วันเวลาปัจจุบัน 29 มี.ค. 2024, 19:36  



เขตเวลา GMT + 7 ชั่วโมง




กลับไปยังกระทู้  [ 31 โพสต์ ]  ไปที่หน้า 1, 2, 3  ต่อไป  Bookmark and Share
เจ้าของ ข้อความ
โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 09 ต.ค. 2016, 14:49 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
Moderators-1
Moderators-1
ลงทะเบียนเมื่อ: 24 พ.ค. 2011, 14:20
โพสต์: 8123


 ข้อมูลส่วนตัว


สัมมาทิฏฐิ ละมิจฉาทิฏฐิ เป็นสัมมาทิฏฐิ ที่เป็นอปริหายิกธรรม
เป็นธรรมที่ไม่นำความเสื่อมมาให้ มี ๓ ระดับ

๑. ปุพพภาคสัมมาทิฏฐิ สัมมาทิฏฐิขั้นพื้นฐาน เช่น ความเชื่อในกรรม
และผลของกรรม ว่ามีจริง ทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว

๒. วิปัสสนาสัมมาทิฏฐิ สัมมาทิฏฐิที่พิจารณารูปนามเห็นเป็นสิ่งที่ไม่เที่ยง
เป็นทุกข์ ไม่อยู่ในการบังคับบัญชา (เห็นเป็นอนิจลักษณะ ทุกขลักษณะ
อนัตตลักษณะ ของรูปนามขันธ์ ๕ )

๓. โลกุตตรสัมมาทิฏฐิ สัมมาทิฏฐิในอริยมรรค เรียกว่า เป็นความเห็นถูกต้อง
ที่แท้จริง คือ เกิดในที่มรรคจิตเกิด เป็นหนึ่งในองค์มรรค ๘

สัมมาทิฏฐิมี ๓ ระดับ คือ ช่วง ระดับต้น ระดับกลาง ระดับโลกุตตระ
เพราะฉะนั้น บุคคลที่มีสัมมาทิฏฐิอย่างถูกต้อง สำหรับทิฏฐิในที่นี้
เป็นการพูดรวมทั้งปุพพภาควิปัสสนา และโลกุตตระ

.....................................................
พระธรรมคำสอน บัญญัติ ตรัส ไว้ดีแล้ว ไม่ต้องลด ไม่ต้องเพิ่ม ไม่ต้องแก้ไข ใดๆ ทั้งสิ้น


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 11 ต.ค. 2016, 07:41 
 
ออฟไลน์
สมาชิกระดับสูงสุด
สมาชิกระดับสูงสุด
ลงทะเบียนเมื่อ: 25 เม.ย. 2009, 02:43
โพสต์: 12233


 ข้อมูลส่วนตัว


กระผมก็ขอเสนอ 3 ระดับ..ในแบบคิดของผมนะ..

สัมมาทิฏฐิระดับที่...1 ระดับความเชื่อ...ความศรัทธา...เชื่อว่าพระพุทธเจ้ามีจริง...นรกสวรรค์มีจริง...ทำดีได้ดีทำชั่วได้ชั่วจริง...ผู้เฒ่าผู้แก่ครูอาจารย์บอกยังงัยก็เชื่ออย่างนั้น...

สัมมาทิฏฐิระดับที่ 2..ระดับความคิด...ไตร่ตรอง..จากระดับความเชื่อความศรัทธา..เมื่อได้ลงมือศึกษาจากหลายๆแหล่ง..ทั้งของลัทธิอื่น...ทั้งของพุทธ...ไตร่ตรองด้วยเหตุด้วยผล...ได้ข้อสรุปของตนเองว่า...พระพุทธเจ้ามีจริง..นรกสวรรค์มีจริง..ทำดีได้ดีทำชั่วได้ชั่วจริง...นิพพานมีจริง...พระธรรมส่งถึงนิพพานได้จริง...ผู้ปฏิบัติดีปฏิบัติชอบย่อมถึงนิพพานได้จริง.....

สัมมาทิฏฐิระดับ 3 ...ระดับเชิงประจักษ์จริง......จากระดับคิดพิจารณา....ก็ลงมือปฏิบัติตามพระธรรมคำสั่งสอน...แล้วพบผลตามนั้นจริง...ตามลำดับขั้น...มี..ปราโมทย์..ปีติ..ปัสสัทธิ..สุข..สงบ..อุทยัพพยานุปัสสนาญาณ..ฯลฯ


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 11 ต.ค. 2016, 07:49 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
สมาชิกระดับสูงสุด
สมาชิกระดับสูงสุด
ลงทะเบียนเมื่อ: 24 ต.ค. 2006, 12:36
โพสต์: 33766

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว


กรัชกายนำเสนอสัมมาทิฐิที่เป็นพุทธพจน์ว่ามี ๒ ระดับ เช่น

สัมมาทิฏฐิ ๒ ระดับ คือ ระดับที่เป็นสาสวะ กับ ระดับโลกุตระ

“ภิกษุทั้งหลาย สัมมาทิฏฐิเป็นไฉน ? เรากล่าวว่าสัมมาทิฏฐิมี ๒ อย่าง คือ สัมมาทิฏฐิที่ยังมีอาสวะ ซึ่งจัดเป็นฝ่ายบุญ อำนวยวิบากแก่ขันธ์ อย่างหนึ่ง กับ สัมมาทิฏฐิที่เป็นอริยะ ไม่มีอาสวะเป็นโลกุตระ และเป็นองค์มรรค อย่างหนึ่ง”

“สัมมาทิฏฐิที่ยังมีอาสวะ จัดอยู่ในฝ่ายบุญ อำนวยวิบากแก่ขันธ์เป็นไฉน ? คือความเห็นว่าทาน ที่ให้แล้วมีผล การบำเพ็ญทานมีผล การบูชามีผล กรรม ที่ทำไว้ดี และชั่ว มีผลมีวิบาก โลกนี้มี ปรโลกมี มารดามี บิดามี สัตว์ที่เป็นโอปปาติกะมี สมณพรามหณ์ ผู้ประพฤติชอบ ปฏิบัติชอบ ซึ่งประกาศโลกนี้ และปรโลกให้แจ่มแจ้ง เพราะรู้ยิ่งด้วยตนเองมีอยู่ นี้แล สัมมาทิฏฐิที่ยังมีอาสวะ จัดเป็นฝ่ายบุญ อำนวยวิบากแก่ขันธ์”

สัมมาทิฏฐิที่เป็นอริยะไม่มีอาสวะ เป็นโลกุตระ เป็นองค์มรรคเป็นไฉน ? คือ องค์มรรค ข้อสัมมาทิฏฐิ ที่เป็นตัวปัญญา ปัญญินทรี ย์ ปัญญาพละ ธรรมวิจัยสัมโพชฌงค์ของผู้มีจิตเป็นอริยะ มีจิตไร้อาสวะ มีอริยมรรคเป็นสมังคี ผู้กำลังเจริญอริยมรรคอยู่ นี้แล สัมมาทิฏฐิที่เป็นอริยะ ไม่มีอาสวะเป็นโลกุตระ เป็นองค์มรรค”

(ม.อุ.14/258/181)

.....................................................
https://dhammachati.blogspot.com/


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 11 ต.ค. 2016, 07:55 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
สมาชิกระดับสูงสุด
สมาชิกระดับสูงสุด
ลงทะเบียนเมื่อ: 24 ต.ค. 2006, 12:36
โพสต์: 33766

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว


คำจำกัดความของสัมมาทิฏฐิ

คำจำกัดความที่พบบ่อยที่สุด คือ ความรู้ในอริยสัจ ๔ ดังพุทธพจน์ว่า

“ภิกษุทั้งหลาย สัมมาทิฏฐิคือ อะไร ? ความรู้ในทุกข์ ความรู้ในทุกขสมุทัย ความรู้ในทุกขนิโรธ ความรู้ในทุกขนิโรธคามินีปฏิปทา นี้เรียกว่า สัมมาทิฏฐิ”

คำจำกัดความนอกจากนี้ ได้แก่

รู้อกุศลและอกุศลมูล กับ กุศลและกุศลมูล: “เมื่อใด อริยสาวกรู้ชัดซึ่งอกุศล...อกุศลมูล...กุศล...และกุศลมูล ด้วยเหตุเพียงเท่านี้ เธอชื่อว่ามีสัมมาทิฏฐิ มีความเห็นตรง ประกอบด้วยความเลื่อมใสแน่วแน่ในธรรมเข้าถึงสัทธรรมนี้แล้ว”

เห็นไตรลักษณ์: “ภิกษุเห็นรูป...เวทนา...สัญญา...สังขาร...วิญญาณ ซึ่งเป็นของไม่เที่ยง ว่าไม่เที่ยง ความเห็นของเธอนั้นเป็นสัมมาทิฏฐิ เมื่อเห็นชอบ ก็ย่อมหน่าย เพราะสิ้นเพลินก็สิ้นการย้อมติด เพราะสิ้นการย้อมติด ก็สิ้นเพลิน เพราะสิ้นเพลินและย้อมติด จิตจึงหลุดพ้น เรียกว่า พ้นเด็ดขาดแล้ว”

“ภิกษุเห็นจักษุ...โสตะ...ฆานะ...ชิวหา...กาย...มโน...รูป... เสียง...กลิ่น...รส...โผฏฐัพพะ...ธรรมารมณ์ซึ่งเป็นของไม่เที่ยง ว่าไม่เที่ยง ความเห็นของเธอนั้นเป็นสัมมาทิฏฐิ ฯลฯ”

เห็นปฏิจจสมุปบาท: "ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ที่เรียกว่า สัมมาทิฏฐิ สัมมาทิฏฐิ ดังนี้ แค่ไหน จึงจะชื่อว่าเป็นสัมมาทิฏฐิ"

"แน่ะท่านกัจจายนะ โลกนี้ โดยมากอิง (ทฤษฎีของตน) ไว้กับภาวะ ๒ อย่างคือ อัตถิตา (ความมี) และนัตถิตา (ความไม่มี) เมื่อเห็นโลกสมุทัยตามที่มันเป็น ด้วยสัมมาปัญญา นัตถิตาในโลกก็ไม่มี เมื่อเห็นโลกนิโรธตามที่มันเป็น ด้วยสัมมาปัญญา อัตถิตาในโลกก็ไม่มี โลกนี้โดยมากยึดมั่นถือมั่นในอุบาย (systems) และคล้องขังไว้ด้วยอภินิเวส (dogmas) ส่วนอริยสาวก ย่อมไม่เข้าหา ไม่ยึด ไม่ติดอยู่กับความยึดมั่นถือมั่นในอุบาย ความปักใจ อภินิเวส และอนุสัยว่า "อัตตาของเรา" ย่อมไม่เคลือบแคลงสงสัยว่า ทุกข์นั่นแหละ เมื่อเกิดขึ้น ย่อมเกิดขึ้น ทุกข์ เมื่อดับ ก็ย่อมดับ อริยสาวกย่อมมีญาณในเรื่องนี้ โดยไม่ต้องอาศัยผู้อื่นเลย เพียงเท่านี้แล ชื่อว่า มีสัมมาทิฏฐิ"

“ดูก่อนกัจจานะ ข้อว่า สิ่งทั้งปวงมีอยู่ นี้เป็นที่สุดข้างหนึ่ง ข้อว่า สิ่งทั้งปวงไม่มี นี้เป็นที่สุดข้างหนึ่ง ตถาคตย่อมแสดงธรรมเป็นกลางๆ ไม่เข้าเข้าไปติดที่สุดทั้งสองนั้นว่า “เพราะอวิชชาเป็นปัจจัย สังขารจึงมี เพราะสังขารเป็นปัจจัย วิญญาณจึงมี ฯลฯ เพราะอวิชชานั่นแหละสำรอกดับไปไม่เหลือ สังขารจึงดับ เพราะสังขารดับ วิญญาณจึงดับ ฯลฯ”

.....................................................
https://dhammachati.blogspot.com/


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 11 ต.ค. 2016, 08:08 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
สมาชิกระดับสูงสุด
สมาชิกระดับสูงสุด
ลงทะเบียนเมื่อ: 24 ต.ค. 2006, 12:36
โพสต์: 33766

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว


ข้อควรรู้ทั่วไปเกี่ยวกับสัมมาทิฏฐิ

ทิฏฐิ หรือเขียนลดรูปเป็นทิฐิ แปลว่า ความเห็น หมายรวมถึง ความเชื่อถือ ลัทธิ ทฤษฎีความเข้าใจตามนัยเหตุผล ข้อที่เข้ากับความเข้าใจของตน หลักการที่เห็นสม ข้อที่ถูกใจ ข้อที่เชิดชูเอาไว้ ความใฝ่นิยม หรือที่ปัจจุบันเรียกกันว่า ค่านิยม รวมไปถึงอุดมการณ์ แนวทัศนะในการมองโลกและชีวิตที่เรียกกันว่า โลกทัศน์และชีวทัศน์ต่างๆ ตลอดจนทัศนคติพื้นฐาน ที่สืบเนื่องจากความเห็นความเข้าใจ และความใฝ่นิยมเหล่านั้น *

ถ้าจะจัดเข้าเป็นพวกๆ ทิฏฐิ ก็คงมี ๒ ระดับ คือ ความเห็น ความเข้าใจ เกี่ยวกับคุณค่า ว่าดี ไม่ดี ควรจะเป็น ไม่ควรจะเป็น เป็นต้น อย่างหนึ่ง ความเห็น ความเข้าใจเกี่ยวกับความจริงว่า คืออะไร เป็นอย่างไร เพราะเหตุไร เป็นต้น อย่างหนึ่งดังจะเห็นได้ในเรื่องสัมมาทิฏฐิ ๒ ประเภท

ทิฐิ คือความเห็น ความเข้าใจ ความใฝ่นิยมยึดถือต่างๆ นั้น มีอิทธิพลครอบงำ และมีบทบาทในการกำหนดวิถีชีวิต และสังคมของมนุษย์เป็นอย่างมาก

ในกรรมบถ ท่านจัดทิฐิเข้าเป็นมโนกรรม ซึ่งเป็นกรรมที่สำคัญ มีผลมากมายร้ายแรงที่สุด ยิ่งกว่ากายกรรม และวจีกรรม เพราะเป็นตัวบันดาลกายกรรม และวจีกรรม อยู่เบื้องหลังอีกชั้นหนึ่ง สามารถนำชีวิต สังคมหรือมนุษย์ชาติทั้งหมด ไปสู่ความเจริญงอกงามรุ่งเรืองหลุดพ้น หรือนำไปสู่ความเสื่อม ความพินาศก็ได้

ดังจะมองเห็นได้ในชีวิตของบุคคล ทิฏฐิเป็นตัวชักจูง และกำหนดวิถีชีวิต ทั้งในด้านรับเข้า และด้านแสดงออก กล่าวคือ จะมองเห็นโลกและชีวิตเป็นอย่างไร และจะปฏิบัติต่อโลก และชีวิตนั้นอย่างไร เริ่มตั้งแต่จะแปลความหมายของประสบการณ์ ที่รับรู้เข้ามาใหม่อย่างไร จะตีค่า จะตัดสินวินิจฉัยว่าอย่าง ไร จะหันไปหา หรือเลือกรับสิ่งใด ส่วนใด ในแง่ใด จะเห็นด้วยหรือไม่ จะอยู่ฝ่ายใด แล้วชักนำแนวความคิดการพูดการกระทำที่จะสนองตอบโต้ แสดงปฏิกิริยาออกไปว่าจะเอาอย่างไร พูด หรือ ทำอย่างไรกับบุคคลสิ่งสภาพแวดล้อม หรือ สถานการณ์นั้นๆ พร้อมทั้งสร้างเหตุผลประกอบ สำหรับการที่จะพูดจะทำเช่นนั้น

กล่าวสั้นๆด้วยศัพท์ธรรมว่า ปรุงแต่ง ชักนำองค์ธรรมต่างๆ ตั้งแต่สังกัปปะคือความคิด หรือ ความดำริ เป็นต้นไป ให้เป็นมิจฉา หรือ เป็นสัมมา ตามทิฐินั้นๆ

ในทางปฏิบัติ ความสำคัญของทิฏฐิมองเห็นได้ไม่ยาก เช่น เมื่อคนชอบความมั่งมี เห็นว่าความพรั่งพร้อมทางวัตถุส่วนตัวเป็นจุดหมายของชีวิต เป็นเครื่องวัดความสำเร็จของบุคคล และเป็นเครื่องหมายแห่งความภาคภูมิใจ เขาย่อมพยายามดิ้นรนขวนขวายเพื่อแสวงหาความพรั่งพร้อมทางวัตถุนั้น ไม่ว่าจะศึกษาเล่าเรียน หรือประกอบกิจการงาน ก็ทำเพื่อจุดหมายนี้ และเมื่อมองดูคนอื่น เขาก็จะวัดจะตีค่าจะให้เกียรติคนนั้นๆ หรือไม่โดยถือเอาความมั่งคั่งพรั่งพร้อมเป็นเกณฑ์

ยิ่งถ้าเขาขาดความใฝ่สุจริตด้วยแล้ว เขาก็จะแสวงหาความมั่งคั่ง โดยไม่เลือกวิธีว่าเป็นไปโดยสุจริตชอบธรรมหรือไม่ และจะมองเห็นคนประพฤติสุจริตที่ยากไร้ว่า เป็นคนเขลาครึทึ่มทื่อ หรือไร้เกียรติ

ถ้าเด็กเห็นว่า การมีอำนาจ เป็นความเก่ง เป็นความดี เขาก็จะมีท่าทีที่น้อมไปในทางแสดงอำนาจ ทำตัวยิ่งใหญ่ ชอบครอบงำข่มเหงรังแกผู้อื่น

ถ้าคนเห็นว่าบุญบาปไม่มีจริง เป็นเพียงคำขู่หลอกไว้ เขาย่อมไม่เอาใจใส่สิ่งที่สอนว่าเป็นบุญ และไม่ระวังยั้งตัวในสิ่งที่ถือว่าเป็นบาป

เมื่อคนไม่เข้าใจซึ้งถึงสภาวะของโลกและชีวิตที่เป็นสิ่งไม่เที่ยงแท้ถาวร อยู่โดยธรรมดา เขาย่อมมีความยึดมั่นต่อชีวิต ร่างกาย ทรัพย์สิน และบุคคลแวดล้อมมาก แล้วเกิดความหวั่นกลัว ทำการ และมีพฤติกรรมสะท้อนความทุกข์ ซึ่งเป็นไปตามอำนาจของความยึดมั่น หวั่นไหวหวาดกลัวนั้น ดังนี้เป็นต้น

ส่วนในด้านดี ก็พึงทราบโดยนัยตรงข้าม

.....................................................
https://dhammachati.blogspot.com/


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 11 ต.ค. 2016, 08:21 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
สมาชิกระดับสูงสุด
สมาชิกระดับสูงสุด
ลงทะเบียนเมื่อ: 24 ต.ค. 2006, 12:36
โพสต์: 33766

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว


กล่าวสั้นๆด้วยศัพท์ธรรมว่า ปรุงแต่ง ชักนำองค์ธรรมต่างๆ ตั้งแต่สังกัปปะคือความคิด หรือ ความดำริ เป็นต้นไป ให้เป็นมิจฉา หรือ เป็นสัมมา ตามทิฐินั้นๆ

.....................................................
https://dhammachati.blogspot.com/


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 11 ต.ค. 2016, 17:06 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
สมาชิกระดับสูงสุด
สมาชิกระดับสูงสุด
ลงทะเบียนเมื่อ: 24 ต.ค. 2006, 12:36
โพสต์: 33766

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว


ความเห็นที่ผิด เรียกว่ามิจฉาทิฏฐิ ความเห็นที่ถูกต้อง เรียกว่า สัมมาทิฏฐิ

ปัจจัยให้เกิดมิจฉาทิฏฐิ ได้แก่ ปรโตโฆสะที่ไม่ดีไม่งาม สภาพแวดล้อมทางสังคมที่ชั่วร้าย เฉพาะอย่างยิ่งปาปมิตร และอโยสิโสมนสิการ คือการทำในใจโดยไม่แยบคาย ไม่รู้จักคิด คิดไม่เป็น คิดไม่ถูกวิธี

ส่วนปัจจัยของสัมมาทิฏฐิ ได้แก่ ปรโตโฆสะที่ดีงาม การหล่อหลอมกล่อมเกลาในทางที่ถูกต้องจากสภาพแวดล้อมทางสังคมที่ดี เฉพาะอย่างยิ่งกัลยาณมิตร หรือการเสวนาสัตบุรุษ และโยนิโสมนสิการ คือการทำในใจโดยแยบคาย รู้จักคิด คิดเป็น หรือคิดถูกวิธี

.....................................................
https://dhammachati.blogspot.com/


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 11 ต.ค. 2016, 17:21 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
สมาชิกระดับสูงสุด
สมาชิกระดับสูงสุด
ลงทะเบียนเมื่อ: 24 ต.ค. 2006, 12:36
โพสต์: 33766

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว


๑. โลกิยสัมมาทิฏฐิ ความเห็นชอบระดับโลกีย์ คือยังเนื่องในโลก ขึ้นต่อโลก ได้แก่ ความเห็น ความเชื่อ ความเข้าใจเกี่ยวกับโลกและชีวิตที่ถูกต้องตามหลักแห่งความดี เป็นไปตามคลองธรรม หรือสอดคล้องกับศีลธรรม ดังตัวอย่างในพุทธพจน์ที่ยกมาแสดงไว้แล้วข้างต้น

โดยทั่วไป สัมมาทิฏฐิประเภทนี้เกิดจากปรโตโฆสะ คือปัจจัยฝ่ายภายนอก หรือ องค์ประกอบทางสังคม ด้วยอาศัยศรัทธาเป็นเครื่องเชื่อมโยงหรือชักนำ * เฉพาะอย่างยิ่ง เกิดจากการหล่อหลอมกล่อมเกลาของสังคม เช่น การอบรมสั่งสอนทางศีลธรรม การถ่ายทอดทางวัฒนธรรม เป็นต้น แม้สัมพันธ์กับโยนิโสมนสิการ ก็มักเป็นโยนิโสมนสิการแบบเร้ากุศล

ทิฏฐิระดับนี้ เป็นเรื่องเกี่ยวกับคุณค่า เช่นว่า ดี ชั่ว ถูก ผิด อะไรดีกว่า อะไรเลวกว่า ควรจะเป็น ไม่ควรจะเป็น หรือว่าน่าเป็น ไม่น่าเป็น อย่างไร เป็นต้น ตลอดจนหลักความเชื่อ หลักความเห็นต่างๆ ที่จะรักษาคุณค่าที่ดีงามถูกต้องไว้

เพราะเหตุที่เกิดจากการหล่อหลอมของสังคม มีการถ่ายทอดโดยปรโตโฆสะ ทิฐิประเภทนี้มีลักษณะเป็นหลักการ กฎเกณฑ์ มาตรฐาน ความเชื่อถือ ชนิดที่มนุษย์ปรุงแต่ง สร้างสรรค์ หรือบัญญัติวางกันขึ้น เป็นของซ้อนเข้ามา หรือต่างหากจากกฎธรรมดาของธรรมชาติอีกทีหนึ่ง และดังนั้น จึงมีลักษณะของความเป็นโลกิยะ คือ มีรายละเอียดข้อปลีกย่อยผิดแปลกแตกต่างกันออกไปตามกาลเทศะ เปลี่ยนแปลงได้ตามอิทธิพลของสภาพแวดล้อมและความเป็นไปของสังคม

ทิฏฐิจำพวกข้อถูกใจ ความใฝ่นิยม หรือค่านิยมทั้งหลาย ล้วนรวมอยู่ในทิฏฐิประเภทโลกิยะนี้ทั้งสิ้น

อย่างไรก็ตาม ถึงแม้ว่ารายละเอียดข้อปลีกย่อยของทิฏฐินี้จะเปลี่ยนแปลงต่างกันไปได้ ตามถิ่นฐานและกาลสมัย แต่ก็มีหลักกลางสำหรับวัดความเป็นสัมมาทิฏฐิ คือ ความสอดคล้องกับหลักกรรม หรือกฎแห่งกรรม เพราะหลักกรรมเป็นกฎธรรมดา หรือหลักความจริง ที่รองรับความเป็นไปแห่งพฤติกรรมทั้งหมดของมนุษย์

โดยนัยนี้ โลกิยสัมมาทิฏฐิจึงมีกฎธรรมชาติรองรับอยู่ หรือสอดคล้องกับความจริงของธรรมชาติ และด้วยเหตุนี้ บางครั้งท่านจึงจำกัดความหมายของโลกิยสัมมาทิฏฐิ โดยระบุลงไปว่า ได้แก่ กัมมัสสกตาญาณ * คือ ความรู้ว่าคนมีกรรมเป็นของตน รู้ว่าคนเป็นเจ้าของการกระทำของตน จะต้องรับผิดชอบต่อการกระทำนั้น คือ ได้รับผลแห่งกรรมของตน ซึ่งเป็นความรู้เข้าใจที่สอดคล้องกับกฎแห่งกรรม หรือพูดได้ว่า รู้เข้าใจถึงการที่พฤติกรรม และผลสืบเนื่องจากพฤติกรรมทั้งหลายของมนุษย์ เป็นไปตามกฎธรรมดาของความสัมพันธ์สืบทอดแห่งเหุตปัจจัย

โลกิยสัมมาทิฏฐินี้ จึงส่องถึงค่านิยมพื้นฐาน เช่น ความรับผิดชอบต่อการกระทำของคน ความใฝ่ผลสำเร็จที่เกิดจากการกระทำ หรือความเพียรพยายาม ความสามารถ และสติปัญญาของตนเอง ความรู้จักพึงตนเอง และการช่วยเหลือกันด้วยเรี่ยวแรงกำลังของมนุษย์เอง เป็นต้น

พึงสังเกตด้วยว่า ความรู้เกี่ยวกับกรรมในระดับนี้ เป็นเพียง ความรู้ถึงที่กรรมเป็นของตน รู้ว่าแต่ละสัตว์แต่ละคนเป็นเจ้าของการกระทำของตน ที่จะทำให้รู้จักรับผิดชอบต่อการกระทำของตนนั้น หรือรู้ว่ามนุษย์จะเป็นไปตามกฎแห่งกรรมนั้น อยู่ในขั้นของความรู้เข้าใจที่สอดคล้องกับกฎแห่งกรรมเท่านั้น ยังมิใช่เป็นการรู้เข้าใจตัวกฎ หรือหยั่งรู้ถึงความเป็นไปของเหตุปัจจัยนั้นโดยตรง ทั้งนี้เพราะความรู้เข้าใจที่หยั่งถึงตัวกฎหรือเหตุปัจจัยโดยตรง ย่อมจัดเข้าในจำพวกโลกุตรสัมมาทิฏฐิ

นอกจากนี้ อาจวัดความเป็นโลกิยสัมมาทิฏฐิด้วยวิธีพูดอย่างอื่นอีก เช่นว่า ได้แก่ ทิฏฐิชนิดที่เกื้อกูลเป็นไปเพื่อประโยชน์สุขแก่ชีวิตและสังคม หรือว่าได้แก่ทิฐิชนิดที่ทำให้ก้าวหน้าไปในมรรคได้ คือ ส่งผลแก่องค์มรรคข้ออื่นๆได้ ตั้งแต่ช่วยให้เกิดสัมมาสังกัปปะ เป็นต้น และในเมื่อเป็นความรู้ความเข้าใจที่สอดคล้องกับความเป็นจริงตามธรรมดาของธรรมชาติ โลกิยสัมมาทิฏฐินี้ จึงอาจเชื่อมต่อให้ก้าวไปยังโลกุตรสัมมาทิฏฐิได้ด้วย

......

ที่อ้างอิง * ตามลำดับ

* พึงอ้าง "สทฺธามูลิกา จ สมฺมาทิฏฺฐิ" (สัมมาทิฏฐิ ที่มีศรัทธาเป็นมูล) ใน ที.อ.1/282 องฺ.อ.2/22 อิติ.อ.293

* อภิ.วิ.35/822/443

.....................................................
https://dhammachati.blogspot.com/


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 11 ต.ค. 2016, 17:28 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
สมาชิกระดับสูงสุด
สมาชิกระดับสูงสุด
ลงทะเบียนเมื่อ: 24 ต.ค. 2006, 12:36
โพสต์: 33766

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว


๒. โลกุตรสัมมาทิฐิ ความเห็นชอบระดับโลกุตระ คือ เหนือโลก ไม่ขึ้นต่อโลก ได้แก่ ความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับโลกและชีวิตถูกต้องตามความเป็นจริง หรือรู้เข้าใจตามสภาวะของธรรมชาติ พูดง่ายๆว่า รู้เข้าใจธรรมชาตินั่นเอง

สัมมาทิฐิประเภทนี้เกิดจากโยนิโสมนสิการ ซึ่งเป็นองค์ประกอบภายในหรือปัจจัยภายในตัวบุคคล

ปรโตโฆสะที่ดีหรือกัลยาณมิตร อาจช่วยได้เพียงด้วยการกระตุ้นให้บุคคลนั้นใช้โยนิโสมนสิการแล้วรู้เห็นเข้าใจเอง หมายความว่า สัมมาทิฐิประเภทนี้ ไม่อาจเกิดขึ้นได้ เพียงด้วยการรับฟังแล้วเชื่อตามคนอื่นด้วยศรัทธา เพราะต้องเป็นการรู้จักที่ตัวภาวะเอง ต้องเอาธรรมชาตินั่นเองเป็นข้อพิจารณาโดยตรง

ด้วยเหตุนี้ โลกุตรสัมมาทิฐิจึงไม่เกี่ยวข้อกับหลักการ กฎเกณฑ์ ข้อยึดถือที่ปรุงแต่งหรือบัญญัติวางซ้อนเพิ่มขึ้นมาต่างหากจากธรรมดาของ ธรรมชาติ และจึงเป็นอิสระจากการหล่อหลอมของสังคม ไม่ขึ้นต่ออิทธิพลของสภาพแวดล้อมที่เปลี่ยนแปลงไป เป็นการเกี่ยวข้องกับธรรมชาติเองแท้ๆ ซึ่งมีสภาวะและธรรมดาเสมอเหมือนกันทุกถิ่นฐานทุกกาลสมัย

โดยนัยนี้ สัมมาทิฐิประเภทนี้จึงมีลักษณะเป็นโลกุตระ คือ ไม่ขึ้นต่อกาล ไม่จำกัดสมัย เป็นความรู้ความเข้าใจอย่างเดียวกัน จำเป็นสำหรับปรีชาญาณและความหลุดพ้นในทุกถิ่นทุกกาลเสมอเหมือนกัน

สัมมาทิฐิตามความหมายอย่างที่สองนี้ ที่ท่านจัดเป็นโลกุตระนั้น หมายเอาเฉพาะที่เป็นความรู้ความเข้าใจชัดเจนแจ่มแจ้ง ถึงขั้นเป็นมรรคเป็นผล ทำให้เป็นอริยบุคคลเท่านั้น

แต่กระนั้นก็ตาม สัมมาทิฐิเป็นมรรคเป็นผลนั้น ก็สืบเนื่องไปจากสัมมาทิฐิแบบเดียวกัน ที่เป็นของปุถุชนนั่นเอง ดังนั้น จึงขอเรียกสัมมาทิฐิตามความหมายอย่างที่สองนี้ ในขั้นเป็นของปุถุชนว่า สัมมาทิฐิแนวโลกุตระ *

พึงเห็นความสำคัญของสัมมาทิฐิที่เป็นโลกุตระ หรือแนวโลกุตระนี้ว่า เป็นธรรมที่มีผลลึกซึ้งกว่าโลกิยสัมมาทิฐิมาก สามารถทำให้เกิดความเปลี่ยนแปลงในบุคลิกภาพอย่างที่เรียกว่าถอนรากถอนโคน

สัมมาทิฐิระดับนี้เท่านั้น จึงกำจัดกิเลสได้ มิใช่เพียงกด ข่ม หรือทับไว้ และทำให้เกิดความมั่นคงในคุณธรรมอย่างแท้จริง ไม่แกว่งไกวไหวโอนไปตามค่านิยมที่สังคมหล่อหลอม เพราะมองเห็นความจริงผ่านทะลุเลยระดับสังคมไปถึงสภาวธรรมที่อยู่เบื้องหลังแล้ว จึงไม่เต้นส่ายไปกับภาพปรุงแต่งในระดับสังคม

อนึ่ง ดังที่รู้อยู่แล้วว่า สัมมาทิฐิแนวโลกุตระ เกิดจากโยนิโสมนสิการ โยนิโสมนสิการจึงมีบทบาทสำคัญในเรื่องนี้ ซึ่งควรย้ำไว้อีกครั้งหนึ่งว่า ตามปกติ พฤติกรรมของมนุษย์ปุถุชนจะเป็นไปตามอำนาจของค่านิยม ที่เกิดจากการหล่อหลอมทางสังคม เช่น ละเว้นการกระทำไม่ดีอย่างนั้น และกระทำการที่ดีอย่างนี้ ตามคำอบรมสั่งสอนบอกเล่าถ่ายทอดเล่าเรียน หรือจดจำแบบอย่างมา ถ้าเมื่อใด ปุถุชนไม่ตกอยู่ใต้อำนาจของค่านิยมเช่นนั้น เขาก็จะตกเป็นทาสของตัณหา ที่เรียกกันในสมัยใหม่ว่าอารมณ์ของตนเอง * แต่โยนิโสมนสิการช่วยให้หลุดพ้นได้ ทั้งจากอิทธิพลของค่านิยมทางสังคมและจากความเป็นทาสแห่งตัณหาหรืออารมณ์กิเลสของตนเอง ทำให้มีพฤติกรรมอิสระ ที่เป็นไปด้วยปัญญา

จึงอาจพูดสรุปได้ว่า ปุถุชนจะคิดจะทำการใดๆก็ตาม หากขาดโยนิโสมนสิการเสียแล้ว ถ้าไม่ตกอยู่ใต้อำนาจของค่านิยมจากภายนอก ก็ย่อมตกเป็นทาสแห่งตัณหาของตนเอง เมื่อใดมีโลกุตรสัมมาทิฐิ เมื่อนั้น เขาก็จะหลุดพ้นจากอำนาจปรุงแต่งของสังคมได้อย่างแท้จริง

เมื่อใดทิฐิกลายเป็นสัมมาทิฐิ เมื่อนั้น ก็จัดเป็นปัญญาหรือไวพจน์คำหนึ่งของปัญญา * แม้ว่าในขั้นแรกเริ่ม สัมมาทิฐิ นั้น จะยังเป็นเพียงความเห็นหรือความเชื่ออยู่ ทั้งนี้เพราะความเห็นหรือความเชื่อนั้น สอดคล้องกับความเป็นจริง มีความเข้าใจตามสภาวะหรือตามเหตุปัจจัยเป็นที่อ้างอิง เริ่มเดินหน้าออกจากอำนาจครอบงำของอวิชชาและตัณหา

ต่อจากนั้นไป แม้ว่าความเห็นหรือความเชื่อนั้นจะกลายเป็นความรู้ความเข้าใจอย่างชัดเจน แจ่มแจ้งที่เรียกว่าญาณแล้ว ก็ยังคงเรียกด้วยชื่อเดิมว่าสัมมาทิฐิได้เรื่อยไป เพื่อสะดวกในการมองเห็นความเจริญเติบโตหรืองอกงามที่ต่อเนื่องกัน

โดยนัยนี้ สัมมาทิฐิจึงมีความหมายกว้าง คลุมตั้งแต่ความเห็นและความเชื่อถือที่ถูกต้อง ไปจนถึงความรู้ความเข้าใจตามสภาวะที่เป็นจริง

.......

ที่อ้างอิง * ตามลำดับ

*เรียกตามอรรถกถาว่า วิปัสสนาสัมมาทิฐิ เรียกตามบาลีเดิมว่า สัจจานุโลมิกญาณ (ในชั้นอรรถกถา ท่านใช้ สัจจานุโลมิกาญาณ หมายถึง ขั้นสุดท้ายของวิปัสสนาญาณ ๙ โดยเฉพาะ)

* ความจริงทั้งค่านิยมที่ผิด และอารมณ์ (emotion) ล้วนเนื่องด้วยตัณหาทั้งสองอย่าง แต่ต่างกันทีว่า อย่างแรกเป็นตัณหาซึ่งปรุงแปลงหรือแต่งตัวแล้ว อย่างหลังเป็นตัณหาสด

* เช่น ขุ.ม.29/49/51 อภิ.35/581/320

.....................................................
https://dhammachati.blogspot.com/


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 11 ต.ค. 2016, 18:25 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
สมาชิกระดับสูงสุด
สมาชิกระดับสูงสุด
ลงทะเบียนเมื่อ: 24 ต.ค. 2006, 12:36
โพสต์: 33766

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว


ข้างบนมีพาดถึง ปรโตโฆสะ กับ โยนิโสมนสิการ ดังนั้น ขอนำหลักให้พิจารณาอีกหน่อยหนึ่ง :b1:


บุพนิมิตแห่งมัชฌิมาปฏิปทา

สัมมาทิฏฐิเป็นองค์ประกอบสำคัญของมรรค ในฐานะที่เป็นจุดเริ่มต้นของการปฏิบัติธรรม หรือเป็นขั้นเริ่มต้นในระบบการศึกษาตามหลักการของพระพุทธศาสนา และเป็นธรรมที่ต้องพัฒนาให้บริบูรณ์ ชัดเจน เป็นอิสระมากขึ้นตามลำดับ จนกลายเป็นการตรัสรู้ในที่สุด ดังนั้น การสร้างเสริมสัมมาทิฏฐิจึงเป็นสิ่งสำคัญยิ่ง

ในพระไตรปิฎก แสดงหลักการสร้างเสริมสัมมาทิฏฐิไว้ ดังนี้

"ภิกษุทั้งหลาย ปัจจัยเพื่อความเกิดขึ้นแห่งสัมมาทิฏฐิ มี ๒ ประการ ดังนี้ คือ ปรโตโฆสะ และโยนิโสมนสิการ"

ปัจจัยแห่งสัมมาทิฏฐิ ๒ อย่าง ตามพุทธพจน์ที่ตรัสไว้นี้ คือ

๑. ปรโตโฆสะ = เสียงจากผู้อื่น การกระตุ้นหรือชักจูงจากภายนอก เช่น การสั่งสอน แนะนำ การถ่ายทอด การโฆษณา คำบอกเล่า ข่าวสาร ข้อเขียน คำชี้แจง อธิบาย การเรียนรู้จากผู้อื่น ในที่นี้ หมายเอาเฉพาะส่วนที่ดีงามถูกต้อง เฉพาะอย่างยิ่งการรับฟังธรรม ความรู้ หรือคำแนะนำจากบุคคลที่เป็นกัลยาณมิตร (hearing or learning from others; inducement by others)

ข้อแรกนี้ เป็นองค์ประกอบฝ่ายภายนอก ได้แก่ ปัจจัยทางสังคม อาจเรียกง่ายว่า วิธีการแห่งศรัทธา

๒. โยนิโสมนสิการ = การทำในใจโดยแยบคาย = การใช้ความคิดถูกวิธี ความรู้จักคิด คิดเป็น หรือคิดอย่างมีระเบียบ หมายถึง การรู้จักมอง รู้จักพิจารณาสิ่งทั้งหลาย โดยมองตรงตามที่สิ่งนั้นๆ มันเป็นของมัน และโดยวิธีคิดหาเหตุผล สืบค้นถึงต้นเค้า สืบสาวให้ตลอดสาย แยกแยะสิ่งนั้นๆ หรือปัญหานั้นๆ ออก ให้เห็นตามสภาวะ และตามความสัมพันธ์สืบทอดแห่งเหตุปัจจัย โดยไม่เอาความรู้สึกด้วยตัณหาอุปาทานของตนเข้าจับ (analytical reflection; reasoned or systematic attention)

ข้อสองนี้ เป็นองค์ประกอบฝ่ายภายใน ได้แก่ ่ ปัจจัยในตัวบุคคล อาจเรียกง่ายๆ ว่า วิธีการแห่งปัญญา

พุทธพจน์แสดงปัจจัยทั้งสองนี้ ในภาคปฏิบัติของการฝึกอบรม เน้นถึงความสำคัญอย่างควบคู่กัน ดังนี้

๑) "สำหรับภิกษุผู้ยังต้องศึกษา...เรามองไม่เห็นองค์ประกอบภายนอกอื่นใด มีประโยชน์มากเท่าความมีกัลยาณมิตร เลย"

๒) "สำหรับภิกษุผู้ยังต้องศึกษา...เรามองไม่เห็นองค์ประกอบภายในอื่นใด มีประโยชน์มากเท่าโยนิโสมนสิการ เลย"

ปัจจัยทั้ง ๒ อย่างนี้ ย่อมสนับสนุนซึ่งกันและกัน

สำหรับคนทั่วไป ซึ่งมีปัญญาไม่แก่กล้า ย่อมต้องอาศัยการแนะนำชักจูงจากผู้อื่น และคล้อยไปตามคำแนะนำชักจูงที่ฉลาดได้ง่าย แต่ก็จะต้องฝึกหัดให้สามารถใช้ความคิดอย่างถูกวิธีด้วยตนเองได้ด้วย จึงจะก้าวหน้าไปถึงที่สุดได้

ส่วนคนที่มีปัญญาแก่กล้า ย่อมรู้จักใช้โยนิโสมนสิการได้ดีกว่า แต่กระนั้น ก็อาจต้องอาศัยคำแนะนำที่ถูกต้องเป็นเครื่องนำทางในเบื้องต้น และเป็นเครื่องช่วยส่งเสริมให้ก้าวหน้าไปได้รวดเร็วยิ่งขึ้นในระหว่างการฝึกอบรม

.....................................................
https://dhammachati.blogspot.com/


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 11 ต.ค. 2016, 18:46 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
สมาชิกระดับสูงสุด
สมาชิกระดับสูงสุด
ลงทะเบียนเมื่อ: 24 ต.ค. 2006, 12:36
โพสต์: 33766

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว


ข้อ ๑ โลกิยสัมมาทิฐิ มีพาดพิงโยนิโสมนสิการแบบเร้ากุศลด้วย ขอนำมาให้สังเกตอีก คคห.หนึ่ง


วิธีคิดแบบเร้ากุศล

วิธีคิดแบบปลุกเร้าคุณธรรม อาจเรียกง่ายๆว่า วิธีคิดแบบเร้ากุศล หรือคิดแบบกุศลภาวนา เป็นวิธีคิดในแนวสกัดกั้นหรือบรรเทา และขัดเกลาตัณหา จึงจัดได้ว่าเป็นข้อปฏิบัติระดับต้นๆ สำหรับส่งเสริมความเจริญงอกงามแห่งกุศลธรรม และสร้างเสริมสัมมาทิฏฐิที่เป็นโลกิยะ

หลักการทั่วไปของวิธีคิดแบบนี้ มีอยู่ว่า ประสบการณ์ คือสิ่งที่ได้ประสบหรือได้รับรู้อย่างเดียวกัน บุคคลผู้ประสบหรือรับรู้ต่างกัน อาจมองเห็นและคิดนึกปรุงแต่งไปคนละอย่าง สุดแต่โครงสร้างของจิต หรือแนวทาง ความเคยชินต่างๆ ที่เป็นเครื่องปรุงของจิต คือสังขารที่ผู้นั้นสั่งสมไว้ หรือสุดแต่การทำใจขณะนั้นๆ

ของอย่างเดียวกัน หรืออาการกิริยาเดียวกัน คนหนึ่งมองเห็นแล้ว คิดปรุงแต่ไปในทางดีงาม เป็นประโยชน์ เป็นกุศล แต่อีกคนหนึ่งเห็นแล้ว คิดปรุงแต่งไปในทางไม่ดีไม่งาม เป็นโทษ เป็นอกุศล แม้แต่บุคคลคนเดียวกัน มองเห็นของอย่างเดียวกัน หรือประสบอารมณ์อย่างเดียวกัน แต่ต่างขณะ ต่างเวลา ก็อาจคิดเห็น ปรุงแต่งต่างออกไปครั้งละอย่าง คราวหนึ่งร้าย คราวหนึ่งดี ทั้งนี้โดยเหตุผลที่ได้กล่าวมาแล้ว

การทำใจ ที่ช่วยตั้งต้น และชักนำความคิดให้เดินไปในทางที่ดีงามและเป็นประโยชน์ เรียกว่าเป็นวิธีคิดแบบอุบายปลุกเร้าคุณธรรม หรือโยนิโสมนสิการแบบเร้ากุศลในที่นี้

โยนิโสมนสิการแบบเร้ากุศลนี้ มีความสำคัญ ทั้งในแง่ที่ทำให้เกิดความคิดและการกระทำที่ดีงามเป็นประโยชน์ในขณะนั้น และในแง่ที่ช่วยแก้ไขนิสัยความเคยชินร้ายๆของจิตที่ได้สั่งสมไว้แต่เดิม พร้อมกับสร้างนิสัยความเคยชินใหม่ๆ ที่ดีงามให้แก่จิตไปในเวลาเดียวกันด้วย

ในทางตรงข้าม หากปราศจากอุบายแก้ไขเช่นนี้ ความคิดและการกระทำของบุคคล ก็จะถูกชักนำให้เดินไปตามแรงชักจูงของความเคยชินเก่าๆ ที่ได้สั่งสมไว้เดิมเพียงอย่างเดียว และช่วยเสริมความเคยชินอย่างนั้นให้มีกำลังแรงมากยิ่งขึ้นเรื่อยไป

ตัวอย่างง่ายๆ อย่างหนึ่งที่มาในคัมภีร์ คือ การคิดถึงความตาย ถ้ามีอโยนิโสมนสิการ คือทำใจหรือคิดไม่ถูกวิธี ่ อกุศลธรรมก็จะเกิดขึ้น เช่น คิดถึงความตายแล้ว สลดหดหู่ เกิดความเหี่ยวแห้งใจบ้าง เกิดความหวั่นกลัวหวาดเสียวใจบ้าง ตลอดจนเกิดความดีใจ เมื่อนึกถึงความตายของคนทีเกลียดชังบ้าง เป็นต้น

แต่ถ้ามีโยนิโสมนสิการ คือ ทำใจหรือคิดให้ถูกวิธี ก็จะเกิดกุศลธรรม คือ เกิดความรู้สึกตื่นตัวเร้าใจ ไม่ประมาท เร่งขวนขวายปฏิบัติกิจหน้าที่ ทำสิ่งดีงามเป็นประโยชน์ ประพฤติปฏิบัติธรรม ตลอดจนรู้เท่าทันความจริงที่เป็นคติธรรมดาของสังขาร

ท่านกล่าวว่า การคิดถึงความตายอย่างถูกวิธี จะประกอบด้วยสติ (ความคุมคงใจไว้ หรือมีใจอยู่กับตัว ระลึกรู้สิ่งที่พึงเกี่ยวข้องจัดทำ)

สังเวค (ความรู้สึกเร้าใจ ได้คิด และสำนึกที่จะเร่งรีบทำการที่ควรทำ) และ

ญาณ (ความรู้เท่าทันธรรมดา หรือรู้ตามเป็นจริง) นอกจากนั้น ท่านได้แนะนำอุบายแห่งโยนิโสมนสิการเกี่ยวกับความตายไว้หลายอย่าง

.....................................................
https://dhammachati.blogspot.com/


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 11 ต.ค. 2016, 19:00 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
สมาชิกระดับสูงสุด
สมาชิกระดับสูงสุด
ลงทะเบียนเมื่อ: 24 ต.ค. 2006, 12:36
โพสต์: 33766

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว


ตัวอย่างวิธีคิดพอเห็นเค้าด้วย

ในพระไตรปิฎก ก็มีตัวอย่างง่ายๆ ที่พระพุทธเจ้าตรัสถึงบ่อยๆ คือเหตุปรารภหรือเรื่องราวกรณีอย่างเดียวกัน คิดมองไปอย่างหนึ่ง ทำให้ขี้เกียจ คิดมองไปอีกอย่างหนึ่ง ทำให้เกิดความขยันหมั่นเพียรพยายาม

ดังความในพระสูตรว่า

“ภิกษุทั้งหลาย เรื่องของผู้เกียจคร้าน (กุสีตวัตถุ) 8 อย่างเหล่านี้ 8 อย่างคืออะไร ?

1. ภิกษุมีงานที่จะต้องทำ เธอมีความคิดอย่างนี้ว่า เรามีงานที่จัก ต้องทำ เมื่อเราทำงานร่างกายก็จะเหน็ดเหนื่อย อย่ากระนั้นเลย เรานอน (เอาแรง) เสียก่อนเถิด คิดดังนี้แล้ว เธอก็นอนเสีย ไม่เริ่มระดม ความเพียร เพื่อบรรลุธรรมที่ยังไม่บรรลุ เพื่อเข้าถึงธรรมที่ยังไม่เข้า ถึง เพื่อประจักษ์แจ้งธรรมที่ยังไม่ประจักษ์แจ้ง...

2. อีกประการหนึ่ง ภิกษุทำงานเสร็จแล้ว เธอมีความคิดอย่างนี้ว่า เราได้ ทำงานเสร็จแล้ว และเมื่อเราทำงาน ร่างกายก็เหน็ดเหนื่อย อย่ากระนั้น เลย เราจะนอนพักละ คิดดังนี้แล้ว เธอก็นอนเสีย...

3. อีกประการหนึ่ง ภิกษุจะต้องเดินทาง เธอมีความคิดอย่างนี้ว่า เรา จักต้องเดินทาง เมื่อเราเดินทาง ร่างกายก็จะเหน็ดเหนื่อย อย่ากระนั้น เลย เรานอน (เอาแรง) เสียก่อนเถิด คิดดังนี้แล้วเธอก็นอนเสีย...

4. อีกประการหนึ่ง ภิกษุเดินทางเสร็จแล้ว เธอมีความคิดอย่างนี้ ว่า เราได้เดินทางเสร็จแล้ว และเมื่อเราเดินทาง ร่างกายก็เหน็ด เหนื่อยแล้ว อย่ากระนั้นเลย เรานอน (พัก) ละ คิดดังนี้แล้วเธอก็นอนเสีย...

ฯลฯ

(ลง 4 ข้อก็พอมองเห็นแนวทางแล้ว)

กรณีเดียวกันทั้งหมดนี้ คิดอีกอย่างหนึ่ง กลับทำให้เริ่มระดมความเพียร ท่านเรียกว่า เรื่องที่จะเริ่มระดมเพียร (อารัพภวัตถุ) แสดงไว้ 8 ข้อเหมือนกัน ใจความดังนี้

1. (กรณีที่จะต้องทำงาน...) ภิกษุคิดว่า เรามีงานที่จะต้องทำ และ ขณะเมื่อเราทำงาน การมนสิการคำสอนของพระพุทธเจ้าทั้งหลาย ก็จะทำไม่ได้ง่าย อย่ากระนั้น เลย เราเริ่มระดมความเพียรเสียก่อนเถิด เพื่อจะได้บรรลุธรรมที่ยังไม่ บรรลุ เพื่อเข้าถึงธรรมที่ยังไม่เข้าถึง เพื่อประจักษ์แจ้งธรรมที่ยัง ไม่ประจักษ์แจ้ง คิดดังนี้แล้ว ภิกษุนั้น ก็จึงเริ่มระดมความเพียร...

2. (กรณีที่ทำงานเสร็จแล้ว...) ภิกษุคิดว่า เราได้ทำงานเสร็จ แล้ว ก็แลขณะเมื่อทำงาน เรามิได้สามารถมนสิการคำสอนของพระพุทธเจ้าทั้ง หลาย อย่ากระนั้นเลย เราเริ่มระดมความเพียรเถิด...

3. (กรณีที่จะต้องเดินทาง)...ภิกษุคิดว่า เราจักต้องเดินทาง และขณะ เมื่อเราเดินทาง การมนสิการคำสอนของพระพุทธเจ้าทั้งหลาย ก็จะทำไม่ได้ ง่าย อย่ากระนั้นเลย เราเริ่มระดมความเพียรเสียก่อนเถิด....

4. (กรณีที่เดินทางเสร็จแล้ว)...ภิกษุคิดว่า เราได้เดินทางเสร็จแล้ว ก็แล ขณะเมื่อเดินทางเรามิได้สามารถมนสิการคำสอนของพระพุทธเจ้าทั้งหลาย อย่า กระนั้นเลย เราเริ่มระดมความเพียรเถิด...

.....................................................
https://dhammachati.blogspot.com/


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 12 ต.ค. 2016, 09:12 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
สมาชิกระดับ 19
สมาชิกระดับ 19
ลงทะเบียนเมื่อ: 25 ก.พ. 2011, 19:56
โพสต์: 1798


 ข้อมูลส่วนตัว


สัมมาทิฏฐิ เกิดได้ต้องเริ่มจากการฟังพระธรรม
ถ้าไม่มีการฟังพระธรรมหรือศึกษาพระพุทธพจน์ ก็ไม่ต้องกล่าวถึงโยนิโสมนสิการอะไร


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 12 ต.ค. 2016, 09:18 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
สมาชิกระดับสูงสุด
สมาชิกระดับสูงสุด
ลงทะเบียนเมื่อ: 24 ต.ค. 2006, 12:36
โพสต์: 33766

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว


ปฤษฎี เขียน:
สัมมาทิฏฐิ เกิดได้ต้องเริ่มจากการฟังพระธรรม
ถ้าไม่มีการฟังพระธรรมหรือศึกษาพระพุทธพจน์ ก็ไม่ต้องกล่าวถึงโยนิโสมนสิการอะไร


อ้างคำพูด:
ถ้าไม่มีการฟังพระธรรม


ไม่มีอะไรครับ แต่เหมือนไม่เคลียร์ เช่นปัจจุบันเราจะไปฟังธรรมจากผู้ใดใครกันครับ ... :b10:

.....................................................
https://dhammachati.blogspot.com/


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 14 ต.ค. 2016, 04:31 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
สมาชิกระดับ 19
สมาชิกระดับ 19
ลงทะเบียนเมื่อ: 25 ก.พ. 2011, 19:56
โพสต์: 1798


 ข้อมูลส่วนตัว


กรัชกาย เขียน:
ปฤษฎี เขียน:
สัมมาทิฏฐิ เกิดได้ต้องเริ่มจากการฟังพระธรรม
ถ้าไม่มีการฟังพระธรรมหรือศึกษาพระพุทธพจน์ ก็ไม่ต้องกล่าวถึงโยนิโสมนสิการอะไร


อ้างคำพูด:
ถ้าไม่มีการฟังพระธรรม


ไม่มีอะไรครับ แต่เหมือนไม่เคลียร์ เช่นปัจจุบันเราจะไปฟังธรรมจากผู้ใดใครกันครับ ... :b10:


จากผู้ที่กล่าวธรรมะ ซึ่งการจะรู้ว่าคำกล่าวนั้นเป็นธรรมะหรือไม่ก็ต้องมีการศึกษาเทียบเคียงจากพระไตรปิฎก รวมถึงพิจารณาว่าสิ่งที่ท่านผู้พูดพูดเป็นคำจริงมั้ยเป็นไปเพื่อละคลายความเห็นผิด ความถือมั่นตัวตนหรือไม่ เป็นไปเพื่อความเจริญงอกงามของปัญญาและกุศลหรือไม่ และเพื่อความดับอกุศลหรือไม่ คำพูดของพระพุทธเจ้าทุกคำเป็นไปเพื่อให้ผู้ฟังเกิดความเข้าใจเพื่อละคลายอกุศลมีความเห็นผิด เป็นต้น ถ้าคำใดฟังแล้วไม่ได้เกิดความเข้าใจอะไร ไม่ได้ช่วยให้ผู้ฟังเกิดปัญญา ไม่มีประโยชน์คำนั้นก็ไม่ควรฟัง


แสดงโพสต์จาก:  เรียงตาม  
กลับไปยังกระทู้  [ 31 โพสต์ ]  ไปที่หน้า 1, 2, 3  ต่อไป

เขตเวลา GMT + 7 ชั่วโมง


 ผู้ใช้งานขณะนี้

กำลังดูบอร์ดนี้: ไม่มีสมาชิก และ บุคคลทั่วไป 49 ท่าน


ท่าน ไม่สามารถ โพสต์กระทู้ในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ ตอบกระทู้ในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ แก้ไขโพสต์ของท่านในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ ลบโพสต์ของท่านในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ แนบไฟล์ในบอร์ดนี้ได้

ค้นหาสำหรับ:
ไปที่:  
Google
ทั่วไป เว็บธรรมจักร