธิ อุปจารสมาธิ อัปปนาสมาธิ

หากรวมลง ขณิกสมาธิ เราบริกรรมไป พุทโธ หรืออะไรก็ตาม จิตสงบไปสบายไปสักหน่อย มันก็ถอนขี้นมา ก็คิดไปอารมณ์เก่าของมันนี่

ส่วนหากรวมลงไปเป็น อุปจารสมาธิ ก็นานหน่อยกว่าจะถอนขึ้นไปสู่อารมณ์อีก

ให้ภาวนาไป อย่าหยุดอย่าหย่อน ค่อยเป็นค่อยไป ไม่ต้องไปนึกคาดหวังอะไร อย่าให้มีความอยาก เพราะมันเป็นตัณหา ตัวขวางกั้นไม่ให้จิตรวม

ไม่ต้องไปกำกับว่า อยากให้เป็นอย่างนั้นอย่างนี้ การอยากให้จิตรวมลง เหล่านี้แหละเป็นนิวรณ์ตัวร้าย

ให้ปฏิบัติความเพียรไม่หยุดหย่อน เอาเนื้อและเลือด ตลอดจนชีวิตถวายบูชาพระพุทธเจ้า พระธรรม และ พระสงฆ์

เราจะเอาชีวิตจิตใจ ถวายบูชาพระรัตนตรัย ตลอดจนวันตาย นี่ก็เป็นมัชฌิมาปฏิปทา แล้วจิตจะรวมลงอย่างไร เมื่อไร ก็จะเป็นไปเองเมื่อใจเป็นกลาง ปล่อยวาง สงบถูกส่วน"

#หลวงปู่ขาว #อนาลโย









(๑) ผู้ปฏิบัติทั้งหลาย ถ้ายังปฏิบัติไม่ถึงจิตถึงใจ ยังได้ชื่อว่าปฏิบัติไม่ถึงหลักธรรมของจริง เพราะธรรมทั้งหลายเกิดจากจิตจากใจอย่างเดียว

(๒) ความคิดนึกปรุงแต่ง สัญญาอารมณ์ทั้งปวง หรือสรรพกิเลสทั้งปวงเกิดจาก จิต นี้ทั้งนั้น เมื่อไม่มีสติควบคุมจิต แต่ตรงกันข้าม เมื่อมีสติควบคุมแล้วย่อมให้เกิดปัญญา

(๓) ผู้ไม่รู้เท่าเข้าใจที่ตั้งที่เกิดของ ขันธ์ห้า ขันธ์สี่ ขันธ์หนึ่ง ขันธ์ทั้งสามย่อมถูกกิเลสกลืนกินหรือครอบงำได้ นักปราชญ์ย่อมรู้เท่าเข้าใจที่ตั้งที่เกิดของขันธ์ห้า ขันธ์สี่ ขันธ์หนึ่ง แล้วท่านย่อมพ้นจากการครอบงำของมันได้

ขันธ์ห้า ได้แก่ รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ
ขันธ์สี่ ได้แก่ อรูปฌาน
ขันธ์หนึ่ง ได้แก่ สัญญาเวทยิตนิโรธ

(๔) กายคตาสติ ย่อมเป็นที่ตั้งของกัมมัฏฐานทั้งปวง กายอันนี้ถึงมันจะมีหรือไม่มี มันก็ถืออยู่ดีๆ นี้แหละ ยิ่งปฏิสนธิ ก็ยิ่งถือใหญ่ เจริญสมถะและวิปัสสนา ถ้าทิ้งกายเสียแล้ว จะไม่มีหลักเห็นชัดแจ้งในกัมมัฏฐานทั้งปวง

บันทึกธรรมภาษิต
ของพระราชนิโรธรังสีคัมภีรปัญญาวิศิษฏ์
(หลวงปู่เทสก์ เทสรังสี)








พวกเราแน่ใจแล้วหรอ ว่าชื่อนี้ นามสกุลนี้เป็นของเราจริงๆ ไม่มีทาง

หลวงพ่อชายแดน สีลสุทโธ





หลวงปู่เทสก์.. ท่านสอนเรื่อง #กรรม..

คนเราเกิดมาไม่มีใครที่จะไม่ทำกรรมเลย.. แต่อยู่ที่ว่าใครจะทำกรรมดีหรือกรรมชั่วเท่านั้นเอง.. พระโสดาบัน.. ท่านไม่ทำกรรมชั่วแล้ว.. คือ ท่านมีศีล5 คนมีศีล.. รักษาศีลไว้ได้ คือ คนที่เกรงกลัวต่อบาป ไม่กล้าที่จะทำบาปอีก..

หลวงปู่สอนว่าคนที่เป็นพุทธแท้จริงๆนั้น.. มีน้อยนัก.. น้อยมาก.. ส่วนใหญ่นับถือไม่จริง.. คนที่เป็นพุทธแท้ ต้องเคารพพระรัตนตรัย ไม่ทำบุญนอกพระพุทธศาสนา ต้องเชื่อกรรม รักษาศีลได้ ไม่ถือมงคลตื่นข่าว ไม่ถือเรื่องหาโชคลาภ และการบวงสรวงต่างๆ ไม่ถือความขลังความคงกระพันในรูปและเหรียญ ท่านบอก.. มีรูปเหรียญของครูบาอาจารย์ ท่านให้ถือกันที่คุณความดีของท่านนั้นๆ.. ให้ระลึกถึงคุณความดี.. ไม่ให้เชื่อเรื่องคงกระพัน.. ให้เชื่อกรรม.. คนเราเกิดมาแล้วต้องตาย.. ไม่มีใครอยู่คงกระพัน..

ฟังพระธรรมเทศนา.. หลวงปู่เทสก์ เทสรังสี


แสดงโพสต์จาก:  เรียงตาม  
กลับไปยังกระทู้  [ 1 โพสต์ ] 

เขตเวลา GMT + 7 ชั่วโมง


 ผู้ใช้งานขณะนี้

กำลังดูบอร์ดนี้: Google [Bot] และ บุคคลทั่วไป 47 ท่าน


ท่าน ไม่สามารถ โพสต์กระทู้ในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ ตอบกระทู้ในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ แก้ไขโพสต์ของท่านในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ ลบโพสต์ของท่านในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ แนบไฟล์ในบอร์ดนี้ได้

ค้นหาสำหรับ:
ไปที่:  
Google
ทั่วไป เว็บธรรมจักร