ลานธรรมจักร
http://www.dhammajak.net/forums/

พระอรหันต์สิ้นชีพเหมือนไฟสิ้นเชื้อดับไป
http://www.dhammajak.net/forums/viewtopic.php?f=1&t=55253
หน้า 1 จากทั้งหมด 1

เจ้าของ:  กรัชกาย [ 31 ม.ค. 2018, 08:28 ]
หัวข้อกระทู้:  พระอรหันต์สิ้นชีพเหมือนไฟสิ้นเชื้อดับไป

ไม่ว่าที่นี่เอง :b1:

หรือที่โน้น

อ้างคำพูด:
https://pantip.com/topic/37330764

นิพพานหมายถึงจิตดับไปไม่มีกลับมาสื่อจิตกะคนอื่นได้อีกแล้วทำไมสายมโณยิทธิถึงไปไหว้พระพุทธเจ้าได้ มีวิมานแก้ว

คือบังเอิญเห็นช่วงนี้ข่าวอดีต ไฮโซหญิง อ. อ้อย อัจฉราวดี กำลังดัง
เราเลยไปเจอคริปสคูปข่าวอันนี้มา ที่นักข่าวไปสัมภาษณ์เจ้าอาวาสวัดระฆังว่า อ. อัจฉราวดีเล่าว่าบรรลุฌาณขั้นสูงจนสามารถสื่อจิตสนทนากับสมเด็จโตฯได้ โดยสมเด็จโตฯมาสื่อจิตในฌาณและสอนวิชาเตโชกสิณให้......นักข่าวจึงไปถามเจ้าอาวาสวัดระฆังที่สมเด็จโตฯท่านเคยอยู่
เจ้าอาวาสตอบว่า.....พระพุทธเจ้าและเกจิที่เป็นอรหันต์เข้านิพพานไปแล้วแปลว่าดับหมดแล้วทั้งจิตทั้งกายไม่มีเหลืออีกที่จะมาสนธนาธรรมมาสื่อสารกะมนุษย์โลก?


ต่างก็ถกเถียงกันเรื่องจิต เรื่องนิพพาน เรื่องพระอรหันต์กันทั้งเพทั้งระยอง ปัญหานี้ไม่ใช่เถียงกันเฉพาะปัจจุบันเท่านั้น อดีตครั้งพุทธกาลเขาเถียงกันมาก่อนแล้ว แล้วพระพุทธเจ้าว่าไง ? ท่านว่า เหมือนเหล่าคนตาบอดคลำช้าง :b1:

เจ้าของ:  กรัชกาย [ 31 ม.ค. 2018, 08:41 ]
หัวข้อกระทู้:  Re: พระอรหันต์สิ้นชีพเหมือนไฟสิ้นเชื้อดับไป

แง่คิด

คำสอนในพระพุทธศาสนา เน้นสิ่งที่ปฏิบัติได้จริง และการลงมือทำให้รู้เห็นประจักษ์บังเกิดผลเป็นประโยชน์แก่ชีวิต หรือเน้นสิ่งที่ใช้ประโยชน์ได้ และการนำสิ่งนั้นมาใช้ให้เป็นประโยชน์ ไม่สนับการคิดวาดภาพ และการถกเถียงหาเหตุผลในสิ่งที่พึงรู้เห็นได้ด้วยการลงมือทำนั้น ให้เกินเพียงพอแก่ความเข้าใจที่จะเป็นพื้นฐานสำหรับการลงมือปฏิบัติ

เจ้าของ:  กรัชกาย [ 31 ม.ค. 2018, 08:48 ]
หัวข้อกระทู้:  Re: พระอรหันต์สิ้นชีพเหมือนไฟสิ้นเชื้อดับไป

พุทธพจน์เปรียบพระอรหันต์สิ้นชีพ เหมือนไฟดับ ดังความตอนหนึ่งในคำสนทนาระหว่างพระพุทธเจ้ากับวัจฉโคตตปริพาชกต่อไปนี้

วัจฉโคตต์: ท่านพระโคดมผู้เจริญ ภิกษุผู้มีจิตหลุดพ้นแล้วอย่างนี้ จะเกิด ณ ที่ไหน ?

พระพุทธเจ้า: ดูก่อนวัจฉะ คำว่าจะเกิด ก็ใช้ไม่ได้

วัจฉโคตต์: ถ้าอย่างนั้น ก็ไม่เกิด

พระพุทธเจ้า: คำว่า ไม่เกิด ก็ใช้ไม่ได้

วัจฉโคตต์: ถ้าอย่างนั้น ก็ทั้งเกิดและไม่เกิด

พระพุทธเจ้า: คำว่า ก็ทั้งเกิดและไม่เกิด ก็ใช้ไม่ได้

วัจฉโคตต์: ถ้าอย่างนั้น จะว่าเกิดก็ไม่ใช่ ไม่เกิดก็ไม่ใช่

พระพุทธเจ้า: คำว่า จะว่าเกิดก็ไม่ใช่ ไม่เกิดก็ไม่ใช่ ก็ใช้ไม่ได้

วัจฉโคตต์: ท่านพระ โคดมผู้เจริญ ฯลฯ ในเรื่องนี้ ข้าพเจ้าถึงความงุนงงเสียแล้ว ข้าพเจ้าถึงความหลงไปหมดเสียแล้ว แม้เพียงความเลื่อมใสที่ได้มีแก่ข้าพเจ้าด้วยถ้อยคำสนทนาเบื้องต้นของ ท่านพระโคดมผู้เจริญนั้น ถึงบัดนี้ ก็ได้หายไปหมดแล้ว

พระพุทธเจ้า: ดูก่อนวัจฉะ ควรแล้วที่ท่านจะงุนงง ควรแล้วที่ท่านจะหลงไป เพราะว่าธรรมนี้
ลึกซึ้ง เห็นได้ยาก รู้ตามได้ยาก สงบ ประณีต หยั่งไม่ได้ด้วยตรรกะ ละเอียด บัณฑิตพึงรู้ได้ ธรรมนั้นอันท่านผู้มีทิฏฐิอื่น มีแนวความเห็นอื่น มีหลักที่พอใจอย่างอื่น มีความเพียรที่ประกอบแบบอื่น ถืออาจารย์สำนักอื่น ยากจะรู้ได้
ถ้าอย่างนั้น เราจักย้อนถามท่านในเรื่องนี้ ท่านเห็นควรอย่างไร พึงกล่าวชี้แจงอย่างนั้น
ดูก่อนวัจฉะ ท่านสำคัญว่าอย่างไร ถ้าไฟลุกโพลงอยู่เบื้องหน้าท่าน ท่านจะรู้ไหมว่า ไฟนี้ลุกโพลงอยู่เบื้องหน้าเรา ?

วัจฉโคตต์: ...ข้าพเจ้าพึงรู้ได้ ฯลฯ

พระพุทธเจ้า: ก็ถ้าใครๆ พึงถามท่านอย่างนี้ว่า ไฟที่ลุกโพลงอยู่เบื้องหน้าของท่านนี้ อาศัยอะไร
จึงลุกโพลง ท่านถูกถามอย่างนี้ จะพึงกล่าวชี้แจงอย่างไร ?

วัจฉโคตต์: ...ข้าพเจ้าพึงกล่าวชี้แจงว่า ไฟที่ลุกโพลงอยู่เบื้องหน้าข้าพเจ้านี้ อาศัยเชื้อคือหญ้าและไม้ จึงลุกโพลงได้

พระพุทธเจ้า: ดูก่อนวัจฉะ ถ้าไฟเบื้องหน้าท่านนั้นพึงดับไป ท่านจะรู้ไหมว่า ไฟเบื้องหน้าเรานี้ดับแล้ว

วัจฉโคตต์: ...ข้าพเจ้าพึงรู้ได้ว่า ไฟเบื้องหน้าข้าพเจ้านี้ดับแล้ว

พระพุทธเจ้า: ก็ถ้าใครๆพึงถามท่านอย่างนี้ว่า ไฟเบื้องหน้าท่านนี้ที่ดับแล้ว ไปจากนี้สู่ทิศไหน ทิศตะวันออก ทิศตะวันตก ทิศเหนือ หรือว่าทิศใต้ ท่านถูกถามอย่างนี้ จะพึงกล่าวชี้แจงอย่างไร ?

วัจฉโคตต์: (ข้อความตอบอย่างนั้น) ใช้ไม่ได้ดอก ท่านพระโคดมผู้เจริญ เพราะว่าไฟนั้นอาศัยเชื้อคือหญ้าและไม้ใดจึงลุกโพลงอยู่ได้ เพราะเชื้อนั้นหมดสิ้นไป และเพราะไม่ได้เชื้ออื่นเติม ไฟนั้นก็ถึงความนับว่าหมดเชื้อดับไปเท่านั้นเอง

พระพุทธเจ้า: ฉันนั้นเหมือนกันแล วัจฉะ บุคคลเมื่อจะบัญญัติตถาคต พึงบัญญัติด้วยรูป..เวทนา...สัญญา...สังขาร...วิญญาณใด
รูป..เวทนา...สัญญา...สังขาร...วิญญาณนั้น ตถาคตละได้แล้ว ถอนรากเสียแล้ว
ทำให้เป็นดุจตาลยอดด้วน ถึงความไม่มี มีความไม่เกิดขึ้นต่อไปเป็นธรรมดา

ตถาคต พ้นจากการนับว่ารูป...พ้นจากการนับว่าเวทนา...พ้นจากการนับว่าสัญญา...พ้น จากการนับว่าสังขาร...พ้นจากการนับว่าวิญญาณ ลึกซึ่ง ประมาณไม่ได้ หยั่งได้ยาก เปรียบเหมือนมหาสมุทร คำว่าเกิดก็ใช้ไม่ได้ คำว่าไม่เกิดก็ใช้ไม่ได้ คำว่าทั้งเกิดทั้งไม่เกิด ก็ใช้ไม่ได้ คำว่าจะว่าเกิดก็ไม่ใช่ ไม่เกิดก็ไม่ใช่ ก็ใช้ไม่ได้

เมื่อจบคำสนทนานี้ วัจฉโคตตปริพาชกเกิดความเลื่อมใส ประกาศตนเป็นอุบาสก*

………..

อ้างอิงที่ *

* อัคคิวัจฉโคตตสูตร, เฉพาะตอนท้ายสูตร ม.ม.13/248-252/245-249 วัจฉโคตตปริพาชกผู้นี้ ต่อมาได้ขออุปสมบทในพุทธศาสนา และได้เป็นพระอรหันต์องค์หนึ่ง (ม.ม.13/267/261)

มีคำสนทนาระหว่างพระพุทธเจ้า กับ วัจฉโคตตปริพาชก ที่น่าสนใจอีกหน่อยหนึ่ง กล่าวถึงว่า ผู้มีอุปาทานจึงเกิด ผู้ไม่มีอุปาทานย่อมไม่เกิด เหมือนไฟมีเชื้อจึงลุก ไม่มีเชื้อก็ไม่ลุก และว่าเชื้อคือตัณหา (สํ.สฬ.18/800/485)

เจ้าของ:  กรัชกาย [ 31 ม.ค. 2018, 09:15 ]
หัวข้อกระทู้:  Re: พระอรหันต์สิ้นชีพเหมือนไฟสิ้นเชื้อดับไป

ในรตนสูตร ก็มีความกล่าวถึงพระอรหันต์ว่า

"สมภพเก่า ก็สิ้นแล้ว สมภพใหม่ ก็ไม่มี ปราชญ์เหล่านั้น มีจิตคลายติดแล้ว ในภพที่จะมีต่อไป หมดพืช ไม่มีฉันทะในการงอกขึ้นอีก ย่อมดับ เหมือนดังดวงประทีปนี้" * (ขุ.สุ.๒๕/๓๑๔/๓๗๐)

เมื่อคราวที่พระทัพพมัลลบุตรปรินิพพาน พระพุทธเจ้าทรงเปล่งอุทานว่า

“กายก็แตกทำลายแล้ว สัญญาก็ดับแล้ว เวทนาก็เย็นหมดแล้ว สังขารก็สงบแล้ว วิญญาณก็ถึงอัสดง” * (ขุ.อุ.๒๕/๑๗๗/๒๒๗)

ทรงเล่าเหตุการณ์แก่ภิกษุทั้งหลาย และทรงเปล่งอุทานอีกครั้งหนึ่งว่า

“เมื่อช่างตีโลหะด้วยฆ้อนเหล็ก ไฟติดโพลง ก็ดับหายๆ ไม่มีใครรู้ที่ไปฉันใด
พระอรหันต์ทั้งหลาย ผู้หลุดพ้นชอบแล้ว ข้ามห้วงน้ำที่มีกามเป็นเครื่องผูกพันไปได้
บรรลุถึงความสุขอันไม่หวั่นไหว ย่อมไม่มีคติที่จะบัญญัติได้ ฉันนั้น” * (ขุ.อุ.๒๕/๑๗๘/๒๒๗)

เจ้าของ:  กรัชกาย [ 31 ม.ค. 2018, 10:02 ]
หัวข้อกระทู้:  Re: พระอรหันต์สิ้นชีพเหมือนไฟสิ้นเชื้อดับไป

รูปภาพ

เจ้าของ:  กรัชกาย [ 31 ม.ค. 2018, 10:06 ]
หัวข้อกระทู้:  Re: พระอรหันต์สิ้นชีพเหมือนไฟสิ้นเชื้อดับไป

พุทธพจน์ต่อไปนี้ เป็นเครื่องแสดงว่า พระพุทธเจ้าทรงยืนยันว่า การบรรลุนิพพาน และธรรมชั้นสูงอื่นๆ เป็นสิ่งที่มีอยู่และเป็นได้จริง ในเมื่อทำดวงตาคือปัญญา (ปัญญาจักษุ) ให้เกิดขึ้น
ดังพุทธพจน์ที่ตรัสโต้มติของพราหมณ์คนหนึ่ง ผู้เห็นว่าเป็นไปไม่ได้ ที่มนุษย์จะรู้จะเห็นญาณทัศนะวิเศษยิ่งกว่าธรรมดาของมนุษย์ มีความดังนี้



“นี่แน่ะมาณพ เปรียบเหมือนคนตาบอดมาแต่กำเนิด เขาไม่เห็นรูปดำ รูปขาว รูปเขียว รูปเหลือง รูปแดง รูปสีชมพู รูปที่เรียบเสมอและไม่เรียบ ไม่เห็นหมู่ดาว ดวงจันทร์ ดวงอาทิตย์
ถ้าเขากล่าวว่า รูปดำ รูปขาว ไม่มี คนเห็นรูปดำ รูปขาว ก็ไม่มี รูปเขียวไม่มี คนเห็นรูปเขียว ก็ไม่มี ฯลฯ ดวงจันทร์ ดวงอาทิตย์ ไม่มี คนเห็นดวงจันทร์ดวงอาทิตย์ ก็ไม่มี ข้า ฯ ไม่รู้ ข้า ฯ ไม่เห็น สิ่งนั้นๆ เพราะฉะนั้น สิ่งนั้นๆ ย่อมไม่มี เมื่อเขากล่าวดังนี้ จะชื่อว่ากล่าวถูกต้อง หรือมาณพ ?” มาณพทูลตอบว่า “ไม่ถูกต้อง”
พระองค์จึงตรัสต่อไปว่า “ข้อนี้ก็เช่นกัน พราหมณ์โปกขรสาติ โอปมัญญโคตร ผู้เป็นใหญ่ในสุภควัน เป็นคนมืดบอด ไม่มีจักษุ การที่เขาจะรู้เห็นหรือบรรลุญาณทัศนะวิเศษอันสามารถอันประเสริฐ เหนือกว่ามนุษยธรรม จึงเป็นไปไม่ได้” (ม.ม.13/719/656)



แม้จะได้สดับข้อความแสดงภาวะของนิพพานกันมาถึงเพียงนี้ และแม้ว่าจะได้คิดตีความหรือนำมาถกเถียงหาเหตุผลกัน เพื่อหาความเข้าใจว่า นิพพานเป็นอย่างไร แต่ตราบใดที่ยังไม่ได้ปฏิบัติจนเข้าถึงและรู้เห็นแจ้งประจักษ์ด้วยตนเอง ก็พึงเตือนสติกันไว้ว่า ภาพความเข้าใจเกี่ยวกับนิพพานของผู้ศึกษาทุกคน ก็คงมีลักษณะอาการอันเทียบได้กับภาพช้างในความคิดความเข้าใจของพวกคนตาบอดคลำช้าง
ดังความย่อในบาลีต่อไปนี้

สมัยหนึ่ง ในนครสาวัตถี สมณะ พราหมณ์ ปริพาชก จำนวนมากมาย ต่างลัทธิ ต่างทฤษฎี ต่างก็ยึดถือลัทธิ ทฤษฎีของตนว่า อย่างนี้เท่านั้นจริง อย่างอื่นเท็จทั้งนั้น แล้วเกิดทะเลาะวิวาท ใช้หอกคือปากทิ่มแทงกันว่า ธรรมเป็นอย่างนี้ ธรรมไม่ใช่อย่างนี้ ธรรมไม่ใช่อย่างนี้ ธรรมเป็นอย่างนี้ ภิกษุทั้งหลายนำความมากราบทูลแด่พระพุทธเจ้า
พระองค์จึงตรัสว่า



เรื่องเคยมีมาแล้ว ราชาพระองค์หนึ่งในนครสาวัตถี ได้ตรัสสั่งราชบุรุษให้ไปนำเอาคนตาบอดแต่กำเนิดทั้งหมด เท่าที่มีในเมืองสาวัตถีมาประชุมกัน
ครั้นแล้ว โปรดให้นำช้างตัวหนึ่งมาให้คนตาบอดเหล่านั้น ทำความรู้จัก
ราชบุรุษแสดงศีรษะช้างแก่คนตาบอดพวกหนึ่ง บอกว่าช้างอย่างนี้นะ
แสดงหูช้างแก่อีกพวกหนึ่ง บอกว่าช้างอย่างนี้นะ
แสดงงาช้างแก่อีกพวกหนึ่ง แสดงงวงช้าง ตัวช้าง เท้าช้าง หลังช้าง หางช้าง ปลายหางช้าง แก่คนตาบอดทีละพวกๆ ไปจนหมด บอกว่าช้างอย่างนี้นะ ช้างอย่างนี้นะ เสร็จแล้วกราบทูลพระราชาว่า คนตาบอดทั้งหมดได้ทำความรู้จักช้างเสร็จเรียบร้อยแล้ว

ครั้งนั้น พระราชาจึงเสด็จมายังที่ประชุมคนตาบอดแล้ว ตรัสถามว่า “พวกท่าน ได้เห็นช้างแล้วใช่ไหม?”

คนตาบอดจึงกราบทูลว่า “ข้าพระพุทธเจ้าทั้งหลาย ได้เห็นแล้ว พระเจ้าข้า”

พระราชา จึงตรัสถามต่อไปว่า “ที่ท่านทั้งหลายกล่าวว่า ได้เห็นช้างแล้วนั้น ช้างเป็นเช่นไร ?”

คราวนั้น คนตาบอดที่ได้คลำศีรษะช้าง ก็ว่าช้างเหมือนหม้อ
คนที่ได้คลำหูช้าง ก็ว่าช้างเหมือนกระด้ง
คนที่ได้คลำงาช้าง ก็ว่าช้างเหมือนผาล
คนที่ได้คลำงวงช้าง ก็ว่าช้างเหมือนงอนไถ
คนที่ได้คลำตัวช้าง ก็ว่าช้างเหมือนยุ้งข้าว
คนที่ได้คลำเท้าช้าง ก็ว่าช้างเหมือนเสา
คนที่ได้คลำหลังช้าง ก็ว่าช้างเหมือนครกตำข้าว
คนที่ได้คลำหางช้าง ก็ว่าช้างเหมือนสาก
คนที่ได้คลำปลายหางช้าง ก็ว่าช้างเหมือนไม้กวาด

เสร็จแล้ว คนตาบอดเหล่านั้น ก็ได้ทุ่มเถียงกันว่า ช้างเป็นอย่างนี้ ช้างไม่ใช่เป็นอย่างนั้น ช้างไม่ใช่อย่างนั้น ช้างเป็นอย่างนี้ จนถึงขั้นชกต่อยกันชุลมุน เป็นเหตุให้พระราชานั้น ทรงสนุกสนานพระทัยแล.

ท้ายสุด พระพุทธเจ้าได้ทรงเปล่งอุทานเป็นคาถาความว่า

“นี่ละหนอ สมณะและพราหมณ์บางพวก ย่อมมัวติดข้องกันอยู่ในสิ่งที่เป็นทิฐิทฤษฎีเหล่านี้
คนทั้งหลาย ผู้เห็นเพียงส่วนหนึ่งๆ พากันถือต่างถือแย้ง จึงทะเลาะวิวาทกัน” * (ขุ.อุ.25/138/184)

("ภาวะนิพพาน" ตัดจากพุทธธรรมหน้า ๓๓๒ มา)

หน้า 1 จากทั้งหมด 1 เขตเวลา GMT + 7 ชั่วโมง
Powered by phpBB © 2000, 2002, 2005, 2007 phpBB Group
http://www.phpbb.com/