วันเวลาปัจจุบัน 18 เม.ย. 2024, 23:24  



เขตเวลา GMT + 7 ชั่วโมง




กลับไปยังกระทู้  [ 1 โพสต์ ]    Bookmark and Share
เจ้าของ ข้อความ
โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 20 ก.ย. 2021, 05:19 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
อาสาสมัคร
อาสาสมัคร
ลงทะเบียนเมื่อ: 06 มี.ค. 2009, 10:48
โพสต์: 5091


 ข้อมูลส่วนตัว


…”ความสงบ”

เป็นพื้นฐานของการหลุดพ้น.
………………………………………….
.
พระอาจารย์สุชาติ อภิชาโต
วัดญาณสังวรารามฯ ชลบุรี
จุลธรรมนำใจ 14 กัณฑ์ที่ ๓๘๓
๑๕ มิถุนายน ๒๕๕๑







#ธรรมนั้นมีอยู่ทุกหย่อมหญ้า

".. ทุกวันนี้น้อยคนจะรู้ว่าเมื่อ ๑๐๐ ปีที่แล้ว “#พระป่า” หาได้เป็นที่ยอมรับนับถืออย่างกว้างขวางเช่นปัจจุบันไม่ ตรงกันข้ามกลับถูกมองด้วยสายตาหวาดระแวง ยิ่งพระป่าสายอีสานที่เป็นลูกศิษย์ของ #หลวงปู่มั่น_ภูริทตฺโต ด้วยแล้ว ผู้ปกครองสงฆ์ในเวลานั้นถือว่าเป็นตัวปัญหาที่ต้องจัดการ หรือไม่ก็ต้องขับไล่ออกไปให้พ้นจากเขตปกครองเลยทีเดียว เพราะมองว่าพระเหล่านั้นนอกจากอยู่อย่างไม่เป็นหลักแหล่ง ไม่สังกัดวัดที่แน่นอนแล้ว ยังไม่สนใจศึกษาพระปริยัติธรรม อันเป็นนโยบายสำคัญของคณะสงฆ์ขณะนั้น มิหนำซ้ำยังชักชวนพระจำนวนไม่น้อยให้ละทิ้งปริยัติธรรม หันมาฝักใฝ่ในวิปัสสนากรรมฐาน ซึ่งผู้ปกครองสงฆ์จำนวนไม่น้อยเห็นว่าเป็นเรื่องงมงายไม่เป็นเหตุผลตามหลักพุทธศาสนา.. "

.. เหตุการณ์หนึ่งซึ่งเป็นที่กล่าวขานกัน ใน
เวลานั้นก็คือการขับไล่คณะศิษย์ของหลวงปู่มั่นออกจากจังหวัดอุบลราชธานี ในพ.ศ. ๒๔๖๙ คราวนั้น #พระอาจารย์สิงห์_ขนฺตยาคโม ซึ่งเป็นศิษย์คนสำคัญของหลวงปู่มั่นนำพระป่ากว่า ๕๐ รูปเดินธุดงค์มาปักกลดในป่าบ้านหัวตะพาน โดยมีแม่ชีและฆราวาสนับร้อยร่วมคณะมาด้วย

.. เมื่อทราบข่าว เจ้าคณะมณฑลอุบลราชธานี ได้สั่งการให้เจ้าคณะอำเภอและเจ้าหน้าที่จากอำเภออำนาจเจริญ และม่วงสามสิบขับไล่ท่านเหล่านั้นออกจากป่า ขณะเดียวกันก็ห้ามมิให้ประชาชนใส่บาตรให้คณะธุดงค์ แต่พระอาจารย์สิงห์ปฏิเสธที่จะออกจากพื้นที่ โดยยืนยันว่าท่านเป็นชาวอุบล และไม่ได้ก่อปัญหาใด ๆ เจ้าหน้าที่อำเภอตอบโต้ด้วยการควบคุมตัวพระอาจารย์สิงห์และคณะ เรื่องทำท่าจะบานปลาย แต่ในที่สุดก็ยุติลงได้เมื่อเจ้าคณะจังหวัดมีลิขิตถึงนายอำเภอให้ผ่อนปรน หลังจากที่ได้รับการร้องขอจากศิษย์หลวงปู่มั่น

.. เจ้าคณะมณฑลอุบลราชธานีท่านนี้ คือพระโพธิวงศาจารย์ (#อ้วน_ติสฺโส) อย่างไรก็ตามเมื่อท่านได้เลื่อนสมณศักดิ์เป็นพระพรหมมุนี ทัศนคติของท่านต่อพระป่าก็เปลี่ยนไปอย่างสิ้นเชิง ท่านหันมาศรัทธาเลื่อมใสหลวงปู่มั่นและพระป่า สาเหตุสำคัญก็เพราะท่านได้ประจักษ์ถึงคุณค่าของสมาธิภาวนา...

.. ก่อนหน้านั้นท่านล้มป่วยมาเป็นเวลานาน
แต่ได้รับการเยียวยาจนหายขาดจาก
#พระอาจารย์ฝั้น ซึ่งไม่เพียงใช้สมุนไพร หากยังอาศัยสมาธิภาวนาในการรักษาด้วย และยิ่งมีศรัทธาปสาทะในกรรมฐานมากขึ้น เมื่อได้รับคำแนะนำจาก #พระอาจารย์ลี_ธมฺมธโร แห่งวัดอโศการาม ซึ่งเป็นลูกศิษย์อีกท่านหนึ่งของหลวงปู่มั่น

อานิสงส์ของสมาธิภาวนานั้นประจักษ์แก่ท่านอย่างชัดเจน จนถึงกับอุทานว่า “#ตลอดชีวิตของเรา_เราไม่เคยนึกมาก่อนเลยว่า #สมาธิภาวนาจะมีประโยชน์ถึงเพียงนี้”

.. ในเวลาต่อมาท่านได้เลื่อนสมณศักดิ์เป็นสมเด็จพระมหาวีรวงศ์ ดำรงตำแหน่งสังฆนายก ทำหน้าที่ปกครองทั้งสังฆมณฑล ตามกฎหมายคณะสงฆ์ในเวลานั้น ในช่วงนี้เองที่ท่านได้พบกับหลวงปู่มั่น หลังจากที่ได้ยินกิตติศัพท์ของท่านมานานผ่านลูกศิษย์ของท่าน เมื่อได้สนทนาธรรมกับหลวงปู่มั่น สมเด็จ ฯ อดพิศวงไม่ได้ในความลุ่มลึกแห่งธรรมของท่าน ขณะเดียวกันก็แปลกใจว่าหลวงปู่มั่นเข้าใจธรรมอย่างลึกซึ้งได้อย่างไร ในเมื่อท่านเรียนปริยัติธรรมน้อยมาก นอกจากไม่ได้เป็นเปรียญแล้ว ยังไม่สำเร็จนักธรรมเอกด้วย

.. ในทัศนะของสมเด็จ ฯ คนเราจะเข้าใจธรรมได้ก็ต้องผ่านการศึกษาจากตำรา ตัวท่านเองก็ได้รับการศึกษาในทางปริยัติธรรมสูงถึงระดับเปรียญโท แต่ก็ยังมีความรู้ทางธรรมไม่เท่าหลวงปู่มั่นซึ่งครั้งหนึ่งถูกมองว่าเป็น
“#พระจรจัด”

".. ด้วยความสงสัยดังกล่าว สมเด็จ ฯ จึงถามหลวงปู่มั่นว่า ในเมื่อท่านอยู่แต่ในป่า ไม่มีตำรา จะเรียนรู้ธรรมจนสอนพระและญาติโยมได้อย่างไร.."

หลวงปู่มั่นตอบสั้น ๆ ว่า “#ธรรมนั้นมีอยู่ทุกหย่อมหญ้าสำหรับผู้มีปัญญา.. ”

#จากหนังสือลำธารริมลานธรรม
#โดยพระไพศาล_วิสาโล









#พ่อแม่คือคุณธรรมที่ใหญ่ที่สุดในโลก

หลวงปู่สังข์ สังกิจโจ วัดป่าอาจารย์ตื้อ อ.แม่แตง จ.เชียงใหม่ ท่านได้เมตตาให้โอวาทตอนหนึ่งไว้ว่า

"อะไรเป็นธรรม อะไรเป็นคุณธรรมสูงสุดในโลก คือ คุณพ่อกับคุณแม่ สองคนนี่แหละเป็นคุณธรรมที่ใหญ่ที่สุดในโลก นั่งในนี้แม่นหมดนั้นแหละ ออกมาจากคุณธรรมนั่นแหละ คุณพ่อกับคุณแม่ เป็นหลักในโลกนี้ อันนี่พูดสามัญ ถ้าพูดเป็นศัพท์ก็คือ คุณบิดา คุณมารดา โลกนี้จะใหญ่กว้างแค่ไหนก็ตามมองสุดสายตา น้ำทะเลจะลึกเท่าไหร่ตัวเราประมาณไม่ได้ ในโลกกว้างใหญ่ สู้คุณบิดา มารดา ไม่ได้ อันนี้คืออะไรนี่ อย่าไปลืมเน้อ..ถ้าคนไม่ลืม..รวยขนาด..หนึ่งในโลกเลยหนา เราเกิดมาจากตรงนั้น ไม่มีคุณพ่อ คุณแม่เราเกิดไม่ได้ นั่งเต็มอยู่เนี่ย.. เข้าใจบ้อ"

หลวงปู่สังข์ สังกิจโจ








#รักษาศีล_รักษาที่ใจ..

ถาม : ในตำราว่าไว้ว่า "#รักษากายวาจาให้เรียบร้อยเรียกว่าศีล" จึงเข้าใจว่า "#การรักษาศีลไม่จำเป็นต้องรักษาใจก็ได้" จึงเรียนถามอย่างนั้น

หลวงปู่ตอบว่า : ที่ว่ารักษากายวาจาให้เรียบร้อยเป็นศีลนั้นก็ถูก "#แต่ก่อนกายวาจาจะเรียบร้อยเป็นศีลได้นั้น #ต้นเหตุเป็นมาจากอะไรถ้าไม่เป็นมาจากใจ" ผู้เป็นนายคอยบังคับกายวาจาให้เป็นไปในทางที่ถูก

".. เมื่อเป็นมาจากใจ ใจควรประพฤติปฏิบัติอย่างไรต่อตัวเองบ้าง" จึงจะควรเป็นผู้ควบคุมกายวาจาให้เป็นศีลเป็นธรรมที่น่าอบอุ่นแก่ตนเองและน่าเคารพเลื่อมใสแก่ผู้อื่นได้

"ไม่เพียงแต่ศีลธรรม ที่จำต้องอาศัยใจเป็น
ผู้คอยควบคุมรักษาเลย แม้กิจการอื่น ๆ ก็จำต้องอาคัยใจเป็นผู้ควบคุมดูแลอยู่โดยดี การงานนั้น ๆ จึงจะเป็นที่เรียบร้อย" ไม่ผิดพลาดและทรงคุณภาพโดยสมบูรณ์ตามชนิดของมัน .. "

#หนังสือบูรพาจารย์
#หลวงปู่มั่น_ภูริทัตโต








#คำว่าพุทโธๆ ๆ นี้มันไม่ได้ติดตามไปกับสมาธิ
พอจิตสงบเป็นสมาธิแล้วมันทิ้งทันที ทิ้งแล้วมันก็ได้แต่สงบนิ่ง
แต่อนุสติ ๒ คือ กายคตานุสติ อานาปานสติ
ถ้าตามหลักวิชาการท่านว่า ได้ทั้งสมถะทั้งวิปัสสนา
ทีนี้ถ้าเราภาวนาพุทโธ เมื่อจิตสงบนิ่ง สว่าง รู้ ตื่น เบิกบาน
ถ้ามันเพ่งออกไปข้างนอก ไปเห็นภาพนิมิต
ถ้าหากว่านิมิตนิ่งไม่มีการเปลี่ยนแปลงก็เป็นสมถกรรมฐาน
ถ้าหากนิมิตเปลี่ยนแปลงก็เป็นวิปัสสนากรรมฐาน

#เถระธรรมพระอาจารย์เสาร์ กันตสีโล








#สมาธิของหลวงพ่อชา

"... บ่อยครั้งที่ญาติโยมมากราบ...
#หลวงพ่อชา_สุภทฺโท เพียงเพราะอยากได้ “#ของดี” เช่น วัตถุมงคล หรือไม่ก็อยากฟังเรื่องอิทธิปาฏิหาริย์ ชาตินี้ชาติหน้า ฯลฯ บางคนก็หวังเพียงแค่อยากได้ “#บุญ” ที่มากราบท่าน แต่หลวงพ่อมักให้ธรรมแก่เขาไป รวมทั้งชวนเขาทำสมาธิภาวนาด้วย แต่หลายคนก็ไม่สนใจ เหตุผลหนึ่งที่คนมักอ้างกันก็คือ...
“#ไม่มีเวลา”

#แล้วมีเวลาหายใจหรือเปล่าล่ะ.. ”
ท่านถามเขากลับไป

ถ้ามีเวลาหายใจก็ย่อมต้องมีเวลาทำสมาธิภาวนาเพราะเป็นเรื่องเดียวกัน อันที่จริงการหายใจนั้นไม่ใช่เรื่องเสียเวลาเลย เพราะเรา
ทำตลอดเวลาที่ทำงานอื่นอยู่แล้ว ฉันใดก็ฉันนั้นสมาธิภาวนา

โดยเฉพาะการเจริญสติ ก็เป็นสิ่งที่เราสามารถทำพร้อมไปกับงานอื่นได้ ไม่จำเป็นต้องหาเวลาเฉพาะสำหรับกิจด้านนี้ นั่นเป็นเหตุผลข้อหนึ่งว่า แม้หลวงพ่อจะให้ความสำคัญกับสมาธิภาวนา แต่กิจวัตรอย่างหนึ่งของวัดหนองป่าพงก็คือการทำงานร่วมกัน ไม่เว้นแม้แต่การใช้แรงงาน คราวหนึ่งขณะที่พระเณรทั้งวัดกำลังขนดินขึ้นไปใส่สนามหญ้ารอบโบสถ์ โดยมีหลวงพ่อยืนสั่งงานอยู่ มีหนุ่มใหญ่กลุ่มหนึ่งเดินมาเห็นเข้า จึงมายืนดูอยู่ใกล้ ๆ แต่กิริยาท่าทางไม่ค่อยสุภาพอ่อนน้อมเท่าไรนัก มีคนหนึ่งถามท่านห้วน ๆ ว่า “#ทำไมท่านไม่พาพระเณรนั่งสมาธิ_ชอบพาทำงานอยู่เรื่อย”

“#นั่งมากมันขี้ไม่ออกว่ะ” คือคำตอบของหลวงพ่อ

วัยรุ่นกลุ่มนั้นรู้สึกงุนงงต่อคำตอบของท่าน แล้วท่านก็ยกไม้เท้า ชี้ไปยังชายหนุ่มผู้นั้น
ก่อนที่จะพูดต่อว่า “ที่ถูกนั้น นั่งอย่างเดียวก็ไม่ใช่ เดินอย่างเดียวก็ไม่ใช่ ต้องนั่งบ้าง ทำประโยชน์บ้าง และทำความรู้ความเห็นให้ถูกต้องไปทุกเวลานาที อย่างนี้จึงจะถูก กลับไปเรียนมาใหม่ นี้ยังอ่อนอยู่มาก เรื่องการปฏิบัตินี้ถ้าไม่รู้จริง อย่าพูด มันจะขายขี้หน้าตัวเอง”

สมาธิภาวนาไม่ได้หมายถึงการนั่งหลับตาอยู่คนเดียว แต่หมายถึงการฝึกอบรมจิตให้งอกงาม มีสติ สมาธิ เมตตา และปัญญา เป็นต้น ไม่ว่าอยู่ที่ไหน ทำอะไร ก็ล้วนเป็นโอกาสสำหรับการฝึกอบรมจิตทั้งสิ้น หากไม่เข้าใจแก่นแท้ของสมาธิภาวนาก็ย่อมคิดไม่ต่างจากวัยรุ่นกลุ่มนี้

#จากหนังสือ_ลำธารริมลานธรรม
#โดยพระไพศาล_วิสาโล







"เกิดแล้วต้องตาย ไม่ตายวันนี้ วันหน้าก็ตาย
ไม่ตายเดือนนี้ เดือนหน้าก็ตาย ไม่ตายปีนี้
ปีต่อๆ ไปก็ตายได้ ให้รู้ไว้ให้เข้าใจไว้

แล้วจิตใจอย่าได้มัวเมาหลงไหลไปกับกิเลสกาม
วัตถุกาม มาหลงร้องไห้ หัวเราะอยู่นี้ ไม่มีที่สิ้นสุด
ก้อนทุกข์ กองทุกข์เต็มตัวทุกคน

จงภาวนาดูให้รู้แจ้ง ด้วยสติ ปัญญา
ไม่ใช่คนอื่นจะมาทำให้ ปฏิบัติให้ ไม่มี
ตัวเองนั่นแหละ ปฏิบัติตัวเอง"

หลวงปู่สิม พุทธาจาโร







#โอวาทธรรมหลวงปู่หลุย

หลวงปู่หลุย จนฺทสาโร ท่านได้กล่าวถึงความสำคัญของ การรักษาศีล โดยเฉพาะในวันอาทิตย์ ท่านจะเน้นให้บรรดาศิษย์ รักษาเพิ่มจาก ศีล 5 เป็น ศีล 8

ท่านได้อธิบายอานิสงส์ของศีลให้ฟังว่า

ศีล 5 นี้ พระพุทธเจ้า ท่านมีเมตตาต่อผู้ครองเรือน ผู้รักษาศีล 5 ย่อมสำเร็จโสดาบันได้ สำหรับศีล 8 ย่อมช่วยให้สามารถสำเร็จถึงอนาคามีได้

พระธรรมเทศนาของท่าน จะย้ำเสมอเรื่องการบริจาคทาน การรักษาศีล และการเจริญภาวนา

ท่านมักจะเน้นเรื่องศีลอยู่เสมอ เพราะ ศีล แปลว่า ความปกติ เป็นการรักษาใจให้ปกติ อันเป็นบาทเบื้องต้นของการภาวนา หากรักษาศีลได้บริสุทธิ์ การภาวนาก็จะก้าวหน้ารวดเร็ว ผู้มีศีลย่อมต้องมีจิตใจผ่องใส เป็นที่รักของบุคคลทั้งหลาย ในสังคมที่อยู่ร่วมกันนี้ ถ้าทุกคนรักษาศีล 5 บ้านเมืองก็จะสงบราบรื่น ปราศจากขโมย ไม่มีการฆ่าฟันกัน

อานุภาพแห่งศีล ย่อมรักษาตัวผู้รักษาศีล และ สังคมโดยรอบได้

หลังจากได้ฟอกจิตด้วยการรักษาศีลแล้ว การบำเพ็ญทาน ก็เป็นส่วนหนึ่งที่จะทำให้จิตใจโน้มน้าวตัดความตระหนี่ให้มีใจเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ถึงกัน

ส่วนเรื่อง จิตภาวนา นั้น ท่านจะเน้นว่ามีอานิสงส์มาก ท่านกล่าวเสมอว่า กิเลสมีร้อยแปดประตู แต่พุทโธมีประตูเดียว เพราะฉะนั้น ให้ฝึกหัดปฏิบัติให้คุ้นเคย วาระที่เราจะเปลี่ยนภพเปลี่ยนชาติเป็นช่วงเวลาที่สำคัญที่สุด ดังนั้นจงเพียรฝึกจิตให้คุ้นไว้กับพุทโธ

ท่านละเอียดพิถีพิถันมากในทุกเรื่อง เป็นต้นแบบให้สาธุชนรู้จักฝึกตนให้รู้จักการกราบแบบเบญจางคประดิษฐ์ อย่างถูกต้อง คือ นอกจากเข่าทั้งสอง มือทั้งสอง ศอกจรดพื้น หน้าผากต้องแตะถีงพื้นด้วย จึงจะเป็นท่ากราบที่งดงาม

ในการกราบครั้งที่หนึ่งให้มีน้อมจิตรำลึกถึงคุณของพระพุทธเจ้า กราบครั้งที่สองให้นึกถึงพระธรรมคำสั่งสอนของท่านที่สืบต่อพระศาสนามาจนทุกวันนี้ กราบครั้งที่สามให้ระลึกถึงคุณของพระสงฆ์สาวกของพระพุทธองค์ ซึ่งเป็นสมมติสงฆ์แทนองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ในการกราบทุกครั้ง ต้องน้อมจิตให้รำลึกด้วยเสมอ จิตจะเอิบอาบในการบุญ จะเป็นจิตที่อ่อนน้อมควรแก่การงาน หากฝึกเช่นนี้เสมอ จะเป็นผู้นอบน้อมถ่อมตน

ให้ดูจิตของตัวเอง ภาวนาให้จิตใจสงบ มัธยัสถ์ปัจจุบัน ม้างกายให้มาก จะช่วยให้หมดความกำหนดหลงติดในสีสันของกามวัตถุ

ให้หมั่นมีเมตตากรุณาต่อสัตว์ทั้งหลาย อานิสงส์ของการช่วยชีวิตสัตว์ที่เขาจะนำไปฆ่า มีผลทำให้อายุยืน แม้ยามตกทุกข์ได้ยาก ก็จะมีคนมาช่วยเหลือ ไม่ติดคุกติดตาราง

หลักการม้างกาย ของท่าน คือ การพิจารณาปล่อยวางธาตุขันธ์ ส่วนการภาวนาหรือทำจิตทำใจ ให้ดูอาการของจิต ก่อนตาย อย่าไปดูอาการของเวทนา ให้ดูจิตอย่างเดียว เวลาธาตุจะตีลังกาเปลี่ยนภพ จิตจะออกจากร่าง ให้พิจารณาตามจิต จะเห็นว่า จิตจะออกจากร่างอย่างไร ไปอย่างไร จิตจะเข้าๆ ออกๆ อย่างไร จะมืดๆ สว่างๆ อย่างไร จะมีอาการเหนื่อยหอบมาก ให้กำหนดตามจิต จะเห็นอาการจิตชัด แต่หากตามไม่ทัน ก็ให้ปล่อยไปให้ได้ปัจจุบันขณะ

ท่านจะย้ำเสมอว่า อย่าไปตามดูอาการของเวทนา ให้ดูจิตอย่างเดียวและ ขอให้เร่งทำความเพียร มีความสามัคคี กลมเกลียวกัน

ธรรมโอวาท หลวงปู่หลุย จนฺทสาโร









หลวงพ่ออินทร์ถวาย.. ท่านปรารภถึงองค์พระหลวงตามหาบัว.. ที่หลวงตาเคยพูดไว้เรื่องเจดีย์.. เหตุที่หลวงตาท่านไม่อยากให้สร้างเจดีย์ เพราะ ไม่ค่อยมีประโยชน์กับโลก..

ท่านมองว่าเวลาคนมากราบเจดีย์ ก็มากราบประหลกๆ แล้วก็อธิษฐานไปทางโลกทางสงสาร เช่นว่า.. ขอให้รวย. ขอให้ได้ลูกเมียสามีดี. ขอให้การงานก้าวหน้า.. ฯลฯ

ขอแต่ทางที่จะทำให้พัวพันกับโลก. น้อยนักที่จะมาอธิษฐานในทางหลุดพ้นจากวัฏสงสาร.

ถ้าได้สร้างเป็นพิพิธภัณฑ์ ก็จะเป็นประโยชน์กับคนรุ่นต่อๆไปอีกนานเท่านาน. เพราะได้นำธรรมคำสอนของหลวงตา. ปฏิปทาของท่านที่จะเป็นแนวทางให้คนแสวงหาปฏิบัติเพื่อเป็นการหลุดพ้นไปได้.

ฟังเทศน์หลวงพ่ออินทร์ถวาย สันตุสสโก








พระอริยบุคคล เข้าสู่ปรินิพพาน ไม่อยู่ใต้อำนาจของเวทนา ไม่เหมือนกับปุถุชน ปุถุชนก่อนจะตายใจจะขาดจะดิ้นรน จะร้องไห้ฟูมฟาย

แต่พระอริยบุคคล ประคองจิตดูจิตของตัวเอง เดินออกจากร่าง เหมือนเราออกจากบ้านของเรา ออกจากบ้านของเราอย่างสง่างาม

นี่แหละจิตของพระอริยบุคคล ร่างกายนี้ มันจะเป็นยังไงก็แล้วแต่ ไม่มีคำว่าดิ้นกระวนกระวาย แนบนิ่งเหมือนคนนอนหลับธรรมดาๆ เมื่อจิตออกจากร่างแล้ว สีสันวรรณะยังเหมือนเดิม ไม่ฟกช้ำดำเขียว นั่นแหละพระอริยบุคคลเข้าสู่ปรินิพพาน

“นี่เป็นสิ่งที่ปรารถนาของผู้ปฏิบัติธรรมนะ”

หลวงปู่ยิ้มอย่างเมตตา และทิ้งท้ายด้วยประโยคนี้ ก่อนจะให้พร

เรียบเรียงจากการฟังเทศน์
หลวงปู่ไม_อินทสิริ (ช่วงตอบปัญหาธรรม)









#เรื่องสังขารนี้

สังขารมันปรุงแต่ง มันเกิด มันแก่ มันเจ็บ มันดับ เป็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา

วางอยู่นี่แหละ จิตดิ่งอยู่ในปัจจุบัน ละในปัจจุบัน สางในปัจจุบัน

ทำจิตใจของเราให้สว่างให้รู้แจ้ง ในมรรคในผล ในศีล สมาธิ ปัญญา เอาที่ใจนี้แหละ ให้มันสำเร็จขึ้นที่ใจ

ปภากโรวาท
หลวงปู่สิงห์ทอง ปภากโร
ถอดความจากหนังสือ ร่มธรรม ร่มเย็น









หลวงปู่อ่อน ญาณสิริ ท่านสอนว่า.. ธรรมะใดที่เราฟังแล้วทำให้จิตรวมได้ ธรรมะนั้นเป็นธรรมะจริง เข้ากับจิตเราได้ ให้ฟังบ่อยๆ

แต่ถ้าธรรมะใด ฟังแล้วเกิดความสนุกสนาน ธรรมนั้นไม่ได้ส่งถึงใจ จิตมันไม่รวม ฟังแล้วสนุกอยู่ที่หู ไม่เข้าถึงใจ ฟังไปนั้นเกิดประโยชน์น้อย หรือไม่เกิดประโยชน์เลย ท่านเรียกว่า ฟังเทศน์ไม่จริง

เรียบเรียงจากการฟังเทศน์หลวงปู่อ่อน ญาณสิริ (วัดป่านิโครธาราม) เรื่อง ฟังเทศน์ให้จริง


แสดงโพสต์จาก:  เรียงตาม  
กลับไปยังกระทู้  [ 1 โพสต์ ] 

เขตเวลา GMT + 7 ชั่วโมง


 ผู้ใช้งานขณะนี้

กำลังดูบอร์ดนี้: ไม่มีสมาชิก และ บุคคลทั่วไป 42 ท่าน


ท่าน ไม่สามารถ โพสต์กระทู้ในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ ตอบกระทู้ในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ แก้ไขโพสต์ของท่านในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ ลบโพสต์ของท่านในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ แนบไฟล์ในบอร์ดนี้ได้

ค้นหาสำหรับ:
ไปที่:  
Google
ทั่วไป เว็บธรรมจักร