ลานธรรมจักร
http://www.dhammajak.net/forums/

คุณงามความดี
http://www.dhammajak.net/forums/viewtopic.php?f=1&t=58324
หน้า 1 จากทั้งหมด 1

เจ้าของ:  รสมน [ 23 พ.ย. 2019, 05:53 ]
หัวข้อกระทู้:  คุณงามความดี

""... ผียังกลัวกันทั้ง​ ๆ​ ที่ยังไม่เคยเห็นกันซักที แต่ก็กลัวผีกันอย่างมากทีเดียว นี่เรื่องผีนี่ยังกลัว​ พูดก็ยังกลัวกันอยู่ #แต่ทำไมไม่กลัวการเวียนว่ายตายเกิด​ #มันน่ากลัวกว่าผีอีกนะ​... "

หลวงพ่อครูบาเจ้าเพชร​ วชิรมโน​







คนที่ห้อยพระเพื่อเพียงเป็นแค่ "เครื่องราง" ห้อยไปก็เท่านั้น ไม่เกิดประโยชน์อะไร แต่คนที่ห้อยพระแล้วมีความเคารพศรัทธา กราบไหว้บูชา ระลึกเป็นอนุสติ จิตใจก็ได้บุญไม่ต่างกันกับการที่เราไปไหว้พระพุทธรูปหรือรูปหล่อครูบาอาจารย์ตามวัดวาต่างๆ...

โอวาทธรรม
หลวงปู่ไม อินทรสิริ









สิ่งที่นางฟ้าเทวดาต้องการ
"ตอนหนึ่งฉันไปจังหวัดอุทัยธานี กำลังจะไปฉันเพลเขา ผีมันมาขออีก ไม่ได้หลับนะ ไม่ต้องหลับ ฉันนั่ง ๆ ผียังมา
ถามว่า : "เธอต้องการอะไร"
เขาบอก : "ต้องการพระพุทธรูป ต้องการผ้า อาหารเล็กน้อย
วันนั้นมันมีเวลา มันว่างอยู่
เลยถามว่า : "ไหนลองบอกอานิสงส์ ซิ ฉันเห็นว่า ขอแบบนี้มาเกินสองสามพันคนแล้ว ฉันก็ทำให้มามาก ฉันก็ไม่ทราบถึงอานิสงส์"
ผีนั้นแกเลยบอกว่า : "การได้อาหารนิดหนึ่ง เป็นเหตุให้ผมได้ร่างกายเป็นทิพย์ การได้ผ้า เป็นเหตุให้ผมได้เครื่องประดับเป็นทิพย์"
ที่มีพระพุทธรูป เทวดากับพรหม นางฟ้า ก็ตาม เขาถือว่า องค์ไหนมีแสงสว่างมาก องค์นั้นมีบุญมากที่สุด เขาถือว่ามีแสงสว่างมาก
แกเลยบอกว่า : "การได้พระพุทธรูปไป มีอานิสงส์ทำให้ร่างกายแกมีแสงสว่างมาก"
เห็นไหม.. ฉะนั้น เทวดาก็ดี พรหมก็ดี นางฟ้า ก็ตาม เขาไม่ถือเครื่องแต่งตัว เขาถือแสงสว่างเป็นสำคัญ

จากหนังสือ โอวาท : หลวงพ่อวัดท่าซุง เล่มที่ ๕ หน้าที่ ๗๐










คนที่ไม่มีโรคทางกาย นับว่าประเสริฐ
แต่คนที่ไม่มีโรคทางใจ คือ "#กิเลส" ประเสริฐกว่า

หลวงปู่แหวน สุจิณฺโณ






อย่าคิดว่าการเจริญสติ
ทำได้แต่ตอนยกมือสร้างจังหวะหรือเดินจงกรม
เวลาเราอาบน้ำก็เจริญสติได้
เวลาเราล้างจานก็ล้างอย่างมีสติ
เวลาเรากินข้าวก็กินอย่างมีสติ
ให้ใจอยู่กับปัจจุบัน
ใจอยู่กับเนื้อกับตัว
การฝึกสติ เราไม่ได้วัดความก้าวหน้าตรงที่ว่า
ใจฟุ้งน้อยลงหรือเปล่า
แต่ดูว่ารู้ทันได้มากน้อยเพียงใดต่างหาก
มันจะฟุ้งไปกี่ครั้งก็ให้รู้ทัน
และกลับมาให้ไวขึ้น
บางคนเข้าใจว่า การเจริญสตินั้นวัดความก้าวหน้า
ตรงที่ว่าใจฟุ้งน้อยลง หรือใจไม่คิดเลย
อย่างนั้นไม่ใช่
เพราะบางทีใจไม่คิดเลยเนื่องจากเราไปกดเอาไว้
แต่ขอให้ดูตรงที่ว่า
เมื่อมันเผลอคิดแล้วรู้ทันได้ไวขึ้นหรือไม่

พระอาจารย์ไพศาล วิสาโล





"สู้ด้วยการละทิ้ง อย่าไปยึดเอาถือเอา เขาว่าให้เรา เขาดูถูกเรา เสียงไม่ดีเข้าหู ก็เพียรละออกไปให้มันหมดสิ้น มนุษย์มีปาก ห้ามมันไม่ให้พูดไม่ได้ มนุษย์มีตา ห้ามไม่ให้มันดูไม่ได้ มันเป็นเรื่องของโลก ท่านจึงตรัสว่า ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ มันเป็นความร้อน ความร้อนคือกิเลส กิเลสเหมือนกับไฟ ไฟมันเป็นของร้อน"

หลวงปู่สิม พุทธาจาโร






ถ้าหากคนเรามองดูเห็นความตายอยู่ใกล้ตนแล้ว ก็จะรีบขวนขวายสร้างคุณงามความดี ให้เกิดให้มีขึ้นแก่ตนเองได้ ถ้าบุคคลไม่เจริญมรณานุสติกรรมฐาน ไม่ระลึกถึงความตายในวันหนึ่งวันหนึ่ง
ไม่รู้ว่าตนเองจะตายในวันใดวันหนึ่งแล้ว ก็ย่อมเป็นคนประมาท
เป็นคนที่หลงระเริงเพลิดเพลินอยู่ว่า ชีวิตของเรานี้จะอยู่ได้ยืนยาวนาน ไปหลายวันหลายเดือนหลายปี ก็จะมีความประมาท
ไม่สร้างสมอบรมบุญบารมีให้เกิดให้มีขึ้นแก่ตน แล้วชีวิตก็จะเสียเปล่าประโยชน์ เหมือนบุคคลบางคนนี่แหละ อยู่บ้านอยู่ช่องก็ดี อยู่กับลูกกับหลานก็เหมือนกัน อยู่กับพี่กับน้อง ไม่เคยไปวัดวาอาวาส ไม่เคยศึกษา ไม่ฟังพระธรรมเทศนา ไม่ฝึกฝนอบรมบ่มนิสัยตนเอง มัวเมาลุ่มหลงอยู่ มืดมนอนธการ ไม่รู้จักประพฤติปฏิบัติ ไม่รู้คุณค่าของชีวิตของตน แล้วก็หมกมุ่นอยู่ในความหลงเพลิดเพลินระเริงอยู่ เขาเรียกว่า หลงระเริงในวัย

หลวงปู่เปลี่ยน ปัญญาปทีโป






“ วิธีภาวนาก็คือวิธีสังเกตตัวเองนั่นแล คือสังเกตจิตที่มีนิสัยหลุกหลิกเหมือนถูกไฟหรือน้ำร้อนลวก ไม่อยู่เป็นปกติสุข ด้วยสติตามระลึกรู้ความเคลื่อนไหวของจิต โดยมีธรรมบทใดบทหนึ่งเป็นคำบริกรรม เพื่อเป็นยารักษาจิตให้ทรงตัวอยู่ได้ด้วยความสงบสุขในขณะภาวนา ตามที่นิยมใช้กันมากและได้ผลดี ก็มีอานาปานสติบ้าง พุทโธบ้าง ธัมโมบ้าง สังโฆบ้าง มรณานุสสติบ้าง หรือเกสา โลมา นขา ทันตา ตโจ โดยอนุโลม ปฏิโลมบ้าง หรือใช้บริกรรมเฉพาะบทใดบทหนึ่งบ้าง พยายามบังคับใจให้อยู่กับอารมณ์แห่งธรรมบทที่นำมาบริกรรมขณะภาวนา ใจที่อาศัยบทธรรมอันเป็นอารมณ์ที่ให้คุณ ไม่เป็นภัยแก่จิต ย่อมจะเกิดความสงบสุขขึ้นมาในขณะนั้น ที่เรียกว่า“จิตสงบ“ หรือ “จิตรวมเป็นสมาธิ“ คือความมั่นคงต่อตัวเอง ไม่อาศัยธรรมบทใด ๆ เป็นเครื่องยึดเหนี่ยวในเวลานั้น เพราะจิตมีกำลังพอดำรงตนอยู่โดยอิสระได้
คำบริกรรมที่เคยนำมากำกับใจ ก็ระงับกันไปชั่วขณะที่จิตปล่อยอารมณ์เข้าพักสงบตัว ต่อเมื่อถอนตัวขึ้นมา ถ้ามีเวลาทำต่อไปก็นำคำบริกรรมที่เคยกำกับมาบริกรรมต่อไป พยายามทำอย่างนี้เสมอ ๆ ด้วยความใฝ่ใจไม่ลดละความเพียร จิตที่เคยทำบาปหาบทุกข์อยู่เสมอก็จะค่อยรู้สึกตัวและปล่อยวางเป็นลำดับ และมีความสนใจหนักแน่นในหน้าที่ของตนเป็นประจำไม่ถูกบังคับถูไถเหมือนขั้นเริ่มแรก ซึ่งเป็นขั้นกำลังฝึกหัด จิตที่สงบตัวลงเป็นสมาธิ เป็นจิตที่มีความสุขเย็นใจมากและจำไม่ลืม ถ้าได้ปรากฏขึ้นเพียงครั้งเดียว ย่อมเป็นเครื่องปลุกใจให้ตื่นตัวและตื่นใจได้อย่างน่าประหลาด หากไม่ปรากฏอีกในวาระต่อไปทั้งที่ภาวนาอยู่ในใจ จะเกิดความเสียดายอย่างบอกไม่ถูก อารมณ์แห่งความติดใจและความเสียดายในจิตประเภทนั้นจะฝังใจไปนาน นอกจากจิตจะเจริญก้าวหน้าขึ้นสู่ความสงบสุขอันละเอียดไปเป็นลำดับเท่านั้น จิตถึงจะลืมและเพลินในธรรมขั้นสูงเรื่อยไป ไม่มาเกี่ยวข้องเสียดายจิตและความสงบที่เคยผ่านมาแล้ว “
จากหนังสือประวัติ...หลวงปู่มั่น ภูริทัตโต

โดย...หลวงตาพระมหาบัว ญาณสัมปันโน










"ให้ทุกข์แก่ท่าน ทุกข์นั้นถึงตัว"
คำถาม : ตอนไปอยู่ขอนแก่น ที่มีคนเอาค้อนมาปา หลวงปู่กำลังเดินจงกรม หรือทำอะไรอยู่
หลวงปู : เขาไม่อยากให้อยู่ ส่วนเราอยากอยู่ มันผิดใจเขา
คำถาม : อยู่บ้านอะไรคะ
หลวงปู : อยู่บ้านหนองหิน เมืองขอนแก่นเราเดินจงกรมจวนจะแจ้งแล้ว คนใหญ่อยู่ (คนปา)
คำถาม : เขาปาแล้วถูกหลวงปู่ไหมเจ้าคะ
หลวงปู : บ่ ถูกแต่ต้นไม้ใหญ่
คำถาม : แล้วเป็นอย่างไรเจ้าคะหลวงปู่ โยมคนนั้นนะ
หลวงปู : กลับไปถึงบ้านเขาแล้วไฟไหม้บ้านเขา

"ฐานสโมบูชา" ประวัติ หลวงปู่ชอบ ฐานสโม










ผู้ประพฤติ พากเพียร
พยายามย่อม พิจารณา
ซึ่งสิ่ง สกปรกน่าเกลียด
จิต จึงพ้นจากสิ่งสกปรก
น่าเกลียดได้ สิ่งสกปรก
น่าเกลียดนั้น​ ก็คือ..
ตัวเรา.. นี้เอง..

หลวงปู่มั่น_ภูริทัตโต








เห็นไหมคนเขาร่ำรวย สวยงาม ยากจน พิกลพิการ
ทำไมเขาจึงเป็นอย่างนั้น
หลวงปู่จะบอกให้นะ คนที่เขาร่ำรวย เพราะว่าเขาทานเขาทำบุญกุศลไว้มากในอดีตชาติ
เกิดมาชาตินี้บุญกุศลนั้นก็ตกมาถึงเขา ให้เขาเป็นคนร่ำรวย สวยงาม ถ้าใครไม่ทำมา จ้างให้ก็ไม่ได้
เหมือนกับเรานี่แหละ ถ้าไม่เอาเงินไปฝากธนาคารไว้แล้วจะไปเบิกถอนได้ไหม นั่นแหละ เรามาทำบุญ รักษาศีล ก็เอามาฝากธนาคารภพธนาคารชาติเอาไว้ เพื่อเราจะเบิกต่อไปในอนาคตกาลข้างหน้า
พระพุทธเจ้าท่านกล่าวไว้ชัดเจนว่า เหตุ ปัจจะโย คือมันมีเหตุ และปัจจัย
เหตุเขาทำดี ปัจจัยเขาย่อมได้รับผลดีอย่างแน่นอนหลวงปู่ไม่ได้สงสัยเลย
การทำบุญทำทานนั้น มันก็ออกจากดวงจิตดวงใจนี้แหละ จะทำอะไรก็แล้วแต่ ก็ออกจากดวงจิตดวงใจทั้งนั้น
เหมือนกันกับญาติโยมที่มาวัดในวันนี้แหละ ก็จิตตัวนี้แหละเป็นตัวสั่งการเสียก่อน สังขารจึงมาได้ ถ้าจิตไม่สั่งการ สังขารก็ไม่มา
เปรียบเหมือนกับสนามบินดอนเมืองที่กรุงเทพฯ เครื่องบินทุกลำที่จะบินไปต่างประเทศ หรือในประเทศ ก็ล้วนแล้วแต่บินออกจากสนามบินดอนเมืองทั้งหมด พอกลับมาก็ต้องลงมาจอดตรงนั้นทั้งหมด นี่หลวงปู่เปรียบให้ฟังง่ายๆ พอจะเข้าใจไหม
จิตของเราก็เปรียบเสมือนสนามบินดอนเมืองนั่นแหละ จะไปทำอะไรก็แล้วแต่ ออกจากดวงจิตทั้งนั้นเป็นผู้สั่งการเสียก่อน คือจิตเป็นนาย กายเป็นบ่าว

หลวงปู่แฟ๊บ สุภัทโท








คนที่ห้อยพระเพื่อเพียงเป็นแค่ "เครื่องราง" ห้อยไปก็เท่านั้น ไม่เกิดประโยชน์อะไร แต่คนที่ห้อยพระแล้วมีความเคารพศรัทธา กราบไหว้บูชา ระลึกเป็นอนุสติ จิตใจก็ได้บุญไม่ต่างกันกับการที่เราไปไหว้พระพุทธรูปหรือรูปหล่อครูบาอาจารย์ตามวัดวาต่างๆ...

(โอวาทธรรม หลวงปู่ไม)







คนหิว อยู่เป็นปกติสุขไม่ได้จึงวิ่งหาโน่นหานี่ เจออะไรก็คว้าติดมือมา #โดยไม่สำนึกว่าผิดหรือถูก
ครั้นแล้วสิ่งที่คว้ามาก็เผาตัวเองให้ร้อนยิ่งกว่าไฟ #คนที่หลงจึงต้องแสวงหา ถ้าไม่หลงก็ไม่ต้องหา จะหาไปให้ลำบากทำไม อะไรๆ ก็มีอยู่กับตัวเองอย่างสมบูรณ์อยู่แล้ว จะตื่นเงา ตะครุบเงาไปทำไม เพราะรู้แล้วว่า เงาไม่ใช่ตัวจริง ตัวจริง คือ สัจจะทั้งสี่ที่มีอยู่ภายในใจอย่างสมบูรณ์แล้ว

คติธรรมคำสอน
หลวงปู่มั่น ภูริทัตตมหาเถร









" เราเกิดมาแล้วมีเงินมีทอง ทำบ้านใหญ่ๆ อยู่สบายไม่ไปวัดไปวา ไม่ไปทำสมาธิภาวนา หาแต่ทรัพย์สมบัติมาเลี้ยงครอบครัว บุญกุศลไม่ทำก็มีบางคน อย่าไปทำอย่างนั้นเปรียบเหมือนแมงมุมมันสร้างใยมัน แล้วมันก็นอนอยู่ในนั้นแหละ เวลาสัตว์มาติดมันก็เอาใยมัดๆแล้วถึงเวลามันก็มากิน สัตว์ใหม่มามันก็เอาอีก ไม่รู้จักทางหนีจากวัฏฏสงสาร.. "

หลวงปู่ผ่าน ปัญญาปทีโป







"คนเรานั้น ดูตรงนี้ก็สวย ตรงนี้ก็ดี ตรงนี้ก็น่ารัก แต่เมื่อดูมาถึงใจคนแล้ว แปรปรวน กลับกลอกสกปรกโสโครกที่สุด ธรรมทั้งหมดต้องพิจารณาที่จิตใจนี้ ไม่ได้สอนนอกไปจากใจคนเลย และเป็นเรื่องที่เรารู้เห็นกันอยู่นี่เอง"

หลวงปู่ฉลวย สุธัมโม
วัดป่าบ้านวไลย (วัดป่าวิทยาลัย)
ต.หนองพลับ อ.หัวหิน จ.ประจวบคีรีขันธ์







"เวลาความอยากมันเกิดขึ้น
อะไรมันอยาก
ลมหายใจเข้า ลมหายใจออก มันอยากมั้ย
ถามมัน
ถาม ผม ขน เล็บ ฟัน หนัง...
ตรงใหนก็ไม่มีความอยากแม้แต่น้อย
แม้ถามใจเรา
ฟังอยู่เฉยๆ ตั้งใจฟังคำตอบ
ใจมันก็ไม่บอกว่า ข้าพเจ้าเป็นใจ ข้าพเจ้าอยาก.
นั้น! แล้วอะไรมันอยาก
ความอยากก็คือความอยาก
ความอยากเกิดจากใจเราที่ว่างจากธรรมมะ
เมื่อว่างจากธรรมมะ ความอยากก็เป็นตัวเป็นตนขึ้นมาทันที"

หลวงปู่แบน ธนากโร









ความอยากเกินประมาณของนักปฏิบัติ
“...นักปฏิบัติธรรมทั้งหลายส่วนใหญ่ก็เช่นเดียวกัน นั่งเข้าไปก้นยังไม่อุ่น ยังไม่เท่าหมานั่ง อยากเห็นนั่นเห็นนี่ อยากให้มันเป็นอย่างนั้นอย่างนี้ อยากรู้นั่นรู้นี่ มันเข้าในเกณฑ์อยากเกินประมาณ คำว่าเกินๆ นี่แหละ มันทำพิษ ทำโลกรุ่มร้อนอยู่ทุกวี่ทุกวัน
สมมุติเราทำน้ำพริกถ้วยหนึ่ง ในน้ำพริกถ้วยนั้นมีสิ่งที่เกินอยู่ในนั้น มันจะกินได้ไหม...น้ำพริกใส่พริกมากเกินไป น้ำปลามากเกินไป ใส่มะนาวมากเกินไป ลูกศิษย์เกินครู ลูกเกินพ่อแม่ พูดมากเกินไป คุยมากเกินไป โม้มากเกินไป บ่นมากเกินไป จู้จี้มากเกินไป หึงมากเกินไป ระแวงมากเกินไป สงสัยมากเกินไป ดีใจมากเกินไป เสียใจมากเกินไป รักมาก ชังมาก พระพุทธองค์ตรัสว่ามัชฌิมาปฏิปทา ให้พอดี น้ำพริกพอดีกินได้เอร็ดอร่อย ที่พูดมาทั้งหมดให้ระวังอย่าให้มันเกินประมาณ ประมาณคือขอบเขตอย่าให้มันเกินออกไป มันจะไม่พอดีพองามพอเหมาะพอสม
อาตมาคิดเห็นความอยากของคนที่เกินประมาณ จะทำสิ่งใดก็อยากได้ผลเร็วๆ ให้ทันจิตทันใจ ทำปุ๊บตอบปั๊บ ทำวันนี้เห็นวันนี้ สมมุติเราทำบาปเสร็จ เกิดหม้อนรกปุ๊ปขึ้นเดี๋ยวนั้น เห็นยมบาลเดี๋ยวนั้น หัวใจมันจะไม่ช็อคตายหรือ มันอัปรีย์จังไรจริงๆ สมมุติมีเด็กหญิงคนหนึ่งอายุ ๓-๔ ขวบ เกิดมีท้องตั้งครรภ์ขึ้นมา เราจะเห็นว่าเป็นอย่างไรในเมื่อมันไม่สมควรจะเป็น มันฝืนธรรมชาติ ปลูกข้าวลง คอยจะขยี้เอาเม็ดมากิน เคยมีไหม น้ำยังไม่เต็มตุ่มเต็มไห จะร้องขออ้อนวอนให้มันล้นออกมาจากปากหม้อปากไห ตายแสนชาติก็ไม่เจอ ความอยากมันเกินพระพุทธเจ้า เลยไปแล้ว เลยไปหาพระเทวทัตแล้ว อเวจีโน้น
พระพุทธเจ้าของเราสอนให้ดูเหตุดูผล ความสุขเกิดจากเหตุอะไร ดี-ชั่ว บาป-บุญ คุณ-โทษ มรรค-ผล สวรรค์-นิพพาน เหตุดีผลย่อมดี ตอบเหมือนชาวนาปลูกข้าว ชาวสวนปลูกกล้วยมะม่วง ชาวนาชาวสวนต่างบำรุงดูแลให้น้ำใส่ปุ๋ยเป็นอย่างดี งอกงามสมบูรณ์ เมื่อถึงฤดูกาลของข้าวออกรวง ใครจะไปหักห้ามไม่ให้มันออกก็ไม่ฟัง ใครจะไปบ่นไปแช่ง ถึงจะเอาหมอเวทมนต์มานั่งบ่นนอนห้ามอยู่กลางทุ่งนา มันก็ไม่ฟังเสียงใครทั้งนั้น กล้วยมะม่วงของชาวสวนก็เช่นเดียวกัน อะไรทุกอย่างในโลกนี้พอเกิดถึงเกิด พอเป็นไปได้จึงเป็นไปได้ พอเป็นพระพุทธเจ้าจึงเป็นพระพุทธเจ้า พอเป็นพระสงฆ์จึงเป็นพระสงฆ์ พอเป็นพ่อจึงเป็นพ่อ พอเป็นแม่จึงเป็นแม่ ปู่ย่าตายายจะเอาเด็กมาเป็น ก็เป็นไปไม่ได้มันผิดวิสัย จะเรียกเด็กว่ายายนั่นตานี่ก็บ้าเท่านั้นแหละ...”

"พระอาจารย์วิไลย์ เขมิโย"
วัดถ้ำพญาช้างเผือก









"อย่าไปให้ความสำคัญกับของขลังภายนอกยิ่งกว่าทำจิตของเราให้เป็นพระ ตัวเรานั่นแหละเป็นแก้วสารพัดนึก"

หลวงปู่จันทร์เรียน คุณวโร
วัดถ้ำสหาย อ.หนองแสง จ.อุดรธานี







เรื่องวุ่นวาย
เรื่องวุ่นวายมีอยู่ ๒ อย่างเท่านั้น คือไปหลงรักอย่างหนึ่ง หลงเกลียดอย่างหนึ่ง ซึ่งเป็นเหตุให้ต้องหัวเราะและร้องไห้ ถ้าใครมองเห็นว่าหัวเราะ มันก็กระหืดกระหอบเหมือนกันสู้อยู่เฉยๆดีกว่า อย่าต้องหัวเราะ อย่าต้องร้องไห้นี่แหละ มันเป็นความเกษม
เพราะฉะนั้นเราอย่าได้ตกเป็นทาสของอารมณ์จนไปหัวเราะหรือร้องไห้ตามที่อารมณ์มายั่ว เราเป็นอิสระแก่ตัว หยุดอยู่หรือเกษมอยู่ อย่างนี้ดีกว่า นี่คือ การที่เราใช้ อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา เป็นเครื่องมือกำกับชีวิตเป็นประจำวัน สามารถเห็นว่า รูป เสียง กลิ่น รส สัมผัส เป็นมายา เป็น illusion เหมือนอย่างที่ตัวกู ของกู เป็น illusion เพราะว่าตัวกู-ของกู มันเกิดจากอารมณ์ ตัวกู-ของกู เป็นมายา อารมณ์ทั้งหลายก็เป็นมายาเห็นได้ด้วยหลัก อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา โรคไม่เกิด ความทุกข์ก็ไม่เกิด

ท่านอาจารย์พุทธทาสภิกขุ
ที่มา หนังสือ แก่นพุทธศาสน์
หนังสือชนะเลิศรางวัล UNESCO แห่งสหประชาชาติ








#ผู้มีเมตตาจิตต่อเพื่อนมนุษย์
"และสัตว์ผู้อาภัพด้วยการให้
การเสียสละแบ่งปัน มากน้อย
ตามกำลังของวัตถุเครื่อง
สงเคราะห์ที่มีอยู่​ จะเป็นวัตถุทาน
ธรรมทาน หรือวิทยาทานแขนงต่างๆ
ก็ตามที่ให้เพื่อสงเคราะห์ผู้อื่นโดยมิได้
หวังค่าตอบแทนใดๆ..
นอกจากกุศล คือความดีที่เกิด
จากทานนั้นซึ่งเป็นสิ่งตอบแทนให้
เจ้าของทานได้รับอยู่โดยดีเท่านั้น
ตลอดอภัยทานที่ควรให้แก่กัน ใน
เวลาอีกฝ่ายหนึ่งผิดพลาดหรือล่วงเกิน.."
#คนมีทานหรือคนที่เด่นในการให้ทาน
ย่อมเป็นผู้สง่าผ่าเผยและเด่นในปวงชน
โดยไม่นิยมรูปร่างลักษณะ

#โอวาทธรรม_หลวงปู่มั่น_ภูริทัตโต
#อาจารย์ใหญ่ฝ่ายวิปัสสนา
[พ.ศ.๒๔๑๓-๒๔๙๒]








หลวงพ่อเป็นหัวหน้าหมู่คณะอย่างนี้ มรสุมข้างนอกไม่น้อยเหมือนกันกระหน่ำไปกระหน่ำมา แต่ก็ต้องทำใจ ต้องฟังได้ทุกอย่าง ไม่ใช่มันไม่มี เกิดมาในโลกนี้นินทา สรรเสริญโลกธรรม ๘ มันมีทั้งนั้นแหละ เราอย่าไปหวั่นไหว
เรามีจุดยืนเพื่อปฏิบัติบุญสร้างกุศลเพื่อทดแทนบุญคุณบิดามารดา เพื่อศึกษาธรรมะให้เข้าสู่ใจของเรา เราจะได้นำไปใช้ให้เกิดประโยชน์กับตัวของเราให้มากที่สุด ทั้งกฎระเบียบทั้งหลักธรรมทั้งวินัยนั้นก็ให้หนักแน่น ในเรื่องภาคปฎิบัติ พยายามทำจิตให้สงบให้ได้ ตั้งใจบริกรรม ต้องมีสติ พยายามบังคับจิตใจให้อยู่ในความสงบอยู่เสมอ ถ้าเราพยายามทำได้อย่างนั้นความร่มเย็นผาสุกจะเข้ามาสู่จิตใจของเราเอง เมื่อถึงกำหนดแล้วก็ออกไป ไปด้วยความยิ้มแย้มแจ่มใส ไปด้วยความเบิกบาน ไปด้วยความภาคภูมิใจ หลวงพ่ออยากจะให้เป็นอย่างนั้น

หลวงพ่ออินทร์ถวาย สันตุสสโก
จากพระธรรมเทศนา "เหตุแห่งการทะเลาะวิวาท"
แสดงธรรมเมื่อวันที่ ๒๘ กันยายน ๒๕๔๗







"อย่างปุถุชนคนหนา เทวดาเขาไม่เข้ามาใกล้หรอก เขาเหม็นสาบเพราะศีลไม่บริสุทธิ์ บริสุทธิ์มันเกี่ยวกับจิตใจ จิตใจมันสำคัญที่สุด คิดอิจฉาผู้อื่น คิดเบียดเบียนผู้อื่น อยากทำลายคนอื่น ผูกอาฆาตจองเวร คิดอยู่อย่างนั้น นี่ตัวสำคัญ"

หลวงปู่ลี กุสลธโร
วัดป่าภูผาแดง อ.หนองวัวซอ จ.อุดรธานี
คัดจากหนังสือ ๙๐ ปี เศรษฐีธรรม







"ถ้าเราจิตนิ่งก็มีสติก็มีปัญญา
ละเอียดเข้าไปสุขอื่นยิ่งกว่าความสงบไม่มี
แสงสว่างเสมอด้วยปัญญาไม่มี"

โอวาทธรรมคำสอน
หลวงปู่ทองอินทร์ กตปุญฺโญ









“หายใจเข้าไม่ออกก็ตาย หายใจออกไม่เข้าก็ตาย หายใจเข้าหายใจออกก็ตาย มันตายอยู่ทุกเมื่อเชื่อวัน มันตายอยู่ทุกลมหายใจ ดังนั้นพวกเราทั้งหลายจงพากันรักษาใจ”

โอวาทธรรม
หลวงปู่สมหมาย จิตตปาโล
วัดป่าอนาลโย อ.กำแพงแสน จ.นครปฐม










"..ถ้าเขาบอกว่าหมดบุญล่ะ ร้องไห้เลยพวกเทวดา เหมือนกับเราอยู่ทุกวันนี้แหละเห็นคนป่วยจะตาย โอ๊ย ไม่อยากให้ตาย ร้องไห้ ไม่อยากตาย ไม่อยากตาย แต่มันก็ตาย เหมือนกันต่างคนต่างติด ติดของใครของมัน แต่ติดของเรามันยังดีกว่าพวกเปรตมันติด เปรตมันติดนี่มันติดกรรม ไม่ใช่ว่ามันต้องการทุกข์ มันอยากพ้นทุกข์เหมือนกัน เปรตนี่มันอยากพ้นทุกข์ มันไม่อยากมีความทุกข์ แต่ว่ามันบันดาลที่จะให้เกิดทุกข์ เหมือนกับเรานั่งสมาธินี่ ไม่อยากให้มันปวดขามันก็ปวด เปรตมันเป็นอย่างนั้น มันหิวมันก็ไม่ได้กินเพราะมันมีวิบากกรรม
อาตมานิมิตเห็นเปรต รู้จักเปรตมาเยอะ ปี ๕๒๘ (พ.ศ. ๒๕๒๘) นั่งสมาธิเกิดจิตสงบ ไปเห็นเปรตวันแรก บวชมาตั้งหลายปี ปี ๒๘ จึงเห็นเปรตถึงเห็นนรก แต่สวรรค์น่ะเห็นมาตั้งแต่บวชเป็นพระใหม่ๆ เห็นง่ายสวรรค์น่ะ แต่เปรตทำไมมันถึงเห็นช้าเหลือเกิน เป็นสิ่งที่ปิดกั้นปัญญาของเรา เอามาพิจารณาภายหลัง ถ้าเราเห็นนรกก็ไม่มีโอกาสที่จะไปทำบาป เพราะกลัวตกนรก คนไม่เห็นนรกก็เลยไม่ได้กลัวนรก ก็เลยทำบาปอยู่เรื่อยๆ เพราะไม่เชื่อว่ามันจะเป็นจริง พอไปเห็นนรกเขาทรมานสัตว์ในนรก แต่ละกลุ่มแต่ละพวกไม่เหมือนกัน นรกน่ะมันไม่ได้เหมือนกับกระทะที่ค้างก้อนเส้า (ก้อนดิน ก้อนอิฐ หรือก้อนหินเป็นต้นที่เอามาตั้งต่างเตา - Hanako) อยู่ นรกมันเป็นบ่อ ในเมืองนรกเป็นเมืองที่สะอาดบริสุทธิ์ดี เหมือนกับวัดของพวกเรา เหมือนกับลานวัดภูริทัตตะ (วัดป่าภูริทัตตปฏิปทาราม จ.ปทุมธานี) สะอาดอย่างนี้ มีต้นไม้ มีดอกไม้ มีถนนหนทาง มีบ้านสวยงาม เหมือนไหมคำพูด ไม่เหมือนเนาะ
บ้านที่สวยงามเป็นของใคร..ยมทูต ยมบาล เห็นพวกผู้คุมในเรือนจำไหม เขาอยู่เหมือนอย่างคนคุกหรือเปล่า บ้านสวยงามอย่างที่ผู้การเรือนจำ บ้านใหญ่โต มีลูกน้องตั้งเยอะ ยมบาลก็เหมือนกัน มีบ้านใหญ่โต ถึงเวลาลงทำงานก็ทำงาน ไปทรมานสัตว์นรก คนที่ได้ทุกข์ยากที่สุดก็คือ สัตว์นรก ไม่ได้ตกนรกด้วยกันทั้งหมด ไม่ใช่ ยมบาลไม่ได้ตก เทวทูตไม่ได้ตก เป็นคนที่ดูบัญชี แต่สัตว์นรกใครเป็นกรรมหนัก ทำกรรมไว้มาก ตกอยู่ในหลุมนรกนั้นไม่ได้ขึ้น น้ำนรกเป็นสียังไง ใครเคยเห็นโรงงานถลุงเหล็กหลอมเหล็ก น้ำเหล็กมันแดงขนาดไหน เหล็กมันแข็งขนาดไหนมันเป็นน้ำน่ะ นั่นแหละคือน้ำในเมืองนรก ในหลุมนรก เวลาสัตว์นรกตกอยู่ในนั้นน่ะ เคยเห็นมะพร้าวที่อยู่ในน้ำทะเลไหม มะพร้าวมันแห้งน่ะ ที่มันร่วงลงบนน้ำ ลมมันซัดไปแล้วมันขึ้นลงขึ้นลงอย่างนั้น มันถูกคลื่นน่ะเห็นไหม สัตว์นรกตายเกิดตายเกิด..ถี่ไหม ตายเกิดถี่ไหม นี่พวกที่กรรมหนัก
ที่พวกกรรมไม่หนักก็อยู่บนฝั่ง พวกที่อยู่บนฝั่งเขาจะจับไปทรมานแต่ละคนละคน เขาจะให้ยืนอยู่ริมฝั่ง เขาจะมีกระบวยใหญ่ๆ ตักน้ำนรกขึ้นมา เทราดบนศีรษะ เคยอาบน้ำให้ลูกไหมคนไหนมีลูก เทน้ำรดบนศีรษะ แต่น้ำน่ะมันล้างเหงื่อไคล แต่น้ำนรกมันล้างเนื้อทั้งหมด เส้นเอ็นทั้งหลาย หมด เหลือแต่โครงกระดูก พอเทวูบมันวูบไปทีเดียวเหลือแต่กระดูกยืนอยู่ สักพักก็เป็นเงาดำขึ้นดำขึ้นแล้วก็เป็นตัวเป็นตัวเป็นตนแล้วก็ร้องเสียงดัง กลัวแล้ว กลัวแล้ว ช่วยด้วย ช่วยด้วย มึงกลัวหรอ ? เอ้าตักขึ้นมาอีก ราดอีก อยู่อย่างนั้นตายเกิดตายเกิดเหมือนกันแต่ช้ากว่ากันกับที่อยู่ในบ่อ นี่ข้อแตกต่างกัน.."
ส่วนหนึ่งจากพระธรรมเทศนาหัวข้อ
พระวัดป่าขอบิณฑบาตสัตว์นรกกำลังถูกยมทูตทรมาน

หลวงปู่ไม อินทสิริ
วัดป่าภูเขาหลวง
อ.วังน้ำเขียว จ.นครราชสีมา










"เราจะเห็นธรรมของจริง จิตใจของเราก็ต้องมีความจริงด้วย การปฏิบัติของเราก็ต้องมีความจริงด้วย
แม้แต่ร่างกายนี้ก็ไม่เป็นของเราเลย พึ่งไม่ได้ แล้วเราจะไปหวังพึ่งทรัพย์พึ่งบุตรเอามาทำอะไร
จิตกับธรรมต้องเป็นอันเดียวกัน เดี๋ยวนี้จิตกับกิเลสมันเป็นอันเดียวกัน ไม่ค่อยจะรับธรรมเข้ามา ธรรมยังรับไม่ค่อยจะได้ แต่กิเลสไม่ต้องทวง
เพราเหตุนั้นเราพยายามถ่ายเท ให้หลงลืมเรื่องที่ไม่ตรงกับธรรม พยายามใกล้ชิดสนิทกับธรรมให้มาก
การปฏิบัติธรรมเป็นงานที่ละเอียด จึงอาศัยความสงบ จึงอาศัยสติระลึกรู้แล้วสำรวมระวังรักษา อย่าปล่อยให้กิเลสมันคะนองกาย คะนองวาจา และคะนองใจ
อวิชชาที่จะดับ ก็ดับเพราะเรามารู้จริงอันนี้ เมื่อมันรู้จริงแล้ว ความไม่รู้จะอยู่ได้อย่างไร"

หลวงปู่สุวัจน์ สุวโจ






ขันติธรรม
การสอนจิตใจตัวเราเองต้องฝืนกิเลส เหมือน วัวควาย แค่บ่งเอาหนามออกจากตีนเท่านั้นก็ยาก แทนที่ตัวเจ้าของเองจะได้รับความสบาย มันไม่คิดหรอก มันไม่รู้จักเรื่อง ต้องเอาเชือกผูกมัดใส่หลัก มัดใส่อะไร มัดแข้งมัดขา มัดจนมันอยู่นั้นหละ จึงจะเอาหนามออกจากตีนมันได้ มันจึงเดินได้สบาย เรื่องของจิตใจของเรา ก็ทำนองเดียวกัน ถ้าหากจะบอก จะแนะนำ ให้ไปในทางดี มันไม่ค่อยอยากดีหรอก ถ้าหากไม่เอากันจนถึงที่ จนถึงที่สุด จนมันยอม อยู่ในอำนาจ ด้วยการทวนกระแส ถ้าหากไม่อาศัยการฝืนกระแส การทวนกระแส ไม่อาศัยความอดทน ก็ไปไม่ได้ทั้งนั้น

หลวงปู่ศรี มหาวีโร
พระเทพวิสุทธิมงคล
วัดประชาคมวนาราม(ป่ากุง)
ศรีสมเด็จ ร้อยเอ็ด









สนใจแต่แผ่นดินไหวอยู่ญี่ปุ่น สนใจแต่แผ่นดินไหวอยู่ประเทศนั่นประเทศนี่ รู้หมดว่าแผ่นดินไหวอยู่ไหนในโลกนี้
แผ่นดินกิเลสไหวในใจของตนเองบ่สนใจ ทุกวันนี้ไม่รู้หรือว่ากิเลสมันขย้ำหัวตัวเองมากแค่ไหนแล้ว

หลวงปู่จันทร์เรียน คุณวโร
วัดถ้ำสหายจันทร์นิมิต อ.หนองแสง จ.อุดรธานี






จิตพระอริยเจ้า
"...ปล่อยวางทั้งอดีต อนาคตและปัจจุบัน
อยู่กับความไม่มีไม่เป็น ว่าง สว่าง บริสุทธิ์
หยุดการปรุงแต่ง หยุดการแสวงหา
หยุดกิริยาจิต ไม่มีอะไรเลย
ไม่ยึดถืออะไรสักอย่าง
พระอริยเจ้า มีจิตไม่ส่งออกนอก
จิตไม่หวั่นไหว จิตไม่กระเพื่อม
มีสติอย่างสมบูรณ์ เป็นวิหารธรรม
มีสติอย่างสมบูรณ์ เป็นเครื่องอยู่..."

โอวาทธรรมคำสอน..
องค์หลวงปู่ดูลย์ อตุโล






มนุษย์ ❝เป็นทุกข์❞
เพราะ...❝ไม่รู้ธรรม❞ ซึ่งเป็นความจริงตามกฎธรรมชาติ
ปัญหาของมนุษย์นั้น
เกิดจากการที่ไม่รู้เท่าทันความจริงของกฎธรรมชาติ
แล้วก็วางใจต่อสิ่งทั้งหลายอย่างไม่ถูกต้อง
จึงทำให้ ถูกกฎธรรมชาติเบียดเบียน
บีบคั้น และครอบงำ อยู่ตลอดเวลา
ความทุกข์ของมนุษย์ รวมแล้ว
อยู่ที่การถูกกระทบกระทั่งบีบคั้นจาก...
การเปลี่ยนแปลง
ความไม่เที่ยงแท้แน่นอน
ความตั้งอยู่ในสภาพเดิมไม่ได้
ไม่คงทนถาวร
เป็นไปตามเหตุตามปัจจัย
สิ่งทั้งหลายเปลี่ยนแปลงไป
เราอยากให้เปลี่ยนไปอย่างหนึ่ง
มันกลับเปลี่ยนไปเสียอีกอย่างหนึ่ง
เราอยากจะให้มันคงอยู่
แต่มันกลับเกิดแตกดับไป อะไรทำนองนี้
มันก็ฝืนใจเรา บีบคั้นใจเรา
เราก็มี ❝ ความทุกข์ ❞

สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ ( ป. อ. ปยุตฺโต )







กำหนดดูสิในร่างกายนี้มีอะไร หนังมันหนาขนาดไหน บางๆ เท่านั้น ผิวหนังฟังซิมันหนาแน่นที่ไหน ภายในเข้าไปนั้นเป็นอะไร ดูกันได้เมื่อไร ถลกหนังออกดูซิดูกันได้เมื่อไร เกลื่อนไปด้วยสิ่งปฏิกูลนี้ทั้งนั้น แล้วโลกนี้น่าอยู่ที่ไหน เราจะไปฝืนใจยึดถือได้หรือ
มันเป็นเรื่องของกิเลสล้วนๆ เราต้องพิจารณาตามความเป็นจริง ซึ่งความจริงนี้ก็คือธรรม พิจารณาลงให้ถึงความจริง ความจริงเป็นหลักเป็นฐานเป็นกฏเป็นเกณฑ์เห็นได้อย่างชัดเจนทั้งตาเนื้อทั้งจิตใจ ทำไมจึงไม่ยอมพิจารณาให้เห็นตามความจริงนี้ ฝืนไปทำไม

หลวงตามหาบัว ญาณสัมปันโน








ในการทำคุณงามความดีแต่ละอันๆอย่าถือว่าน้อย ของทั้งหลายเกิดจากความน้อย มันได้น้อยก่อนจังสิได้หลายแล้วขั่นมันของน้อยเฮาเฮ็ดหลายๆเทื่อ
เฮ็ดหลายมันกะได้หลาย อุปมา คือฝนตก มันบ่ตกท่อกำปั้นเม็ดหนึ่งมันยังท่วมบ้านท่วมเมือง นี่จั่งซี่ขั่นเฮ็ดบ่เซามันได้ เอาจั่งชั้นเด้อ...

โอวาทธรรม
หลวงปู่บุญมี ปริปุณฺโณ
วัดป่าศิลาพร อ.เมือง จ.ยโสธร
คัดจาก : หนังสือท่านใหญ่คือท่านบุญมี

หน้า 1 จากทั้งหมด 1 เขตเวลา GMT + 7 ชั่วโมง
Powered by phpBB © 2000, 2002, 2005, 2007 phpBB Group
http://www.phpbb.com/