วันเวลาปัจจุบัน 18 เม.ย. 2024, 13:09  



เขตเวลา GMT + 7 ชั่วโมง




กลับไปยังกระทู้  [ 1 โพสต์ ]    Bookmark and Share
เจ้าของ ข้อความ
โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 07 พ.ค. 2019, 05:12 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
อาสาสมัคร
อาสาสมัคร
ลงทะเบียนเมื่อ: 06 มี.ค. 2009, 10:48
โพสต์: 5091


 ข้อมูลส่วนตัว


"เทพเทวดาแต่ละที่เราได้ไปสัมผัสมานะ เขาจะชอบบทสวดมนต์แตกต่างกัน บางสถานที่เขาชอบบทสวดมนต์ธัมมะจักฯ บางสถานที่เขาชอบบทสวดมนต์กรณียะเมตตสูตรฯ บางสถานที่เขาชอบบทสวดมนต์มาติกาสูตรฯ บางสถานที่เขาชอบบทสวดมนต์เมตตาสังนะสูตรฯ พอสวดมนต์สาธยายธรรมบทที่เขาชื่นชอบแล้ว พวกเขาจะพากันอนุโมทนาสาธุการ จนดังสนั่นหวั่นไหวไปทั่ว พวกเทพเทวดาเขาพากันสะออนหลาย​ "

" เวลาไหว้พระสวดมนต์ อย่าพากันเห็นเป็นของเล่นคะนองปาก ธรรมพระพุทธเจ้าเป็นของสูง ควรค่าแก่การเคารพเทิดทูน ถ้าหากเห็นเป็นของเล่นจะเป็นบาปเป็นกรรมกับบุคคลนั้น นักปราชญ์ท่านจะตำหนิ เทวดาเขาก็จะพากันตำหนิ เวลาไหว้พระสวดมนต์ก็ให้พากันตั้งใจสวดสาธยายธรรมอย่างจริงจัง ให้มีสมาธิจดจ่อลงไปในบทสวดสูตรนั้นๆ มันถึงจะเกิดอานิสงส์ #การไหว้พระสวดมนต์คือการทำสมาธิไปในตัว บางทีข้อธรรมต่างๆ จะผุดขึ้นมาในขณะที่เรากำลังสวดมนต์อยู่ก็มี​ "

หลวงปู่ชอบ​ ฐานสโม





“หลวงปู่มั่นท่านว่า ดีใดไม่มีโทษ ดีนั้นดีเลิศ สมบัติทั้งปวงไม่ประเสริฐเท่าสมบัติในตน ถ้าตนได้สร้างสิ่งที่ดีไม่มีโทษ เพราะตนนี้เป็นบ่อเกิดของสมบัติทั้งปวง จิตดวงนี้ล่ะเป็นบ่อเกิด แก้ที่ตัวเอง แก้เรื่องประสาทนั้นประสาทนี้ แก้ได้ก็ได้ แก้ไม่ได้ก็พัง ถ้าแก้ได้ก็ไม่เสีย คนที่เสียเพราะจิตเสีย คนคิดมากเพราะจิตเสีย แก้ให้ดี ถ้าแก้ได้ การเกิดมาทุกอย่าง ดีหมด นักปราชญ์ท่านจึงว่า สมบัติทั้งปวงไม่ประเสริฐเท่าในตน เพราะตัวตนเป็นบ่อเกิดของสมบัติทั้งปวง”
(โอวาทธรรม หลวงปู่ทุย)





พระอริยเจ้าผู้มีพลังจิตแก่กล้า​ท่านพ่อลี ธมฺมธโร​ (๑๒๐)
ธรรมะในยามอาพาธ

แม้ในขณะที่ท่านพ่อป่วยไข้ไม่สบาย ท่านก็ไม่ละโอกาสที่จะแสดงธรรมให้ลูกศิษย์ฟัง ท่านแสดงโทษในคราวเจ็บป่วยไว้อย่างน่าฟัง ในวันที่ ๒๔ ธันวาคม ๒๕๐๓ ณ โรงพยาบาลสมเด็จพระปิ่นเกล้า ธนบุรีว่า......

...ในคราวที่พระเจ็บป่วย ถ้ารักษาตัวไม่ดีมีโทษ ๓ ประการ
๑. พระธรรมลงโทษ
๒. เทวดาลงโทษ
๓. มนุษย์ลงโทษ

เมื่ออยู่ในลักษณะอย่างนี้ จะตายหรือจะหายย่อมไม่มีประโยชน์แก่ตัว

๑. พระธรรมลงโทษนั้นอย่างไร? คือเมื่อเจ็บไข้ได้ป่วย ก็เข้าใจว่าความเจ็บป่วยเป็นของตัว (ตัวเป็นผู้เจ็บ) ไม่สามารถจะแยกกายแยกจิตใจให้เป็นคนละส่วนได้ เพราะความสงบจิตไม่เพียงพอกับสมุฏฐานของโรค ฉะนั้นจึงต้องได้รับโทษคือทุกขเวทนา

๒. เทวดาลงโทษ คือใครได้เจริญสมณธรรมแล้วด้วยดี ย่อมมีเทวดาคอยพิทักษ์รักษา เมื่อเจ็บป่วยเกิดขึ้นทำการรักษาความดีของตนไว้ไม่อยู่ ก็แสดง ความทุรนทุรายให้ปรากฏ เป็นเหตุให้เป็นที่เบื่อหน่ายของเทพเจ้าทั้งหลาย เพราะโทษที่ไม่แสดงความสงบตามภาวะของสมณะ เทวดาย่อมลงโทษ

๓. มนุษย์ลงโทษนั้นอย่างไร? คือทำตนให้เป็นคนพยาบาลยาก ไม่มีความอดทน ไม่รู้จักรักษาอิริยาบถของตน ให้สมกับภาวะที่ป่วย เป็นคนจุกจิกคลุกคลีในกามารมณ์ เป็นที่อยู่ของนิวรณธรรม คือปล่อยนิวรณ์เข้าครอบงำจิต จิตย่อมหมดอำนาจและกำลัง ยังความเกลียดชังให้เกิดขึ้นแก่ปวงชน

ฉะนั้น เราผู้ป่วยควรยังความไม่ประมาททั้งกลางวันและกลางคืน จึงจะนำมาซึ่งความสวัสดี มิฉะนั้นจะเป็นหนทางนำมาซึ่งความกำเริบแห่งโรค

เรามาอยู่โรงพยาบาลรักษาตัว ถ้าเข้าใจเพียงแต่เท่านี้ก็ชื่อว่าเข้าใจผิด ต้องทำ ความเข้าใจว่า เรามาทำจิตปลงสังเวชบำเพ็ญ สมณะธรรม อันจะนำตนให้พ้นไปจากความทุกข์ทั้งปวง ให้ถือเสียว่าเรามารักษาจิตของเราต่างหาก เพราะเราไม่ใช่หมอ เราไม่ต้องไปยุ่งกังวลกับเรื่องของร่างกายให้มากนัก ทำจิตให้เสียกำลังไปเปล่า ๆ ตัวเราผู้ป่วยมีหน้าที่ต้องใช้สติรักษาจิตของตัวอย่างเดียวเท่านั้น มันจะเป็นมากน้อย จะตาย จะหายอย่างไร ไม่ใช่ธุระของเราทั้งสิ้น ต้องตั้งจิตของตนอย่างนี้จึงจะเป็นการถูกต้อง

ท่านพ่อไม่นิยมการตั้งขันกัณฑ์เทศน์ หรือแจกฎีกาเรี่ยไรบุญต่าง ๆ เพราะท่านกลัวคนยากคนจนจะไม่กล้าเข้าวัด ดังจะเห็นได้จากข้อความที่เขียนด้วยลายมือของท่านเองในคำสั่งแผ่นหนึ่งว่า

“อาจารย์ลี ห้ามใคร ๆ บอกบุญบนศาลา ทุกอย่างให้เขาทำด้วยอิสระของเขา เพราะคนที่มาไม่ใช่คนโง่จนไม่รู้การทำบุญกัน ฉะนั้น เมื่อจนจริง ๆ แล้ว หนีไปที่อื่น ดีกว่าจะมาเที่ยวแบมือขอเขากิน”

อีกตอนหนึ่งที่แสดงให้เห็นน้ำใจของท่านพ่อ ในการที่ไม่ห่วงใยในองค์ของท่านมากไปกว่าคนอื่น ๆ โดยเฉพาะยิ่งเป็นเรื่องอาหารแล้ว ก็ไม่อยากให้ใคร ๆ ต้องเป็นภาระยุ่งยากในการจัดทำสำรับถวายท่านเลย ข้อความตอนหนึ่งท่านได้เขียนเป็นคำสั่งส่งมายังหัวหน้าทางโรงครัวในคราวอาพาธ มีใจความดังนี้

“...ส่วนสำรับท่านพ่อนั้นบอกงดหลายวันแล้ว มันเสียของเปล่า ๆ มันกินไม่ได้ เรื่องกินอย่ามาห่วงเป็นอันขาด ให้คนอื่นเขาเป็นสุขก็แล้วกัน อาหารทุกอย่าง น้ำส้ม น้ำหวาน ก็เหมือนกัน ถ้าไม่บอกสั่งอย่านำไปถวาย เรื่องเหล่านี้จะตัดให้น้อยลงทุกที จะให้เหลือแต่ใจที่ปฏิบัติเท่านั้น”
.........

ความเจ็บไข้นั้นเป็นของดี
เป็นเครื่องค้ำจุนพระศาสนา
ถ้าคนเราไม่เจ็บป่วย
ก็คงไม่มีใครนึกถึงพระพุทธเจ้า
ไม่นึกถึงวัดวาอารามกัน

วาทะธรรมท่านพ่อลี ธมฺมธโร
วัดบรมนิวาส, ๙ สิงหาคม ๒๔๙๗






"10 คำสอน" ของ "หลวงพ่อจรัญ วัดอัมพวัน"

1. ความดีเป็นศัตรูของชีวิต ความดีต้องมีอุปสรรค เขามาร้าย อย่าร้ายตอบ เขาไม่ดีมา จงใช้ความดีเข้าไปแก้ไข คนตระหนี่ ให้ของที่ต้องใจ คนพูดเหลวไหล เอาความจริงใจ ไปสนทนา

2. จงอย่าหวั่นไหว จงทำใจให้ได้เมื่อมีทุกข์ คนที่ทำใจได้เพราะมีสติควบคุมใจได้ ถ้าผู้ใดเจริญสติวิปัสสนากรรมฐาน จิตมั่นคง ต้องช่วยตัวเองได้ ทำใจได้ จะไม่เสียใจ ไม่น้อยใจต่อบุคคลใด คนทำใจได้นั่นแหละ จะได้รับผลดี มีสติเป็นอาวุธของตนตลอดไป

3. คนโบราณท่านมีคติดี เวลาไปไหนมาไหนต้อง 1.นิ่งได้ 2.ทนได้ 3.รอได้ 4.ช้าได้ 5.ดีได้ คนสมัยนี้นิ่งไม่ได้ ปากไม่ดี ทนไม่ได้ อยู่ไม่ได้อีก รอก็ไม่ได้ ช้าก็ไม่ได้ จึงเอาดีกันไม่ค่อยจะได้ ในยุคสมัยใหม่ปัจจุบันนี้ สิ่งเหล่านี้มีความหมายมาก แต่ทุกคนไม่เคยคิด

4. ใครตั้งใจ "ทำดี" อย่าไปกังวลเรื่อง "ปากคน" เพราะต่อให้เรา "ดี" ขนาดไหน หากไม่ถูก "กิเลส" เขา เขาก็ไม่ชอบ ไม่เข้าใจ เขาก็ตำหนิ ดังนั้น ดี-ชั่ว ไม่ได้อยู่ที่เขาว่าเรา แต่อยู่ที่เราเองทั้งหมด

5. ชาวพุทธแท้ๆ ควรจะได้ดีมีสุขจากการนับถือศาสนาพุทธ โดยแก้ปัญหาที่เกิดด้วยอริยสัจ 4 ทุกข์เกิดแล้วหาสาเหตุของทุกข์ด้วยการกำหนดทุกข์หนอ มันทุกข์ตรงไหนหนอ บำเพ็ญจิตภาวนา สมาธิ ปัญญาจะบอกทุกข์เกิดขึ้นตรงนั้น ต้องแก้ตรงนั้น อย่าไปแก้ผิดจุด อย่าไปให้ผีให้เจ้ามาแก้ หรือเอาหมอดูมาแก้ มันไม่ถูกเรื่อง

6. ความอดทนเป็นคุณสมบัติของนักต่อสู้ ความรู้เป็นคุณสมบัติของนักปราชญ์ ความสามารถเป็นคุณสมบัติของนักประกอบกิจ ความมีระเบียบทุกชนิดเป็นคุณสมบัติของผู้ดี

7. วันไหนโยมถูกด่ามากวันนั้นเป็นมงคล วันไหนโดยถูกป้อยอเขาจะล้วงไส้เราโดยไม่รู้ตัว หลงเชื่อเราจะประมาท จะเสียท่าเสียทีต่อมารร้าย และที่เขามาป้อยอกับเรา ระวังให้ดี เขาไม่ได้รักเราจริง

8. สร้างบุญใช้สติ ไม่ต้องใช้สตางค์ พวกเราหาแต่สตางค์ ไม่หาสติกันเลย

9. คนเราจะทำอะไรได้ก็ช่วงมีชีวิตอยู่เท่านั้นเมื่อตายแล้วไม่สามารถจะทำความดีหรือความชั่วได้เลยฉะนั้นในช่วงที่มีชีวิตอยู่ควรที่จะทำความดีใช้ชีวิตให้เป็นสาระ จะต้องต่อสู้กับความไม่ดีงามทั้งหลายที่มีอยู่รอบตัวเรา

10. จงพอใจในชีวิตของตัวเอง โดยมิต้องไปเปรียบเทียบชีวิตของผู้อื่น (ข้อความสุดท้ายใน ส.ค.ส.2559 ที่หลวงพ่อจรัญ เขียนไว้ก่อนละสังขาร)

แม้วันนี้หลวงพ่อจรัญจะละสังขารไปแล้วแต่ทุกคำสอนของท่านยังมีคุณค่าและเป็นจริงเสมอ


แสดงโพสต์จาก:  เรียงตาม  
กลับไปยังกระทู้  [ 1 โพสต์ ] 

เขตเวลา GMT + 7 ชั่วโมง


 ผู้ใช้งานขณะนี้

กำลังดูบอร์ดนี้: ไม่มีสมาชิก และ บุคคลทั่วไป 29 ท่าน


ท่าน ไม่สามารถ โพสต์กระทู้ในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ ตอบกระทู้ในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ แก้ไขโพสต์ของท่านในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ ลบโพสต์ของท่านในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ แนบไฟล์ในบอร์ดนี้ได้

ค้นหาสำหรับ:
ไปที่:  
Google
ทั่วไป เว็บธรรมจักร