วันเวลาปัจจุบัน 25 เม.ย. 2024, 18:16  



เขตเวลา GMT + 7 ชั่วโมง




กลับไปยังกระทู้  [ 1 โพสต์ ]    Bookmark and Share
เจ้าของ ข้อความ
โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 24 พ.ย. 2019, 05:26 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
อาสาสมัคร
อาสาสมัคร
ลงทะเบียนเมื่อ: 06 มี.ค. 2009, 10:48
โพสต์: 5091


 ข้อมูลส่วนตัว


..
ถาม : พุทโธกับการพิจารณาไตรลักษณ์ให้ปล่อยวาง
ต่างกันอย่างไร
พระอาจารย์ : พุทโธเป็นการ..กล่อมจิตให้สงบ
"เป็นสมถภาวนา"
การพิจารณาด้วยปัญญาเป็นการ..ทำจิตให้สงบ
ด้วยการทำลายเหตุที่ทำให้จิตไม่สงบ
"เป็นวิปัสสนาภาวนา"
ถาม : บั้นปลาย เราต้องการความสงบ
หรือต้องการปล่อยวาง
พระอาจารย์ :ต้องการปล่อยวาง
"ปล่อยวางแล้ว...จิตจะสงบ".
...............................................
.
หนังสือตอบปัญหาคาใจ หน้า90
ธรรมะบนเขา ณ เขาชีโอน
พระอาจารย์สุชาติ อภิชาโต
วัดญาณสังวรารามฯ ชลบุรี








#บางคืนปรากฏว่ามีพระสาวกอรหันต์
มาแสดงธรรมให้ท่านฟังทางอริยประเพณี โดยปรากฏทางสมาธิ นิมิตเป็นใจความว่า..
#วิธีเดินจงกรมต้องให้อยู่ในท่าที่สำรวม
ทั้งกายและใจ ตั้งจิตและสติไว้ ที่จุดหมาย
ของงานที่ตนทำอยู่ คือกำลังกำหนดธรรม
บทใดอยู่ พึงมีสติอยู่กับธรรม หรืออาการ
นั้นๆ ไม่พึงส่งใจและสติไปที่อื่น อันเป็นลักษณะของคนไม่มีหลักยึด ไม่มีความ
แน่นอนในตัวเอง
#การเคลื่อนไหวไปมาในทิศทางใด ควรมีความรู้สึกด้วยสติพาเคลื่อนไหว ไม่พึงทำเหมือนคนนอนหลับ ไม่มีสติตามรักษาความกระดุกกระดิกของกายและความละเมอเพ้อฝันของใจ ในเวลาหลับของตน มีสติอยู่ทุกอิริยาบท
#การขบฉันพึงพิจารณา
อาหารทุกประเภทด้วยดี อย่าปล่อยให้อาหารที่มีรสเอร็ดอร่อยมาเป็น​ ยาพิษ แผดเผาใจ แม้ร่างกายจะมีกำลัง เพราะอาหารที่ขาดการพิจารณาเข้าไปหล่อเลี้ยง แต่ใจจะอาภัพ เพราะ รสอาหารเข้าไปทำลาย จะกลายเป็นการทำลายตนด้วยการบำรุง คือทำลายใจ เพราะ​ การบำรุงร่างกาย ด้วยอาหารโดย..
"ไม่มีสติ "

#จากหนังสือประวัติ_ท่าน
#พระอาจารย์มั่น_ภูริทัตตะเถระ










วางใจเฉยเพ่งดู ต่อต้านอย่างสงบ นึกในใจว่า
" ปล่อยมันไป อย่ายึดมันไว้
สักประเดี๋ยวมันก็ค่อยจางหายไป "
อารมณ์ร้ายเหล่านี้อ่อนแอ
เหมือนเมฆในท้องฟ้าสู้กำลังที่เข้มแข็งไม่ได้
เว้นไว้แต่เราจะชอบมัน
แล้วเลี้ยงมันไว้เป็นมิตรสหายสนิทกับใจ
มันก็จะทำลายใจเราทีละน้อยๆ
เหมือนสนิมกัดเหล็กให้กร่อนไปทีละน้อย

ท่านเจ้าคุณนรฯ ธมฺมวิตกฺโก ภิกขุ










เกิดมาทีหลังก็ตายก่อน เกิดมาก่อนก็ตายก่อน ความตายมันแน่นอน มันเที่ยงของมันเสมอ อนตีโต ไม่มีใครต้านทานหรือล่วงพ้นไปได้ จึงว่าสังขารที่เที่ยงนั้นไม่มี ไม่มีอะไรเที่ยง ไม่มีอะไรยั่งยืน ปัญหามีอยู่ว่า ใครตายใครดับลงไปนั้น ให้ตายอย่างหมดเชื้อ ...การเกิดการตาย ให้ดับวิบากขันธ์ ให้มอดสนิทให้ได้ อย่าตายเล่น ๆ อย่าตายเน่า ตายเหม็น ให้ตายแท้ตายจริง ตนของตนจึงจะเป็นผู้งามทั้งเบื้องต้น งามทั้งท่ามกลางและงามในที่สุด งามก็ให้งามทั้งภายนอกและภายใน อยู่ก็ให้สุคโต ไปก็ให้สุคโต

หลวงปู่จาม มหาปุญฺโญ









"เพราะร่างกายไม่ใช่ของสวยงามอะไร เขาเกิดมาเพื่อแก่ เพื่อเจ็บ เพื่อตายเท่านั้นเอง อวัยวะแต่ละส่วนๆ ก็ล้วนเป็นของปฏิกูลด้วยกันทั้งนั้น พระพุทธเจ้าจึงตรัสว่าร่างกายเป็นของปฏิกูล เป็นของน่าเกลียดเป็นของไม่สวยไม่งาม
จะสวยงามอะไร ก็ของมันต้องล้าง...กันอยู่ทุกวัน ถ้ามันไม่ล้างแล้วมันจะขนาดไหน นี่ ความเจริงเป็นอย่างนี้ แต่เราพยายามปกปิดกัน พยายามที่เอาอันนั้นมาปิดเอาอันนั้นมาเคลือบเอาอันนั้นมาย้อม อันนี้เป็นการปกปิดเป็นการหลอกลวงกันอยู่เสมอ ความเป็นจริงเราไม่ค่อยจะให้มันปรากฏออกมา"

หลวงปู่แบน ธนากโร








อุบายธรรมเรื่องหมาแทะกระดูก
บ่อยครั้งเมื่อลูกศิษย์คิดถึงบ้าน องค์หลวงปู่ฝั้น อาจาโร จะเมตตายกเรื่องของท่านขึ้นเทศน์ให้ฟัง ถึงเมื่อครั้งองค์ท่านเองก็เคยเบื่อหน่ายท้อแท้จนคิดจะกลับบ้านเช่นกัน …..
…วันหนึ่งขณะที่องค์หลวงปู่ฝั้น อาจาโร เดินบิณฑบาตอยู่นั้น เห็นหมาตัวหนึ่งเดินตามเจ้าของอยู่ สักพักมันเจอกระดูกเก่าท่อนหนึ่ง มันก็หยุดแทะตามประสาหมา แต่เจ้าของก็เดินต่อไป มันแทะอยู่สักพักก็วิ่งตามเจ้าของไปแต่แล้วก็หันวิ่งกลับมาแทะกระดูกต่ออีก แล้วก็วิ่งกลับไปหาเจ้าของอีก กลับไปกลับมาอยู่หลายครั้ง จนเจ้าของเดินไกลออกไปมากแล้ว มันจึงได้วิ่งตามเจ้าของไปอย่างอาลัย องค์หลวงปู่เห็นอาการมันแล้ว ก็กลับมานึกเป็นธรรมอบรมตัวองค์ท่านเองได้ว่า
“การอาลัยในบ้านขององค์ท่านก็เหมือนหมาตัวนั้นที่อาลัยในกระดูกเก่าอันจืดชืด แต่มันไม่รู้ว่ากระดูกนั้นไม่มีรสอะไรแล้วที่หลงอยู่ ก็หลงในน้ำลายของตัวเองเท่านั้น ชีวิตทางโลกก็เหมือนกระดูกเก่าที่หาค่าอันใดมิได้ ความหลงในสิ่งที่ฉาบทาไว้ก็เหมือนหมาที่หลงอร่อยในน้ำลายตัวเอง”
เมื่อองค์หลวงปู่ท่านพิจารณาได้เช่นนั้น ก็วางความคิดถึงบ้านลงได้ ท่านพระอาจารย์สาคร ธัมมาวุโธ ก็ได้ธรรมข้อนี้ช่วยให้ท่านผ่านพ้นมาได้ ท่านจึงซาบซึ้งถึงพระคุณขององค์หลวงปู่ฝั้น อาจาโร อย่างถึงที่สุด ว่าทางหนึ่ง ท่านก็เข่นเอาเต็มที่ แต่อีกทางหนึ่งก็เมตตาคอยประคับประคองหาอุบายธรรมช่วยเหลือเต็มที่เช่นกัน
ปัจจุบันหากท่านพระอาจารย์สาคร ธัมมาวุโธ เดินทางไปกราบนมัสการ เจดีย์พิพิธภัณฑ์พระอาจารย์ฝั้น อาจาโร ที่วัดป่าอุดมสมพร จ.สกลนคร ท่านจะต้องไปดูภาพแกะสลักเรื่อง “หมาแทะกระดูก” ที่ฐานองค์เจดีย์ด้วยความระลึกซาบซึ้งในพระคุณอยู่ทุกครั้งไป

เรื่องเล่าอุบายธรรมจากประวัติและปฏิปทาของ “พระอาจารย์สาคร ธัมมาวุโธ” วัดเวฬุวันวนาราม (วัดเวฬุวัน) ต.ท่าขนุน อ.ทองผาภูมิ จ.กาญจนบุรี









#ความตายไม่ได้เป็นสิ่งที่หายไปไหน
"หากเป็นเพียงเปลี่ยนจากภพหนึ่งไป
เกิดอีกภพหนึ่ง อุปมาเหมือนหมอกับอาตมา
ซึ่งอยู่ในเวลาปัจจุบัน เดี๋ยวนี้กำลังสนทนา เวลาดับผ่านไปทุกวินาที ทุกชั่วโมง และหมอได้ทำแผลให้อาตมา ประเดี๋ยวหมอก็จะต้องกลับไปบ้านและอาตมาก็กลับไปกุฏิ และทุกคนก็พากันกลับไปที่อยู่ของตน นี่ก็เป็นสิ่งหนึ่งที่เราต้องจากกัน"
#เราได้พลัดพรากกัน_แต่เรายังมีชีวิต
"มีสังขารร่างกาย เมื่อเราไปแล้ว แต่ที่นี่ ที่
เราได้มาร่วมสนทนาก็จะว่างเปล่า ไม่มีหมอ ไม่มีอาตมา และไม่มีใคร เพราะต่างแยก
กันไป รู้ว่าเรายังมีชีวิตอยู่ทุกคน อาตมาก็อยู่
ที่กุฏิหลังจากที่ได้นั่งสนทนากัน แต่เวลานั้นก็ได้ผ่านดับไปตามโมงยาม เวลาไม่กลับมาอีกเป็นอดีต"
#หมอก็เช่นเดียวกัน ก็ต้องนึกว่า วันนี้ได้ไป
ทำแผลให้อาตมา และได้สนทนากันในโบสถ์
ที่วัดเทพศิรินทราวาส แต่เวลานั้นได้ผ่านไปเป็นอดีต ไม่กลับมาใหม่ เราก็มีแต่ความทรง
จำเหลือไว้เท่านั้น แต่เราก็คิดถึงกันได้ทางใจ
#การตายก็เหมือนกัน_เป็นการจากไป
"ไม่ได้สูญไปไหน ยังคงอยู่ หากแต่เปลี่ยน
จากสภาวะปัจจุบันนี้ ไปอยู่อีกสภาวะหนึ่ง
ซึ่งยากที่จะอธิบายให้เข้าใจได้ง่าย ๆ และ
เราก็ยังสามารถระลึกถึงกันได้ อย่าเข้าใจ
ว่าสูญสิ้นไป ความตายความเกิดนั้นมีอยู่
ตลอดเวลา..”

#เจ้าคุณนรรัตนราชมานิตย์
#วัดเทพศิรินทราวาส_กรุงเทพฯ








❝ บุคคลที่ไม่มีธรรมะ
ต้อง“เป็นทุกข์”เพราะ
มันจะรักนั่น เกลียดนี่
โกรธโน่น กลัวนั่น
❝ยุ่งไปหมด❞
มันคิดจนเป็นทุกข์ ❞

พุทธทาสภิกขุ









“ถ้าหาคนมีศีลเสมอกัน
หรือสูงกว่า...
เดินไปด้วยกันไม่ได้
พระพุทธองค์ทรงให้เลือก
เดินไปคนเดียว
เพราะเลือกคบคนอย่างไร
เราก็จะเป็นอย่างนั้น
ถ้าไม่มีคนที่มีศีลธรรมรอบตัวเลย
จงเลือกเดินคนเดียว
และมีสติเป็นเพื่อน...”

- หลวงตามหาบัว








ผู้ที่เข้าใจธรรมะก็เข้าใจตัวเอง ใครเข้าใจตัวเองก็เข้าใจธรรมะทุกวันนี้ก็เหลือแต่เปลือกของธรรมะเท่านั้น ความเป็นจริงแล้วธรรมะมีอยู่ทุกหนทุกแห่ง ไม่จำเป็นที่จะต้องหนีไปไหน ถ้าจะหนีก็ให้หนีด้วยความฉลาด ด้วยปัญญา หนีด้วยความชำนิชำนาญ อย่าหนีด้วยความโง่ ถ้าเราต้องการความสงบก็ให้สงบด้วยความฉลาด ด้วยปัญญาเท่านั้นก็พอ
เมื่อใดที่เราเห็นธรรมะ นั่นก็เป็นสัมมาปฏิปทาแล้ว กิเลสก็สักแต่ว่ากิเลส ใจก็สักแต่ว่าใจ เมื่อใดที่เราทิ้งได้ ปล่อยวางได้แยกได้เมื่อนั้นมันก็เป็นเพียงสิ่งสักว่า เป็นเพียงอย่างนี้อย่างนั้นสำหรับเราเท่านั้นเอง เมื่อเราเห็นถูกแล้ว ก็จะมีแต่ความปลอดโปร่ง ความเป็นอิสระตลอดเวลา
พระพุทธองค์ตรัสว่า "ดูก่อนภิกษุทั้งหลายท่านอย่ายึดมั่นในธรรม" ธรรมะคืออะไร คือทุกสิ่งทุกอย่าง ไม่มีอะไรที่ไม่ใช่ธรรมะความรักความเกลียดก็เป็นธรรมะ ความสุขความทุกข์ก็เป็นธรรมะความชอบความไม่ชอบก็เป็นธรรมะ ไม่ว่าจะเป็นสิ่งเล็กน้อยแค่ไหนก็เป็นธรรมะ

..หลวงปู่ชา สุภทฺโท..










“ตนต้องเป็นที่พึ่งแห่งตน” คำนี้เราคงเคยได้ยิน แต่ตนที่ต้องเป็นที่พึ่งคืออย่างไรกันแน่ แม้แต่ตนที่ต้องมีที่พึ่งเรายังไม่ค่อยรู้จัก
สอง “ตน” นี้ไม่เหมือนกัน
ตนที่ควรเป็นที่พึ่ง คือ ธรรมะ
ตนที่ควรมีที่พึ่ง คือ จิตใจหรือชีวิต
ตนต้องเป็นที่พึ่งแห่งตน หมายความว่า ชีวิตเราต้องมีธรรมะเป็นที่พึ่ง
การฟังธรรม การอ่านธรรม การท่องธรรม ดีหมด แต่ยังไม่ใช่ความดีทั้งหมดที่เราต้องมี เพราะความจำยังเป็นที่พึ่งของชีวิตไม่ได้
เมื่อเราเข้าถึงธรรมะด้วยการปฏิบัติ เมื่อธรรมะตั้งอยู่เหนืออธรรมในใจเราได้ ถือว่าธรรมะกลายเป็นตนของเราแล้ว เรากับธรรมกลมกลืนเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน เรียกว่าเราเป็นผู้มีที่พึ่งอันประเสริฐแล้ว

พระอาจารย์ชยสาโร










..#การไม่คบคนพาลไม่คบคนชั่วเป็นมงคล...
** กัลยาณมิตตตา**
พวกเราท่านทั้งหลาย จะคบเพื่อนคบฝูงคบมิตรสหายนี้ เป็นข้อสำคัญอันยิ่งใหญ่ ในข้อพวกนี้ พวกเราท่านทั้งหลายดูองค์สมเด็จพระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสไว้เบื้องต้นมงคลสูตร ว่า.." อเสวนา จ พาลานัง การไม่คบคนพาล ไม่คบคนชั่ว เป็นมงคล
..ปัณฑิตานัญ จ เสวนา การคบปราชญ์ราชบัณฑิตเมธี ทั้งหลายนั่น เป็นมงคลอันประเสริฐ มงคลอันเลิศ "..
..ดูพวกเราท่านทั้งหลายในปัจจุบันนี้ เราต้องเป็นผู้ใคร่ครวญพินิจพิจารณาจะคบคน จะคบเพื่อนคบฝูง ต้องดูให้ดีต้องสังเกตให้ดี พิจารณาว่า ปุคคลญญุตา บุคคลนี้ควรคบ หรือไม่คบ
** สมชีวิตตา**
..เลี้ยงชีวิตให้พอเหมาะสมกับรายได้รายจ่าย หากเราได้เงินได้ทองมาแล้ว ได้สิ่งได้ของมาแล้ว มีเงินมากพอสมควรก็ดี หรือเป็นมหาเศรษฐี กฎุมพี พรหมณ์มหาศาลก็ตาม เราหามาแล้ว รู้จักเก็บรักษาแล้ว ให้เรารู้จักประมาณในรายได้รายจ่าย ..เราได้รายได้น้อย เราก็จ่ายน้อย ได้มากเราก็จ่ายมากไม่เป็นไร เรียกว่า บุคคลนั้นจ่ายทรัพย์สมบัติให้พอเหมาะสมกับรายได้รายจ่าย พวกเราท่านทั้งหลาย จึงจะเป็นคนมั่งมีศรีสุข ในปัจจุบันได้..

..#โอวาทธรรมหลวงปู่เปลี่ยน ปญฺญาปทีโป..









คุณงามความดีให้ทุกคนหมั่นขยันทำเรื่อยๆบ่อยๆ. จนเกิดความเคยชิน.
จากความเคยชินจนกลายเป็นนิสัย.
จากนิสัยจะเป็นอุปนิสัย จากอุปนิสัย เรียกว่า. ""..#วาสนาบารมี..""

โอวาทธรรมหลวงปู่ศรี มหาวีโร
วัดประชาคมวนาราม (วัดป่ากุง) อ.ศรีสมเด็จ จ.ร้อยเอ็ด







ศึกษาธรรมะในพระพุทธศาสนา
อย่าให้ผิดหลัก “กาลามสูตร”
.
“ เขาหาว่า อาตมาดูถูกดูหมิ่นคำอธิบายของครูบาอาจารย์ในอดีต ว่าผิดทั้งนั้น ไม่มีละ! เพราะอาตมาก็ได้อาศัยคำอธิบายของครูบาอาจารย์ในอดีต แต่ถ้ามีคำอธิบายของอาจารย์บางกลุ่มที่มันใช้ไม่ได้ ก็ต้องปฏิเสธ ก็ต้องไม่เอา ถ้าถามว่าเพราะเหตุไร? ก็ต้องบอกว่ามันผิดรับเอาไม่ได้ นี่..มันก็มีเหมือนกัน แต่ไม่ได้ปฏิเสธว่า คำอธิบายของครูบาอาจารย์ผิดไปหมด มันยังมีส่วนที่ถูก และที่เราถือเอา.
.
อาตมาถึงยังถือว่า แม้เขาอธิบายผิดมันก็ยังมีประโยชน์ เพราะว่าจะได้รู้ว่ามันผิด ถ้าเขาอธิบายผิดๆ มันก็ยังมีประโยชน์แก่เรา เพราะมันได้บอกให้เรารู้ว่า..นี้มันผิด นี่..มันมีประโยชน์อย่างนี้ เพราะฉะนั้น อาตมาไม่ได้ลบหลู่คำอธิบายของครูบาอาจารย์ในอดีต โดยถือเสียว่า ครูบาอาจารย์ในอดีตทุกท่าน ท่านก็มีเจตนาดีที่จะอธิบายให้ถูกต้อง ถ้ามันผิดพลาดไปบ้างก็จะเป็นไรไปล่ะ! มันก็เป็นธรรมดา ท่านเจตนาดี ตั้งใจจะอธิบายให้ถูกต้อง แต่มันผิดพลาดไปบ้างก็เป็นของธรรมดา.
.
สำหรับครูบาอาจารย์ในอดีตที่จะต้องพูดถึงกันบ้าง ก็เช่น อาจารย์ผู้อธิบายคัมภีร์วิสุทธิมรรค (“พระพุทธโฆสเถระ” ผู้รจนา“คัมภีร์วิสุทธิมรรค”) นี้อาตมาก็ยอมรับว่า บางอย่างก็เห็นด้วย แต่บางอย่างก็ไม่เห็นด้วย ทีนี้ คนโดยมากเขายอมรับคัมภีร์วิสุทธิมรรค ว่าไม่ผิดพลาดแม้แต่ตัวอักษรเดียว อาตมาไม่เห็นด้วย ไม่เอาด้วย ถือว่า..บางส่วน..มันน่าจะผิด บางส่วนก็มีประโยชน์และถือเอา.
.
นี่อย่ามาหาว่าอาตมาปฏิเสธคำอธิบายของครูบาอาจารย์ทั้งหมด...นี้เรียกว่า จะไม่ยอมรับอย่างงมงาย ให้มันผิดหลัก “กาลามสูตร” หลักกาลามสูตรมีอยู่อย่างไร ไปหาศึกษาเอาเองเถอะ อาตมาจะไม่ยอมทำผิดหลักกาลามสูตร เชื่อเอางมงาย รับเอางมงาย รับเอาทันที โดยไม่มี “ยถาภูตสัมมัปปัญญา” อย่างนั้นไม่เอาด้วย.
.
ทีนี้ ข้อต่อไปเขาหาว่า อาตมาเป็นพระเถระพาลเกเร ชอบเอาความเห็นของตัวเองมาเผด็จการคำสอนของพระพุทธองค์ ดูจะเป็นไปได้หรือไม่?...คำสอนของพระพุทธองค์นั้น ไม่มีทางที่ใครจะหักล้างได้ พระพุทธองค์ตรัสไว้อย่างท้าทายว่า เทวดา มาร พรหม ที่ไหน ก็ไม่พิสูจน์คำสอนของพระพุทธองค์ว่าเป็นของผิดได้ ให้รวมกันทั้งหมดนั้นก็ไม่มาพิสูจน์คำสอนของพระองค์ว่าผิดได้ ฉะนั้น ไม่มีใครสามารถหักล้างคำสอนของพระองค์ได้ แม้แต่เขาจะพยายาม ก็ได้แต่พยายามเท่านั้นแหละ เขาจะหักล้างคำสอนของพระพุทธองค์ให้สำเร็จไปได้นั้น “ มันเป็นไปไม่ได้ ” อาตมาก็ไม่โง่จนถึงกับจะพยายามในสิ่งที่มันทำไม่ได้ มันเห็นชัดอยู่ว่าทำไม่ได้ แล้วก็ไม่เคยพยายามอย่างนั้น.”
.
พุทธทาสภิกขุ
ที่มา : ธรรมบรรยายในลักษณะ ถาม-ตอบ ในวาระที่สอง วันล้ออายุ ๒๗ พฤษภาคม ๒๕๒๓ หัวข้อเรื่อง “สาดโคลน...สงครามความคิด” จากหนังสือ “ธรรมะน้ำ ล้างธรรมะโคลน”









" จิต...
ถ้าตกกระแสแล้ว ไม่กลับ
ความชั่ว นิดหน่อยนั้น พ้นแล้ว
โสดา
ท่านว่า จิตน้อมไปแล้ว
ท่านจึงว่า พวกเหล่านี้จะมาสู่อบาย(ภูมิ ๔
สัตว์นรก เปรต อสูรกาย สัตว์เดรัจฉาน)
อีกไม่ได้ มาตกนรกอีก ไม่ได้
จะตก ได้อย่างไร
จิต ละบาปแล้ว
เห็นโทษ ในบาปแล้ว
จะให้ทำความชั่วทางกาย วาจา อีกนั้น
ทำไม่ได้
เมื่อ ทำบาปไม่ได้
ทำไม จึงจะไปสู่อบาย
ทำไม จึงจะไปตกนรกได้
มันน้อมเข้าไปแล้ว
เมื่อ จิตน้อมเข้าไป มันก็รู้จักหน้าที่
รู้จักการงาน รู้จักปฏิปทา
รู้จักผ่อนหนัก ผ่อนเบา
รู้จักกาย ของเรา
รู้จักจิต ของเรา
รู้จักรูปเรา นามเรา
สิ่งที่ควรละวาง ก็ละวางไปเรื่อย ๆ
ไม่ต้องสงสัย."

(หลวงพ่อชา สุภัทโท วัดหนองป่าพง)









ประโยชน์ของ “สมาธิ”
๑.) ทำให้หลับสบายคลายกังวล
๒.) กำจัดโรคภัยไข้เจ็บ
๓.) ทำให้สมองปัญญาดี
๔.) ทำให้มีความรอบคอบ
๕.) ทำให้ระงับความร้ายกาจ
๖.) บรรเทาความเครียด
๗.) มีความสุขพิเศษ
๘.) ทำให้จิตใจอ่อนโยน
๙.) กลับใจได้
๑๐.) เวลาสิ้นลม พบทางดี
๑๑.) เจริญวาสนาบารมี
๑๒.) เป็นกุศล

หลวงพ่อวิริยังค์ สิรินธโร











#เห็นธรรมดาของจิต
ที่ปฏิบัติ(ธรรม)มาเพื่อให้เห็นธรรมดาของมัน!
ธรรมดาของจิต ถ้ามีความสุข อยู่กับอารมณ์ใด
จิตอยู่กับอารมณ์นั้นได้นาน ก็ได้สมถะ..เรื่องธรรมดา!
ขอเพียงแค่มีความสุขอยู่กับอารมณ์นั้น
จิตจะเกิดสมถะขึ้นเอง..โดยธรรมดา ธรรมชาติของมัน
ทีนี้ถ้าเราเป็นพวกจริตประเภทช่างคิด ช่างนึก
ช่างปรุง ช่างแต่ง ช่างวิพากย์วิจารณ์
มันก็ธรรมดาของเรา แม้จะมีความสุขอยู่กับอารมณ์นี้
แต่มันก็อิ่มเร็ว จิตนี้อิ่มเร็วแล้วก็หิวง่าย
อิ่มจากนี้นะ แล้วก็หิวอื่น หิวอารมณ์อื่น ก็เป็นธรรมดาของจิตนี้
จิตมันไป..ก็รู้ทันธรรมดาของมัน อย่าไปห้ามมัน
อย่าไปดึง อย่าไปแทรกแซง
เห็นตามความจริงว่ามันหิวอารมณ์อีกแล้ว
ดูธรรมดาของจิต
เห็นธรรมดาของจิต ก็จะเห็นว่ามันเกิด-ดับ
เมื่อก่อนนี้ไม่เห็นเกิด-ดับ มันเกิดความอยากอะไรก็จะสนอง
เมื่อสนองไม่ได้ ก็จะรู้สึกว่า..เทคนิคนี้ไม่พอ ต้องหาเทคนิคอื่น
ต้องหาวิธีอื่น เพื่อให้ได้ตามที่มันมีตัณหาบัญชาการ
ไม่ได้เห็นเลยว่ามันมีการเกิด-ดับ
ถ้าเห็นเพียงว่ามันมีตัณหาเกิดขึ้นมา..แล้วมันดับลงไปเนี่ยนะ!
ก็จะเห็นธรรมดาของตัณหาว่า..มันเกิดขึ้นมา แล้วก็ดับไป
ส่วนจำเป็นจะต้องสนองมั้ย? ก็ดู!
หมายถึงว่างานนั้นจะต้องทำมั้ย?
ก็ดูว่าความจำเป็นของงาน แต่ว่าไม่ได้ทำด้วยตัณหา
ดูตามความจำเป็น
ถ้าเห็นว่าความจำเป็นจะต้องทำ..ควรทำ!
คราวนี้ทำแบบมีฉันทะ ไม่เหมือนกันนะ!
เห็นประโยชน์ของมัน
เห็นความจำเป็นของมันควรทำ..อันนั้นเป็นฉันทะ
แต่ทำด้วยความอยาก
มันไปด้วยความรู้สึกว่า จะมาสนองตัวเองบ้าง
หรือสนองความโลภ หรือสนองความเป็นตัวตน
สนองอยากของตัวเอง อันนี้ทำด้วยตัณหา
มันไม่มีเหตุผลอะไรมาก มันเป็นเพียงความพอใจ
อยากจะได้ อยากจะกิน อยากจะมี อยากจะเป็น
แต่ถ้ามันมีเหตุผล..ควรทำ!..ทำแล้วได้ประโยชน์
เราได้ประโยชน์บ้าง คนอื่นได้ประโยชน์บ้าง
ส่วนรวมได้ประโยชน์บ้าง อย่างนี้นะ..ก็ทำ!
ทำด้วยความพอใจ จากการเห็นมันมีประโยชน์
ตรงนี้เรียกว่ามีจิตใจใฝ่ดีที่จะทำ เพราะเห็นประโยชน์
แล้วทำด้วยความขยัน มีความหมั่นเพียรประกอบเข้ามาเลย
เห็นประโยชน์ของมันใจก็จดจ่ออยู่กับสิ่งนั้น
อาจจะมีทดลองผิด ทดลองถูกบ้าง
แต่ทุกครั้งที่ผิดแล้วรู้ ก็ได้ประโยชน์
ว่าอันนี้ผิด แล้วก็จะไม่ทำอีก
ถ้าได้ทางถูกก็จะได้รู้ว่า นี่เป็นทางถูกก็ทำสิ่งนี้ไป
ไม่ใช่ว่าทำปุ๊บ! จะต้องถูกปั๊บ!
โดยเฉพาะปฏิบัติธรรมเนี่ยนะ ส่วนใหญ่จะต้องผิด
แต่ผิดแล้วรู้ทีไร ก็จะเจริญทุกที
มันจะผิดยากขึ้น หรือจะผิดสั้นลง
จากการที่เห็นว่า..เมื่อก่อนเคยทำอย่างนี้แล้วคิดว่าดี
พอรู้ว่ามันผิดนะ พอมันผิดไปหน่อยก็รู้ปุ๊บ
ไอ้ผิดแล้วรู้นะ! ก็กลายเป็นว่า..ผิดแล้วทำให้เกิดสติ
ผิดแล้วทำให้เกิดสมาธิ
ผิดแล้วทำให้เกิดปัญญาขึ้นมา

ธรรมบรรยายโดย
พระอาจารย์กฤช นิมฺมโล









“การปฏิบัติธรรม” คืออะไร?
จุดมุ่งหมายของ “การปฏิบัติธรรม” นั้นเพื่ออะไร?
.
“การปฏิบัติธรรม” มิใช่เป็นเพียงการแสดงแบบ หรือแสดงท่าทางด้วยกิริยาอาการภายนอก แท้จริงเป็น “การปฏิวัติดวงใจ” ของผู้ปฏิบัตินั้นเอง ให้กลับกลายจากความเป็นแหล่งที่รับทุกข์มาเป็นแหล่งที่เต็มไปด้วยสุข, จากความเป็นทาสไปสู่ความเป็นอิสระจากธรรมชาติฝ่ายต่ำของใจทุกๆประการ, ดวงจิตที่เคยถูกอวิชชาหุ้มห่อ กลับกลายเป็นจิตที่ผ่องใสแหลมคมต่อการทำลายรากเหง้าของความทุกข์หรือสิ่งที่ตนไม่พึงประสงค์, รวมความว่า เปลี่ยนดวงจิตที่เคยก่อสร้างทุกข์ ให้กลายเป็นก่อสร้างสุขเพื่อตัวเอง.
.
อาการกิริยาที่ฝึกฝนบำเพ็ญแต่ภายนอก เช่น ศีล ธุดงค์ สมาธิ นั้นๆ ก็คือการเริ่มลงมือปฏิวัติดวงจิตเป็นลำดับๆ จากอยาบไปหาละเอียดนั่นเอง.
.
อาการภายนอกเป็นเพียงเครื่องหมาย แต่ไม่เป็นเครื่องหมายที่แน่นอนเสมอไป เพราะถ้าผู้ใดปฏิบัติปฏิปทาเหล่านี้เป็นโลกาธิปไตยเพียงภายนอกให้โลกสรรเสริญแล้ว หาจัดเป็นการปฏิบัติธรรมได้ไม่ จัดเป็นการทำปลอมปฏิบัติธรรม
.
โดยนัยนี้ จะเห็นได้ว่า การปฏิบัติธรรมนั้นคือการปฏิวัติดวงจิตแท้ๆ ปฏิวัติดวงจิตที่เคยทุกข์ให้เป็นสุข ปฏิวัติสุขที่ไม่แท้ให้เป็นสุขที่แท้จริง จนกว่าจะลุถึงยอดสุข
.
กิริยาปฏิวัติในที่นี้ คือ การปลดเปลื้องชีวิตให้หลุดพ้นจากแอกอธิปไตยแห่งกิเลส ปราบกิเลสให้หมดอิทธิพล ให้เป็นอิสระแก่ตัวเองได้.
.
“กิเลส” นั้นได้แก่ ความรู้สึกตามสัญชาตญาณที่เป็นไปในฝ่ายต่ำ คือตามที่มันนึกใคร่อย่างไร และเป็นความรู้สึกของจิตที่ยังไม่ได้รับการศึกษาหรือขูดเกลาตามวิธีที่ถูกตรงตามหลักความจริง กิเลสเป็นของแฝงอยู่กับจิต และปรากฏตัวให้เห็นต่อเมื่อมีสิ่งยั่วให้มันลุกโพลงหรือพล่านขึ้นเป็นคราวๆ แล้วก็หายตัวเงียบแฝงอยู่ ดุจเดียวกับตัวหนังสือลับที่เขียนด้วยหมึกลับ จะปรากฏให้เห็นต่อเมื่อแช่กระดาษลงในน้ำ แห้งแล้วก็หายเสียฉะนั้น. เพราะมันแฝงตัวอยู่ได้อย่างลี้ลับ อย่างที่ค้นไม่เห็นตัว แต่มันอาจโผล่ออกมาเมื่อไรก็ได้ในทุกกาลทุกสถานที่ มันจึงเป็นเหมือนกับเป็น “สมบัติกายสิทธิ์” ของจิต ที่มีไว้สำหรับการแล่นท่องเที่ยวไปใน“ทะเลทุกข์”ด้วยกัน เหมือนคนกับเรือฉะนั้น. บางแห่งเราเรียกกิเลสนี้ว่า “กิเลสอย่างละเอียด” เพราะนอนในสันดาน และ เรียกปรากฏการณ์ของกิเลสที่ปรากฏอยู่ในใจว่า “กิเลสอย่างกลาง” และ ที่ปรากฏออกมากระทั่ง ทางกาย วาจา ว่า “กิเลสอย่างหยาบ” และเราวางหลักต่อไปว่า ศีล เป็นคู่ปรับกับกิเลสอย่างหยาบ, สมาธิ เป็นคู่ปรับกับกิเลสอย่างกลาง, และ ปัญญา เป็นคู่ปรับกับกิเลสอย่างละเอียด, และเรียกการบำเพ็ญธรรมที่เป็นคู่ปรับทั้ง ๓ อย่างนี้ว่า “การปฏิบัติธรรม”
.
“การปฏิบัติธรรม” คือการบำเพ็ญให้เต็มที่ในข้อปฏิบัติต่างๆ อันย่นลงแล้วเรียกว่า “ศีล สมาธิ ปัญญา”
.
ศีล คือ การชำระกายและวาจาให้บริสุทธิ์ ปราศจากโทษ เมื่อบริสุทธิ์แล้วเป็นเครื่องช่วยให้เกิดสมาธิ, สมาธิ คือ ความที่ใจผ่องใสตั้งมั่นเป็นจุดเดียว มีกำลังกล้าแข็งสำหรับการคิดปัญหาอันลี้ลับ การตีปัญหาลี้ลับ ก็คือ การบำเพ็ญปัญญา นั่นเอง เรียกอีกอย่างหนึ่งว่า “วิปัสสนาภาวนา”
.
พระพุทธภาษิตเหลือที่เหลือจะประมาณได้ ที่สอนให้ภิกษุในพระศาสนานี้เจริญศีล สมาธิ ปัญญา สมาธิและปัญญาเป็นงานทางใจชั้นประณีตที่สุด เพื่อให้เร็วเข้า จึงทรงสอนให้ตัด“ปลิโพธ” เครื่องกังวลรบกวนต่างๆ แล้วหลีกออกบำเพ็ญในที่สงัด ดังที่ทรงระบุไว้คือโคนไม้ ป่า และ เรือนว่าง ได้แก่ ถ้ำ ซอกเขา ป่าช้า ลอมฟาง กลางแจ้ง ป่าชัฏ ทรงสอนให้ตั้งหน้าคิดให้เห็นแจ้งตลอดเป็นลำดับไป เริ่มตั้งแต่การพิจารณาร่างกายนี้ ค้นให้พบสภาวะธรรมดาตามที่เป็นจริงอย่างไร จนหายยึดมั่น สลัดเครื่องเศร้าหมองของดวงจิตออกให้สิ้นเชิง มีปรีชาญาณไม่ติดขัดในปัญหาอันเกี่ยวกับชีวิต โดยเฉพาะคือสุขและทุกข์อีกสืบไป นี่คือ “การปฏิบัติธรรม” ซึ่งเป็นการทำลายรากเหง้าของความทุกข์ ได้แก่ อวิชชา”
.
พุทธทาสภิกขุ
ที่มา : จากหนังสือ “ชุมนุมเรื่องยาว ของ พุทธทาสภิกขุ” หัวข้อเรื่อง “เรื่องเกี่ยวกับการปฏิบัติธรรม”








... จบที่ตรงไหนรู้ไหม? หรือท่านจะเรียนอย่างนี้เรื่อยไปงั้นรึ? หรือท่านเรียนมีที่จบ? อันนั้นก็ดี แต่มันเป็นปริยัติข้างนอก ไม่ใช่ปริยัติข้างใน ปริยัติ ข้างในจะต้องเรียนตาของเรานี่ หูนี่ จมูกนี่ ลิ้นนี่ จิตนี่ อันนี้เป็นปริยัติ ที่แท้ อันนั้นเป็นปริยัติเป็นตัวหนังสือ
อยู่ข้างนอกเรียนจบได้ยาก ตาเห็นรูปมีอาการเกิดขึ้นอย่างไร หูฟังเสียงมีอาการเกิดขึ้น อย่างไร จมูกดมกลิ่นมีอาการเกิดอย่างไร ลิ้นลิ้มรสมีอาการเกิดขึ้น อย่างไร โผฏฐัพพะกับกายกระทบกันนั้นมีอาการเกิดขึ้นอย่างไร
อารมณ์ที่รู้ทางใจนั้นมันเกิดขึ้นแล้วเป็นอย่างไร ยังมีโลภไหม ยังมี โกรธอยู่ไหม ยังมีหลงอยู่นั่นไหม หลงกับรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ ธรรมารมณ์ ที่เกิดขึ้นนั่นไหม อันนี้เป็นปริยัติข้างใน เรียน จบง่ายๆ เรียนจบได้
ปริยัติข้างนอกเรียนจบไม่ได้หรอก มันหลายตู้ ถ้าเราเรียน ปริยัติแต่ไม่ได้ปฏิบัติก็ไม่ได้รับผล เหมือนกับคนเลี้ยงโค ตอนเช้าก็ ต้อนโคออกไปกินหญ้า ตอนเย็นก็ต้อนโคมาเข้าคอกเท่านั้น แต่ไม่เคยได้กินน้ำนมโค
ดีแต่ว่าได้ต้อนออกไปจากคอกตอนเช้า แล้วก็ต้อนโค เข้ามาเท่านั้น ไม่เคยได้กินน้ำนมโคเลย แต่นั่นเรียนก็ดีหรอก แต่อย่า ให้เป็นอย่างนั้น ให้ได้เลี้ยงโคด้วย กินน้ำนมโคด้วย นี่ก็ต้องเรียนให้รู้ ด้วย ปฏิบัติด้วย จึงจะถูกต้องดี
นี่พูดให้ถูกเรื่องก็ว่า เหมือนคนเลี้ยงไก่ ไม่ได้กินไข่ไก่ ได้แต่ขี้ ไก่ อันนี้พูดให้คนเลี้ยงไก่โน่นหรอก ไม่ได้พูดให้โยม พูดให้คนเลี้ยงไก่ ระวังอย่าให้เป็นอย่างนั้น ก็เหมือนกับว่าเราเรียนปริยัติได้
แต่ไม่รู้จัก ละกิเลส ไม่รู้จักละความโลภ ความโกรธ ความหลง ออกจากใจของ เรา ได้แต่เรียน ไม่ได้ปฏิบัติ ไม่ได้ละ มันก็ไม่เกิดประโยชน์ จึงเปรียบว่าคนเลี้ยงไก่ไม่ได้กินไข่ไก่ ได้แต่ขี้ไก่ เหมือนกันอย่างนั้น
เพราะฉะนั้นพระพุทธเจ้าของเราท่านจึงต้องการให้เรียนปริยัติเพียงพอรู้ ที่ สำคัญคือเรียนแล้วก็ให้ปฏิบัติ ปฏิบัติละความชั่วออกจากกาย วาจา ใจ ของเรา แล้วประพฤติคุณงามความดีไว้ที่กาย วาจา ใจ ของเรา เท่านั้น คุณสมบัติของมนุษย์ที่จะบริบูรณ์นั้น ก็คือสมบูรณ์ด้วยกาย วาจา และใจ
กาย วาจา ใจ จะสมบูรณ์นั้น เช่นว่าพูดดีเฉยๆ ก็ไม่สมบูรณ์ ถ้าใจไม่กระทำตาม ทำดีแต่กายเฉยๆ ใจไม่ดีนั้น ก็ไม่ สมบูรณ์ พระพุทธองค์ทรงสอนให้ดี ด้วยกาย ด้วยวาจา ด้วยใจ กาย งาม วาจางาม ใจงาม เป็นสมบัติของมนุษย์ที่ดีที่สุด นี่ก็เหมือนกันฉันนั้น
เรียนก็ต้องดี ปฏิบัติก็ต้องดี ละกิเลสก็ต้องดี สมบูรณ์อย่างนั้น ที่พระพุทธเจ้าหมายถึงมรรค คือหนทางที่เราจะปฏิบัตินั้น มี แปดประการ มรรคทั้งแปดนั้นไม่ใช่อยู่ที่อื่น อยู่ที่กายของเรานี้ ตา สอง หูสอง จมูกสอง ลิ้นหนึ่ง กายหนึ่ง นี่เป็นมรรค แล้วจิตเป็นผู้เดิน มรรค เป็นผู้ทำมรรคให้เกิดขึ้น
ฉะนั้น ทั้งปริยัตินี้ ทั้งปฏิบัตินี้ จึงอยู่ที่กาย วาจา ใจ ปฏิบัติ อยู่ที่ตรงนี้ ที่เราได้เรียนปริยัตินั้นเคยเห็นไหม เคยเห็นปริยัติที่สอนอยู่ นอกกายไหม เคยเห็นปริยัติที่สอนอยู่นอกวาจาไหม เคยเห็นปริยัติที่สอนอยู่นอกใจไหม ก็มีแต่ที่สอนอยู่ที่กาย วาจา ใจ นี้ ทั้งนั้น ไม่ได้สอนอยู่ที่อื่น ฉะนั้นกิเลสมันก็เกิดขึ้นตรงนี้ ถ้ารู้มัน มันก็ ดับตรงนี้ ฉะนั้น ให้เข้าใจว่าปริยัติ ปฏิบัติ นั่นอยู่ตรงนี้
ถ้าเราเรียนสั้นๆ นี่ มันก็ได้หมด เหมือนกับคำพูดของคนเรา ถ้าพูดเป็นสัจจธรรมถูกต้องด้วยดีแล้ว แม้คำพูดคำเดียวเท่านั้น ก็ดี กว่าพูดที่ไม่ถูกต้องตลอดชีวิตใช่ไหม
คนที่เรียนปริยัติแล้วไม่ปฏิบัติ ก็ เหมือนทัพพีตักแกงที่อยู่ในหม้อ มันตักแกงทุกวัน แต่มันไม่รู้รสแกง ทัพพีไม่รู้รสของแกง ก็เหมือนคนเรียนปริยัติที่ไม่ได้ปฏิบัติ ถึงแม้จะ เรียนอยู่จนหมดอายุ ก็ไม่รู้จักรสของธรรมะ เหมือนทัพพีไม่รู้รสของ แกงฉันนั้น

หลวงพ่อชา สุภัทโท







หลวงปู่มั่นโปรดวิญญาณสามเณรและหญิงที่เป็นห่วงพระเจดีย์ที่ยังสร้างไม่เสร็จ
การสร้างพระเจดีย์เราสร้างหวังบุญหวังกุศลต่างหาก มิได้สร้างเพื่อหวังเอาก้อนอิฐก้อนหินปูนทรายในองค์พระเจดีย์ไปด้วย ท่านเล่าว่า
หลายคืนที่ทำความเพียรอยู่ตลอดกลางคืนยามดึกสงัด ปรากฏเห็นสามเณรน้อยองค์หนึ่งกับผู้หญิงคนหนึ่ง พากันเดินผ่านไปผ่านมาอยู่แถวบริเวณนั้นแทบทุกคืน ท่านนึกสงสัยว่าคนทั้งสองนี้เดินไปมาเพื่อประสงค์อะไร
วันต่อมาจึงถามถึงเหตุที่ต้องพากันมาเดินวกเวียนอยู่แถวนั้น ก็ได้คำตอบจากคนทั้งสองว่า เป็นห่วงและอาลัยในพระเจดีย์ที่สร้างยังไม่เสร็จ แต่ได้ตายไปเสียก่อน เพราะความห่วงใยนั้นจึงต้องวกเวียนไปมาอยู่ทำนองนี้นานแล้ว ส่วนสามเณรน้อยนั้นเป็นน้องชายของหญิงคนนั้น ทั้งสองคนได้ร่วมกำลังกันสร้างพระเจดีย์ ความที่ต่างคนต่างห่วงและอาลัยพระเจดีย์และเสียดายเวลาไม่รอคอยพอให้สร้างพระเจดีย์เสร็จก่อนแล้วค่อยตายไป จะไม่เป็นภาระผูกพันดังที่เป็นอยู่เวลานี้ แม้จะเป็นอยู่ในภพที่มีความห่วงใย แต่ก็มิได้มีความทุกข์ทรมานซึ่งควรจะเป็น เป็นแต่จะไปผุดไปเกิดที่ไหนก็ไม่อาจปลงใจลงได้เด็ดขาดเท่านั้น
ท่านจึงได้เทศน์ให้คนทั้งสองฟังว่า
สิ่งที่ล่วงไปแล้วไม่ควรไปทำความผูกพัน เพราะเป็นสิ่งที่ล่วงไปแล้วอย่างแท้จริง แม้จะทำความผูกพันและมั่นใจให้สิ่งนั้นกลับมาเป็นปัจจุบันก็เป็นไปไม่ได้ ผู้ทำความสำคัญมั่นหมายนั้นเป็นทุกข์แต่ผู้เดียวโดยความไม่สมหวังตลอดไป อนาคตที่ยังไม่มาถึงก็เป็นสิ่งไม่ควรไปยึดเหนี่ยวเกี่ยวข้องเช่นกัน อดีตควรปล่อยไว้ตามอดีต อนาคตก็ควรปล่อยไว้ตามกาลของมัน ปัจจุบันเท่านั้นจะสำเร็จประโยชน์ได้ เพราะอยู่ในฐานะที่ควรทำได้ไม่สุดวิสัย
การสร้างพระเจดีย์ไม่สำเร็จแต่มาด่วนตายไปเสียก่อนนั้น ถ้าเป็นสิ่งที่สามารถทำให้เป็นไปตามใจหวังได้แล้วเราก็ไม่ควรตาย ควรจะสร้างให้สำเร็จไปเสียก่อน แต่ยังฝืนตายไปจนได้ มิหนำเวลาตายแล้วยังมาเป็นห่วงอยากให้เจดีย์สำเร็จทั้งที่ไม่สามารถทำได้ นี่แสดงว่าคิดผิดไปถึงสองชั้น แล้วยังจะเป็นห่วงเพื่อให้สมความปรารถนาอีกต่อไป ยิ่งคิดผิดไปอีกสามชั้น ความคิดผิดมิได้ผิดเฉพาะความคิดเท่านั้น การไปการมาเกิดในภพ การเสวยสุขเสวยทุกข์ในภพนั้น ๆ ก็พลอยผิดความมุ่งหมายไปด้วย เพราะความคิดผิดเป็นสาเหตุจากใจเพียงดวงเดียว จึงเป็นการไม่สมควรอย่างยิ่งที่จะฝืนคิดฝืนเป็นห่วงต่อไป
การสร้างพระเจดีย์เราสร้างหวังบุญหวังกุศลต่างหาก มิได้สร้างเพื่อหวังเอาก้อนอิฐก้อนหินปูนทรายในองค์พระเจดีย์ไปด้วย สิ่งที่เป็นสมบัติของเราในการสร้างพระเจดีย์ก็คือบุญ สร้างได้มากน้อยบุญที่เกิดจากการสร้างนั้นเป็นของเรา จึงไม่ควรเป็นห่วงใยในอิฐในปูนและในพระเจดีย์ ซึ่งเป็นวัตถุที่หยาบยิ่ง และเป็นสิ่งสุดวิสัยที่จะให้เป็นไปได้ดังใจหวัง ท่านนักสร้างบุญทั้งหลาย ท่านเอาเฉพาะบุญติดตัวไป มิได้เอาสิ่งก่อสร้างวัตถุทานต่าง ๆ ที่สละลงเพื่อทานแล้วติดตัวไปด้วย เช่น การสร้างวัด สร้างกุฎีวิหาร ศาลาโรงธรรมสวนะ สร้างถนนหนทาง สร้างถังน้ำ สร้างสาธารณสถาน ตลอดการให้ทานด้วยวัตถุต่าง ๆ มากมายหลายวิธี สิ่งเหล่านั้นเป็นเพียงเครื่องสนองกุศลเจตนาของผู้มุ่งทำบุญให้ทานเท่านั้น มิใช่ตัวบุญ ตัวกุศล ตัวสวรรค์นิพพาน และมิใช่ผู้จะไปสู่มรรค สู่ผล สู่สวรรค์นิพพาน สร้างไว้แล้วนานไปก็ชำรุดทรุดโทรม และร่วงโรยไปตามฐานะและกาลของมัน สิ่งที่สำเร็จจากการก่อสร้างและการให้ทานอันเป็นส่วนนามธรรมอยู่ภายในนั้น คือตัวบุญกุศล เจ้าของผู้คิดเป็นกุศลเจตนาขึ้นมาให้สำเร็จเป็นวัตถุไทยทานต่าง ๆ นั้นคือใจ ใจนี่แลเป็นผู้ทรงบุญทรงกุศล ทรงมรรค ทรงผล ทรงสวรรค์นิพพาน และใจนี่แลเป็นผู้ไปสู่สวรรค์นิพพาน นอกจากใจไม่มีอะไรจะไป เจดีย์ของคุณทั้งสองที่สร้างยังไม่เสร็จนั้น ก็มิได้มีจิตใจพอจะมีเจตนาในบุญกุศลเพื่อไปสวรรค์นิพพานอะไรเลย ความเป็นห่วงก็คือใจดวงหึงหวง แม้จะเป็นฝ่ายดี แต่ความคิดที่ติดอยู่จัดว่าเป็นความคิดที่ไม่ฉลาดต่อตัวเองอยู่นั่นแหละ จึงทำเจ้าของให้วกไปเวียนมาชักช้าต่อทางไปผุดไปเกิด ถ้าคุณทั้งสองยินดีเฉพาะกุศลผลบุญที่ทำได้จากการสร้างพระเจดีย์ไปเท่านั้น ไม่มุ่งจะแบกหามพระเจดีย์ไปสวรรค์นิพพานด้วย คุณทั้งสองก็ไปอย่างสุคโตหายห่วงไปนานแล้ว เพราะบุญเป็นเครื่องสนับสนุนคนให้สุคโตเสมอมา ดังธรรมแสดงไว้ว่าอกาลิโก ฉะนั้นบุญจึงไม่เปลี่ยนแปลงตัวกลายเป็นบาปตลอดกาล ความห่วงในสิ่งไม่ควรห่วงและในกาลไม่ควรห่วง จึงเป็นความผิดของผู้ห่วงใยเอง อนึ่งความห่วงใยอยากให้เจดีย์สำเร็จนั้น ก็มิได้สำเร็จไปตามความห่วงความหวัง จึงไม่ควรตั้งจิตคิดเป็นห่วงในสิ่งที่เป็นไปไม่ได้ พลังแห่งบุญกุศลของคุณทั้งสองพอดีกับคุณทั้งสองอยู่เฉพาะปัจจุบัน อย่าคิดเรื่องอดีตอนาคตให้เป็นการกดถ่วงกำลังใจที่ควรจะไปทางดีให้เสียเวลาอยู่นาน ดังที่เป็นมาและเป็นอยู่ขณะนี้ ควรแก้ไขเจตสิกธรรม คือความคิดปรุงต่าง ๆ นั้นเสีย คุณทั้งสองจะหายห่วงและไปอย่างสบายหายกังวลในไม่ช้า ขอได้พากันสนใจในปัจจุบันอันเป็นที่บรรจุกุศลธรรมทั้งมวลเพื่อมรรคผลนิพพาน อดีตอนาคตเป็นข้าศึกที่ควรแก้ไขอย่าให้เนิ่นนาน
คุณทั้งสองเป็นบุคคลที่น่าสงสารมาก สร้างบุญญาภิสมภารมาเพื่อยังตนไปสู่สุคติ แต่กลับมาติดกังวลในอิฐในปูนเพียงเท่านั้น จนเป็นอุปสรรคต่อทางเดินของตนซึ่งทำให้เสียเวลาไปนาน ถ้าคุณทั้งสองพยายามตัดความขัดข้องห่วงใยที่กำลังเป็นอยู่ออกจากใจ ชั่วเวลาไม่นานเลยจะเป็นผู้หมดภาระเครื่องผูกพัน คุณมีจิตมุ่งมั่นในภพใดจะสมหวังในภพนั้น เพราะแรงกุศลที่ได้พากันสร้างมาพร้อมอยู่แล้ว จากนั้นท่านแสดงศีล ๕ ซึ่งเป็นคุณธรรมที่ไม่ขัดต่อภพกำเนิดและเพศวัยให้ฟัง พร้อมอานิสงส์เป็นใจความย่อว่า
หนึ่ง สิ่งที่มีชีวิตเป็นสิ่งที่มีคุณค่าอยู่ในตัวของมันเอง จึงไม่ควรเบียดเบียนและทำลายคุณค่าแห่งความเป็นอยู่ของเขาให้ตกไป อันเป็นการทำลายคุณค่าของกันและกันเป็นบาปกรรมแก่ผู้ทำ
สอง สิ่งของของใคร ๆ ก็รักและสงวนแม้คนอื่นจะเห็นว่าไม่ดีมีคุณค่า แต่ผู้เป็นเจ้าของย่อมเห็นคุณค่าในสมบัติของตน ไม่ว่าสมบัติหรือสิ่งของใด ๆ ที่มีเจ้าของ แม้มีคุณค่าน้อยก็ไม่ควรทำลาย คือ ฉกลัก ปล้นจี้ เป็นต้น อันเป็นการทำลายสมบัติและทำลายจิตใจกันอย่างหนัก ทั้งเป็นบาปมาก ไม่ควรทำ
สาม ลูกหลานสามีภริยาใคร ๆ ก็รักสงวนอย่างยิ่ง ไม่ปรารถนาให้ใครมาอาจเอื้อมล่วงเกิน จึงควรให้สิทธิเขาโดยสมบูรณ์ ไม่ล่วงล้ำเขตแดนของกันและกัน อันเป็นการทำลายจิตใจของผู้อื่นอย่างหนักและเป็นบาปไม่มีประมาณ
สี่ มุสา การโกหกพกลมเป็นสิ่งทำลายความเชื่อถือของผู้อื่นให้ขาดสะบั้นลง ขาดความนับถืออย่างไม่มีชิ้นดีเลย แม้แต่สัตว์ดิรัจฉานเขาก็ไม่พอใจในคำหลอกลวง จึงไม่ควรพูดโกหกหลอกลวงให้ผู้อื่นเสียหาย
ห้า สุรา ตามธรรมชาติเป็นของมึนเมาและให้โทษอยู่ในตัวของมันอย่างเต็มที่อยู่แล้ว เมื่อดื่มเข้าไปย่อมสามารถทำคนดี ๆ ให้กลายเป็นคนบ้าได้ในทันทีทันใด และลดคุณค่าลงโดยลำดับ ผู้ต้องการเป็นคนดีมีสติปกครองตัวอย่างมนุษย์ทั้งหลาย จึงไม่ควรดื่มสุราเครื่องทำลายสุขภาพทางกายและทางใจอย่างยิ่ง เพราะเป็นการทำลายตัวเองและผู้อื่นไปด้วยในขณะเดียวกัน
อานิสงส์ของศีล ๕ เมื่อรักษาได้
หนึ่ง ทำให้อายุยืนปราศจากโรคภัยมาเบียดเบียน
สอง ทรัพย์สมบัติที่อยู่ในความครอบครอง มีความปลอดภัยจากโจรผู้ร้ายมาราวีเบียดเบียนทำลาย
สาม ระหว่างลูกหลาน สามีภริยาอยู่ด้วยกันเป็นผาสุก ไม่มีผู้มาคอยล่วงล้ำกล้ำกราย ต่างครองกันด้วยความเป็นสุข
สี่ พูดอะไรมีผู้เคารพเชื่อถือ คำพูดมีเสน่ห์เป็นที่จับใจไพเราะด้วยสัตย์ด้วยศีล เทวดาและมนุษย์เคารพรัก ผู้มีสัตย์มีศีลไม่เป็นภัยแก่ตนและผู้อื่น
ห้า เป็นผู้มีสติปัญญาดีและเฉลียวฉลาด ไม่หลงหน้า หลงหลัง จับโน่นชนนี่เหมือนคนบ้าบอหาสติไม่ได้
ผู้มีศีลเป็นผู้ปลูกและส่งเสริมความสุขบนหัวใจคนและสัตว์ทั่วโลก ให้มีแต่ความอบอุ่นใจ ไม่เป็นที่ระแวงสงสัย ผู้ไม่มีศีลเป็นผู้ทำลายหัวใจคนและสัตว์ให้ได้รับความทุกข์เดือดร้อนทุกหย่อมหญ้า ฉะนั้นผู้เห็นคุณค่าของตัวจึงควรเห็นคุณค่าของผู้อื่นว่ามีความรู้สึกเช่นเดียวกัน ไม่เบียดเบียนทำลายกัน ผู้มีศีลสัตย์เมื่อทำลายขันธ์ไปเกิดในสุคติโลกสวรรค์ไม่ตกต่ำ เพราะอำนาจศีลธรรมคุ้มครองรักษาและสนับสนุน จึงสมควรอย่างยิ่งที่จะพากันรักษาให้บริบูรณ์ เมื่อจากอัตภาพนี้จะมีสวรรค์เป็นที่ไปโดยไม่ต้องสงสัย ธรรมที่สั่งสอนแล้วควรจดจำให้ดี ปฏิบัติให้มั่นคง จะเป็นผู้ทรงสมบัติทุกอย่างในอัตภาพที่จะมาถึงในไม่ช้านี้แน่นอน
พอจบธรรมเทศนา สองพี่น้องมีใจร่าเริงในธรรม และขอสมาทานศีล ๕ กับท่าน ท่านได้ประกาศศีล ๕ ให้แก่สองพี่น้องตามเจตนา พอเสร็จการแสดงธรรมและประกาศศีล ๕ แล้ว คนทั้งสองได้นมัสการลาและหายตัวไปในที่และขณะนั้นนั่นเอง
ด้วยอำนาจกุศลศีลทานที่ได้สร้างมาและกุศลที่ฟังธรรมรักษาศีล ๕ กับท่านอาจารย์ สองพี่น้องได้เปลี่ยนภพถ่ายภูมิที่เป็นอยู่ ไปเกิดในสวรรค์ชั้นดาวดึงส์พิภพในลำดับต่อมาโดยไม่ชักช้า และได้พากันมานมัสการเยี่ยมฟังเทศน์ท่านอาจารย์เสมอมิได้ขาด พร้อมด้วยความขอบพระคุณท่านที่เมตตาอนุเคราะห์ให้อุบายสั่งสอนต่าง ๆ จนได้พ้นจากความวกเวียนไปมาในสถานที่นั้น แล้วไปเกิดในสวรรค์เสวยทิพยสมบัติที่ไปรอคอยอยู่เป็นเวลานานแล้วอย่างมีความสุข

หลวงปู่มั่น ภูริทัตโต










หลวงปู่อว้าน​ เขมโก ก็เน้นมากๆ​ ว่า อย่าทำบาปอกุศลกรรมเอง... และอย่ายินดีที่ผู้อื่นทำบาปกรรมเป็นอันขาด... จะมีผลกรรมถึงตัว​ ในภพชาติปัจจุบัน
แม้นพระพุทธเจ้า​ ได้เคยยินดีที่ชาวประมงฆ่าปลาได้มาก​ ในพระชาติที่ผ่านมา​ จึงเป็นเหตุให้ทรงเป็นโรคปวดหัว​ รักษาไม่หาย

หลวงปู่อว้าน เขมโก








“อริยทรัพย์ เป็นทรัพย์อันประเสริฐ”
..อยู่ภายในจิตใจ ดีกว่าทรัพย์ภายนอก
เพราะไม่มีผู้ใด แย่งชิงได้ ไม่สูญหายไปด้วยภัยอันตรายใดๆ ทำให้ใจไม่อ้างว้างยากจน
เป็นทุนสร้างทรัพย์ ภายนอกได้ด้วย
ตราบใดทะเลยังมีคลื่น อย่าพากันคาดหวัง
ความราบรื่นบนทางชีวิต ตราบใดยังมีสว่าง
มีมืดมิด ไม่ต่างอะไรกับชีวิต มีขึ้น มีลง
ฉะนั้น อย่าพากันประมาทในชีวิต
ให้พากันสู้ต่อไป ดำรงตามทำนองคลองธรรม..

หลวงปู่ท่อน ญาณธโร
วัดศรีอภัยวัน ตำบลนาอ้อ อำเภอเมือง จังหวัดเลย











“อย่าเกิดมาเฉยๆ ตื่นขึ้นมาแล้ว มีแต่หาอยู่หากิน”
..วิ่งเต้นขวนขวาย เหมือนสัตว์..เดรัจฉาน
การกุศลศีลทานไม่มีเลยนี้ ใช้ไม่ได้นะ เสียมากที่สุด มนุษย์เราต้องมีการสร้างบุญ สร้างกุศล ศีลทาน
เพื่อเป็นเชื้ออันดีงาม หรือเลิศเลอ แก่ภูมิมนุษย์
ของเราด้วย เราสร้างที่อยู่ที่อาศัยปัจจัยเครื่องอาศัย
ไปวันหนึ่งๆ เพื่ออยู่เพื่อกินเพื่อหลับเพื่อนอนก็สร้าง
นี่เรียกว่า เราแบ่งสันปันส่วนให้ทั้งสมบัติทางกาย
ได้อาศัย ทั้งสมบัติทางจิตใจคือบุญกุศล ก็ให้ได้อาศัย อย่าได้ปล่อยไปเลยๆ เกิดมาตั้งแต่วันเกิดจนกระทั่ง
วันนี้ เคยให้ทานไหม ถ้าลงว่าไม่เคยให้ทานเลยแล้วหมดนะ บอกอย่างนั้นเลย ชีวิตของคนทั้งคนนี้
ตั้งแต่เกิดมานี้อายุเท่าไรแล้ว ไม่เคยให้ทานกับเขาเลย เรียกว่าสิ้นท่าหมดคุณค่าหมดราคามาตลอดจนกระทั่งวันนี้ ถ้าวันนี้ยังไม่ได้สติสตังทำบุญให้ทานไม่ได้แล้ว วันนี้ก็ติดอีก วันหน้าก็เป็นอีก มนุษย์ขาดไปเรื่อยๆ เหลือตั้งแต่ซากมนุษย์เท่านั้น..

หลวงตาพระมหาบัว ญาณสัมปันโน วัดป่าบ้านตาด อำเภอเมือง จังหวัดอุดรธานี








“ลงมือปฏิบัติตอนนี้ ยังบ่ถือว่าสายดอก
ถ้าอยากเป็นพระอรหันต์ต้องตัดความ
“เกียจคร้าน” ออกไปจากจิตใจเสียก่อน
ให้เพิ่มขันติวิริยะเข้าไปหลาย ๆ ถึงชาตินี้
บ่ได้เป็นพระอรหันต์เหมือนผู้ที่ท่านสำเร็จ
ไปแล้ว แต่ยังได้ชื่อว่าเป็นผู้เข้าใกล้พระนิพพาน”

โอวาทธรรมองค์หลวงปู่ชอบ ฐานสโม
วัดป่าสัมมานุสรณ์ จ.เลย









โยม : หลวงปู่ครับ หลวงปู่เป็นพระอรหันต์จริงไหมครับ
หลวงปู่สังข์ : ใครบอกล่ะโยม
โยม : ในอินเตอร์เน็ตครับ
หลวงปู่สังข์ : โฮ้ย! คนสมัยนี้เนาะอินเตอร์มันว่าอย่างใด ก็เชื่อมันหมด ตุ๊นั้นเป็นอรหันต์ ตุ๊นี่เป็นอรหันต์ ก็พากันเชื่อหมด ธรรมะพระพุทธเจ้ามีบ่ยอมเข้าใจ บ่เอาไปปฏิบัติฮ้องหาก่าพระอรหันต์

หลวงปู่สังข์ สังกิจโจ
วัดป่าอาจารย์ตื้อ อ.แม่แตง จ.เชียงใหม่









ความยินดียินร้ายทำให้เกิดความอยาก
ยินดีก็อยากไปอย่างหนึ่ง
ยินร้ายก็อยากไปอย่างหนึ่ง
ความอยากเป็นไปอย่างแรงกล้า
แล้วก็ปรุงแต่งให้มีความคิดเป็น "ตัว" ผู้อยาก
ตัวผู้อยากเกิดมาจากความอยาก
เมื่อเกิดตัวตนขึ้นมาแล้ว
มันก็เป็นทุกข์อย่างไม่มีทางที่จะหลีกเลี่ยงได้
มันเป็นเหมือนการหิ้วของหนัก. ท่านทั้งหลายลองเทียบเคียงดูเองว่า ของหนักพอหยิบขึ้นมาหิ้วเท่านั้นมันก็หนัก, ถ้าวางเสียมันก็ไม่หนัก, ถ้าเอามาหิ้วไว้มันก็หนัก, จึงเกิดมีธรรมะตายตัวขึ้นมาว่า เป็นทุกข์เพราะยึดมั่น, ถ้าไม่ยึดมั่นก็ไม่เป็นทุกข์
คนเราจะทำอะไรก็ได้ทุกอย่าง, ถ้าไม่ยึดมั่นในตัวผู้กระทำหรือผลของการกระทำ มันก็ไม่เป็นทุกข์, พอยึดมั่นเท่านั้นมันก็ จะเป็นทุกข์
มีพระบาลีว่า การถือของหนักเป็นความทุกข์ในโลก การวางของหนักลงเสีย เป็นความสุข ดังนั้น ทุกคน ควรจะมีชีวิตชนิดที่ไม่ยึดของหนัก ไม่แบกของหนัก ไม่หิ้วของหนัก ไม่หาบของหนัก ซึ่งเรียกว่าอุปธิ, มีการถือแบกของหนักแล้วก็ย่อมจะเป็นทุกข์. แต่ว่ามีสติปัญญาสำหรับจะทำอะไรไปได้ ตามที่ควรจะทำ โดยไม่ต้องยึดมั่นถือมั่น.
คนธรรมดามมักจะเข้าใจไปว่า ต้องมีความอยากอย่างแรง ต้องมีความยึดมั่นถือมั่นในสิ่งที่จะกระทำอย่างแรง มันจึงจะทำไปได้, ถูกแล้ว ถ้าอย่างแรงอย่างนั้นมันเป็นอย่างแรงของกิเลส แล้วมันก็เป็นเหตุให้เกิดความทุกข์
แต่ถ้าเราจะมีสติ สัมปชัญญะ มีปัญญา ไม่ให้เกิดความยึดมั่น แล้วก็ทำสิ่งทุกสิ่งที่จะต้องทำไปด้วยอำนาจของสติสัมปชัญญะ และปัญญา มันเป็นการกระทำที่แรงกว่า ดีกว่า ได้ผลกว่า แล้วก็ไม่เป็นทุกข์เลย
ขอให้มีความเข้าใจในเรื่องนี้อย่างเพียงพอ ที่จะยึดถือเป็นหลักสำหรับปฏิบัติ ไม่ใช่ยึดถือเอาเป็นตัวตน แต่ยึดถือเป็นหลักสำหรับปฏิบัติ อย่าให้ผิดพลาดได้

พุทธทาสภิกขุ









” จับร่างกายของเรา สิจับโตได๋กะได้ อยู่ในร่างกายของเรานี่ จับให้มันแน่น อย่าสิเต้นพุ้นเต้นพี่
จับให้มันแน่นเอาให้มันอยู่ เมื่อจิตของเราอยู่มั่นคงแล้ว
จิตของเราเต้นออกเต้นเข้า มันสิทำงานขึ้นมาเองดอก
มันสิให้คือพระอาทิตย์พระจันทร์ ของเราสิมองเห็นปั๊บอยู่ในร่างกายของเรานี่
เออ…มันสิเห็นมาเมิดอยู่ในร่างกายของเฮานี่.”

หลวงปู่สรวง สิริปุญโญ









หลวงพ่อคูณสอนว่า
"อย่าไปเสียเวลากับคำคน แต่จงมั่นใจในการกระทำของตน ปล่อยวางลมปากของคนเสีย ดีชั่วอยู่ที่ตัวทำ สูงต่ำอยู่ที่ทำตัว อย่าเอาดีกับชั่วของตัวเอง ไปฝากไว้กับลมปากของคนที่ไม่รู้จักเราอย่างแท้จริง"
โอวาทธรรม หลวงพ่อคูณ






ผู้บรรลุธรรม เขาไม่ได้มาบอกแบบทางโลก "ผมได้สำเร็จขั้นนั้นแล้ว สำเร็จขั้นนี้แล้ว ผมเป็นโสเดา โสดาแล้ว" ถ้าเป็นอย่างนี้แล้ว ส่วนใหญ่ก็เป็นของปลอมทั้งนั้น คนที่เขาหลุดพ้นจริงๆ บรรลุธรรมจริงๆ เขาไม่มีความอยากให้ใครรู้หลอก เขาไม่บอกใครหลอก เขาจะเก็บตัวเงียบ
...อย่างหลวงปู่ลี (หลวงปู่ลี กุสลธโร) ท่านไม่เคยบอกว่าท่านบรรลุธรรม ก็เพราะมีครูบาอาจารย์ท่านมาบอกใว้ ไม่มีใครรู้เพราะท่านไม่พูดกับใคร ท่านไม่บอกใคร ถ้ามีความอิ่มทางความสุขความพอแล้ว ไม่เห็นต้องอยากไปบอกใคร คนที่อยาก แสดงว่ายังไม่พอ ยังอยากให้คนรู้ ยังอยากให้คนยกย่องสรรเสริญ ก็เลยไปบอก คนที่รู้จริงๆคนที่บรรลุธรรมจริงๆ เขาจะไม่บอก

โอวาทธรรม
หลวงพ่อสุชาติ อภิชาโต
วัดญาณสังวรารามวรมหาวิหาร จ.ชลบุรี
ธรรมะบนเขา วันที่ ๑๐ ธันวาคม ๒๕๕๙







“…การปฏิบัติธรรมในทางด้านจิตนั้น
เราจะต้องเริ่มต้นด้วย “ทำตนเป็นผู้มีศีล”
ศีลนี่เป็นสิ่งสำคัญ เป็นคุณธรรมอันเป็นภาคพื้น
ในการปรับ “กาย วาจาและใจ” ให้อยู่ในสภาพ “ปกติ”
โดยเฉพาะอย่างยิ่ง “ศีล ๕”
อันเป็นศีลที่ฆราวาสโดยทั่วๆไปจะพึงสมาทานปฏิบัติ
เป็นศีลซึ่งเป็นหลักใหญ่ เป็นศีลที่สำคัญ
ศีล ๘ ศีล ๑๐ ศีล ๒๒๗ ก็รวมลงอยู้ในศีล ๕ ข้อ
จะเป็นผู้ใดก็ตามในเมื่อมาตั้งใจที่จะสมาทานรักษาศีล ๕ ข้อ
เมื่อทำศีล ๕ ให้บริสุทธิ์แล้วและตั้งใจทำสมาธิภาวนา
ก็สามารถที่จะทำจิตให้มีความสงบ รู้ซึ้ง
เห็นจริงในสภาวธรรมตามความเป็นจริง
ไม่เฉพาะแต่เท่านั้น…
ยังสามารถให้ “บรรลุมรรคผลนิพพาน” ได้
ยกตัวอย่างเช่น อุบาสก อุบาสิกาในอดีต
สมัยพระพุทธเจ้ายังทรงพระชนม์อยู่ก็มีหลายท่าน
เช่น พระนางวิสาขามหาอุบาสิกา ท่านอนาถบิณฑิกมหาเศรษฐี
ท่านก็เป็นผู้ครองเหย้าครองเรือนแล้วก็มีศีลเพียง ๕ ข้อเท่านั้น
และท่านปฏิบัติธรรมก็ได้บรรลุ “พระโสดาบัน”
คนในสมัยปัจจุบันนี้มีแต่เพียงแค่ศีล ๕
ก็ยังถือว่าเราน้อยหน้าต่ำตา ศีลของเราไม่มาก
บางท่านก็สงสัยว่า มีศีล ๕ ไม่สามารถที่จะปฏิบัติ
ให้บรรลุมรรคผลนิพพานได้…อันนี้เป็นการเข้าใจผิด
ความจริงศีล ๕ ข้อนี้ มันเป็นศีลที่ “กำจัดบาปกรรม”
หรือเป็นการ “ตัดผลเพิ่มของบาปกรรม”
ที่เราจะพึงทำด้วยกายวาจา เช่น
ปาณาติบาต – การเว้นจากการฆ่าสัตว์
อทินนาทาน – เว้นจากการหยิบสิ่งของที่เขาไม่อนุญาต
กาเมสุมิจฉาจาร – เว้นจากการประพฤติผิดในกาม
มุสาวาท – พูดเท็จ สุราฯ – ดื่มของมึนเมา
ถ้าใครสมาทานศีล ๕ ข้อนี้ให้บริสุทธิ์บริบูรณ์แล้ว
ได้ชื่อว่าเป็นการตัดผลเพิ่มของบาป
บาปกรรมที่เราทำที่จะต้องไปเสวยผล คือ ไปตกนรก
หรือไปทรมานในสถานที่หาความเจริญมิได้นั้น
มีแต่การละเมิดศีล ๕ ข้อเท่านั้น
ส่วนอื่นซึ่งเราทำลงไปแม้จะเป็นบาปอยู่บ้าง
ก็เป็นแต่เพียงความมัวหมองภายในจิตใจเท่านั้น…”

หลวงปู่พุธ ฐานิโย วัดป่าสาลวัน อ.เมือง จ.นครราชสีมา











หลวงปู่หล้า เขมปัตโต ตอบปัญหาธรรมและการปฏิบัติธรรม
คำถาม :
หลวงปู่ค่ะดิฉันต้องปฎิบัติเช่นไรค่ะ จึงจะได้เกิดมาในภพภูมิของศาสนาพุทธ เกิดมาในภพภูมิของมนุษย์อีก แต่ดิฉันก็คิดว่า การไม่ขอเกิดมาอีกน่ะดีเยี่ยมที่สุดนะเจ้าค่ะ แต่บุญบารมีของดิฉันจะมีมากพอที่จะทำให้ดิฉันไม่ต้องเกิดอีกหรือไม่ แต่ดิฉันจะเร่งเพียรพยามยามเร่งสะสมบุญนะเจ้าค่ะ เพราะถึงอย่างไรในภพนี้ดิฉันก็ได้เกิดมาในภพภูมิของมนุษย์แล้วก็อย่าได้เสียชาติเกิด ต้องเร่งสะสมบุญไปเรื่อยๆ เร่งทำความเพียรเจริญสติตลอดเวลา เวลาที่ดิฉันต้องออกไปธุรกิจ หรือต้องขึ้นรถลงเรือไปไหนๆ ดิฉันมักจะคิดว่าถ้าดิฉันเกิดตายไปตอนนี้ดิฉันได้ทำอะไรไปบ้างแล้ว ดิฉันก็เลยเกิดความรู้สึกว่าเออ….นี่เรายังไม่ได้ทำอะไรกับเขาเท่าไหร่เลย จะต้องมาตายซะแล้ว เพราะความตายเกิดได้ทุกขณะ ดิฉันนึกถึงความตายอย่างนี้ตลอดเวลา จะเรียกได้ว่า ดิฉันได้เจริญมรณานุสติ ใช่ไหมเจ้าค่ะ
หลวงปู่หล้า เขมปัตโต ตอบ :
เมื่อหลานๆ เห็นภัยในวัฎฎสงสารอย่างเต็มที่แล้ว มันก็เป็นผู้มีวาสนาอยู่ในตัว สามารถทำตัวให้พ้นทุกข์ในปัจจุบันชาติได้โดยแท้ เพราะคนเราเมื่อเห็นทุกข์เป็นหลักของหัวใจแล้ว นั่นก็คือตัวศีล สมาธิ ปัญญานั่นเอง เมื่อเห็นอยู่เนืองๆ ติดต่ออยู่ไม่ขาดสาย ก็เรียกว่าภาวนาอยู่ไม่ขาดสาย เป็นข้อวัตรของจิตใจที่ชอบด้วย หนักเข้าก็เบื่อหน่ายคลายเมาในวัฎฏสงสารแบบเย็นๆ รอบครอบเรียกว่าปัญญาชอบในวิปัสสนา
อนึ่ง บุคคลที่จะเกิดเป็นมนุษย์อีกติดกันในชาติต่อไป เป็นผู้ถึงไตรสรณคมน์เท่านั้นก็พอแล้ว เพราะโหรเอกพระบรมศาสดาองค์ท่านทายว่า บุคคลผู้ถึงพุทธ ธรรม สงฆ์ เป็นสรณะแล้วมีคติเป็นสอง ไม่มนุษย์ก็เทวดา มันเป็นของไม่ยากของผู้ศรัทธา แต่ก็ตรงกันข้ามเป็นของยากผู้ที่ไม่ศรัทธา ความดีคนดีทำได้ง่าย ความชั่วคนดีทำได้ยาก ความชั่วคนชั่วทำได้ง่าย ความดีคนชั่วทำได้ยาก สิ่งเหล่านี้เป็นของจริงมาแต่ดึกดำบรรพ์
และการเกิดในศาสนาพุทธนั้น เมื่อเราได้ถึงไตรสรณคมน์แล้ว มันก็มีพืชไว้แล้วถึงแม้มีภพมีชาติอีก มันก็ไปเกิดเป็นมนุษย์ในพุทธศาสนานั่นเองไม่ต้องสงสัยเลยนา การเกิดเป็นเทวดาเทวบุตรและพรหมมีทุกข์น้อยกว่ามนุษย์ก็จริงอยู่แล้ว แต่เมื่อมันอยู่ใต้อำนาจความไม่เที่ยงแล้ว ก็จัดว่าเป็นทุกข์เสมอกันในด้านปรมัตถ์ และก็มรรคผลก็มีในชั้นเทวโลก และพรหมโลกเหมือนกัน บางท่านก็ภาวนาติดต่อกันในภพนั้นๆ สร้างบารมีอยู่ในภพนั้นๆ ก็เป็นพระอริยบุคคลได้เหมือนมนุษย์เรานี่เอง มันก็ล่าช้าอยู่แต่สัตว์เดรัจฉาน เปรตทุกจำพวก และสัตว์นรกทุกจำพวกเท่านั้น
?จะอย่างไรก็ตาม เราไม่ตีตนตายก่อนไข้ เราจะไม่หวังภพต่อไปในอนาคตอีก เราจองขาดผูกขาดเพื่อพ้นทุกข์ทั้งปวงในชาติปัจจุบัน เพื่อจะตัดปัญหาความมุ่งหวังหลายทาง ให้เหลือแต่ทางเดียวปัญหามันจะน้อยลง ความประสงค์ก็ไม่มีมาก แม้เราจะภาวนาเห็นกองทุกข์ขณะจิตเดียวหรือพุทโธคำเดียว ก็มีคุณค่ามากกว่าที่ปรารถนาในภพต่อไป การปรารถนาในภพต่อๆ ไปตั้งล้านๆ ขณะจิต ก็ไม่เท่าขณะจิตเดียวที่หวังพ้นทุกข์ในปัจจุบันชาติ?
การจองคิว การสมาทาน เจตนา ความประสงค์ ความต้องการ และการอธิษฐานทั้งหลายเหล่านี้เรียกชื่อต่างกัน แต่ก็มีความหมายอันเดียวกัน ฉะนั้นความต้องการพ้นทุกข์ในปัจจุบันชาติ เป็นสติปัญญา ศีล สมาธิมีพลังมาก แต่เราบัญญัติไม่เป็นก็กล่าวตู่ว่าศีลไม่มีในเจตนา ที่แท้นั้น เจตนาหัง ภิกขเว สีลัง วทามิ เจตนาไปทางดีนั่นเองเป็นศีล สมาธิ ปัญญากลมกลืนกันในขณะเดียว เหมือนเชือกสามเกลียวที่เราเรียกว่า ปัจจุบันจิตปัจจุบันธรรมนั่นเอง ไม่ใช่อื่นไกล จะบัญญัติหรือไม่บัญญัติก็ไม่เป็นปัญหา ขอให้ภาวนาติดต่อกันอยู่ไม่ขาดสายให้เห็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา เป็นเป้าหมายอันเดียวพร้อมกับลมหายใจออก-เข้า นิวรณ์ทั้งหลายมันตั้งอยู่ไม่ได้ดอก
ผู้รักใคร่ภาวนาอยู่เป็นนิจเรียกว่าผู้นั้นบารมีแก่กล้าแล้ว ท่านผู้ใดขี้เกียจก็ให้ทราบเถิดว่าบารมียังอ่อนมาก? จะอย่างไรก็ตามขอให้แบ่งเวลาภาวนาอย่าให้เสียวันเสียคืน จิตใจจะสูงขึ้นเองไม่ต้องบ่นหา จะชนะความหลงของตนแน่แท้

หลวงปู่หล้า เขมปัตโต








"อย่าไปให้ความสำคัญกับของขลังภายนอกยิ่งกว่าทำจิตของเราให้เป็นพระ ตัวเรานั่นแหละเป็นแก้วสารพัดนึก"

หลวงปู่จันทร์เรียน คุณวโร
วัดถ้ำสหายธรรมจันทร์นิมิต อ.หนองแสง จ.อุดรธานี







.. หลักการทางวิปัสสนา
ไม่ได้มีอะไรยุ่งยาก
ไม่ต้องไปคิดนึกหาอุบายอะไรทั้งหมด
เพียงแค่ระลึกรู้สิ่งต่างๆ​ ที่กำลังปรากฏ
ด้วยความปล่อยวางเท่านั้นเอง"

เขมรังษี​ ภิกขุ


แสดงโพสต์จาก:  เรียงตาม  
กลับไปยังกระทู้  [ 1 โพสต์ ] 

เขตเวลา GMT + 7 ชั่วโมง


 ผู้ใช้งานขณะนี้

กำลังดูบอร์ดนี้: ไม่มีสมาชิก และ บุคคลทั่วไป 137 ท่าน


ท่าน ไม่สามารถ โพสต์กระทู้ในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ ตอบกระทู้ในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ แก้ไขโพสต์ของท่านในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ ลบโพสต์ของท่านในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ แนบไฟล์ในบอร์ดนี้ได้

ค้นหาสำหรับ:
ไปที่:  
Google
ทั่วไป เว็บธรรมจักร