วันเวลาปัจจุบัน 24 เม.ย. 2024, 15:21  



เขตเวลา GMT + 7 ชั่วโมง




กลับไปยังกระทู้  [ 2 โพสต์ ]    Bookmark and Share
เจ้าของ ข้อความ
โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 09 มี.ค. 2018, 05:18 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
อาสาสมัคร
อาสาสมัคร
ลงทะเบียนเมื่อ: 06 มี.ค. 2009, 10:48
โพสต์: 5091


 ข้อมูลส่วนตัว


“ควรที่จะฝึกตนเอง ให้อภัยคนอื่น
แม้คนอื่น จะว่าให้เราอย่างไรก็ตาม
ทำอย่างนี้ดีกว่า จะทำน้อย ทำมาก
แค่ไหน สร้างวัดวาอารามอาวาส
ทำคุณงามความดี บริจาคทานอย่างไรก็ตาม
ทำตามกำลังของเรา ใครจะมองให้
อย่างโน้น อย่างนี้ ก็ช่างเขา อภัยให้เสีย
เราอย่าไปโกรธ เกลียด แค้น
แสดงอาการต่างๆ ทางร่างกาย
และวาจา เราไม่ต้องไปตอบโต้อะไรเขา
หัดเป็นคนมีสติปัญญา ให้อภัยทาน
มันจึงไม่มีเรื่องราวเถียงกัน
ทำให้มีความสุขสบาย
ก็เลยทำให้เราเป็นผู้สงบ
มีความสุขเฉพาะตนเอง
จึงจะเรียกว่าผู้มีสติปัญญาเฉลียวฉลาด”
-:- หลวงปู่เปลี่ยน ปัญญาปทีโป -:-




"ผ้าจีวรสีเหลือง
ที่พระพุทธเจ้าประทานให้
ไม่ใช่เอามาเป็นเครื่องมือ
ทำบาปทำชั่วนะ
ไม่ใช่เอามาเป็นเครื่องมือ
หลอกประชาชนนะ
ท่านให้เอามาครอง
เพื่อเป็นเครื่องหมายแห่งบุคคล
ผู้สร้างคุณงามความดี
ใครนำจีวรของพระพุทธองค์
ไปประกอบความชั่ว
ย่อมจะถึงซึ่งความพินาศฉิบหาย"
-:- หลวงพ่อพุธ ฐานิโย -:-




ความสุขก็ดี ความทุกข์ก็ดี
ที่เราได้ผ่านมาแล้ว แต่เกิดมาจนบัดนี้
มีอะไรเก็บขังไว้ได้บ้างไหม
ฉะนั้น เราจะไปรำพึงรำพัน
หรือคร่ำครวญกับความทุกข์
สุข ดี ชั่ว ต่าง ๆ ที่ผ่านไปแล้วนั้น
เพื่อประโยชน์อันใด
ควรคิดแต่ประโยชน์ปัจจุบัน
คือความดีที่กระทำอยู่
ทุกลมหายใจเข้าออกดีกว่า
แม้เหตุการณ์ข้างหน้า
ก็ไม่สมควรไปคำนึงใฝ่ฝันเช่นเดียวกัน
......................................................
หลวงตาพระมหาบัว ญาณสัมปันโน
คัดจากหนังสือ ธัมมะในลิขิต




ขอได้พากันบำเพ็ญตามกำลัง ชีวิตของเราทุก ๆ คนในโลก
จะอยู่ก็ไม่กี่วัน เที่ยงแท้จะแตกดับอยู่แล้ว
รีบขวนขวายหาคุณงามความดีในเมื่อมีชีวิตอยู่
หาได้มากน้อยเป็นของเรา
เมื่อมีคุณงามความดีซึ่งเราได้สั่งสมไว้มากแล้ว
หากว่าเราไม่สิ้นกิเลส ยังจะกลับมาเกิดในโลกอีก
ก็จะเป็นผู้ไม่ผิดหวังในสถานที่เกิดและสิ่งที่เราต้องประสงค์
บุญเป็นเครื่องแก้ความขาดเขินบกพร่อง ความทุกข์ทรมาน
ท่านต้องแก้เราได้แน่ ๆ สิ่งที่จะให้สมหวังคือบุญนี้เอง
ท่านผู้สมหวังได้ผ่านทุกข์พ้นไปแล้ว คือพระพุทธเจ้าของเรา
ท่านก็อาศัยบุญนี้เองเป็นคุณช่วยท่าน
ผู้ที่จะให้สมหวังในกาลข้างหน้าก็บุญนี้เอง
โปรดจำให้แม่น เพียรอย่าถอย
ยังมีชีวิตอยู่ก็ไม่เสียท่า ตายไปแล้วก็ไม่เสียที จงทำดีให้มาก
.............................................................
หลวงตาพระมหาบัว ญาณสัมปันโน
คัดจากหนังสือ ธัมมะในลิขิต




“ความเพียรเผากิเลส”
..เรามาบวช ก็จะต้องอาศัยการประพฤติปฏิบัติฝึกหัด มีความเพียร มีความพยายาม มีความอดทน ถ้าหากมีความเพียรเกิดขึ้นแล้ว ความอดทนก็จะต้องเกิดขึ้นตามเพราะว่ามีความเพียรแล้ว ก็จะต้องเผากิเลส หรือเผาในสิ่งที่ไม่พอใจของเรา ให้เร่าร้อน ในด้านจิตใจ สิ่งที่เร่าร้อนนั้นหละท่านว่ากิเลส มันมาแทรกสิงจิตใจ หรือมาแทรกแซงในจิตใจของเราให้ร้อน อะไรทำให้เกิดความร้อนขึ้นมา นั้นหละเป็นเรื่องของกิเลสโดยตรง เรียกว่า ใจเราสัมปยุตไปด้วยอำนาจฝ่ายต่ำ หรือเรียกว่ากิเลสตามภาษาธรรมะ คำว่า กิเลส ก็คล้าย ๆ เป็นมลทินอันหนึ่ง มาย้อมจิตใจของเรา ให้หมุนไปในทางต่ำ ให้เดือดร้อน ถ้าหากมีความเพียรเกิดขึ้นแล้ว กิเลสนี้จะร้อนเลย แต่ถึงร้อนก็ตาม ต้องอาศัยขันติ คือความอดทน อดกลั้นไว้..
หลวงปู่ศรี มหาวีโร
เทศนา เรื่อง ปฏิปทาพระกรรมฐาน




“อัตภาพเป็นมนุษย์นี้เหมือนดังว่าใกล้จะถึงฝั่งสังสารสาครอยู่แล้ว
ถ้ากลับกระโจนลงไปสู่หล่มลึกอีก ก็จะได้รับความเสียใจในภายหลัง
เหมือนกับคนที่มือด้วนถึงจะไปพบปะดวงแก้ว ก็ไม่รู้ว่าจะจับต้องอย่างไรได้
เพราะเหตุนั้นเราทั้งหลาย ควรรีบที่จะเร่งเจริญบุญกุศล
เสียแต่ในเวลายังมีชีวิตเป็นอยู่ ความตายยังไม่มาถึง
น่าเสียดายจริงหนอ! ทำไมผู้ที่มีอินทรีย์สมบูรณ์ดีอยู่พร้อมแล้ว
จึงไม่แลเห็นดวงแก้วอันเป็นอุดมรัตน์นั้นได้
ป่วยการจริงหนอ!ที่มัวไปเป็นธุระเสียให้กิจการอื่น ๆ
ที่ทำสำเร็จแล้ว ก็คงเท่ากับไม่ได้ทำ โลกนี้ชอบกลจริงหนอ”
....................................................................................
ลิขิตธรรม หลวงปู่ลี กุสลธโร วัดป่าภูผาแดง อ.หนองวัวซอ จ.อุดรธานี
คัดจากหนังสือ “ธรรมลี เศรษฐีธรรม” หลวงปู่ลี กุสลธโร
พระอริยเจ้าผู้เป็นดั่งเศรษฐีธรรม โดยพระมหาธีรนาถ อคฺคธีโ




"...เห็น หีบศพ โลงศพ ก็กลัวกัน....ร่างกาย เรานี่แหละ คือ หีบศพ ของคนตาย...."
---------------
วันนี้มีญาติโยมท่านนึง นำของมาถวายหลวงปู่ มี ของใช้ แปรงสีฟัน ยาสีฟัน สบู่ แชมพู....
หลวงปู่ ท่านก็ถามเค้าว่า "อ้าว แล้วไม่มี หวี เหรอ..." แล้วท่านก็หัวเราะ...
ธรรมเทศนา พระอาจารย์แบน ธนากโร
3 มีนาคม 2561




...เบื้องต้นก็เอาสมาธิอย่างเดียวก่อน
เอาให้มันชำนาญเอาให้มันแน่น
เข้าได้ตลอดเวลาทุกเวลา
แล้วก็อยู่ได้นานๆ
.
แล้วค่อยออกมาทางปัญญา
"สลับกับการเข้าไปพักในสมาธิ"
.
ทำอย่างนี้ไปเรื่อยๆแล้ว
ธรรมก็จะเข้าไปอยู่ในใจ
แล้วก็จะเข้าไปทำลาย
กิเลสตัณหาที่อยู่ภายในใจ
ให้หมดไปได้.
....................................
.
คัดลอกจุลธรรมนำใจ41
ธรรมะบนเขา27/12/2557
พระอาจารย์สุชาติ อภิชาโต
วัดญาณสังวรารามฯ ชลบุรี




...เป็นอย่างไร สงบไหม
"ใจสงบ ทุกอย่างก็สงบ"
ใจไม่สงบ ทุกอย่างก็วุ่น
วุ่นที่ใจ
.
ใจเป็นใหญ่ใจเป็นประธาน
ใจเป็นสิ่งที่สำคัญที่สุด
ไม่มีอะไรจะสำคัญเท่ากับใจ
..................................
.
คัดลอกการสนทนาธรรม
ธรรมะบนเขา 8/3/2561
พระอาจารย์สุชาติ อภิชาโต
วัดญาณสังวรารามฯ ชลบุรี




“อนันตริยกรรมมี ๕ ประการที่หนักมากเหมือนกันหมดเลยนั้นคือ การฆ่ามารดาหนึ่ง ฆ่าบิดาหนึ่ง ฆ่าพระพุทธเจ้าแม้ไม่ตายก็ตามหนึ่ง ฆ่าพระอรหันต์หนึ่ง ยุยงให้สงฆ์ท่านมีความพร้อมเพรียงสามัคคีกันแตกแยกจากกันเป็นฝักเป็นฝ่าย สร้างฟืนสร้างไฟเผาไหม้ทั้งทางโลกทางธรรมหนึ่ง ๕ ประการนี้ ขอให้ระลึกรู้ด้วยตัวเอง อย่าทำเป็นเด็ดขาด ถ้าทำลงไปแล้ว กรรม ๕ ประการนี้เอาไว้ไม่อยู่ คณะกรรมการใดตัดสินลงไม่ได้ปล่อยเลยๆ ลงมหานรกอเวจี มหานรกอเวจีเป็นนรกอเวจีที่หนักมากที่สุด ปล่อยลงไปนั้นเลย กี่กัปกี่กัลป์ถึงจะมีทางฟื้นขึ้นมาได้ การตกนรกแม้ตั้งแต่เราตากแดดตากฝนเท่านั้นเราก็เป็นทุกข์ ทำไมจะไปตกนรกด้วยการสร้างความชั่วช้าลามกโดยความสมัครใจของตนเองอย่างนี้ไม่สมควรอย่างยิ่งเลย
.
บุญกุศลเป็นสิ่งที่เราทั้งหลายควรตั้งอกตั้งใจสร้าง เกิดมาตั้งแต่วันเกิดจนกระทั่งถึงวันตาย ไม่ระลึกถึงอรรถถึงธรรมไม่ระลึกถึงการให้ทาน แม้ข้าวปั้นหนึ่งหรือข้าวทัพพีหนึ่งก็ไม่ได้ให้ทาน สิ่งของเงินทองมีมากมีน้อย ก็กอบโกยเข้ามาใส่พุงกิเลสตัณหาเสียหมดกินไม่พอ กินไม่อิ่ม ทั้งกอบทั้งโกยทั้งกินทั้งกลืนไปหมด เจ้าของที่จะเอามาเป็นสาระด้วยการทำบุญให้ทานเลยไม่มี คนคนนี้อยู่เป็นคนก็อดอยากขาดแคลน ตายไปเป็นเมืองผีแล้วก็เป็นผีที่อดอยากขาดแคลน ไม่ใช่จะอดอยากขาดแคลนตั้งแต่เมืองมนุษย์เรา เมืองผีก็อดอยากขาดแคลน“
หลวงตาพระมหาบัว ญาณสัมปันโน
เทศน์รับผ้าป่าสงเคราะห์โลก
ณ วัดป่าศรีไพรวัลย์ อ.นาแก จ.นครพนม
เมื่อวันที่ ๑๐ มีนาคม พุทธศักราช ๒๕๕๐ (บ่าย)




“ซื่อสัตย์ต่อตนเอง”
..ฉะนั้น ท่านจึงว่าเป็นนักปฏิบัติ ปฏิบัติแก้ไขสิ่งที่ไม่ดี แล้วก็พยายามสร้างความดีให้มาก ให้เกิด ให้มีขึ้น อย่าเป็นคนเห็นแก่ปากแก่ท้อง เห็นแก่อยู่แก่กิน เห็นแก่หรูหราในสิ่งเหล่านั้น ถ้าหากผู้ใดเห็น หรือทำไปทำนองนั้น ก็เรียกว่า เรามาประพฤติปฏิบัติ มันเสียเวลา ขาดทุน แม้ไปทำอยู่ในที่ลับก็ตาม ทำอยู่ในที่แจ้งก็ตาม ไม่มีที่ลับหรอกในโลกอันนี้ ว่าจะไม่มีใครเห็น ตัวของเราก็เป็นคนอยู่แล้ว ถ้าตัวของเราเป็นคน เราเห็นแล้ว ก็เรียกว่าคนเห็นเหมือนเดิม แม้คนอื่นไม่เห็น ตัวเองก็เห็น เพราะตัวเองเป็นคน หรือตัวเองไม่ใช่คน ถ้าตัวเองไม่ใช่คน มันก็เป็นอย่างอื่นไปเท่านั้นหละ ก็เลยสร้างความไม่ดีไว้ ฉะนั้น จึงว่า การซื่อสัตย์ต่อตัวเอง หรือต่อธรรมะวินัย จึงจัดว่าเป็นของสำคัญ..
หลวงปู่ศรี มหาวีโร
เทศนา เรื่อง ปฏิปทาพระกรรมฐาน





"ความเคยชิน"
คนเราถึงแม้จะเกิดมาจากพ่อแม่คนเดียวกัน พอโตขึ้นมาก็มีความแตกต่างกัน บางคนก็จะเจริญรุ่งเรืองก้าวหน้า บางคนก็กลายเป็นโจรไป ไม่ได้มาจากพ่อจากแม่ เพราะพ่อแม่ก็สอนให้ลูกเป็นคนดีเหมือนกัน แต่กรรมของเขาเป็นตัวที่ผลักดันให้เขาไปในทิศทางที่เขาได้สะสมมา ถ้าสะสมในทิศทางที่ไม่ดี ก็จะผลักให้เขาไปทำในสิ่งที่ไม่ดีต่อไป เพราะเป็นความเคยชิน ทำแล้วง่าย เหมือนคนที่ถนัดมือซ้ายก็จะใช้มือซ้าย คนที่ถนัดมือขวาก็จะใช้มือขวา แต่เปลี่ยนได้ ถ้าเห็นว่าไม่ถูกไม่เกิดประโยชน์ ถ้าเห็นว่าใช้มือซ้ายแล้วสู้คนใช้มือขวาไม่ได้ ก็หัดใช้มือขวาไป ไหม่ๆ จะรู้สึกไม่ถนัด พอใช้ไปเรื่อยๆ ก็จะถนัด เช่นเดียวกับการทำความดีหรือความชั่ว คนที่เคยทำความชั่วมาจะทำความชั่วง่าย พูดโกหกนี้จะเร็ว สะดวก หยิบข้าวของๆ คนอื่นโดยไม่ขออนุญาตก่อน จะทำได้ง่าย ทำได้รวดเร็ว ถ้ามารู้ในภายหลังว่าไม่ดีไม่เจริญ อยากจะเป็นคนดี อยากจะเจริญ ก็ต้องฝึกนิสัยใหม่ เวลาพูดอะไรก็ต้องระมัดระวัง มีสติมีปัญญาคอยกลั่นกรองว่าสิ่งที่จะพูดนั้นถูกผิดอย่างไร จริงหรือเท็จ ถ้าพูดความจริงไม่ได้ ก็พูดเรื่องอื่นแทนหรือไม่พูดเลยจะได้ไม่ต้องพูดปด ข้าวของๆ คนอื่นก็เช่นเดียวกัน ไม่ถือวิสาสะ ถ้าอยากได้ก็ต้องคิดก่อนว่าของนี้มีเจ้าของ ถ้าอยากได้ก็ต้องขออนุญาตก่อน ทำให้ถูกต้อง ฝึกทำได้ ต่อไปก็จะเป็นนิสัย ก็จะทำง่าย ดังมีคำพูดว่า คนดีทำดีง่าย คนชั่วทำดียาก คุณดีทำชั่วยาก คนชั่วทำชั่วง่าย เพราะความเคยชิน ถ้าเคยชินกับการทำชั่ว ย่อมทำชั่วง่าย ถ้าเคยชินกับการทำความดี ย่อมทำดีง่าย ชีวิตของเราก็อยู่ตรงนี้เอง อยู่ที่ทำดีละบาป กำจัดโลภโกรธหลงที่เป็นต้นเหตุของความวุ่นวาย ของความทุกข์ ของความชั่วทั้งหลาย ถ้ารู้ว่ายังทำดีไม่ครบ ก็พยายามทำให้ครบ ถ้ารู้ว่ายังทำบาปอยู่ ก็ต้องพยายามตัด ถ้ารู้ว่ายังมีโลภโกรธหลงอยู่ ก็ต้องพยายามกำจัด.
กัณฑ์ที่ ๓๓๒ (จุลธรรมนำใจ ๑๐)
"คู่มือปฎิบัติธรรม"
วันที่ ๒ กันยายน ๒๕๕๐
พระอาจารย์สุชาติ อภิชาโต




" สิ่งที่เกิดดับเป็นสังขารทั้งนั้น
สิ่งที่ไม่เกิดไม่ดับก็คือพระนิพพานตามธรรมชาติ
พระนิพพานก็ดีสังขารก็ดี
ไม่มีใครจองไว้แต่ผู้เดียว
จึงทรงอนัตตาตามธรรมชาติของธรรมแต่ไร ๆ."
หลวงปู่หล้า เขมปัตโต



ให้พากันทำเอง ดูกายดูใจตัวเองให้มันรู้
ถ้ารู้กายก็รู้ธรรม ‌รู้ใจก็รู้ธรรม
ดูให้เป็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา มันจึงไม่ทุกข์เหมือนเขา
ดูให้เห็นธรรมมันก็จะเบื่อ
ไม่อยากได้อยากมีอยากเป็น‌อยากเอา
เบื่อหน่ายคลายกำหนัด มันจึงจะค่อยๆ ละ ค่อยๆ ‌วางไปเอง
ดังนั้น การภาวนาท่านจึงให้พิจารณาผม ขน เล็บ ฟัน หนัง
ที่ประกอบไปด้วยธาตุ 4 ดิน น้ำ ไฟ ลม
มีอะไรเป็นของ‌สวยของงาม
ให้พิจารณาทีละอย่าง
หลวงปู่เพียร วิริโย




"เมื่อเราเป็นมนุษย์เราไม่ควรนอนใจ
อย่าให้กาลกินเรา
ให้เรากินกาล
ให้เร่งทำคุณงามความดี
เวลาล่วงไป ชีวิตของเราก็ล่วงไป
ล่วงไปหาความตาย
มนุษย์เป็นสัตว์อันสูงสุด
อันนี้เป็นเพราะเราได้สมบัติอันดีมา
ปุพเพกตปุญญตา บุญกุศลคุณงามความดี
เราได้สร้างมาหลายภพหลายชาติแล้ว
เราอย่าไปเข้าใจว่าเราเกิดมาชาติเดียวนี้
ตั้งแต่เราเทียวตายเทียวเกิดมานี่
นับกัปนับกัลป์อนันตชาติไม่ได้
แล้วจะว่าเหมือนกันได้อย่างไรล่ะ
เมื่อเรามาเกิดก็มีแต่วิญญาณเท่านั้น
พอมาปฏิสนธิก็เอาเลือดเอาเนื้อพ่อแม่มาแบ่งให้
ได้อัตภาพออกมา
แม้กระนั้นก็ไม่มีสัตว์มาเกิด
ต้องอาศัยจุติวิญญาณ
เราต้องสร้างเอาคุณงามความดี"
หลวงปู่ขาว อนาลโย
วัดถ้ำกลองเพล อ.เมืองหนองบัวลำภู จ.หนองบัวลำภู




"..ดูแลเจ้าของ (ตัวเอง) ให้ดี
ตาก็มีประโยชน์ หูก็มีประโยชน์ จมูกก็มีประโยชน์ ลิ้นก็มีประโยชน์....
ตา ไม่มีแล้วอะไรจะเป็นประโยชน์แก่เจ้าของ
หูไม่มีแล้วอะไรจะเป็นประโยชน์แก่เจ้าของ
ตา หู จมูก ลิ้น ไม่มี แล้วของภายนอกมีประโยชน์มั๊ย?
ของภายนอกมากมายก่ายกองเค้าเอามาให้ของเหล่านี้จะ มีประโยชน์แก่เรามั๊ย?
ประโยชน์ที่แท้จริงคือ ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ เรา ดูแลให้เค้าอยู่อย่างปลอดภัย ดูแลยังไง? ดูแลให้อยู่นอกคุกนอกตะราง ไม่ดูแลตาเจ้าของให้ปลอดภัยจากของไม่ดี ทำก็ทำในทางที่เรียกว่าเพื่ิประโยชน์เจ้าของ ดูแลเจ้าของให้ดี สิ่งของที่มีโทษ ทำแล้ว พูดแล้ว คิดแล้วไม่สบายใจกลัวคนอื่นรู้หรือไม่ ถ้าทำแล้ว พูดแล้ว คิดแล้ว ไม่มีความหวาดระแวงกลัวคนอื่นรู้ จะเอาความสุขมาจากไหน ภูมิใจว่าสิ่งไม่ดีที่มีอยู่นั้นว่าเด่นๆในทางที่ไม่ถูกต้อง
นรก นี้ไม่มีจริงหรอก ขุดลงไปลึกเท่าไหร่ๆก็ไม่เจอหรอก "คน"ๆเดียวนี้ก็หาไม่เจอหรอก หาคนไม่เจอหรอก ดู ผม นี้ก็ไม่ใช่คน ขนนึ้ก็ไม่ใช่คน เล็บนี้ก็ไม่ใช่คน ฟันนี้ก็ไม่ใช่คน หนังนี้ก็ไม่ใช่คน คนเป็นสวรรค์ไม่ต้องไปหาสวรรค์ ก็รู้แล้วนี่ เพราะสวรรค์มันมีแล้วจะไปหาทำไม
พัฒนาๆๆ เพื่อสร้างเรา จะไปพัฒนาอย่างอื่นทำไม พัฒนาผมให้งาม พัฒนาขนให้สั้นยาว พัฒนาหนัง มันก็เป็นหนังมีแต่แห้งแต่เหี่ยวลงเท่านั้น พัฒนาเราให้มีคุณภาพ พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงพัฒนาตนให้ควรแก่การกราบไหว้ พัฒนาจนสมบูรณ์ อาศัยการพัฒนาทั้งนั้น ไม่ใช่การบนบานศาลกล่าว คำว่า "สาวก สังโฆ" เหมือนอยู่ไกล.พัฒนาจิตใจโดยให้ความสนใจเรื่องวัตถุกันมาก อย่าให้ความสำคัญแก่วัตถุมากเกินไป พัฒนาเจ้าของแล้วโลกจะเข้าถึงสันติสุขอย่างสมบูรณ์ .."
หลวงปู่แบน ธนากโร
ณ วัดดอยธรรมเจดีย์
17 ตุลาคม 2558




“อาการ ๓ ที่ทำให้อินทรีย์ ๕ แก่กล้าขึ้น”
“ศรัทธา” จะมีกำลังแก่กล้าเข้มแข็งขึ้นได้ด้วยอาการ ๓ คือ
๑. ต้องหลีกเว้นคนไม่มีศรัทธา
๒. ต้องคบบุคคลที่มีศรัทธา
๓. ต้องพิจารณาให้มากในอนุสติ ๖ คือพุทธานุสติ ธรรมานุสติ สังฆานุสติ สีลานุสติ จาคานุสติ เทวดานุสติ ในอนุสติ ๖ อย่างนี้ พิจารณาให้มากๆ ศรัทธาก็จะแก่กล้าเข้มแข็ง
“วิริยะ” ความเพียร จะมีกำลังแก่กล้าเข้มแข็งขึ้นได้ด้วยอาการ ๓ คือ
๑. ต้องหลีกเว้นจากบุคคลผู้เกียจคร้าน
๒. ต้องคบกับบุคคลที่หมั่นขยัน
๓. ให้พิจารณาองค์แห่งความเพียร คือเพียรระวังบาปไม่ให้เกิดขึ้นภายในใจ เพียรละบาปที่เกิดขึ้นแล้วภายในใจ เพียรทำบุญกุศลให้เจริญ เพียรรักษาบุญกุศลไว้
“สติ” จะมีกำลังแก่กล้าเข้มแข็งขึ้นได้ด้วยอาการ ๓ คือ
๑. ต้องหลีกเว้นจากบุคคลผู้เผลอสติ
๒. ต้องคบบุคคลผู้มีสติ
๓. ให้ระลึกเนืองๆ ในสติปัฏฐาน ๔
“สมาธิ” จะมีกำลังแก่กล้าเข้มแข็งขึ้นได้ด้วยอาการ ๓ คือ
๑. ต้องหลีกเว้นจากบุคคลที่มีจิตไม่ตั้งมั่น จิตใจฟุ้งเฟ้ออยู่ด้วยนิวรณ์
๒. ต้องคบกับบุคคลที่มีจิตตั้งมั่น
๓. ให้พิจารณาเนืองๆ ในองค์แห่งฌานและวิโมกข์
“ปัญญา” จะมีกำลังแก่กล้าเข้มแข็งขึ้นได้ด้วยอาการ ๓ คือ
๑. ต้องหลีกเว้นจากบุคคลผู้ไม่มีปัญญา คนไม่มีปัญญามีลักษณะอย่างไร คือคนไม่เห็นกรรมชั่วเป็นชั่ว ไม่เห็นกรรมดีเป็นดี เห็นดีเป็นชั่วไป เห็นชั่วเป็นดีไป เพราะคนไม่เห็นกรรมชั่วเป็นชั่ว ทั้งที่กรรมชั่ว ตัวเองก็ทำทั้งกาย วาจา ใจ ยิ่งทางใจนี้ทำมากเหลือเกิน ใจโลภอยากได้ยินดีก็ไม่เห็นว่าชั่ว ใจโกรธ พยาบาท อาฆาตจองเวรก็ไม่เห็นว่าชั่ว ใจลุ่มหลงมัวเมาอยู่ในกิเลสกามและวัตถุกามก็ไม่เห็นว่าชั่ว เห็นว่าเป็นของดีไปอีก เมื่อเห็นชั่วเป็นดีแล้ว ก็พอใจในการทำกรรมชั่ว บาปอกุศลก็หนาแน่น จะให้ปัญญามันแก่กล้าเข้มแข็งได้อย่างไร
๒. ต้องคบผู้มีปัญญา ถ้าทำเอาไม่ได้ พระพุทธเจ้า พระอรหันต์ก็คงไม่มี
๓. (ต้นฉบับมิได้ระบุไว้) *
* ธรรมช่วยให้เกิดธรรมวิจัย (ปัญญินทรีย์)
ความเป็นนักไต่ถามสอบค้น, การทำสิ่งต่างๆ ให้หมดจดสดใส, การปรับอินทรีย์ให้เสมอกัน, การหลีกเว้นคนปัญญาทราม, การเสวนาคนมีปัญญา, การพิจารณาเรื่องที่ต้องใช้ปรีชาลึกซึ้ง, การน้อมจิตไปในการวิจัยธรรม [ค้นคว้าเพิ่มเติมจากวิสุทธิมรรค (ปริเฉท ๔ อัปปนาโกศล ๑๐) เรื่องอาหารของโพชฌงค์ ๗ (ใกล้เคียงกับอินทรีย์ ๕) – คณะศิษย์ผู้จัดทำ]
ถ้าคุณเป็นผู้ฉลาดในการฝึกฝนอบรมอินทรีย์แล้ว การบรรลุมรรคผลนิพพานไม่ต้องไปถามใคร เหมือนเรารับประทานอาหารเอง รสอาหารเรารู้ อิ่มเรารู้ ขอให้ทำอินทรีย์ให้แก่กล้า มรรคผลนิพพานมันอยู่แค่ใจคุณนี่เอง
หลวงปู่บุญจันทร์ จนฺทวโร วัดถ้ำผาผึ้ง อ.ไชยปราการ จ.เชียงใหม่




"ความตาย" นี้ท่านเปรียบอุปมา "ดุจภูเขา" อันมี "ศิลาเป็นแท่งหนึ่งแท่งเดียว" เบื้องบนจดจนนภากาศ "กลิ้งมา" แล้วแลเวียนไปในทั้งสี่ทิศ "บดเสียซึ่งสรรพวัตถุทั้งปวง"
บ่มิได้เลือก "สัตว์และสังขาร" นั้น อันจะต่อยุทธด้วยพญามัจจุราช คือ "ความตาย" นั้น..ใช่วิสัยที่จะต่อยุทธได้
เพราะเหตุว่า ในสงครามความตายนั้น ไม่มีที่ตั้งแห่งพลช้าง พลม้า พลราชรถ พลเดินเท้า ไม่มีที่ตั้งค่ายคูประตูหอรบทั้งปวง จะมีพลพาหนะมากก็มีเสียเปล่า ซึ่งจะเอามาต่อยุทธด้วยมรณะ..ความตายสงครามนั้นเอามาบ่มิได้
ถึงจะมี "แก้วแหวนเงินทอง" มากสักเท่าใดๆก็ดี จะมีเวทย์มนต์ศาสตราอาคมกล้าหาญเป็นประการใดๆ ก็ดี ก็มิอาจเอามาต่อยุทธด้วย "พญามัจจุราช" คือ "ความตาย"ได้
พระอาจารย์จวน กุลเชฏโฐ
วัดเจติยาคีรีวิหาร (ภูทอก)อ.ศรีวิไล จ.บึงกาฬ




“การอุปสมบท”
..จุดประสงค์ ความมุ่งหมายในการมาบวช หรือมาอุปสมบทตามชื่อ ก็คือ ยึดพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ เป็นหลัก อุปสมบท ตามภาษา เรียกว่า อุปสมะ แปลว่า ความสงบ เราจะมาสงบกาย สงบวาจา สงบใจ อันนี้ท่านว่าอุปสมบท พูดตามภาษาเราง่าย ๆ ว่าบวช บวชนี้ก็หมายความว่า คล้าย ๆ กับเรานิยมกัน ในการเรียกชื่ออาหาร ที่พวกเราเคยทำกันมาเรื่องของหวาน ว่าบวชฟัก บวชแฟงอะไรเหล่านี้ บวชฟักทอง บวชกล้วย บวชอะไรเหล่านี้ อันนี้ก็เหมือนกัน แต่ว่า ถ้าบวชแล้ว เป็นของแปลก เอร็ดอร่อย มีรสชาติดีนะ บวชกล้วย ก็มีทั้งหวานทั้งมัน บวชฟักทอง ก็มีทั้งหวานทั้งมัน อันนี้เราได้มาบวช บวชคนดิบ ๆ คนธรรมดาเรา ถ้าบวชแล้วแบบนี้ เพื่อให้เป็นคนที่มีรสชาติเอร็ดอร่อย รสชาติ ในที่นี้ ก็หมายถึงมีศีลธรรม ทางกาย ทางวาจา ทางจิตใจ อันนี้ท่านก็ว่า บวชเหมือนกัน เป็นคนซื่อสัตย์สุจริต ตรงต่อธรรมะวินัย อันนี้ก็เรียกว่า บวช สมกับนามว่า บวชจริง ๆ ถ้าหากใคร ไม่แก้ไขดัดแปลง เคยมีอยู่อย่างไหน เคยเป็นอยู่อย่างไหน ก็ปล่อยไปตามเรื่องอย่างนั้น จะว่าบวชยังไง บวชก็บวชไม่สุกนั้นหละแบบนั้น..
หลวงปู่ศรี มหาวีโร
เทศนา เรื่อง ปฏิปทาพระกรรมฐาน




ถาม : จะต้องเดินทางพาลูกอายุย่าง ๖ ขวบ ไปเรียนต่อที่อเมริกา ขอหลักการเลี้ยงลูกให้เป็นอภิชาตบุตร และหลักการดำรงชีพในต่างแดน ให้เจริญในธรรมด้วยค่ะ
พระอาจารย์ : อ๋อ จะเป็นอภิชาตบุตรนี้ก็ต้องเข้าหาธรรมะเท่านั้นแหละ ต้องศึกษาธรรม ต้องสอนให้เขา สอนเรื่องธรรมะต่างๆ ที่พระพุทธเจ้าทรงสอน เช่น สอนมงคลสูตรนี่ ๓๘ มงคลด้วยกัน อย่าคบคนพาล คนไม่ดี คบคนดี คบคนฉลาด ให้บูชาบุคคลที่สมควรแก่การบูชา เช่น บิดามารดา ครูบาอาจารย์ ปู่ย่าตายาย ผู้หลักผู้ใหญ่ ถ้าอยากจะให้ลูกเป็นอภิชาตบุตร ให้ศึกษามงคล ๓๘ แล้วก็ให้ปฏิบัติตามมงคล ๓๘ ข้อนั้นให้ได้ ถ้าได้แล้วรับรองได้ว่าลูกจะเป็นอภิชาตบุตร.
สนทนาธรรมบนเขา
วันที่ ๕ มีนาคม ๒๕๖๑
พระอาจารย์สุชาติ อภิชาโต




คำถามธรรมะบนเขา
ถาม : กราบนมัสการครับ เหตุใดในสมัยพุทธกาล จึงสามารถบรรลุธรรมได้พร้อมๆ กันเป็นจำนวนมาก แม้ในขณะฟังธรรม ซึ่งต่างจากยุคปัจจุบัน มักจะได้ยินว่าฟากตายจึงได้ธรรม
พระอาจารย์ : อ๋อ พอดียุคนั้นเป็นยุคที่มีพวกนักบวชอยู่เยอะไง พวกนักบวชที่เขาไปติด มันเหมือนคอขวดน่ะ เหมือนรถที่มันวิ่งไปแล้วมันติดคอขวด ไม่มีใครมาเคลียร์คอขวด มันก็เลยไปไม่ได้ นี่ยุคนั้นก็มีนักบวชกันเยอะ แต่ไปติดอยู่ตรงสมาธิกัน ไม่มีใครไปทางปัญญาได้ พอมีพระพุทธเจ้ามาตรัสรู้ มาบอกทางปัญญา ก็ไปกันตามนั้น ไปกันได้อย่างมากมายก่ายกอง เพราะว่ามัน
ติดกันน่ะ ยุคแรกๆ ที่พระพุทธเจ้าทรงไปแสดงธรรม ที่ท่านไปสอนพวกนักบวช พวกที่เขาได้สมาธิแล้ว ได้ศีลแล้ว เขาขาดเพียงแต่ปัญญา พอทรงแสดงเรื่องปัญญาให้ฟัง เขาเข้าใจ เขาก็บรรลุได้ทันที แต่ยุคนี้มันเป็นยุคแบบไม่มีคอขวดแล้ว เพราะว่าพระพุทธเจ้าทรงเปิดคอขวดออกไป จนพวกนักบวชบรรลุเป็นพระอรหันต์ไปหมดแล้ว เห็นไหม ๑๒๕๐ รูป ตอนนี้เหลือแต่พวกที่ไม่ใช่เป็นนักบวช พวกผู้ครองเรือน พวกนี้ก็ต้องใช้เวลาเพราะว่ายังไม่มีกำลังที่จะรับปัญญาไปใช้ได้ ยังต้องมาฝึกทำบุญใส่บาตร ต้องรักษาศีล ๕ กันก่อน เหมือนเด็กอนุบาล พวกนักบวชนี่เขาเป็นเหมือนพวกที่จบ ม. ๖ แล้ว เข้ามหาวิทยาลัยได้แล้ว ก็เลยต้องใช้เวลาหน่อย ยุคนี้นานๆ จะมีก็พวกนักบวชที่ตั้งใจบวชจริงๆ อย่างสายพระอาจารย์มั่นอย่างนี้ พอเป็นนักบวชแล้ว มีครูบาอาจารย์คอยสอนคอยดึงก็ไปกันได้.
ธรรมะบนเขา
วันที่ ๑ มีนาคม ๒๕๖๑
พระอาจารย์สุชาติ อภิชาโต




“เครื่องมือสู้กับความอยาก”
ไม่มีอะไรที่เราจะสามารถควบคุมบังคับให้มันดี ให้มันให้ความสุขกับเราได้ตลอดเวลา เรียกว่า อนัตตา ไม่อยู่ในความสามารถของเราที่จะควบคุมบังคับให้มันให้ความสุขกับเราไปได้ตลอดเวลา ฉะนั้นเมื่อเราเห็นว่าเราจะไปเอาความทุกข์ เราจะไปเอามันทำไม ถ้ายังไม่มีก็ไม่เอาดีกว่า ถ้ามีก็เลิกดีกว่า อยู่คนเดียวดีกว่า มีเงินก็สละเงินไปดีกว่า พวกนักบวชนี้เขาเห็นลาภยศสรรเสริญเป็นทุกข์ ทำให้ใจเขาวุ่นวายไม่รู้จักจบจักสิ้น วุ่นวายอยู่กับการหาเงินหาทอง หาความสุขทางตาหูจมูกลิ้นกาย หาเท่าไหร่มันก็ไม่อยู่กับเราสักที อยู่กับเราเดี๋ยวเดียวเดี๋ยวก็หลุดมือไปแล้ว ต้องไปหาใหม่ เลยไม่เอาดีกว่า
พอได้อ่านหนังสือได้ฟังเทศน์ฟังธรรมของพระพุทธเจ้า บอกว่ามานั่งสมาธิมาหยุดความอยากกันดีกว่า ก็เลยออกบวชดีกว่า พอบวชแล้วก็ไม่ต้องหาเงินหาทอง เป็นพระนี่สบายไม่ต้องใช้เงินใช้ทอง มีคนอื่นมาบริการให้ หาของจำเป็นให้ หาที่อยู่อาศัยให้ หายาให้ หาเครื่องนุ่งห่มให้ หาอะไรให้ทุกอย่างเลยดีจะตายไป ไม่มีที่ไหนในโลกนี้ที่เขาทำกันหรอก มีประเทศไทยเท่านั้นแหละที่บริการปัจจัย ๔ ถ้าใครอยากจะบวชนี่ แม้แต่ฝรั่งยังต้องมาบวชที่เมืองไทย บ้านเมืองเขาไม่มีการให้แบบนี้ เขามีให้เหมือนกันแต่เขาให้แบบมีขอบเขต เช่นตกงานเขาก็ให้ ๖ เดือน ประกันสังคมแล้วก็ต้องบังคับให้ไปหางานให้ไปทำ อันนี้ไม่บังคับเลยให้ตลอดชีวิตเลย อย่าไปทำอะไรแบบญาติโยมเท่านั้นเอง ถ้าอยู่เฉยๆ ได้เขาก็ยินดีที่จะสนับสนุน พอไปทำอะไรแบบญาติโยมเดี๋ยวเขาก็จับสึก
นี่แหละคนที่พอได้ยินได้ฟังธรรมของพระพุทธเจ้าแล้วก็จะเห็นว่า วิธีของพระพุทธเจ้านี้เป็นวิธีที่ถูกต้อง เป็นวิธีที่นำความสุขที่แท้จริงมาให้ วิธีของพวกเรานี้มีแต่นำแต่ของวุ่นวายใจความทุกข์ยากเดือดร้อนมาให้ เวลาที่ไม่สามารถหาสิ่งที่เราอยากได้ หรือเวลาที่เราสูญเสียสิ่งที่เราอยากได้ไป คนที่มีกำลังใจก็ตัดสินใจตัดมันให้หมด ตัดความอยาก เคยอยากรูปเสียงกลิ่นรสก็ตัดมัน การที่จะตัดมันได้อย่างแท้จริงก็ต้องมีพลัง ต้องมาหยุดความอยากให้ได้หยุดความคิดให้ได้ ความคิดนี้เป็นเครื่องมือของความอยาก พอไม่คิดความอยากมันก็ทำงานไม่ได้
ฉะนั้นก็เลยต้องมาทำตามที่พระพุทธเจ้าสอน มาสร้างเครื่องมือสู้กับความอยาก เครื่องมือที่จะสู้กับความอยากก็คือ สติ แล้วก็อาศัยศีลเป็นผู้ช่วยคอยปิดกั้นไม่ให้ความอยากมันออกมา ถ้ามีศีลเราก็จะห้ามเราว่าเราจะไม่ไปทำตามความอยาก เหมือนกับมีรั้วกั้นไว้ กั้นความอยากไว้ แต่ความอยากมันก็ยังไหลออกมา เพียงแต่ว่ามันไปหยุดที่ตรงรั้ว ถ้ามีศีล ๘ เห็นไหมสามีภรรยาก็ต้องอยู่คนละทีใช่ไหม ไม่ได้นอนด้วยกันใช่ไหม เนี่ยมาถือศีล ๘ เนี่ย แต่พอกลับบ้านก็เลิกถือศีล ๘ ก็นอนด้วยกันได้
ฉะนั้นคนที่จะหยุดความอยากทางกาม ทางตาหูจมูกลิ้นกาย ต้องถือศีล ๘ ก่อน พอถือศีล ๘ แล้วจะได้รู้ว่า อ่ะต่อไปนี้ห้ามทำแล้วนะกิจกรรมเหล่านี้ทำไม่ได้ แต่ความอยากก็ยังมี ถึงแม้ว่าจะไม่ได้นอนร่วมกัน บางทีเวลานอนก็ยังคิดถึงกันอยู่ เพราะถ้าเราไม่ปล่อยใจไม่ควบคุมใจมันก็จะคิด คิดแล้วมันก็อยาก ถ้าคิดบ่อยๆ เดี๋ยวมันก็สึกใช่ไหม บวชได้ไม่กี่วันเดี๋ยวก็กลับบ้าน กลับไปอยู่ร่วมกันใหม่ แต่ถ้าหยุดความคิดได้หยุดความอยากได้ก็ไม่สึก สึกไปทำไมอยู่แบบนี้สบายกว่า อยู่คนเดียวอยู่กับความสงบมีความสุขมากกว่า ไม่ต้องไปทะเลาะกับเขาแล้ว ไม่ต้องไปยุ่งกับเขาแล้ว ไม่ต้องไปห่วงไปกังวลกับเขาแล้ว ไม่ต้องไปหวงเขา เขาจะไปเที่ยวกับใคร เขาจะไปคุยกับใคร เขาจะไปทำอะไรกับใคร เรานอนสบาย เราหลับสบาย แต่ถ้ายังไปยังต้องอาศัยเขาอยู่นี่ ก็หวง ต้องเป็นของเราคนเดียว เป็นของคนอื่นไม่ได้ แทนที่จะมีความสุขกับเขา ก็เลยต้องมาทุกข์กับเขาเอง
ถ้าใครสามารถควบคุมความคิดควบคุมความอยาก หยุดคิดหยุดอยากได้ ถึงแม้ว่าจะเป็นของชั่วคราว มันก็จะทำให้เราเบาอกเบาใจสบายอกสบายใจ แล้วถ้าอยากจะให้มันหยุดอยากอย่างถาวร ก็ทุกครั้งที่อยากก็ใช้ปัญญามองให้เห็นว่า การอยากนี้มันเป็นการไปหาความทุกข์ อยากมีแฟนก็เดี๋ยวก็ต้องไปทุกข์กับแฟน อยากมีอะไรก็ต้องไปทุกข์กับสิ่งที่เรามี พอเราเห็นว่าทุกข์ ไม่เอาดีกว่า อยู่กับความสงบดีกว่า อยู่กับการนั่งสมาธิดีกว่า เวลาไหนอยากก็เข้าไปนั่งสมาธิดีกว่า เดี๋ยวต่อไปความอยากมันก็จะหมดไปจากใจ หรือเวลาอยากก็ต้องมองให้เห็นว่ามันทุกข์ สิ่งที่เราอยากได้มันทุกข์ อย่าไปมีอะไรดีกว่า อยู่กับความว่างอยู่กับความไม่มีดีกว่า พอเรารู้อย่างนี้แล้วต่อไปทุกครั้งที่อยากเราก็ฝืนมัน อยากจะไปมีแฟนเราก็ฝืนมัน อยากจะไปมีเงินมีทองก็ฝืนมัน อยากจะไปเที่ยวก็ฝืนมัน ฝืนด้วยการไปนั่งสมาธิ ถ้านั่งสมาธิแล้วมันจะไม่ทรมาน.
สนทนาธรรมบนเขา
วันที่ ๔ มกราคม ๒๕๖๑
พระอาจารย์สุ ชาติอภิชาโต




"บุคคลผู้ที่จะละบาปบำเพ็ญบุญนั้น จะต้องนั่งสมาธิภาวนา นอกจากนั่งสมาธิภาวนาแล้ว ไม่มีวิธีอื่นอย่างอื่นอีกจะพึงแก้ไขได้
เพราะเหตุว่า การนั่งสมาธิภาวนานี้มีอานิสงส์มาก เป็นวิธีแก้จิตที่เป็นบาปให้กลับเป็นบุญได้ ตลอดจนแก้จิตที่เป็นโลกีย์ให้เป็นโลกุตรได้ เมื่อแก้จิตให้บริสุทธิ์ดีแล้ว บาปอกุศลก็หลุดหายไปเอง อุทาหรณ์นี้พึงเห็นองคุลีมาล เป็นตัวอย่าง
เมื่อต้องการพ้นทุกข์ จะมาหลงปริยัติแต่เพียงอย่างเดียวไม่ได้ เพราะปริยัติธรรมนั้น เป็นเพียงแผนที่แนวทางเท่านั้น และเพราะปริยัติธรรมนั้นเอง ก็แนะนำเพื่อความพ้นทุกข์ทั้งหมดไตรปิฎก"
หลวงปู่สิงห์ ขนฺตยาคโม




“คำถามสนทนาธรรม”
ถาม : หนูมีความสงสัยเกี่ยวกับข้อที่ห้ามพูดคำหยาบ ห้ามพูดส่อเสียด คือในชีวิตประจำวันในสังคมเพื่อนร่วมงาน เพื่อนฝูง มีการพูดจาหยอกล้อกันเล่น ซึ่งใช้คำไม่สุภาพ เจตนามันเพื่อความสนุกสนาน มันถือว่ามันผิดศีลไหมคะ
พระอาจารย์ : ก็ผิดศีล แต่มันไม่ผิดศีลข้อ ๔ ที่ว่ามุสาหรอก เพียงแต่ว่าไอ้คำพูดคำหยาบนี่มันเป็นศีลละเอียด ศีลสำหรับนักบวชมากกว่าผู้ครองเรือน ฉะนั้นถ้าเรายังไม่เป็นนักบวช เรายังไม่ต้องกังวลกับการพูดคำหยาบ พูดล้อเล่น พูดเพ้อเจ้ออะไรนี่ นี้มันยังเป็นนิสัยของฆราวาสอยู่ ขอให้เราอย่าไปพูดปดก็แล้วกัน สำหรับศีลข้อนี้ แต่ถ้าเราเป็นนักบวชแล้วนี่ กิริยาเราต้องมีกิริยาวาจาที่เรียบร้อยมากกว่าเป็นฆราวาส จะหยอกล้อเล่นกัน จะพูดคำหยาบนี่ไม่เหมาะสม แล้วสำหรับผู้เป็นนักบวช อันนี้สำหรับเป็นนักบวชมากกว่า
ถาม : ก็ยังโอเคอยู่นะคะ
พระอาจารย์ : ยังโอเคอยู่ ยังไม่ผิดศีลข้อ ๔ ถ้าไม่พูดปดนะ อย่าพูดปดอย่างเดียว ส่วนพูดคำหยาบ พูดส่อเสียด พูดเพ้อเจ้อนี่ อันนี้สำหรับ เหมือนกับถ้าเปรียบเทียบก็เป็นเหมือนสำหรับเป็นผู้ใหญ่แล้ว ถ้ายังเป็นเด็กก็ยังพูดคำหยาบได้บ้าง พูดเพ้อเจ้อได้บ้าง พวกที่ถือศีล ๕ เรายังถือว่าเป็นพวกเด็กอยู่ พวกที่ถือศีล ๘ ขึ้นไปน่ะ ถึงจะเรียกว่าเป็นพวกที่เป็นผู้ใหญ่.
สนทนาธรรมบนเขา
วันที่ ๒ มีนาคม ๒๕๖๑
พระอาจารย์สุชาติ อภิชาโต




“อย่าวุ่นวายใจไปกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นแล้ว”
เวลาที่เราสวดบทแผ่เมตตา สัพเพ สัตตา อะเวรา โหนตุ เป็นเวลาที่เราศึกษาเรายังไม่ได้แผ่ เรากำลังศึกษาว่าเราต้องให้อภัย เราต้องไม่จองเวรจองกรรมกับสรรพสัตว์ทั้งปวง นี่คือความหมายของ สัพเพ สัตตา อะเวรา โหนตุ
สัพเพ ก็คือ สัพพะ สิ่งต่างๆ เรียกว่าสัพ สัตว์ต่างๆ สัพพะ สัพเพ สัตตา นี้แปลว่าสัตว์ทั้งหลายทั้งปวง อะเวรา โหนตุ จงอย่ามีเวรมีกรรมกันเถิด จงให้อภัยกันเถิด พูดง่ายๆ ใครเขาพูดใครเขาทำอะไร เกิดความเสียหาย ทำให้เราเสียใจเศร้าใจ มันก็เกิดขึ้นแล้ว เราไปเปลี่ยนมันไม่ได้แล้ว เช่นเหมือนแก้วแตก เราจะไปทำให้แก้วมันกลับมาเหมือนเดิมไม่ได้ เราทำอะไรกับแก้วแตก เราก็โยนทิ้งไป แล้วก็ไปหาแก้วใหม่ ก็จบ
แต่ถ้าเรามาคอยมานั่งหาวิธีที่จะทำให้แก้วใบที่แตกนี้มันกลับมาเหมือนเดิม มันไม่มีวันเหมือนเดิม ทำไปจนวันตายก็ไม่สามารถทำให้แก้วที่แตกนี้กลับมาเป็นเหมือนแก้วที่ยังไม่แตกไม่ได้ เหตุการณ์ต่างๆ ที่เกิดขึ้นก็เกิดขึ้นมาแล้ว เขาด่าเราก็ด่าแล้ว เขาทุบตีเราเขาก็ทุบตีไปแล้ว เขาทำอะไรเสียหายก็ทำไปแล้ว แล้วเราจะมาวุ่นวายไปกับมันทำไมเมื่อมันผ่านไปแล้ว เราก็ไม่สามารถที่จะไปย้อนเวลากลับไปทำให้มันไม่เป็นอย่างที่เป็น
ถ้าเราเห็นว่าเราทำอะไรไม่ได้แล้ว เราก็ยอมรับความจริงไปเสียก็หมดเรื่อง เขาพูดแล้ว เขาด่าเราแล้ว เขาทุบตีเราแล้วก็จบไป เขาก็ผ่านไปแล้ว เขาก็ไปแล้ว ถ้าเราทำใจได้ ก็ไม่มีอะไรเสียหายตามมา เราก็ก้าวต่อไป เราต้องทำอะไรของเราเราก็ไปทำต่อ ลืมมันเสียก็หมดเรื่อง ผ่านไปแล้ว ถ้ามองแบบปัญญาก็มันเป็นความฝัน มันผ่านไปแล้ว เหมือนเป็นความฝัน เหมือนกับเรานอนหลับฝันไปว่าถูกเขาทำร้าย พอเราตื่นขึ้นมามันก็ผ่านไปแล้ว แล้วเราไปวุ่นวายกับมันทำไม ความวุ่นวายก็คือความทุกข์ใจ
พระพุทธเจ้าจึงสอนให้เราอย่าวุ่นวายใจไปกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นแล้ว ผ่านไปแล้วก็ให้มันผ่านไป อย่าไปทำให้มันเรื่องมากโดยไม่เกิดประโยชน์อะไร กลับจะมีโทษ พอเขาทำร้ายเรา เราก็โกรธเขา เราก็จองเวรจองกรรม จะไปทำร้ายเขาใหม่ เราก็จะเครียดกับการจองเวรจองกรรม กินไม่ได้นอนไม่หลับ เหมือนกับพระเทวทัต.
สนทนาธรรมบนเขา
วันที่ ๒ มีนาคม ๒๕๖๑
พระอาจารย์สุชาติ อภิชาโต



"เมื่อเรามีศีล ๕ บริสุทธิ์ บริบูรณ์
แม้เราจะทำสมาธิภาวนายังไม่เป็น
ก็ได้ชื่อว่าตัดบาป ตัดกรรม ให้หมดสิ้นไปแล้ว
เมื่อเรามีศีล ๕ บริสุทธิ์ บริบูรณ์
กายของเราก็สงบ คือสงบขาดจากการทำบาป
วาจาของเราก็สงบ คือสงบในการพูดในทางที่เป็นบาป
แม้จิตของเรายังคิดที่จะทำบาป
แต่เราไม่ละเมิดล่วงเกินศีล ๕
บาปกรรมอะไรก็ไม่เกิดขึ้น
เมื่อเรามีคุณงามความดีพอกพูนมากขึ้นๆ
กำลังของศีลมีพลังแก่กล้าขึ้น
กายเป็นปกติ วาจาเป็นปกติ ก็เป็นเหตุเป็นปัจจัย
ส่งหนุนให้จิตใจของเราเกิดความเป็นปกติ
เมื่อความปกติเริ่มเกิดขึ้นที่ใจของเรา
ความคิดจะฆ่า เบียดเบียน ข่มเหง รังแก
มันก็น้อยลงหรือหมดไปไม่มีเลย
เมื่อเป็นเช่นนั้นเราก็ประกันความปลอดภัยของเราได้
ว่าเราจะไม่ต้องตกนรก
แต่เพื่อที่จะให้จิตของเรามีความมั่นคง
ต่อการที่จะละบาปกรรมตามกฎของศีล ๕
เราจึงจำเป็นจะต้องปฏิบัติสมาธิ
เพื่อสร้างพลังจิตให้มีความมั่นคง
ต่อการที่จะละความบาปนั้นๆ"
พระราชสังวรญาณ
(หลวงพ่อพุธ ฐานิโย)
วัดป่าสาลวัน อ.เมืองนครราชสีมา จ.นครราชสีมา


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 10 มี.ค. 2018, 06:20 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
Moderators-2
Moderators-2
ลงทะเบียนเมื่อ: 05 มิ.ย. 2009, 10:51
โพสต์: 2758


 ข้อมูลส่วนตัว


Kiss :b8:


แสดงโพสต์จาก:  เรียงตาม  
กลับไปยังกระทู้  [ 2 โพสต์ ] 

เขตเวลา GMT + 7 ชั่วโมง


 ผู้ใช้งานขณะนี้

กำลังดูบอร์ดนี้: ไม่มีสมาชิก และ บุคคลทั่วไป 58 ท่าน


ท่าน ไม่สามารถ โพสต์กระทู้ในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ ตอบกระทู้ในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ แก้ไขโพสต์ของท่านในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ ลบโพสต์ของท่านในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ แนบไฟล์ในบอร์ดนี้ได้

ค้นหาสำหรับ:
ไปที่:  
Google
ทั่วไป เว็บธรรมจักร