ลานธรรมจักร
http://www.dhammajak.net/forums/

ความหมายของไตรลักษณ์ (อนิจจตาและอนิจจลักษณะ)
http://www.dhammajak.net/forums/viewtopic.php?f=1&t=57672
หน้า 1 จากทั้งหมด 1

เจ้าของ:  กรัชกาย [ 01 มิ.ย. 2019, 20:11 ]
หัวข้อกระทู้:  ความหมายของไตรลักษณ์ (อนิจจตาและอนิจจลักษณะ)

ความหมายของไตรลักษณ์

พึงสังเกตว่า หลักขันธ์ ๕ (เบญจขันธ์) ในบทที่ ๑ ก็ดี หลักอายตนะ ๖ (สฬายตนะ) ในบทที่ ๒ ก็ดี แสดงเนื้อหาของชีวิต เน้นการศึกษาพิจารณาเกี่ยวกับชีวิต คือ ว่า ด้วยขันธ์ ๕ ที่เป็นภายใน และอายตนะภายในเป็นสำคัญ
ส่วนหลักไตรลักษณ์ในบทที่ ๓ นี้ ขยายขอบเขตการพิจารณาออกไปอย่างกว้างขวางครอบคลุมทั้งขันธ์ ๕ ที่เป็นภายใน และขันธ์ ๕ ที่เป็นภายนอก ทั้งอายตนะภายใน และอายตนะภายนอก เป็นการมองทั้งชีวิต และสิ่งทั้งปวงที่ชีวิตเกี่ยวข้อง คือ ว่าด้วยชีวิต และโลกทั่วไปทั้งสิ้น

เจ้าของ:  กรัชกาย [ 01 มิ.ย. 2019, 20:16 ]
หัวข้อกระทู้:  Re: ความหมายของไตรลักษณ์


เนื่องกันหมด เพราะพุทธธรรมพูดถึงชีวิต ซึ่งมีชีวิตเดียว แต่แสดงคนละแง่คนละด้าน

เจ้าของ:  กรัชกาย [ 01 มิ.ย. 2019, 20:19 ]
หัวข้อกระทู้:  Re: ความหมายของไตรลักษณ์

ความหมายของไตรลักษณ์แต่ละข้อ ได้แสดงไว้พอเห็นเค้าในเบื้องต้นแล้ว ในที่นี้จะวิเคราะห์ความหมายของไตรลักษณ์เหล่านั้นให้ละเอียดลึกซึ้งลงไปอีก ตามหลักวิชาโดยหลักฐานในคัมภีร์

@ อนิจจตา และอนิจจลักษณะ

คัมภีรร์ปฏิสัมภิทามัคค์แสดงอรรถ (ความหมาย) ของอนิจจตาไว้อย่างเดียวว่า ชื่อว่าเป็นอนิจจัง โดยความหมายว่า เป็นของสิ้นไปๆ (ขยฏฺเฐน) * ( ขุ.ปฏิ.31/79/53) หมายความว่า เกิดขึ้นที่ไหนเมื่อใด ก็ดับไปที่นั่น เมื่อนั้น เช่น รูปธรรมในอดีต ก็ดับไปในอดีต ไม่มาถึงขณะนี้ รูปในขณะนี้ ก็ดับไปที่นี่ ไม่ไปถึงข้างหน้า รูปในอนาคตจะเกิดถัดต่อไป ก็จะดับ ณ ที่นั้นเอง ไม่มีอยู่ถึงเวลาต่อไปอีก ดังนี้เป็นต้น

ต่อมาในคัมภีร์อรรถกถา ท่านต้องการให้ผู้ศึกษาเข้าใจง่ายขึ้น จึงได้ขยายความหมายออกไปโดยนัยต่างๆ ยักย้ายคำอธิบายออกไปให้เห็นความหมายในหลายๆแง่ และหลายๆระดับ ตั้งแต่ระดับคร่าวๆ หยาบๆลงมาจนถึงความเป็นไปในแต่ละขณะๆ เช่น
เมื่อมองชีวิตของคน เบื้องต้นก็มองอย่างง่ายๆ ดูช่วงชีวิตทั้งหมด ก็จะเห็นว่าชีวิตมีการเกิดและการแตกดับ เริ่มต้นด้วยการเกิดและสิ้นสุดลงด้วยความตาย
เมื่อซอยลงไปอีก ก็ยิ่งเห็นความเกิดและความดับ หรือการเริ่มต้นและการแตกสลายกระชั้นถี่เข้ามา เป็นช่วงวัยหนึ่งๆ ช่วงระยะสิบปีหนึ่งๆ ช่วงปีหนึ่งๆ ช่วงฤดูหนึ่งๆ ช่วงเดือนหนึ่งๆ ฯลฯ ช่วงยามหนึ่งๆ ตลอดถึงชั่วเวลาขยับเขยื้อนเคลื่อนไหวแต่ละครั้งแต่ละหน จนกระทั่งมองเห็นความเกิดดับที่เป็นไปในทุกๆขณะ ซึ่งเป็นของมองเห็นได้ยากสำหรับคนทั่วไป

อย่างไรก็ตาม ในสมัยปัจจุบันนี้ ที่วิทยาศาสตร์เจริญก้าวหน้ามากแล้ว อนิจจตาหรือความไม่เที่ยง โดยเฉพาะในด้านรูปธรรม เป็นสิ่งที่เข้าใจได้ง่ายขึ้นมาก จนเกือบจะกลายเป็นของสามัญไปแล้ว ทฤษฎีต่างๆตั้งแต่ทฤษฎีว่าด้วยการเกิดดับของดาว ลงมาจนถึงทฤษฎีว่าด้วยการสลายตัวของปรมาณู ล้วนใช้ช่วยอธิบายหลักอนิจจตาได้ทั้งสิ้น

ที่ว่า คัมภีร์ชั้นอรรถกายักเยื้องคำอธิบายออกไปหลายๆแง่ ขยายความหมายออกไปโดยนัยต่างๆ นั้น เช่น บางแห่งท่านอธิบายว่า ที่ชื่อว่าเป็นอนิจจัง ก็เพราะเป็นสิ่งที่ไม่เที่ยงแท้ยั่งยืนคงอยู่ตลอดไป (อนจฺจนฺติกตาย) และเพราะเป็นสิ่งที่มีความเริ่มต้นและความสิ้นสุด (มีจุดเริ่ม และมีจุดจบ อาทิอนฺตวนฺตตาย) * (วิสุทฺธิ.3/237)

เจ้าของ:  กรัชกาย [ 01 มิ.ย. 2019, 20:25 ]
หัวข้อกระทู้:  Re: ความหมายของไตรลักษณ์

แต่คำอธิบายอย่างง่ายๆ ที่ใช้บ่อย ก็คือข้อความว่า ชื่อว่าเป็นอนิจจัง โดยความหมายว่า เป็นสิ่งที่มีแล้วก็ไม่มี (คือมีหรือปรากฏขึ้นแล้ว ก็หมด หรือหายไป หุตฺวา อภาวฏฺเฐน) * (วิสุทฺธ.3/260) บางแห่งก็นำข้อความอื่นมาอธิบายเสริมเข้ากับข้อความนี้อีก เช่นว่า ชื่อว่าเป็นอนิจจัง เพราะเกิดขึ้น เสื่อมสลาย และกลายเป็นอย่างอื่น หรือเพราะมีแล้ว ก็ไม่มี (อุปปาทวยญฺญถตฺตภาวา หุตฺวา อภาวโต วา) * (วิสุทฺธิ.3/275)

เจ้าของ:  กรัชกาย [ 01 มิ.ย. 2019, 20:28 ]
หัวข้อกระทู้:  Re: ความหมายของไตรลักษณ์

แต่ที่ถือว่า ท่านประมวลความหมายต่างๆ มาแสดงไว้โดยครบถ้วน ก็คือ การแสดงอรรถแห่งอนิจจตา เป็น ๔ นัย หมายความว่า เป็นอนิจจังด้วยเหตุผล ๔ อย่าง * (วิสุทฺธิ. 3/246 ฯลฯ ว่า เหตุผล ๔ อย่างนี้ เป็นวิธีพิจารณาที่ใช้สำหรับสังขารฝ่ายรูปธรรม แต่ความในอรรถกถวิภังค์แสดงให้เห็นว่า ใช้ได้สำหรับสังขารทุกอย่าง ดู วินย.ฎีกา.3/80) คือ

๑. อุปฺปาทวยปฺปวตฺติโต เพราะเป็นไปโดยการเกิดและการสลาย คือ เกิดดับๆ มีแล้วก็ไม่มี

๒. วิปริณามโต เพราะเป็นของแปรปรวน คือ เปลี่ยนแปลง แปรสภาพไปเรื่อยๆ

๓. ตาวกาลิกโต เพราะเป็นของชั่วคราว อยู่ได้ชั่วขณะๆ

๔. นิจฺจปฏิกฺเขปโต เพราะแย้งต่อความเที่ยง คือ สภาวะของมันที่เป็นสิ่งไม่เที่ยง ขัดกันอยู่เองในตัวกับความเที่ยง หรือโดยสภาวะของมันเองก็ปฏิเสธความเที่ยงอยู่ในตัว เมื่อมองดูรู้เห็นตรงตามสภาวะของมันแล้ว ก็จะหาไม่พบความเที่ยงเลย ถึงคนจะพยายามมองให้เห็นเป็นเที่ยง มันก็ไม่ยอมเที่ยงตามที่คนอยาก จึงเรียกว่ามันปฏิเสธความเที่ยง

เจ้าของ:  กรัชกาย [ 01 มิ.ย. 2019, 20:34 ]
หัวข้อกระทู้:  Re: ความหมายของไตรลักษณ์

ใครที่ชอบพูดอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา อ่านแล้วคิดเทียบดูสิ ตรงกับอนิจจัง ตรงกับทุกข์ ตรงกับอนัตตา ที่เราเองคิดวาดไว้ไหม :b1:

เจ้าของ:  กรัชกาย [ 02 มิ.ย. 2019, 08:44 ]
หัวข้อกระทู้:  Re: ความหมายของไตรลักษณ์ (อนิจจตาและอนิจจลักษณะ)

ต่อ ความหมายทุกขตา และทุกขลักษณะ

http://www.dhammajak.net/forums/viewtopic.php?f=1&t=57674

หน้า 1 จากทั้งหมด 1 เขตเวลา GMT + 7 ชั่วโมง
Powered by phpBB © 2000, 2002, 2005, 2007 phpBB Group
http://www.phpbb.com/