วันเวลาปัจจุบัน 29 มี.ค. 2024, 06:17  



เขตเวลา GMT + 7 ชั่วโมง




กลับไปยังกระทู้  [ 42 โพสต์ ]  ไปที่หน้า ย้อนกลับ  1, 2, 3  ต่อไป  Bookmark and Share
เจ้าของ ข้อความ
โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 03 เม.ย. 2018, 16:38 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
สมาชิกระดับสูงสุด
สมาชิกระดับสูงสุด
ลงทะเบียนเมื่อ: 24 ต.ค. 2006, 12:36
โพสต์: 33766

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว


ต่อไป

วิชชาจะระณะสัมปันโน เป็นผู้ถึงพร้อมด้วยวิชชาและจรณะ

วิชชา หมายถึง ข้อปฏิบัติที่จะให้ถึงความพ้นทุกข์

จรณะ หมายถึง การปฏิบัติ หมายถึง มีทั้งวิชชา และมีทั้งการปฏิบัติ พระผู้มีพระภาคเจ้ามีทั้งสองอย่าง ถึงพร้อมทั้งสองอย่าง ถึงพร้อมด้วยวิชชา ถึงพร้อมด้วยการปฏิบัติ รู้จักใช้วิชชานั้นให้เป็นประโยชน์ พระองค์จึงได้พ้นไปจากความทุกข์
นี้เป็นเครื่องเตือนใจเราได้ว่าเรานี้ต้องคิด อะไรดีมีประโยชน์ต้องใช้ เรามีพระพุทธเจ้าอยู่ในใจ ต้องนำมาใช้ในชีวิตประจำวัน มีธรรมะก็เอามาใช้ มีศีลก็ต้องเอามาใช้ มีปัญญาก็เอามาใช้ ใช้เพื่อบำบัดปัดเป่าความทุกข์ยากทางใจ แก้ไขปัญหาชีวิตต่างๆ เพื่อก้าวหน้าไปสู่จุดหมายปลายทาง อย่างนี้ จึงจะใช้ได้ เรียกว่าเดินตามรอยพระบาทพระพุทธเจ้า เพราะพระองค์มีวิชชาและการปฏิบัติเพื่อให้สำเร็จประโยชน์ด้วย เราก็ต้องใช้ให้เป็นประโยชน์ คล้ายๆกับคนมียาแล้วไม่ใช้ยารักษาโรคให้ถูกต้อง มันก็ไม่ได้เรื่องอะไร ถ้าเราป่วย เราก็หยิบยานั้นมาใช้ มันก็หายป่วยเท่านั้น นี่เรียกว่า วิชชาจรณะสัมปันโน

.....................................................
https://dhammachati.blogspot.com/


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 03 เม.ย. 2018, 16:51 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
สมาชิกระดับสูงสุด
สมาชิกระดับสูงสุด
ลงทะเบียนเมื่อ: 24 ต.ค. 2006, 12:36
โพสต์: 33766

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว


สุคโต เป็นผู้ไปแล้วด้วยดี. พระผู้มีพระภาคเป็นผู้ที่มาดี เกิดมาดี ว่าด้วยชาติตระกูลสูง พระองค์เป็นชาติกษัตริย์ เป็นนักรบ เป็นวรรณะที่สองของอินเดีย ไม่มีใครตั้งข้อรังเกียจในเรื่องชาติ บิดามารดาก็เป็นผู้สมบูรณ์ เป็นกษัตริย์ครองบ้านครองเมือง เขาเรียกว่า สุชาโต หมายความว่า เกิดมาดีด้วยทั้งสองฝ่าย ฝ่ายพ่อก็ดี ฝ่ายแม่ก็ดี
พระองค์เกิดมาในตระกูลที่ดี “ศากยะ” พวก “ศากยราช” ก็ได้ เมื่ออยู่ในวังเป็นเด็กเล็กๆ ยังไม่ได้เป็นพระพุทธเจ้า ไม่เคยทำความเดือดร้อนให้ใครๆ ทำให้ทุกคนสบายใจ


คราวหนึ่ง พระองค์ไปนั่งอยู่ในสวน นั่งคิดถึงปัญหาชีวิต พอขากลับมามีผู้หญิงคนหนึ่งมองเห็นเจ้าชายนั่งรถมา พูดว่าใครได้เป็นมารดาของเจ้าชายสิทธัตถะสบายใจ ใครเป็นบิดาของเจ้าชายสิทธัตถะสบายใจ ใครเป็นเมียของเจ้าชายสิทธัตถะสบายใจ ใครเป็นลูกของเจ้าชายสิทธัตถะสบายใจ สบายทุกคน พ่อก็สบายใจ แม่ก็สบายใจ เมียก็สบายใจ ลูกก็สบายใจ ใครๆที่เข้าไปใกล้สบายใจ

พระองค์ได้ฟังคำนี้ก็สบายใจ ใช้คำว่า นิพพุตา นูนะ สา มาตา นิพพุโต นูนะ โส ปิตา นิพพุตา นูนะ สา นารี ยัสสายัง อีทิโส ปะติ แปลว่า ใครเป็นแม่ก็ดับทุกข์ได้ ใครเป็นพ่อก็ดับทุกข์ได้ ใครเป็นเมียก็ดับทุกข์ได้ นี่แสดงว่าอยู่ในวังไม่เคยทำใครให้เดือดร้อน มีแต่ให้ความสุขสบายใจแก่คนทั้งหลาย เรียกว่า เป็นผู้เกิดดี มาดี

เวลาออกจากวัง ออกไปด้วยความเสียดาย ใครๆก็เสียดายว่าไม่น่าออกไปเลย แต่ว่า ออกไปดี อีกแหละ

ดีอย่างไร ? ไปศึกษาค้นคว้า เพื่อจะได้ ช่วยมนุษย์ทางจิตทางวิญญาณ ไปแสวงหาสัจธรรม ไม่ได้ออกไปเพราะถูกขับไล่ไสส่ง ออกเพราะคับแค้นในอกด้วยปัญหาชีวิต
แต่ทว่ามีความคับแค้นในอกด้วยเรื่องของความทุกข์ เพื่อหาทางพ้นทุกข์อย่างลึกซึ้ง เรียกว่า ออกไปดี
แล้วได้ศึกษาเล่าเรียนในสำนักต่างๆไปอยู่ในสำนักไหนเขาพอใจทั้งนั้น อยากให้อยู่นานๆ เรียนจบแล้วไม่อยากให้ไป เวลาจากไปอาจารย์เสียดาย เสียดายที่ไปเสีย

พระองค์ออกไปด้วยดีจากสำนักนั้นๆ ไม่ฝากสิ่งประทับใจทางร้ายไว้ ซ้ำเมื่อเป็นพระพุทธเจ้าแล้ว ช่วยโลกให้พ้นจากความทุกข์ ทรงบำเพ็ญพุทธกิริยาอันเป็นประโยชน์ต่อโลกต่างๆ ตลอดพระชนม์ชีพ ๔๕ ปี ๔๕ ปี มิใช่น้อยนา เที่ยวจาริกสอนคนในประเทศอินเดีย ๔๕ ปี จึงได้เสด็จปรินิพพาน อย่างนี้ เรียกว่า สุคะโต แท้ๆ มาดี อยู่ดี ไปดี

แล้วอีกประการหนึ่ง ถ้าเราดูประวัติแล้วจะพบว่า พระองค์เสด็จไปในเมืองไหนแคว้นไหน ไม่มีใครรังเกียจ ไม่ถูกขับไล่ไสส่ง ว่าเป็นผีหรือคนอะไรเลย แต่คนยินดีต้อนรับ พระราชาก็ยินดีต้อนรับ เศรษฐี คหบดี ก็ยินดีต้อนรับ ประชาชาชนชาวบ้านชาวเมืองก็ยินดีต้อนรับ นี่ เรียกว่า เป็นผู้มาดี อยู่ดี ไปดี แล้วก็เสด็จนิพพาน คือ ไปดีสูงสุด นี่เป็นความหมาย.

.....................................................
https://dhammachati.blogspot.com/


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 03 เม.ย. 2018, 18:56 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
สมาชิกระดับสูงสุด
สมาชิกระดับสูงสุด
ลงทะเบียนเมื่อ: 24 ต.ค. 2006, 12:36
โพสต์: 33766

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว


เรานี้เป็นลูกศิษย์ของพระพุทธเจ้า เราควรจะถือหลักสุคะโตไว้ ทำอย่างไร ? เราเกิดมาอย่างไร ? ถาม อ้อ เราเกิดมาเป็นมนุษย์ เป็นคนเป็นมนุษย์ ร่างกายสมบูรณ์ เรียบร้อย ตา หู ไม่เสีย เท้าก็มี เรียบร้อย มาดี ได้ร่างกายดี ถ้าจะพูดเรื่องบาปบุญก็ว่าบุญส่ง ได้ทำบุญไว้ในชาติก่อน บุญส่งให้มาเกิดดี พ่อแม่เราดีด้วยไม่เป็นโรค ไม่ซุกซน เกิดมาเรียบร้อย
พ่อแม่ไม่ซุกซน ลูกเกิดมาตามบอด สมองไม่ดี ส่วนมากพ่อซุกซน ไม่ใช่แม่ซุกซน เมือเราเกิดมาเรียบร้อยนี้ เพราะพ่อแม่เราดี เราก็เกิดมาดี

คนเราบางทีมันดีไม่จริง ตอนนี้ดี ต่อไปๆ เอ้า เสียเสียแล้ว ไปเสียเอาตอนจะตาย ไม่ดีเสียมาก เรือล่มเมื่อจอด ตาบอดเมื่อแก่ ลำบาก
เรือล่มเมื่อจอด ไปถึงท่าแล้วพอคนจะขึ้นก็ล่มเอาตรงนั้น ตาบอดเมื่อแก่ลำบากมาก ไปเสียเอาตอนแก่นี้แย่
ฉะนั้น มนุษย์เราต้องรักษาความดีเหมือนเกลือรักษาความเค็มเอาไว้ จะไปอยู่ที่ไหน ทำอะไรก็ต้องให้มันเค็มไว้ตลอดเวลา ไม่ให้เน่า ที่เน่าน่ะ มันไม่ได้รักษาความเค็ม ไม่ได้ใส่เกลือ ไม่ได้ใส่เกลือก็เนื้อเน่า ใจเน่า เกลือคือธรรมะ ไม่ได้ใส่ไว้มันก็เสียคนไปตามๆกัน เป็นความเสียหาย

ฉะนั้น เราควรไปดี อยู่ดี ทำประโยชน์ ไปอยู่ที่ไหนต้องทำไว้สักชิ้นหนึ่ง ทำประโยชน์ฝากไว้สักชิ้น ถ้าเราเป็นข้าราชการฝ่ายปกครอง ทำอะไรไว้สักชิ้นหนึ่งให้คนเขาคิดถึงบ้าง เป็นหมอเป็นแพทย์ ไปอยู่ที่ไหนทำอะไรไว้สักชิ้นหนึ่ง แล้วจากที่นั้นไป หรือพระสงฆ์องค์เจ้าก็เหมือนกัน มาอยู่ที่ไหนก็ทำอะไรไว้บ้าง ให้สมกับที่เกิดมาในพระพุทธศาสนา ทำอะไรดีๆไว้บ้าง อย่างนี้ก็จะเกิดประโยชน์แก่ชีวิตแก่การงาน ไม่เสียหาย เรียกว่า สุคะโต ผู้ไปดี.

.....................................................
https://dhammachati.blogspot.com/


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 03 เม.ย. 2018, 19:00 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
สมาชิกระดับสูงสุด
สมาชิกระดับสูงสุด
ลงทะเบียนเมื่อ: 24 ต.ค. 2006, 12:36
โพสต์: 33766

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว


สุคต ผู้เสด็จไปดีแล้ว, เป็นพระนามของพุทธเจ้า (ดู สุคะโต)


สุคโต (พระผู้พระภาคเจ้านั้น) “เสด็จไปดีแล้ว” คือ ทรงมีทางเสด็จที่ดีงามอันได้แก่อริยมรรค, เสด็จไปสู่ที่ดีงามกล่าวคือพระนิพพาน, เสด็จไปดีโดยชอบ กล่าวคือ ทรงดำเนินรุดหน้าไม่หวนกลับมาสู่กิเลสที่ทรงละได้แล้ว
ทรงดำเนินสู่ผลสำเร็จไม่ถอยหลัง ไม่กลับตกจากฐานะที่ลุถึง
ทรงดำเนินในทางอันถูกต้องคือมัชฌิมาปฏิปทา ไม่เฉเชือนไปในทางที่ผิด คือ กามสุขัลลิกานุโยค และอัตตกิลมถานุโยค
เสด็จไปดี เสด็จที่ใดก็ทรงทำประโยชน์ให้แก่มหาชนในที่นั้น เสด็จไปโดยสวัสดีและนำให้เกิดความสวัสดี แม้แต่พบองคุลิมาลมหาโจรร้ายก็ทรงกลับใจให้เขากลายเป็นคนดีไม่มีภัย
เสด็จไปแล้วด้วยดี ได้ทรงบำเพ็ญพุทธกิจไว้บริบูรณ์ ประดิษฐานพระพุทธศาสนาไว้ เพื่อชาวโลก ให้เป็นเครื่องเผล็ดประโยชน์แก่ประชาชนทั้งปวงผู้เกิดมาในภายหลัง,
ทรงมีพระวาจาดี หรือตรัสโดยชอบ คือ ตรัสแต่คำจริงแท้ ประกอบด้วยประโยชน์ ในกาลที่ควรตรัส และบุคคลที่ควรตรัส

.....................................................
https://dhammachati.blogspot.com/


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 04 เม.ย. 2018, 10:10 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
สมาชิกระดับสูงสุด
สมาชิกระดับสูงสุด
ลงทะเบียนเมื่อ: 24 ต.ค. 2006, 12:36
โพสต์: 33766

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว


ต่อไป โลกวิทู

โลกวิทู แปลว่า รู้แจ้งโลก คือมีพระพุทธภาษิตบทหนึ่งว่า “เอถะ ปัสสะถิมัง โลกัง จิตตัง ราชะระถูปะมัง ยัตถะ พาลา วิสีทันติ นัตถิ สังโค วิชานะตัง” แปลว่า สูทั้งหลาย จงมาดูโลกนี้ อันตระการดุจราชรถ ที่พวกคนเขลาหมกอยู่ แต่ผู้รู้หาข้องอยู่ไม่” โลกอันงดงามเหมือนราชรถ ซึ่งประดับประดาด้วยประการต่างๆ คนเขลาย่อมติดอยู่ในโลก แต่ผู้รู้ไม่เกี่ยวข้องด้วย
นี่เป็นพระดำรัสที่พระองค์ทรงแสดงให้รู้ว่า พระองค์ทรงทราบชัด ถึงลักษณะความเป็นไปของโลกเพียงใด ทรงทราบอย่างไรบ้าง ดังจะได้พรรณนาต่อไป

ประการที่ ๑ ทรงทราบความเป็นไปตามธรรมดาของสัตว์

สัตว์ทุกจำพวกต้องขวนขวายเลี้ยงตัว มีการแย่งชิงเบียดเบียนกั้นก็เพราะเรื่องนี้ ถ้ากำลังน้อยต้องขวนขวายหาทางป้องกันตัวเองด้วย ต้องต่อสู้ศัตรู ถ้าไม่มีศัตรูก็ต้องต่อสู้เพื่อแผ่อำนาจของตนให้กว้างออกไปไม่มีจำกัดเพียง ขวนขวายหากำลังไว้ประหัตประหารกัน ใครดีก็ได้ ไม่เห็นธรรมเป็นใหญ่ โลกจึงเต็มไปด้วยเรื่องทุกข์ พระองค์ทราบเรื่องนี้ จึงได้สั่งสอนให้รู้จักกรุณาปรานี เว้นจากการเบียดเบียนกัน เพื่อผู้มีกำลังน้อยจะได้อยู่เป็นสุข พวกที่มีกำลังมากก็ไม่ถูกเขาจองเวร ไม่ถูกแก้แค้น

ประการที่ ๒ ทรงทราบวิปริณามธรรมของโลก

วิปริณามธรรม หมายถึง ความเปลี่ยนแปลง, ความผันแปรเปลี่ยนแปลงเรื่อยไป ประชุมหมู่สัตว์ที่เป็นปึกแผ่นแน่นหนา เป็นเมืองก็ดี ประเทศก็ดี ย่อมแปรปรวนไปตามยุคสมัย
ผู้ครองเมืองมีอำนาจมากที่สุด อาจจะต้องกลายเป็นคนมือสั้นเท้าสั้นในภายหลัง อาจตายอย่างไม่มีเกียรติ ประเทศที่เคยใหญ่โตอาจจะกลายเป็นเมืองน้อย เช่น กรีก และโรมัน เป็นต้น
การที่ทรงทราบการเปลี่ยนแปลงเช่นนี้ทำให้หายตื่น หายงง หายทะยานอยากในความเป็นเจ้าเป็นใหญ่ ไม่แน่นอน ไม่ยั่งไม่ยืน และไม่ปรารถนาที่จะเกี่ยวข้องกับความเปลี่ยนแปลง แปรปรวนเป็นธรรมดาเช่นนั้น

.....................................................
https://dhammachati.blogspot.com/


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 04 เม.ย. 2018, 18:53 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
สมาชิกระดับสูงสุด
สมาชิกระดับสูงสุด
ลงทะเบียนเมื่อ: 24 ต.ค. 2006, 12:36
โพสต์: 33766

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว


ประการที่ ๓ ทรงทราบความว่า สัตว์ทุกจำพวกจำต้องมีทุกข์ประจำชั้นเสมอกันไปหมด

คนยากจนจะต้องทำงานตรากตรำ เห็นตัวเป็นทุกข์เพราะจน เห็นคนมีเงินว่าเป็นความสุข
ฝ่ายคนมีเงินก็เห็นตนเต็มไปด้วยทุกข์ คือต้องคอยหาเงินให้พอใช้มากๆ ต้องแข่งขันกัน ต้องป้องกันอันตรายอันเกิดขึ้นเพราะเงิน กลัวคนขโมย และจะต้องเลี้ยงบริวาร เห็นคนจนมีความสุขกว่าตน
ราษฎรเห็นตัวเป็นทุกข์ เห็นเจ้านายเป็นสุข
ส่วนเจ้านายก็เห็นตัวเองเป็นทุกข์ เห็นราษฎรมีความสุขเช่นเดียวกัน ต่างมีภาระไปคนละทาง เพราะแต่ละคนมีความอยากไม่รู้จักอิ่มเสมอกันไปหมด
การที่พระองค์ทรงทราบเช่นนี้จึงทำให้พระองค์เบื่อหน่ายโลก และแสวงหาความดับทุกข์ทางใจให้แก่โลก


ประการที่ ๔ ทรงทราบกาม โดยเป็นสภาพถูกเผาลน และผูกรัด กระทั่งมีใจจมลึกติดอยู่ในบ่อเปือกตมคือกาม ได้แก่ รูป เสียง กลิ่น รส สัมผัส ที่ยั่วกำหนัด ราคะ ดำกฤษณา มันเผาลนใจให้เร่าร้อน เมื่อยังไม่ได้
เมื่อได้มาแล้วเผาให้ไหม้ไปอีกด้วยความหึงหวง
ครั้นแตกสลายพลัดพรากไป ก็ถูกเผาอีกด้วยความอาลัย เหี่ยวแห้งใจ และยังถูกผูกรัดให้พะวงติดอยู่ในจิตแน่น ไม่ให้ปลอดโปร่งเป็นฝ้าหนาปิดบังปัญญา ความคิดที่สอนให้ขึ้นจากบ่อเปือกตมนั้นได้ เช่น เดียวกับคนติดฝิ่น ที่โง่เขลา ยอมเสียชีวิตได้เพราะกาม ประพฤติชั่วเพราะกาม โลกเต็มไปด้วยกาม มนุษย์ทั้งโลกวุ่นวายก็เพราะกาม
เนื่องจากพระองค์ทรงทราบความจริงอันนี้ จึงถอนพระองค์จากกามได้ ออกเป็นอิสระจากปีศาจแห่งกาม

.....................................................
https://dhammachati.blogspot.com/


แก้ไขล่าสุดโดย กรัชกาย เมื่อ 04 เม.ย. 2018, 20:18, แก้ไขแล้ว 1 ครั้ง

โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 04 เม.ย. 2018, 18:57 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
สมาชิกระดับสูงสุด
สมาชิกระดับสูงสุด
ลงทะเบียนเมื่อ: 24 ต.ค. 2006, 12:36
โพสต์: 33766

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว


ประการที่ ๕ ทรงทราบบุคคลและสถานที่ที่ไปอย่างปรุโปร่ง เมื่อออกผนวชแล้ว ก่อนตรัสรู้ พระองค์เป็นนักท่องเที่ยวแสวงบุญ
ครั้นเมื่อได้ตรัสรู้แล้วก็เป็น นักท่องเที่ยวโปรดสัตว์ ทรงชำนาญเรื่องหนทาง อาหาร สถานที่ ดินฟ้าอากาศ อันเป็นการปลอดภัยในเรื่องการท่องเที่ยว
พระองค์พบเห็นเหตุการณ์และบุคคลมาก เพราะการสมาคมเป็นเหตุให้พระองค์ทรงทราบจิตใจในขณะได้ปราศรัยกับคนทุกชั้นอย่างละเอียดลออ
พระองค์สั่งสอนให้เขาเชื่อให้เขาเห็นความจริงได้โดยง่าย เรียกว่า ทรงมีข่ายพระญาณ
คนเรามักรู้จักกันแต่ภายนอก ส่วนพระองค์ทราบคนทั้งหมดถึงภายในใจ ข้อนี้ เป็นประโยชน์ต่อการวางกฎข้อปฏิบัติสั่งสอนธรรมะให้ถูกต้องตามนิสัย และตามกาลเทศะ

ประการที่ ๖ ทรงทราบกฎแห่งกรรมที่ประจำอยู่ในโลก ทรงทราบผลกรรม คือผลแห่งการกระทำ เห็นว่ากรรมจำแนกสัตว์ให้เป็นไปต่างๆ กัน จะสุข ทุกข์ ชั่วดี สูงต่ำ ก็เพราะกรรมของผู้นั้น ไม่ใช่เพราะวรรณะ เพศ พรรณ ชาติ ตระกูล ซึ่งทำให้มีกระด้างถือตัวจัด ถือพวกพ้องของเขาเหล่านั้น ไม่ใช่พระเจ้าหรือสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่ไหน
ทรงสอนให้ยึดเอากรรมของตนเป็นหลักเกณฑ์ เว้นจากกรรมชั่ว ประกอบกรรมดี
การที่ทรงทราบหลักข้อนี้ ทำให้ศาสนาของพระองค์ลงรากฐานได้มั่นคงจนพระองค์ได้พระนามว่า “พระเจ้าแห่งความสัจจะ” ใครคิดแล้ว ก็ต้องเห็นจริงตาม เว้นแต่ไม่คิดก็ไม่เห็นเท่านั้น

.....................................................
https://dhammachati.blogspot.com/


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 04 เม.ย. 2018, 20:19 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
สมาชิกระดับสูงสุด
สมาชิกระดับสูงสุด
ลงทะเบียนเมื่อ: 24 ต.ค. 2006, 12:36
โพสต์: 33766

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว


ประการที่ ๗ ทรงทราบโลกปรมัตถ์ลึกซึ้ง ปรมัตถะ แปลว่า มีอรรถอันลึกซึ้ง พระปรีชาญาณอันแหลมคม สอดส่องทะลุความไม่เที่ยง ความล่อลวงของธรรมชาติในโลก ทรงทราบโลกโดยความเป็นสังขาร คือการปรุงแต่งกันเองให้กลายเป็นสิ่งอื่นๆ แล้วก่อกรรมต่อไปอีกจนเป็นคนบ้าง สัตว์บ้าง สิ่งของต่างๆ บ้าง เมื่อกระจายสิ่งต่างๆ เหล่านั้นออกเป็นส่วนๆ ด้วยปัญญา จะเห็นเป็นส่วน เป็นกอง เรียกว่า ขันธ์ บ้าง ธาตุ บ้าง ทุกส่วนล้วนแต่เกิดขึ้นชั่วคราว เปลี่ยนเรื่อยไป ในที่สุดก็ดับ
หลายๆ ส่วนประกอบกันเป็นรูป รูปกายจึงเป็นของไม่ยั่งยืนเปลี่ยนแปลงไปเป็นนิจ ธรรมชาติเป็นผู้ฉาบทาสิ่งยั่วยวนเป็นเหยื่อไว้ภายนอก ซ่อนความทุกข์ ความไม่งาม ความเหี่ยวแห้ง ความเผาลนเอาไว้ภายใน ล่อให้หลง เช่น เดียวกับเหยื่อที่มีเบ็ดอยู่ข้างใน
พระองค์อาจแยกไปเป็นส่วนย่อยจนกระทั่งทรงเห็นว่าเป็นสิ่งหาค่ามิได้ ไม่ควรหลงติดอยู่ในโลกนี้ โดยแจ้งชัดด้วยพระองค์เอง จึงทราบและเรียกผู้อื่นให้มาดูโลกนี้ ซึ่งคนเขลาเข้าใจว่างาม แล้วจึงอยู่ด้วยความเข้าไปยึดถือว่าของฉันๆ เป็นกรรมของสัตว์
ส่วนนักรู้ก็ได้พิจารณาเห็นแล้วกลับเบื่อหน่าย ทำใจให้ไม่เกี่ยวข้องด้วย ไม่ให้ตกไปเป็นทาสของสิ่งเหล่านั้น วางเฉยอยู่ได้ ในที่สุดก็ดับสนิทไปจากโลกอันยุ่งเหยิงนี้ได้อย่างแท้จริง


การตรัสรู้ทางโลกุตรธรรม คือสุดที่นิพพาน ได้แก่ การดับทุกข์นั่นเอง เป็นการรู้จักโลกอย่างยิ่ง

พระนิพพานเป็นที่สุดแห่งโลก ผู้ที่รู้จักที่สุดแห่งโลก ก็หมายความว่า รู้จักโลกจบหมด

การรู้จักโลกจบหมด ก็คือ รู้จักโลก ความเกิดของโลก ความดับของโลก และหนทางจะให้ดับไปของโลก
สิ่งทั้ง ๔ นี้ ก็เกิดอยู่ในร่างกายของมนุษย์นี่เอง พระองค์ตรัสไว้ใน โรหิตัสสวรรคว่า ในร่างกายที่ยาววาหนึ่ง มีพร้อมทั้งสัญญาและใจนี่เอง เราบัญญัติว่าโลก ความเกิดของโลก ความดับของโลก และหนทางให้ถึงความดับไปของโลกไว้” เรื่องโลกที่พระองค์รู้ชัด ก็คือเรื่องรู้ถึงกายโดยปรมัตถ์
ในที่นี้ โลก หมายถึง ทุกข์ ถ้ารู้จักโลกดีก็ต้องรู้จักทุกข์ดี พระองค์ทราบความข้อนี้แจ่มแจ้ง จึงได้ทราบไปถึงโลกุตระ อันเป็นที่สุด คือพ้นจากโลก และเรื่องนี้จะศึกษาทดลองได้จากร่างกายมนุษย์นี้เท่านั้น

.....................................................
https://dhammachati.blogspot.com/


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 05 เม.ย. 2018, 05:37 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
สมาชิกระดับสูงสุด
สมาชิกระดับสูงสุด
ลงทะเบียนเมื่อ: 24 ต.ค. 2006, 12:36
โพสต์: 33766

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว


พวกเราทั้งหลายเป็นศิษย์ของพระองค์ผู้โลกะวิทู ควรรู้แจ้งโลกพอสมควรแล้ว ทำตนให้เหมาะแก่โลก ไม่ต้องถือโลกให้มาเหมาะแก่ตน ซึ่งเป็นการกระทำไม่ได้เลย รู้จักทำใจให้สงบ ไม่ทะเยอทะยานให้ถึงกับต้องก่อไฟขึ้นในอก
มองเห็นทุกข์ประจำของมนุษย์ทั้งหลายถ่องแท้แล้ว ไม่น้อยใจเสียใจหรือทิ้งทุกข์นี้ วิ่งไปจับเอาทุกข์อื่น ซึ่งหนามากขึ้นไปอีก
ทรงให้บากบั่นฟันฝ่าอุปสรรคตามฐานะของตน อย่าเป็นทาสกาม แต่จะสังเกตเห็นเหตุการณ์ บุคคล สถานที่ สิ่งแวดล้อมเพื่อเข้าใจแจ่มแจ้ง เพื่อปลอดภัย เพื่อทำให้เป็นเครื่องเย็นใจ หาสิ่งอื่นเสมอมิได้ เพราะไม่เป็นทาสใครเป็นอิสระแก่ตัว และรู้จักสภาวะธรรมดา โดยที่จะต้องเกิดขึ้นแล้วแปรปรวนไปจนกระทั่งแตกดับ จนหายมัวหายหลง ห้ามหาทางป้องกันหรือแสวงหาทางอื่นนอกรีตนอกรอยออกไปจนได้ อย่างนี้ เรียกว่า โลกะวิทู คือดำเนินตามรอยยุคลบาทของพระพุทธเจ้า อันจะเป็นเหตุให้เกิดความสุขทางใจ นี้บทหนึ่ง

.....................................................
https://dhammachati.blogspot.com/


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 05 เม.ย. 2018, 05:42 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
สมาชิกระดับสูงสุด
สมาชิกระดับสูงสุด
ลงทะเบียนเมื่อ: 24 ต.ค. 2006, 12:36
โพสต์: 33766

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว


บทต่อไป

อะนุตตะโร ปุริสะทัมมะสาระถิ เป็นผู้ฝึกคนที่พอฝึกได้ ไม่มีใครเป็นผู้ฝึกที่พอฝึกได้ยิ่งกว่า

คำว่า สารถี แปลว่า ผู้ให้แล่นไป โดยการเป็นผู้ฝึกฝนด้วยการทรมาน คำว่า ปุริสะทัมมะ คือ คนที่พอฝึกสอนได้ เรียกอีกอย่างหนึ่งว่า เวไนยสัตว์ เวไนยะ คือสัตว์ที่พอจูงไปได้ พอแนะนำได้ อะนุตตะโร หมายความว่า ผู้ฝึกดี อาการที่ฝึกก็ดี ไม่มีที่อื่นยิ่งกว่า อธิบายต่อไปนี้

คงทราบว่าการฝึกม้า เป็นการฝึกที่ออกหน้าออกตามากในอินเดียนั้น ฉะนั้น คำว่า “สารถี” จึงนำมาเป็นนามพระพุทธเจ้า มีความหมายว่า ผู้ฝึกคนเพื่อให้เข้าใจง่าย
แต่บุรุษที่พอฝึกได้ นี้หมายความว่า พระองค์ฝึกได้แต่บางคนเท่านั้น ผู้ที่ฝึกไม่ได้ก็เพราะเขาไม่ยอมรับคำสั่ง ยังคงมี เช่น เดียวกันกับม้าบางตัวที่ฝึกไม่ได้
มีเรื่องเล่าไว้ในคัมภีร์ว่า พระองค์สนทนากับนายควาญม้าคนหนึ่ง พอที่จะให้ทราบปฏิปทาของพระองค์ได้ดี นายเกสีควาญม้านั้น ฝึกม้าด้วยอุบายอันละเอียด คือ ปลอบโยนบ้าง และอุบายหยาบคือเฆี่ยนตีบ้าง ด้วยอุบายทั้งละเอียดและหยาบทั้งสองอย่างนี้ คือ ปลอบโยนบ้าง และเฆี่ยนตีบ้าง ก็สอนมาได้ดี แต่ถ้าได้ฝึกถึงอย่างนี้แล้ว ม้านั้นยังใช้การไมได้ ก็ฆ่าเสีย เพื่อรักษาชื่อเสียงของตนไว้ ฉันใดก็ดี
พระองค์ฝึกบุรุษด้วยอุบายอันละเอียด คือแสดงสุคติสวรรค์ อุบายหยาบ คือ แสดงทุคตินรก และอุบายทั้งละเอียดทั้งหยาบ คือ ทั้งสุคติ และทุคติปนกัน สัตว์ใดฝึกอย่างนี้แล้ว ยังรับไม่ได้ ก็ทรงฆ่าเสีย โดยไม่ว่ากล่าวสั่งสอนอีกต่อไป ฉันนั้น
การฆ่าของพระองค์คือไม่สอนต่อไป คือพระองค์และเพื่อนพรหมจรรย์ถือว่าผู้นี้ไม่ควรว่ากล่าวสั่งสอนอีกต่อไป เรียกว่า การฆ่าในอริยวินัย

สำหรับการฝึก ควรทราบตามนัยแห่งเกวัฏฏสูตร สีลวรรค ทีฆนิกาย ที่ตรัสไว้ว่า ทรงพอพระทัยฝึกฝนทรมานคนด้วย อนุสาสนีปาฏิหาริย์ คือ พร่ำสอนด้วย ศีล สมาธิ ปัญญา ไม่ทรงพอใจสอนเขาด้วยอิทธิปาฏิหาริย์ คือแสดงฤทธิ์ให้ดู เพราะไปพ้องกับวิทยาของคนโบราณชื่อ “คันธารี” กลัวจะถูกกล่าวหาว่าเล่นกล พระองค์ไม่ชอบแสดงฤทธิ์เดช ไม่ชอบข่มขู่ใคร แต่ใช้วิธีการอบรมสั่งสอน ค่อยพูดค่อยจา
ถ้าไปแสดงฤทธิ์ เดี๋ยวเขาจะว่าไปเอาวิชาที่ชื่อ “คันธารี” มาใช้ และไม่พอพระทัยที่จะใช้อาเทศนาปาฏิหาริย์ คือ ตักใจได้ทุกท่า เพราะไปพ้องกับมนต์ “มณิกา” ของเก่าเหมือนกัน กลัวจะถูกครหาว่าเล่นมนต์นี้ หาใช้ญาณหรือวิชชาที่ประเสริฐไม่
เพราะฉะนั้น พระองค์จึงทรงสั่งสอนโดยใช้เหตุผลมาแสดง จนกระทั่งเขาเห็นจริงด้วยความมหัศจรรย์ใจ แล้วปฏิบัติตามด้วยความเต็มใจ การทรมานนั้น จึงเป็นผลดี และสงบเรียบร้อย เป็นการทรมานที่ไม่มีการทรมานใดยิ่งไปกว่า เพราะพระองค์ไม่ใช้วิธีการพระเดช ทรงใช้แต่พระคุณ ทรงชี้นำแนะแนว ชี้ช่องทางให้ปฏิบัติ เอาพระคุณเข้าใช้ คนฟังฟังไปเรื่อยด้วยเหตุผลที่เข้าใจได้เอง ผลที่สุดก็เป็นคนเชื่อง เรียกว่าได้รับการฝึกฝนแล้วอย่างดี

.....................................................
https://dhammachati.blogspot.com/


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 05 เม.ย. 2018, 19:09 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
สมาชิกระดับสูงสุด
สมาชิกระดับสูงสุด
ลงทะเบียนเมื่อ: 24 ต.ค. 2006, 12:36
โพสต์: 33766

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว


ข้อที่ว่า ไม่มีใครยิ่งกว่า ในส่วนตัวผู้ฝึกคือพระองค์นั้น พอจะรู้ได้จากคำสรรเสริญของนายปุสสะ ที่กราบทูลว่า การฝึกสัตว์เดรัจฉานนั้นมันง่าย ซื่อ ตรงไปตรงมา อาการจากภายนอกและใจตรงกัน พอจะสังเกตรู้

ส่วนมนุษย์นั้น ปากอย่างใจอย่าง จึงฝึกยาก แต่พระองค์กลับมาฝึกได้ดี โดยไม่ต้องใช้การเฆียนตีอย่างใดเลย

อีกอย่างหนึ่ง ตามที่ฝึกสัตว์นั้นก็เพื่อค่าจ้างและชื่อเสียงหรือเพื่อใช้สอยกันก็เพื่อประโยชน์ตน
ส่วนการฝึกของพระองค์ไม่ได้อะไรตอบแทน นอกจากจะเป็นประโยชน์สุขกับผู้ถูกฝึกเองเท่านั้น นี้แสดงให้เห็นว่า พระองค์เป็นสารถีที่หาตัวจับได้ยาก

ข้อที่ว่า “สัตว์ที่พระองค์ฝึกแล้วไม่มีอื่นยิ่งกว่า” นั้น รู้ตามนัยแห่งสฬายตนวิภังคสูตรกล่าวไว้ว่า สัตว์ธรรมดา เช่น ม้า เป็นต้น ฝึกแล้วก็ทำได้เท่าที่เขาฝึกไว้เท่านั้น ถึงจะได้หลายอย่างกต้องทีละอย่าง
ส่วนคนที่พระองค์ฝึกแล้วทีเดียวทำได้หลายอย่าง แล่นไปได้ในแปดทิศ รูปอรูปฌาน สัญญาเวทยิตนิโรธ แล่นไปสู่พระนิพพานอันเป็นสถานที่ถึงได้โดยยาก
ทรงกล่าวไว้ใน ธัมมบทขุททกนิกายว่า มนุษย์ที่ฝึกดีแล้ว ย่อมประเสริฐกว่าม้าอัสดร ม้าอาชาไนย ม้าสินธพ ช้างกุญชร ช้างมหานาค แม้จะฝึกดีแล้ว มันจะไปสถานที่ที่มันไม่เคยไป เหมือนกับคนที่ฝึกแล้วหาได้ไม่ คือสัตว์ฝึกเท่าไรๆ มันก็ไปนิพพานไม่ได้ ไม่เหมือนคนที่ฝึกดีแล้วสามารถบรรลุพระนิพพานได้ จึงนับว่าเป็นการฝึกที่ได้ผลมาก

.....................................................
https://dhammachati.blogspot.com/


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 05 เม.ย. 2018, 19:11 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
สมาชิกระดับสูงสุด
สมาชิกระดับสูงสุด
ลงทะเบียนเมื่อ: 24 ต.ค. 2006, 12:36
โพสต์: 33766

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว


พวกเราทั้งหลาย ผู้ดำเนินรอยตามพระองค์ในข้อนี้ ควรมีปัญญาแนะนำในการสอนผู้อื่นในสิ่งที่ตนเคยทำมาจนรู้และเข้าใจดีแล้ว ไม่เห็นแก่ประโยชน์ตน นอกจากจะตั้งเมตตากรุณาเป็นหลักไว้ในใจก่อนแล้ว พวกที่มีหน้าที่แนะนำสั่งสอนคนทำตัวดังนี้ ก่อนที่จะมีการสอนนั้น ก่อนการสอนคนอื่น เราต้องสอนตัวเราเองเสียก่อน ต้องทรมานตนเองก่อน
ถ้ายังไม่ฝึกสอนตนเองแล้วการสอนก็ไม่มีราคา พูดแล้วคนมันยิ้มเยาะ นึกในใจว่าดีแต่สอน ดีแต่พูด ว่าแต่เขาอิเหนาเป็นเอง มันเป็นไปคนละเรื่อง เพราะฉะนั่น คนที่จะไปสอนเขา ควรที่จะอบรมสั่งสอนตนเองอยู่ตลอดเวลา
ใครจะสอนคนอื่น ต้องสอนตนเองด้วย เช่น เราเป็นครูมีหน้าที่สอนศิษย์ เราจะต้องสอนตัวเองอยู่ด้วยตลอดเวลา เพื่อให้ประพฤติตนเรียบร้อย เป็นตัวอย่างแก่ศิษย์ทั้งหลาย เพราะการเดิน การพูด การทำอะไรของครูนั้น ย่อมเป็นแบบอย่างที่ศิษย์จะถ่ายทอดไปจากครูตลอดเวลา
ครูทำอะไรไม่ดีเด็กก็เอาไป ทำดีเด็กก็เอาไป
พ่อแม่ก็เหมือนกัน เพราะพ่อแม่ก็เป็นครูคนแรกของบุตรธิดา เพราะฉะนั้น พ่อแม่ทำอะไรก็จะติดไปถึงบุตรธิดา ถ้าทำดีมันติดเป็นภาพอยู่ในใจของเด็ก ทำเสียมันก็เป็นภาพอยู่ในใจของเด็ก



การเป็นพ่อเป็นแม่คนก็ดี เป็นครูเป็นอาจารย์สอนคนก็ดี ไม่ใช่เรื่องง่ายๆ เรื่องยาก

มันยากตรงไหน ? มันยากตรงที่จะทำตนให้เป็นตัวอย่าง การทำตัวให้เป็นตัวอย่างนี้มันยาก
ถ้าจิตใจไม่เข้มแข็งพอแล้วก็ไม่สามารถจะทำให้เป็นตัวอย่างเขาได้ จึงไม่สามารถจะเป็นครูที่ดีได้ เป็นได้แต่เพียงลูกจ้างสอนหนังสือให้เขาเท่านั้นเอง รับจ้างสอนไปวันหนึ่งๆ เสร็จแล้วก็ไปตามเรื่อง
ครูตามโรงเรียนเดี๋ยวนี้รุ่มร่าม ผมเผ้ารุ่มร่ามเหมือนอะไรดี ไม่มีระเบียบ แล้วจะไปบอกเด็กให้ตัดผมให้เรียบร้อยได้อย่างไร จะบอกให้เด็กแต่งตัวให้เรียบร้อยได้อย่างไร เพราะครูรุ่มร่าม ไม่น่าจะเป็นครูเลยก็มี เห็นมาอย่างนั้น นี่แหละเรียกว่า เป็นครูไม่ได้เต็มที่
ครูต้องฝึกฝนตนเองให้ดีก่อนแล้วจึงจะไปฝึกฝนอบรมเด็ก สอนผู้อื่น

ยิ่งพระเรายิ่งสำคัญใหญ่ การไปเทศน์ให้ชาวบ้านฟัง ไม่ว่าในงานใด ต้องจำไว้ว่า เราพูดอะไรกับเขา สอนเขาอย่างไรแล้วเราก็ต้องทำอย่างที่สอนเขาด้วย
ถ้าเราไม่ทำตามที่เราสอนเขา ชาวบ้านเขาจะว่า ว่าอยู่หยกๆ เราทำอย่างนั้นแล้ว การสอนนั้นก็เป็นหมันไป หมดราคาไป การนับถือการกราบไหว้ก็ลดหย่อนลงไป ทำให้เกิดการเสียหายแก่ฐานะที่กำลังเป็นอยู่ นี่เป็นเรื่องสำคัญ นี่เป็นเรื่องที่เราจะได้สำเหนียกอยู่ตลอดเวลา
เรามีหน้าที่อันใดที่จะไปทำอะไรกับใครแล้ว ต้องทำตนเป็นตัวอย่างแก่เขาเสมอ ไม่อย่างนั้นแล้วก็จะเกิดการเสียหายแก่เราผู้ปฏิบัติ และผลงานมันก็ไม่เต็มเม็ดเต็มหน่วย

.....................................................
https://dhammachati.blogspot.com/


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 06 เม.ย. 2018, 17:22 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
สมาชิกระดับสูงสุด
สมาชิกระดับสูงสุด
ลงทะเบียนเมื่อ: 24 ต.ค. 2006, 12:36
โพสต์: 33766

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว


ต่อไปบทว่า สัตถา เทวะมะนุสสานัง เป็นครูของเทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย อันนี้ หมายความว่าอย่างไร ? ข้อนี้ หมายความว่า เป็นครูของโลก

พระองค์เป็นนักสอนเพื่อทำความดับทุกข์ เพราะฉะนั้น สัตว์เหล่าใดก็ตามตกอยู่ในห้วงทุกข์ พระองค์ก็เป็นครูของสัตว์เหล่านั้น ทุกเพศ ทุกชั้นโดยไม่จำกัด
พระองค์มีความรู้อย่างเพียงพอที่จะเป็นบรมครูของของโลกได้ เพราะเป็นผู้รู้ทั่วถึงธรรมที่ควรรู้ ดังได้กล่าวแล้วในบท อะระหัง สัมมาสัมพุทโธ ในที่นี้ จะกล่าวเฉพาะในการที่พระองค์ทรงแสดงธรรมกับสัตว์โลกอย่างไร แล้วเราก็พากันทำตามเท่านั้น พอที่จะย่นเป็นหัวข้อได้ ดังต่อไปนี้

เรื่องเทวดานี้ ขอทำความเข้าใจเรื่องเทวดาก่อน ครูของเทวดา เทวดามีอยู่ ๓ จำพวก เขาเรียกว่า สมมติเทวดา แปลว่า เทวดาโดยสมมติ เทวดาสมมติก็คือ พระราชามหากษัตริย์ พระเจ้าแผ่นดิน ฯลฯ เขาเรียกว่าเป็นเทวดาโดยสมมติ เขาให้เกียรติกับพระเจ้าแผ่นดิน

อีกพวกหนึ่ง เขาเรียกว่า อุปัตติเทพ ได้แก่ เทวดาโดยกำเนิด คือไปเกิดเป็นเทวดาในสรวงสวรรค์ ตามแบบตำนานที่มีมาตั้งแต่โบราณ เช่นว่า คนนั้นทำบุญแล้วได้ไปเกิดบนสวรรค์เป็นเทวดา อย่างนี้ เรียกว่า อุปัตติเทพ หรืออุบัติเทพ

เทพอีกอย่างหนึ่ง เรียกว่า วิสุทธิเทพ คือเทวดาโดยความบริสุทธิ์ คือพระอรหันต์ หรือพระพุทธเจ้าทั้งหลาย เป็นเทวดาโดยความบริสุทธิ์

เทวดาทั้งสามนี้ เทวดาที่สูงสุดคือวิสุทธิเทพ คือเทวดาที่มีใจบริสุทธิ์นั่นเอง นอกนั้นเป็นบริวารทั้งนั้น

พวกเทวดาที่ยังเป็นบริวารอยู่ เช่น สมมติเทพหรืออุปัตติเทพยังมีความทุกข์ เทวดายังมีทุกข์ สวรรค์มันยังมีทุกข์ ไม่ใช่หมดทุกข์ ไม่ใช่เกิดในสวรรค์แล้วจะสบาย มันยังมีทุกข์อยู่นั่นแหละในสวรรค์น่ะ จึงต้องรับฟังคำสอนของพระพุทธเจ้าอยู่
พระพุทธเจ้าสอนเรื่องดับทุกข์ ใครมีความทุกข์ก็มารับฟังคำสอน เหมือนอย่างกับว่า มีหมอคนหนึ่งคอยจ่ายยาแก้ไข้ ใครเป็นไข้ก็มารับยาได้
ถ้าคนไม่เป็นไข้ก็ไม่ต้องรับยาได้ ในเรื่องธรรมะที่พระองค์สอนก็เหมือนกัน พระองค์สอนธรรมะที่เป็นทางดับทุกข์ ผู้ใดยังมีความทุกข์ ไม่ว่าเทวดาหรือมนุษย์หรือใครๆก็ตาม ที่มีหูพอฟังได้ มาฟังเถอะ พระองค์สอนทั้งนั้น เราจึงเรียกว่าอย่างนี้ ว่าเป็นครูของเทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย

.....................................................
https://dhammachati.blogspot.com/


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 07 เม.ย. 2018, 09:10 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
สมาชิกระดับสูงสุด
สมาชิกระดับสูงสุด
ลงทะเบียนเมื่อ: 24 ต.ค. 2006, 12:36
โพสต์: 33766

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว


ทีนี้ การสั่งสอนของพระองค์นั้น สอนอย่างไร ? เราควรรู้วิธีการสอนของพระพุทธเจ้าว่า พระองค์สอนวิธีใด

๑. ไม่สอนเพื่อลาภ. พระองค์ละทิ้งราชสมบัติอันบริบูรณ์ด้วยการออกแสวงหาความหลุดพ้น เสด็จออกมาดำรงตำแหน่งครูของโลก คำบาลีที่กล่าวไว้ ครั้งกระโน้นไม่มีคำใดเลยส่อให้เห็นว่า มีผู้ถวายเครื่องกัณฑ์แก่พระพุทธเจ้า หรือสาวกเมื่อแสดงธรรมเลย
การแสดงธรรมในครั้งกระโน้น เป็นหน้าที่ของผู้แสดง จะต้องเข้าไปแสดงในสถานที่ที่คนบำเพ็ญประโยชน์ผู้อื่น แม้เขาจะเชื่อตัวหรือไม่ก็ตาม เมื่อถึงคราวควรแก่การแสดงแล้วต้องแนะนำเขาทันที
แต่บัดนี้ ไม่ได้เป็นเช่นนั้น พระไม่มีใครสมัครแสดงธรรมโดยปราศจากการเชื้อเชิญจากเจ้าภาพ ซึ่งจะต้องมีผู้แสดงความจำนงตายตัวแล้วว่า จะถวายสิ่งของ การแสดงธรรมเลยกลายเป็นว่าคนมีเงินเท่านั้นที่จะได้ฟังธรรม หรือไม่ก็ต้องประกอบพิธีอะไรสักอย่าง หรือเกี่ยวแก่ชื่อเสียง แล้วจึงจะจัดผู้แสดงธรรมมาแสดง ด้วยทำนองที่จะใช้ด้วยมูลค่า แต่เรียกว่าเป็นการบำเพ็ญบุญ ให้มาแสดง ณ ที่อยู่ของตนก็มี ให้แสดงประจำอยู่ที่วัดเป็นประจำก็มี

๒. แสดงธรรมด้วยเมตตา. พระองค์ได้ปักหลักสำหรับธรรมกถึกไว้ข้อหนึ่ง เมื่อแสดงธรรมกับบุคคลอื่น ควรตั้งเมตตาจิตไว้เป็นเบื้องหน้า ไม่พึงรับอามิสหรือลาภผล เมตตาเป็นความรักที่ประกอบด้วยธรรมะ ไม่ได้ประกอบด้วยความกำหนัดเช่นความรักระหว่างเพศ แล้วแสดงธรรมให้เขารักกันบ้าง หรือเมื่อเขาถวายสิ่งของ แล้วสรรเสริญเยินยอเขา เช่นนี้เกินไป เกินพอดี
เมตตานั้นคือความรักและความอยากให้เขามีความสุข ในฐานะที่เขาเป็นมนุษย์ร่วมโลกด้วยกัน แต่เขายังเป็นผู้มีปัญญาอ่อน ไม่สามารถที่จะช่วยตนเองให้เป็นสุขได้ตามลำพัง นี่เป็นบารมีอันหนึ่งที่พระโพธิสัตว์ได้สร้างสรรค์มาทีละน้อยๆ ๔ อสงไขยแสนกัป จึงจะเกิดแก่กล้าถึงที่สุดเป็นพระพุทธเจ้าได้ มีความเมตตาอยู่เสมอ
ผู้ที่มีเมตตาแท้จริงแล้วทำอะไรลงไปดีเหลือหลาย เป็นเจ้าหนี้ของโลก พระศาสดาผู้เป็นบรมครูของเราทั้งหลายตรัสว่า แสดงธรรมด้วยเมตตา

.....................................................
https://dhammachati.blogspot.com/


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 07 เม.ย. 2018, 18:31 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
สมาชิกระดับสูงสุด
สมาชิกระดับสูงสุด
ลงทะเบียนเมื่อ: 24 ต.ค. 2006, 12:36
โพสต์: 33766

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว


๓. มุ่งธรรมะเป็นใหญ่. พระองค์ตรัสว่า คำที่พระองค์ตรัสไว้ก็ตาม ที่พระอาจารย์สอนให้ก็ตาม ตลอดจนคำที่ได้ยินได้ฟังมาจากทางไหนก็ตาม อย่าเพิ่งเชื่อในทันที ต้องคิดดูให้เห็นว่าดีหรือชั่ว จริงหรือไม่จริง แน่ใจเสียก่อนว่าจริงแล้วๆจึงเชื่อ เช่น กาลามสูตร ตรัสกับพวกกาลามะชน เป็นต้น ตลอดถึงสูตรอื่นก็เหมือนกันเพราะมุ่งธรรมเป็นใหญ่ ไม่มุ่งบุคคลเป็นใหญ่ ไม่เชื่อบุคคล แต่เชื่อธรรมะ
พระองค์สอนให้รู้จักหาเหตุผลแสดงเหตุผลให้กับผู้ฟัง ไม่ปิดบังอำพราง ไม่สอนคนโน้นอย่างหนึ่ง คนนี้ อย่างหนึ่ง ด้วยความลำเอียง พูดตรงไปตรงมา อย่างเป็นธรรม ไม่ต้องคิดถึงว่าจะชอบใจผู้ฟังหรือไม่ นี้ล้วนแต่มุ่งธรรมเป็นใหญ่ทั้งนั้น

๔. ต้องทำให้ได้เหมือนกับที่สอนเขา. ตรัสไว้ว่า พึงตั้งตนเองไว้ในที่สมควรเสียก่อน แล้วจึงค่อยสอนผู้อื่นภายหลัง และฝึกตนให้ดีเสียก่อน แล้วค่อยฝึกผู้อื่น เช่น จะสอนให้เขามีศีล มีหิริโอตตัปปะ เป็นต้น ก็ควรทำตัวของตนเองให้มีศีลและหิริโอตตัปปะเสียก่อน ไม่ใช่ไปอ่านหรือฟังจากใครแล้วก็ไปสอนเขา ผู้ที่สอนเขาแล้วทำไม่ได้เหมือนสอน เป็นผู้ที่ควรถูกติเตียน แม้พระองค์ก็ทรงกล่าวไว้ ดังที่พระพุทธเจ้าตรัสกับโลหิตะพราหมร์ว่า

ครูที่ควรถูกติเตียนมี ๓ จำพวก คือ

๔. ๑ ผู้ที่ออกบวชแล้วไม่ทำตัวให้บรรลุสามัญผลเสียก่อนแล้วมาสอนเขา คือยังไม่บรรลุ
สามัญผลแล้วมาสอนผู้อื่น คำพูดของเขาไม่มีใครเอาใจใส่ เหมือนคนรักผู้หญิงไม่เป็น หรือกอดผู้หญิงข้างหลัง

๔.๒ ผู้ที่พูดเช่นนี้ แต่คำพูดของเขามีผู้เอาใจใส่ เขาเพลินไปในการสอน ละทิ้งหน้าที่ของตนที่ควรทำแก่ตัว เช่น ผู้ที่ทิ้งนาของตนไถนาคนอื่น

๔.๓ ผู้ที่เป็นเช่นนั้น สอนไม่มีใครฟัง เขาละทิ้งสิ่งที่พอจะทำได้ไปรับภาระในสิ่งที่เขาทำไม่ได้ เหมือนคนตัดบ่วงเก่าเพื่อเอาบ่วงใหม่ฉะนั้น

ครู ๓ จำพวกนี้ ควรถูกติเตียนทั้งนั้น นั่นเป็นของจริงประกอบด้วยธรรมไม่มีโทษ พระองค์รู้และยึดหลักนี้มั่น คือ ต้องทำตัวให้ดีเสียก่อนแล้วค่อยไปสอนเขา

.....................................................
https://dhammachati.blogspot.com/


แสดงโพสต์จาก:  เรียงตาม  
กลับไปยังกระทู้  [ 42 โพสต์ ]  ไปที่หน้า ย้อนกลับ  1, 2, 3  ต่อไป

เขตเวลา GMT + 7 ชั่วโมง


 ผู้ใช้งานขณะนี้

กำลังดูบอร์ดนี้: ไม่มีสมาชิก และ บุคคลทั่วไป 43 ท่าน


ท่าน ไม่สามารถ โพสต์กระทู้ในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ ตอบกระทู้ในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ แก้ไขโพสต์ของท่านในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ ลบโพสต์ของท่านในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ แนบไฟล์ในบอร์ดนี้ได้

ค้นหาสำหรับ:
ไปที่:  
Google
ทั่วไป เว็บธรรมจักร