วันเวลาปัจจุบัน 28 มี.ค. 2024, 15:02  



เขตเวลา GMT + 7 ชั่วโมง




กลับไปยังกระทู้  [ 14 โพสต์ ]    Bookmark and Share
เจ้าของ ข้อความ
โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 13 ก.ย. 2019, 18:19 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
สมาชิกระดับสูงสุด
สมาชิกระดับสูงสุด
ลงทะเบียนเมื่อ: 24 ต.ค. 2006, 12:36
โพสต์: 33766

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว


คุณลักษณะสามประการของผู้รักษาพระพุทธศาสนา
พระพรหมคุณาภรณ์ (ป.อ.ปยุตฺโต)
วัดญาณเวศกวัน ต.บางกระทึก อ.สามพราน จ.นครปฐม

คัดบางตอนจาก หนังสือ จากสุขในบ้าน สู่ความเกษมศานติ์ทั่วสังคม

.....................................................
https://dhammachati.blogspot.com/


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 13 ก.ย. 2019, 18:21 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
สมาชิกระดับสูงสุด
สมาชิกระดับสูงสุด
ลงทะเบียนเมื่อ: 24 ต.ค. 2006, 12:36
โพสต์: 33766

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว


สภาพความเสื่อมนี้ในปัจจุบันญาติโยมพูดกันมาก เพราะมีข่าวร้ายต่างๆ มากมาย เรื่อง อย่างนี้พระสงฆ์ก็ควรจะเอามาพูดบ้าง ไม่งั้นญาติโยมพูดฝ่ายเดียวจะกลายเป็นนินทาพระ แต่ถ้าพระเอามาพูดบ้างในฐานะที่เป็นผู้รู้เรื่องทางธรรม พูดในทางแนะนำและหาทางแก้ปัญหา ก็จะได้มีทางช่วยกันให้รู้จักวางใจได้ถูกต้อง เพราะฉะนั้น เมื่อเรื่องร้ายๆ และปัญหาเกิดขึ้น พระจำเป็นต้องเอามาพูดให้โยมรู้ว่า ความเสื่อมเกิดขึ้นได้อย่างไร มีทางแก้ไขอย่างไร เราจะได้ช่วยกันป้องกัน และที่จริงนั้นตัวเราเองก็มีหน้าที่ด้วย เพราะว่า ในฐานะที่เป็นพุทธศาสนิกชน เรามีหน้าที่ช่วยกันป้องกันพระศาสนา

อย่างวันสองวันนี้ก็ได้ข่าวอีกแล้วรายใหม่ อาตมาเองก็ไม่ได้อ่านหนังสือพิมพ์ แต่ท่านมหา และหลวงลุงท่านก็อ่านและท่านเล่าให้ฟังว่า มีพระองค์หนึ่งไปหลอกร้านค้าเพชร เอาเพชรไปแล้วไม่จ่ายเงินให้แก่เขา จำนวนเป็นล้านๆ บาท และขอประทานอภัยก็ไปทำศิวลึงค์นำไปแจกในต่างประเทศ พอฟังหรืออ่านข่าวพระประพฤติอย่างนี้แล้ว โยมก็อาจจะพูดว่าพระไม่ดี พระเสียหาย พระหลอกลวง พระเหลวไหล ไม่น่านับถือ จากพระไม่ดี ก็เลยพาลพาโลต่อไปว่าพระพุทธศาสนาไม่ดี แล้วก็จะไม่นับถือพระ จะเลิกนับถือพระพุทธศาสนา

ที่จริงนั้น พระพุทธศาสนาเป็นของเรา ไม่ใช่เป็นของพระองค์นั้น เพราะว่าคนที่จะมีสิทธิเป็นเจ้าของพระพุทธศาสนา นั้นจะต้องเป็นพุทธบริษัท พุทธบริษัทก็คือผู้ที่ทำหน้าที่ของชาวพุทธอย่างถูกต้อง ถ้าเป็นพระก็ต้องเป็นพระที่ประพฤติปฏิบัติ และทำหน้าที่ของพระอย่างถูกต้อง

ถ้าเป็นอุบาสกอุบาสิกาก็เป็นคฤหัสถ์ที่ทำหน้าที่ของชาวบ้านอย่างถูกต้อง ถ้าเราทำหน้าที่ของพุทธศาสนิกชนถูกต้อง เราเองนี่แหละเป็นเจ้าของพระพุทธศาสนา

ในทางตรงข้าม พระก็ตาม ญาติโยมก็ตาม แม้จะประกาศตนเป็นชาวพุทธ แต่ถ้าปฏิบัติตนไม่ถูกต้อง ทำตัวเหลวไหล ก็ไม่มีสิทธิเป็นเจ้าของพระพุทธศาสนา ควรจะระแวงว่าเป็นคนร้ายที่แฝงซ่อนเข้ามาหาประโยชน์จากพระศาสนา ที่เรียกกันว่าเข้ามาปล้นศาสนา

เพราะฉะนั้น พระที่ประพฤติเลวทรามเหล่านั้นเราไม่ถือว่าเป็นเจ้าของพระพุทธศาสนา โยมจะต้องไม่มองว่าเป็นพระประพฤติชั่ว โยมจะต้องมองว่าคนชั่วเข้ามาทำลายพระศาสนา ถ้าเราวางใจให้ถูกต้องอย่างนี้แล้วพระศาสนาก็จะดีขึ้น เราจะต้องมีความรับผิดชอบต่อพระศาสนา อย่าถือธุระไม่ใช่ อย่ายกสมบัติของเราให้เขาไป

อาตมาเคยเปรียบเทียบบ่อยๆ ว่า ถ้ามีโจรเข้ามาปล้นบ้าน แล้วเรายกสมบัติให้โจรไปเลย อย่างนี้ถือว่าวิปริตใช่ไหม ที่ถูกนั้นเราต้องรักษาทรัพย์สมบัติของเรา

แต่ที่เป็นกันเวลานี้เราก็ทำวิปริตกันอยู่โดยไม่รู้ตัว คือ ทั้งๆ ที่พระศาสนานี้เป็นของเรา แต่พอมีโจรคือคนที่แฝงตัวมาในเพศของพระประพฤติไม่ดีทำเสียหาย เป็นโจรปล้นศาสนา พอมีโจรเข้ามาปล้นพระศาสนาของเราอย่างนี้ แทนที่เราจะช่วยกันรักษาพระศาสนาของเรา เรากลับยกศาสนาให้โจรไปเสียนี่ อย่างนี้เขาเรียกว่ายกสมบัติให้โจร เพราะฉะนั้นการทำอย่างนี้ เรากำลังทำผิดพลาด ต้องทำใจให้ถูกต้อง เราต้องรักษาพระพุทธศาสนาของเรา ดูให้ดี ปัญหาอยู่ที่คนร้าย หรืออยู่ที่ตัวเรา

พระพุทธเจ้าทรงระวังมากในเรื่อง อามิสไพบูลย์ และ ธรรมไพบูลย์ ทรงเตือนให้เตรียมสร้างธรรมไพบูลย์ไว้ให้พร้อมและ ให้ไม่ประมาทในเวลามีอามิสไพบูลย์ เช่น ก่อนที่จะปรินิพพานพระองค์ก็ได้ทรงวางเงื่อนไขไว้ว่า ต้องให้พุทธบริษัททุกฝ่ายมีคุณสมบัติ อย่างน้อย ๓ ประการ จะเป็นพระคือภิกษุ หรือภิกษุณีก็ตาม เป็นอุบาสก อุบาสิกาก็ตาม ทุกคนควรจะมีคุณสมบัติ ๓ ประการต่อไปนี้ จึงจะถือว่ามีธรรมไพบูลย์ที่จะทำให้พระพุทธศาสนาดำรงอยู่ยืนยาวได้

พระพุทธเจ้าทรงวางเงื่อนไข ๓ ประการนี้ไว้ในตอนจะรับอาราธนาปรินิพพาน มีเรื่องว่ามารมาอาราธนาพระพุทธเจ้าปรินิพพาน พระองค์ตรัสว่าจะยังไม่ปรินิพพาน และพระองค์ก็ทรงวางเงื่อนไขไว้สามประการ ต่อมาครั้งสุดท้าย มารก็มาอาราธนาอีกโดยทวงว่า เงื่อนไขที่พระองค์ได้ทรงวางไว้นั้นสมบูรณ์แล้ว ขอนิมนต์ปรินิพพานได้ พระพุทธเจ้าก็ทรงสำรวจดู ปรากฏว่าเงื่อนไขที่พระองค์ทรงกำหนดไว้ ๓ ประการ ครบแล้วจริง พระองค์ก็เลยรับอาราธนาปรินิพพาน แล้วทรงปลงพระชนมายุสังขาร คือตกลงพระทัยว่าจะปรินิพพาน ในที่นี้สิ่งที่น่าสนใจยิ่งกว่าการปลงพระ ชนมายุสังขาร ก็คือเงื่อนไข ๓ ประการนี้ ที่พระพุทธเจ้าทรงวางไว้ว่า

พุทธบริษัททุกประเภท คือทั้ง ๔ พวก จะต้องมีความสามารถที่จะดำรงพระศาสนาได้ พระองค์จึงจะปรินิพพาน มิฉะนั้นพระองค์ก็จะต้องทำหน้าที่ของพระศาสดาต่อไป หมายความว่าพระองค์ทรงฝากพระศาสนาไว้กับบริษัท ๔ ที่มีความสามารถ ๓ ประการ ความสามารถ ๓ ประการนี้มีอะไรบ้าง

๑. ภิกษุ ภิกษุณี อุบาสก อุบาสิกาจะต้องรู้หลักธรรมเข้าใจคำสั่งสอนของพระองค์แล้วนำไปปฏิบัติได้ถูกต้อง พูดสั้นๆ ว่า รู้คำสอน และปฏิบัติได้ถูกต้อง

๒. ให้สามารถยิ่งกว่านั้นอีก คือ นอกจากรู้เข้าใจปฏิบัติได้ถูกต้องด้วยตนเองแล้ว ยังนำไปบอกกล่าวชี้แจงสั่งสอนคนอื่นได้ด้วย คนที่จะไปบอกกล่าวแนะนำสั่งสอนชี้แจงคนอื่นได้นั้น

(๑) จะต้องมีความสามารถที่จะแนะนำสั่งสอน และ

(๒) ต้องมีน้ำใจประกอบด้วยเมตตากรุณา บางคนถึงจะมีความสามารถแต่ไม่มีน้ำใจกรุณา ก็ไม่ใส่ใจที่จะสอนก็ไม่ได้ผล เหมือนกัน จึงต้องมีทั้งน้ำใจ ต้องมีทั้งความสามารถ แล้วก็เอา ธรรมไปแนะนำสั่งสอนแก่คนอื่นต่อไป

๓.ข้อสุดท้ายว่า ถ้ามีการจาบจ้วง คำว่า จาบจ้วง นี่เป็นภาษาโบราณ หมายความว่ามีการกล่าวร้ายต่อพระศาสนา หรือมีการสั่งสอนลัทธิที่ผิดจากธรรมผิดจากพระวินัยขึ้น ก็สามารถกล่าวแก้ ชี้แจงกำราบได้ เรียกว่า กำราบปรับวาท ได้

.....................................................
https://dhammachati.blogspot.com/


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 13 ก.ย. 2019, 18:36 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
สมาชิกระดับสูงสุด
สมาชิกระดับสูงสุด
ลงทะเบียนเมื่อ: 24 ต.ค. 2006, 12:36
โพสต์: 33766

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว


เงื่อนไขคุณสมบัติของพุทธบริษัท ๓ ประการนี้ เราจะต้องเอามาใช้เกณฑ์มาตรฐานสำหรับสำรวจตรวจสอบพุทธศาสนิกชน ว่า จะสามารถรักษาพระศาสนาได้หรือไม่ เพราะว่าเมื่อตรัสหลักการ ๓ ประการนี้ก็เท่ากับว่า พระพุทธเจ้าก่อนจะปรินิพพาน ได้ทรงฝากพระพุทธศาสนาไว้แก่เราแล้ว ถ้าพุทธศาสนิกชนไม่มีคุณสมบัติ ๓ ประการนี้แล้ว ก็จะรักษาศาสนาของพระพุทธเจ้าไว้ไม่ได้ พระพุทธศาสนาก็ต้องเสื่อมแน่นอน

เราไม่ต้องไปคำนึงมากนัก เรื่องพระที่ประพฤติเสียหายอะไรนั้นเป็นเรื่องรองลงไป คุณสมบัติ ๓ อย่างของตัวเราเองนี้แหละสำคัญกว่า เรื่องพระประพฤติเสียหายทำไม่ดีนั้น ถ้ามีขึ้นมาเราถือว่าเป็นโจร เป็นคนร้ายเข้ามาทำลายพระศาสนา เราก็ต้องช่วยกันรักษาพระศาสนา เพราะพระศาสนานี้เป็นสมบัติส่วนรวมของเรา แต่ถ้าเราไม่มีคุณสมบัติ ๓ อย่างนั้น โจรจะเข้ามาหรือไม่ เราก็จะรักษาพระศาสนาไว้ไม่ได้ ดีร้ายตัวเราอาจจะกลายเป็นโจรไปเสียเอง แต่ถ้าเรามีคุณสมบัติสามประการนี้แล้ว เราก็รักษาพระศาสนาของเราไว้ได้

ขอทวนอีกครั้ง

๑. รู้เข้าใจธรรมวินัย และปฏิบัติได้ถูกต้องด้วยตนเอง

๒. มีความสามารถและเอาใจใส่ที่จะบอกกล่าว ชี้แจงสั่งสอนธรรมแก่ผู้อื่น

๓. เมื่อมีลัทธิคำสอนที่ผิดพลาดแปลกปลอมขึ้นมาก็สามารถกล่าวชี้แจงกำราบได้

สามประการนี้แหละ เป็นธรรมไพบูลย์ ซึ่งจะทำให้พระพุทธศาสนาเจริญรุ่งเรือง เพียงแต่เราปฏิบัติถูกต้อง ธรรมก็ไพบูลย์อยู่ในตัวเราแล้ว เมื่อเราเอาไปแนะนำสั่งสอนผู้อื่นให้รู้และปฏิบัติกันกว้างขวางยิ่งขึ้น ธรรมก็ไพบูลย์กว้างขวางออกไปทุกที แม้จะมีคำสอนอะไรผิดพลาดเกิดขึ้นมาก็ชี้แจงแก้ไขได้ อุปสรรคก็หมดไป นี่แหละเป็นธรรมไพบูลย์ที่แท้จริง

.....................................................
https://dhammachati.blogspot.com/


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 14 ก.ย. 2019, 09:01 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
สมาชิกระดับสูงสุด
สมาชิกระดับสูงสุด
ลงทะเบียนเมื่อ: 24 ต.ค. 2006, 12:36
โพสต์: 33766

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว


ไม่มีใครทำลายพระพุทธศาสนาได้

เมื่อมีการกล่าวถึงการกระทำที่บ่งบอกว่าเป็นการรุกราน เบียดเบียน ทำลายพระพุทธศาสนา ก็จะต้องมีท่านจำพวกหนึ่งเอ่ยขึ้นว่า

“ไม่มีใครทำลายพระพุทธศาสนาได้ นอกจากชาวพุทธด้วยกันเอง”

เมื่อพูดดังนี้แล้ว ก็ดูประหนึ่งว่าท่านผู้พูดได้แสดงหลักความจริงอันประเสริฐที่เพิ่งถูกค้นพบ-ในขณะที่คนอื่นๆ ล้วนแต่ยังโง่ๆ เซ่อๆ อยู่ทั้งนั้น

ความจริง คำพูดนั้น-ไม่มีใครทำลายพระพุทธศาสนาได้ นอกจากชาวพุทธด้วยกันเอง-เป็นคำที่ยังพูดไม่หมดเปลือก

ถ้าไม่คิดให้ดี ก็เป็นคำพูดที่ก่อให้เกิดความประมาทได้

ผมขออนุญาตช่วยคิดนะครับ

.....................

แนวคิดเบื้องหลังคำพูดนี้เข้าใจว่าเกิดมาจากการอ่านสัทธรรมปฏิรูปกสูตร

สัทธรรมปฏิรูปกสูตร อยู่ในคัมภีร์สังยุตตนิกาย นิทานวรรค พระไตรปิฎกเล่ม ๑๖ ข้อ ๕๓๑-๕๓๕

อรรถกถาที่อธิบายพระสูตรนี้คือ สารัตถปกาสินี ภาค ๒ หน้า ๓๑๘-๓๒๔

ถ้าอ่านในพระไตรปิฎกและอรรถกถาแปล ชุด ๙๑ เล่ม ก็อยู่เล่ม ๒๖ หน้า ๖๓๐-๖๓๘

ผมไม่ยกตัวพระสูตรมา แต่ปักป้ายบอกทางไว้ให้

ขอให้มีอุตสาหะตามไปศึกษากันหน่อยนะครับ อย่าเอาแต่นั่งแสดงโวหารคมคายอย่างเดียว

.....................

ไม่มีใครทำลายหลักสัจธรรมอันเป็นคำสอนในพระพุทธศาสนาได้ เพราะสัจธรรมเป็นของประจำโลก

พระพุทธเจ้าไม่ได้บัญญัติแต่งตั้งขึ้นมาใหม่ เพียงแต่พระองค์ทรงค้นพบแล้วนำมาตรัสบอกชาวโลก

ค้นพบสิ่งที่มีอยู่แล้ว เหมือนนักวิทยาศาสตร์ค้นพบกฎต่างๆ ทางวิทยาศาสตร์

เมื่อสิ่งนั้นเป็นสัจธรรมประจำโลก ก็เป็นธรรมดาที่มันจะต้องคงอยู่ประจำโลก ไม่มีใครไปทำลายมันได้ ตราบเท่าที่โลกยังคงมีอยู่

พระพุทธศาสนามีหลักคำสอนที่เป็นสัจธรรมประจำโลก

สัจธรรมประจำโลกที่มีอยู่ในพระพุทธศาสนาจึงไม่มีใครไปทำลายได้ ตราบเท่าที่ยังมีผู้ศึกษา เรียนรู้ และปฏิบัติตามอย่างถูกต้อง

ผู้ศึกษา เรียนรู้ และปฏิบัติตามหลักคำสอนในพระพุทธศาสนา ได้ชื่อว่า “ชาวพุทธ”

ถ้าผู้ที่ได้ชื่อว่าชาวพุทธ ไม่ศึกษา ไม่เรียนรู้ และไม่ปฏิบัติตามหลักคำสอนให้ถูกต้อง หลักคำสอนที่ถูกต้องก็ไม่ปรากฏ

อย่างนี้แหละที่เรียกว่าชาวพุทธทำลายพระพุทธศาสนา คือทำให้หลักคำสอนที่ถูกต้องไม่ปรากฏ

ที่ว่ามานี้เป็นส่วนที่เป็นหลักคำสอนที่เป็นสัจธรรมประจำโลก

แต่ในพระพุทธศาสนาไม่ได้มีแต่หลักคำสอนอย่างเดียว

ยังมีตัวบุคคล
สถานที่
วัตถุ
ประเพณีพิธีการต่างๆ
อันเป็นองค์ประกอบ รวมเรียกว่า “พระพุทธศาสนา”

ที่เอามาพูดกันว่า“ไม่มีใครทำลายพระพุทธศาสนาได้ นอกจากชาวพุทธด้วยกันเอง” นั้นหมายเฉพาะส่วนที่เป็นหลักคำสอนอันเป็นสัจธรรมประจำโลกเท่านั้น

แต่องค์ประกอบอื่นๆ ของพระพุทธศาสนา คนอื่นสามารถทำลายได้ทั้งสิ้น

ทำลายวัด ทำลายพระสงฆ์ ทำลายเจดีย์วิหาร
และทำลายกิจกรรม เช่นการแสดงธรรม การปฏิบัติศาสนพิธี การบวช การตั้งโรงเรียน การสอนพระพุทธศาสนา ฯลฯ

สิ่งเหล่านี้ ใครไม่ชอบ ใครไม่ต้องการให้มี เขาสามารถทำลายได้ทั้งสิ้น และเคยมีการทำลายมาแล้วด้วย

เพราะฉะนั้น ต้องแยกให้ถูกว่าส่วนไหนทำลายได้ ส่วนไหนทำลายไม่ได้

อย่าหลับตาพูดคลุมไปว่า-ไม่มีใครสามารถทำลายพระพุทธศาสนาได้

ไม่มีองค์กรและกิจกรรมดังกล่าวนั้น
หลักสัจธรรมจะไปแสดงตัวที่ไหน

มองไปที่ผู้คนที่เดินไปมาขวักไขว่เต็มบ้านเต็มเมือง จะรู้หรือไม่ว่า-นี่ไงพระพุทธศาสนา

พระพุทธศาสนาอยู่ในใจในวิถีชีวิตของคน
แต่คนต้องอยู่ในบ้านเมือง

และพระพุทธศาสนา-เฉพาะส่วนที่ตัวหลักธรรมคำสอน-นั้น ไม่ได้เข้าไปอยู่ในใจคนได้โดยอัตโนมัติ

แต่ต้องมีการบอกกล่าว เรียนรู้ สั่งสอน อบรม
การบอกกล่าว เรียนรู้ สั่งสอน อบรม เป็นกระบวนการทางสังคม
ไม่ใช่นั่งๆ นอนๆ อยู่เฉยๆ ในบ้านใครบ้านมัน ก็เกิดขึ้นได้เอง
สังคมเอื้ออำนวย จึงทำได้
ถ้าสังคมไม่เอื้ออำนวย ก็ทำไม่ได้

ทำไมในอเมริกาจึงมีวัดพระพุทธศาสนาเกิดขึ้นได้เป็นอันมาก
แต่ทำไมในซาอุดิอาระเบียจึงไม่มีใครไปสร้างวัดพระพุทธศาสนา

ถ้าอยู่มาวันหนึ่ง ผู้ได้อำนาจรัฐในเมืองไทยใช้นโยบายเหมือนผู้ได้อำนาจรัฐในซาอุดิอาระเบีย พระพุทธศาสนาจะอยู่ในเมืองไทยได้หรือไม่

เป็นความจริง-ที่ชาวพุทธจะต้องประพฤติดีปฏิบัติชอบถูกต้องตามพระธรรมวินัย เราจึงจะรักษาพระพุทธศาสนาไว้ได้

แต่ถ้าผู้ได้อำนาจรัฐเป็นมิจฉาทิฐิ ต่อให้ชาวพุทธเคร่งครัดในพระธรรมวินัยขนาดไหน ก็อยู่ไม่ได้

จะฝันหวานขอเพียงให้พระพุทธศาสนาอยู่ในใจคนก็พอแล้ว ผู้บริหารบ้านเมืองจะทำอะไรกับบ้านเมือง เชิญตามสบายเถิด -ไม่มีใครทำลายพระพุทธศาสนาได้ นอกจากชาวพุทธด้วยกันเอง- ก็ขอให้ลองศึกษาบ้านเมืองที่เคยมีพระพุทธศาสนาเจริญรุ่งเรืองดูเถิด

...................

พระพุทธศาสนานั้นไม่มีกองกำลังติดอาวุธไว้ป้องกันตนเอง ไม่ต้องกล่าวไปถึงว่าจะมีไว้ทำร้ายใคร

พระพุทธศาสนาไปอยู่ที่ไหน ก็อาศัยผู้บริหารปกครองบ้านเมืองนั้นทำหน้าที่ “อารักขา”

ถ้าผู้บริหารบ้านเมืองเป็นสัมมาทิฐิ พระพุทธศาสนาก็อยู่ได้

ถ้าผู้บริหารบ้านเมืองไม่เอาใจใส่ ไม่เห็นความสำคัญ หรือถ้าถึงขั้นเป็นมิจฉาทิฐิ คอยขัดขวาง กีดกัน กลั่นแกล้ง พระพุทธศาสนาก็อยู่ไม่ได้ ไปไม่รอด

...................

เวลาพูดเรื่องใครจะทำลายพระพุทธศาสนา จึงต้องแยกส่วนให้ถูก อย่าสักแต่ว่าหลับตาพูดตามกันไป

นาวาเอก ทองย้อย แสงสินชัย
๑๖ พฤษภาคม ๒๕๖๒
๑๐:๓๔


https://www.facebook.com/tsangsinchai/p ... 2464634478

.....................................................
https://dhammachati.blogspot.com/


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 17 ต.ค. 2019, 08:03 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
สมาชิกระดับสูงสุด
สมาชิกระดับสูงสุด
ลงทะเบียนเมื่อ: 24 ต.ค. 2006, 12:36
โพสต์: 33766

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว


วางหลักไว้เทียบอีก


ระดับแห่งการเข้าถึงนิพพาน

ฌานสมาบัติทั้งหลาย นอกจากจะเป็นพื้นฐานที่ดีในการปฏิบัติเพื่อบรรลุนิพพานแล้ว
บางครั้งท่านยังเรียกเป็นนิพพานโดยปริยาย คือ โดยอ้อม หรือโดยความหมายบางแง่บางด้านอีกด้วย เช่น มีพุทธพจน์ตรัสเรียก ฌาน ๔ อรูปฌาน ๔ และสัญญาเวทยิตนิโรธ แต่ละอย่างๆ ว่าเป็นตทังคนิพพาน บ้าง

ทิฏฐธรรมนิพพาน บ้าง

สันทิฏฐิกนิพพาน บ้าง (ม.อุ.14/29/27ฯลฯ) เช่น ข้อความในบาลีว่า

"ภิกษุผู้สงบจากกาม สงัดจากอกุศลธรรม ฯลฯ เข้าถึงปฐมฌาน แม้เท่านี้ พระผู้มีพระภาคเจ้าก็ตรัสเรียกว่า เป็นทิฏฐธรรมนิพพาน โดยปริยาย ฯลฯ

"ภิกษุก้าวล่วงเนวสัญญานาสัญญายตนะโดยประการทั้งปวง เข้าถึงสัญญาเวทยิตนิโรธอยู่ เพราะเห็นด้วยปัญญา อาสวะทั้งหลายของเธอก็หมดสิ้นไป แม้เพียงเท่านี้ พระผู้มีพระภาคเจ้าก็ตรัสเรียกว่า เป็นทิฏฐธรรมนิพพาน โดยนิปริยาย " * (องฺ.นวก.23/237,251,255/425 ฯลฯ)

ผู้ที่กำลังเจริญวิปัสสนา มองเห็นขันธ์ ๕ ไม่เที่ยง เป็นทุกข์ มีอันจะต้องผันแปรไปเป็นธรรมดา ละความโศกเศร้าเป็นต้นเสียได้ หมดความร่านรนกระวนกระวาย อยู่เป็นสุข ท่านก็เรียกว่า เป็นผู้ตทังคนิพพาน

มีพุทธพจน์น่าสนใจแห่งหนึ่ง ตรัสว่า คนที่ถูกราคะ โทสะ โมหะ ครอบงำ ย่อมคิดในทางที่จะทำตนเองให้ลำบากเดือดร้อนบ้าง ทำคนอื่นให้ลำบากเดือดร้อนบ้าง ทำทั้งตนเองและผู้อื่นให้ลำบากเดือดร้อนทั้งสองฝ่ายบ้าง ย่อมเสวยทุกขโทมนัสทางใจบ้าง

ครั้นเขาละราคะ โทสะ โมหะ ได้แล้ว เขาก็ไม่คิดในทางที่จะทำตนเองหรือทำผู้อื่น หรือทั้งสองฝ่ายให้ลำบากเดือดร้อน ไม่ต้องเสวยทุกขโทมนัสทางใจ อย่างนี้แหละเป็นสันทิฏฐิกนิพพาน
เมื่อใดบุคคลผู้นี้ เสวยภาวะปลอดราคะสิ้นเชิง ภาวะปลอดโทสะสิ้นเชิง ภาวะปลอดโมหะสิ้นเชิง อย่างนี้แล คือ นิพพานที่เป็นสันทิฏฐิกะ อกาลิกะ เอหิปัสสิกะ โอปนยิกะ ปัจจัตตัง เวทิตัพพัง วิญญูหิ * (องฺ.ติก.20,495/202)

.....................................................
https://dhammachati.blogspot.com/


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 17 ต.ค. 2019, 08:08 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
สมาชิกระดับสูงสุด
สมาชิกระดับสูงสุด
ลงทะเบียนเมื่อ: 24 ต.ค. 2006, 12:36
โพสต์: 33766

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว


ความหมายศัพท์ยากข้างบน

ตทังคนิพพาน นิพพานด้วยธรรมคู่ปรับ หรือ นิพพานชั่วคราว
ทิฏฐธรรมนิพพาน นิพพานเห็นทันตา
สันทิฏฐิกนิพพาน นิพพานที่ผู้บรรลุจะเห็นได้เอง
ปริยาย โดยอ้อม หรือแง่หนึ่ง
นิปริยาย โดยตรง
สัญญาเวทยิตนิโรธ เรียกอีกอย่างว่า นิโรธสมาบัติ
สันทิฏฐิกะ ซึ่งผู้บรรลุเห็นได้เอง
อกาลิกะ ไม่ขึ้นกับกาล
เอหิปัสสิกะ เชิญให้มาพิสูจน์ดูได้
โอปนยิกะ ควรน้อมเข้ามาไว้ในใจ
ปัจจัตตัง เวทิตัพพัง วิญญูหิ ซึ่งวิญญูชน พึงรู้จำเพาะตน

.....................................................
https://dhammachati.blogspot.com/


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 17 ต.ค. 2019, 08:11 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
สมาชิกระดับสูงสุด
สมาชิกระดับสูงสุด
ลงทะเบียนเมื่อ: 24 ต.ค. 2006, 12:36
โพสต์: 33766

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว


ความหมายนิโรธ ๕ ระดับ (จิต)

ภาวะปลอดราคะคัมภีร์ปฏิสัมภิทามัคค์ แบ่งนิโรธ ซึ่งเป็นไวพจน์สำคัญของนิพพาน ออกเป็น ๕ อย่าง หรือ ๕ ระดับ (ขุ.ปฏิ.31/706/610) คือ

๑. วิกขัมภนนิโรธ ได้แก่ การที่ผู้เจริญปฐมฌาน ดับนิวรณ์ได้ด้วยการข่มไว้ (สมาบัติ ๘ คือ รูปฌาน ๔ และรูปฌาน ๔ เป็นวิกขัมภนนิโรธทั้งหมด เพราะนับแต่เข้าปฐมฌานแล้วเป็นต้นไป อกุศลธรรมทั้งหลายมีนิวรณ์ เป็นต้น ย่อมถูกข่มให้ระงับไปเอง แต่ก็ดับชั่วเวลาที่อยู่ในฌานสมาบัตินั้น พูดอย่างง่ายว่า ข่มธรรมที่เป็นข้าศึกคือกิเลสต่างๆ เช่น นิวรณ์ เป็นต้นได้ ด้วยโลกิยสมาธิ เป็นการดับกิเลสแบบเอาหินทับหญ้า)

๒. ตทังคนิโรธ ได้แก่ การที่ผู้เจริญสมาธิถึงขั้นชำแรกทำลายกิเลส ดับความเห็นผิดต่างๆ ลงได้ด้วยธรรมที่เป็นคู่ปรับกัน (หมายถึงการดับกิเลสในขั้นวิปัสสนา คือใช้ปัญญาพิจารณาสภาวะของสิ่งทั้งหลาย เช่น พิจารณาความไม่เที่ยง เป็นต้น พิจารณาเห็นแง่ใด ก็เกิดญาณขึ้นกำจัดความเห็นหรือความยึดถือในทางตรงข้ามที่ขัดต่อสัจธรรมใน แง่นั้นๆ ลงได้ เช่น กำหนดเห็นตัวตนเราเขาเป็นเพียงนามรูป ก็ดับสักกายทิฏฐิได้ พิจารณาความไม่เที่ยง ก็ดับนิจจสัญญาได้ พิจารณาเห็นทุกข์ ก็ดับสุขสัญญาได้ พิจารณาเห็นอนัตตา ก็ดับอัตตสัญญาได้ เป็นต้น เป็นการดับกิเลส แบบจุดดวงไฟ ดับความมืด แต่ก็ยังเป็นการดับชั่วคราว เหมือนว่าพอไฟดับ ก็มืดอีก)

๓. สมุจเฉทนิโรธ ได้แก่ การที่ผู้เจริญโลกุตรมรรค ซึ่งให้ถึงความสิ้นกิเลส ดับกิเลสได้ด้วยการตัดขาด (หมายถึง อริยมรรคทั้ง ๔ คือ โสดาปัตติมรรค สกทาคามิมรรค อนาคามิมรรค และอรหัตมรรค ซึ่งดับกิเลสเช่นสังโยชน์ทั้งหลายได้อย่างเด็ดขาด ไม่กลับงอกงามขึ้นมาได้อีก เหมือนต้นไม้ถูกสายฟ้าฟาด หรือขุดรากถอนโคนทิ้ง)

๔. ปฏิปัสสัทธินิโรธ ได้แก่ การดับกิเลสในขณะแห่งผล โดยเป็นภาวะที่กิเลสราบคาบไปแล้ว (หมายถึง อริยผลทั้ง ๔ คือ โสดาปัตติผล สกทาคามิผล อนาคามิผล และอรหัตผล ซึ่งเป็นภาวะสงบเรียบซึ้งสนิท เพราะกิเลสได้ถูกมรรคตัดขาดระงับดับสิ้นไปแล้ว)

๕. นิสสรณนิโรธ ได้แก่ การดับกิเลสที่เป็นภาวะพ้นออกไปแล้วจากกิเลส ดำรงอยู่ต่างหาก ห่างไกลจากกิเลส ไม่เกี่ยวข้องกับกิเลสเลย นิโรธข้อนี้แหละ คือ นิพพาน หรือที่เรียกว่า อมตธาตุ ซึ่งเป็นภาวะที่ปลอดโปร่ง เป็นอิสระ

ในนิโรธ ๕ ข้อนี้ ๒ ข้อแรก คือ วิกขัมภนนิโรธ และตทังคนิโรธ เป็นขั้นโลกิย์ ส่วนสามข้อท้าย เป็นโลกุตระ สี่ข้อแรกเรียกว่าเป็นนิพพานได้โดยปริยาย คือโดยอ้อมหรือในบางแง่บางด้าน
ส่วนข้อสุดท้าย คือ นิสสรณนิโรธ จึงจะเป็นนิพพานโดยนิปริยาย คือนิพพานแท้ โดยตรง เต็มตามความหมาย

.....................................................
https://dhammachati.blogspot.com/


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 02 พ.ย. 2019, 17:27 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
สมาชิกระดับสูงสุด
สมาชิกระดับสูงสุด
ลงทะเบียนเมื่อ: 24 ต.ค. 2006, 12:36
โพสต์: 33766

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว


พระพุทธเจ้าเคยตรัสว่า พระองค์จะปรินิพพานต่อเมื่อพุทธบริษัท ๔ คือ ภิกษุ ภิกษุณี อุบาสก อุบาสิกา ทั้งหลายทั้งปวง คือ พระภิกษุ ทั้งเถระ ทั้งมัชฌิมะ ทั้งนวกะ ภิกษุณีก็เช่นเดียวกัน พร้อมทั้งอุบาสก อุบาสิกา ทั้งที่ถือพรหมจรรย์ และที่เป็นผู้ครองเรือนทั้งหมด ต้องเป็นผู้มีคุณสมบัติที่จะรักษาพระศาสนาไว้ได้ คือ

๑. ต้องเป็นผู้มีความรู้ เข้าใจหลักธรรมคำสอน ของพระพุทธเจ้าได้ดีและประพฤติปฏิบัติได้ถูกต้องตามคำสอน

๒. นอกจากรู้เข้าใจเอง และปฏิบัติได้ดีแล้ว ยังสามารถบอกกล่าวแนะนำสั่งสอนผู้อื่นได้ด้วย

๓. เมื่อมีปรัปวาทเกิดขึ้น คือ คำจ้วงจาบสอนคลาดเคลื่อนผิดเพี้ยนจากพระธรรมวินัย ก็สามารถชี้แจงแก้ไขได้ด้วย

ตอนที่พระองค์จะปรินิพพานนั้น มารก็มากราบทูลว่า เวลานี้พุทธบริษัท ๔ มีคุณสมบัติพร้อมอย่างที่พระองค์ได้ตรัสเหมือนกับเป็นเงื่อนไขไว้แล้ว พระพุทธเจ้าทรงพิจารณาเห็นว่าเป็นอย่างนั้น จึงทรงรับที่จะปรินิพพานโดยปลงพระชนมายุสังขาร

พุทธดำรัสนี้ ก็เหมือนกับว่าพระพุทธเจ้าทรงฝากพระพุทธศาสนาไว้กับพุทธบริษัททั้ง ๔ แต่ต้องมองให้ตลอดด้วยว่า ทรงฝากพระพุทธศาสนาไว้กับพุทธบริษัทที่เป็นอย่างไร

.....................................................
https://dhammachati.blogspot.com/


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 21 ก.ย. 2022, 04:15 
 
ออฟไลน์
Moderators-2
Moderators-2
ลงทะเบียนเมื่อ: 30 ก.ย. 2013, 07:16
โพสต์: 2374

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว


:b39: :b44: ขออนุโมทนา สาธุๆๆ ค่ะ
:b8: :b8: :b8:


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 22 ก.ย. 2022, 20:22 
 
ออฟไลน์
สมาชิกระดับสูงสุด
สมาชิกระดับสูงสุด
ลงทะเบียนเมื่อ: 25 เม.ย. 2009, 02:43
โพสต์: 12233


 ข้อมูลส่วนตัว


ตากักกาย...ไปอยู่ไหนแล้วก็ไม่รู้


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 16 ต.ค. 2022, 23:22 
 
ออฟไลน์
สมาชิกระดับสูงสุด
สมาชิกระดับสูงสุด
ลงทะเบียนเมื่อ: 11 ต.ค. 2010, 12:11
โพสต์: 5013


 ข้อมูลส่วนตัว


กบนอกกะลา เขียน:
ตากักกาย...ไปอยู่ไหนแล้วก็ไม่รู้

:b17: :b17: :b17:


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 23 ต.ค. 2022, 13:47 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
สมาชิก ระดับ 10
สมาชิก ระดับ 10
ลงทะเบียนเมื่อ: 04 พ.ย. 2008, 12:29
โพสต์: 814

ที่อยู่: กรุงเทพฯ

 ข้อมูลส่วนตัว


นั่นสิคับ ตา กรัด-ซะ-กาย :b32: :b32:


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 04 เม.ย. 2023, 16:03 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
อาสาสมัคร
อาสาสมัคร
ลงทะเบียนเมื่อ: 02 มิ.ย. 2007, 13:49
โพสต์: 1012


 ข้อมูลส่วนตัว


Kiss :b8: :b8: :b8:

.....................................................
ทำความดีทุกๆ วัน


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 19 ก.พ. 2024, 13:08 
 
ออฟไลน์
อาสาสมัคร
อาสาสมัคร
ลงทะเบียนเมื่อ: 17 ก.ย. 2012, 15:32
โพสต์: 2863


 ข้อมูลส่วนตัว


:b8: :b8: :b8:


แสดงโพสต์จาก:  เรียงตาม  
กลับไปยังกระทู้  [ 14 โพสต์ ] 

เขตเวลา GMT + 7 ชั่วโมง


 ผู้ใช้งานขณะนี้

กำลังดูบอร์ดนี้: ไม่มีสมาชิก และ บุคคลทั่วไป 42 ท่าน


ท่าน ไม่สามารถ โพสต์กระทู้ในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ ตอบกระทู้ในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ แก้ไขโพสต์ของท่านในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ ลบโพสต์ของท่านในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ แนบไฟล์ในบอร์ดนี้ได้

ค้นหาสำหรับ:
ไปที่:  
Google
ทั่วไป เว็บธรรมจักร