ลานธรรมจักร
http://www.dhammajak.net/forums/

การปฏิบัติธรรมไม่ยาก
http://www.dhammajak.net/forums/viewtopic.php?f=1&t=58254
หน้า 1 จากทั้งหมด 1

เจ้าของ:  รสมน [ 07 พ.ย. 2019, 05:02 ]
หัวข้อกระทู้:  การปฏิบัติธรรมไม่ยาก

“บุญบาปมันเกิดขึ้นจากใจ
ใจคิดอย่างได๋ เว่ามาออกมาล่ะเจ้าของ
มันกะเป็นบาป เป็นบุญอยู่นี่
ขั่นคิดบ่ดีกะเป็นเรื่องบ่ดี”

โอวาทธรรม:องค์หลวงปู่บุญมี ปริปุณโณ
วัดป่าศิลาพร จ.ยโสธร







“ลองให้อภัยดูแล้ว จะรู้ว่าใจสบายแค่ไหน
เวรกรรมมันมีอยู่จริง เราไม่ใช่คนกำหนด ไม่ต้องไปสาปแช่งใครให้บาปปากเรา เพราะสุดท้ายที่สุดแล้ว
กรรมใคร กรรมมัน จะไล่ทันกันเอง”

(โอวาทธรรม สมเด็จพระสังฆราช)








ฝึกให้ตัวเองเข้าใจเรื่องของการนินทา
หมายความว่าเราเกิดมาก็ต้องรู้ตัวว่า
เราต้องถูกนินทาแน่นอน
ดังนั้น เมื่อถูกนินทาขอให้รู้ว่า “เรามาถูกทางแล้ว” แปลว่า เรายังมีตัวตนอยู่บนโลก
คนที่ชอบเต้นแร้งเต้นกา
กับคำนินทาก็คือคนไม่รู้เท่าทันโลก
แม้แต่คนเป็นพ่อแม่ก็ยังนินทาลูก
คนเป็นลูกก็ยังนินทาพ่อแม่
นับประสาอะไรกับคนอื่น
ถ้าเราห้ามตัวเองไม่ให้นินทาคนอื่นได้เมื่อไหร่
ค่อยมาคิดว่า เราจะไม่ถูกนินทา

สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ (อัมพร อัมพโร)






"....ผมว่า เร่งความเพียรเข่าไปมันบ่อทันนานนา จิตมันต้องรวมพืบลงจนได้หล่ะ อันนี้มันเล่นหลาย
เฮ็ดพอสาบานน้ำบ่อตายนี่
คันแมนงัวแมนควายกะไปตอมก้นเขาอยู่ท่งไฮ่ท่งนาพุ้น มันสิเห็นหยัง เบิ่งใจมันโลเล คือจั่งไม้พาดฮั่วหนิ อรรถธรรมพระองค์เจ้ากะโผล่ขึ้นบ่อได้
ปฏิบัติไปบ่อเห็นผล กะมาติศาสนา แนวโตเฮ็ดบ่อจริง มันสิเห็นหยัง ให้ตั้งใจภาวนา..."

โอวาทธรรม หลวงปู่ลี กุสลธโร








พระพุทธเจ้าผู้ทรงเป็นศาสดาของพวกเราทุกคน ทรงสั่งสอนพุทธบริษัทให้อบรมเจริญปัญญา เป็นเป้าหมายเดียวไปสู่ความดับทุกข์ ปัญญาไม่ได้อยู่ที่วัด ปัญญาไม่ได้อยู่ที่พระพุทธรูป ปัญญาไม่ได้อยู่ที่หลวงปู่หลวงพ่อรูปหนึ่งรูปใด ปัญญาอยู่ที่การฟัง การคิด และการอบรมสั่งสมให้เจริญขึ้นในตัวของผู้ปฏิบัติเอง จนพบความจริงว่า ไม่มีตัว ไม่มีตน ไม่มีสัตว์ บุคคล เราเขา มีแต่รูปกับนามเท่านั้นที่เกิดขึ้น ตั้งอยู่ และดับไป

พระโอวาท
สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ
สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก
วันศุกร์ที่ ๒๔ พฤศจิกายน ๒๕๖๐







การตั้งใจเรียนและประสบความสำเร็จ
เป็นการตอบแทนพระคุณพ่อแม่ที่ดีที่สุด
ตั้งใจปฏิบัติสะสมไป แล้วจะประสบความสำเร็จ
ผู้ประสบความสำเร็จ ล้วนแต่เดินในเส้นทางแห่งความลำบาก
ผู้ล้มเหลว ล้วนแต่เดินเส้นทางแห่งความสบาย
วาสนาบารมี มันต้องค่อยๆสะสมไปเรื่อยๆ
ด้วยการปฏิบัติภาวนา
เมื่อวาสนามาก ทำอะไรก็ดีไปหมด

พระอาจารย์สุธรรม สุธัมโม








การที่เราซอยงานใหญ่งานยากให้เป็นชิ้นเล็กๆ แล้วใส่ใจกับแต่ละชิ้นแต่ละส่วนนั้น จะทำให้เรามีกำลังใจทำงานอย่างต่อเนื่อง จำได้ไหมที่อาตมาเล่าถึงนักไต่เขาวิบาก เขาผ่านประสบการณ์มาเยอะ แต่ก็ยอมรับว่าเวลามองไปที่ยอดเขาจากที่ไกลๆ จะรู้สึกท้อ

เพราะมันทั้งสูงทั้งชัน แต่เขาพบว่าวิธีที่ดีที่สุดคือ ใส่ใจกับพื้นดินที่อยู่ใต้ฝ่าเท้า แล้วเดินแต่ละก้าวๆ ให้ดี ในที่สุดก็จะถึงยอดเขาเอง งานยากกลายเป็นเรื่องง่ายเมื่อเราใส่ใจกับสิ่งที่อยู่เบื้องหน้าเรา มีงานเยอะแค่ไหนก็ตาม

ถ้าเราจดจ่อใส่ใจกับงานแต่ละอย่างๆ ให้ดี ในที่สุดก็จะเสร็จเอง เวลาทำงานหนึ่งก็อย่าเพิ่งไปสนใจงานอีก๑๐ อย่างที่รอเราอยู่ คนส่วนใหญ่เวลาทำงานชิ้นหนึ่งใจก็ไปนึกถึงอีก ๙ ชิ้นที่เหลือ เลยรู้สึกท้อ สุดท้ายก็ไม่ได้ทำอะไรเลย เพราะความท้อมันทำให้หมดเรี่ยวหมดแรงเสียก่อน ทั้งๆ ที่ในความเป็นจริงแล้ว คนเราทำอะไรได้เพียงแค่ทีละอย่างเท่านั้น

สมมุติว่าชาวป่าจะกินช้างสักตัวหนึ่ง แม้หิวแค่ไหน เขาก็กินได้แค่ทีละคำเท่านั้นใช่ไหม หรือขนมเค้ก พิซซ่า ทั้งๆ ที่เป็นของชอบ แต่เราสามารถกินมันทั้งแผ่นได้ไหม ไม่ได้ใช่ไหม เราต้องตัดแบ่งเป็นชิ้นๆ แต่ละชิ้นเราก็ยังไม่สามารถจะเอาใส่ปากได้

เราต้องตัดให้เล็กลงไปกว่านั้น หรือใช้ช้อนตักทีละคำๆ แม้แต่สิ่งที่เราชอบ สิ่งที่น่าเพลิดเพลิน เราก็ต้องเสพทีละนิดๆ แต่ทำไมเวลาเราเจองานหรือเจออุปสรรคซึ่งเราไม่ชอบ

ทำไมไม่ใช้วิธีนั้นในการจัดการกับมันบ้าง เรามักจะแบกมันเอาไว้ทั้งหมด แบกมันเอาไว้ที่ใจ กี่เรื่องๆ ก็แบกมันเอาไว้หมด ราวกับว่าเราสามารถจะจัดการมันได้ทีเดียวพร้อมกันซึ่งเป็นไปไม่ได้

เราทำได้แค่ทีละเรื่อง และแต่ละเรื่องเราก็ทำได้แค่ทีละเสี้ยวทีละส่วนเท่านั้นเอง การเดินก็เหมือนกัน ทางจะไกลกี่ร้อยกี่พันกิโลเมตร เราก็เดินได้แค่ทีละก้าว อย่างมากเราก็ควรจะใส่ใจแค่ว่า เดินวันนี้ให้ดีที่สุด

แต่ว่าวันนี้มีหลายชั่วโมง เราก็ต้องซอยเป็นชั่วโมง ฉันใดก็ฉันนั้นถ้ามันเป็นเส้นทางที่กันดาร เป็นเส้นทางที่วิบาก เดินแต่ละก้าวๆ หรือแต่ละเมตรๆ ไม่ใช่เรื่องง่าย แต่พอเรานึกถึงเส้นทางตลอดวันหรือเส้นทางตลอดสายก็รู้สึกท้อขึ้นมาทันที ว่าเราจะทำได้ไหมหนอ หลายคนรู้สึกท้อจนเลิกไปเสียก่อน

เวลาเราเจอเส้นทางที่แม้จะไม่วิบากเท่าไหร่ แต่ว่าไกลและใช้เวลาเดินหลายชั่วโมง เราก็ต้องวางใจให้เป็น ถ้าเราวางใจเป็น ความยากก็จะกลายเป็นเรื่องง่ายขึ้น ขอให้เราสนใจกับแต่ละก้าวๆ ถามตัวเองว่า ก้าวต่อไปไหวไหม แม้ว่าจะเหนื่อยจะปวดเมื่อยทุกย่างก้าว แต่เราอย่าไปมองไกล ดูแลแต่ละก้าวให้ดี ประเดี๋ยวก็ผ่านไปหนึ่งชั่วโมง แล้วก็ผ่านไปอีกหนึ่งชั่วโมง

พวกเราที่เป็นนักเรียนนักศึกษามีการบ้าน มีรายงานที่ต้องทำมากมาย พอนึกถึงหลายงานหลายชิ้นที่ต้องทำก็หมดแรงเสียแล้ว ใจมันฝ่อเสียก่อน แต่ถ้าเราวางแผนงานให้ดีว่า มีงานอยู่ ๑๐ ชิ้น ชิ้นนี้เราจะทำช่วงไหนถึงช่วงไหน

เช่นชิ้นนี้ทำวันจันทร์ ชิ้นต่อไปทำวันอังคาร ชิ้นต่อไปทำวันพุธ แล้วเราก็ทำงานแต่ละวันๆ ให้ดี ถึงวันจันทร์เราก็จดจ่อกับงานชิ้นที่เราต้องทำในวันจันทร์ ส่วนงานอื่นเก็บไว้เป็นเรื่องของวันพรุ่งนี้ หรือของวันมะรืนนี้ อย่าไปนึกให้รกหัว จะทำให้รู้สึกหนักอกหนักใจ

แต่ถ้าเราไม่มีสติ พอทำงานวันจันทร์ก็เผลอไปคิดถึงงานวันวันอังคาร แล้วก็เผลอไปคิดถึงงานวันพุธ งานวันจันทร์ยังทำได้ไม่เท่าไหร่ พอไปนึกถึงวันอังคารวันพุธก็หมดแรงเสียก่อน

ที่พูดมาไม่ได้หมายความว่าไม่ต้องวางแผน เมื่อเราวางแผนว่าจะทำอะไร เราก็ต้องซอยย่อย อย่างเช่นเราต้องเดิน ๙๐ กิโลเมตร ก็มีการซอยว่าวันแรกเราเดินกี่กิโลเมตร ตอนเช้าเดิน ๖ ตอนบ่ายเดิน ๘ วันที่ ๒ เราเดิน ๑๐ กิโลเมตร

ตอนเช้าเดิน ๔ ตอนบ่ายเดิน ๖ แต่เมื่อเราวางแผนเรียบร้อยแล้ว เวลาเราเริ่มเดินตอนเช้า ก็ไม่ต้องสนใจตอนบ่ายแล้ว ไม่เช่นนั้นเวลาเดินแค่ชั่วโมงเดียวก็จะเหนื่อยแล้ว ไม่ใช่เหนื่อยกาย แต่เหนื่อยใจมากกว่า

เมื่อเดินทางไกล ถ้าใจอยู่กับปัจจุบันแล้วมันก็ง่าย เหมือนกับปกหนังสือของบ้านอารีย์ที่เอามาแจกวันนี้ หน้าปกเป็นภาพขบวนธรรมยาตรา มีข้อความว่า “เดินทางไกล ใจปัจจุบัน” ไกลแค่ไหน ถ้าใจอยู่กับปัจจุบัน มันก็ถึงเอง ขอฝากไว้สำหรับการเดินพรุ่งนี้

พระไพศาล วิสาโล








ถาม : อย่างการปลงก่อนตายของปุถุชนต่างกับการละสักกายทิฏฐิของพระโสดาบันตรงไหนคะ

พระอาจารย์ : ไม่รู้เหมือนกัน ก็ทุกคนก็ต้องเป็นปุถุชนก่อนถึงจะปลง พอปลงได้ก็เป็นโสดาบันขึ้นมา ทีนี้จะปลงขาดหรือไม่ขาด จะขาดก็ต้องเห็นทุกข์ที่เกิดจากความอยากไม่ตาย แล้วเห็นทุกข์ดับไป เพราะการยอมตาย

เพราะเห็นว่าฝืนความตายไม่ได้เพราะเห็นความจริงเห็นอนิจจัง อนัตตา ต้องเห็นอริยสัจ ๔ ครบทุกกระบวนการเห็นทั้งทุกข์ที่เกิดจากความอยากไม่ตาย เห็นทั้งการดับทุกข์ที่เห็นว่าร่างกายต้องตาย ไม่มีทางอื่นก็เลยยอมตายยอมปล่อย

พอปล่อยปั๊บใจก็จะหายทุกข์เพราะจะหยุดความอยากไม่ตายได้ ก็ต้องเห็นอย่างนี้ถึงจะเป็นโสดาบันได้ เห็นแล้วมันจะไม่ลืมมันจะจำได้จนวันตาย เห็นด้วยอริยสัจ ๔ แต่ถ้าปลงด้วยวิธีจำยอมเช่น เครื่องบินจะตกเอาวะยอมตายอย่างนี้

ถ้าเกิดเครื่องมันดีขึ้นมา ก็โอ๊ยอยากจะอยู่ต่อขึ้นมา อันนี้ยังไม่เห็นกระบวนการของอริยสัจ ๔ ยังไม่เห็นโทษของความอยากไม่ตาย ต้องเห็นโทษของความอยากไม่ตายว่ามันขัดกับหลักความจริง คือสิ่งใดเกิดขึ้นแล้วต้องมีการดับไปเป็นธรรมดา ต้องเห็นอย่างนี้แล้วมันก็จะไม่ฝืนกระบวนการของความเป็นจริง

พอจะเข้าใจไหม เวลาเราเกิดความกลัวขึ้นมามันก็เป็นทุกข์แล้วความทุกข์ใจ ถ้าเราพิจารณาว่าเราทุกข์ใจ เพราะอะไร อ๋อ เพราะเรากลัวตาย เราไม่อยากตาย ทีนี้เราก็พิจารณาความจริงว่าแล้วร่างกายนี้ เราห้ามไม่ให้มันตายได้หรือไม่

ถ้าเวลานี้มันจะตายขึ้นมานี้เราหยุดมันได้หรือเปล่า เราก็หยุดมันไม่ได้ห้ามมันไม่ได้ ถ้าเราไปกลัวเราก็ทุกข์ไปเปล่าๆ แต่ถ้าเราพิจารณาด้วยปัญญาว่าเราทุกข์ไปทำไม ในเมื่อมันจะต้องตาย ถ้าเรายอมตายเราก็จะไม่ทุกข์ เพราะเราจะไม่อยากไม่ตาย

เรายอมตายก็แสดงว่าเราหยุดความอยากไม่ตายได้ ด้วยการเห็นความจริงว่าต้องตาย ถ้าเห็นอย่างนี้แล้วต่อไปมันก็จะไม่กลัวความตายไปตลอด เพราะมันไม่อยากจะทุกข์ความตายไม่เป็นตัวปัญหา ปัญหาคือความทุกข์ใจ แล้วตัวที่ทำให้เกิดความทุกข์ใจคือความกลัวตาย ความไม่อยากตายนี่เอง

ดังนั้นต่อไปก็จะไม่กลัวตาย ต่อไปก็จะไม่มีความอยากไม่ตาย เมื่อถึงเวลาก็พร้อมที่จะให้มันตายไป ใจก็ไม่เดือดร้อน เพราะใจไม่ได้ตายไปกับร่างกายผู้ที่ตายก็ไม่เดือดร้อนคือร่างกาย ร่างกายเขาก็ไม่รู้ว่าเขาตาย เหมือนของที่เราทุบทิ้งอย่างนี้

เหมือนไมโครโฟนตัวนี้เราเอาฆ้อนมาทุบทิ้งมันก็ไม่รู้ว่ามันถูกฆ้อนทุบ แต่เจ้าของไมโครโฟนซิปวดร้าวที่หัวใจ เพราะไปยึดไปติดกับไมโครโฟนว่าเป็นของเรา ถ้าเป็นของคนอื่นเราก็ไม่เดือดร้อนใช่ไหม อย่างรถยนต์อย่างนี้ รถของเรานี้ใครไปแตกหน่อยเป็นอย่างไร ใจเสียวขึ้นมาแวปเลย ใครเอาฆ้อนไปทุบกระจกนี้จะทุกข์ขึ้นมาทันที

แต่ถ้าเป็นรถของคนอื่นนี้ ใครจะเอาไปทำอะไร เราไม่เดือดร้อน เพราะเราไม่ได้ไปยึดไปติดว่าเป็นของเรา ฉันใดเราก็ต้องไม่ยึดไม่ติดว่าร่างกายอันนี้เป็นของเรา เป็นของพ่อของแม่ฝากเอามาให้เราใช้ชั่วคราว แล้วเดี๋ยวมันก็ต้องพังไปกับรถยนต์ ไม่มีใครห้ามมันได้ มันจะพังก็ปล่อยมันพังไป เราก็จะไม่ทุกข์กับมัน

ต้องเห็นอย่างนี้ต้องเห็นว่ามันไม่ใช่ตัวเราของเรา ต้องเห็นว่ามันต้องตายแน่ๆ มันเป็นอนิจจัง สิ่งใดมีการเกิดขึ้นเป็นธรรมดา ย่อมมีการดับไปเป็นธรรมดา หรืออย่างหลวงตาบอก ต้องดับไปเป็นธรรมดา ไม่ใช่ย่อม ต้อง

ถ้าพิจารณาความจริงจนเห็นชัดว่าทุกอย่างที่เกิดมันต้องดับทั้งนั้น มันไม่มีอะไรจะไม่ดับเพียงแต่ว่ามันจะช้าหรือจะเร็วทั้งนั้นเอง อย่างโลกนี้มันก็ต้องดับเหมือนกัน ไม่อยู่ไปอย่างนี้ไปตลอด สักวันโลกนี้มันก็จะหายไป มันจะต้องแตกแยกออกไป

เพราะพลังที่ดึงดูดมันไว้ให้อยู่นี้มันจะหมดกำลังไปเรื่อยๆ แล้วต่อไปมันก็จะระเบิดของมันไปเอง กระจายเป็นอะไรไป แล้วมันก็ไปเปลี่ยนรวมตัวเป็นโลกใหม่ขึ้นมาอีก มันมีเกิดมีดับอย่างนี้สลับกันไป ทุกสิ่งทุกอย่างเป็นอย่างนี้

ดังนั้นเรามาครอบครองอะไรก็คอยสอนใจว่าของทุกอย่างที่เรามาครอบครองเอาไว้นี้ไม่ช้าก็เร็วมันก็ต้องจากเราไป หรือไม่เช่นนั้นเราก็ต้องจากเขาไป ถ้าเรารู้ล่วงหน้าแล้วเราไม่ฝืนความจริง เราก็จะไม่เกิดความอยากที่จะไม่จากกัน แล้วมันก็จะไม่สร้างความทุกข์ให้กับเรา เราก็จะจากกันอย่างสงบ จากกันอย่างสบาย.

ธรรมะบนเขา วันที่ ๓๐ พฤศจิกายน ๒๕๕๗

“ฉันทะ วิริยะ”

พระอาจารย์สุชาติ อภิชาโต









จิตที่มี สติ ปัญญา

เทียบกับคนไปทอดแห "งมลงไปในนํ้าจับถูกงูนึกว่าเป็นปลาไหล จึงจับจนแน่น" พอยกขั้นพ้นน้ำรู้ว่าเป็นงู "ไม่รู้ว่ามือมันวางตั้งแต่เมื่อไร ไม่ได้บอกให้มันวางยาก ใจมันสั่งให้มือวางตั้งแต่เมื่อไรไม่รู้" เพราะกลัว "ลักษณะของจิต ก็เหมือนกัน"

ร่างกายก้อนนี้ "ถ้าหากไม่เห็นโทษหรือความสวยความงามซึ่งโลกนิยมกัน ยังไม่เห็นโทษเห็นภัยเกิดขั้นกับจิตใจเองแล้ว มันไม่ยอมละยอมวางง่าย ๆ" ติดแน่นอยู่อย่างนั้นแหละ ไม่ยอมละไม่ยอมวางง่าย ๆ ใครจะว่าอย่างไรก็ตาม

แม้เราบอกให้ฟังก็ไม่ยอม อย่างความเกิดขึ้น "ความทุกข์ความร้อนต่าง ๆ เกิดขึ้นในจิตใจ" บอกว่าอย่าโกรธ สิ่งนั้นมันเป็นรูปนั้น วิธีนี้กล่าวไปตามเรื่องของธรรมะ เช่นว่า "เป็นของไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา" เป็นของไม่สวยไม่งาม "ว่าอย่างไรมันก็ไม่ยอมฟัง"

มันก็เป็นไปตามเรื่องของมัน "เพราะจิตยังไม่ได้ดูดดื่มรสของธรรมะ" หรือจิตใจยังไม่เคยเห็น นี่คือปัญหาสำคัญ "ถ้าจิตไต้ประสบการณ์เอง เกิดขึ้นเอง ไม่ต้องบอกยาก มันรีบวางเอง" มันจะตัดสินเองเรื่องของจิต

หลวงปู่ศรี มหาวีโร
พระเทพวิสุทธิมงคล
วัดประชาคมวนาราม(ป่ากุง)
ศรีสมเด็จ ร้อยเอ็ด









การปฎิบัติดังที่ว่า "สัจธรรม" ก็ดี "สติปัฎฐานสี่" ก็ดี ท่านพูดเกี่ียวโยงกันไป เวลาเราปฎิบัติแบบนั้น คือ พิจารณา กายแล้ว พิจารณาเวทนา พิจารณาจิต พิจารณาธรรม นี่ผิดวันยังค่ำ! แน่ะ ! เพราะธรรมชาตินี้เกี่ยวโยงกันอยู่ตลอดเวลา เราจะพิจาร
ณาในแง่ใด ก็พิจารณาได้ เมื่อถนัดแง่ใด ที่ควรพิจารณาก่อน
ส่วนมาก พิจารณากาย ทีนี้เวลา "เวทนา" เกิดขึ้น มันก็ต้องปล่อย "กาย" ไปจับ "เวทนา" แล้วเข้ามาผสมผเส คละเคล้ากันกับ "กาย" แยกระหว่าง "เวทนา" กับ "กาย" ให้เข้าใจกันไดัชัดเจน แล้วแยกระหว่าง "เวทนาของกาย" กับ "เวทนาของจิต" เทียบเคียงกันอีก แยกส่วน แบ่งส่วนกันอีก เพราะ "กาย เวทนา จิต ธรรม" อยู่ด้วยกัน ในขณะเดียวกัน ก็แยก "กาย" คือ พิจารณา "กาย" และแยก "เวทนา" ให้ทราบว่า กายกับ เวทนา เป็นอันเดียวกันหรือไม่ นั่นแน่ะ ! และแยกจิต แยกอารมณ์ ที่เป็นอยู่ภายในจิต ให้เห็นชัดเจนว่าแต่ละอย่าง แต่ละอย่าง ไม่ใช่อันเดียวกันกับจิต พูดเพียงเท่านี้ ก็ครอบหมดแล้วใน "สติปัฎฐานสี่"
เราจะแยกแยะ ไปทำทีละบทละบาท ทำทีละเรื่องละราว แล้วค่อยก้าวเดินเหมือนเราก้าวขาไปนั้น ไม่ได้ ไม่ถูก นี่ ภาคปฎิบัติเป็นอย่างนี้ คือ พิจารณาอย่างใดอย่างหนึ่งของ "สติปัฎฐานสี่" หรือของ "สัจธรรมสี่" หากเกี่ยวโยงกันไปเอง เพราะเป็นธรรมเกี่ยวเนื่องกัน
ท่านว่า "กาเย กายานุปัสสิ วิหรติ" อย่างนี้เป็นต้น พิจารณา กาย ใน กาย คำว่า "กายในกาย" ก็หมายถึง อาการอันหนึ่งของกายทั้งหมดที่มีอยู่หลายชิ้น หลายอันด้วยกัน เป็นต้นเหตุเสียก่อน เมื่อพิจารณากายส่วนนี้ พอเข้าใจแล้ว ก็ซึมซาบไปเอง อันเป็นเหตุให้สนใจทราบส่วนน้ัน ส่วนนี้ต่อๆ ไป แล้วค่อยกระจายกันไป กระจายกันไป จนหมดภายในร่างกาย คือ รอบไปหมด เข้าใจไปหมด
"กายในกาย" เช่น "เกสา" อย่างนี้ จะพิจารณา "ผม" เส้นหนึ่งก็ตาม แต่จะเกี่ยวกับกี่เส้นของผม แล้วเกี่ยวโยงไป "อวัยวะ" กี่ส่วน กี่อัน มันกระเทือนกันไปหมด ซืมซาบกันไปหมด เพราะเกี่ยวเนื่องกัน พิจารณาอะไรก็ตาม ย่อมเป็นอย่างน้ัน โดยหลักของการพิจารณาทางภาคปฎิบัติ ที่ท่านดำเนินมา

หลวงตาพระมหาบัว ญาณสัมปันโน
เทศนาธรรมเรื่อง "ยอดธรรม"








การเดินจงกรม ควรเดินอย่างไร
ควรกำหนดบริกรรมหรือไม่อย่างไร...
ความยาว (ก้าว) ของทาง ประมาณกี่เมตร
เวลาเดินไปสุดทางจงกรม ใช้หมุนตัวกลับ แล้วเดินต่อเลยหรือไม่
ในขณะเดินจงกรม มีบางช่วงหยุดเดิน แต่ยังบริกรรมอยู่ คล้ายกับรำพึงมีหรือไม่ครับ..
การเดินจงกรมกับนั่งสมาธิอย่างไหนดีกว่ากันครับ
หลวงปู่กรุณาอธิบายโดยละเอียดด้วยครับ (ควรเดินเร็ว ช้าขนาดไหน)

หลวงปู่
การเดินจงกรม
ถ้าที่เดินอำนวย ก็เดินไปทางทิศตะวันตก และทิศตะวันออก
แล้วให้เข้าทางจงกรมทิศตะวันตกผินหน้ามาทางทิศตะวันออก แล้วยกมือใส่หัว

ส่วนความนึกคิดก็หวังจะทำเพื่อพระนิพพาน คือเจตนาที่เดินจงกรมเบื้องแรก และการเดินเอามือซ้ายเหยียดลงที่ใต้ท้องน้อย แบมือขวาหย่อนลงมาประกบกัน

เงยหน้าพอดี จะก้าวขาขวาหรือซ้ายก่อนก็แล้วแต่สะดวก แต่ขอให้มีสติอยู่ว่าเราก้าวขวาหรือซ้าย ส่วนก้าวยาวหรือสั้นนั้น ก็ก้าวพอดีๆ เราดีๆ นี้เอง เร็วหรือช้าก็พอดีเรา และก็มีตาทอดลงพอสมควร

ทางนั้นยาวหรือสั้น ข้อนี้แล้วแต่สถานที่จะอำนวย แต่ไม่ให้สั้นเกินไป เพราะจะกลับวกเวียนลำบาก เวลากลับซ้ายหรือขวาก็แล้วแต่สะดวก แต่ขอให้มีสติรู้ตัวว่าเรากลับซ้ายหรือขวา

เวลาเดิน จะยกขาซ้ายหรือขวาก่อนก็ไม่เป็นปัญหา แต่ขอให้รู้ว่าเรายกขาขวาหรือขาซ้ายก่อน

โดยใจความก็คือ ให้สติติดอยู่กับตัว ไม่ให้หลงทำ...

การกำหนดบริกรรม ก็บริกรรมในกรรมฐานที่เราชอบนั่นเอง

ส่วนทางยาวนั้น ในพระไตรปิฎก บางแห่งยาว 60 ศอกก็มี แต่บางแห่งบางกรณี กอดต้นเสากุฏีเดินวนเวียนก็มี และก็ได้สำเร็จพระอรหันต์ด้วย

ที่ว่านี้หมายความว่า ภิกษุณีบางองค์ ชะรอยในเวลานั้น คงจะมีการขัดข้องไม่สะดวก จึงได้กอดต้นเสาเดิน หรือหากท่านขัดข้องอะไรก็ไม่บอกชัด

และทางเดินจงกรมนั้น นอกจากทิศตะวันออก ตรงไปทางทิศตะวันตกแล้ว ก็มีทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือ ตรงไปทางทิศตะวันตกเฉียงใต้ 2 ทางเท่านั้น ให้เข้าใจว่าถ้าที่ไม่อำนวย ก็ต้องเดินไปได้ทุกทิศ

เวลาเดินไปสุดทางจงกรม ใช้หมุนตัวกลับ แล้วเดินต่อ แต่ไม่หมุนกลับแบบทหารปึงปัง หรือไม่รีบกลับ จะยืนพิจารณาอยู่บ้างก็ได้

ในขณะเดินจงกรม มีบางช่วงหยุดเดิน แต่ยังบริกรรมอยู่ คล้ายรำพึง วิธีนี้ก็มีอยู่บ้าง

การเดินจงกรมกับนั่งสมาธิจะว่าอันไหนดีกว่ากันนั้น
มันขึ้นอยู่กับความสะดวกของแต่ละราย
แต่ท่านทรงสรรเสริญ ว่าผู้เก่งทางเดินจงกรม ร่างกายจะกระปรี้กระเปร่า เดินทางไกลได้ทน เพราะเป็นการบริหารอยู่ในตัว

สมาธิที่เกิดขึ้นในทางเดินจงกรมตั้งอยู่ได้นาน อาพาธก็จะมีน้อย

และพระบรมศาสดา พระองค์ท่านกล่าวว่า "เราตถาคต เดินก็ดี ยืนก็ดี นั่งก็ดี นอนก็ดี (หมายถึงนอนไม่หลับ) ภาวนาได้เสมอกันทั้งนั้น"

ส่วนสาวกสาวิกาบางจำพวก บุคคลเก่งทางเดินภาวนา ยืนภาวนา นั่งภาวนา แปลว่าได้อริยาบถ 3
บางบุคคล ได้แต่เดิน กับนั่ง กับนอน (นอนไม่หลับ ส่วนหลับก็ให้เป็นเรื่องของการหลับไปซะ)

บางท่านนอนภาวนาไม่ได้
พอล้มลงนอน ก็หลับไปซะ ไม่นานพอห้านาทีหรือสิบนาที

มีปัญหาถามพิเศษว่า ยืน เดิน นั่ง นอน ทำชั่วได้หรือไม่ ขอตอบว่าทำชั่วได้เหมือนกัน
เพราะสามารถนึกถึงกามวิตก พยาบาทวิตก วิหิงสาวิตกได้

เมื่อเป็นอย่างนี้ ก็ได้ความชัดว่า ยืน เดิน นั่ง นอน ภาวนาได้ทั้งนั้น

ส่วนหลับแล้ว มันเป็นเรื่องของหลับไป ไม่ต้องปรารภ

เช่นฝันว่าได้บุญ มันก็ไม่ได้ ฝันว่าได้บาป มันก็ไม่ได้
แต่ฝันบางชนิด เกี่ยวกับธรรมะก็มีอยู่มาก

เช่นพระบรมศาสดาฝันว่านอนผินหัวไปทางทิศเหนือ ทางหัวจรดขอบจักรวาล ทางเท้าจรดขอบจักรวาล มือด้านหนึ่งก็จรดขอบจักรวาล ด้านหนึ่งอีกก็จรดขอบจักรวาล และปรากฏว่าได้เดินจงกรมในภูเขาหนอน แต่เท้าของพระองค์ไม่เปื้อนมูตคูตร และมีนกมาครบทั้ง 4 ทิศ ในเวลาจวนสว่าง
(ได้แก่พุทธบริษัททั้ง 4 จะเคารพพระองค์ตอนเมื่อตรัสรู้แล้ว จะได้เทศนาสั่งสอนเอาตามบุญกรรมแต่ละท่าน) คงเป็นระหว่างตี 3 แล้วพระองค์ทายตนเอง ว่าจะได้สำเร็จเป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้า แล้วก็เป็นจริงดังที่ท่านแก้เอง แปลว่าก่อนรับข้าวมธุปายาสของนางสุชาดา 1 วัน

หลวงปู่หล้า เขมปัตโต








การอยู่การกิน การใช้การสอย ให้อยู่ในความพอเหมาะพอดี
ถ้าธรรมะพาอยู่พากิน พาใช้พาสอย พาหลับพานอน พาไปพามาแล้ว จะพอดีทุกอย่าง ....
ถ้าเป็นธรรมะพาไปพาทำนะ

คือธรรมะพาดำเนิน ไม่ว่าจะไปจะอยู่ จะหลับจะนอน จะกินจะใช้จะสอย เครื่องนุ่งห่มต่างๆ ถ้าธรรมะมาเป็นผู้นำ แล้วพอเหมาะพอดี

ถ้ากิเลสเป็นผู้นำแล้ว ใช้ไม่ได้นะ บ้านก็อยากหรูหราที่สุด เครื่องแต่งเนื้อแต่งตัวอยากหรูหรา
นุ่งบ้างไม่นุ่งบ้างวับๆแวมๆ นี่ละกิเลสพานำให้ดูๆ
ถ้าว่าเราหาเรื่องนะ การอยู่การกินทุกอย่างนี้ ต้องเหลือเฟือ ฟุ้งเฟ้อเห่อเหิม เผื่อกิเลสด้วยๆ

การไปการมานี่เหมือนกัน
รถนี่อยากได้ 5 รถเบนซ์ เราคนเดียวนั่ง 5 คันรถเบนซ์ นี่ละกิเลสพาไปพามา พาอยู่พาหลับพานอน อะไรมีแต่ดีๆๆ ดีเพื่อกิเลสทั้งนั้นไม่ได้ดีเพื่อเรา

เพราะฉะนั้น ความทุกข์ กิเลสจึงขนมาให้เราทั้งหลาย
นี่ละกิเลส พานำทางเป็นอย่างนั้น ไม่มีอันดี

กินก็ไม่พอดี นอนก็ไม่พอดี การใช้สอยไม่พอดี เครื่องนุ่งห่มทุกสิ่งทุกอย่าง ถ้ากิเลสพาทำ ไม่พอดีทั้งนั้น มีแต่เรื่องเพื่อกิเลสๆ
แล้วเพื่อความล่มจมแก่เราๆ จงพากันจำไว้ทุกๆคน

ให้ธรรมะพาดำเนิน การอยู่การกินพอเป็นพอไป แล้วอยู่กินเท่านั้นพอ การใช้สอยก็เหมือนกัน ปกปิดอวัยวะพอสมควรเหมือนมนุษย์อยู่ด้วยกันนี้แล้วพอ
อย่าให้หรูหราฟู่ฟ่าเกินเหตุเกินผลใช้ไม่ได้ เลยอันนั้นเป็นเรื่องของกิเลสผาดโผนเกินประมาณ
หาความสุขไม่ได้ มีเท่าไรจมไปตามมันหมดนั่นแหละ


หลวงตาพระมหาบัว ญาณสัมปันโน








..การปฏิบัติธรรมนั้น ไม่มีโทษ มีแต่คุณ คือจิตไม่ขุ่นมัว จิตผ่องใส จิตเบิกบาน จะยืน เดิน นั่ง นอน ก็มีความสุข ไม่มีความทุกข์ จะเข้าสู่สังคมใดๆ ก็องอาจกล้าหาญ การทำความเพียร เมื่อสมาธิเกิดมีขึ้นแล้ว จะไม่มีความหวั่นไหว ไม่มีความเกียจคร้านต่อ...การงาน ทั้งทางโลกทั้งทางธรรม

จากนั้นก็เป็นปัญญาที่จะมาเป็นกำลัง เมื่อปัญญาเกิดขึ้นแล้วรู้จักใช้ให้เป็นประโยชน์ จะเรียนทางโลกก็สำเร็จ จะเรียนทางธรรมก็สำเร็จ พระพุทธเจ้าท่านจึงสั่งสอนอบรม ให้เกิดให้มีขึ้นมาในเบื้องต้นตั้งแต่ศีล ศีลเป็นที่ตั้งของสมาธิ สมาธิเป็นที่ตั้งของปัญญา

ไม่ว่าศีล สมาธิ ปัญญา เป็นทางแห่งวิมุตติ คือ ความหลุดพ้นด้วยกัน

หลวงปู่ขาว อนาลโย







ทำเหมือนทำสมาธินั่นแหละ แบบเดินทำ การนั่งทำสมาธิ การยืนทำสมาธิ การนอนทำสมาธินั้นทำได้ถึง 4 อิริยาบถ ไม่บาป ขอให้ทำกัน ถึงแม้เราจะทำงานประเภทใดก็ตาม เขียนหนังสือก็ดี หั่นผักก็ดี อะไรก็แล้วแต่ ขอให้มีสติคุมให้ทัน ให้ใจมันตั้งมั่นอยู่ในงานที่เราก็เป็นสมาธิ

สมาธินี่ก็แปลว่าตั้งใจไว้มั่นเท่านั้น งานอะไรก็ตามถ้าเราตั้งใจไว้มันไม่ให้จิตของเราออกไปอารมณ์สัญญา มือทำอันนี้ แต่ใจไปคิดอันโน้น ไม่ให้เป็นอย่างนั้น ก็จัดว่าเป็นสมาธิอยู่แล้ว เพราะฉะนั้นอยากจะให้ทำกัน

แล้วก็อุบายทำสมาธินี่มันดีเหมือนนะ มอง ๆ อาตมามอง ๆ พิจารณาดูแล้วนี่ เอ้อ..มันดี คือว่าตามธรรมดาจิตของเรานี่ปล่อยปละละเลยกัน ไม่มีแผน แหม…ก็รู้สึกว่ามันไปอย่างไม่มีจุดหมาย มันก็แล้วแต่เหตุการณ์จะนำพา

เหตุการณ์คือสิ่งกระทบที่จะชวนให้เรารักจะชวนให้เราชัง มันก็แล้วแต่เหตุการณ์จะชวนนำพา ส่วนจิตของเราก็ไหวตัวไปตามเหตุการณ์ เหตุการณ์ที่ชวนให้เป็นทุกข์ก็ทุกข์ เศร้าหมองก็เศร้าหมอง เหตุการณ์ที่จะชวนให้สนุกร่าเริงบันเทิง ก็เป็นไปตามรูปของเหตุการณ์ทั้งนั้นเลย

เป็นอันว่าเราไม่มีความสามารถจะจัดสรรหรือบังคับจิตของเราให้เป็นไปตามอำนาจตัวบังคับ แหม…อันนี้รู้สึกว่าน่าเสียดาย เพราะว่ามันมีภัยอันตรายอยู่รอบด้าน

ทีนี้ถ้าหากว่าเรานี่มีความสามารถสร้างกำลังขึ้นมานำพาจิตของเราให้เป็นไปตามอำนาจตัวบังคับ รู้สึกว่ามีประโยชน์มาก อย่างที่อาตมาปรารภเมื่อเช้านี้ เล่าถึงเรื่องควาย

สมมติว่าไม่มีเจ้าของตามรักษาดูแลเลยนี่ รู้สึกจะไม่ปลอดภัย นี่พวกเราก็พอที่จะมองเห็นได้ว่า ถ้าปล่อยควายไปโดยลำพังของควายนี่ มันก็ไปแบบที่ไม่มีจุดหมาย บางก็อาจจะเป็นอันตรายได้ง่าย เช่น มีเสือ

สมมติว่าอยู่ใกล้ป่าใกล้ดงเสือ ก็อาจจะกัดมันได้ มีงู ๆ ก็อาจจะกัดมันได้ หรือโจรอาจจะนำพาไปได้โดยง่าย หรืออาจจะไปเหยียบย่ำข้าวของ ๆ คนหรือไปกินของ ๆ เขาก็ได้ แหม…รู้สึกว่าอันตรายมันอยู่รอบด้าน ไม่สู้จะปลอดภัยนัก

แต่สำหรับควายที่มีเจ้าของตามดูแลรักษานี่ ผิดจากควายที่ปล่อยไปโดยลำพัง คือ เจ้าของจะต้องดูแล ว่ามีภัยอันตรายอยู่ตรงไหน เช่น มีงู มีเสือ ซึ่งเป็นอันตรายต่อควายนี่ เขาจะไม่ให้เข้าไปในเขตนั้นเลยเป็นอันขาด เจ้าของจะต้องคอยต้อนคอยไล่ ดูแลอยู่ใกล้ชิดอะไรเหล่านี้ เป็นต้น

รักษาความปลอดภัยให้แก่มันอู่ได้ตลอดเวลา โจรจะมาขโมยนั้นไปพร้อมทั้งโจรจะมาขโมยควายไปนั้น ก็เอาไปไม่ได้ เพราะเจ้าของตามติดจี๊อยู่นี่ จะมาเอาได้อย่างไร โจรก็มีความเกรงกลัวต่อเจ้าของ แล้วจะมาเอาได้อย่างไร จะไม่มีความสามารถที่จะเอาไปได้

เจ้าของยังสามารถที่จะต้อนเข้าไปสู่จดที่ดีได้ เช่น หญ้าดี น้ำดี เจ้าของก็พยายามต้อนเข้าไปสู่จุดที่ดีนั้นได้ตลอดเวลา ถึงเวลาที่จะเอาเข้าบ้านก็พยายามต้อนเข้าบ้าน เข้าคอกได้สบาย ปลอดภัย ลองสังเกตดูสิ ควายที่ปล่อยไปโดยลำพัง กับควายที่มีเจ้าของตามรักษาดูแล มันมีความปลอดภัยผิดกัน

หรืออาตมาปรารภอีกอย่างหนึ่งว่าเด็กนะ ตามธรรมดาเด็กอ่อนนี่มันไม่รู้เดียงสา มันก็ไปตามสิ่งที่ได้เห็น ไปตามสิ่งที่ได้จับ เพราะเด็กอ่อนนี่เห็นของอะไรมันก็คว้าจับไปตามเรื่องตามราว ของสกปรกโสโครกมันก็จับได้ ของที่มันร้อน เช่น ไฟมันก็จับได้ ของที่เป็นคม มีคมสามารถที่จะบาดมือ มันก็จับได้ เพราะมันไม่รู้เรื่อง อาศัยสิ่งที่เห็นด้วยตา ได้ยินด้วยหู ก็เป็นอันว่าโผเข้าหาทันทีเลย

แต่ถ้ามีพี่เลี้ยงดูนี่หรือมีคนดูแลนี่ ก็สามารถที่จะป้องกันไม่ให้เด็กเป็นอันตราย อาจจะหยิบของที่เป็นอันตรายต่อเด็กอ่อนซะ หรืออาจจะเอาเด็กออกจากของที่เป็นอันตรายซะ เด็กจะคลานไปตกลงที่ต่ำก็เป็นอันตรายก็อุ้มหนีซะ

พยายามป้องกันรักษาอยู่ เด็กนั้นย่อมปลอดภัย เพราะฉะนั้น เด็กปล่อยตามลำพังของเด็กเองนะย่อมจะเป็นอันตรายได้ง่าย เด็กที่มีคนคอยรักษาดูแลไม่เผลอ ย่อมปลอดภัย ฉันใด

จิตของเราก็เหมือนกับเด็กอ่อนนั่นแหละ อาศัยสิ่งที่เห็นในตา อาศัยสิ่งที่ได้ยินในหู ชวนให้รัก ชวนให้ชัง เกลียด โกรธ อะไรก็เป็นไปตามรูปสิ่งที่ได้เห็น ได้ยิน

แต่เมื่อผู้ใดมีอำนาจอีกอันหนึ่งคือตัวนำพาหรือตัวคุ้มกัน จิตใจจะไม่เป็นไปตามรูปของเหตุการณ์โดยตรง จะต้องมีกำลังจัดสรรเหมือนกับควายที่มีเจ้าของตามรักษาดูแล

หลวงปู่สมชาย ฐิตวิริโย






ราคะตัณหา ผัวเมียอยู่ด้วยกันไม่เสพไม่สมกันมีเหรอ
ด้วยความรัก ความสุขใจ นี้ก็เป็นธรรมดา ไม่ได้ถือเป็นความผาดโผนโจนทะยานอะไร

แต่ถ้าหาเอามานอกลู่นอกทางเป็นทะเยอทะยานไปอีก นั่นเรียกว่าราคะตัณหาเป็นฟืนเป็นไฟ
ให้พากันจำเอาไว้

ให้กะไว้ให้พอประมาณ บังคับไว้นะ สิ่งเหล่านี้มันปริ่มๆ มันคอยจะล้นฝั่งตลอดเวลา เราต้องตีไว้เสมอๆ ด้วยธรรม

ไม่มีธรรมะอยู่ไม่ได้นะ แตกกระจัดกระจายไปหมดนั่นแหละ ประเภทนี้ละ ทำลายสัตว์
ให้ระมัดระวัง ให้อยู่ในความพอเหมาะพอดี


หลวงตาพระมหาบัว ญาณสัมปันโน










“การบวชที่แท้จริง
อยู่ที่ “การบวชใจ”
คือ หลบ หลีกจาก...
การเกิดกิเลส และการเกิดทุกข์
การบวชทางกาย ภายนอก
เป็นเพียงการให้ความสะดวก
หรือ ความง่ายแก่การบวชใจ”

พุทธทาสภิกขุ
ที่มา : จาก “ฟ้าสางทางความลับสุดยอด”
ในหนังสือ “อสีติสังวัจฉรายุศมานุสรณ์”







"รู้สิ่งใดแล้วติดสิ่งนั้น ก็เป็นสมมติ
รู้สิ่งใดแล้วไม่ติดสิ่งที่รู้ ก็จะเป็นวิมุตติโดยอัตโนมัติ"

หลวงปู่ทา จารุธมฺโม







สมบัติกรรมฐานของท่านพ่อลี

๑.การนั่งสมาธินั้น เวลาที่เราหลับตา ให้หลับแต่เปลือกตา อย่าหลับจริงๆ อย่างคนนอนหลับ ต้องให้ประสาทตาทำงานเสมอ มิฉะนั้น ก็จะทำให้ง่วง

๒.ให้นึกถึงกรรมฐานในตัว คือ ลมหายใจเข้าออกแล้วก็น้อมนึกถึงกรรมฐานภายนอกคือ พุทโธ ซึ่งเป็นส่วนพระคุณของพระพุทธเจ้า เข้าไปพร้อมกับลมหายใจ

๓.เมื่อกำหนดลมหายใจเข้าออกได้สะดวกดีแล้ว ก็ขยายลมไปให้ทั่วร่างกาย จนเกิดความคล่องแคล่วเบาสบายนี่เรียกว่าเป็นส่วน คุณสมบัติ ของการทำสมาธิ การกำหนดจิตไม่ให้พลาดไปจากลมหายใจเรียกว่า วัตถุสมบัติ การทำสติให้ตั้งมั่นอยู่กับคำภาวนาโดยไม่มีการลืมหรือเผลอเป็นตัว เจตนาสมบัติ เมื่อเรากำหนดจิตอยู่ในธรรม ๓ ข้องนี้แล้วก็เรียกว่า จิตตั้งอยู่ในองค์ภาวนา หรือกรรมฐาน

๔.เมื่อพวกเราตั้งใจจะทำความดีนี้ ก็มักมีสิ่งที่ไม่ดีเข้ามาแทรกแซงในดวงจิต คือ พวกนิวรณ์ นิวรณ์นี้เรียกตามชื่อของมันมีอยู่ ๕ อย่าง แต่ในที่นี้จะไม่กล่าวถึงชื่อของมัน จะกล่าวแต่เพียงตัวจริงของมันเสียก่อนว่า นิวรณ์ คืออะไร

๔.๑ นิวรณ์ คือ สิ่งที่ทำให้ดวงจิตเศร้าหมอง

๔.๒ ทำให้จิตมืดมัว

๔.๓ เป็นสิ่งที่ปิดกั้นดวงจิตไม่ให้ตั้งอยู่ในองค์ของภาวนา

๕.นิวรณ์นี้ เกิดมาจากสัญญาภายนอก และสัญญาภายนอกนี้ก็เกิดเพราะสัญญาภายในอ่อน สัญญาอ่อนคือ ดวงจิตของเราไม่ค่อยจะตั้งอยู่ในอารมณ์ เหมือนนักขันที่วางลงในตุ่มน้ำ ถ้าไม่มีเครื่องถ่วงแล้ว มันก็มักจะต้องเอียง ไหวตัวและกระฉอกได้

การที่จิตไหวตัวนี่แหละ จึงเป็นเหตุให้นิวรณ์ต่างๆ พากันเข้ามาแทรกแซง เหตุที่ทำให้ดวงจิตของเราเอียงไปได้นี้ เราก็ควรจะต้องทำความเข้าใจให้ทราบว่า จิตของเราที่เอียงอยู่นั้น เอียงไปได้ ๒ ทางคือ

๕.๑ ทางสัญญาอดีต

๕.๒ สัญญาอนาคต

โอวาทธรรม หลวงปู่ลี








"โภคทรัพย์และทรัพย์สิ่งของคือสมบัติภายนอก มีได้ก็เสื่อมได้ อริยะทรัพย์เป็นทรัพย์ภายในที่ไม่มีเสื่อม ไม่มีใครฉกชิงแย่งเอาไปได้ เป็นทรัพย์สูงสุด เป็นชื่อสูงสุด หากมีอริยะทรัพย์ ทรัพย์สินเงินทองภายนอกจะเต็มบริบูรณ์โดยอัตโนมัติ"

หลวงปู่ประเสริฐ สิริคุตโต
วัดป่าเวฬุวันอรัญญวาสี อ.เขื่องใน จ.อุบลราชธานี







"อันคนที่ทำงานที่เป็นคุณให้เกิดประโยชน์
ย่อมจะต้องประสบถ้อยคำถากถาง หรือ
การขัดขวางน้อย หรือมาก

ผู้มีใจอ่อนแอ ก็จะเกิดความย่อท้อ
ไม่อยากที่จะทำดีต่อไป แต่ผู้มีกำลังใจ
ย่อมไม่ท้อถอย ยิ่งถูกค่อนแคะ
ก็ยิ่งจะเกิดกำลังใจมากขึ้น

คำค่อนแคะ กลายเป็นพาหนะที่มีเดชะ
แห่งการทำความดี"

สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราชฯ











1. ผู้ใดปรารถนาอยากอยู่ใกล้พระจริง
อย่าเพ่งโทษคนอื่น เขาว่าอย่างไรก็ตาม
ยกให้เขาหมดเสีย สำรวจตนเองทั้งคุณและโทษที่มีอยู่ในสกนธ์กายของเราอยู่เสมอไป

2. รู้สิ่งใดแล้วติดสิ่งนั้น ก็เป็นสมมุติ
แต่ถ้ารู้สิ่งใดแล้วไม่ติดสิ่งที่รู้ ก็จะเป็น
วิมุตติโดยอัตโนมัติ

หลวงปู่ทา จารุธัมโม
วัดถ้ำซับมืด จ.นครราชสีมา









ในธรรมท่านก็แสดงเอาไว้ ผู้ที่เสาะแสวงหรือดำเนินทางด้านจิตตภาวนาพึงระมัดระวัง วัดใดเป็นวัดที่ก่อสร้าง สถานที่ใดเป็นที่ไม่สงบ แม้ที่สุดต้นไม้ที่มีดอกมีผล พวกนกพวกสัตว์อะไรมากินให้เกิดเสียงเอิกเกริกบนต้นไม้ ก็ยังไม่ควรไปอยู่ในที่เช่นนั้น นั่น นี่ท่านสอนไว้แล้วในมหาขันธ์ก็มี ให้ไปหาอยู่ในที่สงบสงัด สถานที่ขึ้นลงเช่นท่าน้ำ เป็นที่ขึ้นลงของผู้คนหญิงชายก็ไม่ควรไปพัก ให้หาพักในที่สงบสงัด

​ทำไมท่านจึงให้พักในที่สงัด เพราะความสงัดนั้นเป็นเหตุที่จะให้รู้วิถีของจิตที่คิดออก จะคิดออกนอกลู่นอกทาง คิดในแง่ใด ย่อมจะทราบได้ง่ายกว่ามีสิ่งรบกวนวุ่นวายอยู่ตลอดเวลา ท่านจึงสอนให้อยู่ในที่สงบสงัด เสียงเป็นอย่างไร รูปเป็นอย่างไร ท่านจึงไม่ให้ยุ่งไม่ให้เกี่ยว เพราะสิ่งเหล่านี้เป็นข้าศึกทั้งนั้น ในเวลาที่ควรเป็นข้าศึกต้องเป็นอยู่โดยสม่ำเสมอ ไม่มีคำว่าขาดวรรคขาดตอน เพราะกิเลสย่อมจะกว้านเอาสิ่งเหล่านั้นเข้ามาเป็นสมบัติของตน แต่เป็นฟืนเป็นไฟสำหรับจิตใจของผู้บำเพ็ญเพื่ออรรถเพื่อธรรม ท่านจึงสอนไม่ให้ยุ่งไม่ให้เกี่ยว ให้หาอยู่ในที่สงัด สงัดจากรูปจากเสียงจากกลิ่นจากรสอันจะเป็นข้าศึกต่อจิตตภาวนา นี่ละเป็นของสำคัญ แล้วผู้ปฏิบัติก็เห็นคุณค่าของความสงัดจริงๆ

​เราอยู่ธรรมดาอย่างสถานที่เราอยู่นี้เป็นที่สงัดก็จริง แต่หาที่สงัดยิ่งกว่านี้เข้าไป และที่เปลี่ยวยิ่งกว่านี้เข้าไป จิตใจจะมีความเปลี่ยนแปลงตัวเองไปเรื่อยๆ การเปลี่ยนแปลงของจิตใจในสถานที่เปลี่ยว สถานที่น่าหวาดเสียวน่ากลัว ย่อมจะเปลี่ยนแปลงเข้าสู่อรรถธรรมได้ง่ายกว่าที่เราอยู่ธรรมดา นี่ละท่านจึงสอนให้อยู่ในที่สงัดในที่วิเวก

หลวงตาพระมหาบัว ญาณสัมปันโน
จากหนังสือ "ความลึกลับซับซ้อนของจิตวิญญาณ"









เรื่อง "นิพพานเหนือทุกข์สุขดีชั่ว หมดเรื่องพูด"

ปล่อยวาง "สังขาร" วาง "ขันธ์ ๕" เหล่านี้ เป็นเพียง "ผู้รับทราบ" ไว้เฉยๆ มันจะดีขึ้นมา ท่านก็ไม่ดีกับมัน เป็น "คนดู" อยู่เฉยๆ ถ้ามันร้ายขึ้นมา ท่านก็ไม่ร้ายกับมัน ทำไมเป็นอย่างนั้น ? เพราะมันขาด "ปัจจัย" แล้ว "รู้ตามความเป็นจริง" ปัจจัยที่จะส่งเสริม "ตัวเกิด" ไม่มีตัวนี้เป็น "ผู้รู้ " ยืนตัว ตัวนี้แหละเป็นตัวสงบ ตัวนี้เป็นตัวไม่เกิด ไม่แก่ ไม่เจ็บ ไม่ตาย ตัวนี้ ไม่ใช่เหตุ ไม่ใช่ผล ไม่อาศัยเหตุ ไม่อาศัยผล ไม่อาศัยปัจจัย หมดปัจจัย สิ้นปัจจัย นอกเกิด เหนือตาย เหนือทุกข์ เหนือสุข เหนือดี เหนือชั่ว หมดเรื่องจะพูด

คติธรรม หลวงพ่อชา สุภัทโท







"ผู้ทำสมาธิภาวนามิใช่ผู้มีบุญวาสนาน้อย คนมีบุญวาสนามากต่างหากจึงรักบุญกุศลส่วนละเอียดที่เกิดจากสมาธิภาวนา ความน้อยเนื้อต่ำใจในเวลาจะทำสมาธิภาวนา เป็นกลมายาของกิเลสหลอกคนให้หลงไปตามมันแล้วหยุดภาวนาเสียต่างหาก กรุณาทราบกลของกิเลสไว้จะได้ทำภาวนาสะดวกใจ ทนได้เท่าไรก็ทนไป เมื่อทนไม่ไหวก็พักไปเหมือนคนทำงานอื่น ๆ นั่นแลจะเป็นไรไป ยังได้บุญทุก ๆ ครั้งที่ทำภาวนา ส่วนกิเลสมันไม่เห็นเอาบุญมาให้เรา เราจะเชื่อกลมันอะไรนักหนา ถ้าเชื่อมันมากก็ล่มจมได้ กรุณาทำไปตามกำลังความสามารถของเรานั่นแล กิเลสคือความขี้เกียจ คือความว่าบุญน้อยวาสนาน้อย หรือความหยุดเสียไม่ทำ นั้นมันไม่ได้มาให้ความดิบความดีอะไรแก่เราแม้นิดเดียว นอกจากมันมาคอยกระซิบกระซาบด้วยอุบายหลอกลวงให้เราหลงไปตามมันเท่านั้น เวลาเราหลงไปตามกลมายาของมัน มันยังไม่เห็นว่าให้เราบ้างว่า แกโง่ แกบุญวาสนาน้อย แกอาภัพ แกจึงมาหลงกลหลอกของเรา เหล่านี้กิเลสไม่เห็นว่าไม่เห็นเตือนเราพอให้รู้ตัว แล้วปลีกตัวออกห่างจากมันบ้าง กลมายาของกิเลสมันแหลมคมอย่างนี้เอง กรุณาทราบไว้เผื่อเวลามันมาหลอกจะรู้ตัวไว้บ้างไม่จมไปกับมันหมดทั้งตัว"

พระธรรมคำสอนโดย
พระธรรมวิสุทธิมงคล (หลวงตามหาบัว ญาณสัมปันโน)
วัดป่าเกษรศีลคุณ (วัดป่าบ้านตาด อ.เมือง จ.อุดรธานี)





คุณค่าของสิ่งที่มีอยู่
กับ...สิ่งที่อยากได้แต่ยังไม่มี

“คนเรามักไม่เห็นความสำคัญของสิ่งที่มีอยู่กับตัว แต่กลับไปจดจ่อใส่ใจกับสิ่งที่ตัวเองยังไม่มี จึงหาความสุขได้ยาก เพราะจะถูกรบกวนด้วยความอยากได้สิ่งใหม่ๆอยู่เสมอ ต่อเมื่อสูญเสียสิ่งที่มีอยู่ไป จึงค่อยเห็นคุณค่าของสิ่งนั้น ไม่ว่าสิ่งนั้นจะเป็นทรัพย์สมบัติ คนรัก หรือสุขภาพร่างกาย

ใช่หรือไม่ว่า...
ต่อเมื่อเจ็บป่วยเราจึงตระหนักว่าการมีสุขภาพดีนั้นเป็นโชคอันประเสริฐแล้ว

ต่อเมื่ออวัยวะบางอย่างสูญเสียหรือพิการไป เราจึงเห็นว่าอวัยวะดังกล่าวมีความสำคัญยิ่งกว่าเงินทองชื่อเสียงที่เคยอยากได้

ต่อเมื่อคนรักจากไป จึงได้คิดว่าเขามีความหมายกับชีวิตของเราอย่างไร

แว่นตา หรือ นาฬิกา ที่เราไม่ค่อยเห็นความสำคัญ ต่อเมื่อมันหายไป จึงรู้ว่ามันมีประโยชน์กับเราเพียงใด”

พระไพศาล วิสาโล
ที่มา : ธรรมบรรยายเรื่อง “ระลึกถึงความตาย สบายนัก”









"ตายคาภาวนาดีกว่า"

ตายคาภาวนายังดีกว่าตายคานึกถึงสิ่งของ เวลาเราจะตาย เรานึกถึงสิ่งของอันใด ใจขาดด้วย ก็ไปเป็นเขียดกะปาดบ้าง อยู่ตามรั้วอยู่ตามไร่ตามนา ถ้าเรานึกถึงหลานคนนั้นคนนี้ แล้วก็ใจขาดคาที่นั่น เราไปเกิดเป็นเป็ดเป็นไก่เขาหรือเป็นหลานเขา เวลาจะตายสำคัญ อสัญกรรม กรรมเมื่อจวนเจียน

- เวลาใกล้จะตายเห็นแสงไฟ ปรากฏเห็นแสงไฟมา ยังไม่คิดไปทางอื่นแล้วก็เลยตายในขณะนั้นก็ไปเกิดในนรก

- ถ้าเวลาใกล้จะตายปรากฏเห็นท่าน้ำหรือป่าไม้ แล้วก็สิ้นลมปราณในเวลานั้นยังไม่คิดไปทางอื่น ก็ไปเกิดเป็นสัตว์เดรัจฉาน

- เวลาใกล้จะตายปรากฏว่ามืดมนอนธกาล มองไม่เห็นอะไรเลยคล้ายๆว่ากลางคืน สิ้นลมปราณในขณะนั้นก็ไปเกิดเป็นเปรต

- เวลาใกล้จะตาย ได้ปรากฏเห็นวิมานและปรากฏเห็นเทวบุตรเทวดา แล้วก็สิ้นลมปราณในขณะนั้น ก็ไปเป็นเทวบุตรเทวดาเป็นอินทร์เป็นพรหมอยู่ในสรวงสวรรค์หรือพรหมโลก

- เวลาใกล้จะตาย ปรากฏเห็นครรภ์มารดา ก็ไปถือปฏิสนธิเกิดอีกในครรภ์

ส่วนพระอรหันต์ไม่ได้เป็นอย่างนั้น เวลาใกล้จะตายก็มาเห็นกายเราส่วนใดส่วนหนึ่ง เช่น ลมหายใจเข้าออกเป็นต้น หรือ กระดูกท่อนใดท่อนหนึ่งเป็นต้น หรือผม ขน เล็บ ฟัน อันใดอันหนึ่งเป็นต้น หรือธาตุน้ำอันใดอันหนึ่งในสกลร่างกายเป็นต้น มีดี เสลด น้ำเลือด เหงื่อ น้ำมันข้น น้ำลาย ไขข้อ น้ำมูตร หรืออันใดอันหนึ่งเป็นต้น ต่อจากนั้นแล้วท่านก็พลิกจิต ไม่ได้ติดอยู่ในผู้รู้ทั้งหลาย ทั้งอดีต อนาคต ปัจจุบันด้วย ท่านก็เข้าสู่พระนิพพานไปซะ หาธรรมอันไม่ตาย

ถ้าเราไม่หัดไว้ทีนี้ ใกล้จะตายมาพุทโธๆแด่เด้อ พุทโธๆเด้อ พุทโธๆยังไงเมื่อมีชีวิตอยู่มันก็ยังไม่ภาวนา เดี๋ยวจะเจ็บอันนั้นปวดอันนี้ ร้องครางไปสารพัดแล้วไม่หัดไว้เดี๋ยวนี้ไม่ได้ จำเป็นต้องหัดไว้ ถ้าตายคาภาวนาพุทโธ ถึงจะมีเกิด แก่ เจ็บ ตาย อีกก็ตาม เราก็ไปสุคตินานอยู่เหมือนกัน

"พระอาจารย์หล้า เขมปัตโต"
วัดบรรพตคีรี (ภูจ้อก้อ) จ.มุกดาหาร






สมาธิเนี่ย ถ้ามันพักอยู่เฉยๆ มันก็สบาย
แต่ไม่ค่อยรู้อะไร มันอยู่นิ่งๆ อยู่อย่างนั้นน่ะ
เหมือนคนนอนพัก
กินข้าวเสร็จก็นอนพัก ไม่ทำอะไรเลย
เอาแต่นอนพัก กินข้าวแล้วก็นอนพัก
มันไม่ออกมารู้.......
แต่คราวนี้มันพักแล้วก็ให้มันทำงาน
ทำงาน ก็คือ ขยายความรู้สึกออกมา
ค่อยๆ ขยายออกมาๆ ทีแรกมันก็ออกยากหน่อยนะ
อืดอาด.... กว่าจะออกมาได้
ถ้าคนไหนฝึกใหม่ๆ เนี่ย มันไม่ค่อยอยากออกน่ะ
นี่มันติดสมาธิ มันไม่อยากออก มันขี้เกียจด้วย
มันเลยทำให้คนเนี่ยไม่อยากใช้จิตให้ออกมาทำงาน
อยากจะนิ่งอยู่เฉยๆ เรียกว่า “ติดสมาธิ”
ตัวจิตเองมันก็อยากพัก แล้วเราก็ไม่เข้าใจ
เห็นจิตมันเฉยๆ มันขี้เกียจ มันไม่ออก
.....ก็ไม่ฝึกมัน!.....
นี่เขาจึงเปรียบเทียบว่าจิตเนี่ยบางทีมันเหมือนกับสัตว์
....สัตว์ที่เขาปล่อยเอาไว้ในป่า.....
มันไม่เคยถูกเจ้าของฝึกฝนน่ะ
มันก็จะทำอะไรตามใจ อยากไปไหนก็ไป
อยากไปหากินที่ไหนก็ไป

ทีนี้พอมันโตได้ที่แล้ว
เจ้าของก็อยากเอามาฝึกเพื่อใช้งาน
เขาก็ต้องไปจับ จับก็จับยาก มันไม่ยอมง่ายๆนะ มันดื้อ
เขาก็มีอุบาย ถึงจะจับมันได้
พอจับมาแล้วก็ต้องมาทรมาน สนตะพาย
จูงมันไปกินหญ้า มันกระโดด มันต่อต้านน่ะ
มันไม่อยากให้ดึงไปง่ายๆ มันสู้ มันจะไปของมัน
อยากเป็นอิสระของมัน มันเคยอิสระ
ตอนหลังมันก็เหนื่อย มันก็เจ็บจมูก สุดท้ายมันก็ยอม
.
พระอาจารย์ครรชิต สุทฺธิจิตฺโต
วัดป่าภูไม้ฮาว จ.มุกดาหาร







หลักพระพุทธศาสนา มุ่งหมายอะไร?
.
“ความเข้าใจผิด ที่เป็นอุปสรรคแก่การจะเข้าใจพุทธศาสนา มีอยู่อีกอย่างหนึ่งคือ คนมักเข้าใจกันว่า หลักพระพุทธศาสนา อันว่าด้วย “สุญญตา” หรือ “อนัตตา” นั้น ไม่มีความมุ่งหมายหรือไม่อาจนำมาใช้กับคนธรรมดาสามัญทั่วไป ใช้ได้แต่ผู้ปฏิบัติธรรมในชั้นสูง ที่อยู่ตามถ้ำ ตามป่า หรือเป็นนักบวชที่มุ่งหมายจะบรรลุมรรคผลนิพพานโดยเร็วเท่านั้น แล้วก็เกิดบัญญัติกันเองขึ้นใหม่ว่าจะต้องมีหลักพุทธศาสนาอีกระดับหนึ่ง ซึ่งเหมาะสำหรับคนทั่วไปที่เป็นฆราวาสอยู่ตามบ้านเรือน และคนพวกนี้เองที่ยึดมั่นในคำว่า “มนุษยสมบัติ สวรรค์สมบัติ” แล้วจัดตัวเองหรือสอนคนอื่นๆให้มุ่งหมายเพียงมนุษยสมบัติและสวรรค์สมบัติเท่านั้น ส่วน “นิพพานสมบัติ” เขาจัดไว้เป็นสิ่งสุดวิสัยของคนทั่วไป เขาจึงไม่เกี่ยวข้อง แม้ด้วยการกล่าวถึง คนพวกนี้แหละ จึงห่างไกลต่อการได้ยินได้ฟัง“หลักพระพุทธศาสนาอันแท้จริง” กล่าวคือ เรื่อง “สุญญตา” และ “อนัตตา” คงสาละวนกันอยู่แต่เรื่องทำบุญ ให้ทาน ชนิดที่จะทำให้ตนเป็นผู้มีโชคดีในชาตินี้ แล้วไปเกิดสวยเกิดรวยในชาติหน้า และได้ครอบครองสวรรค์หรือวิมานในที่สุด วนเวียนพูดกันในเรื่องนี้ ไม่ว่าในหมู่คนปัญญาอ่อน หรือ นักปราชญ์ เรื่องนิพพานสมบัติจึงเป็นเรื่องที่น่ากลัวไป เพราะรู้สึกคล้ายกับว่าการบรรลุนิพพานนั้นเหมือนกับ การถูกจับโยนลงไปในเหวอันเวิ้งว้างไม่มีที่สิ้นสุด แต่จะปัดทิ้งเสียทีเดียวก็ไม่ได้ เพราะเขาว่าเป็นสิ่งสูงสุด ในพระพุทธศาสนา จึงได้แต่เพียงห้ามปรามกัน ไม่ให้พูดถึง แม้ในหมู่บุคคลชั้นเถระ หรือ สมภารเจ้าวัด พวกชาวบ้านทั่วไป จึงห่างไกลจากการได้ยินได้ฟัง เรื่องซึ่งเป็นตัวแท้ของพุทธศาสนาหรือหลักพุทธศาสนาอันแท้จริง ที่พระพุทธองค์ทรงมุ่งหมายเอาไว้หรือมีไว้เพื่อประโยชน์แก่คนทุกคน และทุกชั้น สถานการณ์ด้านศาสนาของประเทศไทยกำลังเป็นอยู่อย่างนี้ แล้วจะเรียกว่า เป็นการบวชเพื่อสืบพระศาสนาได้อย่างไรกันเล่า

เรื่อง “สุญญตา” นี้ เป็นเรื่องของ“ฆราวาส”จะต้องสนใจ ทราบได้จากบาลีตอนหนึ่งแห่ง สังยุตตนิกาย และที่อื่นๆ ที่ตรงกัน ข้อความในบาลีนั้นมีใจความที่พอจะสรุปสั้นๆได้ว่า พวกชาวบ้านที่มีอันจะกินกลุ่มหนึ่ง ได้เข้าไปเผ้าพระผู้มีพระภาคเจ้า แล้วกราบทูลให้ทรงทราบตามสภาพที่เป็นจริงว่า พวกเขาเป็นผู้ครองบ้านเรือน อัดแอด้วยบุตรภรรยา ลูบไล้กระแจะจันทน์หอม ประกอบการงานอยู่อย่างสามัญชนทั่วไป ขอให้พระองค์ทรงแสดงข้อธรรมะที่ทรงเห็นว่า เป็นประโยชน์เกื้อกูลแก่เขาผู้อยู่ในสภาพเช่นนั้น พระพุทธองค์จึงสอนเรื่อง “สุญญตา” ซึ่งเป็นตัวแท้ของพุทธศาสนา แก่คนเหล่านั้น โดยทรงเห็นว่าเป็นประโยชน์เกื้อกูลแก่ชนเหล่านั้นโดยตรง และทรงยืนยันให้เขาถือเป็นหลักไว้ประจำใจว่า เรื่องสุญญตานั้นเป็นเรื่องซึ่งพระพุทธเจ้าสอน ส่วนเรื่องอันสวยสดงดงามต่างๆนอกไปจากนั้น เป็นเรื่องของคนชั้นหลังสอน พวกชาวบ้านเหล่านั้นได้ทูลแย้งขึ้นว่า เรื่องสุญญตายังสูงเกินไปขอให้ทรงแสดงเรื่องที่ต่ำลงมา พระองค์จึงได้แสดงเรื่องการเตรียมตัวเพื่อความเป็นผู้บรรลุถึงกระแสแห่งนิพพาน ซึ่งได้แก่ ข้อปฏิบัติเพื่อบรรลุถึงความเป็นพระโสดาบัน มีใจความโดยสรุปคือ มีศรัทธาในพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ อย่างไม่ง่อนแง่น คลอนแคลน กับมีศีลชนิดที่พระอริยเจ้าชอบใจ คือ เป็นศีลชนิดที่ผู้นั้นเองก็ติเตียนตนเองไม่ได้ และการไม่มีความเชื่อหรือปฏิบัติอย่างงมงายในเรื่องต่างๆ พวกชาวบ้านเหล่านั้นก็แสดงความพอใจ และกราบทูลว่าตนได้ยึดมั่นอยู่ในหลักปฏิบัติเหล่านั้นอยู่แล้ว

เรื่องนี้ เป็นเรื่องที่จะต้องพิจารณากันอย่างละเอียด เพื่อความเข้าใจถึงความมุ่งหมาย อันแท้จริงของหลักพระพุทธศาสนา พระองค์ทรงแสดงเรื่องสุญญตาแก่บุคคลผู้ครองเรือน เพราะเป็นประโยชน์ เกื้อกูลแก่เขาตามที่เขาขอร้องตรงๆ พระพุทธองค์ประสงค์จะให้พวกฆราวาสรับเอาเรื่องสุญญตาไปใช้ให้เป็นประโยชน์ เพราะมันไม่มีเรื่องอื่นที่ดีกว่านี้จริงๆ ส่วนเรื่องที่ลดหลั่นลงไปจากเรื่องสุญญตานั้น ก็ได้แก่ ข้อปฏิบัติที่ทำให้เป็นพระโสดาบันนั่นเอง เรื่องนี้ก็เป็นเรื่องเตรียมตัวสำหรับการบรรลุนิพพานโดยตรง จึงนับว่าเป็นเรื่องเข้าถึงสุญญตาโดยทางอ้อมนั่นเอง หาใช่เป็นเรื่องทำบุญให้ทาน ด้วยการมัวเมาในมนุษยสมบัติ และสวรรค์สมบัติ อย่างไม่มีที่สิ้นสุด แต่ก็ไม่วายที่พวกนักอธิบายธรรมะในชั้นหลังๆจะดึงเอาเรื่องเหล่านี้ มาเกี่ยวข้องกับสวรรค์สมบัติจนได้ และทำไปในลักษณะที่เป็นการหลอก โฆษณาชวนเชื่อยิ่งขึ้นทุกที จึงทำให้เรื่องที่เป็นบันไดขั้นต้นของนิพพานหรือของสุญญตา ต้องสลัว หรือ ลับเลือนไปอีก จนพวกเราสมัยนี้ ไม่มีโอกาสที่จะฟังเรื่องสุญญตา หรือนำเอาเรื่องสุญญตา อันเป็นตัวแท้ของพระพุทธศาสนา มาใช้ในการบำบัดทุกข์ประจำวัน อันเป็นความประสงค์ที่แท้จริงของพระพุทธเจ้า พวกเราจึงต้องเหินห่างจากหัวใจของพุทธศาสนา ออกไปมากขึ้นทุกวันๆ เพราะนักสอนนักอธิบายสมัยนี้เอง

การที่พระพุทธองค์ ทรงแสดงเรื่องสุญญตาแก่ฆราวาส ก็ต้องมีความหมายว่าปัญหายุ่งยากต่างๆของฆราวาสต้องแก้ด้วยหลักสุญญตา ความเป็นไปในชีวิตประจำวันของฆราวาส จะต้องถูกควบคุมอยู่ด้วยความเข้าใจถูกต้อง ในเรื่องอันเกี่ยวกับจิตว่าง เขาจะทำอะไรไม่ผิดไม่เป็นทุกข์ขึ้นมา ก็เพราะมีความรู้ในเรื่องสุญญตามาคอยกำกับจิตใจ ถ้าผิดไปจากนี้แล้วฆราวาสก็คือพวกที่จะต้องหัวเราะและร้องไห้ สลับกันไป ไม่มีที่สิ้นสุด และ เพื่อที่จะให้ฆราวาส ไม่ต้องเป็นเช่นนั้น พระองค์จึงได้สอนเรื่องสุญญตาแก่ฆราวาสในฐานที่ “เป็นสิ่งที่เป็นประโยชน์ เกื้อกูลแก่ฆราวาส” ดังที่กล่าวแล้ว หลักพุทธศาสนาอันสูงสุดนั้น มีเรื่องเดียว คือเรื่อง “สุญญตา” หรือ “จิตว่าง” ใช้ได้แม้แต่พวกฆราวาสทั่วไป และมุ่งหมายที่จะดับทุกข์ของฆราวาสโดยตรง เพื่อฆราวาสผู้อยู่ท่ามกลางความทุกข์นี้จะได้กลายเป็น บุคคลที่ความทุกข์แปดเปื้อนไม่ได้ ถ้าเป็นนิพพาน ก็เป็นที่ความทุกข์แปดเปื้อนไม่ได้นั่นเอง ถ้าแปดเปื้อนไม่ได้เลยจนเป็นการเด็ดขาดและถาวร ก็เรียกว่า เป็นผู้บรรลุพระนิพพาน เป็นพระอรหันต์, เป็นแต่เพียงการแปดเปื้อนที่น้อยลงมาก็เป็นการบรรลุพระนิพพานในขั้นที่เป็นพระอริยบุคคลรองๆลงมา...”
.
พุทธทาสภิกขุ
ที่มา : ธรรมบรรยาย จากหนังสือ “ตัวกู ของกู” บทที่ ๒ หัวข้อเรื่อง “พุทธศานามุ่งหมายอะไร?”








...เราไม่ควรจะกลัวความยากลําบาก
ไม่ควรจะกลัวความตาย

เพราะมันเป็นเรื่องธรรมดา
ไม่มีใครหลีกเลี่ยงได้
ไม่มีใครหนีพ้นได้

คนที่ไม่กลัวนั่นแหละ
“จะอยู่อย่างสุขอย่างสบาย”
ไม่ว่าจะเป็นหรือจะตาย
จะรวยหรือจะจน
จะไม่เป็นปัญหาแต่อย่างใด.

.......................................
.
หนังสือธรรมะโดนใจ 1 หน้า 55
ธรรมะในศาลา 12/7/2551
พระอาจารย์สุชาติ อภิชาโต
วัดญาณสังวรารามฯ ชลบุรี







อย่าไปไขว่คว้าอะไร
ให้มันมากมายนัก
ให้กำหนดสติรู้จิต
เพียงอย่างเดียว
บาปมันเกิดที่จิต
บุญมันเกิดที่จิต
ดีชั่วเกิดที่จิต
สวรรค์นิพพานเกิดที่จิต
มันไม่ได้เกิดที่อื่น

หลวงปู่แหวน​ สุจิณโณ







...ขอให้เราจงมีความตั้งใจที่จะปฏิบัติ
โดยเฉพาะการเจริญสติ

พยายามเจริญสติตลอดเวลา
“เราสามารถเจริญได้ทุกแห่งทุกหนทุกเวลา”
ยกเว้นเวลาที่หลับเท่านั้น

ถ้าเราเจริญสติได้
สมาธิก็อยู่แค่เอื้อมมือ
นั่งหลับตาพุทโธ 5 นาที ใจก็จะสงบ .

......................................
.

หนังสือสติธรรม หน้า6-7
ธรรมะบนเขา ณ เขาชีโอน
พระอาจารย์สุชาติ อภิชาโต
วัดญาณสังวรารามฯ ชลบุรี







"การปฏิบัติธรรม ไม่ยากหรอกลูก
มันยากตรงเอากิเลสออก
ที่นั่งๆ​ กันอยู่นี่ก็เรียกตัวว่า
นักปฏิบัติกันทั้งนั้น"

หลวงพ่อ​เพชร​ วชิรมโน

หน้า 1 จากทั้งหมด 1 เขตเวลา GMT + 7 ชั่วโมง
Powered by phpBB © 2000, 2002, 2005, 2007 phpBB Group
http://www.phpbb.com/