วันเวลาปัจจุบัน 24 เม.ย. 2024, 05:33  



เขตเวลา GMT + 7 ชั่วโมง




กลับไปยังกระทู้  [ 1 โพสต์ ]    Bookmark and Share
เจ้าของ ข้อความ
โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 11 มี.ค. 2019, 05:28 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
อาสาสมัคร
อาสาสมัคร
ลงทะเบียนเมื่อ: 06 มี.ค. 2009, 10:48
โพสต์: 5091


 ข้อมูลส่วนตัว


ควันไฟที่ติดที่ก้นหม้อนึ่ง นี่คือเราทำบาปเอาไว้เยอะถึงขนาดนี้เราจะมาขัดอยู่วันเดียว ก้นหม้อนึ่งจะไม่มีวันว่าขาวสะอาด จะต้องใช้เวลาหลายวัน เพราะฉะนั้นข้าพเจ้าจะต้องยอมตายกับสมาธิในคืนนี้ ขอให้ตายไปเถอะ แล้วก็ขอมาเกิดใหม่ ภพชาตินี้ข้าพเจ้าพบพระพุทธศาสนาแล้วพบของจริง แล้วอย่างที่อาจารย์ได้แสดง ให้เราเห็น พอนึกอย่างนั้น จิตใจมันก็สู้ พอจิตใจมันสู้ จิตมันน้อมเข้าไปสู่พุทโธ ดิ่งเข้าไป ดิ่งเข้าไป พอถึงเที่ยงคืน เราดูความทุกข์ของร่างกาย ที่มันเจ็บปวดอยู่อย่างนั้น ที่มันตัวแข็ง ที่มันดำอยู่อย่างนั้น กำหนดจิตพุทโธ พุทโธ ไม่ยอมหยุด ไม่มีขาดระยะ ไม่มีเผลอตัว สติเพียบพร้อมหมด พอไปถึงเที่ยงคืนปุ๊บ ได้จุดเด่นขึ้นมาจากปลายจมูก โยงไปถึงหน้าอก เป็นสีขาวเหมือนกับด้ายเส้นเดียว นี่คืออะไรเส้นด้าย เส้นด้ายมันเป็นสีขาว ถ้าเส้นด้ายขาวๆนี้ขาดคือชีวิตของเรานี่ขาดแล้วก็ตาย เรายิ่งเร่งแหละยิ่งกำหนดดู
ธรรมเทศนา หลวงปู่ไม อินทสิริ





"ภาษาธรรมะท่านเรียกว่ากิเลส เราไม่รู้ทันมัน นักมวยที่เขาต่อยกัน เขาหาต่อยที่สำคัญ ต่อยถูกจุดไหนจุดนั้นก็คือจุดที่บกพร่อง รู้ไม่ทันคู่ต่อสู้นั่นเอง รู้ไม่ทัน รับไม่ทันจึงต้องเสียท่า นี่เรารู้กลมายาของกิเลสไม่ทันแล้วจะไม่เสียท่าได้ยังไง ต้องเสียท่าให้มันวันยังค่ำ ยืน เดิน นั่ง นอน มีแต่อาการเสียท่าให้กิเลสทั้งนั้น มีท่าไหนที่เป็นท่าต่อสู้กับกิเลสบ้างติดอยู่นั้น ถ้ามีก็น้อยนิดเดียว แล้วจะไปหวังเอาชัยชนะจากความมีท่าน้อยนิดเดียวนั้นได้อย่างไรครูอาจารย์สอนไปโดยอรรถโดยธรรม เรื่องกิเลสมันก็แทรกขึ้นมาในขณะที่ฟังนั้นและไม่รู้ว่ามันเป็นกิเลส เลยหลงไปตามกลของมันว่าท่านดุด่าว่ากล่าว ว่าท่านจ้ำจี้จ้ำไชอะไรต่างๆ นานาไปเสีย กิเลสไม่ชอบเรื่องอย่างนี้เพราะเป็นเรื่องกระเทือนหัวกิเลสกิเลสจะชอบยังไง เพราะการดุด่าสั่งสอนนั้นเป็นเรื่องของธรรมและเป็นเรื่องที่ถูกธรรม เมื่อไม่รู้กลมายาของกิเลสก็ให้มันหลอกให้คิดอย่างนั้นแหละ เรารู้ไหมเรื่องกลลวงเหล่านี้ซึ่งมีอยู่เต็มหัวใจด้วยกันทุกคน"

โอวาทธรรมคำสอน
หลวงตา มหาบัว ญาณสัมปันโน




คำว่า “ภาวนา” นั้น จะต้องแยกจากภาวนาในภาษาไทยก่อน คือไม่ใช่เป็นเพียงว่า มามุบมิบๆแต่ปาก แล้วบอกว่าเป็นภาวนา หรือ เอาถ้อยคำในภาษาพระ เอามนต์ เอาคาถา มาท่องมาบ่น แล้วว่าเป็นภาวนา ไม่ใช่อย่างนั้น
“ภาวนา” แปลว่า ทำให้เกิดให้มีขึ้น ทำให้เป็นขึ้น สิ่งที่ยังไม่เป็นก็ทำให้มันเป็น สิ่งที่ยังไม่มีก็ทำให้มีขึ้น เรียกว่า ภาวนา
เพราะฉะนั้น จึงเป็นการปฏิบัติ ฝึกหัด หรือลงมือทำ
“ภาวนา” จึงแปลอีกความหมายหนึ่งว่า การฝึกอบรม ฝึกนั้น..เมื่อยังไม่เป็นก็ทำให้มันเป็น อบรมนั้น..เมื่อยังไม่มีก็ทำให้มีขึ้น ยิ่งกว่านั้น เมื่อทำให้เกิด ให้มี ให้เป็น ขึ้นมาแล้ว ก็ต้องทำให้เจริญงอกงาม เพิ่มพูน พรั่งพร้อมขึ้นไปด้วย จนเต็มที่
“ภาวนา” จึงมีความหมายตรงกับคำว่า“พัฒนา”ด้วย และจึงแปลง่ายๆว่า “เจริญ”

ในภาษาไทยแต่โบราณมาก็นิยมแปล ภาวนา ว่า เจริญ เช่น เจริญสมาธิ เรียกว่าสมาธิภาวนา, เจริญเมตตา เรียกว่า เมตตาภาวนา, เจริญวิปัสสนา เรียกว่า วิปัสสนาภาวนา
ตกลงว่า “ภาวนา” แปลว่า การฝึกอบรม หรือ การเจริญ การทำให้เป็น ให้มีขึ้นมา และพัฒนาให้งอกงามบริบูรณ์

การภาวนาในระดับที่เราต้องการในที่นี้ แยกเป็น ๒ อย่าง คือ จิตตภาวนา การฝึกอบรมจิตใจ อย่างหนึ่ง และ ปัญญาภาวนา การฝึกอบรมปัญญา อีกอย่างหนึ่ง
ถ้าใช้ตามนิยมของภาษาสมัยใหม่ เจริญ แปลว่า พัฒนา เพราะฉะนั้น จิตตภาวนา ก็แปลว่า การพัฒนาจิต หรือ พัฒนาจิตใจ ส่วนปัญญาภาวนา ก็แปลว่า การพัฒนาปัญญา
จิตตภาวนา นั้นเรียกง่ายๆว่า “สมถะ” บางทีก็เรียกว่า“สมถภาวนา” สมถะนี้ตัวแก่นของมันแท้ๆคือสมาธิ เพราะสมถะนั้นแปลว่า“ความสงบ” ตัวแก่นของความสงบก็คือสมาธิ ความมีใจแน่วแน่ สมถะนั้นมุ่งที่ตัวสมาธิ จะว่าสมาธิเป็นสาระของสมถะก็ได้ ฉะนั้น ก็เลยเรียกอีกอย่างหนึ่งว่า สมาธิภาวนา
คำว่า จิตตภาวนา ก็ดี, สมถภาวนา ก็ดี, สมาธิภาวนา ก็ดี จึงใช้แทนกันได้หมด

ต่อไปอย่างที่สอง ปัญญาภาวนา นั้นเรียกชื่ออีกอย่างหนึ่งว่า วิปัสสนาภาวนา การเจริญวิปัสสนามุ่งให้เกิดปัญญา คือปัญญาที่เข้าใจความจริงของสิ่งทั้งหลาย ปัญญาในขั้นที่รู้จักโลกและชีวิตตามความเป็นจริง เรียกว่า “วิปัสสนา” แปลว่า รู้แจ้ง ไม่ใช่รู้แค่ทำมาหาเลี้ยงชีพได้เท่านั้น แต่รู้สภาวะ รู้สภาพความเป็นจริงของสิ่งทั้งหลาย จึงเรียกว่า วิปัสสนา ซึ่งก็เป็นปัญญาระดับหนึ่งนั่นแหละ
เพราะฉะนั้น วิปัสสนาภาวนา ถ้าจะเรียกให้กว้าง เป็น ปัญญาภาวนา

ตกลง ก็แยกภาวนาเป็น ๒ อย่าง
อย่างที่หนึ่ง เรียกว่า จิตตภาวนาบ้าง, สมถภาวนาบ้าง, สมาธิภาวนาบ้าง
อย่างที่สอง เรียกว่า ปัญญาภาวนา หรือเรียกให้แคบจำกัดลงไปว่า วิปัสสนาภาวนา

สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์
( ป. อ. ปยุตฺโต )
จากหนังสือ “ปฏิบัติธรรม ให้ถูกทาง”
-------------------------------------

การทำสมาธิ สมถะ มีหลากหลายวิธี
“หลักการที่แท้” นั้นอยู่ที่่ไหน?

“ บางท่าน งง! การทำสมาธินี้
เดี๋ยวกำหนดลมหายใจ
เดี๋ยวไปเพ่งกสิณ
เดี๋ยวไปภาวนา“พุทโธ”
เดี๋ยวไปเจริญเมตตา
เดี๋ยวเจริญพรหมวิหาร
อะไรกันแน่เป็นการทำสมาธิ?

ถ้าจับหลักได้แล้ว ก็นิดเดียวเท่านั้นเอง
“สมาธิ” ไม่มีอะไร คือการที่สามารถทำให้จิตกำหนดแน่วอยู่กับสิ่งเดียวได้ตามที่ต้องการเท่านั้นเอง

การที่เรากำหนดลมหายใจเพื่ออะไร ก็เพราะว่าใจของเรามันยังไม่แน่วแน่ ยังกำหนดสิ่งเดียวไม่ได้ มันฟุ้งซ่านเลื่อนลอยเรื่อยไป เราก็เลยพยายามหาเทคนิค หากลวิธีมาช่วยให้มันกำหนดแน่วแน่อยู่กับสิ่งเดียวให้ได้ สิ่งที่เอามาช่วยนั้นเราเรียกว่า “กรรมฐาน” (เขียน กัมมัฏฐาน ก็ได้) เป็นเครื่องมือ เป็นที่ทำงาน หรือ ที่ฝึกงานของจิตใจ

“กัมมัฏฐาน” แปลว่า ที่่ทำงาน คือที่่ทำงานหรือที่ฝึกงานของจิต เพื่อให้จิตได้รับการฝึกจนสามารถอยู่กับสิ่งเดียวได้ ฝึกให้จิตทำงานเป็น เพราะจิตทำงานไม่ได้ดี จิตยุ่งวุ่นวาย คอยจะเล่น เดี๋ยวก็ไปเที่ยวซุกซน ฟุ้งซ่าน จึงให้มันทำงาน ให้มันอยู่กับสิ่งเดียวให้ได้ เอาลมหายใจมาให้มันกำหนดบ้าง เอาเมตตามาให้มันกำหนดบ้าง เอาอสุภะมาให้มันกำหนดบ้าง เอากสิณมาให้มันเพ่งบ้าง เอามือมาเคลื่อนไหวให้มันตามให้ทันบ้าง เดินจงกรมบ้าง เอามาเป็นอุบายเป็นเทคนิคต่างๆ

แต่สิ่งที่ต้องการเมื่อเกิดผลสำเร็จแล้ว มีอันเดียว คือ “จิตกำหนดจับอยู่กับสิ่งเดียวได้”

ถ้าเมื่อใดจิตกำหนดแน่วอยู่กับสิ่งเดียวได้ นั้นคือ “สมาธิ”

ไม่ว่าท่านจะใช้วิธีการอย่างไรก็ตาม ขอให้ได้ผลสำเร็จนี้ก็ใช้ได้ ไม่จำเป็นต้องเอาวิธีที่ท่านบอกไว้ก็ได้ แต่วิธีที่ท่านบอกไว้นั้น ท่านเคยได้ทดลองกันมาแล้วว่าได้ผล เป็นประสบการณ์ที่ได้บอกเล่ากันมา บันทึกกันไว้เป็น“ปริยัติ” เราก็เชื่อปริยัติในแง่ที่ว่า เป็นประสบการณ์ของผู้ปฏิบัติมาแล้ว ได้ผลมาแล้ว เราจะได้ไม่ต้องมาลองผิดลองถูกกันอีก

เป็นอันว่าหลักการของ “สมถะ” มีอันเดียว คือ ทำให้จิตแน่วแน่อยู่กับสิ่งเดียวที่ต้องการได้ แล้วก็ตามต้องการได้ด้วย

อยู่กับสิ่งเดียวที่ต้องการ บางทีทำสำเร็จแล้วแต่ไม่ตามต้องการ เช่น มันอยู่ได้สักพักเดียวก็ไปเสียอีกแล้ว อย่างนี้เรียกว่าไม่ได้ตามต้องการ

ถ้าจะสำเร็จจริง ก็ต้องให้ได้ตามต้องการ จะเอาชั่วโมงก็ได้ชั่วโมง ครึ่งชั่วโมงก็ได้ครึ่งชั่วโมง สองชั่วโมงก็ได้สองชั่วโมง ถ้าอย่างนั้น เรียกว่า “สมาธิ” จริง แน่วแน่ ต้องการให้อยู่กับอะไร นานเท่าไหร่ ก็อยู่กับอันนั้น นานเท่านั้น ใจไม่วอกแวกไปอื่นเลย”

สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์
( ป. อ. ปยุตฺโต )
ที่มา : จากหนังสือ “ปฏิบัติธรรมให้ถูกทาง”







"อย่าผลัดวันประกันพรุ่ง
เดี๋ยวความตายจะมาถึง
จะเสียใจตามภายหลัง

ความชั่ว อย่าทำเสียเลยดีกว่า
ความดี ทำแล้วดี
ความชั่ว ทำแล้วย่อมเดือดร้อน
ตามภายหลัง

รีบสร้างความดี รีบขัดเกลา
รีบพยายาม อบรมบ่มนิสัย
ให้มันเกิดมันมี ให้มันรู้มันเห็น
มันเป็นมันไป เราไม่ทำแต่เดี๋ยวนี้
จะไปทำเวลาไหน"

หลวงปู่แสง ญาณวโร


แสดงโพสต์จาก:  เรียงตาม  
กลับไปยังกระทู้  [ 1 โพสต์ ] 

เขตเวลา GMT + 7 ชั่วโมง


 ผู้ใช้งานขณะนี้

กำลังดูบอร์ดนี้: ไม่มีสมาชิก และ บุคคลทั่วไป 68 ท่าน


ท่าน ไม่สามารถ โพสต์กระทู้ในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ ตอบกระทู้ในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ แก้ไขโพสต์ของท่านในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ ลบโพสต์ของท่านในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ แนบไฟล์ในบอร์ดนี้ได้

ค้นหาสำหรับ:
ไปที่:  
Google
ทั่วไป เว็บธรรมจักร


cron