วันเวลาปัจจุบัน 29 มี.ค. 2024, 04:06  



เขตเวลา GMT + 7 ชั่วโมง




กลับไปยังกระทู้  [ 3 โพสต์ ]    Bookmark and Share
เจ้าของ ข้อความ
โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 13 ธ.ค. 2017, 20:56 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
สมาชิกระดับสูงสุด
สมาชิกระดับสูงสุด
ลงทะเบียนเมื่อ: 24 ต.ค. 2006, 12:36
โพสต์: 33766

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว


อรรถกถาและคัมภีร์รุ่นต่อมา

เมื่อพระพุทธเจ้าตรัสแสดงคำสอนคือพระธรรมวินัยแล้ว สาวกทั้งพระสงฆ์และคฤหัสถ์ก็นำหลักธรรมวินัยนั้นไปเล่าเรียนศึกษา คำสอนหรือพุทธพจน์ส่วนใดที่ยาก ต้องการคำอธิบาย นอกจากทูลถามจากพระพุทธเจ้าโดยตรงแล้ว ก็มีพระสาวกผู้ใหญ่ที่เป็นอุปัชฌาย์หรืออาจารย์คอยแนะนำชี้แจงช่วยตอบข้อสงสัย


คำอธิบายและคำตอบที่สำคัญก็ได้รับการทรงจำถ่ายทอดต่อกันมา ควบคู่กับหลักธรรมวินัยที่เป็นแม่บทนั้นๆ จากสาวกรุ่นก่อนสู่สาวกรุ่นหลัง
ต่อมา เมื่อมีการจัดหมวดหมู่พระธรรมวินัยเป็นพระไตรปิฎกแล้ว คำชี้แจงอธิบายเหล่านั้นก็เป็นระบบและมีลำดับไปตามพระไตรปิฎกด้วย

คำอธิบายพุทธพจน์หรือหลักธรรมวินัย หรือคำอธิบายความในพระไตรปิฎกนั้น เรียกว่า อรรถกถา

เมื่อมีการทรงจำถ่ายทอดพระไตรปิฎกด้วยมุขปาฐะ ก็มีการทรงจำถ่ายทอดอรรถกถาประกอบคู่มาด้วย จนกระทั่ง เมื่อมีการจารึกพระไตรปิฎกลงในใบลานเป็นลายลักษณ์อักษร ณ ประเทศลังกา ประมาณ พ.ศ. ๔๖๐ ตำนานก็กล่าวว่าได้มีการจารึกอรรถกถาพร้อมไปด้วยเช่นกัน


อนึ่ง พึงสังเกตว่า พุทธพจน์หรือข้อความในพระไตรปิฎกนั้น ในภาษาวิชาการท่านนิยมเรียกว่า บาลี หรือพระบาลี หมายถึงพุทธพจน์ที่รักษาไว้ในพระไตรปิฎก ไม่พึงสับสนกับ ภาษาบาลี (คำว่า บาลี มาจาก ปาลฺ ธาตุ ซึ่งแปลว่า รักษา) สำหรับบาลีหรือพระไตรปิฎกนั้น ท่านทรงจำถ่ายทอดกันมา และจารึกเป็นภาษามคธ แต่อรรถกถา สืบมาเป็นภาษาสิงหล


ทั้งนี้ สำหรับพระไตรปิฎกนั้นชัดเจนอยู่แล้ว ในฐานะเป็นตำราแม่บท อยู่ข้างผู้สอน จึงจะต้องรักษาให้คงอยู่อย่างเดิมโดยแม่นยำที่สุดตามพระดำรัสของพระผู้สอนนั้น


ส่วนอรรถกถาเป็นคำอธิบายสำหรับผู้เรียน จึงจะต้องช่วยให้ผู้เรียนเข้าใจได้ดีที่สุด


เมื่ออรรถกถาสืบมาในลังกา ก็จึงถ่ายทอดกันเป็นภาษาสิงหล จนกระทั่งถึงช่วง พ.ศ.๙๕๐-๑๐๐๐ จึงมีพระอาจารย์ผู้ใหญ่ เช่น พระพุทธโฆสะ และพระธรรมปาละ เดินทางมาจากชมพูทวีป มายังลังกา และแปลเรียบเรียงอรรถกากลับเป็นภาษาบาลีมคธ อย่างที่มีอยู่และใช้ศึกษากันในปัจจุบัน

ลักษณะสำคัญอรรถกา คือ เป็นคัมภีร์ที่อธิบายความในพระไตรปิฎกโดยตรง หมายความว่า พระไตรปิฎกแต่ละสูตร แต่ละส่วน แต่ละตอน แต่ละเรื่อง ก็มีอรรถกถาที่อธิบายจำเพาะสูตรจำเพาะส่วนตอนหรือเรื่องนั้นๆ และอธิบายตามลำดับไป โดยอธิบายทั้งคำศัพท์ หรือถ้อยคำ อธิบายข้อความ ชี้แจงความหมาย ขยายความหลักธรรมหลักวินัย และเล่าเรื่องประกอบ ตลอดจนแสดงเหตุปัจจัยแวดล้อมหรือความเป็นมาของการที่พระพุทธเจ้าจะตรัสพุทธพจน์นั้นๆ หรือเกิดเรื่องราวนั้นๆขึ้น พร้อมทั้งเชื่อมโยงประมวลความเป็นมาเป็นไปต่างๆ ที่จะช่วยให้เข้าใจพุทธพจน์หรือเรื่องราวในพระไตรปิฎกชัดเจนขึ้น


(ตัวอย่างพอเห็นเค้า)

พระไตรปิฎก - - อรรถกถา - - ผู้เรียบเรียง

ก. พระวินัยปิฎก

๑.พระวินัยปิฎก (ทั้งหมด) - - สมันตปาสทิกา - - พระพุทธโฆสะ

ฯลฯ

ข.พระสุตตันปิฎก

๒.ทีฆนิกาย - สุมังคลวิลาสินี - พระพุทธโฆสะ

ฯลฯ

๘. อุทาน ( - ) - ปรมัตถทีปนี

ฯลฯ

ค. พระอภิธรรมปิฎก


๒๑. ธัมมังสังคณี - - อัฏฐสาลินี - พระพุทธโฆสะ
๒๒.วิภังค์ - - สัมโมหวิโนทนี - - พระพุทธโฆสะ

ฯลฯ

นอกจากอรรถกถา ซึ่งเป็นที่ปรึกษาหลักในการเล่าเรียนศึกษาพระไตรปิฎกแล้ว คัมภีร์พระพุทธศาสนาภาษาบาลีที่เกิดขึ้นในยุคต่างๆ หลังพุทธกาล ยังมีอีกมากมาย ทั้งก่อนยุคอรรถกถา หลังยุคอรรถกถา และแม้ในยุคอรรถกถาเอง แต่ไม่ได้เรียบเรียงในรูปลักษณะที่จะเป็นอรรถกถา

คัมภีร์สำคัญบางคัมภีร์ เป็นผลงานอิสระของพระเถระผู้แตกฉานใยพระธรรมวินัย ท่านเรียบเรียงขึ้นตามโครงเรื่องที่ท่านจัดวางเอง หรือเกิดจากเหตุการณ์พิเศษ เช่น การตอบคำถามชี้แจงข้อสงสัยของผู้อื่น เป็นต้น ปกรณ์ หรือคัมภีร์พิเศษเช่นนี้ บางคัมภีร์ได้รับความเคารพนับถือและอ้างอิงมาก โดยเฉพาะคัมภีร์ เนตติ เปฏโกปเทส และ มิลินทปัญหา ซึ่งเกิดขึ้นก่อนยุคอรรถกถา ในพม่าจัดเข้าเป็นคัมภีร์ในพระไตรปิฎกด้วย (อยู่ในหมวดขุททกนิกาย)

ในยุคอรรถกถา คัมภีร์ วิสุทธิมัคค์ ของพระพุทธโฆสะ ผู้เป็นพระอรรถกถาจารย์องค์สำคัญ แม้จะถือกันว่าเป็นปกรณ์พิเศษ ไม่ใช่เป็นอรรถกถา เพราะท่านเรียบเรียงขึ้นตามโครงเรื่องที่ท่านตั้งเอง ไม่ใช่อธิบายพระไตรปิฎกตอนใดตอนหนึ่งโดยเฉพาะ แต่ก็ได้รับความนับถือมากเหมือนเป็นอรรถกถา เรียกได้ว่าเป็นคัมภีร์ระดับอรรถกถา ประเทศพุทธศาสนาเถรวาทต่างให้ความสำคัญ ถือเป็นแบบแผนในการศึกษาหลักพระพุทธศาสนา

คัมภีร์ที่เกิดยุคอรรถกถา ก็มีทั้งคัมภีร์ที่อยู่ในสายเดียวกับอรรถกถา คือเป็นคัมภีร์ที่อธิบายพระไตรปิฎก และอธิบายอรรถกถา และอธิบายกันเอง เป็นขั้นๆ ต่อกันไป กับ ทั้งคัมภีร์นอกสายพระไตรปิฎก เช่น ตำนานหรือประวัติและไวยากรณ์ เป็นต้น คัมภีร์เหล่านี้ มีชื่อเรียกแยกประเภทต่างกันออกไปหลายอย่าง จะกล่าวเฉพาะในสายของอรรถกถา คือที่อธิบายต่อออกไปจากอรรถกถา และเฉพาะที่ควรรู้ในที่นี้ คือ ฎีกา และอนุฎีกา

เมื่อเรียงลำดับคัมภีร์ในสายพระไตรปิฎก และอรรถกถา ก็จะเป็นดังนี้

ก) บาลี คือ พระไตรปิฎก


ข) อรรถกถา คือ คัมภีร์ที่อธิบายบาลี หรืออธิบายความใน พระไตรปิฎก


ค) ฎีกา คือ คัมภีร์ที่อธิบายอรรถกถา หรือขยายความต่อจากอรรถกถา


ฆ) อนุฎีกา คือ คัมภีร์ที่อธิบายขยายความต่อจากฎีกาอีกทอดหนึ่ง

ส่วนคัมภีร์ชื่ออย่างอื่นต่อจากนี้ไปที่มีอีกหลายประเภท บางทีท่านใช้คำเรียกรวมๆ กันไปว่า ตัพพินิมุต (แปลว่า คัมภีร์ที่พ้นหรือนอกเหนือจากนั้น)

คัมภีร์พระพุทธศาสนาที่มีอยู่มากมาย ทั้งในสายและนอกสายพระไตรปิฎกนี้ ในประเทศไทยเท่าที่ผ่านมาได้ตีพิมพ์เป็นเล่มหนังสืออกมาแล้วเพียงจำนวนน้อย ส่วนมากยังคงค้างอยู่ในใบลาน เพิ่งจะมีการตื่นตัวที่จะตรวจชำระและตีพิมพ์กันมากขึ้นในช่วงเวลาใกล้ๆนี้ จึงจะต้องรออีกสักระยะหนึ่ง ซึ่งคงไม่นานนัก ที่ชาวพุทธแลผู้สนใจจะได้มีคัมภีร์พุทธศาสนาไว้ศึกษาค้นคว้า อย่างค่อนข้างบริบูรณ์

สำหรับคัมภีร์พระไตรปิฎกและอรรถกถานี้ ได้มีการตีพิมพ์เป็นเล่มพรั่งพร้อมและในปี พ.ศ.๒๕๓๕


ส่วนคัมภีร์อื่นๆรุ่นหลังต่อๆมา ที่มีค่อนข้างบริบูรณ์พอจะหาได้ไม่ยากก็คือคัมภีร์ที่ใช้เรียนในหลักสูตรเปรียญธรรม

เนื่องจากคัมภีร์เหล่านี้ มีความสัมพันธ์อธิบายความต่อกัน กล่าวคือ อรรถกถาอธิบายพระไตรปิฎก และฎีกาขยายความต่อจากอรรถกถา หรือต่อจากคัมภีร์ระดับอรรถกถา จึงได้ทำบัญชีสำหรับเล่ม จับคู่คัมภีร์ที่อธิบายกันไว้ เพื่อเป็นพื้นฐานความเข้าใจในการที่จะศึกษาค้นคว้าต่อไป และเพื่ออำนวยความสะดวกในการโยงข้อมูลระหว่างคัมภีร์ (ข้ามวิธีจัดไป)

.....................................................
https://dhammachati.blogspot.com/


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 13 ธ.ค. 2017, 20:59 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
สมาชิกระดับสูงสุด
สมาชิกระดับสูงสุด
ลงทะเบียนเมื่อ: 24 ต.ค. 2006, 12:36
โพสต์: 33766

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว


รูปภาพ

.....................................................
https://dhammachati.blogspot.com/


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 13 ธ.ค. 2017, 21:00 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
สมาชิกระดับสูงสุด
สมาชิกระดับสูงสุด
ลงทะเบียนเมื่อ: 24 ต.ค. 2006, 12:36
โพสต์: 33766

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว


บทสรุป


เพื่อทบทวนสิ่งที่ได้กล่าวมาแล้วก่อนหน้าที่ ความสำคัญของพระไตรปิฎก อาจกล่าวโดยสรุป ได้ดังนี้

๑. พระไตรปิฎกเป็นที่รวบรวมไว้ ซึ่งพุทธพจน์คือพระดำรัสของพระพุทธเจ้า คำสั่งสอนของพระพุทธเจ้าที่พระองค์ได้ตรัสไว้เอง เท่าที่ตกทอดมาถึงเรา มีมาในพระไตรปิฎก เรารู้จักคำสอนของพระพุทธเจ้าจากพระไตรปิฎก

๒. พระไตรปิฎกเป็นสิ่งสถิตของพระศาสดาของพุทธศาสนิกชน เพราะเป็นที่บรรจุพระธรรมวินัยที่พระพุทธเจ้าตรัสไว้ให้เป็นศาสดาแทนพระองค์ เราจะเฝ้าหรือรู้จักพระพุทธเจ้าได้จากพระดำรัสของพระองค์ที่ท่านรักษากันไว้ในพระไตรปิฎก

๓. พระไตรปิฎกเป็นแหล่งต้นเดิมของคำสอนในพระพุทธศาสนา คำสอน คำอธิบาย คัมภีร์ หนังสือ ตำรา ที่อาจารย์และนักปราชญ์ทั้งหลายพูดกล่าว หรือ เรียบเรียงไว้ ที่จัดว่าเป็นของในพระพุทธศาสนา จะต้องสืบขยายออกมาและเป็นไปตามคำสอนแม่บทในพระไตรปิฎก ที่เป็นฐานหรือเป็นแหล่งต้นเดิม

๔. พระไตรปิฎกเป็นหลักฐานอ้างอิงในการแสดงหรือยืนยันหลักการ ที่กล่าวว่าเป็นพระพุทธศาสนา การอธิบายหรือกล่าวอ้างเกี่ยวกับหลักการของพระพุทธศาสนา จะเป็นที่น่าเชื่อถือหรือยอมรับได้ด้วยดี เมื่ออ้างอิงหลักฐานในพระไตรปิฎก ซึ่งถือว่าเป็นหลักฐานอ้างอิงขั้นสุดท้ายสูงสุด

๕. พระไตรปิฎกเป็นมาตรฐานตรวจสอบคำสอนในพระพุทธศาสนา คำสอนหรือคำกล่าวใดๆ ที่จะถือว่าเป็นคำสอนในพระพุทธศาสนาได้ จะต้องสอดคล้องกับพระธรรมวินัย ซึ่งมีมาในพระไตรปิฎก (แม้แต่คำหรือข้อความในพระไตรปิฎกเอง ถ้าส่วนใดถูกสงสัยว่าจะแปลอกปลอม ก็ต้องตรวจสอบด้วยคำสอนทั่วไปในพระไตรปิฎก)

๖. พระไตรปิฎกเป็นมาตรฐานตรวจสอบความเชื่อถือและข้อปฏิบัติในพระพุทธศาสนา ความเชื่อถือหรือข้อปฏิบัติตลอดจนพฤติกรรมใดๆ จะวินิจฉัยว่าถูกต้องหรือผิดพลาด เป็นพระพุทธศาสนาหรือไม่ ก็โดยอาศัยพระธรรมวินัยที่มีมาในพระไตรปิฎกเป็นเครื่องตัดสิน

ด้วยเหตุดังกล่าวมานี้ การศึกษาค้นคว้าพระไตรปิฎกจึงเป็นกิจสำคัญยิ่งของชาวพุทธ ถือว่าเป็นการสืบต่ออายุพระพุทธศาสนา หรือเป็นความดำรงอยู่ของพระพุทธศาสนา กล่าวคือ ถ้ายังมีการศึกษาค้นคว้าพระไตรปิฎกเพื่อนำไปใช้ปฏิบัติ พระพุทธศาสนาก็ยังดำรงอยู่

แต่ถ้าไม่มีการศึกษาค้นคว้าพระไตรปิฎก แม้จะมีการปฏิบัติ ก็จะไม่เป็นไปตามหลักการของพระพุทธศาสนา พระพุทธศาสนาก็จะไม่ดำรงอยู่ คือจะเสื่อมสูญไป



นอกจากความสำคัญในทางพระพุทธศาสนาโดยตรงแล้ว พระไตรปิฎกยังมีคุณค่าสำคัญในด้านอื่นๆอีกมาก โดยเฉพาะ

๑. เป็นที่บันทึกหลักฐานเกี่ยวกับลัทธิ ความเชื่อถือ ศาสนา ปรัชญา ขนบธรรมเนียม ประเพณี วัฒนธรรม เรื่องราว เหตุการณ์ และถิ่นฐาน เช่น แว่นแคว้นต่างๆ ในยุคอดีตไว้เป็นอันมาก

๒.เป็นแหล่งที่จะสืบค้นแนวความคิดที่สัมพันธ์กับวิชาการต่างๆ เนื่องจากคำสอนในพระธรรมวินัยมีเนื้อหาสาระเกี่ยวโยงหรือครอบคลุมถึงวิชาการหลายอย่าง เช่น จิตวิทยา กฎหมาย การปกครอง เศรษฐกิจ เป็นต้น

๓.เป็นแหล่งเดิมของคำศัพท์บาลีที่นำมาใช้ในภาษาไทย เนื่องจากภาษบาลีเป็นรากฐานสำคัญส่วนหนึ่งของภาษาไทย การศึกษาค้นคว้าพระไตรปิฎกจึงมีอุปการะพิเศษแก่การศึกษาภาษาไทย


รวมความว่า การศึกษาค้นคว้าพระไตรปิฎกมีคุณค่าสำคัญ ไม่เฉพาะแต่ในการศึกษาพระพุทธศาสนาเท่านั้น แต่อำนวยประโยชน์ทางวิชาการในด้านต่างๆ มากมาย เช่น ภาษาไทย ภูมิศาสตร์ ประวัติศาสตร์ สังคมวิทยา มานุษยวิทยา โบราณคดี รัฐศาสตร์ เศรษฐศาสตร์ นิติศาสตร์ ศึกษาศาสตร์ ศาสนา ปรัชญา และจิตวิทยา เป็นต้นด้วย

นับว่าเป็นเรื่องแปลก และน่าใจหาย ที่คนสมัยนี้กลับไม่เข้าใจว่า พระไตรปิฎกคืออะไร ทำไมต้องรักษาพระไตรปิฎก ทำไมต้องเอาพระไตรปิฎกมาเป็นมาตรฐาน หรือเป็นเกณฑ์วินิจฉัยว่า อะไรเป็นธรรมวินัย อะไรเป็นคำสอนของพระพุทธเจ้า
หากปราศจากความเข้าใจพื้นฐานเช่นนี้เสียแล้ว บางคนก็อาจไปไกลถึงขนาดที่ทึกทักเอาผิดๆว่า คำสอนของพระพุทธเจ้า ใครจะว่าอย่างไรก็ได้

นอกจากนี้ ยังมีความสับสนระหว่างตัวหลักการของพระศาสนาเอง กับ ความคิดเห็นส่วนบุคคล ความสับสนนี้ ซึ่งก็คงเกี่ยวกับปัญหาแรก ย่อมนำไปสู่ปัญหาต่างๆมากมายอย่างแน่นอน

ถ้าเราถามว่า พระพุทธเจ้าสอนว่าอย่างไร หรือสอนเรื่องอะไรว่าอย่างไร เราก็ต้องไปดูพระไตรปิฎกเพื่อหาคำตอบ เพราะเราไม่มีแหล่งอื่นที่จะตอบคำถามนี้ได้

แต่ถ้าเขาถามว่า พระพุทธเจ้าสอนว่าอย่างนี้แล้ว คุณจะว่าอย่างไร เราจะคิดอย่างไรก็เป็นสิทธิของเรา เป็นเสรีภาพของเราที่จะแสดงความคิดเห็น เกี่ยวกับสิ่งที่พระพุทธเจ้าสอน

แม้แต่ในกรณีหลัง เพื่อความเป็นธรรมต่อพระศาสดา เราก็ควรจะศึกษาคำอธิบายของท่านในคัมภีร์ต่างๆ ให้ชัดแจ้งก่อน แล้วจึงมาสรุปสิ่งที่ศึกษามาแล้ว ถ้าสรุปดีก็ตรงตามที่พระพุทธเจ้าสอน สรุปไม่ดีก็พลาด ก็ต้องศึกษาค้นคว้าต่อไป แต่อย่างน้อยก็ต้องแยกให้ชัดอย่างที่กล่าวมาแล้วว่า พระพุทธเจ้าสอนว่าอย่างไร ก็ว่าไปตามคำสอนของพระองค์โดยซื่อสัตย์ แล้วเราเห็นว่าอย่างไร ก็ว่าไปตามอิสระที่เราเห็น แต่เวลานี้คนว่ากันนุงนังสับสนไปหมด


ที่จริงนั้น หลักการสำคัญของพระพุทธเจ้ามีความชัดเจนแน่นอน และไม่ใช่เป็นเพียงเรื่องของความคิดเห็นหรือคาดเดา แต่เป็นเรื่องของหลักฐานที่ชาวพุทธถือกันว่ามาจากพระพุทธเจ้าโดยตรง คือมาในพระไตรปิฎก และมีคัมภีร์อรรถกถา เป็นต้น อธิบายประกอบ ซึ่งชาวพุทธทุกยุคทุกสมัย ถือว่าเป็นเนื้อเป็นตัวของพระศาสนา เป็นหลักสำคัญที่สุด และได้เพียรพยายามอย่างยิ่งที่จะรักษาไว้ให้แม่นยำ ด้วยการทรงจำ ศึกษาเล่าเรียน และมีการสังคายนาเป็นงานใหญ่หลายยุคสมัยตลอดมา

ใครก็ตามที่กล่าวอ้างว่าตนปฏิบัติได้โดยไม่ต้องอาศัยพระไตรปิฎก ก็คือพูดว่า ตนปฏิบัติได้โดยไม่ต้องอาศัยพระพุทธเจ้า เมื่อเขาปฏิบัติโดยไม่อาศัยคำตรัสสอนของพระพุทธเจ้า เราจะเรียกการปฏิบัตินั้นว่าเป็นพระพุทธศาสนาได้อย่างไร แน่นอนว่า นั่นเป็นการปฏิบัติลัทธิความเชื่อหรือความคิดเห็นของตัวเขาเอง หรือของใครอื่นที่คิดข้อปฏิบัตินั้นขึ้นมา หรืออย่างดีก็เป็นความที่เอามาเล่าต่อจากพระไตรปิฎก แบบฟังตามๆกันมา ซึ่งเสี่ยงต่อความคลาดเคลื่อนผิดเพี้ยน

ดังนั้น ชาวพุทธทุกคน จึงควรเฝ้าจับตาระแวดระวังบุคคล ๒ ประเภท คือ (๑) ประเภทที่สร้างความสับสนระหว่างพุทธพจน์ที่แท้ กับ ความคิดเห็นของตน โดยอ้าง “เสรีภาพทางวิชาการ” แฝงมาในรูปที่เรียกว่า “งานวิจัยทางวิชาการ” และ (๒) ประเภทนี้ ซึ่งหาได้ไม่ยากนักในสังคมปัจจุบันของเรา ย่อมสามารถสร้างความเสียหายใหญ่หลวงต่อพระศาสนาในระยะยาวได้โดยแท้ ยิ่งเมื่อมีผู้คล้อยตามด้วยหลงเชื่อโดยง่ายเป็นจำนวนมาก

เราจึงควรตื่นตัวต่อภัยคุกคาม และร่วมแรงร่วมใจกันแก้ไขปัญหาด้วยการส่งเสริมสัมมาปฏิบัติโดยอิงอาศัยคำสอนที่แท้ ซึ่งเราจะต้องช่วยกันรักษาให้บริสุทธิ์ อันที่จริง ถึงเวลาแล้วที่จะต้องหันมาฟื้นฟูชาวพุทธให้กลับไปสู่พระธรรมวินัย ให้รู้จักศึกษาพระไตรปิฎกกันอย่างจริงจังอีกครั้งหนึ่ง

อย่างที่กล่าวมาแล้วก่อนหน้านี้ ตราบใดที่พระไตรปิฎกยังมีอยู่ ตราบนั้น พระพุทธศาสนาก็ยังคงอยู่ พระพุทธศาสนาอันเป็นของแท้ดั่งเดิม ดังนั้น ตราบใด ที่ยังมีพระไตรปิฎกอยู่ เราก็ยังมีโอกาสที่จะรู้จักพระพุทธศาสนา และได้รับประโยชน์ที่แท้จริงที่พึงได้จากพระศาสนาอันประเสร็จนี้

จึงหวังว่า พระไตรปิฎกบาลีจะเป็นสื่อที่เสมือนพระธรรมทูตผู้จาริกไปกว้างไกล โดยทำหน้าที่แสดงธรรมอันงามในเบื้องต้น งามในท่ามกลาง และงามตราบสุดท้าย ตามพระพุทธโอวาทที่ทรงส่งสาวกรุ่นแรกไปประกาศพระศาสนา เพื่อให้สัมฤทธิ์จุดหมาย แห่งการแผ่ขยายประโยชน์สุขแก่พหูชน คือ ประชาชนชาวโลกทั้งมวลสืบไป

(จบข่าว จากหนังสือเล่มข้างบน)

.....................................................
https://dhammachati.blogspot.com/


แสดงโพสต์จาก:  เรียงตาม  
กลับไปยังกระทู้  [ 3 โพสต์ ] 

เขตเวลา GMT + 7 ชั่วโมง


 ผู้ใช้งานขณะนี้

กำลังดูบอร์ดนี้: Google [Bot] และ บุคคลทั่วไป 33 ท่าน


ท่าน ไม่สามารถ โพสต์กระทู้ในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ ตอบกระทู้ในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ แก้ไขโพสต์ของท่านในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ ลบโพสต์ของท่านในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ แนบไฟล์ในบอร์ดนี้ได้

ค้นหาสำหรับ:
ไปที่:  
Google
ทั่วไป เว็บธรรมจักร


cron