วันเวลาปัจจุบัน 20 เม.ย. 2024, 02:04  



เขตเวลา GMT + 7 ชั่วโมง




กลับไปยังกระทู้  [ 1 โพสต์ ]    Bookmark and Share
เจ้าของ ข้อความ
โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 08 พ.ย. 2020, 07:58 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
อาสาสมัคร
อาสาสมัคร
ลงทะเบียนเมื่อ: 06 มี.ค. 2009, 10:48
โพสต์: 5091


 ข้อมูลส่วนตัว


ร่างกายของเรา เราก็คิดว่าของเรา แต่เมื่อมันเกิดสิ่งแทรงซ้อนต่างๆ มีโรคภัยไข้เจ็บ มีเชื้อโรคต่างๆเกิดขึ้นในร่างกาย เชื้อโรคต่างๆ เค้าก็ว่าร่างกายนี้เป็นของเขา เมื่อมีหลายโรค โรคทุกโรคก็ว่าเป็นของเขาทุกโรค แม้แต่พยาธิในลำไส้ เค้าก็ว่าร่างกายนี้เป็นของเขา เป็นที่อยู่หากินของเขา

ส่วนเราที่มีร่างกายอยู่นี้ มีจิตของเราอยู่ในนี้ เราก็ว่าร่างกายนี้เป็นของเรา ต่างคนก็ต่างแย่งกันว่าเป็นของเรา แต่จริงๆ แล้วไม่ใช่ของใคร เป็นเพียงที่อาศัยอยู่ชั่วครูชั่วคราวเท่านั้น

หลวงพ่อไม อินทสิริ








...ที่นี่สอนเรื่อง”ใจ”อย่างเดียว
เพราะสำคัญที่ใจ
“ใจคือตัวรู้ แต่ใจกลับไม่รู้ใจ “
ปัญหาอยู่ตรงนี้...
.
เพราะถูกตัว ”หลง” ครอบงำอยู่
เลยรู้ไม่จริง ..รู้ผิดเป็นชอบ
จึงสร้างปัญหาให้กับตน.
..........................................
จุลธรรมนำใจ11กัณฑ์373
ธรรมะบนเขา 23/9/2550
พระอาจารย์สุชาติ อภิชาโต
วัดญาณสังวรารามฯ ชลบุรี










“จิตที่ถูกอบรมมาดีแล้ว มันจะมีแต่ความเมตตา อ่อนโยน หนักแน่นมั่นคง เมื่อไปเกี่ยวข้องกับอะไร จิตใจก็จะมีแต่ความนิ่มนวล มีแต่ความเมตตา แม้ภายนอกทางกาย วาจา จะแสดงออกไปด้วยความแข็งกระด้าง ด้วยความเอะอะโวยวายก็ตาม อันนั้นก็เป็นแค่กิริยา ไม่เกี่ยวกับจิต เพียงแต่ว่าจิต มันจะเลือกใช้กิริยาอะไร ไปเป็นเครื่องมือของมัน

เมื่อจิตที่มีความเมตตา มีความอ่อนโยน แม้มันจะเลือกใช้กิริยาไปในทางเอะอะโวยวาย มันก็ใช้ด้วยความเมตตา เมื่อใช้ออกไปด้วยความเมตตา ผลที่ออกมามันก็มีแต่ความร่มเย็น มันเหมือนกับอาวุธปืนอันเดียวกัน ถ้าเจ้าหน้าที่เอาไปใช้ ใช้เพื่อความร่มเย็นของประชาชน แต่ถ้าโจรผู้ร้ายเอาไปใช้ ใช้เพื่อความเดือดร้อนของประชาชน

กิริยาอันเดียวกัน แต่จิตประเภทไหนเอาไปใช้ จิตประเภทโกรธเอาไปใช้ ก็ใช้เพื่อการทำลาย จิตประเภทเมตตาเอาไปใช้ ก็เอาไปใช้เพื่อความร่มเย็น ผลที่ออกมามันย่อมแตกต่างกันมาก เลยขึ้นอยู่กับว่าจิตประเภทไหนเอาไปใช้ เพราะฉะนั้นเวลามอง เราอย่ามองแต่แค่ภายนอก เหมือนครูบาอาจารย์บางท่านบางรูป ยกตัวอย่างองค์พ่อแม่ครูอาจารย์หลวงตามหาบัว เป็นต้น”

พระอาจารย์สุธรรม สุธัมโม
รักษาการเจ้าอาวาสวัดป่าบ้านตาด จ.อุดรธานี
เจ้าอาวาสวัดป่าหนองไผ่ จ.สกลนคร










" คนเราเกิดมาไม่ว่าผู้หญิง
ผู้ชาย จะให้เสมอเหมือนกันไม่มี

ไปเพราะเหตุ มาเพราะเหตุ
ที่สร้างดี สร้างชั่ว สร้างบาป
สร้างกรรมไว้ มาถึงจุดนี้แล้ว
เรารู้ว่าสร้างบาปให้ผลเป็น
ทุกข์ สร้างความดีให้ผลเป็น
ความสุขความเจริญ

ฉะนั้น ฝากลูกหลานทุกคน
สร้างความดีทุกวัน ทุกนาที
ทุกชั่วโมง อย่าหลงไปตาม
กิเลส ให้รู้จักพอเพียง
อย่าทะเยอทะยานมากเกินไป
มันเป็นทุกข์ "

โอวาทธรรม
หลวงปู่ลี ถาวโร









มีคาถาหนึ่งที่จะช่วยให้เราทนได้มากขึ้น ก็คือ
เมื่อหายใจเข้า ให้พูดกับตนเองว่า .. "ทนได้"
เมื่อหายใจออก ให้พูดในใจว่า .. "สบายมาก"

พระอาจารย์ไพศาล วิสาโล









#เราตายแล้วใครจะทำบุญให้เรา ?

บางคนทำทานข้าวปลาอาหาร
บางคนเขาก็ถวายผ้าจีวร
ถวายผ้าไตรให้พระเณรบวช
พ่อแม่เราจะรู้ได้หรอเปล่า ?

ของพวกนี้มันเป็นของทิพย์ นึกอันไหนได้อันนั้น พ่อแม่เราน่ะ ในขณะอุทิศให้ไป บางคนไม่มีผ้า ไม่มีกางเกง ไม่มีผ้าถุงนุ่ง ของพวกนี้ มันเป็นของทิพย์เด้ เราอุทิศให้ไปแล้ว #มันเป็นของทิพย์ไปเด้ นึกอะไรได้อันนั้นเด้ นึกกินข้าวก็ได้กินข้าว นึกผ้าจีวร นึกกางเกงก็เป็นกางเกง นึกผ้าถุงก็เป็นผ้าถุง...
(ของที่เราทำบุญอุทิศให้ไปมันเป็นของทิพย์)

ทุกวันนี้คนเราไม่เหมือนแต่ก่อนน่ะ...
ตอนมีชีวิตอยู่ มีลมหายใจอยู่ ทำเอาเองบ้าง
ใส่บาตรทำบุญทำทานเอา อุทิศบุญกุศลไป

ถ้าเราไม่ทำ...ใครจะไปทำให้เรา
ถ้าพ่อแม่ตาย....ลูก ผัว เมีย เขาจะทำให้เราหรือไม่ทำให้เรา ก็ไม่ทราบแหม๊....

โอวาทคำสอนหลวงปู่สมภาร ปัญญาวโร
วัดป่าวิเวกพัฒนาราม อ.พรเจริญ จ.บึงกาฬ
บันทึกธรรม : นรินทร์ ศรีสุทธิ์











ให้เรามองหา. ความผิด. ของตัวเอง. แล้วจัดการทีละตัว.

หลวงปู่สิงห์ทอง ธัมมวโร








#ฟังฟัง! #ถ้าย่านผี(กลัวผี)

เฮาสิบอกวิธี ให้พากันไหว้พระ
สวดมนต์พระไตรสรณคมน์
เจริญเมตตาภาวนา
และท่องพุทโธ พุทโธไว้ตลอด

อย่าว่าแต่ผีตัวเดียว
ให้มาเบิ่ดเฮือน
กะเฮ็ดหยังซุมเฮาบ่ได้

ปภากโรวาท
คติธรรมคำสอนหลวงปู่สิงห์ทอง ปภากโร










• #พระน้อยหัวดื้อกับท่านพระอาจารย์มั่น

ท่านพระอาจารย์จวน กุลเชฏฺโฐ เล่าถึงสมัยอยู่กับท่านพระอาจารย์มั่น ภูริทตฺตเถร

...พอออกพรรษาที่ ๓ ได้เพียง ๕ วัน ท่านเจ้าคุณอริยคุณาธาร (เส็ง ปุสฺโส) ก็มารับข้าพเจ้า (พระอาจารย์จวน กุลเชฏฺโฐ) นำไปฝากให้อยู่กับท่านพระอาจารย์มั่น ภูริทตฺตเถร ที่วัดป่าบ้านหนองผือ อำเภอพรรณานิคม จังหวัดสกลนคร ข้าพเจ้าได้มีโอกาสศึกษาอบรมอยู่กับท่าน ได้ฟังโอวาทของท่านตลอดฤดูแล้ง จนกระทั่งถึงเวลาเข้าพรรษาของปีใหม่ และได้อธิษฐานพรรษาอยู่กับท่านจนตลอดพรรษาที่ ๔

...การอยู่ใกล้ผู้ใหญ่ ทำให้มีสติระมัดระวังตัว ไม่กล้าพลั้งเผลอ โดยเฉพาะการอยู่ใกล้ผู้ใหญ่อย่างท่านพระอาจารย์มั่น

อันที่จริงสมควรจะเล่าถึงความน่าขายหน้าของพระผู้น้อยผู้หนึ่งไว้ให้เป็นอนุสรณ์ ณ ที่นี้ด้วย จะได้ทำให้เข้าใจได้ง่ายเข้าว่า พระที่เข้ารับการอบรมกับท่านพระอาจารย์ใหญ่มั่นนั้น ควรจะต้องสำรวมกาย สำรวมใจ ตั้งสติระมัดระวังมิให้พลั้งเผลอเพิ่มขึ้นเพียงไร

เมื่อพระน้อยองค์นั้นไปอยู่วัดป่าบ้านหนองผือใหม่ๆ ใจก็อดคิดตามประสาปุถุชนไม่ได้ว่า เขาเล่าลือกันว่าท่านอาจารย์ใหญ่ของเราเป็นพระอรหันต์ เราก็ไม่ทราบว่าจริงหรือไม่ ถ้าเป็นอรหันต์จริงคืนนี้ก็ให้มีปาฏิหาริย์ให้เห็นปรากฏด้วย

ในคืนวันนั้นเอง พอพระน้อยผู้นั้นภาวนา ก็ปรากฏนิมิตเห็นท่านพระอาจารย์ใหญ่เดินจงกรมอยู่บนอากาศ และแสดงปาฏิหาริย์เหาะขึ้นลงอยู่ตลอดเวลา และเวลานอนหลับ ก็ยังฝันเห็นท่านเดินอยู่บนอากาศเช่นเดียวกัน พระน้อยผู้นั้นจึงยกมือไหว้ท่านและว่าเชื่อแล้ว...!

อย่างไรก็ดี หลังจากวันนั้น พระน้อยก็เกิดคิดขึ้นมาอย่างคนโง่อีกว่า เอ...เขาว่าท่านอาจารย์ใหญ่รู้วาระจิตของลูกศิษย์ทุกคนจริงไหมหนอ...? เราน่าจะทดลองดู ถ้าท่านอาจารย์ใหญ่รู้วาระจิตของเรา ขอให้ท่านอาจารย์ใหญ่มาหาเราที่กุฏิคืนวันนี้เถอะ

พอคิดได้ประเดี๋ยวเดียว ก็ได้ยินเสียงไม้เท้าเคาะใกล้เข้ามา และกระแทกเปรี้ยงเข้าที่ฝากุฏิของพระน้อยองค์นั้น พร้อมกับเสียงของท่านเอ็ดลั่นว่า “ท่าน...ทำไมจึงไปคิดอย่างนั้น นั่นไม่ใช่ทางพ้นทุกข์ รำคาญเรานี่ !” คืนนั้นแม้จะตัวสั่น กลัวแสนกลัว แต่ต่อมาพระน้อยองค์นั้นก็ยังดื้อไม่หาย คืนหลังก็เกิดความคิดขึ้นอีก

"#ถ้าท่านอาจารย์ใหญ่_เป็นผู้รู้วาระจิตของเรา
#เราบิณฑบาตได้อาหารมา_ขอให้ท่านรอเราทุกวันๆ #ขออย่าเพิ่งฉันจนกว่าเราจะหย่อนบาตรท่านก่อน “

เป็นธรรมดาที่พระทั้งหลาย พอบิณฑบาตได้ก็จะเลือกสรรอาหารอย่างเลิศอย่างดีที่สุดที่บิณฑบาตได้มา สำหรับไปใส่บาตรพ่อแม่ครูบาอาจารย์ที่เคารพ วันนั้นพระน้อยหัวดื้อองค์นั้นก็พยายามประวิงเวลา กว่าจะนำอาหารไปใส่บาตรท่าน ก็ออกจะล่าช้ากว่าเคย จนกระทั่งหมู่เพื่อนใส่บาตรกันหมดแล้วจึงค่อยๆ ไปใส่บาตรต่อ ภายหลังท่านพระอาจารย์ใหญ่ก็มักจะมีเหตุช้าไปด้วย จนพระน้อยองค์นั้นหย่อนบาตรแล้ว ท่านจึงเริ่มฉัน เป็นเช่นนี้หลายวันอยู่ และพระน้อยองค์นั้นก็ชักจะได้ใจ มักอ้อยอิ่งอยู่ทุกวัน จนเช้าวันหนึ่งท่านคงเหลืออดเหลือทนเต็มที ท่านจึงออกปาก

“#ท่านจวน_อย่าทำอย่างนั้น_ผมรำคาญ !
#ให้ผมรอทุกวันๆ_ทีนี้ผมไม่รออีกแล้วนะ !!”

เล่ามาแค่นี้ คงจะทราบแล้วว่าพระน้อยหัวดื้อผู้นั้นคือใคร...!!

ในพรรษาที่อยู่ร่วมกับท่านพระอาจารย์มั่นนั้น คืนหนึ่งข้าพเจ้าตั้งใจภาวนาทำความเพียรอย่างเต็มที่ตั้งแต่ปฐมยามคือยามค่ำเป็นต้นไป หลังจากทำวัตรสวดมนต์แล้ว ก็เข้าที่นั่งในกลด อธิษฐานนั่งในกลดตั้งใจจะภาวนาไม่นอนตลอดคืน พอจิตค่อยสงบลงๆ ก็เกิดนิมิตผุดขึ้นปรากฏในใจเป็นตัวอักขระบาลีอย่างชัดแจ้งว่า “ #ปททฺทา__ปททฺโท " ข้าพเจ้าได้กำหนดจิตแปลอยู่ถึง ๓ ครั้ง จึงแปลได้ว่า “อย่าท้อถอยไปในทางอื่น แล้วปรากฏว่า กายของตนไหวไปเลย จากนั้นจิตก็รวมลงสู่ภวังค์ ถึงจิตเดิมทีเดียว

ความจริงขณะนั้น ข้าพเจ้าก็ยังไม่รู้ว่า จิตสู่ภวังค์และจิตเดิมเป็นอย่างไร รู้แต่ว่า เมื่อจิตรวมลง ใสบริสุทธิ์หมดจด หาสิ่งที่เปรียบได้ยากและแสนที่จะสบายมากที่สุด เพราะจิตชนิดนั้นเป็นจิตที่ปราศจากอารมณ์ อยู่เฉพาะจิตล้วน ๆ ไม่มีอะไรเจือปน จิตรวมอยู่อย่างนั้นตลอดคืนยันรุ่ง

จนรุ่งเช้า จิตจึงถอนออกรู้สึกเบิกบานทั้งกายและใจ มีความปิติเหมือนกับตนลอยอยู่ในอากาศ เวลาเดินไปเดินมา ก็รู้สึกเบากายเบาใจที่สุด

ในระยะที่จิตรวมลงไปพักอยู่เฉพาะจิต ไม่มีอารมณ์หนึ่งอารมณ์ใดเจือปนนั้นเป็นจิตที่ใสบริสุทธิ์ วางเวทนา ความเจ็บปวดรวดร้าวไม่มีปรากฏแก่จิตเลย คือจิตแยกออกจากธาตุ ไม่เจือปนอยู่กับธาตุ อยู่เฉพาะจิตล้วน ๆ จึงไม่มีเวทนา จิตรวมอยู่ตลอดทั้งคืนจนสว่าง จึงถอนพอดีได้เวลาทำกิจวัตรในตอนเช้า จัดเสนาสนะเตรียมเรื่องการบิณฑบาต แม้จิตจะถอนแล้วก็ตาม แต่ความรู้สึกเบากาย เบาใจ ปลอดโปร่งโล่งสบาย ยังมีอยู่เต็มเปี่ยม ข้าพเจ้าเดินไปมามีความรู้สึกคล้ายกับเดินอยู่บนอากาศ เย็นกาย เย็นใจ เป็นอยู่อย่างนั้นหลายวัน

ได้โอกาสวันหนึ่งตอนพลบค่ำ พระเณรทั้งหลายทยอยกันขึ้นไปรับโอวาทท่านพระอาจารย์มั่น ข้าพเจ้าก็เลยขอโอกาส กราบเรียนเล่าเรื่องที่เป็นมาถวายให้ท่านฟัง ทุกคืนจิตมันเป็นอย่างนั้น ท่านพระอาจารย์มั่นฟังแล้วก็ทดสอบดู โดยนั่งกำหนดจิตพิจารณาพักหนึ่งพอสมควร คือ ท่านจะตรวจดูจิตของข้าพเจ้าว่าจะเป็นจริงหรือไม่ พอตรวจดูพักหนึ่ง ท่านก็เปล่งอุทานขึ้นว่า "อ้อ...จิตท่านจวนนี่ รวมทีเดียวถึงฐีติจิตคือจิตคือจิตเดิมเลยทีเดียว “ ท่านชมเชยว่า.. ดีนัก ถ้ารวมอย่างนี้จะได้กำลังใหญ่ แต่ว่าถ้าสติตัวนี้อ่อน กำลังก็จะไม่มีข้าพเจ้าก็เลยกราบเรียนต่อไปว่า ก่อนจิตรวม ได้เกิดนิมิตคาถา " #ปททฺทา_ปททฺโท " ขอนิมนต์ให้ท่านแปลให้ฟัง ท่านพระอาจารย์มั่นเลยบอกว่า "แปลให้กันไม่ได้หรอก สมบัติใครสมบัติมัน คนอื่นแปลให้ไม่ได้ ต้องแปลเอาเอง "

ท่านว่าอย่างนั้น ความจริงเป็นอุบายของท่านต้องการให้เราใช้ปัญญาแปลให้ได้เอง นับว่าท่านใช้อุบายคมคายหลักแหลมมากที่สุด

ต่อจากนั้น ท่านได้ย้อนมาพูดถึงเรื่องจิตรวมว่าก่อนที่จิตจะรวม บางคนก็ปรากฏว่า กายของตนหวั่นไหวสะทกสะท้านไป บางคนก็จะมีภาพนิมิตต่าง ๆ ปรากฏขึ้น เป็นภาพภายนอกก็มี แสดงอุบายภายในให้ปรากฏขึ้นก็มี แล้วแต่จริตนิสัยของแต่ละบุคคล ถ้าเป็นผู้ไม่มีสติก็จะมัวเพลิดเพลินลุ่มหลงอยู่ในนิมิตภาพนั้น ๆ จิตก็จะไม่รวม หากถอนออกเลย ทำให้ไม่ได้รับประโยชน์ไม่มีกำลัง แต่ถ้าเป็นผู้มีสติดี หากมีนิมิตภายนอก หรือธรรมผุดขึ้นภายใน ก็ให้น้อมเข้ามาเป็นอุบายของวิปัสสนากัมมัฏฐาน จิตก็จะรวมลงถึงฐีติจิต

เมื่อจิตรวมลงก็ให้มีสติรู้ว่าจิตของเรารวม และไม่รู้ว่า จิตของเรารวมลงอิงอามิสคือกัมมัฏฐานหรือไม่ หรืออยู่เฉพาะจิตล้วน ๆ ก็ให้รู้ อย่าไปบังคับให้จิตรวม และจิตรวมแล้ว อย่าบังคับให้จิตถอนขึ้นปล่อยให้จิตรวมเอง ปล่อยให้จิตถอนเอง และเมื่อจิตถอนหรือก่อนจะถอน ชอบมีนิมิตแทรกขึ้นทั้งนิมิตภายนอกและนิมิตภายใน ก็ให้มีสติรู้อยู่ว่านั้นเป็นเรื่องของนิมิตหรือเป็นเรื่องของอุบายอย่าไปตามนิมิตหรืออุบายนั้น ๆ ให้น้อมเข้ามาเป็นวิปัสสนากัมมัฏฐาน ยกขึ้นสู่ไตรลักษณ์ คือ อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา แล้วก็ให้พิจารณากำหนดกัมมัฏฐานที่ตนเคยกำหนดไว้อย่าละเลย ละทิ้งด้วยความมีสติอยู่

ทุกระยะที่จิตรวม จิตถอน ถ้าหัดทำให้ได้อย่างนี้ ต่อไปจะเป็น "สันทิฏฐิโก" คือเป็นผู้รู้เองเห็นเอง แจ้งชัดขึ้นจะตัดความเคลือบแคลงสงสัยไม่สงสัยลังเลในพระรัตนตรัยต่อไป

นี่เป็นโอวาทคำแนะนำของท่านพระอาจารย์มั่น ภูริทตฺตมหาเถร

เมื่อข้าพเจ้าได้รับโอวาทจากท่านเช่นนั้น ก็ยิ่งทวีความตั้งใจทำความเพียรเด็ดเดี่ยวยิ่งขึ้น รู้สึกเหมือนกับว่า ได้มีผู้วิเศษมาชี้ประตูสมบัติให้เราแล้ว ที่เราจะเปิดประตูก้าวเข้าไป หยิบเอาสมบัติมาได้หรือไม่นั้นก็อยู่ที่ความเพียร ความตั้งใจเอาจริงเอาจังของเราเท่านั้นตลอดเวลาหนึ่งปีเต็มที่อยู่ร่วมกับท่าน ตั้งแต่หลังออกพรรษา ๕ วันปีหนึ่ง ไปบรรจบหลังออกพรรษาของอีกปีหนึ่ง ข้าพเจ้าก็เร่งคำความเพียรอย่างเต็มสติกำลังของตน เข้าใจว่าท่านพระอาจารย์มั่นก็คงจะเฝ้าดูการปฏิบัติและจิตของข้าพเจ้าอยู่เหมือนกัน วันหนึ่งท่านก็ได้กล่าวว่า ท่านได้กำหนดจิตดูท่านจวนแล้วได้ความเป็นธรรมว่า...
"#กาเยนะ_วาจายะ_วะเจตะวิสุทธิยา
#ท่านจวนเป็นผู้มีกายและจิตสมควรแก่ข้อปฏิบัติธรรม"

เมื่อออกพรรษา เสร็จกิจทุกอย่าง ข้าพเจ้าก็กราบลาท่านอาจารย์มั่นออกวิเวกธุดงค์...

คัดลอกจากหนังสือ ชีวประวัติ ปฏิปทา และพระธรรมเทศนา พระอาจารย์จวน กุลเชฏฺโฐ โดย คุณหญิงสุรีพันธุ์ มณีวัต กราบขออนุญาตคัดลอกเพื่อเผยแผ่เป็นธรรมทานครับ . . . ส า ธุ
#๑๕๐ปีชาตกาลหลวงปู่มั่น_ภูริทตฺตเถร


แสดงโพสต์จาก:  เรียงตาม  
กลับไปยังกระทู้  [ 1 โพสต์ ] 

เขตเวลา GMT + 7 ชั่วโมง


 ผู้ใช้งานขณะนี้

กำลังดูบอร์ดนี้: ไม่มีสมาชิก และ บุคคลทั่วไป 63 ท่าน


ท่าน ไม่สามารถ โพสต์กระทู้ในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ ตอบกระทู้ในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ แก้ไขโพสต์ของท่านในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ ลบโพสต์ของท่านในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ แนบไฟล์ในบอร์ดนี้ได้

ค้นหาสำหรับ:
ไปที่:  
Google
ทั่วไป เว็บธรรมจักร