วันเวลาปัจจุบัน 28 มี.ค. 2024, 21:11  



เขตเวลา GMT + 7 ชั่วโมง




กลับไปยังกระทู้  [ 23 โพสต์ ]  ไปที่หน้า ย้อนกลับ  1, 2  Bookmark and Share
เจ้าของ ข้อความ
โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 12 ก.พ. 2018, 13:16 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
สมาชิกระดับสูงสุด
สมาชิกระดับสูงสุด
ลงทะเบียนเมื่อ: 24 ต.ค. 2006, 12:36
โพสต์: 33766

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว


ข้อที่ ๖ ปัตติทานมัย บุญสำเร็จด้วยการให้ส่วนบุญ. การให้ส่วนบุญที่เราเรียกว่า การกรวดน้ำนั่นน่ะ หรือว่าไปบอกใครให้ทำดี ก็เรียกว่า ให้ส่วนบุญด้วยเหมือนกัน

การไปทำบุญแล้วบอกให้ใครรับส่วนบุญที่ได้กระทำนั้น ประโยชน์มันอยู่ตรงนี้ คือ ให้คนนั้นได้รับความรู้ว่า อ้อ คนเขาไปทำดีกัน เช่น นาย ก. ไปทำบุญ กลับมาพบนาย ข. พูดว่า ฉันไปทำบุญมา รับเอาส่วนบุญไปน่ะ ถ้าให้บ่อยๆ เข้า นาย ข. มันเกิดความรู้สึกขึ้นในใจนี้ว่า เอ เรานี่เพื่อให้เรา เราไม่มีบุญให้เพื่อนบ้างเลย เรานี่จะต้องทำบุญบ้างละ มันเป็นเครื่องจูงใจให้คนทำความดี เราบอกความดีให้กับเขา ทำให้เขาอยากจะทำดีขึ้นมา นี่จะหมายข้อหนึ่ง
เราไปทำอะไรมา ไปทอดกฐิน ไปทอดผ้าป่ามา เจอใครเราก็บอกว่ารับเอาส่วนบุญไปเน้อ คนนั้นก็ยกมือขึ้น “สาธุ” สาธุบ่อยๆ ใจมันก็เป็นบุญขึ้น แล้วทีหลังก็ไปทำกันมั่ง การทำบุญมันก็กว้างออกไป นี่คือจุดหมาย แผ่ส่วนบุญเท่ากับไปเตือนคนไม่รู้จักทำบุญให้ทำบุญเสียบ้างนั่นเอง เป็นความสำคัญอันหนึ่ง

ทีนี้ อีกประการหนึ่ง ทำบุญแล้วกรวดน้ำนี่ กรวดน้ำแผ่ส่วนบุญ บางคนก็สงสัยว่า แผ่ไปแล้วจะได้รับหรือไม่ ไปกังวลในเรื่องนี้ ได้รับหรือไม่ได้รับเราไม่ต้องไปกังวลในเรื่องนี้ แต่ให้เรานึกว่าการแผ่บุญนี้ ประโยชน์อยู่ที่ตรงไหน ประโยชน์อยู่ที่ให้เรานึกถึงบรรพบุรุษของเราทุกครั้งที่เราทำดี ทำให้นึกถึงคุณพ่อ คุณแม่ คุณปู่ คุณย่า คุณตา คุณยาย ครูอาจารย์ ท่านที่มีบุญคุณแก่เรา มันเป็นเครื่องบันดาลให้เราคิดถึงจิตใจของท่านเหล่านั้น รักท่าน เคารพท่าน บูชาท่าน มันเป็นรากฐานทางศีลธรรม คนเราถ้ารักพ่อแม่ รักปู่ย่าตายาย นี่มันไม่ทำชั่ว คนที่ทำชั่วน่ะไม่เคยนึกถึงพ่อแม่ ไม่นึกถึงใครทั้งนั้น นึกแต่ว่าเรื่องสนุกเท่านั้นเอง จะทำตามอารมณ์ของกูละ มันไม่มีเครื่องผูกพัน

ทีนี้ การที่เรานึกถึงปู่ ย่า ตา ยาย บ่อยๆเป็นเครื่องผูกพันทางด้านจิตใจ ทำให้เราได้นึกถึงท่านเหล่านั้น บางครั้ง เวลากรวดน้ำ บางคนน้ำตาไหล น้ำตาไหลเพราะนึกถึงคุณแม่ นึกถึงคุณพ่อ ว่าท่านมีบุญคุณแก่เรา ถ้าอารมณ์เช่นนี้เกิดขึ้นบ่อยๆ แล้วอารมณ์นี่เป็นจุดหมาย เขาต้องการให้เป็นรากฐานของศีลธรรม ให้ได้มีการระลึกถึงซึ่งกันและกัน ถ้าเราไม่มีโอกาสได้นึกถึงละก็ลืมไปเท่านั้น ลืมพ่อ ลืมแม่ ลืมปู่ ตา ย่า ยาย เพราะฉะนั้น ธรรมเนียมต่างๆ ที่เขาตั้งไว้เพื่ออะไร ก็เพื่อให้เราได้นึกถึงบ่อยๆ เช่น วันสารท มีการทำบุญอุทิศให้ปู่ ตา ย่า ยาย เราจะได้นึกถึงพ่อ แม่ ปู่ ตา ย่า ยาย

วันตรุษ วันสงกรานต์ เอากระดูกมาสรงน้ำ ก็จะได้คิดถึง มันดีอย่างนี้ มันเป็นประโยชน์ทางศีลธรรม เสร็จแล้วจะถึงไม่ถึงอย่าไปคิดเลย คิดแต่เพียงว่าเราได้คิดถึงท่าน ได้เคารพท่าน ได้บูชาท่าน แล้วก็ทำให้เกิดคุณธรรม คือความกตัญญูกตเวทีในครอบครัว วงศ์สกุลของเรา เป็นระเบียบของครอบครัว

ครอบครัว จะตั้งมั่นก็เพราะมีหลักยึดใจ หลักยึดใจอันหนึ่งก็คือ เคารพต่อเรื่องการแผ่ส่วนบุญ ทีนี้ เมื่อเขาแผ่ให้เราก็ต้องอนุโมทนา อย่าเมินเฉย การอนุโมทนานั้นเรียกว่า มีจิตยอมรับ มีความอ่อนน้อม ไม่ใช่พอแผ่แล้วก็เดินเฉย “บุญอะไร เอามาให้” กิเลสมันเกิดเวลานั้น ถ้ายกมือสาธุยินดีด้วย ขอรับ กิเลสมันหายไปตรงนั้น มันได้บุญกันตรงนี้เอง แล้วถ้าคนอื่นมาแผ่ให้เราบ่อยๆ รับบ่อยๆ ใจมันค่อยดีขึ้น ผลที่สุดก็รับบุญ รับความดีอีกนั่นแหละ จุดหมายมันอยู่ตรงนั้น

ข้อที่ ๗ ปัตตานุโมทนามัย บุญสำเร็จด้วยการอนุโมทนาส่วนบุญ มันคู่กันกับปัตติทานมัย.

.....................................................
https://dhammachati.blogspot.com/


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 12 ก.พ. 2018, 19:28 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
สมาชิกระดับสูงสุด
สมาชิกระดับสูงสุด
ลงทะเบียนเมื่อ: 24 ต.ค. 2006, 12:36
โพสต์: 33766

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว


ข้อที่ ๘ ธัมมัสสวนมัย บุญสำเร็จด้วยการฟังธรรม

ข้อที่ ๙ ธัมมเทสนามัย บุญสำเร็จด้วยการแสดงธรรม การฟังกับการแสดงมันคู่กัน เรามีความรู้แสดงได้ เราไม่มีความรู้เราฟังได้ ใครเขาพูดธรรมะ เราไปฟังใครเขาเทศน์ ใครเขาปาฐกถา เราไปฟัง เขาเทศน์ทางวิทยุหมั่นฟัง ฟังไปเถอะ มันได้ละ ได้สักอย่าง ดีไม่ดีก็ต้องได้ หมั่นฟังไว้เถอะ ฟังๆไปก็ติดเลยกลายเป็นคนใคร่ธรรมะ ใคร่ต่อการศึกษา ใคร่ต่อการปฏิบัติแล้วก็ดีขึ้น เพราะฉะนั้น ต้องหมั่นฟัง มีโอกาสที่จะฟังได้ต้องไปฟัง เทศน์สมัยนี้มีวิทยุ มาถึงบ้านเปิดฟัง มีโทรทัศน์พูดธรรมะก็เปิดฟัง ฟังแล้วก็เพลิดเพลินจิตใจสบาย ได้ความรู้ความเข้าใจ
คนที่ฟังจะได้ฟังสิ่งที่ยังไม่เคยฟัง สิ่งใดฟังแล้วฟังซ้ำก็จะดีขึ้น มีความไม่เข้าใจในเรื่องอะไรอยู่ เมื่อได้ฟังก็หายสงสัย ได้ความเข้าใจเพิ่มขึ้น มีความเข้าใจเพิ่มขึ้น มีข้อสงสัยแคลงใจอันใด ได้ไปฟัง ความสงสัยนั้นก็หายไป ขณะฟังจิตผ่องใส ไม่ขุ่นมัวไม่เศร้าหมอง พูดธรรมะนี่ก็จิตผ่องใส สวดมนต์นี่ก็จิตผ่องใส เกิดประโยชน์แก่ตัวเรา เราจึงควรสนใจ
สมัยก่อนนี้เคยไปฟังธรรมะ เดินทางตั้งไกล บางคนเดินทางตั้ง ๗ วัน ไปฟังธรรมะพระพุทธเจ้า ยังอุตส่าห์ไปฟัง เพราะรู้ว่ามันเป็นประโยชน์ก็ไปฟังกัน นี่เป็นบุญอย่างหนึ่ง คือทำให้ได้รับความรู้ เรียกว่า ธัมมัสสวนมัย

ธัมมเทสนามัย นี่แปลว่า เรามีความรู้ธรรมะ อย่าเก็บไว้คนเดียว แบ่งให้คนอื่นบ้าง แบ่งก็ด้วยการพูดให้เขาฟัง คุยกัน เรียกว่า คุยธรรมะให้เขาฟัง เช่น เรามาบวชแล้วได้ฟังธรรมบ่อยๆ สึกออกไปก็พูดกับคนที่ยังไม่ได้บวชได้เรียน จะได้เอาธรรมะไปใช้ในชีวิตประจำวัน เพื่อให้เขาเป็นสุขขึ้นบ้าง การช่วยให้คนอื่นเป็นสุขนั้น เป็นบุญกุศลอย่างยิ่งใหญ่ เป็นเรื่องที่ควรจะช่วยกันต่อไป นี่เรียกว่า บุญสำเร็จด้วยการฟังธรรม ด้วยการแสดงธรรม

.....................................................
https://dhammachati.blogspot.com/


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 12 ก.พ. 2018, 19:28 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
สมาชิกระดับสูงสุด
สมาชิกระดับสูงสุด
ลงทะเบียนเมื่อ: 24 ต.ค. 2006, 12:36
โพสต์: 33766

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว


ข้อที่ ๑๐ ทิฏฐุชุกัมม์ บุญสำเร็จด้วยการทำความเห็นให้ตรง. ทิฏฐิ กับ อุชุกัมม์ มาสนธิกันเป็นทิฏฐุชุกัมม์ ทำความเห็นให้ตรง เห็นผิดเป็นโทษ ตัดทางก้าวหน้าของชีวิตของการงาน เห็นถูกทางมันโล่ง ทางสบาย
ทีนี้ คนเห็นผิดก็ต้องแก้ทำให้ตรงเสีย การทำความเห็นผิดให้ตรงนั้นเป็นบุญชั้นสูงสุด

บุญข้อสุดท้ายนี้สูงกว่าเพื่อน เพราะว่า เมื่อมีความเห็นตรงแล้วนั้นอันอื่นดีหมด แต่ถ้าความเห็นยังคดอยู่ มันก็คดไปหมด
ความเห็นเป็นพื้นฐานสำคัญ พระผู้มีพระภาคเจ้าจึงตรัสว่า ผู้มีสัมมาทิฏฐิ ย่อมพันจากทุกข์ได้ ผู้เป็นมิจฉาทิฏฐิก็ไม่พ้นทุกข์
เพราะฉะนั้น เราจะต้องเข้าหาสัมมาทิฏฐิ ให้เกิดความเห็นชอบ ตามแนวทางพระพุทธศาสนา เช่น มีความเห็นในเรื่องพระรัตนตรัยถูกต้อง มีความเห็นในเรื่องกรรมถูกต้อง เช่น ความเห็นว่าทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว ความสุขความทุกข์เกิดจากการกระทำ ไม่ใช่เกิดจากดวงดาวบนท้องฟ้า ไม่ใช่โชคลางผีสางเทวดาดลบันดาล
ปรับความเห็นให้ตรงเสียก่อน การกระทำก็ตรง
ถ้าความเห็นไม่ตรง การกระทำก็ไม่ตรง เราต้องสำรวจตัวเราเอง ว่าเรามีความเห็นอะไรไม่ค่อยตรงอยู่บ้าง คิดให้ตรงเสีย ให้แนวตรงแนวทางถูกทางชอบ ชีวิตก็จะได้ก้าวหน้าเป็นไปด้วยดี นี่เรียกว่า ปรับความเห็นให้ตรง

.....................................................
https://dhammachati.blogspot.com/


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 12 ก.พ. 2018, 19:36 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
สมาชิกระดับสูงสุด
สมาชิกระดับสูงสุด
ลงทะเบียนเมื่อ: 24 ต.ค. 2006, 12:36
โพสต์: 33766

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว


บุญทั้ง ๑๐ ประการนี้ เราเลือกทำได้ทุกโอกาส เช่น ทานมัย ถ้าเราไม่มีวัตถุเราก็ทำไม่ได้ แต่เรามีธรรมะเราก็ทำบุญด้วยการแสดงธรรมะก็ได้ ให้ธรรมะเป็นทาน เราเลือกทำได้ ศีล ภาวนา อปจายนมัย บุญสำเร็จด้วยการถ่อมตน การช่วยเหลือ การแผ่ส่วนบุญ การรับส่วนบุญ การฟังธรรม การแสดงธรรม การทำความเห็นให้ตรง สุดแล้วแต่ เราทำอย่างไรก็ได้ ให้เป็นการสร้างสิ่งที่เป็นความดี ความงาม เกิดขึ้นในใจของเราตลอดเวลา
เรื่องนี้ต้องเอาไปใช้ปฏิบัติ ธรรมะทุกข้อเราเรียนแล้วต้องเอาไปปฏิบัติ
ถ้าไม่ปฏิบัติก็ไม่ได้ประโยชน์คุ้ม จึงควรจะได้ปฏิบัติตามหลักเกณฑ์นั้นๆ เพื่อสร้างเสริมนิสัยในทางดีทางงามให้เกิดขึ้นในชีวิตจิตใจของเรา เราจึงจะได้รับผล คือ ความสุขสงบในชีวิตประจำวัน อันเป็นจุดหมายสำคัญของชีวิต.

(จบตอน)

จากหนังสือนี้ หน้า ๕๓๓

http://g-picture2.wunjun.com/6/full/9c0 ... s=614x1024

.....................................................
https://dhammachati.blogspot.com/


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 12 ก.พ. 2018, 19:44 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
สมาชิกระดับสูงสุด
สมาชิกระดับสูงสุด
ลงทะเบียนเมื่อ: 24 ต.ค. 2006, 12:36
โพสต์: 33766

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว


ท่านอธิบายบุญกิริยาแบบบ้านๆมีตัวอย่างประกอบความเข้าใจไปแล้ว ต่อนี้ดูหลักเดิมต่อด้วย จากหนังสือนี้ หน้า ๕๔๙

รูปภาพ

.....................................................
https://dhammachati.blogspot.com/


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 12 ก.พ. 2018, 19:52 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
สมาชิกระดับสูงสุด
สมาชิกระดับสูงสุด
ลงทะเบียนเมื่อ: 24 ต.ค. 2006, 12:36
โพสต์: 33766

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว


ชาวบ้าน ดำเนินมรรคาด้วยการศึกษาบุญ


ก่อนหน้านี้ ได้บอกแล้วว่า ในคำสอนธรรมเพื่อให้เหมาะสำหรับคฤหัสถ์ คือชาวบ้าน แทนที่ท่านจะนำระบบของมรรคมาจัดขั้นตอนในรูปของไตรสิกขา เป็น ศีล สมาธิ ปัญญา แต่ท่านจัดใหม่เหมือนดังจะให้เป็นไตรสิกขาฉบับที่ง่ายลงมา โดยวางรูปขั้นตอนใหม่ เป็นหลักทั่วไป ที่เรียกว่าบุญกิริยา หรือบุญกิริยาวัตถุ ซึ่งมีจำนวน ๓ ข้อ หรือ ๓ ขั้น เท่ากับไตรสิกขานั่นเอง แต่มีชื่อหัวข้อต่างออกไปเป็น ทาน ศีล ภาวนา

ถึงตอนนี้ เมื่อยกไตรสิกขาขึ้นมาย้ำในแง่การศึกษาแล้ว ก็ควรให้เข้าใจบุญกิริยาในความหมายของการศึกษาด้วย และแท้จริงนั้น สาระหรือเนื้อแท้ทั้งหมดของบุญกิริยา คือการทำบุญนั้น ก็คือการศึกษานั่นเอง

ขอให้ดูพุทธพจน์ที่แสดงหลักบุญกิริยาวัตถุ ๓ ดังนี้

"ภิกษุทั้งหลาย บุญกิริยาวัตถุ ๓ ประการนี้...คือ ทานมัย บุญกิริยาวัตถุ ๑ ศีลมัย บุญกิริยาวัตถุ ๑ ภาวนามัย บุญกิริยาวัตถุ ๑ ...

"ผู้ใฝ่อัตถะนั้น พึงศึกษาบุญนั่น ทีเดียว อันมีผลกว้างไกล มีความสุขเป็นกำไร คือ พึงเจริญทาน ๑ สมจริยา (ความประพฤติเข้ากับธรรม หรือสมตามธรรม) ๑ เมตตาจิต ๑ บัณฑิตเจริญธรรม ๓ ประการ อันก่อให้เกิดความสุข เหล่านี้แล้ว ย่อมเข้าถึงโลกที่เป็นสุข ไร้การเบียดเบียน" (ขุ.อิติ.25/238/270)


จะเห็นว่า พระพุทธเจ้าทรงแสดงหลักบุญกิริยาวัตถุว่ามี ๓ อย่าง คืออะไรบ้างแล้ว ก็ตรัสคาถาสรุป ทรงบอกให้รู้กันว่าจะทำอะไรกับบุญกิริยาวัตถุนั้น คือตรัสว่า พึงศึกษาบุญนั่นทีเดียว ขอย้ำพระดำรัสเป็นคำบาลีว่า "ปุญฺญเมว โส สิกฺเขยฺย" ถ้านำคำทั้งสองมาสมาส (รวมเข้าด้วยกัน) ก็เป็น ่"บุญสิกขา" นั่นเอง

ที่ว่าศึกษา ก็คือ ฝึกทำให้เป็นให้มีขึ้น ฝึกหัดอบรมพัฒนาให้เจริญเพิ่มพูนถนัดชำนาญยิ่งขึ้นไป ก็คือก้าวหน้างอกงามขึ้นไปในมรรค อย่างคล้อยตามไตรสิกขานั่นเอง

.....................................................
https://dhammachati.blogspot.com/


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 12 ก.พ. 2018, 19:57 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
สมาชิกระดับสูงสุด
สมาชิกระดับสูงสุด
ลงทะเบียนเมื่อ: 24 ต.ค. 2006, 12:36
โพสต์: 33766

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว


ขอย้ำความอย่างที่เคยกล่าวมาแล้วว่า หลักศึกษาบุญสำหรับชาวบ้านนี้ เน้นชีวิตด้านนอก และการประพฤติปฏิบัติพื้นฐานขั้นต้น ตรงข้ามกับฝ่ายบรรพชิตคือพระสงฆ์ ที่เน้นด้านใน และขั้นสูงขึ้นไป

จะเห็นได้ชัดว่า หลักปฏิบัติขั้นต้นของไตรสิกขา รวมคลุมไว้ด้วยศีลคำเดียว แต่บุญกิริยาของชาวบ้าน ซึ่งเน้นด้านนอก ให้น้ำหนักแก่เรื่องการจัดการกับวัตถุ และการอยู่ร่วมสังคม จึงแยกขั้นต้นออกเป็น ๒ ข้อ โดยเอาเรื่องการจัดการวัตถุ คือทาน มาหนุนมานำศีล ขณะที่ของพระมีศีล แต่ของชาวบ้านมี ทาน และ ศีล

แต่ทางด้านใน ที่เป็นระดับลึกสูงขึ้นไป ไตรสิกขาของพระแบ่งชัดเป็น ๒ คือ สมาธิ และปัญญา แต่บุญกิริยาของชาวบ้าน พูดรวมคลุมด้วยภาวนาคำเดียว และตามพุทธพจน์ ให้มุ่งที่เมตตาภาวนา คือเจริญเมตตา

พูดอีกแบบหนึ่งว่า ชีวิตพระนั้น ไม่ค่อยเกี่ยวข้องกับวัตถุ ทานจึงมีบทบาทน้อย ดังนั้น ในไตรสิกขา จึงเอาทานไปผนวกหรือแอบไว้ในศีล (จะดูการจัดสรรวัตถุของพระก็ไปมองในวินัย)

แต่ ชีวิตของพระนั้น มุ่งอุทิศแก่ด้านใน คือจิตใจและปัญญา ไตรสิกขา จึงจัดแยกการศึกษาพัฒนาด้านในนั้น ออกเป็น ๒ อย่างให้เด่นชัดขึ้นมา เป็นสมาธิ กับ ปัญญา (อธิจิตต์ และอธิปัญญา)

ส่วนชีวิตของชาวบ้าน อยู่กับวัตถุโดยตรงเต็มที่ และการแสวงหาจัดการวัตถุนั้น ก็ ดำเนินไปท่ามกลางเพื่อนมนุษย์ร่วมสังคม
ถ้าประพฤติปฏิบัติจัดการไม่ดี ทั้งวัตถุก็เสียหาย คนและสังคมก็เดือดร้อนวุ่นวาย จึงต้องยกทาน และศีล ขึ้นมาให้สำคัญโดดเด่น เป็นบุญกิริยา ๒ อย่างก่อน

ส่วนการพัฒนาด้านใน ถึงแม้สำคัญ ก็ต้องจัดให้พอเหมาะแก่กำลัง เวลา เป็นต้น ที่เขาจะปฏิบัติได้ โดยเอาทั้งเรื่องจิตใจ และปัญญามารวมเป็นข้อเดียวกัน คือ ทั้งพัฒนาจิตใจ (จิตตภาวนา) และพัฒนาปัญญา (ปัญญาภาวนา) มารวมไว้เป็นภาวนาข้อเดียว และเพราะการอยู่ร่วมกันในสังคมเป็นลักษณะชีวิตของชาวบ้าน แม้แต่ภาวนานั้นก็จึงเน้นที่การเจริญเมตตา คือเมตตาภาวนา

คำที่พูดกันสามัญว่า "ทำบุญ" ถ้าจะพูดให้ตรงตามที่พระพุทธเจ้าตรัสสอนไว้ ก็ต้องว่า "ศึกษาบุญ" คือให้ทำอย่างเป็นการฝึกฝนพัฒนา หมายความว่า บุญนี้เป็นคุณสมบัติ คือ ความดีงามความสามารถ ทางกายบ้าง ทางวาจาบ้าง ทางใจบ้าง รวมทั้งทางปัญญา เราต้องทำให้เพิ่มขึ้นและประณีตขึ้นเรื่อยๆ ให้เป็นการฝึกกาย ฝึกวาจา ฝึกจิตใจ และฝึกปัญญา ชีวิตของเราก็ประณีตงอกงามขึ้นเรื่อยๆ เป็นการพัฒนาชีวิต หรือพัฒนาตนเอง

ดังที่กล่าวแล้ว มี บุญกิริยาวัตถุ ๓ อย่าง คือ

๑. ทาน - การให้ เผื่อแผ่ แบ่งปัน

๒. ศีล - การประพฤติสุจริต มีความสัมพันธ์ที่ดี เกื้อกูล ไม่เบียดเบียนกัน

๓. ภาวนา - ฝึกอบรมพัฒนาจิตใจ พัฒนาปัญญา

.....................................................
https://dhammachati.blogspot.com/


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 12 ก.พ. 2018, 20:03 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
สมาชิกระดับสูงสุด
สมาชิกระดับสูงสุด
ลงทะเบียนเมื่อ: 24 ต.ค. 2006, 12:36
โพสต์: 33766

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว


ในอดีตที่ยาวนาน ท่านย่อมได้สอนได้อธิบายหลักธรรมเหล่านี้กันเรื่อยมา ปรากฏว่า ถึงยุคอรรถกถา ได้มีบุญกิริยาวัตถุเพิ่มขึ้นอีก ๗ ข้อ ซึ่งที่จริงก็ต้องถือว่าเป็นการขยายความและเพิ่มตัวอย่างของบุญกิริยาวัตถุ แต่ละข้อออกไป ดังที่อรรถกถาก็จัดไว้ ซึ่งขอประมวลมาดูเป็นแนวทางเสริมความเข้าใจ ดังนี้

๑. ทาน ในข้อนี้ รวมทั้งปัตติทานมัย คือการเปิดโอกาสให้คนอื่นได้มีส่วนร่วมบุญด้วยการทำความดีด้วยกัน และปัตตานุโมทนามัย คือการอนุโมทนาส่วนบุญ โดยพลอยชื่นชม หรือแสดงความยินดี ยอมรับเห็นชอบในการทำบุญทำความของผู้อื่น

๒. ศีล ในข้อนี้ รวมทั้งอปจายนมัย คือ อาการมีความอ่อนโยน สุภาพอ่อนน้อม ให้เกียรติกัน เคารพยกย่องท่านผู้มีความเป็นผู้ใหญ่ ผู้สูงด้วยคุณธรรมความดี เป็นต้น รวมมาถึงการมีกิริยามารยาทงดงาม ตามวัฒนธรรมประเพณี และ ไวยาวัจจมัย คือการช่วยเหลือ รับใช้ บริการ ขวนขวายในกิจกรรมบำเพ็ญประโยชน์

๓. ภาวนา ในข้อนี้ รวมทั้ง ธรรมสวนมัย คือการแสดงธรรมให้คำสอนคำแนะนำความรู้แก่ผู้อื่น

ข้อพิเศษ: ทิฏฐชุกรรม คือการทำความเห็นให้ตรง ซึ่งต้องทำร่วมกำกับการทำบุญข้ออื่นทุกข้อ ให้เป็นการกระทำด้วยความรู้เข้าใจตั้งใจมุ่งหมายถูกต้อง เท่ากับได้ตรวจสอบทุกกิจกรรม เป็นประกันให้ได้ผลดี และมีการพัฒนา

โดยนัยนี้ จึงเกิดเป็นชุดขยาย เรียกกันว่า บุญกิริยาวัตถุ ๑๐ คือ

๑. ทานมัย - ทำบุญด้วยการให้

๒. สีลมัย - ทำบุญด้วยการรักษาศีลประพฤติดีงาม

๓. ภาวนามัย - บุญด้วยการเจริญภาวนา

๔. อปจายนมัย - ทำบุญด้วยการประพฤติอ่อนน้อม

๕. ไวยาวัจจมัย - ทำบุญด้วยการขวนขวายรับใช้

๖. ปัตติทานมัย - ทำบุญด้วยการให้ส่วนความดีแก่ผู้อื่น

๗. ปัตตานุโมทนามัย - ทำบุญด้วยการยินดีการทำดีของผู้อื่น

๘. ธัมมัสสวนมัย - ทำบุญด้วยการฟังธรรม

๙. ธัมมเทสนามัย - ทำบุญด้วยการสอนแสดงธรรม

๑๐.ทิฏฐุชุกรรม - ทำบุญด้วยการทำความเห็นให้ตรง

.....................................................
https://dhammachati.blogspot.com/


แสดงโพสต์จาก:  เรียงตาม  
กลับไปยังกระทู้  [ 23 โพสต์ ]  ไปที่หน้า ย้อนกลับ  1, 2

เขตเวลา GMT + 7 ชั่วโมง


 ผู้ใช้งานขณะนี้

กำลังดูบอร์ดนี้: Google [Bot] และ บุคคลทั่วไป 30 ท่าน


ท่าน ไม่สามารถ โพสต์กระทู้ในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ ตอบกระทู้ในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ แก้ไขโพสต์ของท่านในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ ลบโพสต์ของท่านในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ แนบไฟล์ในบอร์ดนี้ได้

ค้นหาสำหรับ:
ไปที่:  
Google
ทั่วไป เว็บธรรมจักร