วันเวลาปัจจุบัน 18 เม.ย. 2024, 20:18  



เขตเวลา GMT + 7 ชั่วโมง




กลับไปยังกระทู้  [ 28 โพสต์ ]  ไปที่หน้า ย้อนกลับ  1, 2  Bookmark and Share
เจ้าของ ข้อความ
โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 24 มี.ค. 2018, 14:43 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
สมาชิกระดับสูงสุด
สมาชิกระดับสูงสุด
ลงทะเบียนเมื่อ: 24 ต.ค. 2006, 12:36
โพสต์: 33766

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว


พระพุทธเจ้าของเราทั้งหลายนั้น ตามเรื่องนิทานชาดก มันก็เป็นประโยชน์ในแง่ธรรมะเหมือนกัน ท่านเป็นพระโพธิสัตว์ตั้งแต่ครั้งแรก ชื่อว่า สุเมธดาบส ได้เห็น พระทีปังกรสัมมาสัมพุทธเจ้า ท่านตั้งจุดหมายทันทีเลย เมื่อเห็นพระทีปังกรสัมมาสัมพุทธเจ้า ท่านเป็นฤๅษีชื่อว่าสุเมธดาบส ท่านไปนอนบนโคลนให้พระพุทธเจ้าเหยียบหลังเลย เพราะท่านเดินไปเห็นคนกำลังพัฒนากันอยู่ก็เลยถามว่า ทำอะไร ?

ชาวบ้านบอกว่า พระพุทธเจ้าจะเข้าเมืองวันนี้ ทางไม่ดี เราจะต้องพัฒนากันหน่อย

แกก็บอกว่า ฉันจะขอช่วยสักส่วนหนึ่ง พอดีตรงนั้น มีโคลนมาก มีหลุม เอาดินมาถมเท่าใดมันก็ไม่ตื้นสักที
พอดีพระพุทธเจ้าเสด็จมา เมื่อพระพุทธเจ้ามาถึงตรงนั้น มันเป็นโคลน สุเมธดาบส ก็นึกว่า เราจะต้องทอดกายเป็นสะพานให้พระพุทธเจ้า ก็นอนยาวลงไปเลย แล้วก็ประนมมือร้องนิมนต์พระพุทธเจ้า ขอให้เดินไปบนร่างกายของข้าพเจ้า

พระพุทธเจ้าท่านก็เดินเหยียบไป ฤๅษีก็ตั้งจิตอธิษฐานว่า เราต้องการเป็นพระพุทธเจ้าเหมือนพระพุทธเจ้าพระองค์นี้ เพื่อผลให้ชาวโลกข้ามสังสารวัฏ เรียกว่า เป็นการตั้งจุดหมาย แล้วก็บำเพ็ญบารมีมาโดยลำดับ จนกระทั้งเกิดเป็นเจ้าชายสิทธัตธะ แล้วได้เป็นพระพุทธเจ้า

เรื่องนั้น มันมีสาระอยู่ที่ว่า มีจุดหมายของชีวิต สาระมันอยู่ตรงนั้น ว่ามันมีจุดหมายแล้วก็ไม่เลิกละในจุดที่ตั้งไว้ พยายามที่จะเดินไปสู่จุดที่ต้องการจนสำเร็จ ลำบากก็ทน เหน็ดเหนื่อยก็ต้องทน จนไปถึงจุดหมายปลายทาง

.....................................................
https://dhammachati.blogspot.com/


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 24 มี.ค. 2018, 19:44 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
สมาชิกระดับสูงสุด
สมาชิกระดับสูงสุด
ลงทะเบียนเมื่อ: 24 ต.ค. 2006, 12:36
โพสต์: 33766

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว


คนที่ทำอะไรไม่ถึงจุดหมายนั้น มันเป็นอย่างนี้ เขาเรียกว่า นิสัยจับจด ทำนิดทำหน่อย โลเล ไม่ได้ความ อ่านหนังสือเล่มนี้นิด อ่านหนังสือเล่มนี้หน่อย เรียนนั้นนิดหนึ่ง เรียนนี้หน่อยหนึ่ง มีความรู้อย่างชนิดที่เขาเรียกว่า รู้อย่างเป็ด เป็ดเดินเตาะแตะ ว่ายน้ำก็ไม่เก่งเหมือนปลา บินได้ก็ไม่เก่งเหมือนนก ทำอะไรก็อย่างนั้นแหละ เตาะแตะๆไปตามเรื่อง รู้นิดรู้หน่อย เอาเป็นจริงเป็นจังก็ไม่ได้ เอาไปใช้เป็นหลักในการทำมาหากินก็ไม่พอ ชีวิตนี้ลำบาก
คนหนุ่มจึงต้องมแนวทางชีวิตให้แน่นอน เราจะเดินไปสู่จุดไหน คงเป้าหมายไว้ว่าเราจะเป็นอะไร เราจะเป็นช่างไม้ เราจะเป็นอะไรก็ตามใจเถอะ เท่าที่เราจะเป็นได้ ที่เราชอบจะเป็น แล้วก็พยายามที่จะก้าวไป ในการไปนั้นก็ต้องมีหลักอันหนึ่งเข้าประกอบอีก คือ ต้องช่วยตัวเอง ต้องพึ่งตัวเอง แม้คนอื่นจะไม่ช่วยเราก็ไม่เสียอกเสียใจ แต่เราจะต้องช่วยตัวของเรา ยืนบนขาของเราเอง ก้าวไปด้วยขาด้วยแข็งของเราเอง ด้วยกำลังความรู้ความสามารถของเราเอง แล้วเราก็จะไปถึงจุดนั้นได้สมความปรารถนา

อันการกระทำอย่างนี้ ภาษาธรรมะเขาเรียกว่า อธิษฐานบารมี หมายความว่า ตั้งใจให้มั่นในเรื่องที่เราจะทำ เมื่อเราจะทำอะไรแล้วจะต้องตั้งใจให้มั่น เด็ดเดี่ยวแม้จะต้องตายก็ต้องยอม เมื่อเห็นว่าสิ่งนั้นมันเป็นประโยชน์ เป็นคุณเป็นค่า เป็นไปเพื่อความสุข เป็นไปเพื่อความเจริญ ทั้งแก่คนและบุคคลอื่นแล้ว เราไม่ยอมเพิกถอน ตั้งใจมั่น เดินไปสู่จุดหมาย ถึงมีอุปสรรคก็ไม่กลัว มันคล้ายกับเพลงหลวงวิจิตร ฯ แต่งที่ว่า เดิน เดิน เดิน ...น่ะ ถึงเจอแม่น้ำขวางหน้า ก็จะว่ายข้ามไป ไม่มีกลัวอุปสรรค นั่นแหละ เขาเรียกว่า เดินตรงไป เป็นอุชุปฏิปันโน

อุชุปฏิปันโน นี่ถ้าพูดกันในหมู่พระ คือไม่ปฏิบัติเพื่อลาภ เพื่อสักการะ เพื่อชื่อเสียง เพื่ออะไร ไม่ได้ปฏิบัติเพื่ออะไรอื่น เพื่อพ้นทุกข์อย่างเดียว ตรงไปสู่จุดนั้น เรื่องอื่นนั้นไม่เกี่ยว ถือว่าเป็นผลพลอยได้ นิดๆหน่อยๆ ไม่อาลัยใยดี อาลัยนักหนาก็ตรงจะมุ่งไปสู่จุดที่เราต้องการ

.....................................................
https://dhammachati.blogspot.com/


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 25 มี.ค. 2018, 07:57 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
สมาชิกระดับสูงสุด
สมาชิกระดับสูงสุด
ลงทะเบียนเมื่อ: 24 ต.ค. 2006, 12:36
โพสต์: 33766

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว


ญายะปฏิปันโน ภะคะวะโต สาวะกะสังโฆ “สงฆ์สาวกของพระผู้มีพระภาคเจ้า หมู่ใด ปฏิบัติเพื่อรู้ธรรมเป็นเครื่องออกจากทุกข์แล้ว” ปฏิบัติเพื่ออะไร ปฏิบัติดีเพื่ออะไร ปฏิบัติตรงเพื่ออะไร มันอยู่ในข้อ ๓ นี้อีก คือว่า ปฏิบัติเพื่อรู้ธรรมเป็นเครื่องออกจากทุกข์
เราศึกษาเล่าเรียน เพื่อรู้ธรรมเป็นเครื่องออกจากทุกข์ เพราะเรามองเห็นว่าชีวิตมันเป็นทุกข์ การเกิดแล้วเกิดอีกมันก็เป็นทุกข์ มองเห็นความทุกข์ มองเห็นความลำบากของชีวิตอยู่ เราต้องการที่จะออกไปจากทุกข์ เมื่อต้องการที่จะออกไปจากทุกข์ก็ต้องรู้ข้อปฏิบัติ อันจะช่วยให้เราพ้นไปจากความทุกข์ ผู้ที่ปฏิบัติก็เหมือนกัน ปฏิบัติเพื่อรู้ธรรม เช่น รักษาศีลก็เพื่อรู้ธรรมที่ออกจากทุกข์
ฝึกสมาธิ เจริญภาวนา เพื่อที่จะให้รู้ธรรมเป็นเครื่องออกจากทุกข์ เกิดปัญญา ก็เอามาใช้เพื่อจะให้เข้าใจในธรรมะที่เราจะออกไปจากความทุกข์ ความเดือดร้อน อันนี้ เป็นจุดสำคัญ เรียกว่าเป็นกิจที่เราจะต้องรู้ไว้ว่าเพื่ออะไร
ถ้าเราไม่รู้ว่าเพื่ออะไร ก็ลังเลเหมือนกัน เดินๆ ไปหน่อย เอ๊ะ เดินไปทำไม เพื่ออะไร ลังเลเสียแล้ว พอลังเลก็เลยลาเลิกกันเท่านั้นเอง มันก็ไปไม่ได้ อันนี้ จะต้องรู้ว่า เราปฏิบัติกันเพื่อรู้ธรรมะ เมื่อรู้แล้วจะเป็นเหตุให้พ้นจากความทุกข์ ความเดือดร้อน

ทีนี้ โดยปกติคนเรายังไม่รู้ ยังมีอวิชชาครอบงำอยู่ ยังไม่เข้าใจเรื่องอะไรถูกต้อง คนเราที่กระทำผิดทำเสีย ไม่รู้จักคุณค่าของชีวิตว่าเกิดมาทำไม อยู่เพื่ออะไร สิ่งที่ดีที่เราจะประพฤติปฏิบัติในชีวิตประจำวันคืออะไรนั้น ก็เนื่องจากไม่รู้ มันมีอวิชชาครอบงำจิตใจอยู่
ที่เราได้หลงใหลได้มัวเมาอะไรต่างๆอยู่ ก็เพราะว่ามีความโง่ ความไม่เข้าใจเป็นพื้นฐาน แต่ถ้าเมื่อเราศึกษาธรรมะ ปฏิบัติธรรมะ มันค่อยแจ่มแจ้งขึ้น สว่างไสวขึ้นในใจ แล้วก็รู้ว่าอะไรเป็นอะไร ถูกต้องตามสภาพที่เป็นจริง

ตัวอย่างเห็นง่ายๆ เช่น เราฝึกสมาธิ ก่อนนี้เราไม่รู้ว่าสภาพจิตใจของเราเป็นอย่างไร มันดิ้นรนกลับกลอกรักษายากขนาดไหน เราไม่รู้ เพราะเราไม่เคยสังเกตสภาพจิตใจของเราเอง เราก็ไม่รู้ คล้ายๆ กับคนที่ไม่เคยเลี้ยงเด็ก
วันหนึ่ง เขาบอกว่า วันนี้ ช่วยเลี้ยงเด็กหน่อยเถอะ ฉันจะไปธุระ
เราก็รับภาระเด็กไว้เลี้ยง ทีนี้ เด็กมีปกติซุกซน เดี๋ยวไปนั่นไปนี่ คนเลี้ยงก็ไปไหนไม่ได้ ต้องคอยดู คอยเอาใจใส่อยู่ตลอดเวลา ก็เกิดรู้ความรู้สึกว่า เอ้อ งานเลี้ยงเด็ก นี่ไม่ใช่งานย่อยแต่เป็นงานหนัก ต้องใช้ความสังเกตอยู่ตลอด ประจักษ์แก่ใจ เกิดประสบการณ์ขึ้นมาว่าเลี้ยงเด็กนี่ ไม่ใช่เรื่องง่าย

.....................................................
https://dhammachati.blogspot.com/


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 25 มี.ค. 2018, 08:04 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
สมาชิกระดับสูงสุด
สมาชิกระดับสูงสุด
ลงทะเบียนเมื่อ: 24 ต.ค. 2006, 12:36
โพสต์: 33766

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว


ต่อ

ทีนี้ ในเรื่องการคุ้มครองรักษาจิตก็เหมือนกัน พระพุทธเจ้าตรัสว่า “จิตตัง ทันตัง สุขาวะหัง (จิตที่ฝึกฝนดีแล้วนำสุขมาให้” “จิตตัง รักเขถ เมธาวี (ผู้มีปัญญา พึงตามรักษาจิตไว้”

แต่เราก็ไม่ได้รักษาไว้ ปล่อยมันตามเรื่องตามอารมณ์ที่มากระทบ ดีใจบ้าง เสียใจบ้าง หัวเราะบ้าง ร้องไห้บ้าง ขึ้นๆลงๆ ตามสภาพของอารมณ์ ไม่รู้ว่าจิตนั้นเป็นเรื่องห้ามได้ จิตนี้ทำให้อยู่ในอำนาจของความผิดชอบชั่วดีได้ เราไม่รู้ เรามารู้แต่เพียงว่า โอ้ย ไม่ไหว จิตมันอยู่อย่างนั้น ล่อกแล่กๆอยู่อย่างนั้นตลอดเวลา คล้ายกับลิงที่ไม่มีปกติอยู่นิ่งได้

แต่ว่าลิงเขาจะเอามาเล่นละครได้อย่างไร ลิงที่เขาเอามาเล่นละครได้ แสดงว่า เขาได้หัดลิงได้
งานวัดภูเขาทองสมัยก่อนมีละครลิงบ่อยๆ เดี๋ยวนี้ท่าจะหมดไปแล้ว สารถีลิงคงจะไม่มี ละครลิงหายไป เมื่อลิงเขาฝึกให้แสดงละครได้ แสดงว่า ให้มันหยุดได้ ไม่ใช่ซุกซนอยู่ตลอดเวลา
จิตเรานี้ก็เหมือนกัน แม้ธรรมชาติของจิตจะเป็นธรรมชาติดิ้นรนกลับกลอกรักษายาก ห้ามยาก ชอบไปในที่ไกล ไปโน่นไปนี่ เที่ยวคิดฟุ้งไปตามเรื่องตามราว แต่ก็ฝึกให้อยู่ในอำนาจเราได้

ผู้มีปัญญาย่อมห้ามจิตได้ ห้ามจิตได้ก็ด้วยการมาควบคุม โดยการที่เราฝึกภาวนานั่นเอง.

ที่ไปฝึกกันทุกๆคืน จุดหมายก็เพื่อว่า จะได้ห้ามจิตไม่ให้ฟุ้งซ่าน ให้เป็นสมาธิ เกิดความสงบให้เหมาะที่จะเอาไปใช้งานใช้การต่อไป เพราะเรายังจะต้องทำอะไรๆอีกเยอะแยะ ที่จะต้องใช้ความคิด ใช้กำลังจิต เราก็ต้องรวบรวมกำลังมัน ให้มันอยู่เป็นจุดเดียว ให้มันหยุดก่อน เมื่อหยุดแล้วก็เรียกว่ามีความสงบแล้วก็เป็นสมาธิ แล้วมันก็อ่อน เหมาะที่จะใช้งาน คล้ายกับสัตว์ป่าที่เราจับมาฝึก
เหมือนจับช้าง ช้างพอจับได้ไม่ใช่มันเชื่องเลย เอามาถึงต้องมัดกับเสา ๔ เสาเลย แล้วควาญช้างก็เข้าไปจับตรงนั้นจับตรงนี้ เอาหญ้าให้มันกิน เอาน้ำให้มันดื่ม จับตรงนั้นตรงนี้ เขาเข้าใจ หมดนวดช้างเขาเข้าใจว่าจะจี้ตรงไหน จี้ไปจี้มา มันค่อยสงบลงเชื่องแล้ว ปลด ๒ เสา ให้เหลือ ๒ เสา
ต่อมาก็ปลดหมด เอาเชือกผูก โซ่ร้อย ขึ้นขี่หลังได้ แล้วก็ขับไปในตลาดได้ เป็นอาชาไนย.

ช้างอาชาไนย คือช้างที่เชื่องแล้ว
ม้าอาชาไนย ก็ม้าที่เชื่องแล้ว
บุรุษอาชาไนย ก็คือ ผู้ที่หยุดซุกซนแล้ว ถ้ายังซุกซนอยู่ ก็เรียกว่า ไม่ใช่อาชาไนย ยังไม่เป็นบุรุษอาชาไนย

ทีนี้ จิตใจคนเรา มันก็ต้องเอาฝึกอย่างนั้น ขั้นแรก ก็ต้องมีเป้าหมายให้มันคิดตรง ให้มันจอดไว้ที่ตรงไหน สมมติว่า ให้มันอยู่กับ ลมเข้า ลมออก หายใจเข้าก็ให้นึกตามลมไป หายใจออกก็ให้นึกตามลมไป หายใจเข้านึกตามไป หายใจออกก็นึกตามลมออก ให้มันนึกที่นั่น ให้จิตอยู่ที่นั่น ไม่ให้ไปที่อื่น ให้อยู่ที่ลมเข้าลมออก
ลมเข้าท้องพอง ลมออกท้องยุบ ก็ทำนองเดียวกัน คืออยู่กับอาการพอง อาการยุบของมัน
หรือมิฉะนั้น เราไปเพ่งอะไรสักอย่าง เช่นว่า เพ่งกสิณ เอาดินมานั่งพิจารณา ปฐวีๆ ว่าไป ตาดูไป ใจอยู่ทีดิน มันก็จุดหมายอันเดียวกัน
จุดหมายว่าให้มันอยู่จุดใดจุดหนึ่ง ไม่ให้เพ่นพ่าน ให้อยู่ตรงนั้น แล้วนานๆเข้า มันก็อยู่ตรงนั้น ไม่ไปไหน อยู่ได้ ๕ นาที ๑๐ นาที อยู่ได้นานๆ เมื่อมันอยู่ได้นาน ก็เรียกว่า มีสมาธิ เพราะตรึกอยู่ในเรื่องนั้น มีสมาธิอยู่ในเรื่องนั้น
ต่อจากนั้น เราก็เอากำลังสมาธินั้น ไปคิดไปค้นในเรื่องอะไรต่อไป เรียกว่า มีกำลังแล้วก็เอาไปคิดตีปัญหา เรื่องอะไรต่างๆ ที่เขาพูดกันว่ากำลังภายใน เอาไปใช้ได้ผลดี

คนมีสมาธิมันได้เปรียบ อ่านหนังสือรู้ไว คิดอะไรก็ทะลุไว ทำอะไรก็รวดเร็ว ในสังคมที่เต็มไปด้วยความวุ่นวายนี้ ต้องแข่งขันกันตลอดเวลา
ถ้าเราไม่มีกำลังจิตเป็นสมาธิเพียงพอ เราสู้เขาไม่ได้ อันนั้น แง่หนึ่ง ที่สำคัญก็คือเราเป็นสุขพักผ่อนทางใจ เป็นสุขสบายได้ทุกโอกาสที่ต้องการพักผ่อน ผลมันก็เกิดขึ้นที่การปฏิบัติ คือเพื่อจุดหมายว่าได้ธรรมะ ได้สมาธิ ได้ปัญญา เมื่อได้แล้วจะได้รู้ว่า อะไรเป็นอะไรถูกต้อง เราก็จะได้พ้นไปจากความทุกข์ ความเดือดร้อน นี่เป็นจุดหมายอีกอันหนึ่ง.

.....................................................
https://dhammachati.blogspot.com/


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 25 มี.ค. 2018, 11:32 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
สมาชิกระดับสูงสุด
สมาชิกระดับสูงสุด
ลงทะเบียนเมื่อ: 24 ต.ค. 2006, 12:36
โพสต์: 33766

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว


สามีจิปะฏิปันโน ภะคะวะโต สาวะกะสังโฆ “สงฆ์สาวกของพระผู้มีพระภาคเจ้า หมู่ใด ปฏิบัติสมควรแล้ว” ไม่ตึง ไม่หย่อน พอดีๆ เรียกว่าสมควร ตึงไปก็ไม่ดี หย่อนไปก็ไม่ดี ถืออะไรตึงนัก ก็ลำบาก อะไรหย่อนไปก็เทิบทาบ ไม่เหมาะไม่ควร
การปฏิบัติในพระพุทธศาสนา ท่านสอนให้ปฏิบัติสายกลาง คือว่าเกิดความพอเหมาะพอดีในการปฏิบัติ ถ้าตึงไปก็ทรมาน ถ้าหย่อนไปก็ชักจะหย่อนยานเกินไป ใจโลเล ไม่มีความแน่นอน ถ้าพอดีก็เรียกว่าใช้ได้
ทีนี้ ความพอดีจะเอาคนวัดก็ไม่ได้ คนหนึ่งว่า ของผมพอดีแล้ว
สมมติว่า ฉัน ๓ ชามนี่พอดี อีกคนหนึ่ง ๔ ชามจึงจะพอดี
บางคนว่า มื้อเดียวก็พอดีแล้ว แต่บางคนบอกว่า ๒ มื้อ แล้วตอนเย็นต้องมีน้ำอัดลมดื่มอีกสัก ๒ ขวด เป็นความพอดีของผู้นั้น นี่มันวัดไม่ได้ เอาของบุคคลมาวัดนี่ลำบาก เพราะว่าความคิดการกระทำมันไม่เหมือนกัน ความพอดีนั้น ต้องอาศัยหลักทางธรรมะ

ปฏิบัติพอดี ก็หมายความว่า เดินสายกลาง สายกลางก็คือ อริยมรรคมีองค์ ๘ ความไม่ตึง ไม่หย่อน ไม่กระทบกระทั่งฝ่ายซ้ายฝ่ายขวา ฝ่ายหย่อนฝ่ายตึง นี่เรียกว่าความพอดี เช่น ถือศีลนี่ก็พอดี ให้ถูกต้องตามที่เขาบัญญัติไว้ ฝึกสมาธิก็ให้มีความพอดี เช่น นั่งนานๆ ปวดแข็ง ปวดขา แต่ทนเอาหน่อย ถ้าเหลือทนก็ลุกเดินจงกรมเสียบ้าง เดินแล้วก็นั่งบ้าง แล้วก็นอนบ้าง แต่ว่านอนแล้วมันจะหลับไปเสียเลย แต่ก็ต้องหลับ ถ้ามันจำเป็นแล้ว เพราะว่าถ้าทำมานานมามากมันก็ง่วงนอน ขืนทำไปก็เสียหายแก่ตน

ตัวอย่าง เช่นว่า พวกพระที่บวชนานๆ มักจะติดยานัตถุ์ บุหรี่นี่ติดอยู่แล้ว ติดกันอยู่งอมแงมแล้ว ยังแถมหนักเข้าไปอีกราย ทำไมจึงติดยานัตถุ์ เรียนหนังสือแล้วมันง่วง อยากจะให้สอบได้ไวๆ เรียนมากๆ พอง่วงเป่ายานัตถุ์ เป่าพรวดเข้าไปตาก็สว่างนะซิ น้ำมูกน้ำตาไหลตามๆกัน เลยเรียนได้ต่อไป

พอง่วงอีกเป่ายานัตถุ์อีก เลยติดยานัตถุ์งอมแงมเลย มือนี้ถือขวด มือนี้ถือหลอดยานัตถุ์ จิ้มเป่าพรวดๆๆ อยู่ตลอดเวลา ทำให้เยื่อจมูกอักเสบ แล้วก็ติดยิ่งกว่าติดบุหรี่เข้าไปอีก มีอย่างนี้มากมายหลายองค์ด้วยกัน นี่เขาเรียกว่า ไม่รู้จักประมาณ
ความจริงร่างกายนี้ เมื่อมันง่วงเกินไป ก็ต้องพักมันบ้าง มันง่วง มันก็บอกว่าฉันง่วงละนา ให้ฉันนอนเถอะ นอนเสีย นักพักผ่อน พักเสียครึ่งชั่วโมง ถ้ากลางคืนก็เอานอนสัก ๓-๔ ชั่วโมง มันตื่นเอง มันนอนแล้วก็ตื่น สังเกตเถอะ

พวกเรานอนๆน่ะ พอเต็มตื่นแล้วมันก็ตื่นเท่านั้น ตี ๔ ตื่น เต็มตื่นแล้วมันก็ตื่น การที่ตื่นขึ้นมามันพอแล้วกับความต้องการของร่างกาย ร่างกายมันต้องการเท่านั้น แต่ว่าจิตไม่ยอม
อือ ยังไม่สว่าง นอนต่ออีก เลยนอนต่อไปเอาผ้าคลุมโปง บางทีตะวันโด่งถึงจะลุกขึ้น นี่เป็นเพราะว่าเราไม่ทำความพอดี ร่างกายมันบอกอยู่ในตัว กินก็เหมือนกัน อิ่มก็เหมือนกัน เช่น ดื่มน้ำแก้วหนึ่งก็พอ ท้องบอกว่าพอแล้ว แต่ถ้าน้ำอร่อยดื่มอีกแล้วหนึ่ง ดื่มจนไหลออกมาทางจมูก อย่างนี้ มันก็เกินพอดีกับธรรมชาติของร่างกาย มันต้องทำพอเหมาะพอดีกับธรรมชาติของร่างกาย แล้วก็จะไม่เสียหาย

คนที่เขาเรียนหนังสือเก่งๆนั้น ไม่ได้อดหลับอดนอนเกินไปดอก เขาเรียนพอสมควร การนอน ถ้านอนเต็มตื่น เขาตื่นขึ้นมาเรียนต่อ เรียนต่อตอนดึกนี่ดีกว่าตอนหัวค่ำ เพราะตอนดึกมนุษย์เขานอนกันหมด ไม่หนวกหูใคร อากาศเย็นสบาย แล้วร่างกายเราก็ได้พักผ่อนพอสมควรแล้ว ลุกขึ้นเรียนต่อมันก็ดี เหมือนพระเรา ตื่นแล้วไปนั่งสวดมนต์ ภาวนาตอนตี ๔ ตี ๕ รู้สึกว่ามันสบายดี ไม่มีอะไร

เราหัดได้เรื่องนี้ ค่อยทำไปเกิดความพอดีในร่างกายก็ไม่เดือดร้อน เรานั่งพับเพียบนานก็พลิกได้ ยืนบ้างนั่งบ้างเดินบ้าง ก็เกิดความพอเหมาะพอดีกับการกระทำ ไม่เกิดความเสียหาย อย่างนี้เรียกว่า เป็นการปฏิบัติสมควร

.....................................................
https://dhammachati.blogspot.com/


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 25 มี.ค. 2018, 21:56 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
สมาชิกระดับสูงสุด
สมาชิกระดับสูงสุด
ลงทะเบียนเมื่อ: 24 ต.ค. 2006, 12:36
โพสต์: 33766

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว


อันนี้ ผู้ที่ปฏิบัติดี ปฏิบัติตรง ปฏิบัติเพื่อรู้ธรรมเป็นเครื่องออกจากทุกข์ ปฏิบัติสมควร ยทิทัง นี้ได้แก่ อะไร ได้แก่ บุคคลเหล่านี้ คือ

จัตตาริ ปุริสะยุคานิ อัฏฐะ ปุริสะปุคคะลา คู่แห่งบุรุษ ๔ คู่ นับเรียงตัวบุรุษได้ ๘ บุรุษ

อ่านแล้วคงจะงงไป คู่แห่งบุรุษ ๔ คู่ นับเรียงตัวบุรุษ นี่อะไร หมายถึง พระอริยบุคคล ๔ จำพวก

พระโสดาบัน แปลว่า ผู้ถึงกระแส บันไดขั้นแรก เป็นพระโสดาบัน นี่ต่อไปก็ พระสกิทาคามี พระอนาคามี แล้วก็พระอรหันต์

๔ แล้ว ทำไมถึงเป็น ๘ ล่ะ คือว่า เกี่ยวด้วย มรรคผล พระโสดาบันนั้นพูดโดยแง่ว่า โสดาปัตติมรรค โสดาปัตติผล,
สกิทาคามิมรรค สกิทาคามิผล,
อนาคามิมรรค อนาคามิผล,
อรหัตมรรค อรหัตผล แยกเป็นมรรค เป็นผล เลยกลายเป็น ๘ ขึ้นมา
เพราะฉะนั้น ท่านจึงบอกว่า คู่แห่งบุรุษ ๔ คู่ นับเรียงตัวบุรุษได้ ๘ บุรุษ จัตตาริ ปุริสะยุคานิ อัฏฐะ ปุริสะปุคคะลา ที่เป็น ๘ เพราะนับมรรค –ผล (คือมรรค ๔ ผล ๔) ให้เรารู้ว่า มรรค คือ ปัญญา ตัดต้นเหตุของความทุกข์ พอความทุกข์หมด ก็เรียกว่า เกิดผลขึ้นมา

ตัดครั้งแรกก็เป็นพระโสดาบันบุคคล โสดาปัตติผล ตัดกิเลสด้วยโสดาปัตติมรรค ก็ถึงโสดาปัตติผล
องค์ที่สอง ก็สกิทาคามิมรรค ตัดกิเลสเพิ่มขึ้นไปอีก ก็เป็นสกิทาคามิผล
อนาคามิมรรค ตัดได้เพิ่มขึ้นไปอีก ก็เป็นอนาคามิผล
อรหัตมรรค ตัดได้หมดเลย หมดความยึดมั่นถือมั่นในตัวตน เรียกว่า เป็นอรหัตผล

พระอรหัตต์ หมายถึง ธรรมะที่ตัวเองบรรลุ ถ้าบรรลุอรหัตต์ ก็เป็นพระอรหันต์ขึ้นมา พระโกณฑัญญะ เราเรียกว่า พระอรหันต์
ส่วนพระอรหัตต์ หมายถึงธรรมะที่ตัวเองบรรลุ ตัวบุคคลที่บรรลุนั้น เขาเรียกว่า พระอรหันต์

.....................................................
https://dhammachati.blogspot.com/


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 25 มี.ค. 2018, 22:04 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
สมาชิกระดับสูงสุด
สมาชิกระดับสูงสุด
ลงทะเบียนเมื่อ: 24 ต.ค. 2006, 12:36
โพสต์: 33766

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว


เอสะ ภะคะวะโต สาวะกะสังโฆ นั่นแหละสงฆ์สาวกของพระผู้มีพระภาคเจ้า นี่เป็นขั้นพระอริยบุคคล ๘ ตามมรรค ตามผล
พระอริยบุคคลเหล่านั้น ท่านมีลักษณะที่น่ากราบ น่าไหว้อย่างไรบ้าง

อาหุเนยโย เป็นสงฆ์ควรแก่สักการะที่เขานำมาบูชา คือเป็นผู้ที่ชาวบ้านเอาของมาบูชา แล้วไม่เสียหลาย บูชาแล้วเกิดประโยชน์ เป็นคุณเป็นค่า คือคนตั้งแต่ขั้นพระโสดาบันขึ้นไปเป็นผู้ไม่เคยเห็นแก่ตัวเลย
ถ้าเอาอะไรไปถวายคนชั้นพระโสดาบัน ท่านจะไม่เห็นแก่ตัวท่าน แต่ท่านจะเอาสิ่งนั้นไปทำประโยชน์ต่อไป เช่น เอาไปสร้างโรงเรียน สร้างโรงพยาบาล สงเคราะห์คนอนาถา สงเคราะห์คนพิการ เป็นประโยชน์แก่สังคมต่อไป ในด้านวัตถุ พระโสดาบันทำอย่างนี้
เราเอาของไปให้ผู้ประพฤติชอบ เท่ากับเราส่งเสริมคนดีและความดี ทำให้โลกได้พบสิ่งดีสิ่งงาม ท่านไม่ต้องการอะไรมาก เพียงนิดหน่อยพออยู่ได้ ไม่ต้องการเหลือเฟือ เพื่อที่จะเก็บสะสมเรียกว่า ยาปนมัตถ์ หมายความว่า พอเป็นไปได้
ฉันอาหารพอเป็นไปได้ มีจีวรพอกันร้อนกันหนาว กันเหลือบกันยุงได้ เสนาสนะก็พอนอนได้ ท่านไม่ได้ทำให้สิ้นเปลืองเศรษฐกิจของบ้านเมืองมากนัก เราให้แก่ท่านเหล่านั้น ท่านก็ไม่ต้องการมากมาย เรียกว่า เป็นผู้ควรสักการะที่เขานำมาบูชา บูชาแล้วก็ไม่เสียใจในตอนหลัง

.....................................................
https://dhammachati.blogspot.com/


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 26 มี.ค. 2018, 07:26 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
สมาชิกระดับสูงสุด
สมาชิกระดับสูงสุด
ลงทะเบียนเมื่อ: 24 ต.ค. 2006, 12:36
โพสต์: 33766

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว


ปาหุเนยโย เป็นสงฆ์ควรแก่การสักการะที่เขาจัดไว้ต้อนรับ ถ้าท่านมาที่บ้านของเรา เราสามารถต้อนรับได้ เป็นผู้ควรแก่การต้อนรับ ท่านไม่มาสร้างความทุกข์ให้แก่เรา
พระอริยบุคคลขั้นโสดาบันขึ้นไป ถ้าไปบ้านใครก็ไม่ทำให้ใครเดือดร้อน หรือสร้างความทุกข์ให้แก่ใครๆ แต่ไปเพื่อให้ความสุขสวัสดีแก่ครอบครัวนั้น สิริมงคลคือการนำของดีมาแจก ไม่ได้มารบกวนอะไร จึงเป็นผู้ควรแก่การต้อนรับ เรียกว่า ปาหุเนยโย ท่านมาก็จะแนะนำสั่งสอนให้เราได้รู้ ได้เข้าใจในปัญหาชีวิต ท่านเป็นผู้มีเมตตาปรารถนาความสุข ความเจริญ แก่สรรพสัตว์ทั้งหลาย

ทักขิเณยโย เป็นผู้ควรรับทักษิณาทาน หมายความว่าเป็นทานอันบุคคลอุทิศให้ จะเป็นอะไรก็ตามที่ควรที่ถูก เอามาถวายท่าน เป็นเรื่องที่เหมาะที่ควร เพราะว่าเกิดประโยชน์ยิ่งใหญ่ จึงเรียกว่า ผู้ควรแก่ทักษิณา


อัญชะลีกะระณีโย เป็นผู้ที่บุคคลทั่วไปควรทำอัญชลี คือการประนมมือไหว้ เช่น เราเดินไปพบพระปฏิบัติดี ปฏิบัติชอบ เราก็ยกมืออัญชลี อย่างนี้ เรียกว่า ควรแก่การไหว้ ไหว้แล้วไม่ต้องไปล้างมือทีหลัง เพราะเราไหว้ถูกคนดี คนเรียบร้อย คนโบราณเขาถือ พบพระมักจะทำอัญชลีทั้งนั้น
สมัยนี้เฉยๆ ไม่ค่อยทำกัน เพราะพระเยอะ ขืนไหว้กันบ่อยๆ ไหว้กันเหนื่อยเท่านั้นเอง อีกอย่างพระเราก็เที่ยวไปเดินเพ่นพ่าน คนเลยไม่ไหว้ ถ้าพระเราเก็บตัวให้มากแล้ว ขลัง ศักดิ์สิทธิ์ ไม่ใช่ศักดิ์สิทธิ์ทางเสกเป่า แต่ถ้าพระไปเดินฉุยฉายบ่อยๆ จะเสื่อมไม่ได้เรื่องอะไร พวกเราจึงไม่ควรจะไปเดินบ่อยๆ คนเห็นแล้วเสื่อม ไม่จำเป็นก็ไม่ต้องไปไหน นอกจากเขานิมนต์ไปบ้านไปทำกิจ

.....................................................
https://dhammachati.blogspot.com/


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 26 มี.ค. 2018, 07:37 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
สมาชิกระดับสูงสุด
สมาชิกระดับสูงสุด
ลงทะเบียนเมื่อ: 24 ต.ค. 2006, 12:36
โพสต์: 33766

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว


อะนุตตะรัง ปุญญักเขตตัง โลกัสสะ เป็นเนื้อนาบุญของโลก ไม่มีนาบุญอื่นยิ่งกว่า เป็นเนื้อนาบุญ คือเป็นนาที่เหมาะแก่การหว่านพืชคือบุญลงไป เพราะว่าพืชนั้นจะเจริญงอกงาม ให้แล้วไม่เสียใจ เราทำบุญกับใครแล้วไม่เสียใจก็ใช้ได้ ทำบุญเสร็จแล้วกลับมาเสียใจ ไม่น่าให้เลย อย่างนี้ มันก็เสียหาย ไม่ใช่นาบุญของโลก


ที่เชียงใหม่ มีคราวหนึ่งเขาเรียกว่า ครูบาศรีวิชัย แต่เมืองเหนือเขาเรียกว่า “คูบา” ตัว “ร” เขาไม่มี คูบาศรีวิชัย ท่านองค์นี้ ควรจะยกให้สักนิด เรียกว่า เป็นพระโสดาบันยกให้ ไม่ใช่ชี้ว่าองค์นี้เป็นพระโสดาบัน แต่ว่าน่าจะเป็นอย่างนั้น ท่านทำแต่ประโยชน์ไม่เอาอะไรเลย เช่น
ถ้ามีวัดใดอยากจะมีโรงเรียนสักหลัง ไปนิมนต์ท่านมา เรียกว่านั่งดัก นั่งอยู่นานทีเดียว คนก็จะมาทำบุญกัน เอาเงินมาถวาย
แต่โดยมากถ้าเกี่ยวกับการก่อสร้าง ถ้าท่านไปอยู่พ่อค้าก็จะขนไม้ ขนทราย เหล็ก ไปกองไว้ มีคนมาก็ซื้อเลย ซื้อหิน ทราย เหล็ก แล้วก็ช่วยกันเลย เช่นใครเป็นช่างเหล็กก็ผูกเหล็ก ช่วยกันทำแบบพิมพ์ หล่อเสา แล้วช่วยกันเทปูน ใครมีปูนเอามาช่วยกับเขาเลย ทุกคนมาช่วยกัน เดือนเดียว โรงเรียน ๔-๕ ห้องเรียบร้อย ท่านนั่ง ทำเสร็จเรียบร้อยแล้วก็มีการฉลองอะไรไปตามเรื่อง เขาก็จะมีของมาถวายท่าน ท่านไม่เอาอะไรเลย ลุกขึ้นมือเปล่าไปเลย ไม่มีย่ามใส่ของเลย ไปแต่ตัว ไปก็ไปสร้างที่อื่นอีก จึงสามารถสร้างวิหารใหญ่ๆ โบสถ์ใหญ่ๆ และท่านเป็นผู้ทำถนนขึ้นดอยสุเทพ
ถ้าใครไปเชียงใหม่ ไปขึ้นดอยสุเทพ เห็นถนนคดเคี้ยวนั้น เขาใช้เวลาเพียง ๑ เดือน กับ ๑๕ วัน เท่านั้น ไม่ใช่ทำกันตั้ง ๕ ปีเหมือนเดี่ยวนี้ แล้วไม่มีรถแทร็คเตอร์เจาะดิน มีแต่จอบเท่านั้น เดือนหนึ่งกับ ๑๕ วัน รถวิ่งขึ้นดอยได้ ทำได้อย่างไร คนเป็นหมื่นเป็นแสนมาช่วยกัน
ตอนแรกขอคนละวา พอนานๆ เข้า ได้ช่วยกันเพียงคนละฟุตเท่านั้น คิดเฉลี่ยแล้วคนยืนตั้งแต่ต้นถนน จนถึงยอดดอยสุเทพ ช่วยกันขุดช่วยกันขน ทำสะพานก็ทำไป ทำด้วยคอนกรีตแข็งแรง พวกทำถนนก็ทำไป แต่ไม่ได้ลาดยางเท่านั้นเอง เพราะสมัยนั้น ยังไม่ก้าวหน้านัก


ทำไม่คนจึงเลื่อมใส ? ผมได้ศึกษาดูแล้ว ท่านเป็นคนทำจริงและไม่เอาของถวาย เคร่งครัดในการปฏิบัติสวดมนต์ภาวนา เช่น เมื่อถึงเวลาสวดมนต์ภาวนา ถึงจะมีเจ้าเมืองเชียงใหม่มานั่งอยู่ด้วย ท่านก็ลุกขึ้นไปสวดมนต์ แม้อยู่องค์เดียวก็สวด
ถ้ามีองค์อื่นมาก็สวดด้วย สวดจนเสร็จเรื่องของท่านแล้ว ก็นั่งสงบจิตจนเสร็จเรื่องแล้วจึงจะมาหาคน ปกติท่านจะไม่พูดกับคนดอก ถ้ามาก็ไม่พูดมาก ให้พรเท่านั้นเอง ไม่มีเรื่องมาก และไม่เอาอะไรเลย ไม่มีสมบัติพัสถาน ใครให้อะไรก็ทำเสร็จที่นั่น เสร็จแล้วก็ไปต่อไป คนก็เฮกันมาใหญ่ เพราะว่าเป็นผู้ไม่เอา จึงบอกว่าคนเราถ้าไม่เอาแล้ว ได้มาก
แต่ถ้าเอาแล้ว ได้น้อย มีคนให้เยอะถ้าเราไม่เอา แต่ถ้าเราเอาก็มักจะได้น้อย
สมมติว่าเป็นหมอรักษาคนไข้ ถ้าเอามากได้น้อย คนก็บอกกัน หมอนั้นอย่าไปรักษา เอาแพงเหลือเกิน เอาน้อยๆ คนก็มามาก คนมามากเราก็ได้มาก แต่ถ้าเอามากคนก็มาน้อย เพราะฉะนั้น เอาแต่น้อยๆ อย่าเอามากๆ ถ้าไม่เอาเลยคนยิ่งให้มาก เพราะให้แล้วเอาไปเป็นสารประโยชน์แก่คนอื่น คนจึงชอบให้

ทีนี้ คนชั้นพระโสดาบันนี้ ท่านไม่เอาแล้ว ท่านมีแต่น้ำใจเสียสละเพื่อประโยชน์ เพื่อความสุข แก่บุคคลอื่น เพราะฉะนั้น คนจึงชอบให้ครูบาศรีวิชัย ท่านทำอะไรใหญ่โตสำเร็จทั้งนั้น ไม่ว่าไปทำอะไรที่ไหน คนก็ไปช่วยด้วยเงินด้วยแรงกันทันที เดี๋ยวนั้นเลย คนชั้นนั้น ควรแก่การทำบุญ เป็นนาบุญของโลก เพราะเป็นนาบุญ ที่ว่า แตกดอกออกผลต่อใจ เหมือนเอาข้าวไปหว่านลงในนาดีนั้นแหละ หว่านลงไปถังหนึ่งมันแตกออกมาเป็น ๒๐-๓๐ ถึง ๗๐-๘๐ ถัง พระก็เช่นกัน พระดีเมื่อคนเอาของไปทำบุญ มันก็เกิดประโยชน์กว้างขวางต่อไป จึงเป็นผู้ควรแก่การกราบไหว้สักการะ

.....................................................
https://dhammachati.blogspot.com/


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 26 มี.ค. 2018, 17:53 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
สมาชิกระดับสูงสุด
สมาชิกระดับสูงสุด
ลงทะเบียนเมื่อ: 24 ต.ค. 2006, 12:36
โพสต์: 33766

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว


คุณของพระอริยสงฆ์เป็นเช่นนี้ เราจะได้รู้ไว้เป็นแว่นส่องดูพระสงฆ์องค์เจ้า ว่าพระองค์ไหนเป็นผู้ปฏิบัติดี ปฏิบัติชอบ ก็ช่วยกันบำรุงส่งเสริม
การบำรุงพระศาสนาก็คือบำรุงพระที่ประพฤติดี ประพฤติดีชอบแก่ศาสนา ไม่ใช่เห็นพระมาแล้วยกมือไหว้เสมอไป บางทีก็ไม่ได้เรื่องเหมือนกัน ต้องเลือกไหว้ เลือกให้ตามสมควรแก่ความประพฤติของพระ แล้วถ้าเราเป็นพระ ก็เรียกว่า ปฏิบัติให้น่ากราบ น่าไหว้ ให้เขาไหว้ด้วยความชื่นใจ เห็นแล้วก็ชื่นใจสบายใจ ไม่ทำอะไรขวางหูขวางตา มองดูแล้วมันไม่น่าเลื่อมใส ก็เสียหายแก่พระศาสนา.

(จบตอน จากหนังสือ http://g-picture2.wunjun.com/6/full/9d4 ... s=614x1024 หน้า ๑๕๙)

.....................................................
https://dhammachati.blogspot.com/


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 26 มี.ค. 2018, 17:58 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
สมาชิกระดับสูงสุด
สมาชิกระดับสูงสุด
ลงทะเบียนเมื่อ: 24 ต.ค. 2006, 12:36
โพสต์: 33766

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว


สุปะปฏิปันโน ภะคะวะโต สาวะกะสังโฆ, สาวกของพระผู้มีพระภาคเจ้าหมู่ใด ปฏิบัติดีแล้ว

อุชุปะปฏิปันโน ภะคะวะโต สาวะกะสังโฆ, สาวกของพระผู้มีพระภาคเจ้าหมู่ใด ปฏิบัติตรงแล้ว

ญายะปะปฏิปันโน ภะคะวะโต สาวะกะสังโฆ, สาวกของพระผู้มีพระภาคเจ้าหมู่ใด ปฏิบัติเพื่อรู้ธรรมเป็นเครื่องออกจากทุกข์แล้ว

สามีจิปะปฏิปันโน ภะคะวะโต สาวะกะสังโฆ, สาวกของพระผู้มีพระภาคเจ้าหมู่ใด ปฏิบัติสมควรแล้ว

ยะทิทัง ได้แก่บุคคลเหล่านี้ คือ

จัตตาริ ปุริสะยุคานิ อัฏฐะ ปุริสะปุคคะลา, คู่แห่งบุรุษ ๔ คู่ นับเรียงตัวบุรุษได้ ๘ บุรุษ

เอสะ ภะคะวะโต สาวะกะสังโฆ, นั่นแหละสงฆ์สาวกของพระผู้มีพระภาคเจ้า

อาหุเนยโย, เป็นสงฆ์ควรแก่สักการะที่เขานำมาบูชา

ปาหุเนยโย, เป็นสงฆ์ควรแก่การสักการะที่เขาจัดไว้ต้อนรับ

ทักขิเณยโย, เป็นผู้ควรรับทักษิณาทาน

อัญชะลีกะระณีโย, เป็นผู้ที่บุคคลทั่วไปควรทำอัญชลี

อะนุตตะรัง ปุญญักเขตตัง โลกัสสะ, เป็นเนื้อนาบุญของโลก ไม่มีนาบุญอื่นยิ่งกว่า

.....................................................
https://dhammachati.blogspot.com/


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 26 มี.ค. 2018, 18:02 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
สมาชิกระดับสูงสุด
สมาชิกระดับสูงสุด
ลงทะเบียนเมื่อ: 24 ต.ค. 2006, 12:36
โพสต์: 33766

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว


สุปะปะฏิปันโน ภะคะวะโต สาวะกะสังโฆ” - พระสงฆ์สาวกของพระผู้มีพระภาคเจ้าปฏิบัติดีแล้ว
สงฆ์ทั่วไป หมายถึง สมมติสงฆ์ เวลาทำสังฆกรรม คือ สงฆ์ตั้งแต่ ๕ รูปบ้าง ๔ รูปบ้าง เช่น บวชนาคนี้อย่างน้อยต้อง ๕ รูป สวดเสีย ๑ องค์ เหลือ ๔ องค์
ส่วนอย่างอื่น ๔ ก็ได้ ๕ ก็ได้ ๑๐ ก็ได้ ๒๐ ก็ได้ สุดแล้วแต่สังฆกรรมนั้นๆ ขอให้ครบองค์ ถ้าไม่ครบองค์ก็ไม่เป็นสังฆกรรม เช่น สังฆกรรมอะไรท่านวางไว้ ๕ ก็ต้อง ๕ สังฆกรรมอะไรวางไว้ ๑๐ ก็ต้อง ๑๐ ๒๐ ก็ต้อง ๒๐ ถ้าไม่ครบ เรียกว่า ไม่เป็นสังฆกรรมตามพระธรรมวินัย

ส่วนสงฆ์สาวกของพระผู้มีพระภาคเจ้า เราหมายถึง พระอริยสงฆ์ คือ สงฆ์ที่เป็นตั้งแต่พระโสดาบันขึ้นไป เริ่มต้นเป็นพระโสดา ฯ เรียกสั้นๆ จากพระโสดาบัน ก็พระสกิทาคามี พระอนาคามี และพระอรหันต์ ซึ่งได้ลดกิเลสลงไปตามลำดับชั้น จนถึงพระอรหันต์อันเป็นชั้นสูงสุด
พระเหล่านี้ เป็นชั้นอริยบุคคล เพราะว่าว่าเป็นผู้ดำเนินชีวิตชอบ เป็นไปเพื่อความพ้นทุกข์ เป็นไปเพื่อความสะอาดบริสุทธิ์ เป็นไปเพื่อพระนิพพาน เรียกว่าเป็นอริยสงฆ์สาวกของพระพุทธเจ้า เป็นผู้สืบต่อพระพุทธศาสนาด้วย สืบต่อมาจนถึงพวกเราทุกวันนี้

อริยสงฆ์นั้น ประกอบด้วยคุณค่า ๔ ประการ คือ ปฏิบัติดี ปฏิบัติตรง ปฏิบัติเป็นธรรม ปฏิบัติเพื่อออกจากทุกข์ เรียกว่าเป็น พระอริยสงฆ์ คือยึดมั่นปฏิบัติที่ดี ๔ ประการ
การที่เรานึกถึงพระอริยสงฆ์ เรานึกถึงคุณธรรมของท่าน นึกถึงการปฏิบัติดีของท่าน นึกถึงการปฏิบัติตรง นึกถึงการปฏิบัติเพื่อออกจากทุกข์ นึกถึงการปฏิบัติตามสมควรของท่าน
เมื่อเราจะทำอะไรก็ควรทำอย่างนี้ เราต้องเป็นคนปฏิบัติดี ปฏิบัติตรง ปฏิบัติเพื่อออกจากทุกข์ ปฏิบัติตามสมควร เราต้องใช้การปฏิบัติอย่างนั้น จึงสมกับได้ชื่อว่า ถึงพระผู้เป็นสงฆ์ด้วย เดินตามพระสงฆ์ด้วย
เมื่อระลึกถึงแล้วต้องปฏิบัติตามด้วย การปฏิบัติเป็นเครื่องเตือนจิตสะกิดใจ
เพียงการกราบพระนี้ไม่สำคัญ ต้องกราบด้วยใจระลึกถึงพระคุณธรรมของท่านเท่าที่ทำได้ ทำให้ดีตามฐานะ เช่น เราอยู่บ้านก็ทำให้ดีตามแบบชาวบ้าน คือดีตามแบบอุบาสก อุบาสิกา
ถ้าเราบวชก็ต้องทำให้ดีตามแบบพระ อย่าอยู่โดยไม่มีการก้าวหน้าในทางธรรม ชีวิตแก่ไป จิตใจต้องแก่ขึ้นด้วย แก่ขึ้นด้วยคุณธรรมความดี อย่าเอาแบบพวกแก่แดด แก่ลม แก่แก้ว แก่กระดาษ อย่างนั้น ใช้ไม่ได้ ไม่ได้เรื่อง แก่แดด ก็หนังเหี่ยว แก่ลม ก็หนังแห้ง แก่แก้ว เช้าดื่มเย็นดื่ม แก่กระดาษ เล่นไพ่ อย่างนั้น แก่ไม่เข้าท่า

ฉะนั้น เราต้องแก่ศีล แก่ธรรม แก่คุณธรรม จึงจะได้ชื่อว่ารู้จักคุณธรรมของชีวิต ปฏิบัติในทางที่ถูกที่ชอบ
ถ้าเรานึกถึงพระสงฆ์ เราต้องนึกอย่างนั้นทันที อย่าเผลอไผลประมาทอยู่ ทำอะไรไม่ถูกไม่ควรอยู่ ก็ควรกลับใจเสีย คือเห็นพระ กลับใจทันที นึกขึ้นได้ว่ากูเผลอไปแล้ว คิดได้ กลับตัวเสียใหม่ เดินตามทางของพระต่อไป อย่างนี้ จึงจะมีความหมาย ในแง่ที่ไหว้พระได้ถูกต้อง คือไหว้ด้วยกาย ด้วยวาจา ด้วยใจ ไม่ใช่ไหว้เฉยๆ

.....................................................
https://dhammachati.blogspot.com/


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 01 เม.ย. 2018, 17:31 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
สมาชิกระดับสูงสุด
สมาชิกระดับสูงสุด
ลงทะเบียนเมื่อ: 24 ต.ค. 2006, 12:36
โพสต์: 33766

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว


ทักขิณา, ทักษิณา ทานที่ถวายเพื่อผลอันดีงาม, ของทำบุญ, สิ่งที่สละให้, ปัจจัยสี่ที่เมื่อถวายจะเป็นเหตุให้ประโยชน์สุขเจริญเพิ่มพูน, ของถวายที่ช่วยให้สัตว์ทั้งหลายเจริญด้วยสมบัติดังปรารถนา, สิ่งที่ให้โดยเชื่อกรรมและผลแห่งกรรม (หรือโดยเชื่อปรโลก)

“ทักขิณา” เดิมเป็นคำที่ใช้ในศาสนาพราหมณ์ (เขียนอย่างสันสกฤต เป็น ทักษิณา) หมายถึง ของที่มอบให้แก่พราหมณ์ เป็นค่าตอบแทนในการประกอบพิธีบูชายัญ

เมื่อนำมาใช้ในพระพุทธศาสนา นิยมหมายถึงปัจจัย ๔ ที่ถวายแก่พระภิกษุสงฆ์ หรือให้แก่ทักขิไณยบุคคล ซึ่งในความหมายอย่างสูง ได้แก่ พระอริยสงฆ์ และในความหมายที่กว้างออกไป ได้แก่ ท่านผู้มีศีล ผู้ทรงคุณทรงธรรม แม้เป็นคฤหัสถ์ เช่น บิดามารดา ตลอดจนในความหมายอย่างกว้างที่สุด ของที่ให้เพื่อช่วยเหลือเกื้อกูล แม้แต่ให้แก่สัตว์ดิรัจฉาน ก็เป็นทักขิณา (ดังที่ตรัสในทักขิณาวิภังคสูตร ม.อุ.14/710/548) แต่มีผลมากน้อยต่างกันตามหลักทักขิณาวิสุทธิ์ ๔ และ
ตรัสไว้อีกแห่งหนึ่งว่า (ทานสูตร องฺ.ฉกฺก. 22/238/375) ทักขิณาที่ตรัสพร้อมด้วยองค์ ๖ คือ ทายก มีองค์ ๓ (ก่อนให้ ก็ดีใจ, กำลังให้อยู่ ก็ทำจิตให้ผุดผ่องเลื่อมใส, ครั้นให้แล้ว ก็ชื่นชมปลื้มใจ) และ

ปฏิคาหก มีองค์ ๓ (เป็นผู้ปราศจากราคะหรือปฏิบัติเพื่อบำราศราคะ, เป็นผู้ปราศจากโทสะหรือปฏิบัติเพื่อบำราศโทสะ, เป็นผู้ปราศจากโมหะหรือปฏิบัติเพื่อบำราศโมหะ) ทักขิณานั้น เป็นบุญยิ่งใหญ่ มีผลมากยากจะประมาณได้ (ดู ทักขิณาวิสุทธิ์)

ทักขิณาวิสุทธิ์ ความบริสุทธิ์แห่งทักขิณา, ข้อที่เป็นเหตุให้ทักขิณา คือสิ่งที่ให้ที่ถวาย เป็นของบริสุทธิ์และจึงเกิดมีผลมาก มี ๔ คือ (ม.อุ.14/714/461)

๑. ทักขิณา - บริสุทธิ์ฝ่ายทายก (มีศีล มีกัลยาณธรรม) ไม่บริสุทธิ์ฝ่ายปฏิคาหก (ทุศีล มีปาปธรรม)

๒. ทักขิณา - บริสุทธิ์ฝ่ายปฏิคาหก ไม่บริสุทธิ์ฝ่ายทายก

๓. ทักขิณา - ไม่บริสุทธิ์ทั้งฝ่ายทายก ไม่บริสุทธิ์ทั้งฝ่ายปฏิคาหก

๔. ทักขิณา - บริสุทธิ์ทั้งฝ่ายทายก บริสุทธิ์ทั้งฝ่ายปฏิคาหก

.....................................................
https://dhammachati.blogspot.com/


แสดงโพสต์จาก:  เรียงตาม  
กลับไปยังกระทู้  [ 28 โพสต์ ]  ไปที่หน้า ย้อนกลับ  1, 2

เขตเวลา GMT + 7 ชั่วโมง


 ผู้ใช้งานขณะนี้

กำลังดูบอร์ดนี้: ไม่มีสมาชิก และ บุคคลทั่วไป 48 ท่าน


ท่าน ไม่สามารถ โพสต์กระทู้ในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ ตอบกระทู้ในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ แก้ไขโพสต์ของท่านในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ ลบโพสต์ของท่านในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ แนบไฟล์ในบอร์ดนี้ได้

ค้นหาสำหรับ:
ไปที่:  
Google
ทั่วไป เว็บธรรมจักร