ลานธรรมจักร
http://www.dhammajak.net/forums/

เตรียมปัญญาไว้ ถึงหาทรัพย์ได้ อิสรภาพต้องไม่เสีย
http://www.dhammajak.net/forums/viewtopic.php?f=1&t=54886
หน้า 1 จากทั้งหมด 1

เจ้าของ:  กรัชกาย [ 28 พ.ย. 2017, 12:19 ]
หัวข้อกระทู้:  เตรียมปัญญาไว้ ถึงหาทรัพย์ได้ อิสรภาพต้องไม่เสีย

ง. เตรียมปัญญาไว้ ถึงหาทรัพย์ได้ อิสรภาพต้องไม่เสีย

นอกจากพึงรู้ว่า การมีทรัพย์มิใช่เป็นจุดหมายในตัว แต่เป็นเพียงอุปกรณ์สำหรับสนับสนุนการทำสิ่งดีงามเพื่อชีวิตตนและผู้อื่น แล้วพึงทราบขอบเขตแห่งคุณค่าของทรัพย์สมบัติ และการที่จะต้องแสวงสิ่งอื่นที่มีคุณค่าสูงยิ่งขึ้นต่อไปด้วย เช่น

"การงาน วิชชา ธรรม ศีล และชีวิตอุดม สัตว์ทั้งหลายย่อมบริสุทธิ์ด้วยสิ่งที่กล่าวมานี้ หาใช่ด้วยโคตรหรือทรัพย์ไม่" * (ม.อุ.14/738/471 ฯลฯ)

"ข้าพเจ้ามองเห็นคนทั้งหลายในโลก ที่เป็นผู้มีทรัพย์ ได้ทรัพย์สินแล้ว ไม่ให้ปัน เพราะความลุ่มหลง โลภทรัพย์ เอาแต่สั่งสมไว้ และปรารถนากามทั้งหลายยิ่งขึ้นไป

“ราชารุกรานมีชัยทั้งแผ่นดิน ครอบครองปฐพีจรดสาคร ไม่อิ่มแค่ฝั่งสมุทรข้างนี้ ยังปรารถนาฝั่งสมุทรข้างโน้นอีก ทั้งพระราชาและเหล่ามนุษย์ทั้งหลายอื่นเป็นอันมาก ยังมิทันสิ้นความทะเยอทะยาน ก็เข้าถึงความตาย ทั้งยังพร่องอยู่นั่นเอง ก็พากันละทิ้งร่างกายไป ความอิ่มด้วยกามทั้งหลาย ย่อมไม่มีในโลกเลย


“ญาติทั้งหลาย พากันสยายผมร่ำไห้ถึงผู้นั้น กล่าวรำพันว่า โอ้ ที่รักของพวกเรา มาจากลับไปเสียแล้วหนอ แล้วเอาผ้าห่อห่มเขา นำเอาไปขึ้นเชิงตะกอน จัดการเผา เขาถูกสัปเหร่อเอาหลาวทิ่มแทงไป ไหม้ไฟหมดไป มีแต่ผ้าผืนเดียวติดตัว ละทิ้งทรัพย์สมบัติไป


“เมื่อจะตาย ญาติ มิตร หรือสหายทั้งหลาย จะเป็นที่ต้านทานไว้ได้ ก็ไม่มี ทรัพย์ของเขา พวกที่รับมรดกก็ขนเอาไป ส่วนสัตว์ก็ไปตามกรรม เมื่อตาย ทรัพย์สักหน่อยก็ติดตามไปไม่ได้ บุตร ภรรยา ทรัพย์ และแว่นแคว้น ก็เช่นกัน คนจะได้อายุยืนเพราะทรัพย์ ก็หาไม่ จะกำจัดชราด้วยทรัพย์ ก็หาไม่ ปราชญ์ทั้งหลายกล่าวชีวิตนี้ว่า น้อยนัก ไม่ยั่งยืน มีความแปรปรวนเป็นธรรมดา


"ทั้งคนมี ทั้งคนจน ต่างก็กระทบผัสสะ ทั้งคนพาล ทั้งนักปราชญ์ ก็ถูกกระทบเหมือนกัน แต่คนพาล เพราะความที่อ่อนปัญญา ย่อมนอนผวาหวาด
ส่วนผู้เป็นปราชญ์ ถึงถูกผัสสะกระทบ ก็หาสะท้านไม่ เพราะฉะนั้น ปัญญานั่นแหละ จึงประเสริฐกว่าทรัพย์ ด้วยเป็นเหตุให้บรรลุจุดหมายสูงสุดได้ในโลกนี้" * (ม.มู.13/451/411 ฯลฯ)

เจ้าของ:  กรัชกาย [ 28 พ.ย. 2017, 12:26 ]
หัวข้อกระทู้:  Re: เตรียมปัญญาไว้ ถึงหาทรัพย์ได้ อิสรภาพต้องไม่เสีย

ต่อ

อุปกรณ์สำคัญของการประกอบสัมมาอาชีวะ ก็คือศิลปวิทยา หรือสิปปะ (วิชาชีพ ฝีมือ ความจัดเจนงาน) ดังนั้น ท่านจึงเตือนให้ขวนขวายศึกษาศิลปวิทยา และให้บิดามารดาถือเป็นหน้าที่ ที่จะให้บุตรศึกษาเล่าเรียน

แต่ความรู้วิชาชีพ หรือความชำนาญงานอย่างเดียว ก็แคบไป ท่านจึงให้มีพาหุสัจจะ คือความเป็นผู้ได้สดับมาก หรือศึกษาเล่าเรียนกว้างขวางประกอบด้วย เพื่อช่วยให้เห็นช่องทางในการประกอบสิปปะกว้างขวางออกไป สามารถบำเพ็ญประโยชน์ ช่วยแก้ปัญหาให้แก่เพื่อนมนุษย์ได้ดียิ่งขึ้น และมีความคิดความเข้าใจมองเห็นอะไรๆกว้างขวางลึกซึ้ง โดยเฉพาะความรู้ความสดับ ที่ช่วยให้เกิดสัมมาทิฏฐิ ที่เป็นตัวแท้เริ่มแรกของการศึกษา

พร้อมกันนั้น ก็ให้ฝึกอบรมระเบียบวินัย เพื่อพร้อมที่จะนำสิปปะไปใช้ในทางที่ถูกต้อง และมีความประพฤติทั่วไปที่ดีงาม เกื้อกูลแก่ความอยู่ร่วมกันกับผู้อื่น หรือแก่สังคม กับ ทั้งฝึกฝนให้รู้จักพูด รู้จักเจรจาให้เป็นผลดี เป็นการขยายช่องทางดำเนินชีวิต และบำเพ็ญประโยชน์ให้กว้างขวางยิ่งขึ้น

หลักการขั้นศีลที่กล่าวมานี้ ดำเนินตามพุทธพจน์ว่า

"พาหุสัจจะ ๑ สิปปะ ๑ วินัยที่ศึกษาดีแล้ว หรือฝึกอบรมเป็นอย่างดีแล้ว ๑ วาจาที่กล่าวได้ดี ๑ นี้เป็นอุดมมงคล การงานไม่คั่งค้างอากูล นี่ก็เป็นอุดมมงคล.... กิจกรรมที่ไร้โทษ นี่ก็เป็นอุดมมงคล" * (ขุ.ขุ.25/5/3 ฯลฯ)

นอกจากนี้ มีบาลีภาษิตเตือนให้ศึกษาศิลปวิทยาอีกมาก เช่น

"คนไม่มีศิลปวิทยา เลี้ยงชีวิตอยู่ได้ยาก" (ขุ.ชา. 27/1651/330)

"จงให้บุตรเรียนรู้วิทยา" (ขุ.ชา. 27/2141/434)

"อะไรควรศึกษา ก็พึงศึกษาเถิด" (ขุ.ชา.27/108/35)

"ขึ้นชื่อว่า ศิลปวิทยา ไม่ว่าอย่างไหนๆ ให้ประโยชน์ได้ทั้งนั้น" (ขุ.ชา.27/107/35)

"อันความรู้ ควรเรียนทุกอย่าง ไม่ว่าต่ำ ว่าสูง หรือปานกลาง ควรรู้ความหมายเข้าใจทั้งหมด แต่ไม่จำเป็นต้องใช้ทุกอย่าง วันหนึ่งจำถึงเวลา ที่ความรู้นั้นนำมาซึ่งประโยชน์" * (ขุ.ชา.27/817/184)

ฯลฯ

มีข้อความแทรกเข้ามา เกี่ยวกับอุดมมงคลระดับนี้ว่า พาหุสัจจะ ความชำชองเชิงวิชาการ ควรมาพร้อมกับ สิปปะ ความชำนาญในเชิงปฏิบัติ คือ ดีทั้งวิชา และฝีมือ ถ้าทั้งสองอย่างนี้มาเข้าคู่กันครบ ก็หวังได้ ซึ่งความเป็นเลิศแห่งงาน

ยิ่งเป็นคนมีวินัย ที่ได้ฝึกมาอย่างดี และเป็นคนที่พูดเป็น คือรู้จักพูดจาให้ได้ผลดี สามารถทำให้คนอื่นเข้าใจหรือเห็นตามได้ ชวนให้เกิดความร่วมมือและสามัคคี ก็ยิ่งหวังได้ว่ากิจการจะประสบความสำเร็จ

ครั้นสำทับเข้าด้วยการปฏิบัติงาน ที่เรียบร้อย ฉับไว ไม่คั่งค้างอากูล และเสริมด้วยการทำกิจกรรมที่เป็นประโยชน์ ก็ยิ่งเป็นเครื่องประกันถึงความสำเร็จบริบูรณ์แห่งชีวิตด้านการงาน

แต่เพื่อป้องกันมิให้มีช่องว่าง ที่บุคคลนั้นจะมัวหลงเพลิดเพลินแต่วิทยาและการงาน จนลืมหน้าที่ต่อบุคคลใกล้ชิดภายในความรับผิดชอบที่บ้าน ท่านจึงแทรกมงคลอีก ๒ อย่างเข้ามาในช่องว่างแรกที่เว้นไว้ คือ การบำรุงมารดาบิดา และการสงเคราะห์บุตรภรรยา

ครั้นภาระด้านส่วนตัวครบครันแล้ว ท่านจะให้บุคคลผู้เป็นอริยสาวกนั้น คำนึงถึงความรับผิดชอบที่ตนจะพึงเกื้อกูลแก่คนอื่นขยายกว้างออกไป ตลอดถึงเพื่อนมนุษย์ทั้งหมด ให้ชีวิตของตนก้าวหน้าไปในความดีงามและได้ชื่อว่า มีส่วนร่วมในการผดุงธรรมของมนุษยชาติ ท่านจึงเสริมมงคลอีก ๓ อย่าง เข้ามาในช่องว่างหลัง คือ ญาติสังคหะ การสงเคราะห์ญาติ ทาน การให้ปันเกื้อกูลกว้างออกไป และธรรมจริยา การประพฤติธรรม

เมื่อประพฤติตนได้เพียงนี้ ก็นับว่าเพียงพอ สำหรับจะได้ชื่อว่าเป็นผู้ครองชีวิตที่ดีงามในโลก

เรื่องอาชีวะนี้ เห็นควรพูดสรุปไว้อีกว่า พระพุทธศาสนายอมรับ และยืนยันความจำเป็นทางวัตถุ โดยเฉพาะปัจจัย ๔ ดังเช่น พุทธพจน์ที่ตรัสบ่อยว่า* (ที.ปา.11/226/226; 375/289 ฯลฯ)

"สพฺเพ สตฺตา อาหารฏฺฐิติกา" สัตว์ทั้งปวงดำรงอยู่ได้ด้วยอาหาร

เจ้าของ:  กรัชกาย [ 29 พ.ย. 2017, 05:53 ]
หัวข้อกระทู้:  Re: เตรียมปัญญาไว้ ถึงหาทรัพย์ได้ อิสรภาพต้องไม่เสีย

ต่อ

อย่างไรก็ดี ความจำเป็นแท้จริงนั้น อยู่ภายในขอบเขตเท่าที่พอดีจะช่วยให้ชีวิตด้านกายดำรงอยู่ในภาวะดีงามที่ควรเป็นปกติของมัน คือ ปลอดภัย ปราศจากโทษของความขาดและความเกิน ไร้โรค ไร้ภัยอันตราย และเป็นไปได้สบาย คือ เกื้อกูลแก่การทำกิจ และการบำเพ็ญความดีงามด้านจิตและปัญญาที่สูงขึ้นไป


คุณค่าและความสำคัญของวัตถุนี้ ยังมีส่วนยืดหยุ่น โดยสมพันธ์กับเงื่อนไขทางสังคม และองค์ประกอบภายในบุคคล คือ ปัญญาที่รู้เข้าใจ เท่าทันคุณ โทษ และขอบเขตความสำคัญของวัตถุ และความสามารถประสบปีติสุขที่ประณีตกว่าการเสพเสวยอามิสสุข


ด้วยเหตุนี้ พุทธศาสนาจึงไม่สนใจที่จะกะเกณฑ์ว่า คนเราจะต้องมีวัตถุเท่ากัน เพราะเกณฑ์นั้นไม่ใช่เครื่องวัดว่าจะทำให้ทุกคนเป็นสุข และมีชีวิตที่ดีงามได้ แต่สนใจเกณฑ์อย่างต่ำที่ว่า ทุกคนควรมีปัจจัย ๔ เพียงพอที่จะมีชีวิตรอดได้ด้วยดี


พ้นจากนั้นแล้ว พุทธศาสนายอมให้มีวัตถุเสพเสวย ตามความพร้อมและพัฒนาการทางจิตปัญญาภายในขอบเขตเท่าที่จะไม่เป็นการเบียดเบียนตนเองและผู้อื่น


ข้อนี้ หมายความว่า ในการที่จะมีชีวิตเป็นสุข บุคคลที่มีพัฒนาการทางจิตปัญญาต่ำ ย่อมต้องการวัตถุเสพ หรือมีชีวิตที่ขึ้นต่อความพรั่งพร้อมปรนเปรอทางวัตถุ มากกว่าบุคคลที่มีพัฒนาการทางจิตปัญญาสูงกว่า


ส่วนความตกต่ำแห่งจิตปัญญา ที่เลยขอบเขตที่ยอมรับได้ออกไป ก็คือ ความต้องการที่กลายเป็นความหลงใหลมัวเมา เอาแต่หาสิ่งปรนเปรอตน หมกมุ่นติดกาม จนลืมนึกถึงภาวะที่ความพรั่งพร้อมทางวัตถุเป็นพื้นฐานเพื่อสิ่งดีงามที่สูงขึ้นไป และสามารถทำการบีบคั้นเบียดเบียนผู้อื่นได้ทันที เพื่อเห็นแก่ตน


เลยจากนี้ออกไปอีกทางหนึ่ง ในทิศตรงข้าม ได้แก่ ความยึดติดถือมั่น ตกเป็นทาสของทรัพย์สมบัติ เป็นต้น ที่แสวงหามาไว้ เกิดความหวงแหนห่วงกังวลจนไม่ยอมใช้ ไม่จ่ายทำประโยชน์ เป็นการเบียดเบียนทั้งตนเอง และผู้อื่น ซึ่งนับว่าเป็นความชั่วร้ายอีกรูปแบบหนึ่ง



อีกด้านหนึ่ง เลยเถิดออกไปอีกเช่นเดียวกัน ก็คือ ความผิดหวังเบื่อหน่ายกามวัตถุ จนกลายเป็นเกลียดชัง ตั้งตัวเป็นปฏิปักษ์กับโลกามิสทั้งหลาย แล้วหันมาจงใจบีบคั้นชีวิตของตนเอง เป็นอยู่อย่างบีบรัดเข้มงวดวุ่นวาย หรือหมกมุ่นอยู่กับวิธีการต่างๆ ที่จะจำขังพรากตัวบีบคั้นตน ให้พ้นจากอำนาจของวัตถุ ดูเผินๆบางทีวิธีการนี้คล้ายกับความเป็นอยู่ง่าย อาศัยวัตถุแต่น้อย แต่ผิดพลาด ที่ถือเอาการปฏิบัติเช่นนี้เป็นตัววิธีที่จะให้หลุดพ้น หรือมุ่งบีบคั้นทรมานตัว โดยมิใช่ทำด้วยปัญญารู้เท่าทันที่มุ่งความเป็นอิสระ ซึ่งอาศัยวัตถุเพียงเท่าที่จำเป็น เพื่อเปิดโอกาสให้โล่งกว้างสำหรับชีวิตที่เป็นอยู่ด้วยปัญญา และบำเพ็ญกิจด้วยกรุณา



การที่จะมีชีวิตเป็นอิสระ ไม่ขึ้นต่อวัตถุเกินจำเป็น ก็คือ การไม่สยบ ไม่หมกมุ่น ไม่หลงใหลมัวเมา ซึ่งอาศัยความรู้เท่าทัน เห็นโทษ หรือข้อบกพร่องของวัตถุ ที่เรียกว่า อาทีนวทัสสาวี และมีปัญญาทำตัวให้เป็นอิสระได้ ที่เรียกว่า นิสสรณปัญญา


ผู้มีปัญญา ย่อมรู้เท่าทัน เห็นโทษของวัตถุ เช่น ทรัพย์สินเงินทองและสิ่งปรนเปรอทั้งหลายในลักษณะต่างๆ เช่นว่า มันอาจทำให้เราหลงติดเป็นทาสของมันได้ ทำให้สุขทุกข์ของเราต้องฝากกับมันทั้งหมด มันไม่อาจให้คุณค่าที่สูงขึ้นไปทางจิตปัญญา แม้แต่เพียงความสงบใจ และเมื่อหลงติดแล้ว มันกลับเป็นตัวขัดขวางการประสบคุณค่าเช่นนั้นด้วยซ้ำ


ที่สำคัญยิ่งก็คือ โดยธรรมชาติของมันเอง สิ่งเหล่านี้ ขาดความสมบูรณ์ในตัว ที่จะสนองความต้องการของเราได้อย่างเต็มอิ่มบริบูรณ์แท้จริง เพราะมันมีสภาวะเป็นของไม่เที่ยง ไม่ยั่งยืน แปรปรวนไปได้ ไม่มีใครสามารถเป็นเจ้าของครอบครองได้จริง ไม่อยู่ในอำนาจบังคับของเราจริง จะต้องสูญสลายพรากกันไปในที่สุด


การครอบครองสิ่งเหล่านี้อย่างโง่เขลา ย่อมเป็นการทำตนเองที่ไม่มีทุกข์ ให้ต้องทุกข์ต้องเศร้า เมื่อเราเกิด มันก็ไม่ได้เกิดมากับเรา เมื่อเราตาย มันก็ไม่ตามเราไป การที่ได้แสวงหาและมีมันไว้ ก็เพื่อใช้แก้ปัญหาบรรเทาความทุกข์ เป็นฐานให้ปัญญาใช้พัฒนาความสุข ไม่ใช่เอามาเพิ่มทุกข์แก่ตัว

การมีทรัพย์สั่งสมไว้ ไม่ใช้ประโยชน์ เป็นสิ่งหาสาระอันใดมิได้ ยิ่งยึดติดเป็นทาสของมัน มีทุกข์เพราะมัน ก็ยิ่งเป็นความชั่วร้ายซ้ำหนัก


เมื่อรู้เข้าใจอย่างนี้แล้ว ก็กินใช้ โดยเอาประโยชน์หรือคุณค่าที่แท้ของมันต่อชีวิต ใช้จ่ายทรัพย์ให้เป็นประโยชน์แก่ชีวิต และแก่เพื่อนมนุษย์ บำเพ็ญสังคหวัตถุทั้ง ๔ แบ่งปันกันไปบ้าง ช่วยสร้างเสริมสภาพสังคมชนิดที่ปิดกั้นการทำความชั่ว เอื้ออำนวยแก่การทำความดี เกื้อกูลแก่การพัฒนาคุณภาพจิตและปัญญาโดยวิธีต่างๆบ้าง ร่วมกันส่งเสริมกิจกรรมที่ดีงาม และสนับสนุนคนที่ผดุงธรรมจรรโลงคุณภาพของมนุษย์บ้าง เป็นต้น ไม่ใช่การรวยเพื่อรวยยิ่งๆขึ้น หรือรวยยิ่งขึ้น เพื่อเสพเพื่อปรนเปรอตัวได้มากขึ้น


คฤหัสถ์ที่ขยันทำการงานหาเลี้ยงชีวิต และได้ทรัพย์มาโดยสุจริต กินใช้ทรัพย์อย่างเพื่อแผ่ รับผิดชอบต่อชีวิตผู้อื่น และใช้ทรัพย์ทำประโยชน์ เป็นบุคคลที่ได้รับยกย่องอย่างสูงในพุทธศาสนา ถือว่าเป็นผู้มีชัย ทั้งโลกนี้ และโลกหน้า * (เช่น ที.ปา.11/174/195)


ยิ่งมีปัญญาพอที่จะทำตนให้รอดพ้นเป็นอิสระได้ ไม่ตกเป็นทาสของทรัพย์สมบัติ และโลกามิสอื่นๆที่เข้ามาเกี่ยวข้องในชีวิตของตน ไม่ทำให้การได้สิ่งเหล่านั้นมากลายเป็นเพียงการได้ทุกข์มาทับถมตัว สามารถเป็นอยู่ด้วยจิตใจเบิกบานผ่องใส โลกธรรมฉาบไม่ติด โลกามิสถูกไม่เปื้อน มีทุกข์เบาบาง และถอนตัวออกจากทุกข์ที่เกิดขึ้นแต่ละคราวได้ฉับไว ก็ยิ่งนับว่าเป็นบุคคลประเสริฐ เป็นอิสรชน เป็นเสรีบุคคลที่แท้จริง


ท่านเหล่านี้ ถึงจะเป็นอริยบุคคล ขั้นโสดาบัน หรือแม้อนาคามี ก็เป็นผู้ประกอบกิจการงานด้วยความเอาใจใส่รับผิดชอบ ไม่ปรากฏว่า ท่านสนับสนุนให้คฤหัสถ์มีชีวิตไปวันๆ ไม่เอาใจใส่ความเป็นอยู่ ทอดทิ้งความรับผิดชอบต่างๆ ซึ่งอาจเรียกได้ว่า เป็นการดำเนินชีวิตด้วยความยึดมั่นในความไม่ยึดมั่น

หน้า 1 จากทั้งหมด 1 เขตเวลา GMT + 7 ชั่วโมง
Powered by phpBB © 2000, 2002, 2005, 2007 phpBB Group
http://www.phpbb.com/