วันเวลาปัจจุบัน 28 มี.ค. 2024, 20:42  



เขตเวลา GMT + 7 ชั่วโมง




กลับไปยังกระทู้  [ 2 โพสต์ ]    Bookmark and Share
เจ้าของ ข้อความ
โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 25 ม.ค. 2017, 05:44 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
อาสาสมัคร
อาสาสมัคร
ลงทะเบียนเมื่อ: 06 มี.ค. 2009, 10:48
โพสต์: 5091


 ข้อมูลส่วนตัว


...ถ้าเรา "ไม่ระงับความอยาก"
ต่อให้เราทำตามความอยากเท่าไหร่
ความอยากก็"ไม่หมดไป"ใช่ไหม
.
...เราทำมาตั้งแต่เราเกิดแล้ว
อยากได้อะไรเราก็ไปหามา
อยากดูอยากฟังอะไรเราก็ไปดูไปฟัง
อยากดื่มอยากรับประทานอะไร
เราก็ไปดื่มไปรับประทาน
.
...แล้วมันหมดไปไหมล่ะ
"มันก็ยังอยากเหมือนเดิม"วันนี้
...........................................
.
คัดลอกการสนทนาธรรม
ธรรมะบนเขา 23 / 1 / 2560
พระอาจารย์สุชาติ อภิชาโต
วัดญาณสังวรารามฯ ชลบุรี





ถ้าหยุดความอยากได้ก็จะหายทุกข์"

มีดวงตาเห็นธรรมหรือยัง เห็นทุกข์ สมุทัย นิโรธ มรรคหรือยัง เห็นแต่ชื่อหรือเห็นตัวมัน ต้องเห็นตัวมัน ไม่เห็นตัวมันจะไม่เห็นนิโรธ ไม่เห็นสมุทัย ไม่เห็นตัวที่ทำให้เราทุกข์ เห็นก็เห็นผิดตัว ไปโทษคนนั้นคนนี้ว่าทำให้เราทุกข์ แต่ตัวจริงที่ทำให้เราทุกข์มองไม่เห็น ตัวที่ทำให้เราทุกข์ก็อยู่ในใจเราไม่ได้อยู่ข้างนอก ตัวที่ทำให้เราทุกข์ก็คือความอยากของเรา อยากได้นั่นอยากได้นี่ พอไม่ได้ก็ทุกข์

ถ้าหยุดความอยากได้ก็หายทุกข์ จะหยุดได้ก็ต้องมีสติมีปัญญา สองตัวนี้ที่เราไม่มีกัน ต้องมีสติ ใจเราลอย ลอยไปกับความคิดต่างๆ คิดแล้วก็ไปเกิดความอยากขึ้นมา แล้วก็เกิดความทุกข์ขึ้นมา แล้วก็ไม่รู้จักหยุดมัน ถ้าเราหยุดความคิดหยุดความอยากได้ ความทุกข์เราก็จะหายไป เราเลยต้องมาปฏิบัติกัน ต่อให้เรียนจบพระไตรปิฎก ก็หยุดมันไม่ได้ การเรียนนี้มันเป็นการศึกษาวิธีการที่จะมาปฏิบัติ การปฏิบัติเท่านั้น ที่จะหยุดความทุกข์ใจเราได้ หยุดความอยากของเราได้ ถ้าหยุดความอยากได้ ความทุกข์ก็จะหายไปหมด

ตอนนี้เราไม่มีกำลังที่จะหยุดความคิดหยุดความอยากกัน จะต้องมาสร้างกำลัง กำลังที่จะหยุดก็คือสติ สติก็ต้องใช้พุทโธ บริกรรมพุทโธๆ ไป อย่าให้ใจคิดอะไร ถ้าเราบริกรรมพุทโธๆ ก็จะคิดถึงสิ่งนั้นสิ่งนี้ไม่ได้คนนั้นคนนี้ไม่ได้ พอไม่คิดแล้วใจเราก็เบาสบาย พอคิดก็หนักอกหนักใจขึ้นมา คิดถึงปัญหาต่างๆ เพราะเรามีความอยากให้ปัญหามันหมดไป แต่ปัญหามันไม่มีวันหมด โลกนี้มีแต่ปัญหา เราอยู่ในโลกของปัญหา เพราะทุกอย่างมันไม่เที่ยงแท้แน่นอน.

สนทนาธรรมะบนเขา
วันที่ ๒๓ มกราคม ๒๕๖๐

พระอาจารย์สุชาติ อภิชาโต





อันความรักหรือที่รัก...
เมื่อผู้ใดมีร้อยหนึ่ง
ผู้นั้นก็มีทุกข์ร้อยหนึ่ง
รักเก้าสิบ แปดสิบ เจ็ดสิบ
หกสิบ ห้าสิบ จำนวนทุกข์ก็มีเท่านั้น
ถึงแม้มีรักเพียงอย่างหนึ่ง
ก็มีทุกข์อย่างหนึ่ง
ต่อเมื่อไม่มีรักจึงจะไม่มีทุกข์
ผู้หมดรักหมดทุกข์นั้น
พระพุทธเจ้าตรัสเรียกว่า
"เป็นผู้ไม่โศก ไม่มีธุลีใจ ไม่มีคับแค้น"

สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปรินายก





"... พระพุทธเจ้า พระอริยเจ้า ท่านพิจารณาทุกข์ ปญฺจกฺขนฺทา ทุกฺขา เบญจขันธ์เป็นทุกข์อย่างยิ่งทีเดียว พวกเราแบกหามอยู่เรื่อยๆ ไม่รู้จักปลงวิธีไหน ไม่เหมือนพระอริยเจ้า รู้จักปลง เจริญสมถะ เจริญวิปัสสนา ให้แคล่วคล่อง ให้เก่งกล้า ปลงด้วยวิธีนี้ พวกเราปลงไม่ได้ หาบอยู่อย่างนั้น หนักอยู่อย่างนั้นเอง หนักรูป หนักเวทนา

เวทนา สังขาร วิญญาณ หนักขนาดไหน ต้องหาเรื่องอาหาร เรื่องกาย ต้องหาเครื่องประดับ ต้องหาผ้า หากางเกง หาซิ่นนุ่ง หมดไปหลายร้อยตัวตั้งแต่เด็กๆ มา ข้าวก็หมดไปหลายยุ้งหลายฉาง มันหนักขนาดนั้นทีเดียวนะ แต่ก็ไม่ปลงอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา เหมือนสมถะวิธี วิปัสสนาวิธี

เมื่อปลงเหมือนพระพุทธเจ้า พระอรหันต์ ก็ไม่เกิด เรายังปลงไม่ได้ ก็หอบไปเกิดอีกทีเป็นวัฏฏะ วังวนเกิดตาย หาต้นปลายไม่ได้ มันนานนักหนานะ หาต้นหาปลายไม่ได้ ผัวๆ เมียๆ พบกันหลายชาติ ผัวตาย เมียตาย ร้องไห้หากัน ลูกตาย ร้องไห้หากันนี้เอง องค์สมเด็จพระผู้มีพระภาคตรัสว่าร้องไห้หากัน หากสะสมไว้ทุกๆ ชาติ น้ำตาที่อันตรธานหายไป ยิ่งกว่าท้องน้ำมหาสมุทรทั้ง ๔ ..."

โอวาทธรรมคำสอน..
องค์หลวงปู่หลุย จนฺทสาโร





"...ถ้าจะวัดความก้าวหน้าในการปฏิบัติ ก็วัดจากตรงนี้แหละว่า เรารู้ตัวได้ไวขึ้นไหม ระลึกได้ไวขึ้นไหม ไม่ใช่ไปดูว่ามันฟุ้งซ่านมาก หรือน้อย บางคนไปคิดว่า ถ้าฟุ้งน้อย คิดน้อย หรือว่าไม่คิดเลยยิ่งดี อันนั้นไม่ใช่ ถึงแม้จะคิดเยอะแต่ถ้ารู้ตัวได้ไวนั่นแหละสำคัญกว่า

ไม่มีความคิดเกิดขึ้นเลยระหว่างปฏิบัติบางทีก็ไม่ดีนะ เพราะเท่ากับว่าไม่มีเครื่องฝึกสติให้ว่องไวเข้มแข็ง สติเราต้องมีคู่ซ้อม และต้องเป็นคู่ซ้อมที่พอฟัดพอเหวี่ยง ถ้าคู่ซ้อมมีกำลังมากไปก็ไม่ไหว สติโดนซัดหมอบทุกที

อย่างเช่นผู้ปฏิบัติใหม่ๆ จะไปเจริญสติท่ามกลางเสียงอึกทึกครึกโครม สิ่งล่อเร้าเย้ายวนมากมาย สติก็จะโตได้ยาก เพราะว่าคู่ซ้อมมีกำลังเข้มแข็งมาก เราต้องมาเจริญสติในที่ซึ่งสงบสักหน่อย ไม่ให้มีเสียงรบกวนมาก

ขณะเดียวกันก็มีการกำหนดไม่ให้พูดคุยกันมาก เราก็มักเอาเรื่องที่คุยนั้นไปปรุงแต่ง ปรุงแต่งจนกระทั่งสติสู้ไม่ไหว ดังนั้นเราจึงต้องสร้างบรรยากาศที่ช่วยให้ใจไม่ฟุ้งซ่านมากเกินไป เพื่อให้สติสู้อย่างพอฟัดพอเหวี่ยงได้

แต่ถ้าสติไม่มีคู่ซ้อมเลย มันก็ไม่โตไม่เข้มแข็งเหมือนกับนักเรียนที่ไม่มีการบ้านทำแล้วนักเรียนจะฉลาดได้อย่างไร นักเรียนต้องทำการบ้านอยู่บ่อยๆ แล้วการบ้านก็ต้องไม่ง่ายหรือยากเกินไป

ทำผิดทำพลาดก็ได้ไม่เป็นไร ถือเป็นบทเรียน คนเรามีปัญญา เพราะทำการบ้านบ่อยๆ บางทีก็ทำผิด แต่บทเรียนที่ได้ก็ทำให้เกิดปัญญา ไม่ใช่ว่าต้องทำการบ้านถูกทุกข้อจึงจะเกิดปัญญา ทำผิดก็ช่วยให้เกิดปัญญาได้ ถ้ารู้ว่าผิดเพราะอะไร

ความผิดพลาด บางทีก็ทำให้เราเติบโตได้มากกว่าความสำเร็จด้วยซ้ำ เพราะฉะนั้น จะฟุ้งซ่านแค่ไหนก็อย่าไปโมโหตัวเอง อย่าไปรำคาญหรืองุดหงิดตัวเอง เด็กเล็กๆ เขาต้องล้มบ่อยๆ ถึงจะเดินเป็น ข้อสำคัญคืออย่าท้อถอย และอย่างเร่งรีบก็แล้วกัน ต้องรู้จักคอยหรือให้เวลากับตัวเองบ้าง..."

หลักธรรมคำสอน..
พระไพศาล วิสาโล





อย่าไปยินดี ยินร้าย ในการอยู่ การเป็น การตาย สังขารทั้งหลาย ไม่ว่า เนื้อ เล็บ หนัง กระดูก ผม ขน เป็นสิ่งที่ปรุงแต่งขึ้นมาทั้งสิ้น มันไม่ใช่ตัวตน ไม่เป็นสิ่งอมตะ รอถึงวันแค่นั้นแหละ จะวันไหนก็แค่นั้นเอง ละวางซะ"
หลวงปู่แหวน สุจิณโณ



"ชีวิตนี้ช่างเหมือนใบไม้ร่วง เิกิดแล้วตาย ง่ายเหมือนใบไม้ที่แตกผลิแล้วก็ร่วง ในที่สุด ที่เราคิด ที่เราห่วง ก็ต้องร่วงลงจากต้น"
หลวงปู่แหวน สุจิณฺโณ



เป็น เป็ดเป็นไก่มันก็ตาย เป็น วัว ควาย ช้าง ม้า หมู หมา เขาก็ตาย คนแก่ก็ตาย คนหนุ่มก็ตาย ถ้ากลัวตายมีใครพ้นตายไหม ทุกคนทุกสิ่งสรุปลงสู่ความตายทั้งหมด
หลวงปู่แหวน สุจิณโณ


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 25 ม.ค. 2017, 10:47 
 
ออฟไลน์
สมาชิก ระดับ 6
สมาชิก ระดับ 6
ลงทะเบียนเมื่อ: 08 พ.ค. 2012, 02:09
โพสต์: 456


 ข้อมูลส่วนตัว


... สาธุ สาธุ สาธุ ...


แสดงโพสต์จาก:  เรียงตาม  
กลับไปยังกระทู้  [ 2 โพสต์ ] 

เขตเวลา GMT + 7 ชั่วโมง


 ผู้ใช้งานขณะนี้

กำลังดูบอร์ดนี้: ไม่มีสมาชิก และ บุคคลทั่วไป 47 ท่าน


ท่าน ไม่สามารถ โพสต์กระทู้ในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ ตอบกระทู้ในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ แก้ไขโพสต์ของท่านในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ ลบโพสต์ของท่านในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ แนบไฟล์ในบอร์ดนี้ได้

ค้นหาสำหรับ:
ไปที่:  
Google
ทั่วไป เว็บธรรมจักร