ลานธรรมจักร
http://www.dhammajak.net/forums/

วิธีคิดแบบโยนิโสมนสิการ (๑๐.วิธีคิดแบบวิภัชชวาท)
http://www.dhammajak.net/forums/viewtopic.php?f=1&t=57412
หน้า 3 จากทั้งหมด 3

เจ้าของ:  กรัชกาย [ 03 เม.ย. 2019, 10:35 ]
หัวข้อกระทู้:  Re: วิธีคิดแบบโยนิโสมนสิการ (๑๐.วิธีคิดแบบวิภัชชวาท)

ภิกษุรูปหนึ่ง มีชื่อว่าเถระ เป็นผู้อยู่เดียว และพูดสรรเสริญคุณแห่งการอยู่เดียว เธอเข้าไปบิณฑบาตในหมู่บ้านองค์เดียว กลับมาองค์เดียว นั่งในที่ลับอยู่องค์เดียว เดินจงกรมองค์เดียว
มีภิกษุหลายรูปกราบทูลเรื่องของท่านแด่พระพุทธเจ้า พระองค์จึงให้ตรัสเรียกเธอมา ตรัสซักถาม ดังคำสนทนาต่อไปนี้

พระพุทธเจ้า : ดูกรเถระ ทราบว่า เธอเป็นผู้อยู่เดียว และสรรเสริญคุณแห่งการอยู่เดียว จริงหรือ ?

ภิกษุชื่อเถระ: จริงอย่างนั้น พระเจ้าข้า

พระพุทธเจ้า : เธออยู่เดียว และสรรเสริญคุณแห่งการอยู่เดียว อย่างไร?

ภิกษุชื่อเถระ: ในเรื่องนี้ ข้าพระองค์เข้าไปบิณฑบาตในหมู่บ้านองค์เดียว กลับมาองค์เดียว นั่งอยู่ในที่ลับองค์เดียว เดินจงกรมองค์เดียว ข้าพระองค์อยู่องค์เดียว และพูดสรรเสริญคุณแห่งการอยู่เดียว อย่างนี้แล

พระพุทธเจ้า : ดูกรเถระ นั่นก็เป็นการอยู่เดียวได้อยู่ เรามิได้กล่าวว่าไม่เป็น แต่เธอจงฟังวิธีที่จะให้การอยู่เดียวของเธอเป็นกิจบริบูรณ์ โดยพิสดารยิ่งกว่านั้น จงมนสิการให้ดี เราจักกล่าว

สิ่งที่เป็นอดีต ก็ละได้แล้ว สิ่งที่เป็นอนาคต ก็งดได้แล้ว ความพอใจติดใคร่ในการได้เป็นตัวตนต่างๆในปัจจุบัน ก็กำจัดได้แล้ว การอยู่เดียว ย่อมบริบูรณ์โดยพิสดารยิ่งกว่านั้นได้ ด้วยประการฉะนี้แล...(สํ.นิ.16/716/328)

เจ้าของ:  กรัชกาย [ 03 เม.ย. 2019, 10:39 ]
หัวข้อกระทู้:  Re: วิธีคิดแบบโยนิโสมนสิการ (๑๐.วิธีคิดแบบวิภัชชวาท)

พระมิคชาล: พระองค์ผู้เจริญ เรียกกันว่า ผู้อยู่เดียว ผู้อยู่เดียว ดังนี้ ด้วยเหตุผลเพียงไรหนอ จึงจะเป็นผู้อยู่เดียว และด้วยเหตุผลเพียงไร จึงจะเป็นผู้อยู่มีคู่สอง ?

พระพุทธเจ้า : ดูกรมิคชาล รูปทั้งหลายที่พึงรู้ด้วยตา....เสียงทั้งหลาย...กลิ่นทั้งหลาย...รสทั้งหลาย...สิ่งต้องกายทั้งหลาย...ธรรมทั้งหลายที่พึงรู้ด้วยใจ ซึ่งน่าปรารถนา น่าใคร่ น่าพอใจ เป็นของเปรมปรีย์ กอปรด้วยความเย้ายวน ชวนให้ติดใจ มีอยู่
หากภิกษุพร่ำเพลิน พร่ำบ่นถึง สยบอยู่กับสิ่งนั้นๆ...นันทิ ย่อมเกิดขึ้น เมื่อมีนันทิ ก็มีความติดพัน เมื่อมีความติดพัน ก็มีสัญโญชน์ ภิกษุผู้ติดพันอยู่ด้วยนันทิและสัญโญชน์ เรียกว่า อยู่มีคู่สอง”

ภิกษุผู้เป็นอยู่อย่างนี้ ถึงจะไปเสพอาศัยเสนาสนะอันสงัด ในราวป่าแดนไพร ซึ่งเงียบเสียง ไม่มีความอึกทึก วังเวง ควรแก่การลับของมนุษย์ เหมาะแก่การหลีกเร้น ก็เรียกได้ว่า เป็นผู้อยู่มีคู่สองโดยแท้
ข้อนั้น เพราะเหตุไร ?
ก็เพราะตัณหาเป็นเพื่อนสองของเธอ ตัณหานั้น เธอยังละไม่ได้ เพราะฉะนั้น เธอจึงถูก เรียกว่า เป็นผู้อยู่มีคู่สอง”


ดูกรมิคชาล รูปทั้งหลายที่พึงรู้ด้วยตา....เสียงทั้งหลาย...กลิ่นทั้งหลาย...รสทั้งหลาย...สิ่งต้องการทั้งหลาย...ธรรมทั้งหลายที่พึงรู้ด้วยใจ ซึ่งน่าปรารถนา น่าใคร่ น่าพอใจ เป็นของเปรมปรีย์ กอปรด้วยความเย้ายวน ชวนให้ติดใจ มีอยู่
หากภิกษุไม่พร่ำเพลิน ไม่พร่ำบ่นถึง ไม่สยบอยู่กับสิ่งนั้นๆ...นันทิ ย่อมดับ เมื่อไม่มีนันทิ ก็ไม่มีความติดพัน เมื่อไม่มีความติดพัน ก็ไม่มีสัญโญชน์ ภิกษุผู้ไม่ติดพันอยู่ด้วยนันทิและสัญโญชน์ เรียกว่า ผู้อยู่เดียว”

ภิกษุผู้เป็นอยู่อย่างนี้ ถึงอยู่ในเขตบ้าน ปะปนด้วยภิกษุทั้งหลาย ภิกษุณี อุบาสก อุบาสิกา ราชา มหาอำมาตย์ เดียรถีย์ สาวกเดียรถีย์ทั้งหลาย ก็เรียกได้ว่า เป็นผู้อยู่เดียวโดยแท้
ข้อนั้น เพราะเหตุไร ?
ก็เพราะตัณหาเป็นเพื่อนสองของเธอ เธอละได้แล้ว เพราะฉะนั้น เธอจึง เรียกว่า เป็นผู้อยู่เดียว” * (สํ.สฬ.18/66-67/43-45 นันทิ = ความเริงใจ หรือหื่นเหิม สัญโญชน์ (หรือ สังโยชน์) = กิเลสที่ผูกมัดใจ)

เจ้าของ:  กรัชกาย [ 03 เม.ย. 2019, 16:07 ]
หัวข้อกระทู้:  Re: วิธีคิดแบบโยนิโสมนสิการ (๑๐.วิธีคิดแบบวิภัชชวาท)

“ภิกษุทั้งหลาย เหล่าอัญเดียรถีย์ปริพาชก ย่อมบัญญัติความสงัดกิเลส (ปวิเวก) ไว้ ๓ อย่าง ดังนี้
๓ อย่าง อะไรบ้าง ? คือ ความสงัดกิเลสเพราะจีวร ความสงัดกิเลสเพราะบิณฑบาต ความสงัดกิเลสเพราะเสนาสนะ

“บรรดาความสงัดกิเลส ๓ อย่างนั้น ในข้อความสงัดกิเลสเพราะจีวร (เครื่องนุ่งห่ม) เหล่าอัญเดียรถีย์ปริพาชก ย่อมบัญญัติสิ่งต่อไปนี้ คือ นุ่งห่มผ้าป่านบ้าง นุ่งห่มผ้าแกมกันบ้าง นุ่งห่มผ้าห่อศพบ้าง นุ่งห่มผ้าบังสุกุลบ้าง นุ่งห่มผ้าเปลือกไม้บ้าง นุ่งห่มหนังเสือบ้าง นุ่งห่มหนังเสือทั้งเล็บบ้าง นุ่งห่มคากรองบ้าง นุ่งห่มเปลือกปอกรองบ้าง นุ่งห่มผลไม้กรองบ้าง นุ่งห่มผ้ากัมพลทำด้วยผมคนบ้าง นุ่งห่มผ้ากัมพลทำด้วยขนสัตว์ร้ายบ้าง นุ่งห่มผ้าทำด้วยขนปีกนกเค้าบ้าง

“ในข้อความสงัดกิเลสเพราะบิณฑบาต (อาหาร) เหล่าอัญเดียรถีย์ปริพาชก ย่อมบัญญัติสิ่งต่อไปนี้ คือ เป็นผู้มีผักดองเป็นภักษาบ้าง มีข้าวฟ่างเป็นภักษาบ้าง มีลูกเดือยเป็นภักษาบ้าง มีกากข้าวเป็นภักษาบ้าง มียางเป็นภักษาบ้าง มีสาหร่ายเป็นภักษาบ้าง มีรำเป็นภักษาบ้าง มีข้าวตังเป็นภักษาบ้าง มีกำยานเป็นภักษาบ้าง มีหญ้าเป็นภักษาบ้าง มีขี้วัวเป็นภักษาบ้าง มีเผือกมันผลไม้ในป่าเป็นภักษาบ้าง กินผลไม้ที่หล่นเอง ยังชีพ...

“ในข้อความสงัดกิเลสเพราะเสนาสนะ (ที่อยู่อาศัย) เหล่าอัญเดียรถีย์ปริพาชก ย่อมบัญญัติสิ่งต่อไปนี้ คือ ป่าไม้ โคนไม้ ป่าช้า ป่าชัฏ ที่กลางแจ้ง ลอมฟาง โรงลาน...

“ภิกษุทั้งหลาย ส่วนในธรรมวินัยนี้ ภิกษุผู้มีความสงัดกิเลส ๓ อย่างต่อไปนี้
๓ อย่าง อะไรบ้าง คือ
๑) ภิกษุเป็นผู้มีศีล และความทุศีลเป็นสิ่งที่เธอละได้แล้ว เธอจึงเป็นผู้สงัดจากความทุศีลนั้น
๒) ภิกษุเป็นผู้มีสัมมาทิฏฐิ และมิจฉาทิฏฐิเป็นสิ่งที่เธอละได้แล้ว เธอจึงเป็นผู้สงัดจากมิจฉาทิฏฐินั้น
๓) ภิกษุเป็นพระขีณาสพ และอาสวะทั้งหลายเป็นสิ่งที่เธอละได้แล้ว เธอจึงเป็นผู้สงัดจากอาสวะเหล่านั้น....ภิกษุนี้เรียกว่า เป็นผู้ถึงยอด เป็นผู้ถึงแก่น บริสุทธิ์ ดำรงมั่นอยู่ในแก่นสาร* (องฺ.ติก. 20/533/310)

เจ้าของ:  กรัชกาย [ 03 เม.ย. 2019, 16:10 ]
หัวข้อกระทู้:  Re: วิธีคิดแบบโยนิโสมนสิการ (๑๐.วิธีคิดแบบวิภัชชวาท)

วิภัชชวาทตามบาลีที่ยกมาแสดงเป็นตัวอย่างในที่นี้ ให้ข้อคิดเพิ่มเติมอีกอย่างหนึ่งด้วยว่า การลอกคัดตัดความสั้นๆ จากพระไตรปิฎกมายืนยันทัศนะเกี่ยวกับคำสอนของพระพุทธศาสนา บางครั้งทำให้ผู้อ่านผู้ฟังมองเห็นคำสอนเพียงบางส่วนบางแง่ที่ไม่สมบูรณ์ และทำให้เข้าใจพระพุทธศาสนาอย่างผิดพลาด

ผู้แสดงคำสอนของพระพุทธศาสนา จึงควรลอกคัดอ้างความด้วยด้วยความระมัดระวัง รู้จักเลือกว่า คำสอนอย่างใดแสดงหลักทั่วไปอย่างกว้างๆ ของพระพุทธศาสนา คำสอนอย่างใดแสดงลักษณะคำสอนเฉพาะแง่เฉพาะด้านเฉพาะกรณี หรือมีเงื่อนไข ซึ่งควรนำมาแสดงหลายแง่หลายด้าน ให้เห็นครบถ้วน หรือชี้แจงกรณีและเงื่อนไขที่เกี่ยวข้อง ให้ผู้อ่านผู้ฟังทราบด้วย จะได้มองเห็นภาพของพระพุทธศาสนา อย่างถูกต้องตามเป็นจริง

เจ้าของ:  กรัชกาย [ 03 เม.ย. 2019, 16:11 ]
หัวข้อกระทู้:  Re: วิธีคิดแบบโยนิโสมนสิการ (๑๐.วิธีคิดแบบวิภัชชวาท)

:b41: จบตอน :b53:


รูปภาพ

หน้า 3 จากทั้งหมด 3 เขตเวลา GMT + 7 ชั่วโมง
Powered by phpBB © 2000, 2002, 2005, 2007 phpBB Group
http://www.phpbb.com/