วันเวลาปัจจุบัน 23 เม.ย. 2024, 19:11  



เขตเวลา GMT + 7 ชั่วโมง




กลับไปยังกระทู้  [ 1 โพสต์ ]    Bookmark and Share
เจ้าของ ข้อความ
โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 05 ส.ค. 2017, 10:12 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
อาสาสมัคร
อาสาสมัคร
ลงทะเบียนเมื่อ: 06 มี.ค. 2009, 10:48
โพสต์: 5091


 ข้อมูลส่วนตัว


" อะไรที่เราจะช่วยกันได้ ให้ดูแลให้แลกัน อย่าทอดทิ้ง เห็นคนทุกข์อย่านิ่งดูดาย ถ้าเราช่วยเขาได้ก็ช่วยซะ หัวใจเราจะบานออกใหญ่โต เวลาทำอะไรให้มีเจตนาหวังดีต่อกัน ให้เขามีความสุข เราก็จะสุขด้วย

ความเหนียวแน่น ตระหนี่ถี่เหนียว มันเป็นอุปสรรคขัดขวางใจเรา สัตว์เดรัจฉานมีแต่แย่งกัน เป็นมนุษย์ต้องแบ่งปันกัน น้ำใจอย่างนี้เรียกว่า น้ำใจเทวดา เป็นมนุษย์ใจสูง อย่าใจดำ "

โอวาทธรรม : หลวงปู่ท่อน ญาณธโร





ธรรมะที่สอนว่าเป็น สนฺทิฏฺฐิโกๆ ของผู้ปฏิบัติ ไร้ค่าล้าสมัยไปที่ไหน ธรรมพระพุทธเจ้าไม่เคยไร้ค่า มีแต่กิเลสนั่นแหละตัวมันหลอกหลอนว่าธรรมไร้ค่า ยกยอปอปั้นตัวมันให้เป็นผู้มีคุณค่าขึ้นมา เราจึงหลงจึงเพลินกับมัน ตาเห็นก็เพลิน หูได้ยินก็เพลิน สุขก็เพลิน ทุกข์ก็หลง หลงไปหมด ฟังซิกิเลสได้แทรกเข้าตรงไหนไม่มีคำว่ารู้ตัวๆ เลย มันละเอียดไหม

พ่อแม่ครูอาจารย์หลวงปู่ใหญ่พระมหาบัว ญาณสัมปันโน
เทศน์อบรมพระ ณ วัดป่าบ้านตาด
เมื่อวันที่ ๕ สิงหาคม พุทธศักราช ๒๕๓๓






...เทศนาธรรม...

“บำรุงแต่เหตุ”
..หลวงปู่ใหญ่ หลวงปู่มั่น ท่านเปรียบเทียบไว้ คล้าย ๆ กับผลไม้ จะเป็นฟักทอง แตง หรืออะไรก็ตาม เพียงแต่เราบำรุงเหตุ คือเอาใส่ดินที่มันมีปุ๋ย แล้วก็ให้มีน้ำหล่อเลี้ยงอยู่ตลอด หนักเข้ามันเป็นของมันเอง ผลิดอก ออกผลมาเอง แล้วก็เจริญเติบโตไปตามลักษณะอาการของมัน จะมีดอก มีผล ผลน้อยผลใหญ่ตลอดถึงสุก เป็นเรื่องของเขาเอง เราไม่ได้ไปดึง ไปถอดขึ้น อันนี้ฉันใดก็ดี การประพฤติปฏิบัติบำรุงแต่เหตุอย่างเดียว คือ มีการกระทำ ผลมันไปของมันเอง..

หลวงปู่ศรี มหาวีโร
เทศนา เรื่อง นิวรณ์ธรรม ๕






ถาม : มนุษย์ทุกคนเกิดมามีทั้งบัญชีบุญมีบัญชีบาปตลอดมา เมื่อถึงเวลาหนึ่งต้องการที่จะล้างบัญชีบาป ความเข้าใจนี้โดยแท้จริงแล้วไม่ทราบว่าทำได้หรือไม่การล้างบัญชีบาปและทำได้อย่างไรครับหลวงพ่อ

พระอาจารย์ : อ๋อ ล้างมันไม่ได้หรอก เพียงแต่ว่าทำให้มันไม่ส่งผลได้ คือ ถ้าเราไม่มาเกิดมันก็ไม่สามารถส่งผลได้ เช่น พระพุทธเจ้าพระอรหันต์ไม่มาเกิดแล้ว ท่านก็เลยไม่มีบุญหรือบาปที่มีอยู่ในใจก็ไม่สามารถส่งให้ท่านไปเกิดตามภูมิต่างๆ ได้

ถาม : ในลำดับของการบรรลุธรรมตั้งแต่พระโสดาบันจนถึงพระอรหันต์ เท่าที่ปรากฏผู้ที่ยังเป็นฆราวาสอยู่ จะไปได้สูงสุดถึงระดับไหนครับ

พระอาจารย์ : อ๋อ ถึงพระอรหันต์เลย มันไม่ได้อยู่ที่เป็นฆราวาสหรือเป็นนักบวชหรอก อยู่ที่ปัญญามีหรือเปล่า อยู่ที่สติปัญญาพอหรือเปล่าเท่านั้นเอง.

ธรรมะบนเขา

วันที่ ๓๐ กรกฎาคม ๒๕๖๐

พระอาจารย์สุชาติ อภิชาโต








"สติ"

ถ้าไม่มีสตินั่งไปจนวันตาย จิตก็จะไม่สงบจะไม่ได้ผล แล้วก็จะเกิดความท้อแท้เบื่อหน่าย จะไม่อยากนั่ง แล้วนั่งก็ลำบาก เพราะนั่งแล้วใจก็คิดเรื่องนั้นเรื่องนี้ ยิ่งคิดก็ยิ่งอึดอัด พออึดอัดก็ทรมานไม่อยากจะนั่ง เพราะไม่มีสติควบคุมความคิด แต่ถ้ามีสติควบคุมความคิดแล้วมันจะเพลิน มันจะไม่รู้สึกอึดอัด มันจะรู้สึกสบาย เบาอกเบาใจ ฉะนั้นพยายามฝึกสติตลอดเวลา ก่อนที่จะมานั่งสมาธินี้ฝึกสติให้ได้ก่อน เอาตั้งแต่ตื่นขึ้นมาเลย เราทำได้ เรามีเวลาทำตลอดเวลาเรื่องการฝึกสตินี้ ไม่จำเป็นต้องไปอยู่วัด ถ้าไปได้ก็ดี มันจะทำให้ง่ายขึ้น อยู่บ้านอยู่ที่ทำงานอยู่ที่ไหนก็ทำได้ แต่สิ่งที่เราต้องทำสิ่งแรกก็คือเราต้องตั้งเป้าหมายว่าต่อไปนี้เราจะฝึกสติเป็นหลัก เราลืมตาขึ้นมาใจเราต้องจดจ่ออยู่ที่ร่างกาย หรืออยู่ที่พุทโธ อย่างใดอย่างหนึ่ง สองอย่างนี้พอ เฝ้าดูร่างกายว่าตอนนี้กำลังอยู่ท่าไหน กำลังอยู่ในท่ายืน ท่านั่ง ท่านอน กำลังเดิน กำลังทำอะไรอยู่ ให้เฝ้าดูไปเรื่อยๆ อย่างนี้ท่านเรียกว่า กายคตาสติ ตั้งสติอยู่ที่พระพุทธเจ้า ถ้าเราสวดมนต์เราก็อยู่กับบทสวดมนต์ ก็จะเรียกว่าธัมมานุสติก็ได้ เพราะบทสวดมนต์ก็เป็นคำสอนของพระพุทธเจ้า เช่น สวดอิติปิโส อรหังสัมมา สวากขาโต สุปฏิปันโน ก็เรียกว่ามีสติอยู่กับพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ พุทธานุสสติ ธัมมานุสสติ สังฆานุสสติ สตินี่แหละเป็นตัวที่จะควบคุมใจของเราให้อยู่กับเนื้อกับตัว ไม่ให้ลอยไปคิดตามความอยากต่างๆ ถ้าไปคิดตามความอยากใจก็จะหิว ใจก็จะอยู่เฉยๆไม่ได้ พอคิดถึงกาแฟก็ต้องไปชงกาแฟมาดื่ม พอไปคิดถึงมือถือก็ต้องเปิดมาดู คิดถึงเพื่อนก็ต้องเช็คดูว่าเพื่อนส่งข้อความมาหรือเปล่า ตอนนี้เพื่อนอยู่ที่ไหน กำลังไปกินอะไร ถ่ายรูปส่งมาให้ดูหรือเปล่า สมัยนี้ทำอะไร ก่อนจะทำนี้ก็ต้องถ่ายรูปก่อน ถ่ายแล้วก็ส่งไปให้เพื่อนดูให้เขาอิจฉา โอ้ย ตอนนี้ฉันมีความสุขเหลือเกิน เธออยู่ที่ไหนทำอะไร นี่คือใจเรามันจะชอบลอยไปกับเหตุการณ์เหล่านี้ แล้วถ้าเกิดโทรศัพท์เสียขึ้นมาก็หงุดหงิด ไม่มีเครื่องมือที่จะเล่น ไม่มีเครื่องหมายเครื่องมือที่จะทำให้มีความสุข หรือเงินหมดอย่างนี้ ไม่มีเงินซื้อของไม่มีเงินไปเที่ยว ต้องอยู่เฉยๆ อยู่บ้าน นี่ ก็จะหงุดหงิดรำคาญใจเศร้าสร้อยหงอยเหงาว้าเหว่ แต่ถ้าเราพุทโธเป็น เราเฝ้าดูร่างกายเป็น เฝ้าดูลมเป็น ไม่มีเงินน่ะดี จะได้ไม่ต้องไปทำอะไร อยู่บ้านนั่งสมาธิทำใจให้สงบ กลับดีกว่ามีเงิน มีเงินไปเที่ยวกลับมาก็เหนื่อยเงินก็หมด ความสุขที่ได้จากการไปเที่ยวก็หมด กลับมาก็กลับมาเจอกับความอ้างว้างเปล่าเปลี่ยวเดียวดายเหมือนเดิม

แต่ถ้าเรารู้จักใช้สติควบคุมใจให้สงบ เราอยู่ที่ไหนเราก็มีความสุข โดยที่เราไม่ต้องมีอะไร ไม่ต้องทำอะไร อันนี้แหละเป็นของวิเศษมีอยู่ในตัวเรา เรากลับไม่หากัน เรากลับไปหาของที่ไม่วิเศษ ไปหามือถือมาเล่นกัน ไปหาขนมมากินกัน ไปเที่ยวกัน ไปซื้อข้าวซื้อของอะไรต่างๆ ที่ไม่จำเป็นจะต้องซื้อกัน แล้วก็ต้องไปดิ้นรนหาเงินหาทองกัน ถ้าไม่มีเงินทองก็ซื้อของต่างๆ ไม่ได้ ตอนต้องหาเงินก็ทุกข์กัน ลำบาก กว่าจะได้เงินมาสักบาทหนึ่งก็ต้องเหนื่อย พอได้มาปั๊บก็ใช้แป๊บเดียว หมดแล้ว เงินเดือนออกนี่วันเดียวก็ใช้หมดแล้ว ไปช็อปปิ้งทีเดียวก็หมดแล้ว นี่คือเรื่องของพวกเรา ที่ไม่มีสติ มันจะพาชีวิตเราไปตะลุมบอนอยู่เรื่อยๆ ตะลุมบอนกับคนนั้นคนนี้ กับเรื่องนั้นเรื่องนี้สิ่งนั้นสิ่งนี้ อยู่ไม่เป็นสุข อยู่เฉยๆ ไม่ได้อยู่เฉยๆ แล้วทุกข์ อึดอัดรำคาญใจ พอได้ไปทำอะไรแล้วดีอกดีใจ แต่ดีใจเดี๋ยวเดียว เดี๋ยวพอไม่ได้ทำก็ทุกข์อีกแล้ว แล้วต่อไปร่างกายมันก็จะต้องแก่ลงไป กำลังวังชาที่จะทำอะไรอย่างที่เคยทำมันก็จะค่อยๆ หมดไปๆ พอไม่ได้ทำอะไรๆ มันก็หงุดหงิดรำคาญใจอีกแล้ว มันไม่หายของพวกนี้ แล้วยิ่งถ้าเจ็บไข้ได้ป่วยยิ่งทำอะไรไม่ได้ใหญ่ ต้องไปแต่โรงพยาบาลไปหาหมอไปรักษาตัว ทีนี้ก็หาความสุขไม่ได้ ไม่มีความสุขในใจ มีแต่ความทุกข์ ทุกข์เพราะอยากให้หาย ทุกข์เพราะอยากจะไปเที่ยว ทุกข์เพราะอยากจะไปทำอะไรที่เคยอยากทำมา ตามที่เคยทำมา พอไม่ได้ทำก็ทุกข์ แล้วถ้าคิดถึงความตายว่ากำลังจะใกล้เข้ามาก็ยิ่งทุกข์ใหญ่ เพราะเมื่อตายแล้วก็หมด เสียหมดมีอะไรก็หมด หาอะไรมาได้มากน้อยเพียงไร ความสุขชนิดไหนได้มามากน้อยเพียงไรก็ต้องหายไปหมด หายไปกับร่างกาย แต่ถ้าเราฝึกสติได้ เราจะไม่เดือดร้อนเวลาที่ร่างกายเราทำอะไรไม่ได้ เพราะเวลาเรานั่งสมาธิเราก็ไม่ได้ใช้ร่างกายอยู่แล้ว เวลาที่เราหาความสุขจากสมาธินี้เราไม่ต้องใช้ร่างกายเลย ร่างกายจะอยู่ในท่าไหนก็ได้ ท่ายืนท่านั่งท่านอนก็ได้ ถ้าเรามีสติดีๆ แล้ว อยู่ในท่าไหนก็นั่งสมาธิได้.

สนทนาธรรมะบนเขา

วันที่ ๒๗ กรกฎาคม ๒๕๖๐

พระอาจารย์สุชาติ อภิชาโต







การทำสมาธิ โดย หลวงปู่ชา สุภัทโท ตอน 1/5
การทำจิตให้สงบ

การทำจิตให้สงบ คือการวางให้พอดี ตั้งใจเกินไปมากมันก็เลยไป ปล่อยเกินไปมันก็ไม่ถึง เพราะขาดความพอดี ธรรมดาจิตเป็นของไม่อยู่นิ่ง เป็นของมีกิริยาไหวตัวอยู่เรื่อย ฉะนั้นจิตใจของเราจึงไม่มีกำลัง

การทำจิตใจของเราให้มีกำลัง กับการทำกายของเราให้มีกำลังมันต่างกัน การทำกายให้มีกำลังก็คือ การออกกำลัง ทำกายบริหาร มีการกระโดด การวิ่ง นี่คือการทำกายให้มีกำลัง การทำจิตใจให้มีกำลังก็คือทำจิตให้สงบ ไม่ใช่ทำจิตให้คิดนั่นคิดนี่ไปต่างๆ ให้อยู่ในขอบเขตของมัน เพราะว่าจิตของเรานั้นไม่เคยได้สงบ ไม่เคยมีกำลัง มันจึงไม่มีกำลังทางด้านสมาธิภายใน

การทำสมาธิ

บัดนี้เราจะทำสมาธิ ก็ตั้งใจ ให้เอาความรู้สึกกำหนดอยู่กับลมหายใจ ถ้าหากว่าเราหายใจสั้นเกินไปหรือยาวเกินไป ก็ไม่พอดี ไม่ได้สัดได้ส่วนกัน ไม่เกิดความสงบเหมือนกันกับเราเย็บจักร ผู้เย็บจักรมีมือมีเท้าเราต้องถีบจักรเปล่าดูก่อน ให้รู้จักให้คล่องกับเท้าของเราเสียก่อนจึงเอาผ้ามาเย็บ
การกำหนดลมหายใจก็เหมือนกัน หายใจเฉยๆ กำหนดรู้ไว้ จะพอดีขนาดไหน ยาวขนาดไหน สั้นขนาดไหน จะให้ค่อยขนาดไหน แรงขนาดไหน จะยาวก็ไม่เอากับมัน จะสั้นก็ไม่เอากับมัน จะค่อยก็ไม่เอากับมัน เอาตามความพอดี เอายาวพอดี เอาสั้นพอดี เอาค่อยพอดี เอาแรงพอดี นั่นชื่อว่าความพอดี เราไม่ได้ขัดไม่ได้ข้องแล้วก็ปล่อย หายใจดูก่อนไม่ต้องทำอะไร
ถ้าหากว่าจิตสบายแล้ว จิตพอดีแล้ว ก็ยกลมหายใจเข้าออกเป็นอารมณ์
หายใจเข้า ต้นลมอยู่ปลายจมูก
กลางลมอยู่หทัยคือหัวใจ
ปลายลมอยู่สะดือ อันนี้เป็นแหล่งการเดินลม

เมื่อหายใจออก ต้นลมจะอยู่สะดือ
กลางลมจะอยู่หทัย
ปลายลมจะอยู่จมูก

นี่มันสลับกันอย่างนี้ กำหนดรู้เมื่อลมผ่านจมูก ผ่านหทัย ผ่านสะดือ พอสุดแล้วก็จะเวียนกลับมาอีกเป็นสามจุดนี้ ให้ความรู้ของเราอยู่ในความเวียนเข้าออกทั้งสามจุดนี้ พยายามติดตามลมหายใจเช่นนี้เรื่อยไป เพื่อรักษาความรู้นั้นและทำสติสัมปชัญญะของเราให้กล้าขึ้น

เมื่อหากว่าเรากำหนดจิตของเรา ให้รู้จักต้นลมกลางลม ปลายลมดีแล้วพอสมควร เราก็วาง เราจะหายใจเข้าออกเฉยๆ เอาความรู้สึกของเราไว้ปลายจมูก หรือริมฝีปากบนที่ลมผ่านออกผ่านเข้า เอาแต่ความรู้สึกเท่านั้นไว้ที่นั่น ไม่ต้องตามลมออกไป ไม่ต้องตามลมเข้ามา เอาความรู้สึกหรือผู้รู้นั่นแหละไว้เฉพาะหน้าเราที่ปลายจมูก ให้รู้จักลมผ่านออก ผ่านเข้า ไม่ต้องคิดอะไรมากมาย เพียงแต่ให้มีความรู้สึกเท่านั้นแหละ ให้มีความรู้สึกติดต่อกัน ลมออกก็ให้รู้ลมเข้าก็ให้รู้ ให้รู้อยู่แต่ที่นั่นแหละ รู้แล้วมันจะเป็นอะไรก็ไม่ต้องคิด เอาเพียงเท่านั้นเสียก่อนในเวลานี้ หน้าที่การงานของเรามีแค่นั้น ไม่ได้มีมาก กำหนดลมเข้าออกอยู่อย่างนั้นแหละ

ต่อไปจิตก็สงบ ลมก็จะละเอียดเข้าไป น้อยเข้าไปกายก็จะเบาเข้าไป จิตก็จะสงบไป ความเบากายเบาใจนั้น ก็จะเกิดขึ้นมา จะเป็นกายควรแก่การงาน และจะเป็นจิตควรแก่การงานต่อไป นี่คือการทำสมาธิ ไม่ต้องทำอะไรมาก ให้กำหนดเท่านั้น ต่อไปนี้ให้ตั้งใจทำกำหนดไป.....

จิตเราละเอียดเข้าไป การทำสมาธินั้นจะไปไหนก็ช่างมัน ให้เรารู้ทันเอาไว้ ให้เรารู้จักมัน มันก็มีทั้งอารมณ์ มีทั้งความสงบคลุกคลีกันไป มันมีวิตก วิตกคือการจะยกจิตของตนนึกถึงอันใดอันหนึ่งขึ้นมา ถ้าสติของเราน้อยก็จะวิตกน้อย แล้วก็มีวิจารณ์คือ การตรวจดูตามเรื่องที่เราวิตกนั้น แต่ข้อสำคัญนั้นต้องพยายามรู้ให้ทันอยู่เสมอ แล้วก็พิจารณาให้ลึกลงไปอีก ให้เห็นว่า มีทั้งสมาธิและมีทั้งความรู้รวมอยู่ในนั้น

จากหนังสือ นอกเหตุเหนือผล หลวงปู่ชา สุภัทโท หน้าที่ 3-15








เงินและทอง – พระเราต้องพร้อมที่จะอดอยู่เสมอ

การออกปากขอสิ่งของ หรือเรี่ยไรเงินทองจากญาติโยมทุกรูปแบบ เป็นอีกเรื่องหนึ่งที่หลวงพ่อชาเข้มงวดมาก แม้แต่การตั้งตู้บริจาคในวัดก็ไม่มี เมื่อญาติโยมนำเงินมาถวาย ท่านก็ไม่เคยแสดงความยินดี หรือตระหนี่หวงแหน เพราะท่านถือว่าเงินทองไม่ใช่เรื่องของพระ เป็นศรัทธาญาติโยม

แม่ชีบุญยู้ได้เล่าขยายความให้ฟังว่า

“เมื่อญาติโยมมาถวายปัจจัย ท่านจะมีไวยาวัจกรเป็นผู้เก็บเอาไว้ โดยที่ท่านจะไม่เข้าไปยุ่งเกี่ยวด้วย ถ้าเขาจะโกงกินก็กินกันจนอาเจียนนั่นแหละ

บางครั้งไวยาวัจกรไม่อยู่ ท่านก็ให้เขาเอาปัจจัยใส่ไว้ในสมุด แล้วท่านก็ไปทำธุระของท่าน ไม่ได้มาใส่ใจกับเรื่องปัจจัยนั้น กลับมาอีกครั้งปัจจัยหายไป เหลือแต่สมุดเปล่าๆก็มี ท่านก็จะไม่ไปโจทก์ขานซักไซร้ไล่เลียงเอากับผู้อื่น ว่า ใครมาที่นี่บ้าง เห็นพระเห็นโยมมาที่นี่ไหม ท่านจะว่า เขาไม่มีเขาถึงมาเอา”

ก่อนที่หลวงพ่อชาจะออกปฏิบัติ ท่านก็ยังจับเงินอยู่ ท่านเล่าให้ฟัง ถึงคราวที่ตัดสินใจเลิกใช้เงิน อย่างเด็ดขาดว่า

“เรื่องพระวินัยนี้ ถ้าหากว่ามันไม่เห็นในใจ มันก็ยาก ในเวลาก่อนมาอยู่วัดป่าพงหลายสิบปี ผมก็ตั้งใจจะทิ้งเงิน ตลอดทั้งพรรษา 2 เดือนกว่า ยังตัดสินใจไม่ได้ จวนจะออกพรรษาแล้ว จับเงินในกระเป๋ามีอยู่หลายร้อยเหมือนกัน ตกลงใจว่าวันนี้จะต้องเลิก เมื่อมันทะลุปุ๊บตกลงว่ามันจะเลิกเท่านั้น เลยสบาย

ตอนเช้าถือกระเป๋าสตางค์มาพบเพื่อนองค์หนึ่ง เป็นมหาเปรียญ ท่านกำลังล้างหน้าอยู่ ผมโยนกระเป๋าสตางค์ให้แล้วว่า นิมนต์เถิดท่านมหา เอาไปเถิด เอาไปเรียนหนังสือ ไม่ต้องห่วงผมหรอกผมเลิกแล้ว ตกลงกันแล้วเมื่อคืนนี้ ตกลงกันแล้ว ช่วยเป็นพยานให้ผมด้วย
ถ้าผมยังมีชีวิตอยู่ ผมจะไม่แตะต้องเงินทองเป็นอันขาด

ตั้งแต่วันนั้นมาผมยังไม่เคยทำอะไรเลย ไม่เคยซื้อ ไม่เคยแลกไม่เคยเปลี่ยน มีแต่ปฏิบัติทั้งนั้นแหละ อะไรต่างๆ ก็สำรวมอยู่ ”

หลวงพ่อชา เคยพูดถึงการใช้เงินครั้งหนึ่งว่า

“เอาเงินค่ารถหมกไว้ซ่อนไว้ไม่ให้ใครรู้ แต่ตัวเราก็รู้ พระอื่นไม่รู้แต่พระเรา(ตัวเรา)นี่ก็รู้ เพราะเราก็เป็นพระเหมือนกัน ร้อนระอุอยู่อย่างนั้น อย่างวัดป่าพงเราไปไหนก็ไม่มีค่ารถ แต่เขาก็ให้ไป มันดีกว่าเราต้องมาหอบสตางค์เสียอีก”

“ความจริงไม่มีเงินไม่ใช่ว่าจะไปไหนไม่ได้ ยิ่งไปได้ดีกว่าเก่า ค่ารถไม่มีก็เดินเอา ทำจริงๆเสีย เดี๋ยวเขาก็นิมนต์ขึ้นรถเอง”

หลวงพ่อชาอธิบายว่า ถ้าเรารักษาสิกขาบทข้อนี้ ก็เป็นการสร้างบารมี ญาติโยมเห็นแล้วก็เลื่อมใส มีจิตศรัทธาที่จะช่วยเหลือ

สำคัญที่เรา(พระ)ไม่ขอ พร้อมที่จะอดอยู่เสมอ เป็นสิกขาบทที่ช่วยสร้างความมักน้อยสันโดษเป็นหลักชีวิต

จากหนังสืออุปลมณีหน้าที่ ๑๔๒







"ให้เห็นว่าเขาเป็นธรรมชาติ"

ถาม : ถ้าจิตมีความเศร้าหมองอยู่เป็นประจำ พบอะไรเห็นอะไรก็หม่นหมอง จะมีอุบายวิธีแก้ไขจิตอย่างไรเจ้าคะ

พระอาจารย์ : ก็กำจัดเครื่องเศร้าหมอง คือกิเลสตัณหานี่ ที่เราเศร้าหมองหม่นหมองก็เพราะความอยากความโลภของเรา เห็นอะไรก็อยากให้เป็นอย่างนั้นเป็นอย่างนี้ พอไม่เป็นอย่างที่เราอยากก็เลยเศร้าหมอง ฉะนั้นเราต้องมองเขาให้เห็นว่าเขาเป็นธรรมชาติ อย่าไปบังคับพระอาทิตย์อย่าไปบังคับฝนฟ้าอากาศดินฟ้าอากาศ ฝนจะตกแดดจะออกก็ปล่อยเขาเป็นไปตามธรรมชาติของเขา เห็นอะไรก็ปล่อยให้เขาเป็นไปตามธรรมชาติของเขา อย่าไปอยากให้เป็นอย่างนั้นเป็นอย่างนี้ แล้วพอมันไม่ได้เป็นดังที่เราอยากมันก็จะทำให้ใจเราเศร้าหมองได้.

สนทนาธรรมะบนเขา

วันที่ ๒ สิงหาคม ๒๕๖๐

พระอาจารย์สุชาติ อภิชาโต







"ต้องแก้ที่ตัวเรา อย่าไปแก้ที่คนอื่น"

เราต้องแก้ที่ตัวเรา เราอย่าไปแก้ที่ดินฟ้าอากาศ เราอย่าไปแก้ที่คนอื่น อย่าไปแก้ที่สามี แก้ที่ใจเรา แก้ที่ความอยากของเรา ความทุกข์ของเราเกิดจากความอยากของเรา อยากให้สามีไม่ดื่มเหล้า พอเขาไม่เลิกดื่มก็ทุกข์ก็ไม่สบายใจ ไม่พอใจ แต่ถ้าเรากลับมาเปลี่ยนดูว่า เขาเป็นเหมือนลมพัด เราไปสั่งลมไม่ให้พัดไม่ได้ ก็เหมือนกับเราสั่งให้สามีไม่ไปดื่มเหล้าไม่ได้ พอเรารู้ สั่งเขาไม่ได้ เราก็หยุดสั่ง หยุดอยาก พอเราหยุดความอยาก เขาจะดื่มก็เรื่องของเขา เราก็ไม่เดือดร้อน นี่คือเรื่องวิธีที่เราจะทำให้เราดับความไม่สบายใจ เกี่ยวกับเรื่องต่างๆ ได้หมด เพราะเรื่องของความไม่สบายใจของเรา เกิดจากความอยากของเรา ที่จะไปอยากให้คนนั้นคนนี้ สิ่งนั้นสิ่งนี้ เป็นอย่างนั้นเป็นอย่างนี้กันทั้งนั้นแหละ ถ้าเราไม่มีความอยาก มันก็จะไม่มีปัญหาเลย นี่ถ้าเรามีสมาธิแล้วมีปัญญา เราก็จะหยุดความอยากได้ แต่ถ้าเราไม่มีสมาธิ ถึงแม้รู้ว่าเป็นความอยากของเราที่ทำให้เราทุกข์ เราก็ยังห้าม ยังอดอยากไม่ได้ ก็ยังอยากให้เขาไม่ดื่มสุราอยู่ ทั้งๆ ที่รู้ว่าอยากไปก็ไม่ได้ดั่งใจอยาก แต่ก็ยังอยากอยู่นั่น พออยากทีไร ไม่สบายใจทุกที จนกว่าสักวันหนึ่งมีสมาธิ พอจิตมีสมาธิ จิตนิ่งสงบแล้ว ทีนี้ก็จะหยุดได้ มันจะดื่มก็ดื่มไป ฉันไม่มีความอยากด้วย ฉันไม่อยากจะทุกข์ด้วยล่ะ ฉันเฉยๆ ดีกว่า นี่คือปัญญากับสมาธิ ถ้ามีสองอย่างแล้ว ก็จะสามารถทำลายความทุกข์ต่างๆให้หมดไปจากใจได้ ถ้ามีเพียงสมาธิก็หยุดได้ชั่วคราว เวลาไม่สบายใจกับเรื่องสามี ก็ไปนั่งสมาธิ พอนั่งสมาธิแทนที่จะคิดถึงสามี ก็คิดถึงพุทโธ พุทโธแทน พออยู่กับพุทโธ พุทโธแทน ก็ลืมเรื่องสามีไป พอลืมเรื่องสามีไป ความทุกข์กับสามีก็หายไป แต่ถ้าอยากจะไม่ทุกข์กับสามีเลย เวลามองหน้าสามี ก็มองให้เขาเป็นเหมือนดินฟ้าอากาศไป.

สนทนาธรรมะบนเขา

วันที่ ๓๑ กรกฎาคม ๒๕๖๐

พระอาจารย์สุชาติ อภิชาโต







"วิธีแยกใจกับแยกกาย"

ถาม : จิตต้องอยู่กับร่างกาย ร่างกายจะทำอะไรคือจิตส่งใช่ไหมคะ

พระอาจารย์ : จิตเป็นคนสั่งไง สั่งให้ร่างกายพูด นี่กำลังพูดนี้จิตเป็นคนสั่งให้ร่างกายพูด ก่อนจะพูดได้ต้องคิดก่อนว่าจะพูดอะไร ถ้าไม่คิดก็ไม่ได้พูด ใจเป็นนายกายเป็นบ่าว เป็นสองคน ร่างกายเป็นคนหนึ่ง ใจเป็นอีกคนหนึ่ง ร่างกายมีรูปร่าง แต่ใจไม่มีรูปร่าง ใจมีแต่ความรู้สึกนึกคิด นี่ความรู้สึก เวลาดีใจนี้อยู่ตรงไหน ลองสังเกตเวลาดีใจอยู่ตรงขา หรืออยู่ตรงหัว หาไม่เจอใช่ไหม เพราะมันไม่ได้อยู่ในร่างกาย ใจไม่ได้อยู่ในร่างกาย เอ้า เวลาดีใจเสียใจลองไปค้นหาที่มันดีใจเสียใจสิ ถามว่าอยู่ตรงไหนล่ะ หาเจอไหม อยู่ตรงหัวเหรอ อยู่ตรงขาเหรอ อยู่ตรงท้องเหรอ มันไม่มีหรอก ใจไม่ได้อยู่ในร่างกาย ใจอยู่อีกที่หนึ่ง ติดต่อกันได้ด้วยกระแสจิต กระแสจิตส่งมาเกาะที่ร่างกายเพื่อจะได้รับรู้ข้อมูลเรื่องทางร่างกาย รับรูปเสียงกลิ่นรส ผ่านทางตาหูจมูกลิ้นกาย แล้วก็ส่งไปให้ใจอีกทีหนึ่ง ใจตั้งอยู่ตรงนี้ ร่างกายอยู่ตรงนี้ อยู่คนละที่กัน ฉะนั้นร่างกายเป็นอะไรไป ใจไม่ได้เป็นอะไร แต่ใจกลับไปตกใจแทนร่างกาย พอร่างกายจะเป็นอะไร พองูเลื้อยเข้ามาหน่อย ใจตื่นเต้นตกใจกระโดดขึ้นมาแล้ว ไม่ใช่ร่างกายกระโดดนะ ใจกระโดด ถ้าใจไม่กระโดดร่างกายมันก็นั่งเฉยๆ ถ้าสมมุติว่าใจหลับไป ร่างกายมันก็ไม่รู้เรื่อง งูมาก็มาไป ร่างกายมันไม่รู้เรื่องอะไร ตัวที่รู้เรื่องคือจิต ทีนี้รู้ผิดเท่านั้นเอง ไปรู้ว่าร่างกายเป็นตัวเราของเราขึ้นมา ก็เลยกลัวไป รักตัวกลัวตายให้กับร่างกาย ถ้ารู้ว่ามันไม่ใช่เป็นตัวเราของเรา เราก็จะไม่ไปรักตัวกลัวตายในร่างกาย เหมือนร่างกายคนอื่นเราไปรักตัวกลัวตายแทนเขาไหม คนนั้นนั่งตรงนั้น ถ้างูเลื้อยเข้าไปหาเขานี่ เราจะตื่นเต้นตกใจไหม ก็ร่างของเขาไม่ใช่ของเราใช่ไหม (หัวเราะ) นี่คือวิธีแยกใจกับแยกกาย ต้องคอยเตือน คอยสอน คอยเปรียบเทียบ คอยพูดสอนว่า ให้เราเป็นเพียงแต่คนสั่ง เราเป็นเจ้านายของร่างกาย ร่างกายเป็นคนรับใช้เรา.

สนทนาธรรมะบนเขา

วันที่ ๓๑ กรกฎาคม ๒๕๖๐

พระอาจารย์สุชาติ อภิชาโต







...สมาธิคือ "บ้านของจิตที่ปลอดภัย"
พอเข้าไปในสมาธิแล้ว..เย็น..สบาย
.
...ไม่รับรู้เรื่องราวต่างๆ
ทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น
ทางกาย ทางความคิดปรุงแต่ง
"ปิดหมด"
.
...พอทุกอย่างยุติ
ใจก็..ว่าง..เย็น..สบาย..สงบ
"มีความสุข"
..........................................
.
คัดลอกการสนทนาธรรม
ธรรมะบนเขา 3/8/2560
พระอาจารย์สุชาติ อภิชาโต
วัดญาณสังวรารามฯ ชลบุรี






...ถ้ามีความสงบของใจแล้ว
"ใจจะปราศจากทุกข์"
จะไม่ทุกข์ไม่วุ่นวายกับ
การเสื่อมของสิ่งต่างๆ ที่ใจ
เคยไปยึดไปติด เคยไปพึ่งพาอาศัย
.
...ถ้ามีความสงบเป็นที่พึ่งแล้ว
"ใจก็ปลอดภัย ปลอดจากความทุกข์"
.
...ร่างกายจะแก่จะเจ็บจะตายไป
ก็ไม่เดือดร้อน
ลาภ ยศ สรรเสริญจะเสื่อมไป
ก็ไม่เดือดร้อน
รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะจะหายไป
ก็ไม่เดือดร้อน
.
...เพราะใจยังมีที่พึ่งอยู่
"ยังมีความสงบอยู่" ความสงบนี่แหละ
"เป็นที่พึ่งที่แท้จริงของเรา" ของพวกเรา.
.......................................................
.
คัดลอกการแสดงธรรม
ธรรมะบนเขา4/4/2558
พระอาจารย์สุชาติ อภิชาโต
วัดญาณสังวรารามฯ ชลบุรี





ธรรมของพระพุทธเจ้าเป็นทางออก โลกนี้ไม่มีทางออก มีแต่ทางตัน ใครบอกว่าโลกนี้มีทางออกอย่างนั้นอย่างนี้ นั่นล่ะคนไม่มีทางออก ถ้าไม่ใช่ธรรมของพระพุทธเจ้าแล้ว ยังไงก็หาทางออกไม่ได้

พระอาจารย์โสภา สมโณ







"การสร้างบุญ สร้างกุศล
สำหรับพวกเราเอง ก็เหมือนกัน
สร้างทุกวันทุกคืน มีน้อยให้ตามน้อย
มีมากให้ตามมาก ตามกำลังของเรา

เราอย่าไปคิดว่า
ให้เป็นเศรษฐีเสียก่อน
แล้วค่อยทำบุญ นี่ตายทิ้งเปล่าๆ
ไม่มีใครเป็นเศรษฐีได้แหละ"

-:- หลวงตามหาบัว ญาณสัมปันโน -:-






"วิ่งไล่ความสุขเท่าไร ก็ไม่ทันสักที
หยุดวุ่น หยุดฟุ้งเมื่อไร ความสุขก็มาหาเราเอง"
-:-พระอาจารย์ชยสาโร ภิกขุ-:-





"คนเราจะมีความสุข
มันไม่ได้ขึ้นอยู่กับว่ามีเท่าไร
แต่ขึ้นอยู่ที่ว่าเราพอเมื่อไร"
-:-หลวงปู่ชา สุภัทโท-:-






"ความเจ็บ ความทุกข์
ความลำบากในธาตุขันธ์
ไม่มีใครผู้ใด หลีกเลี่ยงได้
เพราะมีอยู่กับทุกคน

เราเรียนเรื่องนี้ ให้รู้ตามความจริง
ทุกแง่ทุกมุม แล้วก็ปล่อยได้
ตั้งแต่ยังไม่ตาย เป็นเพียงรับผิดชอบกันไป
ตามหลักธรรมชาติ ธรรมดาเท่านั้นเอง"

-:-หลวงตามหาบัว ญาณสัมปันโน-:-






"เขาจะดีจะชั่ว ก็เป็นเรื่องของเขา
ต่างก็มีกรรมเวร เป็นของตน
ไม่ต้องสนใจใคร

หากสนใจ ความไม่ดีของคนอื่น
ระวังตัวเราเอง อาจจะต้องลงอเวจี

ปฏิบัติมาถึงป่านนี้แล้ว
ใครทำไม่ดี กฎของกรรม ลงโทษเอง
ระวังจิตของเราให้ดี"

-:- หลวงพ่อฤาษีลิงดำ -:-


แสดงโพสต์จาก:  เรียงตาม  
กลับไปยังกระทู้  [ 1 โพสต์ ] 

เขตเวลา GMT + 7 ชั่วโมง


 ผู้ใช้งานขณะนี้

กำลังดูบอร์ดนี้: ไม่มีสมาชิก และ บุคคลทั่วไป 47 ท่าน


ท่าน ไม่สามารถ โพสต์กระทู้ในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ ตอบกระทู้ในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ แก้ไขโพสต์ของท่านในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ ลบโพสต์ของท่านในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ แนบไฟล์ในบอร์ดนี้ได้

ค้นหาสำหรับ:
ไปที่:  
Google
ทั่วไป เว็บธรรมจักร