วันเวลาปัจจุบัน 28 มี.ค. 2024, 22:07  



เขตเวลา GMT + 7 ชั่วโมง




กลับไปยังกระทู้  [ 2 โพสต์ ]    Bookmark and Share
เจ้าของ ข้อความ
โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 03 ม.ค. 2020, 06:48 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
อาสาสมัคร
อาสาสมัคร
ลงทะเบียนเมื่อ: 06 มี.ค. 2009, 10:48
โพสต์: 5091


 ข้อมูลส่วนตัว


...การที่จะทําใจให้สงบนี้ เราจะต้อง
"มีสติ..ควบคุมใจอยู่ตลอดเวลานาที"
.
ไม่ให้คิดปรุงเเต่ง ให้ลดความคิดปรุงแต่ง
ให้น้อยลงไปเรื่อยๆ ตามลําดับ
จนสามารถ.."หยุดความคิดปรุงเเต่งได้"
.
ถ้าหยุดความคิดปรุงเเต่งได้
ใจก็จะเข้าสู่ความสงบได้
พอใจเข้าสู่ความสงบ
ก็เป็น..สมาธิ..ขึ้นมา
คําว่า..ความสงบนี้แหละคือ “สมาธิ”.
....................................
.
หนังสือธรรมะบนเขา
เล่ม1 หน้า224
พระอาจารย์สุชาติ อภิชาโต
วัดญาณสังวรารามฯ ชลบุรี







จำไว้นะ... ทุกอย่างบนโลกล้วนเกิดขึ้น
ตามวาสนาบารมีที่เคยบำเพ็ญมา
หาใช่สิ่งที่มันปรุงแต่งขึ้นมาเองไม่

บนโลกนี้สิ่งที่เกิดขึ้น ไม่ว่าจะเป็นความผิดหวังก็ดี สมหวังก็ดี การพลัดพรากก็ดี การไม่ได้ในสิ่งที่ตนปรารถนาก็ดี ทุกอย่างเกิดขึ้นตามกระแสแห่งกรรม ที่ผู้รับนั้นได้เคยกระทำไว้ในกาลหนหลัง ไม่มีสิ่งใดที่จะมาหักล้างกันได้

จะไปบนบานที่ใดก็ตามแต่ ถ้าสิ่งที่เรากำลังเจอนั้นเป็นวิบากของกรรมแล้ว เทพองค์ใดก็ไม่สามารถช่วยได้.... สิ่งที่ช่วยได้ คือการมีสติและเผชิญหน้ากับมัน การทำกุศลให้ถึงพร้อมนี่แหละวิธีการรับมือกับวิบากกระแสแห่งกรรม

#หลวงปู่สุธัมม์ ธัมปาโล









"สิ่งที่ล่วงไปแล้วไม่ควรไปทำความผูกพัน เพราะเป็นสิ่งของที่ ล่วงไปแล้วอย่างแท้จริง แม้จะทำความผูกพัน ...และมั่นใจในสิ่งนั้น กลับมา เป็นปัจจุบันก็เป็นไปมิได้ ผู้ทำความสำคัญมั่นหมายนั้นเป็นทุกข์แต่ผู้เดียว โดยความไม่สมหวังตลอดไป อนาคตที่ยังไม่มาถึงก็เป็นสิ่งไม่ควรยึดเหนี่ยว เกี่ยวข้องเช่นกัน อดีตควรปล่อยไว้ตามอดีต อนาคตก็ควรปล่อยไว้ตามกาล ของมัน ปัจจุบันเท่านั้นที่จะสำเร็จเป็นประโยชน์ได้ เพราะอยู่ในฐานะที่ควร ทำได้ไม่สุดวิสัย ,ปริยัติ ปฏิบัติ ปฏิเวธ จะแยกกันไม่ได้ หนัง เนื้อ เอ็น กระดูก ต้องอิงอาศัยกันอยู่ฉันใดก็ดี ปริยัติ ปฏิบัติ ปฏิเวธ ก็อาศัยกันอยู่อย่างนั้น สัทธรรมสามอย่างนี้ จะแยกกันไม่ได้เลย"

โอวาท หลวงปู่มั่น ภูริทัตตเถระ
วัดป่าสุทธาวาส อำเภอเมือง จังหวัดสกลนคร








หลวงปู่มั่น ภูริทัตโต ท่านได้แสดง ศีล ๕ ซึ่งเป็นคุณธรรมที่ไม่ขัดต่อภพกำเนิดและเพศวัยให้ฟัง พร้อมอานิสงส์เป็นใจความว่า…

“…๑. สิ่งที่มีชีวิตเป็นสิ่งที่มีคุณค่าอยู่ในตัวของมันเอง จึงไม่ควรเบียดเบียนและทำลายคุณค่าแห่งความเป็นอยู่ของเขาให้ตกไป อันเป็นการทำลายคุณค่าของกันและกันเป็นบาปกรรมแก่ผู้ทำ

๒. สิ่งของของใคร ๆ ก็รักและสงวนแม้คนอื่นจะเห็นว่าไม่ดีมีคุณค่า แต่ผู้เป็นเจ้าของย่อมเห็นคุณค่าในสมบัติของตน ไม่ว่าสมบัติหรือสิ่งของใด ๆ ที่มีเจ้าของ แม้มีคุณค่าน้อยก็ไม่ควรทำลาย คือ ฉกลัก ปล้นจี้ เป็นต้น อันเป็นการทำลายสมบัติและทำลายจิตใจกันอย่างหนัก ทั้งเป็นบาปมาก ไม่ควรทำ

๓. ลูกหลานสามีภริยาใคร ๆ ก็รักสงวนอย่างยิ่ง ไม่ปรารถนาให้ใครมาอาจเอื้อมล่วงเกิน จึงควรให้สิทธิเขาโดยสมบูรณ์ ไม่ล่วงล้ำเขตแดนของกันและกัน อันเป็นการทำลายจิตใจของผู้อื่นอย่างหนักและเป็นบาปไม่มีประมาณ

๔. มุสา การโกหกพกลมเป็นสิ่งทำลายความเชื่อถือของผู้อื่นให้ขาดสะบั้นลง ขาดความนับถืออย่างไม่มีชิ้นดีเลย แม้แต่สัตว์ดิรัจฉานเขาก็ไม่พอใจในคำหลอกลวง จึงไม่ควรพูดโกหกหลอกลวงให้ผู้อื่นเสียหาย

๕. สุรา ตามธรรมชาติเป็นของมึนเมาและให้โทษอยู่ในตัวของมันอย่างเต็มที่อยู่แล้ว เมื่อดื่มเข้าไปย่อมสามารถทำคนดี ๆ ให้กลายเป็นคนบ้าได้ในทันทีทันใด และลดคุณค่าลงโดยลำดับ ผู้ต้องการเป็นคนดีมีสติปกครองตัวอย่างมนุษย์ทั้งหลาย จึงไม่ควรดื่มสุราเครื่องทำลายสุขภาพทางกายและทางใจอย่างยิ่ง เพราะเป็นการทำลายตัวเองและผู้อื่นไปด้วยในขณะเดียวกัน

อานิสงส์ของศีล ๕ เมื่อรักษาได้

๑. ทำให้อายุยืนปราศจากโรคภัยมาเบียดเบียน
๒. ทรัพย์สมบัติที่อยู่ในความครอบครอง มีความปลอดภัยจากโจรผู้ร้ายมาราวีเบียดเบียนทำลาย
๓. ระหว่างลูกหลาน สามีภริยาอยู่ด้วยกันเป็นผาสุก ไม่มีผู้มาคอยล่วงล้ำกล้ำกราย ต่างครองกันด้วยความเป็นสุข
๔. พูดอะไรมีผู้เคารพเชื่อถือ คำพูดมีเสน่ห์เป็นที่จับใจไพเราะด้วยสัตย์ด้วยศีล เทวดาและมนุษย์เคารพรัก ผู้มีสัตย์มีศีลไม่เป็นภัยแก่ตนและผู้อื่น
๕. เป็นผู้มีสติปัญญาดีและเฉลียวฉลาด ไม่หลงหน้า หลงหลัง จับโน่นชนนี่เหมือนคนบ้าบอหาสติไม่ได้

ผู้มีศีลเป็นผู้ปลูกและส่งเสริมความสุขบนหัวใจคนและสัตว์ทั่วโลก ให้มีแต่ความอบอุ่นใจ ไม่เป็นที่ระแวงสงสัย ผู้ไม่มีศีลเป็นผู้ทำลายหัวใจคนและสัตว์ให้ได้รับความทุกข์เดือดร้อนทุกหย่อมหญ้า ฉะนั้นผู้เห็นคุณค่าของตัวจึงควรเห็นคุณค่าของผู้อื่นว่ามีความรู้สึกเช่นเดียวกัน ไม่เบียดเบียนทำลายกัน ผู้มีศีลสัตย์เมื่อทำลายขันธ์ไปเกิดในสุคติโลกสวรรค์ไม่ตกต่ำ เพราะอำนาจศีลธรรมคุ้มครองรักษาและสนับสนุน จึงสมควรอย่างยิ่งที่จะพากันรักษาให้บริบูรณ์ เมื่อจากอัตภาพนี้จะมีสวรรค์เป็นที่ไปโดยไม่ต้องสงสัย ธรรมที่สั่งสอนแล้วควรจดจำให้ดี ปฏิบัติให้มั่นคง จะเป็นผู้ทรงสมบัติทุกอย่างในอัตภาพที่จะมาถึงในไม่ช้านี้แน่นอน…”

หลวงปู่มั่น ภูริทัตโต











ตนเเลเป็นที่พึ่งแห่งตน
ใจคุณสู้ คุณก็รอด
ใจคุณจอด คุณก็พัง

ถ้าไม่อยากผิดหวัง
จงอย่าฝากความหวังไว้กับใคร

มีจิตใจเด็ดเดี่ยวตั้งมั่นไม่หวั่นไหว
ความเพียรต่อเนื่อง สติกล้าปัญญาคม
ทางโลกก็น่าชื่นชม ทางธรรมก็สำเร็จ

โอวาทธรรม : พระอาจารย์คม อภิวโร












“…หลวงปู่จันทร์ เขมิโย กับ ปลาพระโพธิสัตว์”
“….หลายคนคงจะสงสัยว่าการเกิดมาเพื่อบำเพ็ญบารมีเพื่อจะไปเป็นพระพุทธเจ้าในพระไตรปิฎกที่พระพุทธเจ้าตรัสไว้ นั้นมีจริงหรือไม่ลองอ่านเรื่องนี้แล้วพิจารณาดู
เหตุเกิดที่ จ.นครพนม ณ วัดศรีเทพประดิษฐาราม โดยท่านเจ้าคุณพระเทพสิทธาจารย์ (จันทร์ เขมิโย) ท่านเล่าเอาไว้ว่า….

มีอยู่คืนหนึ่งท่านกำลังทำสมาธิกรรมฐานก็ปรากฏภาพนิมิตขึ้นในสมาธิเป็นภาพของแอ่งน้ำกำลังแห้งมีปลาอยู่หกตัว เป็นปลาหมอ ๓ ตัว ปลาดุก ๓ ตัวกำลังดิ้นรนกระเสือกกระสนอยู่ ท่านจึงกำหนดจิตถามว่าเป็นคู่เวรคู่กรรมมาทวงหนี้เวรกรรมหรือไม่

ปลาเหล่านั้นตอบว่า พวกเราเป็นพระโพธิสัตว์มาเกิดเป็นปลาเพื่อบำเพ็ญบารมี แต่ถูกกระแสกรรมทำให้ถูกนายบุญช่วย สุวรรณทรรภจับมาขังเอาไว้ในตุ่มน้ำในสวนกล้วยติดหลังวัด ตอนนี้น้ำกำลังแห้ง ถ้าตายก่อนจะหมดโอกาสบำเพ็ญบารมี

หลวงปู่จึงถามว่าเหตุใดจึงมาปรากฏในข่ายฌานสมาธิของท่าน

ปลาโพธิสัตว์เหล่านั้นตอบว่า พวกเราตั้งจิตอธิษฐานว่าด้วยกุศลผลบุญที่บำเพ็ญเพียรเพื่อปรารถนาพุทธภูมิในอนาคตขอให้เราได้ปรากฏในข่ายฌานของผู้ทรงศีลที่เคยเกื้อกูลกันมาก่อนในอดีตชาติจึงได้มาปรากฏในข่ายวิถีฌานสมาธิของท่าน

ตอนแรกหลวงปู่คิดว่าเป็นนิมิตมายา จึงอธิษฐานจิตซ้ำว่าถ้าเป็นภาพนิมิตมายาขอให้ดับหายไป ถ้าเป็นนิมิตจริงขอให้ปลาเหล่านี้สวดพระพุทธคุณให้ได้ยิน ปรากฏว่าเมื่ออธิษฐานเสร็จปลาเหล่านั้นก็พากันสวดสรรเสริญพระพุทธคุณว่า นโมตัสสะ ภควโต อรหโต สัมมาสัมพุทธัสสะ ตัวละ ๓ จบเรียงกันไปจนครบหกตัว ท่านได้ยินดังนั้นจึงรับปากว่าจะช่วย

รุ่งเช้าท่านออกบิณฑบาตไปจนถึงบ้านของโยมอุปัฏฐาก วันนั้นลูกสาวของโยมอุปัฏฐากชื่อเยี่ยม หอมหวล อายุขณะนั้น ๑๐ ขวบ เมื่อใส่บาตรแล้วก่อนที่หลวงปู่จะไปบ้านอื่นต่อ จึงสั่งเด็กหญิงผู้นั้นว่า ตอนสาง หลังกินข้าวเสร็จแล้วให้เอาขันน้ำใบใหญ่ๆ ไปหาท่านที่วัดด้วย

หลังจากนั้นเด็กหญิงก็เอาขันน้ำไปที่วัดตามที่หลวงปู่สั่ง เมื่อไปถึงหลวงปู่ก็สั่งว่าให้เอาน้ำใส่พอประมาณและให้ไปขอปลาหกตัวกับนายบุญช่วย ที่ขังเอาไว้ในตุ่มน้ำในสวนกล้วยติดกับหลังวัด ซึ่งเด็กหญิงผู้นี้ก็รู้จัก พร้อมกำชับไว้ด้วยว่าไม่ว่าอย่างไรก็ตามต้องเอาปลามาให้ได้

เมื่อเด็กหญิงไปถึงพบนายบุญช่วยจึงบอกว่าเจ้าคุณปู่ให้มาขอปลาหกตัว เป็นปลาหมอ ๓ ตัวปลาดุก ๓ ตัวที่ขังไว้ในสวนกล้วย นายบุญช่วยแปลกใจแต่ก็บอกว่าไม่รู้ว่าปลามีหรือไม่ ถ้าไม่มีให้กราบเรียนหลวงปู่ด้วยว่าไม่มี แล้วไปที่สวนกล้วย

พอไปถึงกระต๊อบท้ายสวนนายบุญช่วยก็นึกได้ว่าตนเคยไปหาปลาและได้นำมาขังไว้จริงแต่นานแล้วจนลืม

จึงอุทานว่าหลวงปู่เก่งจังที่รู้ว่าตนขังปลาไว้จนลืมไปแล้ว จึงรีบไปดูที่ตุ่มกลางกอกล้วย

ปรากฏว่าเห็นปลาอยู่หกตัวตามที่หลวงปู่บอกมาจริง จึงจับปลาใส่ขันให้เด็กหญิง แล้วตามมาจนถึงวัด

เมื่อพบหลวงปู่ จึงบอกว่าหลวงปู่เก่งที่รู้ว่ามีปลาถูกขังจนลืม หลวงปู่บอกว่า ท่านไม่เก่ง ปลาเหล่านี้ต่างหากที่เก่ง เพราะสามารถส่งกระแสจิตไปขอความช่วยเหลือจากท่านได้ โชคยังดีที่ยังไม่ได้เอาไปทำอาหาร เพราะจะเดือดร้อนทั้งครอบครัว จากนั้นหลวงปู่ก็ทำน้ำมนต์พรมให้ปลาแล้วอธิษฐานให้ปลานั้นปลอดภัย สามารถบำเพ็ญบารมีต่อได้จนหมดอายุขัย แล้วนำไปปล่อยที่แม่น้ำโขง น่าแปลกคือ เมื่อปล่อยปลาลงน้ำแล้วแทนที่มันจะรีบว่ายหนีกลับพากันกระโดดขึ้นเหนือน้ำสามครั้งเหมือนกับจะแสดงการคารวะหลวงปู่จากนั้นก็พากันว่ายน้ำหายไป…”

ท่านเจ้าคุณพระเทพสิทธาจารย์(หลวงปู่จันทร์ เขมิโย)











#โรค๑๖ประการ
เรารักษาโรคไม่ถูก...ไม่ถูกทาง
จึงพากันป่วยอยู่มาในภพชาตินี้

รู้ว่าตัวเองป่วยไหม ถ้าฉันป่วยฉันก็นอน รพ.สิค่ะ ฉันจะมานั่งฟังทำไม หลวงตาพูดอะไรแปลกๆ เดียวก็จะมาต่อว่าอีก เราป่วยจริงๆน่ะ....โรคที่ป่วยน่ะ มันมีอยู่ ๑๖ ประการ โรคที่เบียดเบียนพวกเราน่ะ โรคอะไรบ้าง เอดส์ มะเร็ง ใช่ไหม..........ไม่พูด

อันนี้มันโรคประจำกระแสโลก โรค ๑๖ ประกาศ ที่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเป็นผู้ประกาศบอกเอาไว้ในธรรมวินัย

โรค ๑๖ ประกาศมีอะไรบ้าง

๑.อภิชฌาวิสมโลภะ : ละโมบด้วยความไม่สม่ำเสมอ คือ ความเพ่งเล็ง (อยากได้ อยากมี อยากเป็นอย่างไม่รู้จักพอ เห็นแก่ได้จนลืมตัว)

๒.โทสะ : ร้ายกาจ ( มุ่งจะทำร้ายเขา ใครพูดไม่ถูกใจก็คิดตำหนิเขา คิดจะทำร้ายฆ่าเขาก็มี บางครั้งทำร้ายผู้อื่นไม่ได้ ก็หันมาตำหนิตัวเอง ทำร้ายตัวเอง จนฆ่าตัวตายก็มีซึ่งเป็นเพราะอำนาจพยาบาท เป็นอาการอย่างหนึ่งของโทสะ)

๓.โกธะ : โกรธ (มีอะไรมากระทบก็โกรธ เป็นลักษณะโกรธง่าย แต่เมื่อหายแล้วก็เหมือนกับไม่มีอะไรเกิดขึ้น คือไม่ผูกใจเจ็บ ไม่พยาบาท เป็นอาการอย่างหนึ่งของโทสะ)

๔.อุปนาหะ : ผูกโกรธไว้ (ใครพูดอะไร ทำอะไรให้เกิดความโกรธแล้วจะผูกใจเจ็บ เก็บไว้ ไม่ปล่อย ไม่ลืม เป็นทุกข์อยู่อย่างนั้น กระทบอารมณ์เมื่อไร ก็เอาเรื่องเก่ามาคิดรวมกันคิดทวนเรื่องในอดีตว่าเขาเคยทำไม่ดีกับเราขนาดไหน เป็นอาการอย่างหนึ่งของโทสะ)

๕.มักขะ : ลบหลู่คุณท่าน (ปิดบังความดีของผู้อื่น ลบหลู่ความดีของผู้อื่น เช่น เขาให้ของแก่เรา แทนที่จะขอบคุณกลับนึกตำหนิเขาว่า เอาของไม่ดีมาให้ หรือเมื่อมีใครพูดถึงความดีของเขา เราทนไม่ได้ เราไม่ชอบ จึงยกเรื่องที่ไม่ดีของเขามาพูด เพื่อปฏิเสธว่าเขาไม่ใช่คนดีถึงขนาดนั้น เป็นต้น)

๖.ปลาสะ : ตีเสมอ ยกตนเทียบท่าน (ไม่ยอมยกให้ใครดีกว่าตน แต่ชอบยกตัวเองดีกว่าเขา มักแสดงให้เขาเห็นว่าเราคิดเก่งกว่า รู้ดีกว่า ถ้าให้เราทำ เราจะทำให้ดีกว่าเขาได้)

๗.อิสสา : ริษยาเห็นเขาได้ดีก็ทนอยู่ไม่ได้ (เมื่อเห็นเขาได้ดีมากกว่าเรา เขาได้รับความรักความเอาใจใส่มากกว่าเรา เรารู้สึกน้อยใจ อยากจะได้เหมือนอย่างเขา ความจริงเราอาจจะมีมากกว่าเขาอยู่แล้ว หรือเรากับเขาต่างก็ได้รับเท่ากัน แต่เราก็ยังเกิดความรู้สึกน้อยใจ ทนไม่ได้ก็มี)

๘.มัจฉริยะ : ความตระหนี่ (ขี้เหนียว เสียดายของ ยึดในสิ่งของที่เราครอบครองอยู่อย่างเหนียวแน่น อยากแต่จะเก็บเอาไว้ ไม่อยากให้ใคร)

๙.มายา : ความเจ้าเล่ห์เพทุบาย (ไม่จริงใจ หรือบางกรณี ใจเราคิดตำหนิติเตียนเขา แต่กลับแสดงออกด้วยการพูดชื่นชมอย่างมาก หรือบางทีเราไม่ได้มีความรู้มาก แต่ของคุยแสดงว่ารู้มาก เป็นต้น)

๑๐.สาเถยยะ : ความโอ้อวด (หลอกลวงเขา ชอบอวดว่าดีกว่าเขา เก่งกว่าเขา พยายามแสดงให้เขาเห็น เพื่อให้เขาเกิดอิจฉาเรา เมื่อได้โอ้อวดแล้วมีความสุข)

๑๑.ถัมภะ : ความหัวดื้อถือรั้น (ความกระด้าง ยึดมั่นถือมั่นในตัวเอง ใครแนะนำอะไรให้ก็ไม่ยอมรับฟัง)

๑๒.สารัมภะ : ความแข่งดี ( มุ่งแต่จะเองชนะเขาอยู่ตลอด จะพูดจะทำอะไรต้องเหนือกว่าเขาตลอด เช่นเมื่อพูดเถียงกันก็อ้างเหตุผลต่าง ๆ นานา เพื่อเอาชนะให้ได้ ถึงแม้ความจริงแล้วตัวเองผิด ก็ไม่ยอมแพ้)

๑๓.มานะ : ความถือตัว (ทะนงตน)

๑๔.อติมานะ : ความดูหมิ่นท่าน (ความถือตัวว่าเราดียิ่งกว่าเขา ทำให้ดูถูกดูหมิ่นคนอื่น)

๑๕.มทะ : ความมัวเมา (หลงว่ายังเป็นหนุ่มเป็นสาว ยังไม่แก่ ยังไม่ตาย หลงในอำนาจ หลงในตำแหน่ง คิดว่าเราจะเป็นอย่างนี้ตลอดไปแล้วทำอะไรเกินเหตุ)

๑๖.ปมาทะ : ความประมาทเลินเล่อ (ไม่คิดให้รอบคอบ อาการที่ขาดสติ ขาดปัญญา)

โรค ๑๖ ประการนี้ มันทำให้เราตกอยู่ในวัฏจักรวนเวียนกี่ภพกี่ชาติแล้ว เราป่วย เกิดๆตายๆวนเวียนอยู่นี้ ก็เพราะโรคเหล่านี้ โรค ๑๖ ประการนี้ ทำให้เราตกอยู่ในวัฏสงสารอันนี้ เรารักษาโรคไม่ถูก ไม่ถูกทาง จึงพากันป่วยอยู่มาในภพชาตินี้ พากันมาป่วยกันอีก จะป่วยกันไปกี่ภพกี่ชาติกี่กัปกี่กัลป์ ที่จะเกิดๆตายๆอยู่นี้ เราป่วยจริงไหมโรคเหล่านี้ เราป่วย ใจเราป่วยหรือเปล่า อ่านใจตัวเองสิ เอาใจอ่านกายตัวเองสิ เอาใจอ่านวาจาคำพูดที่พูดออกไปสิ ดูให้มันเห็น มันมีอยู่ประจำโลกไม่ใช่หรอ ทำไมถึงไม่เห็น ทั้งๆที่รู้ทำไมถึงไม่รู้ ความรู้เหล่านี้มันมีอยู่แล้วประจำหมด แม้แต่ตัวตนสกลกายของตัวเอง เป็นก้อนธรรมก็ยังไม่รู้

ถอดจากเทปพระธรรมเทศนา
หลวงปู่สวาท ปัญญาธโร วัดโปร่งจันทร์
ต.คลองพลู อ.คิชฌกูฏ จ.จันทบุรี











"#ละชั่วทำดี #เป็นพรทั้งปีใหม่ปีเก่า"
.
พวกเราทั้งหลายลูกศิษย์ตถาคต อย่าไปตื่นวันตื่นปีตื่นเดือนปีใหม่ปีเก่าโดยไม่สนใจดูเจ้าของ มันสร้างความชั่วช้าลามกเท่าไร จะกี่กัปกี่กัลป์มันก็จมอยู่อย่างนั้นละ ถ้าสร้างความดีแล้วปีไม่ปีไม่สำคัญ เราไปดีของเราเองเท่านั้น ให้พากันจำเอา มันจะตื่นลมตื่นแล้งไปหมด ส่วนมากสอนกันมีแต่หลอกกันไป ปีใหม่ เอ้อ เจริญพรๆ ไปนี้ให้ได้มีความสุขความเจริญนะปีใหม่ๆ ไม่ได้สอนให้เขาละชั่วทำดีเป็นประโยชน์อะไร
.
ธรรมพระพุทธเจ้าสอนให้ละชั่วทำดี ละที่ชั่วที่อยู่กับเรา ทำดีอยู่กับเรา พรปีใหม่หรือปีเก่าจะเกิดขึ้นกับเรานี้นะ ทุกคนให้พากันจำเอา วันนี้ก็ไม่เทศน์มากละ ท่านทั้งหลายให้จำเอาให้ดีนะ ละความชั่วให้ทำความดี นี่ละพรจะอยู่กับท่านทั้งหลายเอง ไม่ได้อยู่กับดินฟ้าอากาศที่ไหน ท่านทั้งหลายอย่าไปตื่นลมตื่นแล้ง ศาสนาพุทธไม่ได้พาคนให้ตื่นข้างนอก ให้ดูข้างใน ตื่นข้างใน ทำชั่วไม่ดีให้แก้ไขดัดแปลงทันทีในตัวของเรา แล้วจะเป็นมงคลขึ้นกับตัวของเราทุกๆ ท่านนั้นแหละ
.
วันนี้ไม่ได้พูดมากอะไรนัก พากันจำเอา พรปีใหม่ปีเก่าอยู่กับท่านทั้งหลายเอง ให้เสาะแสวงหาความดี ละชั่วทำดีเรียกว่าเป็นพรทั้งปีใหม่ปีเก่า รวมเป็นมงคลด้วยกันทั้งนั้นแหละ
...........................................................................
หลวงตาพระมหาบัว ญาณสัมปันโน
เทศน์อบรมฆราวาส ณ ศาลาสวนแสงธรรม กรุงเทพฯ
เมื่อเช้าวันที่ ๒๕ ธันวาคม พุทธศักราช ๒๕๔๘









#เป็นผู้รู้ ก็คือ เรารู้จักหลบ
เราก็พยายามเอาจิตหลบหลีก เอาใจไม่ต่อสู้ ทำใจของเราดีกว่า ไม่ให้มันตอบเขา ไม่ให้มันด่าเขาตอบไป สู้มันให้ชนะ เท่านั้นเอง..

หลวงปู่สังวาลย์ ธัมมสาโส







เอาชนะใจตัวเองได้ ดอกบัวของตัวเองก็เบิกบานยิ้มแย้มแจ่มใสอยู่ทั้งวัน

หลวงปู่สังวาลย์ ธัมมสาโร









ข้อควรระวังในการทำบุญ
“หลวงปู่เปลี่ยน ปัญญาปทีโป” เผยการทำความดีที่เป็นวิบัติ ๔ ประการ จะส่งผลให้การทำบุญกลายเป็นการทำบาปไม่รู้ตัว

วิบัติ ๔ ประการที่เกิดขึ้นจากการทำบุญไม่ถูกวิธี
ทุกวันนี้เราไม่เข้าใจวิธีทำบุญที่ถูกต้องเหมาะสมในทางพระพุทธศาสนา ท่านจัดไว้ว่าการทำความดีที่ไม่ถูกต้อง ๔ ประการ เป็นเหตุทำให้วิบัติ เป็นทางเสื่อม ไม่เจริญ ได้แก่ ทำความดีไม่ถูกที่ ทำความดีไม่ถูกบุคคล ทำความดีไม่ถูกกาลถูกเวลา และทำความดีแล้วไม่ตามความดี ของตนนั้น
รายละเอียดดังนี้:

๑. การทำความดีไม่ถูกที่
ท่านว่าการทำความดีไม่ถูกที่ ก็คือ เราจัดอะไรต่างๆ เช่นอาหารการกิน เครื่องใช้สอยต่างๆ ว่าเอาไปทำบุญ บูชาบวงสรวงผีสางนางไม้ ไร่นาเรือกสวน ต้นไม้ ภูเขา หอผี ศาลพระภูมิ ทำเอาไว้ในสถานที่ต่างๆ เราก็คิดว่าเราพากันไปทำบุญที่ถูกต้อง แล้วเราก็จะได้บุญ ตามที่คณะศรัทธาญาติโยมทั้งหลายพากันทำอยู่เป็นส่วนมาก แต่นักปราชญ์ทั้งหลายมี พระพุทธเจ้าเป็นต้น ตรัสว่า เราทำบุญบูชาไม่ถูกต้อง เราจะไม่ได้รับผลบุญนั้นเลย เพราะเราพากันทำบุญไม่ถูกที่นั้นเอง

๒. การทำความดีไม่ถูกบุคคล
คือ ตัวบุคคลผู้รับสิ่งของที่เราให้เขานั้นไม่ดี เราก็ทำความดีกับเขา ตัวอย่างเช่นบุคคลเหล่านั้นเป็นคนพาล โจรขโมยปล้นจี้ฆ่าเจ้าของเอาสิ่งของ สูบกัญญา ยาฝิ่น แค็ป เฮโรอีน ผงขาว ยาเสพติดให้โทษ ทำให้เสียสติมัวเมาลุ่มหลง ไม่รู้บาปบุญคุณโทษ จิตใจหยาบช้า ทุกตี ฆ่าฟันรันแทงกันอยู่ในทุกวันนี้ ให้มีความเดือดร้อนไม่สงบอยู่ทุกมุมเมืองทั่วไป บัณฑิตทั้งหลายเรียกว่าคนพาล ถ้าหากพวกเราท่านทั้งหลายไปสงเคราะห์ทำความดี ขวนขวายช่วยเหลือดูแลอุปถัมภ์บำรุง ส่งเสริมให้กำลังแก่คนพาลเหล่านี้นั้น เช่น พวกเราเอาอาหารการกินไปบำรุงให้กินอิ่ม เอายาเสพติด สุรายาเมา กัญญา ยาฝิ่น แค็ป เฮโรอีน ผงขาว ให้เขาดื่มกิน สูบสิ่งทั้งหลายเหล่านี้ หรือ เราเอาอาวุธยุทโธปกรณ์ ปืน ระเบิด ของแหลมคม เครื่องมือใช้เปิดงัดแงะขโมยสิ่งของต่างๆ เรานำเอาสิ่งของดังกล่าวมานี้ ไปให้เขา ช่วยเขา บำรุงส่งเสริมให้เขามีกำลังมากขึ้นเท่าไร ก็ยิ่งทำให้คนพาลทั้งหลายเหล่านั้นมีกำลังมากขึ้นทุกๆ วัน ภัยอันตรายทั้งหลาย และความวุ่นวายไม่สงบสุขอยู่ทุกมุมเมืองทั่วทุกประเทศในโลกนี้ ไม่มีความสุข มีแต่ความทุกข์เป็นผล แต่ทุกคนเราก็คิดว่าเรากระทำความดีกับเขาทุกคน เพราะเราไม่เข้าใจในการทำความดีนั้นเอง เหตุนั้นบัณฑิตเจ้าทั้งหลายจึงเรียกว่า เราทำความดีผิดคน

๓. การทำความดีถูกกาลถูกเวลา
ได้แก่การที่เราจะไปเลี้ยงพระ เราก็ดูว่าเราจะไปเวลาไหน จึงเตรียมของอะไรไปถวายบ้าง เช่น น้ำส้ม น้ำหวาน และเราเองจะไปทำอะไรบ้าง เช่น น้ำส้ม น้ำหวาน และเราเองจะไปทำอะไรบ้าง เช่น ไปทำวัตรเช้า ทำวัตรเย็น ไปฟังเทศน์ ตามกาลตามเวลาที่มีอยู่ เราควรรู้ว่าสิ่งของอะไรบ้างที่จะถวายพระในตอนเช้าได้ หรือสิ่งของอะไรบ้างที่จะถวายพระในตอนบ่ายได้ เช่น ถ้าเราเอาอาหารไปถวายพระตอนบ่าย เราไม่ต้องไปประเคนท่าน เพราะหากว่าท่านรับประเคนอาหารนั้นแล้ว ในวันต่อไปพระท่านจะฉันอาหารที่ได้รับประเคนไว้แล้วนั้นไม่ได้ เพราะผิดศีลของพระ เหตุฉะนั้น ญาติโยมจึงควรนำอาหารเหล่านั้นไปเก็บไว้ที่โรงครัว เพื่อจะได้ให้โยมวัดนำเอาอาหารมาถวายพระในวันต่อไป อย่าไปบังคับให้พระท่านรับประเคนไว้ ส่วนมากแล้วญาติโยมทั้งหลายยังไม่เข้าใจ เรื่องการถวายสิ่งของต่างๆ กับพระ ไม่รู้อะไรควรประเคนพระในตอนเช้า ไม่รู้ว่าอะไรควรประเคนในตอนบ่ายแล้วไป อะไรพระฉันได้ทุกกาลทุกเวลา เราต้องศึกษาให้รู้ให้เข้าใจว่าอะไรที่เป็นอาหาร เราก็ประเคนพระในตอนเช้าไปถึงแค่เที่ยงวัน สิ่งที่ประเคนพระได้ตั้งแต่ตอนบ่ายไปจนถึงเที่ยงคืนก็คือ “น้ำปานะ” เภสัชที่รับประเคนแล้วเก็บไว้ฉันได้ ๗ วัน คือ น้ำผึ้ง น้ำอ้อย น้ำตาลทราย เนยใส เนยข้น แต่เภสัชอย่างอื่นรับประเคนแล้วเก็บไว้ฉันได้ตลอดชีวิต สิ่งที่ควรประเคนพระได้ทุกกาลทุกเวลา ก็คือ ยารักษาโรคทุกชนิด

๔. การทำความดีแล้วให้ตามความดีของตน
ถ้าเราไม่เคยไปทำบุญในวัดเลย แต่เราเคยสร้างถนนหนทาง เราเคยทำความสะอาด แนะนำสั่งสอนลูกหลาน และเพื่อนฝูงที่ไม่ดีให้ทำความดีอยู่เรื่อยๆ แต่ยังไม่ได้เข้าวัด เราเคยสงเคราะห์คน ให้เงินทองข้าวของอาหารการกินแก่คนอื่น หรือพี่น้องทั้งหลาย เราควรที่จะมีเมตตาเจือจานสงเคราะห์เขาไปเรื่อยๆ เช่น สงเคราะห์คนจนเป็นต้น โดยที่ยังไม่ได้เข้าวัด เมื่อเห็นคนอื่นได้รับความวิบัติต่างๆ เช่น น้ำท่วม ทรัพย์สินเสียหายหมด ไฟไหม้บ้านเรือน เราก็ช่วยกันสงเคราะห์เขา ถ้าเขาขาดอาหารการกิน เราก็ช่วยเขา นี่เป็นการทำบุญนอกวัด ยังไม่ได้เข้าวัด ก็เรียกว่าเป็นบุญด้วย สมควรที่เราจะค่อยๆ ทำไปตามกำลังความสามารถที่เราจะช่วยเหลือกันได้ ถ้าเรามาทำในวัด เราเคยทำ ทำตามกำลังของเรา เราก็พยายามสร้างบุญกุศลไปเรื่อยๆ เราเคยรักษาศีล เราก็พยายามจะรักษาศีลของตนเพื่อให้ดีมากขึ้น ที่เคยรักษามาแล้วไม่ได้ละทิ้งให้เสื่อมลงไป ศีลข้อไหนยังไม่ดี ก็พยายามรักษาปรับปรุง เพื่อจะให้ดีขึ้นให้เป็นผู้มีศีลธรรมขึ้น ก็รักษาศีล ๕ เรามีศีล ๕ บริสุทธิ์แล้ว ต่อมาเราอยากได้ศีล ๘ เราก็พยายามที่จะรักษาศีล ๘ ให้เราเป็นผู้มีศีล มีฐานะสูงขึ้น เป็นศีลพรหมจรรย์ ได้แค่วันหนึ่งก็เอา มันยังไม่ได้มาก ต่อมาลงมาอยู่ศีล ๕ ออกจากวัดมา ประคองศีล ๕ ไว้ ถึงวันพระ วันโกน ก็ไปตั้งใจรักษาศีล ๘ อีกต่อไป ให้พากันพยายามขวนขวายรักษาศีลตามกำลังของตน

พอมีศีลดีแล้วก็ฝึกทำสมาธิ ถ้าจิตใจของเรายังไม่สงบเป็นสมาธิ เราก็พยายามฝึกไปเรื่อยๆ ต้องการให้จิตใจของเราสงบเป็นสมาธิ หมั่นเดินจงกรมอยู่เสมอ พอจิตใจสงบเป็นสมาธิเพียงขณิกสมาธิ ก็พยายามให้ได้ถึงอุปจารสมาธิ และจิตใจของเราสงบ เป็นอารมณ์หนึ่งอารมณ์เดียว เราก็พยายามรักษาจิตใจของเราให้สงบเป็นสมาธิอยู่บ่อยๆ เพื่อให้จิตใจของเราสงบเป็นสมาธิอยู่ทุกเวลา เมื่อจิตใจสงบหนักแน่นมั่นคงดีแล้ว เราก็ไม่ละความเพียรของตน ต่อไปเราจึงจะได้พิจารณาธรรมะ ถ้าพิจารณาธรรมะยังไม่เห็นแจ้งชัดในธรรมะนั้น เราก็ทำไปเรื่อยๆ เหมือนกับคนซักผ้าขาวที่เปรอะเปื้อนสกปรก ถ้าผ้ายังไม่สะอาดดี ก็เพียรซักอยู่นั่นแหละ ถูมันอยู่นั่นแหละ เอาน้ำล้างมันอยู่นั่นแหละ พยายามอยู่จนผ้านั้นสะอาดตามความประสงค์ของตน ยกตัวอย่างเช่นคนเราเกิดมาหลายปีแล้ว ยังไม่ได้เข้าวัดชำระกิเลสออกจากจิตใจของตน พากันซักแต่ผ้า เครื่องนุ่งห่ม ล้างแต่มือเจ้าของ แต่ใจไม่ล้างสักที เราก็มาพยายามฝึกฝนอบรมจิตใจของเรา มันเคยมีโลภะมาก เคยโกรธคนนั้นคนนี้ เกลียดคนนั้นคนนี้ เราก็จะมาดูจิตใจของตน เพื่อซักล้าง โลภะ โทสะ โมหะ ออกจากจิตใจให้สะอาดหมดจด คนมีความเพียรอยู่ตลอด เรียกว่าตามความดี ก็ย่อมมีความเจริญเกิดขึ้นแก่ตนเอง

#น้อมถวายอาจาริยบูชา
หลวงปู่เปลี่ยน ปัญญาปทีโป











"ถ้าผู้ใดภาวนามรณกรรมฐานจนเกิดขึ้น จิตใจสงบระงับตั้งมั่น เป็นสมาธิภาวนา ก็ดี หรือมีความสลดสังเวชในมรณภัย คือความตายนี้ จิตใจจะเปลี่ยนแปลงไป ความโกรธ ก็จะเบาบาง เลิกได้ละได้ ความโลภความอยากได้ในใจ ก็จะได้เลิกได้ละได้ ความหลง ในจิต ในใจ ตัวเราก็จะเลิกได้ละได้ เพราะว่ามรณภัย คือความตายนั้น เมื่อมาถึงบุคคลผู้ใด ผู้นั้น จำเป็นต้องตาย"

..... หลวงปู่สิม พุทธาจาโร











" บัดนี้ปีเก่าสิ้นไปแล้ว
ถ้าหากเราทำอะไรไม่ดี
ไม่งามก็ขอให้ลดละปล่อยวาง

ใครพูดจาปราศัยต่อกัน
ไม่ดีไม่งาม จึงมีกรรม
เกิดขึ้น เราควรลดละ
ปล่อยวางไว้ปีเก่าเสีย
สิ่งใดไม่ดีไม่งามที่ทำ
ด้วยกาย ทำด้วยวาจา
ทำด้วยใจ ก็ลดละ
ปล่อยวางไปในปีเก่า
เสีย ให้แล้วๆไป

ที่มีเรื่องราวอะไรใน
ปีเก่าไม่ดีต่อกัน ก็ขอ
ขมาโทษต่อกัน ลดละ
ความชั่วทั้งหลายทั้งกาย
วาจา ใจ ของตนเอง

ใจของเราต้องการ
ความสุข ทุกคนที่นี้
ไม่อยากทุกข์ก็อยาก
มีความสุข ถ้าอยากมี
ความสุขก็ตั้งใจสร้างสม
อบรมคุณงามความดี
เนื่องในวาระดิถีปีใหม่
ที่จะมาถึงนี้ ตั้งใจไว้
อธิษฐานเอาไว้
ไว้ในใจของตนเอง

สร้างสมอบรมคุณงาม
ความดีในการพูดจา
ปราศัยพูดคุยกันต่อกัน
สามัคคีปรองดองกัน
มีเมตตาต่อกัน ด้วยกาย
วาจาใจ ใจนี้อยากให้คน
ทุกคนนั้นมีความสุข มี
ความเจริญ มีความสุข
ความสบาย จะเดินจะ
นอนอยู่ที่ไหนก็มีแต่ความสุข

เราต้องการอย่างนั้น เรา
อยู่ร่วมกัน มองหน้ามองตา
กันแล้วยิ้มแย้มแจ่มใส
แช่มชื่นเบิกบาน พูดจา
ปราศัยไม่ส่งเสียงทะเลาะ
วิวาทกัน ไม่ด่าไม่ว่า
เกิดความทุกข์ขึ้นจาก
วาจาของตน

อยู่บ้านใดเมืองใด
ประเทศไหนก็ต้องการ
คนดีทั้งนั้น เมืองเราก็
ต้องการคนดีอยู่ด้วย
ความสงบ ถ้าบ้านเมือง
ของเราอยู่สงบอย่างนี้
ไม่มีเรื่องราวอะไรเกิดขึ้น
บ้านเมืองก็จะอยู่กัน
อย่างมีความสุขความสงบ

เหตุฉะนั้นถ้าทุกคนมี
ความปรารถนาสิ่งใด
ไว้ในใจก็ดี อาตมาก็ขอ
อำนวยอวยพรให้ใน
วาระดิถีปีเก่าสิ้นไป
จนถึงปีใหม่

มีเหตุประสงค์จำนงใด
ไว้ในใจก็ขอให้สำเร็จ
ตามมุ่งมั่นปรารถนา
ด้วยกันทุกท่าน ทุกคนเทอญ "

โอวาทธรรม
หลวงพ่อเปลี่ยน ปัญญาปทีโป












กุสโลบาย4 อย่าง—
ของพระอาจารย์จวน (ภูทอก)
-1
ให้ทำความดี และทำใจให้สบาย
-2
ทำบุญ อย่ารอโอกาส ให้รีบทำ
เพราะไม่รู้จะตายเวลาไหน
-3
อย่าจะ
-4
อย่าเดี๋ยว


โอวาทของพระอาจารย์จวน










หลวงพ่อขออำนวยอวยพรปีใหม่
ให้กับพี่น้องประชาชนทุกคน
พวกเราต้องการความสุขอย่างไร
ทุกวิญญาณทั่วไตรโลกธาตุ ก็ขอให้มีความสุข
อย่างพวกเราต้องการ อย่างพวกเราท่านทั้งหลายปรารถนา
เพราะฉะนั้นพวกเราต้องมีเมตตาต่อกันเป็นอันดับแรก
ขอให้พวกเราทุกๆท่านให้ตั้งใจ คิดดี ทำดี พูดดี
จากนั้นขอให้ยึดพระไตรสรณคมน์
ยึดพระพุทธเจ้า พระธรรม พระสงฆ์
เป็นสรณะ เป็นที่พึ่ง เป็นตัวอย่าง
ให้มีทาน คือ มีการเสียสละ
การเสียสละมี อามิสทาน อย่างเช่นพวกเรา
ท่านทั้งหลาย ทำบุญตักบาตรอย่างนี้ละ
จากนั้นก็ วิทยาทาน คือการให้ความรู้ แก่คนทั้งหลาย
ให้ไปในทางที่ถูกต้อง หรือเป็นสัมมาทิฐิ
และธรรมทาน คือการชี้นำชี้แนะ
ไปในทางธรรมะ เรียกว่าธรรมทาน
อภัยทาน เรายินดีให้อภัยทานแก่ทุกคน
ถ้าไม่เหลือบ่ากว่าแรงจริงๆ
ถ้าเรามีทานอยู่อย่างนี้ อยู่ในใจของเรา
ความร่มเย็นเป็นสุขก็จะเกิดขึ้น
ในตัวของเราและผู้เกี่ยวข้อง นี้ล่ะพรปีใหม่ ทาน และ ศีล
ศีล ก็คือ ศีล ๕ สำหรับพวกเราท่านทั้งหลาย
ขอให้มีศีล ๕ เถอะ เป็นเครื่องบ่งบอกมนุษย์ที่สมบูรณ์
เป็นคนดี พูดง่ายๆ จากนั้นก็เรื่องทางด้านจิตใจ
เราให้ยึดแนวแถว หลวงปู่มั่น ท่านให้ภาวนา พุท-โธ
พวกเราได้นั่งภาวนาจิตใจสงบแล้ว
พวกเราจะมีความสุข มีเหตุมีผล ในนั้นเสร็จ
ควรปฏิบัติตนให้ถูกต้อง ต่อทิศทั้ง ๖
ทิศเบื้องหน้า คือ มารดาบิดา เมื่อท่านเลี้ยงดูเรามาแล้ว
เลี้ยงท่านตอบ ทำกิจธุระของท่าน ดำรงวงศ์สกุล
ประพฤติตนให้สมควร ควรรับทรัพย์มรดก
เมื่อท่านล่วงลับไปแล้ว ทำบุญอุทิศส่วนกุศลให้ท่าน
นี้คือทิศเบื้องหน้า
ทิศเบื้องหลัง สามี-ภรรยา ให้เคารพรัก เมตตา ซึ่งกันและกัน
ทิศเบื้องขวา ครูบาอาจารย์ ให้นอบน้อมศึกษากับครูบาอาจารย์
ทิศเบื้องซ้าย มิตรสหาย ให้รัก เมตตา
อย่าไปคดไปโกง อย่าไปทำร้ายทำลายมิตร
ทิศเบื้องต่ำ ลูกน้องบริวาร เราต้องดูต้องเมตตา
ทิศเบื้องบน สมณพราหมณ์ เราต้องให้ความเคารพ
ให้ปฏิบัติต่อสิ่งแวดล้อมให้ถูกต้อง
พวกเราจะมีแต่ความเจริญโดยส่วนเดียว
หลวงพ่อนำธรรมคำสอนของพระพุทธเจ้า
มาประสิทธิ์ประสาทพรให้แก่พวกเราท่านทั้งหลาย
เป็นกระจกเงา หรือ แนวทางเดินของชีวิต
ขออำนวยอวยพรให้แก่พวกเราท่านทั้งหลาย
เมื่อปฏิบัติถูกตามแนวแถวนี้แล้ว
หลวงพ่อมั่นใจว่า พวกเราจะมีแต่ความสุขความเจริญ
ทั้งทางโลกและทางธรรม พวกเราปรารถนาสิ่งใด
อยู่ในกรอบของศีลธรรม สิ่งนั้นจงประสิทธิ์ประสาทให้แก่พวกเรา
ประสบแต่ความสุขความเจริญ ได้ดวงตาเห็นธรรมในที่สุด
อันนี้ล่ะคือพรปีใหม่

โดย หลวงพ่ออินทร์ถวาย สันตุสสโก
พระธรรมเทศนา “พรปีใหม่”
แสดงธรรมเมื่อ เช้า วันจันทร์ที่ ๓๑ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๕๕









วันนี้ วันปีใหม่ อาตมาจะขออวยพรให้ทุกๆ คนได้รับปีใหม่ ด้วยสติ ด้วยปัญญา ด้วยความตั้งอกตั้งใจที่จะชนะสิ่งที่ไม่ดีในตัวเอง แล้วที่จะเจริญยิ่งๆ ขึ้นไป

คนเราทุกคนก็ต้องมีผิดพลาดบ้าง เราไม่ได้หวังจะไม่ผิดพลาดซะเลย แต่ว่าชาวพุทธเรา นักปฏิบัติธรรม เราจะเป็นผู้ไม่ท้อแท้ต่ออุปสรรค ไม่ให้ความผิดพลาดและข้อบกพร่องเป็นตัวกำหนดชีวิต ไม่ใช่ชีวิตเคยเป็นอย่างใดอย่างหนึ่งจะต้องเป็นอย่างนั้นตลอดไป

พระพุทธองค์ก็เคยตรัสไว้ว่า ผู้ที่เคยประมาทในกาลก่อนกลับตัวเป็นคนดี งามมาก เหมือนพระจันทร์เต็มดวงพ้นจากเมฆฉันนั้น เพราะฉะนั้นคนเราทุกคนก็มีอาจจะมีบางสิ่งบางอย่างนี่ไม่สู้จะดี ก็ไม่เป็นไร แต่อย่าไปยินดีกับมัน อย่าไปทำต่อ ให้หยุดซะ สิ่งที่ดีให้ชื่นชมให้อนุโมทนาในสิ่งที่ดีของตัวเองแล้วก็ทำให้มันดียิ่งๆ ขึ้นไป

จริงๆ ปีใหม่ปีเก่านี่ก็คนเดียวกันนั่นแหละ กายเดียวกัน จิตเดียวกัน แต่ก็เป็นโอกาสเป็นกุศโลบายที่เราจะตั้งต้นใหม่ แล้วถ้าเราตั้งเป้าหมายชีวิตไว้ในลักษณะที่ไม่สูงจนเกินไป ไม่ยากจนเกินไป แล้วลักษณะที่เราสามารถประเมินผลได้เป็นระยะๆ แล้วถ้าทำไม่ได้ก็ไม่เป็นไร ต้องเป็นตุ๊กตาล้มลุก ล้มแล้วก็ลุก ล้มแล้วก็ลุก ล้มแล้วก็ลุก ล้มแล้วก็ลุก ไม่เป็นไร เราทุกคนเนี่ยล้มแล้วมีสิทธิ์ที่จะลุกได้ ลุกแล้วเดิน ก้าวเดินไป ไปสู่ความสุขความเจริญ จึงขอให้ทุกคนได้สัมผัสความสุขความเจริญในสิ่งดีงาม มีความสุขทั้งทางโลกและทางธรรมตลอดกาลนาน

พระอาจารย์ชยสาโร







วันนี้ วันปีใหม่ อาตมาจะขออวยพรให้ทุกๆ คนได้รับปีใหม่ ด้วยสติ ด้วยปัญญา ด้วยความตั้งอกตั้งใจที่จะชนะสิ่งที่ไม่ดีในตัวเอง แล้วที่จะเจริญยิ่งๆ ขึ้นไป

คนเราทุกคนก็ต้องมีผิดพลาดบ้าง เราไม่ได้หวังจะไม่ผิดพลาดซะเลย แต่ว่าชาวพุทธเรา นักปฏิบัติธรรม เราจะเป็นผู้ไม่ท้อแท้ต่ออุปสรรค ไม่ให้ความผิดพลาดและข้อบกพร่องเป็นตัวกำหนดชีวิต ไม่ใช่ชีวิตเคยเป็นอย่างใดอย่างหนึ่งจะต้องเป็นอย่างนั้นตลอดไป

พระพุทธองค์ก็เคยตรัสไว้ว่า ผู้ที่เคยประมาทในกาลก่อนกลับตัวเป็นคนดี งามมาก เหมือนพระจันทร์เต็มดวงพ้นจากเมฆฉันนั้น เพราะฉะนั้นคนเราทุกคนก็มีอาจจะมีบางสิ่งบางอย่างนี่ไม่สู้จะดี ก็ไม่เป็นไร แต่อย่าไปยินดีกับมัน อย่าไปทำต่อ ให้หยุดซะ สิ่งที่ดีให้ชื่นชมให้อนุโมทนาในสิ่งที่ดีของตัวเองแล้วก็ทำให้มันดียิ่งๆ ขึ้นไป

จริงๆ ปีใหม่ปีเก่านี่ก็คนเดียวกันนั่นแหละ กายเดียวกัน จิตเดียวกัน แต่ก็เป็นโอกาสเป็นกุศโลบายที่เราจะตั้งต้นใหม่ แล้วถ้าเราตั้งเป้าหมายชีวิตไว้ในลักษณะที่ไม่สูงจนเกินไป ไม่ยากจนเกินไป แล้วลักษณะที่เราสามารถประเมินผลได้เป็นระยะๆ แล้วถ้าทำไม่ได้ก็ไม่เป็นไร ต้องเป็นตุ๊กตาล้มลุก ล้มแล้วก็ลุก ล้มแล้วก็ลุก ล้มแล้วก็ลุก ล้มแล้วก็ลุก ไม่เป็นไร เราทุกคนเนี่ยล้มแล้วมีสิทธิ์ที่จะลุกได้ ลุกแล้วเดิน ก้าวเดินไป ไปสู่ความสุขความเจริญ จึงขอให้ทุกคนได้สัมผัสความสุขความเจริญในสิ่งดีงาม มีความสุขทั้งทางโลกและทางธรรมตลอดกาลนาน

พระอาจารย์ชยสาโร













#ตื่นปีใหม่

”...วันนี้ขึ้นปีใหม่แล้ว ก็เลยอยากจะเทศน์ให้ฟังเสียหน่อย ..!! ทุกคนที่เกิดมามันมีการเปลี่ยนแปลงยักย้ายไปตลอดอายุของเรา

ความแก่ของเรานั่นน่ะมันหมดไป ๆ แต่ว่าวัน เดือน ปีนั้นมันของเก่าอยู่ คนยังพากันไปตื่นเงาตนเอง.. เห็นว่าปีเก่าหมดไป ปีใหม่มาเลยตื่นเต้นกัน

อยู่กรุงเทพฯ ก็พากันมาถึงวัดหินหมากเป้งนี่ มาขอพรปีใหม่ มาขอให้มีอายุ วรรณะ สุขะ พละ ขอให้มีอายุยืนนาน

อันความหลงของคน
มันหลงอยู่อย่างนี้แหละ
หลงเงาตนเอง

#ขอให้มีอายุยืนนาน
อายุมันจะยืนอย่างไร มันก็หมดไปทุกที ๆ เหมือนกันกับที่เขาทอหูกทอผ้า ข้างหน้ามันสั้นเข้าทุกที ๆ

บางคนก็จวนจะหมดแล้ว แล้วจะเอาอายุที่ไหนมาต่อให้ มาขอพรจากพระ พระจะเอาอายุที่ไหนมาต่อให้ อายุของพระก็หมดไป ๆ เหมือนกัน ต่างคนต่างหมดไปด้วยกันจะไปให้กันได้อย่างไรล่ะ

#ขอให้มีวรรณะ คือผิวพรรณงาม
ก็อาหารนั่นแหละให้ผิวพรรณ ขออายุกับขอวรรณะก็อันเดียวกัน มันได้จากอาหาร มาขอผิวพรรณผ่องใสบริสุทธิ์จากพระ ครั้นหากว่าพระให้ ทีนี้พระจะไปเอาที่ไหนมาให้ ผิวพรรณวรรณะมันเกิดจากอาหาร

#ขอให้มีความสุข
มันจะสุขที่ไหน มาขอจากพระก็จะได้จากที่ไหนความสุข ความสุขอันที่ขอได้นั่นมันมีอย่างหนึ่ง คืออาหาร นั่นแหละขอความสุขได้ อาหารทำให้มีความสุขสบาย ถ้าอาหารไม่มี อาหารไม่ตกถึงท้องละก็ หมดเหมือนกัน

ความสุข ไม่มีความสุข แต่พระก็ยังขออาหารจากชาวบ้านฉันอยู่ แล้วจะเอาความสุขมาให้ญาติโยมได้อย่างไร

#พระพุทธเจ้าตรัสเทศนาว่า
#ความสุขไม่มีในโลกนี้
#มีแต่ทุกข์เกิดขึ้นแล้วดับไป

ทุกข์อันนี้เกิดขึ้นมาใหม่ แล้วทุกข์อันนั้นดับไป ทุกข์ใหม่เกิดขึ้นมาอีก เมื่อเห็นตามเป็นจริงอย่างนี้แล้วก็หมดเรื่อง ไม่ต้องไปขอความสุขจากใคร

#ขอพละกำลัง ก็อันเดียวกัน ได้อาหารมีรสชาติดี มันก็ได้กำลังวังชา ทำมาหากินเลี้ยงชีพได้

พร ๔ ประการนั้นไม่ทราบจะไปขอจากใคร ตื่นเงาเจ้าของ คือตัวของเราเองนั่นแหละ

มันเปลี่ยนแปลงไปทุกวัน ๆ เข้าใจว่าปีใหม่ เดือนใหม่ จะทำให้มีความสุข มีอายุ วรรณะ สุขะ พละ ๔ประการนั่น

วัน เดือน ปี มันจะเอาอะไรมาให้ ตื่นโดยไม่รู้ด้วยซ้ำ ไม่มีใครให้แต่ว่าพากันตื่นเอา เข้าใจกันว่าเอาพรมาได้จากปีเดือน ปีเดือนมันก็เป็นอยู่อย่างนั้นแต่ไหนแต่ไรมา เราเกิดขึ้นมาก็เห็นว่ามันเป็นของมันอยู่อย่างนั้น

ปีหมดไป เดือนหมดไป มันหมดไปอยู่ที่ไหนก็ไม่ทราบ เราสมมุติว่ามันหมด แต่อันที่จริงมันไม่หมดหรอก มันหมุนเวียนอยู่อย่างนั้นตลอดเวลามา วันหมุนไปหาเดือน เดือนหมุนไปหาปี มันเวียนกันไป

แท้จริงวันมันก็ไม่ได้เรียกตัวมันว่าวันหรอก วันอาทิตย์ วันจันทร์ วันอังคาร วันพุธ วันพฤหัสบดี วันศุกร์ วันเสาร์ มันไม่ได้เรียกของมัน

เดือนก็ไม่เรียกของมันว่าเดือนเมษายน พฤษภาคม มิถุนายน กรกฎาคม ฯลฯ มันไม่ได้เรียกไม่ได้พูด เราไปใส่สมมุติชื่อเอาเฉย ๆ

ปีก็ไม่ได้เรียกตัวมันเองว่า ปีชวด ฉลู เถาะ มะโรง ฯลฯ ไม่ได้พูด คนพูดเรียกเอาสมมุติเอาเองต่างหาก

#ความจริงตัวของเรานี้ต่างหากที่มันหมดไป #ไม่ใช่วันเดือนปีหมดไป ครั้นมองเห็นตัวของเราหมดไปแล้ว ไม่ต้องตื่นเต้นกับของพรรค์นั้น ไม่ต้องตื่นเต้นกับวันใหม่ ปีใหม่ อันนั้นมันหมุนไปตามเรื่องของมัน วันหนึ่ง เดือนหนึ่ง ปีหนึ่ง อันนั้นเป็นสมมุติบัญญัติขึ้นมา

อันที่เราควรจะตื่นเต้นนั่น ควรตื่นเต้นที่ตัวของเราว่าวันหนึ่งๆ เดือนหนึ่ง ปีหนึ่ง เราเจริญขึ้น หรือว่าเราเสื่อมลงอันนั้นต่างหาก

เราเห็นความเสื่อมความเจริญของเรา แท้จริงร่างกายของเรามันเจริญขึ้นไม่มีหรอก มีแต่เสื่อมลง มันเกิดขึ้นมาแล้วก็เสื่อมลงทุกทีๆ มันเสื่อมตั้งแต่อยู่ในครรภ์ของมารดาโน่น มันแก่คือความเสื่อม ถ้าหากมันไม่แก่ มันก็ไม่คลอดออกมา คลอดออกมาแล้วก็แก่วัน แก่เดือน แก่ปี โดยลำดับ จนกระทั่งแก่เฒ่าชรา แล้วผลที่สุดก็มรณะคือตาย อันนี้เป็นความแก่ของร่างกาย

ความแก่ของจิตใจคราวนี้ ร่างกายนี้เราอาศัยมันอยู่เฉยๆ เท่านั้น มันไม่ใช่เรา ควรมองดูจิตใจของเรา ทำใจของเรา ให้มันแก่ขึ้น

#ทำใจให้แก่คืออย่างไร? คือทำใจของเราให้แก่กล้าด้วยคุณธรรม อันนั้นเป็นของเราอย่างแท้จริง วันหนึ่งๆ เราคิดถึงการทำทานหรือไม่? เราคิดถึงการทำทานกี่ครั้ง เราคิดถึงการรักษาศีลหรือไม่? และเราคิดถึงการทำสมาธิเพื่อฝึกหัดทำใจให้สงบ ทำใจให้เบิกบานหรือไม่? คุณธรรมเหล่านี้แหละที่ควรทำให้มันแก่ขึ้นในใจของเรา..”

หลวงปู่เทสก์ เทสรังสี










"ดวงชะตาราศี ก็คือดวงของกรรม "
.
คนที่เชื่อกรรมก็ทำตัวให้ถูกต้องดีงามอยู่โดยสม่ำเสมอ จัดว่าเป็นผู้ที่มีดวงดี ดีอยู่ตลอดเวลา

ไม่ว่าระยะนั้นดวงมันขึ้นมันลง เราพาขึ้นดวงก็ขึ้น เราพาลงดวงก็ลง เพราะดวงมันอยู่กับเรา

เราพาดีมันก็ดี พาชั่วมันก็ชั่ว ดูไม่ดูมันก็ดีกับชั่วของมันอยู่นั้นแล เราหากไปดูเวลานั้นมันดียังงั้น มันชั่วยังงี้นะ

ความจริงมันก็ดีกับชั่วเป็นประจำอยู่แล้ว จากการกระทำดีและชั่วของเรา จากตัวของเรา ซึ่งเป็นตัวดวงหรือเป็นตัวลายของลายมือ ดูตรงนี้เป็นเหมาะที่สุดสำหรับชาวพุทธเรา

.
หลวงตาพระมหาบัว ญาณสัมปันโน
เทศน์อบรมฆราวาส ณ วัดป่าบ้านตาด
เมื่อวันที่ ๙ ธันวาคม พุทธศักราช ๒๕๑๙
"ศาสนธรรมคู่เคียงใจ"








#พรที่ปรารถนาจะให้ในวันมงคลขึ้นปีใหม่นี่คือ ขอให้พากันไม่ลืมนึกถึงความจริงที่สำคัญประการหนึ่งไว้ให้เสมอว่า..

“วันเวลากำลังเคลื่อนไปพร้อมกับวัยของเราทุกคน และจะไม่มีการถอยหลังย้อนกลับมาได้อีกเลย อะไรที่ดีงามให้รีบทำเสีย อย่าผัดวันประกันพรุ่ง เมื่อโอกาสที่ทำได้ผ่านพ้นไป จะไม่มีโอกาสเช่นนั้นอีก”
.
สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก












เช้า ...

“ ปีใหม่ของสูเจ้า
กินให้พอดี
จ่ายให้พอดี
สันตุฎฐี อัปปิจฉตา
รู้จักเก็บ เอาไว้เลี้ยงชีวิต
เอาไว้ทำบุญให้ทาน
อย่ามัวเมาแต่ว่าปีใหม่
เฉลิมฉลองกัน
เอาความสนุกสนาน
มันไม่ได้ประโยชน์อะไร ”

“ การไหว้พระสวดมนต์เช้าเย็น
การบำรุงพ่อแม่ ทำบุญให้ทาน
การเข้าวัดเข้าวา
หาพระหาเจ้าของธรรม
การรักษาศีล การรักษาจิต
ของตนให้สะอาดบริสุทธิ์อยู่เสมอ

อันนี้หล่ะเป็นพรปีใหม่
หากสูเจ้าทำได้
ย่อมได้รับแต่ความสุขกายสุขใจ
ย่อมไปสวรรค์ได้
เพราะหนทางข้างหน้า
เป็นหนทางของตนเอง ”

บ่าย

“ ให้รู้จักความสงบ
ของกาย ของวาจา ของใจ
ตลอดจนวัตถุเครื่องเลี้ยงชีพใด ๆ
อย่าให้เป็นโทษ
อย่าให้เป็นโทษก็จะสงบระงับได้

อันนี้ล่ะ ใจตัวก็ไม่รู้
กายวาจาวัตถุเป็นบาปก็ไม่รู้
ไม่รู้ก็เป็นทุกข์
รู้แล้วหาทางออกมิได้ก็เป็นทุกข์

ทุกข์แล้วก็หาสุขมิได้
ปีใหม่ปีเก่าก็ทุกข์เพราะไม่สงบ
ไม่สะอาด ไม่บริสุทธิ์ ”

หลวงปู่จาม มหาปุญโญ









การเตรียมตัวตายที่เหมาะสม..
คือ การฝึกจิตให้มีสติทุกวินาที

หลวงพ่อจรัญ ฐิตธัมโม










ละชั่วทำดีเป็นพรทั้งปีใหม่ปีเก่า

นี่ได้เตือนพี่น้องทั้งหลายว่าปีใหม่ปีเก่า ให้เข้าใจปีใหม่ปีเก่านะ ขึ้นปีใหม่ๆ ให้วิ่งหาแต่มืดกับแจ้งปีใหม่ปีเก่านะ อย่าดูเจ้าของ ปีใหม่ปีเก่า พรปีใหม่ก็คือพรเพื่อเจ้าของเอง มืดแจ้งไม่มีปัญหาอะไร
ปัญหาอันใหญ่หลวงอยู่กับตัวของเราเอง

ปีใหม่ให้ตั้งเนื้อตั้งตัวให้ดี พยายามปฏิบัติดีปฏิบัติชอบ แล้วสิริมงคลจะขึ้นกับตัวของเราในท่ามกลางปีใหม่ปีเก่านี้แหละ ไปตื่นตั้งแต่ปีใหม่ ไม่สนใจดูเจ้าของไม่ได้นะ ธรรมท่านไม่ได้สอนแบบกิเลสหลอกคน เป็นบ้ากันกับปีใหม่ปีเก่า มืดกับแจ้งมันมีปัญหาอะไร มันเป็นปัญหาอยู่กับตัวของเราเองนี่น่ะ

ให้แก้ตัวของเราที่เป็นปัญหาใหญ่นี่ซิ อะไรไม่ดีปีนี้ให้พยายามถ่ายทอดมันออกไป พยายามเสาะแสวงหาความดีเข้ามาสู่ตนเอง นี่เรียกว่าพรปีใหม่ พรเราหาเองนะ ไม่ใช่มืดแจ้งมาหาให้เรา พรที่ดีก็เป็นของเรา สิ่งที่ชั่วก็เป็นของเราถ้าเราทำ ให้พากันรู้เนื้อรู้ตัว

พรปีใหม่ปีเก่ามีแต่มืดกับแจ้ง ตัวของเราเองนี่ตัวรับเคราะห์รับกรรม ถ้าทำไม่ดี ให้พยายามปฏิบัติตัวให้ดี จะเรียกว่าพรปีใหม่อยู่กับตัวของเราทุกคนๆ ธรรมท่านสอนอย่างนี้

หลวงตาพระมหาบัว ญาณสัมปันโน​ เทศน์อบรมฆราวาส ณ ศาลาสวนแสงธรรม กรุงเทพฯ
เมื่อเช้าวันที่ ๒๕ ธันวาคม พุทธศักราช ๒๕๔๘












หลวงปู่บุญมา คัมภีรธัมโม สอนกรรมฐาน

“...เรื่องการกระทำบำเพ็ญ เราก็คงจะพอเข้าใจกันบ้างแล้ว มีแต่พวกเราจะทำให้มันมาก เจริญให้มันยิ่งขึ้นไป ให้มันได้รับผลของการปฏิบัติ การปฏิบัตินี่ส่วนมากจิตใจของพวกเรา หรือว่าจิตใจของครูบาอาจารย์ก็เหมือนกัน ที่ท่านได้ปฏิบัติมาก่อนพวกเรา มันก็เป็นของทำได้ยากอยู่เหมือนกัน เพราะอะไร เพราะมันต้องได้ฝืนธรรมดา ฝืนธรรมชาติ ธรรมชาติจิตใจมันชอบจะไหลลงไปทางต่ำเสมอ เพราะฉะนั้นเราจะต้องฝ่าฝืน

ทีนี้ข้อวัตรปฏิบัติที่เราได้ศึกษาจากครูบาอาจารย์ เราก็ต้องปฏิบัติตามนั้น ไม่ใช่ว่าอาจารย์รูปนี้สอนอย่างนี้ อาจารย์รูปใหม่สอนอีกอย่าง เราก็เปลี่ยนไปอีก มันก็ไม่ถูกเหมือนกัน ต้องจับให้มันมั่น ทำอะไรทำให้มันจริงมันจัง เมื่อเราทำจริง ปฏิบัติจริง มันก็จะได้เห็นของจริง มันก็รู้ของจริง ถ้าเราทำไม่จริง มันก็เห็นไม่จริง มันก็ไม่รู้จริง

เมื่อเราปฏิบัติได้แล้ว ทีนี้มันเป็นของใคร มันก็เป็นของเรา เป็นที่พึ่งของเราโดยตรง และเป็นที่พึ่งอันเกษมสูงสุด คือพึ่งตัวเรา ตัวของเราผู้ซึ่งเป็นคนปฏิบัติ เมื่อปฏิบัติไป บางคนจิตใจคงเคยได้รับความสงบเข้าไปบ้าง แต่บางคนก็อาจจะยังไม่เคยสงบ ยังไม่เคยได้รับผล แต่อย่าไปสงสัย อย่าไปน้อยใจว่าเราปฏิบัติไปจะไม่ได้รับผล ต้องได้รับผลแน่นอนตามเหตุ ตามปัจจัย ทำน้อยได้รับผลน้อย ทำมากได้รับผลมาก จนกว่ามันจะรู้จะเห็นเป็นไปของเรา ความเป็นไป ความได้มันอยู่ตรงไหน มันอยู่ในจิต คือ ตัวสติ ตัวรู้ คือความรู้นี่ฟื้นฟูดวงรู้นี่ขึ้นมา ดวงรู้นี่คือดวงใจของเรามีทุกคน แต่ว่ามันรู้อยู่แต่มันไม่เต็มภูมิ เปรียบประมาประมัยเหมือนกับพระจันทร์ข้างขึ้น-ข้างแรม ที่มันยังเว้ายังแหว่งอยู่ มันไม่เต็มภูมิ

เพราะฉะนั้นเราจึงต้องมาศึกษาปฏิบัติ มารักษาตัวสติให้มันติดต่อ ให้มันต่อเนื่องกัน บำรุงตัวสติให้มันเด่นดวงขึ้นมา คือ ตัวรู้ เมื่อเรามีสติสัมปชัญญะ ความรู้ตัว ปัญญามันก็จะตามมา เพราะปัญญากับสติมันอยู่ด้วยกัน มีสติรู้อยู่กับอารมณ์กรรมฐานที่เราปฏิบัติอยู่ บางคนก็กำหนดลมหายใจ หรือกำหนดคำบริกรรม หรือกำหนดที่ใดที่หนึ่ง เมื่อเรากำหนดอยู่ที่จุดใด ก็กำหนดให้มันอยู่ที่จุดนั้น เมื่อเวลาจิตมันแว่บไปก็ให้มันรู้ มันอยู่ก็ให้มันรู้ หรือมันฟุ้งซ่านก็ให้มันรู้ ให้ฝึกตัวรู้นี่ก่อน เหมือนกับเด็กที่เพิ่งเกิดใหม่ เมื่อมันเกิดมาใหม่ ก็ต้องฝึกนั่ง แล้วก็มาฝึกยืน เมื่อยืนมั่นคงแข็งแรงแล้วค่อยก้าวออกไป ถ้ามันไม่แข็งแรงก้าวออกไปมันก็จะล้ม

ต้องฝึกอบรมตัวสติ ฝึกไป ฝึกไป ทำไป ทำไป เว้นไว้แต่หลับ เมื่อนานๆ ไป เมื่อจิตมันอยู่เป็นสมาธิ เราบริกรรมพุทโธ พุทโธไป บริกรรมไป บริกรรมไป จนจิตมันวางคำบริกรรม มันจะวางพุทโธ เมื่อมันวางพุทโธแล้วจิตมันจะนิ่ง เมื่อมันนิ่งเข้าไปแล้ว ทีนี้มันจะเหลือแต่ดวงรู้อย่างเดียว เมื่อมันเหลือแต่ดวงรู้อย่างเดียว เราก็กำหนดรู้อยู่นั่นแหละ ประคับประคองดวงรู้ให้มันเด่นดวงอยู่นั่นแหละ ถ้าอยู่ได้นานก็ยิ่งดีเมื่อฝึกครั้งแรก

จับหลักสมาธิตัวนี้ให้มันมั่นคงก่อน เมื่อสมาธิตัวนี้มันมั่นคงแล้ว ทีนี้อันดับต่อไปเราจะได้ค้นคว้าพิจารณาร่างกายนี่แหละ ถ้าสมาธิดีแล้ว ดูกายแยกออกไปว่า ในร่างกายนี้มีอะไรบ้าง ร่างกายนี้มีรูป รูปคือขันธ์ มีเวทนา มีสัญญา มีสังขาร มีวิญญาณ นี่ท่านเรียกว่าขันธ์ ๕...ขันธ์ แปลว่าผูก แปลว่ามัด แปลว่าถ่วง แปลว่าดึง แปลว่าทับ มันจึงหนัก มาพิจารณาแยกแยะออกจากรูปอันนี้ ร่างกายนี้มีอะไรบ้างอยู่ในรูปนี้ มันมีธาตุทั้ง ๔ มีดิน มีน้ำ มีไฟ มีลม ประชุมกันอยู่นี่ ธาตุดิน มีขน ผม เล็บ ฟัน หนัง เนื้อ เอ็น กระดูก เยื่อในกระดูก ตับ ปอด หัวใจ ไส้น้อย ไส้ใหญ่ อาหารใหม่ อาหารเก่า เป็นต้น ธาตุเหล่านี้คือธาตุดิน...ธาตุน้ำ มีน้ำดี น้ำเสลด น้ำเหลือง น้ำเลือด น้ำเหงื่อ น้ำมันข้น น้ำมันเหลว น้ำลาย น้ำมูก น้ำไขข้อ น้ำมูตร นี่เป็นธาตุน้ำ...ธาตุไฟ ไฟยังกายให้อบอุ่น ไฟยังกายให้ทรุดโทรม ไฟยังกายให้กระวนกระวาน ไฟเผาอาหารให้ย่อย...ธาตุลม ลมพัดขึ้นเบื้องบน ลมพัดลงเบื้องล่าง ลมในท้อง ลมในไส้ ลมพัดไปตามตัว ลมหายใจเข้า ลมหายใจออก รวมทั้ง ๔ ธาตุที่มาประชุมกันเป็นก้อนสกนธ์กายขึ้นมา เรียกว่าสัตว์ เรียกว่าบุคคล เมื่อมันแตกออกจากกันแล้ว ดินไปสู่ดิน น้ำลงไปสู่น้ำ ไฟไปสู่ไฟ ลมไปสู่ลม เมื่อมันแตกออกจากกันแล้วก็ไม่มีตัวไม่มีตน ไม่มีรูปร่าง มีแต่ดวงรู้ ทีนี้ร่างกายมันแตกเป็น มันแปรปรวนเป็น ร่างกายนี่มันเป็นอนิจจัง มันเป็นทุกขัง มันเป็นอนัตตา มันแปรปรวน เปลี่ยแปลง มันไม่เที่ยง

สิ่งใดไม่เที่ยง สิ่งนั้นเป็นทุกข์ และสิ่งใดเป็นทุกข์ ตรงนี้จำเอาไว้ให้ดีว่า "สิ่งใดไม่เที่ยง สิ่งนั้นเป็นทุกข์ สิ่งใดเป็นทุกข์ สิ่งนั้นไม่ใช่ตน" ถ้ามีแต่ตนของตนล้วนๆ อยู่แล้ว มันไม่มีอะไรอยู่ในนั้น มันไม่มีสุข มันไม่มีทุกข์ มันไม่มีร้อน มันไม่มีหนาว มันไม่มีมืด มันไม่มีสว่าง ถ้าเข้าไปถึงดวงใจจริงๆ นั่นล่ะ มันเป็นอย่างนี้ แต่นี่เรามันหลง หลงมายึดกาย กายนี่มันเป็นเหตุเป็นปัจจัยให้เกิดสุข พาให้เกิดทุกข์ พาให้ร้อน พาให้หนาว พาให้เย็น พาให้วุ่นวาย พาให้เจ็บนั่นเจ็บนี่ ปวดนั่นปวดนี่ เพราะกายนี่ ถ้ามีแต่จิตล้วนๆ มันไม่มีอะไรอยู่ในนั้น ทีนี้จิตเรามายึดกาย ตรงนี้แหละทำให้เกิดทุกข์ เกิดเวทนา เวทนา ก็มีสุข มีทุกข์ มีเฉยๆ ทำให้เกิดราคะตัณหา เกิดโทสะ เกิดโมหะ เกิดอวิชชาตัณหา เกิดความโกรธ ความโลภ ความหลง โกรธเพราะมันมีกาย ถ้าไม่มีกายมันก็จะไม่มีอะไร

เพราะฉะนั้นท่านถึงให้มาปฏิบัติค้นคว้า มาดูกาย แยกแยะถอนจิตออกจากกาย ทำลายกายออกจากจิต แยกเป็นส่วนๆ อย่างอาการ ๓๒ แยกเอาผมมากองไว้ที่หนึ่ง เอาขนมากองไว้ที่หนึ่ง เอาเล็บมากองไว้ที่หนึ่ง เอาฟันมากองไว้ที่หนึ่ง เอาหนังมากองไว้ที่หนึ่ง เอาเนื้อมากองไว้ที่หนึ่ง เอากระดูกมากองไว้ที่หนึ่ง เอาตับมากองไว้ที่หนึ่ง เอาไตมากองไว้ที่หนึ่ง เอาม้ามมากองไว้ที่หนึ่ง เอาเอ็นมากองไว้ที่หนึ่ง เอาตับไตไส้พุงเอาไปแยกเป็นกองๆ ไว้ อาการ ๓๒ นี้ ทั้งน้ำ น้ำดีก็ไปกองไว้ที่หนึ่ง น้ำเสลดก็ไปกองไว้ที่หนึ่ง น้ำเหลืองก็ไปกองไว้ที่หนึ่ง น้ำหนองก็ไปกองไว้ที่หนึ่ง น้ำเลือดก็ไปกองไว้ที่หนึ่ง กองให้มันเรี่ยรายออกไป แล้วเราก็ดูกำหนดไปแต่ละอย่างๆ พอกระจายออกไปแล้วทีนี้ก็เอารวมเข้ามาอีก แล้วก็แยกกระจายออกไปอีก เล่นอยู่อย่างนั้นแหละ ให้มันชำนิชำนาญ

เมื่อจิตมันทำได้อยู่อย่างนี้ ก็แปลว่า จิตของเราก็เป็นสมาธิอยู่โดยปริยาย พิจารณาอยู่อย่างนี้มันก็เป็นสมาธิอยู่กับการที่เราพิจารณานี้ นี่ท่านเรียกว่า ใช้ปัญญาพิจารณา เมื่อเราพิจารณาดูกายของเราได้ชัดเจนแล้ว ทีนี้ของภายนอกก็อย่างเดียวกัน สัตว์ก็อย่างเดียวกัน ต้นไม้ก็อย่างเดียวกัน ภูเขาก็อย่างเดียวกัน เพราะมันเป็นวัตถุอย่างเดียวกัน มีเกิดขึ้นในเบื้องต้น มีแปรปรวนในท่ามกลาง และมีแตกสลายในที่สุด มันเป็นอยู่อย่างนั้น ให้ยกขึ้นมาพิจารณาให้จิตมันรู้ ให้มันเห็น ให้จิตมันถอนออก ไม่ให้จิตมันหลง หลงรัก หลงชัง ไม่ให้จิตมันหลงยึดมั่นถือมั่นในกายนี้ แยกแยะดูกาย วันนี้ก็ดู วันหน้าก็ดู ดูมันอยู่นั่นแหละ จนให้จิตมันถอนออกหรือคลายออก อันนั้นมันจะเป็นไปของมันเอง เมื่อมันรู้แล้วมันจะวางของมันเอง วางตรงไหน รู้ตรงไหน เห็นว่าไม่ใช่เรา เห็นว่าไม่ใช่ตน เห็นว่ามันเป็นดิน เห็นว่ามันเป็นน้ำ เห็นว่ามันเป็นไฟ เห็นว่ามันเป็นลม เห็นมันเป็นอาการ ๓๒ อยู่เฉยๆ มันไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ดูมันอยู่นั่นแหละ ให้มันชำนิชำนาญ ให้มันเร็วขึ้น พอเห็นรูปปั๊บ ถ้ามันเห็นเกิดความสวยงามขึ้นมา เราก็กำหนดเข้ามา เข้ามาดูกายของเรา เมื่อดูกายของเรามันเห็นอย่างเดิม ที่เราได้พิจารณาค้นคว้าอยู่แล้ว มันก็จะหายจากความกำหนัดยินดีในรูป

ดูภายนอกและก็ดูภายใน ภายนอกก็คือ คนอื่น สัตว์อื่น ต้นไม้ เถาวัลย์ ภายในก็คือ ร่างกายของเรา มันก็อย่างเดียวกัน ถ้ามันแจ้งภายใน มันก็แจ้งภายนอก เพราะฉะนั้นท่านถึงให้มาปฏิบัติให้รู้แจ้งโลก โลกนอกก็คือ คนอื่น สัตว์อื่น ต้นไม้ ภูเขา เถาวัลย์ โลกในก็คือ ร่างกายของเราและจิตใจของเรา ถ้าจิตใจของเรายังยึดมั่นถือมั่นร่างกายนี่อยู่ว่าเป็นตัวเป็นตนอยู่มันก็ยังเป็นโลกอยู่ มันยังไม่เป็นธรรม ถ้ามันถอนออกมาว่า จิตเป็นจิต กายเป็นกาย มันก็จะถอนออกมาจากโลก มันถึงจะเป็นธรรมตรงนี้ ตรงที่มันถอนออกมา ธรรมคือตัวรู้ ตัวรู้คือดวงใจของเรา พอมันแยกออกมาเป็นตนของตนแล้ว ศีลก็อยู่ที่นี่ อันเดียวกันนี่ที่ดวงใจของเรานี่ ดวงใจคือดวงรู้ของเรานี่ สมาธิก็คือดวงรู้ ปัญญาก็คือดวงรู้ นิโรธะ คือ ความดับทุกข์ มรรค คือ ข้อปฏิบัติให้ถึงความดับทุกข์

ศีล-สมาธิ-ปัญญา ก็คืออันเดียวกันอันเดิมนี่ล่ะ สรุปแล้วมารวมอยู่จุดเดียวคือ "ดวงใจ" อะไรๆ อยู่ที่นี่ เกิดขึ้นที่นี่ ดับลงที่นี่ รักก็เกิดที่นี่ ชังก็เกิดที่นี่ โกรธก็เกิดที่นี่ โลภก็เกิดที่นี่ หลงก็อยู่ที่นี่ มันรวมอยู่ที่จิต ถ้าจิตเรารู้เแล้วก็พยายามบำรุงตัวรู้ ตัวสติให้มันเด่นขึ้นมา เมื่อตัวรู้ ตัวสติมันเด่นขึ้นมา ความไม่รู้-ความหลงคืออะไร ความไม่รู้-ความหลงก็คือตัวอวิชชา ตัวอวิชชาคือความไม่รู้ ความไม่รู้นี่แหละมันพาให้เราเกิด มันพาให้เราแก่ มันพาให้เราเจ็บ มันพาให้เราตายอยู่ในโลกนี้...ท่านจึงว่า "อวิชชา ปัจจยาสังขารา" เมื่อมันมีอวิชชาคือความไม่รู้นี่มันพาให้เกิดเป็นสังขาราขึ้นมา ถ้ามันรู้แล้วมันจะมีอะไรพาให้เกิดขึ้นมา เมื่อมันรู้แล้วมันไม่หลงแล้ว ความหลงก็คือความมืด ถ้าความมืดความหลงมันตกไปหมดของเราแล้ว มันก็ไม่กลับมามืดไม่กลับมาหลงอีก มันก็จบแล้วที่นี่จะให้มันเป็นอะไรอีก

กายเป็นกาย จิตเป็นจิต ขันธ์เป็นขันธ์ รูปเป็นรูป เวทนาก็เป็นเวทนา สัญญาเป็นสัญญา สังขารเป็นสังขาร วิญญาณก็เป็นวิญญาณ จิตก็เป็นจิต ไม่ได้เป็นอะไรมันก็จบ

วาสนาคือการกระทำ มันไม่มีทำให้มันมีได้ มันมีน้อยทำให้มันมีมากได้ ทำไป ทำไป มันก็เต็มของมันเอง เหมือนกับเราทานอาหาร ทานเข้าไป ทานเข้าไป เมื่อมันอิ่มแล้ว มันก็หยุดของมันเอง

ของดีวิเศษที่สุดในโลก ก็คือจิตใจของเรา จิตใจของเราแต่ละรายๆ มันไม่ได้อยู่ที่อื่นนะ ของดีของวิเศษนี่มันอยู่ที่ดวงใจของเรา อย่าดูถูกดูหมิ่นตัวเองว่า บุญน้อย วาสนาน้อย ไม่ใช่ฐานะ ไม่ใช่วาสนาของเราที่จะมาปฏิบัติ โยนให้พระอริยเจ้า พระอริยเจ้ามีอยู่ที่ใด พระอริยเจ้าก็แปลว่าประเสริฐ พระอริยเจ้าที่ท่านรู้ ท่านรู้อะไร ท่านก็รู้ทุกข์ แล้วทุกข์มันไม่มีกับเราหรือไง มันก็มี เพราะฉะนั้นทำไมเราจะรู้ไม่ได้ ทีนี้ทุกข์อันใดก็สมุทัยอันนั้น สมุทัยอันใดก็นิโรธอันนั้น มันอยู่ที่เดียวกัน นิโรธก็คือความดับทุกข์ มันเกิดได้ มันก็ดับได้ ทุกข์มันเกิดที่ไหน ทุกข์มันเกิดที่จิต มันก็ต้องดับที่จิต และเราจะไปหาของดีที่ไหน มันมีอยู่แล้ว แต่เราไม่เอากันเท่านั้น

ให้เข้าไปหาความสุขที่แท้จริง มันอยู่ในดวงใจของเรา อันนี้เป็นสุขแท้ๆ หาที่เปรียบไม่ได้ คือนั่งก็เป็นสุข เดินก็เป็นสุข ยืนก็เป็นสุข นอนก็เป็นสุข อยู่ที่ไหนๆ ก็เป็นสุข ถ้าใครเข้าไปถึงแล้ว พวกเราก็เหมือนกัน ถ้าพากันปฏิบัติมันก็จะได้ สุขหนอ สุขหนอ เหมือนกันนั่นล่ะ...”

ที่มานิตยสารโลกทิพย์ ฉบับ ๒๘๒ ปีที่ ๑๓ เดือนตุลาคม ๒๕๓๗
















#ถึงมีกิเลส__ก็ให้รู้จักพอดีกับกิเลส
#คำว่าพอดีกับกิเลสพอดียังไง
ไม่ให้มันเป็นโทษนะ อย่างที่เราเป็นอยู่ปัจจุบันอย่างนี้ เรามีครอบครัว มีสามีมีภรรยา ก็ให้ยินดีแต่ในสามียินดีแต่ในภรรยาของตนเอง ไม่ล่วงละเมินนอกใจกัน นี้ละเรียกว่า "พอดี" เมื่อพอดีอย่างนี้ก็สามารถที่จะสร้างบารมีให้เต็มเปี่ยม เหมือนพระเวสสันดรอย่างนี้

พระพุทธเจ้าของพวกเรา เสวยชาติเป็นพระเวสสันดรในภพสุดท้าย ก็เพราะบารมีเต็มเมื่อบารมีเต็มแล้วก็จะมาเกิดเป็น “สิทธัตถะราชกุมาร”ลูกชายก็ยังปรารถนามาเป็นลูกชายอยู่อีกต่อไป...
คือ "ราหุลน้อย" จำเป็นต้องมามีครอบครัวเสียก่อน พอมามีครอบครัวแล้ว พอราหุลน้อยประสูติออกมา พระบิดาก็ทรงออกผนวชก็เป็นอย่างนี้

เพราะอานิสงส์มันเต็ม เมื่ออานิสงส์เต็มแล้ว ในขณะที่ออกผนวชก็ตั้งใจบำเพ็ญจนสำเร็จเป็นศาสดาเอกในโลก แล้วก็มีเมตตากลับมาสั่งสอนเอาครอบครัวของตนเอง นับตั้งแต่พระบิดาของตนเองและเครือญาติภรรยา, ลูก, ทุกๆคนเอาไปบวชในพระพุทธศาสนา อานิสงส์ของลูกเมียหรือพระบิดาเต็มและญาติพี่น้องของตนเอง ใครที่บารมีเต็มก็เข้าสู่มรรคผลนิพพานได้สำเร็จกิจเป็นอรหันต์มรรคอรหันต์ผล ถ้าเป็นผู้หญิงก็เป็นภิกษุณีอรหันต์ ถ้าเป็นผู้ชายก็เป็นพระอรหันต์ไม่ได้เรียกว่าเป็นภิกษุณี เรียกว่าพระอรหันต์ คือความบริสุทธิ์ที่เราสะสมอยู่ในปัจจุบันนี้

เพราะฉะนั้นเราถึงจะพ้นทุกข์ได้นั้น พยายามทำจิตของเราให้ได้อยู่ในความสงบ ความสุขที่เราปรารถนาก็จะสำเร็จ“นัตถิ สันติ ปะรัง สุขัง”สุขอื่นที่เหนือกว่าความสงบไม่มีในโลก“วิริเยน ทุกฺขมจฺเจติ” บุคคลใดที่จะล่วงความทุกข์ได้ก็เพราะความเพียร นี้เราเพียรเราพยายามตั้งใจปฏิบัติถึงจะเรียกว่าความเพียรจนความสงบทั้งสองอย่างนี้ มันถึงจะสำเร็จเมื่อมันสำเร็จความสงบมันก็จะเกิดขึ้น ความเพียรความพยายาม เรานั่งสมาธิ มีสติมีสัมปชัญญะ คือรู้อยู่ตลอดเวลา ขณะนี้เราทำอะไรอยู่ เรามีสติสัมปชัญญะ สติคือรู้ตัว มีสติระลึกได้ สติ คือ รู้ตัว วิริเย คือความเพียร ขันติ คือความอดทน ใช้ไม่ได้มากธรรมะคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้านี่ไม่ได้มาก

แต่ที่มากในตำรา 84,000 พระธรรมขันธ์เต็มตู้พระไตรปิฎกนั่นนะ อันนั้นเป็นธรรมะของพระพุทธเจ้า ที่พระพุทธองค์ตรัสรู้แล้ว รู้แจ้งเห็นจริง แต่รู้แจ้งเห็นจริงนะไม่ใช่ว่ารู้คนเดียว รู้สัตว์โลกทั้งหมดที่ได้รับความทรมาน มารวมเข้ามาเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน ทั้งสวรรค์ ทั้งพระนิพพาน ทั้งนรก ทั้งเปรตทั้งสัมภเวสี ทั้งอสูรกาย ตลอดทั้งเมืองบาดาลพญานาครู้หมด ว่าแต่ละคนเป็นยังไง แต่ละวิญญานเป็นยังไงบาปกรรมเป็นยังไง รู้หมดนี้คือคำว่าความรู้ รู้ตัวนี้นะเอามาเป็นธรรมะ มันถึงมากมายกายกอง แม้แต่ดูคนๆเดียวในอาการ 32 นี้ก็มากมายอยู่แล้วไม่ใช่ว่าน้อยน้อยนะ

ทีนี้การไปรู้ร่างกายสังขารของเรานี้ ต้องรู้จุดใดจุดหนึ่งเสียก่อน คือรู้หายใจเข้าออกนะ ถึงจะมีอาการ 32 เราไม่ได้ดูถึงอาการ 32 เราดูแต่ลมหายใจเข้าออก หายใจเข้าพุท หายใจออกโธอยู่เท่านั้น จนมันเกิดความรู้แจ้งเห็นจริง จากความสุขขึ้นมาแล้วนะ เมื่อเกิดความรู้แจ้งเห็นจริงแล้วนะ ก็จะรู้ในธาตุทั้ง 4 ขันธ์ทั้ง 5 มาประชุมกันเป็น ดิน น้ำ ลม ไฟ จนครบอาการ 32 มันถึงจะรู้ รู้ลึกเข้าไปจนเห็นเนื้อหนังเอ็นกระดูก เห็นทั้งภายในภายนอก เห็นหมดทุกอย่างในร่างกายสังขารของพวกเรานี่ ถึงจะเรียกว่ารู้ในธาตุในขันธ์

เมื่อรู้ในธาตุในขันธ์ก็จะทำให้เกิดความเบื่อหน่ายได้ยังไง ก่อนที่จะเกิดความเบื่อหน่ายมันก็จะเห็นในสภาพร่างกายสังขาร มันจะบอกอนาคตนะ...อนาคตมันก็จะเน่าเปื่อยให้เราเห็น เหี่ยวย่นลงไปแล้วก็ผิวคล้ำดำเขียวเน่าเปื่อยลงไป มีกลิ่นเน่าเหม็นขึ้นมา เหมือนกับซากศพจริงๆขึ้นมาอย่างนี้ เป็นน้ำหนองไหลเยิ้ม เนื้อหนังที่เกาะติดห้มกระดูกอยู่ก็จะเน่าเปื่อยยุ่ย ร่างกายสังขารส่วนนี้ออกไป แล้วแปรสภาพเหมือนกับเรื่องจริงเหมื่อนจริงอย่างนั้นก็เกิดความเบื่อหน่าย ไม่มีใครจะไปยินดีในรูปในเสียง ในกลิ่น ในรส ในโผฏฐัพพะสิ่งที่เราเคยหลงอยู่ เราก็จะไม่หลงอีก เห็นแล้วก็จะเกิดความเบื่อหมาย สักวันหนึ่งเราต้องต้องเป็นอย่างนี้ สัตว์อื่นก็ต้องเป็นอย่างนี้ ไม่ว่าผู้หญิงผู้ชายต้องเป็นอย่างนี้ เราก็เกิดความเบื่อหน่าย....

นี้ละการที่จิตเราจะละกิเลสทั้งหลายออกจากจิตใจของเราได้ให้เราตั้งใจปฏิบัติแล้วก็จะเกิดความรู้แจ้งเห็นจริง ดังที่กล่าวมานี้ ธรรมะที่อธิบายโดยย่อในวันนี้ก็คงจะพอเข้าใจง่ายๆก็คงพอจะเข้าใจกัน ก็ขอให้พวกเราทุกคนจงเอาไปปฏิบัติ ตั้งใจทำความเพียรพยายามอยู่ตลอดเวลา ทำจิตให้สงบเป็นสมาธิ มีสติมีปัญญาค่อยชำระอาสวะกิเลสที่มันมีอยู่ ความโลภมันมีก็ชำระความโลภออกจากจิตใจของตนเอง ชำระความโลภออกจากจิตใจได้ยังไง เพราะว่าเห็นโทษของความโลภนี้ จะทำให้เกิดความวุ่นวายเกิดความทุกข์ขึ้นมาในจิตใจของตนเอง ความโกรธก็เหมือนกันเมื่อเราทำตามความโกรธ ความโกรธนั้นก็จะก่อให้เกิดเป็นโทษ และนำความทุกข์มาสู่จิตใจของตนเอง ความหลงก็เหมือนกัน เมือเราเกิดความหลงไปความหลงก็จะก่อให้เกิดโทษ เมื่อเกิดโทษก็จะนำความทุกข์มาสู่จิตใจของเราเอง ไม่ใช่ไปเกิดกับคนอื่น เกิดกับตัวของเรา เราจะต้องการความสุขเราจะให้ความทุกข์มันเกิดขึ้นมาได้อย่างไร เราจะไม่ทำตามกิเลสของเราเป็นเด็ดขาดนี้เป็นต้องเด็ดเดียวอย่างนี้

ถอดจากเทปพระธรรมเทศนาหลวงปู่ไม อินทสิริ
วัดป่าเขาภูหลวง อ.วังน้ำเขียว จ.นครราชสีมา


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 05 ม.ค. 2020, 09:21 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
อาสาสมัคร
อาสาสมัคร
ลงทะเบียนเมื่อ: 08 ธ.ค. 2008, 09:34
โพสต์: 1322


 ข้อมูลส่วนตัว


4Aขออนุโมทนาสาธุการค่ะ :b8: :b8: :b8:


แสดงโพสต์จาก:  เรียงตาม  
กลับไปยังกระทู้  [ 2 โพสต์ ] 

เขตเวลา GMT + 7 ชั่วโมง


 ผู้ใช้งานขณะนี้

กำลังดูบอร์ดนี้: ไม่มีสมาชิก และ บุคคลทั่วไป 37 ท่าน


ท่าน ไม่สามารถ โพสต์กระทู้ในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ ตอบกระทู้ในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ แก้ไขโพสต์ของท่านในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ ลบโพสต์ของท่านในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ แนบไฟล์ในบอร์ดนี้ได้

ค้นหาสำหรับ:
ไปที่:  
Google
ทั่วไป เว็บธรรมจักร