วันเวลาปัจจุบัน 26 เม.ย. 2024, 00:10  



เขตเวลา GMT + 7 ชั่วโมง




กลับไปยังกระทู้  [ 9 โพสต์ ]    Bookmark and Share
เจ้าของ ข้อความ
โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 13 มี.ค. 2018, 04:58 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
อาสาสมัคร
อาสาสมัคร
ลงทะเบียนเมื่อ: 06 มี.ค. 2009, 10:48
โพสต์: 5091


 ข้อมูลส่วนตัว


ภิกษุและสามเณรสองรูปนั้น ท่องเที่ยวอยู่ในเทวดาและมนุษย์สิ้น
พุทธันดรหนึ่งแล้ว. แม้พระผู้มีพระภาคเจ้าของเราทั้งหลาย ได้ทอดพระเนตร
เห็นด้วยพระญาณ, เหมือนได้ทอดพระเนตรเห็นพระโมคคัลลีบุตรติสสเถระ,
ได้ทรงพยากรณ์ไว้ว่า "เมื่อเราปรินิพพานล่วงไปได้ห้าร้อยปี ภิกษุสามเณรสอง
รูปนั้นจักเกิดขึ้นแล้ว, จักจำแนกธรรมวินัยที่เราได้แสดงให้สุขุมละเอียดแล้ว,
กระทำให้เป็นศาสนธรรมอันตนสะสางไม่ให้ฟั่นเฝือแล้ว ด้วยอำนาจถาม
ปัญหาและประกอบอุปมา."
ในภิกษุสามเณรสองรูปนั้น สามเณรได้มาเกิดเป็นพระเจ้ามิลินท์ใน
สาคลราชธานี ในชมพูทวีป, เป็นปราชญ์เฉียบแหลม มีพระปัญญาสามารถ,
ทราบเหตุผลทั้งที่ลวงไปแล้ว ทั้งที่ยังไม่มาถึง ทั้งที่เป็นอยู่ในบัดนั้น; ในกาล
เป็นที่จะทรงทำราชกิจน้อยใหญ่ ได้ทรงใคร่ครวญโดยรอบคอบ, แล้วจึงได้ทรง
ประกอบราชกิจ ที่จะต้องประกอบ จะต้องจัด จะต้องกระทำ; และได้ทรง
ศึกษาตำหรับวิทยาเป็นอันมาก ถึงสิบเก้าอย่าง: คือไตรเพทคัมภีร์พราหมณ์
วิทยาในกายตัว วิทยานับ วิทยาทำใจให้เป็นสมาธิ พระราชกำหนดกฎหมาย
วิทยาที่รู้ธรรมดาที่แปลกกันแห่งสภาพนั้น ๆ วิทยาทำนายร้ายและดี วิทยา
ดนตรีขับร้อง วิทยาแพทย์ วิทยาศาสนา ตำหรับพงศาวดาร โหราศาสตร์
วิทยาทำเล่ห์กล วิทยารู้จักกำหนดเหตุผล วิทยาคิด ตำหรับพิชัยสงคราม
ตำรากาพย์ วิทยาทายลักษณะในกาย และภาษาต่าง ๆ, พอพระหฤทัยในการ
ตรัสไล่เลียงในลัทธิต่าง ๆ ใคร ๆ จะโต้เถียงได้โดยยาก ใคร ๆ จะข่มให้แพ้ได้
โดยยาก ปรากฏเป็นยอดของเหล่าเดียรถีย์เป็นอันมาก. ในชมพูทวีปไม่มีใคร
เสมอด้วยพระเจ้ามิลินท์ ด้วยเรี่ยวแรงกาย ด้วยกำลังความคิด ด้วยความกล้า
หาญ ด้วยปัญญา. พระเจ้ามิลินท์นั้น ทรงมั่งคั่งบริบูรณ์ด้วยราชสมบูรณ์, มี
พระราชทรัพย์และเครื่องราชูปโภคเป็นอันมากพ้นที่จะนับคณนา, มีพล
พาหนะหาที่สุดมิได้.


วันหนึ่ง พระเจ้ามิลินท์เสด็จพระราชดำเนินออกนอกพระนครด้วยพระ
ราชประสงค์จะทอดพระเนครขบวนจตุรงคินีเสนา อันมีพลพาหนะหาที่สุด
มิได้ ในสนามที่ฝึกซ้อม, โปรดเกล้า ฯ ให้จัดการฝึกซ้อมหมู่เสนาที่ภายนอก
พระนครเสร็จแล้ว, พระองค์พอพระหฤทัยในการตรัสสังสนทนาด้วยลัทธิ
นั้น ๆ , ทรงนิยมในถ้อยคำของมหาชนที่เจรจากัน ซึ่งอ้างคัมภีร์โลกายต
ศาสตร์และวิตัณฑศาสตร์, ทอดพระเนตรดวงอาทิตย์แล้ว, ตรัสแก่หมู่อมาตย์
ว่า "วันยังเหลืออยู่มาก, เดี๋ยวนี้ ถ้าเรากลับเข้าเมืองจะไปทำอะไร; มีใครที่เป็น
บัณฑิตจะเป็นสมณะก็ตาม พราหมณ์ก็ตาม ที่เป็นเจ้าหมู่เจ้าคณะเป็น
คณาจารย์ แม้ปฏิญาณตนว่าเป็นพระอรหันต์ผู้รู้ชอบเอง ที่อาจสังสนทนากับ
เราบรรเทาความสงสัยเสียได้บ้างหรือ ?" เมื่อพระเจ้ามิลินท์ตรัสถามอย่างนี้
แล้ว, โยนกอมาตย์ห้าร้อยได้กราบทูลว่า "ข้าแต่พระองค์ผู้เป็นมหาราชเจ้า, มี
ศาสดาอยู่หกท่าน: คือ ปูรณกัสสป, มักขลิโคศาล, นิครนถนาฏบุตร, สัญชัย
เวลัฏฐบุตร, อชิตเกสกัมพล, ปกุธกัจจายนะ, ได้เป็นเจ้าหมู่เจ้าคณะ เป็น
คณาจารย์ เป็นคนมีชื่อเสียงปรากฏ มีเกียรติยศว่าเป็นดิตถกร คือ ผู้สอนลัทธิ
แก่ประชุมชน; คนเป็นอันมากนับถือว่ามีลัทธิอันดี. ขอพระองค์เสด็จพระราช
ดำเนินไปสู่สำนักของท่านทั้งหกนั้นแล้วตรัสถามปัญหาบรรเทากังขาเ
สียเถิด."
ครั้นพระองค์ได้ทรงสดับอย่างนี้แล้ว จึงพร้อมด้วยโยนกอมาตย์ห้าร้อย
ห้อมล้อมเป็นราชบริวาร ทรงรถพระที่นั่ง เสด็จพระราชดำเนินไปยังสำนัก
ปูรณกัสสป, ทรงปฏิสันถารปราศรัยกับปูรณกัสสปพอให้เกิดความยินดีแล้ว,
ประทับ ณ สถานที่ส่วนข้างหนึ่งแล้ว ตรัสถามว่า "ท่านกัสสป, อะไรรักษาโลก
อยู่ ?"
ปูรณกัสสปทูลตอบว่า "แผ่นดินแล, มหาราชเจ้า, รักษาโลกอยู่."
พระเจ้ามิลินท์จึงทรงย้อนถามว่า "ถ้าแผ่นดินรักษาโลกอยู่, เหตุไฉน สัตว์ที่ไป


สู่อเวจีนรกจึงล่วงแผ่นดินไปเล่า ?" เมื่อพระเจ้ามิลินท์ตรัสถามอย่างนี้แล้ว;
ปูรณกัสสปไม่อาจฝืนคำนั้นและไม่อาจคืนคำนั้น, นั่งก้มหน้านิ่งหงอยเหงา
อยู่.
ลำดับนั้น จึงเสด็จพระราชดำเนินไปยังสำนักมักขลิโคศาลแล้ว, ตรัส
ถามว่า "ท่านโคศาล, กุศลกรรมและอกุศาลกรรมมีหรือ, ผลวิบากแห่งกรรมที่
สัตว์ทำดีแล้วและทำชั่วแล้วมีหรือ ?"
มักขลิโคศาลทูลตอบว่า "ไม่มี, มหาราชเจ้า. ชนเหล่าใดเคยเป็น
กษัตริย์อยู่ในโลกนี้, ชนเหล่านั้นแม้ไปสู่ปรโลกแล้วก็จักเป็นกษัตริย์อีกเทียว;
ชนเหล่าใดเคยเป็นพราหมณ์, เป็นแพศย์, เป็นศูทร, เป็นจัณฑาล, เป็นปุกกุ
สะ, อยู่ในโลกนี้, ชนเหล่านั้นแม้ไปสู่ปรโลกแล้วก็จักเป็นเหมือนเช่นนั้นอีก: จะ
ต้องการอะไรด้วยกุศลกรรมและอกุศลกรรม."
พระเจ้ามิลินท์ทรงย้อนถามว่า "ถ้าใครเคยเป็นอะไรในโลกนี้ แม้ไป
สู่ปรโลกแล้วก็จักเป็นเหมือนเช่นนั้นอีก, ไม่มีกิจที่จะต้องทำด้วยกุศลกรรม
และอกุศลกรรม; ถ้าอย่างนั้น ชนเหล่าใดเป็นคนมีมือขาดก็ดี มีเท้าขาดก็ดี มี
หูและจมูกขาดก็ดี ในโลกนี้, ชนเหล่านั้นแม้ไปปรโลกแล้วก็จักต้องเป็นเหมือน
เช่นนั้นอีกนะซิ ?" เมื่อพระเจ้ามิลินท์ตรัสถามอย่างนี้แล้ว มักขลิโคศาลก็นิ่ง
อั้น.
ครั้งนั้น พระเจ้ามิลินท์ทรงพระราชดำริว่า "ชมพูทวีปนี้ว่างเปล่าทีเดียว
หนอ, ไม่มีสมณะพราหมณ์ผู้ใดผู้หนึ่ง ซึ่งสามารถจะเจรจากับเรา บรรเทา
ความสงสัยเสียได้" คืนวันหนึ่ง ตรัสถามอมาตย์ทั้งหลายว่า "คืนวันนี้เดือน
หงายน่าสบายนัก, เราจะไปหาสมณะหรือพราหมณ์ผู้ไรดีหนอ เพื่อจะได้ถาม
ปัญหา ? ใครหนอสามารถจะเจรจากับเรา บรรเทาความสงสัยเสียได้ ?" เมื่อ
พระเจ้ามิลินท์ตรัสอย่างนี้แล้วอมาตย์ทั้งหลายได้ยืนนิ่งแลดูพระพักตร์อยู่.


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 13 มี.ค. 2018, 07:35 
 
ออฟไลน์
สมาชิก ระดับ 6
สมาชิก ระดับ 6
ลงทะเบียนเมื่อ: 08 พ.ค. 2012, 02:09
โพสต์: 456


 ข้อมูลส่วนตัว


:b17: ..สาธุๆๆ..


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 14 มี.ค. 2018, 17:11 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
สมาชิกระดับสูงสุด
สมาชิกระดับสูงสุด
ลงทะเบียนเมื่อ: 24 ต.ค. 2006, 12:36
โพสต์: 33766

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว


มิลินทปัญหา คัมภีร์สำคัญ บันทึกคำสนทนาโต้ตอบปัญหาธรรม ระหว่างพระนาคเสน กับ พระยามิลินท์

มิลินท์ มหากษัตริย์เชื้อชาติกรีก ในชมพูทวีป ครองแคว้นโยนก ที่สาคลนคร (ปัจจุบันเรียกว่า Sialkot อยู่ในแคว้นปัญจาบ ที่เป็นส่วนของปากีสถาน) มีชาติภูมิที่เกาะอลสันทะ ซึ่งสันนิษฐานกันว่าตรงกับคำว่า Alexandria คือ เป็นเมืองหนึ่งที่พระเจ้าอเลกซานเดอร์ มหาราชสร้างขึ้นบนทางเดินทัพที่มีชัย ห่างจากสาคลนครประมาณ ๒๐๐ โยชน์ ทรงเป็นปราชญ์ยิ่งใหญ่ โต้วาทะชนะนักปราชญ์ทั้งหลายในสมัยนั้น จนในที่สุดได้โต้กับพระนาคเสน ทรงเลื่อมใสหันมานับถือพระพุทธศาสนาและเป็นองค์อุปถัมภกสำคัญ ชาวตะวันตกเรียกพระนามตามภาษากรีกว่า Menander ครองราชย์ พ.ศ. ๔๒๓ สวรรคต พ.ศ.๔๕๓

นาคเสน พระอรหันตเถระผู้โต้วาทะชนะพระยามิลินท์ กษัตริย์สาคลประเทศ ดังมีคำโต้ตอบปัญหามาในคัมภีร์มิลินทปัญหา ท่านเกิดหลังพุทธกาลประมาณ ๔๐๐ ปี ที่หมู่บ้านกชังคละในหิมวันตประเทศ เป็นบุตรของพราหมณ์ชื่อโลณุตตระ ท่านเป็นผู้ชำนาญในพระเวท และต่อมาได้อุปสมบท โดยมีพระโรหณะเป็นพระอุปัชฌาย์

.....................................................
https://dhammachati.blogspot.com/


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 14 มี.ค. 2018, 17:15 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
สมาชิกระดับสูงสุด
สมาชิกระดับสูงสุด
ลงทะเบียนเมื่อ: 24 ต.ค. 2006, 12:36
โพสต์: 33766

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว


โยนก อาณาจักรโบราณทางทิศพายัพของชมพูทวีป (ปัจจุบันอยู่ในเขตอัฟกานิสถาน และอุซเบกิสถาน กับ ตาจิกิสถานแห่งเอเซียกลาง) ชื่อว่าบากเตรีย (Bactria เรียก Bactriana หรือ Zariaspa ก็มี) มีเมืองหลวงชื่อ บากตรา (Bactra ปัจจุบันเรียกว่า Baldh อยู่ในภาคเหนือของอัฟกานิสถาน) เป็นดินแดนที่ชนชาติอารยันเข้ามาครอง แล้วตกอยู่ใต้อำนาจของจักรวรรดิเปอร์เซียโบราณ และคงเนื่องจากมีชนชาติกรีกเผ่า Ionians มาอยู่อาศัยมาก ทางชมพูทวีป จึงเรียกว่า “โยนก” (ในคัมภีร์บาลีเรียกว่า โยนก บ้าง โยนะ บ้าง ยวนะ บ้าง ซึ่งมาจากคำว่า “Ionian” นั่นเอง)

เฉพาะอย่างยิ่ง เมื่อพระเจ้าอเลกซานเดอร์มหาราช (Alexander the Great) กษัตริย์กรีก ยกทัพแผ่อำนาจมาทางตะวันออก ล้มจักรวรรดิเปอร์เซียลงได้ ในปีที่ ๓๓๑ ก่อน ค.ศ. (ประมาณ พ.ศ.๑๕๘) แล้วจะมาตีชมพูทวีป ผ่านบากเตรียซึ่งเคยขึ้นกับเปอร์เซียมาประมาณ ๒๐๐ ปี ก็ได้บากเตรียคือแคว้นโยนกนั้นในปีที่ ๓๒๙ ก่อน ค.ศ. (พ.ศ.๑๖๐) จากนั้น จึงได้ตั้งทัพทที่เมืองตักสิลาในปีที่ ๓๒๖ ก่อน ค.ศ. เพื่อเตรียมเข้าตีอินเดีย แต่ในที่สุดทรงล้มเลิกพระดำรินั้น และยกทัพกลับในปีที่ ๓๒๕ ก่อน ค.ศ. ระหว่างทางเมื่อพักที่กรุงบาบิโลน ได้ประชวรหนักและสวรรคต เมื่อปีที่ ๓๒๓ ก่อน ค.ศ. แม่ทัพกรีกที่พระเจ้าอเลกซานเดอร์ตั้งไว้ดูแลดินแดนที่ตีได้ ก็ปกครองโยนกต่อมา โยนกตลอดจนคันธาระที่อยู่ใต้ลงมา (ปัจจุบันอยู่ในอัฟกานิสถาน และปากีสถาน) จึงเป็นดินแดนกรีก และมีวัฒนธรรมกรีกเต็มที่

ต่อมาไม่นาน เมื่อพระอัยกาของพระเจ้าอโศกมหาราช คือพระเจ้าจันทรคุปต์ (เอกสารกรีกเรียก Sandrocottos หรือ Sandrokottos) ขึ้นครองแคว้นมคธ ตั้งราชวงศ์โมริยะ (รูปสันสกฤต เป็นเมารยะ) ขึ้นในปีที่ ๓๒๑ ก่อน ค.ศ. (พ.ศ. ๑๖๘) แล้วยกทัพมาเผชิญกับแม่ทัพใหญ่ของอเลกซานเดอร์ ชื่อซีลูคัส (Seleucus) ที่มีอำนาจปกครองดินแดนแถบตะวันออกรวมทั้งโยนกและคันธาระนั้น (ต่อมาได้เป็นกษัตริย์แห่งบาบิโลเนีย ถือกันว่าเป็นกษัตริย์แห่งซีเรียโบราณ) ซีลูคัสได้ยอมยกคันธาระให้แก่จันทรคุปต์ แม้ว่าโยนกก็คงจะได้มาขึ้นต่อมคธด้วย ดังที่ศิลาจาริกของพระเจ้ออโศก (ครองราชย์ พ.ศ.๒๑๘-๒๖๐) กล่าวถึงแว่นแคว้นของชาโยนกในเขตพระราชอำนาจ แต่ผู้คนและวิถีชีวิตที่นั่นก็ยังเป็นแบบกรีกสืบมา

เมื่อพระเจ้าอโศกทรงอุปถัมภ์การสังคายนาครั้งที่ ๓ ใน พ.ศ. ๒๓๕ แล้ว พระโมคคัลลีบุตรติสสเถระได้มอบภาระให้พระสงฆ์ไปเผยแพร่พระศาสนาในดินแดนต่างๆ ๙ สาย (เรียกกันว่า พระศาสนทูต) อรรถกถากล่าวว่า พระมหารักขิตเถระได้มายังโยนกรัฐ

หลักรัชกาลพระเจ้าอโศกมหาราชไม่เต็มครึ่งศตวรรษ ราชวงศ์โมริยะก็สลายลง ในช่วงนั้น บากเตรียหรือโยนกก็ได้ตั้งอาณาจักรของตนเองเป็นอิสระ (ตำราฝ่ายตะวันตกบอกในทำนองว่า บากเตรียไม่ได้มาขึ้นต่อมคธ ยังขึ้นกับราชวงศ์ของซีลูคัส จนถึงปีที่ ๒๕๐ ก่อน ค.ศ. ซึ่งยังอยู่ในรัชกาลพระเจ้าอโศก บากเตรียจึงแยกตัว จากวงศ์ของซีลูคัส ออกมาตั้งเป็นอิสระ แต่ศิลาจารึกของพระเจ้าอโศกก็บอกชัดว่า มีแว่นแคว้นโยนกในพระราชอำนาจ อาจเป็นได้ว่า โยนกในสมัยนั้น มีทั้งส่วนที่ขึ้นต่อมคธ และส่วนที่ขึ้นต่อราชวงศ์กรีก ของซีลูคัสแล้วแข็งข้อแยกออกมา) จากนั้นบากเตรียได้มีอำนาจมากขึ้น ถึงกับขยายดินแดนเข้ามาในอินเดียภาคเหนือ ดังที่โยนกได้มีชื่อเด่นอยู่ในประวัติศาสตร์พระพุทธศาสนาในสมัยของพระเจ้า Menander ที่พุทธศาสนิกชน เรียกว่า พญามิลินท์ ซึ่งครองราชย์ (พ.ศ. ๔๒๓ – ๔๕๓) ที่เมืองสาคละ (ปัจจุบันเรียกว่า Sialkot อยู่ในแคว้นปัญจาบ ที่เป็นส่วนของปากีสถาน)

หลังรัชกาลพญามิลินท์ไม่นาน บากเตรีย หรือโยนกตกเป็นของชนเผ่าศกะที่เร่ร่อนรุกรานเข้ามา แล้วต่อมาก็เป็นส่วนหนึ่งของอาณาจักรกุษาณ (ที่มีราชายิ่งใหญ่พระนามว่ากนิษกะ ครองราชย์ พ.ศ.๖๒๑ – ๖๔๔) หลังจากนั้น ก็มีการรุกรานจากภายนอกมาเป็นระลอก จนกระทั้งประมาณ ค.ศ. ๗๐๐ (ใกล้ พ.ศ. ๑๓๐๐) กองทัพมุสลิมอาหรับยกมาถึงเข้าครอบครอง โยนกก็ได้กลายเป็นส่วนหนึ่งแห่งดินแดนของชนชาวมุสลิมสืบมา ชื่อโยนกก็เหลืออยู่แต่ในประวัติศาสตร์

.....................................................
https://dhammachati.blogspot.com/


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 16 มี.ค. 2018, 01:48 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
สมาชิกระดับ 19
สมาชิกระดับ 19
ลงทะเบียนเมื่อ: 11 มี.ค. 2018, 02:56
โพสต์: 2157

โฮมเพจ: maybe
แนวปฏิบัติ: สติปัฎฐาน
งานอดิเรก: กีฬา
สิ่งที่ชื่นชอบ: แบรนด์เเนม
ชื่อเล่น: เม
อายุ: 22
ที่อยู่: Bangkok Thailand

 ข้อมูลส่วนตัว


เมื่อเราปรินิพพานแล้ว พระมหากัสสปจะระลึกถึงถ้อยคำที่ไม่ดีของ สุภัททภิกขุผู้บวชเมื่อแก่ แล้วจะกระทำสังคายนา เพื่อรักษาพระพุทธวจนะไว้มิให้คลาดเคลื่อน ต่อนั้นไปอีก ๑๐๐ ปี พระยสกากัณฑกบุตร ผู้จะย่ำยีซึ่งถ้อยคำของพวก ภิกษุวัชชีบุตร ผู้จะลบล้างลัทธิของพวกเดียรถีย์ภายนอก จักได้กระทำ สังคายนาครั้งที่ ๒ ต่อไปอีกได้ ๒๑๘ ปี พระโมคคลีบุตรติสสเถระ ผู้จะลบล้างลัทธิของพวกเดียรถีย์ภายนอก จักได้กระทำ สังคายนาครั้งที่ ๓ ต่อมาภายหลัง พระมหินทเถระจะไปประดิษฐานศาสนาของเรา ลงไว้ที่ตามพปัณณิทวีป (ศรีลังกา)

ต่อจากเราปรินิพพานไปล่วงได้ ๕๐๐ ปี จักมีพระราชาองค์หนึ่ง ชื่อว่า "มิลินท์" ผู้ได้สร้างสมบุญบารมีไว้ดีแล้ว จะทำให้เกิดปัญหาอันละเอียดขึ้น ด้วยอานุภาพปัญญาของตน จะย่ำยีเสียซึ่งสมณพราหมณ์ทั้งหลายด้วยปัญหาอันละเอียด จะมีภิกษุองค์หนึ่ง ชื่อว่า "นาคเสน" ไปทำลายถ้อยคำของมิลินทราชา ทำให้มิลินทราชาเกิดความร่าเริงยินดีด้วยอุปมาเป็นเอนก จะทำศาสนาของเราให้หมดเสี้ยนหนามหลักตอ จะทำศาสนาของเราให้ตั้งอยู่ตลอด ๕๐๐๐ พรรษา" ดังนี้

http://tripitaka-online.blogspot.com/2016/05/ml001.html

พระไตรปิฎกออนไลน์ ฉบับมหาจุฬาฯ

ยืนยันว่า หลังจากปรินิพพาน 500 ปีค่ะ ไม่ใช่ 400 ปี


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 16 มี.ค. 2018, 01:51 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
สมาชิกระดับ 19
สมาชิกระดับ 19
ลงทะเบียนเมื่อ: 11 มี.ค. 2018, 02:56
โพสต์: 2157

โฮมเพจ: maybe
แนวปฏิบัติ: สติปัฎฐาน
งานอดิเรก: กีฬา
สิ่งที่ชื่นชอบ: แบรนด์เเนม
ชื่อเล่น: เม
อายุ: 22
ที่อยู่: Bangkok Thailand

 ข้อมูลส่วนตัว


ปญฺจวสฺสสตานิ อจฺจเยน ตโต ปรํ มิลินฺโท นาม ราชา เบื้องหน้าแต่พระมหินทเถระ
เอาศาสนาไปตั้งไว้ในเกาะลังกานั้น พระศาสนากำหนดได้ ๕๐๐ ปี จะมีบรมขัตติยวงศวเรศเรือง
พระปรีชาเฉลิมเลิศประเสริฐในสาคลนคร ข้างเกาะชมพูประเทศ ทรงพระกิตตินามอันวิเศษ
ชื่อว่ามิลินทภูมินทราธิบดี ทรงพระปรีชาเฉลียวฉลาด เป็นเอกอัครมหานักปราชญ์หาผู้จะ
เปรียบปานมิได้ โดยปัญญาเธอฉลาดเที่ยวถามปัญหาสมณพราหมณาจารย์ หาบุคคลผู้ใดใคร
ผู้หนึ่งที่จะต่อต้านทานฉลาดถึงไม่ มีแต่ชัยเฉลิมเลิศประสาปัญญาเชือนแช ข้างจะผันแปร
ศาสนาตถาคตให้ฟั่นเฟือนไป จนแต่พระอรหันต์ก็ไม่ละลด เสร็จไปเที่ยวจดโจทนา ถ้าไม่ทันคิด
ฉวยแก้ปัญหาเธอเข้า ก็กลับเซ้าซี้ซักไปไล่ให้จน จนว่าคนทั้งหลายที่มีปัญญาเขลาให้พลอยเห็น
ด้วย ถือว่าใครไม่เสมอพระองค์ ในการที่จะถามฉลาดลึกซึ้ง ครั้งนั้นยังมีภิกขุองค์หนึ่งมีนาม
ชื่อว่านาคเสน แสนฉลาด อาจสามารถที่จะแก้อรรถปัญหาของพระเจ้ามิลินท์ ให้ทรงโสมนัส
ยินดีได้ด้วยวิจิตรอุปมา และพระนาคเสนนั้น จะกระทำศาสนาของตถาคตให้ปรากฏถาวรตั้งมั่น
ไป ถ้วน ๕,๐๐๐ พระวรรษาในกาลนั้น

http://84000.org/tipitaka/milin/milin.php?i=0

อ้างอิงข้อมูลจากพระไตรปิฎก ฉบับหลวง.


ในนี้ ก็ยืนยันว่า 500 ปีค่ะ ไม่ใช่ 400 ปี


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 16 มี.ค. 2018, 01:58 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
สมาชิกระดับ 19
สมาชิกระดับ 19
ลงทะเบียนเมื่อ: 11 มี.ค. 2018, 02:56
โพสต์: 2157

โฮมเพจ: maybe
แนวปฏิบัติ: สติปัฎฐาน
งานอดิเรก: กีฬา
สิ่งที่ชื่นชอบ: แบรนด์เเนม
ชื่อเล่น: เม
อายุ: 22
ที่อยู่: Bangkok Thailand

 ข้อมูลส่วนตัว


บุคคลในประวัติศาสตร์ ที่มีชื่อเหมือนกับในพระไตรปิฎก

ที่นานาชาติ ชาติต่างๆ ได้จารึกของตนเองไว้

ทั้งประวัติศาสตร์ของของอินเดียเอง ของกรีก ของศรีลังกา และเปอร์เซีย ต่างจดจารึกไว้ ตรงกันค่ะ ว่าเกิดก่อน พศ 500




และเพราะบุคคลเหล่านี้ ได้ลาลับโลกไปก่อนที่จะเกิด มิลินท์ทปัญญหา ตามพระไตรปิฎกค่ะ

ฉะนั้น บุคคลที่มีชื่อซ้ำกันกับในเรื่องมิลินทปัญหา ไม่ใช่บุคคล ในพระไตรปิฎกค่ะ


แก้ไขล่าสุดโดย โลกสวย เมื่อ 16 มี.ค. 2018, 02:17, แก้ไขแล้ว 1 ครั้ง

โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 16 มี.ค. 2018, 02:02 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
สมาชิกระดับ 19
สมาชิกระดับ 19
ลงทะเบียนเมื่อ: 11 มี.ค. 2018, 02:56
โพสต์: 2157

โฮมเพจ: maybe
แนวปฏิบัติ: สติปัฎฐาน
งานอดิเรก: กีฬา
สิ่งที่ชื่นชอบ: แบรนด์เเนม
ชื่อเล่น: เม
อายุ: 22
ที่อยู่: Bangkok Thailand

 ข้อมูลส่วนตัว


กรัชกาย เขียน:
มิลินทปัญหา คัมภีร์สำคัญ บันทึกคำสนทนาโต้ตอบปัญหาธรรม ระหว่างพระนาคเสน กับ พระยามิลินท์

มิลินท์ มหากษัตริย์เชื้อชาติกรีก ในชมพูทวีป ครองแคว้นโยนก ที่สาคลนคร (ปัจจุบันเรียกว่า Sialkot อยู่ในแคว้นปัญจาบ ที่เป็นส่วนของปากีสถาน) มีชาติภูมิที่เกาะอลสันทะ ซึ่งสันนิษฐานกันว่าตรงกับคำว่า Alexandria คือ เป็นเมืองหนึ่งที่พระเจ้าอเลกซานเดอร์ มหาราชสร้างขึ้นบนทางเดินทัพที่มีชัย ห่างจากสาคลนครประมาณ ๒๐๐ โยชน์ ทรงเป็นปราชญ์ยิ่งใหญ่ โต้วาทะชนะนักปราชญ์ทั้งหลายในสมัยนั้น จนในที่สุดได้โต้กับพระนาคเสน ทรงเลื่อมใสหันมานับถือพระพุทธศาสนาและเป็นองค์อุปถัมภกสำคัญ ชาวตะวันตกเรียกพระนามตามภาษากรีกว่า Menander ครองราชย์ พ.ศ. ๔๒๓ สวรรคต พ.ศ.๔๕๓

นาคเสน พระอรหันตเถระผู้โต้วาทะชนะพระยามิลินท์ กษัตริย์สาคลประเทศ ดังมีคำโต้ตอบปัญหามาในคัมภีร์มิลินทปัญหา ท่านเกิดหลังพุทธกาลประมาณ ๔๐๐ ปี ที่หมู่บ้านกชังคละในหิมวันตประเทศ เป็นบุตรของพราหมณ์ชื่อโลณุตตระ ท่านเป็นผู้ชำนาญในพระเวท และต่อมาได้อุปสมบท โดยมีพระโรหณะเป็นพระอุปัชฌาย์


ทั้งพระไตรปิฎก ฉบับหลวง และฉบับมหาจุฬาฯ
http://tripitaka-online.blogspot.com/2016/05/ml001.html

http://84000.org/tipitaka/milin/milin.php?i=0

ได้บันทีกตรงกัน ว่า

พระเจ้ามิลินนท์ เกิดเมื่อล่วงได้ 500 ปีที่พระพุทธเจ้าปรินิพพานค่ะ

ไม่ใช่ 400 ปี


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 20 มี.ค. 2018, 07:24 
 
ออฟไลน์
อาสาสมัคร
อาสาสมัคร
ลงทะเบียนเมื่อ: 17 ก.ย. 2012, 15:32
โพสต์: 2876


 ข้อมูลส่วนตัว


:b8: :b8: :b8:


แสดงโพสต์จาก:  เรียงตาม  
กลับไปยังกระทู้  [ 9 โพสต์ ] 

เขตเวลา GMT + 7 ชั่วโมง


 ผู้ใช้งานขณะนี้

กำลังดูบอร์ดนี้: ไม่มีสมาชิก และ บุคคลทั่วไป 124 ท่าน


ท่าน ไม่สามารถ โพสต์กระทู้ในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ ตอบกระทู้ในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ แก้ไขโพสต์ของท่านในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ ลบโพสต์ของท่านในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ แนบไฟล์ในบอร์ดนี้ได้

ค้นหาสำหรับ:
ไปที่:  
Google
ทั่วไป เว็บธรรมจักร