ลานธรรมจักร
http://www.dhammajak.net/forums/

ต่อจากมรรคก็คือไตรสิกขา
http://www.dhammajak.net/forums/viewtopic.php?f=1&t=53404
หน้า 1 จากทั้งหมด 2

เจ้าของ:  กรัชกาย [ 19 พ.ย. 2016, 18:51 ]
หัวข้อกระทู้:  ต่อจากมรรคก็คือไตรสิกขา

ย้อนความเดิม

1.สัมมาทิฏฐิ
2.สัมมาสังกัปปะ = ปัญญาขันธ์

3. สัมมาวาจา
4. สัมมากัมมันตะ
5.สัมมาอาชีวะ = ศีลขันธ์

6. สัมมาวายามะ
7. สัมมาสติ
8. สัมมาสมาธิ = สมาธิขันธ์

1. อธิศีลสิกขา 2. อธิจิตตสิกขา 3. อธิปัญญาสิกขา

- สัมมาวาจา - - - สัมมาวายามะ -- สัมมาทิฏฐิ

- สัมมากัมมันตะ -- สัมมาสติ - - - -สัมมาสังกัปปะ

- สัมมาอาชีวะ - - สัมมาสมาธิ

เจ้าของ:  กรัชกาย [ 19 พ.ย. 2016, 18:54 ]
หัวข้อกระทู้:  Re: ต่อจากมรรคก็คือไตรสิกขา

กระบวนธรรมในตัวคนของมรรค กับ กระบวนการฝึกคนของสิกขา

มีคำถามว่า เหตุใด การจัดลำดับองค์ธรรมในมรรค กับ ในไตรสิกขา จึงต่างกัน ? เมื่อเป็นมรรค เริ่มด้วยสัมมาทิฏฐิ สัมมาสังกัปปะ และลงท้ายด้วยสัมมาสมาธิ

แต่เหตุใด เมื่อมาจัดเป็นไตรสิกขา จึงเอาสัมมาทิฏฐิ สัมมาสังกัปปะ ที่เป็นหมวดปัญญา ไปต่อท้ายสัมมาสมาธิ กลายเป็นเริ่มต้นด้วยสัมมาวาจาที่เป็นหมวดศีลแทน

เจ้าของ:  กรัชกาย [ 19 พ.ย. 2016, 19:08 ]
หัวข้อกระทู้:  Re: ต่อจากมรรคก็คือไตรสิกขา

ต่อ


ก่อนตอบคำถาม นี้ ขอย้อนกลับไปทบทวนความเดิม เกี่ยวกับความต่อเนื่องระหว่างนิโรธ กับ มรรคว่า มรรคเกิดมีขึ้น โดยฐานเป็นวิธีการที่คนนำเอากฏเกณฑ์ของธรรมชาติมาใช้ให้เกิดประโยชน์ในการดำเนินชีวิตของตน คือ เป็นวิธีปฏิบัติของคนที่จะให้เกิดผลตามกระบวนการของธรรมชาติ หรือการใช้วิธีของคนเพื่อให้เกิดผลตามกระบวนการของธรรมชาติ


มรรคเป็นจุดเริ่มต้นของการประยุกต์ความรู้ในกฏธรรมชาติ มาสร้างเป็นวิธีปฏิบัติของคน เรียกได้ว่าเป็นขั้นต่อเชื่อมกลางระหว่างกระบวนการของธรรมชาติ กับ วิธีการต่างๆ ทั้งหลายเท่าที่คนจะยักเยื้องขยายออกไปใช้ในต่างกิจกรณี นับว่ามรรคเป็นหลักกลางในขั้นวิธีการของมนุษย์


ต่อจากมรรคก็คือไตรสิกขานี่เอง ที่เป็นขั้นนำเอาเนื้อหาของมรรคไปใช้งานจริง โดยนำเอาองค์ประกอบทั้ง ๘ ไปยักเยื้องจัดรูปเป็นกระบวนวิธีปฏิบัติ มีขั้นตอนต่างๆ มีรายละเอียดข้อเน้นย้ำเด่นชัดแปลกๆกันไป สุดแต่วัตถุประสงค์จำเพราะของแต่ละระดับแต่ละกรณี ความแตกต่างดังนี้ นำไปสู่ความแตกต่างแห่งการจัดลำดับข้อธรรมระหว่างมรรค กับ ไตรสิกขา


ในฐานะที่เป็นหลักกลางในขั้นวิธีการ มรรคจึงยังเป็นระบบการปฏิบัติที่มุ่งในแง่เนื้อหา คือ มองแต่ลำพังตัวระบบเอง แจกแจงให้เห็นองค์ประกอบที่เป็นข้อย่อยของมันว่ามีอะไรบ้างตามเนื้อหาของมัน เองแท้ๆ เหมือนแจกแจงรายเครื่องมือที่จะใช้ หรือเหมือนกับมองดูถนนหนทาง แล้วแยกแยะวิเคราะห์ออกดูว่ามีส่วนประกอบอะไรบ้าง ยังไม่พูดถึงว่าจะใช้งานมันอย่างไร


ในเมื่อลักษณะทั่วไปของมรรคเป็นเช่นนี้ การจัดลำดับองค์ธรรมภายในมรรค จึงเป็นการจัดลำดับตามความสัมพันธ์ระหว่างส่วนประกอบเหล่านั้นเอง กล่าวคือ จัดลำดับตามความสัมพันธ์ระหว่างองค์ประกอบของมรรค ซึ่งทำหน้าที่ของมันอยู่ภายในตัวบุคคลผู้ปฏิบัติธรรม

โดยนัยนี้ ภายในมรรค สัมมาทิฏฐิจึงเป็นข้อแรก ในฐานะเป็นจุดเริ่มต้น ซึ่งถ้าขาดเสียแล้วองค์ประกอบข้อ อื่นๆ จะเกิดขึ้นไม่ได้ เปรียบเหมือนในการเดินทาง จะต้องรู้ว่าทางไหนที่จะไป อย่างน้อยต้องรู้ว่า จะตั้งต้นที่ไหน ถ้ายังตั้งต้นไม่ได้ การเดินทางต่อๆไป ก็ยังไม่อาจมีขึ้นได้


การเดินทางเป็นฉันใด ในการปฏิบัติธรรมก็ฉันนั้น เริ่มแรกทีเดียว จะต้องมีความเห็น มีความเข้าใจ หรืออย่างน้อยเชื่อถือถูกต้องตามแนวทางที่จะปฏิบัติเสียก่อน จึงจะดำริคิดการต่อไป และประพฤติปฏิบัติให้ถูกทางได้ การ ปฏิบัติธรรม จึงอาศัยพื้นฐานความเข้าใจที่เป็นต้นทุนไว้ก่อน เมื่อสัมมาทิฏฐิเบิกช่องทางหรือตั้งต้นให้แล้ว องค์มรรคข้ออื่นๆ ก็เกิดตามได้เป็นลำดับไป

เมื่อเห็นอย่างไร เชื่ออย่างไร เข้าใจอย่างไร มีทัศนคติอย่างไร ก็ดำริหรือคิดการต่างๆ อย่างนั้น เมื่อคิดถูก คิดคืบหน้าไป ก็เห็นจะแจ้งเข้าใจชัดยิ่งขึ้น คิดได้อย่างไร ก็พูดไปได้อย่างนั้น เมื่อคิดดี คิดชัด ก็พูดดี พูดชัด คิดการได้อย่างไร แค่ไหน ก็จะทำอย่างนั้น และทำได้แค่นั้น เมื่อคิดได้แล้ว เอามาพูดสั่ง การ หรือปรึกษาหารือ ก็ช่วยชักนำกำหนด และเกื้อกูลแก่การกระทำ คิดการได้แค่ไหน พูดจา และกระทำการได้แนวทางใด มีขอบเขตแค่ไหน ก็ดำเนินวิธีหาเลี้ยงชีพไปแนวนั้นในขอบเขตนั้น


เมื่อจะพูด จะทำการ จะดำเนินวิธีเลี้ยงชีพให้สำเร็จ ก็ต้องใช้ความพยายาม เมื่อพยายามจริงจังในเรื่องไหนให้ได้ผลดี ก็ต้องใช้สติให้มั่นสม่ำเสมอในเรื่องนั้น เมื่อสติคอยกำกับดีอยู่ จิตก็แน่วแน่มั่นคงไปในเรื่องนั้น

ถ้าเริ่มด้วยความเห็นความเข้าใจ เชื่อถือ และทัศนคติที่ดีงามถูกต้อง เป็นสัมมาทิฏฐิ ความคิดดี พูดดี ทำดี เป็นต้น ก็ดำเนินสืบต่อไป เป็นสัมมาทั้งหมด ถ้าจะให้ดียิ่งขึ้น ก็คอยเสริมองค์ประกอบเหล่านั้นให้ดียิ่งขึ้นๆ ทุกขั้นทุกตอน *

เจ้าของ:  กรัชกาย [ 19 พ.ย. 2016, 19:14 ]
หัวข้อกระทู้:  Re: ต่อจากมรรคก็คือไตรสิกขา

ที่อ้างอิง * คคห.บน

* ดูทัศนะของอรรถกถาเกี่ยวกับความสัมพันธ์ระหว่างองค์มรรค ใน วิภงฺค.อ. 148/150 อนึ่ง ข้ออุปมาเพื่อแสดงเหตุผลในการจัดองค์มรรคเข้าในหมวดต่างๆ (วิภงฺค.อ. 117 ฯลฯ) ก็อาจช่วยเสริมความเข้าใจเกี่ยวกับความสัมพันธ์ระหว่างองค์มรรคได้

ท่านกล่าวเปรียบว่า เหมือน ๓ สหายช่วยกันเก็บดอกจำปา ที่ยืนคนเดียวเอื้อมเก็บไม่ถึง สัมมาวายามะ เหมือนสหายที่ก้มหลังเข้ามารองค่ำหนุนเพื่อนให้ยืนสูงขึ้นไปจนพอ สัมมาสติ เหมือนเพื่อนที่เอาไหล่เข้ามาเคียงให้เหยียบยันหายโงนเงน สัมมาสมาธิ เหมือนเพื่อนที่เมื่อยืนบนหลังสหายแรกยังโงนเงนอยู่ เก็บดอกไม้ไม่ได้ พอยันไหล่สหายที่สอง ก็ตั้งหลักได้มั่น ยืนแน่ว เก็บดอกไม้ตามชอบใจ ทำกิจได้สำเร็จ; ..... สัมมาสังกัปปะ เหมือนนิ้วมือที่พลิกเหรียญไปมา ทำให้เหรัญญิกคือ สัมมาทิฏฐิ วินิจฉัยได้ว่าเหรียญเก๊ หรือเหรียญดี หรือ สัมมาสังกัปปะ เหมือนคนที่คอยจับท่อนซุงพลิก ทำให้ช่างถากคือ สัมมาทิฏฐิ ทำงานถากได้ตามต้องการ

เจ้าของ:  กรัชกาย [ 19 พ.ย. 2016, 19:20 ]
หัวข้อกระทู้:  Re: ต่อจากมรรคก็คือไตรสิกขา

ส่วนไตรสิกขา เป็นระบบปฏิบัติที่มุ่งใช้งาน คือ นำเอาองค์ประกอบทั้งหลายของมรรค ออกมาจัดเป็นกระบวนวิธีปฏิบัติที่มีขั้นตอนต่างๆ เพื่อใช้องค์มรรคเหล่านั้นให้สำเร็จผลอย่างเป็นงานเป็นการในชีวิตจริง เหมือนดังว่า เมื่อแจกแจงให้รู้แล้วว่า เครื่องมือที่จะต้องใช้มีอะไรบ้าง แต่ละอย่างๆ ทำหน้าที่อะไรๆ คราวนี้ ก็มาจัดลำดับการใช้เครื่องมือเหล่านั้นว่า ในเวลาทำงาน ตอนไหน จะต้องใช้เครื่องมืออันไหน อย่างไร


ไตรสิกขาก้าวจากการเกี่ยวข้อกับบุคคลในฐานะเวที สัมพันธ์ขององค์ธรรมต่างๆ ตามแบบของมรรค ออกมาสู่การเกี่ยวข้อง กับ บุคคลในฐานะมนุษย์ที่อยู่ท่ามกลางสภาพแวดล้อมต่างๆ ในสังคม หรือก้าวจากจุดเน้นที่ภายในจิตของบุคคล ออกมาสู่จุดเน้นด้านภายนอก

ดังเช่น แทนที่จะเน้นในแง่ว่า เมื่อเห็นถูกต้องแล้ว ก็จะคิดถูกต้อง แล้วจะพูดจะทำก็พลอยดีงามถูกต้อง

คราวนี้ กลับหันมาจับที่ด้านนอกว่า ความดี ความถูกต้อง ที่จะต้องทำต้องพูดมีอะไรบ้าง จะต้องพูดต้องทำต่อใครๆ อย่างไร ในฐานะที่เขาอยู่ร่วมกับคนอื่นๆ กำหนดการแสดงออกภายนอก ให้สะท้อนกลับเข้าไปมีอิทธิพลต่อความคิด ความเห็น ภายในจิตใจ
เช่น
วางระเบียบกฎเกณฑ์ข้อฝึกหัดขึ้น ฝึกการดำเนินชีวิต และวิถีการปฏิบัติต่างๆ ทำให้บุคคลผู้นั้น รู้จักบังคับควบคุมตนเอง รู้จักคิด รู้จักพิจารณา เกี่ยวกับพฤติกรรม และการดำเนินชีวิตที่ถูกต้อง เป็นการเริ่มจากความสัมพันธ์ทางสังคม และการอยู่กับสภาพแวดล้อม เข้าไปหาในตัวบุคคล
และ
จุดนี้แหละ คือ การก้าวเข้าสู่ความหมายของสิกขา ที่ว่าเป็นการฝึกศึกษาพัฒนาอบรม


โดยนัยนี้ สัมมาวาจา สัมมากัมมันตะ สัมมาอาชีวะ เป็นศีล การฝึกหัดพัฒนาสัมมาวาจา สัมมากัมมันตะ สัมมาอาชีวะ ให้เกิดมีเพิ่มพูนขึ้น (ในแนวทางที่จะทำให้แก้ปัญหาหรือดับทุกข์ได้) เป็นอธิศีลสิกขา

สัมมาวายามะ สัมมาสติ สัมมาสมาธิ เป็นพวกสมาธิ การฝึกอบรมสัมมาวายามะ สัมมาสติ สัมมาสมาธินั้น (ในแนวทางแก้ปัญหาหรือดับทุกข์ได้) เป็นอธิจิตตสิกขา

สัมมาทิฏฐิ และสัมมาสังกัปปะ เป็นพวกปัญญา การฝึกปรือสัมมาทิฏฐิ และสัมมาสังกัปปะนั้น (ในแนวทางให้ดับทุกข์ หรือแก้ปัญหาได้) เป็นอธิปัญญาสิกขา

ดังนั้น ไตรสิกขา จึงก้าวจากความสัมพันธ์ที่เป็นไปตามลำดับระหว่างองค์ธรรมด้วยกันเองของมรรค ออกมาสู่การฝึกคนเป็นขั้นเป็นตอน จากส่วนที่หยาบ ไปหาส่วนที่ละเอียด หรือจากส่วนที่เป็นรูปเป็นร่างชัดเจน เห็นง่าย จัดการง่าย ไปสู่สิ่งที่ประณีตลึกซึ้งมองไม่เห็น ยากที่จะควบคุมจัดการ คือ เริ่มต้นฝึกกาย วาจา เข้าไปหาจิตใจ และปัญญา

เจ้าของ:  กรัชกาย [ 19 พ.ย. 2016, 19:58 ]
หัวข้อกระทู้:  Re: ต่อจากมรรคก็คือไตรสิกขา

พูดอีกแง่หนึ่งว่า ไตรสิกขาก้าวจากกระบวนการทำหน้าที่สัมพันธ์กันตลอดเวลาทุกๆขณะขององค์มรรคในตัวบุคคล ออกมาสู่กระบวนการฝึกอบรมช่วงกว้างของไตรสิกขา ซึ่งจัดแบ่งเป็นขั้นตอนเรียงลำดับตามบทบาทขององค์ประกอบประเภทที่ทำหน้าที่ออกหน้าเด่นชัดในขั้นตอนนั้นๆ
โดย
เริ่มจากศีล ซึ่งมุ่งฝึกหัดพัฒนาการแสดงออกทางกาย วาจา ที่เป็นชั้นภายนอก อยู่กับสิ่งแวดล้อม เป็นขั้นหยาบ แล้วก้าวต่อไปสู่สมาธิ ฝึกอบรมจิตใจ ที่อยู่ภายในและละเอียดกว่า เพื่อสนับสนุนการใช้และการฝึกปรือปัญญาให้ใช้งานอย่างได้ผลดีที่สุดต่อไป


เป็นอันว่า ไตรสิกขา เป็นระบบการฝึกอบรมที่เป็นเชิงปฏิบัติเต็มที่ จัดไว้เพื่อใช้ฝึกคนในฐานะที่อยู่ในสังคม ท่ามกลางสิ่งแวดล้อม หรือใช้เป็นระบบการฝึกคนของสังคม หรือฝึกคนในฐานะที่เป็นมนุษย์ผู้หนึ่ง จัดแบ่งเป็นช่วงกว้างๆ และเรียงลำดับโดยถือหลักสิ่งที่จะต้องปฏิบัติเด่นชัดเป็นพิเศษในช่วงนั้นๆ


มีข้อที่ย้ำว่า ไม่ว่าผู้ศึกษาจะกำลังฝึกศึกษาพัฒนาอยู่ในช่วงตอนใดของไตรสิกขา จะเป็นขั้นศีลก็ตาม ขั้นสมาธิก็ตาม ขั้นปัญญาก็ตาม
การทำหน้าที่ขององค์มรรค หรือการปฏิบัติองค์มรรคทุกข้อ ตั้งแต่สัมมาทิฏฐิ ถึง สัมมาสมาธิ ย่อมดำเนินอยู่เรื่อยไปตลอดเวลาทุกช่วงตอน
การกล่าวออกมาว่าเป็นขั้นศีล ขั้นสมาธิ หรือขั้นปัญญา เป็นเพียงการบอกแจ้งว่า ในตอนนั้นกำลังเร่งรัดให้ระดมการฝึกอบรมองค์ประกอบหมวดนั้นประเภทนั้น ให้มากเป็นพิเศษ
หรือว่า
ในตอนนั้น องค์ประกอบหมวดนั้นประเภทนั้นกำลังถูกเรียกออกมาใช้งานมีบทบาทโดดเด่นออกหน้าองค์ประกอบประเภทอื่น

มองดูในแง่หนึ่ง เป็นเหมือนว่า มีระบบการฝึก ๒ ระบบ คือ ระบบฝึกจากข้างนอก กับ ระบบฝึกจากข้างใน ทั้งสองระบบนี้กำลังทำงานประสานขานรับกันด้วยดี และพระพุทธศาสนาก็ยอมรับความจริงของการฝึกอบรมทั้งสองระบบนั้น

เจ้าของ:  กรัชกาย [ 20 พ.ย. 2016, 07:49 ]
หัวข้อกระทู้:  Re: ต่อจากมรรคก็คือไตรสิกขา

ต่อ

การจัดขั้นตอนของไตรสิกขาสัมพันธ์กับการทำงานขององค์มรรคอย่างไร อาจเห็นชัดขึ้นได้ด้วยข้ออุปมา

เปรียบเหมือนว่า ชายผู้หนึ่ง ขับรถยนต์เดินทางไกลอันยาวนาน จากหมู่บ้านชนบทที่ราบชายป่าแห่งหนึ่ง ผ่านเทือกเขาใหญ่สลับซับซ้อน ไปสู่จุดหมายในใจกลางมหานครที่คับคั่งจอแจ

ทางแบ่งได้เป็น ๓ ช่วงตอน คือ ช่วงแรก เป็นทางในชนบทยาวไกลแต่เป็นที่ราบ

ช่วงกลาง อยู่บนเทือกเขา ทางลัดเลาะเลียบไปตามไหล่เขา และหุบเหว มีที่คดเคี้ยวสูงชันมากมายน่าหวาดเสียวหวั่นกลัวอันตราย

ช่วงที่สาม เป็นทางในมหานคร เต็มไปด้วยถนนหนทางตรอกซอกซอยน้อยใหญ่ ตึกรามคับคั่ง ผู้คนพลุกพล่าน จอแจ น่าหลงทาง ผู้ไม่ชำนาญยากที่จะค้นหาที่หมาย

ชายผู้นี้ ไม่เคยขับรถมาก่อน เขาเริ่มฝึกด้วยการลงมือเดินทางจริง โดยหวังว่า ทางยาวไกลมาก กว่าจะถึงที่หมาย เขาก็จะขับรถได้ชำนาญ

สำหรับ ทางช่วงที่หนึ่ง ชายผู้นี้ต้องฝึกมือเท้าใช้กลไกอุปกรณ์การขับรถให้ชำนาญ ระมัดระวังหลบหลีกพื้นถนนที่ไม่แน่นและหลุมบ่อต่างๆ ให้รถแล่นไปราบรื่น จุดรวมงานของเขาในช่วงนี้ มีอยู่เพียงระวังรักษาปกติ คือคุมให้การเคลื่อนไหวของรถเป็นไปด้วยดี ถ้าถนนราบเรียบดี เขาเองก็ถนัดใช้อุปกรณ์ต่างๆ ดีแล้ว รถก็คงแล่นตลอดไปโดยสะดวกสบาย

สำหรับ ทางช่วงที่สอง ชายผู้นั้นต้องใช้กำลังแรง และความระมัดระวังมาก คุมรถตามที่โค้งเลี้ยวไหล่เขาและเลียบขอบหุบเหว ต้องคอยผ่อน และเร่งรถเวลาขึ้นลงทางที่ลาดชัน และทรงตัวให้ดี จุดรวมงานในช่วงนี้ของเขา คือ ความเข้มแข็ง การบังคับควบคุม ความมีสติตื่นตัวเต็มที่ตลอดเวลา และมีความแน่วแน่

ถามว่า ตอนนี้ เขาไม่ต้องระวังการใช้กลไกอุปกรณ์ และคอยหลบหลุมบ่อและพื้นถนนที่ไม่แน่นหรือ

ตอบว่า ความระวังในเรื่องเหล่านี้ ต้องมีอยู่ด้วยแล้วในตัว และยิ่งสำคัญกว่าช่วงที่หนึ่งด้วยซ้ำไป แต่ถึงตอนนี้ เรื่องเหล่านี้ ไม่ต้องพูดถึงแล้ว เพราะถ้าถึงตอนนี้ เขายังใช้กลไกอุปกรณ์ไม่ชำนาญ หรือถนนขรุขระนักเป็นหลุมเป็นบ่อ ไม่แน่น เขาคงจะขับรถทุลักทุเลเต็มที แทบไปไม่ไหว หรืออาจต้องเลิกล้มการเดินทางต่อไปเสียเลยก็ได้

สิ่งที่เขาควรจะใส่ใจพิเศษในตอนนี้ ก็คือ ขอบถนน เส้นแนว โค้งเลี้ยว และความเอียงเท ลาดชันต่างหาก นอกจากนี้แล้ว การเดินทางช่วงที่สองจะผ่านไปได้หรือไม่ได้ ยังอาจมีเหตุอื่นอีก เช่น
เมื่อเขาผ่านช่วงที่หนึ่ง มาถึงช่วงที่สอง พอเห็นลักษณะของทางช่วงที่สองแล้ว เกิดความหวาดหวั่น ใจไม่สู้ อาจหยุดเลิกอยู่แค่นั้น
หรือ
หันหลังกลับ
หรือ
ขับขึ้นมาแล้ว แต่พลาดตกเหวเสียในระหว่าง (เหมือนผู้บำเพ็ญสมาธิเสียจริต หรือปฏิบัติผิดเขวออกนอกทางไป) หรือติดใจทัศนียภาพอันสวยงาม จุดต่างๆเลยหยุดจอดรถลงชื่นชมเพลินอยู่ ณ ที่นั้นเอง (เหมือนผู้ติดใจฌานสมาบัติ เป็นต้น)

สำหรับ ทางช่วงที่สาม ถนนหนทางตรอกซอกซอย ทางแยก อาคารสถานที่ สิ่งประดับประดา เครื่องหมาย สัญญาณ แผ่นป้ายบอกถนน ซอย สถานที่ ยานพาหนะอื่นๆ และผู้คนสัญจรมากมายลานตาไปหมด ชายผู้นั้น จะต้องตาไว และรู้เข้าใจเครื่องหมายสัญญาณต่างๆ อ่านข้อความที่บอกตำแหน่งแห่งที่ เป็นต้น ได้ และรู้จักกำหนดที่เลี้ยวทางแยก เป็นต้น ได้ดี มีเชาวน์มีไหวพริบตัดสินใจได้รวดเร็วแม่นยำ จุดรวมงานของเขาในช่วงนี้คือ การไม่หลง

ทางช่วงที่หนึ่ง บนที่ราบ ซึ่งเน้นการระวังรักษาการเคลื่อนไหวให้เป็นปกติ เทียบได้กับศีล

ทางช่วงที่สอง บนเทือกเขา ซึ่งเน้นความเข้มแข็งบังคับควบคุมตื่นตัวแน่วแน่ เทียบได้กับสมาธิ

ทางช่วงที่สาม ในมหานคร ซึ่งเน้นความรู้ไวไม่หลง เทียบได้กับปัญญา

จะเห็นว่า แม้ทุกช่วงจะเน้นต่างกัน แต่ก็มีองค์ประกอบทั่วไปของทาง เหมือนๆกันโดยตลอด

นี้เป็นการมองอย่างกว้างสุด เพื่อให้เห็นภาพรวม ส่วนในการฝึกอบรมหรือปฏิบัติจริง ลำดับขั้นตอนอย่างนี้ ดำเนินไปได้เรื่อยๆ เหมือนเป็นขั้นตอนย่อย ซ้อนอยู่ในขั้นตอนใหญ่ คล้ายกับทางหลวงสายยาวที่มีช่วงทางราบเรียบ ช่วงโค้งชัน ช่วงซับซ้อน ช่วงเรียบ ช่วงโค้งชัน ช่วงซับซ้อน ฯลฯ ย่อยๆ ซ้อนอยู่ในระหว่าง

ความเป็นไปเช่นนี้ เป็นข้อยืนยันถึงการประสานขานรับกัน ระหว่างระบบการฝึกจากข้างนอกของไตรสิกขา กับ การทำหน้าที่แห่งองค์ธรรมภายในของมรรค
คือ
เมื่อประพฤติดีมีศีล ใจก็มีสมาธิ เมื่อใจมีสมาธิ การคิดก็ได้ปัญญา พอได้ปัญญา ก็กลายเป็นสัมมาทิฏฐิองค์แรกของมรรค

สัมมาทิฏฐิก็ส่งทอดแก่สัมมาสังกัปปะๆ ก็นำทางแก่สัมมาวาจา สัมมากัมมันตะ และสัมมาอาชีวะ ตามหลักความสัมพันธ์ระหว่างองค์มรรค กลายเป็นการช่วยให้เกิดศีล แล้วสืบทอดต่อๆกันไปอีก พร้อมกับทำให้คุณภาพทั้งของการฝึกอบรม และทั้งขององค์ธรรมทั้งหลาย ประณีตเข้มแข็งยิ่งขึ้นไปเรื่อยๆ

วงจรย่อยของไตรสิกขาอย่างนี้ มองคร่าวๆ จะเห็นเป็นเหมือนการฝึก ๓ ส่วน ที่ดำเนินควบเคียงไปด้วยกันตลอดเวลา

ดังตัวอย่างในคัมภีร์ วิสุทธิมรรค กล่าวถึง การฝึกเจริญอานาปานสติ คือ กำหนดลมหายใจเข้าออก จับสาระได้ว่า

ขณะที่ฝึกอยู่นั้น สังวร คือการควบคุมกิริยาอาการให้อยู่ในภาวะถนัด หรือเหมาะดีที่สุดแก่งาน เป็นอธิสีลสิกขา

การทำจิตใจให้ตั้งมั่นแน่วแน่ (อยู่กับงานคืออารมณ์ที่กำหนด) เป็นอธิจิตตสิกขา

การใช้ปัญญาหรือความรู้ความเข้าใจที่เกิดขึ้นเป็นไปอยู่ในเวลานั้น เป็นอธิปัญญาสิกขา

(ดู วิสุทฺธิ.2/61)

เจ้าของ:  กรัชกาย [ 20 พ.ย. 2016, 10:03 ]
หัวข้อกระทู้:  Re: ต่อจากมรรคก็คือไตรสิกขา

รูปภาพ


ไตรสิกขานี้ เรียกว่าเป็น พหุลธัมมีกถา คือ คำสอนธรรมที่พระพุทธเจ้าทรงแสดงบ่อย และมีพุทธพจน์แสดงความต่อเนื่องกันของกระบวนการฝึกอบรม ที่เรียกว่าไตรสิกขา ดังนี้

ศีลเป็นอย่างนี้ สมาธิเป็นอย่างนี้ ปัญญาเป็นอย่างนี้ สมาธิที่ศีลบ่มแล้ว ย่อมมีผลมาก มีอานิสงส์มาก ปัญญาที่สมาธิบ่มแล้ว ย่อมมีผลมาก มีอานิสงส์มาก จิตที่ปัญญาบ่มแล้ว ย่อมหลุดพ้นจากอาสวะโดยสิ้นเชิง คือ จากกามาสวะ ภวาสวะ และอวิชชาสวะ(ที.ม.10/111/143)

ความสัมพันธ์แบบต่อเนื่องกันของไตรสิกขานี้ มองเห็นได้ง่ายแม้ในชีวิตประจำวัน กล่าวคือ

เมื่อมีความบริสุทธิ์ในทางความประพฤติ เชื่อมั่นในความบริสุทธิ์ของตน ไม่หวาดต่อการลงโทษ ไม่สะดุ้งระแวงต่อการประทุษร้ายของคู่เวร ไม่หวั่นใจเสียวใจต่อเสียงตำหนิ หรือความรู้สึกไม่ยอมรับของสังคม และไมมีความฟุ้งซ่าน วุ่นวายใจ เพราะความรู้สึกเดือดร้อนรังเกียจในความผิดของตนเอง จิตใจจึงปลอดโปร่ง สงบแน่วแน่ มุ่งมั่นอยู่ได้กับสิ่งที่คิด คำที่พูด และการที่ทำ
ยิ่งจิตไม่ฟุ้งซ่าน สงบ มุ่งมั่น แน่วแน่เท่าใด การคิดการพินิจพิจารณา การรับรู้สิ่งต่างๆ ก็ยิ่งชัดเจน แล่นลิ่ว และคล่องตัว เป็นผลดีในทางปัญญามากขึ้นเท่านั้น

ข้ออุปมาในเรื่องนี้ เหมือนเมื่อน้ำไม่ถูกกวน คน พัด หรือเขย่า สงบ นิ่ง ผงฝุ่นต่างๆ ก็นอนก้น หายขุ่น น้ำก็ใส เมื่อน้ำใส ก็มองเห็นสิ่งต่างๆ ได้ชัดเจน

ในการปฏิบัติธรรมชั้นสูงขึ้นไป ที่ถึงขั้นจะให้เกิดญาณรู้แจ้งเห็นจริง จนกำจัดอาสวกิเลสได้ ก็ยิ่งต้องการจิตที่สงบ นิ่ง ผ่องใส มีสมาธิแน่วแน่ยิ่งขึ้นไปอีก ถึงขนาดระงับการรับรู้ทางอายตนะต่างๆได้หมด เหลืออารมณ์ที่กำหนดไว้ทำการแต่เพียงอย่างเดียว เพื่อกำจัดกวาดล้างตะกอนที่นอนก้นทั้งหลาย ไม่ให้มีโอกาสขุ่นอีกต่อไป

เจ้าของ:  กรัชกาย [ 20 พ.ย. 2016, 19:19 ]
หัวข้อกระทู้:  Re: ต่อจากมรรคก็คือไตรสิกขา

ไตรสิกขานี้ บางครั้งพระพุทธเจ้าทรงแสดงเป็นคำสอนภาคปฏิบัติ แบบที่เข้าใจง่ายๆ และชาวพุทธมักนำมาอ้างกันบ่อยๆ ดังปรากฏเป็นส่วนสำคัญอยู่ในหลักโอวาทปาติโมกข์ (คำสอนที่เป็นหลักใหญ่ของพระพุทธเจ้า) มี ๓ ข้อ คือ *

๑. สพฺพปาปสฺส อกรณํ การไม่ทำความชั่วทั้งปวง

๒. กุสลสฺสูปสมฺปทา การบำเพ็ญความดีให้เพียบพร้อม

๓. สจิตฺตปริโยทปนํ การทำจิตของตนให้ผ่องใส

………….

ที่อ้างอิง *

* ที.ม.10/54/57 ขุ.ธ. 25/24/39 การจัดเข้าไตรสิกขา พึงพิจารณาจาก ที.อ.2/97 และธ.อ. 6/100 ที.อ. ว่า ข้อที่ ๑ ได้แก่ สีลสังวร ข้อที่ ๒ ได้แก่ สมถะและวิปัสสนา คือสมาธิ และปัญญา นั่นเอง ข้อที่ ๓ ได้แก่ อรหัตผล

แต่ ธ.อ. ถือเอาเพียงชำระจิตให้สะอาดจากนิวรณ์ ๕ เป็นการชำระจิตให้ผ่องใส ถ้าถือตามที่มา ๒ แห่งนี้ ก็จัดข้อ ๑ เป็น ศีล (จัดเกินกว่านี้ก็มีแง่ให้จัดได้) ข้อ ๒ เป็นสมาธิ และปัญญา ข้อ ๓ เป็นสมาธิ และปัญญา (จัดเป็นวิมุตติด้วยก็ได้)

อย่างไรก็ดี วิสุทฺธิ. 1/6 จัดเทียบง่ายๆว่า ข้อ ๑ = ศีล ข้อ ๒ = สมาธิ ข้อ ๓ = ปัญญา ตามลำดับ

เจ้าของ:  กรัชกาย [ 20 พ.ย. 2016, 19:26 ]
หัวข้อกระทู้:  Re: ต่อจากมรรคก็คือไตรสิกขา

ควรกล่าวย้ำ ถึงความสำคัญของสัมมาทิฏฐิ หรือองค์ธรรมฝ่ายปัญญา ไว้เป็นพิเศษ ระบบการปฏิบัติธรรมของพระพุทธศาสนา ไม่ว่าจะมองในแง่ของมรรค หรือไตรสิกขาก็ตาม ล้วนเริ่มต้นด้วยปัญญา และจบลงด้วยปัญญา ที่ทำการให้สำเร็จลุถึงจุดหมาย

สำหรับไตรสิกขา แม้จะมีศีลเป็นข้อแรก แต่ความจริงก็ต้องอาศัยพื้นฐานความเข้าใจเกี่ยวกับสิ่งที่จะลงมือปฏิบัติเป็นต้นทุนไว้ก่อน ซึ่งได้แก่มีสัมมาทิฏฐินั่นเอง แต่เพราะความรู้ความเข้าใจเบื้องต้นนี้ เป็นเพียงการรู้ว่า ทางไหนตนจะพึงไป และตั้งต้นที่ไหนเท่านั้น จึงไม่จัดเป็นขั้นตอนของระบบการฝึกอบรมแบบช่วงกว้างของไตรสิกขา


เมื่อผู้ปฏิบัติมีความรู้ความเข้าใจหรือความเชื่อถูกต้องเป็นพื้นฐานต้นทุนอยู่แล้ว ก็เริ่มการฝึกอบรมที่ความประพฤติทาง กาย วาจา และอาชีวะ (ศีล) ก่อน เมื่อศีลพร้อมดีแล้ว ก็ฝึกขั้นประณีตขึ้นมาถึงการฝึกอบรมจิต (สมาธิ) จนถึงขั้นสุดท้ายคือเจริญ ปัญญาให้แก่กล้าจนพ้นจากอวิชชา


ความจริง ปัญญานั้นเจริญงอกงามขึ้นเรื่อยๆ ตลอดกระบนการฝึกอบรม เบื้องต้น ความรู้ความเข้าใจที่เรียกว่าสัมมาทิฏฐิ อาจเป็นเพียงความเชื่อตามเหตุผลก่อน แต่ในระหว่างการฝึกอบรมต่อๆมา ความรู้ความเข้าใจ หรือความเชื่อที่มีไว้เป็นทุนเดิมนั้น ก็จะค่อยๆเจริญเพิ่มพูนและชัดเจนยิ่งขึ้นโดลำดับ ด้วยอาศัยการรู้จักคิด การไตร่ตรอง สอบสวนพิจารณา การรู้เห็นประจักษ์ผลการปฏิบัติที่เกิดมีในระบบการฝึกอบรม และการที่อินทรีย์ต่างๆ แก่กล้ายิ่งขึ้น จนในที่สุดปัญญาก็จะเจริญถึงขั้นรู้เข้าใจสิ่งทั้งหลายตามความเป็นจริง ถึงขั้นหลุดพ้น บรรลุนิพพานได้ คือ ความรู้ความเข้าใจ หรือความเชื่อตามเหตุผล กลายมาเป็นการรู้เห็นด้วยปัญญาของตนจริงๆ โดยสมบูรณ์ ดังบาลีว่า

“มัชฌิมาปฏิปทานี้ เป็นญาณกรณี (สร้างการรู้) จักขุกรณี (สร้างจักษุคือการเห็น) เป็นไปเพื่อความสงบ เพื่อความตรัสรู้ เพื่อนิพพาน” (ดูในธัมมจักกัปปวัตนสูตร)


จึงเห็นได้ว่า ตอนท้ายของมรรคก็จบลงด้วยปัญญา ซึ่งเป็นองค์ธรรมตัวการที่มีบทบาทเด่นชัดในการทำให้บรรลุที่หมาย โดยนัยนี้ ต่อจากมรรคมีองค์ ๘ บางแห่ง ท่านจึงเพิ่มองค์ประกอบเข้าไปอีก ๒ ข้อ คือ สัมมาญาณ (ความรู้ชอบ เทียบกับ ญาณกรณี จักขุกรณี) และสัมมาวิมุตติ (หลุดพ้นชอบ เทียบกับความสงบ ฯลฯ นิพพาน) *

ตามแนวนี้ สัมมาทิฏฐิจึงเป็นเหมือนสะพานสำหรับทอดข้ามจากอวิชชาไปสู่วิชชา เมื่อมีวิชชา ก็เกิดสัมมาญาณ และย่อมหลุดพ้นเป็นสัมมาวิมุตติ

.........

ที่อ้างอิง *

* เพิ่มหัวข้อทั้งสองนี้ (สัมมาญาณ กับ สัมมาวิมุตติ) ต่อเข้าไปกับมรรค รวมเป็น ๑๐ เรียกสัมมัตตะ หรืออเสกขธรรม ๑๐ (อรรถกถาว่า สัมมาญาณ หมายถึง ผลญาณ และปัจจเวกขณญาณ สัมมาญาณ ก็คือสัมมาทิฏฐิขั้นสุดท้ายนั่นเอง)

เจ้าของ:  กรัชกาย [ 20 พ.ย. 2016, 19:29 ]
หัวข้อกระทู้:  Re: ต่อจากมรรคก็คือไตรสิกขา

มีองค์มรรคอยู่ ๓ ข้อ ที่มีบทบาทสำคัญ ต้องเกี่ยวข้อและปฏิบัติร่วมพร้อมกันไปกับองค์มรรคข้ออื่นๆ ทุกข้อ คือ สัมมาทิฏฐิ (ความเห็นหรือความเข้าใจถูกต้อง) สัมมาวายามะ (ความเพียรพยายามที่ถูกต้อง) และสัมมาสติ (สติที่ถูกต้อง)

เหตุที่ต้องปฏิบัติร่วมกับข้ออื่นอยู่เสมอนั้น เห็นได้ง่ายๆ ด้วยการเปรียบเทียบกับการเดินทาง สัมมาทิฏฐิ เป็นเหมือนไฟส่องทาง หรือเข็มทิศ ให้เห็นทาง และมั่นใจในทางอันถูกต้องที่จะนำไปสู่จุดหมาย สัมมาวายามะ เป็นเหมือนการออกแรงก้าวไป หรือการใช้แรงผลักดันให้เคลื่อนไป ส่วนสัมมาสติ เป็นเหมือนเครื่องบังคับ ควบคุม ระวัง ให้การเดินทางอยู่ในเส้นทาง ถูกจังหวะ และหลบหลีกพ้นภัย

การปฏิบัติในขั้นศีลก็ตาม สมาธิก็ตาม ปัญญาก็ตาม จึงต้องอาศัยองค์มรรค ๓ ข้อนี้อยู่ทุกขั้นตอน *

...........



ที่อ้างอิง *

* เรื่ององค์มรรค ๓ ข้อ เกิดร่วมกับองค์มรรคข้ออื่นๆ ดู มหาจัตตารีสกสุตร ม.อุ.14/252-281/180-189

เจ้าของ:  กรัชกาย [ 20 พ.ย. 2016, 19:33 ]
หัวข้อกระทู้:  Re: ต่อจากมรรคก็คือไตรสิกขา

จบตอน

พุทธธรรมหน้า 551

รูปภาพ

เจ้าของ:  กรัชกาย [ 20 พ.ย. 2016, 19:40 ]
หัวข้อกระทู้:  Re: ต่อจากมรรคก็คือไตรสิกขา

อุปมาทางช่วงที่สอง (เทียบได้กับสมาธิ) จะนำตัวอย่างของผู้ปฏิบัติมาให้สังเกตสักสองสามตัวอย่าง :b1:

อ้างคำพูด:
การเดินทางช่วงที่สองจะผ่านไปได้หรือไม่ได้ ยังอาจมีเหตุอื่นอีก
เช่น
เมื่อเขาผ่านช่วงที่หนึ่ง มาถึงช่วงที่สอง พอเห็นลักษณะของทางช่วงที่สองแล้ว เกิดความหวาดหวั่น ใจไม่สู้ อาจหยุดเลิกอยู่แค่นั้น
หรือ
หันหลังกลับ
หรือ
ขับขึ้นมาแล้ว แต่พลาดตกเหวเสียในระหว่าง (เหมือนผู้บำเพ็ญสมาธิเสียจริต หรือปฏิบัติผิดเขวออกนอกทางไป) หรือติดใจทัศนียภาพอันสวยงามจุดต่างๆ เลยหยุดจอดรถ ลงชื่นชมเพลินอยู่ ณ ที่นั้นเอง (เหมือนผู้ติดใจฌานสมาบัติ เป็นต้น)

เจ้าของ:  กรัชกาย [ 20 พ.ย. 2016, 20:02 ]
หัวข้อกระทู้:  Re: ต่อจากมรรคก็คือไตรสิกขา

2 ตัวอย่างที่ (ธรรมดาๆก่อน) พอจิตเริ่มนิ่ง คือเป็นสมาธิจะมี-จะเห็น-จะเป็นนั่นๆนี่ๆ ทำให้จิตฟุ้ง-ถอน-หลุดจากกรรมฐาน

เวลานั่งสมาธิกำหนดคำภาวนา พร้อมไปกับลมหายใจ นั่งทำสมาธิไปสักพักจะต้องเริ่มมีอาการคันคอ ทุกครั้ง พยามยามฝืนไม่สนใจ แต่จะคันคอจนต้องไอออกมาทุกครั้ง บางครั้งน้ำลายกระเด็นออกมาเลอะปาก พร้อมน้ำตาไหล พอไอออกมาสักครั้ง สองครั้ง แล้วจะหายไป แล้วไม่คันคออีกเลย อยากรบกวนสอบถามถึงอาการที่เกิด และทำอย่างไรถึงจะไม่ให้เกิดอาการคันคอได้ เพราะตอนนั่ง พอจะเริ่มสงบนิ่งจะเป็นทุกครั้ง ทำให้เกิดความรำคาญ

..........

คือเวลาที่นั่งสมาธิสักพัก จิตเริ่มสงบแล้ว ก็เกิดนิมิตเห็นคนหรือวิญญาณไม่แน่ใจค่ะ นั่งก้มหน้าสงบนิ่งอยู่ข้างๆเรา เจอหลายครั้ง บางทีก็มากันหลายคน มีอยู่ครั้งหนึ่งชัดเจนมาก มาด้วยกัน 4 คนค่ะ ผู้ชาย 2 คนหญิงอุ้มลูกเล็กๆอีกหนึ่ง เกิดจากอะไรคะ และทำอย่างไรคะหากเจอแบบนี้ แค่แผ่เมตตาพอหรือเปล่า

เจ้าของ:  กรัชกาย [ 20 พ.ย. 2016, 20:16 ]
หัวข้อกระทู้:  Re: ต่อจากมรรคก็คือไตรสิกขา

จะสักกี่ร้อยกี่พันตัวอย่าง เหตุตอนนี้มีอันเดียว คือ ผู้ภาวนาเดินทางถึงช่วงที่สอง


เมื่อถึงเวลาที่ต้องนั่งสมาธิ เกิดปวดขาอย่างมาก แต่ก็ไม่ยอมแพ้ ทนนั่งจนหมดเวลา ระหว่างที่ปวดมากๆ ก็นึกถึงพระพุทธเจ้าตลอดเวลา


เมื่อนาฬิกาดังหมดเวลา เราก็ลืมตาเปลี่ยนอิริยาบถ เพื่อคลายอาการปวดขา แต่เรารู้สึกว่า...ทันทีที่เราลืมตา เราก็ได้ยินเสียงสวดมนต์ดังอยู่ในหู ทั้งๆที่เวลานั้นไม่ได้มีพระสวดมนต์อยู่ใกล้ๆค่ะ

ก่อนหน้านี้....เมื่อครั่งที่เราไปปฏิบัติธรรมครั้งแรก และเมื่อกลับมาถึงบ้าน เราก็สวดแผ่เมตตาและอุทิศส่วนกุศลที่บ้าน เราก็ได้ยินเสียงสวดมนต์ดังอยู่ในหูอีกเหมือนกัน ทั้งๆที่ใกล้ๆบ้านก็ไม่มีวัดและไม่มีใครเปิดวิทยุค่ะ (ตอนแรกนึกว่ามีพระสวดทำวัตรเย็นอยู่ใกล้ๆ แต่บ้านก็ไม่ได้อยู่ใกล้วัด )

แล้วก็เคยมีอีกครั้งนึง เราคุยกับแม่ แนะนำแม่เรื่องการไปปฎิบัติธรรม และชวนแม่ให้ไปปฏิบัติธรรมด้วยกัน ก็ได้ยินเสียงสวดมนต์ดังแว่วในหูอีก

เสียงสวดมนต์ที่ได้ยิน 2 ครั้งแรก จะได้ยินเพียงช่วงเวลาสั้นๆไม่ถึงชม.ค่ะ แต่ครั้งล่าสุดได้ยิน(หลังจากนั่งสมาธิ) ดังนานหลายชม.ตั่งแต่ประมาณเกือบ 4 โมงเย็น จนถึงเวลานอนตอน 4 ทุ่มเลยค่ะ

เสียงสวดมนต์ดังกล่าว เป็นเสียงเหมือนพระสวดมนต์ ฟังจับใจความได้เป็นบางคำ แต่ไม่รู้ว่าเป็นบทสวดอะไร

บางครั้งก็จะได้ยินเป็นเสียงดนตรีไทยบรรเลงอยู่ ระหว่างสวดมนต์และตอนเดินจงกรม ทั้งที่วัดและที่บ้าน ถามเพื่อนที่ไปด้วยกันว่าได้ยินไหม เค้าบอกว่าไม่เห็นได้ยินอะไรเลย เราก็เลยไม่กล้าถามเค้าต่อ กลัวเขาว่าเราสติไม่ดี

เลยอยากถามผู้มีความรู้หรือผู้ที่เคยมีประสบการณ์ว่าเคยมีใครได้ยินเป็นลักษณะนี้บ้างหรือไม่ แล้วเป็นเสียงของใครเหรอคะ หรือว่าเราคิดมากไปเอง

หน้า 1 จากทั้งหมด 2 เขตเวลา GMT + 7 ชั่วโมง
Powered by phpBB © 2000, 2002, 2005, 2007 phpBB Group
http://www.phpbb.com/