วันเวลาปัจจุบัน 29 มี.ค. 2024, 00:54  



เขตเวลา GMT + 7 ชั่วโมง




กลับไปยังกระทู้  [ 1 โพสต์ ]    Bookmark and Share
เจ้าของ ข้อความ
โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 19 ธ.ค. 2019, 05:49 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
อาสาสมัคร
อาสาสมัคร
ลงทะเบียนเมื่อ: 06 มี.ค. 2009, 10:48
โพสต์: 5091


 ข้อมูลส่วนตัว


"อย่าไปสนใจคำพูดของคนอื่น พิจารณาให้เห็นว่า ใครทำอย่างไร ก็ต้องได้อย่างนั้น ตามกฎแห่งกรรม ควรเมตตาสงสาร มากกว่าจะไปโกรธเคืองกัน อภัยทานนี่แหละ คือการฝึกจิตของตน"

ธรรมะโอวาท
หลวงปู่ไม อินทสิริ







“ให้ยึดเอาพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ เป็นสรณะสูงสุด”
สวากขาตะธรรม ธรรมะที่พระพุทธเจ้าทรงตรัสไว้ ดีแล้ว ชอบแล้ว ไม่ต้องสงสัย หลวงปู่ว่า “ตั้งใจนะ ได้มากได้น้อยก็ยังดีกว่าไม่ได้เลย ให้มันเป็นนิสัยติดตัวไป จะได้ไม่เสียทีที่เกิดมาพบเจอพระพุทธศาสนา” ท่านว่า “ศีลห้าต้องเคยรักษา เคยมีมาแล้วทั้งนั้น ไม่อย่างนั้น หัวหนึ่ง แขนสอง ขาสอง จะมีครบกันได้อย่างไร”

ทุกอย่างอยู่ที่ “ใจ” ตัวเดียว นั่นคือ ตั้งใจ และ “ทำเอา” หลวงปู่ว่า พระพุทธเจ้าท่าน ก็ทรงบอกทางเฉยๆ เราต่างหากที่เป็นผู้กระทำ เป็นผู้เดินทาง ต้องการอะไรก็ทำเอา ไม่พลาดหวัง ไม่ผิดหวังหรอก ธรรมวินัยมีอยู่ตราบใด มรรคผลนิพพานก็มีอยู่ตราบนั้น ไม่ต้องสงสัย ให้เสียเวลาเลยกับเรื่องของคุณงามความดี เพราะเป็นของจริง มีจริง

“ทาน” กว่าจะถึงพระนิพพานน่ะมันช้า หรือบางทีก็ไม่ถึง เพราะมันหลง หลงในทาน จึงหลงทาง เออ ภาวนาสิ จึงเป็นยอดบุญ ภาวนาตัวเดียวนี่แหละ ได้หมด ทั้งทาน ศีล ภาวนา ใช่ไหมล่ะ พิจารณาดู ว่ามันถูกไหม ที่พูดนี่ อย่าเสียเวลา วันคืนล่วงไป ทำจริงก็ต้องเห็นจริง อย่าสงสัย

คำสอน:หลวงปู่ลี ฐิตธมฺโม
วัดเหวลึก (วัดฐิติธรรมาราม)





เรื่อง "มีเวลาหายใจ ต้องมีเวลาภาวนา
พุทธบริษัทบางกลุ่ม ผู้หญิงก็ดี ผู้ชายก็ดี เคยพูดว่า ฉันมีธุระมากเกี่ยวแก่การงาน ไม่มีโอกาสที่จะทำความเพียร จะให้ฉันทำอย่างไร ?
อาตมาตอบว่า
โยมทำงานนั้นโยมหายใจหรือเปล่าเขา ตอบว่าหายใจอยู่ ทำไมโยมมีโอกาสหายใจ เมื่อโยมทำงานอยู่เขาก็ไม่พูด โยมมีสติอยู่เท่านั้นแหละ ก็มีเวลามากเหลือเกินที่จะทำความเพียร ที่จะทำกรรมฐานเหมือนกับลมหายใจเข้าออก เราทำงานอยู่ก็หายใจอยู่ นอนอยู่ก็หายใจอยู่ นั่งก็หายใจอยู่ ทำไมมันมีโอกาสหายใจอย่างนั้น
ถ้าเรามีความรู้สึกถึงความมีชีวิตของเรากับลมหายใจนั้น มันก็ต้องมีเวลาอยู่ตลอดกาล

หลวงพ่อชา สุภัทโท






พระปลุกเสกพระ หรือ พระพุทธเจ้าท่านปลุกเสกพระ
ผู้ถาม :- “ค่ะ แล้วเวลาที่หลวงพ่อปลุกเสกพระ หนูควรจะทำอย่างไรคะ…?”
หลวงพ่อ :- “อ้าว…ก็นั่งพนมมือสิ”
ผู้ถาม (หัวเราะ)
หลวงพ่อ :- “ความจริงคำว่า “ปลุกเสก” ไม่ใช่ปลุกเสก เป็นการอาราธนาบารมีพระพุทธเจ้า และพระอรหันต์ทั้งหมด ขออานุภาพพรหมและเทวดาทั้งหมด และครูบาอาจารย์ ขอให้สงเคราะห์เพื่อทำอะไร ถ้าจิตใจเราน้อมไปก็ถือว่าถึงด้วย แล้วการขอบารมีเขา ต้องขอรอบๆทุกอย่าง เพื่อคนที่บูชาพระองค์นี้
ที่เขาเรียกว่า “ปลุกเสก” ความจริงไม่ใช่ปลุกเสก ถ้าพระไปปลุกท่านไม่ได้ ท่านตื่นแล้ว พุทโธ แปลว่า ตื่นแล้ว หรือ เบิกบานแล้ว หรือว่า รู้แล้ว
ทีนี้เราจะทำก็มีอย่างเดียว ว่าขออาราธนาบารมีใคร ขออาราธนาบารมีพระพุทธเจ้าทุกๆพระองค์ ก็ควรจะเห็นว่าพระพุทธเจ้าท่านมาไหม…
คำว่า “มา” อาจจะไม่มา แต่เห็นฉัพพรรณรังสีหรือเปล่า…ถ้าเห็นฉัพพรรณรังสีท่านครบถ้วน แสดงว่าท่านมาแน่ แต่ว่าท่านมาทุกองค์น่ะ ท่านไม่มาหรอก ที่เราเห็นภาพท่านเวลาเจริญมโนมยิทธิน่ะ เป็นรัศมี ๖ ประการ คือพวยพุ่งรัศมีมา เหมือนกับพระองค์นั่งอยู่ข้างหน้า ”

หลวงพ่อตอบปัญหาธรรม ฉบับพิเศษ เล่ม ๔ หน้า ๖๔
โดย หลวงพ่อฤๅษีฯ วัดท่าซุง จ.อุทัยธานี







อานิสงส์บวชพระ-บวชเณร
การจะบวชลูกหลานเข้าไว้ในพระพุทธศาสนา ส่วนใหญ่ไม่ได้ตั้งใจจะเอาบุญ ถือทำกันตามประเพณีเป็นสำคัญ พอเริ่มการจัดงานก็มีการฆ่าไก่บ้าง ฆ่าปลาบ้าง ฆ่าหมูบ้าง ฆ่าวัวฆ่าควายบ้าง เอาสุราเบียร์เข้ามาเลี้ยงกันบ้างถ้าทำกันตามประเพณีแบบนี้ก็จะได้ชื่อว่าไม่มีอานิสงส์กุศลบุญราศีอะไรเลยเพราะมีเจตนาชั่วคือเริ่มต้นก็ทำบาปก่อนแล้วองค์สมเด็จพระประทีปแก้วกล่าวว่าถ้าจิตเป็นอกุศลกุศลใดๆที่ตนคิดว่าจะทำมันก็ไม่ปรากฏ
..ฉะนั้น ในการใด ถ้าเราจะบำเพ็ญกุศลบุญราศีให้ปรากฏเป็นผลดี ก็ขอให้การนั้นเป็นการที่บำเพ็ญกุศลจริงๆ จงเว้นกรรมที่เป็นอกุศลเสียให้หมด งดสิ่งที่เป็นความชั่วทุกประการ ตั้งใจไว้เฉพาะบำเพ็ญกุศลบุญราศีเท่านั้น
..กุลบุตรที่บวชในพระพุทธศาสนา ปฏิบัติดีปฏิบัติชอบ ความผ่องใสของท่านผู้บวชก็มีขึ้น คือ จิตผ่องใสปราศจากอารมณ์ที่เป็นกิเลส ต่อมาปฏิบัติตามคำสั่งสอนขององค์สมเด็จพระบรมโลกเชษฐ์คือเจริญสมถกรรมฐานวิปัสสนากรรมฐาน จนอารมณ์ชื่นบานเข้าถึงธรรมปีติ คำว่า ธรรมปีติหมายความว่ายินดีในการปฏิบัติความดีในด้านพระธรรมวินัยอย่างหนึ่งยินดีในการเจริญสมถภาวนาและวิปัสสนาภาวนาอานิสงส์กุศลบุญราศีก็เกิด
..องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ทรงเปรียบเทียบไว้ว่าผู้ใดอุปสมบทบรรพชาในพระพุทธศาสนาแล้ววันหนึ่งทำจิตใจว่างจากกิเลสเพียงวันละชั่วขณะจิตเดียวเวลานอกนั้นจิตก็ฟุ้งซ่านไปตามอารมณ์ต่างๆแต่พยายามควบคุมกำลังใจไม่พลาดพลั้งจากพระธรรมวินัยท่านผู้นั้นบวชเข้ามาแม้แต่วันเดียวก็ย่อมมีอานสงฆ์ดีกว่าพระที่บวชเข้าในพระพุทธศาสนาตั้ง ๑๐๐ ปี มีศีลบริสุทธิ์ แต่ไม่เคยเจริญสมาธิจิต คือ ทำจิตว่างจากกิเลสวันหนึ่งชั่วขณะจิตเดียว มีรัศมีกายสว่างไสวกว่า

ตัดตอนจากธรรมบท
อานิสงส์บวชพระ-บวชเณร
จาก..หนังสือ..”พ่อสอนลูก”ปีที่ ๑ ประจำเดือน กันยายน พ.ศ. ๒๕๔๖ เล่ม ๑ หน้า ๓๕๗ – ๒๖๑ โดย หลวงพ่อฤๅษีฯ วัดท่าซุง จ.อุทัยธานี









#ถอดเทปธรรมะจากคุณยายชีสี
"ให้เอาแต่พุทโธ อย่างเดียว ใจมันจะสบาย ใจจะเป็นสุข ไม่มีความเดือดร้อน พากันเฮ็ดเอาให้เห็นธรรม ผู้ใดปฏิบัติธรรม ผู้ใดเห็นธรรม ผู้นั้นเห็นเราตถาคต ผู้ใดเห็นธรรมแล้วพระพุทธเจ้าซิมาหา ผู้ใดเห็นธรรมพระพุทธเจ้าซิมาโล้ด..เพิ่นมาอ่อนซ้อน เพิ่นมาเมตตา จงเดินตามเรามาเถิดๆ เพิ่นบอกให้เดินตามเพิ้นไป ถ้าเห็นธรรม เพิ่นจึงมาหา ถ้าไม่เห็นธรรม ก็จะบ่มาหา ปฏิบัติธรรม ให้เห็นธรรม พระพุทธเจ้าจึงมาหา พากันปฏิบัติธรรม พากันละออก ละความโกรธ ละความโลภ ละความหลง ละความอยากอารมณ์ภายนอก ทุกสิ่งทุกอย่างนั่นละ อารมณ์ภายนอกนั้นละ พยายามละออก อย่าไปยึดมั่นถือมั่น ละกาย เบิ่งกายนั่นละ อย่าไปเบิ่งอย่างอื่น เบิ่งกาย เบิ่งผม ขน เล็บ ฟัน หนัง นี่กรรมฐาน๕ ทำอย่างนี้ละ เบิ่งเจ้าผม ขน เล็บ ฟัน หนัง มันเป็นของโสโครก สกปรก บ่แม้นของสวยงามเด้ ของโสโครก หม๊ดกายมันมีแต่ขี้ ไหลมาทางหัว ก็เป็นขี้หัว ไหลออกมาทางตา ก็เป็นขี้ตา ไหลออกทางสะดือ ทางปาก ก็เป็นขี้สะดือ ขี้ฟัน ไหลออกทางหู ก็ เป็นขี้หู ไหลออกทางเล็บ ก็เป็นขี้เล็บ ไหลออกทางผิวหนัง ก็เป็นขี้เหงื่อ ขี้ไคล ไหลออกมาทางทวารเบา ทวารหนัก ก็เป็นน้ำมูตร น้ำคูตร น้ำเน่า น้ำเหม็น ไหลทางทวารหนัก เป็นอุจจาระ เป็นขี้ มันบ่มีแนวดีทุกแนว มีแต่ขี้ทั้งนั้น ที่ไหลออกมา ไหลออกมาตามช่องว่าง ต้องอาบน้ำสะสางอยู่เรื่อย ก็ยุบ่ได้ ไม่อาบน้ำอยู่เรื่อย มันก็เหม็นสาบ เหม็นขี้ เบิ่งดู ไล่ดูเอาให้มันเห็น มันจะปรากฏให้เห็นอยู่..เบิ่งให้มันติดมันต่อเอา เบิ่งมันให้เห็น ให้มันละกาย นี่ออก ล้างกายนี่ออก มันบ่เป็นตัวเป็นตนของเฮาอิหยั่งดอก ถ้าหมดกายนี่มันเป็นธาตุ ๔ มันมีธาตุดิน ธาตุน้ำ ธาตุลม ธาตุไฟ ธาตุสี่อย่างนี้ ประชุมกันเข้าเป็นก้อนเดียวกัน ให้เรียกว่า"กาย" มีใจมาอาศัยอยู่ในกาย จักมีความรู้สึกคิดนึกขึ้น ว่าอันนั้น เป็นอันนี้ อันนี้ เป็นอันนั้น ท่านก็ว่าเอาสมมุติบัญญัติขึ้นว่า เป็นกายเรา เป็นตัวเรา มายึดมั่นถือมั่น ว่าเป็นตัวเป็นตนของเราจริงๆ มันเลยมาติดอยู่กับรูปกาย เป็นกิเลส นี่ละ เบอ่งตัสต้น ตัวเหตุ เบิ่งกายแยกออก เบิ่งมัน บ่มีอิหยั่งดอก ครันว่าจิต มันเป็นอาการหนึ่งๆ อาการ ๓๒ อย่าง มันย่านเฮายุทุกมื้อ ปม ขน เล็บ ฟัน หนัง เอ็น กระดูก ไล่ให้มันดูอาการ ๓๒ เบิ่งดู มันบ่มีหยั่งดอก ธาตุ๔ มันเป็นอาการ ๓๒ อย่าง แยกออกไป แยกหาต้น หาตัวมัน อันใดมันเป็นตัวเป็นตน ไม่มี แยกออกเบิ่งอันนี่ มันซิเห็นถิบาดนี่ มันบ่มีหยั่ง มันเป็นกระดูกสี่เหลี่ยม ตั้งอยู่ บ่มีหยั่ง..มีแต่จิต จิตเล่นฮ้อนอยู่ในกระดูกนั้น กระดูกสี่เหลี่ยม มันคือ ธาตุ๔ นั่นละ มันเป็นจังสั่น มันบ่มีอิหยั่งดอก พิจารณามันให้เห็น มันบ่มีอิหยั่งดอก..อย่าไปยึดมั่น ถือมั่น พยายามละเอา วางเอา สมมุติซื่อๆ เฮาสมมุติว่า กาย สมมุติว่าของเรา ตัวเรา สมมุติซื่อๆ บ่แม่นของจริงแท้แน่นอน มันแตกสะลายดับไป เป็นดิน น้ำ ลม ไฟ บ่มีหยั่ง..ธาตุ ๔ เกิดขึ้น ตั้งอยู่ชั่วคราว แล้วดับไป มันบ่มีหยั่ง พิจารณาความตาย ก่อนซิตาย ธาตุหยั่งดับก่อน ก่อนซิตายธาตุลมนิดับก่อน ธาตุลมดับแล้ว ธาตุไฟก็ซิดับ เหลือแต่ธาตุดินกับธาตุน้ำ ดองกันยุบู้ดๆ..ในโลง มันเป็นอย่างนั้นกาย พิจารณาให้มันเห็นตามความเป็นจริงของมัน บ่มีอิหยั่ง พิจารณาตามความเป็นจริงกันไป...

มีเสียงมาเว้าขึ้นว่า "ตายแล้วลืมลูก ลืมผัว ตายแล้วลืมลูก ลืมเมีย" เสียงท่านว่าตายตามความจริงของมัน ยายก็เลย เฮ็ด ตอบไปว่า " ..โอ้ย..มันตายอิหลี ตายหมดกิเลสตัณหา ตายคือพระพุทธเจ้าตาย มันก็ลืม งั้นแหละ...มันบ่มาเกิดอีก.." ยายว่า จั่งซั่น ตายบ่หมดกิเลสตัณหา ตายแล้วมาเกิดอีก มันกะบ่ลืมแล้ว แน่ะ มันเห็นตามความเป็นจริงนี่ละ พิจารณาให้มันเห็นตามความเป็นจริง เฮ็ดไปมันก็ได้เห็น กลางคืน ก็นอนแน่ เฮ็ดแน่ ตอนเย็นก็พักผ่อนแน่ เดินจงกรมแน่ นั่งสมาธิแน่ เฮ็ดอยู่จั่งซั่นละ มันก็ซิเห็นหรอก เฮ็ดเอาทำเอา บ่ยากหรอก เบิ่งให้มันเห็น เบิ่งในขันธ์นี้ ผม ขน เล็บ ฟัน หนัง ขันธ์ทั้ง ๕ เบิ่งไป มันติดขันธ์๕ นี่ละ ถ้ามันละขันธ์๕ ได้เป็นสุด เบิ่งเอาถ้ามันเฮ็ดได้มันก็จะสูนไปนำดอก เบิ่งทีแรก ก็เบิ่งผม ขน เล็บ ฟัน หนัง นี่ละ ให้มันเห็นซะก่อน ค่อยขยับขึ้นไปเรื่อย ครูบาอาจารย์ท่านสั่งก็สอน ก็อบรมอยู่ เราก็เฮ็ดนำเพิ่น นั่นละ ท่านพระอาจารย์เยาว์ ท่านก็เป็นพระปฏิบัติดี ปฏิบัติชอบอยู่เนอะ ยายก็เคยไปอยู่ ก็ไม่ได้ไปปีนี้ละ มันเฒ่ามันแก่ มันไปไม่ได้ เที่ยวไปเที่ยวบาตร ไปจังหันเพิ่นอยู่ เพิ้นก็ดี มาหายายอยู่ ยายป๋วย เพิ้นก็ไปเยี่ยมยายอยู่โรงพยาบาล.....นั่นละ ดีแล้วละ เฮ็ดเอา พากันเบิ่งกายเฮานี่ละ อย่าให้มันออกจากกาย เบิ่งลมหายใจเข้าออก เบิ่งให้มันติดมันต่อกัน พุทธโธ..พุทธโธๆ ลมเข้าลมออกให้มันอยู่กับลมนี่แหละ พุทธ ก็เข้า โธ ก็ออก นั่งอยู่ซื่อๆ ก็ให้มีสติ อยู่กับลมเข้าลมออก นั่นละ เราต้องมีสติ จดจ่ออยู่ เป็นภาวนาอยู่ข้างใน ถ้าบ่มีสติ ก็บ่บำเพ็ญภาวนา ตั้งสติดีๆ อยู่ผู้เดียว เดินจงกรม เดินเมื่อยเราก็มานั่ง เฮ็ดอยู่จังสั่นละ มันจิเกิดขึ้นมาให้เบิ่งอยู่ดอก นั่งผู้เดียว...ถ้าคิดว่าฮ้อน มันมีเสียงเข้ามาถามว่า เป็นกยั่ง มันซิมาฮ้อน มาหนาว เสียงมันเข้ามาถา ม บ่มีหยั่งแล้ว มันคือความยึดนั่นละ มันมีแต่ความยึด ถ้าเฮ้าบ่ยึด มันก็บ่มีความฮ้อน ความหนาว ของธรรมชาติ ฮ้อนหนาว เย็น ฮ้อนแขน มันเป็นของธรรมชาติ มันเกิด มันดับ บ่มีตัว มีตน กายฮ้อน มันเป็นของธรรมชาติ เกิดแล้วมันก็ดับ เกิดแล้วดับทั้งนั้น บ่มีผู้ใดอยู่ค้ำแผ่นดินสักคน มันก็ดับหมด เกิด แก่ เจ็บ ตาย มันเป็นของธรรมชาติ อย่าไปห่วงกาย ละออก อย่าไปห่วงมัน มันบ่แม้นเป็นตัวเป็นตนของเฮาดอก พากันละออก วางออก อย่าไปถือว่าตัวเรา ของเรา ของธรรมชาติ เกิดขึ้น ตั้งอยู่ชั่วคราว และดับไป ไม่ช้าก็เร็ว ไม่เร็วก็ช้า พากันเบิ่งตามพระพุทธเจ้าท่านสอน ถ้าผู้มีวาสนาติดตามมาแต่ชาติก่อน มันก็เห็นง่ายเห็นแล้ว ถ้าวาสนาบ่ได้ ก็เฮ็ดไป ทำไป ละวาง อย่าสร้างบาปกรรม เหมือนตักน้ำใส่หัว ตักเท่าไหร่ก็บ่เต็ม มันมีแต่ล้นออก เฮ็ดบุญ บ่เต็มจักเทือ ฮู้จักบ่..? ทำบุญใก้ละบาป ครันทำบุญ แต่บ่ละบาป ก็เหมือนตักน้ำใส่หัว ตักเท่าไหร่ก็บ่เต็ม ก็เลยบ่ได้บุญจักเทือ ก็เป็นซ่ำเก่าอยู่ ครันทำบุญละบาป ตักน้ำใส่เท่าไหร่ ก็จะเต็ม จะล้นดอก พูนขึ้นดอก ครั้นบุญเต็ม มันก็ได้ไปเมืองพระนิพพานโน่นละ ถ้าเฮ็ดบ่ถูก มันก็บ่ได้ บ่ได้จักเทือดอก ทำบุญบ่ละบาป ทำบุญ ไปเอ่วัวเอาควายไปฆ่า มาเป็นอาหารกิน มาถวายพระ บ่มีปัญญา ตลาดก็ไปหาซื้อเอาของที่ตายแล้ว ให้พากันรู้จัก จั่งสั่น ทำบุญทำทาน ไปหาซื้อของในตลาดอยากได้หยั่งก็ไปซื้อเอา ที่เขาเฮ็ดอยู่แล้ว บ่มีปัญญา ไปหาเอาลูกเขย ลูกสะไภ้ ไปเอาฆ่าวัว ฆ่าควาย ฆ่าหมู มันก็บ่ได้อิหยั่งดอก มันมีแต่บาป ถ้าไม่พากันละบาป เป็นจั่งสั่น เขาก็รักชีวิตเขาคือกันดอก เหมือนเฮานั่นละ ย่านตายคือกัน เขาก็ย่านตายคือกัน ชีวิตอันเดียวกัน สัตว์ก็ชีวิตเดียวกันกับเฮา เฮาตายไปก็ไปเกิดเป็นสัตว์ บางทีเวียนภพ เวียนชาติ กันอยู่จั่งสั่นละ คือ หมดตายก่อน จนบ่เป็น ครับบ่ละ ละจั่งซี่จะได้ไปเมืองพระนิพพาน......

คุณยายชีสี พลพวก
แสดงธรรมณบ้านพัก
วันเสาร์ ที่ 16 เมษายน 2559









#ความสำคัญของทุกสิ่งในโลกก็คือใจ
"ถ้าใจหยาบทุกสิ่งที่มาเกี่ยวข้องก็กลาย
เป็นของหยาบไปด้วย เช่นเดียวกับร่างกายสกปรก แม้สิ่งที่มาคละเคล้ากับกายจะเป็น
ของสะอาดสวยงามเพียงไร ก็กลายเป็นของสกปรกไปตามร่างกายที่สกปรกอยู่แล้ว
ฉะนั้นธรรมจึงอดจะหยาบไปตามใจที่สกปรกไม่ได้ ถึงจะเป็นธรรมที่บริสุทธิ์หมดจด แต่พอคนมีใจโสมมเข้าไปเกี่ยวข้อง ธรรมก็กลาย
เป็นธรรมอับเฉาไปตาม เหมือนผ้าที่สะอาดตกลงไปคลุกฝุ่น หรือคนชั่วแบกคัมภีร์ธรรมอวดโลกให้เขารับนับถือ ซึ่งทั้งสองนี้ไม่มีผลดีต่างกันเลย คนที่มีใจหยาบกระด้างต่อศาสนาก็เป็นคนในลักษณะนี้เหมือนกัน จึงไม่มีทาง
ได้รับประโยชน์จากศาสนธรรม แม้เป็นของวิเศษเพียงไรเท่าที่ควร เอาแต่ชื่อออกประกาศกันว่าตนนับถือศาสนา แต่ไม่ทราบว่าศาสนาคืออะไร และมีส่วนเกี่ยวข้องกับผู้นับถืออย่างไรบ้าง ถ้าประสงค์อยากทราบข้อเท็จจริงจากศาสนาอย่างแท้จริงแล้ว ตนกับศาสนาก็เป็นอันเดียวกัน ความสุขทุกข์ที่เกิดกับตนย่อมกระเทือนถึงศาสนาด้วย ความประพฤติ
ดีชั่วก็กระเทือนถึงศาสนาเช่นกัน คำว่าศาสนา คือแนวทางที่ถูกต้องแห่งการดำเนินชีวิตนั่นแล จะเป็นอื่นมาจากไหน ถ้าคิดว่าศาสนาอยู่
ที่อื่นนอกจากตัว ก็ชื่อว่าเข้าใจศาสนาผิดจากความจริง..”

#พระครูวินัยธร ([มั่น ภูริทตฺโต]​
วัดป่าสุทธาวาส อ.เมือง จ.สกลนคร
[พ.ศ. ๒๔๑๓ - ๒๔๙๒]​ จากหนังสือ
#ประวัติท่านพระอาจารย์มั่น_ภูริทัตตเถระ






สติ นั้นคือ ความระลึก
หรือเรียกว่า ความตั้งอยู่ ความไม่วอกแวก
จิตมันวอกแวกไปไม่ได้ในเมื่อมันมีสติ
แต่พอขาดสติ มันก็วอกแวกออกไป
อย่างนี้เป็นลักษณะธรรมดา
เมื่อเป็นเช่นนี้ การที่เราจะทำสิ่งที่เรียกว่า
สมาธิให้เข้มแข็ง หรือเป็นกำลังต่อไปนั้น
จึงจำเป็นที่จะต้องเสริม
คือเสริมสตินี้ให้มีกำลังยิ่งๆขึ้นไป

หลวงพ่อวิริยังค์ สิรินธโร







คนเรานั้นเมื่อตายจากอัตภาพนี้แล้ว มันไม่ตายจริง คือไม่หมดความรู้สึกสุขทุกข์ ยังมีสุข มีทุกข์ มีความรู้สึกเหมือนเมื่อยังไม่ตาย แต่สิทธิต่าง ๆ ในเมื่อวิญญาณออก จากร่างนี้แล้ว มีบางอย่างที่วิญญาณ ไม่มีสิทธิจะครอง นั่นก็คือทรัพย์สินที่พยายามสะสมไว้ ตั้งแต่สมัยเมื่อยังทรงอัตภาพนี้ ส่วนอื่นนอกจากนี้คือ ความสุขและความทุกข์ยังมีตามเดิม
บางท่านเมื่อก่อนตายทำความดีไว้มาก เมื่อตายแล้วก็มีความสุข บางรายเมื่อก่อนตาย สร้างความเลวร้ายไว้มาก เมื่อตายแล้วก็ได้รับความทุกข์ อันนี้เป็นกฎของความเป็นจริง และเป็นกฎตายตัวที่พระพุทธเจ้าตรัสสอนไว้
ทุกคนที่ตายจากความเป็นคนแล้ว ไม่มีใครลืมสภาพเมื่อยังไม่ตายและเรื่องการตายที่ คิดว่าสิ้นทุกข์ ก็ไม่ตรงกับความเป็นจริง ทุกเรื่องที่ท่านอ่านมาแล้ว ท่านเคยเห็นไหมว่า มีเรื่องใดบ้างที่คนตายไปแล้วมีสภาพสลายตัว ไม่มีความรู้สึกเย็น ร้อน สุข ทุกข์ หาไม่ได้เลย
ทุกท่านที่ตายแล้วกลับมาฟื้นคืนมา หรือตายแล้วเกิดใหม่ ทุกท่านรายงานเหมือนกันหมดว่าทุกอย่างมีสภาพเหมือนเดิม หมายถึงความรู้สึกจิตใจ มีสุข มีทุกข์เหมือนเดิม ที่ว่าตาย ก็ปรากฏว่าตายแต่สังขารร่างกาย อีกส่วนหนึ่งกลับมีสังขารร่างกายใหม่เกิดขึ้นมาทดแทนร่างกายเดิม มีทุกอย่างเหมือนกัน ความรู้สึกก็เท่าเดิม มีทุกข์ มีสุขเหมือนกัน
ท่านอ่านแล้วท่านสงสัยหรือไม่ว่า เจ้าสังขารที่มีมาแทนสังขารที่สิ้นลมปราณแล้วนั้นมันมาจากไหน ถ้าสงสัยก็คิดเอาเพียงง่าย ๆ ว่า เมื่อเวลาที่ท่านนอนหลับแล้วฝันว่าไปทางไหน ทำอะไร มันมีร่างกายตามสภาพเดิม ทำอะไรได้ทุกอย่าง มีความรู้สึกนึกคิด เหมือนสังขาร ที่นอนหลับปุ๋ยอยู่นั้นทุกอย่าง สังขารอันนั้นมันมาจากไหน

จากหนังสือ โอวาทหลวงพ่อวัดท่าซุง เล่มที่ ๒ หน้าที่ ๒๖
โดย หลวงพ่อฤๅษีฯ วัดท่าซุง จ.อุทัยธานี









ธรรมะวันปล่อยปู
"...ก่อนปล่อยให้บอกเขา ให้แคล้วคลาดปลอดภัย
ไม่ให้ถูกจับมาอีก เอาทุกข์โศก โรคภัยไปด้วย และนำความสุขความเจริญ มาให้กับผู้ปล่อย บอกแม่คงคา แม่ธรณี ให้คุ้มครองสัตว์เหล่านี้ เมื่อสิ้นอายุขัยแล้วขอให้ได้เกิดมาเป็นมนุษย์
มีเณรรูปหนึ่งอยู่กับอาจารย์
อาจารย์ท่านนี้เก่งวิชาโหราศาสตร์ ได้ทำนายว่า...
" เณรรูปนี้ชะตาขาด จะตายภายใน ๗ วัน !! "
เมื่อรู้อย่างนี้จึงได้บอกให้ศิษย์กลับบ้านเสีย
เพื่อให้ได้เห็นพ่อแม่เป็นครั้งสุดท้าย !! แต่ระหว่างทาง...เณรได้ไปพบกับปลาที่อยู่ในแอ่งน้ำ ที่กำลังแห้งขอด เกิดความสงสารจึงได้นำผ้าห่อปลาเหล่านั้นไปปล่อยจนปลอดภัย เมื่อครบกำหนด ๗ วัน เณรจึงเดินทางกลับไปหาอาจารย์ อาจารย์ก็แปลกใจว่ารอดมาได้อย่างไร...จึงเผาตำราทิ้ง
"นี่คืออานิสงส์ของการปล่อยสัตว์ ทำทานให้ชีวิต..."

ธรรมคำสอนหลวงปู่ประไพร สุภโร วัดป่าไพรรัตนวณาราม








#ผู้มีปัญญา
"ท่านมองเห็นว่า ความสุข
ทางโลก เป็นของต่ำและ
เจือปนทุกข์เป็นความสุข
ของคนโง่​ ท่านจึงแสวงหา"
#ธรรมะ..ซึ่ง เป็นของ
ละเอียดสะอาดและ
เป็นไปเพื่อ..อยู่เหนือโลกหรือ
อยู่เหนือทุกข์ทั้งปวง.

#โอวาทธรรม_คำสอน
#หลวงปู่มั่น_ภูริทัตโต









"สมาธิ นี้ก็ช่วยระงับความกระวนกระวายของเราได้ดีเหมือนกัน ฝึกหัดทำสมาธิ ถ้าบุคคลใด ใครคนหนึ่งได้รู้จักตามดูจิตของตนเอง รู้จักฝึกสมาธิ ไม่ต้องมาก แค่วันละเล็กละน้อยก็ยังดีอยู่ จิตใจนั้นจะเป็นจิตใจที่ดีมาก สวยมาก สงบ เยือกเย็นเป็นสมาธิ ไม่วอกแวก ไม่กระวนกระวาย สมาธิพาให้ใจดี ขนาดพระพุทธเจ้าก็ยังทรงสรรเสริญ"

#คติธรรม หลวงปู่คำ นิสโสโก วัดป่าไทยพัฒนา อ.เดชอุดม จ.อุบลราชธานี










..พระพุทธองค์จึงตรัสสอนไว้ว่าอริยทรัพย์มี 7 อย่าง
..ข้อที่ 1 ศรัทธา เชื่อสิ่งที่ควรเชื่อ คือการเชื่อเหตุเชื่อผล การที่เราเชื่อว่าหากบุคคลทำบาปความชั่วในทางกายก็ดี ก็จะได้รับผลคือความทุกข์ หากมาคิดดูว่า คนเรามีรูปร่างกาย ถ้าเขาเอารูปร่างกายไปทำบาปความชั่ว เช่น ฆ่าเพื่อนมนุษย์ด้วยกันทั้งหลายอย่างนี้ ก็เชื่อว่าเป็นสิ่งที่ไม่ดีที่เป็นบาป จะเป็นเวรเป็นกรรมนำความทุกข์มาให้ หากว่าคนมีรูปร่างกายนี้เอาไปเป็นโจรเป็นขโมย เอาสิ่งของของคนอื่นที่เขาหวงแหนอยู่ เอามาเป็นของตน เราเอากายของเรานี้ไปทำบาปความชั่ว
..หากว่าเรามีรูปร่างกาย เราไปทำผิดประเวณีสามีภรรยาของบุคคลอื่นอย่างนี้ ก็จะทำให้ไม่มีศีลทำให้แตกสามัคคีกัน เป็นสิ่งที่ไม่ดี เรียกว่าเอากายไปทำสิ่งที่ไม่ดี ความทุกข์ก็จะเกิดมีขึ้นแก่บุคคลที่ทำบาปความชั่วทางใจอย่างนี้
..บัดนี้ หากเราเชื่อมั่นว่า เรามีรูปร่างกาย เราไปทำคุณงามความดี เช่น ทำบุญทำทานการกุศล สร้างคุณงามความดีให้เกิดให้มีขึ้นแก่ตนและส่วนรวม ก็จะนำความสุขมาให้ เช่น บุคคลทำสิ่งต่างๆ เครื่องอำนวยความสะดวก หรือสร้างอะไรที่เป็นผลเป็นประโยชน์ มีคุณค่ามีสารประโยชน์ อำนวยความสะดวกให้ทั้งตนและบุคคลอื่นทั้งหลาย จึงเชื่อมั่นว่าเมื่อบุคคลสร้างคุณงามความดี สร้างบุญ สร้างกุศล สร้างกุฏิศาลาก็ดี โบสถ์วิหารก็ดี สร้างถนนหนทางก็ดี สร้างสะพานข้ามน้ำ สร้างรถ สร้างเรือ สร้างเครื่องบินต่างๆทั้งหลายเหล่านี้ ผลนั้นก็จะมีความสุขเกิดขึ้น เรียกว่าการเอาร่างกายทำความดีนี้ เป็นสิ่งที่เราควรจะพิจารณาว่า เรามีความเชื่อมั่นในทางที่ถูกต้อง
..ถ้าหากบุคคลทำบาปความชั่วไม่ดีไม่งามทางกายของตนเอง ความทุกข์ก็เกิดขึ้น เราก็เชื่อมั่นว่าสิ่งนี้เป็นสิ่งที่ไม่ดี ถ้าหากเราเอารูปร่างกายของเรานี้สร้างคุณงามความดีดังที่ได้กล่าวมา เพื่ออำนวยความสะดวกให้แก่ทั้งตนและบุคคลอื่นทั่วไปทั้งหลายเหล่านั้นเป็นต้น เราก็เชื่อมั่นว่าสิ่งนี้เป็นสิ่งที่ดี ควรเชื่อ ควรกระทำ เป็นสิ่งที่ดีมีประโยชน์ทั้งส่วนตนและส่วนรวมเกิดขึ้น นั่นก็เรียกว่าความเชื่อที่ถูกต้อง..

..#โอวาทธรรมหลวงปู่เปลี่ยน ปญฺญาปทีโป..







"...ถ้าไม่ต้องการเกิดอีก
มีสติระวังรักษาศีลตลอดชีวิต
มีสติระวังไม่ทำชั่วทางกาย ใจ
มีสติระวังถอนความยินดี
และความไม่ยินดี
ทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ
เมื่อปฏิบัติเช่นนี้
อวิชชาโมหะ เป็นอันถูกละ
จิตหยุดปรุงแต่ง ภพชาติจึงดับไป..."

หลวงปู่มั่น ภูริทัตโต








“มหาสติ มหาสมาธิ”
ให้พากันคิดว่าเราโชคดี ให้พากันตั้งหน้าตั้งตา พากันตั้งใจ ตั้งจิตตั้งใจของเราให้มีสติให้สมบูรณ์ขึ้นมา ตั้งสติของเราให้เป็น “มหาสติ” ขึ้นมา ตั้งจิตของเราให้เป็น “มหาสมาธิ” ขึ้นมา ตั้งจิตของเราให้เป็น “มหาปัญญา” ขึ้นมา คือ มหาสติ มีสติยิ่งใหญ่ สติยิ่งใหญ่มันกว้างขวางหาประมาณไม่ได้ พูดถึงแคบก็แคบนี่ กว้างขวางก็กว้างขวางหาประะมาณไม่ได้
คำว่า กว้างขวางหาประมาณไม่ได้คือยังไงล่ะ ทั่วโลกธาตุนี่ขยายจิตกว้างขวางออกไปได้แต่มีคติธรรมกับอยู่จุดเดียว นี่..มีสติแน่วแน่อยู่จุดเดียวแต่กว้างขวางออกไปหาประมาณไม่ได้ อันนี้เรียกว่า “มหาสติ” คือ สติกว้างขวาง นี่มหาสติคือ สติแน่วแน่ แน่วแน่นี่มีความแน่วแน่มั่นคงก็เรียกว่าเป็นมหาสติ แน่วแน่มั่นคงก็เป็นมหาสมาธิ นี่..และก็เป็นมหาปัญญาขึ้นมา จิตสว่างกระจ่างแจ้ง สัมผัสอะไรทะลุปรุโปร่ง สัมผัสอะไรทะลุปรุโปร่ง อะไรมาสัมผัสทะลุปรุโปร่ง เป็นธรรมไปหมด เป็นดินไปหมด เป็นน้ำไปหมด เป็นลมไปหมด เป็นไฟไปหมด เป็นของว่างไปหมด เป็นของว่างก็คือ ดับไปแล้วไม่มีอะไร เรียกว่าเป็นอวกาศ จึงว่า ศีลก็คือสติ สมาธิก็คือสติ ปัญญาก็คือสติ
เราให้พากันทำสติของเราให้แน่นหนามั่นคง เป็นมหาสติขึ้นมา เป็นมหาสติขึ้นมารอบคอบลงไป นี่กำหนดมีสติอยู่จุดเดียวที่จิต รอบคอบ กว้างขวาง ทั่วสรีระร่างกาย นี่จะกว้างขวางขนาดไหนเพียงไรนี่ตามแต่ที่เราจะขยายออกไป จะขยายออกไปกว้างขวางขนาดไหนเพียงไรก็ช่าง แต่ก็มีความแน่วแน่อยู่ มีสติอยู่จุดเดียวคือที่จิตนั้น

“พระอาจารย์แบน ธนากโร”
วัดดอยธรรมเจดีย์ อ.โคกศรีสุพรรณ จ.สกลนคร








...เวลาของพวกเราก็
“ไม่แน่นอน” ว่า มีมากมีน้อย
เพราะชีวิตของพวกเรานี้
อาจจะหมดไปได้ทุกเวลานาที.
....................................
คัดลอกการสนทนาธรรม
ธรรมะบนเขา 31/5/2562
พระอาจารย์สุชาติ อภิชาโต
วัดญาณสังวรารามฯ ชลบุรี


แสดงโพสต์จาก:  เรียงตาม  
กลับไปยังกระทู้  [ 1 โพสต์ ] 

เขตเวลา GMT + 7 ชั่วโมง


 ผู้ใช้งานขณะนี้

กำลังดูบอร์ดนี้: ไม่มีสมาชิก และ บุคคลทั่วไป 35 ท่าน


ท่าน ไม่สามารถ โพสต์กระทู้ในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ ตอบกระทู้ในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ แก้ไขโพสต์ของท่านในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ ลบโพสต์ของท่านในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ แนบไฟล์ในบอร์ดนี้ได้

ค้นหาสำหรับ:
ไปที่:  
Google
ทั่วไป เว็บธรรมจักร