วันเวลาปัจจุบัน 29 มี.ค. 2024, 01:05  



เขตเวลา GMT + 7 ชั่วโมง




กลับไปยังกระทู้  [ 1 โพสต์ ]    Bookmark and Share
เจ้าของ ข้อความ
โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 11 ต.ค. 2021, 05:14 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
อาสาสมัคร
อาสาสมัคร
ลงทะเบียนเมื่อ: 06 มี.ค. 2009, 10:48
โพสต์: 5091


 ข้อมูลส่วนตัว


พระกับป่า...

สำหรับมนุษย์ผู้มีกิเลสนั้น ไม่ว่าจะอยู่ในบ้านหรืออยู่ในป่า ก็ทำให้เดือดร้อนทั่วไปหมด

สำหรับพระภิกษุในพระพุทธศาสนา พระพุทธเจ้าทรงสั่งสอนแนะนำให้ใช้ป่าเป็นที่บำเพ็ญเพียร เพราะเป็นที่เหมาะสม สภาพแวดล้อมเป็นที่วิเวกเกื้อกูลแก่การบำเพ็ญเพียรทางจิต จะได้ทำตนให้เป็นผู้หมดกิเลสต่อไป

เมื่อหมดกิเลสแล้ว จะไปอยู่ป่าอยู่บ้านก็ทำให้รื่นรมย์ไปหมด

เพราะฉะนั้น จึงควรช่วยกันรักษาป่าไว้ และสนับสนุนให้พระสงฆ์ได้ไปอยู่ป่า เพื่อจะได้อาศัยกายวิเวกเป็นเครื่องโน้มนำจิตใจให้สงบ ใช้ป่าเป็นที่บำเพ็ญเพียรขัดเกลากิเลสให้หมดสิ้นไป แล้วท่านจะได้นำความสงบร่มเย็นนั้นออกไปเผยแพร่ให้ทั่วถึงในที่ทุกสถาน

#สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (ท่าน ป.อ.ปยุตฺโต)
จาก ธรรมกถา ปาฐกถา แก่ คณะโยมญาติมิตร ณ บ้านคุณเลียบ - คุณเจริญศรี รักตะกนิฐ เมื่อ ๒ ตุลาคม ๒๕๓๔








…ผลของกรรมนั้น
ก็เหมือนกับรอยของเกวียน

.เวลาเกวียนมันหมุนไปบนดินนี่
ก็จะมีรอยตามไปตลอดเวลา

.ฉันใด..
การกระทำของเรา ก็มีผลตามมาฉันนั้น
“ จะช้าหรือจะเร็วเท่านั้นเอง “.
……………………………………..
.
กำลังใจ ๑, กัณฑ์ที่ ๑
ธรรมะบนเขา พรรษา ๒๕๔๐
พระอาจารย์สุชาติ อภิชาโต
วัดญาณสังวรารามฯ ชลบุรี







“สุขที่สุดในชีวิตอยู่ตรงไหน
จงสำรวจดูความสุขว่า
ตรงไหนที่ตนเห็นว่า
มันสุขที่สุดในชีวิต

ครั้นสำรวจดูแล้ว มันก็แค่นั้นแหละ
แค่ที่เราเคยพบมาแล้วนั่นเอง

ทำไมจึงไม่มีมากกว่านั้น
มากกว่านั้น ไม่มีในโลกนี้
มีอยู่แค่นั้นเอง แล้วก็ซ้ำๆ ซากๆ
อยู่แค่นั้น เกิด แก่ เจ็บ ตาย อยู่ร่ำไป”

หลวงปู่ดูลย์ อตุโล







“อดีตเป็นสิ่งที่ผ่านไปแล้ว
เราไม่สามารถย้อนกลับไปแก้ไขอดีตได้
เพราะฉะนั้น ควรปล่อยวาง
ไม่ควรเก็บไว้ให้ใจทุกข์เปล่าๆ

อนาคตก็ยังไม่มาถึง
ไม่ควรคาดเดา หรือจินตนาการ
ไปให้จิตฟุ้งซ่าน ซึ่งเมื่อจิตฟุ้งซ่านแล้ว
ก็จะเกิดความทุกข์ได้เหมือนกัน

จงอยู่ในปัจจุบัน
ทำปัจจุบันให้ดีที่สุด
อนาคตย่อมจะดีตามมา”

หลวงตามหาบัว ญาณสัมปันโน








" บุญ บาป ทุกคนทำมา
ด้วยกันทั้งนั้น ต่างแต่ว่า
ทำมากน้อยต่างกัน
ถ้าภาวนาจริงๆ
บาปไม่มากเท่าไร
ก็หลุดลอยออกไปได้
แต่ถ้าทำบาปเพิ่มเข้า
ไปเรื่อยก็ไม่มีทางหมด

บาป บุญ ทำแล้วก็อยู่
ในตัวเรา เป็นของลึกซึ้ง
มองไม่เห็น ถ้าผู้ภาวนา
ตั้งมั่นจิตใจเป็นสมาธิ
ดีแล้ว ก็จะเห็นได้ด้วย
ตนเอง ไม่ต้องไปถาม
คนอื่นว่า ทำบุญ บาป
แล้วไปอยู่ที่ไหน

บุญ บาปทำแล้ว อย่า
เข้าใจว่าไปอยู่ที่อื่น
ทำบาป บาปก็มาอยู่ที่ตัว
ทำบุญ บุญก็มาอยู่ที่ตัว
เป็นเงาติดตัวตลอดเวลา

รักษาศีล ให้ทาน ไหว้
พระสวดมนต์ นั่งภาวนา
เรียกว่า "ทำบุญ" บุญนั้น
ใครทำใครได้ ไม่ใช่ว่า
คนหนึ่งทำ คนหนึ่งไม่ทำ
แล้วไม่ได้ จะได้ก็ตรงที่
เราอนุโมทนา ยินดีกับ
บุญกุศลที่เขากระทำ "

โอวาทธรรม
หลวงปู่สิม พุทธาจาโร









#หลวงปู่ชา.. เทศน์สอนเรื่อง #สมมติกับวิมุติ

สิ่งทั้งหลายในโลกนี้ล้วนแต่เป็นสิ่งสมมุติ ที่เราสมมุติขึ้นมา เองทั้งสิ้น สมมุติแล้วก็หลงสมมุติของตัวเอง เลยไม่มีใครวาง มันเป็น ทิฐิ มันเป็นมานะ ความยึดมั่นถือมั่น
อันความยึดมั่นถือมั่นนี้ ไม่ใช่เรื่องที่จะจบได้ มันจบลงไม่ได้ สักที เป็นเรื่องวัฏฏสงสารที่ไหลไปไม่ขาด ไม่มีทางสิ้นสุด ทีนี้ถ้าเรารู้ จักสมมุติแล้ว ก็รู้จักวิมุตติ ครั้นรู้จักวิมุตติแล้ว ก็รู้จักสมมุติ ก็จะเป็น ผู้รู้จักธรรมะอันหมดสิ้นไป

ก็เหมือนเราทุกคนนี้แหละ แต่เดิมชื่อของเราก็ไม่มี คือตอน เกิดมาไม่มีชื่อ ที่มีชื่อขึ้นมาก็โดยสมมุติกันขึ้นมาเอง อาตมาพิจารณาดูว่า เอ! สมมุตินี้ ถ้าไม่รู้จักมันจริงๆ แล้ว มันก็เป็นโทษมาก ความจริงมันเป็นของเอามาใช้ให้เรารู้จักเรื่องราวเฉยๆ เท่านั้นก็พอ ให้รู้ว่าถ้าไม่ มีเรื่องสมมุตินี้ ก็ไม่มีเรื่องที่จะพูดกัน ไม่มีเรื่องที่จะบอกกัน ไม่มีภาษาที่จะใช้กัน
เมื่อครั้งที่อาตมาไปต่างประเทศ อาตมาได้ไปเห็นพวกฝรั่งไปนั่งกรรมฐานกันอยู่เป็นแถว แล้วเวลาจะลุกขึ้นออกไป ไม่ว่าผู้หญิง หรือผู้ชายก็ตาม เห็นจับหัวกัน ผู้นั้นผู้นี้ไปเรื่อยๆ ก็เลยมาเห็นได้ว่า โอ! สมมุตินี้ถ้าไปตั้งลงไว้ที่ไหน ไปยึดมั่นหมายมั่นมัน ก็จะเกิดกิเลสอยู่ที่นั่น ถ้าเราวางสมมุติได้ ยอมมันแล้วก็สบาย
อย่างพวกนายพลนายพันทหารมาที่นี่ ก็เป็นผู้มียศฐาบรรดาศักดิ์ ครั้นมาถึงอาตมาแล้วก็พูดว่า “หลวงพ่อกรุณาจับหัวให้ ผมหน่อยครับ” นี่แสดงว่าถ้ายอมแล้วมันก็ไม่มีพิษอยู่ที่นั่น พอลูบหัวให้ เขาดีใจด้วยซ้ำ แต่ถ้าไปลูบหัวเขาที่กลางถนนดูซิไม่เกิดเรื่องก็ลองดู นี่คือความยึดมั่นถือมั่นเอาไว้ ฉะนั้น อาตมาว่าการวางนี้มันสบายจริงๆ เมื่อตั้งใจว่าเอาหัวมาให้อาตมาลูบ ก็สมมุติลงว่าไม่เป็นอะไร แล้วก็ไม่เป็นอะไรจริงๆ ลูบอยู่เหมือนหัวเผือกหัวมัน แต่ถ้าเราลูบอยู่กลางทาง ไม่ได้แน่นอน
นี่แหละเรื่องของการยอม การละ การวาง การปลง ทำได้แล้วมันเบาอย่างนี้ ครั้นไปยึดที่ไหน มันก็เป็นภพที่นั่น เป็นชาติที่นั่น มีพิษมีภัยขึ้นที่นั่น พระพุทธองค์ของเราท่านทรงสอนสมมุติ แล้วก็ทรงสอนให้แก้สมมุติโดยถูกเรื่องของมัน ให้มันเห็นเป็นวิมุตติ อย่าไปยึดมั่น หรือถือมั่นมัน สิ่งที่มันเกิดมาในโลกนี้ก็เรื่องสมมุติทั้งนั้น มันจึงเป็นขึ้นมา ครั้นเป็นขึ้นมาแล้ว และสมมุติแล้ว ก็อย่าไปหลงสมมุตินั้น ท่านว่ามันเป็นทุกข์ เรื่องสมมุติเรื่องบัญญัตินี้เป็นเรื่องสำคัญที่สุด ถ้า คนไหนปล่อย คนไหนวางได้ มันก็หมดทุกข์
แต่เป็นกิริยาของโลกเรา เช่นว่า พ่อบุญมานี้เป็นนายอำเภอ เถ้าแก่แสงชัยไม่ได้เป็นนายอำเภอ แต่เป็นเพื่อนกันมาแต่ไหนแต่ไร แล้ว(หมายเหตุ 1) เมื่อพ่อบุญมาได้รับแต่งตั้งให้เป็นนายอำเภอ ก็ เป็นสมมุติขึ้นมาแล้ว แต่ก็ให้รู้จักใช้สมมุติให้เหมาะสมสักหน่อย เพราะเรายังอยู่ในโลก ถ้าเถ้าแก่แสงชัยขึ้นไปหานายอำเภอที่ที่ทำงาน และเถ้าแก่แสงชัยไปจับหัวนายอำเภอมันก็ไม่ดี จะไปคิดว่าแต่ก่อน อยู่ด้วยกัน หามจักรเย็บผ้าด้วยกันจวนจะตายครั้งนั้น จะไปเล่นหัวให้ คนเห็นมันก็ไม่ถูกไม่ดี ต้องให้เกียรติกันสักหน่อย อย่างนี้ก็ควรปฏิบัติ ให้เหมาะสมตามสมมุติในหมู่มนุษย์ทั้งหลาย จึงจะอยู่ด้วยกันด้วยดี ถึงจะเป็นเพื่อนกันมาแต่ครั้งไหนก็ตาม เขาเป็นนายอำเภอแล้ว ต้องยกย่องเขา เมื่อออกจากที่ทำงานมาถึงบ้านถึงเรือนแล้ว จึงจับหัวกัน ได้ไม่เป็นอะไร ก็จับหัวนายอำเภอนั่นแหละ แต่ไปจับอยู่ที่กลางศาลา คนเยอะๆ ก็อาจจะผิดแน่ นี่ก็เรียกว่าให้เกียรติกันอย่างนี้ ถ้ารู้จักใช้ อย่างนี้มันก็เกิดประโยชน์ ถึงแม้จะสนิทกันนานแค่ไหนก็ตาม พ่อบุญมาก็คงจะต้องโกรธ หากว่าไปทำในหมู่คนมากๆ เพราะเป็นนายอำเภอแล้ว นี่แหละมันก็เรื่องปฏิบัติ เท่านี้แหละโลกเรา ให้รู้จักกาล รู้จักเวลา รู้จักบุคคล
ท่านจึงให้เป็นผู้ฉลาด สมมุติก็ให้รู้จัก วิมุตติก็ให้รู้จัก ให้รู้จัก ในคราวที่เราจะใช้ ถ้าเราใช้ให้ถูกต้อง มันก็ไม่เป็นอะไร ถ้าใช้ไม่ถูกต้อง มันก็ผิด มันผิดอะไร มันผิดกิเลสของคนที่แหละ มันไม่ผิดอันอื่นหรอก เพราะคนเหล่านี้อยู่กับกิเลส มันก็เป็นกิเลสอยู่แล้ว นี่เรื่อง ปฏิบัติของสมมุติ ปฏิบัติเฉพาะในที่ประชุม ในบุคคล ในกาล ในเวลา ก็ใช้สมมุติบัญญัติอันนี้ได้ตามความเหมาะสม ก็เรียกว่าคนฉลาด ให้เรารู้จักต้น รู้จักปลาย ทั้งที่เราอยู่ในสมมุตินี้แหละ มันทุกข์เพราะ ความไปยึดมั่นหมายมั่นมัน แต่ถ้ารู้จักสมมุติให้มันเป็น มันก็เป็นขึ้นมา เป็นขึ้นมาได้โดยฐานที่เราสมมุติ แต่มันค้นไปจริงๆ แล้วไปจนถึง วิมุตติ มันก็ไม่มีอะไรเลย
อาตามเคยเล่าให้ฟังว่า พวกเราทั้งหลายที่มาบวชเป็นพระนี้ แต่ก่อนก็เป็นฆราวาส ก็สมมุติว่าเป็นฆราวาส มาบวช สมมุติให้เป็นพระ ก็เลยเป็นพระ แต่เป็นพระเณรเพียงสมมุติ พระแท้ๆ ยังไม่เป็น เป็นเพียงสมมุติ ยังไม่เป็นวิมุตติ นี่ถ้าหากว่าเรามาปฏิบัติให้จิตหลุดพ้นจากอาสวะทั้งหลายเหล่านี้เป็นขั้นๆ ไป ตั้งแต่ขั้นโสดา สกิทาคามี อนาคามี ไปจนถึงพระอรหันต์ นั้นเป็นเรื่องละกิเลสแล้ว แต่แม้เป็น พระอรหันต์แล้ว ก็ยังเป็นเรื่องสมมุติอยู่นั่นเอง คือสมมุติว่าเป็นพระอรหันต์ อันนั้นเป็นพระแท้ ครั้งแรกก็สมมุติอย่างนี้ คือสมมุติว่าเป็นพระ แล้วก็จะละกิเลสเลยได้ไหม ก็ไม่ได้
เหมือนกันกับเกลือนี่แหละ สมมุติว่าเรากำดินทรายมาสักกำหนึ่ง เอามาสมมุติว่าเป็นเกลือ มันเป็นเกลือไหมละ? ก็เป็นอยู่ แต่เป็นเกลือโดยสมมุติ ไม่ใช่เกลือแท้ๆ จะเอาไปใส่แกงมันก็ไม่มี ประโยชน์ ถ้าจะว่าเป็นเกลือแท้ มันก็เปล่าทั้งนั้นแหละ นี่เรียกว่า สมมุติ ทำไมจึงสมมุติ? เพราะว่าเกลือไม่มีอยู่ที่นั่น มันมีแต่ดินทราย ถ้าเอาดินทรายมาสมมุติว่าเป็นเกลือ มันก็เป็นเกลือให้อยู่ เป็นเกลือโดยฐานที่สมมุติ ไม่เป็นเกลือจริง คือมันก็ไม่เค็ม ใช้สำเร็จประโยชน์ ไม่ได้ มันสำเร็จประโยชน์ได้เป็นบางอย่าง คือในขั้นสมมุติ ไม่ใช่ในขั้น วิมุตติ
ชื่อว่าวิมุตตินั้น ก็สมมุตินี้แหละเรียกขึ้นมา แต่ว่าสิ่งทั้งหลาย เหล่านั้นมันหลุดพ้นจากสมมุติแล้ว หลุดไปแล้ว มันเป็นวิมุติแล้ว แต่ก็ยังเอามาสมมุติให้เป็นวิมุตติอยู่อย่างนี้แหละ มันก็เป็นเรื่องเท่านี้ จะขาดสมมุติได้ไหม? ก็ไม่ได้ ถ้าขาดสมมุติแล้ว ก็จะไม่รู้จักการพูดจา ไม่รู้จักต้น ไม่รู้จักปลาย เลยไม่มีภาษาจะพูดกัน
ฉะนั้นสมมุตินี้ก็มีประโยชน์ คือประโยชน์ที่สมมุติขึ้นมาให้เราใช้กัน เช่นว่าคนทุกคนก็มีชื่อต่างกัน แต่ว่าเป็นคนเหมือนกัน ถ้าหากไม่มีการตั้งชื่อเรียกกัน ก็ไม่รู้ว่าพูดกันให้ถูกคนได้อย่างไร เช่นเรา อยากจะเรียกใครสักคนหนึ่ง เราก็เรียกว่า “คน คน” ก็ไม่มีใครมา มันก็ไม่สำเร็จประโยชน์ เพราะต่างก็เป็นคนด้วยกันทุกคน แต่ถ้าเราเรียก “จันทร์มานี่หน่อย” จันทร์ก็ต้องมา คนอื่นไม่ต้องมา มันสำเร็จประโยชน์อย่างนี้ ได้เรื่องได้ราว ฉะนั้นได้ข้อประพฤติปฏิบัติอันเกิด จากสมมุติอันนี้ก็ยังมีอยู่
ดังนั้นถ้าเข้าใจในเรื่องสมมุติ เรื่องวิมุตติให้ถูกต้อง มันก็ไปได้ สมมุตินี้ก็เกิดประโยชน์ได้เหมือนกัน แต่ความจริงแท้แล้วมันไม่มีอะไรอยู่ที่นั่น แม้ตลอดว่าคนก็ไม่มีอยู่ที่นั่น เป็นสภาวธรรมอันหนึ่งเท่านั้น เกิดมาด้วยเหตุด้วยปัจจัยของมัน เจริญเติบโตด้วยเหตุด้วยปัจจัยของมัน ให้ตั้งอยู่ได้พอสมควรเท่านั้น อีกหน่อยมันก็บุบสลายไปเป็นธรรมดา ใครจะห้ามก็ไม่ได้ จะปรับปรุงอะไรก็ไม่ได้ มันเป็นเพียงเท่านั้น อันนี้ก็เรียกว่าสมมุติ ถ้าไม่มีสมมุติก็ไม่มีเรื่องราว ไม่มีเรื่องที่จะปฏิบัติ ไม่มีเรื่องที่จะมีการมีงาน ไม่มีชื่อเสียง เลยไม่รู้จักภาษากัน ฉะนั้น สมมุติบัญญัติตั้งขึ้นมา เพื่อให้เป็นภาษา ให้ใช้กันสะดวก
เหมือนกับเงินนี่แหละ สมัยก่อนธนบัตรมันไม่มีหรอก มันก็เป็นกระดาษอยู่ธรรมดา ไม่มีราคาอะไร ในสมัยต่อมาท่านว่าเงินอัฐ เงินตรามันเป็นก้อนวัตถุ เก็บรักษายาก ก็เลยเปลี่ยนเสีย เอาธนบัตร เอากระดาษนี้มาเปลี่ยนเป็นเงิน ก็เป็นเงินให้เราอยู่ ต่อไปนี้ ถ้ามีพระราชาองค์ใหม่เกิดขึ้นมา สมมุติไม่ชอบธนบัตรกระดาษ เอาขี้ครั่งก็ได้ มาทำให้มันเหลวแล้วมาพิมพ์เป็นก้อนๆ สมมุติว่าเป็นเงิน เราก็ใช้ขี้ครั่งกันทั้งหมดทั่วประเทศ เป็นหนี้เป็นสินกันก็เพราะก้อนขี้ครั่งนี้แหละ อย่าว่าแต่เพียงก้อนขี้ครั่งเลย เอาก้อนขี้ไก่มาแปรให้มันเป็นเงินมันก็เป็นได้ ทีนี้ขี้ไก่ก็จะกลายเป็นเงินไปหมด จะฆ่ากันแย่งกันก็ เพราะก้อนขี้ไก่ เรื่องของมันเป็นเรื่องแค่นี้
แม้เขาจะเปลี่ยนเป็นรูปใหม่มา ถ้าพร้อมกันสมมุติขึ้นแล้ว มันก็เป็นขึ้นมาได้ มันเป็นสมมุติอย่างนั้น อันนี้สิ่งที่ว่าเป็นเงินนั้นมัน เป็นอะไรก็ไม่รู้จัก เรื่องแร่ต่างๆ ที่ว่าเป็นเงินจริงๆ แล้วจะเป็นเงินหรือเปล่าก็ไม่รู้ เห็นแร่อันนั้นเป็นมาอย่างนั้น ก็เอามาสมมุติมันขึ้นมา มันก็เป็น ถ้าพูดเรื่องโลกแล้วมันก็มีแค่นี้ สมมุติอะไรขึ้นมาแล้วมันก็เป็น เพราะมันอยู่กับสมมุติเหล่านี้ แต่ว่าจะเปลี่ยนให้เป็นวิมุตติ ให้คนรู้จัก วิมุตติอย่างจริงจังนั้นมันยาก
เรือนเรา บ้านเรา ข้าวของเงินทอง ลูกหลานเรา เหล่านี้ก็สมมุติว่าลูกเรา เมียเรา พี่เรา น้องเรา อย่างนี้ เป็นฐานที่สมมุติกันขึ้นมาทั้งนั้น แต่ความจริงแล้วถ้าพูดตามธรรมะ ท่านว่าไม่ใช่ของเรา ก็ ฟังไม่ค่อยสบายหูสบายใจเท่าใด เรื่องของมันก็เป็นอย่างนั้นจริงๆ ถ้าไม่สมมุติขึ้นมาก็ไม่มีราคา สมมุติว่าไม่มีราคาก็ไม่มีราคา สมมุติให้มีราคาขึ้นมาก็มีราคาขึ้นมา มันก็เป็นเช่นนั้น ฉะนั้นสมมุตินี้ก็ดีอยู่ ถ้าเรารู้จักใช้มัน ให้รู้จักใช้มัน
อย่างสกลร่างกายของเรานี้ก็เหมือนกัน ไม่ใช่เราหรอก มัน เป็นของสมมุติ จริงๆ แล้วจะหาตัวตนเราเขาแท้มันก็ไม่มี มีแต่ธรรมธาตุอันหนึ่งเท่านี้แหละ มันเกิด แล้วก็ตั้งอยู่ แล้วก็ดับไป ทุกอย่างมันก็เป็นอย่างนี้ ไม่มีเรื่องอะไรที่เป็นจริงเป็นจังของมัน แต่ว่าสมควรที่ เราจะต้องใช้มัน
อย่างว่า เรามีชีวิตอยู่ได้นี้เพราะอะไร? เพราะอาหารการกินของเราที่เป็นอยู่ ถ้าหากว่าชีวิตเราอยู่กับอาหารการกิน เป็นเครื่องหล่อเลี้ยง เป็นปัจจัย จำเป็นเราก็ต้องใช้ ใช้สิ่งเหล่านี้ให้มันสำเร็จประโยชน์ในความเป็นอยู่ของเรา เหมือนกับที่พระพุทธเจ้าท่านทรงสอนพระ เริ่มต้นจริงๆ ท่านก็สอนเรื่องปัจจัยสี่ เรื่องจีวร เรื่อง บิณฑบาต(หมายเหตุ 2) เรื่องเสนาสะ เรื่องเภสัชยาบำบัดโรค ท่านให้พิจารณา ถ้าเราไม่ได้พิจารณาตอนเช้า ยามเย็นมันล่วงกาลมาแล้ว ก็ให้พิจารณาเรื่องอันนี้
ทำไมท่านจึงให้พิจารณาบ่อยๆ พิจารณาให้รู้จักว่า มันเป็นปัจจัยสี่ เครื่องหล่อเลี้ยงร่างกายของเรา นักบวชก็ต้องมีผ้านุ่งห่ม อาหารการขบฉัน ยารักษาโรค มีที่อยู่อาศัย เมื่อเรามีชีวิตอยู่เราจะหนี จากสิ่งเหล่านี้ไม่ได้ ถ้าอาศัยสิ่งเหล่านี้เป็นอยู่ ท่านทั้งหลายจะได้ใช้ ของเหล่านี้จนตลอดชีวิตของท่าน แล้วท่านอย่าหลงนะ อย่าหลงสิ่งเหล่านี้ มันเป็นเพียงเท่านี้ มีผลเพียงเท่านี้
เราจะต้องอาศัยสิ่งเหล่านี้ไปจึงอยู่ได้ ถ้าไม่อาศัยสิ่งใดสิ่งหนึ่ง จะบำเพ็ญภาวนา จะสวดมนต์ทำวัตร จะนั่งพิจารณากรรมฐาน ก็จะสำเร็จประโยชน์ให้ท่านไม่ได้ ในเวลานี้จะต้องอาศัยสิ่งเหล่านี้อยู่ ฉะนั้นท่านทั้งหลายอย่าไปติดสิ่งเหล่านี้ อย่าไปหลงสมมุติอันนี้ อย่าไปติดปัจจัยสี่อันนี้ มันเป็นปัจจัยให้ท่าน อยู่ไป อยู่ไป พอถึงคราวมัน ก็เลิกจากกันไป
ถึงแม้มันจะเป็นเรื่องสมมุติ ก็ต้องรักษาให้มันอยู่ ถ้าไม่รักษา มันเป็นโทษ เช่นถ้วยใบหนึ่ง ในอนาคตมันจะต้องแตก แตกก็ช่างมัน แต่ขณะที่ท่านยังมีชีวิตอยู่ ขอให้ท่านรักษาถ้วยใบนี้ไว้ให้ดี เพราะเป็นเครื่องใช้ของท่าน ถ้าถ้วยใบนี้แตกท่านก็ลำบาก แต่ถึงแม้ว่าจะแตกก็ ขอให้เป็นเรื่องสุดวิสัยที่มันแตกไป
ปัจจัยสี่ที่พระพุทธเจ้าท่านสอนให้พิจารณานี้ก็เหมือนกัน เป็นปัจจัยส่งเสริม เป็นเครื่องอาศัยของบรรพชิต ให้ท่านทั้งหลายรู้จักมัน อย่าไปยึดมั่นหมายมั่นมัน จนเป็นก้อนกิเลสตัณหาเกิดขึ้นในดวงจิตดวงใจของท่าน จนเป็นทุกข์ เอาแค่ใช้ชีวิตให้มันเป็นประโยชน์เท่านี้ก็พอแล้ว
เรื่องสมมุติกับวิมุตติ มันก็เกี่ยวข้องกันอย่างนี้เรื่อยไป ฉะนั้น ถ้าหากว่าใช้สมมุติอันนี้อยู่ อย่าไปวางอกวางใจว่ามันเป็นของจริง จริงโดยสมมุติเท่านั้น ถ้าเราไปยึดมั่นหมายมั่นก็เป็นทุกข์ขึ้นมา เพราะเราไม่รู้เรื่องอันนี้ตามเป็นจริง เรื่องมันจะถูกจะผิดก็เหมือนกัน บางคนเห็นผิดเป็นถูก เห็นถูกเป็นผิด เรื่องผิดเรื่องถูกไม่รู้ว่าเป็นของใคร ต่างคนต่างก็สมมุติขึ้นมาว่าถูกว่าผิดอย่างนี้แหละ เรื่องทุกเรื่องก็ควรให้รู้
พระพุทธเจ้าท่านกลัวว่า มันจะเป็นทุกข์ ถ้าหากว่าถกเถียงกัน เรื่องทั้งหลายเหล่านี้มันจบไม่เป็น คนหนึ่งว่าถูกคนหนึ่งว่าผิด คนหนึ่งว่าผิดคนหนึ่งว่าถูก อย่างนี้ แต่ความจริงแล้ว เรื่องถูกเรื่องผิดนั้น น่ะเราไม่รู้จักเลย เอาแต่ว่าให้เรารู้จักใช้ให้มันสบาย ทำการงานให้ถูกต้อง อย่าให้มันเบียดเบียนตนเอง และเบียดเบียนผู้อื่น ให้มันไป กลางๆ ไปอย่างนี้ มันก็สำเร็จประโยชน์ของเรา
รวมแล้วส่วนสมมุติก็ดี ส่วนวิมุติก็ดี ล้วนแต่เป็นธรรมะ แต่ว่า มันเป็นของยิ่งหย่อนกว่ากัน แต่มันก็เป็นไวพจน์ซึ่งกันและกัน เราจะรับรองแน่นอนว่า อันนี้ให้เป็นอันนี้จริงๆ อย่างนั้นไม่ได้ ฉะนั้น พระพุทธเจ้าท่านจึงให้วางไว้ว่า “มันไม่แน่” ถึงจะชอบมากแค่ไหน ก็ให้รู้ว่ามันไม่แน่นอน ถึงจะไม่ชอบมากแค่ไหน ก็ให้เข้าใจว่าอันนี้ไม่แน่ นอน มันก็ไม่แน่นอนอย่างนั้นจริงๆ แล้วปฏิบัติจนเป็นธรรมะ อดีตก็ตาม อนาคตก็ตาม ปัจจุบันก็ตาม เรียกว่าปฏิบัติธรรมะ
แล้วที่มันจบก็คือที่มันไม่มีอะไร ที่มันละมันวางมันวาง มันวางภาระที่มันจบ จะเปรียบเทียบให้ฟัง อย่างคนหนึ่งว่าธงมันเป็นอะไรจึงปลิวพริ้วไป คงเป็นเพราะมีลม อีกคนหนึ่งว่ามันเป็นเพราะมีธงต่างหาก อย่างนี้ก็จบลงไม่ได้สักที เหมือนกันกับว่าไก่เกิดจากไข่ ไข่เกิดจากไก่อย่างนี้แหละ มันไม่มีหนทางจบ คือมันหมุนไป หมุนไป ตามวัฏฏะของมัน
ทุกสิ่งสารพัดนี้เรียกว่าสมมุติขึ้นมา มันเกิดจากสมมุติขึ้นมา ก็ให้รู้จักสมมุติ ให้รู้จักบัญญัติ ถ้ารู้จักสิ่งทั้งหลายเหล่านี้ ก็รู้จักเรื่อง อนิจจัง เรื่องทุกขัง เรื่องอนัตตา มันเป็นอารมณ์ตรงต่อพระนิพพาน เลยอันนี้
เช่นการแนะนำพร่ำสอนให้ความเข้าใจกับคนแต่ละคน นี้มันก็ยากอยู่ บางคนมีความคิดอย่างหนึ่ง พูดให้ฟังก็ว่าไม่ใช่ พูดความจริงให้ฟังเท่าไร ก็ว่าไม่ใช่ ฉันเอาถูกของฉัน คุณเอาถูกของคุณ มันก็ ไม่มีทางจบ แล้วมันเป็นทุกข์ ก็ยังไม่วาง ก็ยังไม่ปล่อยมัน อาตมาเคยเล่าให้ฟังครั้งหนึ่งว่า คนสี่คนเดินเข้าไปในป่า ได้ยินเสียงไก่ขัน “เอ๊ก อี้เอ้ก เอ้ก” ต่อกันไป คนหนึ่งก็เกิดปัญญาขึ้นมา ว่า เสียงขันนี้ใครว่าไก่ตัวผู้หรือว่าไก่ตัวเมีย สามคนรวมหัวกันว่าไก่ตัวเมีย ส่วนคนเดียวนั้นก็ว่าไก่ตัวผู้ขัน เถียงกันไปอยู่อย่างนี้แหละ ไม่หยุด สามคนว่าไก่ตัวเมียขัน คนเดียวว่าไก่ตัวผู้ขัน “ไก่ตัวเมียจะขันได้อย่างไร?” “ก็มันมีปากนี่” สามคนตอบ คนคนเดียวนั้นเถียงจนร้องไห้ ความจริงแล้วไก่ตัวผู้นั่นแหละขันจริงๆ ตามสมมุติของเขา แต่สาม คนนั้นว่าไม่ใช่ ว่าเป็นไก่ตัวเมีย เถียงกันไปจนร้องไห้ เสียอกเสียใจมาก ผลที่สุดแล้ว มันก็ผิดหมดทุกคนนั่นแหละ ที่ว่า ไก่ตัวผู้ ไก่ตัวเมีย ก็เป็นสมมุติเหมือนกัน
ถ้าไปถามไก่ว่า “เป็นตัวผู้หรือ” มันก็ไม่ตอบ “เป็นไก่ตัวเมีย หรือ” มันก็ไม่ให้เหตุผลว่าอย่างไร แต่แรกเคยสมมุติบัญญัติว่ารูป ลักษณะอย่างนี้เป็นไก่ตัวผู้ รูปลักษณะอย่างนั้นเป็นไก่ตัวเมีย รูป ลักษณะอย่างนี้เป็นไก่ตัวผู้มันต้องขันอย่างนี้ ตัวเมียต้องขันอย่างนั้น อันนี้มันเป็นสมมุติติดอยู่ในโลกเรานี้ ความเป็นจริงของมัน มันไม่มีไก่ตัวผู้ตัวเมียหรอก ถ้าพูดตามความสมมุติในโลกก็ถูกตามคนเดียวนั้น แต่เพื่อนสามคนไม่เห็นด้วย เขาว่าไม่ใช่ เถียงกันไปจนร้องไห้ มันก็ไม่เกิดประโยชน์อะไร มันก็เรื่องเพียงเท่านี้
ฉะนั้นพระพุทธเจ้าท่านจึงว่า อย่าไปยึดมั่นถือมั่นมัน ไม่ยึดมั่นถือมั่นทำไมจะปฏิบัติได้? ปฏิบัติไปเพราะความไม่ยึดมั่นถือมั่น นี่ จะเอาปัญญาแทนเข้าไปในที่นี้ยากลำบาก นี่เพราะที่ไม่ให้ยึดมันจึงเป็นของยาก มันต้องอาศัยปัญญาแหลมคมเข้าไปพิจารณา มันจึงไปกันได้ อนึ่ง ถ้าคิดไปแล้วเพื่อบรรเทาทุกข์ลงไป ไม่ว่าผู้มีน้อยหรือมีมากหรอก เป็นกับปัญญาของคน ก่อนที่มันจะทุกข์มันจะสุข มันจะสบายหรือไม่สบาย มันจะล่วงทุกข์ทั้งหลายได้ เพราะปัญญาให้มัน เห็นตามเป็นจริงของมัน
ฉะนั้น พระพุทธเจ้าท่านให้อบรม ให้พิจารณา ให้ภาวนา ภาวนาก็คือ ให้พยายามแก้ปัญหาทั้งหลายเหล่านี้ให้ถูกต้องตามเรื่องของมัน เรื่องของมันเป็นอยู่อย่างนี้ คือเรื่องเกิด เรื่องแก่ เรื่องเจ็บ เรื่องตาย มันเป็นเรื่องของธรรมดา ธรรมดาแท้ๆ มันเป็นอยู่อย่างนี้ ของมัน ท่านจึงให้พิจารณาอยู่เรื่อยๆ ให้ภาวนาความเกิด ความแก่ ความเจ็บ ความตาย บางคนไม่เข้าใจ ไม่รู้จะพิจารณามันไปทำไม เกิดก็รู้จักว่าเกิดอยู่ ตายก็รู้จักว่าตายอยู่นั่นแหละ(หมายเหตุ 3) มัน เป็นเรื่องธรรมดาเหลือเกิน มันเป็นเรื่องความจริงเหลือเกิน ถ้าหากว่าผู้ใดพิจารณาแล้วพิจารณาอีกอยู่อย่างนี้ มันก็เห็น เมื่อมันเห็น มันก็ค่อยแก้ไขไป ถึงหากว่ามันจะมีความยึดมั่นหมายมั่นอยู่ก็ดี ถ้าเรามีปัญญาเห็นว่ามันเป็นเรื่องธรรมดา มันก็บรรเทาทุกข์ไปได้ ฉะนั้นจงศึกษาธรรมเพื่อแก้ทุกข์
ในหลักพุทธศาสนานี้ก็ไม่มีอะไร มีแต่เรื่องทุกข์เกิด กับทุกข์ดับ เรื่องทุกข์จะเกิด เรื่องทุกข์จะดับ เท่านั้น ท่านจึงจัดเป็นสัจจธรรม ถ้าไม่รู้ มันก็เป็นทุกข์ เรื่องจะเอาทิฐิมานะมาเถียงกันนี้ไม่มีวันจบ หรอก มันไม่จบ มันไม่สิ้น เรื่องที่จะให้จิตใจเราบรรเทาทุกข์สบายๆ นั้น เราก็ต้องพิจารณาดูเรื่องที่เราผ่านมา เรื่องปัจจุบันและอนาคตที่มันเป็นไป เช่นว่าพูดถึงความเกิด ความแก่ ความเจ็บ ความตาย ทำยังไงมันจึงจะไม่ให้เป็นห่วงเป็นใยกัน ก็เป็นห่วงเป็นใยอยู่เหมือนกัน แต่ว่าถ้าหากบุคคลมาพิจารณา รู้เท่าตามความเป็นจริง ทุกข์ทั้งหลายก็จะบรรเทาลงไป เพราะไม่ได้กอดทุกข์ไว้

หลวงปู่ชา สุภัทโท







ทุกวันนี้แห่พากันไปสร้างโรงพยาบาลแข่งครูบาอาจารย์ ครูบาอาจารย์เพิ่นภาวนาพอแฮงแล้ว เจ้าของภาวนายังบ่เป็นกะไปเฮ็ดตามเพิ่น มันบ่แมน บางวัดบ่มีพระเลย พากันแล่นออกนอกวัดทั้งอาจารย์ทั้งลูกศิษย์ แล่นไปไส แล่นลงไปหาเงินหาศรัทธาญาติโยมแล้ว หาเงินมาสร้างเอาอันนั้นมาเป็นข้อวัตรเครื่องอยู่ เฮ็ดไปเฮ็ดมามันติดเด้ มันกะเลยม่วนอยู่ในนั้น ข้อวัตรปฏิบัติที่ครูบาอาจารย์พาดำเนินมาพากันทิ้งหมด แล้วสิเอาหยังเป็นความเจริญ สิ่งที่ควรเฮ็ดจริงๆจังๆแท้ๆ คือให้ตั้งใจประพฤติปฏิบัติ เสียสละชีวิตจิตใจต่อสู้กิเลส แต่บ่เฮ็ด
อันที่จริงแล้ว จิตใจนี่แหล่ะคือธรรมแท้ คำว่าธรรม คือจิตใจที่มันหมดจากความมืดมนอนธการ หมดจากมลทิน คือกิเลสต่างๆ เรียกว่าจิตใจเป็นธรรม ถ้าจิตใจสกปรก เพิ่นบ่เรียกว่าธรรม เพิ่นเรียกว่าจิตสกปรก ใจสกปรก จิตกิเลส ใจกิเลส
เกิดเป็นมื้อเป็นวันมา มื้อใด๋ๆจิตใจมีแต่คลุกเคล้าเกลือกกลั้วกับสิ่งสกปรกโสโครก สิให้มันสะอาด สิให้มันผ่องใส เป็นไปบ่ได้ หากบ่ชำระบ่ล้าง บ่ขัด บ่เกลามัน แล้วมันคาอิหยัง ติดอิหยัง มันจึงไปบ่ได้เดี๋ยวนี้ มันกะมัวแต่คาแพ้เขาอยู่นั้นแหล่ว คากิเลสบังคับ สติปัญญาบ่ทันกิเลสจักอย่างว่างั้นเถาะ กิเลสแซงออกหน้าออกตาเบิ๊ด ทางตามันกะออกหน้า ทางหู จมูก ลิ้น กาย ใจ มันแซงออกหน้าทั้งเบิ๊ด จั่งว่า อวิชชาปัจจยา สังขารา อวิชชาความไม่รู้มันบงการออกมา
สรุปแล้วย่นเข้ามามันมีอันเดียวคืออวิชชา อวิชชาคือ ผู้รู้ ผู้รู้คืออวิชชา ผู้รู้คือผู้หลง มานำกันอยู่นำกัน ให้พวกเรามาปฏิบัติแก้จิตใจให้มันหายจากความหลง ขั่นเราหวงไว้อยู่นี่ มันกะหวงไว้อยู่นี่คือกัน แล้วใครล่ะเป็นผู้หวง ใครล่ะเป็นผู้ยึด ใครล่ะเป็นผู้ถือ เพราะว่ามันอยู่นำกัน
เหตุฉะนั้น เพิ่นให้มาปฏิบัติเสียสละ เสียสละออกให้มันหมดจิตหมดใจ มันจั่งคอยแมน บาดนี่กะว่ามาปฏิบัติเพื่อเป็นนิสัย สิเอาชาติหน้า ชาติหน้าใครสิมาอภิเษกให้ใครสิมาแก้ให้ใคร สิมารู้ให้ใคร สิมาเห็นให้ใคร ใครสิมาปฏิบัติทำจิตทำใจให้สงบให้ มันบ่มีเด้ มีแต่เจ้าของแก้เจ้าของ เจ้าของต้องปฏิบัติให้เจ้าของเอง ผู้อื่นเฮ็ดให่บ่ได้ ในเมื่อเป็นเช่นนี้แล้ว เราก็ประพฤติปฏิบัติในชาติปัจจุบันนี้เลยล่ะ #เพราะอนาคตกับปัจจุบันก็เราเป็นผู้ทำเอง #แก้เอง #ก็ปฏิบัติให้มันแจ้งในปัจจุบันนี้เลย #ไม่ต้องไปรอข้างหน้า

โอวาทธรรมหลวงปู่บุญมา คัมภีรธัมโม
วัดป่าสีห์พนม อ.สว่างแดนดิน จ.สกลนคร








#พากันมาฟังความเสื่อมฉิบหายของโลกต่อไป

"โลก" คือ ความเสื่อม อันจะต้องถึงแก่ความฉิบหายในวันหนึ่งข้างหน้า เขาจึงเรียกว่าโลก ถ้าไม่เช่นนั้นแล้ว คำว่า "โลก" ก็จะไม่มี

โลกเกิดจากวัตถุอันหนึ่ง ซึ่งเป็นก้อนเล็ก ๆ อันเกิดจากฟองมหาสมุทรที่กระทบกัน แล้วกลายเป็นก้อนเล็ก ๆ ขึ้นก่อน

จะเรียกว่าอะไร ก็เรียกไม่ถูก เรียกว่า ธาตุอันหนึ่งก็แล้วกัน คือหมายถึงวัตถุธรรมชาติที่เกิดขึ้นเอง เป็นเอง แล้วค่อยขยายกว้างใหญ่ไพศาลจรดขอบเขตแม่น้ำและมหาสมุทรทั้งสี่ โดยมีจักรวาลเป็นขอบเขต แล้วค่อยปริออกเป็นส่วนเล็ก ๆ น้อย ๆ แปรสภาพเป็นรูปลักษณะต่าง ๆ กัน มีอวัยวะครบบริบูรณ์ แล้วมีจิตวิญญาณซึ่งคุ้นเคยเป็นกันเอง เข้ามาครอบครอง ทำหน้าที่บังคับบัญชาธาตุนั้น ๆ ให้เป็นไปตามวัตถุของโลก ซึ่งเราเรียกกันว่า "คน" นั่นเอง

#แต่ละคนหรือตัวตนที่สมมติว่าคนนี้ #ก็ต้องเสื่อมสลายไปในวันหนึ่งข้างหน้าเช่นเดียวกัน

แม้ในเดี๋ยวนี้ คนหรือที่เรียกว่ามนุษย์สัตว์โลกหรือมนุษย์โลกก็กำลังเสื่อมไปอยู่ทุก ๆ วัน ดังที่พระพุทธเจ้าได้ตรัสไว้เมื่อพระองค์ทรงสำเร็จโพธิญาณใหม่ ๆ ว่า

มนุษย์ชาวโลกนี้มีอายุประมาณ 100 ปี ระยะเวลาผ่านไป 100 ปี อายุคนจะลดน้อยถอยลงมาปีหนึ่ง ปัจจุบันนี้พระพุทธองค์นิพพานไปได้ประมาณ 2,500 ปีแล้ว อายุของมนุษย์จะเสื่อมลงคงเหลือประมาณ 75 ปี

ถ้าคำนวณตามแบบนี้ อายุของมนุษย์ก็จะเสื่อมเร็วนักหนา อายุของมนุษย์จะเสื่อมลงไปอย่างนี้เรื่อย ๆ จนกระทั่งเหลือ 10 ปีก็มีครอบครัว เป็นผัวเมียสืบพันธุ์กัน

#แม้สัตว์เดรัจฉานอื่นๆก็เสื่อมลงโดยลำดับเช่นเดียวกับมนุษย์

ดินฟ้าอากาศก็เปลี่ยนแปลงปรวนแปรเป็นไปต่าง ๆ จนเป็นเหตุให้เกิดกลียุคฆ่าฟันกันตายเป็นหมู่ ๆ เหล่า ๆ สัตว์ตัวใหญ่ที่มีอิทธิพลก็ทำลายสัตว์ตัวน้อย ให้ล้มตายหายสูญเป็นอันมาก

มนุษย์จะกลายเป็นคนไม่มีพ่อแม่ พี่น้อง หรือญาติวงศ์ซึ่งกันและกัน เมื่อเห็นหน้ากันและกัน ก็จับไม้ค้อนก้อนดินขึ้นมา กลายเป็นศาสตราวุธ ประหัตประหารฆ่ากันตายเป็นหมู่ ๆ เรื่องศีลธรรมไม่ต้องพูดถึงเลย

แม่น้ำลำคลอง ห้วย หนอง คลอง บึง ก็เหือดแห้งเป็นตอน ๆ ฝนไม่ตกเป็นหมื่น ๆ แสน ๆ ปี มีแต่เสียงฟ้าร้องครืน ๆ แต่ไม่มีฝนตก

เมื่อเป็นเช่นนั้น น้ำในทะเลอันใหญ่โตกว้างขวางและลึกจนประมาณมิได้ก็เหือดแห้งกลายเป็นทะเลทราย ปลาตัวหนึ่ง ซึ่งใหญ่ที่สุดในโลกมีชื่อว่า "ติมิงคละ" ก็นอนตายอยู่บนกองทราย และโดยอำนาจของแดดเผาผลาญ ทำให้ปลาตัวนั้น มีน้ำไหลออกบังเกิดเป็นไฟลุกท่วมท้น ทำให้มนุษย์โลกทั้งหลายฉิบหายเป็นจุณวิจุณ

#เขาเรียกว่าไฟบรรลัยโลก

โลกนี้ทั้งหมดก็จะกลายเป็นอัชฌัตตากาศอันว่างเปล่า สัตว์ที่มีวิญญาณก็จะขึ้นไปเกิดในภพของพรหมชั้นอาภัสสระ ซึ่งไฟนั้นไหม้ไม่ถึง

ในหนังสือ ไตรโลกวิตถาร ท่านกล่าวว่า โลกนี้ทั้งหมดจะต้องฉิบหายโดยอาการ 3 อย่าง คือ ราคะ โทสะ โมหะ 3 ประการนี้เป็นเหตุ

สัตว์หนาไปด้วยราคะ โลกนี้จะต้องฉิบหายด้วยน้ำ
สัตว์หนาไปด้วยโทสะ โลกก็จะต้องฉิบหายด้วยไฟ
สัตว์หนาไปด้วยโมหะ โลกจะต้องฉิบหายด้วยลม

#โลกจะต้องฉิบหายด้วยการบรรลัยโลกกันอยู่อย่างนี้

ในระหว่างกัลป์ใหญ่ ๆ ไฟบรรลัยโลกเล็ก ๆ ที่เกิดในระหว่างกัลป์ใหญ่ ๆ นี้ มีปัญหาน่าพิจารณา น้ำราคะอันมีอยู่ในมนุษย์ชาวโลกแต่ละคนมีอยู่น้อยนิดเดียว ทำไมท่านแสดงว่าสามารถท่วมโลกได้จนเป็นน้ำบรรลัยโลก โทสะและโมหะก็เหมือนกัน อยู่ในตัวมนุษย์โลกซึ่งมองไม่เห็น ทำไมจึงแสดงฤทธิ์ใหญ่โตจนไหม้โลกและพัดเอาโลกจนฉิบหาย ขอนักปราชญ์เจ้าจงใช้ปัญญาพิจารณาให้ถ่องแท้ เห็นจะไม่ท่วมโลกและเผาโลกให้ฉิบหายเป็นกัปป์เป็นกัลป์ดังว่านั้นก็ได้ พวกเราชาวโลกผู้มีน้ำและไฟหรือลมอยู่ในตัวนิดหน่อยนี้คงจะมองเห็นฤทธิ์เดช เรื่องของทั้ง 3 นี้ ว่ามีฤทธิ์เดชเพียงใด

ราคะ คือ ความกำหนัดยินดีในสิ่งสารพัดวัตถุทั้งปวงมีผัวเมียเป็นต้น มันท่วมท้นอยู่ในอกโดยความรักใคร่อันหาประมาณมิได้
โทสะ คือ ไฟกองเล็ก ๆ นี้ก็เหมือนกัน มันไหม้เผาผลาญสัตว์มนุษย์ไม่มีที่สิ้นสุด จนกินไม่ได้นอนไม่หลับ
โมหะ ก็เช่นเดียวกัน มันพัดเอาฝุ่นละอองกิเลสภายนอกและภายในมาท่วมทับหัวอกของคนจนมืดมิด ให้เข้าใจว่า สิ่งที่ผิดเป็นถูก

ของ 3 อย่างนี้มีฤทธิ์มีเดชมหาศาลสามารถทำลายโลกให้เป็นกัปป์กัลป์ได้ แต่ละกัปป์นั้นท่านถึงไม่ได้แสดงมีอายุเวียนมาสักเท่าไร เป็นแต่แสดงว่ากัปป์เล็กในระหว่างกัปป์ใหญ่ เห็นจะเพราะน้ำราคะ ไฟโทสะ ลมโมหะ เพียงแต่พูดเปรย ๆ เพื่อให้นักปราชญ์ผู้มีปรีชาเอามาคิด เพื่อไม่ให้หลงผิด ๆ ถูก ๆ รู้จักชัดแจ้งโดยใจตัวเอง ชัดแจ้งด้วยใจของตนแล้วนำมาพิจารณาเฉพาะตน ๆ ..."

แหล่งที่มา : หนังสือ เทสรังสีอนุสรณาลัย พิมพ์แจกจ่ายเป็นธรรมวิทยาทาน และเป็นอนุสรณ์เนื่องในงานพระราชทานเพลิงศพ พระราชนิโรธรังสีคัมภีรปัญญาวิศิษฏ์ (หลวงปู่เทสก์ เทสรังสี) ณ เมรุพิเศษวัดหินหมากเป้ง อ.ศรีเชียงใหม่ จ.หนองคาย









#ทุกข์หมดไปไม่เป็น

“ทุกข์” ควร “กำหนดรู้”
“ไม่ใช่” “ปฏิบัติ” แล้ว “หมดทุกข์”
“ทุกข์” หมดไป “ไม่เป็น

เมื่อ “กาย” กับ “จิต” ยัง “อาศัย” กัน ทุกข์ของ “ขันธ์” ยังมีตลอดเวลา แต่จิตที่จะไปติดข้องที่จะไปยึดถือ ไปลุ่มหลง ว่าทุกข์ให้โทษแก่เราอย่างนั้นอย่างนี้ ควรจะให้มันหายออกไป ไม่ควรจะมาบีบบังคับกายใจเรา “ถ้าคิดไปอย่างนั้น”... คิดไปเท่าไหร่ก็ยิ่งเพิ่มเติมขึ้น

เพราะสิ่งนั้น มันเป็น “ของจริง” ของมัน..... จะขับไล่มันไปที่ไหน มันไปไม่ได้.....“ให้กำหนดรู้ตามจริง” ของมัน ว่า “นี่คือทุกข์”

แต่ผู้ที่ไป “รู้ทุกข์” เป็น “ทุกข์” หรือไม่ นั่นแหละ เป็นเรื่องที่ “ควรกำจัด” เป็นเรื่องที่ควร “ปฏิบัติ” เพื่อ “ทราบตามความเป็นจริง”

“ทุกข์” คือ “เวทนา” ตัวหนึ่ง
“จิต” ผู้มา “รู้” ก็เป็นอีกอันหนึ่ง ไม่ใช่เวทนา ที่เกิดขึ้นแล้วดับไป

ความรู้นี้ จะเป็นสุขก็ตาม เป็นทุกข์ก็ตาม เฉยๆก็ตาม

“จิต” มัน “รู้” ตื่นอยู่ หลับอยู่ มันก็ “รู้” นี่คือเรื่องของ “จิต”

#พระอาจารย์สิงห์ทอง #ธัมมวโร








อาตมาเป็นพระอาภัพ นรกสวรรค์ก็ไม่เคยไป ที่รู้ๆ คือเป็นธาตุของความว่างนั่นแหละ

ท่านพ่อเยื้อน ขันติพโล


แสดงโพสต์จาก:  เรียงตาม  
กลับไปยังกระทู้  [ 1 โพสต์ ] 

เขตเวลา GMT + 7 ชั่วโมง


 ผู้ใช้งานขณะนี้

กำลังดูบอร์ดนี้: ไม่มีสมาชิก และ บุคคลทั่วไป 34 ท่าน


ท่าน ไม่สามารถ โพสต์กระทู้ในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ ตอบกระทู้ในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ แก้ไขโพสต์ของท่านในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ ลบโพสต์ของท่านในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ แนบไฟล์ในบอร์ดนี้ได้

ค้นหาสำหรับ:
ไปที่:  
Google
ทั่วไป เว็บธรรมจักร