วันเวลาปัจจุบัน 19 เม.ย. 2024, 06:41  



เขตเวลา GMT + 7 ชั่วโมง




กลับไปยังกระทู้  [ 1 โพสต์ ]    Bookmark and Share
เจ้าของ ข้อความ
โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 17 พ.ค. 2018, 04:33 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
อาสาสมัคร
อาสาสมัคร
ลงทะเบียนเมื่อ: 06 มี.ค. 2009, 10:48
โพสต์: 5091


 ข้อมูลส่วนตัว


อุณหิสสวิชัย ชัยชนะที่ไม่มีวันแพ้
.
ในสมุดบันทึกเล่มเก่า ๆ ของหลวงปู่ลีในสมัยที่ยังเป็นพระหนุ่ม แสดงความจริงใจที่ท่านเอาใจใส่ทั้งคันถธุระ ทั้งวิปัสสนาธุระในทางพระพุทธศาสนา ที่ขีดเขียนด้วยลายมือที่สวยงามบรรจงจับปากกาวางปลายหมึกสู่แผ่นกระดาษด้วยสติอันตั้งมั่น ท่านบันทึกเรื่อง อุณหิสสวิชัยสูตร ดังนี้
.
อัตถิ อุณหิสสะ วิชะโย ธัมโม โลเก อะนุตตะโร
สัพพะ สัตตะ หิตัตถายะ ตัง ตวัง คัณหาหิ เทวะเต
ปะริวัชเช ราชะทัณเฑ อะมะนุสเสหิ ปาวะเก
พยัคเฆ นาเค วิเสภูเต อะกาละ มะระเณนะ วา
สัพพัสมา มะระณา มุตโต ฐะเปตวา กาละมาริตัง
ตัสเสวะ อานุภาเวนะ โหตุ เทโว สุขี สะทา
สุทธะสีลัง สะมาทายะ ธัมมัง สุจะริตัง จะเร
ตัสเสวะ อานุภาเวนะ โหตุ เทโว สุขี สะทา
ลิกขิตัง จินติตัง ปูชัง ธาระณัง วาจะนังคะรุง
ปะเรสัง เทสะนัง สุตวา ตัสสะ อายุ ปะวัฑฒะตีติฯ
เรื่องการยืดอายุการตายออกไป พระพุทธองค์ทรงประทานพระคาถาให้เทวดาองค์หนึ่ง ชื่อ “เทพอุณหิส” ซึ่งตระหนักถึงเวลาต้องจุติลงมาเกิดในโลกมนุษย์ แต่ไม่อยากลงมาใคร่อยู่ในเทวโลกต่อ และกราบทูลขอต่อพระพุทธเจ้า ซึ่งพระองค์ก็ทรงเมตตาประทานพระคาถายืดอายุ ให้เทพอุณหิสจึงมีชีวิตยืนยาวอยู่ในเทวโลก
.
คาถาอุณหิสวิชัย แปลใจความว่า พระธรรมอันชื่อว่า อุณหิสวิชัยมีอยู่ เป็นธรรมอันยอด เยี่ยมในโลก ดูก่อนเทวดา!ท่านจงเรียนอุณหิสวิชัยธรรมนั้น เพื่อประโยชน์เกื้อกูลแก่สรรพสัตว์ พึงหลีกเว้นเสียได้ ซึ่งราชทัณฑ์ อมนุษย์ทั้งหลาย เพลิงไฟ เหล่าเสือ นาค สัตว์มีพิษร้าpรอดพ้น จากอกาลมรณะ (ความตายในเมื่อยังไม่ถึงเวลาอันสมควร) จากความตายทุกอย่าง ทุกประการ เว้นแต่กาลมรณะ (ความตายในเมื่อถึงกาลอันสมควร) ด้วยอานุภาพแห่งอุณหิสวิชัยธรรมนั้น ขอ เทพเจ้าจงเป็นผู้มีความสุขทุกเมื่อ (พระธรรมนี้) เอามาเขียนก็ดี นึกคิดก็ดี บูชาก็ดี ทรงจำก็ดี บอกกล่าวเคารพก็ดี ฟังที่ท่านแสดงแก่ผู้อื่นก็ดี จะทำให้มีอายุจำเริญแล
.
หลวงปู่ลี ท่านบันทึกและอธิบายความว่า “ผู้ใดมาถึงพระพุทธเจ้า พระธรรม พระสงฆ์ เป็นสรณะที่พึ่งแล้ว ผู้นั้นย่อมชนะได้ซึ่งความร้อน”
อุณหิสสะ คือ ความร้อนอันเกิดแก่ตน มีทั้งภายในและภายนอก ภายนอก มีเสือสางคาง แดง ภูตผี ปีศาจ ภายใน คือ กิเลส เป็นต้น
วิชัย คือความชนะ ผู้ที่มาน้อมสรณะทั้ง ๓ นี้เป็นที่พึ่งแล้ว ย่อมจะชนะความร้อนเหล่า นั้นไปได้หมดทุกอย่าง ที่เรียกว่า อุณหิสสะวิชัย
.
อุณหิสสะวิชโย ธัมโม โลเก อนุตตะโร พระธรรมเป็นของยิ่งในโลกทั้งสาม สามารถชนะซึ่งความร้อนอกร้อนใจอันเกิดแต่ภัยต่าง ๆ จะเว้นห่างจากอันตรายทั้งหลาย คืออาชญาของ พระราชา เสือ สาง นาค ยาพิษ ภูตผี ปีศาจ หากว่ายังไม่ถึงคราวถึงกาลที่จักตายแล้ว ก็จักพ้นไปได้ จากความตาย ด้วยอำนาจพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ ที่ตนน้อมเอาเป็นสรณะที่พึ่งที่นับถือนั้น
.
ลิขิตธรรม หลวงปู่ลี กุสลธโร วัดป่าภูผาแดง อ.หนองวัวซอ จ.อุดรธานี
คัดจากหนังสือ พระอริยเจ้าผู้เป็นดั่งเศรษฐีธรรม โดยพระมหาธีรนาถ อคฺคธีโร






เรื่อง ชีวิตนี้ ไม่นาน โลกอันนี้เพียงแต่เป็นทางผ่าน
เทศน์เมื่อ 4 เมษายน 2541

เรื่องดีขนาดไหน เรื่องไม่ดีขนาดไหน ผ่านไปแล้ว จะเป็นอดีตไปเสีย ถึงเรื่องปัจจุบันทั้งหมด ที่สุดก็จะต้องกลายเป็นเรื่องอดีตไป ผ่านไปทั้งนั้น ไม่มีอะไรที่จะไม่เป็นอดีต จึงว่าอะไรที่เป็นปัจจุบันนี่ อะไรที่คิดแล้ว ทำแล้ว พูดแล้ว หากเป็นอกุศล อันนั้นให้หลีก อันนั้นให้ระวัง คิดแล้ว ทำแล้ว พูดแล้ว เกิดความเศร้าหมอง อย่าไปคิด อย่าไปพูด อย่าไปทำ ทำแล้วเกิดความเศร้าหมอง ความเศร้าหมองนี้ฝังลึก ทั้ง ๆ ที่เรื่องทุกเรื่อไม่ได้มีอะไร เกิดขึ้นแล้วผ่านไป เกิดขึ้นแล้วก็ผ่านไป นาย ก. นาย ข. นายอะไรต่ออะไร อีกไม่เกิด 100 ปี เป็นอดีตไปหมด คนเดี๋ยวนี้อีกสัก 100 ปี ไม่มีในโลก เรา ๆ นี่ก็ไม่รู้เป็นอดีตมาแล้วกี่ครั้งกี่หน หาประมาณมิได้

จึงว่าแผ่นดินอันนี้ก้อนโลกอันนี้ เพียงแต่ว่าเป็นทางผ่านทางเดิน เต็มไปด้วยขวากด้วยหนาม คนไหนที่ตาดีหูดี คนนั้นไม่บาดเจ็บ คนไหนตาไม่ดีหูไม่ดี ไม่มีสติปัญญา คนนั้นจะมีแต่บาดแต่แผล คือมีอกุศลธรรมฝังแน่นอยู่ในจิตในใจ อกุศลธรรมจะหลุดไปได้ ไม่ใช่เพราะมีการเกิดการตายยาวนาน จะหลุดจะสิ้นจะหมดไปได้ ต้องอาศัย มีข้อปฏิบัติ มีสติ มีปัญญา ข้อปฏิบัติจึงมีความจำเป็น สติปัญญาจึงมีความจำเป็น ขาดข้อปฏิบัติไม่มีข้อปฏิบัติแล้ว สติปัญญาที่จะแก้อกุศลความเศร้าหมอง ที่เป็นอยู่ในจิตในใจนี่ ไม่มีทางที่จะแก้ให้หลุดไปได้

พระภาวนาวิสุทธิญาณเถร (หลวงปู่แบน ธนากโร)
วัดดอยธรรมเจดีย์ ต.ตองโขบ อ.โคกศรีสุพรรณ จ.สกลนคร





" หลักธรรมวินัยที่พระพุทธเจ้าทรงนำมาแสดงแนะนำสั่งสอนแก่พุทธบริษัทนั้น เป็นหลักสวากขาตธรรมที่ตรัสไว้ชอบแล้วด้วยความบริสุทธิ์ เป็นวิสุทธิธรรมหรือธรรมธาตุล้วน ๆ จากพระพุทโธดวงมหัศจรรย์เหนือโลกใด ๆ ในแดนแห่งสมมุติเพราะเป็นอมตธรรม ทรงแสดงเต็มเปี่ยมด้วยพระเมตตา มหาเมตตา ไม่มีมลทินโทษใด ๆ แก่สัตว์โลกทั้งมวลเป็นพระวิสุทธิคุณ เป็นอนันตคุณล้วนๆ แก่ผู้น้อมนำไปปฎิบัติเท่านั้น เพราะทรงรู้แจ้งแทงทะลุในแดนแห่งไตรภพ หรือในโลกไหน ๆ ทรงหยั่งทราบด้วยพระปรีชาญาณหมด ไม่มีสิ่งใดที่จะมาปิดบังลี้ลับในพระปรีชาญาณของพระองค์ได้เลย ในแดนแห่งหมื่นโลกธาตุ จากนั้นแล้วก็มีพระสาวกองค์พระอรหันต์ ท่านนำมาแสดงประกาศพระพุทธศาสนาแทนศาสดาด้วยปัญญาความรู้ชาญฉลาด เต็มเปี่ยมด้วยเมตตามหาคุณล้วน ๆ ไม่มีมารยาทหลอกล่อเพื่อวัตถุปัจัจยใด ๆทั้งสิ้น แสดงด้วยเมตตาธรรม ไม่มีโทษมลทิน ไม่มีแพ้มีชนะกับใคร ๆหรือผู้ใดทั้งนั้น ในแดนแห่งวัฎวนทั้งหมด

ถ้ายุคใดสมัยใด พุทธบริษัทสี่จะเป็นสงฆ์ คณะสงฆ์ หรือมนุษย์ทุกชนชั้น ถ้ายังตกอยู่ใต้อำนาจของกิเลสครอบงำจิตใจ อวดความรู้ความฉลาดเพราะได้รับการศึกษามามาก หรืออวดอำนาจวาสนาของตนเองก็ดี มาดำริเพื่อจะดัดแปลงแก้ไขหลักพระธรรมวินัย ให้ขึ้นกับพระสงฆ์ คณะสงฆ์ หรือให้ขึ้นกับบุคคลใดๆก็ดี ซึ่งพุทธบริษัทสี่เป็นปุถุชนยังตกอยู่ในอำนาจกิเลสครอบงำจิตใจ ถ้าไม่พิจารณาไคร่ครวญตรึกตรองให้รอบคอบ ตามหลักเหตุผลด้วยดีแล้ว กาลนั้นเวลานั้น ๆ โลกก็จะเกิดความวุ่นวายหาความสงบอบอุ่นร่มเย็นใจมีน้อยมาก ในสมัยปัจุจบันนี้มี พระธรรมวิสุทธิมงคล พ่อแม่ครูบาอาจารย์ท่านอาจารย์พระมหาบัว ญาณสัมปันโน เท่านั้นที่เป็นที่แน่ใจแสดงความมีเมตตาธรรมเป็นที่สุดธรรมล้วน ๆ "

____________________

หลวงปู่ทุย ฉันทกโร วัดดานวิกเวก (วัดดงสีชมภู ) อ.โซ่พิสัย จ.บึงกาฬ





พระพุทธเจ้าและอริยสงฆ์สาวกท่านมีอวัยวะทุกส่วนเหมือนกับพวกเรา
เป็นชาติมนุษย์เหมือนกัน ท่านก็สำเร็จได้ เราก็อาจทำสำเร็จได้เหมือนกัน
ให้พิจารณาอยู่เสมอว่าประเดี๋ยวไข้ ประเดี๋ยวแก่ ประเดี๋ยวตาย
อยู่อย่างนี้ทั้งโลก เพราะเป็นเรื่องของทุกข์ของโลก
ทางที่ดับทุกข์ ไม่ต้องเกิด แก่ เจ็บ ตาย
ก็ต้องบวชในพระพุทธศาสนาของพระพุทธเจ้า เดินตามทางที่ท่านชี้ไว้
ท่านชี้ไว้อย่างไร ก็เดินตามทางนั้น ก็อาจสำเร็จตามปรารถนา
เราทุกคนก็มีอวัยวะทุกส่วนสมบูรณ์ดุจพระพุทธองค์
ความคิดความประพฤติก็ไม่เสียหายอะไรสักอย่าง
ทำไมจึงไม่สำเร็จตามท่านได้
.
หลวงปู่ลี กุสลธโร วัดป่าภูผาแดง อ.หนองวัวซอ จ.อุดรธานี
คัดจากหนังสือ เศรษฐีธรรม




"คำสอนท่านพ่อลี"

.....จิต เปรียบเหมือนคน ร่างกาย เหมือนกับบ้าน ถ้าจิตไปอยู่ในที่อื่น ก็เท่ากับเราไม่ได้อยู่ในบ้านของเรา

การไปอยู่ในบ้านเขาย่อมไม่สุขสบายเหมือนกับเราอยู่ในบ้านของเราเอง.







"จงอย่าได้ประมาทในชีวิตของตน เพราะเราไม่รู้ว่าความตายนั้นจะมาถึงตัวเราเมื่อไร ไม่มีผู้ใดจะพยากรณ์ได้ถูก

เราพยากรณ์ได้แต่วันเกิดอันบิดามารดาเป็นผู้บอกให้เท่านั้น ฉะนั้น จึงของรีบสร้างคุณงามความดีของตนให้เกิดขึ้นในทวารทั้ง ๓ เสีย คือว่า กายทวาร วจีทวาร และมโมนทวาร จะทำจะพูดจะคิดสิ่งใด ก็จง ทำ พูด คิดแต่ในทางที่จะเป็นประโยชน์แก่ตนและผู้อื่นเถิด

เมื่อประพฤติปฏิบัติได้เช่นนี้แล้ว บุญกุศลใดที่ยังไม่เกิดขึ้นก็จะเกิดขึ้น ที่เกิดขึ้นแล้วก็จะเจริญภิญโญยิ่งๆ ขึ้นไป"

.....หลวงปู่กงมา จิรปุญฺโญ





"ประโยชน์ ๓ อย่าง ที่มนุษย์ควรบำเพ็ญ"

....คนเราเกิดมาต้องรู้จักทำประโยชน์ ถ้าไม่ทำประโยชน์ก็ไม่ใช่มนุษย์ เขาเรียกว่า หมานุษย์ พระพุทธองค์ท่านสอนมนุษย์ให้ทำประโยชน์ทั้ง ๓ ประการ คือ

๑. ประโยชน์ปัจจุบัน คือ ทำประโยชน์แก่โลก คือ แก่ส่วนรวม สิ่งใดเป็นประโยชน์ก็ให้พากันปรับปรุงพัฒนาขึ้นในสิ่งนั้นๆ ทั้งด้านวัตถุและจิตใจ และอย่าลืมทำประโยชน์ให้แก่ญาติพี่น้อง คือสงเคราะห์ซึ่งกันและกัน อันคำว่าญาตินี้ ไม่ใช่หมายความว่าทางสายโลหิตเท่านั้น แต่หมายถึงญาติทางโลกด้วย แล้วก็อย่าลืมทำประโยชน์แก่ตนเอง สิ่งใดที่เป็นประโยชน์แก่ตนก็ให้ทำขึ้น ที่มันไม่เป็นบาป ไม่เป็นโทษ ที่มีแต่ประโยชน์ในส่วนของบุญกุศลและคุณงามความดี

๒.ประโยคภายภาคหน้า คือ นับแต่กายแตกสลายแล้ว ต้องมีคติที่ไปเพราะยังมีกรรม ท่านจึงให้บำเพ็ญประโยชน์ไว้สำหรับเป็นที่พึ่งของเราเมื่อตายไปแล้ว

๓.ประโยชน์อย่างยิ่ง คือ พระนิพพานนั่งเอง ให้รู้จักดับกิเลส ความโลภ ความโกรธ ความหลง อย่าให้มีที่ใจของเรา.

"พระอาจารย์จวน กุลเชฏฺโฐ"





"ตีขวาน สอนธรรม"

หลวงปู่เจี๊ยะ จุนฺโท ท่านมีอุบายสอนธรรม เปรียบกับการตีขวานไว้ว่า......

"ตีขวานเราตีเล่นๆ นะ ไม่ได้ตีเพื่อยึดเหนี่ยว ถ้าเราไม่มีหลักไม่มีเกณฑ์ เราไม่เอา ออกกำลังไปวันๆ ตีขวานก็สอนได้ คนมันดื้อ คนมันด้าน ต้องคอยสับ คอยโขก คอยด่าว่าอยู่ตลอดเวลา ไม่อย่างนั้นมันไม่อยู่ไม่มีสติ เหมือนกับทำขวานเหมือนกัน เวลาเผาต้องเผาให้แดง แล้วค่อยตีๆ ตอนดำๆ ยังไม่ร้อนมันไม่ได้มีดไม่ได้ขวาน มันหักหมด ถ้าตีแดงๆ แล้วตีง่าย แต่ต้องรีบตีให้เร็วๆ บางครั้งบอกพระตีๆๆๆๆ เร็วๆๆๆ ก็เพราะกลัวมันดำ ถ้าดำเมื่อใดฝืนตี ก็แตก ก็หักใช่ไม่ได้ เสียเวลาแล้วก็ไม่ได้เป็นมีดเป็นขวานเสียดี

ด่าคนสอนคนก็ต้องกระหน่ำตามอุปนิสัยของคน บางคนหยาบก็ต้องสอนแบบหยาบๆ บางคนต้องออกแรงก็ต้องใช้แรง ไม่อย่างนั้นมันไม่ได้ดี ขนาดนั้นก็ยังเหลาะแหละปลิ้นปล้อนอยู่ตลอดเวลา ดูสิใจมันสอนยากขนาดไหน มนุษย์เรา พับผ่าสิ"






“การขอขมา”

การขอขมาก็ขอในใจนั่นแหละ เราไปทำอะไรใครเขาผิด เราก็อย่าไปทำอีก มันก็จบ ไม่ต้องมาตั้งนะโม มากล่าวคำขอขมา เราอย่าไปทำซ้ำซาก คำว่าขอขมานี้ก็เพื่อไม่ให้เราไปทำซ้ำซาก ให้เราสำนึกผิด ในพฤติกรรมของเรา แล้วเราไม่ต้องไปทำต่อ เพราะคนที่เขาถูกละเมิดนี้เขาไม่สนใจหรอก เขาอยู่ของเขาได้ จะไปล่วงเกินอะไรเขา ถ้าเขามีธรรมอยู่ในใจเขาไม่สนใจหรอก เขาถือว่าเป็นเรื่องธรรมดา มีในโลกนี้มีสรรเสริญ มีนินทาเป็นธรรมดา เวลาทำอะไรถูกใจเขา เขาก็สรรเสริญเรายกย่องเรา เวลาทำอะไรไม่ถูกใจเขา เขาก็ด่าเรา มันก็มีเท่านั้นจะมีอะไร ไปห้ามเขาได้ที่ไหน แต่คนที่มีธรรมอยู่ในใจนั้นไม่กังวล ไม่ต้องมาขอขมาไม่ต้องมีอะไร ทำอะไรผิด ถ้าสำนึกผิดแล้วแก้ไป อย่าไปทำมันอีกเท่านั้นล่ะ นี่คือหลักของการขอขมา ก็เพื่อที่จะได้ไม่ไปล่วงเกินผู้อื่นอีก ถ้ารู้ว่าการกระทำของเรานั้นมันเป็นการกระทำที่ไม่เหมาะไม่ควร ครั้งต่อไปก็อย่าไปทำมันเท่านั้นเอง มันก็จบ

นี่คือพูดเปรียบเทียบเรื่องของการรู้ธรรมที่ยังเป็นเปลือกกับการรู้ธรรมที่เป็นเนื้อมันต่างกันอย่างนี้ ดังนั้นเวลาเราไปวัดป่านี้ เราจะเห็นว่าการกระทำพิธีกรรมต่างๆ นี้แทบจะไม่มีกัน เพราะท่านไม่สนใจ เรื่องเปลือก ท่านจะเอาแต่เนื้อ แต่ถ้าเราไปอยู่วัดที่ยังไม่มีเนื้อ เขาก็มีแต่เปลือกให้เรากินกัน ตั้งนะโมกันอยู่นั่นแหละ ทำอะไรทีก็นะโมกันไปที มีแต่กล่าวคำถวาย มีแต่สวดสาธยายอะไรไปร้อยแปด พันประการ แต่ผลคือความสงบนี้ไม่เกิดขึ้นมาเลย ความสุขความปีติของใจไม่มีเลย เพราะไม่ได้เนื้อธรรม ได้แต่เปลือกธรรม แต่ไปวัดป่า วัดที่ไม่มีพิธีกรรมนี้ไปถึงก็แสดงธรรมกันเลย ขึ้นเวทีแสดงธรรม ถ้าตั้งจิตตั้งใจฟัง พอเข้าใจธรรมขึ้นมาก็จะเกิดความปีติเกิดความสุขใจขึ้นมา

นี่คือเรื่องของธรรมที่มีทั้ง ๒ รูปแบบ ธรรมที่เป็นเปลือกและธรรมที่เป็นเนื้อ ตอนต้นเราก็ต้องเจอเปลือกก่อน เป็นธรรมดา เราก็ต้องศึกษาฟังเทศน์ฟังธรรมไปก่อน แล้วก็ถูกสอนให้ทำพิธีอะไรต่างๆ ไป ให้ทำวัตรเช้าเย็น เวลาถวายของก็ต้องมีการกล่าว เวลาขอศีลก็ต้องมีการกล่าวคำขอศีล ศีลมีแค่ ๕ ข้อแต่กล่าวกันไม่รู้กี่ ๑๐๐ ครั้ง ขอไปทำไม ๕ ข้อ ขอหนเดียวมันก็จบแล้ว การขอเพื่อให้รู้ว่ามีอะไรบ้างเท่านั้นเอง ไม่รู้จึงมาถามพระว่า ศีล ๕ มีอะไรบ้าง จะได้เอาไปรักษา พอรู้แล้วก็ไม่ต้องมาขออีกแล้ว ขอไปทำไม มันก็ไม่ได้มากไปกว่า ๕ ข้อนี้ ขอ ๕๐๐ ครั้งมันก็ได้ ๕ ข้อนี่แหละ ขอหนเดียวก็พอ ขอแล้วขอให้รักษาให้มันได้ ดีกว่าขอ ๕๐๐ ครั้งแล้วรักษาไม่ได้ แม้แต่ข้อเดียว นี่คือพูดเปรียบเทียบให้ฟังเรื่องของเปลือกกับเรื่องของเนื้อ เพื่อจะได้มีอะไรเป็นเครื่องพิจารณา เป็นเครื่องที่จะทำให้เรารู้ว่าเรากำลังปฏิบัติถูกหรือปฏิบัติไม่ถูก เรายังติดอยู่กับเปลือกหรือเราติดอยู่กับเนื้อแล้ว

นี่คือเรื่องของการเข้าหาธรรมในวันที่เรามีวันหยุดเพิ่มขึ้นมาวันหนึ่ง ซึ่งมีเวลาน้อยมาก ปีหนึ่งที่เราจะมีวันหยุด ที่เราจะเข้าวัดเพื่อเข้าหาธรรมะของพระพุทธเจ้านี้มีไม่กี่วันมีไม่ถึง ๓๐ ในปีหนึ่งที่มี ๓๖๕ วันนี้ เรามีเวลาเข้าวัดสัก ๓๐ วันได้หรือไม่ คิดดูก็แล้วกันว่ามันมากหรือน้อยเพียงอย่างไร แล้วผลที่เราจะได้รับจากการปฏิบัติมันจะได้รับมากน้อยเพียงอย่างไร ดูคนที่เขาอยู่วัดตลอดเวลา แล้วก็ไม่ใช่อยู่แค่ ปี ๒ ปี อยู่กันเป็น ๑๐ ปี นั่นแหละคนเหล่านี้แหละเป็นผู้ที่จะได้รับผล ที่เกิดจากการปฏิบัติธรรม แต่ถ้าเข้าวัดกันปีละไม่กี่วัน อันนี้โอกาสที่จะได้รับผลนี้ มันน้อยมาก ก็ขอให้นำเอาเรื่องราวที่ได้ยินได้ฟังในวันนี้ไปพินิจพิจารณาและปฏิบัติเพื่อความสุขและความเจริญในธรรมที่จะตามมาต่อไป.

ธรรมะบนเขา วันที่ ๒ พฤษภาคม ๒๕๕๙

“ช่วงเวลาที่สำคัญ”

พระอาจารย์สุชาติ อภิชาโต






"เราแต่ละคนมีบุญ มีกรรม มีบารมี มาไม่เท่ากัน"

คนบางคนมีบุญบารมีมากในอดีต พอได้มาฟังเทศน์ มาศึกษาเพียงครั้ง หรือสองครั้งก็สละทุกอย่างได้ ออกบวชได้เลยก็มี ดังนั้น เหตุของการดำเนินมันขึ้นอยู่กับหลายเหตุหลายปัจจัยด้วยกัน ทั้งบุญบารมี ทั้งภาระ ทั้งกรรมเก่า มันอาจจะมาขัดมาขวาง ถ้าเป็นกรรมเก่า มันอาจจะมาขัดขวาง ถ้าเป็นบุญวาสนาบารมี มันก็จะมาสนับสนุน

เราแต่ละคนมีบุญ มีกรรม มีบารมี มาไม่เท่ากันเพราะในอดีตชาติเราทำบุญทำบาปมาไม่เท่ากัน มันถึงส่งผลให้มีบารมีไม่เหมือนกัน ฉะนั้นรูปแบบของแต่ละคนจึงมีไม่เหมือนกันในการที่จะได้เข้าสู่ทางธรรมของพระพุทธเจ้า

อย่างพระพุทธเจ้า กว่าจะออกบวชได้ก็ต้องอายุ ๒๙ ไปแล้ว แต่สมัยนี้ ครูบาอาจารย์บางรูป ท่านได้บวชตั้งแต่ยังเป็นสามเณร อย่างสมเด็จพระสังฆราช ท่านบวชตั้งแต่เป็นสามเณร แต่ละคนมีภาระไม่เหมือนกัน

หลวงปู่มั่นท่านก็ได้บวชสามเณรมาก่อน แล้วก็สึกกลับไปช่วยงานที่บ้าน ไปทำนา ทำไร่ พอโตขึ้นท่านก็สามารถออกมาบวชอีกได้ บวชแล้วท่านก็ไม่สามารถไปบำเพ็ญตามลำพังได้ เพราะท่านมีลูกศิษย์ลูกหาเยอะ ท่านก็คอยสงเคราะห์ไป จนอายุเกือบ ๖๐ มั้ง ท่านถึงได้ไปปลีกวิเวกอยู่ที่เชียงใหม่คนเดียว ระยะหว่างอายุ ๖๐ -๗๐ ปี นี้ตามประวัติท่านก็ไปบำเพ็ญที่เชียงใหม่จนบรรลุธรรมขั้นสูงสุด ท่านก็ต้องใช้เวลานานพอสมควรกว่าจะบรรลุได้

ฉะนั้น แต่ละคนมีวิถีการดำเนินชีวิตเพื่อให้หลุดพ้นจากความทุกข์นี้ไม่เหมือนกัน เพราะวาสนา บุญบารมี หรือกรรมที่ได้ทำมานี้มีไม่เหมือนกันนั่นเอง เราก็ต้องไปตามวิถีของเรา ดูที่ตัวเรา ดูที่ความสามารถของเรา ดูที่ภาระความผูกพันธ์ของเรา ที่เราต้องรับต้องแบกอยู่นี้ว่า เราปลดเปลื้องได้ช้าหรือได้เร็ว ก็ทำไป ข้อสำคัญอย่าไปทุกข์กับมัน เราต้องยอมรับสภาพของเรา บางทีความอยากของเรา อยากจะไปให้เร็ว อยากจะไปให้ได้มาก แต่มีอุปสรรคมันก็จะทำให้เราทุกข์ไปเปล่าๆ โดยไม่เกิดประโยชน์อะไร.

ธรรมะบนเขา

วันที่ ๗ ธันวาคม ๒๕๕๖

พระอาจารย์สุชาติ อภิชาโต


แสดงโพสต์จาก:  เรียงตาม  
กลับไปยังกระทู้  [ 1 โพสต์ ] 

เขตเวลา GMT + 7 ชั่วโมง


 ผู้ใช้งานขณะนี้

กำลังดูบอร์ดนี้: ไม่มีสมาชิก และ บุคคลทั่วไป 60 ท่าน


ท่าน ไม่สามารถ โพสต์กระทู้ในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ ตอบกระทู้ในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ แก้ไขโพสต์ของท่านในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ ลบโพสต์ของท่านในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ แนบไฟล์ในบอร์ดนี้ได้

ค้นหาสำหรับ:
ไปที่:  
Google
ทั่วไป เว็บธรรมจักร