วันเวลาปัจจุบัน 24 เม.ย. 2024, 03:43  



เขตเวลา GMT + 7 ชั่วโมง




กลับไปยังกระทู้  [ 1 โพสต์ ]    Bookmark and Share
เจ้าของ ข้อความ
โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 25 ส.ค. 2019, 08:42 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
อาสาสมัคร
อาสาสมัคร
ลงทะเบียนเมื่อ: 06 มี.ค. 2009, 10:48
โพสต์: 5091


 ข้อมูลส่วนตัว


เรื่อง "หลงตนว่าดีวิเศษเมื่อไร ลงนรกเมื่อนั้น"
คนเจริญกรรมฐานนี้ มิใช่ไปสวรรค์เสมอไป ถ้าหลงตัวเมื่อไร ลงนรกเมื่อนั้น คนที่จะมีดี หรือไม่มีดีนี่ เราสังเกตุกันง่าย คนที่มีความดี มีสมาธิเข้าถึงใจแล้ว เขาไม่พูดส่งเดช มีกิริยาเรียบร้อย ถ้าจะพูด ก็มีเหตุมีผล ไม่สักแต่ว่าพูด นี่เป็นเครื่องสังเกตุภายนอก
ถ้ายิ่งทรงสมาธิเป็นฌาน ทรงฌานด้วยแล้ว พวกนี้ขี้เกียจพูดมากที่สุด เห็นหน้าคนแล้วก็เบื่อในการพูด ไม่อยากจะพูด เพราะถ้าไปพูดเข้านะ มันเสียเวลาทรงสมาธิเขา ดีไม่ดีไปชวนเขาพูดเหลวไหลเข้า ก็เป็นการทำฌานเขาเสื่อม พวกนี้รังเกียจในการพูด เมื่อไม่มีความจำเป็น เขาจะไม่พูด

(โอวาทธรรม หลวงพ่อฤาษีลิงดำ)
(จากหนังสือ พ่อสอนลูก หน้า ๒-๓)






เคล็ดลับสู่ความสำเร็จ
ท่านเจ้าประคุณสมเด็จพระพุฒาจารย์ ( โต ) กล่าวว่า เคล็ดลับสู่ความสำเร็จสุดยอดในทางธรรม คือ จะต้องมีสัจจะอันแน่วแน่ และมีขันติธรรมอันมั่นคง จึงจะฝ่าฟันอุปสรรค บรรลุความสำเร็จได้ อาตมามีกฎอยู่ว่า เช้าตีห้าไม่ว่าฝนจะตก ฟ้าจะร้อง อากาศจะหนาว ต้องตื่นทันที ไม่มีการผัดเวลา แล้วเข้าสรงน้ำ ชำระกายให้สะอาด แล้วจึงได้สวดมนต์และปฏิบัติสมถกรรมฐานหนึ่งชั่วโมง พอหกโมงตรงก็ออกบิณฑบาต เพื่อปฏิบัติตามปฏิปทาขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า

ฝึกจิตให้ได้ผลต้องตรงต่อเวลา
กลับจากบิณฑบาตแล้ว ก็เอาอาหารตั้งไว้ ตักน้ำใส่ตุ่ม เสร็จแล้วฉันอาหารเช้า โดยปกติอาตมาฉันมื้อเดียวเว้นไว้มีกิจนิมนต์ จึงฉันสองมื้อ สี่โมงเช้าถึงเที่ยง ถ้ามีรายการไปเทศน์ ก็ไปเทศน์ตามที่นัดไว้ วันไหนไม่ติดเทศน์ก็จะปิดประตูกุฏิทันที ไม่ให้ใครๆเข้าไป ในช่วงเวลานั้นเป็นเวลาศึกษาตำรา เวลาบ่ายโมงจึงออกรับแขก บ่ายสามโมงไม่ว่าใครจะมาอาตมาจะให้ออกจากกุฏิไปหมด เพราะถึงเวลาปฏิบัติวิปัสสนากรรมฐาน ฉะนั้น จุดสำคัญจงจำไว้ เราจะปฏิบัติเพื่อหลุดพ้น ต้องมีสัจจะเพื่อตน โดยไม่เห็นแก่หน้าใคร ถึงเวลาทำสมาธิต้องทำ ไม่มีการผัดผ่อนใดๆ ทั้งสิน

หลักการปฏิบัติวิปัสสนากรรมฐาน
1.จะต้องมีสัจจะต่อตนเอง
2.จะต้องไม่คล้อยตามอารมณ์ของมนุษย์
3.พยายามตัดงานในด้านสังคมออก และไม่นัดหมายใครในเวลาปฏิบัติกรรมฐาน ดังนั้นเมื่อจะเป็นนักปฏิบัติธรรมจำเป็นจะต้องมีกฎเกณฑ์ของเรา เพื่อฝึกจิตให้เข้มแข็ง

ทางแห่งความหลุดพ้น
เจ้าประคุณสมเด็จฯ มักจะกล่าวกับสานุศิษย์ทั้งหลายอยู่เสมอว่า ชีวิตมนุษย์อยู่ได้ไม่ถึงหนึ่งร้อยปีก็ต้องตายและถูกหามเข้าป่าช้า ดังนั้น จึงควรประพฤติปฏิบัติอยู่ใน ศีล สมาธิ และปัญญา เพื่อให้หลุดพ้นจากสังสารวัฏ ท่านเปรียบเทียบว่า มนุษย์อาบน้ำ ชำระกายวันละสองครั้ง เพื่อกำจัดเหงื่อไคลสิ่งโสโครกที่เกาะร่างกาย แต่ไม่เคยคิดจะชำระจิตให้สะอาดแม้เพียงนาที ด้วยเหตุนี้ ทำให้จิตใจของมนุษย์ ยุคปัจจุบันเศร้าหมองเคร่งเครียดและดุดัน ก่อให้เกิดปัญหาความพิการในสังคมความแก่งแย่งชิงดีชิงเด่นกัน จนกระทั่งเกิดความขัดแย้ง และกลายเป็นสงครามมนุษย์ฆ่ามนุษย์ด้วยกัน

แต่งใจ
ขอให้ท่านได้พิจารณาไตร่ตรองให้จงดีเถิดว่า ร่างกายของเรานี้ไฉนจึงต้องชำระทุกวันทั้งเช้าและเย็น จะขาดเสียไม่ได้ทั้งที่หมั่นทำความสะอาดอยู่เป็นนิจ แต่ยังมีกลิ่นไม่น่าอภิรมย์ออกมา แม้จะพยายามหาของหอมมาทาทับ ก็ปกปิดกลิ่นนั้นไม่ได้ใจของเราล่ะ ซึ่งเป็นใหญ่กว่าร่างกาย เป็นผู้สั่งบัญชางาน ให้กายแท้ๆ มีใครเอาใจใส่ชำระสิ่งสกปรกออกบ้าง ตั้งแต่เล็กจนเติบโตเป็นผู้ใหญ่ มันสั่งสมสิ่งไม่ดีไว้มากเพียงใด หรือว่ามองไม่เห็นจึงไม่มีความจำเป็นที่จะต้อง ทำความสะอาดหรือ?

กรรมลิขิต
เราทั้งหลายเกิดมาเป็นมนุษย์ชาติแล้ว ล้วนแต่มีกรรมผูกพันกันมาทั้งสิ้น ผูกพันในความเป็นมิตรบ้างเป็นศัตรูบ้าง แต่ละชีวิตก็ย่อมที่จะเดินไปตามกรรมวิบากของตนที่ได้กระทำไว้ ทุกชีวิตล้วนมีกรรมเป็นเครื่องลิขิต

อดีตกรรม ถ้ากรรมดี เสวยอยู่
ปัจจุบันกรรม สร้างกรรมชั่ว ย่อมลบล้าง
อดีตกรรม กรรมแห่งอกุศล วิบากตน
ปัจจุบัน สร้างกรรมดี ย่อมผดุง

เรื่องกฎแห่งกรรม ถ้าเป็นชาวพุทธแล้ว เขาถือว่าเป็นกฎแห่งปัจจัตตัง ผู้ที่ต้องการรู้ ต้องทำเอง รู้เอง ถึงเอง แล้วจึงจะเข้าใจ

นักบุญ
การทำบุญก็ดี การทำสิ่งใดก็ดี ถ้าเป็นการทำตนให้ละทิฏฐิมานะ ทำเพื่อให้จิตเบิกบาน ย่อมเสวยบุญนั้นในปรภพ มนุษย์ทุกวันนี้ทำแบบมีกิเลส ดังนั้น บางคนนึกว่าเข้าสร้างโบสถ์เป็นหลังๆ แล้วเขาจะไปสวรรค์หรือเปล่า เขาตายไปอาจจะต้องตกนรก เพราะอะไรเล่า เพราะถ้าเขาสร้างด้วยเจตนาไม่บริสุทธิ์ เป็นการทำเพื่อเอาบุญบังหน้าในการเสวยความสุขส่วนตัวก็มี บางคนอาจเรียกได้ว่าหน้าเนื้อใจเสือ คือข้างหน้าเป็นนักบุญ ข้างหลังเป็นนักปล้น

ละความตระหนี่มีสุข
ดังนั้นบุญที่เขาทำนี้ถือว่า ไม่เป็นสุข หากมาจากการก่อกรรม บุญนั้น จึงมีกระแสคลื่นน้อยกว่าบาปที่เขาทำเอาไว้หากมีใครเข้าใจคำว่า บุญ นี้ดีแล้ว การทำบุญนี้จุดแรกในการทำก็เพื่อไม่ให้เรานี้เป็นคนตระหนี่ รู้จักเสียสละเพื่อความสุขของผู้อื่น ธรรมดาเพื่อนมนุษย์ด้วยกัน เมื่อมีทุกข์ก็ควรจะทุกข์ด้วย เมื่อมีความสุขก็ควรสุขด้วยกัน

อย่าเอาเปรียบเทวดา
ในการทำบุญ สิ่งที่จะได้ก็คือ ระหว่างเราผู้เป็นมนุษย์ เรารู้ว่าสิ่งที่เราทำนี้จะเป็นมงคล ทำให้จิตใจเบิกบานดี นี่คือการเสวยผลแห่งบุญในปัจจุบัน ทีนี้การทำบุญเพื่อจะเอาผลตอบแทนนั้น มนุษย์นี้ออกจะเอาเปรียบเทวดา ทำบุญครั้งใด ก็ปรารถนาเอาวิมานหนึ่งหลังสองหลัง การทำบุญแบบนี้เรียกว่า ทำเพราะหวังผลตอบแทนด้วยความโลภ บุญนั้นก็ย่อมจะไม่มีผล ท่านอย่าลืมว่า ในโลกวิญญาณเขามีกระแสทิพย์รับทราบในการทำของมนุษย์แต่ละคนเขามีห้องเก็บบุญและบาปแห่งหนึ่ง อันเป็นที่เก็บบุญและบาปของใครต่อใครและของเรื่องราวนั้นๆ กรรมของใครก็จะติดตามความเคลื่อนไหวของตนๆนั้น ไปตลอดระหว่างที่เขายังไม่สิ้นอายุขัย

บุญบริสุทธิ์
การที่สอนให้ทำบุญโดยไม่ปรารถนานั้น ก็เพื่อให้กระแสบุญนั้นบริสุทธิเป็นขั้นที่นึ่ง จะได้ตามให้ผลทันในปัจจุบันชาติ แต่ถ้าตามไม่ทันในปัจจุบันชาติ ก็ติดตามไปให้เสวยผลในปรภพ คือ เมื่อสิ้นอายุขัยจากโลกมนุษย์ไปแล้ว ฉะนั้น เขาจึงสอนไม่ให้ทำบุญเอาหน้า ทำบุญอย่าหวังผลตอบแทน สิ่งดีที่ท่านทำไปย่อมได้รับสนองดีแน่นอน

สั่งสมบารมี
โดยเฉพาะอย่างยิ่ง สำหรับนักปฏิบัติธรรมแล้ว การทำบุญทำทานย่อมเป็นการส่งเสริมการปฏิบัติจิตให้บรรลุธรรมได้เร็วขึ้น เป็นบารมีอย่างหนึ่ง ในบารมีสิบทัศที่ต้องสั่งสม เพื่อให้สำเร็จมรรคผลนิพพาน

เมตตาบารมี
การทำบุญให้ทานเพียงแต่เรียกว่า ทานบารมี หากบำเพ็ญสมาธิจิตจนได้ญาณบารมี และโดยเฉพาะการบำเพ็ญทุกอย่างนั้น ถ้าท่านให้โดยไม่มีเจตนาแห่งการให้ ให้สักแต่ว่าให้เขา ท่านก็ย่อมได้กุศลเรียกว่าไม่มาก และทัศนคติของอาตมาว่าการบำเพ็ญเมตตาบารมีในภาวนาบารมีนั้นได้กุศลกรรมกว่าการให้ทาน

แผ่เมตตาจิต
ทุกสิ่งทุกอย่างที่จะสัมฤทธิ์ผลนั้น เกิดจากกรรม 3 อย่าง คือ มโนกรรม เป็นใหญ่ แล้วค่อยแสดงออกมาทางวจีกรรม หรือกายกรรมที่เป็นรูป การบำเพ็ญสมาธิจิตเป็นกุศลดีกว่า เพราะว่า การแผ่เมตตา 1 ครั้ง ได้กุศลมากกว่าสร้างโบสถ์ 1 หลัง ขณะจิตที่แผ่เมตตานั้น จะเกิดอารมณ์แจ่มใส สรรพสัตว์ไม่มีโทษภัย ตัวท่านก็ไม่มีโทษภัย ฉะนั้น เขาจึงว่านามธรรมมีความสำคัญกว่า

อานิสงส์การแผ่เมตตา
ผู้ปฏิบัติธรรมนั้น ต้องรู้จักคำว่า แผ่เมตตา คือต้องเข้าใจว่า ความวิเวกวังเวงแห่งการคิดนึกของเราแต่ละบุคคลนั้น มีกระแสแห่งธาตุไฟผสมอยู่ในจิตและวิญญาณกระจายออกไป เมื่อจิตของเรามีเจตนาบริสุทธิ์ เมื่อจิตของเราเป็นมิตรกับทุกคน เมื่อนั้นเขาก็ย่อมเป็นมิตรกับเรา เสมือนหนึ่งเราให้เขากินอาหาร คนที่กินอาหารนั้นย่อมคิดถึงคุณของเรา หรืออีกนัยหนึ่งว่าเราผูกมิตรกับเขาๆก็ย่อมเป็นมิตรกับเรา แม้แต่คนอันธพาล เราแผ่เมตตาจิตให้ทุกๆวัน สักวันหนึ่งเขาก็ต้องเป็นมิตรกับเราจนได้ เมื่อจิตเรามีเจตนาดีต่อดวงวิญญาณทุกๆดวง ดวงวิญญาณทุกๆดวงย่อมรู้กระแสแห่งจิตของเรา เรียกว่ามนุษย์เรานี้มีกระแสธาตุไฟออกจากสังขาร เพราะเป็นพลังแห่งการนั่งสมาธิจิต วิญญาณจะสงบ ธาตุทั้ง 4 นั้น จะเสมอแล้วจะเปล่งเป็นพลังงานออกไป ฉะนั้น ผู้ที่นั่งสมาธิปฏิบัติอย่างสม่ำเสมอ จิตแน่วแน่แล้ว โรคที่เป็นอยู่มันจะหายไป ถ้าสังขารนั้นไม่ใช่จะพังเต็มทีแล้ว คือไม่ถึงวาระสิ้นอายุขัย หรือว่าสังขารนั้นร่วงโรยเกินไปแล้ว ก็จะรักษาให้มันกระชุ่มกระชวยได้หรือจะให้มันสบายหายเป็นปกติดั่งเดิมได้

ประโยชน์จากการฝึกจิต
ผู้ที่ปฏิบัติวิปัสสนากรรมฐาน จนมีสมาธิแน่วแน่ เมื่อจิตนิ่งก็รู้ตน เริ่มพิจารณาตน รู้ตนเองได้ ปัญญาก็เกิดขึ้น ปัญญานี้เรียกว่า ปัญญาภายในจากจิตวิญญาณ ซึ่งเราจะใช้ปัญญานี้ได้แน่นอน เมื่อเกิดมีปัญหาขึ้นในชีวิตตลอดระยะเวลาอันยาวนานข้างหน้า นี่คือประโยชน์ของการฝึกจิตแล้ว คุณของสมาธิยังเป็นพลังป้องกันไม่ให้เกิดโรคภัย เจ็บป่วยได้ กล่าวคือ การบำเพ็ญจิต จนจิตสงบนิ่งแล้ว ระบบต่างๆทางประสาทจะได้รับการพักผ่อน เป็นการปรับธาตุในกายให้เกิดพลังจิตเข้มแข็ง กายเนื้อก็จะแข็งแรงกระชุ่มกระชวยด้วย โลหิตในร่างกายจะหมุนเวียนสะดวกขึ้น ความตึงเครียดตามร่างกายและประสาทต่างๆ จะผ่อนคลายเป็นปกติ โรคต่างๆจะลดน้อยลงโดยเฉพาะผู้ที่ป่วยเป็นโรคความดันโลหิตสูง หายป่วยได้ด้วยการฝึกจิตและเดินจงกรม.

คติธรรมคำสอน ของ สมเด็จพระ
พุฒาจารย์ ( โต พรหมรังสี )








"..เอาอย่างนี้ก็แล้วกัน เพื่อให้ได้บุญมากขึ้น
จงโมทนาบุญของฉัน
ฉันบำเพ็ญกุศลมาตั้งแต่ต้น เริ่มต้นไกลลิบเชียวนะ เมื่อไรก็ตามจนกระทั่งถึงปัจจุบัน ฉันจะมีความสุขเพียงใดเพราะบุญนี้ ขอเธอจงโมทนารับผล เช่นเดียวกับฉัน นับตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป.."

พระราชพรหมยาน (หลวงพ่อวัดท่าซุง)
(ธัมมวิโมกข์ ฉบับ ๒๐๓ หน้า ๖๘)





คำว่า "โลกุตตระ" และ "เหนือโลก"

"คำว่า "โลกุตตระ" นี้ ไม่ใช่เป็นเรื่องที่ต้องกลัว เป็นเรื่องที่เป็นจริงและจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องมีความรู้เรื่องนี้ และอยู่ในสภาพเช่นนี้
คือท่านเป็นฆราวาสอย่างนี้ ถ้าตามปกติก็เรียกว่า "อยู่ในโลก" ที่นี้ ในโลกนี้ก็มี รูป เสียง กลิ่น รส สัมผัส ธรรมารมณ์ (ภาษาธรรมะ เรียกว่า "อารมณ์ ๖" หรือ "อายตนะภายนอก ๖") เป็นอารมณ์ที่เกิดขึ้นทางตา ทางหู ทางจมูก ลิ้น กาย ใจ (อายตนะภายใน) เหล่านี้ ถ้าไม่รู้เรื่องกับมันแล้วจะมีอาการเหมือนกับว่า "เราจมอยู่ในน้ำ" รูป เสียง กลิ่น รส สัมผัส เหล่านี้ จะท่วมเหมือนกับน้ำท่วม คือ ท่วมจิตใจ
ที่นี้ จิตใจต้องอยู่เหนืออำนาจของสิ่งเหล่านี้ อย่าให้สิ่งเหล่านี้ครอบงำได้ อาการอย่างนี้ เรียกว่า "เหนือโลก" และเป็นการเหนือโลกที่ถูกต้องที่สุด ไม่ใช่ว่าจะต้องเหาะลอยขึ้นไปจากโลก เหนือโลกแล้วไปที่ไหนก็ไม่ทราบ ไปในความว่างที่เคว้งคว้าง อย่างนี้มันเป็นเรื่องเดาของคนที่ไม่มีความรู้เรื่องพระพุทธศาสนา

คำว่า "อยู่เหนือโลก" ในทางพระพุทธศาสนานั้น คือ มีจิตใจอยู่เหนือวิสัยที่สิ่งต่างๆในโลกจะครอบงำย่ำยีได้ นี่เรียกว่า "เหนือโลก"

พุทธทาสภิกขุ
๒๘ มกราคม ๒๕๐๙
ธรรมบรรยาย เรื่อง "จิตว่างในชีวิตประจำวัน"
อบรมผู้พิพากษา ปี ๒๕๐๙






ความหมายของ คำว่า "เหนือโลก"

"คำว่า "เหนือโลก" น่ะ มันเป็นเรื่องของจิตใจ มีจิตใจอยู่เหนืออิทธิพลใดๆ ที่มีอยู่ในโลก นั่นแหละคือ "เหนือโลก" จะหนีไปอยู่ที่ไหนมันก็อยู่ในโลก หนีไปอยู่ในป่ามันก็อยู่ในโลก จะไปอยู่บนสวรรค์กับเทวดามันก็ไปไม่ได้ และมันก็ไม่ใช่เหนือโลก

ควรจะรู้กันไว้ว่า แม้เทวดาชั้นกามาวจร หรือชั้นพรหม ท่านก็ยังจัดเป็นโลก ยังไม่ใช่โลกุตตระนะ สวรรค์ทั่วไปที่เต็มไปด้วยกามารมณ์ ที่ปรารถนากันนักนี่ ทำบุญตักบาตรช้อนหนึ่งให้ได้วิมานหลังหนึ่งเป็นที่ยึดถือ อันนั้นก็ไม่ใช่เหนือโลก ไม่ใช่พ้นโลก ที่ยิ่งไปกว่านั้นอีก เป็นฤาษีเป็นมุนีบำเพ็ญสมาธิภาวนา ได้รูปฌานบ้าง ได้อรูปฌานบ้าง เสวยสุขอยู่ในฌานนั้นๆ มันก็ยังไม่ใช่เหนือโลก ยังเป็น"วิสัยโลก" แต่ว่ามันเป็นโลกชั้นสูง

พอจะมองเห็นที่ท่านจัดกันไว้ว่า ไอ้โลกนรกน่ะชั้นต่ำสุดนะ โลกสัตว์เดรัจฉานนี่สูงขึ้นมา โลกเปรต โลกอสุรกาย และมนุษย์โลกธรรมดา และก็เทวดา ในสวรรค์กามารมณ์ กามาวจร และก็พวกพรหมในพรหมโลก เหล่านี้เป็นโลกทั้งนั้น เพราะยังข้องติดอยู่กับอารมณ์ในโลก แม้ว่าพวกหนึ่งจะไม่เกี่ยวกับกาม คือพวกพรหม แต่ก็พอใจในรสทางธรรมารมณ์ ทางจิตใจ ที่ไม่เกี่ยวกับกาม มีจิตใจข้องติดอยู่ในอารมณ์นั้นๆ ก็คือโลก เพราะฉะนั้น ยังไม่พ้นจากโลก

พ้นจากโลกก็คือพวก "พระอริยเจ้า" เริ่มรู้สึกสังเกตเห็นและเบื่อหน่ายต่อเรื่องผูกพัน ที่มันผูกพันผูกรัดให้ติดอยู่กับอารมณ์ในโลก ฉะนั้นจึงแยกออกมาเป็นอีกพวกหนึ่ง พวกเหนือโลก หรือพวกที่กำลังจะเหนือโลกแน่นอน แน่นอนที่ว่าจะเหนือโลก เช่น พระโสดาบัน สกิทาคามี อนาคามี นี่ก็เรียกว่าแน่นอนที่จะเหนือโลก พระอรหันต์นั้นแน่แล้ว เสร็จแล้ว พ้นแล้ว เหนือโลกแล้ว แต่ร่างกายของท่านก็ยังเดินอยู่ในโลก ยังเที่ยวขอทานอาหารบิณฑบาตอยู่ในโลก แต่ว่าจิตใจนั้นไม่อยู่ภายใต้อิทธิพลใดๆของอารมณ์ในโลก ไม่หลงติดในรสอันอร่อยของวัตถุ ของกามารมณ์ หรือแม้แต่ของฌาน ของสมาบัติ

พวกที่หลงใหลในฌานสมาบัติ ก็หลงใหลเหมือนกับที่คนธรรมดาที่หลงใหลในกามารมณ์ ในรสชาติของฌาน ของสมาธิ ของสมาบัตินั้นน่ะ ไม่ใช่เล็กน้อย เป็นที่ตั้งแห่งความหลงใหล เหมือนกับที่คนธรรมดาในโลกนี้หลงใหลในกามารมณ์ทางเพศ ฉะนั้น ไอ้รสของสมาธิของฌาน ก็ถูกจัดไว้ในฐานะเป็นอารมณ์ เครื่องข้องของจิต เครื่องติดข้องของจิตด้วยเหมือนกัน ยังมีความหมายเป็นสัตว์ตามธรรมดา เป็นสัตว์โลก เป็นสัตว์สวรรค์ เป็นสัตว์พรหม อะไรก็ยังเป็นสัตว์ที่มีจิตข้องอยู่ตามธรรมดา พระอริยเจ้า คือ ผู้ที่ยังมองเห็นในโทษของความข้องติดนี้ จึงขยับขยายออกไปทางที่จะไม่ข้องติด จึงประพฤติธรรมะหรือพรหมจรรย์ในอีกระบบหนึ่ง ที่จะไม่ข้องติดอยู่ในโลก"
พุทธทาสภิกขุ
ที่มา : อบรมพระนวกะในพรรษา 2527 เรื่อง โครงสร้างของอานิสงส์แห่งพรหมจรรย์







“ขึ้นอยู่กับเหตุ”

..แต่เราจะมาอยู่น้อยก็ตาม มาอยู่นานก็ตาม น้อย-มากก็ไม่ค่อยสำคัญเท่าไหร่หรอก สำคัญอยู่กับการประพฤติปฏิบัติ แม้อยู่มาก ๆ นาน ๆ หลาย ๆ ปี ถ้าหากไม่ปฏิบัติก็เท่าเดิมนั้นหละ ถ้าหากผู้มาอยู่ชั่วระยะหนึ่ง หรือมีกำหนดเวลา เราก็เร่งประพฤติปฏิบัติเข้า ก็อาจจะเป็นไปได้เหมือนกัน เพราะว่าสิ่งเหล่านี้มันขึ้นอยู่กับการกระทำ ขึ้นอยู่กับเหตุ ถ้าเหตุหลาย ผลมันก็หลายเอง ถ้าเหตุน้อย ผลก็น้อยเอง มันต้องขึ้นอยู่กับเหตุ เหตุก็คือการกระทำของเราเอง การกระทำ ก็หมายถึงการประพฤติปฏิบัติร่างกายจิตใจก้อนนี้ ให้ปรับปรุงเข้าในหลักศีลธรรม..

หลวงปู่ศรี มหาวีโร






“ในดีมีเสีย ในเสียมีดี
ดังนั้นอย่ามองอะไรเพียงด้านเดียว
เพราะในมุมมืด อาจมีจุดสว่างที่คุณคาดไม่ถึง
และหากถึงที่สุดแล้ว ยังหาทางออกไม่เจอ
อย่างน้อยคุณก็พบกับประสบการณ์ชีวิต
ที่มีคุณค่า และได้เรียนรู้ความจริงของชีวิต”

หลวงปู่ชา สุภัทโท





"คุณเอ้ย โลกมันสอนเรา
บางที ก็สนุกสำราญ
บางที ก็เศร้าโศก
บางที ก็ทารุณโหดร้าย
คุณต้องเรียนได้ทุกบท
คุณจะบอกว่า ไม่ชอบวิชานี้
ไม่เรียน มันไม่ได้
เราชอบสุข เกลียดทุกข์
แต่เราก็ต้องเรียนทั้งสองอย่าง
เมื่อคุณผ่านการสอบหนึ่งครั้ง
คุณจะพัฒนาไปอีกขั้น บทเรียนบางบท
มันอาจจะแพงไปสักหน่อย
ต้องแลกมาด้วย เงินทอง อวัยวะ
หรือแม้แต่ชีวิต
แต่คุณอย่าลืมนะ วิชาดี ราคามันต้องแพง
โลกสอนให้คุณรู้จักโลก ในทุกรูปแบบ
ทุกรสชาติ คุณจะได้เบื่อโลก หน่ายโลก
อย่างแท้จริง นิพพานของคุณ
ก็จะเป็นนิพพานจริงๆ
อย่าเพิ่งลาออกจากโรงเรียนกลางคันก็แล้วกัน"

หลวงปู่หา สุภโร






"จะเอาสุขทางโลก ก็ได้ทุกข์มาพร้อมกัน
เช่น คิดว่าสามี ภรรยา เป็นความสุข
ก็ได้รับทุกข์เพราะสามี ภรรยา นั่นแหละ
อยากได้ลูก มีความสุขที่ได้ลูกหญิงลูกชาย
แต่ก็ได้รับทุกข์ เพราะลูกนั่นแหละ
จะเอาความรัก ก็ได้ความชังมาพร้อม
จะเอาอย่างเดียวไม่ได้ อยากได้หนึ่งแต่ได้สอง
เป็นกฎธรรมชาติอย่างนั้น"

หลวงปู่คำดี ปภาโส


แสดงโพสต์จาก:  เรียงตาม  
กลับไปยังกระทู้  [ 1 โพสต์ ] 

เขตเวลา GMT + 7 ชั่วโมง


 ผู้ใช้งานขณะนี้

กำลังดูบอร์ดนี้: ไม่มีสมาชิก และ บุคคลทั่วไป 78 ท่าน


ท่าน ไม่สามารถ โพสต์กระทู้ในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ ตอบกระทู้ในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ แก้ไขโพสต์ของท่านในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ ลบโพสต์ของท่านในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ แนบไฟล์ในบอร์ดนี้ได้

ค้นหาสำหรับ:
ไปที่:  
Google
ทั่วไป เว็บธรรมจักร


cron