วันเวลาปัจจุบัน 28 มี.ค. 2024, 17:22  



เขตเวลา GMT + 7 ชั่วโมง




กลับไปยังกระทู้  [ 1 โพสต์ ]    Bookmark and Share
เจ้าของ ข้อความ
โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 30 มี.ค. 2021, 07:15 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
อาสาสมัคร
อาสาสมัคร
ลงทะเบียนเมื่อ: 06 มี.ค. 2009, 10:48
โพสต์: 5091


 ข้อมูลส่วนตัว


...พวกเรากำลังถือบัตรคิวกันอยู่
แต่ไม่รู้ว่าเบอร์อะไร
บางคนเบอร์ ๑๐ บางคนเบอร์ ๑๐๐
บางคนเบอร์ ๑

.คนที่ชอบถูกรางวัลที่ ๑
กลับไม่ชอบเบอร์ ๑ แบบนี้ แต่..
ไม่รู้หรอกว่าตอนนี้เราถือเบอร์อะไรกัน
ใครจะไปก่อน ไปหลังไม่มีใครรู้

.ถึงเวลาจะไปก็ปุ๊บปั๊บไปเลย
“ จึงควรสร้างสัมมาทิฐิขึ้นมา”
ด้วยการฟังธรรมะอยู่เรื่อยๆ
ฟังคำสอนของพระพุทธเจ้า
ฟังคำสอนของพระอริยสงฆ์ “

.อย่าไปฟังคำสอนของผู้ที่มีมิจฉาทิฐิ สอนให้อยากอยู่ไปนานๆ
สอนให้ร่ำให้รวย สอนอย่างนี้
“ไม่ใช่เป็นคำสอนของพระพุทธเจ้า”

.พระพุทธเจ้าสอนให้มองความจริง
มองความแก่ ความเจ็บ ความตาย
มองทุกขสัจ ความจริงของทุกข์
ก็คือ..ความเกิด แก่ เจ็บ ตาย
“ให้รู้ว่านี่คือความทุกข์ นี่คือความจริง”
เพื่อจะได้..หยุด
ความอยากไม่แก่ ไม่เจ็บ ไม่ตาย.

..............................................
จุลธรรมนำใจ 30 กัณฑ์ 444
ธรรมะบนเขา 15/8/2555
พระอาจารย์สุชาติ อภิชาโต
วัดญาณสังวรารามฯ ชลบุรี










"บุญ บาป เป็นของเที่ยงแท้แน่นอน
ใครจะมาว่าเรา เป็นเรื่องปากเขา
จิตเรามีหน้าที่ภาวนา ยืนให้มีสติ
เดินให้มีสติ ทำอะไร พูดอะไร ให้มีสติ
รู้ภายนอกรู้ไปทำไม รู้ภายใน รู้กาย
รู้จิต ของตัวเองดีกว่า"

หลวงปู่สิม พุทธาจาโร







"ศีล ๕ ประการ มีคุณในการตัดทอนผลเพิ่ม
ของบาป บาปที่เราเคยทำมาตั้งแต่เมื่อวานนี้
หรือตั้งแต่เช้านี้ บัดนี้เรามางดเว้นจากการทำบาป
ตามกฎของศีล ๕ ข้อนั้น เราได้ชื่อว่าตั้งใจ
ตัดกรรมตัดเวร ตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป

ถ้าหากเราสามารถปฏิบัติต่อๆ ไป
จนกระทั่งตลอดชีวิตของเรา เราก็จะได้
ตัดกรรมตัดเวรตลอดชีวิตของเรา
การตัดกรรม ก็คือ หยุดทำความชั่ว ความบาป
การตัดเวร ก็คือ หยุดการพยาบาทอาฆาตจองเวร
ซึ่งกันและกัน คือไม่แก้แค้นซึ่งกัน และกัน

รู้จักคำว่าให้อภัยซึ่งกัน และกัน
ผู้ทำผิด ก็ให้รู้จักคำว่าขอโทษ
ผู้ถูกขอโทษ ก็ควรจะรู้จักคำว่าให้อภัย
ไม่เป็นไรหรอก อันนี้เป็นอุบายตัดกรรมตัดเวร"

หลวงพ่อพุธ ฐานิโย









"พวกแพทย์ พวกหมอ
เขาปรุงยาปราบโรคทางกาย
จะเรียกว่า สรีระโอสถก็ได้
ส่วนธรรมของพระพุทธเจ้านั้น
ใช้ปราบโรคทางใจ เรียกว่า
ธรรมะโอสถ

ดังนั้น พระพุทธองค์จึงเป็นแพทย์
ผู้ปราบโรคทางใจ ที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในโลก
โรคทางใจเป็นได้ไว และเป็นได้ทุกคน
ไม่เว้นเลย

เมื่อท่านรู้ว่า ท่านเป็นไข้ใจ
จะไม่ใช้ธรรมโอสถรักษาบ้างดอกหรือ"

หลวงปู่ชา สุภทฺโท







“…พรหมจรรย์เบื้องต้นของพระพุทธศาสนา คือพระโสดาบัน…”

๑. ไม่เสียดายอยากถือศาสดาอื่นนอกจากพระพุทธเจ้า และพระธรรมคำสอนขององค์ท่าน และอริยสาวกขององค์ท่าน อริยสาวกขององค์ท่านเบื้องต้นนั้นไม่นิยมว่าภิกษุสามเณรและชั้นวรรณะใด ๆ

๒. ไม่เสียดายอยากล่วงละเมิดศีล ๕

๓. ไม่เสียดายอยากล่วงอบายมุขทุกประเภท

๔. ไม่เสียดายอยากจะถือฤกษ์ดียามดีพร้อมทั้งไสยศาสตร์ต่าง ๆ เช่น อยู่ยงคงกระพัน เป็นต้น

๕. ไม่เสียดายอยากค้าขายเครื่องประหาร ค้าขายมนุษย์ ค้าขายสัตว์เป็นและเนื้อสัตว์ที่ตัวฆ่าเพื่อเป็นอาหาร ค้าขายน้ำเมา ค้าขายยาพิษ การค้าขาย ๕ อย่างนี้ไม่เสียดายอยากค้าขายเลย

๖. ไม่เสียดายอยากจะผูกเวรกับท่านผู้ใด โกรธอยู่แต่ไม่ถึงกับผูกเวร แปลว่าโกรธแบบเบา ถ้าหากว่ามีผู้มาทำให้ผิดใจ จนถึงร้องไห้หรือน้ำตาออกก็ตกลงในใจว่า “ถ้าเคยทำเขาแต่ชาติก่อน ผลของกรรมตามมาก็ให้แล้วก้นไปซะ ข้าพเจ้าจะไม่จองเวรเลย ถ้าเขามาก่อใหม่ในชาตินี้ก็ให้แล้วกันไปซะ จะไม่จองเวรใด ๆ ” ดังนี้เป็นต้น

เมื่อตกลงใจขนาดนี้ ดังกล่าวมาแล้วแต่ต้นก็ปิดประตูนรกแล้ว เพราะไม่มีนรกอยู่ในที่ใจ ปิดประตูเปรตอีกด้วย ปิดประตูสัตว์ดิรัจฉานอีกด้วย ก็มีคติเป็น ๒ ในอนาคตคือ “ไม่มนุษย์ก็สวรรค์” เท่านั้น

ซ้ำเข้าไปอีกว่า “สิ่งใดไม่เสียดายอยากล่วงละเมิด สิ่งนั้นก็ไม่ลำบากหัวใจเลย” นี่คือพรหมจรรย์เบื้องต้นของพระพุทธศาสนา คือพระโสดาบันเราดี ๆ นี้เอง ไม่นิยมชั้นวรรณะและเพศวัยใด ๆ ทั้งสิ้น ถ้าหากว่าเปิดประตูใจถึงพระโสดาบันแล้ว เรียกว่า “ดวงตาปัญญาเห็นธรรม” เป็นทุนแล้ว เรียกว่า โลกุตตระทุน เป็นทรัพย์ภายใน ทรัพย์ภายนอกหากดึงดูดไปเอง และก็เปิดประตูสกทาคามีไปเองในตัวด้วย จะเร็วหรือช้าก็ไม่ถอยหลังด้วยดังกล่าวแล้วนั้น…”

หลวงปู่หล้า เขมปตฺโต









#น้อมจิตเข้านิโรธอย่างไร
#หลวงปู่มั่น

“ได้เคยเล่าเรื่องการเข้านิโรธของพระอาจารย์
ลูกศิษย์ท่านองค์หนึ่งให้ฟัง ขณะที่ข้าพเจ้าอยู่
จำพรรษากับท่าน ท่านได้ประกาศให้บรรดาสานุศิษย์ทั้งหลายทราบทุกๆ องค์ว่า”

“ท่าน… จากกันไปนาน การภาวนาเป็นอย่าง
ไรบ้าง ดีหรือไม่”

ท่านอาจารย์องค์นั้นตอบถวายท่านพระอาจารย์
มั่นว่า “กระผมเข้านิโรธอยู่เสมอๆ”

“เข้าอย่างไร?”

“น้อมจิต เข้าสู่นิโรธ”

#ท่านพระอาจารย์มั่น ย้อนถามว่า..?

“น้อมจิตเข้านิโรธ น้อมจิตอย่างไร”

ก็ตอบว่า “น้อมจิตเข้านิโรธ ก็คือ ทำจิต
ให้สงบแล้วนิ่งอยู่โดยไม่ให้จิตนั้นนึกคิด
ไปอย่างไร ให้สงบและทรงอยู่อย่างนั้น”

“แล้วเป็นอย่างไร เข้าไปแล้วเป็นยังไง”
ท่านพระอาจารย์มั่นซักถาม

“มันสบาย ไม่มีทุกขเวทนา”

#ท่านพระอาจารย์มั่นถามว่า..

“เวลาถอน เป็นอย่างไร”

ท่านพระอาจารย์องค์นั้นตอบว่า
“เวลาถอนก็สบายทำให้กายและจิตเบา”

#กิเลสเป็นอย่างไร

“กิเลสก็สงบอยู่เป็นธรรมดา แต่บางครั้ง
ก็มีกำเริบขึ้น”

“พอถึงตอนนี้ ท่านพระอาจารย์มั่นจึงได้
ประกาศเรื่องนิโรธให้บรรดาสานุศิษย์ทราบ
ทั่วกันว่า”

“นิโรธแบบนี้ นิโรธสมมติ นิโรธบัญญัติ
เพราะเป็นนิโรธที่น้อมเข้าเอง ไม่มีตัวอย่างว่า
พระอริยเจ้าน้อมจิตเข้านิโรธได้ ใครจะไปน้อม
จิตเข้าได้

เมื่อจิตยังหยาบอยู่ จะไปน้อมจิตเข้า
ไปสู่นิโรธที่ละเอียดไม่ได้ เหมือนกับบุคคลที่ไล่
ช้างเข้ารูปู ใครเล่าจะไล่เข้าได้ รูปูมันรูเล็กๆ หรือเหมือนกับบุคคลที่เอาเชือกเส้นใหญ่จะไปแหย่ร้อยเข้ารูเข็ม มันจะร้อยเข้าไปได้ไหม…?

เพราะนิโรธ
เป็นของละเอียด จิตที่ยังหยาบอยู่จะไปน้อมเข้าสู่นิโรธไม่ได้ เป็นแต่นิโรธน้อม นิโรธสมมติ นิโรธบัญญัติ นิโรธสังขาร นิโรธหลง…!”

# แล้วท่านก็เลยอธิบาย เรื่องนิโรธต่อไปว่า

“นิโรธะ” แปลว่า ความดับ คือ ดับทุกข์ ดับเหตุ
ดับปัจจัย ซึ่งเป็นเหตุ เป็นปัจจัยให้เกิดทุกข์
ทั้งหลาย ดับอวิชชา ดับตัณหานั่นเอง จึงเรียกว่า เป็นนิโรธ อย่าไปถือว่าเอาจิตที่ไปรวมลงสู่ภวังค์
หรือฐีติจิต จิตเดิม เป็นนิโรธ มันไม่ได้ ท่านว่า

จิตชนิดนั้นถ้าขาดสติปัญญาพิจารณาทางวิปัส
สนาแล้ว ก็ยังไม่ขาดจากสังโยชน์ ยังมีสังโยชน์ครอบคลุมอยู่ เมื่อถอนออกมาก็เป็นจิตธรรมดา เมือกระทบกับอารมณ์ต่างๆ นานเข้า ก็เป็นจิตที่ฟุ้งซ่านและเสื่อมจากความสงบหรือความรวม
ชนิดนั้น

#ท่านพระอาจารย์มั่นได้ประกาศให้ทราบว่า

“ผมก็เลยไปพิจารณาดูนิโรธพระอริยเจ้าดูแล้ว
ได้ความว่า นิโรธ แปลว่าความดับ ดับเหตุ ดับปัจจัย ที่ทำให้เกิดทุกข์ทั้งหลาย คือ ทำตัณหาให้สิ้นไป ดับตัณหาโดยไม่ให้เหลือ ความละตัณหา ความวางตัณหา ความปล่อยตัณหา ความสละ สลัด ตัด ขาด จากตัณหา นี้ จึงเรียกว่า “นิโรธ”

# นี่เป็นนิโรธ ของพระอริยเจ้า…ท่านว่า

#นิโรธของพระอริยเจ้านั้นเป็น

“อกาลิโก” ความเป็นนิโรธ การดับทุกข์อยู่ตลอดเวลา ไม่อ้างกาล ไม่อ้างเวลา ไม่เหมือน “นิโรธ”
ของพวกฤๅษีไพรภายนอกศาสนา ส่วนนิโรธของพวกฤๅษีชีไพรภายนอกศาสนานั้น มีความมุ่งหมายเฉพาะ อยากแต่จะให้จิตของตนรวมอย่างเดียว สงบอยู่อย่างเดียว วางอารมณ์อย่างเดียว

เมื่อจิตถอนจากอารมณ์แล้ว ก็ไม่นึกน้อมเข้ามาพิจารณาให้รู้เห็นสัจธรรม คือ ให้รู้ทุกข์ รู้เหตุให้เกิดทุกข์ ธรรมเป็นที่ดับทุกข์ ข้อปฏิบัติให้ถึงธรรมเป็นที่ดับทุกข์ ยินดีเฉพาะแต่จิตสงบหรือรวมอยู่เท่านั้น ว่าเป็นที่สุดของทุกข์เมื่อจิตถอนก็ยินดี เอื้อเฟื้อ อาลัยในจิตที่รวมแล้วก็เลยส่งจิตของตนให้ยึดในเรื่องอดีตบ้าง อนาคตบ้าง ปัจจุบันบ้าง ส่วนกิเลสตัณหานั้นยังมีอยู่ ยังเป็นอาสวะนอนนิ่งอยู่ภายในหัวใจ

“ท่านอธิบายถึงนิโรธของพระพุทธเจ้า
และพระอริยเจ้าต่อไปว่า”

นิโรธ คือ ความดับทุกข์ ของพระอริยเจ้านั้น ต้องเดินตามมัชฌิมาปฏิปทา… ทางสายกลาง คือ ความเห็นชอบ ดำริชอบ วาจาชอบ ตั้งใจไว้ชอบ … นี่จึงจะถึงนิโรธความดับทุกข์ ดับเหตุให้เกิดทุกข์ นิโรธของพระอริยเจ้านั้นเป็นนิโรธอยู่ตลอดกาลเวลา ไม่อ้างกาล ไม่อ้างเวลานั้นจึงจะเข้านิโรธ กาลนี้จึงจะออกนิโรธ ไม่เหมือนนิโรธของพวกฤๅษีชีไพรภายนอกพระพุทธศาสนา

นี่เป็นคำสอนของท่านพระ
อาจารย์ใหญ่มั่น ภูริทัตตะมหาเถระ
ที่แสดงไว้ ข้าพเจ้าจำความนั้นได้

#ที่มา_กุลเชฏฐาภิวาท
[พระอาจารย์จวน กุลเชฏโฐ]










#อารมณ์กรรมฐานโดยพิจารณาอัฐิกัง

มีหลวงพ่อธุดงค์องค์หนึ่งอยู่อำเภอจุน จ.พะเยา ได้นำเอาพระบรมสารีริกธาตุมามอบให้พระครูบาบุญชุ่ม.

#เมื่อท่านได้รับพระบรมสารีริกธาตุมาแล้ว #ได้น้อมจิตพิจารณาว่า..

กระดูกของสัตว์โลกทั้งหลายนั้น นับตั้งแต่เวียนว่าย ตายเกิด ในวัฏฏสงสารนี้ หากนำมากองรวมกัน คงกองใหญ่เป็นภูเขาทีเดียว

หากแยกกันก็กระจัดกระจายอย่างที่เห็น กระดูกแข้งไปทางหนึ่ง กระดูกเข่าไปอีกทางหนึ่ง กระดูกข้อเท้าไปทางอื่น กระดูกข้อนิ้วเท้าก็กระจัดกระจายไปทางอื่น กระดูกทุกส่วนแยกออกจากกันไปคนละที่คนละแห่ง แล้วก็ผุพังกลายเป็นดินเป็นจุลไป

#ท่านก็น้อมพิจารณาเข้ามาในกายแห่งตนว่า “#เอวงฺธมฺโม #เอวงฺอนตฺติโต”

ยกกระดูกสามร้อยท่อนเป็นกรรมมัฏฐานให้เห็นชัดแจ้งในสังขารรูปนาม ร่างกายอันเน่าเหม็นนี้ไม่ดีไม่งาม. เป็นอสุภะ.

#ยกจิตขึ้นสู่อารมณ์วิปัสสนา

พิจารณาสรรพสิ่ง. ล้วนเป็นอนิจจังไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา. ไม่ใช่ของเขาสักอย่าง

เห็นความเกิดความดับของรูปนามสังขารดังนี้แล้ว. ก็ยกจิตขึ้นสู่ยถาภูตญาณทัศนะ เห็นแจ้งชัด. ตามความเป็นจริงทุกอย่าง. บังเกิดความเบื่อหน่าย. ในกองสังขารทุกข์ทั้งหลาย.

อยากจะพ้นไปจากความเกิด แก่ เจ็บ ตาย หาทางที่จะหลุดพ้นไป. จากสังขารทั้งหลาย. แล้ววางเฉยต่อสังขารทั้งหลาย. ไม่ติดข้องยินดีในสังขารทั้งหลาย

#แล้วมองเห็นอริยะสัจจะธรรมทั้งสี่.
ให้เห็นแจ้งชัดว่า..

#นี้คือทุกข์ ความเกิด แก่ เจ็บ ตาย เป็นทุกข์ ความโศกเศร้าเสียใจเป็นทุกข์. ได้ประสบพบสิ่งที่ไม่ได้รักก็เป็นทุกข์. ได้ พลัดพรากจากสิ่งที่รักก็เป็นทุกข์. อยากได้อันใดไม่สมปรารถนาก็เป็นทุกข์. จึงพึงกำหนดรู้ทุกข์อย่างนี้แล้ว.

#ให้รู้เหตุที่ให้เกิดทุกข์. #คือสมุทัย. ทำให้เกิดทุกข์ คือ ตัณหา ความอยากได้ทั้งสาม.

คือ กามตัณหา. ในกามอารมณ์ทั้งหลาย ภาวะตัณหา ตัณหาในภาวะน้อยใหญ่ ความมีความเป็นทั้งหลาย วิภาวะตัณหา ตัณหาในความไม่อยากมีอยากเป็น

ทุกข์ทั้งหลายเกิดจากตัณหาทั้งสามนี้ เมื่อดับตัณหา ความอยากได้ก็ดับทุกข์ทั้งปวง ตัณหาขะยังสัพพะ ทุกขัง ชินาติ ดับตัณหาได้ชนะทุกข์ทั้งปวง

#แล้วก็มาพิจารณานิโรธ #ความดับทุกข์

วิราคะไม่ติดข้องด้วยราคะตัณหา ปราศจากไปแล้ว ปฏิสัคโค ความสลัดออกแห่งตัณหาทั้งหลาย นิโรธ ความดับสนิทไม่เหลือ อนาลโย มีอาลัยขาดแล้ว วัฏฏะปัจเฉโต ตัดวัฏฏะทั้งสามขาดแล้ว คือกิเลสวัฏฏะ กรรมะวัฏฏะ วิปากวัฏฏะทั้งสามนี้แล

นิโรโธติได้ชื่อว่าความดับทุกข์คือพระนิพพานแล้ว

#ให้พิจารณาด้วยปัญญาในวิปัสสนาญาณต่อไป #ถึงมรรค คือหนทางอันดับทุกข์ คือมรรคมีองค์แปด คือ

๑. สัมมาทิฏฐิ
๒. สัมมาสังกับโป ความชอบดำริ
๓. สัมมาวาจา ความพูดวาจาชอบ
๔. สัมมากัมมันโต มีการงานอันชอบ
๕. สัมมาอาชีโว เลี้ยงชีวิตชอบ
๖. สัมมาวายาโม มีความเพียรชอบ
๗. สัมมาสติ มีระลึกชอบ
๘. สัมมาสมาธิ มีความตั้งใจชอบ

ดังนี้ได้ชื่อว่า. มรรคมีองค์แปด. คือเป็นหนทางอันประเสริฐไม่มีทางอื่นยิ่งกว่า ทางนี้เป็นทางให้ถึงซึ่งความดับแห่งกองทุกข์ในวัฏฏะทั้งหลาย

#เราพึงทำภาวนาให้รู้แจ้งแล้ว
#น้อมเอาพระนิพพานเป็นอารมณ์

ดับความเห็นผิดทั้งหลาย. อันเป็นปุถุชนอันแน่นหนาไปด้วยกิเลส แล้วน้อมจิตเข้าสู่โลกุตรภูมิแห่งพระอริยะเจ้าทั้งหลาย แล้วมาพิจารณาดูมรรคธรรม. ที่เราได้บำเพ็ญมาตลอดสืบเนื่องติดต่อกันไม่ขาดสาย

รู้ความไม่เที่ยงอยู่ทุกลมหายใจเข้าออก รู้ความจางคลายความกำหนดยินดีในสัพพนิมิตสังขารทั้งหลาย รู้ความเป็นไปแห่งสังขารทั้งหลาย ทุกลมหายใจเข้าออก รู้ความสลัดคืนในกองสังขารทั้งหลายหายใจเข้าออก อยู่

#น้อมจิตเอาพระนิพพานเป็นอารมณ์ตลอดจึงได้ชื่อว่าเจริญมรรคญาณ

ต่อไปให้พิจารณาความดับทุกข์ทั้งหลายเป็นนิโรธญาณผละญาณ แล้วก็ถึง ปัจเจกขณาญาณ พิจารณาสภาวธรรมทั้งหลายเป็นมรรคะสมังคี คือว่าธรรมทั้งหลายมารวมลงกันในที่เดียวคือสติปัฏฐานสี่ สัมมัปปธานสี่อิทธิบาทสี่ อินทรีย์ห้า พละธรรมห้า โพชฌงค์เจ็ด อัฐฐังคิกะมรรคะทั้งแปดมาลงรวมกันที่เดียวได้ชื่อว่ามรรคสมังคี

แล้วก็น้อมเอาพระนิพพานเป็นอารมณ์ให้แจ้งแล้วให้รู้แจ้งตามสภาวะธรรมที่เป็นจริง

#แล้วก็มาพิจารณาดูว่าเราได้รู้แจ้งในธรรมหรือยัง #ถ้าไม่รู้แจ้งตราบใดก็ละกิเลสไม่ได้

ถ้าตรัสรู้แจ้งแล้วกิเลสธรรมทั้งหลายก็ละได้เองโดยอัตโนมัติไม่ต้องสงสัยเลย ในมรรคผลนิพพาน

#มีจริงทุกอย่าง #ถ้าเราทำจริงต่อมรรคธรรม #เราก็จะถึงความดับทุกข์

วันหนึ่ง. เราก็มาพิจารณาดูว่า. เราละกิเลสได้เท่าใด เหลืออยู่เท่าใด ดูพระอริยะ. บ้างก็พิจารณาบ้าง พิจารณาว่ากิเลสมีเท่าใดตัดขาดเท่าใดสุดแล้วแต่บุญวาสนา ปัญญาของใครของมัน

#ท่านที่มีปัญญาแก่กล้าจึงจะพิจารณาได้ ถ้าบรรลุมรรคขั้นต้นก็มีการตัดกิเลสสังโยชน์ได้สามคือสักกายทิฏฐิ ความยึดมั่นเห็นผิดในกาย วิจิกิจฉาความลังเลสงสัยในธรรมดับไป สีลัพพัตปรามาส ความถือศีลไม่มั่นคงลูบคลำศีลก็ดับไป

#ถ้าได้ถึงสกิทาคาก็กระทำให้ความโลภราคะ โทสะ โมหะ ส่วนที่หยาบๆดับไป

ถ้าได้ถึงอริยมรรค ที่สามคือ. พระอนาคามี คือผู้ไม่กลับมาอีก ก็ตัดกิเลสสังโยชน์ได้อีก สองคือกามราคะ ความยินดีในกามราคะ ดับอย่างสนิท ปฏิฆะ. ความโกรธแค้นพยาบาท ดับสนิท

#ตรงกับคติธรรมคำสอนของท่านครูบาศรีวิชัยให้เป็นคติว่า #อู้ร้อยคำบ่เท่าผ่อครั้งเดียว

ครูบาเจ้าบุญชุ่ม ญาณสํวโร










#ท่านพ่อลี_สอนว่า ....

"อยากจะขอเตือนพวกเหล่าพุทธบริษัททั้งหลาย ให้นึกถึงคติอันเป็นหลักสำคัญประจำใจไว้สักอย่างหนึ่ง สำหรับที่จะนำไปปฏิบัติให้เป็นกิจวัตรประจำตัวในทุกๆ โอกาสที่มีลมหายใจอยู่ เพราะการตายของเรานี้ ไม่มีนิมิตเครื่องหมายอันใดที่จะบอกให้รู้ล่วงหน้าได้ว่า มันจะมาถึงเราในวันใด ขณะใด อาจจะเป็นวันนี้หรือวันพรุ่งนี้ก็ได้

เพราะฉะนั้น เราทุกคนจึงไม่ควรประมาท จงรีบหาโอกาสกระทำความดีไว้ให้เสมอทุกวัน ทุกเวลา ไม่ว่าจะนั่ง นอน ยืน เดิน กิจวัตรอันนี้ได้แก่

๑.พุทฺธานุสฺสติ ให้ระลึกถึงพระคุณของพระพุทธเจ้าทีทรงมีแก่เราอย่างไร มีพระปัญญาคุณ พระบริสุทธิคุณ และพระมหากรุณาธิคุณ เป็นต้น

๒.เมตฺตญฺจ ให้ทำกาย วาจา และใจของเราให้เป็นเมตตากายกรรม เมตตาวจีกรรม เมตตามโนกรรม ทั้งต่อบุคคลในโลกทุกชั้น ตลอดจนสัตว์เดรัชฉาน

๓.อุสภญฺจ ให้พิจารณากายในความไม่สะอาดของตัวเรา คือ การชำระล้างกิเลสส่วนที่เป็นโทษ เป็นบาป อกุศล ซึ่งมีอยู่ในกาย วาจา ใจ ของเราให้หมดสิ้นไป ให้เหลือแต่ส่วนที่เป็นความบริสุทธิ์

๔.มรณญฺจ ให้ระลึกถึงความตายไว้เสมอว่า ลมหายใจของเรานี้เป็นที่ตั้งแห่งชีวิต ลมเข้าไม่ออกก็ตาย ลมออกไม่เข้าก็ตาย ลมเป็นตัวชีวิตของร่างกาย ความตายของดวงจิต ได้แก่ความเกิดและความดับ สติไม่มีประจำใจคนนั้นชื่อว่า ผู้ตาย เมื่อปล่อยให้ตนเป็นคนตาย อย่างนี้ย่อมทำความดีได้ยาก เมื่อรู้จักว่าตนเป็นคนตายอยู่ทุกเวลาก็ควรรีบสร้างคุณงามความดี จึงจะเป็นการระลึกถึงความตายโดยถูกต้อง แล้วเราก็จะพุ่งตรงไปสู่ความไม่ตาย"

ท่านพ่อลี ธัมมธโร


แสดงโพสต์จาก:  เรียงตาม  
กลับไปยังกระทู้  [ 1 โพสต์ ] 

เขตเวลา GMT + 7 ชั่วโมง


 ผู้ใช้งานขณะนี้

กำลังดูบอร์ดนี้: Google [Bot] และ บุคคลทั่วไป 55 ท่าน


ท่าน ไม่สามารถ โพสต์กระทู้ในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ ตอบกระทู้ในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ แก้ไขโพสต์ของท่านในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ ลบโพสต์ของท่านในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ แนบไฟล์ในบอร์ดนี้ได้

ค้นหาสำหรับ:
ไปที่:  
Google
ทั่วไป เว็บธรรมจักร