วันเวลาปัจจุบัน 25 เม.ย. 2024, 07:25  



เขตเวลา GMT + 7 ชั่วโมง




กลับไปยังกระทู้  [ 1 โพสต์ ]    Bookmark and Share
เจ้าของ ข้อความ
โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 02 พ.ค. 2021, 06:26 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
อาสาสมัคร
อาสาสมัคร
ลงทะเบียนเมื่อ: 06 มี.ค. 2009, 10:48
โพสต์: 5091


 ข้อมูลส่วนตัว


…แต่ถ้าเราอยากจะให้จิตเรา
“ นิ่งสงบอย่างเต็มที่ “ นี้
เราต้องมีเวลาให้ร่างกายได้นั่งเฉยๆ
ไม่ทำอะไร

.เพราะถ้าร่างกายยังทำอยู่
แสดงว่า..ใจยังทำอยู่
ใจยังทำงานอยู่ ใจยังคิดอยู่
ใจยังต้องสั่งร่างกายให้เคลื่อนไหวอยู่
“ ใจก็จะไม่สงบเต็มที่ “

.ถ้าอยากจะให้สงบเต็มที่
ก็ต้องมานั่ง
แต่เวลาฝึกสตินี้..ไม่ต้องนั่งเฉยๆ
ฝึกได้ในทุกอิริยาบถของการเคลื่อนไหว
แต่มันจะ ”ไม่สงบนิ่งเหมือนกับนั่งสมาธิ “.

……………………………………………
คัดลอกการแสดงธรรม
ธรรมะหน้ากุฎิ
พระอาจารย์สุชาติ อภิชาโต
วัดญาณสังวรารามฯ ชลบุรี








บางคนที่มาวัด เข้ามากราบอาตมาในศาลา ชมว่า
ที่นี่ร่มรื่นดีนะครับ น่าอยู่ เสร็จแล้วก็กราบลากลับบ้าน..
เขาได้บุญไหม คงได้เหมือนกัน แต่เสียดายว่า ไม่ได้มากกว่านั้น

ประโยชน์ประการแรกที่เกิดจากการเข้าวัดป่า คือ
การสัมผัสกับธรรมชาติ มองไปทางไหน ไม่มีป้ายโฆษณา
ไม่มีสิ่งใดบาดตา หรือกระตุ้นกิเลส กายกับใจรู้สึกเย็นลงทันที
แค่นี้ก็เป็นบุญอยู่แล้ว แต่ในระยะยาว คงจะมีผลต่อชีวิตน้อย
ฉะนั้นถวายทานแล้ว หลวงพ่อประธานสงฆ์ว่า ให้ไปสนทนาธรรมกับท่านบ้างก็ดี
สนทนาไม่เป็น ขอท่านเมตตาให้ธรรมะสักข้อหนึ่งก็ได้ ท่านไม่ว่าง หรือ
เราไม่กล้าจริง ๆ ก็ไปหาที่เงียบ แล้วนั่งสมาธิสักเล็กน้อยก่อนกลับ
เข้าวัดอย่างนี้ ครูอาจารย์ท่านชื่นใจ

เข้ามาในวัดคือเข้าในแดนอภัย เป็นที่ปลอดจากการเอารัดเอาเปรียบ
เป็นที่ที่ไม่ต้องมีการแก่งแย่ง ชิงดีชิงเด่นกัน อยู่วัดไม่ต้องแข่งขันกับใคร
ไม่ต้องระแวงใคร ไม่ต้องยุ่ง สังคมไทยโชคดีที่มีที่ที่ประเสริฐอย่างนี้
เป็นที่ที่สนับสนุนส่วนที่ดีของมนุษย์ และเป็นที่ชุมนุมของคนดี

และผู้ที่ต้องการเพิ่มความดีของตนถึงจะมีเวลาจำกัด เข้าวัดแล้วไม่ต้องรีบ
วันหนึ่งอย่ามีรายการแน่นเกินไป โยมบางคณะ วันหนึ่งไปทำบุญถึงสิบวัดก็มี
หัวหน้าทัวร์เดินเข้าศาลาหน้าเครียด ดูนาฬิกาตลอดเวลา
เจ้าอาวาสองค์ไหนให้โอวาทนานไปหน่อย (เช่น อาตมาเป็นต้น)
ก็ชักกระวนกระวาย ไปเยี่ยมวัดเอาพอดีกับเวลา พอดีกับกำลังไม่ดีกว่าหรือ

บุญ คือ ชื่อของความสุข และอย่าลืมว่า
การเดินทางแสวงบุญไม่ใช่การไปหาสิ่งนอกตัวเรา
ที่แท้เป็นการแสวงหาโอกาสบำรุงบุญซึ่งอยู่ในใจเราตั้งแต่ยังไม่ออกเดินทาง
วัดเป็นที่อยู่ของพระสงฆ์ เข้าวัดแล้วให้สังเกตความเรียบร้อย ความเรียบง่าย
ความสะอาดสะอ้าน ดูความสำรวมของพระภิกษุสามเณร ระลึกว่ายังมีผู้มุ่งมั่น
ในชีวิตพรหมจรรย์เพื่อประโยชน์ตนและผู้อื่นเหมือนสมัยก่อน ยังไม่เสื่อม
น่าเลื่อมใส พิจารณาว่า ท่านกำลังสืบต่ออายุของบรมพุทธศาสนา
แล้วเราทำบุญกับท่าน เราก็มีส่วนในการบำรุงพระศาสนาเหมือนกัน
คิดถูกทางแล้วจะเกิดปิติ หลวงพ่อผู้เป็นประธานสงฆ์ให้ข้อคิดอะไรก็ตั้งใจฟัง
และพยายามจำไว้ เพื่อเป็นของดีติดตัวกลับบ้าน

พระอาจารย์ชยสาโร









"วิธีขออโหสิกรรม" ต่อ "พ่อ - แม่ที่ยังมีชีวิตอยู่" และ "พ่อ - แม่ที่เสียชีวิตไปแล้ว"

"วิธีใช้หนี้พ่อแม่ไม่ยากเลยลูกทั้งหลายเอ๋ย...จงสร้างความดีให้กับตัวเอง การใช้หนี้ตัวเองเป็นเรื่องสำคัญ

ตัวเราพ่อให้หัวใจ - แม่ให้น้ำเลือดน้ำเหลือง เราจะไปแสวงหาพ่อที่ไหนจะไปแสวงหาแม่ที่ไหนอีกเล่า

บางคนรังเกียจ "พ่อ - แม่" ว่าแก่เฒ่าไม่สวยไม่งาม พอตัวเองแก่ก็เลยถูกหลานรังเกียจ เป็นกงกรรมกงเกวียนยืดเยื้อกันต่อไป ใครที่เคยทำไม่ดีไว้กับพ่อ - แม่ ให้ขออโหสิกรรมท่านซะ

คนที่ "พ่อ - แม่ที่ยังมีชีวิตอยู่" เมื่อถึงวันเกิดของเราให้ซื้อเสื้อผ้าใหม่ให้พ่อ - แม่คนละ ๑ ชุด ผ้าเช็ดตัว ๑ ผืน

ตื่นเช้ามาไหว้พระสวดมนต์ จัดหาอาหารที่พ่อ - แม่ชอบ ให้ท่านรับประทานแล้วให้ท่านนั่งบนเก้าอี้พร้อมกันเอากะละมังใส่น้ำมาล้างเท้าท่านเอาผ้าเช็ดตัวมาเช็ดให้แห้ง เอาเสื้อผ้าที่ซื้อมาให้ท่าน แล้วพูดว่า

"กรรมใดที่ลูกได้ล่วงเกินคุณพ่อ - คุณแม่ ด้วยกายก็ดี ด้วยวาจาก็ดี ด้วยใจก็ดี ขอให้คุณพ่อ - คุณแม่อโหสิกรรมให้แก่ลูกด้วย"

เสร็จแล้วกราบเท้าท่าน ๓ ครั้ง เอาเท้าท่านทั้ง ๒ คนละข้าง เหยียบที่ศีรษะเรา ให้ท่านให้พรเรา นั่นแหละถึงจะล้างกรรมกันได้

พระพุทธเจ้าทรงตรัสแสดง "วิธีตอบแทนพระคุณพ่อ - แม่" แก่คฤหบดีบุตรที่ชื่อ "สิงคาลกะ" ว่า...

ดูกรคฤหบดีบุตรเมื่อพ่อแม่ได้อนุเคราะห์บุตรธิดาแล้วลูกหญิงชายพึงตอบแทนท่านโดยวิธี ๕ คือ

๑.ท่านเลี้ยงมาแล้ว เลี้ยงท่านตอบ
๒.ช่วยประกอบกิจของท่านไม่ดูดาย
๓.ดำรงวงศ์สกุลไม่ให้เสื่อมเสียหาย
๔.ประพฤติตนให้สมควรได้รับมรดก
๕.เมื่อท่านล่วงลับจากโลกไป ทำบุญอุทิศให้แก่ท่าน

สำหรับ "พ่อ - แม่ที่เสียชีวิตไปแล้ว" ให้กล่าวคำขออโหสิกรรมต่อท่าน โดยกล่าวดังนี้

"กายกัมมัง - วจีกัมมัง - มโนกัมมัง โยโทโส... อันว่าโทษทัณฑ์อันใด ที่ข้าพเจ้าพลั้งเผลอสติไป ด้วยกายก็ดี ด้วยวาจาก็ดี ด้วยใจก็ดี ทั้งต่อหน้าและลับหลัง ขอให้คุณพ่อ - คุณแม่ อโหสิกรรมให้ลูกด้วย"

กล่าวเสร็จแล้วก็กราบลง ๓ ครั้ง

จากนั้นให้หมั่นทำบุญอุทิศส่วนกุศลไปด้วย "การเจริญพระกรรมฐาน"

การทำเช่นนี้ถือว่าได้บุญมากที่สุด "ได้บุญทั้งผู้ให้และผู้รับ"

พระธรรมสิงหบุราจารย์ (หลวงพ่อจรัญ ฐิตธัมโม)










“..อดีต ผ่านไปแล้วกลับไปแก้ไขไม่ได้ อนาคต ยังมาไม่ถึงไม่ต้องไปคิดไปห่วง อยู่กับปัจจุบัน ทำปัจจุบันให้ดี ใช้จิตพินิจพิจารณาให้เกิดปัญญา จะได้ธรรมอันสูงสุด..”

ธรรมคำสอน
พระอาจารย์เสถียร คุณวโร
วัดถ้ำพระภูวัว อ.เซกา จ.บึงกาฬ








เราส่งความปรารถนาดีจากใจจริงต่อทุกคน ไม่ว่าแก่ว่าหนุ่ม ไม่ว่าจะอยู่ ในประเทศใดๆ ขอให้ปลอดภัยจากการติดเชื้อไวรัส...

พระอาจารย์ชยสาโร







คนส่วนใหญ่ เขาไม่รู้วิธีทำบุญหรอก เขาไม่รู้ว่าแม้แต่กิ่งไม้ที่หักคาถนน หากไปตัดหรือยกออกจากทางก็ได้บุญแล้ว อะไรที่ทำเพื่อประโยชน์ การทำถนนหนทาง สร้างฝายกั้นน้ำเพื่อสาธารณะประโยชน์ ก็นับเป็นบุญเป็นกุศลทั้งนั้น

หลวงปู่เหลือง ฉันทาคโม
วัดกระดึงทอง อ.บ้านด่าน จ.บุรีรัมย์







" "ศีล" เป็นส่วนสำคัญ ถ้าศีล
ไม่มี จะไปสร้างความดีทุกอย่าง
พระพุทธองค์ก็ไม่ทรงสรรเสริญ

คนทำทานสักแสนครั้ง ถ้าไม่มี
ศีลแล้วก็ช่วยไม่ให้ตกนรกไม่ได้
ศีลนี้จะมีเท่าไรก็ตาม รวมลง
ในข้อใหญ่ก็มี ๒ อย่าง คือ

กาลศีล อย่างหนึ่ง

นิจจศีล อย่างหนึ่ง

คนที่รักษาได้บางกาลบางเวลา
ไม่เสมอไป ก็เหมือนมืดบ้างแจ้ง
บ้าง จะเป็นศีล ๕, ศีล ๘, ศีล ๑๐
หรือศีล ๒๒๗ ก็ตาม เมื่อรักษา
ไว้ไม่ได้ตลอดชีวิตแล้ว
ก็เป็น "กาลศีล" ทั้งสิ้น

ส่วน "นิจจศีล" คือ สามารถ
ปฏิบัติไปจนตาย โดยไม่ล้ม
ความตั้งใจเลย จะเป็นศีล
อะไรก็ตาม ก็ตั้งใจปฏิบัติไป
จนตาย จนเผาไฟเลย ไม่เลิก
ไม่รื้อ ไม่ถอน นี่อย่างนี้ดีมาก

แต่ไม่ว่าศีลอะไร ต่างกัน
โดยชื่อและอานิสงส์เท่านั้น "

โอวาทธรรม
ท่านพ่อลี ธัมมธโร










#อารมณ์เหมือนกับปรอทเครื่องวัดความดันภายในใจ

ถ้าใจมีกามคุณ อารมณ์ก็แสดงออกมาเกี่ยวกับกามคุณ ใจผูกพันกับตัณหาคือความอยาก อารมณ์ของความอยากก็แสดงออกมาจากใจ ใจเรามีราคะ อารมณ์ความกำหนัดก็เกิดจากใจ ใจเรามีความโกรธ อารมณ์ความโกรธก็หงุดหงิดภายในใจ

ฉะนั้น อารมณ์เป็นเพียงเครื่องวัดความดันสูง-ต่ำของใจ ใจคิดไปในทางต่ำ คือ กามคุณก็รู้ ใจคิดไปในทางมานะทิฏฐิ ว่าตัวดีตัวเก่งก็รู้

อารมณ์นี้ไม่ใช่กิเลสตัณหา แต่เป็นผลสะท้อนมาจากกิเลสตัณหานั่นเอง หรือเหมือนกับความร้อนของไฟ ที่ออกมาจากไฟ ใจที่มีกิเลสตัณหาประเภทใด อารมณ์ภายในใจก็แสดงออกทันที.

#หลวงพ่อทูล #ขิปปัญโญ


แสดงโพสต์จาก:  เรียงตาม  
กลับไปยังกระทู้  [ 1 โพสต์ ] 

เขตเวลา GMT + 7 ชั่วโมง


 ผู้ใช้งานขณะนี้

กำลังดูบอร์ดนี้: ไม่มีสมาชิก และ บุคคลทั่วไป 156 ท่าน


ท่าน ไม่สามารถ โพสต์กระทู้ในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ ตอบกระทู้ในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ แก้ไขโพสต์ของท่านในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ ลบโพสต์ของท่านในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ แนบไฟล์ในบอร์ดนี้ได้

ค้นหาสำหรับ:
ไปที่:  
Google
ทั่วไป เว็บธรรมจักร