วันเวลาปัจจุบัน 26 เม.ย. 2024, 03:44  



เขตเวลา GMT + 7 ชั่วโมง




กลับไปยังกระทู้  [ 1 โพสต์ ]    Bookmark and Share
เจ้าของ ข้อความ
โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 16 ก.ค. 2017, 08:15 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
อาสาสมัคร
อาสาสมัคร
ลงทะเบียนเมื่อ: 06 มี.ค. 2009, 10:48
โพสต์: 5091


 ข้อมูลส่วนตัว


แก้หัวใจตนเองออกดูสิ...ตรงไหนมันขัดมันข้อง ปลดออกๆ...
พระพุทธเจ้าให้เจริญสติ ถ้าสติกลายเป็นมหาสติ มันจะเห็นหรอก
นี่ไม่ทำเอา มันเลยไม่เกิดอะไรล่ะ...คิดน่ะ คิดเรื่องคนอื่นโน่น
หัวใจตัวเองน่ะไม่ดู คนที่เขาภาวนา เขาไม่ได้สนใจนะ
ท่านหลบไปและดูงานตัวเอง ปากมีแต่ไม่พูด
หากแก้โลกธรรมแปดออกจากใจแล้ว มันไม่หวั่นไหวอะไรหรอก
นี่ใจเรามันวิ่งตามนี่แหละ สรรเสริญ นินทา
ถ้าตัดตัวนี้ออกแล้ว มันสบายนะ...
นี่มันไม่ตัด วิ่งตามเขาอยู่อย่างนั้น
แม้มาบวชในศาสนา แต่หัวใจก็ยังอยู่กับเรื่องโลกๆ
การห่มผ้าเหลือง มันต่างที่การปฏิบัติ
.
หลวงปู่ลี กุสลธโร วัดป่าภูผาแดง อ.หนองวัวซอ จ.อุดรธานี
เทศน์ในพรรษา พุทธศักราช ๒๕๔๒





"บทสนทนาถาม - ตอบ ข้อสงสัยระหว่างพระอาจารย์กับศิษย์"

ศิษย์ : พระอรหันต์มี ๔ ประเภทนี้ ท่านสามารถแสดงธรรมได้เหมือนกันหมด

พระอาจารย์ : ก็ ๔ ประเภทนี้ ประเภทหนึ่งที่ท่านสามารถในการแสดงธรรมได้อย่างกว้างขวาง พระอรหันต์บางท่านนี้ไม่มีความสามารถ ท่านก็แสดงได้แบบง่ายๆ สั้นๆ แบบภาวนาเน้อ อย่างนี้ ท่านก็แสดง ครูบาอาจารย์ท่านก็สอนภาวนาเน้อ สติเน้อ ท่านก็พูดแค่นี้ แต่ถ้าคนที่มีความสามารถ ท่านก็จะขยายความให้ละเอียดขึ้นให้คนฟังได้เกิดความเข้าใจดีขึ้น

ศิษย์ : การแจกแจงเปรียบเทียบ หัวข้อธรรม

พระอาจารย์ : อันนี้เป็นความสามารถพิเศษของพระอรหันต์

ศิษย์ : ประเภทนี้เป็นประเภทที่เท่าไหร ครับ

พระอาจารย์ : ก็รู้สึกจะเรียกเป็น ๔ ท่านมีความสาสามารถในการแสดงอรรถ ในการแสดงธรรม ประเภทแรกนี้คือแบบพื้นๆ ไม่มีความสามารถพิเศษ ท่านเพียงแต่สามารถทำกิจของท่านให้ดับความทุกข์ต่างๆได้

ศิษย์ : สุขวิปัสโกใช่ไหมครับ

พระอาจารย์ : เออ..ขั้นที่ ๒ แบบมีอิทธิฤทธิ์ปาฏิหารย์ เป็นพวกที่ ๓ ก็มีความสามารถในการแสดงอรรถ แสดงธรรมต่างๆได้ พวกที่ ๔ ลืมไปแล้วเป็นอะไร มี ๔ จำพวก พวกเราจะได้รับประโยชน์ก็จากพวกที่แสดงอรรถแสดงธรรมเก่ง

ศิษย์ : อย่างพระอาจารย์สุชาติก็เป็นประเภทที่แสดงธรรมเก่ง

พระอาจารย์ : โอ๊ย..อันนี้ไม่รู้แล้ว ก็อย่าไปยกตนจะเป็นประเภทไหนก็ช่างมันแหละ ก็มันเรื่องของบุญ เรื่องของกรรมของแต่ละคนที่ได้ทำมา บุญบารมีของแต่ละคนไม่เหมือนกัน บางคนก็เก่งไปในทางอิทธิฤทธิ์ปาฏิหารย์ บางคนก็เก่งไปในทางแสดงธรรม อย่างพระสารีบุตรนี้ พระพุทธเจ้าก็ทรงยกย่องว่าเก่งในการแสดงธรรม ส่วนพระโมคคัลนานะก็แสดงเก่งในเรื่องการแสดงอิทธิฤทธิ์ปาฏิหารย์ พระอานนท์ก็เก่งในเรื่องความจำ จำธรรมะคำสอนของพระพุทธเจ้าได้หมด แล้วแต่ละคนก็ได้สะสมบุญบารมีมาไม่เหมือนกัน เรื่องเหล่านี้ถือว่าเป็นของแถมไม่สำคัญ สิ่งที่สำคัญที่สุดก็คือการบรรลุเป็นพระอรหันต์ ขอให้ดับกิเลสกับทุกข์ยุติการเวียนว่ายตายเกิดได้ อันนีก็พอแล้ว ส่วนความสามารถพิเศษนี้ ก็เป็นเรื่องของการทำประโยชน์ให้แก่ผู้อื่น ถ้ามีก็ทำไป ถ้าไม่มีก็ไม่ได้ทำ อย่างพระพุทธเจ้าบางรูปไม่มีความสามารถก็ไม่แสดงธรรม ก็เป็นพระปัจเจกพระพุทธเจ้าไปก็มี พระอรหันต์บางรูปท่านแสดงธรรมไม่ชำนาญไม่เก่ง ท่านก็ไม่แสดง ท่านก็ไม่ปรากฏเป็นที่รู้จัก

อย่างหลวงปู่มั่นนี้ ท่านแสดงธรรมเก่งมากจึงปรากฏมีพระอรหันต์เป็นลูกศิษย์กันเยอะแยะเลย ส่วนพระอาจารย์เสาร์ท่านแสดงธรรมไม่เก่ง ท่านก็ไม่มีลูกศิษย์ที่เป็นพระอรหันต์มาก เพราะท่านสอนไม่เป็น เพราะการสอนนี้มันต้องใช้ความรู้ความสามารถพิเศษ คือต้องรู้จักแยกแยะเปรียบเทียบอะไรต่างๆ ยกตัวอย่างอะไรต่างๆ มา

ศิษย์ : เวลาผมฟังเทศน์พระอาจารย์ พระอาจารย์ก็สอนเปรียบเทียบเก่ง

พระอาจารย์ : มันก็เป็นไปตามธรรมชาติของเรา เราก็ไม่ได้ตั้งใจว่าจะเทศน์แบบนี้ แต่เวลาเราจะพูดอะไรจะอธิบายอะไร เราก็อยากให้คนฟังเขาเข้าใจใช่ไหม เราก็ต้องยกตัวอย่างให้เขาเห็น ถ้าเขาเห็นแล้วเขาก็จะเข้าใจ เพราะเมื่อก่อนนี้เราก็ใช้อาศัยดูตัวอย่างที่ทำให้เราเกิดความเข้าใจ อย่างสมัยเด็ก ๆ เราอยากจะรู้ว่าทำไมโลกกลม ทำไมมันไม่แบน ก็เขาสอนบอกว่า ให้ดูเวลาเรือวิ่งเข้ามาจากทะเล ดูว่าจะเห็นอะไรก่อน ถ้าโลกมันแบนก็ต้องเห็นเรือ เห็นเสากระโดงพร้อมกัน แต่ถ้ามันไม่เรียบ มันโค้งมันก็ต้องเห็นส่วนที่สูงก่อน ยกตัวอย่าง ใช่ไหม เวลาเราเห็นเรือเข้ามานี้เราเห็นทั้งรำพร้อมกันหรือเปล่า เราต้องเห็นเสากระโดงก่อนใช่ไหม เหมือนคนที่ขี่ม้าข้ามเขามานี้ เราก็ต้องเห็นอะไรก่อน เราก็ต้องเห็นคนขี่ก่อนใช่ไหม ก่อนจะเห็นตัวม้า เพราะพื้นมันไม่เรียบ ถ้าพื้นมันเรียบมันก็เห็นพร้อมกันหมด อันนี้มันก็เป็นการยกตัวอย่าง

พระพุทธเจ้าเวลาแสดงธรรมท่านก็ยกตัวอย่าง ลองอ่านพระธรรมพระสูตรที่พระพุทธเจ้าทรงแสดง แสดงอะไรก็จะยกตัวอย่างเช่น เรื่องของกรรมการทำความดีความชั่ว ท่านก็เปรียบเหมือนกับรอยของล้อเกวียนกับตัวล้อเกวียน ล้อเกวียนนี้เวลามันหมุนไปไหนมันก็ต้องมีรอยเท้าตามไปใช่ไหม ฉันใดบุญที่เราทำมันก็ต้องมีผลตามมา บาปที่เราทำมามันก็ต้องมีผลตามมาเหมือนกัน เปรียบเทียบให้ฟัง เหมือนกับว่ามีไฟมันก็ต้องมีควันใช่ไหม มีควันมันก็ต้องมีไฟใช่ไหม ของเปรียบเทียบกันได้ ถ้ามีการกระทำมันก็ต้องมีผลตามมา ผลดีหรือผลชั่วก็ต้องอยู่ที่การกระทำดีหรือการกระทำชั่วนั่นเอง.

ธรรมะบนเขา

วันที่ ๑๒ พฤษภาคม ๒๕๕๖

“บัว ๔ เหล่า”

พระอาจารย์สุชาติ อภิชาโต







ผมอยากทราบว่าทำไมเวลาตักบาตรจะต้องถอดรองเท้าด้วยครับ ?

ท่านชยสาโรตอบ : ในพระวินัยท่านไม่ได้กำหนดเรื่องนี้ แต่จะเน้นที่คำว่า

“ต้องถวายด้วยความเคารพ”

ต่อมาภายหลังอาจารย์รุ่นหลังต้องวิเคราะห์ว่า การให้หรือถวายด้วยความเคารพนั้นเป็นอย่างไร จะต้องกำหนดให้ชัดเจนว่าถวายอย่างไรแสดงว่าเคารพ ถวายอย่างไรแสดงว่าไม่เคารพ

ซึ่งถ้าเอาวัฒนธรรมอินเดียในสมัยนั้นเป็นหลักการให้หรือถวายของนี่ ต้องทำด้วยกิริยาท่าทางอ่อนน้อม ถ่อมตน เช่น ถ้าถวายข้าว ก็ห้ามโยนอย่างนี้ ต้องใส่อย่างนี้

แล้วในสมัยนั้นการใส่รองเท้าถือว่าไม่สุภาพ ยิ่งถ้าพระท่านไม่ใส่รองเท้าอยู่แล้ว ถ้าโยมใส่รองเท้าก็สูงกว่า จึงกลายเป็นธรรมเนียม เป็นสัญลักษณ์ว่าผู้ถวาย ถวายด้วยความเคารพ

แต่เมื่อพระเราไปเมืองนอก ซึ่งคนไม่รู้จักธรรมเนียม ไม่รู้จักประเพณี เราจะไป ต้อง..อย่างนั้น อย่างนี้นะ มันไม่ได้ เดี๋ยวเขาก็ถอยเลย ใช่ไหม

บอกแต่ว่าให้ด้วยความเคารพ เขาก็แปลตามความหมายของเขา ให้ด้วยความเคารพในความหมายของเขาอาจจะดูไม่งามเหมือนธรรมเนียมของเรา ก็เป็นเรื่องของเขา

ถ้าเป็นลูกศิษย์วัดนานๆแล้ว เราก็ค่อยๆสอนให้เขาทำเหมือนคนไทย

อย่างเดือนที่แล้ว อาตมาเดินบิณฑบาตที่อเมริกาก็มีชาวบ้านธรรมดาไม่ใช่ลูกศิษย์วัด กำลังเอาของขึ้นรถ สงสัยเป็นคนทำงานก่อสร้าง เขาเห็นพระเดินมา เขาก็ว่า

“Hey, you guys .You want some tomatoes? – เฮ้ พวก เอามะเขือเทศด้วยไหม ?”

อย่างนี้อาตมานี้ตอบไม่ถูกเลย ทีนี้เจ้าอาวาสท่านเดินตามหลังมา ท่านก็บอก “Sure –เอาซิ ”

เราจึงหยุด เขาตื่นเต้น เข้าไปเก็บมะเขือเทศในสวนหน้าบ้านมาใส่ในบาตร ถ้าดูที่กิริยามารยาท ในสายตาคนไทยก็คงดูไม่งาม แต่จิตใจเขางามมาก เขาเห็นพระมา เขามีอะไรดีๆ เขาก็อยากแบ่งปันให้

ดังนั้น เราจะไป โอ้ ใส่รองเท้าไม่ได้ หรือ ทำอย่างนั้นไม่ได้

เราไม่พูดหรอกเพราะว่าเขาเป็นคนใหม่ ถ้าต่อมาเราสนิทสนมกันก็ค่อยๆสอน มันไม่ใช่กาลเทศะที่จะสอนในเรื่องธรรมเนียมประเพณี

แม้แต่ในประเทศไทย ถ้าบิณฑบาตในกรุงเทพ มีทหารจะใส่บาตร จะให้ทหารถอดรองเท้ากลางถนนก็คงไม่เหมาะสม ใช่ไหม(เพิ่มเติม-รองเท้าคอมแบททหาร จะเป็นรองเท้าผูกเชือก การถอด-ใส่ จะต้องใช้เวลาพอสมควร)

จึงต้องใช้สามัญสำนึกด้วย ถ้าเขามีกิริยานอบน้อมที่จะถวาย เราก็ไม่ต้องไปจู้จี้ในเรื่องรายละเอียด







ทำไม่หยุดไม่หย่อน สักวันความขยันต้องปรากฏ ในขณะที่เรานั่งภาวนา อาการของจิตมันก็เปลี่ยน อารมณ์ของใจมันก็ถูกธรรมเข้าไปขับออก อารมณ์ของใจอารมณ์กิเลสมันออกจากใจ อารมณ์ของธรรมเกิดขึ้น ความขยันมันจะมาเอง

เช่น นั่งภาวนา จิตเริ่มสงบเข้า ลมหายใจเริ่มถี่ยิบ กายใจเริ่มเบาลง ความขยันความเพียรมันจะมาเอง ไม่ได้บังคับเหมือนแต่ก่อนแล้ว แต่ก่อนมันต้องต่อสู้ มันต้องบังคับ ถ้าเราบังคับไม่ได้ มันจะปฏิบัติตามกิเลสนะ ไม่ได้เลย กิเลสบอกให้นั่งก็นั่ง กิเลสบอกให้หยุดก็หยุด กิเลสบอกให้ศรัทธาก็ศรัทธา กิเลสบอกให้เบื่อก็เบื่อ กิเลสอยากให้ไปวัดก็ไปวัด กิเลสไม่อยากให้ไปก็ไม่ไป เราทำตามกิเลส ไม่ได้ทำตามธรรม สิ่งไหนที่ธรรมไม่ชอบกิเลสมันชอบ สิ่งไหนที่กิเลสมันไม่ชอบ นั่นล่ะธรรมจะเกิด มันต้องเดินสวนทางกันสิ จะไปเดินตามกันได้ยังไง เดินตามความรู้สึกเจ้าของก็เหมือนเดินตามกิเลส จะไปแก้กิเลสได้ยังไง มันเป็นการส่งเสริมกิเลสน่ะสิ เอาตรงนี้ล่ะ

พระอาจารย์โสภา สมโณ
๑ กรกฎาคม ๒๕๖๐






ความสวยที่แท้จริงต้องสวยที่ใจ ไม่ได้สวยที่ร่างกาย ที่ไม่จีรังถาวร ต่อให้แต่งให้เสริมมากน้อยเพียงไรไม่นานก็เสื่อมไปหมด สู้กับกาลเวลาไม่ได้ เพราะร่างกายอยู่ภายใต้กฎของ อนิจจังทุกขังอนัตตา มีการเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา ถ้าไปหลงยึดติด อยากจะให้สวยให้งามไปตลอด ก็จะเกิดความทุกข์ใจขึ้นมา เพราะไม่ได้เป็นไปตามที่ปรารถนา ไม่ได้เป็นตัวเราไม่ได้เป็นของเรา ความสวยงามที่เราเสริมสร้างให้อยู่กับเราไปได้ตลอด ก็คือความสวยงามทางจิตใจ

พระอาจารย์สุชาติ อภิชาโต





ความอยากนี้ไม่ได้ตายไปด้วยการตอบสนองความอยาก
การตอบสนองความอยากนี้เป็นการต่ออายุของความอยาก
ให้มีอายุยาวขึ้นไปอีกและมีกำลังมากขึ้นไปอีก

พระอาจารย์สุชาติ อภิชาโต







อสุภะมีอยู่เต็มตัว เรามองไม่เห็น ตาเราฝ้าฟาง จิตใจก็มืดบอด จึงมองไม่เห็น ถึงเห็นก็ไม่ปล่อยไม่วาง ท่านให้ปล่อยในสิ่งที่ควรปล่อย สิ่งที่ไม่ควรปล่อยก็ให้รักษาเอาไว้ก่อน สังขารร่างกายเป็นภาระรับรองจิตวิญญาณ เหมือนรองเท้ารองรับเรา เวลาเดินไปสู่จุดมุ่งหมายจะได้ไม่ลำบาก อันนี้ถ้าไม่มีสังขารร่างกายรองรับ มีแต่วิญญาณ ก็จะลำบาก คือถ้าตายไปแล้วมีแต่จิตวิญญาณทำกินเองไม่ได้ คิดเอาเฉยๆมันจะอิ่มท้องไหม ถ้าอย่างนั้นไม่ต้องทำบุญทำทานส่งให้กันอีกเพราะคิดเอาเฉยๆก็อิ่มแล้ว ต้องมีการกระทำมีการฝึกฝน

หลวงพ่อจันมี อนาลโย







...เกิดจากความไม่รู้...

..ไม่ว่าจะเป็นโรคภายนอก โรคตัวเราคือโรคขันธ์ ๕ นี้ก็เหมือนกัน คนเราเดือดร้อนกันอยู่นี้ ก็เดือดร้อน เรื่องราคะ เรื่องความโลภตัวนี้หละ ถ้าทำไม่ได้ตามใจก็เกิดความโกรธขึ้นมา สาเหตุที่จะโลภ ที่จะโกรธ ก็เนื่องจากไม่รู้คือความหลง และที่จะเกิดความโลภ ความโกรธ ความหลง ก็เนื่องจากจิตใจไม่สงบ ไม่มีสติ ไม่มีสมาธิปัญญาเกิดขึ้นมาไม่ได้ จึงพิจารณาไม่รู้จักเรื่องราวของตัวเอง นี้มันยาวมาอยู่อย่างนี้นะ..

..หลวงปู่ศรี มหาวีโร..







...จะนั่งสมาธิหรือจะเดิน
ก็ต้อง "เจริญสติ" เป็นพื้นฐานก่อน
.
...ลำดับแรกของการปฏิบัติธรรม
ก็คือ..การเจริญสติ
.
...ถ้าไม่มีสตินี้ จะไม่สามารถ
ควบคุมใจให้สงบ หรือไม่สามารถ
ควบคุมใจให้คิด ไปในทางที่
"เกิดแสงสว่างแห่งธรรม"ขึ้นมาได้
.
...การเจริญสติ
จึงเป็นธรรมที่ "สำคัญที่สุด"
ในบรรดาธรรมทั้งหลาย
"ธรรมปฏิบัตินี้ ต้องเริ่มที่ สติ"
........................................
.
คัดลอกการแสดงธรรม
ธรรมะบนเขา 15/7/2560
พระอาจารย์สุชาติ อภิชาโต
วัดญาณสังวรารามฯ ชลบุรี








“#ผู้ถือไม่มีบาป ไม่มีบุญ ก็มากมายเข้าแล้ว แผ่นดินนับวันแคบ มนุษย์แม้จะถึงตาย ก็นับวันมากขึ้น นโยบายในทางโลกีย์ใดๆก็นับวันประชันขันแข่งกันขึ้น พวกเราจะปฏิบัติลำบากในอนาคต เพราะเนื่องด้วยที่อยู่ไม่เหมาะสม เป็นไร่เป็นนาจะไม่วิเวกวังเวง ศาสนาทางมิจฉาทิฐิ ก็นับวันจะแสดงปาฏิหาริย์ คนที่โง่เขลาก็จะถูกจูงไปอย่างโคและกระบือ ผู้ที่ฉลาดก็เหลือน้อย ฉะนั้นพวกเราทั้งหลายจงรีบเร่งปฏิบัติธรรม ให้สมควรแก่แก่ธรรมดังไฟที่กำลังไหม้เรือน จงรีบดับเร็วพลันเถิด ให้จิตใจเบื่อหน่ายคลายเมาวัฏสงสาร ทั้งโลกภายในหนังหุ้มอยู่โดยรอบ ทั้งโลกภายนอกที่รวมเป็นสังขารโลก ให้ยกดาบเล่มคมเข้าสู้ คืออนิจจัง ทุกขัง อนัตตา พิจารณาติดต่ออยู่ไม่มีกลางวันกลางคืนเถิด ความเบื่อหน่ายคลายเมาไม่ต้องประสงค์ ก็จะต้องได้รับแบบเย็นๆและแยบคายด้วยจะเป็นสัมมาวิมุตติ และสัมมาญาณะอันถ่องแท้ ไม่ต้องสงสัยดอก พระธรรมเหล่านี้ไม่ล่วงไปไหน มีอยู่ ทรงอยู่ในปัจจุบัน จิตในปัจจุบัน ที่เธอทั้งหลายตั้งอยู่หน้าสติ หน้าปัญญา อยู่ด้วยกัน กลมกลืนในขณะเดียวนั้นแหละ"

โอวาทธรรม
พระครูวินัยธร (มั่น ภูริทตฺโต)
วัดป่าสุทธาวาส อ.เมือง จ. สกลนคร
(พ.ศ. ๒๔๑๓ - ๒๔๙๒)






...เทศนาธรรม...

“สอนใจตัวเองทั้งนั้น”
..มาทางตา มาทางหู ได้ยินเสียงก็เหมือนกัน เสียงดี หรือเสียงไม่ดี เสียงแบบไหน เสียงนก เสียงสัตว์ เสียงผู้ เสียงคน เขาฆ่ากัน เขาด่ากัน เสียงเขาว่าดี ๆ ไม่ดีอะไรก็ตาม น้อมเข้ามาสอนจิตใจตัวเอง ทางลิ้น ทางกาย ทางธรรมารมณ์ ซึ่งมันเกิดขึ้นกับจิตใจ ก็ทำนองเดียวกันหมด ฉะนั้น ครูบาอาจารย์ อย่างท่านหลวงปู่มั่น ท่านว่าฟังเทศน์อยู่ตลอดเวลา เพราะว่า อายตนะ ทั้ง ๖ เรา คือ ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ รับอยู่ตลอด มีแต่เขามาแสดงธรรมให้ฟัง นี้ไม่จำเป็นจะต้องฟังอะไรมากมายก่ายกอง ฟังแล้วก็น้อมเข้าไปสอนจิตสอนใจตัวเอง สอนตัวเองนั้นหละ..

หลวงปู่ศรี มหาวีโร
เทศนา เรื่อง นิวรณ์ธรรม ๕







" ถ้าไม่มีทุกข์ ก็ไม่ต้องปฏิบัติออกจากทุกข์ มันมีทุกข์ จึงปฏิบัติออกจากทุกข์ เราหนีทุกข์ หรือให้ทุกข์หนีจากเรา เรารู้เท่าทุกข์ ทุกข์ก็หนีเอง ถ้าเราไม่รู้เท่าทุกข์ ทุกข์ก็ไม่หนี "

____________________

หลวงปู่บุญฤทธิ์ ปัณฑิโต
สำนักสงฆ์สวนทิพย์ นนทบุรี







เข้านิโรธกรรม

เหตุเกิดวันปวารณาเข้าพรรษา

ครูบา ; ขอโอกาสพ่อแม่ครูบาอาจารย์ครับผม พรรษานี้ผมขอโอกาส เข้าวิเวกในถ้ำหลังเขาจะได้ไหมครับ จะไม่ออกมาตลอดพรรษา

หลวงปู่ ; ทำไมหล่ะ

ครูบา ; ผมทุกข์มากครับผม ทุกข์เพราะโดนคนนินทา เหนื่อย อยากหลีกคนไปวิเวกในธรรม จะได้ไม่ต้องเจอคน ธรรมมะผมจะได้สูงยิ่งๆขึ้นไป

หลวงปู่ ; เอ้า แล้วท่านจะฉันยังไง

ครูบา ; จะให้พ่อออก(โยมผู้ชาย)เอาข้าวขึ้นไปส่งครับผม สามวันครั้ง สี่วันครั้งครับผม ถ้าจิตมั่นจิตคงจะให้ไปส่งอาทิตย์ละครั้ง และจะไม่พูดไม่คุยตลอดพรรษา

หลวงปู่ ; สาธุ อนุโมทนานะคุณ

ครูบา ; แสดงว่าพ่อแม่ครูบาอาจารย์อนุญาตใช่ไหมครับผม จะได้สั่งพ่อออกไว้

หลวงปู่ ; เรื่องอนุญาตหน่ะ ผมไม่อนุญาตนะ แต่ที่ผมสาธุ เพราะความตั้งใจดีของคุณต่างหาก คุณตั้งใจดี แต่การกระทำของคุณกำลังผิดทาง คุณไม่ชอบคนนินทาจึงหนีเข้าถ้ำ หนีนินทา หนีผู้หนีคน คุณจะหนีไปไหน ก็ในเมื่อคุณยังให้คนไปส่งอาหาร คุณก็เป็นคนเอาคนหนีคน พาคนหนีคน ไม่อยากได้ยิน ได้เห็น ได้รับ ได้รู้ คนเข้านินทา เขาว่าร้ายเรา โดยการหนีไปอยู่ผู้เดียว ถ้าอย่างนั้นคนหูหนวกตาบอดเขาคงไม่มีทุกข์ เขาคงเข้าพระนิพพานกันหมดแล้ว แต่พระพุทธเจ้าพระองค์ให้ใช้สิ่งที่มีสิฝึกฝนตนเอง สอนตนเอง เราห้ามเขานินทาเราไม่ได้ดอก แต่เราห้ามใจเราทุกข์ได้ เราห้ามใจไม่ให้ใส่ใจคำพูดเหล่านั้นได้ แก้ที่ใจสิ จะไปแก้ที่หูได้ยิน ตาได้เห็นทำไม เราห้ามหูเราไม่ให้ได้ยินก็ไม่ได้ เราห้ามตาไม่ให้เห็นก็ไม่ได้ สำคัญคือเราพิจารณาใจเราไม่ให้ใส่ใจไม่ให้ทุกข์ได้ ทุกข์กับปากคนก็ทุกข์จนตายนั้นหล่ะ ไม่มีใครที่ไม่ถูกคนนินทา อย่าแก้ที่กาย อย่าแก้ที่คนอื่น ให้แก้ที่ใจเรา แก้ที่ความรู้สึกเรา จะหนีไปไหนก็นินทามันของคู่โลก ก็สรรเสริญเป็นของคู่โลก หนีไปก็หอบทุกข์เต็มหัวใจ ไปกับทุกข์ ทำไมไม่แก้ตรงที่มันทุกข์ คุณไม่ได้ทุกข์ที่เขา ไม่ได้ทุกข์ที่หูที่ตา ไม่ได้ทุกข์ที่การนินทา ทุกข์ที่ใจ ให้มีสติสังเกตใจ ดูใจ แก้ใจ แก้ใจได้แล้วจะไปไหนก็ไม่ทุกข์ เข้าใจนะ มีสติตอนได้ยิน ตอนเห็น ตอนพิจารณา ตอนทุกข์ ตอนขณะทุกข์ ตอนนีั้นะ เดี๋ยวนี้นะ อยู่ในถ้ำกาย อย่าอยู่ในถ้ำหินนะ

โอวาทธรรม หลวงปู่หา สุภโร









"จุดมุ่งหมายของการสวดมนต์ คือ
ทำใจของเรา ให้มีที่อยู่อาศัย
คนเราที่ทุกข์ใจไม่หยุดยั้ง
เพราะใจไม่มีที่พึ่ง

ถ้ามีบทสวดมนต์เป็นที่พึ่ง
เวลาทุกข์ มันจะไปสวดมนต์ของมันเอง
แล้วมันก็ลืมทุกข์ ลืมยากไปได้"

-:-หลวงพ่อพุธ ฐานิโย-:-






"สิ่งใด เรารู้เท่าทัน
สิ่งนั้น ไม่สามารถที่จะดึงใจของเรา
ไปทรมาน ให้เกิดทุกข์ขึ้นได้"
-:-หลวงปู่พุธ ฐานิโย-:-





"ธรรมดาของชีวิต มีแล้วก็กลับไม่มีได้
โลกสลับกันไปมา เหมือนมืดแล้วสว่าง
อย่าเสียใจ หรือดีใจกับสิ่งใดให้มากนัก"
-:-หลวงปู่จันทร์ศรี จนฺททีโป-:-


แสดงโพสต์จาก:  เรียงตาม  
กลับไปยังกระทู้  [ 1 โพสต์ ] 

เขตเวลา GMT + 7 ชั่วโมง


 ผู้ใช้งานขณะนี้

กำลังดูบอร์ดนี้: ไม่มีสมาชิก และ บุคคลทั่วไป 135 ท่าน


ท่าน ไม่สามารถ โพสต์กระทู้ในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ ตอบกระทู้ในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ แก้ไขโพสต์ของท่านในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ ลบโพสต์ของท่านในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ แนบไฟล์ในบอร์ดนี้ได้

ค้นหาสำหรับ:
ไปที่:  
Google
ทั่วไป เว็บธรรมจักร