ลานธรรมจักร
http://www.dhammajak.net/forums/

เมตตาให้กับผู้อื่น
http://www.dhammajak.net/forums/viewtopic.php?f=1&t=57401
หน้า 1 จากทั้งหมด 1

เจ้าของ:  รสมน [ 29 มี.ค. 2019, 04:26 ]
หัวข้อกระทู้:  เมตตาให้กับผู้อื่น

"คนเรา เมื่อมีเมตตาให้กับผู้อื่น
ผู้อื่นเขาก็จะให้ความเมตตา
ตอบสนองต่อเรา ถ้าเราโกรธเขา
เขาก็จะโกรธเราตอบเช่นกัน

ความเมตตานี่แหละ คืออาวุธ
ที่จะปกป้องตัวเราเอง ให้ไปได้
ตลอดรอดฝั่ง เป็นอาวุธที่ใครๆ
จะนำเอาไปใช้ก็ได้ จัดว่าเป็นของดีนักแล"

หลวงพ่อคูณ ปริสุทฺโธ






ในโลกนี้ ปากสำคัญที่สุด
พูดดีก็จะเป็นคุณอนันต์
ถ้าพูดไม่ดีก็จะเป็นโทษมหันต์

_________________________
๒๒ ตุลาคม ๒๕๕๓

คัดลอกมาจากหนังสือเกสรธรรม : หน้าที่(๘๒)
หลวงพ่อกัณหา





ความคิดนั้นมันเกิดอยู่เสมอ
เหมือนลมหายใจนั่นเอง ห้ามไม่ได้
การปฏิบัติลงก็ไม่ได้มุ่งดับความคิด
เอาแค่ว่า...
พอรู้อารมณ์แล้ว
จิตมันคิดนึกปรุงแต่ง ก็ให้รู้ทัน
อย่าฝันทั้งที่ตื่น
คือหลงคิดไปโดยไม่รู้ตัวเท่านี้ก็พอ.

โอวาทธรรม หลวงปู่ดูลย์ อตุโล วัดบูรพาราม







เรื่อง "สังสารวัฏ คือเรือนจำขังนักโทษ"

จิตถ้าเราจะเทียบทางโลกแล้ว ก็เป็นผู้ต้องขังมาตลอดเวลา เหมือนคนที่เกิดอยู่ในเรือนจำ โดยอยู่ในเรือนจำ ในห้องขัง ไม่มีวันออกมาดูโลกภายนอก อยู่แต่ในห้องขังตั้งแต่เล็กจนโต จึงไม่ทราบว่า ภายนอกเขามีอะไรกันบ้าง ความสุขความทุกข์ก็เห็นกันอยู่แต่ภายในเรือนจำ ไม่ได้ออกมาดูโลกภายนอกเขา ว่ามีความสุข ความสบาย และมีอิสระกันอย่างไรบ้าง ความรื่นเริงบันเทิง การไปมาหาสู่ เขาไปแบบไหน มาอย่างไร อยู่อย่างไรกัน โลกภายนอกเขามีความเป็นอยู่กันอย่างไร ไม่มีทางทราบได้ เพราะเราถูกคุมขังอยู่ในเรือนจำมาตั้งแต่วันเกิดจนถึงวันตาย นี่เป็นข้อเปรียบเทียบ เทียบเคียงความสุข ความทุกข์ ก็เท่าที่มีอยู่ในนั้น ๆ ไม่มีอะไรเป็นพิเศษ ไม่มีอะไรที่ได้ไปจากโลกภายนอก เมื่อกลับเข้าไปสู่ภายในเรือนจำพอได้เห็นว่า นี่เป็นสิ่งที่แปลกจากโลกในเรือนจำ สิ่งนี้มาจากโลกนอก คือนอกเรือนจำ เอามาเทียบเคียงกันพอให้ทราบว่า อันนี้เป็นอย่างนี้ อันนั้นเป็นอย่างนั้น อันนี้ดีกว่าอันนั้น อันนั้นดีกว่าอันนี้ อย่างนี้ไม่มี เพราะไม่มีสิ่งใดเข้าไปเกี่ยวข้อง มีแต่เรื่องของเรือนจำ สุขหรือทุกข์ มากน้อยเพียงใด ขาดแคลนลำบากลำบน ถูกกดขี่บังคับขนาดไหน ก็เคยเป็นมาอย่างนั้นตั้งแต่ดั้งเดิม เลยไม่ทราบจะหาทางออกไปไหน จะปลดเปลื้องตนไปได้อย่างไร ด้วยวิธีใด แม้จะออกไปโลกนอก โลกนอกก็ไม่ทราบอยู่ที่ไหน เพราะเห็นแต่โลกในคือเรือนจำ ที่ถูกควบคุมอยู่ตลอดเวลา และถูกกดขี่บังคับ เฆี่ยนตีกัน ทรมานกันอยู่อย่างนั้น อด ๆ อยาก ๆ ขาด ๆ แคลน ๆ ตลอดถึงที่นอนหมอนมุ้ง อาหารปัจจัย ที่อยู่อาศัยทุกสิ่งทุกอย่าง อยู่ในลักษณะของนักโทษในเรือนจำทั้งหมด เขาก็อยู่กันไปได้ เพราะไม่เคยเห็นโลกนอกว่าเป็นอย่างไร พอที่จะเอาไปเทียบเคียงว่า อันใดดีกว่า อันใดมีสุขกว่ากันอย่างไรบ้าง พอที่จะมีแก่ใจอยากเสาะแสวงหาทางออกไปสู่โลกภายนอก จิตที่ถูกควบคุมจากอำนาจแห่ง "กิเลสอาสวะ" ทั้งหลายก็เป็นเช่นนั้น คือถูกคุมขังอยู่ด้วยกิเลสประเภทต่าง ๆ ตั้งแต่กัปไหนกัลป์ไหน เช่นเกิดมาในปัจจุบันนี้ กิเลสที่เป็นเจ้าอำนาจบนหัวใจสัตว์นั้นมีมาตั้งแต่วันเกิด ถูกคุมมาเรื่อย ๆ ไม่เคยได้เป็นอิสระภายในตัวบ้างเลย จึงยากที่เราจะคาดได้ว่า ความสุขที่นอกเหนือไปจากสิ่งที่เป็นอยู่ในเวลานี้นั้น คือความสุขอย่างไรกัน เช่นเดียวกับคนที่เกิดในเรือนจำ และอยู่มาตลอดเวลา


(ธรรมเทศนา หลวงตามหาบัว ญาณสัมปันโน)






กามสุขมีอยู่ แต่เป็นสุขเพียงเล็กน้อย มีความทุกข์มากกว่า เป็นธรรมชาติที่นำมาซึ่งชาติ ชรา มรณะ โสกะ ปริเทวะ ทุกข์ โทมนัส อุปายาส เราจึงต้องแสวงหาความสุขอื่นมาทดแทน เช่นพระนิพพาน ซึ่งเป็นความสุขอย่างยิ่งเป็นบรมสุข แต่การแสวงหาความสุขมาทดแทนความสุขจากกามคุณ ๕ นั้น ไม่ใช่จะแสวงหามาได้โดยง่าย และได้โดยเร็วดังใจปรารถนาต้องการ บางคนท้อถึงกับลาสิกขาออกจากเพศพรหมจรรย์ก็มีเป็นจำนวนมากใจของเรานั้น มันไม่มีขอบเขต ก่อทุกข์ ก่อโทษให้ตนเองมากมาย ธรรมชาติบีบคั้นทำให้ต้องแสวงหาคู่ เมื่อมีคู่แล้วบางคนก็ไม่ได้พอใจแต่เพียงคู่ของตนเท่านั้น ยังไปมีชู้เพิ่มขึ้นอีก ส่งผลให้มีการทะเลาะเบาะแว้งและฆ่าฟันกันล้มตายเข้าคุกเข้าตารางกันเป็นจำนวนมาก บางคู่ไม่ได้ทำผิดศีลผิดธรรมอะไรก็ดีกว่าคนไปมีชู้ แต่ก็มากด้วยอารมณ์ ต้องทุกข์กับการประคับประคองชีวิตคู่และเลี้ยงดูบุตรหลานที่เกิดตามมา บางคนไม่ต้องการมีชีวิตคู่อยู่เป็นโสด คิดว่าชีวิตโสดจะสงบ แต่ก็ไม่สงบ ใจมันก็ดิ้นรนอยากหาคู่อยู่นั่นเอง เพราะธรรมชาติบีบคั้นให้ไปตามกระแส หาความสงบยาก ดังนั้น เราต้องคิดละอารมณ์ทั้งหมดที่ธรรมชาติให้มา เพราะเราต้องการความสงบที่ถาวรบริบูรณ์ทั้งกลางวันกลางคืน ถ้าเราเออออตามอารมณ์ เราก็ตกเป็นทาสของเขาอยู่ร่ำไป เราเอาชนะไม่ได้แน่นอน ธรรมชาตินี้มันวางกับดักไว้ มันปิดบังเราไว้อย่างมิดชิด

ผู้รู้ทาง ชี้ทางออกให้เราคือพระพุทธเจ้า เราอาจเกิดมาเจอพระพุทธเจ้ามาหลายพระองค์แล้ว แต่หล่นมาเรื่อยๆ ไม่รู้จะหล่นไปถึงไหน พระพุทธเจ้าท่านนำธรรมะมาสอนเราแค่ใบไม้กำมือเดียว ความจริงพระองค์ทรงรู้มากมายและไม่มีอะไรที่พระองค์ไม่รู้ แต่ทรงเห็นว่าไม่มีประโยชน์ ใช้ดับทุกข์ไม่ได้ จึงทรงนำมาสอนแค่ใบไม้กำมือเดียวนั้น คืออริยสัจธรรม ๔ ได้แก่ ทุกข์ สมุทัย นิโรธ มรรคมีองค์ ๘ นี้เอง
ดังนั้น เราจำเป็นจะต้องกำจัดสิ่งเหล่านี้ออกไป บางคนไม่นำเรื่องราคะนี้มากล่าว ด้วยเห็นว่าเป็นเรื่องที่น่าอับอาย เรื่องที่น่าอับอายนี้แหละ มันสร้างปัญหาให้เกิดความเดือดร้อนสับสนวุ่นวายให้กับโลกมากมายอย่างไม่รู้จักจบสิ้น เพราะไม่เอาธรรมชาติของความเป็นจริงมาเรียนรู้ เพื่อสะสางชำระล้างจิตใจ มันต้องมีวิธีดำเนินการชำระล้างให้ถึงจุดสูงสุดได้ เราต้องเรียนรู้ เราต้องตัดขาดธรรมชาติเหล่านี้ให้ได้ทั้งหมด เราอยากได้ความสงบถาวร กลายเป็นกิจที่จำเป็นในชีวิตที่จะต้องทำ ในเมื่อได้พบคำสอนของพระพุทธเจ้าแล้ว ถ้าเราไม่ทำเองแล้ว จะให้ใครทำให้ ชาติต่อไปเราจะมีโอกาสได้พบได้เจอศาสนาของพระพุทธเจ้าอีกหรือ ถ้าเรายังเป็นทาสของธรรมชาติที่มีอยู่ อารมณ์ต่างๆมันก็จะเพิ่มขึ้นๆเข้าสู่ยุคมิคสัญญีในที่สุด ใจเราไม่ใช่จะดีไปทั้งหมด มีทั้งดี และไม่ดี มันจะนำเราไปสู่ความหายนะแน่นอน อนาคตของเราฝากไว้กับจิตเกเรดวงนี้หรือ? เพราะมันไม่อยู่ในโอวาทของเราเลย เราอยากเป็นคนดี แต่จิตไม่ได้ตามใจเราเลย ทั้งๆที่เราเป็นเจ้าของชีวิต แต่ไม่สามารถจะบงการชีวิตของเราได้ ไม่ว่าเราจะมีชีวิตอยู่หรือตาย จิตมันก็ไปของมันอยู่แล้ว แต่เราก็พอมีแวว จัดการกับมันได้ เพราะจิตมันก็ไม่ได้ไปตลอด

เพราะฉะนั้นเราจะจับหลักก่อนแล้วเปลื้องออก หลักนั้นคือกรรมฐาน ๕ ที่พระอุปัชฌาย์สอนในวันอุปสมบท เมื่อบวชแล้ว ต้องเดินเส้นทางสายใหม่ ที่ไม่เคยเดิน คือ “มรรคมีองค์ ๘ ได้แก่กรรมฐาน ๕ นั่นเอง ดูเผินๆเหมือนไม่มีอะไรเป็นพิเศษ หรือวิเศษ วิโสอะไร แต่ความจริงแล้ว เป็นอุบายที่สุดยอด” ที่จะเปิดประตูให้เรารู้จักตนเองแจ้งชัด ส่วนสมาธินิ่งก็เหมือนท่านอุทกดาบส และอาฬารดาบสท่านได้สมาบัติ ๗ สมาบัติ ๘ แต่ก็ไม่สามารถเข้าถึงนิพพานได้ สมาธิแบบนี้จะกลัวอารมณ์มาก เพราะจะแข็งแกร่งภายใน แต่เบาะบางภายนอก การเข้าสมาธิเหมือนหลบเข้าไปอยู่ในถ้ำ กิเลสก็รอเต็มไปหมดที่หน้าปากถ้ำนั้นแหละ เมื่อจิตออกมาแล้วก็คลุกเคล้ากับอารมณ์ต่อไปอีก
ฉะนั้น ต้องแยกสมาธิแต่ละอย่างให้ถูกต้อง ความสงบที่เห็นแจ้งต้องเป็นหลัก สมาธินิ่งเฉยๆ ทำได้ง่ายกว่า แต่เห็นตัวยากเพราะมันลึกและหนาแน่น การปฏิบัติของเราที่ผ่านมามัน สับสนเหมือนพายเรือในอ่าง พิจารณาเห็นขันธ์ ๕ ไม่เที่ยงก็แล้ว กายไม่เที่ยงก็แล้ว ก็ยังตัดอารมณ์ไม่ขาด ต้องอบรมให้เห็นตนเองแจ้งขึ้นมา ไม่ว่าหลับตาหรือลืมตา ไม่ว่ากลางวันกลางคืน ให้รู้แจ้งตรงนี้ จิตจะไม่ดื้อด้านต่อไปอีกเลยตลอดกาล เมื่อก่อนมันดื้อกับเรา มันไม่เชื่อเรา มันเถียงเรา เพราะมันไม่รู้ มันก็หลงไปตามอารมณ์
พระพุทธเจ้าตรัสว่า “จิตนี้คุมได้ยาก กวัดแกว่ง รักษายาก ห้ามยาก เปลี่ยนแปลงง่าย ชอบใฝ่หาแต่อารมณ์ และดิ้นรนไปมาในกามคุณ ๕ คือ รูป เสียง กลิ่น รส สัมผัส เหมือนปลาที่ยกขึ้นจากน้ำ โยนไปบนบก ฉะนั้น” เราต้องฝึกฝนอบรมจิต ให้เห็นแจ้งในตัวเอง ผลการเห็นแจ้งตัวเอง จิตหายดื้อ ว่านอนสอนง่ายอย่างน่ารักที่สุด อย่างไม่น่าเชื่อจากที่ดื้อๆ ต่อไปจิตจะไม่กลับกลอก ผลเป็นที่ประจักษ์ในปัจจุบัน ไม่ใช่รอวันตาย ใครจะสอบผ่าน ใครจะมีความเพียร ทำจริง รู้จริง จะดับอารมณ์ได้ จะเป็นผู้ชนะ “กรรมฐาน ๕ เป็นกุญแจดอกสำคัญ” ต้องทำให้แจ้ง จะทำให้ละสักกายทิฏฐิ วิจิกิจจฉา สีลัพพตปรามาส จะเห็นว่าตัวเราไม่ใช่ของเรา จิตหยุดสนิทไม่อยู่ข้างนอกกาย อยู่ข้างนอกยังตกต่ำอยู่ กิเลสภายในยังมีอีก ต้องสู้ต่อไปอีก ดับการปรุงแต่งข้างนอกอย่างหยาบ ข้างในมีอยู่อย่างบางๆ ไม่ต้องคำนึงถึงอะไร ขอให้หมดอย่างเดียว จนหมดความสงสัย
ดังท่านอชิตมาณพกราบทูลถามพระพุทธเจ้าว่า “โลกถูกอะไรห่อหุ้มไว้ โลกไม่สดใสเพราะอะไร อะไรเป็นเครื่องฉาบทาโลกไว้ อะไรเป็นภัยใหญ่หลวงของโลก”

พระพุทธเจ้าตรัสตอบว่า “เธอจงรู้เถิดว่า อวิชชาเป็นศีรษะ วิชชาที่ประกอบด้วยสัทธา สติ สมาธิ ฉันทะ และวิริยะ เป็นธรรมที่ทำให้ศีรษะตกไป
โลกถูกอวิชชาห่อหุ้มไว้ โลกไม่สดใสเพราะความตระหนี่ และความประมาท เราเรียกความอยากว่า เป็นเครื่องฉาบทาโลกไว้ ทุกข์เป็นภัยใหญ่หลวงของโลก
กระแสเหล่าใดในโลก สติเป็นเครื่องกั้นกระแสเหล่านั้นได้ เรากล่าวธรรมเครื่องป้องกันกระแสทั้งหลาย ปัญญาปิดกั้นกระแสทั้งหลายเหล่านั้นได้
นามและรูปนั้น ดับไม่มีส่วนเหลือในที่ใด นามรูปนั้นก็ดับไปในที่นั้น เพราะวิญญาณดับ”
ดังนั้น การปฏิบัติธรรม ไม่ใช่เราอ่านหนังสือ ๙๐% ปฏิบัติ ๑๐% ต้องปฏิบัติ ๙๐% อ่าน ๑๐% ปฏิบัติให้เห็นแจ้ง ถ้าไม่เห็นแจ้งในขันธ์ ๕ ก็แสดงว่าเห็นทุกข์ยังไม่แจ้ง ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ เป็นทางเดินของจิต เมื่อรู้แจ้งร่างกายตัวเอง ก็จะรู้อายตนะตามความจริง รู้คุณ รู้โทษของอายตนะ แล้วหาทางออก เปลื้องจิตออกได้

หลวงพ่อจรัญ ทักขญาโณ

เจ้าของ:  sssboun [ 01 เม.ย. 2019, 07:23 ]
หัวข้อกระทู้:  Re: เมตตาให้กับผู้อื่น

เมตตาคนอื่น อย่าลืมเมตตาให้ตนด้วย
เมตตาคนอื่น อย่าลืมเมตตา พ่อแม่บ้าง
เมตตาคนอื่น อย่าลืมเมตตาคนภายในครอบครัวบ้าง
เมตตาคนอื่นนั้นดี แต่สิ่งที่ดีที่สุดนั้นก็คือเมตตาให้แก่ทุกคน

หน้า 1 จากทั้งหมด 1 เขตเวลา GMT + 7 ชั่วโมง
Powered by phpBB © 2000, 2002, 2005, 2007 phpBB Group
http://www.phpbb.com/