วันเวลาปัจจุบัน 19 เม.ย. 2024, 19:29  



เขตเวลา GMT + 7 ชั่วโมง




กลับไปยังกระทู้  [ 1 โพสต์ ]    Bookmark and Share
เจ้าของ ข้อความ
โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 18 ม.ค. 2020, 05:45 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
อาสาสมัคร
อาสาสมัคร
ลงทะเบียนเมื่อ: 06 มี.ค. 2009, 10:48
โพสต์: 5091


 ข้อมูลส่วนตัว


เกิด-ตายเป็นประเพณี
“...ถ้าหากเราปรารถนาแต่พากันย่อหย่อนพากันอ่อนแอในการประพฤติปฏิบัติ ทานก็ทำเป็นประเพณี ศีลก็เป็นประเพณี ภาวนาก็เป็นประเพณี เลยเกิดเป็นประเพณี ตายเป็นประเพณี เกิด-ตายๆ เกิด-ตายเป็นประเพณีนั่นเอง ไม่มีโอกาสที่จะเข้าถึงการเป็นสาวกสาวิกาของพระพุทธเจ้าได้ เพราะมาติดอยู่ตรงเกิดตรงตายนี่...”

หลวงปู่แบน​ ธนากโร







สำเร็จด้วยทาน ศีล ภาวนา
“...พระพุทธเจ้าได้สำเร็จเป็นพระพุทธเจ้า สำเร็จด้วยการทำความดี สำเร็จด้วยการสร้างบารมีธรรม เราๆ​ ก็เหมือนกัน นี่จะสำเร็จเข้าถึงความเป็นสาวกสาวิกาของพระพุทธเจ้า​ ก็เข้าถึงด้วยการทำบุญ คือ การบริจาคทาน รักษาศีล บำเพ็ญจิตภาวนา เข้าถึงการสร้างบารมีธรรม เราๆพากันสร้างบารมีนี่แหละเป็นการปฏิบัติธรรม...”

หลวงปู่แบน​ ธนากโร









"วัฏฏะน่าเบื่อยิ่งนัก เมื่อไรจะรู้จักพอกันเสียที เร่งปฏิบัติตามคำสอนของพระพุทธเจ้า จะได้ออกจากวังวนนี้ได้เสียที"

หลวงปู่อ้ม สุขกาโม











#เผาศพอย่างไรให้เป็นบุญเป็นกุศล

การเผาศพเป็นบุญเป็นกุศล เผาศพต้องเผาให้เป็นบุญเป็นกุศล ไม่ใช่เผาแบบเป็นพิธี ไม่ใช่เผากันอย่างสนุกสนาน ไม่ใช่เผากันอย่างรื่นเริงเพลิดเพลิน

พิธีเผาศพบางที่บางแห่ง แต่งตัวไปประกวดแข่งขันกัน อย่างนั้นก็มี ไม่ได้เป็นไปในทางสลดสังเวช นิยมถือกันว่าสีขาวบ้างสีดำบ้าง เป็นการไว้ทุกข์ เอาแต่สีไว้ทุกข์ สีมันจะรู้สุขรู้ทุกข์อะไร สีมันจะรู้เรื่องรู้ราวอะไร

การทำใจให้เกิดความสลดสังเวช ให้ใจเห็นว่าร่างกายของคนทุกคนเกิดมาแล้วจะต้องเป็นอย่างนี้

คำว่า “เป็นอย่างนี้” ก็คือ มันไม่เป็นของใคร บางคนตายอายุมาก บางคนตายอายุยังน้อย ในเมื่อตายแล้ว ก็มีแต่ที่จะเน่าเปื่อย มีแต่จะเน่าเหม็น เวลาเผาอย่างนี้ บางที่กลิ่นของสิ่งที่ตายเน่านั้นเหม็นออกมาจนกระทั่งคนที่เป็นโรคแพ้ผีเน่า ถึงกับว่าอยู่ใกล้ไม่ได้

การเผาศพนั้น ไม่ใช่จะเผาแต่คนอื่น ครูบาอาจารย์ท่านสอนอยู่เสมอ ให้เผาศพเจ้าของทุกวัน เราก็เป็นผู้ที่เกิดมาแล้วจะต้องตายเหมือนกัน ไม่ใช่เกิดมาตายแต่เฉพาะคนอื่น เราก็เกิดมาตายเหมือนกัน ร่างกายของเรานี้ล่ะ ให้เผาเขาอยู่ทุกวัน

คำว่า “เผาทุกวัน” คืออย่างไร คือนึกว่าเผาร่างกายของเรา ร่างกายอันนี้เขาก็เป็นของทิ้ง ในเมื่อเป็นของทิ้ง เอาไปเผา เผาก็เพื่อให้ไหม้ ให้ซากสกปรกให้ซากสิ่งปฏิกูลอันนี้หมดสิ้นไป เพื่อทำลายขยะเชื้อโรคปฏิกูลนี้ให้หมดสิ้นไปเท่านั้นเอง การเผาศพเราต้องหัดเผาอยู่เสมอ ประโยชน์ก็เพื่อให้เห็นว่าร่างกายนี้ก็สักแต่ว่าเป็นของทิ้ง ร่างกายของใคร ๆ ก็สักแต่ว่าของทิ้ง ในเมื่อร่างกายเขาเป็นของทิ้ง แล้วร่างกายจะเป็นเราเป็นเขาได้อย่างไร ร่างกายจะเป็นคนได้อย่างไร ก็เห็นชัด ๆ ว่าเป็นของทิ้ง

เรื่องการเผาศพนี้จึงต้องเผาให้เป็น ถ้าหากเผาเป็น ก็เป็นบุญเป็นกุศล...

หลวงปู่แบน ธนากโร











#ถ้าคิดว่าบวชพระแล้วจะสบายอย่าบวช

... เราบวชเพื่อประพฤติพรหมจรรย์ ทำความพ้นทุกข์ให้แจ้ง วิถีแห่งความเพียร อดกินอดนอน ขันติอดทนทุกอย่าง เดินจนเลือดติดทางจงกรม นั่งจนยางตายออก ปอกเปลือกขันธ์๕ และทำลายมายาของจิตด้วยสติธรรมปัญญาธรรม

… แดดเเรงอากาศร้อน …ฝนตกอากาศหนาว เราก็ยังก้าวเดินต่อไป ทางสายพระนิพพาน เป็นสายทางทรมานกิเลส จะหวังความสุขความสบายอะไรได้ กิเลสทุกข์นั่นแหละธรรมเจริญ ทำตามคำสอนพระบรมศาสดาสัมมาสัมพุทธเจ้า

… ทำประโยชน์ตนให้สมบูรณ์แล้วยังประโยชน์สุขแด่เพื่อนสรรพสัตว์ต่อไป…

โอวาทธรรม :
พระอาจารย์คม อภิวโร
วัดป่าธรรมคีรี (จันดีอนุสรณ์)








"กงจักรอันใหญ่หลวงคือ ความเกิด แก่ เจ็บ ตาย มันกำลังบดเราอยู่ มันเป็นของจริง เราจะมัวไปหอบเอาอันโน้น อันนี้มา มันก็เป็นธรรมเมาเท่านั้นแหละ อารมณ์ก็สัญญานี่แหละ สัญญาไปจำมันมา ใจเรารับมันมา คิดไป คิดมา มันก็เดือดร้อนอีก เวลานี้เรามาทำความพอ อะไร ๆ ก็ให้มันพอ หลงก็พอแล้ว โลภก็พอแล้ว โกรธก็พอแล้ว อันนี้เป็นรากเป็นเง่าของกิเลสตัณหาทั้งหลาย ความพอใจก็เพราะตัณหา ความไม่พอใจก็เพราะตัณหานี่แหละ..."

หลวงปู่แหวน สุจิณโณ









...ผู้ที่แสวงหาความสงบสุขของจิตใจ
ต้องหลีกเลี่ยงกามสุขต่างๆ
เพราะจะทำให้จิตสงบง่ายเวลาภาวนา

ต้องเข้มแข็ง
เพราะกามฉันทะความยินดีในกาม
เป็นหนึ่งในนิวรณ์ ๕
ที่เป็น.."อุปสรรคขวางกั้น
ไม่ให้ใจเข้าสู่ความสงบ".
................................
.
หนังสือทวนกระแส หน้า60
ธรรมะบนเขา ณ เขาชีโอน
พระอาจารย์สุชาติ อภิชาโต
วัดญาณสังวรารามฯ ชลบุรี










เปรต คือพวกที่ไม่ทำบุญ แต่ทำบาป เวลาตายไปก็ไม่มีทรัพย์ภายในติดตัว แต่จะมีบาปติดตัวไป ก็เลยต้องไปเป็นเปรต ต้องไปรอขอทานขอรับส่วนบุญส่วนกุศลจากผู้ที่มีชีวิตอยู่ อย่างพวกเราเวลาทำบุญ เราก็จะอุทิศบุญกุศลให้ผู้ที่จะรับบุญอุทิศได้ก็มีพวกเปรตนี้เท่านั้น พวกอื่นเขารับไม่ได้ ถ้าไปเกิดเป็นเดรัจฉาน ก็หากินเองได้ ถ้าเป็นมนุษย์ ก็เหมือนกัน ถ้าเป็นเทวดาก็มีทรัพย์ภายในมากจนไม่จำเป็นจะต้องมาเป็นขอทาน มาขอทรัพย์ภายในจากผู้อื่น

พวกเปรตนี้เวลามีชีวิตอยู่ ไม่ชอบทำบุญ ชอบทำแต่บาป โลภมาก ถ้ามาวัดก็เอาของมานิดหนึ่ง แต่ขากลับนี้เอาของเต็มปิ่นโตกลับไป อย่างนี้ลักษณะ ของพวกเป็นเปรตเข้าใจไหม คือ เอาแต่ได้อย่างเดียว แล้วเอาโดยวิธี ไม่ถูกต้องคือไปโกงเขา ไปขโมยของๆเขา คนมาวัดนี้ถ้าเอาของกลับ จะเอาไปได้ถ้าเป็นของที่วัด ให้แล้วพระให้แล้ว อย่างนี้ไม่เป็น เปรต เป็นเปรตก็ต่อเมื่อเขา ไม่ได้ให้แล้วก็ไปหยิบของๆเขา ไปแย่งของคนอื่นเขา อย่างนี้ ถึงจะไปเป็นเปรต

นี่คือลักษณะของเปรต แต่ถ้าทำบุญทำทาน รักษาศีล รับรองได้ว่าเมื่อตายไป ไม่ไปเป็นเปรตอย่างแน่นอน ไปเป็นเทวดาร้อยเปอร์เซ็นต์ อานิสงส์ของผู้ที่ ได้ทำบุญ ไม่ทำบาป ตายไปก็ได้กลับมา เป็นคนร่ำคนรวย มีรูปร่างหน้าตาสวยงาม ผิวพรรณผ่องใส มีอาการครบ ๓๒ มีร่างกาย สุขภาพสมบูรณ์แข็งแรง มีอายุ ยืนยาวนาน

นี่คืออานิสงส์ที่เกิดจากการทำบุญ ไม่ทำบาป เกิดจากการได้ศึกษาได้ยินได้ฟังพระธรรม คำสอนของพระพุทธเจ้าอยู่ เรื่อยๆ ฟังแล้วก็จะได้เอาไปปฏิบัติ การฟังนี้เป็นการศึกษาแนวทาง ศึกษาวิธีที่จะพาให้เราไปสู่จุดหมายปลายทางของพวกเรา พอฟังแล้วเราต้องปฏิบัติด้วย

ถ้าเราอยากจะไปสวรรค์ก็ทำบุญ รักษาศีล ถ้าอยากจะไปสวรรค์ ชั้นพรหมก็ต้องรักษาศีล ๘ แล้วกนั่งสมาธิทำใจให้สงบ ถ้าอยากจะไปพระนิพพานก็ต้องเจริญปัญญา ต้องพิจารณาให้เห็นไตรลักษณ์ ให้เห็นว่าทุกสิ่งทุกอย่างในโลก นี้เป็นไตรลักษณ์ พิจารณาทุกสิ่ง ทุกอย่างว่าไม่เที่ยง ไม่ใช่ของเรา ทุกสิ่งทุกอย่างเป็นทุกข์ เพราะ มันจะต้องจากเราไปสักวันหนึ่ง ถ้าเรารู้อย่างนี้แล้วเราจะไม่อยาก มีอะไรไม่อยากได้อะไร พอไม่มีอะไรไม่อยากได้อะไรก็จะไม่มี ความทุกข์ จะมีความสุขไปตลอด

นี่คือการศึกษาของพระพุทธศาสนา คือสอนให้เรารู้วิธีการปฏิบัติที่ถูกต้อง แล้วถ้าเรานำเอาไปปฏิบัติ เราก็จะได้รับผล อย่างเดียวกับที่พระพุทธเจ้าได้รับอย่างแน่นอน

พระอาจารย์สุชาติ อภิชาโต
ธรรมะในศาลา ธรรมะระดับชาวบ้าน
วัดญาณสังวรารามวรมหาวิหาร ชลบุรี












"การบำเพ็ญจิตตภาวนา อย่ามุ่งแต่ให้ใจสงบ อย่าไปพอใจให้ใจสงบอย่างเดียวถ้าหากว่าพอใจ ก็ให้พอใจในการกระทำให้มาก กระทำให้มากเท่าไหร่ อันนั้นคือความถูกต้อง ถ้าหากว่าไปพอใจแต่ความสงบอย่างเดียว เราจะได้สิ่งที่ไม่ชอบใจ เพราะใจของเรานี่ จะสงบตลอด ตลอดกาลไปไม่มี

มันเหมือนกับการเดินทาง อย่างเนี้ย
จะเดินไปนี่ไม่ให้มีแดด เดินไปไม่ให้มีฝน
นี่ มันเป็นไปไม่ได้ มันจะต้องเจอแดดบ้าง เจอฝนบ้าง เหมือนกับการลงเรือไปในลำน้ำอย่างนั้นน่ะ จะให้ทะเลมันเรียบอย่างที่เราต้องการเป็นไปไม่ได้
มันจะต้องมีคลื่นมีลม มีคลื่นมีลมของเขาอย่างนั้น

บางทีคลื่นลมก็มาก ลอยสูงใหญ่ บางทีคลื่นลมก็น้อย บางทีทะเลก็เรียบ นี่ ใจของเราทำเหมือนเรือ คลื่นจะเรียบ เราก็อยู่เหนือน้ำ คลื่นจะน้อย คลื่นจะใหญ่
เราก็อยู่เหนือคลื่น เหนือน้ำ นั้น ไปติดอยู่พอใจแต่ในความสงบน้ำนิ่ง

เวลาน้ำไม่นิ่งนั่นน่ะ เราจะโดนคลื่น แล้วจะต้องโดนอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ จึงพอใจในการอยู่เหนือน้ำอยู่เสมอ เหนือความสงบ แล้วความไม่สงบมา เราก็อยู่เหนือ เราไม่ติดความสงบ

ความไม่สงบเกิดขึ้น เราก็ไม่ไปติด
ในเมื่อเราไม่ติด แล้วเราจะไปเดือดร้อน ไปเป็นทุกข์ เพราะความไม่สงบของใจได้อย่างไร คำว่าสังขารต้องเป็นสังขาร

พระพุทธเจ้าท่านไม่แต่งสังขาร ไม่เป็นอย่างนั้น พระพุทธเจ้าท่านให้รู้สังขาร

คำว่าแต่งสังขารก็หมายความว่า ทะเลไม่ให้มีคลื่นเป็นไปไม่ได้ แม้แต่พระพุทธเจ้า
ท่านก็ไม่สามารถที่จะไปแต่งทะเลให้เรียบได้ เพียงแต่ให้รู้ทะเล ให้รู้สังขารเท่านั้น

พอใจแต่ความสงบ ก็จะเจอสิ่งที่ไม่พอใจ
สงบ ไม่สงบ ไม่สน ทำให้ยิ่งอยู่เสมอ
เราไม่ได้ทำเพื่ออะไร เราทำเพื่อละ ทำเพื่อปล่อยวาง ทำเพื่อสลัดทิ้ง ดีก็ไม่เอา จะเอาทำไม เอาแล้วหนักทั้งนั้น เป็นภาระทั้งนั้น"

หลวงปู่แบน ธนากโร
วัดดอยธรรมเจดีย์ อ.โคกศรีสุพรรณ จ.สกลนคร









เรื่องดีขนาดไหน เรื่องไม่ดีขนาดไหน ผ่านไปแล้ว จะเป็นอดีตไปเสีย ถึงเรื่องปัจจุบันทั้งหมด ที่สุดก็จะต้องกลายเป็นเรื่องอดีตไป ผ่านไปทั้งนั้น ไม่มีอะไรที่จะไม่เป็นอดีต จึงว่าอะไรที่เป็นปัจจุบันนี่ อะไรที่คิดแล้ว ทำแล้ว พูดแล้ว หากเป็นอกุศล อันนั้นให้หลีก อันนั้นให้ระวัง คิดแล้ว ทำแล้ว พูดแล้ว เกิดความเศร้าหมอง อย่าไปคิด อย่าไปพูด อย่าไปทำ ทำแล้วเกิดความเศร้าหมอง ความเศร้าหมองนี้ฝังลึก ทั้ง ๆ ที่เรื่องทุกเรื่อไม่ได้มีอะไร เกิดขึ้นแล้วผ่านไป เกิดขึ้นแล้วก็ผ่านไป นาย ก. นาย ข. นายอะไรต่ออะไร อีกไม่เกิด 100 ปี เป็นอดีตไปหมด คนเดี๋ยวนี้อีกสัก 100 ปี ไม่มีในโลก เรา ๆ นี่ก็ไม่รู้เป็นอดีตมาแล้วกี่ครั้งกี่หน หาประมาณมิได้

จึงว่าแผ่นดินอันนี้ก้อนโลกอันนี้ เพียงแต่ว่าเป็นทางผ่านทางเดิน เต็มไปด้วยขวากด้วยหนาม คนไหนที่ตาดีหูดี คนนั้นไม่บาดเจ็บ คนไหนตาไม่ดีหูไม่ดี ไม่มีสติปัญญา คนนั้นจะมีแต่บาดแต่แผล คือมีอกุศลธรรมฝังแน่นอยู่ในจิตในใจ อกุศลธรรมจะหลุดไปได้ ไม่ใช่เพราะมีการเกิดการตายยาวนาน จะหลุดจะสิ้นจะหมดไปได้ ต้องอาศัย มีข้อปฏิบัติ มีสติ มีปัญญา ข้อปฏิบัติจึงมีความจำเป็น สติปัญญาจึงมีความจำเป็น ขาดข้อปฏิบัติไม่มีข้อปฏิบัติแล้ว สติปัญญาที่จะแก้อกุศลความเศร้าหมอง ที่เป็นอยู่ในจิตในใจนี่ ไม่มีทางที่จะแก้ให้หลุดไปได้

หลวงปู่แบน ธนากโร










เรื่อง "ธรรมของพระพุทธเจ้าเจริญรุ่งเรืองในป่าต้นไม้ร่มไม้ ป่าจึงคู่ควรกับพุทธศาสนา"

ศาสนาที่จะมีความเจริญด้วยข้อปฏิบัติ ด้วยข้อวัตรปฏิบัตินี่จะต้องมีป่ามีร่มไม้ ก็จะพยายามสร้างป่าสร้างร่มไม้ให้เป็นป่า เป็นสถานที่ร่มรื่นร่มเย็นขึ้นมา ป่า ต้นไม้ ร่มไม้...คู่ควรกับพระพุทธศาสนามาตั้งแต่สมัยพระพุทธเจ้าแสวงหาความเป็นพระพุทธเจ้า พระพุทธเจ้าออกภิเนษกรมณ์ แสวงหาความเป็นพระพุทธเจ้าก็ไปแสวงหาตามป่าตามรุกขมูล จนกระทั่งห้าปีหกปีถึงวันที่จะตรัสรู้จริงๆ พระพุทธเจ้าก็ได้อาศัยร่มไม้เป็นสถานที่เจริญสมณธรรมจนกระทั่งได้ตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้า

ต้นไม้นี้เป็นต้นไม้ที่พระพุทธเจ้าอาศัยเป็นสถานที่ปฏิบัติ อาศัยเป็นสถานที่ทำลายกิเลสที่มีอยู่ในจิตในใจของพระพุทธเจ้าให้ขาดจากจิตใจ จิตใจของพระพุทธเจ้าเป็นจิตใจที่บริสุทธิ์ผุดผ่องขึ้นมาอาศัยร่มไม้ จึงว่าร่มไม้มีความสำคัญต่อพระศาสนาอย่างยิ่ง นี่พระพุทธเจ้าทุกพระองค์ทุกพระองค์อาศัยร่มไม้เป็นสถานที่กำเนิด เป็นสถานที่ปฏิบัติ เป็นสถานที่แสวงหาความเป็นพระพุทธเจ้าและสำเร็จเป็นพระพุทธเจ้าส่วนมากได้สำเร็จในร่มไม้ทั้งนั้น แม้แต่พระพุทธเจ้าของเรานี่ก็เรียกว่าเวลาตรัสรู้ก็ตรัสรู้ในร่มไม้ แม้แต่เวลาที่แสดงปฐมเทศนา เรียกว่าแสดงพระธรรมเทศนาประกาศสัจธรรมที่ทรงรู้ทรงเห็นเป็นครั้งแรกพระพุทธเจ้าก็อาศัยร่มไม้อาศัยป่า เรียกว่า เป็นที่อาศัยกวางและพัน ก็เรียกว่าเป็นป่าทึบป่ารก ป่าสัตว์เก้งสัตว์พากวางอย่างนี้ ถ้าหากว่าป่าธรรมชาติป่าเล็กๆ น้อยๆ ป่าโปร่งเขาไม่ชอบ ชอบอยู่ป่าลึก

พระพุทธเจ้าประกาศสัจธรรมเป็นปฐมเทศนาแรกก็อาศัยป่ารกป่าทึบนั้นประกาศสัจธรรมและประกาศครั้งนั้นก็ได้สำเร็จประโยชน์อย่างยิ่ง มีผู้ที่รู้ธรรมเห็นธรรมอย่างที่พระพุทธเจ้าทรงรู้ทรงเห็นในอริยสัจธรรมนี้ที่เป็นในปฐมเทศนาขึ้นมา คือ พระสาวกของพระพุทธเจ้าปรากฏขึ้นในวันที่พระพุทธเจ้าแสดงปฐมเทศนานั้น นี่เรียกว่า พระพุทธศาสนาสมบูรณ์ทั้งองค์พระพุทธเจ้า สมบูรณ์ทั้งพระธรรม สมบูรณ์ทั้งพระสงฆ์ ในวันที่พระพุทธเจ้าทรงประกาศอริยสัจธรรมเป็นครั้งแรก เรียกว่า แสดงพระธรรมเทศนาเป็นปฐมเทศนาในวันเดือนแปดเพ็ญ เดือนแปดกลางเดือน แล้วพระพุทธเจ้าก็จำพรรษาในป่านั้น ไม่ปรากฏว่าพระพุทธเจ้าจำพรรษาในบ้านในเมือง

คติธรรมหลวงปู่แบน ธนากโร











การทำทาน เช้ามาพวกเราอย่าทำกินเฉยๆ มันเสียประโยชน์ เพราะกินไปแล้ว กินเข้าปากมันออกก้น ได้อะไร แต่เรามาทำทาน ออกจากปากจากท้องของเรา ออกจากไม้จากมือของเรา ออกจากหัวใจของเรา สู่สมณชีพราหมณ์ผู้ไม่มี มีอะไรมีแต่บาตรเปล่าๆ เลี้ยงชีพนี้ กลับมาเต็ม อุดมสมบูรณ์ เพราะอะไร เพราะหัวใจนั้น ใจของเราชาวพุทธ เราหวังอะไร หวังบุญหวังกุศลจากองค์ท่านนั้นๆ กิริยาอาการที่พวกเราขวนขวายเมื่อตะกี้นี้ จากการเสียสละ เสียสละข้าวปลาอาหาร เลี้ยงของประณีตนี่ล่ะ มีแต่ของประเสริฐ มีแต่ของดีที่สุดเท่าที่เรามีกัน มันเป็นเครื่องแสดงออกของกระเป๋า ของฐานะของเรา

เราอยากเอาข้าวเปล่ามาถวายทานเพราะเรามีแค่นี้ แค่นี้ก็ประเสริฐสุด เลิศที่สุดในครอบครัวผัวเมียของเราแล้ว จะเอาอะไรนักหนา มีแค่นี้ก็แค่นี้ เทกันเต็มหน้าตัก สู้กันเต็มหน้าตัก มีหน้าตักแค่นี้ มีแค่นี้สมบัติพัสถาน ในบ้านนี้มีของประเสริฐประณีตที่สุด ก็เอาของประณีตมาทำทาน ทำไมมันจะไม่ได้อานิสงส์เลิศ มันจะได้ผลเลิศ อานิสงส์เลิศ เพราะเสียสละออกมาจากความมี มีเท่าที่มี เอาเท่านี้แหละมาทำบุญทำทาน เรียกว่า ทานะ จาคะ คือความเสียสละ เสียสละความขี้ตระหนี่

ข้าศึกศัตรูต่อความอนุเคราะห์ คือความขี้ตระหนี่ มันไม่มีโภคสมบัติ มันไม่มีความอุดมสมบูรณ์ มันไม่อิ่มอะไร มันเป็นเพราะ มีแต่ความขี้ตระหนี่ถี่เหนียว แก่งแย่งชิงนั้นชิงนี้ มีแต่ความละโมภโลภมาก มีแต่ความโกรธาเกรี้ยวโกรธ อยู่ในฐานของจิตของใจของเรา รากเหง้าของมันมีอะไร โลภะ โทสะ มันเป็นมรดกของจิตของใจเรา เรามีหน้าที่ชำระชะล้าง กำจัดกิริยาอาการ

ชาวพุทธเค้าทำกันอย่างนั้น พ่อแม่เราพาทำ ครูบาอาจารย์สอนให้ทำ ทำเพื่ออะไร ทำเพื่อระงับ ทำเพื่อขจัดปัดเป่า เราจึงเท่าทันมัน เราทำบุญทำทานวันแล้ววันเล่ามันยังไม่พอ ก็ทำมันไปจนกระทั่งมันพอ พอแล้วมันจะรู้เองว่ามันเต็ม มันเต็มมันสมบูรณ์ ความสมบูรณ์มาจากไหน มาจากกิริยาอาการที่พวกเราขวนขวายวันแล้ววันเล่า ทำจนกระทั่งมันอิ่มมันเต็ม เรียกว่า สมบูรณ์

พระองค์ท่านสั่งสมบุญญาบารมี กี่อสงไขย สี่อสงไขย แสนกัปป์ จนกระทั่งสมบูรณ์ สมบูรณ์ด้วยทศบารมี ยิ่งกว่านั้นกระจายไปเป็นบารมีกี่ขั้นๆ จนสมบูรณ์หมด จนกระทั่งเป็นพระบรมศาสดา ดั่งที่พวกเรากล่าวอ้างถึงพระองค์ท่านว่า พุทธังสะระณังคัจฉามิ ทุติฯ ตติฯ แม้ครั้งที่สอง แม้ครั้งที่สาม เป็นพระรัตนตรัย

ให้ทำตามโอวาทคำสอนของพระองค์ท่าน เป็นบุญหนักศักดิ์ใหญ่แล้ว อย่าชะล่าใจ อย่าประมาท มันยังไม่เต็ม มันยังไม่อิ่ม กินคำเดียวไม่เต็ม กินคำเดียวไม่อิ่ม ก็ทำไปเรื่อยๆ ทำไปจนกระทั่งมันพอ เวลาไหนมันพอ ก็เวลาที่เจ้าของมันรู้ได้เฉพาะตน ปัจจัตตัง เวทิตัพโพ วิญญูหิติ วิญญูชนรู้ได้เฉพาะตน เจ้าของมันอิ่มแล้วเหรอ ไม่ต้องไปถามใคร ตราบใดที่มันยังหิวโหย มันบกพร่อง เติมเข้าไปๆ

กิริยาอาการแบบนี้แหละที่พวกเราขวนขวาย ฟังข่าวสารมีครูบาอาจารย์มา พร้อมขวนขวายในบุญกิริยาวัตถุที่เราทำนั่นล่ะ ท่านถูกใจพอใจ เพราะท่านไม่มี เราเอามาให้ กลับมาด้วยความยิ้มแย้มแจ่มใส พระถือบาตรเปล่าๆ ได้มากลับมาเต็ม

พวกเราทำหน้าที่พุทธบริษัท ได้ทำความดี ความดีจะสนองตอบเราตามที่เราฉลาด ถ้าเราโง่ ก็วิ่งหาบุญอยู่นั่นล่ะ วิ่งหาบุญก็เลยไม่เจอบุญ เพราะอะไร เพราะมันโง่ ต้องมาปรับสมดุลความโง่มาเป็นความฉลาด จึงจะได้บุญ

โอวาทธรรมคำสอนพ่อแม่ครูบาอาจารย์
พระอาจารย์สามดง จันทโชโต
วัดอรัญพรหมาราม อ.ประทาย จ.นครราชสีมา










พระพุทธเจ้าและพระอรหันต์ทุกพระองค์ แก้กิเลสทุกประเภทด้วยสติปัญญาทั้งนั้น มิได้แก้ด้วยอะไรอื่นนอกจากนี้เลย จึงไม่ทราบยกย่องอะไรว่าเป็นเอกยิ่งกว่าสติปัญญานี้ไป ธรรมนอกนั้นก็มิได้ประมาทว่าไม่ดี หากแต่เป็นเครื่องช่วยส่งเสริมกำลัง เช่นเดียวกับเสบียงอาหารในการรบสงครามฉะนั้น ส่วนผู้รบกับเครื่องมือในการรบนั้นสำคัญ ผู้รบในที่นี้หมายถึงความมุ่งมั่นปั้นมืออย่างเอาจริงเอาจัง ไม่ถอยทัพกลับมาเกิดตายให้กิเลสหัวเราะเยาะอีก
.
เครื่องมือชิ้นเอกคือ สติปัญญาทุกขั้น ต้องติดแนบกับตัวอย่าให้ห่างจากใจ จิตติดอยู่ตรงไหนจงพิจารณาเข้าไปไม่ต้องกลัวตาย เพราะความเพียรกล้าเพื่อรื้อภพชาติออกจากใจ เมื่อถึงคราวตายก็ขอให้ตายอย่างมีชัย อย่าตายแบบผู้พ่ายแพ้จะช้ำใจไปนาน จงเพียรต่อสู้จนวัฏสงสารได้ร้างเมืองเพราะไม่มีใครมาเกิด ลองดูซิเมืองวัฏสงสารจะร้างไปไม่มีสัตว์โลกผู้ยังมีความหลงมาเกิดอีกจริง ๆ หรือ ทำไมการทำความเพียรเพียงเล็กน้อยกลัวแต่วัฏฏะจะร้าง กลัวจะไม่ได้กลับมาเกิดตายอีก และทำไมจึงคอยแต่จะเที่ยวจับจองภพชาติอยู่ทุกขณะจิตที่คิดทั้งที่ยังไม่ตาย ความย่อหย่อนต่อความเพียรนี่แหละ คือความขยันต่อการเกิดตาย และเป็นลักษณะจับจองภพชาติไม่ให้บกพร่องจากใจ ใจจึงมิได้บกพร่องจากทุกข์ตลอดมา
.
หลวงปู่มั่น ภูริทัตโต
คัดจากหนังสือ ประวัติท่านพระอาจารย์ มั่น ภูริทัตตเถระ
โดย ท่านอาจารย์พระมหาบัว ญาณสัมปันโน
แห่งวัดป่าบ้านตาด จังหวัดอุดรธานี










สมัยก่อนมีนักวิชาการคนหนึ่ง ชอบอ่านหนังสือมาก เป็นผู้รู้ เป็นนักปราชญ์ ได้รับเชิญไปอภิปรายและบรรยายในที่ต่างๆ เขาพยายามหาคำสอนเพิ่มเติมอยู่ตลอดเวลา ได้เท่าไรก็ยังรู้สึกว่า...มันยังไม่ใช่...มันจะต้องมีอะไรที่ลึกซึ้งกว่านี้อีก...ที่เขารู้สึกอย่างนั้น ไม่ใช่เพราะคำสอนที่ได้อ่าน ได้ศึกษาแล้วยังไม่ลึกซึ้ง แต่เพราะตัวเขาเองยังเข้าไม่ถึงคำสอนนั้น และถ้าเอาแค่ระดับสัญญา ระดับความคิด มันย่อมไม่มีจุดอิ่ม

เมื่อเรากล่าวถึง “กาม” คนส่วนใหญ่จะนึกถึงกามราคะหรือความต้องการทางเพศเป็นหลัก นั่นเป็นกามระดับหยาบที่สุด การได้รับความสุขจากรูป รส กลิ่น เสียง สัมผัส และธรรมารมณ์ ไม่ว่าจากตัวไหนก็เป็นกามทั้งนั้น กามจากความคิดก็มี ซึ่งบางทีมันลึกซึ้งและปล่อยยากกว่ากามสุขที่ได้จากรูป รส กลิ่น เสียง สัมผัสเสียอีก เวลาจิตเพลินไปกับความคิด ทฤษฎี ปรัชญา มันก็เหมือนกับเราเพลินกับอาหารการกิน

นักวิชาการคนนี้ก็เป็นแบบนี้ เมื่อเขาได้ข่าวว่ามีพระอาจารย์รูปหนึ่งที่บรรลุธรรม แต่มีข้อวัตรปฏิบัติแปลกๆ คืออยู่บนต้นไม้ ไม่ได้อยู่ในกุฏิหรือใต้ต้นไม้ ท่านทำกุฏิอยู่บนต้นไม้เลย การจะไปกราบท่านก็ยากแสนยาก นักวิชาการคนนี้คิดว่า นี่อาจจะเป็นปรัชญาชิ้นสุดท้ายที่จะทำให้เขาบรรลุได้ จึงเดินทางอย่างลำบากลำบนหลายเดือน ขึ้นเขาลงห้วยเข้าป่า ทรมานมาก สุดท้ายก็ไปถึงที่อยู่ของพระอาจารย์รูปนี้ เขาเข้าไปกราบที่ใต้ต้นไม้ และนิมนต์หลวงพ่อให้เทศน์ธรรมะที่สูงที่สุดที่หลวงพ่อพอจะถ่ายทอดได้ หลวงพ่อจึงสอนว่า...ให้ละบาปกรรมทั้งปวง บำเพ็ญกุศลให้ถึงพร้อม ชำระจิตใจ ของตนให้ขาวสะอาด...นักวิชาการคนนี้รู้สึกผิดหวังจนอดที่จะอุทานออกมาไม่ได้ว่า...คำสอนนี้ แม้แต่เด็กห้าขวบก็รู้แล้วครับ...ช่างไม่สมเกียรตินักปราชญ์อย่างเขา หลวงพ่อบอกว่า...ใช่...ถูกต้อง แม้แต่เด็กห้าขวบก็เคยได้ฟังคำสอนนี้ แต่คนอายุ ๕๐ ๖๐ ๗๐ ปี ก็ยังทำไม่ได้เลย...คือ นักปราชญ์คนนี้คิดว่า การบรรลุธรรมเหมือนเป็นจิ๊กซอว์ที่จะต้องเอาชิ้นส่วนต่างๆ มาประกอบเข้าด้วยกัน แต่จิ๊กซอว์มันไม่จบเสียทีและอันนี้เรียกว่าเป็นจิ๊กซอว์ชิ้นสุดท้าย ซึ่งกลับกลายว่าเป็นเรื่องธรรมดา แต่เป็นเรื่องที่เขามองข้าม เขาประมาท คิดว่าฉันเป็นนักปราชญ์ อ่านหนังสือ อ่านคัมภีร์มากมาย มีความรู้บาลีสันสกฤตทุกอย่าง แต่ที่จริงแล้ว ในภาคปฏิบัติ สิ่งที่ลึกซึ้ง ก็คือสิ่งที่เรายังทำไม่ได้ เช่น ถ้าหากว่าเรายังรักษาศีลห้าไม่ได้ ศีลห้าก็เป็นเรื่องลึกซึ้งสำหรับเรา นี่แสดงว่าเรายังไม่เข้าใจ เพราะถ้าเราเข้าใจเรื่องกฎแห่งกรรมแล้ว ไม่รักษาศีลห้าไม่ได้ คนที่ไม่รักษาศีลห้าแสดงว่าแม้แต่ความเข้าใจพื้นๆ เรื่องกฎแห่งกรรมก็ยังไม่มี เพราะฉะนั้น กฎแห่งกรรมระดับนี้ก็ยังเป็นเรื่องลึกซึ้งสำหรับเขา

พระอาจารย์ชยสาโร










อย่าได้ผูกพันอยู่กับสิ่งใดเลย จงมีสติอยู่เสมอ

หลวงปู่ชา สุภัทโท









#เมื่อบารมีพอ
“นั่งตั้งแต่หัวค่่ำจนสว่าง”
“เดินตั้งแต่หัวค่ำยันสว่าง” นี่เป็นการสร้างบารมี
บารมียังไม่พอ ทําไม่ได้หรอก ดึงให้ไปทําขนาดไหน มันก็จะดึงจนเชือกขาด นั่นล่ะ ดีไม่ดีจมูกมันฉีกโน่นล่ะ ถ้าหากว่าบารมีไม่พอ เดินจงกรมตั้งแต่หัวค่ำไปจนสว่าง เดินไม่ได้ นั่งก็เหมือนกัน ถ้าบารมีไม่พอนั่งไม่ได้ มันต้องบารมีพอ

บารมีพอนี่ ดึงไว้ก็ไม่อยู่ ดึงไม่ให้เดินจนแจ้ง ดึงไม่ให้นั่งจนสว่าง ดึงไว้ยังไง ก็ไม่อยู่ มีคนมาห้ามก็ไม่ได้ ห้ามไว้ก็ไม่ฟัง เรียกว่า บารมีพอ บารมีพอแล้ว การเดินตลอดรุ่ง การนั่งตลอดรุ่ง เป็นเรื่องเล็ก

บารมีพอคืออะไร คือมันพร้อมหมด พร้อมที่จะต่อสู้ จิตใจนี่พร้อม มันฮึกเหิม มันห้าวหาญ ถือว่าเป็นเรื่องเล็ก เหมือนนักมวยที่ฟิตเต็มที่นี่ ดึงไม่ให้ชกนี่ โอ้ย..มัน เป็นทุกข์ ไม่มีอะไรที่จะไปเปรียบ

ทํายังไงบารมีจึงจะพอ สร้างบารมีให้พอคือยังไง

ก็ต้องทําให้มาก เดินจงกรมก็เดินให้มาก นั่งสมาธิก็นั่งให้มาก นั่งให้มากเดินให้มากๆ นี่ล่ะเป็นการสร้างบารมีให้พอ หนักเข้า นั่งภาวนานี่ต้องให้ชนะความเจ็บความปวด ให้ได้เสียก่อนจึงค่อยเลิก เดินจงกรมนี่ ให้ชนะขาอ่อนขาเพลียไปเสียก่อนจึงค่อยเลิก เรียกว่ามันขยับก้าวหน้าไปได้ขึ้นชั้น ถ้าหากว่าเดินจงกรมผ่านการเหน็ดการเหนื่อยการอ่อนการเพลีย ทีนี้ถ้าจะเดินตลอดคืนเดินตลอดรุ่งนี้ ไม่มีปัญหาอะไร เดินได้อย่างสบาย ไม่ได้เป็นอย่างทุกข์อย่างลําบาก นั่งภาวนาก็เหมือนกัน นั่งอย่างสบาย ไม่ได้นั่งอย่างทุกข์ ไม่ได้นั่งอย่างทรมาน นี่เรียกว่า บารมีพอ

มันค่อยก้าวไปทีละขั้นๆ ที่แรกก็ต้องอาศัย ขันติบารมี อดทนเอา แล้วก็อาศัย วิริยบารมี ความพากความเพียรเอา แล้วก็อาศัย สัจจอธิษฐาน เป็นบารมีเคียงคู่ไปด้วย อาศัย ขันติวิริยะ สัจจะ อธิษฐาน นี่ บารมีอันนี้พยายามสร้างขึ้นให้มาก ในเมื่อสร้างขึ้นให้มากๆ พอแล้ว ใจมันเป็น ใจมันเป็นแล้วทีนี้มันก็เป็นไปเอง ที่จะเดินจนสว่าง ก็เดินได้ ที่จะนั่งจนสว่างนี้ก็นั่งได้ เพราะมันเดินอย่างสบาย มันไม่ได้เป็นอย่างทุกข์ อย่างยาก มันนั่งมันก็นั่งของมันอยู่อย่างสบาย มันไม่ได้นั่งอย่างทุกข์อย่างยาก

เอ้า.. ใครมีความพากความเพียร ใครมีความสัตย์ความจริงให้ตั้งอยู่อย่างนี้ ให้ตั้งลงในลักษณะนี้ ผู้นั้นไม่ว่าผู้เก่าไม่ว่าผู้ใหม่ จะเห็นความอัศจรรย์ในการปฏิบัติธรรม

ถ้าหากว่าผู้เก่าก็ดีผู้ใหม่ก็ดี ไม่มีความพากความเพียร ไม่มีการตั้งความสัตย์ ความจริงอย่างนี้ ความอัศจรรย์ในข้อปฏิบัติ ความอัศจรรย์ของพระพุทธศาสนานี้ มืดมน
โอวาทธรรมหลวงปู่แบน ธนากโร (๙ ส.ค.๓๐)
คัดลอกมาจาก หนังสือ พระธนากโร หลวงปู่แบน หน้า ๑๔๘ - ๑๔๙










ภาพคนอื่นที่จะลอยมารบกวนจิตใจเรา เราจะตัดทิ้งเสีย ภาพนั้นเป็นอกุศล

หลวงพ่อจรัญ ทักขญาโณ







ปัญหาทั้งโลก เกิดมาจากตัณหา.. ถ้าแก้ตัณหาแล้ว.. ปัญหาก็จบหมด

หลวงปู่ประสิทธิ์ ปุญญมากโร








"คนที่ไม่รู้จักสุข ไม่รู้จักทุกข์นั้น
ก็จะเห็นว่า สุขกับทุกข์นั้น
มันคนละระดับ มันคนละราคากัน

ถ้าผู้รู้ทั้งหลายแล้ว ท่านจะเห็นว่า
สุขเวทนา กับทุกขเวทนา
มันมีราคาเท่าๆ กัน"

หลวงปู่ชา สุภทฺโท






"เราทุกคน มีบาปกันทั้งนั้น
ไม่มากก็น้อย จงสะดุ้งหวาดกลัว
ต่อบาป ต่อกรรม ต่อเวร
และระมัดระวัง ไม่ให้บาปเกิดขึ้นในใจ

เช่น ระวังไม่ให้เกิดความโลภ
ยินดีเท่าที่มีอยู่ เท่าที่หาได้
ไม่ผูกโกรธ เพราะความโกรธ
เป็นไฟเผาจิตใจ ให้ร้อนทั้งวันและคืน

ให้อโหสิกรรมเสีย ยกโทษ
โทษก็จะหมดไป เพราะว่าไม่ถือมั่น
ในความโกรธ ความพยาบาท"

หลวงปู่เหรียญ วรลาโภ


แสดงโพสต์จาก:  เรียงตาม  
กลับไปยังกระทู้  [ 1 โพสต์ ] 

เขตเวลา GMT + 7 ชั่วโมง


 ผู้ใช้งานขณะนี้

กำลังดูบอร์ดนี้: ไม่มีสมาชิก และ บุคคลทั่วไป 51 ท่าน


ท่าน ไม่สามารถ โพสต์กระทู้ในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ ตอบกระทู้ในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ แก้ไขโพสต์ของท่านในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ ลบโพสต์ของท่านในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ แนบไฟล์ในบอร์ดนี้ได้

ค้นหาสำหรับ:
ไปที่:  
Google
ทั่วไป เว็บธรรมจักร