วันเวลาปัจจุบัน 25 เม.ย. 2024, 19:39  



เขตเวลา GMT + 7 ชั่วโมง




กลับไปยังกระทู้  [ 1 โพสต์ ]    Bookmark and Share
เจ้าของ ข้อความ
โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 12 เม.ย. 2018, 11:44 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
อาสาสมัคร
อาสาสมัคร
ลงทะเบียนเมื่อ: 06 มี.ค. 2009, 10:48
โพสต์: 5091


 ข้อมูลส่วนตัว


๙. ธุตังคปัญหา ๘๖

พระเจ้ามิลินท์ ทอดพระเนตรเห็นภิกษุสงฆ์รักษาธุดงค์ คือ ถืออยู่ในป่าเป็นวัตร และทอดพระเนตรเห็นคฤหัสถ์ ตั้งอยู่ในพระอนาคามิผล. เพราะทอดพระเนตรเห็นชนแม้ทั้งสองเหล่านั้นเป็นตนั้นเค้าให้เกิดความสงสัยใหญ่ว่า "ถ้าฆราวาสคิหิชนตรัสรู้ธรรมทั้งหลายได้เหมือนกัน ธุดงคคุณนั้นน่าจะไม่มีผลใหญ่ไพศาล, การย่ำยีคำคนพาลพูดอย่างอื่นในพระไตรปิฎก เป็นการละเอียดนัก จำเราจะซักไซ้ไต่ถาม ท่านผู้มีถ้อยคำอย่างประเสริฐ, ท่านจะได้เปิดเผยแสดงนำความสงสัยของเราเสีย" ดังนี้.
ลำดับนั้น พระเจ้ามิลินท์เสด็จไปหาพระนาคเสนผู้มีอายุ ทรงนมัสการและประทับในที่ควรเป็นปกติแล้ว ได้ตรัสกะพระนาคเสนผู้มีอายุว่า "มีอยูหรือพระนาคเสนผู้เจริญ คฤหัสถ์ผู้มีกรรมเกื้อกูลแก่เรือนเป็นกามโภคี อยู่ครอบครองเรือนอันเป็นที่นอนคับแคบด้วยบุตรและภริยา ใช้สอยแก่นจันทน์เป็นของชาวกาสี ทัดทรงดอกไม้ของหอมและเครื่องลูบไล้ ยินดีทองและเงิน เกล้ามวยผมอันวิจิตรด้วยแก้วมณีแก้ว มุกดาและทองคำ เป็นผู้กระทำให้แจ้งซึ่งนิพพานอันมีประโยชน์อย่างยิ่งเป็นของละเอียด?"
พระเถรเจ้าทูลว่า "ขอถวายพระพร คฤหัสถชนกระทำให้แจ้งซึ่งนิพพานไม่ใช่แต่ร้อยคน สองร้อยคน สามร้อยคน สี่ร้อยคน ห้าร้อนคน พันคน แสนคน ร้อยโกฏิคน พันโกฏิคน แสนโกฏิคน; การตรัสรูของคฤหัสถชนสิบคน ยี่สิบคน ร้อยคน พันคน ยกไว้ก่อน, อาตมภาพจะถวายคำตอบที่ซักถามแด่บรมบพิตร โดยปริยายไหน?"
ร. "นิมนต์พระผู้เป็นเจ้ากล่าวปริยายนั้นเถิด."
ถ. "ขอถวายพระพร ถ้าเช่นนั้น อาตมภาพจักทูลแด่บรมบพิตร, คฤหัสถชนกระทำให้แจ้งซึ่งนิพพานนั้นร้อยคนบ้าง พันคนบ้าง แสนคนบ้าง โกฏิคนบ้าง ร้อยโกฏิคนบ้าง พันโกฏิคนบ้าง แสนโกฏิคนบ้าง. ในเมื่อมีบุคคลผู้ถึงพร้อมซึ่งนิพพาน การพูดถึงข้อปฏิบัติทั้งหลายของผู้กระทำให้แจ้งนิพพานซึ่งอาศัยธุดงคคุณอันประเสริฐ อันเป็นสัลเลขปฏิบัติอาจารย์ ปฏิบัติในพระพุทธพจน์ มีองค์เก้าทั้งปวง ย่อมประชุมลงในธุดงคคุณนี้, เปรียบเหมือนน้ำที่ตกลงในที่ลุ่มที่ดอนที่เสมอและที่ไม่เสมอ น้ำนั้นทั้งหลาย ย่อมไหลแต่ที่ทั้งหลายนั้นไปประชุมลงในทะเล ฉะนั้น. แม้การแสดงเหตุตามความฉลาดรู้ของอาตมภาพ ก็ประชุมลงในธุดงคคุณนี้, เพราะเหตุนี้ ธุดงคคุณนี้จักเป็นของมีประโยชน์ที่จำแนกไว้ดีแล้ว จักเป็นของวิจิตรบริบูรณ์ที่นำมาพร้อมแล้ว, เปรียบเหมือนครูเลขผู้ฉลาดสอนศิษย์ ตั้งจำนวนเลขรายย่อยไว้แล้วผสมรวมให้ครบ ด้วยการแสดงเหตุตามความฉลาดรู้ของตน, จำนวนเลขนั้นจักเป็นของครบบริบูรณ์ไม่บกพร่องฉะนั้น.
ขอถวายพระพร ในพระนครสาวัตถี มีอุบาสกอุบาสิกาผู้เป็นอริยสาวกแห่งพระผู้มีพระภาคเจ้าประมาณห้าโกฏิ ได้ตั้งอยูในพระอนาคามิผลประมาณสามแสนห้าหมื่นเจ็ดพันคน, ชนเหล่านั้นทั้งหลายล้วนเป็นคฤหัสถ์ ไม่ใช่บรรพชิต, ยังอีก สัตว์ทั้งหลายยี่สิบโกฏิได้ตรัสรู้ เพราะยมกปาฏิหาริย์ที่โคนไม้คัณฑามพพฤกษ์ ณ พระนครสาวัตถีนั้น. เทพดาทั้งหลายเหลือที่จะนับได้ตรัสรู้ เพราะมหาราหุโลวาทสูตร มังคลสูตร สมจิตตปริยายสูตร ปราภวสูตร ปุราเภทสูตร กลหวิวาทสูตร จูฬพยูหสูตร มหาพยูหสูตร ตุวฏกสูตร และสารีปุตตสูตร. อุบาสก อุบาสิกาผู้เป็นอริยสาวกแห่งพระผู้มีพระภาคเจ้า ประมาณสามแสนห้าหมื่นอยู่ในพระนครราชคฤห, มนุษย์ทั้งหลายเก้าสิบโกฏิ ได้สำเร็จมรรคผลในสมัยเป้นที่ทรมานช้างประเสริฐชื่อ ธนบาล ณ พระนครราชคฤหนั้น, มนุษย์ทั้งหลายสิบสี่โกฏิ ได้สำเร็จมรรคผลในปารายนสมาคม ณ ปาสาณกเจดีย์, เทวดาทั้งหลายแปดสิบโกฎิ ได้สำเร็จมรรคผล ณ ถ้ำชื่ออินทสาลคูหา, พรหมทั้งหลายสิบแปดโกฏิและเทพดาทั้งหลายไม่มีประมาณ ได้บรรลุมรรคผล เพราะประถมเทศนา ณ ป่าอิสิปตนะมฤคทายวัน ใกล้กรุงพาราณสี, เทพดาทั้งหลายแปดสิบโกฏิได้บรรลุมรรคผล เพราะอภิธรรมเทศนา ณ บัณฑุกัมพลศิลาในดาวดึงสพิภพ, มนุษย์และเทพดาทั้งหลายผู้เลื่อมใสสามสิบโกฏิ ได้บรรลุธรรมวิเศษ เพราะโลกวิวรณปาฏิหาริย์ ณ ประตูสังกัสสนครในสมัยเป็นที่ลงจากเทวโลก. เทพดาทั้งหลายเหลือประมาณ ได้บรรลุธรรมวิเศษ เพราะพุทธวังสเทสนา และมหาสมัยสุตตเทสนา ณ นิโครธาราม ใกล้กรุงกบิลพัสดุ์แดนสักกชนบท. มนุษย์แปดหมื่นสี่พัน ได้บรรลุอริยมรรคอริยผล ในที่สมาคมแห่งนายสุมนมาลาการ ในที่สมาคมแห่งครหทินน์ ในที่สมาคมแห่งอานันทเศรษฐี ในที่สมาคมแห่งชัมพุกาชีวก ในที่สมาคมแห่งมัณฑูกเทพบุตร ในที่สมาคมแห่งมัฏฐกุณฑลีเทวบุตรในที่สมาคมแห่งนางสุลสานครโสภิณี ในที่สมาคมแห่งนางสิริมานครโสภิณี ในที่สมาคมแห่งธิดาช่างหูก ในที่สมาคมแห่งนางจูฬสุภัททา ในที่สมาคมเป็นที่แสดงสุสานะแก่สาเกตพราหมณ์ ในที่สมาคมแห่งสุนาปรันตกะ ในที่สมาคมแห่งสักกปัญหา ในที่สมาคมแห่งติโรกุฑฑกัณฑ์ ในที่สมาคมแห่งรัตนสูตร.
ขอถวายพระพร พระผู้มีพระภาคเจ้ายังดำรงพระชนม์อยู่ในโลกตราบใด พระผู้มีพระภาคเจ้าเสด็จสำราญพระอริยาบถอยู่ในสถานที่ใด ๆ ณ มหาชนบททั้งหลายสิบหก ณ มณฑลทั้งหลายสาม เทพดามนุษย์ทั้งหลายสองคนบ้าง สามคนบ้าง สี่คนบ้าง ห้าคนบ้าง ร้อยคนบ้าง พันคนบ้าง แสนคนบ้าง ได้กระทำให้แจ้งนิพพานโดยชุกชุมในสถานนั้น ตราบนั้น. เทพดาเหล่านั้นล้วนเป็นคฤหัสถ์ทั้งนั้น หาใช่บรรพชิตไม่. เทพดาประมาณแสนโกฏิเป็นอเนกเหล่านี้ด้วย เหล่าอื่นด้วย ล้วนเป็นกามโภคีอยู่ครอบครองเคหสถาน ได้กระทำให้แจ้งพระนิพพานอันสงบ เป็นประโยชน์สูงสุด."
ร. "พระผู้เป็นเจ้านาคเสน ถ้าว่าคฤหัสถ์ทั้งหลายกระทำให้แจงนิพพานได้, ธุดงคคุณทั้งหลายจะให้ประโยชน์อะไรสำเร็จ; ด้วยเหตุนั้นธุดงคคุณทั้งหลายเป็นของหาได้กระทำกิจไม่. พระผู้เป็นเจ้านาคเสน ถ้าว่าเว้นมนต์และโอสถ โรคย่อมระงับได้, จะต้องการอะไรด้วยการกระทำร่างกายให้ทุพพลภาพ มีอันสำรอกและถ่ายเป็นต้น, ถ้าว่าข่มศัตรูตอบด้วยกำมือได้, จะต้องการอะไรด้วยดาบหอกศรธนูเกาทัณฑ์และไม้ค้อนทั้งหลาย; ถ้าว่าเถาวัลย์และกิ่งไม้เป็นตาคตโพรงหนาม เป็นเครื่องเหนี่ยวขึ้นต้นไม้ได้, จะต้องการอะไรด้วยการแสวงหาพะองที่ยาวมั่นคง; ถ้าว่าการนอนบนแผ่นดินเป็นของเสมอที่นอนตามปกติเดิมได้, จะต้องการอะไรด้วยการแสวงหาที่นอนประกอบด้วยสิริใหญ่ ๆ เป็นที่สัมผัสเป็นสุข; ถ้าว่าคนเดียวเป็นผู้สามารถเดินข้ามที่กันดารประกอบด้วยความรังเกียจมีภัย เป็นที่ไม่เสมอได้, จะต้องการอะไรด้วยการเตรียมผูกสอดศัสตราวุธและแสวงหาเพื่อนมาก ๆ; ถ้าว่าสามารถจะข้ามแม่น้ำและทะเลสาบด้วยกำลังแขนได้, จะต้องการอะไรด้วยสะพานมั่นคงและเรือ; ถ้าว่ากระทำอาหารและเครื่องนุ่งห่มด้วยของมีแห่งตนเองเพียงพอ, จะต้องการอะไรด้วยการคบหาคนอื่นและเจรจาเป็นที่รัก และวิ่งไปข้างหลังข้างหน้า; ถ้าว่าได้น้ำในบ่อสระแล้ว, จะต้องการอะไรด้วยการขุดบ่ออีก ฉันใด, ถ้าว่าคฤหัสถ์กามโภคีบุคคล กระทำใหแจ้งนิพพานได้, จะต้องการอะไรด้วยการสมาทานธุดงคคุณอันประเสริฐฉันนั้นเล่า."
ถ. "ขอถวายพระพร ก็คุณแห่งธุดงค์ทั้งหลายยี่สิบแปดเหล่านี้เป็นคุณมีความเป็นของเป็นจริงอย่างไร ซึ่งพระพุทธเจ้าทั้งปวงรักใคร่ปรารถนา; คุณแห่งธุดงค์ทั้งหลายยี่สิบแปดเป็นไฉน? คือ ธุดงค์ในศาสนานี้
(๑) เป็นของมีอาชีวะบริสุทธิ์.
(๒) เป็นของมีความสุขเป็นผล.
(๓) เป็นของไม่มีโทษ.
(๔) เป็นของไม่ยังผู้อื่นให้ลำบาก.
(๕) เป็นของไม่มีภัย.
(๖) เป็นของไม่เบียดเบียนพร้อม.
(๗) เป็นของมีความเจริญส่วนเดียว.
(๘) เป็นของหาความเสียมิได้.
(๙) เป็นเครื่องรักษาทั่ว.
(๑๐)เป็นเครื่องรักษาทั่ว.
(๑๑)เป็นของให้ผลที่ปรารถนา.
(๑๒)เป็นเครื่องทรมานของสัตว์ทั้งปวง.
(๑๓)เป็นของเกื้อกูลแก่ความระวัง.
(๑๔)เป็นของสมควร.
(๑๕)เป็นของไม่อาศัยตัณหามานะทิฏฐิ.
(๑๖)เป็นเครื่องพ้นพิเศษ.
(๑๗)เป็นเครื่องสิ้นไปแห่งราคะ.
(๑๘)เป็นเครื่องสิ้นไปแห่งโทสะ.
(๑๙)เป็นเครื่องสิ้นไปแห่งโมหะ.
(๒๐)เป็นเครื่องละมานะ.
(๒๑)เป็นเครื่องตัดความตรึกชั่วเสีย.
(๒๒)เป็นเครื่องข้ามความสงสัย.
(๒๓)เป็นเครื่องกำจัดความเกียจคร้านเสีย.
(๒๔)เป็นเครื่องละความไม่ยินดี.
(๒๕)เป็นเครื่องทนทานต่อกิเลส.
(๒๖)เป็นของชั่งไม่ได้.
(๒๗)เป็นของไม่มีประมาณ.
(๒๘)เป็นเครื่องถึงธรรมที่สิ้นไปแห่งสรรพทุกข์.
คุณแห่งธุดงค์ทั้งหลายยี่สิบแปดเหล่านี้แล เป็นคุณมีความเป็นของเป็นจริงอย่างไร ซึ่งพระพุทธเจ้าทั้งปวงรักใคร่ปรารถนา.
ขอถวายพระพร บุคคลเหล่าใด ส้องเสพธุดงคคุณทั้งหลายโดยชอบ บุคคลเหล่านั้น เป็นผู้บริบูรณ์ด้วยคุณทั้งหลายสิบแปดประการ; คุณสิบแปดประการเป็นไฉน? คือ:-
(๑) อาจาระของบุคคลเหล่านั้นเป็นของบริสุทธิ์ดี.
(๒) ปฏิปทาของบุคคลเหล่านั้นเป็นของเต็มด้วยดี.
(๓) สิ่งที่เป็นไปทางกายและสิ่งที่เป็นไปทางวาจา เป็นของอนบุคคลเหล่านั้นรักษาดีแล้ว.
(๔) มโนสมาจารของบุคคลเหล่านั้นบริสุทธิ์ดี.
(๕) ความเพียรเป็นของอันบุคคลเหล่านั้นประคองไว้ด้วยดี.
(๖) ความเพียรเป็นของอันบุคคลเหล่านั้นประคองไว้ด้วยดี.
(๖) ภัยของบุคคลเหล่านั้นย่อมเข้าไประงับ.
(๗) อัตตานุทิฏฐิของบุคคลเหล่านั้นไปปราศแล้ว.
(๘) ความอาฆาตเป็นของอันบุคคลเหล่านั้นงดเว้นได้.
(๙) เมตตาเป็นของอันบุคคลเหล่านั้นเข้าไปตั้งไว้แล้ว.
(๑๐)อาหารเป็นของอันบุคคลเหล่านั้นกำหนดรู้แล้ว.
(๑๑)บุคคลนั้นเป็นผู้อันสัตว์ทั้งปวงกระทำความเคารพ.
(๑๒)บุคคลนั้นเป็นผู้รู้ประมาณในโภชนะ.
(๑๓)บุคคลนั้นเป็นผู้ประกอบตามความเป็นผู้ตื่น.
(๑๔)บุคคลนั้นเป็นผู้หาที่อยู่ไม่ได้.
(๑๕)บุคคลนั้นเป็นผู้มีอันอยู่ในที่สำราญเป็นปกติ.
(๑๖)บุคคลนั้นเป็นผู้เกลียดบาป.
(๑๗)บุคคลนั้นเป็นผู้มีความเงียบเป็นที่มายินดี.
(๑๘)บุคคลนั้นเป็นผู้ไม่ประมาทเนืองนิตย์.
บุคคลเหล่าใด ส้องเสพธุดงคคุณทั้งหลายโดยชอบ บุคคลเหล่านั้นเป็นผู้บริบูรณ์ด้วยคุณทั้งหลายสิบแปดประการเหล่านี้แล.
ขอถวายพระพร บุคคลสิบเหล่านี้เป็นผู้ควรสมาทานธุดงคคุณ; คือ:-
(๑) เป็นผู้มีศรัทธา.
(๒) เป็นผู้มีหิริ.
(๓) เป็นผู้มีปัญญา.
(๔) เป็นผู้ไม่ล่อลวง.
(๕) เป็นผู้มีอำนาจในประโยชน์
(๖) เป็นผู้ไม่มีความโลภ.
(๗) เป็นผู้รักความศึกษา.
(๘) เป็นผู้สมาทานมั่น.
(๙) เป็นผู้มีปกติไม่โพนทะนามาก.
(๑๐)เป็นผู้มีเมตตาเป็นธรรมอยู่.
บุคคลสิบเหล่านี้แล เป็นผู้ควรสมาทานธุดงคคุณ.
ขอถวายพระพร คฤหัสถ์กามโภคีบุคคลเหล่าใด กระทำใหแจ้งซึ่งนิพพาน คฤหัสถ์เหล่านั้น ล้วนเป็นผู้มีการปฏิบัติในธุดงค์สิบสาม อันกระทำแล้ว เป็นผู้มีกรรมเป็นภูมิในธุดงค์สิบสามอันกระทำแล้วในชาติก่อน ๆ; คฤหัสถ์เหล่านั้น ยังอาจาระและปฏิบัติในธุดงคคุณสิบสามนั้นให้หมดจดแล้ว จึงกระทำให้แจ้งซึ่งนิพพานในกาลนี้ได้.
ขอถวายพระพร เปรียบเหมือนคนแผลงศรผู้ฉลาด หัดศิษย์ทั้งหลายในชนิดของแล่งศร การขึ้นคันศร การถือคันศร การบีบไว้ในกำมือ การใช้นิ้วมือ การตั้งเท้า การจับลูกศร การพาดลูกศร การเหนี่ยวมา การตรวจ การเล็งที่หมด การแผลงไป ในการยิงหุ่นหญ้าเครื่องกำบัง กองหญ้า กองฟาก กองดิน โล่ เป้า ในศาลาที่ยิงแล้ว แสดงการยิงให้เป็นที่โปรดปรานในสักของพระราชาแล้ว ย่อมได้รถเทียมอาชาไนย ช้าง ม้า ทรัพย์ควรสงวน เงินและทอง ทาสและทาสี ภริยาบ้านส่วย ฉะนั้น. คฤหัสถ์เว้นการส้องเสพธุดงค์ทั้งหลายในชาติก่อน ๆ ไม่กระทำให้แจ้งพระอรหัตในชาติหนึ่งแท้, คฤหัสถ์กระทำให้แจ้งซึงพระอรหัตก็เพราะความเพียรสูงสุด เพราะการปฏิบัติสูงสุด เพราะอาจาระ และกัลยาณมิตรเห็นปานนั้น.
อนึ่ง เปรียบเหมือนหมอบาดแผล ยังอาจารย์ให้ยินดีด้วยทรัพย์หรือด้วยวัตรปฏิบัติแล้ว ศึกษาเนือง ๆ ซึ่งการจับศัสตรา เชือด กรีด พัน ผูก ถอนลูกศรออก ล้างแผลให้แผลแห้ง ทายาบ่อย ๆ ให้อาเจียน ให้ถ่ายและอบเนือง ๆ เป็นผู้มีการศึกษาอันกระทำแล้วมีมืออันกระทำชำนาญแล้วในวิทยาแพทย์ทั้งหลาย จึงเข้าไปใกล้คนไข้ผู้กระสับกระส่ายทั้งหลายเพื่อแก้ไข ฉันใด; คฤหัสถผู้กระทำให้แจ้งซึ่งนิพพาน ล้วนได้ปฏิบัติในธุดงคคุณสิบสามในชาติก่อน ๆ ยังอาจาระและจ้อปฏิบัติในธุดงคคุณสิบสามนั้นให้หมดจด จึงเป็นผู้กระทำให้แจ้งซึ่งนิพพานในกาลนี้ได้ ฉันนั้นแล. ธรรมาภิสมัยย่อมไม่มีแก่บุคคลทั้งหลาย ผู้ไม่บริสุทธิ์ด้วยธุดงคคุณทั้งหลาย. เปรียบเหมือนความไม่งอกงามขึ้นแห่งพืชทั้งหลาย เพราะไม่รดน้ำ ฉะนั้น.
อีกอย่างหนึ่ง เปรียบเหมือนความไปสุคติ ย่อมไม่มีแก่ชนทั้งหลาย ผู้ไม่กระทำกุศล ผู้ไม่ปกระทำกรรมงาม ฉะนั้น.
ขอถวายพระพร ธุดงคคุณเป็นของเสมอด้วยแผ่นดิน ด้วยใจความว่า เป็นที่ตั้งอาศัยแห่งบุคคลผู้ใคร่ความหมดจดพิเศษ.
ธุดงคคุณเป็นของเสมอด้วยน้ำ ด้วยใจความว่า เป็นเครื่องล้างมลทิน คือ กิเลสทั้งปวง แห่งบุคคลผู้ใคร่ความหมดจดพิเศษ.
ธุดงคคุณเป็นของเสมอด้วยยา ด้วยใจความว่า เป็นเครื่องระงับพยาธิ คือ กิเสลทั้งปวง แห่งบุคคลผู้ใคร่ความหมดจดพิเศษ.
ธุดงคคุณเป็นของเสมอด้วยน้ำอมฤต ด้วยใจความว่า เป็นเครื่องให้พิษคือกิเลสหาย แห่งบุคคลผู้ใคร่ความหมดจดพิเศษ.
ธุดงคคุณเป็นของเสมอด้วยนา ด้วยใจความว่า เป็นที่งอกขึ้นแห่งข้าวกล้าคือ สามัญคุณทั้งปวง แห่งบุคคลผู้ใคร่ความหมดจดพิเศษ.
ธุดงคคุณเป็นของเสมอด้วยของที่กระทำให้ยินดี ด้วยใจความว่า เป็นผู้ให้สมบัติอันประเสริฐทั้งปวง ที่ปรารถนาและอยากได้ แห่งบุคคลผู้ใคร่ความหมดจดพิเศษ.
ธุดงคคุณเป็นของเสมอด้วยเรือ ด้วยใจความว่า เป็นเครื่องไปสู่ฝั่งแห่งห้วงทะเลใหญ่คือสงสาร แห่งบุคคลผู้ใคร่ความหมดจดพิเศษ.
ธุดงคคุณเป็นของเสมอด้วยเครื่องป้องกันความขลาด ด้วยใจความว่า เป็นเครื่องกระทำความหายใจคล่อง แห่งบุคคลผู้ขลาดต่อความชราและมรณะ ผู้ใคร่ความหมดจดพิเศษ.
ธุดงคคุณเป็นของเสมอด้วยมารดา ด้วยใจความว่า เป็นผู้ให้สรรพสามัญคุณเกิด แห่งบุคคลผู้ใคร่ความเจริญแห่งกุศล ผู้ใคร่ความหมดจดพิเศษ.
ธุดงคคุณเป็นของเสมอด้วยมิตร ด้วยใจความว่า เป็นผู้ไม่หลอกลวง ในการแสวงหาสรรพสามัญคุณ แห่งบุคคลผู้ใคร่ความหมดจดพิเศษ.
ธุดงคคุณเป็นของเสมอด้วยดอกบัว ด้วยใจความว่า เป็นของอันมลทิน คือสรรพกิเลสไม่ติดอยู่ได้ แห่งบุคคลผู้ใคร่ความหมดจดพิเศษ.
ธุดงคคุณเป็นของเสมอด้วยของหอมอันประเสริฐมีชาติสี่ ด้วยใจความว่า เป็นเครื่องบรรเทาเสียซึ่งของเหม็นคือกิเลส แห่งบุคคลผู้ใคร่ความหมดจดพิเศษ.
ธุดงคคุณเป็นของเสมอด้วยภูเขาใหญ่อันประเสริฐ ด้วยใจความว่าเป็นของไม่หวั่นไหวด้วยลม คือ โลกธรรมทั้งแปด แห่งบุคคลผู้ใคร่ความหมดจดพิเศษ.
ธุดงคคุณเป็นของเสมอด้วยอากาศ ด้วยใจความว่า เป็นของไม่มีที่ยึดถือในที่ทั้งปวง และเป็นของสูงกว้างใหญ่ แห่งบุคคลผู้ใคร่ความหมดจดพิเศษ.
ธุดงคคุณเป็นของเสมอด้วยแม่น้ำ ด้วยใจความว่า เป็นที่ลอยมลทินคือกิเลส แห่งบุคคลผู้ใคร่ความหมดจดพิเศษ.
ธุดงคคุณเป็นของเสมอด้วยคนบอกหนทาง ด้วยใจความว่า เป็นเครื่องนำออกจากกันดารคือชาติ และชัฏป่าคือกิเลส แห่งบุคคลผู้ใคร่ความหมดจดพิเศษ.
ธุดงคคุณเป็นของเสมอด้วยพ่อค้าเกวียนใหญ่ ด้วยใจความว่า เป็นผู้ให้ถึงเมือง คือ นิพพาน ซึ่งเป็นของสูญจากภัยทั้งปวง และเป็นของเกษมไม่มีภัย เป็นของประเสริฐบวร แห่งบุคคลผู้ใคร่ความหมดจดพิเศษ.
ธุดงคคุณเป็นของเสมอด้วยกระจกเช็ดดีไม่ได้มัว ด้วยใจความว่า เป็นเครื่องส่องความเป็นเองของสังขารทั้งหลาย แห่งบุคคลผู้ใคร่ความหมดจดพิเศษ.
ธุดงคคุณเป็นของเสมอด้วยโล่ ด้วยใจความว่า เป็นเครื่องป้องกันไม้ค้อนและศรหอกคือกิเลสแห่งบุคคลผู้ใคร่ความหมดจดพิเศษ.
ธุดงคคุณเป็นของเสมอด้วยร่ม ด้วยใจความว่า เป็นเครื่องกั้นฝนคือกิเลส และแดดอันร้อนคือไฟสามอย่าง แห่งบุคคลผู้ใคร่ความหมดจดพิเศษ.
ธุดงคคุณเป็นของเสมอด้วยพระจันทร์ ด้วยใจความว่า เป็นของอันบุคคลผู้ใคร่ความหมดจดพิเศษอยากได้และปรารถนา.
ธุดงคคุณเป็นของเสมอด้วยพระอาทิตย์ ด้วยใจความว่า เป็นของให้มืดหมอกคือโมหะหายไป แห่งบุคคลผู้ใคร่ความหมดจดพิเศษ.
ธุดงคคุณเป็นของเสมอด้วยสาคร ด้วยใจความว่า เป็นที่ตั้งขึ้นแห่งรัตนะอันประเสริฐคือสามัญคุณไม่ใช่อย่างเดียว และด้วยใจความว่า เป็นของจะกำหนดจะนับจะประมาณไม่ได้ แห่งบุคคลผู้ใคร่ความหมดจดพิเศษ.
ขอถวายพระพร ธุดงคคุณเป็นของมีอุปการมาก และเป็นของบรรเทาความกระวนกระวายความเร่าร้อนทั้งปวง เป็นของบรรเทาความไม่ยินดี เป็นของบรรเทาภัย เป็นของบรรเทาภพ เป็นของบรรเทากิเลส เป็นของบรรเทามลทิน เป็นของบรรเทาความโศก เป็นของบรรเทาทุกข์ เป็นของบรรเทาราคะ เป็นของบรรเทาโทสะ เป็นของบรรเทาโมหะ เป็นของบรรเทามานะ เป็นของบรรเทาทิฏฐิ เป็นของบรรเทาสรรพอกุศล. ธรรม เป็นของนำมาซึ่งยศ เป็นของนำมาซึ่งความเกื้อกูล เป็นของนำมาซึ่งความสุข เป็นของกระทำความสำราญ เป็นของกระทำปีติ เป็นของกระทำความเกษมจากโยคะ เป็นของไม่มีโทษ เป็นของมีสุขที่ปรารถนาเป็นวิบาก เป็นกองแห่งคุณ เป็นตะล่อมแห่งคุณ เป็นของมีคุณจะประมาณจะนับไม่ได้ เป็นของประเสริฐ เป็นของเลิศแห่งบุคคล ผู้ใคร่ความหมดจดพิเศษ ด้วยประการฉะนี้แล.
ขอถวายพระพร มนุษย์ทั้งหลาย เสพโภชนะด้วยสามารถแห่งความอุปถัมภ์. เสพยาด้วยสามารถแห่งความเกื้อกูล, เสพมิตรด้วยสามารถแห่งความอุปการ, เสพเรือด้วยสามารถแห่งอันข้าม, เสพดอกไม้ของหอมด้วยสามารถแห่งกลิ่นดี, เสพคนผู้ป้องกันความขลาดด้วย สามารถแห่งความไม่มีภัย, เสพแผ่นดินด้วยสามารถแห่งอันเป็นที่ตั้งอาศัย, เสพอาจารย์ด้วยสามารถแห่งศิลปศาสตร์, เสพพระเจ้าแผ่นดินด้วยสามารถแห่งยศ, เสพแก้วมณีด้วยสามารถแห่งอันให้ผลที่อยากได้ฉันใด; พระอริยเจ้าทั้งหลาย เสพธุดงคคุณ ด้วยสามารถแห่งอันให้สรรพสามัญคุณ ฉันนั้น.
ขอถวายพระพร อีกประการหนึ่ง น้ำเพื่ออันงอกขึ้นแห่งพืช ไฟเพื่ออันเผาสิ่งของ อาหารเพื่ออันนำกำลังมา เถาวัลย์เพื่ออันพันผูกศัสตราเพื่ออันตัดฟัน น้ำควรดื่มเพื่ออันบรรเทาความอยากน้ำ ขุมทรัพย์เพื่ออันกระทำความหายใจคล่อง เรือเพื่ออันให้ถึงฝั่ง ยาเพื่ออันระงับพยาธิ ยานเพื่ออันไปสบาย เครื่องป้องกันความขลาดเพื่ออันบรรเทาความกลัว พระเจ้าแผ่นดินเพื่อประโยชน์แก่อันรักษาทั่ว โล่เพื่ออันบังท่อนไม้ก้อนดิน ไม้ค้อน ศรและหอก อาจารย์เพื่ออันพร่ำสอน มารดาเพื่ออันเลี้ยง กระจกเพื่ออันส่องดู เครื่องประดับเพื่ออันงาม ผ้าเพื่ออันปกปิด บันไดเพื่ออันขึ้นไป คันชั่งเพื่ออันชั่งของ มนต์เพื่ออันร่าย อาวุธ เพื่ออันห้ามความคุกคาม ประทีปเพื่ออันบรรเทาความมืด ลมเพื่ออันยังความร้อนกระวนกระวายให้ดับหาย ศิลปศาสตร์เพื่ออันสำเร็จการเลี้ยงชีพ ยาดับพิษเพื่ออันรักษาชีวิต บ่อเกิดเพื่ออันเกิดแห่งรัตนะ รัตนะเพื่ออันประดับ อาชญาเพื่ออันไม่ก้าวล่วง อิสริยะเพื่ออันให้เป็นไปในอำนาจ ฉันใด; ธุดงคคุณก็เพื่ออันงอกขึ้นแห่งพืช คือ สามัญคุณเพื่อออันผูกสติสังวรไว้ เพื่ออันถอนความสงสัยสนเท่ห์ เพื่ออันนำความอยากน้ำคือตัณหาเสีย เพื่ออันกระทำความยินดีในอภิสมัย เพื่ออันออกไปจากโอฆะสี่ เพื่ออันระงับพยาธิ คือ กิเลส เพื่ออันได้สุข คือ นิพพาน เพื่ออันบรรเทาภัย คือ ชาติ ชรา พยาธิ มรณะ โสกะ ปริเทวะ ทุกข์ โทมนัส อุปายาสเสีย เพื่ออันรักษาสามัญคุณไว้ เพื่ออันห้ามความตรึกชั่วด้วยอำนาจความไม่ยินดี เพื่ออันตามสอนสามัญประโยชน์ทั้งสิ้น เพื่ออันเลี้ยงสามัญคุณทั้งปวงไว้ เพื่ออันแสดงสมถะวิปัสสนา มรรคผลนิพพาน เพื่ออันโลกสรรเสริญชมเชย และกระทำให้งามมาก ๆ เพื่ออันปิดอบายทั้งปวงเสีย เพื่ออันขึ้นสู่ยอดภูเขาแล้วด้วยหิน คือ สามัญประโยชน์ เพื่ออันวางจิตที่คดโกงไม่เสมอเสีย เพื่ออันกระทำการสาธยายธรรมที่ควรเสพและไม่ควรเสพให้สำเร็จประโยชน์ เพื่ออันคุกคามศัตรูตอบคือกิเลสทั้งปวง เพื่ออันกำจัดมืดคืออวิชชา เพื่ออันให้ความกระวนกระวายร้อนพร้อมคือไฟสามอย่างดับ เพื่ออันให้สมาบัติอันละเอียดสุขุมสำเร็จ เพื่ออันตามรักษาสรรพสามัญคุณทั้งสิ้นไว้ เพื่ออันเกิดขึ้นแห่งรัตนะอันประเสริฐคือโพชฌงค์ เพื่ออันประดับชนผู้โยคาวจร เพื่ออันไม่ก้าวล่วงสันติสุขอันเป็นอนวัชชสุขอันละเอียดสุขุมเพื่ออันเป็นไปในอำนาจแห่งอริยธรรม คือ สามัญคุณทั้งสิ้น ฉันนั้นแล. ธุดงคคุณอันหนึ่ง ๆ เพื่อความบรรลุคุณเหล่านี้ ด้วยประการฉะนี้.
ขอถวายพระพร ธุดงคคุณเป็นที่พึงชั่งไม่ได้ ที่นับไม่ได้ ไม่มีสิ่งไรเสมอ หาสิ่งเปรียบไม่ได้ ไม่มีสิ่งไรจะประเสริฐกว่า เป็นของยิ่ง เป็นของกว้าง เป็นของหนัก เป็นของใหญ่ ด้วยประการฉะนี้.
ขอถวายพระพร บุคคลใด เป็นผู้มีความปรารถนาลามก อันความปรารถนาลามกครอบงำแล้ว เป็นคนโกง เป็นคนโลภเห็นแก่ท้อง อยากได้ลาภยศสรรเสริญ เป็นผู้ไม่ควรไม่เหมาะ สมาทานธุดงคคุณ, บุคคลนั้น ย่อมถึงอาชญาทวีคูณ ย่อมถึงความฆ่าคุณเสีย คือย่อมได้ความละอาย ความครหา ความเยาะเย้ย ความทอดทิ้ง ความไม่อยู่ร่วม ความขับไล่ เป็นไปในทิฏฐธรรมชาตินี้, แม้ในสัมปรายภพย่อมไหม้ ดุจฟองน้ำ น้ำกลับขึ่นลงขวาง ในที่ล้อมด้วยเปลวไฟอันเร่าร้อนในมหาอเวจี ซึ่งประกอบด้วยร้อยโยชน์ สิ้นแสนโฏิปีมิใช่อันเดียว, ครั้นพ้นจากนั้นแล้ว เป็นผู้มีอังคาพยาพน้อยใหญ่ผอมหยาบดำ มีศีรษะเป็นโพลงดุจสุนับศีรษะพอง หิวอยากน้ำ มีวรรณแห่งรูปไม่เป็นปกติน่ากลัว มีช่องหูอันทำลาย มีดวงตาเหลือกขึ้นเหลือกลง มีตัวเป็นแผลไหม้เกรียม มีกายทั้งสิ้นเกลื่อนกล่นไปด้วยหนอน กองไฟลุกโพลงข้างในดุจลุกโพลงในช่องลม หาผู้ป้องกันมิได้ หาที่พึ่งมิได้ คร่ำครวญร้องไห้ ร้องเพื่อให้การุญ เป็นสมณมหานิชฌามตัณหิกเปรต เที่ยวร้องแสดงความลำบากอยู่ที่แผ่นดิน. เปรียบเหมือนบุคคลผู้ใดผู้หนึ่งไม่ควรไม่เหมาะ เป็นคนมีชาติต่ำช้า ย่อมอภิเษกด้วยขัตติยาภิเษก, บุคคลนั้นย่อมได้กรรมกรณ์มีตัดมือตัดเท้าเป็นต้น, เพราะเหตุอะไร? เพราะเป็นผู้ไม่ควรไม่เหมาะ มีชาติต่ำช้า ตั้งตนไว้ในความเป็นอิสระอันใหญ่ ฉะนั้น.
ขอถวายพระพร ก็บุคคลใด เป็นผู้ควร เหมาะ เป็นผู้มักน้อย สันโดษ มีจิตสงัด ไม่คลุกคลีด้วยหมู่ มีความเพียรปรารภแล้ว ยอบตน ไม่โอ่อวด ไม่หลอกลวง ไม่เห็นแก่ท้อง ไม่มุ่งลาภยศความสรรเสริญเป็นผู้มีศรัทธาบวชด้วยศรัทธา อยากพ้นจากชราและมรณะ สมาทาน ธุดงคคุณ ด้วยรำถึงว่า ‘เราจักยกย่องพระศาสนา’ ดังนี้. บุคคลนั้นย่อมควรซึ่งอันบูชาทวีคูณ คือ เป็นผู้เป็นที่รัก เป็นที่ยังใจให้เจริญแห่งเทพดาและมนุษย์ทั้งหลาย และเป็นผู้อันเทพดาและมนุษย์ทั้งหลายปรารถนา, เป็นราวกะดอกมะลิซ้อนและมะลิวัน เป็นที่ปรารถนาของผู้อาบแล้ว ชโลมทาแล้ว เป็นราวกะว่าโภชนะอันประณีตของผู้หิว, เป็นราวกะน้ำควรดื่มที่เย็นใส มีกลิ่นหอมของผู้อยากดื่ม เป็นราวกะโอสถอันประเสริฐของผู้อันพิษแล่นไปแล้ว เป็นราวกะรถอันอุดมซึ่งเทียมม้าอาชาไนยของผู้อยากไปเร็ว เป็นราวกะแก้วมณีซึ่งให้ยินดีของผู้อยากได้ประโยชน์ เป็นราวกะเศวตฉัตรอันขาวไม่หมองมัวของผู้อยากอภิเษก เป็นราวกะความบรรลุพระอรหัตผลของผู้ใคร่ต่อธรรม. สติปัฏฐานสี่ สัมมัปปธานสี่ อิทธิบาทสี่ อินทรีย์ห้า พละห้า โพชฌงค์เจ็ด อริยาษฎางคิกมรรคแปด ของบุคคลนั้น ย่อมถึงความเป็นของเจริญบริบูรณ์, บุคคลนั้น ย่อมบรรลุสมถะและวิปัสสนา, การปฏิบัติเพื่ออธิคมของบุคคลนั้น ย่อมน้อมไปรอบ, คุณธรรมทั้งปวงคือสามัญผลสี่ปฏิสัมภิทาสี่ วิชชาสาม อภิญญาหก สมณธรรมทั้งสิ้น ย่อมเป็นเครื่องประกาศแห่งบุคคลนั้น, บุคคลนั้น ย่อมอภิเษกด้วยเศวตฉัตร คือ วิมุตติ. เปรียบเหมือนราชภัฏทวยหาญพร้อมทั้งชาวแว่นแคว้น ชาวนิคมชาวชนบท ย่อมบำรุงบำเรอพระมหากษัตริญืผู้ได้มุรธาภิเษกแล้ว, และราชบุรุษสามสิบแปด คือ คนฟ้อนรำ คนรู้มงคลที่หน้า คนกล่าว ความสวัสดี สมณพราหมณ์หมู่คนเจ้าลัทธิทั้งปวง ย่อมถึงยิ่งซึงพระมหากษัตริย์นั้น, พระมหากษัตริย์นั้น เป็นเจ้าของในการทรงว่ากล่าวเนือง ๆ ซึ่งท่าเรือ บ่อเกิดรัตนะ พระนคร สถานที่ตั้งส่วย ราชสมบัติต่าง ๆ ชนผู้แตกร้าวกันทั้งปวง ฉะนั้น.
ขอถวายพระพร ท่านผู้ทำให้บริสุทธิ์ด้วยธุดงค์เหล่าใด เข้าไปสู่มหาสมุทร คือ นิพพานแล้ว ย่อมเล่นธรรมมีอย่างมาก, ย่อมใช้สมาบัติทั้งแปด คือ รูปสมาบัติสี่ อรูปสมาบัติสี่ ย่อมถึงซึงฤทธิ์มีอย่างต่าง ๆ ทิพยโสตธาตุ ปรจิตตวิชชา บุพเพนิวาสานุสสติ ทิพยจักษุ และความสิ้นไปแห่งอาสวะทั้งปวง ธุดงค์เหล่านี้นั้น มีสิบสามประการ คือ
(๑) องค์ของผู้มีอันทรงผ้าบังสุกุลเป็นปกติ.
(๒) องค์ของผู้มีอันทรงผ้าสามผืนเป็นปกติ.
(๓) องค์ของผู้มีอันเที่ยวบิณฑบาตเป็นปกติ.
(๔) องค์ของผู้มีอันเที่ยวบิณฑบาตเป็นไปด้วยความไม่ขาดเป็นปกติ.
(๕) องค์ของผู้มีอันบริโภคในอาสนะเดียวเป็นปกติ.
(๖) องค์ของผู้มีอันบริโภคในบาตรเป็นปกติ.
(๗) องค์ของผู้ห้ามภัตรที่นำมาถวายเพื่อภายหลังเป็นปกติ.
(๘) องค์ของผู้มีอันอยู่ในป่าเป็นปกติ.
(๙) องค์ของผู้มีอันอยู่โคนไม้เป็นปกติ.
(๑๐) องค์ของผู้มีอันอยู่ในที่แจ้งเป็นปกติ.
(๑๑) องค์ของผู้มีอันอยู่ในป่าช้าเป็นปกติ.
(๑๒) องค์ของผู้มีอันอยู่ในที่ลาดไว้อย่างไรเป็นปกติ.
(๑๓) องค์ของผู้มีอันนั่งเป็นปกติ.
ท่านผู้มีปัญญา ย่อมได้สามัญคุณทั้งสิ้นด้วยธุดงคคุณสิบสามเหล่านี้ ซึ่งท่านได้เสพมากแล้ว เสพเนือง ๆ แล้ว สั่งสมแล้ว ประพฤติแล้ว ให้บริบูรณ์แล้วในปางก่อนแล, สมาบัติเป็นของนำความสุขมาเป็นของประณีตทั้งสิ้น เป็นเครื่องประกาศแห่งท่านนั้น. เปรียบเหมือนนายเรือผู้มีทรัพย์ เสียภาษีที่ท่าเรือด้วยดีแล้ว เข้าไปสู่มหาสมุทร ถึงวังคนคร ตักโกลนคร จีนนคร โสวีรนคร สุรัฏฐนคร อลสันทนคร โกลปัฏฏนนคร และสุวัณณภูมินคร แล้วไปสู่ประเทศที่เที่ยวไปด้วยเรือ ประเทศใดประเทศหนึ่งแม้อื่น ฉะนั้น. และเปรียบเหมือนชาวนานำหญ้าและไม้และหิน เป็นโทษในนาออกเสียก่อนแล้ว ไถหว่านแล้ว ยังน้ำให้เข้าไปแล้วเฝ้ารักษาไว้ เป็นผู้มีข้าวเปลือกมากด้วยอันเกี่ยวและนวด, ชนยากจนไม่มีทรัพย์ เป็นผู้ประกาศแห่งชาวนานั้น ฉะนั้น. อนึ่ง เปรียบเหมือนพระมหากษัตริย์ผู้ได้มุรธาภิเษกแล้ว เป็นผู้มีชาติยิ่ง ย่อมเป็นผู้มีอิสระมีอันให้เป็นไปในอำนาจ เป็นเจ้าของกระทำตามความปรารถนา ในการทรงพร่ำสอนชนผู้แตกร้าวกัน, แผ่นดินใหญ่ทั้งสิ้น เป็นที่ประกาศแห่งพระมหากษัตริย์นั้น ฉันใด ท่านผู้มีปัญญา เป็นผู้มีอิสระมีอันให้เป็นไปในอำนาจ เป็นเจ้าของกระทำตามปรารถนา ในพระชินศาสนาอันประเสริฐ ด้วยธุดงคคุณสิบสามเหล่านี้ที่เสพมากแล้ว เสพเนือง ๆ แล้ว สั่งสมให้เต็มรอบแล้วในปางก่อน, อนึ่ง สามัญคุณทั้งหลายทั้งสิ้น เป็นเครื่องประกาศแห่งท่านนั้น ฉันนั้นแล.
ขอถวายพระพร พระอุปเสนเถระผู้บุตรวังคันตพราหมณ์มิใช่หรือ มิได้เอื้อเฟื้อกติกาแห่งสงฆ์ในกรุงสาวัตถี ด้วยความเป็นผู้กระทำให้เต็มในธุดงคคุณเป็นเครื่องเกลากิเลส พร้อมด้วยบริษัทเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคเจ้าผู้ควรทรมานนรชน ผู้ประทับอยู่ในที่เร้น ถวายนมัสการ พระผู้มีพระภาคเจ้าที่พระบาทด้วยเศียรเกล้า แล้วนั่งในที่ควรส่วนหนึ่ง. พระผู้มีพระภาคเจ้า ทอดพระเนตรบริษัทอันพระเถระแนะนำดีแล้วนั้น ทรงร่าเริงบันเทิง มีพระหฤทัยเบิกบาน ตรัสปราศรัยกับด้วยบริษัทแล้วได้ตรัสพุทธพจน์นี้ ด้วยพระสุรเสียงดุจเสียงพรหม อันไม่ขัดขวางว่า
‘ดูก่อนอุปเสนะ บริษัทของท่านนี้นำมาซึ่งความเลื่อมใส, ท่านแนะนำบริษัทอย่างไร?’
ฝ่ายพระอุปเสนเถระนั้นเป็นผู้อันพระสัพพัญญูทศพลเทพาดิเทพตรัสถามแล้ว ได้กล่าวคำนี้กะพระผู้มีพระภาคเจ้า ด้วยสามารถแห่งคุณตามที่เป็นที่มีว่า ‘ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ บุคคลผู้ใดผู้หนึ่ง เข้ามาหาข้าพระองค์ ขอบรรพชาหรือนิสสัย, ข้าพระองค์กล่าวอย่างนี้กะบุคคลนั้นว่า ‘แน่ะผู้มีอายุ เราเป็นผู้มีอันอยู่ในป่าเป็นปกติ มีอันเทียวบิณฑบาตเป็นปกติ มีอันทรงผ้าบังสุกุลเป็นปกติ มีอันทรงไตรจีวรเป็นปกติ; ถ้าว่าแม้ท่านจักเป็นผู้มีอันอยู่ในป่าเป็นปกติ มีอันเที่ยวบิณฑบาตเป็นปกติ มีอันทรงผ้าบังสุกุลเป็นปกติ มีอันทรงไตรจีวรเป็นปกติเหมือนกันไซร้, เราจักให้ท่านบวช เราจักให้นิสสัยแก่ท่าน’ ฉะนี้; ถ้าว่าบุคคลนั้นรับข้าพระองค์แล้ว ยินดีรื่นรมย์. ข้าพระองค์จึงให้บุคคลนั้นบวช ให้นิสสัยแก่บุคคลนั้น ถ้าว่าบุคคลนั้น ไม่ยินดีไม่รื่นรมย์ข้าพระองค์ก็ไม่ให้บุคคลนั้นบวชไม่ให้นิสสัยแก่บุคคลนั้น; ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ข้าพระองค์แนะนำบริษัทอย่างนี้’ ดังนี้.
ขอถวายพระพร ท่านผู้มีปัญญา สมาทานธุดงคคุณอันประเสริฐ ย่อมเป็นผู้มีอิสระ มีอันให้เป็นไปในอำนาจ เป็นเจ้าของ กระทำตามปรารถนาในพระชินศาสนาอันประเสริฐ, สมาบัติทั้งหลาย เป็นของละเอียด เป้นของนำความสุขมาทั้งสิ้น ย่อมเป็นเครื่องประกาศแห่งท่านผู้นั้น ด้วยประการฉะนี้.
ขอถวายพระพร ดอกบัวมีชาติอันสูงแต่เดิมเกิดมา เพราะเป็นของเจริญยิ่งและบริสุทธิ์ เป็นของสนิท เป็นของอ่อน เป็นของน่าอยากได้ เป็นของมีกลิ่นหอม เป็นที่รัก อันบุคคลปรารถนา มิได้เปื้อนด้วยน้ำตม ประดับด้วยกลีบและเกสรและฝักอันละเอียด อันหมู่ภมรส้องเสพ เนื่องด้วยน้ำอันเย็น ฉันใด, พระอริยสาวกเข้าถึงพร้อมแล้วด้วยคุณอันประเสริฐสามสิบประการ เพราะธุดงคคุณสามสิบเหล่านี้ ที่ท่านเสพมากแล้ว เสพเนือง ๆ แล้ว สั่งสมให้เต็มรอบแล้วในกาลก่อนฉันนั้นแล. คุณอันประเสริฐสามสิบประการเป็นไฉน? คือ:-
(๑) เป็นผู้มีจิตประกอบด้วยเมตตาอันสนิทอ่อนละมุน.
(๒) เป็นผู้มีกิเลสอันฆ่ากำจัดแล้ว.
(๓) เป็นผู้มีความเย่อหยิ่งด้วยอำนาจความถือตัว อั้นกำจัดให้พินาศแล้ว.
(๔) เป็นผู้มีความเชื่อไม่หวั่นไหว ตั้งมั่น หาความเคลือบแคลงมิได้.
(๕) เป็นผู้มีอันได้สมาบัติ อันบริบูรณ์เยือกเย็น น่ารื่นรมย์ น่าอยากได้ อันละเอียดเป็นสุข.
(๖) เป็นผู้อบรมด้วยของหอมอันสะอาด หาของหอมอื่นเสมอไม่ได้ อันประเสริฐ คือ ศีล.
(๗) เป็นผู้เป็นที่รักเป็นที่ให้ใจเอิบอาบ แห่งเทพดาและมนุษย์ทั้งหลาย.
(๘) เป็นผู้อันพระอริยบุคคลผู้ประเสริฐ มีอาสวะสิ้นแล้วปรารถนาแล้ว.
(๙) เป็นผู้อันเทพดามนุษย์ทั้งหลายกราบไหว้และบูชา.
(๑๐) เป็นผู้อันชนผู้บัณฑิตรู้วิเศษชื่นชมสรรเสริญแล้ว.
(๑๑) เป็นผู้อันโลกไม่ฉาบทาไว้ในโลกนี้และโลกหน้า.
(๑๒) เป็นผู้มีปกติเห็นภัยแม้ในโทษเล็กน้อย.
(๑๓) เป็นผู้ยังประโยชน์อันประเสริฐคือมรรคและผลให้สำเร็จแก่ชนผู้ต้องการสมบัติ.
(๑๔) เป็นผู้มีส่วนแห่งปัจจัยลาภอันไพบูลย์ประณีต ที่สัตว์โลกบูชาแล้ว.
(๑๕) เป็นผู้อยู่ในที่มิใช่ที่อยู่เป็นหลักแหล่ง.
(๑๖) เป็นผู้มีฌานอย่างประเสริฐเป็นธรรมที่อยู่.
(๑๗) เป็นผู้มีที่ตั้งแห่งข่าย คือ กิเลสอันรื้อแก้แล้ว.
(๑๘) เป็นผู้มีคติผู้กั้นไว้อันทำลายแล้วหักแล้วตัดเสียแล้ว.
(๑๙) เป็นผู้มีธรรมไม่กำเริบ.
(๒๐) เป็นผู้มีที่อยู่อันจัดไว้โดยเฉพาะ.
(๒๑) เป็นผู้มีอันบริโภคสิ่งหาโทษมิได้.
(๒๒) เป็นผู้พ้นพิเศษแล้วจากคติ.
(๒๓) เป็นผู้มีความสงสัยอันข้ามสิ้นแล้ว.
(๒๔) เป็นผู้มีตนอันอาบแล้วด้วยวิมุตติ.
(๒๕) เป็นผู้มีธรรมอันเห็นแล้ว.
(๒๖) เป็นผู้เข้าถึงแล้วซึ่งเครื่องต่อต้านความขลาด อันไม่หวั่นไหวมั่นคง.
(๒๗) เป็นผู้มีอนุสัยอันถอนขึ้นแล้ว.
(๒๘) เป็นผู้ถึงแล้วซึ่งธรรมเป็นที่สิ้นไปแห่งสรรพอาสวะ.
(๒๙) เป็นผู้มีสมาบัติเป็นสุขละเอียดเป็นธรรมที่อยู่มาก.
(๓๐) เป็นผู้เข้าถึงพร้อมสมณคุณทั้งปวงแล้ว.
พระอริยสาวก เป็นผู้เข้าถึงพร้อมแล้วด้วยคุณอันประเสริฐสามสิบประการเหล่านี้.
ขอถวายพระพร พระสารีบุตรเถระมิใช่หรือ เป็นอัครบุรุษในหมื่นโลกธาตุ ยกเส้นแต่พระทศพลผู้บรมโลกาจารย์. แม้พระสารีบุตรเถระนั้น เป็นผู้เกิดในตระกูลพราหมณ์ มีกุศลมูลสร้างสมพร้อมแล้ว สิ้นอสงไขยและกัปป์นับไม่ได้แล้ว ละความยินดีในกามและทรัพย์อันประเสริฐ นับด้วยร้อยมิใช่อันเดียว เป็นของยังใจให้เจริญ บรรพชาในพระชินศาสนาแล้ว ทรมานกายวจีจิตด้วยธุดงคคุณสิบสามเหล่านี้มาตามพร้อมแล้วด้วยคุณหาที่สุดมิได้ ได้ยังธรรมจักรให้เป็นไปตามในพระศาสนาอันประเสริฐ แห่งพระผู้มีพระภาคเจ้าผู้โคดมในกาลนี้.
ขอถวายพระพร แม้พระพุทธพจน์นี้อันพระผู้มีพระภาคเจ้าผู้เทพาดิเทพ ได้ทรงภาสิตไว้ในพระลัญจกรอันประเสริฐ คือเอกังคุตรนิกายว่า
‘ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เราย่อมไม่เล็งเห็นบุคคลอื่นผู้หนึ่ง ผู้ยังธรรมจักรอันยิ่งที่พระตถาคตให้เป็นไป ให้เป็นไปตามโดยชอบ เหมือนสารีบุตร; เพราะว่า สารีบุตรยังธรรมจักรอันยิ่งที่พระตถาคตให้เป็นไปให้เป็นไปตามโดยชอบ’ ดังนี้.
ร. “พระผู้เป็นเจ้านาคเสนดีแล้ว, นวังคพุทธวจนะอันใดอันหนึ่ง ความกระทำโลกุตตระอันใดอันหนึ่ง สมาบัติอันไพบูลย์ประเสริฐ คือ ความตรัสรู้อันใดอันหนึ่ง, คุณชาติมีนวังคพุทธวจนะเป็นต้นนั้นทั้งหมดเป็นของถึงแล้วซึ่งอันประชุมลงในธุดงคคุณสิบสามประการ.”

เมณฑกปัญหา จบ.


แสดงโพสต์จาก:  เรียงตาม  
กลับไปยังกระทู้  [ 1 โพสต์ ] 

เขตเวลา GMT + 7 ชั่วโมง


 ผู้ใช้งานขณะนี้

กำลังดูบอร์ดนี้: ไม่มีสมาชิก และ บุคคลทั่วไป 139 ท่าน


ท่าน ไม่สามารถ โพสต์กระทู้ในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ ตอบกระทู้ในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ แก้ไขโพสต์ของท่านในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ ลบโพสต์ของท่านในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ แนบไฟล์ในบอร์ดนี้ได้

ค้นหาสำหรับ:
ไปที่:  
Google
ทั่วไป เว็บธรรมจักร