วันเวลาปัจจุบัน 19 เม.ย. 2024, 18:42  



เขตเวลา GMT + 7 ชั่วโมง




กลับไปยังกระทู้  [ 1 โพสต์ ]    Bookmark and Share
เจ้าของ ข้อความ
โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 10 ก.พ. 2018, 05:04 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
อาสาสมัคร
อาสาสมัคร
ลงทะเบียนเมื่อ: 06 มี.ค. 2009, 10:48
โพสต์: 5091


 ข้อมูลส่วนตัว


“อย่าหยุด”

อย่าประมาทนะ อย่าชะล่าใจ ปฏิบัติแล้วอย่าหยุด ถ้ายังไม่ถึงเป้าหมายอย่าเพิ่งหยุด พอหยุดแล้วเดี๋ยวมันจะทำให้เวลากลับมาปฏิบัติใหม่มันจะยาก ปฏิบัติไปเรื่อยๆ ถ้ายังมีกิเลสอยู่ก็อย่าเพิ่งหยุด ศีล สมาธิ ปัญญา อย่าหยุด ถ้าไม่มีกิเลสแล้วหยุดได้ ถ้าไม่โลภ ไม่โกรธ ไม่หลง ไม่อยากได้อะไร ไม่อยากมีอะไร ไม่อยากเป็นอะไรแล้ว หยุดได้ หยุดปฏิบัติได้ ถ้ายังไม่ถึงนั้นก็อย่าหยุด

อย่าไปเป็นเหมือนกระต่ายนะ เป็นเหมือนเต่า คลานไปเรื่อยๆ อย่าไปหยุด ถ้ายังไม่ถึงหลักชัยอย่าเพิ่งไปหยุด กระต่ายมันวิ่งนำหน้าเต่า เฮ้ยกูทิ้งมันไกลแล้ว กูไปเที่ยวก่อนก็ได้ เดี๋ยวพอเผลอกลับมา โหยมันไปถึงโน่นแล้ว วิ่งตามมันไม่ทัน เราปฏิบัติ โอ้ยเรามาไกลแล้วเดี๋ยวเราพักก่อน อย่าไปคิดอย่างนั้น เดี๋ยวพอเผลอมามองอีกที โอ้ยทำไมหลักชัยมันหนีไปอีกตั้งไกล พอเราไม่ปฏิบัติมันก็จะเริ่มเดินถอยหลัง แล้วถ้าเราหยุดปฏิบัติมันจะถอยหลัง ถ้าเราปฏิบัติเท่าเดิมมันก็จะอยู่กับที่ ถ้าอยากจะให้มันก้าวหน้าก็ต้องปฏิบัติมากกว่าเดิม มันถึงจะก้าวหน้าได้ อย่าไปคิดว่าโอ้ยเราปฏิบัติแล้วจะอยู่กับที่ มันไม่อยู่แล้ว พอหยุดปฏิบัติแล้วมันจะเริ่มถอยแล้ว เพราะมันเปิดช่องให้กิเลสดึงใจไปแล้ว แต่ถ้าปฏิบัติเท่าเดิม มันก็จะยังจะอยู่ที่เดิม ถ้าอยากจะให้มันก้าวหน้าต้องปฏิบัติมากกว่าเดิม เช่นเคยปฏิบัติ ๒ ชั่วโมงก็ต้องเพิ่มเป็น ๓ ชั่วโมง ถึงจะก้าวหน้า

ถ้าหยุดปฏิบัติมันก็จะถอยเลย เพราะว่าเอาเวลาที่ปฏิบัติไปเที่ยว ไปหาเงินไปทำอย่างอื่น มันก็จะถอย ตอนนี้ถ้าไม่ปฏิบัติก็ถือว่ากำลังเดินถอยหลังโดยไม่รู้สึกตัวแล้ว อย่าไปคิดว่าเรามาไกลแล้ว ไม่ไกลหรอก ถ้าหยุดปฏิบัติปั๊ป มันจะเริ่มถอย มันยิ่งไกลใหญ่ ยิ่งจะไกลจากหลักชัยใหญ่.

สนทนาธรรมบนเขา

วันที่ ๗ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๑

พระอาจารย์สุชาติ อภิชาโต






“เป็นเรื่องของกาลเวลาที่เปลี่ยนแปลงไป”

ถาม : กราบเรียนถามพระอาจารย์ ได้ยินมาว่าเวลาเราใส่บาตรเวลารับพรจากพระไม่ควรนั่งยองยอง เพราะพระสงฆ์ท่านจะอาบัติจริงหรือเปล่าครับ

พระอาจารย์ : อันนี้ก็เป็นกฎในอดีตมั้ง ที่เขาว่าเวลาพระยืนพูดก็ต้องยืนพูดกับพระ นั่งถือว่าไม่เคารพ ในสมัยปัจจุบันนี้มันกลับกันซะแล้ว ถ้ายืนคุยกับพระหาว่าไม่เคารพ ต้องนั่งถึงจะเคารพ ฉะนั้นเราก็ต้องดูธรรมเนียมสมัยที่เราอยู่ สมัยก่อนสมัยนั้นเขาถือว่าจะต้องยืน พระยืนคนฟังก็ต้องยืน พระนั่งคนฟังก็ต้องนั่ง แต่สมัยนี้ไม่ได้เป็นอย่างงั้นแล้ว พระยืนคุยเรายืนคุยกับพระไม่ดีไม่ถูก ต้องนั่ง เพราะฉะนั้นไม่ต้องไปกังวลหรอกมันเป็นเรื่องของกาลเวลาที่เปลี่ยนแปลงไป ฉะนั้นพระก็ไม่อาบัติหรอก ญาติโยมก็นั่งรับพรกันตั้งเยอะแยะเวลาพระให้ยืนบิณฑบาตให้ ญาติโยมเขาก็นั่งกันส่วนใหญ่ มันเป็นธรรมเนียม ฉะนั้นไม่ถือว่าเป็นอาบัติ นอกจากว่าจะยึดติดในกฎเดิมเนี่ยมันก็เป็นอาบัติ แต่มันก็เป็นข้ออาบัติที่ไม่ได้มีอะไรเสียหาย มันเพียงแต่ว่าอาจจะดูไม่สวยงาม.

สนทนาธรรมบนเขา

วันที่ ๔ มกราคม ๒๕๖๑

พระอาจารย์สุชาติ อภิชาโต




ถาม : คนที่มีนิสัยชอบล่าสัตว์ป่า ฆ่าสัตว์ป่าสงวนใกล้สูญพันธ์ จะต้องรับผลกรรมแบบไหนหรือครับ

พระอาจารย์ : ไปล่าเขาฆ่าเขา ก็ต้องถูกเขาล่ากลับถูกเขาฆ่ากลับต่อไป คนพวกนี้เป็นนิสัย เสือ สิงห์ กระทิง แรด เคยเป็นเดรัจฉาน เคยเป็นสัตว์ที่ไปล่าสัตว์อื่นฆ่าสัตว์อื่น จึงเป็นนิสัยของเดรัจฉานติดอยู่กับใจ

คนพวกนี้เมื่อตายไป ก็ต้องกลับไปเป็นเดรัจฉาน ให้สัตว์อื่นมาล่ากลับมาฆ่ากลับ ทำอย่างไรก็จะถูกทำอย่างนั้นกลับมา จะทำกรรมอันใดใว้ ดีหรือชั่ว จะต้องเป็นผู้รับผลของกรรมนั้น เมื่อไปล่าเขาฆ่าเขา เขาก็ต้องมาล่ากลับฆ่ากลับ ไปกินเขา เขาก็ต้องมากินกลับ สลับกันไป พลัดกันไป

พระอาจารย์สุชาติ อภิชาโต
ธรรมะบนเขา ณ จุลศาลา เขตปฏิบัติธรรมเขาชีโอน
วัดญาณสังวรารามวรมหาวิหาร ชลบุรี
วันที่ ๙ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๑




การดูใจของตนเองก็ต้องดูด้วยความเป็นธรรม
ดูด้วยความเป็นจริง ไม่ลำเอียงเข้าข้างตัวเองเเละคิด
พิจารณาด้วยเหตุและสติ เเละเหตุผล ใช้ธรรมใช้ปัญญา

ธรรมเทศนา หลวงปู่เผย วิรโย






ศีลนำความสุขมาให้ตราบเท่าชรา
ศีลนำความสุขมาให้ตลอดชีวิต
ศีลนำความสุขไปให้ตลอดและมีสุคติเป็นที่ไป
สีเลน โภคสมฺปทา ผู้จักมั่งคั่งบริบูรณ์สมบูรณ์
ไม่อด ไม่อยาก ไม่ยากไม่จน ก็เพราะ
เป็นผู้รักษาศีลให้สมบูรณ์บริบูรณ์นี้แล

หลวงปู่ขาว อนาลโย




คนที่มีสติปัญญา ความรู้ความฉลาด ต้องรู้จักเเก้ รู้จักดูตัว
รู้จักเขาสรรเสริญ เขาตำหนิ
ถ้ามันไม่ดีอย่างที่เขาว่า ก็วางมันเสีย
ตัวเราปฏิบัติดีเเล้ว ศิลของเราบริสุทธิ์ มันก็ไม่เสียหาย
อย่าไปดูแต่คนอื่น อย่าไปว่าแต่คนอื่นเขา
ให้เรารักษากาย วาจาของเราเป็นสำคัญ
เมื่อเรารักษาไว้ดีเเล้ว จิตในของเราก็จะเป็นศีลเป็นธรรม

ธรรมเทศนาหลวงปู่เผย วิรโย




ถาม : จะไปหาวัดที่เหมาะต่อการปฏิบัติธรรมภาวนาจริงๆ อย่างไรจะเหมาะ

พระอาจารย์ : การหาที่ปฎิบัติภาวนานี้สำคัญมาก เพราะสถานที่สงบ เงียบสงัด วิเวก จะเอื้ออำนวยต่อการปฏิบัติมากกว่า ควรไปหาวัดที่สงบ เงียบๆ วิเวก เป็นวัดเล็กๆอยู่กันไม่กี่คน ถ้าอยู่กันเยอะจะไม่สงบเท่าที่ควร

วัดปฏิบัติธรรมภาวนาจริงๆ เขาจะไม่มารวมกันไหว้พระสวดมนต์ เขาให้ไหว้พระสวดมนต์ของใครของมันไป อยู่ตามที่พักของตนเองเพียงลำพัง จะสวดมนต์ไหว้พระ นั่งสมาธิภาวนา เดินจงกรมภาวนา ก็ให้ทำคนเดียว เพราะวัดปฏิบัติจริงๆต้องสงบเงียบๆ ไม่มีกิจกรรมร่วมกัน เขาจะให้ปฏิบัติแยกกัน เพราะต้องการความวิเวก ความสงบ

พระอาจารย์สุชาติ อภิชาโต
ธรรมะบนเขา ณ จุลศาลา เขตปฏิบัติธรรมเขาชีโอน
วัดญาณสังวรารามวรมหาวิหาร ชลบุรี
วันที่ ๕ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๑
..................................................

การปฏิบัติธรรมภาวนา
ต้องปฏิบัติคนเดียว
อยู่ในสถานที่ สงบ สงัด วิเวก
เพราจิตจะเข้าสู่ความสงบได้ง่าย
การปฏิบัติธรรมรวมกันหลายคน
เหมาะสำหรับผู้ที่ยังปฏิบัติไม่เป็น

อาวุธที่คุ้มครองจิตใจของเราก็คือ สติและปัญญา ปัญญาก็คือ การพิจารณาธรรมอยู่เนืองๆ พิจารณาอยู่เรื่อยๆ เห็นอะไรก็พิจารณาว่าไม่เที่ยง เป็นทุกข์

สิ่งที่เราควรมาสร้างสติและปัญญา การที่เราจะสร้างสติและปัญญาได้อย่างมากมายนั้น ต้องอาศัยสถานที่ ที่สงบ สงัด วิเวก ไม่มีอะไรมารบกวนในการสร้างสติและปัญญานี้ สถานที่ที่เหมาะสมในการสร้างสติและปัญญา ก็คือ ตามวัดที่มีการปฏิบัติธรรม วัดที่ส่งเสริมการนั่งสมาธิ เดินจงกรม เป็นวัดที่เหมาะต่อการไปสร้างสติเจริญสติ สร้างปัญญาเจริญปัญญา

เราควรต้องหาเวลามาปฏิบัติธรรมภาวนา ด้วยการถือศีล๘ อยู่ในสถานที่สงบสงัดวิเวก ไม่มีอะไรมาคอยรบกวนใจ มีแต่การปฏิบัติธรรมเท่านั้น และต้องเป็นการปฏิบัติลำพังเพียงคนเดียวแบบตัวใครตัวมัน ไม่ต้องมาปฏิบัติรวมกัน ให้แยกกันไปปฏิบัติ ต่างคนต่างปฏิบัติ เพราะถ้ามารวมกันแล้วเดี๋ยวก็คุยกัน หรือรอกันไป รอกันมา แต่ถ้าปฏิบัติคนเดียว อยู่คนเดียว เราจะเดินจงกรมมากหรือน้อย นั่งสมาธิมากหรือน้อย เราก็ทำของเราได้ตามอัธยาศัยของเรา

การที่ไปปฏิบัติรวมกันนี้ เหมาะสำหรับผู้ที่ยังปฏิบัติไม่เป็น ต้องไปฝึกไปเรียนรู้วิธีปฏิบัติ เดินจงกรมเขาเดินอย่างไร นั่งสมาธิเขานั่นอย่างไร แต่ถ้ารู้แล้วก็สมควรไปปฏิบัติของตนเองจะดีกว่า เพราะเวลาปฏิบัติรวมกันนี้ ความรู้สึกไม่เหมือนกับการปฏิบัติอยู่คนเดียว การปฏิบัติคนเดียวจะรู้สึกวิเวก จิตจะเข้าสู่ความสงบได้ง่ายกว่ากับการไปปฏิบัติอยู่กับหลายๆคน เพราะจิตมันจะนึกถึงคนรอบข้างอยู่นั่นเอง

นี่ก็คือการเตรียมเวลา เตรียมสถานที่ ให้กับการปฏิบัติ การปฏิบัติก็คือ ต้องสร้าง “สติ” เป็นเบื้องต้น ต้องสร้างสติขึ้นมาให้ได้ก่อน ถึงจะสามารถนั่งสมาธิทำใจให้สงบได้ เมื่อทำใจให้สงบได้แล้วก็จะสามารถเอาปัญญาที่พระพุทธเจ้าทรงสอนให้เราพิจารณาอยู่เนืองๆ เพื่อมาหยุดความอยากต่างๆได้ เมื่อเรามีสติ สมาธิ ปัญญา แล้วความอยากก็จะไม่หลงเหลืออยู่ภายในใจ ใจของเราก็สงบ มีความสุขไปตลอด

พระอาจารย์สุชาติ อภิชาโต
ธรรมะบนเขา ณ จุลศาลา เขตปฏิบัติธรรมเขาชีโอน
วัดญาณสังวรารามวรมหาวิหาร ชลบุรี
วันที่ ๓ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๑


แสดงโพสต์จาก:  เรียงตาม  
กลับไปยังกระทู้  [ 1 โพสต์ ] 

เขตเวลา GMT + 7 ชั่วโมง


 ผู้ใช้งานขณะนี้

กำลังดูบอร์ดนี้: ไม่มีสมาชิก และ บุคคลทั่วไป 47 ท่าน


ท่าน ไม่สามารถ โพสต์กระทู้ในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ ตอบกระทู้ในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ แก้ไขโพสต์ของท่านในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ ลบโพสต์ของท่านในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ แนบไฟล์ในบอร์ดนี้ได้

ค้นหาสำหรับ:
ไปที่:  
Google
ทั่วไป เว็บธรรมจักร