วันเวลาปัจจุบัน 20 เม.ย. 2024, 09:59  



เขตเวลา GMT + 7 ชั่วโมง




กลับไปยังกระทู้  [ 1 โพสต์ ]    Bookmark and Share
เจ้าของ ข้อความ
โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 12 ส.ค. 2017, 05:59 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
อาสาสมัคร
อาสาสมัคร
ลงทะเบียนเมื่อ: 06 มี.ค. 2009, 10:48
โพสต์: 5091


 ข้อมูลส่วนตัว


"ความสุขที่แท้จริง "

ถาม : ความสุขของชีวิตเราคืออะไรครับ

พระอาจารย์ : ความสงบไง ถ้าใจเรามีความสงบแล้ว เราจะเจอความสุขที่แท้จริง นอกนั้นเป็นความสุขปลอม เป็นความสุขที่จะกลายเป็นความทุกข์.

สนทนาธรรมะบนเขา

วันที่ ๑๑ สิงหาคม ๒๕๖๐

พระอาจารย์สุชาติ อภิชาโต






"ทดแทนบุญคุณต่อพ่อแม่"

วิธีหาความสุขแบบไม่มีความทุกข์ใจ ก็หาด้วยการทำความดี วันไหนได้ทำความดี วันนั้นก็มีความสุขใจ วันไหนไม่ว่าง ไม่ได้ทำความดี ก็ไม่ทุกข์ใจ แต่ถ้าหาความสุขจากการทำตามความอยาก วันไหนไม่สามารถทำตามความอยากได้ วันนั้นก็ทุกข์ใจ ฉะนั้นเราควรจะเลิกหาความสุขจากการทำตามความอยากต่างๆ แล้วหันมาหาความสุขจากการทำความดี ทำบุญ แล้วก็หาความสุขจากการไม่ทำบาป การทำบาปนี้ก็เป็นทุกข์ เวลาเราทำบาปใจเราก็จะทุกข์ ใจเราจะไม่สบาย แต่ถ้าเราไม่ทำบาป ใจเราก็จะไม่ทุกข์ ใจเราก็จะเฉยๆ ไม่เดือดร้อน นี่คือการหาความสุขแบบพระพุทธเจ้า ท่านสอนให้เราหาความสุขจากการทำบุญทำประโยชน์ให้แก่ผู้อื่น โดยเฉพาะผู้ที่มีพระคุณกับเรานี้ เราควรจะทำ เป็นบุคคลที่เราควรจะต้องพุ่งเป้าหมายไปก่อน ทำประโยชน์กับคนที่มีบุญคุณกับเรา ทดแทนบุญคุณให้แก่ผู้มีพระคุณ เสร็จ แล้วเราค่อยไปทำประโยชน์ให้แก่ผู้อื่นต่อไป

ตัวเราไม่ควรลืมคนที่สำคัญในชีวิตของเรา คนที่เสียสละคนที่ให้อะไรกับเราอย่างมากมาย ถ้าเราเป็นคนที่ให้อะไรใครเราก็จะมีความรู้สึกน้อยใจที่คนที่เราให้นี้ไม่เคยคิดถึงเราเลย ลูกๆ นี้บางทีไม่ค่อยคิดถึงพ่อแม่ กลับไปคิดถึงภรรยาสามีกับลูกๆ ของเขามากกว่า แต่พ่อแม่ก็ไม่ได้หวังอะไรจากลูกๆ พ่อแม่ก็ทำด้วยความเมตตา ทำด้วยเป็นหน้าที่ๆ ต้องทำ เมื่อมีลูกแล้วก็ต้องเป็นความรับผิดชอบที่ต้องเลี้ยงดูลูกให้ดี ไม่ให้ไปตกทุกข์ยากลำบาก เวลามีปัญหาอะไรก็ต้องพยายามมาช่วยเหลือ แต่คนอื่นไม่มีใครเขาทำอย่างนี้กับเราหรอก ไม่มีใครเขาจะคอยดูแลเราช่วยเหลือเรา ไม่มี และก็ไม่ได้หวังอะไรจากเราเป็นผลเป็นสิ่งตอบแทน แต่เราควรที่จะรำลึกถึงพระคุณของคนที่มีพระคุณกับเรา แล้วถ้าตอบแทนได้ ตอบแทนบุญคุณได้ก็จะดี จะทำให้พ่อแม่หรือคนที่มีพระคุณนี้เขามีความปลื้มอกปลื้มใจ มีความสุขใจ เขาไม่ได้สุขใจจากสิ่งที่เราให้เขาหลอก แต่เขาได้จากความที่เรามีจิตสำนึกที่เรามี ความดีงามในตัวเรา ทำให้เขาเหมือนกับว่าไม่เสียกำลังใจที่ได้ปั้นคนดีขึ้นมา ได้สร้างคนดีขึ้นมา ทำให้เขาไม่เหน็ดเหนื่อย เหมือนกับเราทำงานแล้วได้ผลงานดี ได้รับรางวัลนี้เราก็จะมีความสุขใจ

รางวัลของพ่อของแม่ของผู้มีพระคุณก็คือ การทดแทนบุญคุณของเราต่อพ่อแม่ ต่อผู้มีพระคุณ การทดแทนก็มีหลายวิธี การทำตัวเราให้เป็นคนดี สมมุติว่าเราไม่มีปัญญาที่จะให้เงินให้ทองพ่อแม่มากมาย อย่างน้อยเราทำตัวเราให้เป็นคนดี ก็เป็นการทดแทนบุญคุณ ทำให้พ่อแม่ไม่ต้องมาหนักอกหนักใจกับเรา ทำตัวเราไม่ให้ไปมีปัญหา เช่น ไม่ไปทำบาป ไม่ไปทำผิดกฎหมาย รักษาชื่อเสียงของตระกูล อันนี้ก็เป็นการทดแทนบุญคุณอย่างหนึ่งเหมือนกัน หรือเคารพพ่อแม่ ก็เป็นการทดแทนบุญคุณ ให้ความเคารพพ่อแม่เวลาพ่อแม่ดุด่าว่ากล่าวตักเตือน ก็ควรที่จะน้อมรับมา ไม่ควรที่จะโต้เถียง เวลาพ่อแม่พูดว่าเราหรือบอกอะไรเรานี้ ถือว่าเป็นการสั่งสอน เหมือนพระสงฆ์องค์เจ้ากำลังสั่งสอนเรา ท่านสอนด้วยความเมตตา ท่านสอนด้วยความปรารถนาดี เมื่อท่านเห็นว่าเราทำอะไรไม่ถูก ก็ต้องว่ากล่าวตักเตือนกัน เพราะถ้าไม่ว่ากล่าวตักเตือนแล้วใครจะมาว่ากล่าวตักเตือนล่ะ เป็นหน้าที่ของพ่อแม่ พ่อแม่นี้เป็นครูอาจารย์คนแรกของลูกๆ เราเรียนรู้อะไรต่างๆ จากพ่อแม่มามากมาย ภาษานี้เราก็เรียนจากพ่อจากแม่ ที่เราจะพูดได้นี้ก็อาศัยพ่อแม่คอยเป็นคนสั่งสอน วิธีกินวิธีอยู่ วิธีหลับวิธีนอน มารยาทต่างๆ เพราะพ่อแม่เป็นคนสอนเราทั้งนั้นแหละ ฉะนั้นเวลาพ่อแม่พูดอะไร ถึงแม้ไม่ถูกใจเรา เราก็ต้องสำรวมอาการกิริยาความไม่พอใจ มันเป็นเรื่องที่เป็นธรรมดาเวลาใครเขาพูดอะไรไม่ถูกใจเรา เราก็อาจจะโกรธได้ แต่เราต้องมีสติ เวลาที่เราอยู่ต่อหน้าพ่อแม่ ให้คิดว่าเรากำลังอยู่ต่อหน้าพระสงฆ์องค์เจ้า ต่อคนที่สำคัญ เช่น อยู่ต่อหน้าพระเจ้าแผ่นดิน เราจะไม่แสดงอาการอะไรออกมา ถึงแม้ว่าเราอาจจะไม่พอใจ เราก็ต้องอดทนอดกลั้น ฟังอย่างเดียว พ่อแม่สั่งพ่อแม่สอนนี้ไม่ควรไปเถียง จะถูกจะผิดนั้นค่อยมาพิจารณากันอีกที ถ้าสิ่งที่พ่อแม่สอนผิดก็ไม่ต้องทำตามก็ได้ เช่น ถ้ามาสอนให้ไปฉ้อโกงไปลักทรัพย์อย่างนี้ ถ้าสอนอย่างนี้ก็ไม่ต้องทำตามก็ได้ แต่เวลาที่ท่านสอนไม่ต้องไปเถียงท่าน ปล่อยให้ท่านพูดไป แล้วเราก็มาพิจารณาของเราดูอีกที ว่าถูกหรือไม่ถูก ควรจะทำหรือไม่ทำ การไม่ทำตามพ่อแม่เพราะมันไม่ถูกนี้ไม่บาป ไม่เสียหาย ไม่ได้เป็นความอกตัญญูแต่อย่างใด หรือการไม่ได้ทำตามที่สิ่งถูกต้อง ก็ไม่ได้เป็นการอกตัญญู บางทีเราอาจจะไม่มีปัญญาทำตามก็ได้ ก็ทำเท่าที่เราจะทำได้ก็แล้วกัน แต่ข้อสำคัญไม่ควรไปตอบโต้ โต้เถียง หรือด่าพ่อด่าแม่ ว่าพ่อว่าแม่ อันนี้แหละไม่ควร แสดงถึงความไม่มีความกตัญญูไม่มีความเคารพ เวลาพ่อแม่พูดอะไรก็ต้องครับอย่างเดียว ผมอย่างเดียว หรือไม่ก็เฉยๆ ฟังไป เพราะพ่อแม่ไม่ต้องการอะไรจากเราหรอก ต้องการให้เราเป็นคนดี เพราะการเป็นคนดีทำให้เรามีความสุขนั่นเอง.

สนทนาธรรมะบนเขา

วันที่ ๑๑ สิงหาคม ๒๕๖๐

พระอาจารย์สุชาติ อภิชาโต







...เพราะว่า "ใจ" นี้
มีความสำคัญกว่า ร่างกาย
.
...ร่างกายมีอายุไม่เกินร้อยปี
ก็ "หมดสภาพไป"
แต่ใจนี้ "ไม่มีวันตาย"
.
...ถ้า "ใจยังทุกข์อยู่" ก็ต้อง
ทุกข์ไปเรื่อยๆ ไม่มีวันสิ้นสุด
.
...ถ้า "ใจหมดทุกข์" ก็
หมดทุกข์ไปอย่างถาวร..
....................................
.
คัดลอกการสนทนาธรรม
ธรรมะบนเขา 11/8/2560
พระอาจารย์สุชาติ อภิชาโต
วัดญาณสังวรารามฯ ชลบุรี






“ห้ามไม่ได้หรอก”
..ลักษณะของธรรมดา มันย่อมจะเป็นธรรมดาอยู่อย่างนั้น แต่คนเราจะฝืนธรรมดาไม่ได้หรอก ร่างกายจิตใจไม่อยากให้แก่ ไม่อยากให้เจ็บ ไม่อยากให้ตาย ไม่อยากให้เป็นโรคเป็นภัย ไม่อยากให้เป็นอะไร ร้อยอันพันอย่างหละที่เราต้องการ มันไม่อยู่กับความคิด ความปรารถนา ขึ้นอยู่กับเหตุคือการกระทำมาตั้งแต่เริ่มต้น ต้องคิดอย่างนั้น..

หลวงปู่ศรี มหาวีโร







คนมั่งมีคือคนที่บริจาคเสมอ
ส่วนคนจนก็คือคนที่ไม่บริจาคให้ทานอะไร
พระพุทธเจ้าจึงทรงสรรเสริญคนมั่งมีว่ามีดวงใจเป็นแก้วประดับ
คือรัตนะ๓ได้แก่พุทฺธรตนํธมฺมรตนํสงฺฆรตนํนี้เป็นใจที่มีศรัทธา

ท่านพ่อลี ธมฺมธโร






"อายตนะทั้งหลาย เป็นเครื่องวัดจิตของตน
ได้อย่างดีที่สุด เมื่ออายตนะผัสสะ มากระทบ
จิตของเรา เราหวั่นไหวไหม

เมื่อหวั่นไหวมาก ก็แสดงว่ามีสติน้อย
มีธรรมเป็นเครื่องอยู่ ก็ยังน้อย

เมื่อหวั่นไหวน้อย หรือไม่หวั่นไหวเสียเลย
ก็แสดงว่าเรามีสติมาก มีธรรมเป็นเครื่องอยู่มาก
และรักษาตัวได้"

-:-หลวงปู่เทสก์ เทสรังสี-:-






“...พระคุณของแม่ล้นฟ้าล้นแผ่นดิน ควรที่เทิดทูนสุดหัวใจ จงเมตตาท่านสุดหัวใจตลอดไป

อย่านำยาพิษ คือกิริยาไม่ดีและดุด่า มาเป็นคู่แข่งพระคุณท่าน และเผาลนท่านให้แสลงตาแสลงใจ ได้ทุกข์เพราะเราอีกต่อไป...”

โอวาทธรรมคำสอน..
องค์หลวงตาพระมหาบัว ญาณสัมปันโน






หลวงปู่มั่น ภูริทัตโตเคยกล่าวว่า “ธรรมะนั้นมีอยู่ทุกหย่อมหญ้าสำหรับผู้มีปัญญา” คำพูดนี้เกิดขึ้นเนื่องจากสมเด็จพระมหาวีรวงศ์ (อ้วน ติสโส) สงสัยว่าหลวงปู่มั่นเรียนปริยัติธรรมน้อย เอาแต่อยู่ป่า แต่ทำไมจึงรู้ธรรมได้ลึกซึ้ง
.
สมเด็จองค์นี้สมัยที่ท่านเป็นเจ้าคณะมณฑลอุบลราชธานี ท่านเห็นว่าปริยัติธรรมเป็นเรื่องสำคัญที่พระต้องเรียน ตัวท่านเองก็เรียนถึงประโยค ๕ ตอนนั้นท่านไม่ชอบพระป่าเอามาก ๆ โดยเฉพาะพระป่าสายหลวงปู่มั่น หลวงปู่สิงห์ ขันตยาคโม เพราะพระเหล่านี้ไม่ยอมเรียนหนังสือ และไม่อยู่วัดเป็นหลักเป็นแหล่ง ธุดงค์จาริกในป่าเป็นอาจิณ คราวหนึ่งหลวงปู่สิงห์กับคณะธุดงค์มาถึงอำเภอม่วงสามสิบ จังหวัดอุบลราชธานี เจ้าคณะมณฑลจึงสั่งเจ้าคณะอำเภอ ให้บอกชาวบ้านว่า ขับไล่คณะพระธุดงค์กลุ่มนี้ออกไปจากอำเภอ แต่ชาวบ้านไม่ทำ
.
สมเด็จพระมหาวีรวงศ์แต่เดิมท่านไม่เห็นว่าการทำสมาธิภาวนามีประโยชน์อะไร กระทั่งวันหนึ่งท่านล้มป่วย รักษาเท่าไรก็ไม่หาย ต่อมาพระอาจารย์ลี ธัมมธโร และพระอาจารย์ฝั้น อาจาโร ซึ่งเป็นลูกศิษย์ของหลวงปู่มั่น ช่วยรักษาท่านให้หายจากโรค โดยใช้สมาธิภาวนาและสมุนไพร ปรากฏว่าท่านหายอย่างอัศจรรย์ จึงแปลกใจและประทับใจมาก ท่านถึงกับกล่าวว่า
“ตลอดชีวิตของเรา เราไม่เคยนึกมาก่อนเลยว่า สมาธิภาวนาจะมีประโยชน์ถึงเพียงนี้"
.
น่าคิดนะ สมเด็จพระมหาวีรวงค์ เป็นพระผู้ใหญ่ มีความรู้สูงด้านปริยัติธรรม แต่ไม่เคยเชื่อเลยว่า สมาธิภาวนาจะมีคุณค่ามาก เมื่อเห็นประโยชน์ของสมาธิภาวนาด้วยตนเอง ท่านจึงเริ่มทำสมาธิภาวนา และมีศรัทธาในหลวงปู่มั่น ต่อมาเมื่อได้เจอหลวงปู่มั่น ท่านจึงถามว่าหลวงปู่มั่นว่า ในเมื่อหลวงปู่มั่นไม่ได้เรียนหนังสือมามาก ทำไมจึงสอนธรรมะได้ลึกซึ้ง
หลวงปู่มั่นจึงตอบพูดว่า “ธรรมะนั้นมีอยู่ทุกหย่อมหญ้าสำหรับผู้มีปัญญา”
.
เราสามารถเห็นธรรมได้จากทุกสิ่ง เมื่อเราเปิดใจรับรู้ทุกสิ่งอย่างมีโยนิโสมนสิการ ถ้าเราครองตนด้วยสติ ก็จะเห็นกายและใจตามที่เป็นจริง และเมื่อเรามองโลก เราก็จะเกิดปัญญาเห็นธรรม
.
เราจะเห็นกายและใจตามจริงได้อย่างไร ก็เริ่มจากการปฏิบัติ ซึ่งมีหลายวิธี หลักใหญ่ ๆ คือ เจริญสติปัฏฐาน 4 ได้แก่
.
กายานุปัสสนา คือ เห็นกายในกาย
เวทนานุปัสสนา คือ เห็นเวทนาในเวทนา
จิตตานุปัสสนา คือ เห็นจิตในจิต
ธัมมานุปัสสนา คือ เห็นธรรมในธรรม
.
อธิบายสั้น ๆ คือ เห็นกายว่าเป็นกาย ไม่ใช่เห็นกายว่าเป็นเรา เวลาเราเดิน หากเดินอย่างมีสติจะเห็นว่ากายเดิน ไม่ใช่ “ฉัน” เดิน เวทนาเกิด ก็เห็นเป็นเวทนา ไม่ใช่เห็นว่าฉันปวด คนเราเวลาปวดก็จะรู้สึกว่าฉันปวด ๆ แต่ที่จริงเมื่อเจริญสติก็จะเห็นว่า การปวดเป็นอาการปวด ไม่ใช่ฉันปวด เวลาโกรธก็เห็นว่ามีความโกรธเกิดขึ้น ไม่ใช่ฉันโกรธ
.
ปฏิบัติธรรมไม่ได้มีเป้าหมายเพื่อเห็นสีหรือแสงข้างนอก ถ้าเป็นการภาวนาที่แท้จริงเพื่อหลุดพ้นจากความทุกข์ วิธีการก็คือเห็นกายและใจตามที่เป็นจริง ด้วยการเจริญสติ ซึ่งจะนำไปสู่การเกิดปัญญา ถ้าเราเกี่ยวข้องกับโลกภายนอก ตาดู หูฟัง เมื่อเกิดโยนิโสมนสิการ ก็เกิดปัญญา
.
การปฏิบัติธรรมนั้นสามารถทำได้หลายวิธี มีรูปแบบการปฏิบัติ เช่น ตามลมหายใจ เดินจงกรม ยกมือเคลื่อนไหว ดูท้องพองยุบ หรือไม่มีรูปแบบก็ได้ เป็นการปฏิบัติที่กลืนกับชีวิตประจำวัน เป็นการเกี่ยวข้องโลกภายนอกอย่างมีสติ มีปัญญา ทั้งสองวิธีล้วนมีความสำคัญ บางคนไปเข้าใจว่าการปฏิบัติธรรมหมายถึงการเดินจงกรม นั่งสมาธิ ตามลมหายใจ เท่านั้น ทำอย่างนี้ถึงจะเรียกว่าเป็นการปฏิบัติธรรม อันนี้เป็นความเข้าใจที่ผิด
.
หลวงพ่อชาเล่าว่า ท่านเคยไปปฏิบัติธรรมกับหลวงปู่กินรี หลวงพ่อชาตั้งใจปฏิบัติมาก เดินจงกรม และนั่งสมาธิทั้งวัน แต่ก็อดแปลกใจไม่ได้ว่า หลวงปู่กินรีวัน ๆ ไม่ค่อยเดินจงกรม ไม่ค่อยนั่งสมาธิเลย ทำโน่นทำนี่ เกือบตลอดเวลา แล้วท่านจะเห็นอะไร แต่หลังจากที่ได้อยู่ปฏิบัติกับหลวงปู่นาน ๆ และได้ฟังธรรมอันลุ่มลึกจากท่าน หลวงพ่อชาก็รู้ว่าเป็นความเขลาของท่านเองที่คิดเช่นนั้น ท่านพูดถึงบทเรียนที่ท่านได้จากประสบการณ์ครั้งนั้นว่า
.
“เรามันคิดผิด หลวงปู่ท่านรู้อะไร ๆ มากกว่าเราเสียอีก คำเตือนของท่านสั้น ๆ และไม่ค่อยมีให้ฟังบ่อยนัก เป็นสิ่งที่ลุ่มลึก แฝงไว้ด้วยปัญญาอันแยบคาย ความคิดของครูบาอาจารย์กว้างไกลเกินปัญญาเราเป็นไหน ๆ ตัวแท้ของการปฏิบัติคือความพากเพียร กำจัดอาสวกิเลสภายในใจ ไม่ใช่ถือเอากิริยาอาการภายนอกของครูบาอาจารย์เป็นเกณฑ์”
.
ท่านมาได้ตระหนักชัดอีกครั้งว่า การปฏิบัติธรรมนั้นไม่ได้อยู่ที่รูปแบบ แต่อยู่ที่การวางใจให้ถูกต้อง ไม่ว่าทำอะไร ก็สามารถเป็นการภาวนาได้
.
คราวหนึ่งท่านนั่งปะชุนจีวรที่ขาดวิ่น ใจนั้นนึกถึงการภาวนาอยู่ตลอดเวลา อยากรีบปะชุนให้เสร็จเร็ว ๆ เพื่อจะได้ไปภาวนาต่อ ขณะนั้นเองหลวงปู่กินรีเดินผ่านมา สังเกตเห็นอาการของพระหนุ่ม จึงพูดขึ้นมาว่า
“ท่านชา จะรีบร้อนไปทำไมเล่า”
“ผมอยากให้เสร็จเร็ว ๆ ครับหลวงปู่”
“เสร็จแล้วท่านจะทำอะไรล่ะ”
“จะไปทำอันนั้นอีก”
“ถ้าเสร็จอันนั้นแล้ว ท่านจะทำอะไรอีกล่ะ”
“ผมก็จะทำอย่างอื่นอีก”
“เมื่อทำอย่างอื่นเสร็จแล้ว ท่านจะไปทำอะไรอีกเล่า”
.
เมื่อเห็นว่าใจของหลวงพ่อชาไม่ได้อยู่กับงานที่กำลังทำ แต่คิดถึงงานชิ้นอื่น ๆ ที่อยู่ข้างหน้า และรีบร้อนจะทำให้เสร็จไว ๆ ทั้งหมดนี้ก็เพื่อไปภาวนาต่อ หลวงปู่กินรีจึงเตือนว่า
.
“ท่านชา ท่านรู้ไหม นั่งเย็บผ้าผืนนี้ก็ภาวนาได้ ท่านดูจิตตัวเองสิว่าเป็นอย่างไร แล้วก็แก้ไขมัน ท่านจะรีบร้อนไปทำไมเล่า ทำอย่างนี้เสียหายหมด ความอยากมันเกิดขึ้นท่วมหัว ท่านยังไม่รู้เรื่องของตนอีก”
.
คำพูดของหลวงปู่กินรีกระตุกใจของหลวงพ่อชาอย่างแรง ทำให้ท่านได้สติ และเกิดความเข้าใจชัดเจนว่า ไม่ว่าอยู่ที่ไหน ทำอะไร ก็ภาวนาได้ทั้งนั้น ขอให้หมั่นดูใจของตนอย่างต่อเนื่อง จนเกิดความรู้สึกตัวทั่วพร้อม นี้เป็นบทเรียนที่ประทับใจท่านมาก และถือเป็นหลักปฏิบัติของท่านตลอดมา
.
เมื่อท่านไปตั้งสำนักปฏิบัติธรรมที่หนองป่าพง จึงทำให้มีกิจกรรมหลาย ๆ อย่าง และมีเรื่องเล่าว่า ตอนนั้นหลวงพ่อชาอายุมากแล้ว มีเด็กหนุ่มมาถามท่านว่า
“ทำไมพระจึงไม่นั่งสมาธิ”
พอหลวงพ่อชาได้ฟังน้ำเสียงแล้วรู้ว่า ไม่ได้ถามเพราะต้องการคำตอบที่แท้จริง ท่านจึงตอบว่า
“นั่งอย่างเดียวมันถ่ายไม่ออกว่ะ จะนั่งอย่างเดียวก็ไม่ได้ มันต้องปฏิบัติกับการทำงานด้วย” และท่านก็บอกว่า
“การปฏิบัติธรรมมันต้องมาดูกายและใจ”
ไม่ว่าทำอะไร ต้องให้รู้ทันกายและใจ ทำงานก่อสร้างก็เป็นการปฏิบัติธรรมได้ อันนี้สำคัญมาก เดี๋ยวนี้นักปฏิบัติธรรมจำนวนมากคิดอย่างเดียวว่า เวลาปฏิบัติธรรมจะต้องเข้าวัด จะต้องหลบลี้หนี้หน้าผู้คน โดยไม่คิดว่า การอยู่ที่ไหนก็ปฏิบัติธรรมได้
.
อยู่บนท้องถนน รถติดก็กำหนดลมหายใจไปด้วย หรือเวลาเจอไฟแดง หงุดหงิดขึ้นมาก็ปฏิบัติธรรมได้ ถามว่าเวลารถติดทำไมถึงหงุดหงิด นั่นก็เพราะใจมันไปอยู่ที่จุดหมายปลายทางแล้ว ใจมันอยู่ข้างหน้าแล้ว ใจไม่อยู่กับปัจจุบัน จึงกลัวไปไม่ทัน กลัวไม่ทันประชุม เป็นต้น ดังนั้นให้พาใจกลับมาอยู่กับปัจจุบัน จะตามลมหายใจด้วยก็ได้
การปฏิบัติธรรมก็คือ ติดไฟแดงทำอย่างไรจะไม่หงุดหงิด ทำอย่างไรเวลาถูกต่อว่าจะไม่หงุดหงิด เวลาเสียเงินจะไม่โมโห เวลาเงินหายก็หายแต่เงิน แต่ใจไม่หาย ถ้าทำได้อย่างนี้ก็เรียกว่าปฏิบัติธรรมแล้ว







“ร่างกายนี้ ตายไปก็จริง แต่ใจนี้ ไม่ได้ตายตามไปด้วย บาปก็ดี บุญก็ดี ทำแล้ว ใจจะเป็นผู้เก็บไว้ เก็บไว้แล้ว เวลาไปก่อภพ มันก็จะเป็นกายทิพย์ เขาเรียกว่า อาทิสมานกาย ที่ติดตามไป
จะไปทุกข์ จะไปสุข อาทิสมานกาย ก็ติดตามไป แล้วเวลาที่เรา สะสมบุญไว้ เราก็สะสมไว้ ที่ใจของเรา การที่จะสะสม บุญได้มากที่สุด คือการทำสมาธิ”...พระธรรมมงคลญาณ (พระอาจารย์หลวงพ่อวิริยังค์ สิรินฺธโร)
ประธานกรรมการ ผู้ก่อตั้งมูลนิธิสถาบันพลังจิตตานุภาพ
โอวาทธรรม.... หลวงพ่อวิริยังค์ สิรินฺธโร






"ความเสียสละนี้พระพุทธเจ้าทุกพระองค์ขึ้นทานบารมีก่อนเลย ทานบารมีเป็นสำคัญมากทีเดียว เป็นหัวใจของสัตว์โลก ทานบารมีจึงขึ้นก่อน ไม่ว่าพระพุทธเจ้าพระองค์ใดขึ้นทานบารมีก่อน ความเสียสละทั่วถึงไปหมด อย่างนั้นละ ให้เห็นแก่ความเสียสละนะพี่น้องทั้งหลาย อย่าเห็นแก่ความคับแคบตีบตัน อยู่ด้วยกันอาศัยกันทั้งนั้น"
โอวาทธรรม...พระธรรมวิสุทธิมงคล (หลวงตามหาบัว ญาณสัมปันโน)เทศน์อบรมฆราวาส ณ วัดป่าบ้านตาด


แสดงโพสต์จาก:  เรียงตาม  
กลับไปยังกระทู้  [ 1 โพสต์ ] 

เขตเวลา GMT + 7 ชั่วโมง


 ผู้ใช้งานขณะนี้

กำลังดูบอร์ดนี้: ไม่มีสมาชิก และ บุคคลทั่วไป 108 ท่าน


ท่าน ไม่สามารถ โพสต์กระทู้ในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ ตอบกระทู้ในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ แก้ไขโพสต์ของท่านในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ ลบโพสต์ของท่านในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ แนบไฟล์ในบอร์ดนี้ได้

ค้นหาสำหรับ:
ไปที่:  
Google
ทั่วไป เว็บธรรมจักร


cron