วันเวลาปัจจุบัน 29 มี.ค. 2024, 03:29  



เขตเวลา GMT + 7 ชั่วโมง




กลับไปยังกระทู้  [ 28 โพสต์ ]  ไปที่หน้า ย้อนกลับ  1, 2  Bookmark and Share
เจ้าของ ข้อความ
โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 03 ก.ค. 2020, 09:34 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
สมาชิกระดับสูงสุด
สมาชิกระดับสูงสุด
ลงทะเบียนเมื่อ: 24 ต.ค. 2006, 12:36
โพสต์: 33766

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว


แนวทางการเจริญสมาธิ สติ และปัญญาในชีวิตประจำวัน

มีข้อปรารภข้อหนึ่ง ที่มีบางคนเข้าใจว่าการที่เราจะได้รับความสุข หรือ เข้าหาความสงบที่เป็นโลกุตรสุขนั้น จะต้องสละกิจการการงานทางโลกก่อนจึงจะทำได้ อันนี้เป็นความเข้าใจที่ไม่ถูกต้อง เพราะมีบุคคลบางจำพวกบางกลุ่มที่สามารถจะได้รับความสุขทั้งสองฝ่ายพร้อมกัน คือ สามารถที่จะได้โลกียสุข และโลกุตตรสุขพร้อมกันไป ถ้าสามารถปรับปรุงจิตใจได้

ตัวอย่างที่เราเห็นได้คือ พระอริยบุคคลในระดับโสดาบัน ในระดับสกทาคามี ซึ่งถือว่าท่านได้โลกุตรสุขแล้ว ในขณะเดียวกัน ท่านก็ยังเสวยโลกียสุขเกี่ยวข้องกับโลกียสุขอยู่

แต่ชาวพุทธส่วนมากยังเข้าใจว่า ถ้าจะให้ได้โลกุตรสุขต้องสละทิ้งโลกียสุข ละทิ้งหน้าที่การงานหมด ทำอะไรไม่ได้ อยู่บ้านไม่ได้ ทำอะไรไม่ได้ ครองเรือนไม่ได้ มิฉะนั้นแล้วจะไม่มีโอกาสได้โลกุตรสุข
เมื่อมีความคิดอย่างนี้ ทำให้คิดว่าตัดอะไรไม่ได้ เลยปฏิบัติธรรมไม่ได้


การที่ท่านทั้งหลายยังทำงานอยู่ ยังมีภาระหน้าที่ต่างๆอยู่ แต่สนใจเรื่อง ศีล สมาธิ ปัญญา อริยมรรค ธรรมะต่างๆ ถือว่าเป็นการได้กำไรของชีวิตเป็นอย่างมาก เพราะว่าถ้ามัวรอให้เสร็จกิจต่างๆ ก่อนแล้วค่อยไปทำ บางทีอาจจะหมดไปทั้งชีวิตก็ได้ เพราะไม่มีโอกาสที่จะทำ แม้จนแก่เฒ่าก็ยังไม่หมดภาระ

.....................................................
https://dhammachati.blogspot.com/


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 03 ก.ค. 2020, 19:22 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
สมาชิกระดับสูงสุด
สมาชิกระดับสูงสุด
ลงทะเบียนเมื่อ: 24 ต.ค. 2006, 12:36
โพสต์: 33766

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว


สมาธิ ความมีใจตั้งมั่น, ความตั้งมั่นแห่งจิต, การทำให้ใจสงบแน่วแน่ ไม่ฟุ้งซ่าน, ภาวะที่จิตตั้งเรียบแน่วอยู่ในอารมณ์ คือ สิ่งอันหนึ่งอันเดียว, มักใช้เป็นคำเรียกง่ายๆ สำหรับอธิจิตตสิกขา

สมาธิ ๒ คือ 1. อุปจารสมาธิ สมาธิจวนเจียน หรือ สมาธิเฉียดๆ 2. อัปปนาสมาธิ สมาธิแน่วแน่

สมาธิ ๓ คือ 1. สุญญตสมาธิ 2. อนิมิตตสมาธิ 3. อัปปณิหิตสมาธิ อีกหมวดหนึ่ง ได้แก่ 1. ขณิกสมาธิ 2. อุปจารสมาธิ 3. อัปปนาสมาธิ

สมาธิขันธ์ หมวดธรรมจำพวกสมาธิ เช่น ฉันทะ วิริยะ จิตตะ ชาคริยานุโยค กายคตาสติ เป็นต้น

เอกัคคตา ความมีอารมณ์เป็นอันเดียว คือ ความมีจิตต์แน่วแน่อยู่ในอารมณ์อันเดียว ได้แก่ สมาธิ (พจนานุกรม เขียน เอกัคตา)

.....................................................
https://dhammachati.blogspot.com/


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 03 ก.ค. 2020, 19:28 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
สมาชิกระดับสูงสุด
สมาชิกระดับสูงสุด
ลงทะเบียนเมื่อ: 24 ต.ค. 2006, 12:36
โพสต์: 33766

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว


ความเข้าใจเกี่ยวกับสมาธิ

ถ้าจะถามว่า ตัวสมาธิที่แท้จริงคืออะไร ตอบว่า คือ ความตั้งมั่นของใจ ประเภทของสมาธิ มี ๒ ประเภท คือ

๑. สมาธิที่ทุกคนมีอยู่โดยธรรมชาติ ขณะใดที่เราไม่ฟุ้งซ่าน จิตใจสงบอยู่โดยปกติ ขณะนั้น เรียกว่ามีสมาธิ เราจึงทำงานต่างๆ ได้ ไม่เป็นบ้า ไม่เป็นโรคจิต

๒. สมาธิที่เกิดจากการฝึก ที่เรียกว่าฝึกสมาธิ ฝึกได้ทั้ง ๔ อิริยาบถ คือ ยืน เดิน นั่ง นอน (นอนทำระวังจะหลับ :b32: ) ไม่ใช่ทำได้แต่นั่งอย่างเดียว แบบนี้เรียกว่า สมถะ

สมถะ แปลว่า อุบายฝึกจิตให้สงบ เมื่อใจตั้งมั่นแล้วสงบแล้ว จึงเรียกว่า สมาธิ สมาธิเป็นผลของสมถภาวนา เมื่อเราเริ่มทำทีแรกจิตใจยังไม่ตั้งมั่น วอกแวก เมื่อฝึกไปใจก็ตั้งมั่นเป็นสมาธิตั้งมั่นชั่วขณะเรียกขณิกสมาธิ ใช้ประโยชน์ในการทำงาน เรียนหนังสือ ประกอบกิจต่างๆ ได้โดยไม่ฟุ้งซ่าน ถ้าจิตตั้งมั่นเฉียดๆ ฌานก็เป็นอุปจารสมาธิ ถ้าตั้งมั่นอย่างแน่วแน่มั่นคงเป็นอัปปนาสมาธิ

สมาธิซึ่งเป็นผลของการฝึก เรียกสมถกรรมฐาน หรือ สมถภาวนา แล้วจะมีผลเกิดขึ้น คือ สมาหิตํ แปลว่า ตั้งมั่น ปาริสุทฺธํ คือ บริสุทธิ์ ขาวรอบ กมฺมนิยํ ควรแก่การงาน คือพร้อมที่จะน้อมจิตไปให้ทำอะไรได้ตามที่ต้องการ คล้ายๆ ดินที่หมาดหรือดินน้ำมั่น เราจะปั้นให้เป็นสิ่งใดรูปใดก็ได้ เพราะความที่มันไม่แข็งไม่เหลวเกินไป

ฉะนั้น จิตที่อ่อนเกินไปทำอะไรไม่ได้ จิตที่แข็งกระด้างเกินไปก็ทำอะไรไม่ได้ จิตที่ฝึกให้ดีได้ตรงที่เป็นสมาธิควรแก่การงาน หมุนไปทางไหนเป็นอย่างไรก็เป็นได้

จิตที่ไม่ได้รับการฝึกมักมีโทษมาก เหมือนช้าง ม้า วัว ควาย ที่มีไว้แล้วไม่ได้ฝึก ได้แต่กินอาหารของเราอย่างเดียว ใช้งานอะไรไม่ได้ ทำให้เสียเวลาเลี้ยงดูเอาใจใส่

แต่ถ้าฝึกได้ดีแล้ว เราจะใช้ประโยชน์ได้คุ้มกับการที่เราเลี้ยงดู จิตของคนก็เหมือนกัน ถ้าไม่ได้รับการฝึก เรายิ่งสูญเสียอะไรๆ ไปมาก

แต่คนที่ยิ่งฝึกได้มากเท่าไร การที่จะต้องเสียอะไรกับจิตจะมีน้อยลง แต่มีผลได้มากขึ้น จนในที่สุดจะไม่เสียอะไรเลย จะได้รับส่วนดีอย่างเดียวจากการฝึก

ให้ดูต้นไม้ทีเราปลูกไว้ ตอนแรกเราต้องเหนื่อยอยู่บ้าง ในการรดน้ำ พรวนดิน ใส่ปุ๋ย กำจัดศัตรูพืช แต่เมื่อเติบโตขึ้น ภาระของเราจะยิ่งน้อยลง จนในที่สุดไม่ต้องทำอะไรกับต้นไม้ที่ปลูก มันมีแต่จะให้คุณแก่เรา ให้ร่มเงา ให้ผล ฯลฯ เพราะต้นไม้นั้นโตจนอยู่ตัวเลี้ยงตัวได้เอง

จิตที่ได้รับการฝึกดีแล้วก็เช่นกัน จะหมดเปลืองน้อยที่สุดแต่ได้รับประโยชน์มากที่สุด ไม่ต้องไปตามใจเรื่องกินเรื่องอยู่เรื่องเที่ยวเตร่อีกต่อไป การที่จะต้องเสียอะไรให้สิ้นเปลืองก็ลดลงหมด เหลือแต่ที่จำเป็นจริงๆ เพราะจิตได้รับการฝึกให้คุ้นแล้ว ให้ใช้งานได้ดี ให้อยู่ในบังคับ อยู่ในอำนาจของเจ้าของ ไม่พยศ ทำให้เรารู้สึกสบาย ไม่ว่าจะทำอะไร ยืน เดิน นั่ง นอน สบายไปหมด เหมือนสัตว์ที่เชื่องแล้วไม่พยศ

ฉะนั้น การลงทุนฝึกจิตจะได้รับผลเกินคุ้ม ไม่ควรเสียดายเวลาที่เสียไปกับการลงทุนเรื่องนี้

โดยธรรมชาติของจิต เมื่อยังไม่ได้รับการฝึกนั้นมันจะดิ้นรนกวัดแกว่ง ห้ามยาก คล้ายลิงที่อยู่นิ่งไม่ได้ จิตถูกโยกโคลงด้วยโลกธรรม ๘ โลกธรรมซัดสาดให้หวั่นไหวกวัดแกว่ง ดิ้นรนแสวงหาต้องการด้วยเรื่องลาภ ยศ สรรเสริญ สุข ห่อเหี่ยวกับการเสื่อมลาภ เสื่อมยศ ถูกนินทา ทุกข์ จิตถูกโยกโคลงด้วยสิ่งเหล่านี้ตลอดเวลา

แต่เมื่อฝึกจิตให้ดีด้วยสมาธิแล้ว จะเห็นโลกธรรมเป็นของเด็กเล่น ไม่ตื่นเต้นอะไร จิตใจสงบประณีต จะได้ลาภหรือเสื่อมจากลาภ จะได้ยศหรือเสื่อมจากยศ จะถูกนินทาหรือสรรเสริญ จะสุขจะทุกข์ ก็เห็นเป็นเรื่องธรรมดาของโลก ทำให้อยู่สบาย เป็นอิสระ เป็นตัวของตัวเอง ไม่ถูกครอบงำด้วยสิ่งเหล่านี้

ผิดกับคนสามัญชนคนทั้งหลายทั่วไปที่เดือดร้อนดิ้นรนกับลาภ ยศ แต่เราไม่เดือดร้อนเหมือนกับขณะที่คนทั้งหลายเปียกฝนกันอยู่ เราได้ที่มุ่งที่บังไม่เปียกฝน

คนที่เปียกนั้น เขาไม่ได้ตั้งใจจะเปียก แต่เพราะไม่มีร่มเงาที่อาศัยเพราะไม่ได้สร้างที่พักอาศัยเอาไว้ แล้วจะมีที่พักอะไรที่เกษม ปลอดโปร่ง เป็นที่มั่นของจิตยิ่งไปกว่าสมาธิ ไม่ต้องโยกโคลงด้วยโลกธรรม เหนื่อยก็เหนื่อยเฉพาะกาย แต่ใจไม่เหนื่อย มีภาระหน้าที่อะไรก็ทำหน้าที่ไป

มนุษย์เรามีปัญญาสูงมากสามารถรวบรวมพลังจิตให้ปัญญาเอาไปใช้ได้โดยสะดวก ที่เอาไปใช้ไม่ได้มาก เพราะว่าไม่สามารถรวบรวมพลังได้มากเท่าไร เหมือนมีอยู่ ๑๐๐ แต่ใช้ได้เพียง ๑๐ คล้ายน้ำที่ไหลหลายกระแส ถ้าไหลไป ๑๐๐ ทาง น้ำจะไหลไม่แรง แต่ถ้าเราหมุนหรือทำให้ไหลไปทางเดียวน้ำก็จะแรง

ฉะนั้น กระแสปัญญาหรือความรู้สึกนึกคิดของแต่ละคนก็มีอยู่มาก ความสามารถที่จะทำงานก็มีมาก แต่มันถูกความฟุ้งซ่าน ความย่อท้อ ฯลฯ แบ่งเอาสิ่งเหล่านี้ไป คล้ายที่หน้ากระบอกไฟฉายมีกระจกรวมแสง ซึ่งหลอดไฟฉายมีแค่ ๒-๓ แรงเทียน ถ้าไม่มีกระจกรวมแสงจะมองอะไรไม่เห็นเลย เมื่อฉายไฟแสงจะพุ่งออกมาสว่าง

ฉะนั้น สมาธิก็คล้ายเป็นการรวมแสงสำหรับให้แสงพุ่งไปทางใดทางหนึ่งเหมือนดวงปัญญา ซึ่งเมื่อฝึกสมาธิให้ดีแล้วจะใช้ดวงปัญญาได้มาก สามารถเข้าใจสิ่งลี้ลับต่างๆ หรือทำอะไรได้มากมาย

ในชีวิตประจำวัน เมื่อมีสมาธิดีแล้ว ปัญญาที่รับการอบรมดีแล้ว จะทำให้การงานเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ

คราวใดที่เราฟุ้งซ่านสับสนท่านจะเห็นได้ด้วยตนเอง ในชีวิตประจำวันของผมเองเวลาเขียนหนังสือสอนหนังสือ คราวใดที่ใจวอกแวกนิดเดียวจะเขียนหนังสือไม่ได้เลย มาถึงเวลานี้ก็เขียนได้จำนวนไม่น้อย การที่ทำอย่างนั้นได้ต้องใช้กำลังของสมาธิ และกำลังความเพียรทำให้มีสติสัมปชัญญะดี

.....................................................
https://dhammachati.blogspot.com/


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 04 ก.ค. 2020, 05:22 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
สมาชิกระดับสูงสุด
สมาชิกระดับสูงสุด
ลงทะเบียนเมื่อ: 24 ต.ค. 2006, 12:36
โพสต์: 33766

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว


สมาธิ สติ และปัญญาต้องทำงานร่วมกัน

ในเวลาที่เราฝึกสมาธิ สิ่งที่ต้องใช้งานมาก คือ สติ เราต้องเอาสติมาคอยควบคุมอยู่ตลอดเวลา บางท่านใช้ อานาปานสติ ก็ต้องใช้สติกำหนดลมหายใจเขา-ออก เพื่อให้จิตสงบอยู่กับลมหายใจเขา-ออก ก็ต้องมีสติควบคุมอยู่ตลอดเวลา

เผลอสติเมื่อใดจิตใจก็ฟุ้งเมื่อนั้น สติเป็นเชือก เชือกขาดเมื่อไรสัตว์ที่จับมาผูกไว้จะไปทันที ต้องจับมาผูกใหม่ ต้องหมั่นตั้งสติบ่อยๆ การที่เราจะใช้สติมากทำให้เกิดปัญญาทั้งอย่างสามัญและโลกุตระ (Super Mundane) ปัญญาที่เป็นโลกียะก็มีสมาธิจิตที่ดีงามที่มั่นคงเป็นพื้นฐาน ช่วยแก้ไขขัดเกลาให้มีนิสัยสันดานสะอาดประณีตขึ้น

การที่เรามีความฟุ้งซ่านบ่อย ทำให้เรามีความก้าวร้าวบ่อยด้วย คือ เอาใจไว้ไม่อยู่ ถ้าเราฝึกสติฝึกสมาธิฝึกปัญญาบ่อยๆ จะเป็นการขัดเกลาตัวเองให้มีนิสัยสันดานดีขึ้น สงบ โปร่ง

มีบางท่านโทรศัพท์มาปรึกษาปัญหากับผม ผมบอกให้เอาใจไว้ให้อยู่ก่อน ได้ลงทุนลงแรงสละปัจจัยบำรุงศาสนามามากมาย มีเรื่องเล็กน้อยก็เก็บมาคิดเป็นเรื่องใหญ่บานปลาย มันไม่คุ้มกับที่ได้ศึกษาพระพุทธศาสนามานาน ไม่สามารถเอาชนะทุกข์ได้แม้เพียงเล็กๆ น้อยๆ น่าเสียดาย

เราต้องชนะทุกข์ให้ได้ แค่นี้ยอมแพ้ทุกข์เสียแล้ว ไม่เสียดายเวลาที่เรียนมาบ้างหรือ เงินทองที่เสียไปในการทำบุญแล้วไม่ได้ผลอะไรเลยน่าเสียดาย

เมื่อเรามีปัญญามีนิสัยสันดานที่สะอาดประณีตขึ้น จะมีความทุกข์น้อยลงๆ จะมีความรู้สึกว่าเป็นทุกข์ไม่เป็น ไม่รู้ว่าจะเป็นทุกข์ไปทำไม ทำให้เป็นคนมีบุคลิกดี ไม่เหลาะแหละ ไม่มีท่าทีร้อนรน อยู่เป็นสุข ทำให้ผู้เข้าใกล้พลอยเป็นสุขไปด้วยแม้เพียงแต่ได้เห็นได้คุยด้วยเพียงเล็กน้อย

ในสมัยพุทธกาลมีผู้กล่าวถึงพระพุทธเจ้าว่าทำให้ผู้เข้าใกล้รู้สึกโปร่งใจ แม้เพียงการได้เห็นท่านผู้เช่นนั้นก็เป็นการดี

.....................................................
https://dhammachati.blogspot.com/


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 04 ก.ค. 2020, 05:32 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
สมาชิกระดับสูงสุด
สมาชิกระดับสูงสุด
ลงทะเบียนเมื่อ: 24 ต.ค. 2006, 12:36
โพสต์: 33766

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว


แทรก

สติทำกิจสำคัญทั้งในสมถะ และในวิปัสสนา หากพูดเปรียบเทียบ ระหว่างบทบาทของ สติ ในสมถะ กับ ในวิปัสสนา

ในสมถะ สติกุมจิตไว้กับอารมณ์ หรือดึงอารมณ์ไว้กับจิต เพียงเพื่อให้จิตเพ่งแน่วแน่ หรือ จับแนบสนิทอยู่กับอารมณ์นั้น นิ่งสงบไม่ส่าย ไม่ซ่านไปที่อื่น เมื่อจิตแน่วแน่แนบสนิทอยู่กับอารมณ์นั้น เป็นหนึ่งเดียวต่อเนื่องไปสม่ำเสมอ ก็เรียกว่าเป็นสมาธิ และเพียงแค่นั้น สมถะ ก็สำเร็จ

ส่วนในวิปัสสนา สติกำหนดอารมณ์ให้แก่จิต หรือ ดึงจิตไว้กับอารมณ์เหมือนกัน แต่มุ่งใช้จิตเป็นที่วางอารมณ์ เพื่อเสนออารมณ์นั้นให้ปัญญาตรวจสอบพิจารณา คือ จับอารมณ์ไว้ให้ปัญญาตรวจดู และวิเคราะห์วิจัย โดยใช้จิตที่ตั้งมั่น เป็นที่ทำงาน*(สติ ใช้กำหนด ปัญญา ใช้ตรวจตรอง วิเคราะห์ วินิจฉัย วิสุทฺธิ.ฎีกา 1/301)

หากจะอุปมา ในกรณีของสมถะ เหมือนเอาเชือกผูกลูกวัวพยศไว้กับหลัก ลูกวัวจะออกไปไหนๆ ก็ไปไม่ได้ คงวนเวียนอยู่กับหลัก ในที่สุด เมื่อหายพยศ ก็หมอบนิ่งอยู่ที่หลักนั้นเอง
จิต เปรียบเหมือนลูกวัวพยศ อารมณ์เหมือนหลัก สติเหมือนเชือก


ในกรณีของวิปัสสนา เปรียบเหมือนเอาเชือกหรือเครื่องยึด ผูกตรึงคน สัตว์ หรือ วัตถุบางอย่างไว้กับแทนหรือ เตียง แล้วตรวจดู หรือ ทำกิจอื่น เช่น ผ่าตัด เป็นต้น ได้ถนัดชัดเจน เชือก หรือ เครื่องยึด คือสติ คน สัตว์ หรือ วัตถุที่เกี่ยวข้องคือ อารมณ์ แท่น หรือ เตียง คือจิตที่เป็นสมาธิ การตรวจ หรือ ผ่าตัด เป็นต้น คือ ปัญญา

(พุทธธรรม หน้า 776)

อารมณ์+สติ+สมาธิ+ปัญญา

.....................................................
https://dhammachati.blogspot.com/


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 05 ก.ค. 2020, 11:03 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
สมาชิกระดับสูงสุด
สมาชิกระดับสูงสุด
ลงทะเบียนเมื่อ: 24 ต.ค. 2006, 12:36
โพสต์: 33766

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว


ต่อ

คุมกิเลสด้วยสมาธิ ตัดกิเลสด้วยสติปัญญา

เมื่อเราสามารถควบคุมจิตไว้ได้ กาย วาจา ก็ถูกควบคุมไปด้วย เมื่อจิตสงบ กายวาจาก็สงบ และข้อย้ำว่า เราต้องเอาปัญญามาช่วยอยู่ตลอดเวลา

ปัญญาจะเป็นตัวเห็นแจ้งแทงตลอด เข้าใจอะไรทะลุปรุโปร่งสว่างไสว มองอะไรเกิดภาวะที่เรียกว่า Realization เกิดยถาภูตญาณ ขึ้น มีความเข้าใจรู้ว่าอะไรเป็นอะไร

ใจสงบจะช่วยให้เราประณีต สติปัญญาจะช่วยให้เราสว่างไสว รู้ว่าเมื่อมีปัญหาขึ้นมาควรจะจัดการกับปัญหาอย่างไร จะช่วยเราได้มากในการทำงานทุกๆ อย่าง เพราะว่าสมาธิจะช่วยควบคุมจิตใจไว้ก่อน เหมือนท่านเจองูจะตัดคองู ท่านจะทำอย่างไร ท่านต้องหาอะไรจับงูไว้ก่อนใช่ไหม เช่น ใช้ไม้ง่ามจับให้มันนิ่งเสียก่อน ถ้างูยังดิ้นอยู่ เราจะตัดหัวได้อย่างไร อาวุธที่จะตัดหัวงู คือ ปัญญา

กระแสของกิเลสเราคุมไว้ได้ด้วยกำลังสมาธิ แต่ที่จะไปทำลายตัวกิเลส คือ ตัวปัญญา

ท่านต้องใช้วิปัสสนา หรือ ปัญญามาช่วยอยู่ตลอด มิฉะนั้นแล้วจะได้ผลน้อยไป อาจจะดูเป็นคนสงบเสงี่ยม ประณีต เป็นคนดี แต่ว่าพึ่งอะไรไม่ได้ มีปัญหาขึ้นมาก็พึ่งไม่ได้

.....................................................
https://dhammachati.blogspot.com/


แก้ไขล่าสุดโดย กรัชกาย เมื่อ 06 ก.ค. 2020, 07:33, แก้ไขแล้ว 1 ครั้ง

โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 05 ก.ค. 2020, 17:58 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
สมาชิกระดับสูงสุด
สมาชิกระดับสูงสุด
ลงทะเบียนเมื่อ: 24 ต.ค. 2006, 12:36
โพสต์: 33766

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว


ปัญญาเป็นคุณธรรมสูงสุด

พระพุทธศาสนา ถือเอาปัญญาเป็นคุณธรรมสูงสุด ซึ่งจะนำไปสู่จุดมุ่งหมายสูงสุด คือ ความหลุดพ้น (วิมุตติ) ตัวปัญญาเองมิใช่เป็นจุดหมายมุ่งหมายสูงสุด เป็นเพียงเครื่องมือขั้นสุดท้ายเท่านั้น

การปฏิบัติทั่วไปจึงเริ่มจากศีล (อธิสีลสิกขา) คือ การควบคุมกาย วาจา ให้อยู่ในระเบียบวินัยอันดี เหมือนต้นไม้ยังเล็ก ต้องมีไม้หรืออุปกรณ์อย่างใดอย่างหนึ่งล้อมไว้ก่อน หรืออาจใช้หลักและเชือกผูกตัดไว้ เพื่อมิให้ล้มเมื่อลมแรง

เปรียบอีกอย่างหนึ่ง เหมือนสัตว์เลี้ยงที่ยังเล็ก ซึ่งเจ้าของจะต้องล้อมคอกไว้ก่อน เพื่อป้องกันมิให้ตกหล่มเลน หรือตกบ่อ หรือเป็นเหยื่อของสัตว์ร้ายโดยง่าย เมื่อต้นไม้หรือสัตว์เติบโตแข็งแรงดีแล้วก็ปล่อยได้ พ้นจากอันตราย

คนก็เช่นเดียวกัน แม้จะมีศีลดีแล้วก็ต้องประคับประคองตนไว้ด้วยความไม่ประมาท ต้องรักษาจิตด้วยสติอยู่เสมอ เช่น ระวังใจมิให้ติดในสิ่งที่ชวนให้ติด มิให้ลุ่มหลัวมัวเมาในสิ่งที่ชวนให้ลุ่มหลัวมัวเมา

ตอนนี้ก้าวเข้ามาสู่แดนแห่งสมาธิ (อธิจิตตสิกขา) คือ ความสงบมั่นคงแห่งจิตอันเป็นอุปกรณ์สำคัญในการใช้ปัญญา เหมือนการมองดูวัตถุในน้ำใส นิ่ง ย่อมเห็นชัดเจน หรือการมองดูสิ่งหนึ่งซึ่งอยู่ข้างทางขณะรถวิ่งอยู่ กับ การมองดูขณะที่รถหยุดนิ่ง ย่อมมองเห็นชัดเจนได้ไม่เท่ากัน

ในการใช้ปัญญาก็ทำนองเดียวกัน ขณะที่จิตฟุ้งซ่าน สับสน วุ่นวาย ย่อมใช้ปัญญาไม่ได้ หรือได้ไม่ดีเท่าที่ควร แต่เมื่อจิตบริสุทธิ์ สะอาด สงบ ตั้งมั่น ย่อมใช้ปัญญาได้อย่างนี้ ปัญญาที่ใช้บ่อยๆ ทำให้เฉียบคมว่องไว้ พอกพูนมากขึ้น เป็นปัจจัยให้ศีลและสมาธิดีขึ้นด้วย ทั้ง ๓ อย่างนี้อาศัยกันและกัน ทำให้ชีวิตบริสุทธิ์

พุทธวิธีในการสอนของพระพุทธเจ้า แก่มวลพุทธบริษัทนั้น ก็เพื่อให้พุทธบริษัทขึ้นถึงยอดแห่งคุณธรรม คือ มีปัญญาพิจารณาเห็นแจ้งด้วยตนเอง จนสมารถเป็นที่พึ่งแก่ตนได้ ไม่ต้องเชื่อถือแม้แต่ถ้อยคำของสมณะ ( น จ ปน สมณวจนเหตุปิ คจฺฉติ - เล่ม 21 ข้อ 117)

ที่ว่า “ไม่ต้องเชื่อถือแม้แต่ถ้อยคำของสมณะ” นั้น หมายความว่า บุคคลโดยทั่วไป ย่อมมีสมณะ นักบวช หรือ ศาสดา อันเป็นที่เคารพนับถือของตน ท่านพูดอย่างใด ย่อมเชื่ออย่างนั้น แต่ผู้ที่ฝึกจิตดีแล้ว มีปัญญาเข้าถึงธรรมหรือความจริงด้วยตนเองแล้ว ย่อมเชื่อมั่นด้วยตนเองว่าอะไรเป็นอะไร ได้เห็นแจ้งด้วยตนเองแล้ว ย่อมไม่ต้องตกลงใจ เพราะเชื่อผู้อื่นอันเป็นเพียงศรัทธาในตัวบุคคล

ดังนั้นในกาลามสูตร พระพุทธองค์จึงทรงแสดงไว้เป็นข้อสุดท้ายว่า อย่าได้เชื่อถือเพราะเห็นว่าบุคคลนั้นเป็นสมของเรา หรือ ครูของเรา ศาสนาของเรา (มา สมโณ โน ครุ)

อนึ่ง ผู้อบรมปัญญา ถ้าได้เห็นธรรมแม้เพียงขั้นโสดาบัน อันจัดเป็นขั้นต้นแห่งผู้เข้าสู่กระแสธรรม ก็จะมีคุณสมบัติอย่างหนึ่งขึ้นมา คือ ไม่ต้องมีผู้อื่นเป็นปัจจัยในคำสอนของพระศาสดา (อปรปจฺจโย สตฺถุ สาสเน)

เพราะฉะนั้น จุดมุ่งหมายที่พระพุทธองค์ทรงสั่งสอนพุทธบริษัท ก็เพื่อให้เกิดปัญญารู้แจ้งเห็นจริง ดังข้อความในอังคุตตรนิกาย ติกนิบาตร เล่ม 20 ข้อ 565 ว่า

๑. ทรงสอนเพื่อให้ผู้ฟังรู้แจ้งเห็นจริงในสิ่งที่ควรรู้ควรเห็น

๒. ทรงสอนเพื่อให้ผู้ฟังตรองตามแล้วเห็นจริงได้ ทรงแสดธรรมอย่างมีเหตุผลที่ผู้ฟังอาจตรองตามให้เห็นได้ด้วยตนเอง

๓. ทรงแสดงธรรมมีคุณเป็นอัศจรรย์ คือ สามารถยังผู้ปฏิบัติตามให้ได้รับผลตามสมควรแก่กำลังการปฏิบัติของตนๆ และก้าวขึ้นสู่ระดับสูงเป็นอุตตมชีวิต

ข้อที่ว่า ปัญญาเป็นคุณธรรมสูงสุดนั้น มีพุทธศาสนสุภาษิตกล่าวไว้ว่า “ผู้ฉลาดทั้งหลายกล่าวว่า ปัญญาประเสริฐที่สุด ดุจดวงจันทร์ในหมู่ดาว” และว่า “นักปราชญ์กล่าวว่า ผู้มีชีวิตอยู่ด้วยปัญญา เป็นชีวิตที่ประเสริฐสุด” ดังนี้เป็นต้น

ศรัทธา เป็นคุณธรรมที่ต้องปลูกฝังให้เกิดขึ้นในเบื้องต้น เพื่อให้ชีวิตมีหลักยึดไว้ก่อน เหมือนเด็กหัดเดินต้องไต่ราว หรือฝาผนัง หรือ คนเริ่มหัดเขียนหนังสือ ต้องมีเส้นบรรทัด มิฉะนั้น จะเขียนไม่ตรง

ดินยังเหลวอยู่จะให้เป็นรูปใดต้องอาศัยเบ้าก่อน ฉะนั้น จะเละไม่เป็นรูปอย่างที่ต้องการ

ศรัทธา เป็นคุณธรรมที่ต้องการก่อนเช่นนี้ก็จริง แต่ศรัทธาจะถูกแทนที่โดยปัญญาทั้งหมดในขั้นสุดท้าย คือ ในที่สุดก็ทิ้งศรัทธาไปได้เลย เมื่อปัญญาเข้ามาแทนที่โดยสมบูรณ์แล้ว เหมือนช่างแกะเอาเบ้าทิ้งเมื่อดิน หรือ ปูนพลาสเตอร์แห้งดีแล้ว เด็กเมื่อเดินแข็งดีแล้ว ก็ไม่ต้องอาศัยราวอีกต่อไป

คนเขียนหนังสือชำนาญแล้ว ก็ไม่ต้องอาศัยเส้นบรรทัดอีก

แม้ในขณะที่ปัญญายังไม่เข้ามาแทนที่ศรัทธาโดยสมบูรณ์ ศรัทธาก็ต้องคุมโดยปัญญา จะเห็นได้ว่าในหมวดธรรมที่มีศรัทธาขึ้นต้น จะลงท้ายด้วยปัญญาเสมอ แปลว่า ศรัทธาก็ต้องถูกควบคุมโดยปัญญาตั้งแต่เริ่มต้นทีเดียว

แสดงอย่างชัดเจนว่า พระพุทธศาสนาไม่ต้องการให้บุคคลเชื่อสิ่งใดโดยปราศจากปัญญา ไม่ต้องมอบกายถวายชีวิตให้แก่สิ่งใดโดยที่ไม่ตรองให้เห็นด้วยปัญญาเสียก่อน

จะเห็นได้ว่า จุดมุ่งหมายในการสอนและพุทธวิธีต่างๆ ในการที่ทรงใช้สอนนั้นล้วนตะล่อมไปสู่ปัญญา ให้บุคคลประจักษ์แจ้งด้วยตนเองจนสามารถเป็นที่พึ่งแก่ตนได้ โดยอาศัยพระธรรมเป็นแนวทาง ดังพุทธดำรัสว่า

“ท่านทั้งหลายจงมีตนและธรรมเป็นที่พึ่ง อย่างได้มีสิ่งอื่นเป็นที่พึงเลย”

เพื่อการพึ่งตนและพึ่งธรรม พุทธบริษัทควรจะปฏิบัติตนให้ถูกต้องตามทำนองคลองธรรม จนสามารถเป็นที่พึ่งแก่ตนได้ทางจิตใจ ไม่ต้องพึ่งใครทางจิตใจ พุทธบริษัทที่มั่นคงต้องอยู่ในลักษณะนี้ พยายามปรับปรุงจิตใจของตนให้ชื่นชมต่อคุณธรรม มีคุณภาพในหน้าที่การงานที่รับผิดชอบ เมื่อบุคคลมีคุณภาพดี การงานทุกด้านก็จะประสานประโยชน์กัน เป็นผลดีต่อบุคคล ศาสนา และชาติบ้านเมืองโดยส่วนรวมอย่างแน่นอน

แต่ถ้าชาวพุทธส่วนใหญ่ยังสนใจพุทธศาสนาเฉพาะในแง่ที่เป็นพิธีกรรม ไม่ค่อยสนใจพุทธศาสนาในส่วนที่เป็นเนื้อหาสาระอันเป็นเครื่องมือช่วยตนในคราวมีทุกข์แล้ว

พอความทุกข์เกิดขึ้นก็พะวักพะวนจับอะไรไม่ถูก บางทีตกเป็นเหยื่อของพวกมิจฉาชีพที่แฝงตนเข้ามาในรูปของนักบุญหรือนักบวช พุทธบริษัทเหล่านี้แหละน่าสงสารมาก

ทางที่ดีพุทธบริษัทควรจะเชื่อพระพุทธเจ้า คือ พยายามมีตนและมีธรรมเป็นที่พึ่งให้ได้

ในการนี้ปัญญาเป็นตัวสำคัญอย่างยิ่ง เป็นหลักให้ ศรัทธา วิริยะ สติ สมาธิ ยึดเกาะ หรือ ทรงตัวอิงอาศัยอยู่ ดังพระพุทธพจน์ที่ว่า

“สำหรับอริยสาวกผู้มีปัญญา ศรัทธาซึ่งเป็นธรรมคล้อยตามปัญญานั้น ย่อมทรงอยู่ได้ วิริยะ สติ สมาธิ ก็เช่นกัน เป็นธรรมคล้อยตามปัญญา ย่อมทรงตัวอยู่ได้” (เล่ม 19/989)

ปัญญาจึงเป็นคุณธรรมสูงสุดดังกล่าวมา พระพุทธองค์ทรงสอนธรรมเพื่อให้พุทธบริษัทมีปัญญาเป็นเครื่องรักษาตนและคุ้มครองตนได้ และเพื่อบรรลุจุดหมายทุกระดับทุกขั้นตอน

.....................................................
https://dhammachati.blogspot.com/


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 05 ก.ค. 2020, 18:22 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
สมาชิกระดับสูงสุด
สมาชิกระดับสูงสุด
ลงทะเบียนเมื่อ: 24 ต.ค. 2006, 12:36
โพสต์: 33766

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว


ตอนต่อไปเป็นช่วงตอบคำถาม


รูปภาพ

.....................................................
https://dhammachati.blogspot.com/


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 06 ก.ค. 2020, 07:36 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
สมาชิกระดับสูงสุด
สมาชิกระดับสูงสุด
ลงทะเบียนเมื่อ: 24 ต.ค. 2006, 12:36
โพสต์: 33766

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว


ธรรมปฏิสันถาร : สนทนาปัญหาธรรม

ปฏิสันถาร คือ การต้อนรับแขกผู้มาหา มีวิธีต้อนรับอยู่ ๒ อย่าง คือ ด้วยอามิส หรือ ด้วยธรรม หากทำได้ทั้งสองอย่างพร้อมกันไปก็เป็นการดี

การต้อนรับด้วยอามิสนั้น คือ การต้อนรับด้วยเครื่องบริโภคอย่างใดอย่างหนึ่ง เช่น น้ำร้อน น้ำเย็นหรือ อาหาร ขนมหวาน ผลไม้ แล้วแต่กรณี

ทางพระพุทธศาสนาถือการต้อนรับเป็นสิ่งสำคัญอย่างหนึ่ง ลองเอาใจเขามาใส่ใจเรา เราไปที่ใดหากเจ้าถิ่นต้อนรับดี เราจะรู้สึกดื่มด่ำในอัธยาศัยไปนาน บางทีอาจถึงตลอดชีวิต หากต้อนรับไม่ดีก็ได้รับผลตรงกันข้าม เมื่อเรารู้สึกอย่างนี้ คนอื่นก็เช่นกัน จึงควรที่เราจะต้อนรับผู้อื่นอย่างดีที่สุดเท่าที่จะทำได้

ส่วนการต้อนรับด้วยธรรมนั้น คือ การสนทนาธรรม นำเอาเรื่องราวที่เป็นประโยชน์แก่การครองชีพมาสนทนา หากเป็นบรรพชิตก็นำเอากถาวัตถุ ๑๐ อย่างใดอย่างหนึ่งมาสนทนาเพื่อการขัดเกลา เช่น พูดกันเรื่องความสันโดษ ความมักน้อย ความเพียร เป็นต้น สำหรับบรรพชิตนั้น โดยปกติพระพุทธเจ้าทรงอนุญาต ๒ อย่าง คือ การนิ่งอย่างหนึ่ง กับการพูดจาอันประกอบด้วยธรรมอย่างหนึ่ง (ธมฺมีกถา วา อริโย วา ตุณฺหีภาโว) เรื่องที่พูดนอกจากนี้ ทรงถือว่าไม่ใช่กิจของบรรพชิต

คนที่รู้จักปฏิสันถารด้วยธรรมนั้น ก่อให้เกิดความดื่มด่ำแก่ผู้เข้าใกล้ รู้สึกว่ามาได้รับยาสำหรับดวงจิตหรือวิญญาณ คฤหัสถ์ได้คุยกับพระนั้น อยากให้พระคุยธรรมะให้ฟัง อยากให้ปรารภเรื่องใดเรื่องหนึ่งอันเป็นเรื่องเย็น เพราะในโลกของชาวบ้านนั้นร้อนอยู่ด้วยเรื่องต่างๆ มากมาย

อนึ่ง ในหมู่ของคฤหัสถ์ หากธรรมะฟังได้ยาก เมื่อรวมหัวกันก็มักคุยกันเรื่องทำมาหากิน เรื่องเที่ยวเตร่เสเพลต่างๆ

ธรรมะเป็นของหายากในหมู่ฆราวาสทั่วไป ธรรมะจึงมีค่ามากสำหรับฆราวาส พระที่ชอบคุยธรรมะคนจึงชอบและเลื่อมใส

ในหมู่ชาวบ้านด้วยกัน หากผู้ใหญ่คนใด พูดสิ่งที่เป็นคติเป็นประโยชน์ พวกคนหนุ่มๆ ก็ชอบ ผู้ใหญ่ที่ชอบแต่พูดจาตลกคะนองเสียเรื่อยไป อย่านึกว่าเขาจะนิยมชมชอบจริง ที่แท้เขานึกดูถูกอยู่ในใจ

ในทางปฏิบัติ การปฏิสันถารจึงควรทำทั้งสองอย่าง คือ ทั้งอามิสปฏิสันถาร และธรรมปฏิสันถาร ทั้งนี้ควรทำโดยเลือกบุคคลเลือกกาลเทศะ บางโอกาสอาจทำพร้อมๆ กันไปได้ บางโอกาสอาจทำได้เพียงอย่างเดียว อย่างใดอย่างหนึ่ง

ต้องขอขอบคุณทุกท่านที่กรุณาสละเวลาอันมีค่ามาร่วมสนทนาธรรม บางท่านก็เขียนถามมา ถือได้ว่าท่านเป็นผู้มีส่วนสำคัญในการให้หนังสือเล่มนี้เกิดขึ้น แม้อาจจะไม่เคยเห็นตัวกัน แต่ก็มีความรู้สึกสนิทสนมเป็นกันเอง เพราะมีฉันทะเดียวกัน คือ ธรรมฉันทะ เป็นญาติกันโดย

.....................................................
https://dhammachati.blogspot.com/


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 06 ก.ค. 2020, 07:38 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
สมาชิกระดับสูงสุด
สมาชิกระดับสูงสุด
ลงทะเบียนเมื่อ: 24 ต.ค. 2006, 12:36
โพสต์: 33766

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว


ปฏิสันถาร การทักทายปราศรัย, การต้อนรับแขก มี ๒ อย่าง คือ

๑. อามิสปฏิสันถาร ต้อนรับด้วยสิ่งของ

๒. ธรรมปฏิสันถาร ต้อนรับด้วยธรรม คือ กล่าวแนะนำในทางธรรม

อีกนัยหนึ่งว่า ต้อนรับโดยธรรม คือ การต้อนรับที่ทำพอดีสมควรแก่ฐานะของแขก มีลุกรับ เป็นต้น หรือช่วยเหลือสงเคราะห์ขจัดปัญหาข้อติดขัด ทำกุศลกิจให้ลุล่วง

ปฏิบัติ ประพฤติ, กระทำ, บำรุง, เลี้ยงดู

ปฏิบัติบูชา การบูชาด้วยการปฏิบัติ คือ ประพฤติตามธรรมคำสั่งสอนของพระท่าน, บูชาด้วยการประพฤติปฏิบัติกระทำสิ่งที่ดีงาม

อามิสบูชา การบูชาด้วยอามิส คือ ด้วยสิ่งของมีดอกไม้ ของหอม อาหาร และวัตถุสิ่งๆ

อามิสปฏิสันถาร การต้อนรับด้วยสิ่งของ เช่น อาหาร น้ำบริโภค เป็นต้น

ธรรมปฏิสันถาร การต้อนรับด้วยธรรม คือ กล่าวธรรมให้ฟัง หรือ แนะนำในทางธรรม อย่างนี้เป็นธรรมปฏิสันถารโดยเอกเทศคือส่วนหนึ่งด้านหนึ่ง ธรรมปฏิสันถารที่บำเพ็ญอย่างบริบูรณ์ คือ การต้อนรับโดยธรรม ได้แก่ เอาใจใส่ช่วยเหลือสงเคราะห์ แก้ไขปัญหาบรรเทาข้อสงสัย ขจัดปัดเป่าข้อติดขัดยากลำบากเดือดร้อนทั้งหลาย ให้เขาลุล่วงกิจอันเป็นกุศล พ้นความอึดอัดขัดข้อง

ธรรมานุธรรมปฏิบัติ การประพฤติธรรมสมควรแก่ธรรม หมายถึง การปฏิบัติธรรมถูกต้องตามหลัก เช่น หลักย่อยสอดคล้องกับหลักใหญ่ และเข้าแนวกับธรรมที่เป็นจุดหมาย, ปฏิบัติถูกต้องตามกระบวนธรรม

.....................................................
https://dhammachati.blogspot.com/


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 06 ก.ค. 2020, 19:44 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
สมาชิกระดับสูงสุด
สมาชิกระดับสูงสุด
ลงทะเบียนเมื่อ: 24 ต.ค. 2006, 12:36
โพสต์: 33766

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว


ต่อ ถาม - ตอบ ปัญหาหัวข้อธรรมะ

http://www.dhammajak.net/forums/viewtopic.php?f=1&t=59111

.....................................................
https://dhammachati.blogspot.com/


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 21 ก.ย. 2022, 04:01 
 
ออฟไลน์
Moderators-2
Moderators-2
ลงทะเบียนเมื่อ: 30 ก.ย. 2013, 07:16
โพสต์: 2374

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว


:b39: :b44: ขออนุโมทนา สาธุๆๆ ค่ะ
:b8: :b8: :b8:


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 16 ม.ค. 2024, 09:31 
 
ออฟไลน์
อาสาสมัคร
อาสาสมัคร
ลงทะเบียนเมื่อ: 17 ก.ย. 2012, 15:32
โพสต์: 2863


 ข้อมูลส่วนตัว


:b8: :b8: :b8:


แสดงโพสต์จาก:  เรียงตาม  
กลับไปยังกระทู้  [ 28 โพสต์ ]  ไปที่หน้า ย้อนกลับ  1, 2

เขตเวลา GMT + 7 ชั่วโมง


 ผู้ใช้งานขณะนี้

กำลังดูบอร์ดนี้: ไม่มีสมาชิก และ บุคคลทั่วไป 39 ท่าน


ท่าน ไม่สามารถ โพสต์กระทู้ในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ ตอบกระทู้ในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ แก้ไขโพสต์ของท่านในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ ลบโพสต์ของท่านในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ แนบไฟล์ในบอร์ดนี้ได้

ค้นหาสำหรับ:
ไปที่:  
Google
ทั่วไป เว็บธรรมจักร