วันเวลาปัจจุบัน 29 มี.ค. 2024, 02:34  



เขตเวลา GMT + 7 ชั่วโมง




กลับไปยังกระทู้  [ 1 โพสต์ ]    Bookmark and Share
เจ้าของ ข้อความ
โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 18 ธ.ค. 2019, 05:57 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
อาสาสมัคร
อาสาสมัคร
ลงทะเบียนเมื่อ: 06 มี.ค. 2009, 10:48
โพสต์: 5091


 ข้อมูลส่วนตัว


เรื่อง “คนหูหนวกหูตึงต้องการไปนิพพาน”..
.. หนูเป็นคนหูไม่ได้ยิน โชคดีที่ได้พบหลวงพ่อจากการอ่านหนังสือ “ประวัติหลวงปู่ปาน” จึงมีศรัทธาต่อองค์หลวงพ่อเป็นอย่างมาก ลูกเลยปฏิบัติตามคำสอนของหลวงพ่อ โดยตั้งจิตอธิษฐานว่า “ถ้าตายเมื่อไหร่ ขอไปนิพพานในชาตินี้เลย”
ทั้งๆ ที่ตัวเองยังไม่รู้เลยว่านิพพานเป็นยังไง “มโนมยิทธิ” ก็ยังไม่ได้ แต่อธิษฐานอย่างนี้เป็นประจำ ลูกจะมีสิทธิ์ไปได้หรือไม่เจ้าคะ?
มีหวังร้อยเปอร์เซ็นต์ คนหูหนวกหูตึงนี่ ใครด่าไม่ได้ยิน ไม่โกรธ “ตัดความโกรธไปได้” อย่าลืมว่า “จิตเขาต้องการไปนิพพาน” ไอ้ตัวนี้สำคัญ ถ้าเวลาใกล้จะตาย เขานึกอย่างนั้นอีกไปแน่นอน ถ้านึกไว้ทุกวันนี่ “เป็นอาจิณกรรม เป็นฌาน” เขาเรียกว่า “อุปสมานุสสติกรรมฐาน” มีพระนิพพานเป็นอารมณ์ เรื่องใหญ่มาก ..

จาก.. ธัมมวิโมกข์ ฉบับที่ ๔๑๙ หน้าที่ ๖๒
โดย หลวงพ่อฤๅษีฯ วัดท่าซุง จ.อุทัยธานี






#จงทำใจ_ให้เหมือนแผ่นดิน
เพราะว่าแผ่นดินที่เรา
อาศัยอยู่ทุกวันนี้ไม่ได้เคย
โกรธใครทำอะไรใครเลย
#จงทำใจ_เหมือนน้ำ
เพราะธรรมดาของน้ำ
ย่อมเป็นของสะอาด
ชำระของสกปรกได้ทุกเมื่อ
และเป็นของดื่มกินเพื่อมีชีวิต
ช่วยเหลือแก่สรรพสัตว์ทั้งหลายทั้งปวง
#จงทำตน_ให้เหมือนผ้าเช็ดเท้า
เพราะธรรมดาของ
ผ้าเช็ดเท้าย่อมไม่มี
ความรักความชัง ฉันใด
ใจเราก็ทำเหมือนกัน ฉันนั้น
เมื่อเราตั้งใจฝึกฝนอบรมได้
เช่นนี้แล้วไปอยู่ที่ไหนก็มี
แต่ความสุข ความทุกข์ในใจ
ก็จะไม่เกิดดังสุภาษิตที่ท่าน
กล่าวไว้ว่า..
#จิตตังทันตัง_สุขาวะหัง
จิตที่ฝึกฝนมาดีแล้ว
นำมาซึ่งความสุข
ทั้งโลกนี้และโลกหน้า

#หลวงปู่ขาว_อนาลโย







สุข มันก็อยู่ที่ใจ
ทุกข์ มันก็อยู่ที่ใจ
สวรรค์ นรก สุข ทุกข์
ใจมันเป็นผู้พาทำ
ธรรมะเกิดเพราะเหตู
เหตุดี ผลก็ต้องดี

หลวงปู่เพียร วิริโย







เรื่อง “พระสงฆ์ที่เราจะต้องเคารพ”..
.. สำหรับคนที่มีกำลังใจเข้มแข็ง คือไม่ยอมก้มหัวให้กับความชั่ว เขาก็มีศีลไม่ขาด ความเป็นพระโสดาบันก็เป็นของไม่ยาก ไม่มีอะไรจะยาก สำหรับคนที่มีปัญญาเข้มแข็งก็ไม่ต้องอธิบายกัน เพราะจิตใจดีอยู่แล้ว สำหรับคนที่ยังมีปัญญาอ่อนอยู่ หาความมั่นคงในสรณคมน์ยังไม่ได้ ท่านที่ถึงพระพุทธ พระธรรม และก็ถึงพระสงฆ์เป็นสรณะ “เป็นปัจจัยให้ได้พระอรหันต์ได้โดยง่าย” สำหรับพระสงฆ์เราก็ทราบกันดีอยู่แล้วว่า พระสงฆ์สาวกขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า นี่หมายเอา “พระอริยสงฆ์” ประเภทสงฆ์ห่วยๆ นี่มันไม่ได้ความ ในที่นี้ที่สักแต่ว่าบวช โกนหัวห่มผ้าเหลือง ถ้าจิตใจไม่เคารพในพระธรรมวินัย คือ “ไม่มีอธิศีลสิกขา ไม่มีอธิจิตสิกขา ไม่มีอธิปัญญาสิกขา ” ไม่รวมอยู่ในคำว่า “พระสงฆ์ที่เราจะต้องเคารพ”
พระสงฆ์ที่เราจะต้องเคารพนั่นก็คือ “มีศีลบริสุทธิ์ มีสมาธิตั้งมั่นทรงตัว มีฌานสมาบัติ มีอารมณ์แห่งวิปัสสนาญาณแจ่มใสพอสมควร” อย่างน้อยที่สุดตั้งแต่ “พระโสดาบันขึ้นไป” นี่เป็นพระสงฆ์ที่เราควรจะเคารพสักการบูชานอกนั้นไม่อยู่ในเกณฑ์ที่พวกเราควรจะเคารพสักการบูชา เพราะเป็นโจรปล้นพระศาสนา ทำลายความดีของพระศาสนา ไม่ควรแก่การสักการะที่จะพึงทำ ..

จาก.. ธัมมวิโมกข์ ฉบับที่ ๔๑๘ หน้าที่ ๗๗-๗๘
โดย หลวงพ่อฤๅษีฯ วัดท่าซุง จ.อุทัยธานี








หัวใจผู้ที่จะได้มรรคผลนิพพาน
"น้ำคลำต้องบำบัดอย่างไรให้น้ำสะอาด
ขยะมูลฝอยเขาทำอย่างไรให้สะอาด
ไม่ใช่ของง่าย จิตนั้นสกปรกกว่าขยะ
หมักหมมกว่าน้ำคลำเสียอีก จึงจำเป็น
จะต้องขู่เข็ญตะคอกเอาเป็นเอาตายกับมัน
ถ้าไม่หยุดคิด ไม่อยู่กับองค์ภาวนา
จะไม่ยอมเลิกรากัน เอาเป็นเอาตายกัน
นั่นเป็นนิสัยของหัวใจสิงห์ คือหัวใจ
ผู้ที่จะได้มรรคผลนิพพาน
พวกที่ใจอ่อนแอขี้แยพวกนี้ไม่ได้อะไร
เกิดมาเสียชาติเปล่า ตายเสียดีกว่าอย่าอยู่เลย
เพราะเป็นพวกไม่เอาจริงเอาจัง อยู่ไปก็รกโลก
หาประโยชน์มิได้เลย ถึงให้ทานทำความดี
ซักปานใด ประโยชน์นั้นก็ไม่ถึงแห่งแดน
พระนิพพาน เพราะเหตุแห่งว่าตนไม่ยอม
ชนะใจตน ตนไม่ฝึกตน ตนไม่เป็นที่พึ่งแห่งตน
แล้วใครจะพึ่งตนได้ แม้ตนเองยังพึ่งตนไม่ได้
จะให้ใครมาพึ่งนั้น ก็เห็นจะไม่ได้เช่นเดียวกัน..."

โอวาทธรรมหลวงพ่อเพชร วชิรมโน







หลวงตาแตงอ่อน กล่าวว่า “คำของพ่อแม่ครูอาจารย์นั้นหลวงตายกใส่เกล้าตลอด เดินจงกรมภาวนาก็ทำตามท่านสอน สำหรับความดีของท่านพระอาจารย์มั่นนั้น ท่านเป็นผู้มีเมตตาสูง เยือกเย็นมาก อยู่กับท่านมีแต่ความเย็นใจ ทำอะไรก็ระลึกถึงท่านตลอด เป็นอนุสสติอย่างหนึ่ง ไม่ได้ว่างเว้นเลย”

ที่มา:ประวัติและปฏิปทา หลวงตาแตงอ่อน กลฺยาณธฺมโม
วัดป่าโชคไพศาล ต.นาซอ อ.วานรนิวาส จ.สกลนคร









“ธรรมเป็นธรรมชาติที่นิ่มนวลอ่อนโยน เมื่อเข้าสัมผัสสัมพันธ์กับใจผู้ปฏิบัติผู้มีความ เชื่อความเลื่อมใสแล้ว จิตใจนั้นก็กลายเป็นสิ่งที่ นิ่มนวลอ่อนโยนไปด้วยเมตตาจิต ไม่เคยมีก็มี ความไม่เคยเสียสละก็เสียสละได้เพื่อผู้อื่น เพราะความเมตตา สามารถมองเห็นเขาเห็น เราว่ามีสาระสำคัญเช่นเดียวกันได้ เพราะความเมตตา เมื่อธรรมมีอยู่ในจิตดวงใดมากน้อย จิตดวงนั้นต้องแสดงออกทางกิริยาให้เห็น ปิดไว้ไม่อยู่ ยิ่งจิตที่บริสุทธิ์ด้วยแล้วไม่มีสิ่งใดที่จะนิ่มนวล ละเอียดอ่อนยิ่งกว่าจิตดวงนั้น
ให้ความเสมอภาค ให้ความเมตตาแก่สัตว์ทั่วๆ ไป ไม่พูดเพียงมนุษย์เท่านั้น แม้สัตว์เดรัจฉานชนิดใดก็ตาม ไม่กล้าดูถูก เหยียดหยาม ไม่กล้าทำลาย ให้ความเสมอภาคตามความจริง และเมตตาโดยสม่ำเสมอ ไม่มีคำว่าจะเป็นลุ่มๆ ดอนๆ ว่าคราวนั้นมีเมตตา คราวนี้ไม่มีเพราะจิตนั้นเป็นจิตเมตตาดวงเมตตาทั้งดวงก็คือจิตดวงที่บริสุทธิ์อยู่แล้ว”

หลวงตาพระมหาบัว ญาณสัมปันโน
ที่มา : หนังสือญาณสัมปันนธัมมานุสรณ์








“ถ้าพูดเรื่อง
ไม่มีสาระ แล้ว
ไปนอนเสียดีกว่า
พูดโขมงโฉงเฉง
พูดอะไรที่...
“ไม่มีประโยชน์”

พุทธทาสภิกขุ
๒๐ กรกฎาคม ๒๕๑๔
ที่มา : ธรรมบรรยายเรื่อง “กิจวัตรของพระธรรมชาติ” จากหนังสือ ธรรมโฆษณ์ เล่ม “นวกานุสาสน์ เล่ม ๑”









ทำจิตให้เป็นอิสระ
" ปัญหาทั้งหลายรวมอยู่ที่จิตดวงเดียวไม่ว่าเรื่องสุข เรื่องทุกข์ เรื่องโลภ เรื่องธรรม โลกียะ โลกุตตระ
ดังนั้น จงรู้จักจิต ควบคุม พัฒนาจิต ทำให้จิตเป็นอิสระจากปัญหาทั้งหลาย ชีวิตจะมีค่าเต็มแห่งความหมาย "

พุทธทาสภิกขุ










พระพุทธเจ้าทรงแสดงไว้สวรรค์ ๖ ชั้น พรหมโลก ๑๖ ชั้น จนกระทั่งนิพพาน ๑ ชั้น ไม่มีอะไรเป็นปัญหาเลย เป็นความกระจ่างแจ้งอยู่กับภายในใจของผู้บำเพ็ญ เพราะดำเนินตามทางของพระพุทธเจ้าที่ทรงบำเพ็ญและทรงรู้ทรงเห็นมาแล้วทั้งนั้น เมื่อเราบำเพ็ญตามสวากขาตธรรมที่ท่านตรัสไว้ชอบแล้ว ก็ย่อมเดินตามเข็มทิศทางเดินที่ถูกต้องแล้วนั้นก็ไปเจอจนได้
.
สวรรค์ไม่มีไว้เพื่อใคร มีไว้เพื่อคนบุญ เราเป็นคนบุญไม่เจอในเวลาเป็นก็ต้องเจอในเวลาตาย เป็นนี้ก็เจออยู่มีความสุขความสงบเย็นใจในชีวิตของเรา ประการหนึ่งรู้เห็นสวรรค์ชัด ๆ ภายในจิตใจนี้ ประการที่สอง เวลาตายแล้วก็ไปสวรรค์ คนมีหลักใจเป็นอย่างนั้น เราให้เสาะแสวงหาหลักใจเสมอกันกับทางร่างกายอย่าปล่อยอย่าวาง ร่างกายนี้เป็นของที่จะแตกจะพังได้ แต่เวลามีชีวิตอยู่นี้มันกวนเราตลอดเวลา ทั้งการอยู่ การกิน การหลับ การนอน การขับการถ่าย มีแต่เรื่องธาตุเรื่องขันธ์กวนทั้งนั้น จึงต้องได้เสาะแสวงหาสิ่งเหล่านี้มาเยียวยาพอประทังอยู่ได้ไปวันหนึ่ง ๆ พอถึงเวลาแล้วเขาก็พังของเขาไป
.
เมื่อร่างกายพังแล้ว ทรัพย์สมบัติเงินทองข้าวของสิ่งเยียวยาทั้งหลายมันก็พังไปตาม ๆ กันหมดความหมาย แต่ใจนี้ไม่หมดความหมายจะต้องเดินซอกซอนไปในที่ต่าง ๆ ตามอำนาจแห่งบุญแห่งกรรม ถ้าใครมีหลักใจก็หลักใจดึงเลย แล้วฉุดลากไปเลย หนุนให้ไปสู่สถานที่ดี ไม่ต้องถามหาละว่าสวรรค์อยู่ที่ไหน พระพุทธเจ้าบอกไว้แล้ว บอกไว้แล้วด้วยทาน บอกไว้แล้วด้วยศีล บอกไว้แล้วด้วยการเจริญเมตตาภาวนานี้คือทางสวรรค์ นี้คือสวรรค์จากการบำเพ็ญนี้ ทรงบอกไว้อย่างแจ่มแจ้งแล้วไม่ต้องสงสัย ไปถามหาที่ไหนจะมีความรู้ความฉลาดเกินพระพุทธเจ้าในสามแดนโลกธาตุนี้ไม่มี ให้เราเชื่อคำสอนของพระพุทธเจ้านี้

หลวงตาพระมหาบัว ญาณสัมปันโน
เทศน์อบรมฆราวาส ณ สวนแสงธรรม
เมื่อวันที่ ๒๖ กรกฎาคม ๒๕๓๙
"สวรรค์มีไว้เพื่อคนบุญ"









ชีวิต เป็นของลึกลับซับซ้อน ยากที่ผู้เป็นเจ้าของจะเข้าใจได้อย่างแจ่มแจ้ง มนุษย์เราจึงไม่สามารถนำชีวิตไปในทางที่ถูกที่ควรได้ง่าย ๆ บางคนได้รับการศึกษาสูง มีความรู้ดี แต่ก็ไม่สามารถดำเนินชีวิตไปอย่างมีความสุขได้ เพราะเขารู้แต่เรื่องภายนอก ไม่รู้สภาพอันวุ่นวายภายในตัวเอง ความรู้ที่เพียรเล่าเรียนศึกษามา แทนที่จะเป็นเครื่องนำทางไปสู่ความสุข จึงกลับเป็นเครื่องสังหารตัวเอง
.
คนเราสังหารตัวเองด้วยวิธีต่าง ๆ คือ ปล่อยให้ใจรั่ว ใจที่รั่วก็เปรียบเหมือนภาชนะที่รั่ว เก็บน้ำไม่อยู่ มีแต่จะไหลซึมออกหมด แม้แต่ล้อรถที่รั่ว ก็กลายเป็นของไร้ค่า ถ้าเราไม่ปะรอยรั่วนั้นให้อยู่ก่อน ของที่รั่วจึงสังหารตัวมันเอง โดยทำให้คุณค่าและราคาน้อยลง ใจที่รั่วก็ย่อมสังหารผู้เป็นเจ้าของเอง เพราะใจรั่วเก็บความดีไว้ไม่ได้ หักห้ามไม่อยู่ กระเสือกกระสนเข้าหาความชั่วตลอดเวลา หากเราปล่อยให้รั่วนาน ๆ โดยไม่รีบเยียวยาเสียแต่แรก ใจก็จะแตก คนใจแตกเป็นดังที่พวกเราเห็นกันอยู่แล้ว เราย่อมทราบดีว่าเขามีสภาพอย่างไร ไม่มีใครอยากเป็นคนใจแตก ด้วยเหตุนี้องค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้าจึงทรงสั่งสอนไว้ว่า นิสมฺม กรณํ เสยฺโย ถอดความเป็นภาษาไทยว่า การใคร่ครวญก่อนแล้วจึงลงมือทำ (อะไร ๆ ก็ตาม) เป็นสิ่งประเสริฐ เพราะการใคร่ครวญว่าดีหรือไม่ดี ควรหรือไม่ควรนั้น เป็นทางป้องกันไม่ให้ใจรั่ว
.
ชีวิตคนเราเปรียบเหมือนรถ มีเบรก มีพวงมาลัย และมีคันเร่ง คันเร่งเป็นตัวนำชีวิตให้พุ่งไปข้างหน้า ไม่เกียจคร้านงอมืองอเท้า ให้มีความมานะอดทนขยันในการหาเลี้ยงชีพ คือมีฉันทะ ความพอใจในงานที่กระทำ วิริยะ ความเพียรพยายามทำงานนั้นให้สำเร็จ จิตตะ รู้จักคิดไตร่ตรองกับงานที่กระทำอยู่ วิมังสา รู้จักแก้ปัญหาด้วยปัญญารอบคอบ เบรก เป็นตัวคอยยับยั้งเมื่อจะมีความชั่วเกิดขึ้น เช่นอย่างเมื่อเราหาทรัพย์สินมาได้ แล้วหากใจคิดอยากจะไปเล่นการพนัน ไปเที่ยวกลางคืน ก็ให้มีสติคอยยับยั้งไม่ให้ทำอย่างนั้น เพราะเป็นอบายมุขทางแห่งความเสื่อม พวงมาลัย เป็นตัวคอยนำไปในทางที่ถูก เช่น นำไปคบบัณฑิตแทนไปคบพาล นำไปทำบุญทำกุศลแทนไปเที่ยวโรงหนังโรงละคร นำไปเข้าห้องเรียนแทนไปจับกลุ่มนั่งคุยตามใต้ต้นไม้ อย่างนี้เป็นต้น
.
ผู้ประสงค์ความสุขจึงควรรู้จักตัวเอง รู้ว่าภายในตัวเองมีอำนาจลึกลับอะไรบ้าง ที่จะคอยชักจูงชักนำเราไปในทางเสื่อมเสีย และจะแก้อำนาจลึกลับนี้ด้วยอาวุธชนิดใด ผู้ที่รู้จักตัวเองดี ย่อมได้เปรียบผู้ที่ไม่รู้ เพราะเขาจะสามารถดำรงชีวิตอยู่ได้ด้วยความสุข

หลวงตาพระมหาบัว ญาณสัมปันโน
บันทึกธรรมของท่านอาจารย์ที่แสดงณ วิทยาลัยครูอุดรธานี
เมื่อวันที่ ๑๒ กรกฎาคม ๒๕๑๒
คัดจากหนังสือ ธัมมะในลิขิต






ดูลมเห็นใจ
ดูใจเห็นธรรม
ดูธรรมเห็นสวรรค์ เห็นนิพพาน
แต่คนเราส่วนมาก ไม่ดูลม ดูแต่ร่างกาย ดูของบูดของเน่า นอนกอดของบูดของเน่า ปรุงแต่งแต่ของบูดของเน่า เลยไม่ถึงสวรรค์ไม่ถึงนิพพาน
ดูลมรักษาใจ

หลวงปู่ทองอินทร์ กตปุญฺโญ
วัดประชาคมวนาราม(ป่ากุง)
ศรีสมเด็จ ร้อยเอ็ด









"ภาวนา เป็นยอดของบุญ คนมีศีลแต่ไม่มีภาวนาก็ไปนิพพานไม่ได้ การภาวนาเป็นบุญอย่างยอด เราไม่ต้องลงทุนอะไรมาก เพียงแต่นั่งให้สบาย จะขัดสมาธิหรือพับเพียบก็ได้ แล้วแต่จะเหมาะแก่สถานที่และสังคม มือขวาวางทับมือซ้าย แล้วก็ตั้งใจหายใจเข้าออกด้วยการระลึกถึงพระพุทธเจ้า พระธรรม พระสงฆ์ ภาวนาไม่ใช่เป็นเรื่องของพระธุดงค์ หรือเป็นของพระของเณร ของคนโง่คนฉลาด หรือคนมีคนจน แต่เป็นของซึ่งทุกคน ทุกเพศ ทุกชั้น ทุกวัย จะทำได้ คนเจ็บคนไข้นั่งนอนอยู่กับบ้านก็ทำได้ และทำได้ไม่เลือกกาลเลือกเวลา"

ท่านพ่อลี ธมฺมธโร


แสดงโพสต์จาก:  เรียงตาม  
กลับไปยังกระทู้  [ 1 โพสต์ ] 

เขตเวลา GMT + 7 ชั่วโมง


 ผู้ใช้งานขณะนี้

กำลังดูบอร์ดนี้: ไม่มีสมาชิก และ บุคคลทั่วไป 46 ท่าน


ท่าน ไม่สามารถ โพสต์กระทู้ในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ ตอบกระทู้ในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ แก้ไขโพสต์ของท่านในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ ลบโพสต์ของท่านในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ แนบไฟล์ในบอร์ดนี้ได้

ค้นหาสำหรับ:
ไปที่:  
Google
ทั่วไป เว็บธรรมจักร