วันเวลาปัจจุบัน 26 เม.ย. 2024, 00:58  



เขตเวลา GMT + 7 ชั่วโมง




กลับไปยังกระทู้  [ 6 โพสต์ ]    Bookmark and Share
เจ้าของ ข้อความ
โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 11 พ.ย. 2017, 19:23 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
สมาชิกระดับสูงสุด
สมาชิกระดับสูงสุด
ลงทะเบียนเมื่อ: 24 ต.ค. 2006, 12:36
โพสต์: 33766

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว


ตามหาเด็ก 8 ล้านคนยังไม่เข้าระบบธรรมศึกษา

สอบธรรมศึกษาทั่วประเทศปี 60 พุ่ง 2.3 ล้านคน

ด้านแม่กองธรรมสนามหลวง ตั้งความหวังตามหาประชากรในระบบการศึกษา 8 ล้านคนยังไม่เข้าระบบธรรมศึกษา พร้อมทำอีเลิร์นนิงเข้าถึงคนรุ่นใหม่ ใช้ได้สมบูรณ์ปลายปี 61 ...

อ่านต่อที่ : https://www.dailynews.co.th/education/609081

รูปภาพ

.....................................................
https://dhammachati.blogspot.com/


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 12 พ.ย. 2017, 10:21 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
สมาชิกระดับสูงสุด
สมาชิกระดับสูงสุด
ลงทะเบียนเมื่อ: 24 ต.ค. 2006, 12:36
โพสต์: 33766

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว


รูปภาพ

.....................................................
https://dhammachati.blogspot.com/


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 12 พ.ย. 2017, 10:27 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
สมาชิกระดับสูงสุด
สมาชิกระดับสูงสุด
ลงทะเบียนเมื่อ: 24 ต.ค. 2006, 12:36
โพสต์: 33766

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว


บทความจากหนังสือ ความสำคัญของพระพุทธศาสนาในฐานะศาสนาประจำชาติ (พระพรหมคุณาภรณ์ ป.อ.ปยุตฺโต)

............

หน้า ๑ -ความสำคัญของพระพุทธศาสนาในฐานะศาสนาประจำชาติ

พระพุทธศาสนานั้น เราถือกันว่าเป็นศาสนาประจำชาติ การถืออย่างนี้ เป็นประเพณีที่สืบต่อมาโดยถูกต้องตามสมควรแก่เหตุ คือ การที่พระพุทธศาสนากับชนชาติไทยได้มีความสัมพันธ์แนบแน่นเป็นอันเดียวกัน ทั้งในทางประวัติศาสตร์และวัฒนธรรม

ในทางประวัติศาสตร์ ความเป็นมาของชนชาติไทยเนื่องมาด้วยกันกับความเป็นมาของพระพุทธศาสนา โดยเฉพาะนับตั้งแต่สมัยที่ชนชาติไทยมีประวัติศาสตร์อันชัดเจน ชาวไทยก็ได้นับถือพระพุทธศาสนาต่อเนื่องตลอดมา จนกล่าวได้ว่า ประวัติศาสตร์ของประเทศไทย เป็นประวัติศาสตร์ของชนชาติที่นับถือพระพุทธศาสนา

ในด้านวัฒนธรรม วิถีชีวิตของคนไทยได้ผูกพันประสานกลมกลืน กับ หลักความเชื่อ และหลักปฏิบัติในพระพุทธศาสนา ตลอดเวลายาวนาน จึงทำให้เกิดการปรับตัวเข้าหากัน และสนองความต้องการของกันและกัน ตลอดจนผสมคลุกเคล้า กับ ความเชื่อถือและข้อปฏิบัติสายอื่นๆ ที่มีมาในหมู่ชนชาวไทย ถึงขั้นที่ทำให้เกิดมีระบบความเชื่อ และความประพฤติปฏิบัติทางพระพุทธศาสนา ที่เป็นแบบของคนไทยโดยเฉพาะ อันมีรูปลักษณะและเนื้อหาของคนเอง ที่เน้นเด่นบางแง่บางด้านเป็นพิเศษ แยกออกได้จากพระพุทธศาสนาอย่างทั่วๆไป ซึ่งเรียกได้ว่า เป็นพระพุทธศาสนาแบบไทย หรือพระพุทธศาสนาของคนไทย

วัฒนธรรมทุกด้าน มีรากฐานสำคัญอยู่ในพระพุทธศาสนา ถ้อยคำมากมายในภาษาไทย มีต้นกำเนิดมาจากภาษาบาลี และมีความหมายที่สืบเนื่อง ปรับ แปร หรือเพี้ยน มาจากคติในพระพุทธศาสนา แบบแผนและครรลองตามหลักการของพระพุทธศาสนา ได้รับการยึดถือเป็นแนวนำและเป็นมาตรฐานสำหรับความประพฤติ การบำเพ็ญกิจหน้าที่ และการดำเนินชีวิตของคนในสังคมไทยทุกระดับ ทั้งสถาบันพระมหากษัตริย์และพสกนิกร

คนไทยทั่วไปทั้งหมด ตั้งแต่องค์พระเจ้าแผ่นดินลงมา จนถึงผู้ชายชาวบ้านสามัญแทบทุกคนได้บวชเรียนรับการศึกษาจากสถาบันพระพุทธศาสนา ดังมีประเพณีบวชเรียนเป็นหลักฐานสืบมา วัดเป็นศูนย์กลางการศึกษาของสังคมไทย เป็นแหล่งคำสั่งสอน การฝึกอบรม และอำนวยความรู้ทั้งโดยตรงแก่ผู้เข้าไปบวชเรียนอยู่ในวัด และโดยอ้อมแก่ทุกคนในชุมชนห่างไกล ต่างก็มีวัดประจำเป็นศูนย์รวมจิตใจและเป็นศูนย์กลางกิจกรรมของชุมชน

กิจกรรมที่มีความสำคัญของรัฐ ก็ดี ของชุมชนก็ดี จะมีส่วนประกอบด้านพระพุทธศาสนาเป็นพิธีการ เพื่อเน้นย้ำความสำคัญ และเสริมคุณค่าทางจิตใจ

แม้แต่กิจกรรมเล็กน้อย จนถึงการประกอบกิจส่วนตัวของบุคคล ในชีวิตประจำวัน เช่น ตื่นนอน ล้างหน้า ออกเดินทางไปทำงาน จนถึงเข้านอน ก็อาจเคร่งครัดถึงกับนำคำสอนและข้อปฏิบัติ ในทางพระพุทธศาสนาเข้าแทรกเป็นส่วนนำสำหรับเตือนสติ กระตุ้นเร้าในทางกุศล หรือเพื่อความเป็นสิริมงคล (ดังปรากฏต่อมาภายหลัง บางทีเลือนรางเหลือเพียงเป็นการทำตามๆกันมา เป็นเรื่องโชคลาง หรือสักว่าทำพอเป็นพิธี)
เหตุการณ์ทั้งหลายในช่วงเวลาและวัยต่างๆ ของชีวิต เช่น การเกิด การแต่งงาน และการตาย ก็ทำให้มีความสำคัญและดีงามด้วยกิจกรรมทางพระพุทธศาสนา กล่าวได้ว่า ชีวิตของคนไทยผูกพัน อิงอาศัยกัน กับ พระพุทธศาสนาเต็มตลอด ตั้งแต่เกิดจนถึงตาย

สภาพที่กล่าวมานี้ ได้เป็นมาช้านาน จนฝังลึกในจิตใจ และวิถีชีวิตของชาวไทย กลายเป็นเครื่องหล่อหลอม กลั่นกรองนิสัยใจคอพื้นจิตของคนไทย ให้มีลักษณะเฉพาะตน ที่เรียกว่าเป็นเอกลักษณ์ของสังคมไทย และทำให้พูดได้อย่างถูกต้องมั่นใจว่า พระพุทธศาสนาเป็นศาสนาประจำชาติของพระเทศไทย

อย่างไรก็ตาม เมื่อ ๑๐๐ ปีเศษล่วงมานี้ ประเทศไทยได้ถูกคุกคามโดยลัทธิอาณานิคม เป็นเหตุให้ต้องมีการเปลี่ยนแปลงระบบแบบแผนต่างๆ ในการบริหารประเทศ ตามแบบอย่างประเทศตะวันตก เพื่อเร่งรัดปรับปรุงตัวให้เจริญทัดเทียมที่จะต้านทานป้องกันอำนาจครอบงำของประเทศที่กำลังเที่ยวล่าอาณานิคมอยู่ในเวลานั้น เริ่มแต่เปลี่ยนแปลงระบบการศึกษา ไปจนถึงเปลี่ยนแปลงระบบการปกครองในที่สุด

พร้อมกันนั้น วัฒนธรรมแบบตะวันตกก็หลั่งไหลเข้ามามากขึ้นตามลำดับ ทำให้วิถีชีวิตของคนไทยเปลี่ยนแปลงไปในแนวทางที่แปลกแยกห่างเหินจากวัฒนธรรมไทยเดิมยิ่งขึ้นทุกที แม้ว่าเอกราชของประเทศชาติจะได้รับการดำรงรักษาให้รอดพ้นปลอดภัยมาได้ แต่เอกลักษณ์ของสังคมไทยก็ได้ถูกกระทบกระแทกจนสึกกร่อน และเลือนรางลงไปเป็นอันมาก

เมื่อเวลาผ่านมาจนถึงยุคปัจจุบัน ความแปลกแยกห่างเหินจากวัฒนธรรมของตน และความกร่อนเลือนไม่ชัดเจนของเอกลักษณ์ไทย ก็ทำให้คนไทยจำนวนไม่น้อย เกิดความไม่มั่นใจหรือลังเลที่จะพูดว่า พระพุทธศาสนาเป็นศาสนาประจำชาติของประเทศไทย โดยเฉพาะ
ในด้านการเมือง การปกครอง แม้ว่าบทบัญญัติในรัฐธรรมนูญข้อว่า “พระมหากษัตริย์ทรงเป็นพุทธมามกะ” จะมีผู้ตีความว่าเป็นการบ่งบอกโดยนัยว่า พระพุทธศาสนาเป็นศาสนาประจำชาติ เพราะกำหนดตายตัวให้พระพุทธศาสนาเป็นสถาบันคู่กันกับสถาบันพระมหากษัตริย์ และเป็นหลักประกันว่า องค์พระประมุขของชาติทรงเป็นศาสนิกแห่งศาสนาเดียวกัน กับ ประชากรส่วนใหญ่ของประเทศของพระองค์

แต่กระนั้น คนไทยไม่น้อย แม้ผู้มีหน้าที่รับผิดชอบชะตากรรมของประเทศ ก็ยังขาดความมั่นใจ ต่างก็พยายามหลีกเลี่ยงที่จะพูดถึงคำพูดประโยคสั้นๆที่ว่า พระพุทธศาสนาเป็นศาสนาประจำชาตินี้ หรือไม่ก็พูดออกมา อย่างอึกอักอ้อมแอ้ม

ภาวะลังเล ขาดความมั่นใจ และไม่แน่วแน่เข้มแข็งที่เริ่มกลายเป็นความขัดแย้งกันนี้ ได้ครอบงำสังคมไทยอยู่เวลาหนึ่ง จนกระทั่งในที่สุด ความยืนยันตัวเองก็กลับคืนมา ได้อีกครั้งหนึ่ง เมื่อชาวไทยทั่วประเทศได้ฟังกระแสพระราชดำรัสของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ที่ตรัสต้อนรับพระสันตะปาปา จอห์น ปอล ที่ ๒ ประมุขแห่งศาสนจักรคาทอลิก ในคราวที่เข้าเฝ้า ณ พระที่นั่งจักรีมหาปราสาท ในวันที่ ๑๐ พฤษภาคม ๒๕๒๗ มีความจำเพาะตอนนี้ว่า

คนไทยเป็นศาสนิกชนที่ดีทั่วกัน ส่วนใหญ่นับถือพระพุทธศาสนาอันเป็นศาสนาประจำชาติ

หลังจากได้ความมั่นใจ ดุจเป็นพระราชวินิจฉัยจากพระราชดำรัสครั้งนี้แล้ว บุคคลและวงการต่างๆ ก็พากันมีความกล้าหาญที่จะพูด หรือเขียนให้ชัดแจ้งออกมาว่า “พระพุทธศาสนาเป็นศาสนาประจำชาติ”

เหตุผลที่ถือว่า พระพุทธศาสนาเป็นศาสนาประจำชาติ มิใช่เฉพาะที่กล่าวไว้คร่าวๆข้างต้นเท่านั้น แต่มีมากหลายประการ ซึ่งพอจะประมวลได้ดังนี้

.....................................................
https://dhammachati.blogspot.com/


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 12 พ.ย. 2017, 19:13 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
สมาชิกระดับสูงสุด
สมาชิกระดับสูงสุด
ลงทะเบียนเมื่อ: 24 ต.ค. 2006, 12:36
โพสต์: 33766

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว


พระพุทธศาสนาเป็นศาสนาของประชากรส่วนใหญ่ของประเทศไทย

ในจำนวนของประชากรส่วนใหญ่ของประเทศไทย ปัจจุบันประมาณ ๕๓ ล้านคน (พิมพ์ครั้งแรก ๒๕๓๐)
มีพลเมืองที่นับถือพระพุทธศาสนาประมาณร้อยละ ๙๕ หรือพูดได้ว่าคนไทยเกือบทุกคนเป็นผู้นับถือพระพุทธศาสนา เมื่อพูดอย่างกว้างๆ หรือเอาส่วนใหญ่เป็นหลักโดยไม่ต้องประกาศอย่างเป็นทางการ ก็ถือได้ว่า พระพุทธศาสนาเป็นศาสนาประจำชาติของประเทศไทย

อาจมีผู้ตั้งข้อสงสัยว่า ถึงแม้พระพุทธศาสนาจะเป็นศาสนาของประชากรส่วนใหญ่ก็จริง แต่การถือว่า พระพุทธศาสนาเป็นศาสนาประจำชาติ จะกลายเป็นไม่ยอมรับ หรือไม่ให้ความสำคัญ ตลอดจนเป็นการกีดกั้นข่มขี่ศาสนาของคนส่วนน้อยทั้งหลายไปหรือไม่

ข้อสงสัยนี้ ตอบได้ว่า ลักษณะการนับถือศาสนาโดยทั่วไป แยกได้เป็น ๒ แบบ คือ

การนับถือศาสนาอย่างหนึ่ง เป็นแบบยึดติดถือมั่นว่า ข้อที่พวกตนถือปฏิบัติเท่านั้นจึงจะถูกต้อง ใครถืออย่างอื่น เป็นผิดทั้งสิ้น อาจถือถึงขนาดที่ว่า ความเชื่อถือปฏิบัติหรือศาสนาอื่นเป็นบาป เป็นมารร้ายที่จะต้องใช้กำลังกำจัดกวาดล้างให้หมดสิ้นไป อย่างน้อยก็ถืออย่างเป็นเหตุให้แบ่งพวก แบ่งหมู่ ในลักษณะที่เป็นปฏิปักษ์กัน เข้ากันไม่ได้ นี้แบบหนึ่ง

การถือศาสนาแบบนี้ ถ้าพวกที่ถือเป็นคนส่วนใหญ่ ก็จะต้องไม่ยอมรับ และจะต้องกีดกั้นข่มขี่ หรือถึงกับเบียดเบียน กำจัดกวาดล้างลัทธิศาสนาของพวกคนส่วนน้อยอย่างแน่นอน อย่าว่าแต่พวกที่ถือต่างกันจะเป็นคนส่วนใหญ่ กับ คนส่วนน้อยเลย


แม้แต่จะเป็นกลุ่มเป็นหมู่ที่ใหญ่เท่าๆกัน ใกล้เคียงกัน หรือเป็นกลุ่มเป็นหมู่เล็กๆ ด้วยกัน ก็ต้องมีการขัดแย้งกัน มีการกระทบกระทั่งรุนแรง หรือรบราฆ่าฟันกัน ไม่ว่าจะมีศาสนาใดศาสนาหนึ่งเป็นศาสนาประจำชาติหรือไม่ก็ตาม ดังปรากฏให้เห็นอยู่เด่นชัดในหลายประเทศในปัจจุบัน

การนับถือศาสนาอีกแบบหนึ่ง เป็นการดำเนินไปตามหลักธรรมดาที่ว่า การที่จะมีชีวิตที่ดีงามนั้น สำหรับสามัญชน ก็จะต้องมีหลักความเชื่อถือและระบบความประพฤติปฏิบัติอย่างใดอย่างหนึ่งเป็นแบบแผน หรือเป็นแนวนำ จึงเลือกรับหรือรับช่วงสืบทอดเอาศาสนาอย่างหนึ่งมานับถือ โดยเลื่อมใสศรัทธา และได้พิจารณาเห็นว่า คำสอนและข้อปฏิบัติของศาสนานั้นดีงาม เป็นคุณประโยชน์เหมาะสมที่จะนำทางชีวิตของตน และเป็นความจริงแท้เท่าที่ตรองเห็นด้วยสติปัญญาแล้วว่ามีคุณค่า ซึ่งจะไม่พาไปสู่ความหลงผิด


การนับถือแบบที่สองนี้ มีแต่การเห็นคุณค่าและความดีงามที่มองเห็นตระหนักแก่ตน โดยไม่ต้องมีการรังเกียจเดียดฉันท์ หรือเพ่งโทษความเชื่อถือปฏิบัติ ที่เรียกว่าศาสนาของคนอื่นพวกอื่น ไม่เป็นเหตุแบ่งแยก หรือเบียดเบียนกับใครๆ แต่อยู่ร่วมและยอมรับกันได้ มองคนอื่นโดยเห็นว่าเป็นสิทธิหรือเป็นความเหมาะกันกับตัวเขาที่จะเชื่อถือปฏิบัติอย่างนั้น


แม้นถ้าหากจะเห็นว่าความเชื่อถือปฏิบัติของคนอื่นนั้นผิด ก็ย่อมคิดที่จะช่วยแก้ไขด้วยความรักใคร่ปรารถนาดี โดยท่าทีแห่งความการุณย์ต่อมิตร และด้วยวิธีการแห่งปัญญาเพียงอย่างเดียว คือทำให้เขามองเห็น รู้เข้าใจและยอมรับด้วยตนเองเท่านั้น ไม่มีการบังคับล่อเอาหรือยัดเยียดให้

โดยนัยนี้ ถ้าผู้นับถือศาสนาแบบหลังเป็นคนส่วนใหญ่ การที่ศาสนาของคนเหล่านั้น ได้เป็นศาสนาประจำชาติ ย่อมจะไม่เป็นเหตุให้มีการกีดกั้นข่มเหงต่อศาสนาของชนส่วนน้อยแต่ประการใด แต่ในทางตรงข้าม หมู่ชนส่วนน้อยที่นับถือศาสนาอื่น จะกลับพลอยร่วมได้รับประโยชน์และผลดีตามไปด้วย ดังจะเห็นได้จากความที่จะกล่าวต่อไป

อย่างไรก็ตาม มีข้อสังเกตว่า หมู่ชนที่นับถือศาสนาแบบหลังนี้ ไม่ว่าจะเป็นชนส่วนใหญ่หรือชนส่วนน้อยก็ตาม แม้ถึงจะเป็นเจ้าของศาสนาประจำชาติ แต่ถ้าอยู่ร่วมด้วยกับหมู่ชนที่นับถือศาสนาแบบแรก ก็มักจะตกอยู่ในฐานะเสียเปรียบ โดยถูกรุกไล่เบียดเบียนจากผู้ถือศาสนาแบบแรก แม้ที่เป็นชนกลุ่มย่อย กลายเป็นฝ่ายตั้งรับ ร่นถอย และร่อยหรอลงไปเรื่อยๆ

ในการเกี่ยวข้องสัมพันธ์กับศาสนานั้น รัฐต่างๆ มีวิธีปฏิบัติที่แยกได้ง่ายๆ เป็น ๒ ประเภท
คือ
สัมพันธ์แบบให้ความสำคัญ ตลอดจนช่วยอุ้มอุปถัมภ์ กับ สัมพันธ์แบบวางเฉยไม่เกี่ยวข้อง ตลอดจนปฏิบัติอย่างเป็นปฏิปักษ์
แต่ไม่ว่าจะสัมพันธ์แบบใด ก็ล้วนเป็นการปฏิบัติเพื่อประโยชน์แก่รัฐทั้งสิ้น กล่าวคือ เป็นเรื่องของการปกครอง ซึ่งดำเนินการในวิถีทางต่างๆ ที่จะทำให้ศาสนาอำนวยประโยชน์แก่รัฐ หรือรักษาผลประโยชน์ของรัฐไว้ ไม่ให้ถูกกระทบกระเทือนจากฝ่ายศาสนา ประเภทแรก เป็นความสัมพันธ์ในทางบวก ประเภทหลัง เป็นความสัมพันธ์ในทางลบ

รัฐที่มีความสัมพันธ์กับศาสนาในทางลบ ก็เพราะเห็นว่า ความสัมพันธ์กับศาสนาในทางบวก จะก่อให้เกิดปัญหาแก่รัฐ
เช่น
ในประเทศที่มีผู้นับถือลัทธิศาสนาต่างกันมากหลาย และลัทธิศาสนาเหล่านั้น มีลักษณะการนับถือแบบยึดติดแบ่งพวกแบ่งหมู่ ไม่ยอมรับกัน มีความขัดแย้งสูง การเกี่ยวข้องกับลัทธิศาสนาเหล่านั้น มีแต่จะก่อให้เกิดปัญหาความกระทบกระทั่ง แก่งแย่งกัน ตลอดจนความรุนแรงต่างๆ มากขึ้น รัฐก็จะวางเฉยไม่เกี่ยวข้องกับลัทธิศาสนาใดๆ โดยตรง หรือในบางประเทศที่รัฐปกครองด้วยลัทธินิยม ซึ่งเป็นปฏิปักษ์กับศาสนา ลัทธินิยมนั้น ก็เสมือนเป็นศาสนาผูกขาดของรัฐนั้น รัฐนั้นจึงอาจปฏิบัติ ในลักษณะที่เป็นปฏิปักษ์ต่อศาสนาอื่นๆ
เช่น
ไม่ให้เสรีภาพในการเผยแผ่ศาสนา แต่ให้เสรีภาพในการโจมตีศาสนา ทั้งนี้ เพื่อป้องกันไม่ให้ศาสนาอื่นมาชักจูงประชาชนให้หันเหออกไปจากลัทธินิยมประจำรัฐของตน หรือในบางกรณี ถ้าเป็นไปได้ ก็อาจถึงกับให้นักบวชในศาสนาอื่นเป็นสื่อเผยแพร่ลัทธินิยมนั้นเสียเลย

ในประเทศที่ประชาชนส่วนใหญ่นับถือศาสนาเดียวกัน และศาสนานั้น มีลักษณะการนับถือแบบไม่ผูกขาด ไม่รังเกียจเดียดฉันท์ผู้นับถือศาสนาอื่นๆ ไม่แบ่งพวกแยกหมู่ ย่อมเป็นการสมควรที่รัฐจะยอมรับให้เป็นที่ปรากฏชัดว่า ศาสนานั้นเป็นศาสนาประจำชาติ ดังเช่น
กรณีของพระพุทธศาสนาที่เป็นศาสนาประจำชาติของประเทศไทย ทั้งนี้ เพื่อจะได้เกิดความสะดวกหรือคล่องตัว ในการที่รัฐหรือสังคมจะเกี่ยวข้องสัมพันธ์ และปฏิบัติต่อศาสนาและองค์ประกอบของศาสนานั้นได้อย่างถูกต้องเหมาะสม และได้ผลดีโดยสมบูรณ์ เฉพาะอย่างยิ่ง ในแง่ที่จะถือเอาประโยชน์จากศาสนานั้นได้อย่างเต็มที่ เช่น ในการส่งเสริมสนับสนุนให้ศาสนานั้นมีกำลังความสามารถที่จะอำนวยประโยชน์สุขอย่างสูงสุดแก่รัฐและแก่สังคม เป็นต้น

อนึ่ง ในการปฏิบัติเช่นนี้ ผลดีย่อมเกิดขึ้นแก่ศาสนาต่างๆของชนกลุ่มน้อยทั้งหลายด้วย เพราะการที่ศาสนาของคนส่วนใหญ่ปรากฏตัวเด่นชัดขึ้นมา ย่อมทำให้ศาสนาอื่นๆของชนกลุ่มน้อยทั้งหลายพลอยปรากฏตัวเด่นชัดขึ้นมาด้วย เช่น ทำให้รัฐและสังคมรู้เห็นเข้าใจว่า ศาสนาอื่นที่คนในประเทศเดียวกับตนนับถือ ยังมีศาสนาอะไรอีกบ้าง


ศาสนาใดมีชนกลุ่มน้อยพวกไหนนับถือ มีจำนวนเท่าใด มีข้อแตกต่างในธรรมเนียมปฏิบัติ และการที่จะเข้าไปเกี่ยวข้องอย่างไร เป็นต้น ซึ่งในเมื่อไม่มีการแบ่งแยกกีดกั้นข่มเหงกันดังกล่าวแล้ว ความปรากฏตัวเด่นชัดนี้ ก็จะช่วยให้เกิดความสะดวกหรือคล่องตัวในการที่จะเกี่ยวข้องปฏิบัติต่อศาสนานั้นๆ ในแนวทางของการส่งเสริมสนับสนุนเช่นเดียวกัน ตามสัดส่วนที่เหมาะสม

ควรทำความเข้าใจให้ชัดเจนเกี่ยวกับคำพูดที่ว่า รัฐพึงเกี่ยวข้องสัมพันธ์และถือเอาประโยชน์จากศาสนา เพราะถ้าตีความคำพูนี้ไม่ถูกต้อง อาจเข้าใจความหมายผิดพลาด และเห็นไปในทางตรงข้ามตามที่มีผู้ถือว่า การที่รัฐถือเอาประโยชน์จากศาสนาเป็นความชั่วร้าย ความจริง การที่รัฐถือเอาประโยชน์จากศาสนา หรือช่วยให้ศาสนาอำนวยประโยชน์แก่รัฐนั้น เป็นหลักธรรมดาของการปกครองทีเดียว ในทางตรงข้าม ถ้ารัฐไม่ถือเอาประโยชน์จากศาสนานั้นแหละ จะเป็นการผิดวิสัยของการปกครอง และเป็นความบกพร่องของการปกครองนั้นด้วย ปัญหามีเพียงว่า การถือเอาประโยชน์จากศาสนานั้น เป็นไปโดยชอบธรรมหรือไม่

การปกครองที่ถือเอาประโยชน์จากศาสนาโดยชอบธรรม หมายถึง การส่งเสริมสนับสนุนร่วมมือ หรือเอื้ออำนวยโอกาสให้ศาสนาสามารถบำเพ็ญกิจหน้าที่เพื่อประโยชน์สุขของประชาชน ทำให้ประชาชนเป็นคนดีมีศีลธรรมอยู่ร่วมกันอย่างร่มเย็น เป็นสังคมที่มีสันติสุข ซึ่งเป็นจุดหมายร่วมกันทั้งของการปกครองของรัฐ และของศาสนา


แต่ถ้าผู้ปกครอง ใช้ศาสนาหรือองค์ประกอบของศาสนาเป็นเครื่องมือเสริมอำนาจ หรือความมั่นคงแห่งสถานะของตน หรือแสวงหาผลประโยชน์ส่วนตัวอย่างหนึ่งอย่างใด ก็เรียกว่า เป็นการถือเอาประโยชน์โดยไม่ชอบธรรม

เป็นธรรมดาว่า ในการปกครองนั้น ไม่ว่าจะมีสิ่งหนึ่งสิ่งใดก็ตาม ที่จะยังผลกระทบต่อประโยชน์สุขของประชาชน รัฐหรือผู้ปกครองจะต้องสนใจเกี่ยวข้อง และปฏิบัติต่อสิ่งนั้นในทางที่จะบังเกิดผลดีต่อประชาชน
ศาสนาเป็นสถาบันที่สำคัญยิ่ง และมีอิทธิพลอย่างมากมายต่อชีวิตจิตใจและความเป็นอยู่ของประชาชน
ถ้าศาสนามีกำลังทำกิจหน้าที่อย่างถูกต้อง ก็จะเป็นปัจจัยสำคัญที่นำประโยชน์สุขมาให้แก่ประชาชน


แต่ถ้าศาสนาอ่อนแอ หรือถูกนำมาปฏิบัติอย่างผิดพลาดคลาดเคลื่อน ก็อาจทำให้เกิดความสูญเสียประโยชน์ หรือก่อโทษแก่สังคมได้อย่างกว้างขวางลึกซึ้ง จึงจำเป็นอย่างหลีกเลี่ยงมิได้ ที่รัฐหรือผู้ปกครองจะต้องเกี่ยวข้องสัมพันธ์กับศาสนา และช่วยให้ศาสนาก่อประโยชน์อย่างถูกต้อง เพียงแต่ว่าจะต้องระวังให้เป็นการถือเอาประโยชน์จากศาสนา หรือทำให้ศาสนาอำนวยประโยชน์แก่รัฐโดยชอบธรรม อย่างที่กล่าวแล้วข้างต้น

การปกครองนั้น มีหลักการที่จะสร้างสรรค์ประโยชน์สุขแก่ประชาชนทั่วทั้งหมด และในทางปฏิบัติย่อมเป็นการสมควรที่รัฐจะดำเนินการให้ประโยชน์สุขนั้นเกิดขึ้นแก่ประชาชนจำนวนมากที่สุด ในเวลาอันรวดเร็วที่สุด

ดังนั้น ในกรณีที่ประชาชนส่วนใหญ่นับถือศาสนาเดียวกันอยู่แล้ว การเกี่ยวข้องสัมพันธ์ด้วยดี หรือการส่งเสริมสนับสนุนศาสนานั้น ก็เท่ากับเป็นการสร้างสรรค์อำนวยประโยชน์สุขแก่ประชาชนแทบทั้งประเทศได้พร้อมกันทั้งหมดในคราวเดียว

ปัญหามีเพียงว่า ถ้าคนส่วนใหญ่ที่นับถือศาสนาเดียวกันนั้น มีลักษณะการนับถืออย่างใจแคบ รังเกียจเดียดฉันท์กีดกั้นศาสนาอื่น การส่งเสริมศาสนาของคนส่วนใหญ่นั้น ก็จะกลายเป็นการสนับสนุนให้คนส่วนใหญ่มีกำลังมากขึ้นในการที่จะข่มเหงรังแกหรือเบียดเบียนคนส่วนน้อย และการมีศาสนาประจำชาติในกรณีอย่างนี้ ก็ย่อมมีความหมายเป็นการกีดกั้นตัดรอน ตลอดจนทำลายชนกลุ่มน้อยทั้งหลายที่นับถือศาสนาอื่นๆ

แต่ถ้าศาสนาของคนส่วนใหญ่ มีลักษณะการนับถือแบบใจกว้าง มีความเข้าใจและไมตรีต่อคนที่นับถือศาสนาอื่นในฐานะเพื่อนมนุษย์เสมอกัน มิใช่เห็นเป็นคนบาป หรือพวกมารร้าย การยกศาสนานั้นขึ้นเป็นศาสนาประจำชาติ ย่อมกลายเป็นหนทางลัดในการที่จะสร้างสรรค์ประโยชน์สุขแก่ประชาชนทั้งชาติได้ในเวลาอันรวดเร็วที่สุด โดยก้าวแรกขั้นเดียวก็ครอบคลุมคนส่วนใหญ่ทั้งหมด แล้วก้าวต่อไปเพียงอีกนิดน้อย ก็แผ่ประโยชน์สุขไปให้ทั่วถึงแก่คนกลุ่มย่อยๆที่เหลืออยู่ได้อย่างง่ายดาย

.....................................................
https://dhammachati.blogspot.com/


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 14 พ.ย. 2017, 17:18 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
สมาชิกระดับสูงสุด
สมาชิกระดับสูงสุด
ลงทะเบียนเมื่อ: 24 ต.ค. 2006, 12:36
โพสต์: 33766

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว


หน้า ๑๖ - พระพุทธศาสนาเป็นแกนนำ และเป็นรากฐานสำคัญของวัฒนธรรมไทย


ดังได้กล่าวแล้วข้างต้นว่า วิถีชีวิตของคนไทยผูกพันอยู่อย่างแนบแน่นกับพระพุทธศาสนา ความเชื่อถือและหลักปฏิบัติในพระพุทธศาสนา ซึมแทรกผสมผสานอยู่ในแนวความคิดจิตใจ และกิจกรรมแทบทุกด้านของชีวิตไทยตลอดเวลายาวนาน โดยยังคงเนื้อหาสาระเดิมที่บริสุทธิ์ไว้ได้ ก็มี ถูกดัดแปลงเสริมแต่งตลอดจนปนเป กับ ความเชื่อถือ และข้อปฏิบัติสายอื่น หรือผันแปรไปด้วยเหตุอื่นๆ จนผิดเพี้ยนไปจากเดิมก็มาก

ในทางจิตใจ เห็นได้ชัดว่า หลักธรรมความประพฤติ การดำเนินชีวิต และกิจกรรมต่างๆ ทั้งในและเนื่องด้วยพระพุทธศาสนา ได้หล่อหลอมชีวิตจิตใจ และลักษณะนิสัยของคนไทย ให้เป็นผู้มีจิตใจกว้างขวาง และร่าเริงแจ่มใส ชอบเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ แสดงความเป็นมิตร เข้ากับใครๆได้ง่าย ยินดีในการให้และแบ่งปัน พร้อมจะบริจาคและให้ความช่วยเหลือ อย่างที่เรียกว่า เป็นคนมีน้ำใจ อันเป็นลักษณะเด่นชัด ที่ชนต่างชาติมักสังเกตเห็นและประทับใจ จนตั้งสมญาเมืองไทยว่าเป็นดินแดนแห่งความยิ้มแย้ม หรือ สยามเมืองยิ้ม

ประเพณีและพิธีการต่างๆ ของแต่ละบุคคล ก็ดี ในวงจรเวลาหรือฤดูกาลของสังคมหรือชุมชนก็ดี ล้วนเกี่ยวข้องกับพระพุทธศาสนาโดยตลอด
ถ้าไม่มีเรื่องของศาสนา หรือสืบเนื่องจากพระพุทธศาสนาโดยตรง ก็ต้องมีกิจกรรมตามคติความเชื่อหรือแนวปฏิบัติในพระพุทธศาสนาแทรกอยู่ด้วย

สำหรับวงจรชีวิตของบุคคล เช่น ตั้งชื่อ โกนผมไฟ บวช แต่งงาน ทำบุญอายุ พิธีศพ เป็นต้น ซึ่งไม่ว่าจะจัดย่อยละเอียดถี่มากกว่านี้ หรือตัดออกบ้าง ให้น้อยกว่านี้ เหลือเฉพาะที่สำคัญหรือจำเป็น ก็พูดรวมๆได้ว่า ตั้งแต่เกิดจนตาย ล้วนจัดให้เนื่องด้วยคติในพระพุทธศาสนา


ส่วนในวงจรกาลเวลาของสังคมและชุมชน ก็มีงานประเพณี และเทศกาลประจำปี ทั้งที่เป็นเรื่องทางพระพุทธศาสนา โดยตรง เช่น มาฆบูชา วิสาขบูชา เข้าพรรษา ออกพรรษา กฐิน เป็นต้น และที่จัดให้เข้ากับคติของพระพุทธศาสนา เช่น ตรุษ สงกรานต์ สารท ลอยกระทง เป็นต้น ตลอดจนงานมนัสการปูนียวัตถุสถานประจำปีของวัดต่างๆ


ด้วยเหตุนี้ ในท้องถิ่นทั้งหลายทั่วสังคมไทย ฤดูกาลจึงผ่านไปโดยไม่ว่างเว้นจากงานพิธีทางพระพุทธศาสนา จนชีวิตและสังคมไทยผูกพันแนบสนิทเป็นอันหนึ่งอันเดียว กับ พระพุทธศาสนา ดังได้กล่าวแล้วข้างต้น เทศกาล งานประเพณี และพิธีการต่างๆเหล่านี้ นอกจากเป็นเครื่องผูกพันและร้อยประสานรวมใจประชาชนทั่วทั้งถิ่น และสังคมให้กลมกลืนเป็นอันหนึ่งอันเดียวมีความสามัคคีกันแล้ว กิจกรรมบุญกุศลในโอกาสเหล่านี้ ล้วนโน้มน้อมไปในทางการให้การบริจาค สละและสลัดคลายความยึดติด จึงเป็นเครื่องกล่อมเกลาจิตใจ และฝึกนิสัยของคนไทย ให้มีอัธยาศัยกว้างขวางเผื่อแผ่ มีไมตรีและน้ำใจ อย่างที่ได้กล่าวมาแล้ว

ภาษาเป็นส่วนประกอบสำคัญยิ่งของวัฒนธรรม และคำบาลีสันสกฤตก็เป็นส่วนประกอบที่สำคัญของภาษาไทย
คำบาลีนั้น มาจากพระพุทธศาสนาโดยตรง
ส่วนคำสันสกฤตมาจากพระพุทธศาสนาบ้าง มาจากศาสนาฮินดูบ้าง แต่รวมความแล้ว พระพุทธศาสนาก็เป็นแหล่งใหญ่แห่งความเจริญงอกงามของภาษาไทย แม้แต่ถ้อยคำสามัญที่ใช้ในชีวิตประจำวัน ก็เป็นคำที่มาจากบาลีสันสกฤตหลายส่วน

ยกตัวอย่างง่ายๆ เช่น ในประโยคว่า “คุณวรินทร์ รับประทานอาหารเช้าแล้ว ก็ขับรถยนต์พาบุตรหญิงคนเล็กไปส่งให้คุณครูที่โรงเรียนอนุบาล แล้วแวะส่งภรรยา ซึ่งเป็นอาจารย์มหาวิทยาลัย ที่สถาบันของเธอ จากนั้น จึงไปที่ทำงาน” คำว่า อาหาร รถยนต์ บุตร ครู อนุบาล ภรรยา อาจารย์ มหาวิทยาลัย และสถาบัน เป็นคำบาลีสันสกฤตทั้งสิ้น

อีกตัวอย่างหนึ่ง ลองดูข่าวในหนังสือพิมพ์รายวันฉบับหนึ่ง ในวันที่ ๑๔ ต.ค. ๒๕๓๐ นี้ว่า “ในการพิจารณาเรื่องนี้ กระทรวงเกษตร ฯ ได้เน้นเรื่องการประกันภัยเกษตรกร โดยให้กลุ่มสหกรณ์ชาวนาเป็นผู้ดำเนินการ แต่กระทรวงพาณิชย์ไม่เห็นด้วย และเสนอว่ากลุ่มสหกรณ์ ยังไม่มีประสิทธิภาพเพียงพอในการดำเนินงาน ทั้งทางด้านการบริหาร...” คำว่า พิจารณา เกษตร ภัย เกษตรกร สหกรณ์ การพาณิชย์ ประสิทธิภาพ และบริหาร ก็คำบาลีสันสกฤตทั้งนั้น


ยิ่งในภาษาราชการ และภาษาทางวิชาการ ก็ยิ่งมีถ้อยคำที่มาจากภาษาบาลีสันสกฤตมากขึ้น ตลอดกระทั่งการตั้งชื่อบุคคล และสถานที่ต่างๆเพื่อให้ไพเราะหรือเพื่อให้เห็นสำคัญ ก็นิยมตั้งเป็นคำบาลีสันสกฤต ยิ่งกว่านั้น ยังนิยมให้พระสงฆ์ที่เคารพนับถือเป็นผู้ตั้งให้เพื่อความเป็นสิริมงคลอีกด้วย

ภาษาเป็นอุปกรณ์ของวรรณกรรม และวรรณกรรมก็ช่วยให้ภาษาเจริญเติบโต อุดมสมบูรณ์ยิ่งขึ้น นอกจากภาษาของพระพุทธศาสนา คือ บาลี รวมทั้งสันสกฤตจะเป็นเครื่องมือหลักของกวีไทยทั้งหลายแล้ว เรื่องราวต่างๆในคัมภีร์พุทธศาสนา ยังเป็นที่มาแหล่งใหญ่ของบทประพันธ์ และกวีนิพนธ์ทั้งหลายในประเทศไทย สืบแต่โบราณอีกด้วย วรรณคดีไทยเรื่องสำคัญๆ ที่เป็นมรดกตกทอดมาแต่อดีต เป็นเรื่องราวในพระพุทธศาสนาโดยตรงบ้าง ได้รับอิทธิพลโดยอ้อมบ้าง เป็นผลงานของนิพนธ์ของพระสงฆ์ในวัดเองบ้าง ประพันธ์โดยท่านที่ได้รับการศึกษาไปจากวัดบ้าง

แม้ว่าในปัจจุบัน ภาษาไทย และวรรณกรรมไทยจะขยายตัวเจริญเติบโตขึ้น โดยได้อิทธิพลจากภาษาต่างประเทศสายอื่น และเรื่องราวแปลกใหม่ในขอบเขตที่กว้างขวางออกไป จนบางครั้งทำให้ถ้อยคำที่มาจากบาลีสันสกฤตบางส่วน และวรรณคดีไทยเก่าๆ เหล่านั้น ดูเหมือนจะกลายเป็นเรื่องของอดีตนานไกลที่ล่วงผ่านสมัยไปแล้ว
แต่กระนั้นก็ตาม ถ้อยคำและวรรณคดีไทยเก่าๆ ทั้งหลาย ก็ยังคงความสำคัญในฐานะเป็นที่สืบค้นความเป็นไทย และความเป็นมาของไทย พร้อมทั้งภูมิธรรมภูมิปัญญาของไทยอยู่ต่อไป

ยิ่งกว่านั่น การที่จะนำสังคมไทยให้เดินหน้าไปสู่ความเจริญพัฒนาอย่างได้ผลดี มีเนื้อหาสาระแท้จริง โดยไม่ล้มเหลวเสียก่อน และทั้งไม่สูญเสียความเป็นไทยด้วยนั้น คนไทยในช่วงต่อแห่งยุคสมัยนี้ จะต้องเป็นผู้ฉลาดที่จะสืบทอดความเป็นไทยเอาไว้เป็นแกนในของตัว พร้อมไปด้วยกันกับการรับเอาความเจริญใหม่ๆ จากภายนอกเข้ามาผนวกและกลั่นย่อยเสริมตัวให้เติบขยายและก้าวหน้าต่อไป

นอกจากภาษาและวรรณคดีแล้ว ศิลปะและดนตรีไทย ก็เนื่องอยู่ด้วยกัน กับ พระพุทธศาสนา เพราะเหตุว่า นอกจากวัง ซึ่งเป็นส่วนเฉพาะของเจ้านายแล้ว สำหรับประชาชนทั่วไป ก็มีแต่วัดเท่านั้นที่เป็นแหล่งใหญ่ที่กำเนิด รักษา สืบทอดพัฒนา หรือสนับสนุนศิลปะและดนตรี


วัดเป็นศูนย์กลางของชุมชน เป็นศูนย์กลางแห่งกิจกรรมทางสังคม และเป็นสมบัติส่วนรวมร่วมกันของชุมชน ศิลปะและดนตรี จึงอาศัยวัดเป็นที่จัดแสดงหรือปรากฏตัว ดนตรีถูกใช้ประกอบพิธีกรรมต่างๆ ทางพระศาสนา แม้แต่การแสดงพระธรรมเทศนา เป็นเครื่องเสริมคุณค่าทางอารมณ์ ความละเมียดละไม โอ่อ่า และความรู้สึกเป็นจริงเป็นจัง ตั้งแต่งานสมโภชไปจนถึงงานอวมงคล จิตรกรรม ประติมากรรม และสถาปัตยกรรมต่างๆ ได้รับการสร้างสรรค์ขึ้นด้วยแรงบันดาลใจเพื่อแสดงถึงศรัทธาในพระศาสนา และเป็นสื่อถ่ายทอดหลักธรรม

สิ่งก่อสร้างต่างๆ ในวัดได้รับการจัดสร้างให้ใหญ่โต และมีความวิจิตรบรรจงเป็นพิเศษ แม้แต่กุฏิ ที่อยู่ของพระภิกษุก็ได้รับความเอาใจใส่จัดสร้างอย่างดีพิเศษยิ่งกว่าเรือนที่อยู่ของชาวบ้านสามัญ เพราะเป็นสมบัติร่วมกันของทุกคนในชุมชน มิใช่สมบัติส่วนตัวของบุคคลใดๆ แต่เป็นดุจหอพักที่ทุกคนมีสิทธิ ที่จะมาสอยู่พักอาศัย ในระหว่างที่เข้ามาบวชเรียนอยู่ในวัด หมุนเวียนกัน ตั้งแต่รุ่นปู่ทวดจนถึงหลานเหลนและต่อๆไป จนกว่าจะสิ้นสภาพของมัน

โดยนัยเดียวกัน กุฏิเจ้าอาวาสอาจได้รับการจัดสร้างให้มีเครื่องอำนวยความสะดวกพรั่งพร้อมยิ่งกว่ากุฏิอื่นๆ เพราะมิใช่เป็นเพียงที่อยู่อาศัยของพระภิกษุเท่านั้น แต่มีฐานะเป็นสำนักงานกลางของชุมชน ซึ่งผู้นำกล่าวคือเจ้าอาวาสนั้นเข้าอยู่ตามตำแหน่ง โดยความยอมรับของชุมชน และทั้งเป็นที่ต้อนรับอาคันตุกะ โดยเฉพาะผู้นำจากชุมชนอื่น คือ เป็นที่แสดงตัวของชุมชนนั้นต่อผู้ที่มาจากชุมชนอื่น


สาระสำคัญที่วัดเป็นศูนย์กลางของชุมชน เป็นสมบัติร่วมกันของชุมชน และเป็นที่ปรากฏแสดงตัวของชุมชนท้องถิ่นนั้นต่อชุมชนอื่น หรือต่อคนภายนอก ทั้งหมดนี้ เป็นเนื้อแท้ของวัฒนธรรมที่จะต้องเข้าใจให้ถูกต้องและรักษาไว้ให้ได้ หากเข้าใจเขวไปหรือรักษาสาระไว้ไม่ได้ เช่น ความหมายของเสนาสนะสงฆ์ในความสัมพันธ์ กับ กับชุมชนกลางเลือนไป ทำให้เสนาสนะสงฆ์ใหญ่โตเกินกำลังฐานะและการใช้ประโยชน์ของชุมชนโดยไม่สมเหตุผล เป็นต้น ก็เรียกได้ว่า เกิดความคลาดเคลื่อนทางวัฒนธรรม เมื่อนั้น ความเสื่อมโทรม ก็จะคืบคลานเข้ามาแทนที่ความเจริญมั่นคง และเป็นความเสื่อมโทรมที่จะต้องประสบร่วมกัน ทั้งฝ่ายสถาบันพระศาสนา คือ วัด และชุมชนนั้นเอง

.....................................................
https://dhammachati.blogspot.com/


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 15 พ.ย. 2017, 14:35 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
สมาชิกระดับสูงสุด
สมาชิกระดับสูงสุด
ลงทะเบียนเมื่อ: 24 ต.ค. 2006, 12:36
โพสต์: 33766

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว


ข้ามเอาหัวข้อนี้ก่อน สังเกตสองย่อหน้าสุดท้าย

หน้า ๖๕- พระพุทธศาสนาเป็นแหล่งสำคัญที่หล่อหลอมเอกลักษณ์ของชาติไทย

ความรักอิสรเสรีภาพ ที่กล่าวมาแล้วของข้อก่อนนั้น เป็นเอกลักษณ์อย่างหนึ่งของชนชาติไทย แต่เพราะเป็นคุณลักษณะที่มีความสำคัญโดดเด่น และมีแง่ที่ควรพิจารณาเป็นพิเศษ จึงได้แยกพูดเป็นข้อหนึ่งต่างหาก

นอกจากความรักอิสรเสรีภาพแล้ว เอกลักษณ์ไทยที่ค่อนข้างเด่นชัด ก็คือ ความมีน้ำใจเมตตาอย่างเป็นสากล ความรู้สึกผ่อนคลายสบายๆ เรื่อยๆ ปลงใจได้ ไม่ชอบความรุนแรง และความรู้จักประสานประโยชน์ ลักษณะเหล่านี้เป็นเอกลักษณ์แต่ละอย่างๆ แต่ทั้งหมดทุกอย่างนั้นสัมพันธ์เชื่อมโยงกัน หรือมีแกนสอดประสานอันเดียวกัน และพระพุทธศาสนาเป็นแหล่งสำคัญที่หล่อหลอมให้เกิดเอกลักษณ์เหล่านี้ หรือว่าหลักความเชื่อถือและการปฏิบัติที่สืบเนื่องมาจากพระพุทธศาสนาเป็นแกนร้อยประสานเอกลักษณ์เหล่านี้

ความมีน้ำใจ เป็นลักษณะเด่นอย่างหนึ่งของคนไทย ซึ่งชาวต่างชาติมักกล่าวขวัญถึง อย่างที่เคยเอ่ยอ้างแล้วข้างต้น ความมีน้ำใจของคนไทยนี้ เป็นไมตรีจิตอย่างสากล คือ แสดงออกแก่คนทั่วไปเสมอเหมือนหรือคล้ายคลึงกัน ไม่แบ่งพวกแบ่งหมู่ ไม่จำกัดชาติศาสนา คนไทยให้เกียรติแก่คนต่างชาติต่างศาสนา ยินดีต้อนรับคนต่างถิ่นต่างลัทธิ บางทีให้เกียรติแก่คนต่างชาติต่างถิ่น ต้อนรับด้วยความมีน้ำใจอย่างเป็นพิเศษยิ่งกว่าที่แสดงออกต่อคนชาติเดียวกัน แม้ในบางกรณี จะมีทัศนคติไม่สู้ดีต่อคนบางกลุ่มบางพวกบ้าง แต่ก็ไม่เป็นไปอย่างรุนแรง และไม่ผูกใจเหนียวแน่นยาวนาน ลักษณะนี้แสดวงออกอีกด้านหนึ่ง คือ การปรับตัวเข้าได้ง่ายและอยู่ร่วมกันได้ดีกับคนที่มีชาติหรือถือศาสนาต่างกัน

ความมีไมตรีอย่างสากลนี้ สอดคล้องกับหลักการของพระพุทธศาสนาที่ถือว่ามนุษย์และแม้สัตว์อื่นทุกอย่างตั้งแต่ดิรัจฉานเป็นต้นไป ล้วนเป็นเพื่อนทุกข์ มีความเกิด แก่ เจ็บ ตาย เป็นธรรมดา เสมอกันทั้งสิ้น ต่างก็มีกรรมเป็นของตนเป็นไปตามอำนาจของกรรมที่ตนกระทำเช่นเดียวกัน และสอนให้มีเมตตาอย่างเป็นอัปปมัญญาธรรม คือ แผ่ออกไปอย่างกว้างขวางไม่มีประมาณ ไม่จำเพาะแดน ไม่จำกัดขอบเขต ทั่วถึงสรรพสัตว์ทุกหมู่เหล่า

คนไทยมีลักษณะจิตใจที่ไม่ยึดติดถือมั่นอย่างรุนแรงต่อสิ่งทั้งหลาย จึงไม่เอาเรื่องเอาราวอะไรจริงจังเกินไป แม้จะเกิดความเสื่อม ความสูญเสีย ความพลัดพรากต่างๆ ก็ยอมรับความจริงได้ง่าย มองเห็นความเป็นธรรมดา ปลงใจได้ ไม่เศร้าโศกเสียใจมากเกินไปหรือนานเกินควร
แม้จะเกิดเรื่องราวถูกเบียดเบียนบีบคั้นข่มเหงก็ลืมง่าย ไม่ผูกใจโกรธเกลียดนาน จึงเป็นคนไม่เครียด มีความรู้สึกผ่อนคลาย เรื่อยๆ สบายๆ ไม่พยาบาทจองเวร และไม่ชอบความรุนแรง

เหตุร้ายต่างๆที่เกิดขึ้นจึงมักเป็นประเภทชั่ววูบแล้วก็ผ่านไป เข้าทำนองที่ว่า “ไม่เป็นไร ลืมเสียเถิด” “แล้วก็แล้วกันไป อโหสิ กันเสียเถิด” “อนิจจัง มีเกิดก็มีดับ” และ “เกิดแก่เจ็บตาย เป็นของธรรมดา ทำใจเสียเถิดนะ

ลักษณะจิตใจอย่างนี้ มีหลักพระพุทธศาสนาเป็นฐานหล่อเลี้ยง และสนับสนุนหลายประการ เฉพาะอย่างยิ่ง หลักอนิจจัง ที่สอนให้รู้เท่าทันธรรมดาของสังขารทั้งหลายว่าเป็นของไม่เที่ยง เกิดขึ้นแล้วก็จะต้องดับไป ซึ่งสัมพันธ์กับหลักความไม่ยึดติดถือมั่น ให้ถ่ายถอนสลัดละอุปาทาน และหลักการวางใจต่อโลกธรรมทั้งหลาย ตลอดจนหลักที่ว่า เวรย่อมระงับด้วยการไม่จองเวร และหลักเมตตากรุณาธรรมที่กล่าวมาแล้ว
นอกจากนั้น ความไม่ยึดติดถือมั่นอย่างใดอย่างหนึ่งเหนียวแน่นรุนแรงจนเกินไปนี้ ยังส่งผลสืบเนื่องต่อไปอีก
ช่วยให้ชาวไทยเป็นคนปรับตัวเข้ากับคนใหม่สิ่งใหม่ได้ง่าย พร้อมที่จะรับวัฒนธรรมตลอดจนสิ่งสนองแปลกใหม่จากภายนอก และรู้จักประสานประโยชน์ สามารถมองข้ามส่วนหรือลักษณะที่ขัดแย้ง ที่ไม่เหมาะไม่เข้ากัน ที่ไม่เป็นผลดีหรือที่ไม่พอใจ จับฉวยแต่ส่วนหรือลักษณะที่ใช้ได้ ไปกันได้ เหมาะกันเอื้ออำนวย เป็นคุณประโยชน์ เอามาผสมผสาน หรือจัดสรรให้สอดคล้องในทางที่จะบังเกิดผลเป็นประโยชน์

คุณลักษณะทั้งหลาย ที่จะเกิดเป็นเอกลักษณ์ของชาติขึ้นได้นั้น จะต้องเป็นที่ยอมรับเชื่อถือปฏิบัติกันจนเคยชินอย่างกว้างขวางทั่วไปในสังคม ได้รับการปลูกฝังถ่ายทอดสืบกันมาตลอดเวลายาวนาน จนแนบแน่นซึมซาบอยู่ในชีวิตจิตใจอย่างเป็นปกตินิสัยของคนส่วนใหญ่ และแสดงออกมาทางพฤติกรรมต่างๆ อย่างเป็นไปเอง การที่หลักความเชื่อถือ และการปฏิบัติในพระพุทธศาสนาได้หล่อหลอมตัวออกมาเป็นเอกลักษณ์ของคนไทยเช่นนี้ แสดงให้เห็นว่า พระพุทธศาสนาได้เข้ากลมกลืนสนิทอยู่ในชีวิตจิตใจของคนไทย จนถึงขั้นที่กล่าวได้ว่า พระพุทธศาสนาเป็นอันหนึ่งอันเดียวกับความเป็นไทย



อย่างไรก็ตาม ว่าโดยทั่วไป สิ่งทั้งหลายที่แม้จะดี ก็ย่อมมีด้านหรือส่วนที่ด้อยอยู่ด้วยในตัว ลักษณะต่างๆที่ได้กล่าวมานี้ ถ้าปฏิบัติผิดเรื่องผิดที่ และขาดหลักการที่เป็นคู่กำกับ หรือเป็นส่วนเติมเต็มให้เป็นการปฏิบัติที่ครบวงจร ก็อาจก่อผลเสียหายเป็นโทษได้
เช่น
ความเป็นคนเรื่อยๆ สบายๆ ปลงใจได้ ไม่จริงจังกับเรื่องราวทั้งหลายมากนัก อาจทำให้กลายเป็นคนที่ยอมรับสภาพที่เป็นอยู่หรือที่ประสบ โดยไม่คิดแก้ไขปัญหา ไม่คิดเปลี่ยนแปลงและปรับปรุง ขาดความกระตือรือร้น ตลอดจนเป็นคนเฉื่อยชา และปล่อยปละละเลยไม่ป้องกันแก้ไข และไม่ก้าวหน้าสร้างสรรค์


การที่จะเกิดโทษอย่างนี้ขึ้น ก็เพราะถ่ายทอดสืบต่อคุณลักษณะเหล่านั้นตามๆกันมา โดยไม่ได้ตรวจสอบตนเอง และไม่ได้ทบทวนหลักความเชื่อ และหลักการปฏิบัติทางพระศาสนา ซึ่งเป็นพื้นฐานที่มาของคุณลักษณะเหล่านั้นให้ชัดเจนมองเห็นทั่วตลอดอยู่เสมอ เพื่อให้แนวความคิด และพฤติกรรมของตนดำเนินไปสู่การปฏิบัติที่ครบวงจร
เช่น
มองเห็นความเป็นอนิจจังแล้วปลงใจได้ สบายใจหายทุกข์ร้อน เลยหยุดนิ่งอยู่แค่นั้น ไม่ใช้ปัญญามองหาเหตุปัจจัยในกระบวนการของความเป็นอนิจจัง และดำเนินการแก้ไขปรับปรุงให้ตรงเหตุตรงปัจจัยด้วยความไม่ประมาท คุณธรรมที่จะต้องใช้กำกับเอกลักษณ์ทั้งหลายอยู่เสมอ ก็คือ ปัญญา และอัปปมาทธรรม

.....................................................
https://dhammachati.blogspot.com/


แสดงโพสต์จาก:  เรียงตาม  
กลับไปยังกระทู้  [ 6 โพสต์ ] 

เขตเวลา GMT + 7 ชั่วโมง


 ผู้ใช้งานขณะนี้

กำลังดูบอร์ดนี้: ไม่มีสมาชิก และ บุคคลทั่วไป 77 ท่าน


ท่าน ไม่สามารถ โพสต์กระทู้ในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ ตอบกระทู้ในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ แก้ไขโพสต์ของท่านในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ ลบโพสต์ของท่านในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ แนบไฟล์ในบอร์ดนี้ได้

ค้นหาสำหรับ:
ไปที่:  
Google
ทั่วไป เว็บธรรมจักร