วันเวลาปัจจุบัน 20 เม.ย. 2024, 08:27  



เขตเวลา GMT + 7 ชั่วโมง


กฎการใช้บอร์ด


“อภิธรรม (สันสกฤต: abhidharma) หรืออภิธัมมะ (บาลี: abhidhamma) เป็นชื่อปิฎกศาสนาพุทธฉบับหนึ่งในปิฎกทั้งสามฉบับที่รวมเรียก "พระไตรปิฎก" อภิธรรมแปลว่าธรรมอันยิ่ง ปิฎกฉบับอภิธรรมนั้นเรียก "พระอภิธรรมปิฎก" ซึ่งว่าด้วยประมวลหลักธรรมและคำอธิบายที่เป็นหลักวิชาล้วนๆ ไม่มีความเกี่ยวข้องกับเหตุการณ์และบุคคลเลย”



กลับไปยังกระทู้  [ 5 โพสต์ ]    Bookmark and Share
เจ้าของ ข้อความ
โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 13 ก.ค. 2021, 04:53 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
Moderators-1
Moderators-1
ลงทะเบียนเมื่อ: 24 พ.ค. 2011, 14:20
โพสต์: 8123


 ข้อมูลส่วนตัว




20190624_105055.jpg
20190624_105055.jpg [ 212.11 KiB | เปิดดู 2078 ครั้ง ]
https://dhammaway.wordpress.com/2013/04 ... l-miracle/


เรื่องที่ถูกกล่าวพาดพิงถึงในบทตอนที่ผ่านมา ซึ่งควรชี้แจงเพิ่มเติม ยังมีอีกหลายเรื่อง ในที่นี้ เห็นควรทำความเข้าใจเกี่ยวกับ เรื่องฤทธิ์ ปาฏิหาริย์ และ เรื่องเทวดาหรือเทพเจ้าต่างๆ ซึ่งรวมอยู่ในหัวข้อใหญ่เดียวกันคือ
โค้ด:
เรื่องเหนือสามัญวิสัย
ความจริง เรื่องเหนือสามัญวิสัยมีขอบเขตกว้างขวาง ครอบคลุมถึงเรื่องอื่นจากสองอย่างนั้นด้วย แต่ในที่นี้ จะกล่าวเฉพาะสองเรื่องนั้น โดยฐานเป็นสิ่งที่เกี่ยวข้องกับสิ่งที่กำลังพิจารณา

ถ้าถามว่า ในทัศนะของพระพุทธศาสนา อิทธิปาฏิหารย์ ก็ดี เทวดา หรือเทพเจ้าต่างๆ ก็ดี มีจริงหรือไม่ และถ้าตอบตามหลักฐานในคัมภีร์มีพระไตรปิฎก เป็นต้น โดยถือตามตัวอักษร ก็ต้องว่า “มี” หลักฐานที่จะยืนยันคำตอบนี้ มีอยู่มากมายทั่วไปในคัมภีร์ จนไม่จำเป็นจะต้องยกมาอ้างอิง

อย่างไรก็ตาม ปัญหาเกี่ยวกับความมีหรือไม่มี และจริงหรือไม่จริงของสิ่งเหล่านี้ เป็นสิ่งยากที่จะทำให้คนทั้งหลายตกลงยอมรับคำตอบเป็นอย่างหนึ่งอย่างเดียวกันได้ และหลายท่านมองเห็นโทษของความเชื่อถือในสิ่งเหล่านี้ว่าทำให้เกิดผลเสียหายมากมายหลายประการ จึงได้มีปราชญ์บางท่านพยายามแปลความหมายของสิ่งเหล่านี้ ให้เห็นนัยที่ลึกซึ้งลงไปอย่างน่าสนใจ

สำหรับในที่นี้ จะไม่ขอยุ่งเกี่ยวกับการตีความหรือแปลความหมายใดๆ เลย เพราะเห็นว่าไม่มีความจำเป็น แม้จะถือตรงตามตัวอักษรว่าสิ่งเหล่านี้มีและเป็นจริงอย่างนั้น พระพุทธศาสนาก็มีหลักการที่ได้วางไว้แล้วอย่างเพียงพอที่จะปิดกั้นผลเสีย ซึ่งจะพึงเกิดขึ้น ทั้งจากการติดข้องอยู่กับการหาคำตอบว่ามีหรือไม่ จริงหรือไม่จริง และทั้งจากความเชื่อถืองมงายในสิ่งเหล่านั้น

พูดอีกอย่างหนึ่งว่า มนุษย์จำนวนมากมาย ตั้งแต่สมัยโบราณจนถึงปัจจุบัน มีความเชื่อถือ หรือไม่ก็หวั่นเกรงต่ออำนาจผีสางเทวดา สิ่งศักดิ์สิทธิ์อิทธิปาฏิหาริย์ต่างๆ พระพุทธศาสนากล้าท้าให้สิ่งเหล่านั้นมีจริงเป็นจริง โดยประกาศอิสรภาพให้แก่มนุษย์ท่ามกลางความมีอยู่ของสิ่งเหล่านั้น

พระพุทธศาสนาได้วางหลักการต่างๆ ไว้ ที่จะทำให้มนุษย์ได้รับแต่ผลดีในการเกี่ยวข้องกับเรื่องเหนือสามัญวิสัย อย่างน้อยก็ให้มีผลเสียน้อยกว่าการที่จะมัวไปวุ่นวายอยู่กับปัญหาว่าสิ่งเหล่านั้นมีจริงหรือไม่ จุดสำคัญในเรื่องนี้อยู่ที่ว่า เราเข้าใจหลักการที่พระพุทธศาสนาวางไว้ และได้นำมาใช้ปฏิบัติกันหรือไม่

สรุปความเบื้องต้นในตอนนี้ว่า พระพุทธศาสนาไม่สนใจกับคำถามว่า อิทธิปาฏิหาริย์มีจริงหรือไม่ เทวดามีจริงหรือไม่ และไม่วุ่นวาย ไม่ยอมเสียเวลากับการพิสูจน์ความมีจริงเป็นจริงของสิ่งเหล่านี้เลย

สิ่งที่พระพุทธศาสนาสนใจ ก็คือ มนุษย์ควรมีท่าที และควรปฏิบัติต่อสิ่งเหล่านั้นอย่างไร พูดอีกอย่างหนึ่งว่า สำหรับพระพุทธศาสนา ปัญหาว่าผีสางเทวดา อำนาจลึกลับ อิทธิฤทธิ์ปาฏิหาริย์ มีอยู่จริงหรือไม่ ไม่สำคัญเท่ากับปัญหาว่า ในกรณีที่มีอยู่จริง สิ่งเหล่านั้นมีฐานะอย่างไรต่อการดำรงชีวิตของมนุษย์ และอะไรคือความสัมพันธ์อันถูกต้อง ระหว่างมนุษย์กับสิ่งเหล่านั้น

.....................................................
พระธรรมคำสอน บัญญัติ ตรัส ไว้ดีแล้ว ไม่ต้องลด ไม่ต้องเพิ่ม ไม่ต้องแก้ไข ใดๆ ทั้งสิ้น
โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 13 ก.ค. 2021, 05:02 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
Moderators-1
Moderators-1
ลงทะเบียนเมื่อ: 24 พ.ค. 2011, 14:20
โพสต์: 8123


 ข้อมูลส่วนตัว


อาจมีบางท่านแย้งว่า ถ้าไม่พิสูจน์ให้รู้แน่เสียก่อนว่ามีจริงหรือไม่ จะไปรู้ฐานะและวิธีปฏิบัติต่อสิ่งเหล่านั้นได้อย่างไร ก่อนจะตอบ ควรแย้งกลับเสียก่อนว่า เพราะมัวเชื่อถือและยึดมั่นอยู่ว่าจะต้องพิสูจน์เสียก่อนนี้แหละ จึงได้เกิดข้อผิดพลาดในทางปฏิบัติเกี่ยวกับเรื่องเหล่านี้ขึ้นแล้วมากมาย โดยที่จนกระทั่งบัดนี้ ก็ยังพิสูจน์กันไม่เสร็จ คำตอบในเรื่องนี้ แยกออกได้เป็นเหตุผล ๒ ข้อใหญ่

ประการแรก เรื่องเหนือสามัญวิสัยเหล่านี้ ทั้งเรื่องอิทธิฤทธิ์ปาฏิหาริย์ก็ดี เทพไท้เทวาก็ดี จัดเข้าในประเภทสิ่งลึกลับ ที่พูดอย่างรวบรัดตามความหมายแบบชาวบ้านว่า พิสูจน์ไม่ได้ คือเอามาแสดงให้เห็นจริงจนต้องยอมรับโดยเด็ดขาดไม่ได้ ทั้งในทางบวกและในทางลบ

หมายความว่า ฝ่ายที่เชื่อ ก็ไม่อาจพิสูจน์จนคนทั่วไปเห็นจะแจ้ง จนหมดสงสัย ต้องยอมรับกันทั่วทั้งหมด ฝ่ายที่ไม่เชื่อ ก็ไม่สามารถพิสูจน์ให้เห็นชัดแจ้งเด็ดขาดลงไป จนไม่ต้องเหลือเยื่อใยไว้ในใจของคนอื่นๆ ว่ายังอาจจะมี ทั้งสองฝ่ายอยู่เพียงขั้นความเชื่อ คือ เชื่อว่ามี หรือเชื่อว่าไม่มี หรือไม่เชื่อว่ามี (ถึงว่าได้เห็นจริง ก็ไม่สามารถแสดงให้คนอื่นเห็นจริงอย่างนั้นด้วย)

ยิ่งกว่านั้น ในสภาพที่พิสูจน์อย่างสามัญไม่ได้นี้ สิ่งเหล่านี้ยังมีลักษณะพิเศษอีกอย่างหนึ่ง คือ เป็นของผลุบๆ โผล่ๆ หรือลับๆ ล่อๆ หมายความว่า บางทีมีเค้าให้ตื่นใจว่าคราวนี้ต้องจริง แต่พอจะจับให้มั่น ก็ไม่ยอมให้สมใจจริง ครั้นทำบางอย่างได้สมจริง ก็ยังมีแง่ให้เคลือบแคลงต่อไป เข้าแนวที่ว่า ยิ่งค้น ก็ยิ่งลับ ยิ่งลับ ก็ยิ่งล่อให้ค้น ค้นตามที่ถูกล่อ ก็ยิ่งหลง แล้วก็หมกมุ่นวนเวียนอยู่กับสิ่งเหล่านั้น จนชักจะเลื่อนลอยออกไปจากโลกของมนุษย์

ในเมื่อเป็นสิ่งที่ไม่อาจพิสูจน์ เป็นสิ่งลับล่อ และมักทำให้หลงใหลเช่นนี้ การมัววุ่นวายกับการพิสูจน์สิ่งเหล่านั้น ย่อมก่อให้เกิดโทษหลายอย่าง ทั้งแก่บุคคลและสังคม

นอกจากเสียเวลาและเสียกิจการเพราะความหมกมุ่นวุ่นวายแล้ว เมื่อต้องมัวรอกันอยู่จนกว่าจะพิสูจน์ได้ว่ามีจริงหรือไม่มี และก็พิสูจน์กันไม่เสร็จสักที ผู้ที่เชื่อและไม่เชื่อ ก็ต้องมาทุ่มเถียงหาทางหักล้างกัน แตกสามัคคีทะเลาะวิวาทกันเพราะเรื่องที่ไม่ชัดเจน และในระหว่างนั้น แต่ละพวกละฝ่ายต่างก็ปฏิบัติต่อสิ่งเหล่านั้นไปตามความเชื่อและไม่เชื่อของตน ไม่มีโอกาสที่จะแก้ไขการปฏิบัติต่างๆ ที่เกิดโทษก่อผลเสียแก่ชีวิตและสังคม เพราะต้องรอให้พิสูจน์เสร็จก่อน จึงจะยุติการปฏิบัติให้ลงเป็นอันเดียวกันได้ ซึ่งก็ยังพิสูจน์กันไม่เสร็จจนบัดนี้ จึงเป็นอันต้องยอมรับผลเสียกันอย่างนี้เรื่อยไปไม่เห็นที่สิ้นสุด

ถ้าหากไม่ยอมรับ หรือไม่ยอมรอ ก็ต้องใช้วิธีบังคับข่มเหงกัน โดยฝ่ายที่เชื่อบังคับฝ่ายที่ไม่เชื่อให้ปฏิบัติอย่างตน หรือฝ่ายที่ไม่เชื่อบังคับฝ่ายที่เชื่อไม่ให้ปฏิบัติตามความเชื่อของเขา

ดังจะเห็นได้ในลัทธินิยมทางการเมือง และระบอบการปกครองบางอย่าง ที่ยึดมั่นว่าตนนิยมวิธีวิทยาศาสตร์ เมื่อผู้ปกครองในระบบนั้นเห็นว่าความเชื่อในสิ่งเหล่านี้เป็นของเหลวไหลงมงาย เมื่อเขาจับหลักในเรื่องนี้ไม่ถูก และหาทางออกให้แก่ประชาชนไม่ได้ แต่ต้องการทำให้ประชาชนปฏิบัติตามลัทธินิยม (คือความเชื่อ) ของเขา ก็ต้องใช้วิธีบังคับให้ประชาชนเลิกปฏิบัติตามความเชื่อของประชาชน หรือปลุกเร้าป้อนความเชื่อในทางตรงข้าม คือความเชื่อว่าสิ่งเหล่านั้นไม่มีจริง แก่ประชาชน หรือทำทั้งสองอย่าง

แต่วิธีการปิดกั้นบังคับ หรือปลุกเร้านี้ เป็นการทิ้งช่องว่างอันกว้างใหญ่ไว้ เพราะมิใช่เป็นการแก้ไขที่ต้นเหตุ คือมิได้ชำระสัตว์ผู้ยังไม่ข้ามพ้นความสงสัย เพียงแต่เก็บซ่อนเอาเชื้อและแรงกดดันอัดไว้

.....................................................
พระธรรมคำสอน บัญญัติ ตรัส ไว้ดีแล้ว ไม่ต้องลด ไม่ต้องเพิ่ม ไม่ต้องแก้ไข ใดๆ ทั้งสิ้น


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 13 ก.ค. 2021, 05:03 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
Moderators-1
Moderators-1
ลงทะเบียนเมื่อ: 24 พ.ค. 2011, 14:20
โพสต์: 8123


 ข้อมูลส่วนตัว


ตราบใดอำนาจบังคับและแรงปลุกเร้ายังเข้มแข็ง ก็ยังข่มคุมไว้ได้ แต่เมื่อใดอำนาจบังคับและแรงปลุกเร้าอ่อนแอคลายจางลง เชื้อและแรงกดดันนั้น ก็มีโอกาสที่จะโผล่ออกงอกงามเฟื่องฟูได้ต่อไป และเมื่อถึงเวลานั้น การปฏิบัติในเรื่องเหล่านี้ ก็จะเป็นไปอย่างงมงาย ขาดหลัก ปราศจากทิศทาง ทำให้เกิดผลเสียได้เหมือนอย่างเดิมอีก โดยมิได้รับการแก้ไขแต่อย่างใด

อีกประการหนึ่ง ในเมื่อสิ่งเหล่านี้อยู่เพียงในระดับแห่งความเชื่อของปุถุชน ก็ย่อมผันแปรกลับกลายได้ ดังจะเห็นได้ว่า บางคนเคยไม่เชื่อถือสิ่งเหนือสามัญวิสัยเหล่านี้เลย (คือ เชื่อว่าสิ่งเหล่านี้ไม่มีไม่เป็นจริง) และดูถูกดูหมิ่นความเชื่อนั้นอย่างรุนแรง ต่อมา ได้ประสบเหตุการณ์ลับล่อที่เป็นเงื่อนต่อแห่งความเชื่อนั้นเข้า ก็กลับกลายเป็นคนที่มีความเชื่ออย่างปักจิตฝังใจตรงข้ามไปจากเดิม และเพราะเหตุที่ไม่มีหลักส่องนำทางในการปฏิบัติต่อสิ่งเหล่านั้น ก็กลายเป็นผู้หมกมุ่นหลงใหลในสิ่งเหล่านั้น ยิ่งไปกว่าคนอื่นๆ อีกมากมาย ที่เขาเชื่ออย่างนั้นแต่เดิมมา

ในทำนองเดียวกัน บางคนที่เคยเชื่อถือมั่นคงอยู่ก่อน ต่อมา ได้ประสบเหตุการณ์ที่ส่อว่าสิ่งที่เชื่อจะไม่เป็นไปสมจริง หรือไม่แน่นอน ความเชื่อนั้นก็กลับสั่นคลอนไป หรือบางทีอาจกลายเป็นผู้ไม่เชื่อไปเสียก็มี

ในกรณีเหล่านี้ มนุษย์ทั้งหลายล้วนแต่มัววุ่นวายกับปัญหาว่า มีหรือไม่มี จริงหรือไม่จริง เชื่อหรือไม่เชื่อ เท่านั้น พากันขาดหลักการในทางปฏิบัติ ที่จะเตรียมป้องกันผลเสียต่อชีวิตและสังคมจากความเชื่อหรือไม่เชื่อของพวกตน พระพุทธศาสนาเป็นศาสนาแห่งการปฏิบัติ มุ่งสอนสิ่งที่ทำได้ ให้มนุษย์ได้รับประโยชน์พอกับทุกระดับแห่งความพร้อม หรือความแก่กล้าสุกงอมของตนๆ

สำหรับเรื่องเหนือสามัญวิสัยเหล่านี้ พระพุทธศาสนาก็ได้วางหลักการในทางปฏิบัติไว้อย่างชัดเจนว่า เมื่อสิ่งเหล่านั้นมีจริง มนุษย์ควรวางตัวหรือปฏิบัติต่อสิ่งเหล่านั้นอย่างไร และที่วางตัวหรือปฏิบัติอย่างนั้นๆ ด้วยเหตุผลอะไร เหมือนดังพูดว่า ท่านจะเชื่อหรือไม่เชื่อก็ตาม แต่ท่านควรปฏิบัติต่อสิ่งนั้นให้ถูกต้อง

ผู้ที่เชื่อก็ตาม ไม่เชื่อก็ตาม สามารถและสมควรทำตามหลักปฏิบัติที่พระพุทธศาสนาแนะนำไว้นี้ได้ เพราะตามหลักปฏิบัตินี้ ทั้งผู้เชื่อและผู้ไม่เชื่อ จะประพฤติตนต่อสิ่งเหล่านั้นอย่างแทบไม่มีอะไรแตกต่างกันเลย จะผิดแปลกกันบ้าง ก็เพียงในสิ่งหยุมหยิมเล็กน้อยเท่านั้น

นอกจากนั้น ยังเป็นวิธีปฏิบัติที่ทำให้เกิดผลดีแก่ทุกฝ่าย โดยที่ทั้งผู้เชื่อและไม่เชื่อ ต่างก็มีความเอื้อเฟื้อเอื้อเอ็นดูต่อกัน ผู้ที่เชื่อ ก็ปฏิบัติไปโดยไม่เกิดผลเสียแก่ชีวิตและสังคม ผู้ไม่เชื่อ ก็สามารถปฏิบัติต่อผู้ที่เชื่อได้ถูกต้อง และสามารถแนะนำผู้ที่เชื่อ ให้ปฏิบัติต่อสิ่งที่เขาเชื่อในทางที่จะเป็นประโยชน์ ทั้งสองฝ่ายต่างมีเมตตา เคารพซึ่งกันและกัน

หลักการในทางปฏิบัติ หรือความเป็นศาสนาแห่งการปฏิบัตินี้แหละ ที่เป็นคุณพิเศษของพระพุทธศาสนา ซึ่งพระพุทธศาสนาได้ริเริ่มขึ้นใหม่ อันทำให้ต่างจากศาสนาปรัชญาทั้งหลายอื่น ตลอดจนลัทธินิยมอุดมการณ์ทั้งหลาย แม้ในสมัยปัจจุบัน

หลักการจำเพาะในกรณีนี้คือ สำหรับสิ่งที่ไม่อาจพิสูจน์ และมิใช่ธรรมสำหรับเข้าถึง ให้ใช้การวางท่าทีหรือวิธีปฏิบัติที่ถูกต้อง

เมื่อคนทั้งหลายปฏิบัติตามหลักการที่พระพุทธศาสนาแนะนำไว้แล้วอย่างนี้ ถ้ายังมีคนกลุ่มใดสนใจที่จะค้นคว้าพิสูจน์ความมีจริงเป็นจริงของสิ่งเหล่านี้ต่อไป ก็นับว่าเป็นงานอดิเรกของคนเหล่านั้น ซึ่งคนทั่วไปอาจวางใจเป็นกลาง และปล่อยให้เขาทำไป เท่าที่ไม่ก่อให้เกิดผลเสียใดๆ แก่สังคม เปรียบได้กับนักค้นคว้าวิจัยในวิชาการสาขาต่างๆ อย่างอื่นๆ

.....................................................
พระธรรมคำสอน บัญญัติ ตรัส ไว้ดีแล้ว ไม่ต้องลด ไม่ต้องเพิ่ม ไม่ต้องแก้ไข ใดๆ ทั้งสิ้น


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 13 ก.ค. 2021, 05:07 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
Moderators-1
Moderators-1
ลงทะเบียนเมื่อ: 24 พ.ค. 2011, 14:20
โพสต์: 8123


 ข้อมูลส่วนตัว


เท่าที่กล่าวมา เห็นได้ชัดอยู่แล้วว่า เหตุผลในข้อแรก มุ่งที่ประโยชน์ในทางปฏิบัติของมนุษย์ทั้งหลาย อย่างไรก็ตาม การที่พระพุทธศาสนาไม่สนใจในปัญหาเกี่ยวกับความมีอยู่จริงหรือไม่ ของฤทธิ์ปาฏิหาริย์และเทพเจ้าทั้งหลาย จนถึงขั้นที่ว่า เมื่อวางท่าทีและปฏิบัติตนถูกต้องแล้ว ใครจะสนใจค้นคว้าพิสูจน์เรื่องนี้ต่อไป ก็ปล่อยเขาไปตามเรื่องนั้น ท่าทีเช่นนี้ย่อมเกี่ยวเนื่องถึงเหตุผลประการที่สอง ซึ่งสัมพันธ์โดยตรงกับหลักการขั้นพื้นฐานของพระพุทธศาสนาด้วย กล่าวคือ ความมีอยู่จริงหรือไม่ของสิ่งเหล่านี้ ไม่กระทบต่อหลักการสำคัญของพระพุทธศาสนา

หมายความว่า ถึงแม้ว่าอิทธิฤทธิ์ปาฏิหาริย์และเทพเจ้าจะมีจริง แต่การปฏิบัติตามหลักการ และการเข้าถึงจุดหมายของพระพุทธศาสนา ย่อมเป็นไปได้ โดยไม่ต้องเกี่ยวข้องกับสิ่งเหนือสามัญวิสัยทั้งสองประเภทนั้นแต่ประการใดเลย

โค้ด:
เรื่องอิทธิปาฏิหาริย์ พึงอ้างพุทธพจน์ว่า


พระพุทธเจ้า: นี่แน่ะสุนักขัตต์ เธอเข้าใจว่าอย่างไร? เมื่อเราทำอิทธิปาฏิหาริย์ ซึ่งเป็นธรรมของมนุษย์ยิ่งยวดก็ตาม ไม่ทำก็ตาม ธรรมที่เราได้แสดงแล้วเพื่อประโยชน์ที่มุ่งหมายใด จะนำออกไปเพื่อ (ประโยชน์ที่มุ่งหมายนั้น คือ) ความหมดสิ้นทุกข์โดยชอบ ได้หรือไม่?

สุนักขัตต์: พระองค์ผู้เจริญ เมื่อพระองค์ทรงกระทำอิทธิปาฏิหาริย์ ที่เป็นธรรมของมนุษย์ยิ่งยวดก็ตาม ไม่กระทำก็ตาม ธรรมที่พระผู้มีพระภาคได้ทรงแสดงเพื่อประโยชน์ที่มุ่งหมายใด ก็ย่อมจะนำออกไปเพื่อ (ประโยชน์ที่มุ่งหมายนั้น คือ) ความหมดสิ้นทุกข์โดยชอบได้

พระพุทธเจ้า: นี่แน่ะสุนักขัตต์ เธอเข้าใจว่าอย่างไร? เมื่อเราบัญญัติสิ่งที่ถือว่าเป็นต้นกำเนิดของโลกก็ตาม ไม่บัญญัติก็ตาม ธรรมที่เราได้แสดงไว้แล้วเพื่อประโยชน์ที่มุ่งหมายใด จะนำออกไปเพื่อ (ประโยชน์ที่มุ่งหมายนั้น คือ) ความหมดสิ้นทุกข์โดยชอบ ได้หรือไม่?

สุนักขัตต์: พระองค์ผู้เจริญ เมื่อพระองค์ทรงบัญญัติสิ่งที่ถือว่าเป็นต้นกำเนิดของโลกก็ตาม ไม่บัญญัติก็ตาม ธรรมที่พระผู้มีพระภาคได้ทรงแสดงแล้วเพื่อประโยชน์ที่มุ่งหมายใด ก็ย่อมจะนำออกไปเพื่อ (ประโยชน์ที่มุ่งหมายนั้น คือ) ความหมดสิ้นทุกข์โดยชอบได้

ส่วนเรื่องเทพเจ้า จะได้พิจารณาเหตุผลเป็นแง่ๆ ต่อไป เฉพาะในเบื้องต้นนี้ พึงพิจารณาพุทธภาษิตว่า

“การถือไม่กินปลาไม่กินเนื้อ ก็ดี การประพฤติเป็นชีเปลือย ก็ดี ความมีศีรษะโล้น ก็ดี การมุ่นมวยผมเป็นชฎา ก็ดี การอยู่คลุกฝุ่นธุลี ก็ดี การนุ่งห่มหนังเสืออันหยาบกร้าน ก็ดี การบูชาไฟ ก็ดี การบำเพ็ญพรตหมายจะเป็นเทวดา ก็ดี การบำเพ็ญตบะต่างๆ มากมายในโลก ก็ดี พระเวท ก็ดี การบวงสรวงสังเวย ก็ดี การบูชายัญ ก็ดี การจำพรตตามฤดู ก็ดี จะชำระสัตว์ผู้ยังข้ามไม่พ้นความสงสัย ให้บริสุทธิ์ได้ ก็หาไม่”

ที่กล่าวมานี้ เป็นหลักการทั่วไปที่ควรทราบไว้ก่อน ต่อจากนี้ ถ้ายอมรับว่าอิทธิปาฏิหาริย์และเทวดามีจริง ก็พึงทราบฐานะของสิ่งเหล่านั้นต่อการดำรงชีวิตของมนุษย์ พร้อมทั้งวิธีปฏิบัติที่ถูกต้องต่อสิ่งเหล่านั้น ดังต่อไปนี้

.....................................................
พระธรรมคำสอน บัญญัติ ตรัส ไว้ดีแล้ว ไม่ต้องลด ไม่ต้องเพิ่ม ไม่ต้องแก้ไข ใดๆ ทั้งสิ้น


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 10 ส.ค. 2021, 19:29 
 
ออฟไลน์
อาสาสมัคร
อาสาสมัคร
ลงทะเบียนเมื่อ: 17 ก.ย. 2012, 15:32
โพสต์: 2876


 ข้อมูลส่วนตัว


:b8: :b8: :b8:


แสดงโพสต์จาก:  เรียงตาม  
กลับไปยังกระทู้  [ 5 โพสต์ ] 

เขตเวลา GMT + 7 ชั่วโมง


 ผู้ใช้งานขณะนี้

กำลังดูบอร์ดนี้: ไม่มีสมาชิก และ บุคคลทั่วไป 39 ท่าน


ท่าน ไม่สามารถ โพสต์กระทู้ในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ ตอบกระทู้ในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ แก้ไขโพสต์ของท่านในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ ลบโพสต์ของท่านในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ แนบไฟล์ในบอร์ดนี้ได้

ค้นหาสำหรับ:
ไปที่:  
Google
ทั่วไป เว็บธรรมจักร